26 มีนาคม 2550 12:36 น.
JustMe
ตอนเด็กๆ เราก็ติดละครทีวีเรื่องจักรๆ วงๆ เพราะมันก็มาจากนิทานพื้นบ้าน แต่เห็นภาพของการเหาะเหินเดินอากาศหรือเทคนิคต่างๆ ทื่ไม่ได้จากการฟังหรือการอ่าน เพราะบางทีจินตนาการในวัยเด็กไปไม่ถึง เด็กๆ ก็เลียนแบบพระเอก หรือผู้ร้ายจอมขมังเวทย์ จนบางครั้งก็เจ็บตัว หรืออาจถึงชีวิตเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการ เช่นเหาะจากหน้าต่างชั้น 2 เพราะคิดว่าจะเหาะได้เหมือนในทีวี หรือบางรายก็เลียนแบบการฟันไม่เข้าแทงไม่ออกก็มี
พอโตหน่อยก็เริ่มติดละครเรื่องรักๆ ใคร่ๆ อิจฉาริษยา นานเข้าก็เอามาเรียนแบบโดยไม่รู้ตัว คงยอมรับกันว่า ในสังคมเด็กวัยรุ่น มีการชกต่อย ตบตี ตะโกนด่ากัน หรือหนีตามกัน จะว่าไป ก็ไม่ใช่ว่าละครสอนให้เขาเป็นแบบนั้น เพราะละครก็ลอกเลียนมาจากชีวิตจริงก็มี แต่ใส่สีสันของการแสดงที่มากกว่าพริกหรือขิง ทำให้สะใจคนดู วัยรุ่นจะคิดว่าเท่ห์ หรือเลยเถิดไปถึงคิดว่าตัวเองเป็นตัวเอกของเรื่องอยู่ยังไงๆ พระเอกนางเอกก็ต้องชนะอุปสรรคต่างๆ อยู่แล้ว
พอแก่ขึ้นอีกหน่อยก็เริ่มดูละครพวกนี้พร้อมทั้งจับผิดว่าละครพูดผิดไปจากชีวิตจริงอย่างไร เช่น นางเอกทำไมยอมให้นางร้ายโขกสับตลอดเวลาไม่ลุกขึ้นมาต่อสู้ ตัวร้ายก็สรรหาความเลวร้ายผิดวิสัยมนุษย์มาหาเรื่องคนอื่นๆ หรือแม้แต่หลักความจริงต่างๆ ที่คนเขียนบทอาจจะไม่ได้ศึกษาเป็นอย่างดีแต่เพื่อความสะใจในละคร ก็เลยใส่จินตนาการส่วนตัวลงไป บ่อยครั้งที่เห็นฉากหมอกับคนไข้โดยเฉพาะคนไข้จิตเวช ขั้นตอนการรักษา คำปรึกษา หรือ ระบบความปลอดภัย รวมทั้งประวัติคนไข้ที่ถูกขโมยได้ง่ายดาย พอดีผมทำงานอยู่ตรงนี้ก็เลยหงุดหงิด ทำไมคนทำละคร ทำให้คนดูละคร ขาดความเชื่อมั่นในระบบการรักษา และโรงพยาบาล เมื่อถามพวกเขาก็ตอบว่า ถ้ามันเหมือนเรื่องจริงมาก มันก็ไม่ได้รสชาตของละคร เป็นงั้นไป
ที่ตั้งกระทู้อันนี้ขึ้นมาก็หวังว่าผู้อ่านไม่ว่าจะเป็นแฟนละคร หรือผู้ทำละคร หรือผู้เขียนเรื่อง คงตรึกตรองตรงนี้หน่อย เผื่อสังคมที่เราอยู่มันจะมีอะไรดีขึ้นมาบ้าง