ประชามติ
nidhi
ประชามติ
หมายถึง มติของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศที่แสดงออกในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
หรือที่ใดที่หนึ่ง ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า [Plebiscite] หรือ
มติของประชาชนที่รัฐให้สิทธิออกเสียงลงคะแนนรับรองร่างกฎหมายสำคัญที่ได้ผ่าน
สภานิติบัญญัติแล้ว หรือให้ตัดสินในปัญหาสำคัญในการบริหารประเทศ [Referendum]
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ได้กำหนดเกี่ยวกับเรื่อง
การทำประชามติไว้ในมาตรา ๑๖๕ หมวด ๗ เรื่อง การมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรง
ของประชาชน ดังนี้
มาตรา ๑๖๕ ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งย่อมมีสิทธิออกเสียงประชามติ
การจัดให้มีการออกเสียงประชามติให้กระทำได้ในเหตุ ดังต่อไปนี้
(๑) ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นว่ากิจการในเรื่องใดอาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสีย
ของประเทศชาติหรือประชาชน นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี
อาจปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภาเพื่อประกาศใน
ราชกิจจานุเบกษาให้มีการออกเสียงประชามติได้
(๒) ในกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติให้มีการออกเสียงประชามติ
การออกเสียงประชามติตาม(๑) หรือ (๒) อาจจัดให้เป็นการออกเสียงเพื่อมีข้อยุติ
โดยเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติในปัญหาที่จัดให้มีการออกเสียงประชามติ
หรือเป็นการออกเสียงเพื่อให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรีก็ได้ เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้
เป็นการเฉพาะ
การออกเสียงประชามติต้องเป็นการให้ออกเสียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในกิจการ
ตามที่จัดให้มีการออกเสียงประชามติ และการจัดการออกเสียงประชามติในเรื่องที่ขัด
หรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือเกี่ยวกับตัวบุคคลหรือคณะบุคคลจะกระทำมิได้
ก่อนการออกเสียงประชามติ รัฐต้องดำเนินการให้ข้อมูลอย่างเพียงพอและให้
บุคคลฝ่ายที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบกับกิจการนั้น มีโอกาสแสดงความคิดเห็นของตน
ได้อย่างเท่าเทียมกัน
หลักเกณฑ์และวิธีการออกเสียงประชามติให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบ
รัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ซึ่งอย่างน้อยต้องกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับ
วิธีการออกเสียงประชามติ ระยะเวลาในการดำเนินการ และจำนวนเสียงประชามติ
เพื่อมีข้อยุติ
คำว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เป็นไปตามมาตรา ๙๙ ซึ่งบัญญัติว่า
มาตรา ๙๙ บุคคลผู้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
(๑) มีสัญชาติไทย แต่บุคคลผู้มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ
ต้องได้สัญชาติมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี
(๒) มีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ในวันที่ ๑ มกราคมของปีที่มีการเลือกตั้ง
และ
(๓) มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าเก้าสิบวัน
นับถึงวันเลือกตั้ง
ผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งอยู่นอกเขตเลือกตั้งที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน
หรือมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งเป็นเวลาน้อยกว่าเก้าสิบวัน
นับถึงวันเลือกตั้งหรือมีถิ่นที่อยู่นอกราชอาณาจักร
ย่อมมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ
และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
มาตรา ๑๐๐ บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ในวันเลือกตั้ง เป็นบุคคลต้องห้าม
มิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง
(๑) เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
(๒) อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
(๓) ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
(๔) วิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ เป็นกฎหมาย
ประกอบรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา ๑๓๘(๔) ซึ่งกำหนดวิธีการตราพระราชบัญญัติ
ดังกล่าวไว้ในส่วนที่ ๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐
มาตรา ๑๓๘-๑๔๑ ซึ่งกำหนดไว้ว่าต้องมีการตราพระราชบัญญัตินี้เพื่อให้มีผล
บังคับใช้ในเรื่องประชามติ โดยต้องผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรและ
วุฒิสภาก่อนนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย
การเสนอให้ทำประชามติในวันนี้ของฝ่ายรัฐบาล จึงมีข้อชวนให้คิดว่า
เป็นเพียงการยื้อเวลาหรือซื้อเวลาเพื่อหาวิธีแก้ไขอื่นของรัฐบาล
ในระยะนี้เท่านั้น เนื่องจากการทำประชามติต้องเป็นไปตาม
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ
ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการทั้งในด้านการตราพระราชบัญญัติ
การดำเนินการให้ข้อมูลอย่างเพียงพอของรัฐบาล และการเปิดโอกาสให้
บุคคลฝ่ายที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบกับเรื่องที่จะทำประชามติดังกล่าว
ได้แสดงความคิดเห็นของแต่ละฝ่ายได้อย่างเท่าเทียมกัน ฯลฯ
การทำประชามติ จึงไม่ใช่การแก้ปัญหาในระยะเวลาอันสั้น
ซึ่งคงมิใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้องเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน
จึงน่าจะถูกต้องแล้ว ที่คนทั่วไปมองการกระทำครั้งนี้ว่า
เป็นเพียงการยื้อเวลาหรือซื้อเวลาออกไปอีกระยะหนึ่งเท่านั้น