********ดาบสขี้โกง********* .......ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้า ประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารภภิกษุผู้มักหลอกลวงรูปหนึ่ง ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธกว่า... กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ในเมืองพาราณสี มีชฎิลโกงผู้หนึ่งเป็นดาบสหลอกลวง อาศัยอยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ภายใต้การอุปถัมภ์ของพ่อค้าคนหนึ่ง เขาสร้างศาลาให้ดาบสและปรนนิบัติด้วยอาหารอันประณีต ด้วยเชื่อว่าดาบสเป็นผู้ทรงศีล จึงนำทองคำร้อยแท่งไปฝังไว้ใกล้ๆ ศาลาของดาบสนั้น เพื่อให้ดาบสช่วยดูแลรักษา ดาบสพูดให้เขาเกิดความสบายใจว่า " ขึ้นชื่อว่าความโลภในสิ่งของผู้อื่น บรรพชิตไม่มีเลย " เวลาผ่านไปสองสามวัน ดาบสได้นำทองคำไปฝังไว้เสียที่แห่งอื่น แล้วย้อนกลับมา ในวันรุ่งขึ้นฉันอาหารในบ้านของพ่อค้าแล้วกล่าวอำลาว่า " อาตมาอาศัยท่านอยู่นานแล้ว ความพัวพันกับกับพวกมนุษย์ย่อมมี ธรรมดาการพัวพันเป็นมลทินของบรรพชิต เพราะฉะนั้น อาตมาจะขอลาไป " แม้พ่อค้าจะอ้อนวอนอย่างไร ก็จะไม่อยู่ท่าเดียว เมื่อพ่อค้าบอกว่า " ไปเถิดพระคุณเจ้า " ตามไปส่งจนถึงประตูบ้านแล้วกลับเข้าบ้านไป ดาบสนั้น เดินไปได้หน่อยหนึ่งแล้วก็เดินกลับมา พร้อมกับยื่นหญ้าเส้นหนึ่งให้แก่พ่อค้าพร้อมกล่าวว่า " มันติดชฎาของอาตมาไป จากชายคาเรือนของท่าน ขึ้นชื่อว่า อทินนาทานไม่สมควรแก่บรรพชิต " พ่อค้ายิ่งเลื่อมใสเข้าใจว่า " ดาบสนี้ไม่ถือเอาสิ่งของผู้อื่น แม้เพียงเส้นหญ้า โอ! พระคุณเจ้าช่างเคร่งคัดจริง ๆ " ก็พอดีมีชายบัณฑิตคนหนึ่งไปชนบทเพื่อต้องการสิ่งของ ได้พักแรมอยู่ในบ้านพ่อค้านั้นด้วย เห็นเหตุการณ์นั้นแล้วฉุกคิดว่า " ต้องมีอะไรสักอย่างแน่ ๆ ที่ดาบสนี้ถือไป " จึงถามพ่อค้าว่า " ท่านได้ฝากอะไรไว้กับดาบสไหม ? " พ่อค้าจึงเล่าเรื่องฝากให้ดาบสดูแลหลุมฝังทองคำ ๑๐๐ แท่ง เขาจึงบอกให้พ่อค้ารีบไปตรวจเช็คดูว่าหายหรือไม่ เมื่อพ่อค้าไปตรวจดูแล้วปรากฏว่าไม่เห็นทองคำ จึงรีบกลับมาบอกชายบัณฑิตนั้น แล้วพากันรีบติดตามดาบสจับมาทุบบ้าง เตะบ้าง ให้นำทองคำมาคืน เมื่อพบทองคำแล้ว ชายผู้เป็นบัณฑิตจึงพูดว่า " ดาบสนี้ขโมยทองคำ ๑๐๐ แท่ง ยังไม่ข้องใจ กลับมาข้องใจในเรื่องเพียงเส้นหญ้า " แล้วกล่าวคาถาว่า " ถ้อยคำของท่านช่างไพเราะอ่อนหวานเสียนี่กระไร ท่านรังเกียจกระทั่งหญ้าเส้นเดียว แต่เมื่อขโมยทองคำไปตั้ง ๑๐๐ แท่ง กลับไม่รังเกียจเลยนะ "
11 ธันวาคม 2550 19:39 น. - comment id 98574
.....หนูกัดผ้า........ ....ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้า ประทับอยู่วัดเวฬุวัน กรุงราชคฤห์ ทรงปรารภพราหมณ์ชาวเมืองผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ถือมงคลตื่นข่าว ไม่เลื่อมใสในพระรัตนตรัย เป็นมิจฉาทิฎฐิ มีโภคทรัพย์มาก เรื่องมีอยู่ว่า... วันหนึ่ง หนูได้กัดผ้านุ่งคู่หนึ่งของพราหมณ์ ที่เก็บไว้ในหีบ เขาคิดว่า " ความพินาศอย่างใหญ่หลวง จักมีแก่ครอบครัวของเราและผู้ที่นุ่งผ้าคู่นี้ " จึงให้ลูกชายใช้ท่อนไม้คอนผ้าไปทิ้งที่ป่าช้าผีดิบ เช้าตรู่ของวันนั้น พระพุทธองค์ได้ตรวจดูเวไนยสัตว์ เห็นอุปนิสัยแห่งโสดาปัตติผลของพราหมณ์พ่อลูกคู่นี้ จึงได้เสด็จไปเหมือนนายพรานตามรอยเนื้อ ได้ประทับยืนอยู่ที่ประตูป่าช้าผีดิบ ทรงเปล่งพระพุทธรังษี ๖ ประการอยู่ ฝ่ายลูกชายของพราหมณ์ เดินคอนผ้าเข้าประตูป่าช้าผีดิบมา เมื่อพระพุทธองค์ตรัสถาม จึงเล่าเรื่องนั้นให้ฟัง พระพุทธองค์จึงตรัสให้ทิ้งผ้านั้นเสีย พอมานพนั้นทิ้งผ้าแล้ว พระองค์ก็ทรงถือเอาผ้านั้นต่อหน้ามานพนั่นเอง ทั้งๆที่ถูกมานพนั้นห้ามอยู่ว่า " อย่าจับ อย่าจับ ผ้านั้นเป็นอวมงคล " ก็ทรงถือผ้านั้นเสด็จกลับวัดเวฬุวันไป มานพรีบกลับไปบ้านบอกเรื่องนั้นแก่บิดา พราหมณ์พอได้ฟังลูกชายเล่าเรื่องจบ ก็ตกใจด้วยเกรงว่า " ความพินาศจักมีแก่พระพุทธเจ้าและพระวิหาร ผู้คนก็จะครหานินทาได้ เราต้องหาผ้าผืนใหม่ไปถวายแลกผ้าคู่นั้นนำกลับไปทิ้งเสีย " จึงชวนลูกชายและคนรับใช้นำผ้าใหม่ไปวัดเวฬุวัน ขอถวายผ้าใหม่แลกกับผ้าคู่นั้นคืนมา พระพุทธองค์ตรัสว่า " พราหมณ์ พวกเรามีนามว่าบรรพชิต ผ้าเก่าๆที่เขาทิ้งแล้วหรือตกอยู่ในที่เช่นนั้น ย่อมควรแก่พวกเรา ท่านเองมิใช่แต่จะเพิ่งเป็นคนมีความเชื่ออย่างนี้ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในครั้งก่อนก็เคยมีความเชื่ออย่างนี้เหมือนกัน " ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธกแล้ว ตรัสพระคาถาว่า " ผู้ใดถอนทิฏฐิเรื่องมงคล อุบาต ความฝันและลักษณะได้แล้ว ผู้นั้น ล่วงพ้น สิ่งอันเป็นมงคลและโทษทั้งปวง ครอบงำกิเลสเป็นคู่ ๆ 1 และโยคะทั้ง ๒ ประการได้แล้ว ไม่กลับมาเกิดอีก "
11 ธันวาคม 2550 19:43 น. - comment id 98575
******ประตูแห่งประโยชน์******** .........ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้า ประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารภบุตรผู้ฉลาดในประโยชน์คนหนึ่ง ความว่า ... วันหนึ่ง ได้มีเศรษฐีผู้มีทรัพย์มากคนหนึ่งพา บุตรอายุ ๗ ขวบ ไปเข้าเฝ้าและถามปัญหาว่า " ลูกชายได้ถามถึงประตูแห่งประโยชน์ว่าคืออะไร " เพราะเป็นเด็กมีปัญญาฉลาด พระพุทธองค์จึงตรัสว่า " ในอดีตเด็กนี้ ก็เคยถามเราครั้งหนึ่งแล้ว " ได้ตรัสแก้ปัญหานี้ เป็นพระคาถาว่า " บุคคลควรปรารถนาลาภอย่างยิ่ง คือ ความไม่มีโรค ๑ ศีล ๑ การคล้อยตามผู้รู้ ๑ การสดับตรัสฟัง ๑ การประพฤติตามธรรม ๑ ความที่จิตไม่หดหู่ ๑ คุณธรรม ๖ ประการนี้ เป็นประตูด่านแรกแห่งประโยชน์ "
11 ธันวาคม 2550 19:44 น. - comment id 98576
......มิตรแท้....... ****** ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้า ประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารภมิตรของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีชื่อกาฬกรรณี เรื่องมีอยู่ว่า... ทราบว่า มิตรของท่านเศรษฐีผู้นี้ เคยเป็นสหายร่วมเล่นฝุ่นและร่วมสำนักเรียนอาจารย์คนเดียวกัน ต่อมาเขาตกทุกข์ได้ยาก จึงมาหาเศรษฐีช่วยทำกิจการงานต่าง ๆ ที่จะทำได้ แต่ชื่อของเขาได้สร้างความไม่สบายใจแก่หมู่ญาติของท่านเศรษฐี พวกเขาจึงเข้าไปพบท่านเศรษฐีและขอร้องให้ส่งนายกาฬกรรณีหนีไปเสีย ท่านเศรษฐีจึงบอกว่า " หมู่บัณฑิต มิได้ถือชื่อเป็นประมาณ เราไม่อาจอาศัยเหตุเพียงชื่อแล้วทิ้งเพื่อนผู้เล่นฝุ่นมาด้วยกันได้ " วันหนึ่ง อนาถบิณฑิกเศรษฐีไปบ้านส่วยของตน ได้มอบหมายให้นายกาฬกรรณีเป็นผู้แลรักษาเคหะสถาน (รปภ.) พวกโจรคบคิดกันว่า " เศรษฐีไม่อยู่ พวกเราจะปล้นบ้านของเขา " ต่างพากันถืออาวุธไปล้อมเรือนของเศรษฐีไว้ในเวลากลางคืน ฝ่ายนายกาฬกรรณี ระแวงอยู่ว่าโจรจะปล้น จึงนั่งเฝ้าไม่ยอมหลับนอน ครั้นเห็นว่าพวกโจรจะมา ก็ปลุกผู้คนด้วยการให้ประโคมดนตรีเหมือนมีมหรสพโรงใหญ่ บรรเลงตลอดทั้งคืน จนรุ่งแจ้งพวกโจรไม่มีโอกาสเข้าปล้นจึงทิ้งอาวุธไว้แล้วหลบหนีไป รุ่งขึ้น ผู้คนเห็นก้อนดินและไม้พลองเป็นต้น จึงได้ทราบเหตุการณ์ ต่างพากันยอมรับในความสามารถของนายกาฬกรรณี พอเศรษฐีกลับมาก็บอกเรื่องนั้นให้ฟังทุกประการ เศรษฐีได้ทีจึงพูดว่า " เห็นไหม ถ้าเราไล่เพื่อนของเราตามคำของพวกท่าน ทรัพย์สินของเราคงสูญสิ้นไปมิใช่น้อยในวันนี้ ธรรมดาชื่อไม่เป็นประมาณ จิตที่เกื้อกูลเท่านั้นเป็นประมาณ " แล้วให้ทุนทรัพย์แก่มิตรเพิ่มขึ้นอีก ได้ไปกราบทูลพระพุทธเจ้า แล้วได้กล่าวคาถานี้ว่า " บุคคลชื่อว่าเป็นมิตร ด้วยการเดินร่วมกัน ๗ ก้าว ชื่อว่าเป็นสหาย ด้วยการเดินร่วมกัน ๑๒ ก้าว และชื่อว่าเป็นญาติ ด้วยการอยู่ร่วมกันเดือนหนึ่งหรือครึ่งเดือน ส่วนผู้ชื่อว่า มีตนเสมอกัน ก็ด้วยการอยู่ร่วมกันยิ่งกว่านั้น เราจะละทิ้งมิตรชื่อว่ากาฬกัณณี ผู้ชอบพอกันมานาน เพราะความสุขส่วนตัวได้อย่างไร "
12 ธันวาคม 2550 19:57 น. - comment id 98584
เป็นเรื่องที่ดีจริงได้ความรู้ และสนุกที่ได้อ่านอะไรที่มีสาระแบบนี้