การเดินทางของคุณธนบัตร บทที่ ๑๕
nidhi
บทที่ ๑๕ คามรอยไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว
รุ่งเช้าเวลาประมาณ ๐๕.๐๐ น. ปลัดบัญชาก็ลงไปเดินเล่นที่ตลาดเช้าเสร็จแล้วกลับมารอปลัดขุนที่ห้องโถงโรงแรมริมปาว ระหว่างที่นั่งรอก็อ่านหนังสือแนะนำจังหวัดกาฬสินธุ์ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้รับความรู้เกี่ยวกับจังหวัดกาฬสินธุ์ ว่า กาฬสินธุ์เป็นจังหวัดที่มีความอุดมสมบูรณ์จังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน จากหลักฐานทางโบราณคดีบ่งบอกว่าเคยเป็นที่อยู่อาศัยของชนเผ่าละว้าซึ่งมีความเจริญทางด้านอารยธรรมประมาณ ๑,๖๐๐ ปี จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์เริ่มตั้งเป็นเมืองในสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๓๖ โดยท้าวโสมพะมิตรได้อพยพหลบภัยมาจากดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงพร้อมไพร่พล และมาตั้งบ้านเรือนอยู่ริมน้ำปาว เรียกว่า “บ้านแก่งสำโรง” แล้วได้นำเครื่องบรรณาการเข้าถวายสวามิภักดิ์ต่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ต่อมาได้รับพระกรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯยกฐานะบ้านแก่งสำโรง ขึ้นเป็นเมือง และพระราชทานนามว่า เมืองกาฬสินธุ์ หรือ เมืองน้ำดำ ทั้งมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้ท้าวโสมพะมิตร เป็น พระยาชัยสุนทร ครองเมืองกาฬสินธุ์เป็นคนแรก
กาฬสินธุ์อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ๕๑๙ กิโลเมตร มีเนื้อที่ทั้งหมด ๗,๐๕๕.๐๗ ตารางกิโลเมตร ลักษณะภูมิประเทศตอนบนเป็นภูเขาตามแนวเทือกเขาภูพาน ตอนกลางเป็นเนินเขาสลับป่าโปร่ง แบ่งการปกครองออกเป็น ๑๔ อำเภอ ๔ กิ่งอำเภอ คือ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ ยางตลาด กมลาไสย สหัสขันธ์ สมเด็จ กุฉินารายณ์ ท่าคันโท เขาวง ห้วยเม็ก คำม่วง หนองกุงศรี นามน ห้วยผึ้ง และร่องคำ กับกิ่งอำเภอสามชัย นาคู ดอนจาน และฆ้องชัย
อาณาเขตทิศเหนือติดต่อกับจังหวัดอุดรธานีและสกลนคร ทิศใต้ติดต่อกับจังหวัดร้อยเอ็ดและมหาสารคาม ทิศตะวันออกติดต่อกับจังหวัดสกลนครและมุกดาหาร ทิศตะวันตกติดต่อกับจังหวัดมหาสารคาม,ขอนแก่นและอุดรธานี
เดิมจังหวัดกาฬสินธุ์มีคำขวัญประจำจังหวัดว่า “เที่ยวเมืองกาฬสินธุ์ ถิ่นโบราณมากมี แซ่บอีหลีเนื้อเค็ม น้ำเต็มเขื่อนดินยาว สาวสวยภูไท ผ้าไหมแพรวา ฮือฮาโปงลาง” แต่ปัจจุบันเปลี่ยนคำขวัญใหม่เป็น “เมืองฟ้าแดดสงยาง โปงลางเลิศล้ำ วัฒนธรรมผู้ไทย ผ้าไหมแพรวา ผาเสวยภูพาน มหาธารลำปาว ไดโนเสาร์สัตว์โลกล้านปี”
สัญลักษณ์ประจำจังหวัดกาฬสินธุ์ ปรากฏในตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัดเป็นรูปบึงใหญ่ ติณชาติและพยับเมฆฝนบ่งบอกสัญลักษณ์ของความชุ่มชื่นและอุดมสมบูรณ์ของภูมิภาคนี้ ทิวเขาตรงสุดขอบฟ้าคือแนวกั้นเขตแดนกับจังหวัดใกล้เคียง น้ำในบึงเป็นสีดำเพื่อให้ตรงกับชื่อของจังหวัด กาฬสินธุ์ตั้งเป็นเมืองเมื่อ พ.ศ.๒๓๓๗ เพราะชาวเมืองเวียงจันทน์อพยพมาตั้งบ้านเรือนอยู่มากที่ ดงสงเปลือย ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำ ซึ่งสีน้ำในขณะนั้นขุ่นข้น จังหวัดกาฬสินธุ์แยกออกมาจากจังหวัดมหาสารคาม เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๙๐
สถานที่น่าสนใจในอำเภอเมืองได้แก่ อนุสาวรีย์พระยาชัยสุนทร(ท้าวโสมพะมิตร) วัดกลางวัดศรีบุญเรือง(วัดเหนือ) พิพิธภัณฑ์ของดีจังหวัดกาฬสินธุ์ พุทธสถานภูปอ และบ้านพ่อครูเปลื้อง ฉายรัศมี ศิลปืนแห่งชาติ ปีพุทธศักราช ๒๕๒๙ สาขา
ศิลปะการแสดงด้านดนตรีพื้นเมือง
อำเภอกมลาไสย ได้แก่ เมืองฟ้าแดดสงยาง พระธาตุยาคูหรือพระธาตุใหญ่ และวัดโพธิ์ชัยเสมารามหรือวัดบ้านก้อม
อำเภอยางตลาด ได้แก่ เขื่อนลำปาว และสถานีพัฒนาและส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่าลำปาว(สวนสะออน)
อำเภอท่าคันโท ได้แก่ วนอุทยานภูพระซึ่งเดิมเป็นป่าภูพระอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติดงมูล มีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจได้แก่ ผาเสวย ถ้ำเสียมสับ ถ้ำพระรอด ผาหินแยก และถ้ำพระ
อำเภอสหัสขันธ์ ได้แก่พิพิธภัณฑ์แหล่งขุดค้นไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว พุทธสถานภูสิงห์ วัดพุทธนิมิต(ภูค่ว) และแหลมโนนวิเศษ
อำเภอคำม่วง ได้แก่ กลุ่มทอผ้าไหมแพรวาบ้านโพน
อำเภอสมเด็จ ได้แก่ผาเสวย
อำเภอเขาวง ได้แก่ น้ำตกผานางคอย และน้ำตกตาดทอง
อำเภอกุฉินารายณ์ ได้แก่ ศูนย์หัตถกรรมผู้ไทยหนองห้าง และหมู่บ้านวัฒนธรรมผู้ไทยโคกโก่ง
กิ่งอำเภอนาคู ได้แก่ วนอุทยานภูแฝก (แหล่งรอยเท้าไดโนเสาร์)
ตามที่เกริ่นนำไว้ว่าตามรอยไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว มีความเกี่ยวข้องอยู่ ๒ แห่ง คือ แห่งแรกพิพิธภัณฑ์แหล่งขุดค้นไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว ที่อำเภอสหัสขันธ์ อยู่บริเวณเชิงเขาภูกุ้มข้าว วัดป่าสักกะวัน โดยเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๑๓ พระครูวิจิตรสหัสคุณ เจ้าอาวาสวัดป่าสักกะวันได้พบกระดูกชิ้นใหญ่ในบริเวณวัด แต่ยังไม่ทราบว่าเป็นฟอสซิลกระดูกไดโนเสาร์ และได้นำกระดูกที่พบเก็บรักษาไว้ที่วัด ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๕๒๑ นักธรณีวิทยาและคณะจากกรมทรัพยากรธรณีได้เดินทางมาสำรวจธรณีวิทยาบริเวณนั้นพบกระดูกดังกล่าว จึงแจ้งให้ทราบว่าเป็นซากฟอสซิลกระดูกไดโนเสาร์ หลังจากนั้นอีกสองปี คณะสำรวจธรณีวิทยาไทย-ฝรั่งเศส จึงศึกษาพบว่าเป็นส่วนกระดูกขาหน้าของไดโนเสาร์ซอโรพอด จนกระทั่งปีพุทธศักราช ๒๕๓๗ จึงมีการสำรวจขุดค้นและอนุรักษ์อย่างเป็นระบบ พบซากไดโนเสาร์จำนวนมากในชั้นหินเสาร์ขัวยุคครีเตเซียสตอนต้น อายุประมาณ ๑๓๐ ล้านปี พบกระดูกไดโนเสาร์ชนิดกินพืชจำนวนมากกว่า ๗๐๐ ชิ้น สันนิษฐานว่าเป็นชิ้นส่วนกระดูกไดโนเสาร์ประมาณ ๗ ตัว และในพิพิธภัณฑ์ยังมีซากปลาโบราณพันธุ์ใหม่ของโลกในสภาพสมบูรณ์ เป็นปลาน้ำจืดมีชื่อว่า “เลปิโดเทส” ยาวประมาณ ๓๐-๖๐เซนติเมตร อยู่ในยุคมีโซโซอิคหรือ ๖๕ ล้านปีที่แล้วด้วย
แห่งที่สองเป็นเพียงรอยเท้าไดโนเสาร์ประเภทเทอร์โรพอด ๗ รอย จัดอยู่ในกลุ่มคาร์โนซอร์ชนิดกินเนื้อ อายุประมาณ ๑๔๐ ล้านปี ปัจจุบันเห็นชัดเจนเพียง ๔ รอย พบที่หมู่ ๖ บ้านน้ำคำ ตำบลภูแล่นช้าง ในปีพุทธศักราช ๒๕๓๙
สรุปกิจกรรมที่ปลัดบัญชาไปร่วมทัศนากับปลัดขุนในเมืองกาฬสินธุ์ คือ ตระเวณ แหล่งท่องเที่ยวต่างๆและไปสนทนากับพ่อครูเปลื้อง ศิลปินแห่งชาติ เกี่ยวกับโปงลางซึ่งเป็นเครื่องดนตรีพื้นเมือง และได้รับรู้ว่าพ่อครูกำลังสร้างสรรค์ดนตรีพื้นเมืองใหม่ๆขึ้นมาอีก เช่น หมากกะโหล่ง ซึ่งใช้กระดิ่งแขวนคอวัวร้อยเข้าด้วยกัน