การเดินทางของคุณธนบัตร บทที่ ๘

nidhi

คุณพยาบาลประจำโรงพยาบาลหนองแวงเป็นหญิงสาวที่ไม่ถึงกับสวยอะไรนัก แต่ก็เป็นคนที่มีมนุษย์สัมพันธ์และมีอัธยาศัยไมตรีที่ดีเยี่ยม  สังเกตได้จากทั้งคนไข้ที่ไปโรงพยาบาลและไปที่คลินิกว่า ต่างก็มีหน้าตายิ้มแย้มโอภาปราศัยเวลาที่พบหน้ากัน  คุณพยาบาลคนนี้เรียนจบวิชาการพยาบาลจากศิริราชพยาบาล  เมื่อไปทำงานที่หนองแวงแล้วจึงเรียนต่อจนจบการศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง  และกำลังเรียนต่อเป็นมหาบัณฑิตชั้นปริญญาโทที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า)  ฉันยังได้ยินจากพวกพยาบาลและเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลว่า  คุณพยาบาลได้หมั้นหมายไว้กับคุณหมอชนบทเมื่อเดือนก่อน และมีโครงการจะแต่งงานกันในราวต้นปีหน้าที่จะถึงนี้  โดยคุณหมอชนบทได้รับการทาบทามให้ไปทำงานที่โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ย่านถนนประชาชื่น ในเขตกรุงเทพมหานคร  ส่วนคุณพยาบาลก็เตรียมตัวไปรับตำแหน่งใหม่ที่กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขประมาณต้นปีหน้าเช่นเดียวกัน  ฉันกลายเป็นเงินบริจาคทำบุญให้แก่มูลนิธิสมเด็จย่า  ซึ่งเป็นเหตุให้ฉันถูกนำฝากเข้าบัญชีธนาคารกรุงเทพ จำกัด  และต่อมาก็ถูกเบิกไปเก็บไว้เป็นเงินทุนสำรองหมุนเวียนของสำนักงานจังหวัด  ซึ่งจักได้กล่าวในตอนต่อไป  สำหรับตอนนี้เพื่อเป็นเกร็ดความรู้เล็กๆน้อยๆ  ฉันจึงใคร่ขอถือโอกาสแนะนำจังหวัดขอนแก่นโดยสรุป ดังนี้
ขอนแก่น เป็นศูนย์กลางของภาคอีสานทั้งในด้านภูมิศาสตร์หรือสภาพที่ตั้ง รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการศึกษาและเทคโนโลยีของภาคตะวันออกเฉียงเหนือนี้ด้วย  โดยเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นดินแดนแห่งประวัติศาสตร์อารยธรรมและธรรมชาติที่สำคัญระดับโลกแห่งหนึ่งก็ว่าได้  ขอนแก่น เดิมเรียกว่าขามแก่น  ดังจะเห็นได้จากการที่มีสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ระบุไว้ 
คำขวัญประจำจังหวัดขอนแก่นมีว่า “ พระธาตุขามแก่น  เสียงแคนดอกคูณ  ศูนย์รวมผ้าไหม  ร่วมใจผูกเสี่ยว  เที่ยวขามแก่นนครใหญ่  ไดโนเสาร์ลือก้อง  เหรียญทองโอลิมปิก”
สถานที่น่าสนใจในอำเภอเมือง ที่ค่อนข้างสะดุดตา เป็นธรรมชาติ ดูร่มรื่น น่าจะเป็นบึงแก่นนคร  ซึ่งเป็นบึงขนาดใหญ่มีเนื้อที่ถึง ๖๐๓ ไร่ ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลกลางเมืองขอนแก่น  และเป็นที่ประดิษฐานอนุสาวรีย์ “เจ้าเพี้ยเมืองแพน” ผู้ก่อตั้งเมืองขอนแก่น    มีพระธาตุขามแก่นที่อำเภอน้ำพอง  ที่อำเภออุบลรัตน์ ก็มีเขื่อนอุบลรัตน์ ที่เดิมเรียกกันว่าเขื่อนน้ำพอง  แต่ในเอกสารของการท่องเที่ยวระบุว่าเดิมเรียก เขื่อนพองหนีบ  ส่วนที่ดังกึกก้องไปทั่วโลกเห็นจะได้แก่ พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง และอุทยานแห่งชาติภูเวียง  โดยที่ในปี พ.ศ. ๒๕๑๙  มีการสำรวจแหล่งแร่ยูเรเนียมที่อุทยานแห่งชาติภูเวียง  แล้วค้นพบซากกระดูกหัวเข่าข้างซ้ายของไดโนเสาร์  จึงขุดค้นต่อไปจนพบฟอสซิลไดโนเสาร์พันธุ์กินพืช ซึ่งไม่เคยพบที่ใดมาก่อน  จึงอัญเชิญพระนามของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯมาตั้งชื่อไดโนเสาร์พันธุ์นี้เป็นการเฉลิมพระเกียรติว่า  “ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน่ ” (Phuwianggosaurus Sirindhornae)  และในหลุมเดียวกันนี้ยังค้นพบฟันของไดโนเสาร์ประเภทกินเนื้ออีกมากกว่า ๑๐ ซี่  ซึ่งหนึ่งในกลุ่มฟันที่พบนี้มีลักษณะแตกต่างออกไปเป็นพิเศษ  และพบว่าเป็นฟันของไดโนเสาร์กินเนื้อที่ไม่ทราบชื่อมาก่อนเลยเช่นเดียวกัน จึงตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ค้นพบ คือ นายวราวุธ  สุธีธร ว่า “ไซแอม โมซอรัส สุธีธรนี่” (Siamosaurus Suteethorne)  นอกจากนี้ยังพบฟอสซิลของ “ไซแอมโมไทรันนัส อีสานเอ็นซิส” (Siamotyrannus Isanensis)  ซึ่งเป็นสิ่งที่บ่งชี้ว่าไดโนเสาร์จำพวกไทรันโนซอร์มีต้นกำเนิดในทวีปเอเชีย  เพราะฟอสซิลที่ค้นพบมีอายุเก่าแก่ที่สุดถึง ๑๒๐-๑๓๐ ล้านปี นอกจากนี้ที่อำเภอภูเวียง ยังเป็นที่ตั้งหมู่บ้านอนุรักษ์ควายไทยอีกด้วย  ส่วนอำเภอที่ชื่อกระฉ่อนทางโทรทัศน์ทั่วประเทศในขณะนี้ก็คืออำเภอชุมแพ นั่นเอง
สำหรับที่อำเภอมัญจาคีครี  ก็ยังเป็นแหล่งกล้วยไม้ป่าธรรมชาติที่มีชื่อสียง คือ ช้างกระ  และเป็นที่ตั้ง หมู่บ้านเต่า ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า เต่าเพ็ก เป็นเต่าบก อาศัยอยูตามใต้ถุนบ้านและตามถนนหนทางในหมู่บ้าน  เป็นเต่าทีมีกระดองสีเหลืองแก่ปนน้ำตาล มีอยู่เป็นจำนวนมากในหมู่บ้านดังกล่าว
สถานที่สำคัญอีกแห่ง คือ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาจังหวัดขอนแก่น  ที่อำเภอบ้านไผ่
ท้ายบทการเดินทางฉบับนี้  จึงขอย้อนกลับไปนอนรอการเดินทางต่อไปที่สำนักงานจังหวัดขอนแก่น				
comments powered by Disqus
  nidhi

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน