สัจธรรม แห่งชีวิต...

บทความชีวิตจริง

คำว่า สัจจะ แปลว่า ความสัตย์ซื่อต่อกัน แปลอย่างนี้เรียกว่าแปลตามศัพท์ ถ้าขยายลักษณะของสัจจะ ให้มีความเข้าใจและนำไปปฏิบัติกันได้จริง ๆ แล้วก็คือ สัจจะนี้มีลักษณะ ๓ อย่างคือ 
๑. สัจจะ มีลักษณะเป็นความจริง 
๒. สัจจะ มีลักษณะเป็นความตรง 
๓. สัจจะ มีลักษณะเป็นความแท้ 
๑. สัจจะมีลักษณะเป็นความจริง หมายถึง ไม่ใช่เล่น ไม่หลอก ไม่ลวง เป็นของจริง ๆ 
๒. สัจจะมีลักษณะเป็นความตรง หมายถึงว่า เป็นความตรง คือมีความประพฤติทางกาย ทางวาจา และทางใจ ซื่อตรง ไม่คดโกง หรือบิดพริ้ว เบียงบ่ายจากความถูกความเที่ยงธรรม 
๓. สัจจะมีลักษณะเป็นความแท้ หมายถึง ความไม่เหลาะแหละเหลวไหลในกิจกรรมอันเป็นหน้าที่ 
สัจจะซึ่งมีลักษณะดังกล่าวนี้ ผู้ครองเรือนพึงตั้งลงหรือกำหนดใน ๕ สถานที่ คือ 
๑. ตรงต่อหน้าที่ คือ ปฏิบัติหน้าที่ให้เต็มตามหน้าที่ 
๒. ตรงต่อการงาน คือ ตั้งใจทำงานให้ดี 
๓. ตรงต่อวาจา คือ รักษาคำมั่นสัญญา 
๔. ตรงต่อบุคคล คือ ประพฤติดีต่อคนอื่น 
๕. ตรงต่อความดี คือ ยึดมั่นในการประพฤติปฏิบัติ 
อีกประการหนึ่ง สัจจะคือ ความจริงใจ หรือแท้ ซึ่งก็หมายความว่า ความเป็นคน มีจิตใจแน่วแน่ มุ่งมั่นในสิ่งที่ตนปรารถนา แล้วก็ทำจนเห็นผล เช่นนักเรียน เรียนวิชาใดก็เรียนจบ ได้ความรู้จริงในวิชานั้น ผู้รักษาศีลประเภทใด ก็ตั้งใจรักษาศีลประเภทนั้นให้ได้จริง ๆ หรือผู้เป็นนักบวชก็เป็นนักบวชที่ดีจริง เป็นต้น 
คุณธรรม คือ สัจจะ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตทั้งทางโลก ทางธรรม จึงกล่าวได้ว่า ใครก็ตามที่ขาดสัจจะในใจเสียอย่างเดียว เอาดีไม่ได้เลย จะเล่าเรียนก็ไม่จริงจัง จะรักใคร ๆ ก็รักไม่จริงจัง จะแต่งงานกับใครก็ไม่จริงจัง จะเป็นพลเมืองของประเทศใดก็ไม่จริงจัง จะปฏิบัติธรรมก็ไม่จริงจัง เป็นต้น คนประเภทนี้จะเอาดีได้อย่างไร 
ในทางตรงกันข้าม คือ คนที่มีสัจจะ คุณธรรม คือสัจจะนั่นเอง จะเป็นหลักประกันประจำตัวให้คนอื่นเชื่อถือไว้วางใจ จะทำการสิ่งใดก็เจริญ เพราะได้รับการสนับสนุนจากคนทั้งหลาย 
ข้อสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ จิตใจที่มีสัจจะ อันอบรมดีแล้ว คือ มีความจริงใจจนติดเป็นนิสัยมั่นคง ความจริงใจนั้นจะเป็นเหตุ ทำให้จิตใจมีพลัง ฟันฝ่าอุปสรรคเหมือนกระสุนที่ถูกยิงไปด้วยพลังอย่างสูง ย่อมแหวกว่ายเจาะไชเอาชนะสิ่งที่ขวางหน้าไปจนได้ และเพราะค่าที่สัจจะเป็นกำลังส่งจิตใจให้บรรลุเป้าหมายได้ แม้แต่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้บรรลุพระอรหันต์สัมมาสัมโพธิญาณ ก็ด้วยสัจจะนี้ ดังนั้น สัจจะท่านจึงจัดไว้เป็นบารมีอย่างหนึ่ง ในบารมีสิบประการที่พระโพธิ จะขาดเสียมิได้ เรียกว่า สัจจะบารมี				
comments powered by Disqus
  • บทความชีวิตจริง

    7 พฤศจิกายน 2551 18:59 น. - comment id 102316

    ดีจัลเลย

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน