ความเป็นธรรมในการจัดสรรงบประมาณให้กับสถานศึกษาในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะในถิ่นทุรกันดาร เป็นอีกปัญหาสำคัญในการจัดการศึกษาของประเทศให้ได้มาตรฐานตามเจตนารมณ์ของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้ประกาศให้ปีนี้เป็นปีแห่งการปฏิรูปการศึกษา ติดตามได้จากรายงานพิเศษ “ยามร้อน แสนร้อน ยามหนาว ก็หนาวถึงใจ ไม่มีผ้าห่มคลุมกาย โรงเรียนมีครูหนึ่งคน ครูผู้เสียสละตน อดทนอยู่ห่างไกลความสบาย ใช่จะวอนให้เห็นใจ ความสำนึกของเพื่อนไทย ไทยกับไทยใยแตกต่างกัน โรงเรียนของหนู อยู่ไกล ไกล ไกล อยากให้คุณๆ หันมอง โรงเรียนของหนู” เสียงเจื้อยแจ้วของเด็กชาวเขาเผ่ากระเหรี่ยงตัวน้อยที่ร้องเพลงโรงเรียนของหนูดังกระหึ่มทั่วอาคารเรียนไม้หลังเก่า ของโรงเรียนบ้านทุ่งต้นงิ้ว อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ แม้ไม่เพราะพริ้ง และสำเนียงยังไม่ชัด แต่กลับสะกิดหัวใจของคณะจากกระทรวงศึกษาธิการซึ่งนำโดย นายอุดม ไกรวัตนุสรณ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่เดินทางไปรับฟังปัญหาในการจัดการศึกษา จนทำให้ไม่สามารถมองข้ามความเดือดร้อนขาดแคลนของโรงเรียนแห่งนี้ โรงเรียนบ้านทุ่งต้นงิ้ว ตั้งอยู่บนรอยต่อระหว่างอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก ต้องใช้เวลาเดินทางโดยรถกระบะขับเคลื่อนสี่ล้อขึ้นเขานานเกือบ 10 ชั่วโมง ยิ่งช่วงนี้หน้าฝนการเดินทางยิ่งอันตราย เพราะทางเละเป็นโคลนเสี่ยงกับการตกหน้าผาเป็นอย่างยิ่ง แต่แม้จะอยู่บนพื้นที่ชายขอบของประเทศ ที่มองไปทางไหนก็เห็นเพียงความขาดแคลน แต่ชาวบ้านทุ่งต้นงิ้วซึ่งทั้งหมดเป็นชาวเขาเผ่ากระเหรี่ยงยังหวังให้ลูกหลานของตนเองได้รับการศึกษาที่ดี เพราะมองว่าเป็นเพียงหนทางเดียวที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิตของลูกหลานไปสู่ความสุขสบาย ได้เป็นหมอ เป็นครู ไม่ต้องอยู่อย่างยากไร้อย่างที่ตัวเองต้องเผชิญอยู่ทุกวัน ด้านนายจรัญ แสงบุญ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านทุ่งต้นงิ้ว ยอมรับว่า ความหวังดังกล่าวของผู้ปกครองในบ้านทุ่งต้นงิ้วเป็นเรื่องยาก แต่ละปีมีเด็กนักเรียนน้อยมากที่ได้เรียนต่อสูงกว่าชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เพราะส่วนใหญ่ยากจนและยังไม่สามารถพูดภาษาไทยได้ดี ทำให้การเรียนรู้ช้ากว่านักเรียนในพื้นที่อื่นๆ ซึ่งอยากให้กระทรวงศึกษาธิการเร่งดำเนินการเรื่องการรับสัญญาณดาวเทียมและการใช้อินเทอร์เน็ต เพราะครูที่นี่ถูกปิดโอกาสด้านข้อมูลข่าวสารทั่วไป และจากหนังสือราชการของส่วนกลาง นอกจากนี้ในการจัดสรรเงินอุดหนุนการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานจากรัฐบาล ซึ่งได้รับการจัดสรรเท่ากับโรงเรียนพื้นราบทั่วไป ทั้งๆ ที่โรงเรียนบนดอยต้องเสียค่าขนส่งต่างๆ เพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าตัว จึงอยากให้รัฐมีการปรับเงินอุดหนุนฯ สำหรับโรงเรียนบนดอยเพิ่มขึ้น
1 ตุลาคม 2551 10:37 น. - comment id 101868
19 กุมภาพันธ์ 2552 19:07 น. - comment id 103960
อยากทราบว่า โรงเรียนมีถึงชั้นรัย่คะ
19 กันยายน 2553 20:15 น. - comment id 119174
ทำไงได้ครับ เพราะเลือกเกิดไม่ได้ แต่ก็เลือกเป็นคนดีได้ ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับประเทศชาติ รักสงบ อยู่แบบเรียบง่าย อยู่กับธรรมชาติ ขอบคุณครับที่ไปสัมผะหมู่บ้านเรา