************ อาหารของหัวใจ************
ลุงแทน
อาหารของดวงใจ
ความอิ่มเอิบ ด้วยอารมณ์ ทางรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส นั้น เป็นอาหารของฝ่ายโลก
ความอิ่มเอิบด้วยปีติและปราโมชอันเกิดจากความที่ใจสงบจากอารมณ์เป็นอาหารของฝ่ายธรรม.
อุดมคติของชีวิต คือ ความถึงที่สุด แห่งอารยธรรมทั้งฝ่ายโลก และฝ่ายธรรม
เพราะฉะนั้น ชีวิตย่อมต้องการอาหารทั้งฝ่ายโลกและฝ่ายธรรม
ถ้ามีเพียงอย่างเดียว ชีวิตนั้น ก็มีความเป็นมนุษย์ เพียงครึ่งเดียว หรือ ซีกเดียว.
เราหาความสำราญให้แก่กายของเราได้ไม่สู้ยากนัก แต่การหาความสำราญ
ให้แก่ใจนั้นยากเหลือเกิน ความสำราญกายเห็นได้ง่ายรู้จักง่าย ตรงกันข้ามกับ
ความสำราญทางใจ แต่ไม่มีใครเชื่อเช่นนี้ กี่คนนัก เพราะเขาเชื่อว่าไม่มีความ
สำราญอย่างอื่นที่ไหนอีก นอกจากความสำราญทางกายและเมื่อกายสำราญแล้ว
ใจก็สำราญเอง คนพวกนี้ ไม่ฟังธรรม หรือ ศึกษาธรรม และ ไม่ไหว้พระสงฆ์
ซึ่งเป็น นิมิต อันหนึ่งของธรรม.
ความสำราญทางกาย หรือฝ่ายโลกนั้น ต้อง"ดื่ม" หรือ ต้อง"กิน" อยู่เสมอ
จึงจะสำราญ แต่ที่แท้ มันเป็นเพียง การระงับ หรือ กลบเกลื่อนความหิวไว้
ทุกชั่วคราวที่หิวเท่านั้น ส่วนความสำราญฝ่ายใจหรือฝ่ายธรรมนั้น ไม่ต้องดื่ม
ไม่ต้องกิน ก็สำราญอยู่เอง เพราะมันไม่มีความหิว ไม่ต้องดื่มกิน เพื่อแก้หิว
ที่กล่าวนี้ ผู้ที่นิยม ความสำราญทางกาย อย่างเดียว อาจฟังไม่เข้าใจก็ได้
แต่อย่าเพ่อ เบื่อหน่าย ขอให้ทนอ่าน สืบไปอีกหน่อย
พวกที่นิยม ความสำราญกาย ในทางโลก กล่าวว่า "ใจอยู่ในกาย"
แต่พวกนิยม ความสำราญใจ ในทางธรรม กล่าวว่า "กายอยู่ในใจ"
พวกแรก รู้จักโลกเพียงซีกเดียว พวกหลัง อยู่ในโลกนานพอจนรู้จักโลกดี
ทั้งสองซีกแล้ว ขณะเมื่อ พวกที่ชอบสำราญกาย กำลังปรนเปรอให้เหยื่อ
แก่ความหิวของเขาอย่างเต็มที่นั้น พวกที่ชอบสำราญใจ กำลังเอาชนะ
ความหิวของเขาได้ ด้วยการบังคับอินทรีย์จนมันดับสนิท สงบอยู่ภายใต้
อำนาจของเขาเอง
พวกแรก เข้าใจเอาคุณภาพของการให้ "สิ่งสนองความอยาก"
แก่ความหิวของเขาว่า เป็นความสำราญ
พวกหลัง เอาคุณภาพของการที่ยิ่งไม่ต้องให้สิ่งสนองความอยาก
เท่าใดยิ่งดี ว่าเป็นความสำราญ
พวกหนึ่ง ยิ่งแพ้ตัณหา มากเท่าใดยิ่งดี อีกพวกหนึ่ง ยิ่งชนะมาก เท่าใด ยิ่งดี !
พวกที่ชอบสำราญกาย ย่อมจะแพ้ตัณหาอยู่เองแล้ว โดยไม่รู้สึกตัว ทำเอง และ
ชักชวนลูกหลาน ให้หาความสำราญกายอย่างเดียว เพราะไม่รู้จักสิ่งอื่น
นอกจากนั้น ครั้นได้ เครื่องสำราญกายมา ใจก็ไม่สงบสุข เพราะ มันยังอยาก
ของแปลก ของใหม่ อยู่เสมอไป (ได้เพียงความสำราญ ชั่วแล่น เหมือนกินข้าว
มื้อหนึ่ง ก็สงบหิว ไปได้ชั่วมื้อหนึ่ง) เมื่อความหม่นหมองใจ เกิดขึ้น ก็คิดเอาว่า
ตนเป็นคนมีกรรมหรือโชคร้ายไม่เหมือนคนอื่นเขา เมื่อต้องเจ็บป่วยตามธรรมดา
ของสังขาร ก็น้อยใจโชคของตัว อย่างหาที่เปรียบมิได้ ยิ่งเมื่อแสวงหาโชค โดย
ทางใด ก็ไม่ได้เสียเลยแล้ว ก็เลยเห็นไปว่า ในโลกนี้ ไม่มีความยุติธรรม มีแต่ความ
ดุร้าย คนชนิดนี้ ในที่สุด ก็มอบตัวให้แก่ ธรรมชาติฝ่ายต่ำ ประกอบกรรมชนิดที่
โลกไม่พึงปรารถนา ต่อสู้สิ่งที่เรียกว่า โชคชะตาไป แม้อย่างดีที่สุด คนพวกนี้ จะ
ทำได้ ก็เพียง แต่ เป็นผู้ทน ระทมทุกข์ อยู่ด้วย การแช่งด่า โชคชะตาของตัวเอง
เท่านั้น ในสโมสร หรือสมาคม ของพวกที่แสวง ความสำราญทางกาย ซึ่งกำลัง
ร่าเริงกันอยู่นั้น พวกเทพยดา ย่อมรู้ดีว่า เป็นการเล่นละครย้อมสีหน้าก็มี หลงทำไป
ทั้งที่ตัวเองหลอกตัวเอง ให้เห็นว่า เก๋ ว่าสุข ก็มาก บางคนต้องร้องไห้ และหัวเราะ
สลับกันทุกๆ วัน วันละ หลายครั้ง จิตใจฟูขึ้น แล้วเหี่ยวห่อลง, ขึ้นๆ ลงๆ ตามที่
กระเป๋าพองขึ้นหรือยุบลง หรือตามแต่จะได้เหยื่อที่ถูกปากและไม่ถูกปาก ใจของ
พวกนี้ยังเหลืออยู่นิดเดียวเสมอเท่าที่เขารู้สึก จึงทำให้เขาเข้าใจว่า ใจอยู่ในกาย
คือแล้วแต่กาย หรือสำคัญอยู่ที่กาย เพราะต้องต่อเมื่อ เขาได้รับความสำราญกาย
เต็มที่แล้ว ต่างหาก ใจของพวกเขา จึงเป็น อย่างที่เขา เรียกว่า "สุข" แม้คนพวกนี้
จะพูดว่า ความสำราญใจ ! ความสำราญใจ !!" อยู่บ้าง ก็เป็นเพียง การหลงเอา
ความสำราญฝ่ายกาย ขึ้นมาแทน เท่านั้น จะสำราญใจ ได้อย่างไร ในเมื่อใจ ถูกทำ
ให้พองขึ้น ยุบลง เสมอ ความพองขึ้น หรือยุบลง ก็ตาม ย่อมเป็นสิ่งทรมานใจ ให้
เหน็ดเหนื่อย เท่ากัน เพียงแต่เป็น รุปร่างที่ต่างกัน เท่านั้น ลาภ ยศ สรรเสริญ และ
ความเพลิดเพลิน ทำให้พองเบ่ง เสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกสบประมาท และหาความ
เพลิดเพลิน มิได้ ทำให้ยุบเหี่ยว แต่ทั้งสองอย่าง ทำความหวั่นไหว โยกโคลง ให้
เท่ากัน อย่างเด็ดขาด เมื่อเขาได้ สมใจอยาก เขาก็ได้ ความหวั่นไหว เมื่อไม่ได้ ก็
ได้ความหวั่นไหว เมื่อมืดมน หนักเข้า ก็แน่ใจลงเสียว่า ความอร่อย หรือ ขณะที่
อร่อย นั่นแหละเป็น "พระนิพพาน" ของชีวิต แต่เมื่อคิดดู เราพอจะเห็นได้ว่า นั่น
ยังไม่ได้ ถอยห่าง ออกมาจาก กองทุกข์ แม้แต่นิดเดียว, มันเป็นเพียง ความสำคัญ
ผิด เท่านั้น และ เป็นความสำคัญผิด ที่จะมัดตรึง ตัวเอง ให้ติดจม อยู่กับบ่อโคลน
นั่นตลอดเวลา
เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จะเห็นได้สืบไปว่า การสำราญทางฝ่ายโลก หรือจะเรียก อีกอย่าง
หนึ่งว่า ฝ่ายกาย หรือวัตถุ นั้น คืออะไร และเมื่อได้ หมกมุ่นมัว แต่แสวงอาหาร
ให้กาย ท่าเดียว แล้วจะเป็นอย่างไร หรือ อีกอย่างหนึ่งว่า ถ้ารู้จักความสุข เฉพาะ
ในด้านนี้ ด้านเดียว แล้ว ก็จะรู้จักโลกเพียงซีกเดียว อย่างไร และยิ่งกว่านั้น คนที่
รู้จักโลก เพียงซีกหนึ่งเช่นนี้ หาอาจทำ อารมณ์เหล่านี้ ให้เป็น เครื่องอำนวยความ
สะดวก หรือ ความเพลิน แก่เขาได้ เช่นเดียวกับ ผู้ที่เข้าใจโลกดี ทั้งสองซีกไม่;
เพราะ ต้องตกเป็นทาส ของความมัวเมา รื้อไม่สร่าง บูชามันให้เป็น สิ่งสูงสุด
กว่าสิ่งใดอยู่เสมอ
ส่วนผู้ที่รู้จักโลก ดีแล้วนั้น ย่อมบูชา ความสำราญทางธรรม หรือ ฝ่ายใจอันแท้จริง
เป็นส่วนสำคัญ และถือเอาส่วนกาย หรือวัตถุ เป็นเพียง เครื่องอำนวยความสะดวก
ในฐานเป็นคนใช้ สำหรับรับใช้ ในการแสวงหา ความสำราญ ทางฝ่ายจิต เท่านั้น
พวกนี้จึงมีอุดมคติว่า"กายอยู่ในใจ" คือแล้วแต่ใจ กายเป็นของนิดเดียว, และอาศัย
ใจ ซึ่งมีอำนาจเด็ดขาด และคุณภาพสูงสุด อยู่ทุกๆประการ และทุกๆเวลา "แสวง
หาอาหาร ให้ดวงใจดีกว่า ! "
ความเจริญงอกงามของดวงใจ นั้น ยังไปได้ไกลอีกมากมายนัก คือกว่าจะถึง
พระนิพพาน เมื่อไร นั่นแหละ จึงจะหมด ขีดของทางไป แล้วมีอุดมสันติสุข
อยู่ตลอด อนันตกาล ส่วนความเจริญทางกายนั้น ไม่มีทางไปอีกต่อไป สูงสุด
อยู่ได้เพียงแค่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และ อารมณ์ทางใจ บางอย่าง เช่น
ยศศักดิ์ เท่านั้น แต่ไม่มีใคร เคยทำให้เกิด ความอิ่ม ความพอใจ ในเรื่องนี้เลย
แม้ในอดีต, ในปัจจุบัน และ อนาคต. เพราะว่า การแสวงหาทางฝ่ายนี้ ต้องการ
"ความไม่รู้จักพอ" นั่นเอง เป็นเชื้อเพลิงอันสำคัญแห่งความสำราญ ถ้าพอเสีย
เมื่อใด ก็หมดสนุก ! ใครจะขวนขวายอย่างไร ก็ไม่อาจได้ผลสูงไปกว่า "การ
สยบซบซึมอยู่ ท่ามกลางกองเพลิง แห่งความถูกปลุกเร้าของตัณหา" ซึ่งเมื่อใด
ม่อยหรี่ลง ก็จะต้องหาเชื้อเพลิงเพิ่มให้ใหม่อีก และไม่มีเวลาพอ เช่นเดียวกับ
ไฟธรรมดา กับ เชื้อเพลิงธรรมดา เหมือนกัน เพราะฉะนั้น การแสวงหาอาหาร
ทางฝ่ายใจ เพื่อดวงใจ จึงเป็นสิ่งที่มีค่า น่าทำกว่า, เป็นศิลปะกว่า เป็นอุดมคติ
ที่สูงกว่า, ทำยาก หรือ น่าสรรเสริญกว่า, หอมหวนกว่า เยือกเย็นกว่า ฯลฯ กว่า
โดยทุกๆ ปริยาย.
การแสวงความสำราญทางฝ่ายกาย เป็นต้นเหตุแห่งสงคราม,
การแสดงความสำราญฝ่ายจิต เป็นต้นเหตุแห่งสันติภาพ.
ถ้าชาวโลก ยังบูชาลัทธิวัตถุนิยม มัวแสวงแต่ ความสำราญทางกาย อย่างเดียว
อยู่เพียงใด ก็ไม่มีหวังในสันติภาพ แม้จะเปิด สภาสันนิบาตชาติ ขึ้นอีกสัก ๑๐
สันนิบาต ก็ตาม นักวัตถุนิยม เห็นกายเป็นใหญ่ ย่อมเสียสละ ได้ทุกอย่าง เพื่อ
ให้กาย หรือโลกของตน อิ่มหมีพีมัน ส่วนนักจิตนิยม เห็นแก่จิตเป็นใหญ่ ย่อม
เสียสละได้ ทุกอย่างเหมือนกัน เพื่อแลกเอา ความสงบ เยือกเย็น ของจิต. ผู้แสวง
ความสำราญ ทางกาย นั้น การแสวง ของเขา จำเป็นอยู่เอง ที่จะต้องกระทบ กับ
ผู้อื่น เพราะความสำราญกาย นี้ เป็นของเนื่องด้วยผู้อื่น หรือสิ่งอื่น ที่แวดล้อมอยู่
โดยรอบ เมื่อความเห็นแก่ตัวมีอยู่ ก็ต้องมีการกระทบกันเป็นธรรมดา การสงคราม
ก็คือ การปะทะของคนหลายคน ที่ต่างฝ่ายต่างมีความเห็นแก่ตัวเพื่อความสำราญ
ทางกายนั่นเอง สงครามโลกซึ่งเป็นเพียงความเห็นแก่ตัวของคนหลายชาติรวมกัน
ก็ไม่ต่างอะไรกันอีก ส่วนการแสวงหาความสุขทางฝ่ายจิตนั้น จะไม่กระทบกระทั่ง
ใครเลย แม้แต่น้อย, เพราะเหตุว่า มีอะไรๆ ให้แสวง อยู่ในตน ผู้เดียวเสร็จ ไม่ต้อง
เนื่องด้วยผู้อื่น การสงคราม ไม่สามารถ เกิดจาก ผู้แสวงสุขทางจิต! เช่นเดียวกับที่
ไฟไม่สามารถ เกิดจากความเย็น.
การแสวงหาอาหาร ทางฝ่ายกาย ง่ายหรือตื้น และ เป็น ต้นเหตุ แห่งสงคราม
การแสวงหาอาหารของดวงใจ ยากและลึก และเป็นต้นเหตุของสันติภาพ ดัง
กล่าวมาแล้ว. แต่มนุษย์ในโลกนี้ ส่วนมาก ปล่อยตนไปตามสัญชาตญาณ หรือ
ธรรมดาฝ่ายต่ำมากเกินไป จึงเท่าที่เราเห็นกัน จึงมีแต่ ผู้ถือลัทธิวัตถุนิยม ยิ่ง
นานเข้าเท่าใด วิธีการแสวงหา อาหารของดวงใจ ก็ยิ่งลบเลือน หายไปจาก
ความทรงจำ และ ความเอาใจใส่ ของมนุษย์ มากขึ้น เพียงนั้น ในที่สุด ก็ไม่มี
อะไรเหลือ อยู่ในมันสมองของมนุษย์ นอกจากความเห็นแก่ตัว และนั่นคือ
สมัยที่ไฟประลัยกัลป์จะล้างโลก
ข้าพเจ้าอยากจะกล่าวว่า ผู้แสวงหาสุขทางใจ มีอยู่เพียงกี่คน ก็ตาม ก็เป็นเหมือน
ลูกตุ้ม ที่ถ่วงโลกไว้ มิให้หมุนไป ถึงยุคไฟประลัยกัลป์ เร็วเกินไปเพียงนั้น
"เรายอมรับว่า เป็นลูกตุ้มจริง แต่ว่า เป็นลูกตุ้ม ที่ถ่วง ไม่ให้ พวกท่านวิ่งเข้าไป
สู่กองไฟ เร็วเกินไป ถ้าพวกข้าพเจ้า จะพลอยเป็น อย่างท่าน ไปด้วย เชื่อแน่ว่า
โลกคงจะแตกดับ เร็วกว่า ที่พวกข้าพเจ้า จะแยกเป็นอยู่ เช่นนี้" นี่เป็นคำ ซึ่ง
พวกแสวงสุขทางฝ่ายจิต ควรจะพูดได้โดยชอบธรรม !
พระพุทธองค์ ทรงเป็นนายกแห่งสมาคมผู้แสวงสุขทางใจ เพียงพระองค์เดียว
และสมัยเดียว ก็ชื่อว่าเป็น โลกนาถ ที่พึ่งของโลก หลายสมัย เพราะว่า อิทธพล
แห่งธรรม ที่พระองค์ ทรงเปิดเผยขึ้นนั้น ได้ถ่วงให้โลก ที่กำลังหมุนไปหา
ความแตกดับ หมุนไปช้าเข้า มากกว่ามากนัก เมื่อหมุนไปช้า เช่นนี้ คนทั้งโลก
แม้ที่สุด แต่ คนที่ไม่เคย ได้ยินชื่อ ของพระองค์ ก็พลอยมีส่วน ได้รับความสุข
ด้วย แต่เมื่อโลก ละทิ้ง การแสวงหา อาหารทางใจ มารับเอา อาหารทางกาย
มากขึ้นเช่นนี้ พระพุทธองค์ก็ช่วยไม่ได้ เพราะโลกเป็นฝ่ายที่ทิ้งพระพุทธองค์
พุทธบริษัททุกคน ยังภักดีต่อ การแสวงหาความสุขทางใจ กันอยู่ นับว่า ตระกูล
ของพระองค์ ยังไม่ขาดทายาท เสียทีเดียว และจะยังเป็น เหมือน ลูกตุ้มน้อยๆ
ที่เหลืออยู่เพื่อตัวเองและโลกด้วย, ทั้งขณะที่พวกอื่นเขาอาจกำลังเกลียดพวกนี้อยู่.
พุทธบริษัท คงต้องถือว่า กายอยู่ในใจ, อาหารทางใจ สำคัญกว่า อาหารทางกาย
และยังคงต้องภักดี ต่อลัทธิ แสวงสุขทางใจ อยู่เสมอ. การเป็นพุทธบริษัทแต่ปาก
นั้น ไม่ทำให้เป็น พุทธบริษัท ได้เลย พุทธบริษัทที่แท้ เป็นนักนิยมวัตถุ หรือ ถือ
ลัทธิหลงชาติ ไปไม่ได้ พุทธบริษัทที่ขวางๆ รีๆ นั่นยิ่งจะร้ายไปกว่า ผู้ที่มิได้เป็น
พุทธบริษัท เมื่อเกิด "มิคสัญญี" พุทธบริษัท ที่แท้จริง เท่านั้น ที่จะเป็นผู้เหลืออยู่
แม้นี้ก็เป็น อานิสงฆ์ แห่งการนิยม อาหารของดวงใจ
เมื่อได้พร่ำ กล่าวถึงความดีของอาหารทางดวงใจมามากแล้ว
กระทั่งในแง่การเมืองเป็นที่สุด จึงต่อไปนี้ จะได้กล่าวถึง
ลักษณะของอาหารทางใจโดยตรงบ้าง,ให้ควรกัน.
คำสองคำซึ่งใครๆ ก็เคยได้ยินมีอยู่ว่า โลก กะ ธรรม
โลก กับธรรม จะเป็น อันเดียวกัน ไม่ได้.
โดยที่โลกเป็นฝ่ายนิยมวัตถุ,
ธรรมเป็นฝ่ายนิยม "ความเป็นอิสระ เหนือวัตถุ" และ
"ความเป็นอิสระเหนือวัตถุ นี่เอง คือ อาหารของดวงใจ"
กายต้องการอาหารทางฝ่ายโลก, ใจต้องการอาหารฝ่ายธรรม,
ผู้ที่เห็นว่า ใจเป็นใหญ่ จนถึงกับเป็นที่อิงอาศัยของกาย ย่อมแสวงหาอาหารให้กาย
เพียงเพื่อสักว่าให้มันเป็นอยู่ได้ (ยาปนมัตต์) เท่านั้น
นอกนั้นใช้แสวงเพื่อใจอย่างเดียว
อันความเป็นอิสระเหนือวัตถุนั้นเห็นได้ยาก ตรงที่ตามธรรมดาก็ไม่มีใครนึกว่า
ตนได้ตกเป็นทาสของวัตถุ แต่อย่างใด ใครๆ ก็กำลังหาวัตถุมากินมาใช้มาประดับ
เกียรติยศของตน และบำเรอคนที่ตนรัก ทำให้เห็นไปว่า นั่นเป็นนาย มีอิสระเหนือ
วัตถุพอแล้ว เช่น มีเงินจะใช้มัน เมื่อไรก็ได้ ส่วน ความหม่นหมองใจ ที่เกิดขึ้นมาก
มายหลายประการ หามีใครคิดไม่ว่า นั่นเป็นอิทธพลของวัตถุที่มันครอบงำย่ำยีเล่น
ตามพอใจของมัน ดวงใจได้เสียความสงบเย็น ที่ควรจะได้ไปจนหมด ก็เพราะ
ความโง่เง่าของตัวเอง, ที่ไปหลงบูชาวัตถุ จนกลายเป็นของมีพิษสงขึ้นมา ดวงใจ
ที่แท้จริง ก็ไม่อาจฟักตัว เจริญงอกงาม ขึ้นมา เพราะ ขาดการบำรุง ด้วยอาหาร
โดยที่เจ้าของไม่เคยคิดว่ามันต้องการอาหารเป็นพิเศษยิ่งกว่ากาย สัญชาตญาณ
ทั้งหลาย ชวนกันขึ้นนั่งบัลลังก์บัญชาการเต็มที่ ออกคำสั่งทับถมดวงใจที่แท้จริง
หรือธรรมชาติฝ่ายสูง ที่เป็นชั้นปรมัตถธรรม จนไม่ปรากฏ สาละวนแต่ แสวงหา
อาหาร ตามอำนาจฝ่ายต่ำ หรือที่เรียก ในที่นี้ว่า กาย (โวหารธรรม) เมื่อใจขาด
อาหาร แม้แต่ที่เป็นเบื้องต้น เช่นนี้แล้ว ก็ไม่งอกงาม พอที่จะแจ่มใส ส่องแสง ให้
ผู้นั้นมองเห็น และถืออุดมคติ แห่งความสุขทางใจได้ ชีวิตก็เป็นของมืดมน ต้อง
ร้องไห้ ทั้งที่ ไม่รู้เห็นว่า มีอะไรมาทำเอา
เมื่อเด็กๆ ที่เกิดมาในโลก ไม่อาจสำนึก ในปริยายนี้ ได้ด้วยตนเอง เช่นนี้แล้ว
การศึกษาธรรมเท่านั้น ที่จะช่วยได้ในเบื้องต้น การศึกษาธรรม ทางฝ่ายหลักวิชา
จึงเป็น อาหารของดวงใจ ในขั้นแรก และขั้นกลาง ก็คือ การย่อยหลักวิชาๆ นั้น
ออกด้วย มันสมอง ของตนเอง ได้ความรู้ ความแจ่มแจ้ง ความโปร่งใส เยือกเย็น
อะไรมา นั่นเป็น อาหารชั้นปลาย ส่งเสริมกัน สืบไปให้เจริญ จนสามารถ ทำพระ
นิพพาน ให้ปรากฏ จึงจะนับว่าถึงที่สุด
ปริยัติธรรม หรือ ธรรมในส่วนหลักวิชานั้น ช่วยได้โดยเป็น เครื่องสะกิดใจ
ให้รู้สึก ในเบื้องต้นว่า เรามีกายสองซีก คือ ซีกรูปกาย และธรรมกาย รูปกาย
เจริญได้เองด้วยการมีบิดามารดาเป็นแดนเกิด เติบโตขึ้นด้วยข้าวปลาอาหาร
ส่วนธรรมกายนั้น มี กาย วาจา ใจ ที่สุจริตผ่องใส เป็นที่ตั้งที่ปรากฏ, มีผลของ
ความสุจริต เป็นอาหาร ที่จะบำรุง ให้เติบโต สืบไป และทำให้เรา รู้สึกสืบไป
เป็นลำดับว่า ถ้าบำรุงแต่รูปกาย อย่างเดียว มันก็จะอ้วนดี แต่ซีกเดียว อีกซีกหนึ่ง
ซึ่งเป็นซีกใน จะเหี่ยวแห้งอยู่ ผลที่ได้ ก็คือ ร่างกายที่สมบูรณ์ แต่ใจเต็มไปด้วย
ความหม่นหมอง เมื่อยังเด็ก ความหม่นหมอง มิปรากฏนัก ก็เพราะยังเป็น ผู้ที่
ผู้อื่นเลี้ยงดูให้ และ กายก็ยัง มิได้ขยายตัวเต็มที่ จนสามารถ ทำความรู้สึกได้
สุดขีด ทุกๆ อินทรีย์ (คือเต็มที่ ทั้งทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) ครั้นเมื่อ กาย
เจริญเต็มที่เข้า ความหม่นหมอง ก็เกิดมากขึ้น เพราะยิ่งขาดดุลยภาพ (ของ
ความที่ รูปกาย และ ธรรมกาย จะต้องมี ความเจริญคู่เคียง สม่ำเสมอกันไป
จึงความหม่นหมอง จะไม่อาจเกิด) นั่นเอง สรุปความว่า ปริยัติธรรม ช่วยให้
เราทราบว่า เราจะต้องประพฤติธรรม เช่นนั้นเช่นนี้ เพื่อธรรมกายของเรา
มิฉะนั้น เราตายด้านไปซีกหนึ่ง, เมื่อเรารู้ ปริยัติธรรม พอสมควรแล้ว เราก็ได้
อาหารของดวงใจ ในส่วนหลักวิชา และ ภาคพื้น ของการปฏิบัติ สัมมาทิฎฐิ
หรือ รุ่งอรุณ ได้ปรากฏแก่เราแล้ว เป็นแรกเริ่ม
ปฏิบัติธรรม หรือ ธรรมคือตัวการปฏิบัตินั้น เป็นการทรมานอินทรีย์ (sense)
เพื่อเอาชนะอินทรีย์, ชนะได้เท่าใด ความเยือกเย็น พร้อมทั้ง ความรู้แจ้ง ก็เกิดขึ้น
เท่านั้น ความเยือกเย็น เกิดจาก ความที่ อินทรีย์ สงบรำงับลง ความเห็นแจ้ง
ความจริงในตัวเอง ปรากฏเพราะ ไม่ถูกม่าน แห่งความ กลัดกลุ้ม ของอินทรีย์
ปิดบังไว้ เช่นแต่ก่อน วิธีเอาชนะ อินทรีย์ ตามหลัก แห่งพุทธศาสนา ได้แก่
การบังคับตัวเอง ให้งดเว้นจากสิ่งชั่ว, บังคับตัวเอง ให้ทำ แต่สิ่งที่ดี เข้าแทน
และต่อจากนั้น พยายามหาวิธี ชำระจิต ให้เป็นอิสระ จากความหม่นหมอง
ทั้งที่เปิดเผย เห็นได้ง่ายๆ และที่นอนนิ่ง เงียบๆ อยู่ในสันดาน อันเป็นเหมือน
เชื้อ ที่ก่อเกิด ของอย่างแรก หรือ กล่าวอีกอย่างหนึ่ง ได้แก่ การบังคับกาย และ
วาจา ให้อยู่ในอำนาจ เรียกว่า ศีล, บังคับจิต ให้อยู่ในอำนาจ เรียกว่า สมาธิ, และ
ใช้จิตที่อยู่ในอำนาจแล้ว คือ ค้นหาความจริง ที่ยาก ที่ลึก จนปรากฏ แจ่มแจ้ง
เรียกว่า ปัญญา, การบังคับหรือ ควบคุมอินทรีย์ เช่นนี้ ทำให้ดวงใจ ได้รับ
ความสะบักสะบอม น้อยลง วัตถุ หรือ อารมณ์ ทั้งหลาย มีพิษสง น้อยเข้า หรือ
หมดไป เพราะ ค่าที่เรา สามารถบังคับ ตัวเอง ไว้ในภาวะ ที่จะ ไม่หลงใหลไป
ตามทั้งใน ทางชอบ และ ทางชัง เมื่อใจเรา ได้รับความ พักผ่อน อย่างผาสุก
เนื่องจาก การบังคับอินทรีย์ ของเรา เช่นนี้แล้ว เราก็ได้ อาหารของดวงใจ
ในส่วนของการปฏิบัติ, อันจะเป็น อุปกรณ์ ให้ได้รับ อาหารชั้นสูงสุด สืบไป
ปฏิเวธธรรม หรือ ธรรมในส่วน การรู้แจ้ง แทงตลอดในสิ่งที่เคยหลงใหล
ไม่รู้เท่าทันมาก่อน เป็นความรู้ชนิดที่จะตัดรากความหม่นหมองของดวงใจเสีย
โดยประการทั้งปวง, เช่น ความสงสัย ความเข้าใจผิด หลงรัก หลงชัง ฟุ้งซ่าน
ฯลฯ เสียแล้ว ทำความแจ่มแจ้งใจ โปร่งใจ เยือกเย็นใจ ให้เกิดขึ้นแทน นี้เป็นผล
ที่ปรากฏแก่ใจ สมจริง ตามที่เรียนรู้ ทางหลักวิชา โดยปริยัติ ซึ่งเป็นเพียง "การ
รู้อย่างคาดคะเน ด้วยเหตุผล ล่วงหน้าไปก่อน" การแทงตลอดนี้ หมายถึง การ
แทงตลอด ม่านอวิชชา คือ ความโง่หลง ซึ่งเป็นของเฉพาะตัว อย่างยิ่ง. น่า
อัศจรรย์มาก ที่คนบ้าคลั่ง อาจรักษาโรค ของตนเอง ด้วยการฟัง วิธีรักษา มา
จากผู้อื่น แล้วรักษาตัวเอง พิจารณาตัวเอง ไปเรื่อยๆ อย่างค่อยเป็น ค่อยไป จน
หายได้ ในที่สุด! ช่างไม้หรือนักยันตรกรรม ที่ติดขัดในปัญหาขัดข้องบางอย่าง
ในหน้าที่การงานของตน อาจผ่านปัญหานั้นๆ ไปได้ โดยการ พยายาม คิดค้น
หาเอาเอง หรือ ถามท่านผู้รู้ แล้วมา แก้ไขไปเอง เมื่อพบเงื่อนถูก ผ่านไปได้ ก็ได้
รับความสุขใจ ผู้ที่รู้ว่า ตนกำลังติดขัด ในปัญหาชีวิต (คือ ความที่ชีวิต ถูกกดถ่วง
ด้วยความ หม่นหมอง อยู่เสมอ ตั้งแต่ ชนิดที่ หยาบที่สุด จนถึง ที่ละเอียดที่สุด)
ก็ฉันนั้น, คือเมื่อได้คิดค้น ไปเองบ้าง ไต่ถามท่าน ผู้รู้ มาคิดค้น ไปบ้าง จนได้รับ
ความแจ่มแจ้ง เบาโปร่ง ปรากฏกับใจเอง ก็เป็นสุข นักศิลปินที่แท้จริง เขาหา
ความสุข จากความพอใจ ตัวเอง ในการที่ ทำสิ่งที่ยากๆ ได้สำเร็จ มิใช่เพราะ
พอใจในเงิน หรือ รางวัลที่จะได้รับ ซึ่งเป็นวิสัย ของ นักการค้า ในที่นี้จะ เห็น
ได้ว่า ความสุขที่เกิดจากความพอใจ หรือ ความรู้แจ้งนั้น เป็นอีกขั้นหนึ่ง ซึ่ง
นักการค้า หรือ ผู้นิยมวัตถุ จะเห็นเป็นความสุข ไปไม่ได้เลย ผลอันนี้คือ
อาหารของดวงใจ ในส่วนปฏิเวธ, ซึ่งเมื่อ แทงตลอด ถึงที่สุด ไม่มีอะไรเหลือ
จริงๆ ก็คือ การพบกันเข้ากับ พระนิพพาน และ การแทงตลอด ที่ถึงขีด ระยะ
หนึ่งๆ ข้างต้นๆ นั้น คือ มรรคผล ขั้นหนึ่งๆ ตามหลัก ที่ท่านกำหนดไว้
เมื่อได้ อาหารทางใจ เป็นลำดับมา จนลุถึง พระนิพพาน เช่นนี้แล้ว ต่อจากนั้น
ก็เป็น ใจที่มีรสของ พระนิพพาน เป็นอาหาร ศานติเป็น รสของพระนิพพาน !
และ ใจมีศานตินั้น เป็นอาหาร !! ศานติ ในที่นี้ หมายถึง ความเยือกเย็น ของ
พระนิพพาน หรือ สภาพอันหนึ่ง ซึ่งเป็นสภาพแห่ง ความว่างโปร่ง เป็นอิสระ
เหนือสิ่งทั้งหลาย เหนือรูปธรรม นามธรรม เหนือกฏแห่งรูปธรรม และ
นามธรรม ทั้งหมด และเป็นสิ่งที่ ใครจะกฏเกณฑ์อะไร ให้ไม่ได้เลย
เมื่อเราอาบน้ำ เราได้รับความเย็นของน้ำ หรือ เพราะน้ำ, เมื่อใจลุถึง
พระนิพพาน มันย่อมเยือกเย็น เพราะ ความเย็นของ พระนิพพานนั่นเอง
ความเยือกเย็นอันนี้ เป็น ยอดอาหาร ชั้นพิเศษ ของดวงใจ ก็ความหม่นหมอง
ต่างๆ ของดวงใจนั้น ถูกสลัดทิ้งเสียหมดแล้ว ตั้งแต่ได้รับอาหารขั้นปฏิเวธขั้นสูง
มาบัดนี้ ได้รับความเยือกเย็น ของพระนิพพาน เข้าอีก จึงเป็นการยาก ที่จะกล่าว
ให้เป็นที่เข้าใจ กันอย่างทั่วไปว่า รสชาติอันนี้ ในขณะนี้ จะเป็นอย่างไร ท่านจึง
กล่าวว่า เป็นสิ่งที่แม้แต่อยากพูดให้ฟัง ก็ไม่รู้ว่าจะพูดอย่างไร (Subjective)
อย่าว่าแต่ รสชาติ ของพระนิพพานเลย แม้เพียงแต่ รสของวิเวก หรือ สมาธิ
ขั้นต้นๆ ก็เป็นของยากที่จะอธิบายว่า มีรสชาติเป็นอย่างไรเสียแล้ว เพราะเป็น
รสที่ต้องจัดเป็นรสแปลกใหม่อีกรสหนึ่ง จากบรรดารส ที่คนธรรมดา เราเคย
รู้รสกันมาในวงแห่ง โลกิยารมณ์ ความจริง ตามธรรมดา สิ่งที่เรียกกันว่า รส
นั้น เป็นของอธิบายยากมาก บางอย่าง ไม่มีทาง จะเทียบเคียง เสียเลย เช่น
นาย ก. ไม่เคยกิน ของหวาน เลย นาย ข. ก็ไม่อาจที่จะ อธิบายให้ นาย ก.
ทราบได้ว่า รสหวานนั้น เป็นอย่างไร จะว่า ตรงกันข้ามกับ ขม กับ เค็ม กับ
เปรี้ยว หรือ อะไรทุกอย่าง นาย ก. ก็ไม่อาจทายได้ว่า รสหวาน นั้นเป็นอย่างไร
แม้ นาย ข. จะคิดค้นหา คำใดมาพูด ก็ไม่ได้ คงได้แต่ว่า หวานๆ อยู่อย่างเดิม
นั่นเอง นี่คือ ความเป็น ปัจจัตตัง และ ความเป็น ของอธิบายให้ชัด ไม่ได้ ของรส
ส่วนรสของ พระนิพพาน ก็ทำนองเดียวกัน เป็นแต่ ยิ่งยากขึ้นไป กว่านั้น อีก
หลายเท่านัก แม้ในทาง ที่จะให้เปรียบเทียบ หรือ คาดคะเน ก็เมื่อ นาย ก.
ไม่ควรจะดื้อเถียง นาย ข. ว่า รสหวานไม่มีในโลก, และ ทางที่ดีที่สุด นาย ก.
ควรใช้ความพยายาม จนหาน้ำตาล มาชิมดูได้ ด้วยตน ก็จะรู้ว่า หวานเป็น
อย่างไร ฉันใด ผู้ที่ยังไม่ถึงนิพพาน ก็ไม่ควรปฏิเสธ รสของนิพพาน. แต่
ควร ตะเกียกตะกาย จนได้ชิมรสของพระนิพพาน ด้วยตนเองฉันนั้น
ก่อนแต่จะจบเรื่องนี้ อยากจะเล่านิทาน ฟังกันเล่น สักหน่อยหนึ่ง เต่าตัวหนึ่ง
เป็นสหาย กับ ปลาตัวหนึ่ง วันหนึ่งได้พบกัน ปลาถามว่า
"สหายเอ๋ย, ท่านไปที่ไหนเสียเป็นนาน?"
"ไปเที่ยวบนบกมา" เต่าตอบ
"บกเป็นอย่างไร?" ปลาถาม
"อ๋อ บกงดงามมาก มีอะไรสวยๆ แปลกๆ ลมพัดเย็นสบาย มีอาหารดีเยอะ
มีเสียงแปลกๆ ซึ่งเราไม่เคยได้ยิน ในที่นี้เลย"
"ฉันไม่เข้าใจเลย สหายเอ๋ย บกนั้น อ่อนละมุน ให้ศรีษะของเราแหวกว่าย
ไปได้สะดวกเช่นนี้หรือ?"
"ไม่ใช่"
"บกไหลเอ่อไปได้ตามร่อง เช่นนี้หรือ?"
"ไม่ใช่"
"บกเย็นชุ่ม ซึมซาบ เอิบอาบ เช่นนี้หรือ ?"
"ไม่ใช่"
"บกเป็นละลอก ริ้วๆ เมื่อถูกลมพัดหรือ ?"
"ไม่ใช่"
แม้ปลาจะตั้งคำถามมาอย่างไร คำตอบก็มีแต่ "ไม่ใช่" ทั้งนั้น ในที่สุด
ปลาก็หมดศรัทธา ประณามเต่าว่า "สหายเอ๋ย ท่านโกหกเสียแล้ว เอาสิ่งที่
ไม่มีจริง เป็นจริง มากล่าว" แต่เต่าก็ ไม่รู้ที่จะตอบ สหายของตน อย่างไรดี
ในที่สุด ก็ได้แต่ ค่อยคลาน กลับขึ้นบกอีก เต่าได้เที่ยว ไปบนบก อีกใหม่, บนบก
ซึ่งสหายของเขา ไม่เคยนึก และ ไม่ยอมเชื่อว่ามี ! เต่าได้เที่ยวไปวันแล้ววันเล่าๆ
บนบก ซึ่ง สหายของเขา หาว่า เขาโกหก !!
นิทานเรื่องนี้ จะอาจเป็น เครื่องรองรับ ความเป็นปัจจัตตัง และ การพูดบรรยาย
ไม่ได้ ของศานติ- อาหารของดวงใจ ชั้นพิเศษ ชั้นยอดสุด, ได้บ้างกระมัง, น้ำกับ
บก ต่อติดกันอยู่ ห่างกัน เพียงชั่วเส้นริมน้ำ เส้นเล็กๆ ที่ริมสระเท่านั้น แต่ปลาก็
ไม่อาจรู้ หรือแม้แต่คาดคะเนว่า บกเป็นอย่างไรได้เลย พระพุทธองค์ตรัสว่า โลก
คือโอกะ หรือโอฆะ (แปลว่า น้ำ ทั้งสองศัพท์) สัตว์โลก ก็คือผู้ที่จมอยู่ในโลก
หรือน้ำ นั่นเอง พระนิพพาน เป็นฝั่งเกาะที่รอดพ้น แต่น้อยคนนักที่จะว่ายออกไป
ถึงเกาะ ดุจพวกนกที่ติดบ่วงแล้ว น้อยตัวนักที่จะหลุดไปได้ ไม่ต้องตกเป็นเหยื่อ
ของนายพราน ฉันใด ก็ฉันนั้น
ผู้ที่ตกโลก หรือ จมโลก ก็คือ ผู้ที่รู้จักแต่โลก หรือ กามคุณ ซึ่งเรียก ในที่นี้ว่า
อาหารของฝ่ายกาย หรือ โลกิยะนั่นเอง
เมื่อรู้จัก แต่อย่างเดียว ก็ไม่ (หรือ มักจะไม่) เชื่อว่า บก หรือ โลกุตตระ มีอยู่
ณ ที่ใดอีก เช่นเดียวกับปลา ก็บัดนี้ การที่จะเดินทางไปสู่บกนั้น ผู้เดินต้องกิน
"อาหารของดวงใจ" ดังที่กล่าวมาแล้ว การที่ ไม่ค่อยมีใครสนใจ
ในเรื่องอาหารของดวงใจ ก็เพราะไม่เคยคิดที่จะเดินทางไปสู่ "บก"นั่นเอง !
อาหารของดวงใจ มีหลายชั้นนัก เพราะฉะนั้น ย่อมจะมีผู้แสวง และ
เสพได้ในชั้นต่างๆ บางชั้น เป็นธรรมดา เรารู้ในข้อนี้ได้ ก็โดยที่จะ
เห็นได้ว่า คนบางคน หาได้ตกโลก เต็มที่ เหมือนกับ บางคนไม่
เช่นเดียวกับ ถ้าเราจะมองดู ภาพสมมติ สักภาพหนึ่ง เป็น ภาพ
แห่ง ริมฝั่งทะเล เราเห็นคนบางพวก ตกน้ำ จมมิดอยู่ บางพวก
ชูศรีษะ ร่อนขึ้นเหนือน้ำ ได้มองดูรอบๆ สังเกตหา ฝั่งบกอยู่
บางพวก มองเห็นฝั่งแล้ว บางพวก กำลังว่ายมุ่งเข้าฝั่ง บางพวก
ใกล้ฝั่ง เข้ามามากแล้ว บางพวก ถึงที่ตื้น ยืนถึง เดินตะคุ่มๆ เข้า
มาแล้ว บางพวก เดินท่อง เพียงแค่เข่า เข้ามาแล้ว บางพวก นั่งพัก
อย่างสบาย หรือ เที่ยวไป อย่างอิสระบนบก ! เราจะเป็นพวกไหน
ย่อมไม่มีใครรู้ได้ เท่าตัวเราเอง !! เป็นของน่าคิด
ที่สุดนี้ หวังว่า ตลอดเวลา ที่มนุษย์ยังคงได้รับรส ของพระพุทธวจนะ
อยู่เพียงใด คงจะมีสักพวกหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ พวกบริโภค
อาหารของฝ่ายกาย อย่างสมบูรณ์อยู่แล้ว ซึ่งจะเกิดความรู้สึกอึดอัด
ในความซ้ำซาก และหมด "ทางไปในฝ่ายสูง" ของโลกิยาหาร หรือ
ลัทธิวัตถุนิยม (Materialism) แล้วเกิดความสนใจ ในคุณภาพอัน
สูงสุด ของ โลกุตตราหาร หยิบเอา ลัทธิมโนนิยม (Spiritualism)
ขึ้นมาพิจารณาดูบ้าง ด้วยกิริยา อันเคารพ และแยบคาย เพราะ
ยังมีทางไปอีกสูงมาก
ในนามแห่งพุทธทาส ข้าพเจ้าขอแสดงความยินดี ที่จะรู้จักท่าน และ
ขอแสดงความนับถืออย่างสูง ต่อท่านล่วงหน้า
พุทธทาสภิกข