8 พฤศจิกายน 2551 13:58 น.

แนวทางแก้ไขปัญหาวิกฤติของชาติ

nidhi

แนวทางแก้ไขปัญหาวิกฤติของชาติ
	ผมได้ไปอ่านหนังสือบรรณานุสรณ์ ศาสตราจารย์วิกรม เมาลานนท์  เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ 
ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันพุธที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๖
ได้พบข้อความในจดหมายฉบับเขียนด้วยลายมือตัวเองเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งท่านอาจารย์เขียนถึงตุณอานันท์ ปันยารชุน
สมัยเกิดเหตุการณ์วิกฤติตุลาการครั้งที่ ๒ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๕(วิกฤติครั้งแรกเกิดเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๑๕)
เห็นว่าสามารถนำมาใช้กับเหตุการณ์วิกฤติของบ้านเมืองในปัจจุบันได้อย่างเหมาะสมสมัย  จึงขออนุญาตนำข้อความ
ที่เกี่ยวข้องดังกล่าวบางส่วนมาแสดงไว้ดังนี้
	To me,Sir,when a legal viewpoint contradic another and a clear cut answer
is not..., my humble choice is :-
	The one with common-sense,
	The one pro bono publico.
	The one calm and modest,
	The one non aggressive, and above all
	The one really bona fide,
	And the one with all of these SHALL PREVAIL 
Excellency, You too have your own choice.
	สำหรับกระผมแล้ว  เมื่อมีความเห็นทางกฎหมายขัดแย้งกันและไม่สามารถหาคำตอบที่ชัดเจนได้  กระผมจะเลือกหา
คำตอบดังนี้
	คำตอบที่กอปรด้วยสามัญสำนึก
	คำตอบที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม
	คำตอบที่สุขุมและนิ่มนวล
	คำตอมที่ไม่ก้าวร้าวรุนแรง   และเหนือสิ่งอื่นใด
	คำตอบที่สุจริตใจอย่างแท้จริง
	แลจะคำตอบที่กอปรไปด้วยหลักเกณฑ์ทุกข้อข้างต้นนี้ย่อมอยู่เหนือสิ่งอื่นใด
	ฯพณฯ ก็เช่นกัน  ฯพณฯ ย่อมต้องมีทางเลือกของ ฯพณฯ ของท่านเอง
ข้อเสนอแนะของท่านอาจารย์แม้จะเป็นเรื่องที่เกิดมาแล้วถึง ๑๖ ปี  
แต่ผมคิดว่าเป็น ๑๖ ปีแห่งความหลังที่ยังนำมาใช้ได้อย่างไม่สิ้นหวังเลย
			ด้วยจิตคารวะ
			นิธิศเจริญธรรม
			๘พิจิก๒๕๕๑				
11 กันยายน 2551 10:59 น.

รวยสะท้านปฐพี บารมีสะท้านภพ

nidhi

รวยสะท้านปฐพี  บารมีสะท้านภพ
คุ้นกับคำทำนายนี้บ้างไหมครับ
คำทำนายดังกล่าวนี้เป็นคำทำนายของเทียนเต็กซินแซ (พระอาจารย์ธงชัย )
วัดแดงประชาราษฎร์
ถนนบางกรวยไทรน้อย ตำบลบางสีทอง
 อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี  ๑๑๑๓๐
ท่านบอกว่า
เบื้องบนมีบัญชา
ให้ชื่อว่า  “รวยสะท้านปฐพี” 
และ   “บารมีสะท้านภพ”
มาแน่
แต่ต้องใจเย็นๆ
ไม่รู้ว่าคุณสมัครจะยินดีได้ปลื้มกับคำทำนายนี้เพียงใด
แต่คำกล่าวที่ว่า “รวยสะท้านปฐพี” และ “บารมีสะท้านภพ”
ก็เป็นถ้อยคำที่น่าหลงใหลได้ปลื้มมิใช่น้อย
เนื่องจากท่านบอกว่า  เบื้องบนมีบัญชา  ให้ชื่อว่า
“รวยสะท้านปฐพี” และ “บารมีสะท้านภพ”
ไม่ได้ปลื้มวันนี้  ก็ไม่รู้ว่าจะไปได้ปลื้มเมื่อไหร่
แต่อย่าลืมคำหลังนะครับที่ว่า
มาแน่  แต่ต้องใจเย็นๆ
แล้วคุณสมัครท่านเป็นคนอารมณ์เย็นแค่ไหน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์เช่นทุกวันนี้
ที่ต้องสิ้นสุดสภาพการเป็นนายกรัฐมนตรี
และยังคงเป็นบุคคลที่เจอะเจอผู้สื่อข่าวเมื่อใด
เป็นต้องมีปฏิกิริยาต่อต้านอย่างรุนแรง
ยกเว้นพวกที่เป็นกระบอกเสียงให้เท่านั้น
อย่างนี้แล้วจะใจเย็นๆอยู่ได้อย่างไร
พรุ่งนี้ก็จะลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่แล้ว
เป็นคุณ  จะใจเย็นๆต่อไปไหวละหรือ
คำว่า มาแน่ ถ้าใจเย็นๆ
จึงเป็นคำพูดทำนายทายทักที่น่าจะเป็น
เหตุสำคัญแห่งความแปรเปลี่ยนทางการเมืองไทยในวันนี้
ของคนที่ชื่อ นายสมัคร  สุนทรเวช				
11 กันยายน 2551 09:14 น.

นายกรัฐมนตรี

nidhi

นายกรัฐมนตรี	
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ได้บัญญัติเกี่ยวกับนายกรัฐมนตรีไว้ดังนี้
มาตรา ๑๗๑  พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งและรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกิน
สามสิบห้าคน  ประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี  มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน
ตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน
           นายกรัฐมนตรี ต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งได้รับแต่งตั้งตามมาตรา ๑๗๒
ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้ง
นายกรัฐมนตรี
          นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินกว่าแปดปีมิได้
มาตรา ๑๗๒  ให้สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี
ให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีการเรียกประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรกตามมาตรา ๑๒๗
           การเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีตามวรรคหนึ่งต้องมีสมาชิก
สภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร
รับรอง
       มติของสภาผู้แทนราษฎรที่เห็นชอบด้วยในการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี
ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร
การลงมติในกรณีเช่นว่านี้ให้กระทำโดยการลงคะแนนโดยเปิดเผย
มาตรา ๑๗๓  ในกรณีที่พ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้มาประชุมเป็นครั้งแรกแล้ว  ไม่ปรากฏว่ามีบุคคลใดได้รับคะแนนเสียง
เห็นชอบให้ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา ๑๗๒ วรรคสาม  ให้ประธานสภาผู้แทน
ราษฎรนำความขึ้นกราบบังคมทูลภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาดังกล่าวเพื่อทรงมี
พระบรมราชโองการแต่งตั้งบุคคลซึ่งได้รับคะแนนเสียงสูงสุดเป็นนายกรัฐมนตรี
ฉะนั้น  คณะรัฐมนตรีจึงประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกินสามสิบห้าคน
ซึ่งเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฯ หมวด ๙ ว่าด้วยคณะรัฐมนตรี(มาตรา ๑๗๑-๑๙๖)
อนึ่ง  เนื่องจากนายกรัฐมนตรีเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับฉันทามติจากสมาชิกสภา
ผู้แทนราษฎรมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร
นายกรัฐมนตรีจึงต้องยึดถือสมาชิกภาพตามมาตรา ๑๐๖ ด้วย  
มาตรา ๑๐๖  บัญญัติถึงเหตุที่ทำให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง
ฉะนั้น  หากปรากฏว่านายกรัฐมนตรี สิ้นสุดสมาชิกภาพตามมาตรา ๑๐๖ เมื่อใด
ความเป็นนายกรัฐมนตรีก็ย่อมสิ้นสุดลงเพราะการสิ้นสุดสมาชิกภาพในฐานะสมาชิก
สภาผู้แทนราษฎรด้วยเช่นเดียวกัน
สำหรับคุณสมบัติประการอื่นๆของนายกรัฐมนตรีอีกประการหนึ่งที่สำคัญยิ่ง คือ
ความเป็นผู้มีจริยธรรมในฐานะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในหมวด ๑๓
ว่าด้วยจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ในมาตรา ๒๗๙-๒๘๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐
ซึ่งกำหนดว่าต้องเป็นไปตาม  ประมวลจริยธรรมที่กำหนดขึ้นด้วย				
11 กันยายน 2551 07:54 น.

เหตุผลและความจำเป็นในการบังคับใช้กฎหมายของแต่ละประเทศย่อมแตกต่างกันเป็นธรรมดา

nidhi

เหตุผลและความจำเป็นในการบังคับใช้กฎหมาย
ของแต่ละประเทศย่อมแตกต่างกันเป็นธรรมดา
ผมบังเอิญได้ชมข่าวเกี่ยวกับกรณีนักกฎหมายฝรั่งประจำมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง
ด้านกฎหมายวิพากษ์วิจารณ์การตัดสินคดีของศาลรัฐธรรมนูญในคดีที่นายกรัฐมนตรี
ของไทยถูกตัดสินว่ากระทำการต้องห้ามเป็นเหตุให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง  ด้วยสาเหตุ
เพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับรายการทำอาหารว่า  เป็นเรื่องแปลกประหลาด  และจะยิ่งแปลก
ประหลาดมากยิ่งขึ้นไปอีก  หากคุณสมัครจะได้รับการเสนอชื่อเข้าเป็นนายกรัฐมนตรีอีก
กรณีนี้  แม้แต่ในประเทศไทยก็เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์  เพราะฉะนั้นการที่ฝรั่งชาวต่างชาติ
เป็นผู้วิพากษ์วิจารณ์จึงเป็นเรื่องปกติธรรมดา
แต่ที่ต้องทำความเข้าใจอย่างหนึ่งก็คือ
แต่ละประเทศต่างก็มีเหตุผลและความจำเป็นในการบังคับใช้กฎหมายที่แตกต่างกัน
การที่จะให้ฝรั่งชาวต่างชาติเข้าใจเหตุผลและความจำเป็นในการบังคับใช้กฎหมายไทย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ
จึงเป็นเรื่องที่ยาก
เกี่ยวกับเรื่องนี้  ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ให้เหตุผลว่า  กฎหมายรัฐธรรมนูญเป็น
กฎหมายสูงสุดของประเทศ  ซึ่งมีศักดิ์และฐานะทางกฎหมายสูงกว่ากฎหมายแพ่ง
ตลอดจนมีเจตนารมณ์ในการบังคับใช้ที่แตกต่างกัน
การตีความหรือแปลความจึงใช้หลักปกติทั่วไปเช่นคดีแพ่งสามัญไม่ได้
เมื่อทราบเหตุผลเช่นนี้แล้ว  การที่ได้ยินฝรั่งต่างชาติวิพากษ์วิจารณ์กฎหมายของไทย
ในกรณีนี้เช่นอย่างคดีที่แปลกประหลาดผิดกฎหมายชาวบ้านเช่นนี้
จึงเป็นอันเข้าใจได้ว่า  เป็นเรื่องปกติธรรมดา
เพราะในกรณีของเราเอง  ก็ยังมีอีกมากที่ไม่เข้าใจกฎหมายของบางประเทศ
และมองว่าเป็นกรณีแปลกประหลาด  ไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น  มิใช่น้อยเช่นกัน
กรณีนี้เราจึงไม่บังควรไปสนใจมากจนเกินเหตุ				
10 กันยายน 2551 18:21 น.

การมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชน

nidhi

การมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชน
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐  ได้กำหนดเกี่ยวกับ
การมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชน  ไว้ในหมวด ๗
มาตรา ๑๖๓-๑๖๕  รวม ๓ ประการ คือ
(๑)	มาตรา ๑๖๓  ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคน
มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภาพิจารณาร่าง
พระราชบัญญัติตามที่กำหนดในหมวด ๓ และหมวด ๕ แห่งรัฐธรรมนูญนี้
       คำร้องขอตามวรรคหนึ่งต้องจัดทำร่างพระราชบัญญัติเสนอมาด้วย
           หลักเกณฑ์และวิธีการเข้าชื่อ  รวมทั้งการตรวจสอบรายชื่อ ให้เป็นไป
ตามที่กฎหมายบัญญัติ
            ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตามวรรคหนึ่ง  สภาผู้แทนราษฎร
และวุฒิสภาต้องให้ผู้แทนของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เข้าชื่อเสนอร่าง
พระราชบัญญัตินั้นชี้แจงหลักการของร่างพระราชบัญญัติ  และคณะกรรมาธิการ
วิสามัญเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวจะต้องประกอบด้วยผู้แทนของ
ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัตินั้นจำนวนไม่น้อยกว่า
หนึ่งในสามของจำนวนกรรมาธิการทั้งหมดด้วย
	(๒) มาตรา ๑๖๔   ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าสองหมื่นคน
มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภาเพื่อให้วุฒิสภามีมติตามมาตรา ๒๗๔ 
ให้ถอดถอนบุคคลตามมาตรา ๒๗๐ ออกจากตำแหน่งได้
                   คำร้องขอตามวรรคหนึ่งต้องระบุพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่าผู้ดำรงตำแหน่ง
ดังกล่าวกระทำความผิดเป็นข้อๆให้ชัดเจน
                   หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการที่ประชาชนจะเข้าชื่อร้องขอ
ตามวรรคหนึ่ง  ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกัน
และปราบปรามการทุจริต
                    (๓)  มาตรา ๑๖๕   ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งย่อมมีสิทธิออกเสียงประชามติ
                            การจัดให้มีการออกเสียงประชามติให้กระทำได้ในเหตุ  ดังต่อไปนี้
(๑)	ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นว่ากิจการในเรื่องใดอาจกระทบถึง
ประโยชน์ได้เสียของประเทศชาติหรือประชาชน   นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบ
ของคณะรัฐมนตรีอาจปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภา
เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีการออกเสียงประชามติได้
(๒)	ในกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติให้มีการออกเสียงประชามติ
การออกเสียงประชามติ ตาม (๑) หรือ (๒)  อาจจัดให้เป็นการออกเสียง
เพื่อมีข้อยุติโดยเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติในปัญหาที่จัดให้มีการ
ออกเสียงประชามติ  หรือเป็นการออกเสียงเพื่อให้คำปรึกษาคณะรัฐมนตรีก็ได้
เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ
                              การออกเสียงประชามติต้องเป็นการให้ออกเสียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ
ในกิจการตามที่จัดให้มีการออกเสียงประชามติ  และการจัดการออกเสียงประชามติในเรื่องที่
ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือเกี่ยวกับตัวบุคคลหรือคณะบุคคลจะกระทำมิได้
                             ก่อนการออกเสียงประชามติ  รัฐต้องดำเนินการให้ข้อมูลอย่างเพียงพอและ
ให้บุคคลฝ่ายที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบกับกิจการนั้น  มีโอกาสแสดงความคิดเห็นของตนได้
อย่างเท่าเทียมกัน  
                    หลักเกณฑ์และวิธีการออกเสียงประชามติให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ
ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ  ซึ่งอย่างน้อยต้องกำหนดรายละเอียด
เกี่ยวกับวิธีการออกเสียงประชามติ  ระยะเวลาในการดำเนินการ และจำนวนเสียงประชามติ 
เพื่อมีข้อยุติ

การมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงตามมาตรา ๑๖๓
เป็นเรื่องการขอให้รัฐสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตามที่กำหนดไว้ในหมวด ๓ 
ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย และหมวด ๕ ว่าด้วยแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ
การมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงตามมาตรา ๑๖๔
เป็นเรื่องการเข้าชื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภา  เพื่อให้วุฒิสภาพิจารณาถอดถอนบุคคลตาม
มาตรา ๒๗๐ อันได้แก่
นายกรัฐมนตรี
รัฐมนตรี
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
สมาชิกวุฒิสภา
ประธานศาลฎีกา
ประธานศาลรัฐธรรมนูญ
ประธานศาลปกครองสูงสุด
หรืออัยการสูงสุด
ผู้ซึ่งมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ  ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่  ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่
ราชการ   ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม  ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่
ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย  หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม
อย่างร้ายแรง
โดยบทบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับกับผู้ดำรงตำแหน่งดังต่อไปนี้ด้วยคือ
(๑)	ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ  กรรมการการเลือกตั้ง  ผู้ตรวจการแผ่นดิน  และกรรมการ
ตรวจเงินแผ่นดิน
(๒)	ผู้พิพากษาหรือตุลาการ  พนักงานอัยการหรือผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง  ทั้งนี้ตามพระราช
บัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
การมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงตามมาตรา ๑๖๕
ได้แก่ การออกเสียงประชามติ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประช่ามติ
การมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชนตามที่กล่าวแล้วข้างต้นทั้งหมด
จึงถือได้ว่าเป็นการเมืองภาคประชาชนที่แท้จริง  ซึ่งประชาชนชาวไทยต้องรับรู้
และรักษาสิทธิของตนไว้อย่างถึงที่สุด				
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟnidhi
Lovings  nidhi เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟnidhi
Lovings  nidhi เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟnidhi
Lovings  nidhi เลิฟ 0 คน
  nidhi
ไม่มีข้อความส่งถึงnidhi