จิตที่อิสระดีที่สุด

ลุงแทน

จิตอิสระที่สุด
1) ในการดำรงชีวิตประจำวัน สติและสมาธิเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งยวดเพราะสองสิ่งนี้จะเป็นตัวคอยกระตุ้นความนึกคิดของเราให้ฉับไวรอบคอบแจ่มใส
พร้อมเสมอที่จะรับสถานการณ์ทุกอย่างมันอุบัติขึ้นในแต่ละวินาที ทำให้เกิดปัญญาตื่นตัวทั่วพร้อมที่จะรู้เท่าทันอารมณ์ต่าง ๆ ได้ทันท่วงที เป็นการเปิดใจพร้อมยอมรับสิ่งต่าง ๆ ด้วยดวงใจที่มั่นคงไม่หวั่นไหว สติปัญญาไม่ใช่การเพ่งพินิจความคิดนึกอันเฉื่อยชา หรือครุ่นคำนึงอย่างหงอยเหงา แต่เป็นการเบิกบานแจ่มใสมองโลกและผู้คนด้วยสายตาอันเปี่ยมด้วยมิตรไมตรีเอื้อเฟื้อเป็นสันติสุข การฝึกสมาธิไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอะไรเลย เป็นการกำหนดสติอยู่ที่ความคิดให้สดใสอยู่เสมอในอิริยาบถต่าง ๆ การทำงานด้วยจิตใจร่าเริงเบิกบาน คือ การฝึกสมาธิ
2) ในการประจัญหน้ากับอุปสรรคแห่งชีวิต เราต้องตรงเข้าใจยังต้นตอของปัญหานั้นอย่างอาจหาญ การหลบหลีกไม่ใช่ที่สิ้นสุดของอุปสรรคแต่ต้องฝ่าฟันอุปสรรคนั้นให้ย่อยยับลงไปจึงเป็นการแก้ปัญหา เราต้องอาศัยความเด็ดเดี่ยวเฉียบขาดแห่งปัญญาและความรอบคอบ การฝึกฝนจิตให้แน่วแน่มั่นคงจึงเป็นประโยชน์แก่เรามากในการตัดสินใจเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นในชีวิตจึงกล่าวได้ว่า“ อยู่ในโลกอันรุ่มร้อน โดยเราไม่ไปเป็นทุกข์กับความรุ่มร้อนนั้น” ซึ่งในการดำเนินชีวิตของสังคมอันยุ่งเหยิงบุคคลผู้มีใจไม่ยึดติดในมายาลวงของโลก ยอมมีความมั่นคงเข้มแข็งอดทนในแนวทางที่ถูกต้อง มีใจเบิกบานยอมรับความเป็นไปในทุกสถานการณ์พร้อมจะเผชิญชีวิตด้วยความนึกคิดอันไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก ความเย็นฉ่ำของชีวิตย่อมเป็นผลมาจากการปลดปล่อยตนเองออกจากการฉกฉวยกุมมายาเอาไว้ ความสมถะสันโดษ รู้จักปล่อยวางสิ่งอันจะพาให้ชีวิตหนักเหนื่อยโดยเปล่าประโยชน์เป็นเคล็ดลับสู่อิสระท่ามกลางพันธนาการอันหนักหน่วง
ของสังคมที่สับสนอลหม่าน เมื่อปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระแล้วเราจะรู้สึกได้ทันทีว่า การใช้ชีวิตนั้นช่างเบาสบายปลอดโปร่งเสียเหลือเกิน เหมือนนกที่โผบินออกสู่ท้องฟ้ากว้างไกลไร้ขอบเขต จิตเราย่อมได้รับอิสรภาพไม่ถูกผูกมัดด้วยโซ่ตรวนของโลกและปัญหา
 3) เราสามารถเรียนรู้ธรรมะได้จากทุกสิ่งที่อยู่รายล้อมและภายในตัวเรา แม้ว่าเรามิได้อยู่ที่วัดหรือศูนย์ปฏิบัติธรรมเราก็ยังสามารถปฏิบัติที่บ้าน ที่ทำงาน ทุกเวลานาทีที่เรากำลังหายใจอยู่ เพราะว่าธรรมะย่อมปรากฏอยู่รายล้อมรอบตัวเราสรรพสิ่งกำลังแสดงธรรมอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่า บุคคล สัตว์ ต้นไม้ภูเขา ล้วนกำลังสั่งสอนบอกให้เรารับทราบธรรมอยู่เสมอ ซึ่งการปฏิบัติธรรมตามพุทธศาสนา คือ การมีชีวิตอยู่ในแต่ละขณะปัจจุบันที่จิตเป็นอิสระมีเสรีภาพและสันติสุขอยู่ทุกวินาที เมื่อเราฝึกนั่งภาวนา เดินจงกรม เราต้องตั้งใจปฏิบัติอย่างสมบูรณ์ แม้นอกเวลานั้นเราก็ต้องปฏิบัติด้วยเช่นกันโดยการมีสติสัมปชัญญะรู้สึกตัวทั่วพร้อมอยู่ทุกขณะจิต ไม่เผลอ ไม่ยุ่งเหยิงรู้ถึงสิ่งที่กำลังเป็นไป
4) พระพุทธเจ้าที่แท้จริงไม้ใช่ร่างกายตัวตนของพระองค์แต่เป็นคำสอนที่เป็นความจริงอันมีอยู่แล้วโดยธรรมชาติ ไม่ว่าพระพุทธองค์จะเกิดมาในโลกนี้หรือไม่ก็ตาม ธรรมะหรือความจริงมันก็มีอยู่แล้วเป็นธรรมดา คือ สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง(อนิจจัง) ย่อมนำความทุกข์กายทุกข์ใจมาให้ (ทุกขัง) และทุกสิ่งล้วนไม่ใช่ตัวตนอันพึงยึดมั่นสำคัญหมาย (อนัตตา) พระองค์เพียงมาพบ มาบัญญัติ มาแสดงแนะนำสั่งสอน และกระทำให้แจ้งเท่านั้นเอง การบูชานับถือพระพุทธเจ้าต้องปฏิบัติตามคำสอนที่ถูกต้องตามกฎไตรลักษณ์ โดยฝึกจิตตามแนว ศีล สมาธิ ปัญญา
 
 5) ในชีวิตของมนุษย์เป็นสิ่งที่เราต้องเฝ้าคอยด้วยอาการอันสงบ ฤดูกาลหมุนเวียนแปรเปลี่ยนไป ความทุกข์และความสุขที่ผ่านเข้ามามันก็ไม่มีอะไรใหม่เป็นแบบเดิม ๆ ซ้ำ ๆ ซาก ๆชีวิตคนเราก็แปรเปลี่ยนในทุกขณะ สุขทุกข์ก็คือการหมุนเวียนเอาสิ่งเก่า ๆ เดิม ๆ กลับมาอีกเท่านั้นเอง เมื่อเราได้ตระหนักซึ้งถึงการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ ความอึดอัดกลัดกลุ้มย่อมบรรเทาลงจะทำให้จิตใจสงบเย็น เพราะได้มองเห็นธรรมชาติของชีวิตว่ามันเหมือนฤดูกาลไม่ยั่งยืน ต้องเปลี่ยนแปลง มีร้อน-เย็น-หนาวฝนตก ไม่คงที่
 6) เมื่อมีเรื่องผิดพลาดเลวร้ายผิดหวังพลัดพรากสูญเสียเราจะต้องปลงให้ตก คือมันอยู่ที่ความคิดของเราว่า เราจะคิดถูกหรือผิดเราจะคิดให้ปลงก็ได้ หรือจะคิดให้ตัวเองเป็นทุกข์ก็ได้ ถ้าเราคิดเป็นก็จะไม่ทุกข์ เช่น คิดว่า “มันเป็นเช่นนั้นเอง”“มันเป็นของพรรค์นั้นแหละ” “ปล่อยวางเสียบ้างซิ” “จะไปยึดมั่นอะไรกันมากมาย” ที่สุดแต่บุญแต่กรรมเถอะ” “ ปลงเสียเถอะแม่จำเนียร” “รู้จักหยุด ยอม เย็น เสียบ้างซี” เพราะการปลงเป็นการยุติเรื่องนั้นให้หยุดอยู่แค่นั้น ไม่ให้ลุกลามเผารนจิตใจเราอีกต่อไป เมื่อทำใจได้ว่าทุกเรื่องมันเป็นธรรมดาของมันจะต้องเกิด-ดับ อยู่อย่างนั้น ปัญหาความทุกข์ก็จบที่จิต (ปัญญา)
 7) โลกนี้มันย่อมแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ไม่มีอะไรได้ดังใจเรา มันมีเหตุปัจจัย เหตุผลเกิดขึ้นมา เมื่อมีเหตุปัจจัยอย่างนั้น กรณีนั้นก็ต้องเกิดขึ้น เราจึงต้องปลง ส่วนจะจัดการแก้ไขต่อไปอย่างไร ก็ต้องดูว่ามีเหตุปัจจัยให้แก้ไขได้หรือไม่
 8) ความเงียบสงบคือสายธารอันชุ่มเย็น ซึ่งไหลเลี้ยงจิตวิญญาณของสิ่งมีชีวิตทั้งปวง ความเงียบแห่งดวงจิตทำให้เกิดการผ่อนคลายเมื่อเรารู้สึกตัวว่าเหน็ดเหนื่อยกับงานธุรกิจปัญหาชีวิต ให้ลองสำรวมใจอยู่กับตัวเอง ณ มุมสงบ ที่บ้าน ใต้ต้นไม้ริมน้ำ หรือตามธรรมชาติที่ใดก็ได้ จะทำให้ความอ่อนล้าเหน็ดเหนื่อยจะผ่อนคลายเบาลง พร้อมกับความรู้สึกแบบใหม่ที่เป็นดุจกระแสธารเย็นเยือกที่ค่อย ๆ เลื่อนไหลเข้าไปในกายและจิตของเราเอง เราต้องหมั่นพักจิตใจอยู่บ่อย ๆ เพื่อสะสมพลังอำนาจจิตให้เข้มแข็งแกร่ง และผ่อนคลายเบาสบายไปด้วยกัน
9) คนดิบที่ไร้เหตุผล ต้องพัฒนาให้มีเหตุผลเสียก่อนแต่ยังไม่พอ จะต้องพัฒนาให้สูงเหนือขึ้นไปกว่านี้คือ ต้องให้พ้นจากเหตุผล คือ ให้พ้นจากกรงขังของเหตุผลอีกขั้นหนึ่งด้วยจึงจะถึงที่สุด การพูดคิด ทำอย่างมีเหตุผล เท่ากับยังเล่นยึดติดกับเหตุผลอยู่ ความทุกข์วุ่นวายก็ยังไม่หมดไป มีแต่สร้างปัญหาให้เกิดขึ้น เพราะต่างคนต่างก็มีเหตุผลจึงไม่ยอมกัน ท่านต้องอยู่นอกเหตุ เหนือผล ให้ได้
 10) การที่จะ ทำให้เราหลุดพ้นจากความทุกข์นั้นไม่จำเป็นต้องรอในชาติหน้าหรือชาติไหน เพราะปัจจุบันชาติปัจจุบันขณะเวลานี้เดี๋ยวนี้ เป็นโอกาสเหมาะสมอย่างยิ่ง ที่จะนำความหลุดพ้นให้แก่ตัวเอง
 1 1) เมื่อใดที่ท่านมองเห็นสังขารทั้งหลายว่า ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน เมื่อนั้นย่อมเบื่อหน่ายในทุกข์ ไม่หลงในความสุขของโลกอันนี้จึงเป็นทางแห่งความบริสุทธิ์หมดจด
12) การเผชิญหน้ากับปัญหาชีวิตอย่างตรง ๆ ไม่ใช่เรื่องการดันทุรังหรือบ้าระห่ำ แต่เป็นการเผชิญหน้าต่อความเป็นจริงของชีวิต โดยไม่หลอกลวงตนเอง และ ผู้อื่น ทำให้มองเห็นอย่างตรงไปตรงมาจนยอมรับทุกสภาพทุกสภาวะที่เกิดขึ้นได้ จิตจึงเป็น อิสระ
 13) ปัญหาชีวิตที่เกิดขึ้น เราสามารถหาคำตอบได้จากปัญญานั้นไม่ต้องไปแสวงหาคำตอบที่ไหนให้เหนื่อยยาก และใครที่ไปแสวงหาคำตอบจากที่อื่น ไม่แสวงหาเอาจากปัญหาที่เกิดขึ้น ก็เท่ากับกำลังค้นหาผิดทาง
 14) วิธีการอยู่เหนือความทุกข์ใจ เราต้องมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การมีสติรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ตลอดเวลา อย่าปล่อยตัวเองให้หลงเพลิดเพลินไปกับความคิดฝันจมอยู่กับโลกแห่งจินตนาการแต่ต้องกล้าเผชิญหน้ากับโลกที่แท้จริง ซึ่งเป็นโลกที่ลึกลงไปยิ่งกว่าโลกที่ตาเห็น หรือโลกแห่งประสาทสัมผัส นั่นคือโลกภายในจิตใจตัวเอง
 15) ท่านที่ต้องการความรู้แจ้ง สงบเย็น ไร้ทุกข์ จะต้องเรียนรู้ศึกษาโลกและชีวิตให้ถึงแก่นแท้ ต้องรู้จักถือสิ่งที่ควรถือต้องรู้จักวางในสิ่งที่ควรวาง รู้จักเก็บในสิ่งที่ควรเก็บ รู้จักทิ้งในสิ่งที่ควรทิ้ง มิฉะนั้นจะมีแต่หลงทางวนเวียนไม่รู้จักจบสิ้น จึงต้องรู้จักทางจึงจะไม่หลงทาง
 16) ท่านควรทำความเข้าใจในสภาวะของทุกสรรพสิ่งว่าทุกสิ่งมีการ“ เกิด เปลี่ยนแปลง แล้วก็ว่างเปล่า” ไม่มีอะไรมั่นคงถาวรยังยืนเป็นเช่นนั้นตลอดไป จงยอมรับความจริง แล้วปลดปล่อยละวางออกไปจากจิต ฝึกจิตให้ไม่มีอะไรค้างคาใจติดกับอะไร
 17) เมื่อจิตใจรับอารมณ์จากภายนอกแล้วไม่ยึดถือ ปรุงแต่งเป็นเราเป็นของเรา มีแต่สติปัญญาที่จะจัดการกับอารมณ์นั้น ๆ อย่างถูกต้อง จิตก็สงัดสงบจากอารมณ์ทั้งปวง เปรียบเสมือนเสียงแห่งความเงียบของมือที่ตบข้างเดียว ปราศจากมืออื่นมาตบด้วย จึงไม่มีอะไรมากระทบให้เกิดเสียง (ให้เกิดอารมณ์)ความเงียบสงัดชนิดนี้จึงดังก้องอยู่ในใจ กลบเสียงของโลกแห่งการตบมือสองข้างเสียสิ้น นี่คือการระงับดับทุกข์ที่แท้จริง เพราะพุทธะองค์จริง คือ ความเบ่งบานถึงที่สุดของธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะ ซึ่งมีอยู่แล้วในคนทุกคน ซึ่งไม่ต้องแสวงหาจากภายนอกเลย ด้วยเหตุที่คนทั่วไปนั้นมัวแต่ยึดมั่นในสิ่งทั้งหลายโดยความเป็น ตน เป็นของตน อันมิใช่ความจริงแท้ของธรรมชาติจึงต้องเป็นทุกข์และวกวนอยู่ในสังสารวัฏไม่จบสิ้น
18) ความเป็นพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์พระอรหันต์ก็มีอยู่แล้วในตัวเรา คือ เมื่อใดที่กิเลส ความอยากความทุกข์ที่ห่อหุ้มจิตใจเราได้ถูกทำลายหมดสิ้นไป เมื่อนั้นการเป็นพระพุทธเจ้าพระโพธิสัตว์ พระอรหันต์ ก็จะปรากฏออกมาเอง
 19) ชาวพุทธที่แท้จะไม่กลัวตาย เพราะรู้ว่าชีวิตและความตายเป็นเพียงธรรมชาติธรรมดาของโลกเท่านั้น ทำให้หมดเยื่อใยต่อโลกเสียแล้วไม่ได้เสพติดรสชาติของการมีชีวิตอยู่อีกต่อไป เมื่อจะตายขอตายอย่างมีสติรู้ตัวทั่วถึง เผชิญหน้ากับความตายอย่างสงบระงับ ไม่ห่วงหวงอาลัยอาวรณ์ต่อสิ่งใด ไม่เรื่องมากวุ่นวายจนตายแบบไร้สติ
20) ส่วนมากนักปฏิบัติธรรมมือใหม่หัดฝึก มักจะมองข้ามเรื่องจิตใจจึงไปเน้นแต่รูปแบบวิธีการท่าทางภายนอก ชอบไปกำหนดทิศทางการเดินตามอิริยาบถที่ถูกให้ทำเหมือนกับหุ่นยนต์ที่ถูกตั้งโปรแกรมเอาไว้ โดยลืมสาระสำคัญว่า แท้ที่จริงเราต้องปฏิบัติที่จิตใจ ร่างกายภายนอกไม่ใช่ประเด็นสำคัญ (ยกเว้นพวกมือใหม่ที่ยังไม่เห็นจิตตัวเอง ควบคุมจิตไม่ได้ก็ต้องกำหนดที่กายไปก่อนก็ได้) ดังจะพบว่า บวชกายยังไม่สู้บวชใจ เพราะบางคนบวชกายโกนหัวเข้าวัดเป็นนักบวช แต่จิตใจตกต่ำ และ ปฏิบัติผิด ๆ ยิ่งกว่าชาวบ้านหัวดำที่บวชใจอยู่กับบ้านเสียอีก การบวชใจทำได้ทุกฐานะ ทุกเวลา ทุกโอกาสไม่จำเป็นต้องหนีสังคม หนีโลกออกไปสู่ป่าเขาหรือเข้าวัด เราสามารถปฏิบัติที่จิตฝึกที่จิต ได้ทุกเวลา ทุกขณะ ทุกสถานที่ เพราะการปฏิบัติธรรมที่แท้จริงอยู่ที่การดูแล ควบคุม เรียนรู้ ศึกษา อาการพฤติกรรมของจิตว่า มันคิดอะไรอยู่ สุขทุกข์วุ่นวายเรื่องอะไร ดู รู้ เห็น จิตแล้วปลดปล่อยความคิดอารมณ์ต่าง ๆ ออกไปจากจิตก็จบ
 21) ทุกคนมีธรรมชาติแห่งพุทธะอยู่แล้ว จึงมีโอกาสตรัสรู้คือทำปัญญาให้แจ้งดับทุกข์ทางใจได้ การแจ่มแจ้งในตัวเองหรือ การเข้าถึงพุทธะนั้นไม่จำเป็นต้องอาศัยรูปแบบใด ๆ จากภายนอก แต่เป็นเรื่องภายในจิตใจที่ปลดปล่อยอารมณ์ดีร้ายได้เสียออกไป และไม่ยึดติดยึดถือสิ่งใดๆ ในโลก
 22) ไม่ว่าท่านจะเคยทำความชั่วร้ายเลวทรามมาขนาดไหนก็ตาม แต่ถ้าเมื่อใดที่ท่านได้ฝึกจิตใจจนเกิดญาณปัญญาลุกโพลงขึ้นเพียงวาบเดียว ผลกรรมใด ๆ ไม่ว่ามากน้อยเพียงใดก็จะถูกเพิกถอนออกไปจากใจเสียสิ้นในเวลาเพียงชั่วอึดใจเดียวที่ญาณปัญญาได้กระทำหน้าที่ถึงที่สุด
23) การคิดปรุงแต่งเป็นสิ่งที่ผูกมัดมนุษย์ให้ถูกคุมขังไร้เสรีภาพ จึงถูกความคิดกักขังไว้ในกรงแห่งความทุกข์ และอวิชชา (ความไม่รู้) แต่ถ้าท่านสามารถทำลายความคิดปรุงแต่งเสียได้ ใจท่านก็จะเป็นอิสระไม่ถูกผูกมัดร้อยรัด จะมีปัญญาเห็นทุกสิ่งตามที่เป็นจริงตามสภาพมัน
 24) ไม่ว่าท่านจะไม่ได้เรียนพระไตรปิฏก พระปริยัติพระสูตรไม่รู้บาลีสักตัว ไม่ได้เรียนศึกษาธรรมะสักนิด ก็ไม่เป็นไรแต่ขอให้ท่านศึกษาเรียนรู้ที่ตัวที่ใจท่านเอง เพื่อให้แลเห็นทุกข์ทางดับทุกข์ด้วยปัญญาของท่านเอง เท่ากับท่านรู้แจ้งธรรมดี ที่สุด แล้ว
 25) หากใครเกิดความรู้สึกว่ามี ถูก-ผิด ได้-เสีย สมหวังผิดหวัง สุข-ทุกข์ ด้วยความยึดถือในใจแล้ว คราวนั้นแหละพึงรู้เถิดว่า จิตของตนยังไม่ออกจากบ่วงบาศอันเนียวแน่นของอุปาทาน จิตท่านจะเกิดความสูง-ต่ำ ไม่เป็นกลาง ท่านจงทำจิตให้เป็นปกติเฉย ๆ ไม่ว่าเรื่องใดเกิดขึ้นในชีวิตก็ตาม เพราะจิตเป็นกลางจึงว่างได้
 26) ทุกคนมีแรงพลุ่งไปให้ “ความเกิด” ด้วยอำนาจของตัณหา + อุปาทาน โดยที่เราไม่ทราบว่า ที่แท้อารมณ์ทั้งปวงนั้นก่อตัวพลุ่งขึ้นก็เพียงเพื่อมุ่งกลับสู่สภาพเดิม คือ“ ความดับเหมือนกับพลุที่ยิงขึ้นบนท้องฟ้า เมื่อถึงจุดสูงสุดก็ย่อมตกลงกลับสู่ที่เดิม คือความดับนั่นเองจึงเห็นว่าอารมณ์ทุกชนิด ไม่ว่าดี-ร้าย-ได้-เสีย เมื่อมันเกิดขึ้นมา มันย่อมกลับไปสู่ความดับของมันเป็นธรรมดา จึงไม่ควรไปยึดถือจริงจังอะไร
27) คัมภีร์ คือ บันทึกที่ถูกคัดลอก และ ถูกนักปราชญ์แก้ไขเพิ่มเติมเรื่อยมา ผู้แก้ยิ่งเป็นปราชญ์เท่าใด ก็ยิ่งแก้ไขมากเท่านั้น จึงยิ่งมีทางที่จะผิดไปไกลมากเท่านั้น ส่วนธรรมะแท้นั้นคัดลอกไม่ได้ ผิดไม่ได้ ถูกไม่ได้ ถ่ายทอดไม่ได้ สอนไม่ได้ จึงเลอะเทอะไม่ได้รู้ได้เฉพาะตัว เป็นปัจจัตตัง ซึ่งคัมภีร์แท้เล่มเดียวคือ ความล้ำลึกที่ต้องหยั่งลงไปให้ถึงแก่นแท้ของชีวิต มองให้เห็นด้วยปัญญาตัวแท้ว่า ชีวิตมันไร้แก่นสารสาระ จะเอาจริงให้มันเป็นเช่นนั้นตลอดไปไม่ได้
 28) คนเรารักสุข ขยะแขยงทุกข์ จึงแสวงหาสุขยิ่งขึ้นไปจึงยึดติดสุขทุกระดับ ส่วนธรรมะแท้นั้นเป็นเรื่อง ปล่อยวาง ทั้งสุขและทุกข์ไม่เอาทั้งคู่ ทำใจให้เป็นกลางจึงวางได้ เพื่อเข้าสู่ความดับทุกข์ ในที่สุดจึงค้นพบว่าที่แท้ สุข” เป็นเพียงลม ๆ แล้ง ๆผ่านมาผ่านไปชั่วแวบเดียว ประเดี๋ยวประด๋าว เป็นเพียงมายาลวงไม่มีอยู่จริง ผู้ที่เข้าไปหลงติดอยู่ในสุข จึงเป็นทุกข์อยู่ร่ำไป
29) สังสารวัฏฏ์ เปรียบเหมือนทะเลไฟที่ภูเขาพ่นออกมาท่วมอยู่รอบทิศธรรมะเป็นสิ่งเดียว จะเป็นเรือที่ปลอดภัยร่มเย็นในท่ามกลางทะเลไฟอันแผดเผานี้ เรือธรรมนั้นลอยอยู่ในทะเลไฟคือ จุดที่เย็นที่สุดแม้จะอยู่ท่ามกลางเตาหลอมเหล็กที่ร้อนระอุนั่นคือ นิพพานเป็นสิ่งที่หาพบได้ท่ามกลางสังสารวัฏฏ์นี่เองหรือความไม่เป็นทุกข์หาได้จากการเป็นทุกข์นั่นเอง มันอยู่ที่ใจ หรือความคิดของเราเอง
 30) การมีสติรู้เท่าทันอาการต่าง ๆ ของกายนั้นยังไม่พอเราต้องมีสติรู้พร้อมถึงลมหายใจในแต่ละครั้ง การเคลื่อนไหวแต่ละหน ความคิดทุกความคิด ความรู้สึกทุกความรู้สึก คือ มีสติรู้ตัวทั่วพร้อมถึงทุกสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับตัวเรา
31) การแก้ปัญหา และ การจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เราจะต้องมีหัวใจที่สงบ และควบคุมตัวเองได้การงานนั้น ๆ จึงจะได้รับผลเป็นที่น่าพอใจ แต่ถ้าเราควบคุมตัวเองไม่ได้ปล่อยให้ความไม่อดกลั้น และโทสะเข้าครอบงำ งานของเราก็จะหมดความหมายไร้คุณค่าทันที
 32) สติเป็นทั้งมรรคและผล ในเวลาเดียวกัน เมื่อเราฝึกสติเพื่อให้ได้สมาธินั้น สติก็เป็นมรรค แต่ตัวสติเองก็เป็นหัวใจแห่งความตื่น ความเบินบาน สติจึงเป็นผลด้วย การมีสติก็คือการมีชีวิตสติช่วยให้เราปลอดจากการขี้หลง ขี้ลืม ฟุ้งซ่าน สติช่วยให้มีชีวิตอยู่ด้วยความปลอดภัย ถ้าเรามีสติอยู่ทุกเวลานาทีอยู่กับปัจจุบันทุกขณะ ความทุกข์วุ่นวายเร่าร้อนใจ จะเกิดขึ้นมาไม่ได้เราจึงต้องฝึกจิตให้มีสติอยู่ตลอดเวลาอย่าเผลอ ถ้าเผลอก็รู้เท่าทันมันแล้วกำหนดสติอยู่กับความรู้สึกตัวทุกขณะ
 33) จุดมุ่งหมายในการนั่งสมาธิมิใช่เพื่อคิด นึก คาดคะเนเดา หรือปล่อยตนให้หลงไปในอารมณ์แห่งความคิดคำนึงแบ่งแยกและไม่ใช่เป็นการอยู่นิ่งเหมือนก้อนหินการ
ทำสมาธิแบบนี้เป็นทางสุดโต่งที่ควรหลีกเลี่ยง การนั่งสมาธิควรดำรงอยู่ในท่ามกลางสถานะแห่งความเป็นจริง ภายใต้การมีสติโดยการกำหนดรู้สภาวะแห่ง จิต
34) การเรียนรู้พุทธธรรมก็ คือ เรียนรู้ตัวเอง คือให้ลืมตัวเองลืมการเป็นตัวเรา ของเรา เมื่อลืมแล้วก็จะพบกับหนทางในการออกจากการยึดติดผูกพันมากมาย จะสามารถสั่งกายและใจของตนกับผู้อื่นให้หลุดออกจากกันได้ ธรรมชาติจิตแท้ก็จะเป็นอิสระไร้เครื่องร้อยรัด เมื่อถึงที่สุดเราต้องอาศัยตนเอง จะหวังพึ่งพาคนอื่นไม่ได้ จริงอยู่ว่าในหลายเรื่องเราสามารถพึ่งพาอาศัยกันได้ แต่สำหรับการเข้าถึงความหลุดพ้นนั้น ไม่มีใครเป็นที่พึ่งของใครได้ ต้องพึ่งพาอาศัยปัญญาของตนเอง
35) เราย่อมไม่ยึดมั่นในชีวิต เมื่อมองเห็นว่าชีวิตนไร้แก่นสารสาระที่จะให้ยึดมั่น เราย่อมผ่อนคลายความทุกข์ เมื่อประสบกับสิ่งที่ไม่สมหวัง และไม่ลิงโลดจนเกินเหตุเมื่อได้สิ่งที่ปรารถนาหากแต่วางใจเป็นกลางว่าทุกอย่างล้วนมีเหตุปัจจัย เมื่อปัจจัยแห่งการได้มาพร้อมมูลดังนั้นย่อมมาถึงเรา เมื่อปัจจัยแห่งความพลัดพรากมาประจวบกันเข้าเพียงพอ สิ่งที่เราไม่อยากให้จากไปย่อมจากไปอย่างไม่อาจเรียกร้องได้ นี่คือสัจธรรมของชีวิต
36) การหลุดพ้น คือ การไม่ยึด ไม่ติดอยู่กับสภาพธรรมทั้งหลาย จำเป็นต้องละทิ้งเครื่องผูกพันทั้งหมด อนิจจัง ทุกขังอนัตตา คือสภาพธรรมทั้งหลายที่เป็นประตูไปฟังพระนิพพานการไขลูกกุญแจเพื่อเปิดประตูไปสู่นิพพาน มี 2 อย่าง บิดซ้ายปิดบิดขวาเปิด มันอยู่ที่เราจะไขกุญแจไปทางไหน คือ ยึด กับ ปล่อยหรือ จับ กับ วาง อยู่ที่ท่านจะเลือกเอาเอง ย่อมนำพาชีวิตท่านไปสู่ที่สุดคนละด้าน
 37) การนั่งสมาธิเป็นการบำรุงจิตใจและร่างกายพร้อมกันไป สมาธิทำให้เราสุขกาย เบาใจ สงบรำงับ วิถีทางระหว่างช่วงแห่งการสังเกตุจิตจนถึงการเห็นแจ้งในธรรมชาติของตนเองไม่ยากจนเกินไป เมื่อเราสามารถทำให้จิตใจสงบระงับ เวทนาและความคิดจึงไม่อาจรบกวนได้ ณ จุดนี้จิตของเราก็รวมเป็นหนึ่งแล้ว ต่อไปจงเฝ้ามองดูความคิดเหมือนยามเฝ้าดูผู้เข้าออกอยู่ที่ประตู จะเห็นชัดเจนว่า มีใครเข้าออก คือ จะเห็นความคิดปรุงแต่งชัดเจน แล้วจงปลดปล่อยให้ออกไปนอกประตู อย่าขังมันไว้
 38) ปัจจุบันคือเวลาสำคัญที่สุด เราเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง ไม่ว่าเรากำลังติดต่อกับใคร กำลังทำอะไรอยู่ก็ตาม ภารกิจสำคัญที่สุดคือ ควรทำให้ผู้อื่นที่อยู่กับเราในขณะนั้นมีความสุขเราก็จะมีความสุขไปด้วย ในแต่ละปัจจุบันขณะ จึงเป็นเวลาประเสริฐที่สุด ถ้าเราควบคุมอารมณ์จิตใจเราให้เป็นปกติสุขสงบได้ เรื่องราวปัญหาก็จะหมดไป
 39) การประกอบกันขึ้นของขันธ์ทั้ง 5 เป็นเช่นเดียวกับการเกิดขึ้นของปรากฏการณ์ต่าง ๆ ทุกอย่างเป็นไปตามกฎแห่งความเป็นเหตุเป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน การมารวมตัวกันเกิดขึ้นปรากฏการณ์หนึ่ง ๆ แล้วมันก็แยกแตกสลายดับไป เหมือนเช่นเดียวกับการรวมตัวของก้อนเมฆบนยอดเขาแล้วก็กระจัดกระจายสลายตัวไป ชีวิตเราก็เป็นเช่นนี้เอง
40) เราจะเข้าใจถึงสิ่งที่มีอยู่ได้อย่างแท้จริง ก็ต้องเข้าใจถึงสิ่งที่ไม่มีอยู่จะเข้าใจถึงความเต็ม ก็ต้องรู้ถึงความว่าง จะเข้าใจถึงความร้อน ก็ต้องรู้ถึงความเย็น จะเข้าใจถึงการดำรงอยู่ ก็ต้องรู้ถึงการไม่ดำรงอยู่จะเข้าใจถึงความสุข ก็ต้องรู้ถึงความทุกข์ จะเข้าใจการมีชีวิตก็ต้องรู้ถึงการตายจาก เพราะทุกสิ่งมันเป็นของคู่กัน มีเกิดก็ต้องดับเราจึงต้องศึกษาทั้ง 2 ด้าน แล้วไม่ยึดติดทั้งคู่				
comments powered by Disqus
  • วารุณี ส.

    25 มกราคม 2551 17:29 น. - comment id 98939

    ดีมากๆ ความสมหวังลมๆแล้งๆ มีไม่นาน
    มันมักโบยบินหนีในเวลาหน้า ...ไม่เที่ยง....
    ถ้าสมหวังนานก็หลงเพลินและรุ่มร้อนอยู่นาน
    ยิ่งผิดหวังเร็วเท่าใด รีบทำใจ ทำสติ กลับคืน
    สู่จิตอิสระได้เร็วเท่าใดก็หมดกรรมได้เร็วเท่านั้น

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน