ตำราธรรมะเล่มเดียวเลิก
บุญนำ
บทนำ
คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน ----> หน้า 1
หนังสือคู่มือปฏิบัตินี้ผู้เขียนเขียนขึ้นเพราะปรารภนักปฏิบัติกรรมฐานที่มาเรียน กรรมฐานกับผู้เขียน การสอนที่สอนแก่นักปฏิบัติส่วนใหญ่ก็สอนแต่การปฏิบัติ สำหรับ ความรู้ทั่วไปนั้นไม่มีโอกาสได้สอน ทั้งนี้ เพราะนักปฏิบัติส่วนใหญ่ไม่มีเวลาพักอยู่ได้ นานวัน มักจะมาขอให้ฝึกเพื่อผลทางปฏิบัติเท่านั้น ฝึกแล้วก็กลับ ฉะนั้นเมื่อมีอารมณ์ ข้อข้องขึ้นมาจึงไม่สามารถจะทราบด้วยตนเองได้ บางรายอยู่ไกลถึงต่างจังหวัดกว่า
จะมาพบอาจารย์ผู้ฝึกได้ก็ล่วงเวลาไปมากเป็นการเสียผลในทางปฏิบัติ คณะศิษย์ส่วนใหญ่ ขอร้องให้เขียนแนวการสอนให้ไว้เป็นหลักปฏิบัติ เรื่องเขียนไว้เป็นตำรานี้ ผู้เขียนเองก็หนักใจ ไม่น้อยเลย เพราะความรู้ในทางปฏิบัตินี้ผู้เขียนเองก็รู้อะไรไม่มากมายนักรู้เท่าที่จำได้จาก ครูผู้สอนบ้าง จากบรรดาคณาจารย์ต่างๆ ที่กรุณาแนะนำให้บ้าง จากตำราบ้าง แต่ต่อมาตำรับ ตำราก็ไม่ใคร่ได้สำรวจตรวจสอบ เมื่อทนต่อการขอร้องไม่ไหวก็ต้องเขียนไว้ตามแต่จะจำได้ ฉะนั้น หนังสือนี้อาจมีข้อบกพร่องอยู่มากหากท่านผู้รู้เห็นข้อผิดพลาดที่มีขึ้นประการ ใด โปรดแจ้งตรงไปยังผู้เขียนผู้เขียนขอน้อมรับคำตักเตือนนั้นด้วยความเคารพอย่างยิ่ง
การเขียนหนังสือเล่มนี้ ได้รับกำลังใจจากบรรดาคณะศิษยานุศิษย์เป็นอันดีต่างก็ให้กำลังใจ สนับสนุนในการเขียนคราวนี้ ผู้เขียนขออนุโมทนาท่านทั้งหลายที่ให้กำลังใจในการเขียนคราวนี้ ทุกท่าน ขอทุกท่านตามที่มีนามในหนังสือนี้จงเจริญยิ่งๆ ขึ้น ทั้งความสุขในการบริหาร ความ เป็นอยู่ และขอให้บรรลุผลในการเจริญสมณธรรมสมความมุ่งหมายที่ตั้งใจไว้จงทุกท่านเถิด ความดีที่พึงมีจากหนังสือนี้บ้างเพียงใด ผู้เขียนขออุทิศความดีนี้ถวายแด่สมเด็จพระสัมมา- สัมพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ และพระอริยสาวกทุกๆ ท่านที่ทุกๆ ท่านได้มีความเกื้อกูลให้ความรู้ ความเข้าใจและนำเอาความรู้นี้มาสอนเวไนยพุทธบริษัทสืบๆ มาจนถึงยุคปัจจุบัน และขออุทิศความดีที่มีจากหนังสือนี้บูชาคุณครูบาอาจารย์ทั้งหลายที่กรุณา แนะนำสั่งสอนผู้เขียนมามากบ้างน้อยบ้าง แต่ผู้เขียนก็เคารพว่าทุกท่านเป็นครูบาอาจารย์ที่คารพ อย่างสูงของผู้เขียนอยู่เสมอครูบาอาจารย์ที่สอนในส่วนปฏิบัติกรรมฐานนี้มีมากท่านด้วยกันอาจจะหลงลืมชื่อเสียงของท่านไปบ้างก็ต้องกราบขออภัยมาในที่นี้ด้วยเท่าที่จำได้ในขณะนี้ก็คือ
๑. พระครูวิหารกิจจานุการ (หลวงพ่อปาน สุทธาวงษ์) วัดบางนมโค อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ท่านเป็นปฐมาจารย์ ผู้สั่งสอนเป็นองค์แรก สอนกรรมฐานทุกตอนจนถึงระดับนิพพาน และ
พยายามฝึกฝนให้จนมีความเข้าใจในการปฏิบัติกรรมฐานจนมีความ เข้าใจรอบๆ พอควรแก่ปัญญาของผู้เขียน
๒. หลวงพ่อเล็ก เกสโร อาจารย์ที่สองรองจากหลวงพ่อปาน เป็นตัวแทนหลวงพ่อปาน ในการควบคุม ดูแลในการปฏิบัติเบื้องต้นท่านอยู่วัดบางนมโค เช่นเดียวกัน
๓. พระครูอุดมสมาจารย์ วัดน้ำเต้า อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
๔. หลวงพ่อปั้น วัดพิกุล อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
๕. หลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
๖. หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
๗. พระครูรัตนาภิรมย์ พระอุปัชฌาย์ของผู้เขียน วัดบ้านแพน อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
๘. หลวงพ่อเนียม วัดน้อย อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี
๙. หลวงพ่อโหน่ง วัดคลองมะดัน อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี
๑๐. หลวงพ่อเรื่อง วัดใหม่พิณสุวรรณ อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี
๑๑. พระครูสุวรรณพิทักษ์บรรพต เจ้าคณะ ๑๑ วัดสระเกศ จังหวัดพระนคร
๑๒. ท่านเจ้าคุณ พระมงคลเทพมุนี วัดปากน้ำภาษีเจริญ จังหวัดธนบุรี
๑๓. ท่านเจ้าคุณ พระธรรมปาหังสณาจารย์ อดีตเจ้าอาวาส วัดประยุรวงศาวาส ธนบุรี
๑๔. ท่านเจ้าคุณ พระมหาโพธิวงศาจารย์ เจ้าอาวาส วัดอนงคาราม จังหวัดธนบุรี
๑๕. พระเดชพระคุณ สมเด็จพระพุฒาจารย์ อดีตเจ้าอาวาส วัดอนงคาราม จังหวัดธนบุรี
๑๖. พระอาจารย์เกษม วัดดาวดึงสาวาส จังหวัดธนบุรี
๑๗. พระอาจารย์ทอง วัดราษฎรสุนทรเจริญ อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี
๑๘. ท่านอาจารย์สุข ตำบลแพงพวย อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี
ตามที่กล่าวนามมาแล้วนี้ ทุกท่านมีความดี เคยแนะนำสั่งสอนผู้เขียนมามากบ้างน้อยบ้าง แต่ละท่านต่างก็แนะนำสั่งสอนเพื่อให้เข้าใจในปฏิปทาการปฏิบัติด้วยดีทำให้ผู้เขียนได้รับความรู้
ความเข้าใจเพิ่มเติมขึ้นอีกมาก ฉะนั้น ความดีที่จะพึงมีจากหนังสือนี้ แม้เป็นหนังสือมีข้อความ ย่อพอเป็นหัวข้อแนะในการปฏิบัติจะไม่ละเอียดลออพอที่จะเป็นตำราได้ก็ตามผู้เขียนขออุทิศ
ความดีนี้บูชาคุณทุกท่านตามที่กล่าวนามมาแล้ว ส่วนความผิดพลาดที่จะพึงมีในหนังสือนี้มากน้อยเพียงใด ผู้เขียนขอน้อมรับไว้แต่ผู้เดียว ที่ผิดก็คงผิดเพราะความโง่เขลารู้เท่าไม่ถึงการณ์ของผู้เขียนแน่นอนส่วนที่ครูบาอาจารย์สอนมา
นั้นไม่ผิดแน่ ที่สุดนี้ ขอทุกท่านที่ได้รับและอ่านหนังสือนี้ จงเจริญผ่องใส มีอารมณ์ใจเต็มเปี่ยมด้วย ผลปฏิบัติพระกรรมฐานจงทุกท่าน เทอญ
พระมหาวีระ ถาวโร
อัชฌาศัย
ความต้องการของอารมณ์เรียกว่า อุดมคติ หรือแบบที่ผู้ใหญ่โบราณสักหน่อย เรียกว่า อัชฌาสัย หรืออุดมคติ อัฌชาสัยในการปฏิบัติมีอยู่ 4 อย่าง ด้วยกันคือ
๑. อัชฌาศัยสุกขวิปัสสโก
บางคนชอบแบบสุกเอาเผากิน เรื่องความละเอียดเรียบร้อย การรู้เล็กรู้น้อยแสดงฤทธิ์ อวดเดช เดชาอะไรนั้น ไม่มีความต้องการ หวังอย่างเดียวคือความบรรลุผล ท่านประเภทนี้ พระพุทธเจ้ามีแบบปฏิบัติไว้ให้เรียกว่า สุกขวิปัสสโก คือปฏิบัติแบบสบายเริ่มด้วยการรักษา ศีลให้บริสุทธิ์ เรื่องศีลนี้นักปฏิบัติต้องสนใจเป็นพิเศษ ถ้าหวังผลในการปฏิบัติแล้ว อย่าให้ศีล บกพร่องเป็นอันขาด แม้แต่ด่างพร้อยก็อย่าให้มี ถ้าท่านเห็นว่าศีลเป็นของเล็กน้อย ปฏิบัติยัง ขาด ๆ เกิน ๆ แล้ว ท่านไม่มีหวังในมรรคผลแน่นอน เมื่อมีศีลครบถ้วนบริสุทธิ์ผุดผ่องดีแล้ว ท่านก็ให้เจริญสมาธิ ตอนสมาธินี้ ท่านฝ่ายสุกขวิปัสสโกท่านไม่เอาดีทางฌานสมาบัติพอมีสมาธิเล็กน้อยก็เจริญวิปัสสนาญาณควบกันไปเลย คุมสมาธิบ้าง เจริญวิปัสสนา บ้าง พอสมาธิที่รวบรวมได้ทีละเล็กละน้อยเมื่อสมาธิเข้าถึงปฐมฌาน วิปัสสนาก็มี กำลังตัดกิเลสได้จะได้มรรคผล ก็ตอนที่สมาธิเข้าถึงปฐมฌานหากสมาธิยังไม่ถึงปฐมฌาน เพียงใด จะได้มรรคผลไม่ได้ นี้เป็นกฎตายตัวเพราะมรรคผลต้องมีฌานเป็นเครื่องรู้ ฌานนี้ จะบังเกิดขึ้นเมื่อจิตเข้าสู่อุปจารสมาธิ คือเกือบถึงปฐมฌาน ห่างกันระหว่างปฐมฌานกับ อุปจารฌานนั้น เพียงเส้นผมเดียวเท่านั้น จิตเมื่อตั้งมั่นในอุปจารสมาธิแล้ว ก็จะเกิดทิพย-จักษุฌาน คือเห็นสิ่งที่เป็นทิพย์ และได้ยินเสียงที่เป็นทิพย์ได้ เพราะตามธรรมดาจิตนั้นเป็น ทิพย์อยู่แล้วที่ต้องมาชำระกันใหม่ด้วยการฝึกสมาธิ ก็เพราะจิตถูกนิวรณ์ คืออกุศลหุ้มห่อไว้ ได้แก่ความโลภอยากได้ไม่มีขอบเขต ความผูกโกรธคือพยาบาทจองล้างจองผลาญ ความ ง่วง เมื่อขณะปฏิบัติทำสมาธิ ความฟุ้งซ่านของอารมณ์ในขณะฝึกสมาธิ ความสงสัยในผล ปฏิบัติ โดยคิดว่าจะได้หรือจะสำเร็จหรือ ทำอย่างนี้จะสำเร็จได้อย่างไรความสงสัยไม่แน่ใจ อย่างนี้ เป็นนิวรณ์กั้นฌานไม่ให้เกิดรวมความแล้ว ทั้งห้าอย่างนี้นั่นแหละแม้เพียงอย่างเดียว ถ้าอารมณ์ของจิตยังข้องอยู่ฌานจะไม่เกิดจะคอยกีดกันไม่ให้จิตผ่องใส มีอารมณ์เป็นทิพย์ ตามสภาพปกติได้ จิตเมื่อถูกอกุศลห้าอย่างนี้หุ้มห่อก็มีอารมณ์มืดมนท์รู้สิ่งที่เป็นทิพย์ไม่ได้
เพราะอำนาจอกุศลคือนิวรณ์ห้านี้จะพ้นจากจิตไปได้ก็ต่อเมื่อจิตทรงอารมณ์ของฌานไว้ได้ เท่านั้น ถ้าจิตทรงอารมณ์ปฐมญานไม่ได้ จิตก็ต้องตกเป็นทาสของนิวรณ์ อารมณ์ปฐมฌาน นั้นมี ๕ เหมือนกันคือ
๑. วิตก คำนึงถึงองค์กรรมฐานที่ฝึกตลอดเวลา
๒. วิจาร ใคร่ครวญกำหนดรู้ตามในองค์กรรมฐานนั้น ๆ ไม่ให้บกพร่องตรวจตรา
พิจารณาให้ครบถ้วนอยู่เสมอๆ
๓. ปีติ มีความเอิบอิ่มรื่นเริงหรรษา ไม่อิ่มไม่เบื่อในการปฏิบัติพระกรรมฐาน
๔. สุข เกิดความ สุขสันต์หรรษาทางกายอย่างไม่เคยปรากฏมาในกาลก่อนมีความสุข
สดชื่นบอกไม่ถูก
๕. เอกัคคตารมณ์ มีอารมณ์มั่นคงในองค์กรรมฐาน จิตกำหนดตั้งมั่นไม่คลาดจาก
องค์กรรมฐานนั้นๆ
ทั้งห้าอย่างนี้เป็นอารมณ์ของปฐมฌาน เมื่อเข้าถึงตอนนี้จิตก็เป็นทิพย์มาก สามารถ
กำหนดจิตรู้ในสิ่งที่เป็นทิพย์ได ้ก็ผลของวิปัสสนา คือมรรคผลนั้น การที่จะบรรลุถึงได้ต้อง
อาศัยทิพยจักษุญาณเป็นเครื่องชี้ ตามที่ท่านกล่าวไว้ว่าเมื่อภิกษุบรรลุแล้วก็มีญาณบอกว่ารู้
แล้ว ที่พระพุทธเจ้าตรัสอย่างนี้ ก็ทรงหมายเอาญาณที่เป็นทิพยจักษุญาณนี้ถ้าบรรลุอรหัตต-
ผลแล้วท่านเรียกว่า วิมุตติญาณทัสสนวิสุทธิ วิมุตติ แปลว่า หลุดพ้น ญาณ แปลว่า รู้
ทัสสนะ แปลว่า เห็น วิสุทธิ แปลว่า หมดจดอย่างวิเศษ คือ หมดไม่เหลือ หรือ
สะอาดที่สุด ไม่มีอะไรสกปรก (บอกไว้เพื่อรู้)
ฉะนั้น ท่านสุกขวิปัสสโก ถึงแม้ท่านจะรีบปฏิบัติแบบรวบรัดอย่างไรก็ตาม ท่าน
ก็ต้องอาศัยฌานในสมถะจนได้ แต่ได้เพียงฌานเด็กๆ คือปฐมฌาน เป็นฌานกระจุ๋มกระจิ๋ม
เอาดีเอาเด่นในเรื่องฌานไม่แน่นอนนัก กล่าวโดยย่อ ก็คือ
๑. ท่านรักษาศีลบริสุทธิ์ ชนิดไม่ทำเอง ไม่ใช้ให้คนอื่นทำ และไม่ยินดีในเมื่อคนอื่น
ทำบาป
๒. ท่านเจริญสมาธิควบกับวิปัสสนา จนสมาธิรวมตัวถึงปฐมฌานแล้ว ท่านจึงจะได้
สำเร็จมรรคผล
ท่านสุกขวิปัสสโก มีกฏปฏิบัติเพียงเท่านี้ ท่านจึงเรียกว่า สุกขวิปัสสโก
แปลว่า บรรลุแบบง่ายๆ ท่านไม่มีฌานสูง ท่านไม่มีญาณพิเศษอย่างท่านวิชชา-
สาม ท่านไม่มีฤทธิ์ ท่านไม่มีความรู้พิเศษอะไรทั้งสิ้น เป็นพระอรหันต์ประเภท
รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี ไม่มีคุณพิเศษอื่นนอกจากบรรลุมรรคผล
คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน ----> หน้า 3
๒. อัชฌาศัยเตวิชโช
อัชฌาสัยเตวิชโช หมายถึงท่านที่มีอุดมคติในด้านวิชชาสาม คือทรงคุณสามประการ
ในส่วนแห่งการปฏิบัติ ได้แก่คุณธรรมดังต่อไปนี้
๑. ปุเพนิวาสานุสสติญาณ การระลึกชาติที่แล้วๆ มาได้
๒. จุตูปปาตญาณ รู้ว่าสัตว์ที่ตายไปแล้ว และเกิดมานี้ ตายแล้วไปไหน ก่อนเกิดมา
จากไหน
๓. อาสวักขยญาณ รู้จักทำอาสวกิเลสให้สิ้นไป
เมื่อพิจารณาตามคุณพิเศษสามประการนี้แล้วแสดงให้เห็นว่าท่านที่มีอุดมคติในด้าน
เตวิชโชนี้ ท่านเป็นคนอยากรู้อยากเห็น เมื่อพบเห็นอะไรเข้าก็เป็นเหตุให้คิดนึกถึงสมุฏฐาน
ที่เกิดว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้เกิดมาจากอะไร เดิมก่อนจะเป็นอย่างนั้น เป็นอะไรมาก่อน เช่นเห็นของที่
มีวัตถุปกปิดก็อยากจะแก้วัตถุที่ปกปิดนั้นออก เพื่อสำรวจตรวจดูของภายใน เห็นของภายใน
ว่าเป็นอะไรแล้ว ก็อยากจะรู้ต่อไปว่าภายในของนั้นมีอะไรบ้างทำด้วยอะไร เมื่อรู้แล้วก็อยากรู้
ต่อไปว่าสิ่งนั้น ๆ เกิดมาได้อย่างไรอย่างนี้เป็นต้น
ท่านประเภทเตวิชโชนี้จะให้ท่านทำตนเป็นคนหวังผลอย่างเดียวโดยไม่ให้พิสูจน์
ค้นคว้าเลยนั้น ท่านประเภทนี้ทนไม่ไหว เพราะอัชฌาสัยไม่ชอบประเภทคลุมหน้าเดินโดย
ที่ไม่ได้พิสูจน์ต้นทางปลายทางเสียก่อน ถ้าต้องทำแบบคลุมหน้าเดินอย่างท่านสุกขวิปัสสโก
แล้วท่านก็ทนไม่ไหวรำคาญใจหยุดเอาเฉย ๆ คนประเภทนี้เคยพบมาในขณะสอนสมณ-
ธรรม มีจำนวนมาก ประเภทเตวิชโชนั้นส่วนใหญ่มักชอบรู้ชอบเห็นพอให้วิปัสสนาล้วนเธอ
เข้า เธอก็บ่นอู้อี้ว่าไม่รู้ไม่เห็นอะไรเลยต่อเมื่อให้กรรมฐานประเภททิพยจักษุญาณ หรือ
มโนมยิทธิ เธอก็พอใจทำได้อย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อยจะยากลำบากก็ทนทำจนสำเร็จผล
ทางที่ได้พิสูจน์มาเป็นอย่างนี้
แนวปฏิบัติสำหรับเตวิชโช
ทราบแล้วว่า เตวิชโชมีอะไรบ้าง ขอนำแนวปฏิบัติมาเขียนไว้ เพื่อรู้แนวทาง หากท่าน
ผู้อ่านประสงค์จะรู้หรือจะนำไปปฏิบัติก็จะสะดวกในการค้นคว้า เตวิชโชหรือท่านผู้ทรงวิชชา-
สามมีปฏิปทาในการปฏิบัติดังต่อไปนี้
๑. การรักษาศีลให้สะอาดหมดจด ยอมตัวตายดีกว่าศีลขาด
๒. ฝึกสมาธิในกรรมฐานที่มีอภิญญาเป็นบาท คือกสิณกองใดกองหนึ่งที่เป็นสมุฏฐาน
ให้เกิดทิพยจักษุญาณ กสิณที่เป็นสมุฏฐานให้เกิดทิพยจักษุญาณนั้นมีอยู่สามกองด้วยกัน คือ
๑. เตโชกสิณ เพ่งไฟ
๒. อาโลกกสิณ เพ่งแสงสว่าง
๓. โอทาตกสิณ เพ่งสีขาว
กสิณทั้งสามอย่างนี้ อย่างใดก็ตาม เป็นพื้นฐานให้ได้ทิพยจักษุญาณทั้งสิ้น แต่ตามนัย
วิสุทธิมรรคท่านกล่าวว่า ในบรรดากสิณทั้งสามอย่างนี้ อาโลกกสิณเป็นกสิณสร้างทิพยจักษุ-
ญาณโดยตรง ท่านว่าเจริญอาโลกกสินั่นแหละเป็นการดี
วิธีเจริญอาโลกกสิณเพื่อทิพยจักษุญาณ การสร้างทิพยจักษุญาณด้วยการเจริญ
อาโลกกสิณนั้น ท่านให้ปฏิบัติดังนี้ ท่านให้เพ่งแสงสว่างที่ลอดมาทางช่องฝาหรือหลังคาให้
กำหนดจิตจดจำภาพแสงสว่างนั้นไว้ให้จำได้ดี แล้วหลับตากำหนดนึกถึงภาพแสงสว่างที่มอง
เห็นนั้น ภาวนาในใจพร้อมทั้งกำหนดนึกถึงภาพนั้นไปด้วยภาวนาว่า "อาโลกกสิณัง" แปล
ว่า แสงสว่างกำหนดนึกไป ภาวนาไป ถ้าภาพแสงสว่างนั้นเลอะเลือนจากไป ก็ลืมตาดูใหม่
ทำอย่างนี้เรื่อยไปจนภาพนั้นติดตา ติดใจ นึกคิดขึ้นมาเมื่อไร ภาพนั้นก็ปรากฏแก่ใจตลอด
เวลา ในขณะที่กำหนดจิตคิดเห็นภาพนั้นระวังอารมณ์จิตจะซ่านออกภายนอกและเมื่อจิต
เริ่มมีสมาธิ ภาพอื่นมักเกิดขึ้นมาสอดแทรกภาพกสิณเมื่อปรากฏว่ามีภาพอื่นสอดแทรก
เข้ามา จงตัดทิ้งเสีย โดยไม่ยอมรับรู้รับทราบกำหนดภาพเฉพาะภาพกสิณอย่างเดียวภาพ
แทรกเมื่อเราไม่สนใจไยดี ไม่ช้าก็ไม่มารบกวนอีกเมื่อภาพนั้นติดตาติดใจจนเห็นได้ทุก
ขณะจิตที่ปรารถนาจะเห็นได้แล้ว และเป็นภาพหนาใหญ่จะกำหนดจิตให้ภาพนั้นเล็กใหญ่
ได้ตามความประสงค์ให้สูงต่ำก็ได้ตามใจนึก เมื่อเป็นได้อย่างนั้นก็อย่าเพิ่งคิดว่าได้แล้ว
ถึงแล้ว จงกำหนดจิตจดจำไว้ตลอดวันตลอดเวลา อย่าให้ภาพแสงสว่างนั้นคลาดจากจิตจง
เป็นคนมีเวลาคืออย่าคิดว่าเวลานั้นเถอะเวลานี้เถอะจึงค่อยกำหนดการเป็นคนไม่มีเวลา
เพราะหาเวลาเหมาะไม่ได้นั้นท่านว่าเป็นอภัพพบุคคลสำหรับการฝึกญาณ คือเป็นคนหา
ความเจริญไม่ได้ ไม่มีทางสำหรับมรรคผลเท่าที่ตนปรารถนานั่นเอง ต้องมีจิตคิดนึกถึง
ภาพกสิณ ตลอดเวลาที่ตื่นอยู่ ไม่ยอมให้ภาพนั้นคลาดจากจิต ไม่ว่า กิน นอน นั่ง เดิน ยืน
หรือทำกิจการงานต่อไปไม่ช้าภาพกสิณก็จะค่อยคลายจากสีเดิมเปลี่ยนเป็นสีใสประกาย
พรึกน้อยๆ และค่อย ๆ ทวีความสดใสประกายมากขึ้น ในที่สุดก็จะปรากฏเป็นสีประกาย
สวยสดงดงามคล้ายดาวประกายพรึกดวงใหญ่ ตอนนี้ก็กำหนดใจให้ภาพนั้นเล็ก โต สูง ต่ำ
ตามความต้องการ การกำหนดภาพเล็กโต สูง ต่ำและเคลื่อนที่ไปมาอย่างนี้ จงพยายาม
ทำให้คล่องจะเป็นประโยชน์ตอนฝึกมโนมยิทธิ คือ ถอดจิตออกท่องเที่ยวมาก เมื่อภาพ
ปรากฏประจำจิตไม่คลาดเลื่อนได้รวดเร็วเล็กใหญ่ได้ตามประสงค์คล่องแคล่วว่องไวดีแล้ว
ก็เริ่มฝึกทิพยจักษุญาณได้แล้วเมื่อฝึกถึงตอนนี้ มีประโยชน์ในการฝึกทิพยจักษุญาณ และ
ฝึกมโนมยิทธิ คือถอดจิตออกท่องเที่ยวและมีผลในญาณต่างๆ ที่เป็นบริวารของทิพย-
จักษุญาณทั้งหมด เช่น
๑. ได้จุตูปปาตญาณ รู้ว่าสัตว์ที่ตายไปแล้วไปเกิด ณ ที่ใด ที่มาเกิดนี้มาจากไหน
๒. เจโตปริยญาณ รู้อารมณ์จิตของคนและสัตว์
๓. ปุเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติที่เกิดมาแล้วในกาลก่อนได้
๔. อตีตังสญาณ รู้เหตุการณ์ในอดีตได้
๕. อนาคตังสญาณ รู้เหตุการณ์ในกาลข้างหน้าต่อไปได้
๖. ปัจจุปปันนังสญาณ รู้เหตุปัจจุบันว่า ขณะนี้อะไรเป็นอะไรได้
๗. ยถากัมมุตาญาณ รู้ผลกรรมของสัตว์ บุคคล เทวดา และพรหมได้ว่าเขา
มีสุขมีทุกข์เพราะผลกรรมอะไรเป็นเหตุ
การฝึกกสิณจนถึงระดับดีมีผลมากอย่างนี้ ขอนักปฏิบัติจงอย่าท้อถอย สำหรับวันเวลา
หรือไม่นานตามที่ท่านคิดหรอก จงอย่าเข้าใจว่าต้องใช้เวลาแรมปี คนว่าง่ายสอนง่ายปฏิบัติ
ตามนัยพระพุทธเจ้า สั่งสอนแล้ว ไม่นานเลย นับแต่อย่างเลวจัดๆ ก็สามเดือน เป็นอย่างเลว
มาก อย่างดีมากไม่เกินเจ็ดวันเป็นอย่างช้า ทั้งนี้ อาจจะเป็นเพราะท่านผู้นั้นเคยได้ทิพยจัก-
ษุญาณมาในชาติก่อนๆ ก็ได้เพราะท่านกล่าวไว้ในวิสุทธิมรรรคว่า "ท่านที่เคยได้ทิพย-
จักษุญาณมาในชาติก่อนๆ แล้วนั้น พอเห็นแสงสว่างจากช่องฝาหรือหลังคาก็ได้
ทิพยจักษุญาณทันที " เคยพบมาหลายคนเหมือนกัน แม้แต่มโนมยิทธิซึ่งเป็นของยาก
กว่าหลายร้อยรายที่พอฝึกเดี๋ยวนั้นไม่ทันถึงชั่วโมงเธอก็ได้เลย ทำเอาครูอายเสียเกือบแย่
เพราะครูเองก็ย่ำต๊อกมาแรมเดือน แรมปี กว่าจะพบดีเอาความรู้นี้มาสอนได้ก็ต้องบุกป่า
บุกโคลนขึ้นเขาลำเนาไม้เสียเกือบแย่แต่ศิษย์คว้าปับได้บุปอย่างนี้ ครูจะไม่อาย แล้วจะไป
รออายกันเมื่อไร แต่ก็ภูมิใจอยู่นิดหนึ่งว่า ถึงแม้ครูจะทึบก็ยังมีโอกาสมีศิษย์ฉลาดพออวด
กับเขาได้
กำหนดภาพถอนภาพ เมื่อรู้อานิสงส์อาโลกกสิณแล้ว ก็จะได้แนะวิธีใช้ฌานจาก
ฌานในกสิณต่อไป การเห็นภาพเป็นประกายและรักษาภาพไว้ได้นั้นเป็นฌานต้องการจะดู
นรกสวรรค์ พรหมโลกหรืออะไรที่ไหน จงทำดังนี้ กำหนดจิตจับภาพกสิณตามที่กล่าวมา
แล้วให้มั่นคงถ้าอยากดูนรก ก็กำหนดจิตลงต่ำแล้วอธิฐานว่าขอภาพนี้จงหายไป ภาพนรก
จงปรากฏขึ้นมาแทน เท่านี้ภาพนรกก็จะปรากฏอยากดูสวรรค์กำหนดจิตให้สูงขึ้นแล้วคิดว่า
ขอภาพกสิณจงหายไป ภาพสวรรค์จงปรากฏแทน ภาพพรหมหรืออย่างอื่นก็ทำเหมือนกัน
ถ้าฝึกกสิณคล่องแล้วไม่มีอะไรอธิบายอีกเพราะภาพอื่นที่จะเห็นก็เพราะเห็นภาพกสิณก่อน
แล้วกำหนดจิตให้ภาพกสิณหายไปเอาภาพใหม่มาแทน การเห็นก็เห็นทางใจเช่นเดียวกับ
ภาพกสิณ แต่ชำนาญแล้วก็เห็นชัดเหมือนเห็นด้วยตาเล่นให้คล่องจนพอคิดว่าจะรู้ก็รู้ได้
ทันทีทันใดไม่ว่าตื่นนอนใหม่ กำลังง่วงจะนอน ร้อน หนาว ปวดเมื่อย หิว เจ็บไข้ได้ป่วย
ทำได้ทุกเวลา อย่างนี้ก็ชื่อว่าท่านได้กสิณกองนี้แล้วและได้ทิพยจักษุญาณแล้ว เมื่อได้
ทิพยจักษุญาณ เสียอย่างเดียวญาณต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ก็ไม่มีอะไรจะต้องทำได้
ไปพร้อมๆ กัน เว้นไว้แต่ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ท่านว่าต้องมีแบบฝึกต่างหาก แต่ตาม
ผลปฏิบัติพอได้ทิพยจักษุญาณเต็มขนาดแล้ว ก็เห็นระลึกชาติได้กันเป็นแถว ใครจะระลึก
ได้มากได้น้อยเป็นเรื่องของความขยันและขี้เกียจ ใครขยันมากก็ระลึกได้มากขยันน้อย
ก็ระลึกได้น้อยขยันมากคล่องมาก ขยันน้อยคล่องน้อย ไหน ๆ ก็พูดมาถึงปุพเพนิวาสา-
นุสสติญาณแล้วขอนำวิธีฝึกปุพเพนิวาสานุสสติญาณมากล่าวต่อกันไว้เสียเลย
ฝึกปุพเพนิวาสานุสสติญาณ การเจริญปุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือฝึก
วิชาการ ระลึกชาตินั้น ท่านให้ทำดังต่อไปนี้ ท่านให้เข้าฌาน ๔ ในกสิณ
อย่างใดอย่างหนึ่งต้องเป็นฌานในกสิณอย่างอื่นไม่ได้ นี่ว่าเฉพาะคนเริ่มฝึกใหม่
ไม่เคยได้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณมาในชาติก่อนๆ เมื่อเข้าฌาน ๔ แล้ว ออกจากฌาน ๔
มาพักอารมณ์อยู่เพียงอุปจารฌาน เรื่องฌานและอุปจารฌานนี้ ขอให้ทำความเข้าใจเอา
ตอนที่ว่าด้วยฌานจะเขียนต่อไปข้างหน้า หากประสงค์จะทราบก็ขอให้เปิดต่อไปในข้อที่ว่า
ด้วยฌาน เมื่อพักจิตอยู่เพียงอุปจารฌานแล้วก็ค่อยๆ คิดย้อนถอยหลังถึงเหตุการณ์ที่ล่วง
มาแล้วในอดีตตั้งแต่เมื่อตอนสายของวัน ถอยไปตามลำดับถึงวันก่อนๆ เดือนก่อนๆ ปี
ก่อนๆ และชาติก่อนๆ ตามลำดับ ถ้าจิตฟุ้งซ่านก็พักคิดเข้าฌานใหม่ พอจิตสบายก็ถอย
ออกมาแล้วถอยไปตามที่กล่าวแล้ว ไม่นานก็จะค่อยๆ รู้ค่อยๆเห็น การรู้การเห็นเป็นการ
รู้เห็นด้วยกำลังฌานอันปรากฏเป็นรูปของฌานคือรู้เห็นทางใจอย่างเดียวกับทิพยจักษุญาณ
เห็นคล้ายดูภาพยนต์เห็นภาพพร้อมกับรู้เรื่องราวต่างๆ พร้อมกันไปรู้ชื่อ รู้อาการรู้ความ
เป็นมาทุกอย่างเป็นการสร้างความเพลิดเพลินแก่นักปฏิบัติ ทำให้เกิดความรื่นเริงหรรษา
มีความสบายใจเป็นพิเศษ ดีกว่ามั่วสุมกับคนมากที่เต็มไปด้วยกิเลสและตัณหามีประโยชน์
ในการเจริญวิปัสสนาญาณมากเพราะรู้แจ้งเห็นจริงว่า การเกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิดหา
ที่สุดมิได้นี้เป็นความจริง การเกิดแต่ละครั้งก็เต็มไปด้วยความทุกข์ทุรนทุรายไม่มีอะไร
เป็นสุขบางคราวเกิดในตระกูลยากจนบางคราวเกิดในตระกูลเศรษฐีบางคราวเกิดในตระกูล
กษัตริย์ทรงอำนาจวาสนาบางคราวเป็น เทวดาบางคราวเป็นพรหม บางคราวเป็นสัตว์นรก
เป็นเปรต เป็นอสุรกาย สัตว์เดียรัจฉาน รวมความว่าเราเป็นมาแล้วทุกอย่าง ไม่ว่าเกิดเป็น
อะไรก็เต็มไปด้วยความทุกข์ หาการพ้นทุกข์เพราะการเกิดไม่ได้เลยเมื่อเห็นทุกข์ในการ
เกิดก็เป็นการเห็นอริยสัจ ๔ จัดว่าเป็นองค์วิปัสสนาญาณอันดับสูง การเห็นด้วยปัญญาญาณ
จัดเข้าในประเภทรู้แจ้งเห็นจริงไม่ใช่เห็นแบบวิปัสสนึก คือการคาดคะเนเดาเอาเองเดาผิด
บ้างถูกบ้างตามอารมณ์คิดได้บ้างหลง ๆ ลืมๆ บ้าง เป็นวิปัสสนึกที่ให้ผลช้าอาจจะเข้าใจ
ในอริยสัจได้แต่ก็นานมากและทุลักทุเลเกินสมควร ที่เหลวเสียนั่นแหละมากส่วนที่ได้เป็น
มรรคผลมีจำนวนน้อยเต็มทน
ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ผ่อนคลายมานะ นอกจากจะทราบประวัติของตนเอง
ในอดีตชาติแล้ว ยังช่วยทำให้มีปัญญาญาณรู้แจ้งเห็นจริงในอริยสัจได้โดยง่าย ยิ่งกว่านั้น
ยังคลายมานะ ความถือตนถือตัว อันเป็นกิเลสตัวสำคัญ ที่แม้พระอนาคามีก็ยังตัดไม่ได้
จะตัดได้ก็ต่อเมื่อถึงอรหัตตผลนั่นแหละ แต่เมื่อท่านได้ญาณนี้แล้ว ถ้าท่านคิดรังเกียจใคร
คนหรือสัตว์ รังเกียจในความโสโครก หรือฐานะ ชาติตระกูล ท่านก็ถอยหลังชาติเข้าไปหา
ว่า ชาติใด เราเคยเป็นอย่างนี้บ้าง ท่านจะพบว่าท่านเองเคยครองตำแหน่งนี้มาก่อน เมื่อ
พบแล้ว จงเตือนใจตนเองว่า เมื่อเราเป็นอย่างเขามาก่อน เขากับเราก็มีสภาพเสมอกัน
เราเป็นอย่างนั้นมาก่อน เขากับเรามีสภาพเสมอกัน เราเป็นอย่างนั้นมาก่อนเขาก็ชื่อว่า
เราเป็นต้นตระกูล สภาพการณ์อย่างนั้น ที่เขาเป็นอย่างนั้น เพราะเขารับมรดกตกทอด
มาจากเราเราจะมารังเกียจทายาทของเราด้วยเรื่องอะไร ถ้าเรารังเกียจทายาทก็ควรจะ
รังเกียจตัวเองให้มากกว่าเพราะทราบแล้วว่าเป็นอย่างนั้นไม่ดี เป็นที่น่ารังเกียจเราทำไม
จึงไม่ทำลายกรรมนั้นเสียกลับปล่อยให้เป็นมรดกตกทอดมาให้บรรดาอนุชนรุ่นหลังต้อง
รับกรรมต่อ ๆ กันมา เป็นความชั่วร้ายเลวทรามของเราต่างหาก ไม่ใช่เขาเลว คิดตัดใจ
ว่าเราจะไม่ถือเพศชาติตระกูล ฐานะเป็นสำคัญ ใครเป็นอย่างไรก็มีสภาพเสมอกันโดย
เกิดแล้วตายเหมือนกันหมด ฐานะความเป็นอยู่ ชาติ ตระกูล ในปัจจุบัน เป็นเสมือนความ
ฝันเลื่อนลอยไม่มีอะไรเป็นของจริง ในที่สุดก็ต้องตกเป็นเหยื่อของมัจจุราชทั้งสิ้น คิดตัด
อย่างนี้ จะบรรเทามานะความถือทะนงตัวเสียได้ ความสุขสงบใจก็จะมีตลอดวันคืนจะ
ก้าวสู่อรหัตตผลได้อย่างไม่ยากนัก
มโนมยิทธิ (1/0)
คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน ----> หน้า 4
มโนมยิทธิ มโนมยิทธิแปลว่า มีฤทธิ์ทางใจ ในที่นี้ท่านหมายเอาการถอดจิตออกจาก
ร่าง แล้วท่องเที่ยวไปในภพต่างๆ ความจริงมโนมยิทธินี้ ท่านจัดไว้ในส่วนอภิญญา แต่เพราะ
ท่านที่ทรงวิชชาสาม ก็สามารถจะทำได้ จึงขอนำมากล่าวไว้ในวิชชาสาม
เมื่อท่านทรงฌาน ๔ ได้ในกสิณอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ก็เป็นอันว่าท่านมีสิทธิ์ที่จะทรง
มโนมยิทธิได้ เช่นเดียวกับได้ทิพยจักษุญาณแล้ว ก็มีสิทธิ์ได้ญาณอีกเจ็ดอย่าง ได้ตามที่กล่าว
มาแล้วในข้อว่าด้วยทิพยจักษุญาณท่านประสงค์จะท่องเที่ยวไปในสถานที่ต่างๆ จะเป็นภพใด
ก็ตาม นรก สวรรค์พรหม นิพพาน ดินแดนในมนุษยโลกทุกหนทุกแห่งดาวพระอังคาร พระจันทร์
พระศุกร์ ไม่ว่าบ้านใครเมืองใคร เมืองฝรั่ง เมืองแขก เมืองเจ็ก เมืองญวน ท่านไปได้ทุกหน
ทุกแห่ง โดยไม่ต้องเสียเวลารอคอยใคร ไม่ต้องยืมจมูกคนขับเคลื่อน หรือเจ้านายเหนือหัวคน
ใดที่จะคอยกำหนดเวลาออกเวลาถึงให้ไม่ต้องเสียค่าพาหนะมากมายอะไร เพียงกินข้าวเสีย
ให้อิ่มเพียงอิ่มเดียว ซื้อตั๋วด้วยธูปสามดอก เทียนหนึ่งเล่ม ดอกไม้สามดอก ถ้าหาได้ หากหา
ไม่ได้ท่านก็ให้ไปฟรี ไม่ต้องเสียอะไร เพราะท่านเอาเฉพาะที่หาได้ ถ้าหาไม่ได้ ท่านอนุญาต
ใช้เวลาไม่ถึงนาทีก็ไปถึงจุดหมายปลายทางได้ จะเข้าบ้านสถานทำงาน ห้องนอนใครก็ตาม
เข้าได้ตามความประสงค์ ไม่ต้องขออนุญาตเจ้าของบ้าน สำรวจความลับได้ดีมากใครทำอะไร
ซุกซ่อนอะไรไว้ที่ไหนมีเมียน้อยเมียเก็บไว้ที่ไหน ก็สำรวจได้หมดไม่มีทางปกปิด วิธีทำเพื่อไป
ทำอย่างนี้
ท่านให้เข้าฌาน ๔ ทำจิตให้โปร่งสว่างไสวดีแล้วกำหนดจิตว่า ขอร่างกายนี้จงเป็นโพรง
ก็จะเห็นว่าร่างกายเป็นโพรงใหญ่ ต่อแต่นั้นกำหนดจิตว่า ขอร่างอีกร่างหนึ่งจงปรากฏขึ้นภาย
ในกายนี้กายอีกกายหนึ่งก็จะปรากฏขึ้น ต่อไปก็ค่อยบังคับกายนั้น ให้เคลื่อนไปตามส่วนต่างๆ
ของร่างกายแม้กระทั่งตับไตไส้ปอดลำไส้ทุกส่วน เส้นเลือดทุกเส้น ประสาททุกส่วน บังคับให้
กายนั้นเดินไปตรวจให้ถ้วนทั้งร่างกายจะเห็นว่าแม้เส้นเลือดฝอยเส้นเล็กๆ ร่างนั้นก็เดินไปได้
อย่างสบาย จะเห็นเส้นเลือดนั้นเป็นเสมือนถนนสายใหญ่ เดินได้สะดวก เห็นร่างกายนี้เป็นโพรง
ใหญ่คล้ายเรือหรือถ้ำขนาดใหญ่เมื่อท่องเที่ยวในร่างกายจนชำนาญแล้วขณะท่องเที่ยวในร่าง-
กาย อย่าหาความชำนาญอย่างเดียว ควรหาความรู้ไปด้วย รู้สภาพของอวัยวะ และรู้สภาพความ
สกปรกโสมมในร่างกาย จดจำสภาพเมื่อปกติไว้ พอป่วยไข้ไม่สบายตรวจร่างกายภายในได้ว่า
มีอะไรชำรุดหรือผิดปกติบ้าง เห็นแจ้งเห็นชัด เป็นแผลหรือชอกช้ำ รู้ชัดเจนไม่แพ้เอ็กซเรย์เลย
มีประโยชน์ในทางตรวจร่างกายด้วยเมื่อชำนาญการตรวจแล้ว ก็กำหนดจิตว่าจะไปที่ใดกำหนด
จิตว่าเราจะไปที่นั้น พุ่งกายออกไปก็จะถึงถิ่นที่ประสงค์ทันที ใช้เวลาไม่ถึงครึ่งวินาทีเมื่อถึงแล้ว
จิตจะบอกเองว่าสถานที่นั้นเป็นเมืองอะไร ใครบ้างที่พบ ไม่ต้องมีคนบอก เพราะสภาพของจิตที่
เป็นทิพย์ กิเลสไม่ได้หุ้มห่อไป จึงรู้อะไรได้ตามความเป็นจริงเสมอ โดยไม่ต้องอาศัยใครบอก
มโนมยิทธินี้ ควรสนใจทำให้คล่อง เพียงกำหนดจิตคิดว่า เราจะไปละ เพียงเท่านี้ก็ไปได้
ทันทีทำได้ทุกขณะ เวลาเดิน ยืน นอน นั่งในท่าปกติ ทำงาน กำลังพูด รับประทานอาหาร เวลา
ที่ควรฝึกให้ชำนาญมากก็คือ เวลาป่วย ขณะที่ร่างกายมีทุกขเวทนามาก ตอนนั้นสำคัญมาก ยก
จิตออกไปเสีย ปล่อยไว้แต่ร่างกายเวทนาจะได้ไม่รบกวน ที่ใดเป็นแดนใหม่ สวรรค์ หรือพรหม
ไปอยู่ประจำที่นั้นยามปกติควรไปอยู่พักอารมณ์เป็นประจำ ยามป่วยไปอยู่เป็นปกติหมายความ
ว่า บอกกับคนพยาบาลว่าเวลาเท่านั้นถึงเท่านั้น ฉันจะพักผ่อน อย่าให้ใครมากวน แล้วก็เข้า
ฌาน ๔ ไปสถานที่อยู่ตามกำลังกุศลที่ทำไว้ ถ้าได้วิมุตติญาณทัสสนะก็ไปนิพพานเลย นิพพาน
อยู่ที่ไหน ท่านที่ถึง วิมุตติญาณทัสสนะ เท่านั้นที่จะบอกได้ ท่านที่ยังไม่ถึงงงไปพลางก่อนขืน
บอกไปท่านก็ไม่เชื่อไม่บอกดีกว่าเอาไว้รู้เองเมื่อท่านถึงผู้เขียนก็งงเหมือนกันท่านว่ามาอย่างนี้
ก็เขียนตามท่านไปเมื่อได้แล้วถึงแล้วก็รู้เองผู้เขียนเองก็เหมือนกัน เขียนไปเขียนมาก็ชักอยาก
รู้นักว่านิพพานอยู่ที่ไหน ประโยชน์ของมโนมยิทธิได้กล่าวมาโดยย่อ พอสมควรแล้ว มโนมยิทธิ
ตามที่กล่าวมานี้เป็นแบบที่ใช้กันทั่วไป มีอีกแบบหนึ่ง เรียนมาจากท่านอาจารย์สุข บ้านคลอง
แพงพวย อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรีของท่านแปลกได้ผลเร็วเกินคาด แบบปกติที่กล่าว
มาแล้วนั้นกว่าจะชำนาญในกสิณก็เหงือกบวมมีมากรายที่ไม่ได้ปล่อยล่องลอยไปเลยคือเลิกเลย
มีมาก บางรายทำไม่สำเร็จเลยกลายเป็นศัตรูพระศาสนาไปไม่เชื่อผลปฏิบัติแถมค้านเอาเสียอีก
ด้วย น่าสงสารท่านเหล่านั้นแต่ก็ไม่รู้จะช่วยอย่างไรได้ พอได้ของท่านอาจารย์สุขมา ก็รู้สึกว่า
มโนมยิทธิเป็นของง่ายมาก หลายรายพอเริ่มฝึกก็ท่องเที่ยวได้เลย ไม่ข้ามวัน ที่ช้าหน่อยก็ไม่
กี่วันแต่ที่ไม่ได้เลยก็มี เป็นเพราะอะไร ไม่ขอวิจารณ์ บอกไว้แต่เพียงว่า ถ้ารู้จักคุมอารมณ์แล้ว
ไม่นานเลยไปได้และแจ่มใสดีกว่าวิธีปกติธรรมดา แบบของท่านมีดังนี้ใครอยากได้ก็ขอมอบ
ให้เลยใกล้ตายแล้วไม่หวง
มโนมยิทธิ แบบอาจารย์สุข (1/0)
คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน ----> หน้า 5
มโนมยิทธิ แบบอาจารย์สุข แบบนี้ใครเป็นคนคิดไม่ทราบ ท่านอาจารย์ก็บอกว่า
เรียนต่อกันมาหลายรุ่นแล้ว เดิมเป็นใครคิดไม่ทราบ แบบของท่านมีดังนี้
๑.ในระยะต้น ท่านเขียนหนังสือลงบนกระดาษที่พับเป็นสามเหลี่ยมเขียนว่า "นะมะ
พะทะ" สอนคาถาภาวนา ให้ศิษย์ภาวนาว่า "นะมะพะทะ" เหมือนหนังสือที่เขียนบนกระดาษ
แล้วให้ศิษย์เอากระดาษปิดหน้าจุดธูปสามดอกเสียบลงบนกระดาษ ศิษย์ภาวนาว่า นะมะพะทะ
ตลอดไปจนกว่าจะมีอาการสั่น อาจารย์หยิบกระดาษออก ถามศิษย์ว่าสว่างไหม ? ถ้าศิษย์
บอกว่ามืด ท่านก็เอากระดาษสะอาดมาจุดไฟ แกว่งที่หน้าศิษย์ใช้คาถาว่า " นะโมพุทธายะ
ขอแสงสว่างจงปรากฏแก่ศิษย์" ท่านแกว่งไฟประเดี๋ยวเดียวศิษย์ก็บอกว่าสว่างท่านถามว่า
จะไปสวรรค์หรือนรก ศิษย์บอกตามความพอใจสวรรค์หรือนรกก็ได้ตามต้องการ ท่านบอกว่า
ไปได้ เท่านั้นศิษย์ก็ไปได้ตามประสงค์ไปถึงไหนถามได้บอกมาเรื่อยๆ ว่า ถึงไหน พบใคร มี
รูปร่างอย่างไร แต่ห้ามถูกตัวลองไปสอบดูแล้ว เห็นเป็นของจริงให้ไปบ้านเมืองไหน ประเทศ
ไหนก็ได้บอกได้ถูกหมดแม้แต่สถานที่เธอไม่เคยไป เมื่อไปถึงแล้วถามว่ามีอะไรบ้างเธอตอบ
ถูกหมดบอกให้ไปต่างประเทศที่เคยรู้จักเธอไปถึงแล้วก็บอกถูก เป็นของแปลกมาก ได้ขอ
เรียนมาสอนศิษย์ได้ผลเกินคาด เป็นของเจริญศรัทธาดี และส่งเสริมศรัทธาผู้นั่งรับฟังด้วย
ตอนแรกจะมีอาการสั่น และออกท่าทางเมื่อจิตตกไป แต่พอสมาธิเข้าจุดอิ่มก็นั่งเงียบสงัด
แบบธรรมดาแต่แจ่มใสมาก รวดเร็วกว่าแบบธรรมดามาก
๒. กระดาษปิดหน้า ถ้าศิษย์คนใดท่องเที่ยวได้แล้ว ต่อไปไม่ต้องปิดอีกใช้เฉพาะ
เวลาที่ยังไปไม่ได้เท่านั้น
๓. เครื่องบูชาครูมี ดอกไม้สามดอก เอาสามสี เทียนหนักบาท ๑ เล่ม ธูปสามดอก
เงิน ๑ สลึง สามอย่างนี้ขาดไม่ได้ เงินต้องซื้อของถวายพระ เอาใช้เองไม่ได้
๔. ก่อนที่ศิษย์จะเริ่มภาวนา ครูต้องทำน้ำมนต์ก่อน น้ำมนต์ทำด้วย อิติปิโส ฯลฯ
ทั้งบทพรมศิษย์เมื่อเริ่มทำ และตอนเลิกทำ ท่านว่ากันอารมณ์ฟั่นเฟือนดีมาก
คนที่ทำเป็นใครก็ได้ บางรายเป็นคนทำงานหนัก พอทิ้งจอบเสียมก็มาทำเลย เห็น
ท่องเที่ยวกันได้ไปเป็นคณะก็ได้ เหมือนเที่ยวธรรมดา ออกมาแล้วพูดเหมือนกันหมด
น่าแปลก และน่าดีใจที่สมัยนี้ยังมีท่านผู้ทรงมโนมยิทธิอภิญญาอยู่ คิดว่าจะสูญไปเสียหมด
แล้ว
วิธีใช้ญาณต่าง ๆ (1/0)
คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน ----> หน้า 6
วิธีใช้ญาณต่าง ๆ เมื่อเจริญฌานในกสิณจนถึงอุปจารฌานแล้ว ก็เริ่มสร้าง
ทิพยจักษุญาณได้ เพราะทิพยจักษุญาณนั้น เริ่มมีผลตั้งแต่จิตเข้าสู่อุปจารฌาน
มีผลในการรู้บ้างพอสมควร เช่น รู้สวรรค์ นรก และเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้บ้างไม่ถึง
กับรู้ตาย รู้เกิด คือตายแล้วไปเกิดที่ใด ผู้ที่มาเกิดนั้น มาจากไหน รู้เหตุการณ์เพียง
ผิวเผินกว่านั้น เช่น รู้โรค ว่า เป็นโรคอะไร หายได้ด้วยวิธีใด คนนี้จะมีเคราะห์ดี
เคราะห์ร้ายประการใด รู้เหตุในอดีตและอนาคตได้บ้างพอสมควร รู้สวรรค์ นรกได้บ้าง
แต่ไม่แจ่มใสนัก พูดจากับเทวดาและพรหมได้บ้างคำสองคำ ภาพเทวดาและพรหม
ก็หายไป ภาพที่เห็นก็ไม่เห็นนานประเดี๋ยวก็หายไป จะเอาเรื่องราวที่เป็นการเป็นงาน
ที่ต้องใช้เวลานาน ๆ ก็ต้องกำหนดจิตกันบ่อยครั้ง ทั้งนี้เพราะ สมาธิเพียงอุปจาร-
สมาธิ ยังเป็นสมาธิที่ทรงกำลังให้สงบอยู่ได้ไม่นาน ถ้าเปรียบก็คงเหมือนเด็กเพิ่งสอน
เดิน ยืนไม่ได้นาน ยืนเดินได้ชั่วขณะก็ล้ม ต้องลุก ๆ เดิน ๆ อยู่อย่างนั้น กว่าจะเดินถึง
ที่หมายก็ต้องล้มลุกบ่อย ๆ ทิพยจักษุญาณระดับอุปจารฌานก็เหมือนอย่างนั้น การเห็น
ก็ไม่ชัดเจนแจ่มใส ยังเห็นไม่เต็มตัว เห็นบนไม่เห็นล่าง เห็นหน้าไม่เห็นขาอย่างนี้
เป็นต้น ต่อเมื่อได้สมาธิที่ค่อย ๆ ฝึกฝนไปนั้นเข้าถึงฌาน ๔ และเข้าฌานออกฌาน
ชำนิชำนาญดีแล้วความตั้งมั่นมีมากดำรงอยู่ได้นานตามความต้องการ ทิพยจักษุญาณ
ก็มีสภาพเข้าเกณฑ์สมบูรณ์ ใช้งานได้สะดวก เห็นภาพเต็ม พูดกันได้ตลอดเรื่อง
รู้ละเอียดจนถึงผลของการตาย การเกิด รู้เหตุรู้ผลครบถ้วน ตอนชำนาญในฌาน ๔ นี้
ท่านเรียกว่า จุตูปปาตญาณ ความจริงก็ทิพยจักษุญาณนั่นเอง แต่เป็น ทิพย-
จักษุญาณที่มีฌานเต็มขั้น ทิพยจักษุญาณขั้นฌานโลกีย์นี้ แม้จะเป็นญาณที่มีฌาน
เต็มขั้นก็ตาม การรู้การเห็นจะให้ชัดเจนแจ่มใสคล้ายกลางวันนั้นไม่ได้ อย่างดีก็มอง
เห็นได้มัว ๆ คล้ายเห็นภาพเวลาพระอาทิตย์ลับแล้วเป็นเวลาใกล้ค่ำ เห็นภาพดำ ๆ
พอรู้ได้ว่าอะไรเป็นอะไร จะเห็นชัดเจนตามสมควรได้ต่อเมื่อเข้าถึงความเป็น
พระอรหันต์ ท่านเปรียบการเห็นด้วยอำนาจทิพยจักษุญาณนั้นไว้ดังนี้
๑. พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นได้คล้ายดูภาพในเวลากลางวัน ที่มีอากาศ
แจ่มใส
๒. พระปัจเจกพุทธเจ้า เห็นได้คล้ายกลางคืน ที่มีพระจันทร์เต็มดวง ไม่มี
เมฆหมอกปิดบัง
๓. พระอัครสาวกซ้ายขวา เห็นได้คล้ายคนจุดคบเพลิง
๔. พระสาวกปกติ เห็นได้คล้ายตนจุดประทีป คือตะเกียงดวงใหญ่ที่มีแสง
น้อยกว่าคบเพลิง
๕. พระอริยะเบื้องต่ำกว่าพระอรหันต์ มีการเห็นได้คล้ายแสงสว่างจาก
แสงเทียน
๖. ท่านที่ได้ฌานโลีย์ เห็นได้คล้ายแสงสลัวในเวลาพระอาทิตย์ลับขอบฟ้า
ระดับการเห็นไม่สม่ำเสมอกันอย่างนี้ เพราะอาศัยความหมดจดและกำลัง
บารมีไม่เสมอกัน นำมากล่าวไว้เพื่อทราบ เมื่อท่านได้และถึงแล้ว จะได้ไม่สงสัย มี
นักปฏิบัติส่วนใหญ่ที่ทำได้แล้ว และเกิดเห็นไม่ชัดได้มาถามบ่อย ๆ จึงเขียนไว้เพื่อรู้
การใช้ญาณ
ได้กล่าวแล้วว่า ญาณต่าง ๆ มีความสว่างตามกำลังของฌานหรือสมาธิ
ฉะนั้นเมื่อจะใช้ญาณให้เป็นประโยชน์ ก่อนอื่นถ้าได้ ทิพยจักษุญาณเบื้องต้นก็ต้อง
เพ่งรูปกสิณตามกำลังของสมาธิก่อน เพราะเห็นภาพกสิณชัดเจนเท่าใดภาพที่
ต้องการจะเห็นก็เห็นได้เท่าภาพกสิณที่เห็น เมื่อเพ่งภาพกสิณจนเป็นที่พอใจแล้วจึง
อธิษฐานให้ภาพกสิณหายไป ขอภาพที่ต้องการจงปรากฏแทน ภาพที่ต้องการก็จะ
ปรากฏแทนเห็นได้เท่าภาพกสิณ
ได้ฌาน ๔
การใช้ญาณเมื่อชำนาญในฌาน ๔ แล้ว ท่านให้เข้าฌาน ๔ ให้เต็มขนาด
ของฌานก่อน จนจิตสงัดเป็นอุเบกขาดีแล้ว ค่อย ๆ คลายจิตออกมาสู่อุปจารสมาธิ
แล้ว กำหนดจิตอธิษฐานว่า ขอภาพที่ต้องการจงปรากฏ แล้วเข้าฌาน ๔ ใหม่
ออกจากฌาน ๔ กำหนดรู้ ภาพที่ต้องการจะปรากฏแก่จิต คล้ายดูภาพยนต์พร้อมทั้ง
รู้เรื่องไปตลอด จะใช้ญาณอะไรก็ตาม ทำเหมือนกันหมดทุกญาณ จงพยายามฝึกฝน
ให้คล่องแคล่วว่องไว ต้องการเมื่อไรรู้ได้ทันที การรู้จะคล่องหรือฝืดขึ้นอยู่กับฌานถ้า
เข้าฌานออกฌานคล่อง การกำหนดก็รู้ก็คล่อง ทั้งนี้ต้องหมั่นฝึกหมั่นเล่นทุกวัน วันละ
หลาย ๆ ครั้ง เล่นทั้งวันทั้งคืนยิ่งดี ความเพลิดเพลินจะเกิดมีขึ้นแก่อารมณ์ ความรู้
ความฉลาดจะปรากฏ ปัญญารู้แจ้งเห็นจริงในส่วนแห่งวิปัสสนาญาณจะเกิดขึ้นอย่าง
ง่ายดาย นิพพิทาญาณ ความเบื่อหน่ายในการเกิดจะปรากฏแก่จิตอย่างถอนไม่ออก
ความตั้งมั่นในอันที่จะไปสู่พระนิพพานจะเกิดแก่จิตอย่างชนิดไม่ต้องระวังว่า จิตจะ
คลายจากพระนิพพาน ผลของญาณแต่ละญาณที่จัดว่าเป็นคุณส่งเสริมให้เกิดปัญญา-
ญาณนั้น จะนำมากล่าวไว้โดยย่อพอเป็นแนวคิด
๑. จุตูปปาตญาณ
ญาณนี้เมื่อเล่นบ่อย ๆ ดูว่าสัตว์ที่เกิดนี้ มาจากไหน สัตว์ที่ตายไปแล้วไปเกิด
ที่ไหน รู้แล้วอาศัย ยถากัมมุตาญาณ สนับสนุนให้รู้ผลของกรรม ญาณนั้นใช้ใน
คราวเดียวกันได้คราวละหลาย ๆ ญาณ เพราะก็เป็นผลของ ทิพยจักษุญาณ
เหมือนกัน เมื่อรู้ว่าบางรายมาจากเทวดาบ้าง มาจากพรหมบ้าง มาจากอบายภูมิ
มี นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดียรัจฉานบ้าง สัตว์ที่ไปเกิดก็ทราบว่า ไปเกิดในแดน
มนุษย์บ้าง สวรรค์บ้าง พรหมบ้าง และเกิดในอบายภูมิบ้าง คนรวยเกิดเป็นคนจน
คนจนเกิดเป็นมหาเศรษฐี สัตว์เกิดเป็นมนุษย์ เพราะผลของกรรมดีและกรรมชั่ว
ที่สั่งสมไว้ เมื่อรู้เห็นความวนเวียนในความตาย ความเกิดที่เอาอะไรคงที่ไม่ได้อย่างนี้
มองเห็นโทษของสัตว์ที่เกิดในอบายภูมิ เห็นความสุขในสวรรค์และพรหม และ
เห็นความไม่แน่นอนในการเกิดเป็น เทวดาหรือพรหมที่ต้อง จุติคือตาย จากสภาพ
เดิมที่แสนสุข มาเกิดในมนุษย์หรืออบายภูมิ อันเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยความทุกข์
เพราะความไม่แน่นอนผลักดันเป็น ผลของอนัตตา ที่เป็นกฏประจำโลก ไม่มีใคร
จะทัดทานห้ามปรามได้ มองดูการ วนเวียนในการตายและเกิด ไม่มีอะไรสิ้นสุด
ในที่สุดก็มองเห็นทุกข์ เป็นการเห็นตามอริยสัจ มีความเบื่อหน่ายในการเกิด
เป็นนิพพิทาญาณในวิปัสสนาญาณ เป็นปัญญาที่เกิดจาก ญาณในสมถะ
คือ จุตูปปาตญาณ ญาณนี้ได้สร้าง ปัญญาในวิปัสสนาญาณ ให้เกิดขึ้นเพราะ
ผลของสมถะ คือ จุตูปปาตญาณ เพราะเหตุที่สาวหาต้นสายปลายเหตุจากการ
เกิดและการตายในที่สุด ก็เกิดการเบื่อหน่ายดังว่ามาแล้ว ถ้าปฏิบัติถึงแล้ว จงแสวง
หาความรู้จากความเกิดและความตายของตนเองและสัตว์โลกทั้งมวล ทุกวัน ทุกเวลา
จะเป็นครูสอนตนเองได้ดีที่สุด ผลดีจะมีเพียงใด ท่านจะทราบเองเมื่อปฏิบัติ
ถึงแล้ว
๒. เจโตปริยญาณและประโยชน์
เจโตปริยญาณ แปลว่า รู้ใจคน คือ รู้อารมณ์จิตใจคนและสัตว์ว่าขณะนี้
เขามีอารมณ์จิตเป็นอย่างไร มีความสุขหรือทุกข์ หรือมีอารมณ์ผ่องใส เพราะไม่มี
อะไรมารบกวนจิตใจให้ขุ่นมัวที่เรียกว่า อุเบกขารมณ์ คือ อารมณ์เฉย ๆ ไม่มีสุข
และทุกข์เจือปน รู้จิตของผู้นั้น แม้แต่จิตของเราเองว่า มีกิเลสอะไรเป็นกิเลสนำ
คือมีอะไรกล้า ในขณะนี้จิตของผู้นั้นเป็นจิตประกอบด้วย กุศล หรือ อกุศล เป็นจิต
ของท่านผู้ทรงฌาน หรือ เป็นจิตประกอบด้วยนิวรณ์รบกวน เป็นพระอริยะ
ชั้นใด การจะรู้จิตของท่านผู้ใดว่ามีอารมณ์จิตของผู้ทรงฌานหรือเป็นพระอริยะ
อันดับใดนั้น เราเองต้องเป็นผู้ทรงฌานระดับเดียวกันหรือสูงกว่า การจะรู้ว่าท่าน
ผู้นั้นเป็นพระอริยเจ้าหรือไม่และระดับใด เราก็ต้องเป็นพระอริยะด้วย และมีระดับ
เท่าหรือสูงกว่า ท่านที่มีฌานต่ำกว่าจะรู้ระดับฌานของท่านผู้ได้ฌานสูงกว่า
ไม่ได้ ท่านที่ไม่ได้ทรงความเป็นอริยะ จะรู้คุณสมบัติทางจิตของพระอริยะไม่ได้
ท่านที่เป็นพระอริยะต่ำกว่าจะรู้ความเป็นพระอริยะสูงกว่าไม่ได้ กฏนี้
เป็นกฏตายตัว ควรจดจำไว้ อย่าพยากรณ์บุคคลผู้ทรงคุณสูงกว่าถ้า
ไม่ได้อะไรเลย ก็จงอย่ากล้าพยากรณ์ผู้อื่น เพราะพยากรณ์พลาดจาก
ความเป็นจริงมีโทษหนักในทางปฏิบัติ เพราะเราจะกลายเป็นโมฆโยคี
ไป คือประกอบความเพียรด้วยการไร้ผล ในฐานะที่อาจเอื้อมยกตน
เหมือนพระอริยะเป็นกรรมหนักมากควรละเว้นเด็ดขาด
สีของจิต
สีของจิตนี้ ในที่บางแห่งท่านเรียกว่า" น้ำเลี้ยงของจิต" ปรากฏเป็นสีออกมา
โดยอาศัยอารมณ์ของจิตเป็นตัวเหตุ สีนั้นบอกถึงจิตเป็นสุข เป็นทุกข์ อารมณ์ขัดข้อง
ขุ่นมัว หรือ ผ่องใส ท่านโบราณาจารย์ ท่านกล่าวไว้ดังนี้
๑. จิตที่มีความยินดี ด้วยการหวังผลอย่างใดอย่างหนึ่ง กระแสจิตมีสีแดง
ปรากฏ
๒. จิตที่มีอารมณ์โกรธ หรือมีความอาฆาตจองล้างจองผลาญ กระแสจิต
มีสีดำ
๓. จิตที่มีความผูกพันด้วยความลุ่มหลง เสียดายห่วงใยในทรัพย์สิน และ
สิ่งที่มีชีวิต กระแสจิตมี สีคล้ายน้ำล้างเนื้อ
๔. จิตที่มีกังวล ตัดสินใจอะไรไม่ได้เด็ดขาด มีความวิตกกังวลอยู่เสมอกระแส
จิตมีสีเหมือน น้ำต้มถั่ว หรือ น้ำซาวข้าว
๕. จิตที่มีอารมณ์น้อมไปในความเชื่อง่าย ใครแนะนำอะไรก็เชื่อ โดย
ไม่ใคร่จะตริตรอง ทบทวน หาเหตุผลว่า ควรหรือไม่เพียงใด คนประเภทนี้เป็นประเภท
ที่ถูกต้มถูกตุ๋นเสมอ ๆ จิตของคนประเภทนี้ กระแสมีสีเหมือนดอกกรรณิการ์
คือ สีขาว
๖. คนที่มีความเฉลียวฉลาด รู้เท่าทันเหตุการณ์เสมอ เข้าใจอะไรก็ง่าย
เล่าเรียนก็เก่ง จดจำได้ดี ปฏิภาณไหวพริบก็ว่องไว คนประเภทนี้ กระแสจิตมีสีผ่อง
ใสคล้ายแก้วประกายพรึก หรือ ในบางแห่งท่านว่า คล้ายน้ำที่ปรากฏกลิ้งอยู่ใน
ใบบัว คือ มีสีใสคล้ายเพชร
สีของจิตโดยย่อ
เพื่อประโยชน์ในการสังเกตง่าย ๆ แบ่งสีของจิตออกเป็นสามอย่าง คือ
๑. จิตมีความดีใจ เพราะผลอย่างใดอย่างหนึ่ง กระแสจิตมีสีแดง
๒. จิตมีทุกข์ เพราะความปรารถนาไม่สมหวัง กระแสจิตมีสีดำ
๓. จิตบริสุทธิ์ผ่องใสไม่มีกังวล คือสุขไม่กวน ทุกข์ไม่เบียดเบียน จิตมี
สีผ่องใส
กายในกาย
เมื่อรู้ลักษณะของจิตแล้ว ก็ควรรู้ลักษณะของกายในไว้เสียด้วย ใน
มหาสติปัฏฐานสูตร พระพุทธเจ้าตรัสถึงกายในกายไว้ สำหรับนักปฏิบัติ
ขั้นต้นก็คือ เอาอวัยวะภายใน เป็น กายในกาย
ส่วนท่านที่ได้ จุตูปปาตญาณแล้ว ก็ถือเอา กายที่ซ้อนกาย อยู่นี้เป็น กาย
ในกาย
กายในกายนี้มีได้อย่างไร ขอตอบว่า เป็นกายประเภท อทิสมานกาย คือ
ดูด้วยตาเนื้อไม่เห็น ต้องดูด้วยญาณจึงเห็น ตามปกติกายในกาย หรือกายซ้อน
กายนี้ก็ ปรากฏตัวให้เจ้าของกายรู้อยู่เสมอในเวลาหลับ ในขณะหลับนั้น ฝันว่า
ไปไหน ทำอะไร ที่อื่น จากสถานที่เรานอนอยู่ ตอนนั้นเราว่าเราไป และทำอะไรต่อ
อะไรอยู่ ความจริงเรานอน และเมื่อไปก็ไปจริง จำเรื่องราวที่ไปทำได้ บางคราวฝันว่า
หนีอะไรมา พอตื่นขึ้นก็เหนื่อยเกือบตาย กายนั้นแหละที่เป็นกายซ้อนกาย
หรือ กายในกาย ตามที่ท่านกล่าวไว้ ในมหาสติปัฏฐาน ตามที่ นักเจโตปริยญาณ
ต้องการรู้
กายใน (1/0)
คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน ----> หน้า 7
กายในกายนี้แบ่งออกเป็น ๕ ขั้น คือ
๑. กายอบายภูมิ มีรูปร่างลักษณะ คล้ายกับคนขอทานที่มีแต่กายเศร้าหมองอิดโรย
หน้าตาซูบซีดไม่ผ่องใส พวกนี้ตายแล้วไปอบายภูมิ
๒. กายมนุษย์ มีรูปร่างลักษณะค่อนข้างผ่องใส เป็นมนุษย์เต็มอัตรา กายมนุษย์นี้
ต่างกันบ้างที่มีส่วนสัดผิวพรรณ ขาวดำ สวยสดงดงามไม่เสมอกัน แต่ลักษณะก็บอกความ
เป็นมนุษย์ชัดเจนพวกนี้ตายแล้วไปเกิดเป็นมนุษย์อีก
๓. กายทิพย์ คือกายเทวดาชั้นกามาวจร มีลักษณะผ่องใส ละเอียดอ่อน ถ้าเป็นเทพ
ชั้นอากาศเทวดา หรือรุกขเทวดาขึ้นไป ก็จะเห็นสวมมงกุฎแพรวพราว เครื่องประดับสวย
สดงดงามมาก ท่านพวกนี้ตายแล้วไปเกิดเป็นเทวดาชั้นกามาวจรสวรรค์
๔. กายพรหม มีลักษณะคล้ายเทวดา แต่ผิวกายละเอียดกว่า ใสคล้ายแก้ว มีเครื่อง
ประดับสีทองล้วน แลดูเหลืองแพรวพราวไปหมด ตลอดจนมงกุฎที่สวมใส่ ท่านพวกนี้ตาย
ไปแล้วไปเกิดเป็นพรหม
๕. กายแก้ว หรือกายธรรม ที่เรียกว่าธรรมกาย ก็เรียก กายของท่านประเภทนี้
เป็นกายของพระอรหันต์ จะเห็นเป็นประกายพรึกทั้งองค์ ใสสะอาดยิ่งกว่ากายพรหมและ
เป็นประกายทั้งองค์ ท่านพวกนี้ตายแล้วไปนิพพาน การที่จะรู้กายพระอรหันต์ได้ต้องเป็น
พระอรหันต์ เองด้วย มิฉะนั้นจะดูท่านไม่รู้เลย
ตามที่กล่าวมา ตั้งแต่ข้อหนึ่งถึงข้อสี่นั้น กล่าวว่า ท่านพวกนั้นตายแล้วไปเกิดที่นั้นๆ
หมายถึงว่าท่านพวกนั้นไม่สร้างกรรมดีหรือกรรมชั่วที่มีกำลังแรงกว่าที่เห็น พวกไปสร้าง
กรรมดีหรือกรรมชั่วที่แรงกว่า ก็ย่อมไปเสวยผลตามกรรมที่ให้ผลแรงกว่า
เจโตปริยญาณมีผลตามที่กล่าวมาแล้ว การรู้อารมณ์จิตนั้นมีประโยชน์มาก
โดยเฉพาะก็คือ การรู้อารมณ์จิตของตนเองนั่นแหละสำคัญมาก จะได้คอยสกัดกั้นอารมณ์
ชั่วร้ายที่เป็นกิเลสและอุปกิเลสไม่ให้มาพัวพันกับจิต ด้วยการคอยตรวจสอบกระแสจิตดูว่า
ขณะนี้จิตเราจะมีสีอะไรควรรังเกียจสีทุกประเภท อย่าให้สีทุกอย่างแม้แต่นิดหนึ่งปรากฏ
แก่จิต เพราะสีทุกอย่างที่ปรากฏนั้น เป็นอาการของกิเลสทั้งสิ้น สีที่ต้องการและสนใจเป็น
พิเศษก็คือ สีใสคล้ายแก้วควรแสวงหาให้มีประจำจิตเป็นอันดับแรกต้องเป็นแก้วทั้งแท่ง
อย่าให้มีแกนที่เป็นสีปนแม้แต่นิดหนึ่ง สีที่เป็นแก้วนี้ เป็นอาการของจิตที่ทรงฌาน ๔ ท่าน
ผู้ทรงฌานหนึ่งหรือที่เรียกว่า ปฐมฌาน จะมีกระแสจิตเหมือนเนื้อที่ถูกแก้วบางๆ เคลือบ
ไว้ภายนอก ท่านที่ทรงฌานสองหรือที่เรียกว่าทุติยฌานมีเสมือนแก้วเคลือบหนาลงไปครึ่ง
หนึ่ง ท่านที่ทรงฌานสาม หรือที่เรียกว่าตติยฌาน มีภาพเหมือนแก้วเคลือบหนามาก เห็น
แกนในสั้นไม่เต็มดวง และเป็นแกนนิดหน่อย ท่านที่ทรงฌานสี่ หรือที่เรียกว่า จตุตถฌาน
กระแสจิตจะดูเป็นแก้วทั้งดวง เป็นเสมือนก้อนแก้วลอยอยู่ในอก
จิตของพระอริยะ
๑. ท่านที่มีอารมณ์วิปัสสนาญาณเล็กน้อย เรียกว่าได้เจริญวิปัสสนาญาณพอมีผลบ้าง
จะเห็นจิตเริ่มมีประกายออกเล็กน้อย เป็นลักษณะบอกชัดว่า ท่านผู้นั้นได้เจริญวิปัสสนาญาณ
ได้ผลบ้างแล้ว
๒. พระโสดาบัน กระแสจิตจะเกิดเป็นประกายคลุมจิตเข้ามา ประมาณหนึ่งในสี่
๓. พระสกิทาคามี กระแสจิตจะมีประกายออกประมาณครึ่งหนึ่ง
๔. พระอนาคามี กระแสจิตจะเป็นประกายเกือบหมดดวงจะเหลือส่วนที่ไม่เป็น
ประกายนิดหน่อย
๕. ท่านได้บรรลุอรหันต์กระแสจิตจะเป็นประกายหมดทั้งดวง คล้ายดาวประกายพรึก
ลอยอยู่ในอก กระแสจิตที่เป็นประกายทั้งดวงนี้ ควรเป็นกระแสจิตที่นักปฏิบัติสนใจและ
พยายามแสวงหามาให้ได้ ถึงแม้ว่าจะต้องเสียชีวิต เพราะได้มาซึ่งกระแสจิตผ่องใสเป็น
ประกาย แล้วก็ควรเอาชีวิตเข้าแลกประกายจิตไว้ เพราะถ้าได้จิตเป็นประกายก็จะหมด
ทุกข์ สิ้นกรรมกันเสียที มีพระนิพพานเป็นที่ไป จะพบแต่สุขอย่างประเสริฐ ไม่มีทุกข์
ภัยเจือปนเลย
ท่านที่ได้เจโตปริยญาณ มีผลเพื่อเสริมสร้างความบริสุทธิ์ผุดผ่องของจิตอย่างนี้
และสามารถควบคุมจิตให้สะอาดผ่องใส ปราศจากละอองธุลี อันเป็นผลของกิเลสตลอดเวลา
รวมทั้งรู้อารมณ์จิตของผู้อื่นด้วย การรู้อารมณ์จิตของท่านผู้อื่นก็มีประโยชน์มาก เพราะถ้า
รู้ว่าท่านผู้ใดทรงคุณธรรมสูงกว่า เพราะกระแสจิตผ่องใสกว่า จนพยากรณ์ไม่ได้ แสดงว่า
สูงกว่าเราด้วยคุณธรรมแน่แล้ว ก็ควรรีบเข้าไปกราบไหว้ท่าน ขอให้ท่านเป็นครูบาอาจารย์
สั่งสอนเพื่อผลต่อไป ถ้าเห็นว่าด้อยกว่า ก็ควรคิดให้อภัยเมื่อผู้นั้นล่วงเกิน หรือพลั้งพลาด
ถ้าเป็นครูสอนสมณธรรมก็ได้ประโยชน์มาก จะได้ให้กรรมฐานที่พอเหมาะพอดีแก่อัชฌาสัย
และจริตศิษย์ จะได้ผลว่องไวในการปฏิบัติ
สำหรับทราบกายในกายก็เหมือนกัน กายคือจิต จิตก็คือกาย เพราะเวลาถอดกายใน
ออกก็มีสภาพเป็นกาย ไม่ใช่เป็นก้อนเป็นแท่งตามที่คนทั่วไปคิด เมื่อถอดกายในกายออก
กายในจะปรากฏตามบุญญาธิการที่สั่งสมอบรมไว้ ถ้าบุญมีผลเพียงเทวดา กายในกายก็
จะมีรูปเป็นเทวดา เมื่อออกจากร่างนี้ไปสู่ภพอื่น ถ้ามีฌาน ร่างกายในก็จะปรากฏเป็น
พรหม ถ้าหมดกิเลส กายในกายก็จะสดสะอาด มีประกายออก ร่างใสคล้ายแก้วสุกสว่าง
มีแสงสว่างมากร่างอย่างนี้จะปรากฏเมื่อถอดกายในกายออกท่องเที่ยว
เจโตปริยญาณนี้ นอกจากจะรู้ความรู้สึกนึกคิดของตนและสัตว์แล้ว ก็ยังรู้ภาวะของ
จิตใจคนและสัตว์ที่มีบุญและบาปสั่งสมไว้มากน้อยเพียงใด ที่มีประโยชน์มากที่สุดก็คือ
รู้อารมณ์จิตของตนเองว่าขณะนี้เป็นจิตที่ประกอบด้วยกุศลหรืออกุศล จิตมีกิเลสอะไร
สั่งสมอยู่มากน้อยเพียงใด กิเลสที่สำคัญก็คือ กิเลสที่เป็น อนุสัย คือกิเลสที่มีกำลังน้อย
ไม่ค่อยจะแสดงอาการปรากฏชัดเจนนักแต่ก็ฟูขึ้นในบางขณะยามปกติก็มีอาการนิ่งสงบ
เช่น อารมณ์สมถะที่เป็นอุปกิเลสของวิปัสสนาญาณ อารมณ์ของสมถะนั้นจะแสดงอาการ
สงบแนบนิ่งมากจนความไหวทางจิตในเรื่องความใคร่ ความโกรธแค้นขุ่นเคืองความ
สั่งสมผูกพันไม่มีอาการปรากฏ จนเจ้าของเองคิดว่าเรานี่สำเร็จมรรคผลเสียแล้วหรือ
แต่พอนานๆ เข้าก็มีฟูขึ้นน้อยๆ เกิดขึ้นในยามสงัด คือไม่มีวัตถุเป็นเครื่องล่อ เช่น
ครุ่นคิดถึงความสวยสดงดงามของรูป ความไพเราะเพราะพริ้งจากเสียง ความหอมหวน
จากกลิ่นรสอันโอชะจากรสต่าง ๆ และความนิ่มนวลของสัมผัส อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้น
ในยามที่ว่างจากสิ่งเหล่านั้น แต่จิตคิดไปและจะระงับได้เพราะการพิจารณาในกรรมฐาน
ที่มีอาการตรงกันข้าม เช่นอสุภะเป็นต้น ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะกำลังฌานในสมถะ ก็มี
กำลังที่จะกดขี่กิเลสให้สงบระงับแนบสนิทได้ แต่มิใช่ว่าทำลายกิเลสให้สิ้นอำนาจเด็ดขาด
เป็นแต่ปรามให้สงบระงับไปได้ชั่วคราวเท่านั้น ในยามที่อำนาจสมถะปรามกิเลสให้สงบนี้
ท่านที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์จึงหลงผิด คิดว่าสำเร็จมรรคผลถ้าเราสำรวจตรวจจิตไว้เสมอ
ตลอดวันเวลาแล้วเราก็จะทราบชัดว่า จิตเราสะอาดจริง หรือยังมีสิ่งโสมมแปดเปื้อนอยู่
จะรู้ได้เพราะสีของจิต สีจะชัดหรือใสจางก็ตามและจะเป็นสีอะไรก็ตาม ขึ้นชื่อว่าสีจะเป็น
สีแดงสีดำ สีอย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม เว้นไว้แต่สีใสและสีประกายพรึกเต็มดวงของจิต
สีใสที่ไม่มีประกายหรือสีใสมีประกายไม่เต็ม ยังมีสีใสปกติปนอยู่ ก็จงเร่งตำหนิตนเอง
ได้แล้วว่า นี่เรายังคบความเลวไว้มากมาย เพราะสีใสชื่อว่าเป็นสีประเสริฐคือเป็นการ
แสดงออกของอุเบกขาจิตแต่ทว่าสีใสธรรมดาที่ไม่มีประกายนั้นเป็นสีใสของฌานโลกีย์
มีอันที่จะสลายตัวกลับมาเป็นสีขุ่นมัวคือสีแดง สีดำเต็มขนาดได้เพราะฌานโลกีย์ยัง
มีเสื่อม ยังจัดเป็นจิตเลวสำหรับนักปฏิบัติเพื่อมรรคผล ต่อเมื่อไรชำระจิตให้ใสสะอาด
เป็นปกติ และมีประกายเต็มดวงโดยที่ไม่ต้องคอยปรับปรุงแก้ไข มองดูด้วยญาณเมื่อไร
ก็เป็นประกายแพรวพราวถึงแม้จะประสบกับศัตรูเก่าที่เคยอาฆาตคุมแค้นกันมาแต่
ปางก่อนจะถูกเสียดสีถากถางด้วยวาจาปรามาสอย่างไรก็ตามจิตสงบระงับอำนาจโทสะ
ไม่ฟูออก จิตใจมีอาการปกติ สม่ำเสมอ ตรวจดูด้วยญาณ ตรวจขณะที่ถูกด่าก็พบว่าจิต
ใสประกายแพรวพราวแม้อารมณ์ราคะหรืออื่นใดก็ตามมายั่วเย้า จิตใจก็สดใสเป็นปกติ
อย่างนี้ใช้ได้ นักปฏิบัติเพื่อมรรคผลแต่ไม่ชมตัวเอง แต่ต้องคอยตำหนิตัวเองตลอด ๒๔
ชั่วโมง ตรวจจิตซ้ำๆ ซากๆ ตลอดวันเวลา อย่างนี้จึงจะสมควร และเป็นผู้ไม่ประมาท
เป็นนักปฏิบัติเพื่อมรรคผลจริง หากทำได้อย่างนี้ ท่านมีหวังถึงพระนิพพานในชาตินี้
เพราะอารมณ์จิตที่ผ่องใสเป็นประกายเต็มดวงนั้นเป็นจิตที่ชำระกิเลสไม่เหลือ เป็นจิต
ของพระอรหันต์เท่านั้น ท่านจึงยกย่องนักปฏิบัติที่ได้เจโตปริยญาณว่า เป็นผู้ใกล้ต่อ
พระนิพพานมากกว่าการได้ญาณ อย่างอื่นท่านที่กล่าวอย่างนี้ก็เพราะว่า ญาณนี้สามารถ
คอยชำระจิต คือตรวจสอบจิตของตนได้ตลอดเวลา แม้แต่อารมณ์กิเลสที่เป็นอนุสัยก็ยังรู้
ฉะนั้น นักปฏิบัติผู้หวังความพ้นทุกข์แก่ตนแล้วจงพยายามฝึกฝนตนให้ชำนาญในเจโต-
ปริยญาณนี้และเล่นให้คล่องแคล่วว่องไวจะได้ผลตามที่กล่าวมาแล้ว
ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ (1/0)
คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน ----> หน้า 8
๓. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
ญาณนี้ เป็นญาณระลึกชาติได้ คือถอยหลังชาติต่างๆ ที่เกิดมาแล้ว เป็นจำนวนหลาย
หมื่นหลายแสนชาติ ฝึกระลึกตามลำดับชาติตามลำดับ คือตั้งแต่ชาติที่หนึ่ง เป็นลำดับไปจนถึง
ชาติที่หมื่นแสน แล้วก็ย้อนจากชาติปลายสุดกลับมาหาชาติปัจจุบัน แล้วพยายามฝึกระลึกชาติ
สลับชาติคือคิดว่า จะระลึกชาติในระดับไหนก็ให้ได้โดยฉับพลันทำอย่างนี้ให้คล่องจะมีประโยชน์
มาก เพราะ
๑. จะกำจัดมานะทิฏฐิ ความถือตัวถือตนว่าเป็นผู้วิเศษเสียได้เป็นอย่างดี เพราะเมื่อ
พบสัตว์เดียรัจฉานเราก็เอาญาณนี้ช่วย โดยคิดว่าเราเคยเป็นสัตว์เดียรัจฉานอย่างนี้บ้างหรือ
ไม่ ? เราก็จะพบว่า สัตว์อย่างนี้เราเคยเป็น และอาจจะเคยเกิดเป็นสัตว์อย่างนี้มาแล้วตั้ง
หลายครั้งหลายหน เมื่อพบตัวเองว่าเคยเป็นสัตว์เราก็คิดค้นคว้าหากฎของความเป็นจริง
ต่อไปว่า สัตว์อย่างนี้ เราเคยเป็นมาก่อน บัดนี้เราเป็นมนุษย์ เขายังเป็นสัตว์เขาเอากำเนิด
มาจากไหน คิดทบทวนไปก็จะพบว่าเรานี้เองเป็นต้นตระกูลสัตว์ บัดนี้ได้มาเกิดเป็นมนุษย์
สัตว์นี้ก็ไม่ใช่ใคร คือทายาทของเราเองเราจะมารังเกียจทายาทของเราเพื่อประโยชน์
อะไร เรารังเกียจเขา เราควรรังเกียจเราเองดีกว่าเพราะเราเลวมาก่อน ถ้าเราไม่เลว
มาก่อน จนกระทั่งเป็นต้นตระกูลสัตว์แล้ว สัตว์พวกนี้ก็จะไม่มีในโลกนี่เราเลวมากจนลืม
ทายาทของตนเอง รังเกียจทายาทของตนเองพบคนที่น่ารังเกียจโดยสุขภาพทุพพลภาพ
ชาติ ตระกูล ก็จงระลึกชาติถอยไปหาสมัยเมื่อเราเคยเกิดเป็นอย่างนั้น
๒. ป้องกันความน้อยเนื้อต่ำใจ เพราะเห็นท่านที่มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่โดยฐานะ
หรือชาติตระกูล เมื่อเห็นเขาทรงอำนาจราชศักดิ์ เราก็ถอยไปหาชาติที่เคยดำรงความดำรง
ชีวิตอย่างนั้นเมื่อพบแล้ว ก็สอบต่อไปถึงความสุขความทุกข์ที่ได้รับผลในชาตินั้นๆ ตลอด
จนต้องพลัดพรากจากฐานะความเป็นอยู่ในสมัยที่ต้องตายจากอัตภาพนั้นๆ ก็จะเห็นว่า
ความเป็นผู้ทรงเกียรติทรงอำนาจมีเงินมีทองของให้มากๆ ไม่ได้ช่วยให้สิ้นทุกข์ ไม่มี
ทางจะกีดกันความป่วยไข้ไม่สบาย และห้ามความตายก็ไม่ได้ ต้องมีทุกข์มีความป่วยไข้
ไม่สบาย ต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจ ตายจากอัตภาพนั้นๆ ความจริงเป็น
อย่างนี้ เราจะทะเยอทะยานไปเพื่ออะไร ในเมื่อเรากับเขาก็ตายเหมือนกัน ก่อนตายก็
ต้องแก่ต้องป่วยไข้ ต้องประสบกับความกลัดกลุ้มขัดข้องเหมือนเรา เรามีฐานะน้อยก็มี
ห่วงกังวลน้อย คนที่มีฐานะใหญ่ ก็มีห่วงมีกังวลมาก เราสบายกว่าเพราะกังวลน้อยกว่า
ในเมื่อเกิดมาเพื่อตาย จะสะสมไปเพียงไหนให้หนัก เราพอใจในความเป็นอยู่ของเรา
เรามีเท่านี้พอแล้ว คนที่เขายากจนกว่าเราถมไป แต่ทว่าเราหรือใครก็ตามในโลกนี้ตาย
เหมือนกันหมด เราจะมัวมาหลงติดโลกามิสอยู่เพื่ออะไร เราเกิดมาก็มาก ตายมาก็
หลายครั้งหลายคราเกิดแต่ละคราวก็เต็มไปด้วยความทุกข์จะกินข้าวสักคำกินน้ำสักอึก
ก็ต้องฝ่าฟันอุปสรรคนานาประการ อาหารก่อนจะได้กินก็ต้องเหน็ดเหนื่อยเพราะการ
แสวงหาทรัพย์มาเป็นค่าอาหาร กว่าจะได้มาแต่ละบาทก็ต้องทรมานตน ทนหนาวทน
ร้อน คอยหลบหลีกอันตราย นี้เพียงค่าของอาหารมื้อเดียวทุกข์อย่างอื่นของมนุษย์ยังมี
อีกมาก คิดทบทวนถึงค่าเสื้อผ้า ค่าของใช้ ค่ายารักษาโรค รวมความแล้วโลกนี้เป็นโลก
ของความทุกข์ หาความสุขสดชื่นไม่ได้เลย เมื่อคำนึงถึงทุกข์ เพราะอาศัยญาณนี้เป็น
ตัวค้นคว้าอย่างนี้เป็นเหตุให้เห็นอริยสัจได้โดยง่ายเมื่อคนใดเห็นอริยสัจ คนนั้นก็เป็นคน
พ้นทุกข์ เพราะหมดกิเลส มีผลให้เข้าถึงพระนิพพานอย่างไม่ยากนัก
อตีตังสญาณ (1/0)
คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน ----> หน้า 9
๔. อตีตังสญาณ
อตีตังสญาณ ญาณนี้เป็นญาณรู้เรื่องในอดีต คือเหตุการณ์ที่ล่วงมาแล้วทั้งในชาติ
ปัจจุบันและหลายแสนหลายล้านชาติ อาการของญาณนี้ดูเป็นญาณที่มีสภาพเช่นเดียวกันกับ
ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ แต่ทว่าปุพเพนิวาสานุสสติญาณนั้น ท่านหมายเอาการรู้เรื่องหนหลัง
ของตนเอง อตีตังสญาณนี้ ท่านหมายเอาการรู้เรื่องหนหลังของคน สัตว์ และสิ่งของ สถานที่
ภายนอกตนออกไป สำหรับกฎการกระทำเพื่อรู้ ก็ไม่มีอะไรแตกต่างกัน เพียงแต่กำหนดจด
ถามในเรื่องของ คน สัตว์ สิ่งของ สถานที่นั้นๆ เท่านั้น การกำหนดรู้นั้นในขั้นแรกให้กำหนดจิต
เพื่อรู้ก่อน ถ้ากำหนดรู้ ยังรู้ไม่ชัดเจน ท่านให้กำหนดจิตถาม การกำหนดจิตเพื่อรู้และถามก็ทำ
ดังที่กล่าวมาแล้วคือ เข้าฌาน ๔ ออกจากฌาน ๔ มาหยุดอยู่เพียงอุปจารสมาธิ แล้วกำหนดรู้
หรือกำหนดถามแล้วเข้าฌาน ๔ ออกจากฌาน ๔ มาหยุดอยู่เพียงอุปจารฌาน เท่านี้ก็จะรู้เรื่อง
ละเอียด คือภาพในอดีตจะปรากฏแก่จิตคล้ายดูภาพยนต์ และรู้เรื่องไปตลอดเหมือนกับเราร่วม
ความเป็นไปกับภาพนั้น สร้างความเพลิดเพลินเจริญใจเป็นอันมาก พวกฤาษีมุนีไพร และท่านที่
ได้ฌานสมาบัติ จนได้ฌานต่างๆ ที่ท่านอยู่ป่าช้า ป่าใหญ่ ภูเขาถ้ำต่างๆ จัดว่าเป็นสิ่งที่สงัดเงียบ
ปราศจากผู้คนอยู่อาศัยท่านคิดว่า ท่านพวกนี้ท่านอยู่กันอย่างพระพุทธรูป คือหมดเรื่องรู้และการ
เพลิดเพลินต่าง ๆ นั้นตามที่คนส่วนมากเข้าใจกัน ความจริงเป็นความเข้าใจที่ผิดถนัดตามความ
จริงแล้วท่านเป็นผู้อยู่สงัดจริง แต่เป็นการสงัดจากสังคมที่เป็นบาป คือกลุ่มชนที่หนาด้วยกิเลส
และตัณหา แต่ทว่าท่านมีความเพลิดเพลินรื่นเริงในส่วนที่เป็นกุศล คือเพลิดเพลินในญาณเป็น
เครื่องรู้ ท่านสามารถสังคมกับเทวดาและพรหม สนทนาปราศรัยโดยธรรม มีความชื่นบานในการ
รู้เรื่องในอดีตและกาลต่อไปในอนาคตรู้ความเกิดขึ้นและความสูญสลายตน ของสรรพวัตถุและสิ่ง
ที่มีชีวิต เอาสิ่งเหล่านั้นมาเปรียบเทียบกับตน เพื่อความรู้แจ้งในอนัตตา เป็นการฝึกฝน
สั่งสมอารมณ์วิปัสสนาญาณให้แจ่มใส ตัดกังวลภายในและภายนอก คือตัดกังวลความห่วงใยใน
ร่างกายจนเกินพอดี รู้สภาพว่ากายนี้ต้องพังทลายแน่นอน และเห็นสภาพภายนอกที่เป็นสรรพวัตถุ
ที่จะต้องสลายตัวเช่นเดียวกัน ตัดความมัวเมาในตนและสรรพวัตถุภายนอกเสียได้โดยสิ้นเชิงมี
ความหวังในพระนิพพานได้อย่างแน่นอน ผลของอตีตังสญาณสร้างความเพลิดเพลินในการรู้เรื่อง
ราวในอดีต และสร้างพลังจิตให้เกิดปัญญาในส่วนวิปัสสนาญาณได้อย่างนี้ ฉะนั้น ท่านจึงนิยม
สร้างสมาธิให้ได้ฌาน ๔ และสร้างญาณให้เกิดแก่จิตเพื่อหวังในมรรคผลนิพพานเพราะการได้
ทิพยจักษุญาณแล้วถ้าปฏิบัติเพื่อมรรคผลนิพพานย่อมเป็นไปได้อย่างถูกต้อง ไม่หลงผิด ทั้งนี้ถ้า
คิดสงสัยในปฏิปทาของตนว่า จะผิดหรือถูกประการใดก็เข้าฌาน ออกฌานอธิษฐานถามได้ เป็น
การศึกษาโดยตรงจากท่านที่บรรลุแล้วเป็นแนวทางที่ถูกที่ตรงและไม่มีอะไรยากอย่างพวกเรา
สอนกันเองดังที่ท่านอาจารย์ท่านหนึ่งในจังหวัดพระนคร ในสมัยปัจจุบันนี้ท่านเคยพูดในสถานที่
อบรมนักปฏิบัติว่า การปฏิบัติสมณธรรม ต้องทำไปให้ถึงระดับ ได้อาจารย์ที่ไม่ใช่มนุษย์แล้วคอย
รับการสั่งสอนจากท่านนั้น ๆ เป็นการปฏิบัติกรรมฐานที่เข้าระดับกรรมฐานที่เอาตัวรอดได้ถ้า
นักปฏิบัติทั้งหลายยังคอยคำสอนของอาจารย์ที่เป็นมนุษย์ฝ่ายเดียว หรือแกะหนังสือดูตำราเป็น
สำคัญแล้วท่านนักปฏิบัติท่านนั้นยังเอาตัวไม่รอด ท่านพูดของท่านอย่างนี้ถูกขอท่านผู้อ่านฟังของ
ท่านไว้ แล้วสนใจปฏิบัติให้ได้ถึงจะทราบว่า คำพูดของท่านตรงต่อความเป็นจริงทุกประการ
การถาม
ท่านผู้อ่านอาจคิดว่าจะถามใคร ในขณะที่สงสัยในความเป็นอดีตของคน สัตว์ และสถานที่
การกำหนดถามนั้นก็ถามท่านผู้รู้เหตุ จะกำหนดเอาใครก็ได้ตามที่เราคิดว่าท่านจะรู้ แต่ตามที่
นักปฏิบัติส่วนใหญ่นิยมถามจะเป็นเรื่องใดก็ตาม ท่านนิยมถามพระพุทธบารมีของพระพุทธเจ้า
เพราะพวกเราเชื่อกันว่า การรู้ทั้งหมดและรู้ไม่ผิดพลาดนั้นมีพระพุทธเจ้าองค์เดียว ท่านอาจ
สงสัยต่อไปว่า ก็สมัยนี้พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วจะเอาพระพุทธเจ้าที่ไหนมาบอก? ข้อนี้ขอ
ตอบอย่างนักปฏิบัติว่า ท่านทำไปก่อน ทำให้ได้ทิพยจักษุญาณในระดับฌาน ๔ แล้วท่านจะรู้เอง
ว่าการถามพุทธบารมีนั้น ถ้าถามแล้วจะมีอะไรปรากฏขึ้น การที่ตอบอย่างนี้ไม่ใช่เป็นคำตอบที่
เล่นสำนวน เพราะการตอบให้เข้าใจในสิ่งที่คนถามยังไม่รู้ ไม่มีอะไรเป็นประโยชน์ ตอบไปก็
เหนื่อยเปล่า ในบทพระพุทธคุณตอนหนึ่งว่า พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า มีผลเป็น
ปัจจัตตัง คือผู้ปฏิบัติที่มีอารมณ์จิตเข้าถึงทิพยจักษุญาณแล้วจะรู้เอง ฉะนั้นถ้าจะ
นั่งพรรณนาให้คนที่ไม่มีญาณฟัง พูดไปก็เหนื่อยเปล่า มีผลไม่คุ้มเหนื่อยดีไม่ดีก็จะพลอยทำ
ให้อารมณ์เศร้าหมองขุ่นมัว ฉะนั้นใครอยากรู้ว่าพุทธบารมีเป็นอย่างไร ยังจะช่วยอะไรผู้ที่
ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบได้อยู่หรือประการใด ก็ขอให้พยายามประพฤติปฏิบัติในฌาน และสร้าง
ญาณให้บังเกิดแก่จิตก็จะทราบชัดแก่ตนเอง ถ้ายังขืนคิดว่าไม่ต้องทำฌานให้เกิดก็รู้ได้จาก
ตำราแล้ว ท่านก็เป็นคนที่น่าสงสารมาก เพราะท่านจะไม่มีโอกาสเป็นพุทธศาสนิกชนชนิด
เนื้อแท้จริงจังตามปากท่านพูดเลย วาจาที่ท่านกล่าวว่า ท่านเป็นพุทธศาสนิกนั้นอาจเป็น
วาจาที่พูดกันจนติดปากมากกว่า การพูดด้วยความจริงใจพูดกันตามภาษาไทยๆ ก็เรียกว่า
พูดส่งเดชไปตามเขาอย่างนั้นเอง
อธิษฐานไว้ก่อน
การอธิษฐานเพื่อรู้นี้ ส่วนใหญ่ของนักปฏิบัติที่ชำนาญในฌานและญาณการต้องการทราบ
เรื่องราวต่างๆ เช่น รู้การตายการเกิดของคนและสัตว์ รู้ผลกรรมของคนและสัตว์ รู้ชาติก่อนๆ
ของตนเอง รู้เรื่องอดีตและอนาคตปัจจุบันทั้งของตนและสิ่งภายนอกท่านนิยมอธิษฐานไว้ก่อน
คือ พอตื่นนอนจากการหลับเวลาเช้ามืด ท่านอธิษฐานจิตไว้ว่า เหตุใดที่เกี่ยวเนื่องแก่ข้าพเจ้า
แล้ว ขอข้าพเจ้าจงรู้เหตุนั้นได้โดยไม่ต้องกำหนดจิต นี่การอธิษฐานอย่างนี้ท่านนิยมทำไว้เสมอ
เมื่ออธิษฐานแล้วก็เข้าสมาบัติเต็มอัตรา สมาบัติที่ได้ ได้แค่ ๔ ก็เข้าเต็ม ๔ได้หมดทั้ง ๘ ก็เข้า
หมด ๘ ถ้าได้มรรคผล ก็เข้าผลสมาบัติตามผลการเข้าสมาบัติตอนเช้ามืดนี้ดีมากเพราะจะเป็น
การตอบสนองความดีของท่านพุทธศาสนิกชนที่สงเคราะห์ได้เป็นอย่างดี เพราะผลของสมาบัติ
ให้ผลมีกำลังสูงมาก ย่อมสามารถให้ผลเป็นความสุขแก่ท่านผู้สงเคราะห์ในชาติปัจจุบันการ
อธิษฐานไว้แล้วอย่างนั้น ถ้าเดินไปหรือสนทนาอยู่ ถ้าเหตุอะไรที่เนื่องกับตนพึงมีในขณะนั้นภาพ
นั้นก็จะปรากฏแก่ใจทันทีโดยที่ไม่ต้องเข้าฌานออกฌานตามระเบียบเป็นผลดีมากแก่นักปฏิบัติ
อนาคตังสญาณ และ ปัจจุปปันนังสญาณ (1/0)
คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน ----> หน้า 10
๕. อนาคตังสญาณ และ ๖. ปัจจุปปันนังสญาณ
ญาณทั้งสองนี้เอามาพูดควบกัน เพราะไม่มีอะไรจะพูดมากนัก ได้พูดมามากในญาณ
ต้นๆ แล้ว พูดมากไปก็รำคาญท่านผู้อ่านเปล่าๆ อนาคตังสญาณเป็นญาณรู้เรื่องในกาลต่อไป
ว่า คน สัตว์ สรรพวัตถุเหล่านี้ต่อไปจะเป็นอย่างไร รู้ได้ตามภาพที่ปรากฏ ถ้าภาพปรากฏไม่ชัด
ก็อธิษฐานถาม ก็จะรู้ชัดและไม่ผิด ส่วนใหญ่ท่านนักปฏิบัติระดับสูง ท่านอธิษฐานถามกันเป็น
สำคัญเพราะท่านทราบดีว่า ถ้าท่านกำหนดรู้เอง อาจถูกอุปาทานหลอกหลอนเอาได้ ท่านชำระ
จิตของท่านให้แจ่มใสแล้วท่านก็อธิษฐานถามจะได้รับความรู้อย่างถูกต้องไม่ผิดพลาด
สำหรับปัจจุปปันนังสญาณ เป็นญาณรู้เรื่องปัจจุบันว่า ขณะนี้ใครทำอะไรอยู่ มีสภาพ
เป็นอย่างไร อย่างนี้เป็นต้น เป็นการรู้ผลในขณะนั้น การถามหรือกำหนดรู้ก็เป็นไปเช่นเดียว
กับญาณอื่นๆ
ยถากัมมุตาญาณ (1/0)
คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน ----> หน้า 11
๗. ยถากัมมุตาญาณ
ญาณนี้เป็นชื่อของการรู้ผลกรรม คือรู้ว่าใครที่มีความสุขความทุกข์อยู่ในปัจจุบันนี้ เป็น
ผลกรรมอะไร ตั้งแต่ชาติใด จะแก้ไขได้หรือไม่ประการใด การแก้ไขนั้นต้องทำอย่างไร แก้ไข
แล้วจะมีผลเป็นอย่างไร ถ้าต้องการรู้ผลในชาติต่อไปก็ได้ ใช้อตีตังสญาณตรวจดูอดีต แม้อนาคต
ก็เช่นเดียวกัน ญาณนี้เป็นประโยชน์ในการรู้ผลกรรม มีประโยชน์แก่ตนเองดังนี้ เมื่อเห็นเขามี
ทุกข์ในการเกิด หรือ ทุกข์ที่ต้องเกิดในอบายภูมิเพราะผลกรรมอะไร จะได้ยับยั้งตนเองไม่ให้
สนใจในกรรมนั้น ถ้าเห็นท่านที่เสวยผลในทิพยสมบัติ หรือในพรหมโลก หรือท่านที่เข้าสู่พระ-
นิพพานท่านมีความสุขเพราะผลกรรมที่มีปฏิปทาเป็นประการใด ท่านสร้างสมบุญกุศลไว้อย่างไร
เราก็แสวงหาความดีตาม ก็จะให้ผลตามเช่นท่าน กรรมนี้มีประโยชน์แก่ตนและคนอื่นมากอย่างนี้
ญาณทั้งเจ็ด
ในผลทางปฏิบัติ ท่านจะเห็นว่า ญาณที่กล่าวมาแล้วทั้งเจ็ดอย่าง คือ
๑. จุตูปปตาญาณ การรู้ว่าสัตว์ตายแล้วเกิดที่ใด สัตว์ที่มาเกิดนี้มาจากไหน
๒. เจโตปริยญาณ รู้อารมณ์จิตของคนและสัตว์
๓. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติในกาลก่อนได้ไม่จำกัดชาติ
๔. อตีตังสญาณ รู้เหตุการณ์ในอดีตของคน สัตว์ สิ่งของ สถานที่ได้ไม่จำกัดกาลเวลา
๕. อนาคตังสญาณ รู้เหตุการณ์ต่อไปในอนาคตของคน สัตว์ สิ่งของสถานที่ได้โดย
ไม่จำกัดกาลเวลา
๖. ปัจจุปปันนังสญาณ รู้เหตุปัจจุบันของคน สัตว์ สิ่งของ สถานที่ได้ตามความเป็นจริง
๗. ยถากัมมุตาญาณ รู้ผลกรรมของคนและสัตว์ได้ ทั้งอดีต อนาคต และปัจจุบันญาณ
ทั้งเจ็ดนี้ เมื่อท่านอ่านอยู่ ท่านอาจจะหนักใจว่า ตั้งเจ็ดอย่างมากมายเหลือเกิน ชีวิตนี้ทั้งชีวิต
หรือเกิดอีกหลายๆ ชาติอาจไม่มีหวัง ถ้าท่านคิดอย่างนั้น ผู้เขียนก็เห็นใจท่านทั้งผู้เขียนเองก็มี
ความรู้สึกอย่างเดียวกับท่านมาก่อน แต่พอได้โอกาสสอบทานตามพระไตรปิฎกและได้สนทนา
ปราศรัยกับท่านผู้ทรงคุณธรรมพิเศษตามที่ท่านได้ญาณทั้งเจ็ดอย่างในสมัยผู้ที่เขียนเป็นนักนิยม
ไพร คำว่า นักนิยมไพรของผู้เขียน ไม่เหมือนนักนิยมไพรของชาวบ้าน ชาวบ้านชอบนิยมทำลาย
ไพรและทำลายสัตว์ในไพร แต่ผู้เขียนเป็นนักนิยมเดินในไพรนอนค้างอ้างแรมในไพร และนิยม
คอยหลบหลีกหนีสัตว์ในไพร ไม่ชอบรบราฆ่าฟันสัตว์ในไพร ตั้งแต่เข้าป่ามาแล้วเกินสิบวาระคราวละ
ไม่น้อยกว่าสามเดือนไม่เคยทำลายต้นหญ้าให้ขาดติดมือมาเลยแม้แต่ต้นเดียว ทั้งนี้หมายถึงมี
เจตนาอย่างนั้น แต่ถ้าเดินไปหญ้าขาดหรือตายเพราะการเดินไม่คิดเอามารวม นั่นเป็นไปเพราะ
ไม่เจตนา ท่านผู้ทรงญาณที่อยู่ในป่า ท่านพูดตรงตามพระไตรปิฎกว่า ญาณทั้งเจ็ดอย่างนี้ไม่มี
อะไรมากเมื่อได้ฌาน ๔ คล่องแคล่วเสียอย่างเดียว ญาณทั้งเจ็ดก็ได้หมด ทุกท่านอธิบายเหมือน
กันอย่างนี้ ขอท่านผู้อ่านลองทำตามดูบ้างอาจจะมีผล สำหรับผู้เขียนเชื่อแน่ ไม่มีอะไรสงสัย
(ขอยุติวิชชาสามไว้เพียงเท่านี้)
อัชฌาศัยฉฬภิญโญ (1/0)
คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน ----> หน้า 12
๓. อัชฌาศัยฉฬภิญโญ
อัชฌาสัยของท่านที่ชอบมีฤทธิ์มีเดช ทำอะไรต่ออะไรเกินกว่าสามัญชนจะทำได้
เรียกว่า อัชฌาสัยของท่านผู้มีฤทธิ์ หรือท่านผู้ทรงอภิญญา ๖
อภิญญา ๖ นี้ เป็นคุณธรรมพิเศษสำหรับนักปฏิบัติอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งจะต้องฝึกฝนตน
เป็นพิเศษ ให้ได้คุณธรรมห้าประการก่อนที่จะได้บรรลุมรรคผล หมายความว่าในระหว่างที่
ทรงฌานโลกีย์นั้น ต้องฝึกฝนให้สามารถทรงคุณสมบัติห้าประการดังต่อไปนี้
๑. อิทธิฤทธิ์ แสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้
๒. ทิพยโสต มีหูเป็นทิพย์ สามารถฟังเสียงในที่ไกล หรือเสียงอมนุษย์ได้ยิน
๓. จุตูปปาตญาณ รู้การตายและการเกิดของคนและสัตว์
๔. เจโตปริยญาณ รู้ความรู้สึกในความในใจของคนและสัตว์
๕. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติต่างๆ ที่ล่วงมาแล้วได้
ทั้งห้าอย่างนี้ จะต้องฝึกให้ได้ในสมัยที่ทรงฌานโลกีย์ ต่อเมื่อฝึกฝนคุณธรรมหก
ประการนี้คล่องแคล่วว่องไวดีแล้ว จึงฝึกฝนอบรมในวิปัสสนาญาณต่อไป เพื่อให้ได้อภิญญา
ข้อที่ ๖ คือ อาสวักขยญาณ ได้แก่ การทำอาสวะให้หมดสิ้นไป
วิธีฝึกอภิญญา
วิธีฝึกอภิญญานี้ หรือ ฝึกวิชชาสาม และปฏิสัมภิทาญาณ โปรดทราบว่า
เอามาจากวิสุทธิมรรค ไม่ใช่ผู้เขียนเป็นผู้วิเศษทรงคุณพิเศษตามที่เขียน เพียงแต่ลอก
มาจากวิสุทธิมรรค และดัดแปลงสำนวนเสียใหม่ให้อ่านง่ายเข้าใจเร็ว และใช้คำพูดเป็น
ภาษาตลาดที่พอจะรู้เรื่องสะดวกเท่านั้นเองโปรดอย่าเข้าใจว่าผู้เขียนแอบเป็นพระอรหันต์
ปฏิสัมภิทาญาณไปเสียแล้วนรกจะเล่นงานผู้เขียนแย่ ส่วนใหญ่ในข้อเขียนก็เอามาจาก
วิสุทธิมรรค และเก็บเล็กผสมน้อยคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์บ้างตามแต่จะจำได้ สำหรับ
อภิญญาข้อ ๓ ถึงข้อ ๕ ได้อธิบายมาแล้วในวิชชาสาม สำหรับในอภิญญานี้จะอธิบาย
เฉพาะข้อ ๑ กับข้อ ๒ เท่านั้น
อิทธิฤทธิ์
ญาณข้อ ๑ ท่านสอนให้ฝึกการแสดงฤทธิ์ต่างๆ การแสดงฤทธิ์ทางพระพุทธ-
ศาสนานี้ท่านสอนให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้
ท่านให้เจริญคือฝึกในกสิณแปดอย่างให้ชำนาญ กสิณแปดอย่างนั้น
มีดังนี้
๑. ปฐวีกสิณ เพ่งธาตุดิน
๒. อาโปกสิณ เพ่งธาตุน้ำ
๓. เตโชกสิณ เพ่งไฟ
๔. วาโยกสิณ เพ่งลม
๕. ปีตกสิณ เพ่งสีเหลือง
๖. นีลกสิณ เพ่งสีเขียว
๗. โลหิตกสิณ เพ่งสีแดง
๘. โอทาตกสิณ เพ่งสีขาว
เหลือกสิณอีกสองอย่างคือ อาโลกสิณ เพ่งแสงสว่าง และอากาสกสิณ
เพ่งอากาศ ท่านให้เว้นเสีย ทั้งนี้จะเป็นเพราะอะไรท่านไม่ได้อธิบายไว้ แต่สำหรับ
ท่านที่ทรงอภิญญาจริงๆ ที่เคยพบในสมัยออกเดินธุดงค์ท่านบอกว่า ท่านไม่ได้เว้น
ท่านทำหมดทุกอย่างครบ ๑๐ กอง ท่านกล่าวว่า กสิณนี้ถ้าได้กองแรกแล้ว กองต่อไป
ไม่มีอะไรมากทำต่อไปไม่เกิน ๗ วันก็ได้ กองยากจะใช้เวลานานอยู่กองแรกเท่านั้น
เอง ต่อไปจะได้อธิบายในการปฏิบัติกสิณพอเป็นตัวอย่าง
ปฐวีกสิณ
กสิณนี้ท่านให้เพ่งดิน เอาดินมาทำเป็นรูปวงกลม โดยใช้สะดึงขึงผ้าให้ตึง
แล้วเอาดินทา เลือกเฉพาะดินสีอรุณ แล้วท่านให้วางไว้ในที่พอเหมาะที่จะมองเห็น
ไม่ใกล้และไกลเกินไป เพ่งดูดินให้จำได้แล้วหลับตานึกถึงภาพดินนั้น ถ้าเลือนไปจาก
ใจ ก็ลืมตาดูดินใหม่ จำได้ดีแล้วก็หลับตานึกถึงภาพดินนั้น จนภาพนั้นติดตา ต่อไป
ไม่ต้องดูภาพดินภาพนั้นก็ติดตาติดใจจำได้อยู่เสมอ ภาพปรากฏแก่ใจชัดเจน จน
สามารถบังคับภาพนั้นให้เล็กโต สูง ต่ำได้ตามความประสงค์อย่างนี้เรียกว่า อุคหนิมิต
หยาบ ต่อมาภาพดินนั้นจะค่อยๆ เปลี่ยนสีไปที่ละน้อย จากสีเดิมไปเป็นสีขาวใส จนใส
หมดก้อน และเป็นประกายสวยสดงดงามคล้ายแก้วเจียระไนอย่างนี้เรียกว่า ถึงอุป-
จารฌานละเอียด
ต่อไปภาพนั้นจะสวยมากขึ้นจนมองดูระยิบระยับจับสามตา เป็นประกายหนาทึบ
อารมณ์จิตตั้งมั่นเฉยต่ออารมณ์ภายนอกกายคล้ายไม่มีลมหายใจ อย่างนี้เป็นฌาน ๔
เรียกได้ว่า ฌานปฐวีกสิณเต็มที่แล้ว
เมื่อได้อย่างนี้แล้ว ท่านผู้ทรงอภิญญาท่านนั้นเล่าต่อไปว่า อย่าเพิ่งทำกสิณกอง
ต่อไปเราจะเอาอภิญญากัน ไม่ใช่ทำพอได้ เรียกว่าจะทำแบบสุกเอาเผากินไม่ได้ต้อง
ให้ได้เลยทุกอย่าง ได้อย่างดีทั้งหมด ถ้ายังบกพร่องแม้แต่นิดหนึ่งก็ไม่ยอมเว้น ต้องดี
ครบถ้วนเพื่อให้ได้ดีครบถ้วน ท่านว่าพอได้ตามนี้แล้ว ให้ฝึกฝนเข้าฌานออกฌาน คือ
เข้าฌาน ๑. ๒. ๓. ๔. แล้วเข้าฌาน ๔. ๓. ๒. ๑. แล้วเข้าฌานสลับฌาน คือ ๑. ๔. ๒.
๓. ๓. ๑. ๔. ๒. ๔. ๑. ๒. ๓. สลับกันไปสลับกันมาอย่างนี้จนคล่อง คิดว่าจะเข้าฌาน
ระดับใดก็เมื่อใดก็ได้
ต่อไปก็ฝึกนิรมิตก่อน ปฐวีกสิณเป็นธาตุดิน ตามคุณสมบัติท่านว่า สามารถ
ทำของอ่อนให้แข็งได้ สำหรับท่านที่ได้กสิณนี้ เมื่อเข้าฌานชำนาญแล้ว ก็ทดลองการ
นิรมิตในตอนแรกท่านหาน้ำใส่แก้วหรือภาชนะอย่างใดก็ได้ ที่ขังน้ำได้ก็แล้วกันเมื่อได้
มาครบแล้วจงเข้าฌาน ๔ ในปฐวีกสิณ แล้วออกฌาน ๔ หยุดอยู่เพียงอุปจารฌาน คือ
พอมีอารมณ์นึกคิดได้ในขณะที่อยู่ในฌานนั้น นึกคิดไม่ได้ เมื่อถอยจิตมาหยุดอยู่ที่
อุปจารฌานแล้วอธิษฐานว่า ขอน้ำตรงที่เอานิ้วจิ้มลงไปนั้นจงแข็งเหมือนดิน
ที่แข็ง แล้วก็เข้าฌาน ๔ ใหม่ ถอยออกจากฌาน ๔ หยุดอยู่เพียงอุปจารฌาน
ลองเอานิ้วมือจิ้มน้ำดู ถ้าแข็งก็ใช้ได้แล้วก็เล่นให้คล่องต่อไป ถ้ายังไม่แข็งต้องฝึกฝน
ฌานให้คล่องและมั่นคงกว่านั้น เมื่อขณะฝึกนิรมิตอย่าทำให้คนเห็น ต้องทำที่ลับเฉพาะ
เท่านั้น ถ้าทำให้คนเห็น พระพุทธเจ้าท่านปรับโทษไว้เราเป็นนักเจริญฌาน ต้องไม่หน้า
ด้านใจด้านจนกล้าฝ่าฝืนพระพุทธอาณัติ เมื่อเล่นน้ำในถ้วยสำเร็จผลแล้ว ก็คำว่าสำเร็จ
นั้น หมายความว่าพอคิดว่าเราจะให้น้ำแข็งละน้ำก็แข็งทันที โดยเสียเวลาไม่ถึงเสี้ยว
นาที อย่างนี้ใช้ได้ ต่อไปก็ทดลองในแม่น้ำและอากาศเดินบนน้ำบนอากาศให้น้ำในแม่น้ำ
และอากาศเหยียบไปนั้น แข็งเหมือนดินและหิน ชำนาญดีแล้วก็เลื่อนไปฝึกกสิณอื่น
ท่านว่าทำคล่องอย่างนี้กสิณเดียว กสิณอื่นพอนึกขึ้นมาก็เป็นทันทีอย่างเลวสุดก็เพียง ๗
วัน ได้กอง เสียเวลาฝึกอีก ๙ กองเพียงไม่เกินสามเดือนก็ได้หมด เมื่อฝึกครบหมด
ก็ฝึกเข้าฌานออกฌานดังกล่าวมาแล้วและนิรมิตสิ่งต่างๆ ตามความประสงค์ อานุภาพ
ของกสิณ จะเขียนไว้ตอนว่าด้วยกสิณ ๑๐
(จบอิทธิฤทธิ์ไว้เพียงเท่านี้)
ทิพยโสตญาณ (1/0)
คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน ----> หน้า 13
ทิพยโสตญาณ
ญาณนี้เป็นญาณในอภิญญาหก เป็นญาณที่สองรองจากอิทธิฤทธิญาณทิพยโสตญาณนี้
เป็นญาณสร้างประสาทหูให้มีคุณสมบัติพิเศษกว่าประสาทหูธรรมดา สามารถฟังเสียงจากที่ไกล
เกินหูสามัญจะได้ยินได้ เสียงเบาเสียงละเอียด เช่น เสียงอมนุษย์ เสียงเปรต เสียงอสุรกายที่นิยม
เรียกกันว่าเสียงผี เสียงเทวดา เสียงพรหมและเสียงของท่านที่เข้าถึงจุดจบของพรหมจรรย์
ทิพยโสตญาณ ถ้าทำให้เกิดมีได้แล้ว จะฟังเสียงต่างๆ ตามที่กล่าวมาแล้วได้อย่างอัศจรรย์
เสียงหยาบละเอียดไม่เสมอกัน
เสียงต่างๆ ที่จะพึงฟังได้นั้น มีความหยาบละเอียดชัดเจนหนักเบาไม่เสมอกัน เสียง
มนุษย์และสัตว์ที่ปรากฏร่างที่เห็นชัดเจน ย่อมมีเสียงดังมาก ฟังชัดเจน พวกมด ปลวก เล็น ไร
ฟังเสียงเบามาก แต่ก็ยังเป็นเสียงหยาบ ฟังง่ายและสะดวกกว่าเสียงอมนุษย์ เสียงเปรต อสุรกาย
และพวกยักษ์ กุมภัณฑ์ คนธรรพ์ นาค มีเสียงเบากว่าเสียงมนุษย์ และสัตว์ที่สามารถเห็นได้ด้วย
ตา และเห็นได้ด้วยการใช้กล้องขยายส่องเห็น แต่ถ้าจะเปรียบกับพวกอทิสมานกายด้วยกันแล้ว
บรรดาเสียงเปรต อสุรกายยักษ์ กุมภัณฑ์ คนธรรพ์ นาค ก็จัดว่ามีเสียงหยาบมาก เสียงหนัก
ดังมาก ได้ยินง่ายและชัดเจน เสียงของเทวดาชั้นกามาวจร ที่เรียกว่าอากาศเทวดา ตั้งแต่ชั้น
จาตุมหาราช ชั้นดาวดึงส์ ชั้นยามา ชั้นดุสิต ชั้นนิมมานรดี ชั้นปรนิมมิตตวสวัสดี รวมหกชั้นนี้
เรียกว่าเทวดาชั้นกามาวจร เพราะยังมีอารมณ์ ท่องเที่ยว คือมีความใคร่ในกามารมณ์ เป็น
ภูมิชั้นของเทวดาที่ยังมีความเสน่หาในกาม ยังมีการครองคู่เป็นสามีภรรยากันเยี่ยงมนุษย์
เทวดาทั้งหกชั้นนี้มีเสียงละเอียดและเบากว่า พวกเปรต อสุรกาย ยักษ์ กุมภัณฑ์ คนธรรพ์ นาค
เสียงเทวดาชั้นกามาวจร ละเอียด เบาและไพเราะมาก ฟังแล้วรู้สึกนิ่มนวล สดชื่น แต่ทว่า
เทวดาทั้งหกชั้นนี้ก็ยังมีเสียงหยาบกว่าเสียงพรหม พรหมมีเสียงละเอียดและเบามากฟังเสียง
พรหมแล้ว ผู้ที่ได้ยินใหม่ๆ อาจจะเข้าใจว่า เป็นเสียงเด็กเล็กๆ หรือเสียงสตรี เสียงพรหม
จะว่าแหลมคล้ายเสียงสตรีก็ไม่ใช่จะว่าเหมือนเสียงเด็กเล็กๆ ก็ไม่เชิง ฟังแล้วก้ำกึ่งกันอย่างไร
ชอบกล ทุกท่านที่ได้ยิน ใหม่ๆ อดสงสัยไม่ได้
สำหรับเสียงท่านที่จบพรหมจรรย์นั้น เป็นเสียงที่ละเอียดและเบามาก ไม่ทราบว่าจะ
พรรณนาอย่างไรถึงจะตรงกับความเป็นจริง
เรื่องของเสียงมีความหนักเบาแตกต่างกันอย่างนี้ แม้เสียงที่หยาบเป็นเสียงของมนุษย์
และสัตว์ที่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า ถ้าอยู่ไกลสักหน่อย หูธรรมดาก็ไม่สามารถจะได้ยิน แต่
ท่านที่ได้ ทิพยโสตญาณ ท่านสามารถได้ยินเสียงได้ แม้ไกลกันคนละมุมโลก ท่านก็สามารถ
ได้ยินเสียงพูดได้และรู้เรื่องละเอียดทุกถ้อยคำ แม้แต่เสียงอมนุษย์ เทวดา พรหม และเสียง
ท่านผู้จบพรหมจรรย์ก็เช่นเดียวกัน ท่านสามารถจะพูดคุยกับ เทวดา พรหม ยักษ์ เปรต อสุรกาย
และ สัตว์นรก ตลอดจนท่านผู้จบพรหมจรรย์ได้ทุกขณะที่ปรารถนาจะพูดคุยด้วย ท่านที่ได้ทิพย-
โสตญาณนี้ ดูเหมือนจะมีกำไรในส่วนของการฟังมากเป็นพิเศษ
วิธีฝึกทิพยโสตญาณ
ทิพยโสตญาณจะมีขึ้นได้แก่นักปฏิบัติกรรมฐาน ก็ต้องอาศัยการฝึก สำหรับท่านที่เป็น
อาทิกัมมิกบุคคล หมายถึงท่านที่ไม่เคยได้ทิพยโสตญาณมาในชาติก่อนๆ ตามนัยวิสุทธิมรรค
ท่านให้ฝึกดังต่อไปนี้
ท่านให้สร้างสมาธิในกสิณกองใดกองหนึ่ง จะเป็นกองใดก็ได้ตามใจชอบ จนได้ฌาน
๔ แล้วท่านให้เข้าฌาน ๔ จนจิตเป็นอุเบกขารมณ์เงียบสงัดจากอกุศลวิตก แล้วถอยหลังจิต
คือค่อยๆ คลายสมาธิมาหยุดอยู่เพียงอุปจารสมาธิ แล้วค่อยๆ กำหนดจิตฟังเสียงที่ดังๆ ในที่
ไกลพอได้ยินได้ และเสียงที่เบาลงไปเป็นลำดับ เช่น เสียงฆ้อง กลอง ระฆัง กำหนดฟังให้
ชัดเจน แล้วค่อยๆ เลื่อนฟังเสียงที่เบากว่านั้น ขณะที่กำหนดฟังอยู่นั้น ถ้าเห็นว่าอารมณ์จะ
ฟุ้งซ่าน ก็เข้าฌาน ๔ เสียใหม่ เมื่อเห็นอารมณ์ใจสงัดดีแล้ว จึงค่อยคลายสมาธิมาหยุดอยู่ที่
อุปจารฌาน แล้วค่อยๆ กำหนดฟังเสียงที่เบาลงเป็นลำดับจนเสียงเล็นเสียงไร เสียงที่อยู่ไกล
คนละทวีป และเสียงผี เสียงเปรตเสียงยักษ์ กุมภัณฑ์ คนธรรพ์เสียงนาค เทวดาชั้นกามาวจร
เสียงพรหม เสียงท่านที่จบพรหมจรรย์ค่อยเลื่อนขึ้นเป็นลำดับ แต่ทว่าการกำหนดฟังนั้น ต้อง
ฟังให้ชัดเจนเป็นขั้นๆ ไปถ้าฟังเสียงหยาบยังได้ยินไม่ชัดเจน ก็อย่าพยายามฟังเสียงที่ละเอียด
กว่านั้น ต้องฟังเสียงอันดับใดอันดับหนึ่ง ให้ได้ยินชัดแจ่มใสเสียก่อน แล้วจึงเลื่อนไปฟังเสียง
ที่ละเอียดกว่านั้น แล้วเข้าฌาน ๔ ออกฌาน ๔ ไว้เสมอๆ พยายามทำให้มากวันละหลายๆ
ครั้งท่านกล่าวไว้ในวิสุทธิมรรคว่าทำเป็นร้อยครั้งพันครั้ง ทำเสมอๆ อย่าเกียจคร้าน ถ้าได้
แล้วก็อย่าละเลย ต้องทำไว้เสมอๆ จะได้เกิดความเคยชินคล่องแคล่วว่องไว จนกระทั่งคิด
ว่าจะต้องการฟังเสียงเมื่อไรก็ได้ยินเมื่อนั้น ไม่ว่าเสียงระดับใด อย่างนี้เป็นอันใช้ได้
ทิพยโสตญาณมีวิธีปฏิบัติตามที่ท่านกล่าวไว้ในวิสุทธิมรรคอย่างนี้ ขอนักปฏิบัติ
ที่สนใจในญาณนี้ จงตั้งจิตอุตสาหวิริยะเป็นอันดี ไม่ท้อถอยแล้ว เป็นมีหวังสำเร็จผลทุกราย
ไม่มีอะไรที่ท่านผู้มีความวิริยะอุตสาหะจะทำไม่สำเร็จ เว้นไว้แต่จะคุยโวโม้แต่ปากแต่
ไม่เอาจริงเท่านั้น สำหรับฉฬภิญโญ ขอเขียนไว้เพียงเท่านี้ ญาณอื่นๆ นั้นได้เขียนไว้
ในวิชชาสามครบถ้วนแล้ว
อัชฌาสัยปฏิสัมภิทัปปัตโต (1/0)
คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน ----> หน้า 14
๔. อัชฌาสัยปฏิสัมภิทัปปัตโต
อัชฌาสัยของท่านผู้มีความต้องการในความรู้พิเศษ ที่มีความรู้รอบตัวยิ่งกว่า
ท่านผู้ทรงอภิญญา ๖ เรียกว่าอัชฌาสัยของท่านผู้ทรงปฏิสัมภิทัปปัตโต
ท่านผู้ทรงปฏิสัมภิทัปปัตโตนี้ แปลว่ามีความรู้พร้อม คือท่านทรงคุณธรรม
พิเศษกว่าท่านเตวิชโช ฉฬภิญโญหลายประการ เช่น
๑. มีความสามารถทรงความรู้พร้อม ไม่บกพร่องในหัวข้อธรรมวินัยที่
พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ได้โดยครบถ้วน แม้ท่านจะย่างเข้ามาอุปสมบทในพระ-
พุทธศาสนาเพียงวันเดียวทั้งๆ ที่ไม่เคยศึกษาคำสอนมาก่อนเลย ตามนัยที่ปรากฏ
ในพระสูตรต่างๆ ที่มาในพระไตรปิฎกว่า มีมากท่านที่มีความเลื่อมใสในสมเด็จ-
พระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วพอฟังเทศน์จบ ท่านก็ได้บรรลุอรหันต์ชั้นปฏิสัมภิทาญาณ
ท่านทรงพระไตรปิฏก คือเข้าใจในข้อวัตรปฏิบัติครบถ้วนทุกประการได้ทันท่วงที
๒. มีความฉลาดในการขยายความในธรรมภาษิต ที่พระพุทธเจ้าตรัส
ไว้โดยย่อให้พิสดารได้อย่างถูกต้อง
๓. ย่อความในคำสอนที่พิสดารให้สั้นเข้า โดยไม่เสียใจความ
๔. สามารถเข้าใจ และพูดภาษาต่างๆ ได้ทุกภาษา ไม่ว่าภาษามนุษย์
หรือภาษาสัตว์
ตามข้อความในข้อ ๔ นี้ เคยพบพระองค์หนึ่งในสมัยปัจจุบันนี้ คือ
พ.ศ. ๒๕๐๔ - ๒๕๐๕ ต่อกัน พระรูปนั้นมีชื่อว่า "พระสร้อย" ท่านบอกว่า
ท่านเป็นชาวจังหวัดสระบุรี ไม่เคยเรียนหนังสือมาก่อนเลย แม้หนังสือไทยนี้
ปกติท่านก็อ่านไม่ออก ท่านว่าเมื่อท่านอายุได้ ๗ ปี มีพระในถ้ำเขตสระบุรีท่าน
หนึ่งไปเยี่ยมโยมท่านที่บ้าน ตัวท่านเองเมื่อเห็นพระรูปนั้นเข้าท่านก็เกิด
ความรักขึ้นมาเมื่อพระรูปนั้นจะกลับถ้ำ ได้ออกปากชวนท่านไปฃอยู่ด้วยท่าน
ก็ขออนุญาตโยมหญิง - ชายจะไปอยู่กับพระรูปนั้น โยมทั้งสองก็อนุญาตด้วย
ความเต็มใจท่านเล่าให้ฟังว่าเมื่อไปอยู่กับพระรูปนั้นก็ไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ
เพราะในถ้ำนั้นมีพระอยู่ ๒ - ๓ รูป ท่านบิณฑบาตกลับมาแล้ว ท่านฉันจังหันเสร็จ
ต่างก็บูชาพระแล้วนั่งภาวนากันตลอดวันตลอดคืนไม่ใคร่มีเวลาพูดคุยกัน ท่านก็
สอนให้ท่านอาจารย์สร้อยภาวนาด้วยทำอยู่อย่างนั้นจนครบบวชพระที่ท่านพาไปก็
พาออกมาบวชที่บ้านบวชแล้วก็พากลับมาอยู่ถ้ำนั่งภาวนาตามเดิม ต่อมาเมื่อ
พ.ศ. ๒๕๐๓ - ๒๕๐๔ ท่านป่วยได้เดินธุดงค์มาปักกลดอยู่ที่บางกะปิ พระนคร
ใครจะนิมนต์ท่านเข้าไปในชายคาบ้านท่านไม่ยอมเข้าต่อมาพลเรือตรีสนิทจำ
นามสกุลไม่ได้เจ้ากรมแพทย์ทหารเรือไปพบเข้ามีความเลื่อมใส นิมนต์ให้มา
รักษาตัวที่กรมแพทย์ทหารเรือให้พักอยู่ที่ตึก ๑ เป็นตึกคนไข้พิเศษ ปฏิปทา
ของท่านอาจารย์สร้อยที่มาอยู่ที่กรมแพทย์ทหารเรือก็คือ ตอนเช้าท่านจะต้อง
ออกบิณฑบาตทุกวันท่านไม่ได้ไปไกล ออกจากตึก ๑ ไปที่ประตูกรมแพทย์ฯ
ที่ตรงนั้นมีต้นมะฮอกกานี อยู่ต้นหนึ่งเป็นต้นไม้ มีพุ่มไสว สาขาใหญ่มาก ท่าน
เอาบาตรของท่านไปแขวนที่กิ่งมะฮอกกานี แล้วท่านก็ยืนหลับตาอยู่สักครู่ ไม่เกิน
๑๕ นาที ท่านก็ลืมตาขึ้นแล้วเอาบาตรมา เดินกลับเข้าห้องพักคนป่วย ที่ท่าน
ไปยืนอยู่นั้นเป็นทางผ่านเข้าออกของคนไปมาเป็นปกติไม่มีขาดระยะคนเดินผ่าน
ทุกคนเห็นท่านยืนเฉยๆ ไม่เห็นใครเอาอะไรมาใส่ให้ แต่ทุกครั้งที่ท่านเอาบาตร
กลับมาจะต้องมีข้าวสุกสีเหลืองน้อยๆ และดอกไม้แปลกๆ ที่ไม่เคยเห็นในภพนี้
ติดมาด้วย ๒ - ๓ ดอกทุกครั้ง สร้างความแปลกใจแก่ผู้พบเห็นเป็นประจำ บาตร
ที่ท่านจะเอาไปแขวนนั้นนายทหารเป็นคนจัดให้ นายทหารผู้นั้นยืนยันว่า ผมตรวจ
และทำความสะอาดทุกวัน ผมรับรองว่าบาตรว่างไม่มีอะไรจริงๆ เมื่อท่านเอา
บาตรไปแขวนก็อยู่ในสายตาของพวกผมเพราะไปไม่ไกลห่างจากตึก ๑ ประมาณ
ไม่ถึง ๑๐ เมตร และติดกับยามประตูกรมแพทย์ หมายถึงที่ท่านไปยืนเอาบาตร
แขวนต้นไม้ แต่แปลกที่พวกเราไม่เห็นว่าใครเอาของมาใส่เลย ทุกครั้งที่ท่านเอา
บาตรมาส่งให้กลับมีข้าวและดอกไม้ทุกวัน ปกติท่านสอนเตือนให้คณะนายทหาร
ละชั่วประพฤติดีทุกวันทำเอานายทหารเลิกสุรายาเมาไปหลายคน
รู้ภาษาต่างประเทศ
วันหนึ่งผู้เขียนได้ไปที่กรมแพทย์ทหารเรือ พอไปถึงพวกนายทหารก็เล่า
ให้ฟังแล้วคิดในใจว่าท่านผู้นี้อาจจะไม่ใช่ปุถุชนคนธรรมดา ประเภทไม่เป็นเรื่อง
เป็นราวอย่างผู้เขียนคิดว่าอย่างน้อยท่านอาจจะได้ฌานโลกีย์ อย่างสูงอาจเป็น
พระอริยะก็ได้ ที่คิดอย่างนั้นไม่ใช่หมายความว่าผู้เขียนมีฌานพิเศษเป็นเครื่องรู้
ความจริงไม่มีอะไรนอกจากสนใจและสงสัยเท่านั้นจึงคุยกับบรรดานายทหารว่า
เอาอย่างนี้ซิ เรามาลองท่านดูสักวิธีหนึ่ง คือลองพูดภาษาต่างๆ กับท่าน ถ้าท่าน
รู้เรื่องและพูดได้ทุกภาษาแล้ว ฉันคิดว่าพระองค์นี้เป็นพระอริยะขั้นปฏิสัมภิทาญาณ
เพราะท่านผู้ได้ปฏิสัมภิทาญาณนั้นต้องเป็นพระอรหันต์ก่อน คุณสมบัติปฏิสัมภิทา-
ญาณจึงปรากฏไม่เหมือนเตวิชโชและฉฬภิญโญทั้งสองอย่างนี้ ได้ตั้งแต่ฌานโลกีย์
จึงรวบรวมนายทหารที่พูดภาษาต่างประเทศได้ ๖ ภาษา คือ
๑. ภาษาอังกฤษ
๒. ภาษาฝรั่งเศส
๓. ภาษาเยอรมัน
๔. ภาษาสเปน
๕. ภาษาญี่ปุ่น
๖. ภาษามลายู
ได้ส่งนายทหารที่ชำนาญภาษานั้น ๆ ไปพูดกับท่าน ท่านก็พูดด้วยได้ทุกภาษา
และพูดได้อย่างเขาเหล่านั้น เล่นเอานายทหารชุดนั้นงงไปตาม ๆ กันเมื่อท่านถูกถาม
ว่าท่านเรียนภาษาต่าง ๆ มาจากไหน ? ท่านตอบว่า ท่านไม่เคยเรียนมาก่อนเลย เห็น
เขาพูดมาก็มีความเข้าใจ และพูดได้ตามต้องการ ท่านว่ามีความรู้สึกเช่นเดียวกับพูด
ภาษาไทยเมื่อพบเข้าอย่างนี้ทำให้คิดถึงตำรา คือพระไตรปิฎก ว่าท่านผู้นี้อาจเป็น
พระอรหันต์ขั้นปฏิสัมภิทาญาณตามนัยที่ท่านอธิบายไว้ก็ได้ แต่ท่านจะเป็นพระอรหันต์
หรือไม่ ผู้เขียนไม่รับรองแต่ก็ต้องมานั่งคิดนอนตรองค้นคว้าหาหลักฐานเป็นการใหญ่
แต่ละเล่มท่านก็เขียนว่า ท่านที่จะได้ปฏิสัมภิทาญาณมีการรู้ภาษาต่างๆ เป็นเครื่อง
สังเกตต้องเป็นพระอรหันต์ก่อนท่านอาจารย์สร้อยท่านรู้ภาษาอย่างไม่จำกัดได้ ท่าน
จะเป็นพระอรหันต์ไหมหนอ โปรดช่วยกันค้นคว้าหาเหตุผล มายืนยันด้วย ใครพบ
เหตุผลหลักฐานก่อนกันก็ควรบอกกันต่อ ๆ ไปเพื่อความเข้าใจถูกในผลของการ
ปฏิบัติสมณธรรม
ปฏิสัมภิทาญาณปฏิบัติ
ปฏิสัมภิทาญาณ หรือปฏิสัมภิทัปปัตโตนี้ เป็นระดับของท่านผู้ทรงคุณพิเศษ
ครอบงำเตวิชโชและฉฬภิญโญทั้งหมด เพราะเหตุนี้ ท่านผู้ทรงปฏิสัมภิทาญาณนี้จึง
ต้องปฏิบัติในกสิณทั้งสิบได้ครบถ้วน ตามนัยที่กล่าวมาแล้วในฉฬภิญโญ เมื่อชำนาญ
ในฉฬภิญโญคือชำนาญในกสิณแล้ว ท่านเจริญในอรูปฌานอีก ๔ คือ
๑. อากาสานัญจายตนะ
ท่านเพ่งอากาศเป็นอารมณ์ โดยกำหนดหมายจิตคิดไว้เสมอว่า ในโลกนี้
ไม่มีอะไรเป็นแท่งทึบ ไม่มีอะไรคงสภาพเป็นก้อนเป็นแท่งอยู่ตลอดกาลสมัย ไม่ช้า
นานเท่าใดก็ต้องอันตรธานสูญไปคล้ายอากาศ ท่านไม่มีความนิยม ในรูปสังขาร
เห็นสังขารเป็นโทษ เพราะพิจารณาเห็นว่าสังขารทั้งหลายเป็นแหล่งของความทุกข์
และความชั่วช้าสารเลว สังขารเต็มไปด้วยความทุกข์อันเกิดจากความอยากไม่มี
สิ้นสุด ความร้อน ความหนาว ความป่วยไข้ ทุกขเวทนาอย่างสาหัสจะพึงมีมาก็เพราะ
สังขารเป็นปัจจัย ท่านมีความเกลียดชังในสังขารเป็นที่สุด กำหนดจิตคิดละสังขาร
ในชาติต่อๆ ไปไม่ต้องการสังขารอีกถือเป็นอากาศธาตุเป็นอารมณ์ คิดว่าสังขารนี้
เรายอมเป็นทาสรับทุกข์ของสังขารเพียงชาตินี้ชาติเดียว ชาติต่อ ๆ ไปเราไม่
ต้องการสังขารอีกความต้องการก็คือ หวังความว่างเปล่าจากสังขารต้องการมีสภาพ
เป็นอากาศเป็นปกติ
การเจริญอรูปกรรมฐานนี้ ทุกอย่างจะต้องยกเอากสิณอย่างใดอย่างหนึ่ง
มาเป็นอารมณ์ก่อนเสมอ คือเข้าฌานในกสิณนั้นๆ จนถึงฌาน ๔ แล้วเอานิมิตใน
กสิณนั้นมาเป็นอารมณ์ในอรูปกรรมฐาน เช่น อากาสานัญจายตนะนี้ท่านให้กำหนด
นิมิตในรูปกสิณก่อนแล้วพิจารณารูปกสิณนั้นให้เห็นเป็นโทษโดยกำหนดจิตคิดว่า
หากเรายังต้องการรูปอยู่เพียงใดความทุกข์อันเนื่องจากรูปย่อมปรากฏแก่เรา
เสมอไปหากเราไม่มีรูปแล้วไซร้ทุกข์ภัยอันมีรูปเป็นเหตุก็จะไม่ปรากฏแก่เรา แล้ว
ก็เพิกคืออธิษฐานรูปกสิณนั้นให้เป็นอากาศ ยึดถืออากาศเป็นอารมณ์ ทำอย่างนี้
จนจิตตั้งอยู่ในฌาน ๔ เป็นปกติชื่อว่าได้กรรมฐานกองนี้
๒. วิญญาณัญจายตนะ
วิญญาณัญจายตนะนี้ เป็นอรูปฌานที่สอง ท่านผู้ปฏิบัติมุ่งหมายกำหนด
เอาวิญญาณเป็นสำคัญคือ พิจารณาเห็นโทษของรูป และมีความเบื่อหน่ายในรูป
ตามที่กล่าวมาแล้ว ในอากาสานัญจายตนะท่านกำหนดจิตคิดว่า เราไม่ต้องการ
มีรูปต่อไปอีก ต้องการแต่วิญญาณอย่างเดียว เพราะรูปเป็นทุกข์ วิญญาณต้องรับ
ทุกข์อย่างสาหัสก็เพราะมีรูปเป็นปัจจัยถ้ารูปไม่มี มีแต่วิญญาณ ทุกข์ก็จะไม่มีมา
เบียดเบียน เพราะทุกข์ต่างๆ ต้องมีสังขารจึงเกาะกุมได้ ถ้ามีแต่วิญญาณทุกข์ก็
หมดโอกาสจะทรมานได้ แล้วท่านก็จับรูปกสิณเป็นอารมณ์ แล้วกำหนดวิญญาณ
เป็นสำคัญจนตั้งอารมณ์อยู่ในฌาน ๔ เป็นปกติ ท่านที่ได้ฌานนี้มีประโยชน์ใน
การตรวจสอบจิตวิญญาณของตนเอง และของผู้อื่นได้อย่างชัดเจน
๓. อากิญจัญญายตนะ
อากิญจัญญายตนะนี้ ท่านพิจารณาว่าไม่มีอะไรเลย หรือไม่มีอะไรเหลือต่าง
จากอากาสานัญจายตนะ เพราะ อากาสานัญจายตนะยังมีการกำหนดว่ามีอากาศ
เป็นอารมณ์ อากิญจัญญายตนะนี้ ท่านไม่กำหนดหมายอะไรเลย ไม่ต้องการอะไร
ทั้งสิ้น ไม่ต้องการรูปและแม้แต่มีวิญญาณ ด้วยท่านคิดว่าแม้รูปไม่มี วิญญาณยัง
มีอยู่ วิญญาณก็ยังรับสุขรับทุกข์ทางด้านอารมณ์ เพื่อตัดให้สิ้นไปท่านไม่ต้องการ
อะไรเลยแม้แต่ความหวังในอารมณ์ ปล่อยอารมณ์จากความหวังใดๆ ทั้งหมดโดย
กำหนดจิตจับอารมณ์ในรูปกสิณอย่างใดอย่างหนึ่งในรูปฌานแล้วต่อไปก็เพิกรูปกสิณ
นั้นเสียกำหนดจิตให้ว่างเปล่าจากอารมณ์เป็นปกติ จนอารมณ์จิตตั้งอยู่ในฌาน ๔
เป็นปกติ
๔. เนวสัญญานาสัญญายตนะ
ฌานนี้ท่านว่า มีวิญญาณก็ไม่ใช่ หรือจะว่าไม่มีวิญญาณก็ไม่ใช่ สร้างความ
รู้สึกเหมือนคนไม่มีวิญญาณ คือไม่ยอมรับรู้อะไรทั้งหมด ใครจะชม หรือนินทาว่า
ร้ายเอาของดีของเลวมาให้ หรือนำไป หนาว ร้อน หิว กระหาย เจ็บ ป่วย รวมความ
ว่าเหตุของความทุกข์ความสุขใดๆ ไม่มีความต้องการรับรู้ ทำเสมือนกับไม่มีอะไร
เกิดขึ้นแบบในสมัยนี้เคยพบ อาจารย์กบ วัดเขาสาริกา องค์หนึ่ง ท่านเจริญแบบ
นี้ วิญญาณท่านมี ท่านรู้หนาวรู้ร้อนแต่ท่านทำเหมือนไม่รู้ ฝนตกฟ้าร้องท่านก็นอน
เฉยลมหนาวพัดมาท่านไม่มีผ้าห่มท่านก็นอนเฉย ใครไปใครมาท่านก็เฉย ทำไม่รู้
เสียบางรายไปนอนเฝ้าตั้งสามวันสามคืนท่านไม่ยอมพูดด้วย ถึงเวลาออกมาจากกุฎี
ท่านก็คว้าฆ้องตีโหม่งๆ ปากก็ร้องว่าทองหนึ่งๆๆๆ แล้วท่านก็นอนของท่านต่อไป
คนเลื่อมใสมากถึงกับตั้งสำนักศิษย์หลวงพ่อกบขึ้นเดี๋ยวนี้คณะศิษย์หลวงพ่อกบมาก
มายสามัคคีกันดีเสียด้วย ทำอะไรก็พร้อมเพรียงกันทำน่าสรรเสริญ ก่อนที่จะกำหนด
จิตคิดว่าไม่มีอะไรเป็นจุดหมายของจิต ท่านก็ต้องยกรูปกสิณ จับนิมิต ในรูปกสิณ
เป็นอารมณ์ก่อนเหมือนกัน การเจริญในอรูปฌานนี้ ท่านผู้อ่านที่ยังไม่เคยได้รูปฌาน
ในกสิณคงจะคิดว่ายากมาก ความจริงถ้าได้ฌานในรูปกสิณแล้วไม่ยากเลยเพราะ
อารมณ์สมาธิก็ทรงอยู่ขั้นฌาน ๔ เท่านั้นเอง เพราะช่ำชองมาในกสิณสิบแล้วมาจับ
ทำเข้าจริงๆ ก็จะเข้าถึงจุดภายในสามวันเจ็ดวันเท่านั้น
เมื่อทรงอรูปฌานได้ครบถ้วนแล้ว ก็ฝึกเข้าฌานออกฌาน ตั้งแต่กสิณมา
แล้วเลยเข้าอรูปฌานตามนัยที่กล่าวมาแล้วในบทว่าด้วยอภิญญาหก สำหรับอภิญญา
หรือญาณในวิชชาสามย่อมใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ตั้งแต่ทรงฌานโลกีย์ สำหรับปฏิ-
สัมภิทาญาณคือคุณพิเศษ ๔ ข้อในปฏิสัมภิทาญาณนี้ จะได้ก็ต่อเมื่อสำเร็จอรหัตต-
ผลแล้ว ในขณะที่ทรงฌานโลกีย์อยู่ คุณพิเศษ ๔ อย่างนั้นยังไม่ปรากฏ ปฏิสัมภิทา-
ญาณแปลกจากเตวิชโชและฉฬภิญโญตรงนี้
สมาบัติ (1/0)
คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน ----> หน้า 15
สมาบัติ
คำว่า สมาบัติ แปลว่าถึงพร้อม แปลเหมือนกันกับคำว่า สมบัติ ศัพท์เดิมว่า สัมปัตติ
แปลว่าถึงพร้อม มาแปลงเป็นบาลีไทย หมายความว่าศัพท์นั้นเป็นศัพท์บาลี แต่เรียกกันเป็น
ไทย ๆ เสีย ก็เลยเพี้ยนไปหน่อย เล่นเอาผู้รับฟังปวดเศียรเวียนเกล้าไปตามๆ กัน
สมาบัติ แปลว่าเข้าถึงนั้น หมายเอาว่าเข้าถึงอะไร ข้อนี้น่าจะบอกไว้เสียด้วย ขอบอก
ให้รู้ไว้เลยว่า ถึงจุดของอารมณ์ที่เป็นสมาธิหรือที่เรียกว่า ฌาน นั่นเอง เมื่ออารมณ์ของสมาธิ
ิที่ยังไม่เข้าระดับฌาน ท่านยังไม่เรียกว่า สมาบัติ เช่น
ขณิกสมาธิ
ขณิกสมาธิ แปลว่า ตั้งใจมั่นได้เล็กน้อย หรือนิดๆ หน่อยๆ คำว่า สมาธิ แปล
ว่า ตั้งใจมั่น ต้องมั่นได้นิดหน่อย เช่น กำหนดจิตคิดตามคำภาวนา ภาวนาได้ประเดี่ยว
ประด๋าว จิตก็ไปคว้าเอาความรู้สึกนึกคิดอารมณ์ภายนอกคำภาวนามาคิด ทิ้งองค์ภาวนาเสีย
แล้วกว่าจะรู้ตัวว่า จิตซ่าน ก็คิดตั้งบ้านสร้างเรือนเสียพอใจ อารมณ์ตั้งอยู่ในองค์ภาวนาไม่ได้
นานอย่างนี้ ตั้งอยู่ได้ประเดี๋ยวประด๋าว อารมณ์จิตก็ยังไม่สว่างแจ่มใส ภาวนาไปตามอาจารย์
สั่งขาดๆ เกินๆ อย่างนี้แหละที่เรียกว่า ขณิกสมาธิท่านยังไม่เรียก ฌาน เพราะอารมณ์ยัง
ไม่เป็นฌานท่านจึงไม่เรียกว่า สมาบัติ เพราะยังไม่เข้าถึงกฎที่ท่านกำหนดไว้
ฌาน
ขอแปลคำว่าฌานสักนิดขอคั่นเวลาสักหน่อยประเดี๋ยวเลยไปจะยุ่งจะไม่รู้ว่า ฌาน
แปลว่าอะไร คำว่า ฌาน นี้ แปลว่า เพ่ง หมายถึงการเพ่งอารมณ์ตามกฎแห่งการเจริญ-
กรรมฐานถึง อันดับที่ ๑ เรียกว่า ปฐมฌาน คือ ฌาน ๑ ถึง อันดับที่ ๒ เรียกว่า
ทุติยฌาน แปลว่า ฌาน ๒ ถึง อันดับที่ ๓ เรียกว่า ตติยฌาน แปลว่า ฌาน ๓ ถึง
อันดับที่ ๔ เรียกว่า จตุตถฌาน แปลว่า ฌาน ๔ ถึงอันดับที่แปด คือได้ อรูปฌาน
ถึงฌาน ๔ ครบทั้ง ๔ อย่าง เรียกว่า ฌาน ๘
ถ้าจะเรียกเป็นสมาบัติก็เรียกเหมือนฌาน ฌาน ๑ ท่านก็เรียกว่า ปฐมสมาบัติ
ฌาน ที่ ๒ ท่านก็เรียกว่า ทุติยสมาบัติ ฌาน ๓ ท่านก็เรียก ตติยสมาบัติ ฌาน ๔
ท่านก็เรียก จตุตถสมาบัติ ฌาน ๘ ท่านเรียก อัฎฐสมาบัติ หรือ สมาบัติแปด นั่นเอง
อุปจารสมาธิ
อุปจารสมาธินี้เรียกอุปจารฌาน ก็เรียก เป็นสมาธิที่มีความตั้งมั่นใกล้จะถึง
ปฐมฌานหรือปฐมสมาบัติ นั่นเอง อุปจารสมาธิคุมอารมณ์สมาธิไว้ได้นานพอ
สมควร มีอารมณ์ใสสว่างพอใช้ได้ เป็นพื้นฐานเดิมที่จะฝึกทิพยจักษุญาณได้ อารมณ์
ที่อุปจารสมาธิเข้าถึงนั้นมีอาการดังนี้
๑. วิตก คือความกำหนดจิตนึกคิดองค์ภาวนาหรือกำหนดรูปกสิณ จิตกำหนด
อยู่ได้ไม่คลาดเคลื่อน ในเวลานานพอสมควร
๒. วิจาร การใคร่ครวญในรูปกสิณนิมิต ที่จิตถือเอาเป็นนิมิตที่กำหนด มีอาการ
เคลื่อนไหวหรือคงที่ มีสีสันวรรณะเป็นอย่างไร เล็กหรือใหญ่ สูงหรือต่ำ จิตกำหนดรู้ไว้ได้
ถ้าเป็นองค์ภาวนา ภาวนาครบถ้วนไหม ผิดถูกอย่างไร กำหนดรู้เสมอ ถ้ากำหนดลมหายใจ
ก็กำหนดรู้ว่า หายใจเข้าออกยาวหรือสั้น เบาหรือแรง รู้อยู่ตลอดเวลาอย่างนี้ เรียกว่าวิจาร
๓. ปีติ ความปลาบปลื้มเอิบอิ่มใจ มีจิตใจชุ่มชื่นเบิกบาน ไม่อิ่มไม่เบื่อในการ
เจริญภาวนาอารมณ์ผ่องใส ปรากฏว่าเมื่อหลับตาภาวนานั้นไม่มืดเหมือนเดิม มีความ
สว่างปรากฏคล้ายใครนำแสงสว่างมาวางไว้ใกล้ๆ บางคราวก็เห็นภาพและแสงสีปรากฏ
เป็นครั้งคราว แต่ปรากฏอยู่ไม่นานก็หายไป อาการของปีติมีห้าอย่างคือ
๓.๑ มีการขนลุกขนชัน ท่านเรียกว่าขนพองสยองเกล้า
๓.๒ มีน้ำตาไหลจากตาโดยไม่มีอะไรไปทำให้ตาระคายเคือง
๓.๓ ร่างกายโยกโคลง คล้ายเรือกระทบคลื่น
๓.๔ ร่างกายลอยขึ้นเหนือพื้นที่นั่ง บางรายลอยไปได้ไกลๆ และ
ลอยสูงมาก
๓.๕ อาการกายซู่ซ่า คล้ายร่างกายโปร่ง และใหญ่โตสูงขึ้นอย่าง
ผิดปกติ
อาการทั้งห้าอย่างนี้ แม้อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นอาการของปีติ ข้อที่ควรสังเกตก็คือ
อารมณ์จิตชุ่มชื่นเบิกบานแม้ร่างกายจะสั่นหวั่นไหว บางรายตัวหมุนเหมือนลูกข่างแต่จิตใจ
ก็เป็นสมาธิแนบแน่นไม่หวั่นไหว มีสมาธิตั้งมั่นอยู่เสมอ การกำหนดจิตเข้าสมาธิก็ง่าย
คล่อง ทำเมื่อไรเข้าสมาธิได้ทันที อาการของสมาธิเป็นอย่างนี้
๔. สุข ความสุขชื่นบาน เป็นความสุขที่ละเอียดอ่อน ไม่เคยปรากฏการณ์มาก่อน
เลยในชีวิต จะนั่งสมาธินานแสนนานก็ไม่รู้สึกปวดเมื่อย อาการปวดเมื่อยจะมีก็ต่อเมื่อคลาย
สมาธิแล้ว ส่วนจิตใจมีความสุขสำราญตลอดเวลา สมาธิก็ตั้งมั่นมากขึ้น อารมณ์วิตกคือการ
กำหนดภาวนา ก็ภาวนาได้ตลอดเวลา การกำหนดรู้ความภาวนาว่าจะถูกต้องครบถ้วนหรือ
ไม่เป็นต้น ก็เป็นไปด้วยดีมีธรรมปีติชุ่มชื่นผ่องใสความสุขใจมีตลอดเวลาสมาธิตั้งมั่นความ
สว่างทางใจปรากฏขึ้นในขณะหลับตาภาวนา อาการตามที่กล่าวมาทั้งหมดนี้แหละที่เรียกว่า
อุปจารสมาธิ หรือเรียกว่า อุปจารฌาน คือเฉียดๆ จะถึง ปฐมฌาน อยู่แล้ว ห่างปฐมฌาน
เพียงเส้นยาแดงผ่า ๓๒ เท่านั้นเอง ตอนนี้ท่านยังไม่เรียกฌานโดยตรง เพราะอารมณ์
ยังไม่ครบองค์ฌานท่านจึงยังไม่ยอมเรียกว่าสมาบัติ เพราะยังไม่ถึงฌาน
ปฐมฌาน หรือ ปฐมสมาบัติ
ปฐมฌาน หรือปฐมสมาบัตินี้ ท่านกำหนดองค์ของปฐมฌาน หรือปฐมสมาบัติไว้ ๕
อย่างดังต่อไปนี้
๑. วิตก จิตกำหนดนึกคิด โดยกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ว่าหายใจเข้าหรือออก
ถ้าใช้คำภาวนา ก็รู้ว่าเราภาวนาอยู่ คือภาวนาไว้มิให้ขาดสาย ถ้าเพ่งกสิณ ก็กำหนดจับภาพ
กสิณอยู่ตลอดเวลาอย่างนี้เรียกว่าวิตก
๒. วิจาร ถ้ากำหนดลมหายใจ ก็ใคร่ครวญกำหนดรู้ไว้เสมอว่า เราหายใจเข้าหรือ
หายใจออก หายใจเข้าออกยาวหรือสั้น หายใจเบา หรือแรง ในวิสุทธิมรรคท่านให้รู้กำหนด
ลมสามฐานคือ หายใจเข้าลมกระทบจมูก กระทบอก กระทบศูนย์เหนือสะดือนิดหน่อย หายใจ
ออกลมกระทบศูนย์ กระทบอกกระทบจมูกหรือริมฝีปาก
ถ้าภาวนา ก็กำหนดรู้ไว้เสมอว่าเราภาวนาถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ประการ
ใด
ถ้าเพ่งภาพกสิณ ก็กำหนดหมายภาพกสิณว่า เราเพ่งกสิณอะไร มีสีสัน
วรรณะเป็นอย่างไร ภาพกสิณเคลื่อนหรือคงสภาพ สีของกสิณเปลี่ยนแปลงไป
หรือคงเดิม ภาพที่เห็นอยู่นั้นเป็นภาพกสิณที่เราต้องการ หรือ ภาพหลอนสอด
แทรกเข้ามา ภาพกสิณเล็กหรือใหญ่ สูงหรือต่ำ ดังนี้เป็นต้น อย่างนี้เรียกว่า วิจาร
๓. ปีติ ความชุ่มชื่นเบิกบานใจ มีเป็นปกติ
๔. ความสุขเยือกเย็น เป็นความสุขทางกายอย่างประณีต ซึ่งไม่เคยมีมาใน
กาลก่อน
๕. เอกัคคตารมณ์ มีอารมณ์เป็นหนึ่ง คือ ตั้งมั่นอยู่ในองค์ทั้ง ๔ ประการนั้น
ไม่คลาดเคลื่อน
ข้อที่ควรสังเกตก็คือ ปฐมฌาน หรือ ปฐมสมาบัตินี้ เมื่อขณะทรงสมาธิอยู่นั้น
หูยังได้ยินเสียงภายนอกทุกอย่าง แต่ว่าอารมณ์ภาวนาหรือรักษาอารมณ์ไม่คลาดเคลื่อน
ไม่รำคาญในเสียง เสียงก็ได้ยินแต่จิตก็ทำงานเป็นปกติ อย่างนี้ท่านเรียกว่า ปฐมฌาน คือ
อารมณ์เพ่งอยู่ โดยไม่รำคาญ ในเสียงทรงความเป็นหนึ่งไว้ได้ ท่านกล่าวว่า กายกับ
จิตเริ่มแยกตัวกันเล็กน้อย แล้วตามปกติจิตย่อมสนใจในเรื่องของกาย เช่นหูได้ยินเสียง
จิตก็คิดอะไรไม่ออกเพราะรำคาญในเสียง แต่พอจิตเข้าระดับปฐมฌาน กลับเฉยเมย
ต่อเสียงคิดคำนึงถึงอารมณ์กรรมฐานได้เป็นปกติที่ท่านเรียกว่า ปฐมสมาบัติ ก็
เพราะ อารมณ์สมาธิเข้าถึงเกณฑ์ของปฐมฌานที่จิตกับกายเริ่มแยกทางกันบ้างเล็กน้อย
แล้วนั่นเอง
อารมณ์ปฐมฌาน และปฐมสมาบัติ
เพื่อให้จำง่ายเข้า จะขอนำอารมณ์ปฐมฌานมากล่าวโดยย่อเพื่อทราบไว้ อารมณ์-
ปฐมฌานโดยย่อมีดังนี้
๑. วิตก ความตรึกนึกคิดถึงอารมณ์ภาวนา
๒. วิจาร ความใคร่ครวญทบทวนถึงองค์ภาวนานั้นๆ ครบถ้วนถูกต้องหรือไม่เพียงใด
๓. ปีติ ความเอิบอิ่มใจ มีความชุ่มชื่นเบิกบานหรรษา
๔. สุข มีความสุขสันต์ทางกายและจิตใจอย่างไม่เคยมีมาในกาลก่อน เป็นความสุข
อย่างประณีต
๕. เอกัคคตา มีอารมณ์เป็นหนึ่ง คือ ทรงวิตก วิจาร ปีติ สุข ไว้ได้โดยไม่มีอารมณ์
อื่นเข้ามาแทรกแซง
องค์ปฐมฌาน หรือ ปฐมสมาบัติ ๕ อย่างที่กล่าวมาแล้วนี้ ต้องปรากฏพร้อมๆ
กันไปคือ นึกคิดถึงองค์ภาวนาใคร่ครวญในองค์ภาวนานั้นๆ ว่า ครบถ้วนถูกต้องหรือ
ไม่ประการใด มีความชุ่มชื่นเบิกบานใจ มีอารมณ์ผ่องใสสว่างไสวในขณะภาวนา มีความสุข
สันต์หรรษา มีอารมณ์จับอยู่ในองค์ภาวนา ไม่สนใจต่ออารมณ์ภายนอก แม้แต่เสียงที่ได้ยิน
สอดแทรกเข้ามาทำให้ได้ยินชัดเจน แต่จิตใจก็ไม่หวั่นไหว ไปตามเสียงนั้น จิตใจคงมั่นคง
อยู่กับอารมณ์ภาวนาเป็นปกติ
เสี้ยนหนามของปฐมฌาน
เสี้ยนหนามหรือศัตรูตัวสำคัญของปฐมฌาน หรือ ปฐมสมาบัตินี้ ก็ได้แก่
เสียง เสียงเป็นศัตรูที่คอยทำลายอารมณ์ปฐมฌาน ถ้านักปฏิบัติทรงสมาธิอยู่ได้
โดยไม่ต้องระแวงหวั่นไหวในเสียง คือไม่รำคาญเสียงที่รบกวนได้ก็แสดงว่าท่านเข้าถึง
ปฐมฌานแล้ว ข้อที่ไม่ควรลืมก็คือ ฌานโลกีย์นี้เป็นฌานระดับต่ำ เป็นฌานที่ปุถุชน
คนธรรมดาสามารถจะทำให้ได้ถึงทุกคน เป็นฌานที่เสื่อมโทรมง่าย หากจิตใจของ
ท่านไปมั่วสุมกับนิวรณ์ห้าประการอย่างใดอย่างหนึ่งเข้าแม้แต่อย่างเดียว ฌานของท่าน
ก็จะเสื่อมทันที ต่อว่าเมื่อไรท่านขับไล่นิวรณ์ไม่ให้เข้ามารบกวนจิตใจได้ ฌานก็เกิดขึ้น
แก่จิตใจของท่านต่อไป ฌานจะเสื่อม หรือ เจริญก็อยู่ที่นิวรณ์ ด้านนิวรณ์ไม่ปรากฏจิตว่าง
จากนิวรณ์ จิตก็เข้าถึงฌาน ถ้านิวรณ์มารบกวนจิตได้ ฌานก็จะสลายตัวไป ฌานตั้งแต่
ฌานที่ ๑ ถึง ฌานที่ ๘ มีสภาพเช่นเดียวกัน คือต้องระมัดระวังนิวรณ์ไม่ให้เข้ามายุ่ง
แทรกแซงเหมือนกัน ก่อนที่จะพูดถึงฌานที่ ๒ จะขอนำเอานิวรณ์ศัตรูร้ายผู้คอยทำลาย
ฌานมาให้ท่านรู้จักหน้าตาไว้เสียก่อน
นิวรณ์ ๕
อกุศลธรรมที่คอยทำลายล้างความดีที่เป็นกุศล คือ ฌาน ท่านเรียกว่า นิวรณ์ มี ๕
อย่างคือ
๑. กามฉันทะ ความพอใจใน รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสอันเป็นวิสัยของ
กามารมณ์
๒. พยาบาท ความผูกโกรธ จองล้างจองผลาญ
๓. ถีนมิทธะ ความง่วงเหงาหาวนอน ในขณะเจริญสมณธรรม
๔.อุทธัจจกุกกุจจะ ความคิดฟุ้งซ่าน และความรำคาญหงุดหงิดใจ
๕.วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในผลของการปฏิบัติ ไม่แน่ใจว่าจะมีผลจริงตามที่คิด
ไว้หรือไม่เพียงใด
อารมณ์ทั้ง ๕ ประการนี้ เป็นเพื่อนสนิทกับจิตใจมานับจำนวนปีไม่ถ้วน ควรจะพูด
ว่า จิตใจของเราคบกับนิวรณ์มานานหลายร้อยหลายพันชาติ เมื่อจิตใจเราสนิทสนม
กับอารมณ์ของนิวรณ์มานานอย่างนี้ เป็นธรรมดาอยู่เองที่จิตใจจะต้องอดคบหาสมาคมกับ
นิวรณ์ไม่ได้ เมื่อเรามาแนะนำให้คบหาสมาคมกับฌาน ซึ่งเป็นเพื่อนหน้าใหม่ มีนิสัยตรงข้าม
กับเพื่อนเก่าก็เป็นการฝืนอารมณ์อยู่ไม่น้อย ฉะนั้น ในฐานะที่นิวรณ์กับจิตเป็นเพื่อนสนิทกัน
มานาน ก็อดที่จะแอบไปคบหาสมาคมกันไม่ได้ อารมณ์ที่จะคอยหักล้างนิวรณ์ คืออกุศลห้า-
ประการนี้ได้ ก็อารมณ์ ๕ ประการของปฐมฌานนั่นเอง เมื่อจิตกับนิวรณ์เป็นมิตรสนิทกัน
มานาน
ฉะนั้น การดำรงจิตอยู่ในอารมณ์ฌานจึงทรงอยู่ได้ไม่นาน ทรงอยู่ได้ชั่วครู่ชั่วขณะ
จิตก็เลื่อนเคลื่อนออกจากอารมณ์ฌานคลานเข้าไปหานิวรณ์ อาการอย่างนี้เป็นกฎธรรมดา
ของท่านที่เข้าถึงฌานในระยะต้น หรือที่มีความช่ำชองชำนาญในฌานยังน้อยอยู่ต่อเมื่อไร
ได้ฝึกการดำรงฌาน กำหนดเวลาตามความต้องการได้แล้ว เมื่อนั้นแหละความเข้มข้นเข้ม
แข็งของกำลังจิตที่จะทรงฌานอยู่ได้นานตามความต้องการจึงจะปรากฏมีขึ้น ขอนักปฏิบัติ
จงเข้าใจไว้ด้วยว่า จิตที่เข้าสู่ระดับฌาน คือ ปฐมฌาน หรือฌานอื่นใดก็ตาม ถ้า
ยังไม่ฝึกฝนจนชำนาญ เข้าฌานออกฌานตามกำหนดเวลาได้แล้ว จิตก็จะยังทรงสมาธิไว้
ได้ไม่นาน จิตจะค่อยถอยหลังเข้าหานิวรณ์ ๕ ประการอย่างใดอย่างหนึ่งเมื่ออารมณ์ฌาน
ย่อหย่อน เมื่อมีอาการอย่างนั้นบังเกิดขึ้นก็จงอย่าท้อใจหมั่นฝึกฝนเข้าฌานโดยการกำหนด
เวลาว่า ต่อแต่นี้ไปเราจะดำรงอยู่ในฌาน ตั้งแต่เวลานี้ถึงเวลาเท่านั้น แล้วเริ่มทำสมาธิเข้าสู่
ระดับฌาน ทรงฌานไว้ตามเวลาจนกว่าเมื่อถึงเวลาแล้วจิตจะเคลื่อนจากฌาน มีความรู้สึก
ตามปกติเอง เมื่อทำได้แล้วหัดทำบ่อย ๆ จากเวลาน้อย ไปหาเวลามาก คือ ๑ ชั่วโมง ไป
หา ๒-๓-๔-๕-๖ จนถึง ๑ วัน ๒-๓-๔-๕-๖-๗ พอครบกำหนด จิตก็จะคลายตัวออกเองโดย
ไม่ต้องตั้งนาฬิกาปลุกหรือคนเรียก เมื่อชำนาญอย่างนี้ ชื่อว่าท่านเอาชนะนิวรณ์ได้ แต่ก็
อย่าประมาทเพราะฌานโลกีย์ ถึงอย่างไรก็ดี ยังไม่พ้นอำนาจนิวรณ์อยู่นั่นเอง นิวรณ์ที่ไม่มา
รบกวนนั้นไม่ใช่นิวรณ์สูญไปหรือสลายตัวเพียงแต่เพลียไปเท่านั้นเอง ต่อเมื่อไรท่านได้
โลกุตตรฌาน คือ บรรลุพระอริยะ ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไปนั่นแหละท่านพอจะไว้ใจตัว
ได้ว่าท่านไม่มีวันที่จะต้องตกมาอยู่ใต้อำนาจนิวรณ์ คืออกุศลธรรมต่อไปอีก เพราะโลกุต-
ตรฌานคือ ได้ฌานโลกีย์แล้วเจริญวิปัสสนาญาณจนบรรลุอริยมรรคอริยผล เป็นพระอริย-
บุคคล แล้วอกุศลคือนิวรณ์ ๕ ประการเข้าครองจิตไม่ได้สนิทนักสำหรับพระอริยะต้น พอจะ
กวนบ้างเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็จักจูงใจให้ทำตามนิวรณ์สั่งไม่ได้ นิวรณ์บางอย่างเช่น กามฉันทะ
ความพอใจในความสวยงามของ รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส ความโกรธ ความขัด เคือง
พระโสดาบัน พระสกิทาคามียังมี แต่ก็มีเพียงคิดนึกไม่ถึงกับลงมือทำ เรียกว่าอกุศลกวนใจ
นิดหน่อย พอทำได้ แต่จะบังคับให้ทำไม่ได้ สำหรับพระอนาคามี ยังตกอยู่ใต้อำนาจของ
อุทธัจจะ คือความคิดฟุ้งซ่าน แต่ก็คิดไปในส่วนที่เป็นกุศลใหญ่มากกว่า ความคิดฟุ้งเลอะ
เลือนเล็กๆ น้อย ๆ พอมีบ้าง แต่ไม่มีอะไรเป็นภัย เพราะพระอนาคามีหมดความโกรธ
ความพยาบาทเสียแล้ว
อำนาจของนิวรณ์มีอย่างนี้ บอกให้รู้ไว้ จะได้คอยยับยั้งชั่งใจคอยระมัดระวังไว้ไม่ปล่อย
ให้ใจระเริงหลงไปกับนิวรณ์ ที่ชวนให้จิตมีความรู้สึกนึกคิดไปในส่วนที่เป็นอกุศลยับยั้งตนไว้
ในอารมณ์ของฌานเป็นปกติ ท่านที่มีอารมณ์จิตเข้าถึงอารมณ์ฌานและเข้าฌานไว้เป็นปกติ
ท่านผู้นั้นมีหน้าตาแช่มชื่นเอิบอิ่มอยู่เสมอ มีอารมณ์เบิกบานไม่หดหู่ เห็นน่ารักอยู่ตลอดเวลา
ฌานแม้แต่เพียงปฐมฌานจัดว่าเป็นฌานเบื้องต้น ก็มีผลไม่น้อยถ้าทรงไว้ได้ไม่ปล่อยให้เสื่อม
ตายไปในขณะที่ทรงฌาน ก็สามารถไปเกิดในพรหมโลกได้สามชั้น คือ ปฐมฌานหยาบเกิด
เป็นพรหมชั้นที่ ๑ ปฐมฌานกลาง เกิดเป็นพรหมชั้นที่ ๒ ปฐมฌานละเอียด เกิดเป็นพรหม
ชั้นที่ ๓ ถ้าท่านเอาสมาธิในปฐมฌานมาเป็นกำลังของวิปัสสนาญาณแล้วอำนาจสมาธิของ
ปฐมฌานก็สามารถเป็นกำลังให้วิปัสสนาญาณกำจัดกิเลสเป็น สมุจเฉทปหาน คือตัดกิเลส
ได้เด็ดขาดจนบรรลุอรหัตตผลได้สมความปรารถนา อำนาจฌานแม้แต่ฌานที่ ๑ มีอานุภาพ
มากอย่างนี้ ขอท่านนักปฏิบัติจงอย่าท้อใจ ระมัดระวังใจ อย่าหลงใหลในนิวรณ์จนเสียผลฌาน
ทุติยฌานหรือทุติยสมาบัติ (1/0)
คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน ----> หน้า 16
ทุติยฌานหรือทุติยสมาบัติ
ทุติยฌาน แปลว่า ฌานที่ ๒ ทุติยสมาบัติ แปลว่า สมาบัติที่ ๒ ฌานและสมาบัติ
ได้อธิบายมาแล้ว แต่ฌานต้นคือ ปฐมฌาน จะไม่อธิบายอีก ปฐมฌานมีอารมณ์ ๕ ตามที่
กล่าวมาแล้วในฌานที่ ๑ สำหรับทุติยฌานนี้ มีอารมณ์ ๓
อารมณ์ ๓ ของทุติยฌานมีดังต่อไปนี้
อารมณ์ทุติยฌานมี ๓
๑. ปีติ ความเอิบอิ่มใจ
๒. สุข ความสุขอย่างประณีต
๓. เอกัคคตา มีอารมณ์เป็นหนึ่ง
อารมณ์ทุติยฌานนี้ ก็ตัดเอามาจากอารมณ์ปฐมฌานนั่นเอง ท่านที่ทรงสมาธิ
เข้าถึงทุติยฌานนี้ ท่านตัด วิตก วิจาร อันเป็นอารมณ์ของ ปฐมฌานเสียได้ คงเหลือแต่ ปีติ
สุข เอกัคคตา อาการตัดวิตก วิจารนั้นมีความรู้สึกอย่างไรในเวลาปฏิบัติจริง ข้อนี้นักปฏิบัติ
สนใจกันมากเป็นพิเศษเพราะเพียงอ่านรู้แล้วยังหาความเข้าใจจริงไม่ได้ การตัดก็มิใช่จะตัด
ออกไปเฉยๆ ได้ตามอารมณ์ วิตก แปลว่า ตรึก นึกคิด วิจาร แปลว่า ไตร่ตรองใคร่ครวญ
ท่านลองพิจารณาดูเถิดว่า วิตกวิจารนี้ เป็นอารมณ์ที่ตัดไม่ได้ง่ายเลย ใคร ๆ ที่ไหนจะมาห้าม
ความรู้สึกนึกคิดกันง่าย ๆ ได้ เคยฟังท่านสอนเวลาเรียน ท่านสอนว่าให้ตัดวิตกวิจารออกเสียได้
แล้วทรงอยู่ใน ปีติ สุข เอกัคคตาเท่านี้ก็ได้ ทุติยฌาน ท่านพูดของท่านถูกฟังก็ไม่ยาก แต่
ตอนทำเข้าจริง ๆ พอมาเจอตัวตัดวิตกวิจารเข้าจริง ๆ กลับไม่เข้าใจ จะพูดให้ฟังถึงการ
ตัดวิตกวิจาร
ตัดวิตกวิจารตามผลปฏิบัติ
ตามผลปฏิบัตินั้นวิตกวิจารที่ถูกตัดมิได้ตัดด้วยการยกเว้น คืองดการนึกคิด
เอาเอง เฉย ๆ ท่านตัดด้วยการปฏิบัติเข้าถึงระดับ คือ ในระยะแรกก็เจริญภาวนาคาถา
ภาวนาตามท่านอาจารย์สอน จะภาวนาว่าอย่างไรก็ได้ ท่านไม่ได้จำกัดไว้คาถาภาวนาเป็น
สายเชือกโยงใจเท่านั้นให้ใจมีหลักเกาะไว้ไม่ให้สอดส่ายไปในอารมณ์นอกจากคำภาวนา
อย่างนี้ท่านเรียกว่า "บริกรรมภาวนา" ขณะที่ภาวนาอยู่จิตคิดถึงคำภาวนานั้นท่านเรียกว่า
" วิตก" จิตที่คอยประคับประคองคำภาวนา คิดตามว่า เราภาวนาถูกตามอาจารย์สอนหรือ
ไม่ครบถ้วนหรือไม่ อย่างนี้ท่านเรียกว่า " วิจาร " การตัดวิตกวิจาร ก็ภาวนาไปอย่างนั้น
จนเกิด ปีติ สุขและเอกัคคตา คือมีอารมณ์คงที่ จิตไม่สนใจกับอารมณ์ภายนอก รักษาอารมณ์
ภาวนาและอาการเอิบอิ่ม สุขสันต์อยู่ตลอดเวลา ลมหายใจชักจะอ่อนลงทุกที รู้สึกว่าหายใจ
เบา อารมณ์จิตโปร่งแจ่มใส หลับตาแล้ว แต่คล้ายกับมีใครเอาประทีปมาวางไว้ใกล้ ๆ ใน
ระยะนี้เองจิตจะหยุดภาวนาเอาเฉยๆ มีอารมณ์นิ่งดิ่งสบายกว่าขณะที่ภาวนามาก รู้สึกว่า
ลมหายใจอ่อนระรวยลง หูได้ยินเสียงภายนอกแต่เบาลงกว่าเดิม จิตไม่สนใจกับอะไร มี
อารมณ์เงียบสงัดดิ่งอยู่ บางรายพอรู้สึกตัวว่าหยุดภาวนาก็ตกใจ รีบคิดถึงคำภาวนา บางราย
ก็คว้าต้นชนปลายไม่ถูก คำภาวนาภาวนามาจนคล่อง กลับคิดไม่ออกว่าอะไรเป็นต้นเป็น
ปลาย กึกกักอึกอักอยู่ครู่หนึ่งจึงจับต้นชนปลายถูก อาการที่จิตสงัดปล่อยคำภาวนามีอารมณ์
เฉยไม่ภาวนานั่นแหละเป็นการละวิตกวิจาร ละด้วยอารมณ์เข้าถึงสมาธิอันดับฌาน ๒
ไม่ใช่อยู่ ๆ ก็จะมาหยุดภาวนาไปนั้นตอนนั้นจิตตกอารมณ์ทุติยฌาน เข้าสู่อารมณ์ปฐมฌาน
ตามเดิม บางรายก็เข้าสู่ภวังค์ คืออารมณ์ปกติธรรมดาเอาเลย
พูดมาอย่างนี้ คิดว่าท่านผู้อ่านคงจะเข้าใจแล้วว่า การละหรือตัดวิตกวิจารนั้นก็การ
ที่ภาวนาไปจนมีอารมณ์สงัด จิตปล่อยคำภาวนานั่นเอง เมื่อจิตปล่อยคำภาวนาแล้ว ก็เหลือ
แต่ความชุ่มชื่นหรรษามีความสุขสันต์ทางกายอย่างประณีต มีอารมณ์ใจดิ่งอยู่อย่างไม่สนใจ
กับอารมณ์ใด หูเกือบจะไม่ได้ยินเสียงอะไร เป็นอารมณ์จิตที่มีความสุขสบายยอดเยี่ยมกว่า
ฌานที่ ๑ มาก เพราะฌานที่ ๑ ยังต้องมีกังวลอยู่กับการภาวนาและต้องระมัดระวังบทภาวนา
ให้ถูกต้องครบถ้วน จัดว่ามีกังวลมาก สำหรับทุติยฌานนี้ตัดคำภาวนาออกเสียได้ด้วยการเข้า
ถึงอารมณ์ที่ละเอียดกว่า มีแต่ความชุ่มชื่นหรรษาด้วยอำนาจปีติมีความสุขละเอียดอ่อนประณีต
เพราะสู่ความสุขอันประณีตด้วยอำนาจสมาธิที่ตั้งมั่นกว่าปฐมฌานจิตเป็นหนึ่ง คือมีอารมณ์
สงัดจากอารมณ์ภายนอก แม้แต่คำภาวนาก็ไม่แยแส นี่แหละที่ท่านเรียกว่าได้ทุติยฌาน หรือ
ทุติยสมาบัติ เมื่อได้แล้วต้องฝึกฝนให้คล่องว่องไว คิดจะเข้าทุติยฌานเมื่อไร ก็เข้าได้ทัน
ท่วงทีหรือจะทรงทุติยฌานอยู่นานเท่าใด ก็กำหนดเวลาได้ตามความประสงค์ อย่างนี้จึงจะ
ชื่อว่า ได้ทุติยฌานแน่นอน แต่ทว่าเมื่อได้แล้วก็อย่าประมาท ถ้าพลั้งพลาดปล่อยให้อกุศล
มารบกวนใจหรือจิตใจไปใคร่ในอกุศลเข้าเมื่อไร ทุติยฌานก็ทุติยฌานนั่นแหละ เป็นเสื่อม-
ทรามลงทันที ฉะนั้นท่านจึงว่า ฌานโลกีย์นี้ระมัดระวังยาก ต้องคอยประคับประคองประคบ
ประหงมยิ่งกว่าเด็กอ่อนนอนเบาะเสียอีก
เสี้ยนหนามของทุติยฌาน
เสี้ยนหนามของปฐมฌานได้แก่เสียง เสียงเป็นศัตรูคอยทำลายปฐมฌาน เมื่อใดถ้าจิต
ยุ่งกับเสียง คือทนรำคาญไม่ไหว ก็หมายความว่า ปฐมฌานเสื่อมเสียแล้ว สำหรับทุติฌานนี้
มีวิตกวิจารเป็นเสี้ยนหนามศัตรู เมื่อขณะที่จิตทรงสมาธิอยู่ในระดับทุติยฌาน จิตคอยจะเคลื่อน
เลื่อนลงมาหาอารมณ์ปฐมฌาน คือคอยจะยึดเอาคาถาภาวนาเป็นอารมณ์ เพราะคาถาภาวนา
เป็นวิตกวิจาร จึงจำต้องคอยระมัดระวังไว้ อย่าปล่อยสติสัมปชัญญะให้คลาดเคลื่อนคุมอารมณ์
ทุติยฌานอย่าให้เลือนไปได้ ฝึกหัดตั้งกำหนดเวลาทรงฌานเข้าไว้ แล้วทำให้ชินตามกำหนด
เวลา
อานิสงส์ทุติยฌาน
ฌานทั้งหมด เป็นอารมณ์สมาธิที่ทำจิตใจให้พร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ เวลาจะทำ
การงานก็มีความทรงจำดี จิตใจไม่เลอะเลือนฟุ้งซ่าน เป็นอารมณ์รักษาโรคประสาทได้ดี
ที่สุด นอกจากนี้ เวลาจะตายก็มีสติสัมปชัญญะดีไม่หลงตาย ถ้าตายในระหว่างฌานท่านว่า
ทุติยฌานที่เป็นโลกียฌานให้ผลดังนี้
ก. ทุติยฌานหยาบ ให้ผลไปเกิดในพรหมโลกชั้นที่ ๔
ข. ทุติยฌานกลาง ให้ผลไปเกิดในพรหมโลกชั้นที่ ๕
ค. ทุติยฌานละเอียด ให้ผลไปเกิดในพรหมโลกชั้นที่ ๖
ถ้าเอาอารมณ์ทุติยฌานไปเป็นกำลังของวิปัสสนาญาณแล้ว สมาธิระดับทุติยฌานจะมี
กำลังช่วยให้วิปัสสนาญาณกำจัดกิเลสได้ดีและรวดเร็วกว่ากำลังของปฐมฌานมาก ท่านอาจมี
หวังถึงที่สุดของพรหมจรรย์ในชาติปัจจุบันก็ได้ ถ้าท่านมีความเพียรดี ปฏิบัติตรงต่อพระพุทธ-
พจน์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และปฏิบัติพอดีพอควร ไม่ยิ่งหย่อนนัก เรียกว่าปฏิบัติพอเหมาะ
พอดี การปฏิบัติพอเหมาะพอดีนี้ปฏิบัติอย่างไร ท่านก็ศึกษาจากตัวของท่านเองนั่นแหละตรง
ต่อความเป็นจริง
ตติยฌานหรือตติยสมาบัติ (1/0)
คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน ----> หน้า 17
ตติยฌานหรือตติยสมาบัติ
ปฐม แปลว่าที่ ๑ ทุติยะ แปลว่าที่ ๒ ตติยะ แปลว่าที่ ๓ ตติยฌานจึงแปลว่า ฌาน
ที่ ๓ ตติยสมาบัติ แปลว่า การเข้าถึงอารมณ์ฌานที่ ๓ ฌานที่ ๓ นี้ มีอารมณ์ ๒ คือ
๑. สุข ได้แก่ความสุขที่ปราศจากปีติ คือความสุขทางจิตโดยเฉพาะ ไม่มีความสุข
ที่เนื่องด้วยกาย
๒. เอกัคคตา มีอารมณ์เป็นหนึ่ง ที่ไม่มีอารมณ์ห่วงใยในกาย เป็นอาการที่สงัด
จากกาย ฌานนี้ท่านว่าเป็นฌานที่กายกับจิตแยกกันเด็ดขาด
อาการของฌานที่ ๓ นี้เป็นอาการที่จิตตัดปีติความเอิบอิ่มใจในฌานที่ ๒
ออกเสียได้ เมื่ออารมณ์จิตเข้าถึงฌานที่ ๓ นี้ จะรู้สึกว่า อาการขนพองสยองเกล้าก็ดี น้ำตา
ไหลก็ดี กายโยกโคลงก็ดี อาการซู่ซ่าทางกาย คล้ายกายเบา กายใหญ่ กายสูงจะไม่ปรากฏ
เลยมีอาการทางกายเครียดคล้ายกับใครมาจับมัดไว้จนแน่น หรือคล้ายหลักที่ปักจนแน่น
ไม่มีการโยกโคลงได้ฉันนั้น จงจำไว้ว่าตั้งแต่ฌานที่ ๒ เป็นต้นมา ไม่มีการภาวนาเลย ถ้า
ยังภาวนาอยู่ และหูได้ยินเสียงชัด แต่ไม่รำคาญในเสียง เป็นฌานที่ ๑ ตั้งแต่ฌานที่ ๒ มา
ไม่มีการภาวนาและเรื่องเสียงเกือบไม่มีความหมาย คือไม่มีความสนใจในเสียงเลย เสียง
มีอยู่ก็เหมือนไม่มีเพราะจิตไม่รับเสียง ลมหายใจจะค่อยๆ น้อยอ่อนระรวยลงทุกขณะใน
ฌานที่ ๓ นี้ลมหายใจยังปรากฏ แต่ก็รู้สึกเบาเต็มที่มีอาการคล้ายจะไม่หายใจ แต่ก็พอรู้สึก
น้อยๆ ว่าหายใจ จิตสงัดไม่มีการหวั่นไหว ไม่มืด มีความโพลงอยู่มีอารมณ์แน่นในสมาธิ
มากจนรู้ตัวว่า อารมณ์แนบแน่นกว่าสองฌานที่ผ่านมา อย่างนี้ท่านเรียกว่าเข้าถึงฌานที่ ๓
ต้องฝึกเข้าฌานออกฌานให้แคล่วคล่องว่องไวตามที่กล่าวมาแล้ว
เสี้ยนหนามของฌานที่ ๓
ปีติ เป็นเสี้ยนหนามของ ฌานที่ ๓ เพราะฌานที่ ๓ ตัดปีติเสียได้ แต่ถ้าอารมณ์
ตกลงไปปีติจะปรากฏขึ้น ถ้าปีติปรากฏขึ้นเมื่อไร พึงทราบเถิดว่า ขณะนี้อารมณ์จิตเคลื่อน
จากฌานที่ ๓ มาอยู่ระดับฌาน ๒ แล้วถ้าปรากฏว่ามีการภาวนาด้วย แต่จิตยังไม่รำคาญ
ในเสียงก็ยิ่งร้ายใหญ่ เพราะอารมณ์สมาธิไหลออกจนเหลือเพียงฌาน ๑ ท่านให้ระมัดระวัง
ด้วยการทรงสติสัมปชัญญะ อย่าให้อารมณ์สมาธิรั่วไหลเป็นอันขาด เพราะจะเป็นอันตราย
แก่ฌาน ๓
อานิสงส์ฌานที่ ๓
ฌานที่ ๓ นี้ ถ้าทรงไว้ได้จนตาย ในขณะตาย ตายในระหว่างฌานที่ ๓ ท่านว่า
จะไม่หลงตาย เมื่อมีชีวิตอยู่ ก็จะเป็นคนมีอารมณ์แช่มชื่นเบิกบานตลอดเวลา หน้าตา
สดชื่นผ่องใส เมื่อตายแล้ว ฌาน ๓ ย่อมส่งผลให้เกิดเป็นพรหม คือ
๑. ฌานที่ ๓ หยาบ ให้ผลไปเกิดเป็นพรหมชั้นที่ ๗
๒. ฌานที่ ๓ กลาง ให้ผลไปเกิดเป็นพรหมชั้นที่ ๘
๓. ฌานที่ ๓ ละเอียด ให้ผลไปเกิดเป็นพรหมชั้นที่ ๙
ฌาน ๓ ที่เป็นโลกียฌานให้ผลอย่างนี้ ถ้าเอาฌาน ๓ ไปเป็นกำลังของวิปัสสนาญาณ
วิปัสสนาจะมีกำลังกล้า ตัดกิเลสให้เด็ดขาดได้โดยรวดเร็ว อาจได้บรรลุมรรคผลเบื้องสูงใน
ชาตินี้โดยไม่ชักช้านัก ผลของท่านที่ทรงฌาน ๓ ไว้ได้มีผลดังกล่าวมาแล้วนี้
จตุตถฌาน หรือ จตุตถสมาบัติ
จตุตถะ แปลว่าที่ ๔ จตุตถฌานจึงแปลว่าฌานที่ ๔ ฌานที่ ๔ นี้มีอารมณ์ ๒
เหมือนฌาน ๓ แต่ผิดกันที่ฌาน ๓ มีสุขกับเอกัคคตา สำหรับฌานที่ ๔ นี้ ตัดความสุข
ออกเสียเหลือแต่ เอกัคคตา และเติมอุเบกขาเข้ามาแทน ฉะนั้น อารมณ์ของฌาน ๔
จึงมีอารมณ์ผิดแผกจากฌาน ๓ ตรงที่ตัดความสุขออกไป และเพิ่มการวางเฉยเข้ามา
แทนที่
อาการของฌาน ๔ เมื่อปฏิบัติถึง
ฌาน ๔ เมื่อนักปฏิบัติ ปฏิบัติถึงมีอาการดังนี้
๑. จะไม่ปรากฏลมหายใจเหมือนสภาพฌานอื่นๆ เพราะลมละเอียดจน
ไม่ปรากฏว่ามีลมหายใจ ในวิสุทธิมรรคท่านว่า ลมหายใจไม่มีเลย แต่บางอาจารย์
ท่านว่า ลมหายใจนั้นมี แต่ลมหายใจละเอียดจนไม่มีความรู้สึกว่าหายใจ ตามนัยวิสุทธิ-
มรรคท่านกล่าวถึงคนที่ไม่มีลมหายใจไว้ ๔ จำพวกด้วยกัน คือ ๑. คนตาย ๒. คนดำน้ำ
๓. เด็กในครรภ์มารดา ๔.ท่านที่เข้าฌาน ๔ รวมความว่า ข้อสังเกตที่สังเกตได้ชัดเจน
ในฌาน ๔ ที่เข้าถึงก็คือ ไม่ปรากฏว่ามีลมหายใจการที่ฌาน ๔ เมื่อเข้าถึงแล้ว และ
ขณะที่ทรงอยู่ในระดับของฌาน ๔ ไม่ปรากฏว่ามีลมหายใจนี้เป็นความจริง มีนักปฏิบัติ
หลายท่านที่พบเข้าแบบนี้ถึงกับร้องเอะอะโวยวายบอกว่าไม่เอาแล้วเพราะเกรงว่าจะตาย
เพราะไม่มีลมหายใจบางรายที่อารมณ์สติสมบูรณ์หน่อยก็ถึงกับค้นคว้าควานหาลมหายใจ
เมื่ออารมณ์จิตตกลงระดับต่ำกว่าฌานที่ ๔ ในที่สุดก็พบลมหายใจที่ปรากฏอยู่กับปลาย
จมูกนั่นเอง
๒. อารมณ์จิตเมื่อเข้าสู่ระดับฌาน ๔ จะมีอารมณ์สงัดเงียบจากอารมณ์
ภายนอกจริง ๆ ดับเสียง คือ ไม่ได้ยินเสียง ดับสุข ดับทุกข์ทางกายเสียจนหมดสิ้น มี
อารมณ์โพลงสว่างไสวเกินกว่าฌานอื่นใด มีอารมณ์สงัดเงียบ ไม่เกี่ยวข้องด้วยร่างกาย
เลย กายจะสุข จะทุกข์ มดจะกิน ริ้นจะกัดอันตรายใดๆ จะเกิด จิตในระหว่างตั้งอยู่สมาธิ
ที่มีกำลังระดับฌาน ๔ จะไม่รับรู้อะไรทั้งสิ้น เพราะฌานนี้กายกับจิตแยกกันเด็ดขาดจริงๆ
ไม่สนใจข้องแวะกันเลย ดังจะเห็นในเรื่องของลมหายใจ ความจริงร่างกายนี้จำเป็นมาก
ในเรื่องหายใจเพราะลมหายใจเป็นพลังสำคัญของร่างกาย พลังอื่นใดหมดไป แต่อัสสาสะ
ปัสสาสะ คือลมหายใจยังปรากฏ ที่เรียกกันตามภาษาธรรมว่า ผัสสาหารยังมีอยู่ ร่างกาย
ก็ยังไม่สลายตัว ถ้าลมหายใจที่เรียกว่าผัสสาหารหยุดเมื่อไร เมื่อนั้นก็ถึงอวสานของการ
ทรงอยู่ของร่างกาย ฉะนั้น ผลการปฏิบัติที่เข้าถึงระดับฌาน ๔ จึงจัดว่าลมหายใจยังคงมี
ตามปกติที่ไม่รู้ว่าหายใจก็เพราะว่าจิตแยกออกจากกายอย่างเด็ดขาดโดยไม่รับรู้อาการ
ของร่างกายเลย
อาการที่จิตแยกจากร่างกาย
เพื่อให้เข้าใจชัดว่า จิตแยกออกจากร่างกายได้จริงเพียงใด เมื่อท่านเจริญสมาธิถึง
ฌาน ๔ จนคล่องแคล่วชำนิชำนาญดีแล้ว ให้ท่านเข้าสู่ฌาน ๔ แล้วถอยจิตออกมาหยุดอยู่
เพียงอุปจารฌาน แล้วอธิษฐานว่า ขอร่างกายนี้จงเป็นโพรงและกายอีกกายหนึ่งจงปรากฏ
แล้วเข้าฌาน ๔ ใหม่ ออกจากฌาน ๔ มาหยุดอยู่เพียงอุปจารฌาน ท่านจะเห็นกายเป็น
โพรงใหญ่ มีกายของเราเองปรากฏขึ้นภายในกายเดิมอีกกายหนึ่ง ที่ท่านเรียกในมหาสติ-
ปัฏฐานว่ากายในกาย จะบังคับให้กายในกายท่องเที่ยวไปในร่างกายทุกส่วน แม้แต่เส้น
ประสาทเล็กๆ กายในกายก็จะไปได้สะดวกสบายเหมือนเดินในถ้ำใหญ่ ๆ ต่อไปจะบังคับ
กายใหม่นี้ออกไปสู่ภพใด ๆ ก็ไปได้ตามประสงค์ ที่ท่านเรียกว่า "มโนมยิทธิ แปลว่า
มีฤทธิ์ทางใจนั่นเอง" พลังของฌาน ๔ มีพลังมากอย่างนี้ ท่านที่ได้ฌาน ๔ แล้วท่าน
จะฝึกวิชชาสาม อภิญญาหกหรือปฏิสัมภิทาญาณ ก็ทำได้ทั้งนั้น เพราะวิชชาการที่จะฝึก
ต่อไปนั้น ก็ใช้พลังจิตระดับฌาน ๔ นั่นเอง จะแตกต่างกันอยู่บ้างก็เพียงอาการในการ
เคลื่อนไปเท่านั้น ส่วนอารมณ์ที่จะใช้ก็เพียงฌาน ๔ ซึ่งเป็นของที่มีอยู่แล้วเปรียบเสมือน
นักเพาะกำลังกาย ถ้ามีกำลังกายสมบูรณ์แล้วจะทำอะไรก็ทำได้เพราะกำลังพอจะมีสะดุด
บ้างก็ตรงเปลี่ยนแนวปฏิบัติใหม่ จะยุ่งใจบ้างในระยะต้นพอเข้าใจเสียแล้วก็ทำได้คล่อง
เพราะกำลังพอ ท่านที่ได้ฌาน ๔ แล้วก็เช่นเดียวกัน เพราะงานส่วนอภิญญาหรือวิชชาสาม
ก็ใช้พลังจิตเพียงฌาน ๔ เท่านั้น ท่านที่ได้ฌาน ๔ จึงเป็นผู้มีโอกาสจะทำได้โดยตรง
เสี้ยนหนามของฌาน ๔
เสี้ยนหนาม หรือศัตรูตัวสำคัญของฌาน ๔ ก็คือ "ลมหายใจ" เพราะถ้าปรากฏว่า
มีลมหายใจปรากฏเมื่อเข้าฌาน ๔ ก็จงทราบเถิดว่า จิตของท่านมีสมาธิต่ำกว่าฌาน ๔
แล้วจงอย่าสนใจกับลมหายใจเลยเป็นอันขาด
อานิสงส์ของฌาน ๔
๑. ท่านที่ทรงฌาน ๔ ไว้ได้ ในขณะที่มีชีวิตอยู่ จะมีอารมณ์แช่มชื่นตลอดวัน
เวลาจะแก้ปัญหาของตนเองได้อย่างอัศจรรย์
๒. ท่านที่ได้ฌาน ๔ สามารถจะทรงวิชชาสาม อภิญญาหก ปฏิสัมภิทาญาณได้
ถ้าท่านต้องการ
๓. ท่านที่ได้ฌาน ๔ สามารถจะเอาฌาน ๔ เป็นกำลังของวิปัสสนาญาณชำระ
กิเลสให้หมดสิ้นไป อย่างช้าภายใน ๗ ปี อย่างกลางภายใน ๗ เดือน อย่างเร็วภายใน
๗ วัน
๔. หากท่านไม่เจริญวิปัสสนา ท่านทรงฌาน ๔ ไว้มิให้เสื่อม ขณะตาย ตาย
ในระหว่างฌานที่จะได้ไปเกิดในพรหมโลกสองชั้นคือ ชั้นที่ ๑๐ และชั้นที่ ๑๑
รูปสมาบัติหรือรูปฌาน
ฌานหรือสมาบัติที่กล่าวมาแล้วทั้ง ๔ อย่างนี้ ท่านเรียกว่ารูปฌาน หรือ
รูปสมาบัติ ถ้ายังไม่สำเร็จมรรคผลเพียงใด ท่านเรียกว่าโลกียสมาบัติ หรือ
โลกียฌาน ถ้าเจริญวิปัสสนาญาณจนสำเร็จมรรคผลตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป ท่าน
เรียกว่า โลกุตตรสมาบัติ หรือ โลกุตตรญาณ ศัพท์ว่าโลกุตตระ ตัดออกเป็นสอง
ศัพท์ มีรูปเป็น โลกะ และ อุตตระ สนธิ คือเอา โลกะ กับ อุตตระ มาต่อกันเข้า
เอาตัว อ. ออกเสีย เอาสระอุผสมกับตัวตัว ก. เป็น โลกุตตระ โลกะ แปลตามศัพท์ว่า
โลก อุตตระ แปลว่า สูงกว่า รวมความว่าสูงกว่าโลก โลกุตตระ ท่านจึงแปลว่า
สูงกว่าโลก โลกุตตรฌาน แปลว่า ฌานที่สูงกว่าโลก โลกุตตรสมาบัติ แปลว่า
สมาบัติที่สูงกว่าโลก หมายความว่า กรรมต่างๆที่โลกนิยมนั้น ท่านพวกนี้พ้น
ไปแล้วแม้บาปกรรมที่ชาวโลกต้องเสวยผลท่านที่ได้โลกุตตระท่านก็ไม่ต้อง
รับผลกรรมนั้นอีก เพราะกรรมของชาวโลกให้ผล ท่านไม่ถึง ท่านจึงได้นาม
ว่า โลกุตตรบุคคล
รวมความว่าฌานประเภทที่กล่าวมาแล้วนั้นเป็นรูปฌาน เพราะมีรูปเป็นอารมณ์
เรียกตามชื่อสมาบัติว่า รูปสมาบัติ สำหรับรูปฌาน หรือรูปสมาบัตินั้น มีแยกออกไปอีก ๔
อย่าง ดังจะกล่าวให้ทราบต่อไป
.
อรูปสมาบัติหรืออรูปฌาน (1/0)
นิมิต (1/0)
คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน ----> หน้า 19
นิมิต
นิมิต แปลว่า เครื่องหมาย คือรูปเป็นเครื่องกำหนดจิต จับเป็นอารมณ์ นิมิต
นี้ส่วนใหญ่เป็นเครื่องหมายของ กสิณ แต่ทว่ากรรมฐานหมวดอื่นๆ ก็มีเหมือนกัน เช่น
อสุภกรรมฐานก็มีรูปอสุภเป็นนิมิต อาหาเรปฏิกูลสัญญา ก็มีรูปอาหารเป็นนิมิต
อย่างนี้เป็นต้น รวมความว่า นิมิตนั้นแยกออกเป็นสองอย่าง คือ นิมิตที่เป็นเครื่อง
หมายกำหนดจิต เป็นนิมิตจำเป็นที่นักปฏิบัติจำเป็นต้องกำหนดอย่างหนึ่ง นิมิตเลื่อน-
ลอยเป็นนิมิตตัดรอนความดีที่นักปฏิบัติควรละประการหนึ่ง จะขออธิบายในนิมิต
ทั้งสองพอเข้าใจไว้ดังต่อไปนี้
นิมิตจำเป็นต้องรักษา
นิมิตที่จำเป็นต้องรักษาคือ กรรมฐานหมวดใดที่มีนิมิตเป็นอารมณ์ เช่น กสิณ
เป็นต้น เมื่อเริ่มปฏิบัติในกรรมฐานกองนั้น ท่านให้ถือนิมิตอะไรเป็นสำคัญต้องรักษานิมิต
นั้นให้มั่นคง คือกำหนดจดจำภาพนั้นให้ติดใจ จะกำหนดรู้เมื่อไรให้เห็นได้ชัดเจนแจ่มใส
ตามสภาพเดิมที่กำหนดจดจำไว้อย่างนี้ท่านเรียกว่า "บริกรรมนิมิต" จัดเป็นสมาธิได้ใน
สมาธิเล็กน้อยที่เรียกว่า "ขณิกสมาธิ"
นิมิตใดที่ท่านนักปฏิบัติเพ่งกำหนดจดจำไว้ มีความชำนาญมากขึ้น จนภาพ
นิมิตนั้นชัดเจนแจ่มใส สามารถบังคับให้สูง ต่ำ ใหญ่ เล็ก ได้ตามความประสงค์ แล้วต่อไป
นิมิตนั้นค่อยเปลี่ยนสี จากสีเดิมไปทีละน้อย ๆ จนกลายเป็นสีใสสะอาด อย่างนี้ท่านเรียกว่า
" อุคคหนิมิต " ถ้าเรียกเป็นสมาธิก็เรียกว่า " อุปจารสมาธิ " ถ้าเรียกเป็นฌานก็เรียกว่า
" อุปจารฌาน "
นิมิตใดที่นักปฏิบัติเพ่งพิจารณากำหนดอยู่จนติดตาติดใจ จนนิมิตนั้นกลาย
จากสีเดิม มีสีขาวใสสวยสดงดงาม มีประกายคล้ายดาวประกายพรึก อารมณ์จิตแนบสนิท
ไม่เคลื่อนไหว ลมหายใจอ่อนระรวย ภาพนิมิตที่สดสวยนั้นหนาทึบเป็นแท่ง อารมณ์จิตไม่
กวัดแกว่งไปตามเสียงที่เข้ามากระทบโสตประสาท แม้เสียงจะดังกังวานเพียงใด จิตใจก็
ไม่หวั่นไหว คงมีอารมณ์สงบเงียบ กำหนดจดจำนิมิตไว้ได้ด้วยดี อาการอย่างนี้เรียกเป็น
นิมิต ท่านเรียกว่า " ปฏิภาคนิมิต " ถ้าเรียกเป็นสมาธิท่านเรียกว่า" อัปปนาสมาธิ "
ถ้าเรียกเป็นฌาน ท่านเรียกว่า " ปฐมฌาน "
นิมิตตามที่ท่านกำหนดให้ยึดถือตามกฎของปฏิบัติกรรมฐานกองนั้น ๆ อย่างนี้
เป็นนิมิตที่จำเป็นต้องกำหนดจดจำและทำให้ถึงขั้นถึงระดับ
นิมิตที่จำต้องละ
นิมิตที่จำต้องละก็คือ นิมิตเลื่อนลอย เมื่อจิตมีสมาธิเล็กน้อย เช่น ขณิกสมาธิ
ตอนปลายใกล้จะถึง อุปจารสมาธิก็ดี หรือจิตเข้าสู่สมาธิก็ดี ตอนนี้จิตเริ่มจะเห็นสิ่งที่เป็น
ทิพย์ เพราะอารมณ์นิวรณ์เริ่มสงัดจากจิต จิตก็จะเริ่มเห็นภาพบ้าง แสงสีต่างๆ บ้าง ความ
สว่างไสวบ้าง ซึ่งเป็นของใหม่ของจิต เพราะเป็นของใหม่ที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อนนั่นเอง
ความปลาบปลื้มลิงโลดจึงปรากฏมีแก่นักปฏิบัติที่ประสบพบเห็น พากันละอารมณ์ภาวนา
หรือการพิจารณาเสีย ปล่อยใจให้เลื่อยลอยไปตามภาพหรือแสงสีที่เห็น จนภาพนั้นเลือน
รางหายไป วันต่อไปถ้าทำไม่เห็น เพราะมีความติดอกติดใจในภาพและแสงสีนั้น นั่งคิด
นอนมอง ใคร่จะได้เห็นภาพและแสงสีอีก เมื่อความใคร่เกิดขึ้นแทนที่จะได้เห็นอีกกลับ
ไม่ได้ประสบพบเห็น บางรายเมื่อไม่ได้เห็นภาพอีก ถึงกับเสียอกเสียใจ ถึงกับกินไม่ได้
นอนไม่หลับกลายเป็นโรคประสาทหลอนไปก็มี จัดว่าเป็นความเสียหายหนักของนักปฏิบัติ
ทางที่ถูกแล้ว สำหรับภาพนอกองค์กรรมฐานที่กำหนดเดิมนั้น ท่านสอนไม่ให้สนใจ
เพราะถ้ากรรมฐานกองที่ปฏิบัติอยู่นั้น เป็นกรรมฐานที่มีนิมิตอะไรเป็นอารมณ์ก็ต้องยึดถือ
นิมิตเดิมเป็นสำคัญ ถ้ามีนิมิตอื่นแปลกปลอมเข้ามาก็ต้องกำจัดไปเสีย วิธีกำจัดก็ไม่สนใจ
ไยดีในภาพนั้นๆ นั่นเอง เพราะถ้าสนใจเข้า จักให้สมาธิฟั่นเฟือน ควรถือว่าเป็นนิมิตทำลาย
ความดี ไม่ควรคบหาสมาคม ให้ยึดถือนิมิตที่กำหนดเดิมเป็นสำคัญ
ถ้ากรรมฐานที่กำลังปฏิบัติอยู่ เป็นกรรมฐานไม่มีนิมิตเป็นอารมณ์ ถ้ามีนิมิตเกิด
แทรกขึ้นมาก็จงตัดทิ้งไปเสียอย่าสนใจ เพราะกรรมฐานใดที่ไม่มีนิมิตเป็นอารมณ์ เมื่อ
ปรากฏนิมิตแทรกขึ้นมาต้องถือว่านิมิตนั้นเป็นศัตรูของกรรมฐานที่กำลังปฏิบัติอยู่
นักปฏิบัติที่เอาดีถึงระดับฌานไม่ได้ ก็เพราะมาติดอกติดใจหลงใหลใฝ่ฝันในนิมิต
เป็นสำคัญความจริงจิตที่จะเห็นนิมิตได้นั้น ก็เป็นจิตที่เริ่มเข้าระดับดีบ้างแล้วคือเริ่มมีสมาธิ
เล็ก ๆ น้อยๆ การเห็นภาพก็เพราะจิตเริ่มมีสมาธิ แต่ที่เห็นนิมิตแล้วทิ้งคาถาภาวนาหรือทิ้ง
การกำหนดลมหายใจเข้าออกปล่อยใจให้เลื่อนลอยไปตามภาพนิมิตนั้น เป็นการบ่อนทำลาย
นิมิตและสมาธิโดยตรง การเห็นจะทรงอยู่ได้นานก็เพราะสมาธิทรงตัวนาน ถ้าเห็นแวบเดียว
หายไปก็แสดงว่าจิตเรามีสมาธินิดเดียว ที่ภาพนั้นหายไป ไม่ใช่ภาพนั้นหนีไป ความจริงภาพ
ไม่ได้หนี สมาธิเราไม่ทรงตัวต่างหาก เมื่อสมาธิหมด การทรงตัว เพราะปล่อยจิตลอยไปตาม
ภาพสมาธิก็สลายตัว เมื่อสมาธิสลายตัวจิตก็มีอารมณ์มืด เพราะไม่มีสมาธิ จิตที่มีอารมณ์
สว่างสามารถเห็นภาพได้ก็เพราะจิตมีสมาธิ ถ้านักปฏิบัติรู้เท่าทันแล้วเมื่อเห็นภาพแทนที่
จะมั่นใจในภาพ กลับกำหนดอารมณ์ ในสมาธิให้มากขึ้น โดยไม่สนใจในภาพเลยอย่างนี้
ภาพนั้นจะชัดเจนแจ่มใสอยู่ได้นานจนกว่าสมาธิจะเคลื่อน ขอสรุปย่อเข้าเพื่อเข้าใจง่ายว่า
ภาพนิมิตใดที่นอกเหนือไปจากภาพนิมิตที่กรรมฐานนั้นๆ มีกฎให้กำหนดแล้ว ถ้าปรากฏมี
ขึ้นในขณะเจริญสมาธิท่านไม่ให้สนใจกับภาพนั้น ๆ เลย มุ่งหน้ากำหนดภาวนาไปตามปกติ
ภาพนั้นจะทรงอยู่หรือหายไปอย่างไรก็ช่าง อย่างนี้จึงจะถูกต้อง และเข้าถึงฌานได้รวดเร็ว
ตรงตามความประสงค์ในการปฏิบัติสมาธิเพื่อดำรงฌาน
อารมณ์จิตที่ไม่แน่นอน
นักปฏิบัติกรรมฐานใหม่ๆ มักจะปวดเศียรเวียนเกล้าด้วยอารมณ์จิตที่ไม่แน่นอน
บางคราวทำกรรมฐานมีอารมณ์แนบสนิท ลมละเอียด จิตใจเป็นสมาธิแน่วแน่ดี แต่พอเลิก
แล้ว รุ่งขึ้นวันใหม่ หรือคราวต่อไป กลับมีอารมณ์ส่ายออกภายนอกจนบังคับไม่อยู่ สร้างความ
กลัดกลุ้มให้แก่นักปฏิบัติทุกท่านมาแล้ว อาการอย่างนี้ ไม่มีนักปฏิบัติท่านใดจะไม่ประสบต่าง
ก็พบปะกันมาจนเป็นธรรมดาแก่นักปฏิบัติทุกคน วิธีแก้อารมณ์ซ่านไม่ตั้งอยู่ในสมาธิ ๒ อย่าง
คือ
๑. นักเจริญกรรมฐาน ควรมีแนวปฏิบัติเป็นสองแนว คือแนวภาวนาและพิจารณา
๒. ปล่อยอารมณ์ให้ล่องลอยไปก่อนเมื่อบังคับไม่ไหว แล้วค่อยกำหนดจับเอาเมื่อ
อารมณ์กลับเข้าแนวสมาธิ วิธีแก้อารมณ์ซ่านในสมองแบบนั้น มีคำอธิบายดังต่อไปนี้
ก. ภาวนาและพิจารณา
ภาวนา หมายถึง ภาวนาตามแบบที่ครูบาอาจารย์สอน ภาวนาเพื่อให้อารมณ์
หยุดจากอารมณ์ภายนอกให้จิตจดจ่ออยู่ที่คำภาวนา เพื่อให้จิตเป็นสมาธิ คำว่าจิตเป็นสมาธิ
นั้นหมายถึงจิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ใช่จิตหยุดโดยไม่รับอารมณ์ใดเลย
ทั้งสิ้น นักปฏิบัติใหม่ หรือท่านที่ไม่เคยปฏิบัติสมาธิเลย มักเข้าใจอย่างนั้น ความจริงการ
เข้าใจอย่างนั้นเป็นการเข้าใจที่ไม่ตรงต่อความเป็นจริง ธรรมดาของนักปฏิบัติใหม่จิตที่ว่าง
จากอารมณ์โดยไม่รับรู้อารมณ์เลย สำหรับการปฏิบัติเบื้องต้นไม่มีอาการอย่างนั้นเป็นอาการ
ของ สัญญาเวทยิตนิโรธ พระอรหันต์ขั้นปฏิสัมภิทาญาณ หรือ พระอนาคามีระดับ
ปฏิสัมภิทาญาณเท่านั้นที่จะเข้าได้ พระอริยะนอกนั้น แม้จะเป็นพระอรหันต์ระดับเตวิชโช
หรือฉฬภิญโญก็ไม่สามารถทำได้ ปกติของจิตเป็นอย่างนี้ เมื่อทราบแล้วว่าจิตไม่ว่างจาก
อารมณ์ เพื่อฝึกฝนจิตให้มีกำลังที่ควรแก่การเจริญวิปัสสนาญาณในขั้นต่อไปท่านจึงสอนให้
ภาวนาเพื่อโยงจิตให้อยู่ในอารมณ์ภาวนาคือ หาทางให้จิตนึกคิด แต่นึกคิดในขอบเขตที่มอบ
หมายให้ ไม่ใช่จะนึกคิดเพ่นพ่านไปการภาวนาคาถาบทใดบทหนึ่งนี้เป็นการระงับการฟุ้งซ่าน
ของจิตแต่ทว่าในกาลบางคราว การภาวนาอยู่อย่างนี้จิตเกิดมีอารมณ์ฟุ้งซ่านเกิดที่จะภาวนา
ได้ ทั้งนี้จะเป็นเพราะเหตุใดก็ตามเมื่ออารมณ์จิตเกิดฟุ้งซ่านห้ามปรามไม่ไหวนักปฏิบัติมัก
จะเกิดความกลัดกลุ้มใจ เพราะบังคับใจไม่อยู่เมื่อเห็นว่าจิตจะบังคับให้อยู่ในวงแคบคือ คิด
เฉพาะคำภาวนาไม่อยู่แล้ว ท่านให้หาทางพิจารณาแทนเพราะการพิจารณาก็เป็นอารมณ์คิด
เหมือนกันแต่ว่าคิดในทางละทางปลง จะพิจารณาตามกรรมฐานกองใดก็ได้ เช่น พิจารณาว่า
เราต้องตายเป็นธรรมดาไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ ต้องป่วยไข้เป็นธรรมดาไม่ล่วงพ้นความ
ป่วยไข้ไปได้ต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจเป็นธรรมดา ไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงกฎ
ธรรมดานี้ไปได้ หรือ จะพิจารณาตามอสุภกรรมฐานให้เห็นว่าอะไรๆ ก็ไม่มีความสวยสดงด
งามคงสภาพตามที่กล่าวไว้ในอสุภ๑๐ ประการ หรือจะพิจารณากายตามในกายคตานุสสติก็ได้
กรรมฐานที่ท่านสอนให้พิจารณามีมากมายท่านสนใจก็อ่านต่อไปตอนท้ายเล่มหนังสือนี้จะพบ
แล้วเลือกเอากรรมฐานประเภทพิจารณามาพิจารณาแก้อารมณ์ซ่านกรรมฐานที่เป็นบทภาวนา
มีกำลังเป็นสมาธิ ส่วนใหญ่เป็นฌานกรรมฐานประเภทพิจารณา มีกำลังในขั้นอุปจารฌานได้
ผลเหมือนกัน กรรมฐานภาวนา สร้างจิตให้มีกำลังเข้มแข็ง กรรมฐานพิจารณาทำจิตให้เกิด
ความฉลาดรู้ตามความเป็นจริง เป็นผลให้เกิดนิพพิทาญาณเป็นเหตุให้ได้มรรคผลรวดเร็ว
ต่างฝ่ายก็ดีด้วยกัน เราไม่ได้อย่างโน้นก็ได้อย่างนี้ ดีกว่าปล่อยให้จิตใจกลัดกลุ้ม
ข. ปล่อยอารมณ์
อารมณ์ของจิตบางคราวมันไม่เอาถ่านจริงๆ จะภาวนาหรือพิจารณามันก็ไม่เอาเรื่อง
ด้วยทั้งนั้นมันคอยจะออกนอกลู่นอกทางไปตามอารมณ์ของมัน ที่เป็นอย่างนี้เพราะ
๑. อาจเป็นเพราะเหน็ดเหนื่อยเกินไป
๒. ความป่วยไข้เบียดเบียน
๓. ตั้งใจเกินไป โดยคิดว่าวันวานนี้ เรามีอารมณ์แช่มชื่นดี วันนี้ทำให้ดีกว่านั้น ถ้าตั้งใจ
เกินไปอย่างนี้ รายไหนก็รายนั้น เป็นเตลิดเปิดเปิงออกนอกลู่นอกทางไปทุกราย
รวมความว่าจิตไม่อยู่ในเกณฑ์จะบังคับได้ ท่านให้ปฏิบัติอย่างนี้ เมื่อเห็นว่าบังคับไม่ไหว
จริงๆ แล้วท่านให้ปล่อยให้คิดไปตามเรื่อง จะคิดอะไรก็ช่าง แต่คอยเอาสติควบคุมไว้ ไม่นานนัก
อย่างมากก็ไม่เกิน ๒๐ นาที จิตจะหยุดคิด ตอนนี้ท่านสอนว่าให้เริ่มจับอารมณ์ฝึกทันที จิตจะ
หมดพยศ และจะมีอารมณ์เรียบเป็นอารมณ์ฌานแนบสนิทอย่างคาดไม่ถึง และจะทรงอยู่ได้
นานเกินคาด วิธีนี้จดจำไว้ให้ดี เป็นวิธีที่ได้ผลมาก
อิทธิบาท ๔ (1/0)
คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน ----> หน้า 20
อิทธิบาท ๔
ได้พูดถึงวิธีการต่างๆ มามาก ต่อแต่นี้ไปจะพูดถึงกฎบังคับตายตัวในพระพุทธศาสนา
อีกอย่างหนึ่ง ที่นักปฏิบัติไม่ว่าระดับใดต้องยึดถือเป็นกฎบังคับสำหรับการปฏิบัติ ถ้าทิ้งอิทธิบาท
๔ นี้เสียแล้ว ไม่ว่าจะทำอะไรก็ไม่มีทางสำเร็จผลสมความปรารถนา แต่ถ้าท่านผู้ใดทรงการ
ปฏิบัติตามในอิทธิบาท ๔ นี้แล้ว สมเด็จพระผู้มีพระภาคตรัสรับรองผลว่า ต้องสำเร็จสมความ
มุ่งหมายทุกประการ แม้ท่านหวังพระนิพพานในชาตินี้ ก็หวังได้แน่นอน ใจความในอิทธิบาท ๔
มีดังนี้
๑. ฉันทะ มีความพอใจในปฏิปทาที่ปฏิบัติโดยสม่ำเสมอ
๒. วิริยะ มีความพากเพียรพยายามไม่ท้อถอย
๓. จิตตะ สนใจในข้อวัตรปฏิบัตินั้นเนืองนิจ
๔. วิมังสา ใคร่ครวญพิจารณา ในข้อวัตรปฏิบัตินั้นโดยถูกต้อง
กฎ ๔ อย่างนี้ท่านเรียกว่า อิทธิบาท แปลว่า เข้าถึงความสำเร็จ หมายความว่าท่าน
นักปฏิบัติท่านใดจะปฏิบัติในสมถะหรือวิปัสสนาก็ตาม ถ้าท่านมีแนวความคิดรักใคร่สนใจใน
ข้อวัตรปฏิบัติ มีความพากเพียรไม่ท้อถอย สนใจใคร่อยู่เป็นปกติ พิจารณาสอบสวนทบทวน
ปฏิปทาที่ปฏิบัติแล้วว่า เหมาะสมถูกต้องประการใด หรือไม่เพียงใด ต่อไปควรจะปฏิบัติอย่างไร
จึงจะเหมาะสมถูกต้อง ปฏิบัติได้อย่างนี้ สมเด็จพระชินสีห์ตรัสว่าไม่มีอะไรที่จะทำไม่ได้ไม่สำเร็จ
อิทธิบาท ๔ ประการนี้ นักปฏิบัติต้องยึดไว้เป็นหลักปฏิบัติประจำใจ ไม่มีพระอรหันต์องค์ใดที่จะ
ละเลย ไม่ยึดถืออิทธิบาท ๔ นี้เป็นหลักปฏิบัติประจำใจ แม้องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเองก็ทรง
ยึดอิทธิบาทนี้เป็นกฏในการปฏิบัติเช่นเดียวกัน ขอท่านนักปฏิบัติทุกท่านจงยึดถืออิทธิบาทนี้เป็น
หลักชัยประจำใจไว้เสมอ
อิริยาบท
นักปฏิบัติผู้หวังผล ส่วนมากมักจะหนักใจอิริยาบท คิดว่านั่งอย่างไร นอนได้ไหม? เดิน
ยืนได้หรือเปล่า? ขอบอกไว้ให้ทราบว่า วิธีปฏิบัติในอิริยาบทนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคไม่ทรง
จำกัดไว้ท่านว่าได้ทั้ง ๔ อิริยาบท คือ นั่ง นอน ยืน เดิน
การนั่ง
การนี้ท่านไม่จำกัดไว้ ท่านว่านั่งตามสบาย ชอบขัดสมาธิ หรือพับเพียบ หรือท่าใดท่าหนึ่ง
ที่พอเห็นว่าเหมาะสม หรือพอสบาย ท่านว่าทำได้ แต่ตามแบบท่านพูดเป็นกลาง ๆ ไว้ว่า เข้าสู่
ที่สงัด นั่งขัดสมาธิ ตั้งกายให้ตรง ดำรงจิตให้มั่น ท่านว่าอย่างนี้ การตั้งกายให้ตรง เอากันเพียง
แค่เท่าที่จะตรงได้ สังเกตดูด้วยการทดลองสูดลมหายใจเข้าออก เอาพอหายใจสบายๆ ถ้าคน
หลังงอหลังโกงบังคับให้ตรงเป๋งย่อมไม่ได้ ต้องให้เหยียดพอดีเท่าที่จะเหยียดได้
นอน
ท่านว่าควรนอนตะแคงขวา แบบสีหไสยาสน์ แต่ทว่าถ้านอนตะแคงขวาไม่ได้เพราะเหตุใด
ก็ตาม ท่านจะนอนท่าใดก็ได้ ตามแต่ที่ท่านจะเห็นว่าสบาย
การยืน
แบบยืนนี้เห็นจะไม่ต้องอธิบาย ก็การยืนไม่มีหลายท่า เอากันแค่ยืนได้ ใครขืนเล่นพิเรนทร์
ยืนนอกแบบฉบับก็เห็นจะลำบาก
การเดิน
การเดินนี้มีความสำคัญมาก ต้องขออธิบายสักหน่อย เดินท่านเรียกว่า "จงกรม" ทำกัน
อย่างไร ท่านไม่ได้อธิบายไว้ แต่ตามที่ปฏิบัติกันมา ท่านสอนให้เดินหลายอย่าง คือ
๑. เดินนับก้าว ที่เท้าก้าวไป
๒. เดินกำหนดรู้การก้าวไปและถอยกลับ รู้พร้อมทั้งการแกว่งแขน และยกขาว่า ก้าวเท้า
ซ้ายหรือเท้าขวา แกว่งแขนซ้ายหรือแขนขวา ก้าวไปข้างหน้าหรือข้างหลัง ดังนี้เป็นต้น
๓. เดินกำหนดอารมณ์สมาธิ คือกำหนดนิมิตสมาธิตามอารมณ์กรรมฐานที่เจริญอยู่ โดย
เดินไปตามปกติธรรมดา
ขอสรุปเอาว่า การเดินปฏิบัติ ท่านเรียกว่าเดินจงกรม คือเดินควบคุมสติให้รู้ว่า ก้าวไปหรือ
ถอยกลับใหม่ ๆ ท่านให้ฝึกนับก้าวว่า เดินไปได้กี่ก้าวจึงถึงที่หมาย ต่อมาให้กำหนดรู้ว่า เราเดิน
ด้วยเท้าซ้ายหรือเท้าขวาให้กำหนดรู้ไว้ เพื่อรักษาสมาธิ ต่อไปก็เดินกำหนดอารมณ์กรรมฐาน ถ้า
เป็นกรรมฐานที่มีรูป ก็กำหนดรูปกรรมฐานไปพร้อมกัน กรรมฐานกองใดได้สมาธิในขณะเดิน
กรรมฐานกองนั้นสมาธิไม่มีเสื่อม
วิธีเดิน ตอนแรกๆ ควรเดินช้าๆ เพราะจิตยังไม่ชิน ต่อเมื่อจิตชินแล้ว ให้เดินตามปกติ
แล้วกำหนดรู้ไปด้วย เมื่อใดถ้าเดินเป็นปกติ รู้การก้าวไปและถอยกลับได้จิตไม่เคลื่อนและรักษา
อารมณ์สมาธิ หรือนิมิตกรรมฐานได้เป็นปกติ ทั้งเดินในที่ฝึกหรือเดินในธุรกิจแล้ว ก็ชื่อว่าท่าน
เป็นนักปฏิบัติที่เข้าระดับแล้ว พอจะเอาตัวรอด
บังคับหยุด
การเดินควรฝึกทั้งหลับตาและลืมตา ตอนแรกๆ ฝึกลืมตา พอชำนาญเข้าให้ฝึกหลับตา
แล้วกำหนดที่หยุดโดยกำหนดใจไว้ว่า ถึงตรงนั้นจงหยุด หรือ บังคับการแยกทางว่า ถึงตรงนั้น
จงแยกทาง หรือขณะเดินอยู่นั้นอธิษฐานให้กายเดินย้อนไปย้อนมาตามแนวเส้นทางให้ถูกต้อง
ส่วนจิตถอดท่องเที่ยวไปในภพต่างๆ บังคับให้กายเดินให้ตรงทางที่มีส่วนตรงและโค้ง เลี้ยวไป
เลี้ยวมาตามเส้นทาง
หรือบังคับให้หยุดตรงที่กำหนด ให้หยุดกี่นาที แล้วเดินต่อไปตามกำหนดอย่างนี้ เป็นวิธี
เดินจงกรมฝึกกรรมฐาน การเดินควรฝึกให้ถึงขั้นปกติ
อานิสงส์เดินจงกรม
การเดินจงกรมเป็นการเปลี่ยนอิริยาบท ไม่ให้เส้นสายยึดจนกลายเป็นคนง่อยเปลี้ยและ
ยังทำให้ท้องไม่ผูกอีกด้วย
.
กฏการปฏิบัติกรรมฐาน (1/0)
คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน ----> หน้า 21
กฏการปฏิบัติกรรมฐาน การปฏิบัติพระกรรมฐานในพระพุทธศาสนา มีกฎของการปฏิบัติเพื่อผลของการบรรลุ เป็นระดับไป ตามนัยที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในอุทุมพริกสูตรดังจะยกมา กล่าวไว้แต่ตอนที่เห็นว่าสมควรดังต่อไปนี้ อธิศีลสิกขา ในระดับแรก ก่อนที่ท่านจะหวังผลในฌานโลกีย์ ซึ่งเป็นระดับของอธิจิตตสิกขานั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคทรงสอนให้รักษาศีลให้เป็นอธิศีลเสียก่อนคำว่า อธิศีล แปลดังนี้ อธิ แปลว่า ยิ่ง เกิน หรือล่วง เฉพาะคำว่า อธิ แปลได้สามอย่างดังนี้ ถึงแม้ว่าจะแปลได้ เป็นสามนัยก็คงมีความหมายอย่างเดียวกันคำว่า ยิ่ง ก็หมายถึง การปฏิบัติยิ่งกว่า หมายถึงการปฏิบัติเคร่งครัดกว่าปกติหรือรักษาศีลยิ่งกว่าชีวิตนั่นเอง เกินหรือล่วงก็มี ความหมายเหมือนกัน เกิน ก็หมายถึงปฏิบัติเกินกว่าที่ปฏิบัติกันตามปกติ ล่วง ก็หมาย ถึงการปฏิบัติล่วงคือเกิน ที่กระทำกันตามปกติ ศัพท์สามคำนี้มีความหมายอย่างเดียวกัน การปฏิบัติตามนี้จึงจะจัดเป็นอธิศีลการปฏิบัติเป็นอธิศีลท่านแนะนำไว้ในอุทุมพริกสูตร ดังนี้ ๑. จะรักษาศีลไว้ด้วยดี มิให้ขาดมิให้ทำลาย แม้แต่ศีลจะมัวหมองก็มิยอมให้เป็น ด้วยมีวิธีรักษาดังนี้ จะไม่ทำลายศีลให้ขาดเอง ไม่แนะนำให้คนอื่นทำลายศีล และไม่ยินดีต่อเมื่อเห็น ผู้อื่นทำลายศีล การปฏิบัติพระกรรมฐาน ก่อนที่จะหวังให้ ฌานสมาบัติอุบัติปรากฏแก่ จิตใจนั้น ต้องมีศีลบริสุทธิ์เสียก่อน ถ้าศีลของท่านยังขาดตกบกพร่องรักษาบ้าง ไม่รักษา บ้าง ยังเกรงใจความชั่ว คือสังคมที่มอมแมมด้วยความชั่วช้าที่ต้องมีการดื่มของมึนเมา อวยพร ต้องกินเนื้อสัตว์ที่ยังมีชีวิต เพราะถ้าสัตว์ตายก่อนแล้ว เนื้อมีรสไม่อร่อยต้องพูด ตลบตะแลงให้คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เกรงใจสังคมที่นิยมมีเมียเก็บ เมียอะไหล่ นิยมสะสมสมบัติที่ได้มาโดยมิชอบธรรมเฉพาะอย่างยิ่งการดื่ม ถึงแม้ว่าท่านจะละมาใน วันอื่น ๆ ทุกวันแต่ถ้าวันใดมีการเลี้ยงก็ต้องดื่มเพื่อสังคม แม้อย่างนี้ก็ชื่อว่าท่านไม่มีความ บริสุทธิ์ ไม่มีศีล เป็นอธิศีลแม้แต่ปกติศีลก็ยังไม่จัดว่าท่านเป็นผู้มีศีล ทั้งนี้เพราะการบก พร่องในศีลเป็นความชั่วจะด้วยกรณีใดก็ตามถ้าท่านล่วงศีลด้วยเจตนาแล้ว ท่านก็เป็นคน เลวสำหรับนักปฏิบัติ ในศีลท่านจะอ้างว่าท่านล่วงเพื่อสังคม ก็ไม่มีทางจะเอาตัวรอดได้ เพราะการที่ท่านต้องเกรงใจสังคมที่ชั่วช้าเลวทราม เพราะมุ่งที่จะทำลายความดี สิ่งที่ท่าน ทำไปนั้นมันเป็นเหตุของความชั่ว ขึ้นชื่อว่าความชั่วแม้แต่นิดหนึ่งก็เป็นความชั่ว ของเหม็น ที่มนุษย์รังเกียจ ร่างกายเราทั้งใหญ่ทั้งโต แต่พอสิ่งโสโครกที่มีกลิ่นเหม็นเพียงนิดเดียว มาติดกายเราก็ต้องรีบล้าง รีบชำระ เพราะรังเกียจในกลิ่นเหม็นที่เราไม่ยอมปล่อยด้วยคิด ว่ามันมีจำนวนนิดเดียว ร่างกายเรายังว่างจากสิ่งโสโครกนั้นมากมายเราไม่ปล่อยไว้ก็ เพราะคิดว่า สิ่งโสโครกแม้แต่นิดเดียวก็สร้างความเดือดร้อนแก่จิตใจข้อนี้ฉันใดแม้ศีล ที่ท่านรักษาเพื่อเป็นภาคพื้นของสมาธิสมาบัติก็เช่นเดียวกัน ท่านพร่องในศีลด้วยเจตนา เพียงนิดเดียวท่านไม่มีหวังที่จะทรงสมาธิเพื่อฌานสมาบัติได้เลย เพราะเพียงศีลมีการ รักษาแบบหยาบๆ ท่านยังรักษาไม่ได้ ท่านจะเป็นผู้ทรงสมาธิที่มีอารมณ์ละเอียดกว่านี้ได้ อย่างไร ผู้ที่ปฏิบัติกรรมฐานมาเป็นเวลาหลายสิบปีที่ไม่ได้สำเร็จผลใดๆ แม้แต่ฌานโลกีย์ ก็ไม่ได้ก็เพราะพร่องในศีลเป็นสำคัญ เมื่อท่านรักษาศีลตามนัยที่กล่าวมาแล้วโดยมั่นคง จนถึงขั้นไม่ต้องระวังหมายความว่า ละเสียได้จนชินไม่มีการพลั้งเผลอแล้วต่อไปท่านให้ ปฏิบัติดังต่อไปนี้ ระงับนิวรณ์ ๕ ท่านสอนให้ระงับนิวรณ์ห้าประการ โดยพิจารณาเห็นโทษของนิวรณ์ปกติ คือ ๑. เห็นโทษของกามฉันทะ ความมั่วสุมในกามารมณ์ว่า เป็นทุกข์เป็นภัยอย่างยิ่ง ๒. เห็นโทษของการจองล้างจองผลาญ เพราะการพยาบาทมาดร้ายซึ่งกันและกัน เป็นเสมือนไฟคอยผลาญความสุข ๓. คอยกำจัดความง่วงเหงาหาวนอน เมื่อขณะปฏิบัติสมณธรรม ๔. คอยควบคุมอารมณ์ไม่ให้ฟุ้งซ่านออกนอกลู่นอกทางเมื่อขณะภาวนา ๕. ตัดความสงสัยในมรรคผลเสีย โดยมั่นใจว่าผลของการปฏิบัติมีแน่นอนถ้าเรา ทำถึง เจริญพรหมวิหาร ๔ ๑. แผ่เมตตา ความรักไปในทางทิศทั้ง ๔ โดยคิดไว้ด้วยความบริสุทธิ์ใจว่าเราจะ เป็นมิตรแก่คนและสัตว์ทั่วโลก จะยอมเคารพในสิทธิของกันและกัน จะรักสิทธิของผู้อื่น เสมอด้วยสิทธิของกันและกัน จะรักสิทธิของผู้อื่นเสมอด้วยสิทธิของตนเองจะไม่ทำใคร ให้เดือดร้อนด้วยกายวาจาแม้แต่จะคิดด้วยใจ จะรักษาและเคารพในบุคคลและสัตว์เสมอ ด้วยความรักตนเอง ๒. กรุณา จะสงสาร หวังสงเคราะห์สัตว์และมนุษย์ทั้งปวง ทั่วในทิศทั้ง ๔ ๓. มุทิตา จะไม่อิจฉาริษยาคนและสัตว์ทั้งหลาย ทั่วทิศทั้ง ๔ จะพลอยส่งเสริมเมื่อ ผู้อื่นได้ดีมีโชคมีความรู้สึกในเมื่อได้ข่าวว่าผู้อื่นได้ดีมีโชคเหมือนตนของตนเป็นผู้ได้ดีมี โชคเอง ๔. อุเบกขา วางเฉยเมื่อผู้อื่นพลาดพลั้งไม่ซ้ำเติมให้ช้ำใจและตั้งใจหวังสงเคราะห์ เมื่อมีโอกาส การรักษาศีลบริสุทธิ์ ด้วยการไม่ล่วงเอง ไม่ใช่ให้ผู้อื่นล่วง และไม่ยินดีต่อเมื่อผู้อื่น ล่วงศีลและตัดความพอใจในนิวรณ์ ๕ โดยระงับนิวรณ์ไม่ให้รบกวนจิต เมื่อขณะปฏิบัติ สมณธรรมได้ และทรงพรหมวิหาร ๔ ประการได้อย่างครบถ้วนอย่างนี้ อารมณ์จิตก็เป็น ฌาน และฌานจะไม่รู้จักเสื่อมเพราะพรหมวิหาร ๔ อุ้มชู คนที่มีพรหมวิหาร ๔ ประจำใจ ศีลก็บริสุทธิ์ไม่เศร้าหมอง สมาธิก็ตั้งมั่นวิปัสสนาญาณก็ผ่องใส รวมความว่าพรหมวิหาร ๔ เป็นกำลังใหญ่ในการปฏิบัติสมณธรรมทุกระดับ การรักษาศีลบริสุทธิ์ เป็น อธิศีลสิกขา การกำจัดนิวรณ์และทรงพรหมวิหารเป็น อธิจิตตสิกขาคือทรงฌานสมาบัติไว้ได้ ท่านปฏิบัติได้ถึงระดับนี้ พระพุทธชินสีห์ตรัสไว้ใน อุทุมพริกสูตรว่า มีความดีในระดับเปลือกของความดีในพระพุทธศาสนาเท่านั้นเรียกว่า เริ่มเป็นพุทธศาสนิกชนชั้นเด็ก ๆ ความดีระดับกระพี้ ท่านมีศีลบริสุทธิ์ กำจัดนิวรณ์ ๕ ได้ ทรงพรหมวิหาร ๔ แล้วสร้างฌานพิเศษมี ปุพเพ- นิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติที่ล่วงมาแล้วได้โดยไม่จำกัดชาติ ทำได้อย่างนี้ท่านว่ามีความดี ระดับกระพี้ของความดีในพระพุทธศาสนา ยังไม่อยู่ในเกณฑ์ที่พระพุทธเจ้ายกย่องสรรเสริญ ความดีระดับแก่น เมื่อท่านรักษาศีลบริสุทธิ์ กำจัดนิวรณ์ ๕ ได้ ทรงพรหมวิหาร ๔ ได้ปุพเพนิวาสานุส- สติญาณและบรรลุทิพยจักษุญาณ สามารถรู้ว่าสัตว์ตายแล้วไปเกิดที่ไหน สัตว์ที่มาเกิดนี้ มาจากไหน มีความสุขความทุกข์เพราะอาศัยกรรมอะไรเป็นเหตุ ตอนนี้พระพุทธองค์ตรัส ว่า เป็นความดีที่ทรงความเป็นสาระแก่นสาร ความดีระดับนี้ก็เป็นความดีระดับวิชชาสาม แต่ก็ดี เพียงแค่มีศรัทธาแก่กล้าไม่ท้อถอยเท่านั้นเอง พระองค์ทรงกล่าวแก่นิโครธะต่อไป ว่า ความดียิ่งกว่านี้ยังมีอีกที่ทำให้ผู้ปฏิบัติพ้นทุกข์มีแต่สุขล้วนๆ ทรงกล่าวว่า ผู้ใดทรง ความดีตามที่กล่าวมาแล้วนั้นได้ครบถ้วนแล้ว ถ้าจะปฏิบัติเพื่อธรรมเบื้องสูงที่จบพรหม- จรรย์แล้วอย่างช้าไม่เกิน ๗ ปี อย่างกลางไม่เกิน ๗ เดือนอย่างเร็วไม่เกิน ๗ วัน ก็จะเข้า ถึง อรหัตตผล เป็นพระอริยบุคคลระดับยอดในพระพุทธศาสนา กฎของการปฏิบัติสมณธรรมที่จะได้รับผลสมตามที่มุ่งหมายท่านต้องยึดหลักตามที่ กล่าวมาแล้วเป็นบันไดการปฏิบัติ ทำให้ได้ให้ถึงระดับเป็นขั้นๆ ไป เช่น ศีลก็ต้องปฏิบัติ ฝึกหัดจิตให้เป็นมิตรกับศีลจริงๆ จังๆ อย่างชนิดที่ถ้าบกพร่องศีลนิดหนึ่งก็กินไม่ได้ นอน ไม่หลับ ทำความรู้สึกในจิตใจของตนเองให้มีอารมณ์เป็นปกติดีว่า การพร่องในศีลก็เป็น การเปิดโอกาสให้ความเลวทรามเข้าแทรกแซงสิงใจ ทำให้จิต กาย วาจาของเราที่ขัดเกลา แล้วด้วยดี กลายเป็นวาจาใจที่เลวทรามต่ำช้า การพร่องในศีลเลวอย่างไรจะขอย้อนมาพูด เรื่องขาดศีลแล้วกลายเป็นคนเลวทรามให้ท่านได้พิจารณาสักหน่อย พอที่ท่านผู้มีจิตเป็น ธรรม จะได้เห็นเป็นแนวทางปฏิบัติ การบกพร่องในศีลเป็นคนเลว ตอนนี้ให้ถือว่าคุยกันฐานญาติเถอะนะ อย่าคิดเป็นอย่างอื่นเลย อยากจะขอถามท่าน สักนิดว่า ๑. ปกติท่านชอบให้ใครมาทำร้ายร่างกายท่านไหม ? ถ้าท่านอยู่ดีๆ โดยไม่มีความ ผิดใดๆ ถ้ามีคนจะมาฆ่าท่านหรือมาทำร้ายร่างกายท่าน ท่านจะยินยอมให้เขาทำด้วย ความเต็มใจหรือท่านจะไม่พอใจในการกระทำอย่างนั้นของเขา ๒. ทรัพย์สมบัติที่ท่านได้รับมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษก็ดี หรือทรัพย์ที่ท่าน พยายามเก็บหอมรอมริบไว้ด้วยความวิริยะอุสาหะ ที่คอยกระเหม็ดกระแหม่ อดเปรี้ยว ไว้กินหวาน เมื่อท่านเก็บสะสมไว้พอสมควรแก่การที่คิดว่าจะพอดำรงความเป็นอยู่ให้ มีความสุขได้ตามสมควรแล้วถ้ามีบุคคลคณะหนึ่งหรือคนเดียวก็ตาม มาบังคับขู่เข็ญ ยื้อแย่งหรือลักขโมยทรัพย์ที่ท่านอุตส่าห์เก็บหอมรอมริบไว้นั้นไปเป็นสมบัติของเขาโดย ที่เขาไม่มีสิทธิและท่านเองก็มิเห็นชอบด้วย ๓. ท่านมีคู่ครองที่รัก หากมีใครก็ตามมาแอบละเมิดสิทธิร่วมรักกับคู่ครองของท่าน โดยที่ท่านมิได้เห็นชอบด้วย ๔. ปกติมักจะมีคนมาพูดเรื่องราวที่ไม่เป็นความจริงให้ฟังเสมอ ๆ แม้แต่เรื่องที่พูด นั้นเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากเกี่ยวแก่ผลได้ผลเสียของชีวิตและทรัพย์สิน เขายังไม่ยอม พูดอะไรตามความเป็นจริง ข่าวคราวการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ที่ได้รับจากผู้นั้นเป็นข่าวเท็จ ตลอดมา หาความจริงจากวาจาของเขาไม่ได้เลย ๕. ปกติท่านเป็นคนดีมีสติสัมปชัญญะ แต่บังเอิญมีใครมาแนะนำท่านว่า การเป็น คนเรียบร้อยอย่างนี้ ติ๋มเกินไป ไม่ทันสมัย เรามาหาน้ำยาย้อมใจพอที่จะช่วยส่งเสริมใจ ให้เคลิบเคลิ้ม ทำอาการต่างๆ อย่างคนบ้าๆ บอๆ ได้ร้องเพลงในที่รโหฐานที่เขาต้องการ ความสงัดก็ได้โดยไม่ต้องเกรงใจใครทั้งๆ ที่เวลาปกติทำไม่ได้ นอนกลางถนนหนทางก็ได้ ด่าพ่อเตะแม่ก็ได้ โดยไม่ต้องคิดถึงบุญคุณที่ท่านเลี้ยงดูมารวมความว่าทำแบบคนบ้าๆ บอๆ ได้ด้วยความเต็มใจ จนชาวบ้านชาวเมืองที่มีสติสัมปชัญญะพากันเห็นว่าเรากลายเป็นคน บ้าๆ บอๆ เสียแล้ว อยากจะถามว่า อาการทั้ง ๕ อย่างนี้ เป็นอาการของคนที่พร่องในศีลแต่ละอย่างตาม สิกขาบทที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ ถ้าท่านถูกกระทำอย่างนั้นทั้ง ๕ ข้อ หรือข้อใดข้อหนึ่ง ท่านจะมีความพอใจเพียงใดหรือไม่ ท่านคิดว่าคนที่ปกติทำอย่างนั้นเป็นสุภาพบุรุษหรือเป็น อันธพาลที่โลกประณามว่าชั่วช้าสารเลว ขอให้ท่านตอบและเลือกเอาเองถ้าท่านเลือกเอาใน ปฏิปทาที่กล่าวมาแล้วแม้แต่ข้อเดียวท่านก็อย่าเพ่อหวังฌานสมาบัติหรือมรรคผลเลย เพราะ ท่านเลวเกินไปกว่าที่จะเข้าถึงฌานสมาบัติหรือมรรคผลได้ ถ้าคิดว่าท่านเว้นความชั่วช้าเลว ทรามอย่างนั้นได้เด็ดขาด จนมีความรู้สึกเป็นปกติธรรมดาไม่ต้องระมัดระวัง อย่างนี้ ท่านมี หวังดำรงอยู่ในฌานได้แน่นอน การที่มีคนพูดว่าฌานสมาบัติหรือมรรคผลในสมัยนี้ไม่ควร หวัง เพราะไม่มีใครจะบรรลุได้นั้นไม่เป็นความจริงขอให้ท่านดีเท่าดีถึงเถิดฌานและมรรค- ผลยังมีสนองความดีท่านอยู่เป็นปกติที่ไม่ได้ไม่ถึงแม้แต่ฌานโลกีย์ก็เพราะแม้แต่ศีลที่เป็น ความดีหยาบๆ ที่พระอริยะเจ้าเห็นว่าเป็นของเด็กเล่น ก็ไม่สามารถจะรักษาให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์ได้ จะเอาอะไรมาเห็นผี เห็นเทวดา เห็นสวรรค์ นรกอันเป็นวิสัยของผู้ได้ฌาน เพราะศีลเป็นความดีในระยะต่ำก็ยังทรงไม่ได้ความมุ่งหมายเอาพระนิพพานก็ยิ่งไกล เกินไปที่จะหวังได้คนประเภทนี้ท่านกล่าวว่า แม้แต่ความฝันเห็นนิพพานก็ยังไม่เคยมี เมื่อมีศีลเป็นปกติแล้ว ก็พยายามกำจัดนิวรณ์ ๕ ประการ แล้วทรงฌานตามที่ได้ ศึกษาโดยมีพรหมวิหาร ๔ เป็นอารมณ์ คอยควบคุมรักษาจิตใจให้ชุ่มชื่น เป็นการประคับ ประคองศีลและฌานสมาบัติผ่องใสไม่บกพร่อง ระดับของสมาธิที่จะทรงฌาน ทรงญาณให้ ดีเด่นบริบูรณ์ไม่บกพร่อง ต้องทำอย่างนี้ อันดับนี้เป็นฌานโลกีย์ ท่านที่นั่งคิดนอนฝันถึง พระนิพพานอย่าเพ่อท้อใจว่า การปฏิบัติตามลำดับอย่างนี้จะช้าเกินไปไม่ทันการ ขอบอกว่า ท่านคิดว่าจะก้าวลัดตัดไปนิพพานให้เร็วกว่านี้ก็จงคิดว่าท่านไม่ใช่สาวกของพระพุทธเจ้า แล้วท่านอาจเป็นพระศาสดาองค์ใหม่ที่บัญญัติกฎการปฏิบัติใหม่เอาเองเพราะพระพุทธเจ้า มีแนวปฏิบัติที่พระองค์ทรงสั่งสอนพุทธบริษัทพระองค์สอนตามแนวนี้ ที่เขียนนี้ก็ลอกเอา มาจากอุทุมพริกสูตร อันปรากฏมีมาในพระไตรปิฎกตามที่กล่าวมาแล้วนี้เป็นเพียงการ เตรียมการและการปฏิบัติระดับฌานโลกีย์เท่านั้น ถ้าจะปฏิบัติเพื่อมรรคผลและพระนิพพาน ท่านให้เตรียมการและปฏิบัติดังต่อไปนี้ บารมี ๑๐ ทาน ศีล เนกขัมมะ สัจจะ วิริยะ ปัญญา ขันติ เมตตา อธิษฐาน อุเบกขาทั้ง ๑๐ อย่างนี้ เป็นบารมี ๑๐ อย่าง บารมี แปลว่า ทำให้เต็มไม่บกพร่อง ท่านที่หวังมรรคผลต้องบำรุง บารมีให้ครบถ้วนจนเป็นกิจประจำใจ ไม่ละเลยเหินห่างและบกพร่อง ต้องคิดต้องตรอง ประคับประคองไว้เป็นปกติ ดังจะอธิบายไว้พอเข้าใจ ๑. ทาน ทานแปลว่า การให้ นักปฏิบัติต้องมีจิตใจจดจ่อเพื่อการให้ด้วยจิตใจที่หวัง การสงเคราะห์อยู่เป็นปกติ คิดไว้เสมอด้วยจิตที่ภาคภูมิว่า ถ้าการให้ด้วยการสงเคราะห์มีแก่ เราเมื่อใด เมื่อนั้นความสบายสุขสันต์จะมีแก่เราอย่างหาสุขอื่นเปรียบมิได้ ในขณะใดท่านมี คนต้องการความสงเคราะห์ แต่เรางดเว้นการให้เสีย จะถึงกับกินไม่ได้ นอนไม่หลับ เพราะ คิดว่า เราพ่ายแพ้ต่อความตระหนี่ อันเป็นกิเลสตัวสำคัญที่เข้ามาเหนี่ยวรั้งใจ การให้นี้ต้อง ไม่พิจารณาบุคคลถึงสุขภาพและฐานะ ถือเอาเพียงว่าเขาต้องการความช่วยเหลือเราก็ช่วย ตามต้องการ เพื่อเป็นการผ่อนคลายความทุกข์ความขัดข้องของเขา และไม่หวังการตอบ แทนใดๆ ทั้งสิ้น ๒. ศีล ศีล แปลว่า ปกติ การรักษาอาการตามความพอใจของปกติชน ที่มีความ ปรารถนาอยู่เป็นสุข ไม่อยากให้ใครฆ่า หรือทำร้ายร่างกาย ไม่ต้องการให้ใครมายื้อแย่ง ทรัพย์สิน ไม่ต้องการให้ใครมาละเมิดความรัก ไม่ต้องการฟังคำพูดที่ไร้ความจริง และ ไม่ต้องการความคลั่งไคล้ด้วยการย้อมใจด้วยสุราเมรัย ที่ทำให้สติสัมปชัญญะฟั่นเฟือน เมื่อปกติของใจคนและสัตว์เป็นอย่างนี้ เราก็ไม่ทำลายปกติของความปรารถนาความพอใจ ของชาวโลก โดยไม่ละเมิดในสิ่งที่ปกติของจิตใจต้องการ ฉะนั้นศีล ท่านจึงแปลว่า ปกติ คือรักษาอารมณ์ปกติของจิตใจของคนและสัตว์ ไม่ต้องการให้ได้รับความเดือดร้อน การ รักษาศีลก็ต้องรักษาให้เข้าถึงใจ ไม่ใช่รักษาแต่เปลือกศีล การรักษาศีลต้องรักษาอย่างนี้ ไม่ละเมิดบทบัญญัติของศีล คือทำให้ศีลขาด ศีลด่าง ศีลพร้อย และศีลทะลุด้วยตนเอง ไม่แนะนำให้คนอื่นทำ และไม่ยินดีต่อเมื่อผู้อื่นทำแล้ว ต้องรักษาระดับนี้จึงจะเป็นศีลเพื่อ มรรคผล ๓. สัจจะ สัจจะ แปลว่า ความตั้งใจจริง เราจะไม่ยอมเลิกละความตั้งใจเดิม แม้ แต่จะต้องตายก็ตาม ๔. วิริยะ วิริยะ แปลว่า ความเพียร ความเพียรนี้ต้องมีประจำใจจริงๆ วิริยบารมี เป็นเครื่องควบคุมใจในเวลาที่จิตใจเกิดความท้อถอย ต้องตัดสินใจบากบั่นไม่พรั่นพรึงต่อ อุปสรรคใด ๆ แม้จะต้องสิ้นลมปราณก็ตามที ในเมื่อเรานี้เป็นนักเสียสละ แม้แต่ชีวิต จะสูญสิ้นไป เลือดเนื้อจะเหือดแห้งไปก็ตามที ถ้ามรรคผลนิพพานที่เราปรารถนานี้ยัง ไม่ปรากฏเพียงใดเราจะไม่ละความพยายามประพฤติปฏิบัติไปโดยไม่คำนึงถึงอุปสรรค ๕. เนกขัมมะ เนกขัมมะ แปลว่าการถือบวช หมายถึงการอดในกามารมณ์ อย่าง ที่ท่านทรงพรหมจรรย์ โดยตัดใจไม่ใยดีในอารมณ์ยั่วเย้าด้วยอำนาจกามฉันทะ คือความ พอใจในกามารมณ์ คือไม่นิยมรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสเลิศ สัมผัสที่นิ่มนวลและ การฟ้อนรำขับร้องประโคมดนตรี ด้วยเห็นว่าเป็นภัยใหญ่ของการปฏิบัติเพื่อมรรคผล โดยพิจารณาให้เห็นความเป็นทุกข์ของการที่มีความประสงค์อย่างนั้น ตัวอย่างของคนคู่ มีความทุกข์ มีเป็นตัวอย่างดื่น ควรพิจารณาค้นคว้าให้เห็นด้วยตนเอง ถ้าทำตลอดกาล ไม่ได้ก็ให้ปฏิบัติตัดกามารมณ์เป็นครั้งเป็นคราว จิตจะค่อยๆ ชินไปจนตัดใจได้เป็นปกติ ๖. ปัญญา ปัญญาแปลว่า ความรู้ ที่เกิดขึ้นจากการพินิจพิจารณา แปลว่า ความ เฉลียวฉลาดก็ได้ ใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นโทษของ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บไข้ ความพลัดพรากจากของรักของชอบใจ ให้เห็นตามความเป็นจริงว่าเป็นทุกข์ จนเกิดนิพ- พิทา ความเบื่อหน่ายต่อการเกิดในชาติภพต่อไป จนกระทั่งได้สังขารุเปกขาญาณ คือไม่มี ความหวั่นไหวในเมื่อความทุกข์ใด ๆ เกิดขึ้นแก่สังขาร ๗. ขันติ ขันติ แปลว่าความอดทนหรืออดกลั้น ต่ออารมณ์ที่เข้ามายั่วยวนให้เกิด ความรักความโกรธ ความหลง มีความอดกลั้น อดทนเป็นพิเศษ ไม่ยอมให้อารมณ์ฝ่ายชั่ว เข้ามาล้างอารมณ์วิปัสสนาญาณได้ ๘. เมตตา เมตตา แปลว่า ความรักที่ปราศจากความใคร่ด้วยอำนาจกิเลส หมายถึงรักด้วยความปราณี ไม่มีอารมณ์ในส่วนของกิเลสเจือปน ทำจิตของตนให้มี ความรักอย่างกว้างขวาง แม้แต่คนที่เคยประกาศตนเป็นศัตรูมาในกาลก่อน ถ้าเห็น หน้าเข้าเราก็มีจิตใจแช่มชื่นไม่ลำบาก ไม่มีการอาฆาตจองล้างจองผลาญ แต่กลับมี ความเมตตาปราณีสงสารหวังสงเคราะห์ให้มีความสุขตามสมควรแก่อัตภาพ ๙. อธิษฐาน อธิษฐานแปลว่า ความตั้งใจมั่น คือเมื่อตั้งใจไว้แล้วเพียงใดจะ ไม่ยอมแก้ไขเปลี่ยนแปลงไปจากความตั้งใจเดิมเป็นอันขาด ทั้งนี้หมายถึงตั้งใจไว้ถูก ต้องแล้ว แต่ถ้าตั้งใจไว้เดิมผิดพลาด เมื่อพิจารณาทราบแล้ว แก้ไขให้ถูกต้องได้ เป็น การเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้ตรงตามแนวปฏิบัติเพื่อมรรคผลไม่เสียอธิษฐาน ถ้าผิดแล้วขืน ดันทุรังไม่ยอมแก้ไขกลายเป็นมารกิเลส เสียหายใหญ่ ๑๐. อุเบกขา อุเบกขาแปลว่า ความวางเฉย หมายถึงเฉยต่ออารมณ์ที่เป็นทุกข์ และเป็นสุข อันเป็นวิสัยของโลกีย์ คือ ไม่ยอมยินดียินร้ายต่ออารมณ์ของโลกวิสัย ทำจิตใจ ให้ว่างต่ออารมณ์ที่เป็นสุขและทุกข์อันเป็นโลกีย์วิสัยเสีย บารมีทั้ง ๑๐ อย่างนี้ นักวิปัสสนาญาณต้องมีครบถ้วน แล้วต้องปฏิบัติได้เป็นปกติ ไม่ใช่ท่องจำได้ การปฏิบัติได้ก็ต้องเป็นไปตามความพอใจเป็นปกติ ไม่ใช่ฝืนใจ ถ้าบังคับใจ ฝืนใจอยู่ ก็เห็นจะยังนานหน่อยที่จะเข้าถึงมรรคผล ถ้าท่านเห็นว่า การประพฤติตามในบารมี ๑๐ นี้ เป็นปกติธรรมดาไม่มีอะไรหนักใจแล้ว ท่านก็เป็นคนที่ใกล้ต่อมรรคผลผู้หนึ่งเช่นเดียว กับท่านที่ได้บรรลุมรรคผลมาแล้วนั่นเอง อุปกิเลสของวิปัสสนาญาณ ๑๐ ในขั้นวิปัสสนาญาณ เป็นกฎการปฏิบัติเพื่อบรรลุมรรคผล ท่านก็ต้องมีการเตรียม เครื่องอุปกรณ์การปฏิบัติให้ครบถ้วนอย่างปฏิบัติขั้นฌานเหมือนกัน เมื่อท่านตระเตรียม ในขั้นบารมี ๑๐ ชื่อว่าเป็นการเตรียมปูพื้นให้เรียบเพื่อเป็นพื้นฐานขั้นต้น เช่นเดียวกับ การปรับปรุงศีลให้บริสุทธิ์ขั้นปฏิบัติฌานเมื่อท่านปรับปรุงบารมี ๑๐ เพื่อเป็นพื้นฐานแล้ว สิ่งที่ต้องระวังการพลั้งพลาดในการเจริญวิปัสสนาอารมณ์จิตอาจจะข้องหรือหลงใหลใน อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง จนทำให้เสียผลในการกำจัดกิเลส เช่นเดียวกับจิตข้องในนิวรณ์ ทำให้เสียกำลังสมาธิ ไม่ได้ฌานเช่นกัน อารมณ์กิเลสที่คอยกีดกันอารมณ์วิปัสสนาก็คือ อารมณ์สมถะที่มีอารมณ์ละเอียดคล้ายคลึงวิปัสสนาญาณ ท่านเรียกว่าว่า อุปกิเลสของ วิปัสสนา ๑๐ อย่างคือ ๑. โอภาส โอภาส แปลว่า แสงสว่าง ขณะพิจารณาวิปัสสนาญาณนั้น จิตที่กำลัง พิจารณาอยู่ จิตย่อมทรงอยู่ในระดับอุปจารสมาธิ สมาธิระดับนี้ เป็นสมาธิเพื่อสร้างทิพย- จักษุญาณ ย่อมเกิดแสงสว่างขึ้น คล้ายใครเอาประทีปมาตั้งไว้ใกล้ ๆ เมื่อปรากฏแสงสว่าง จงอย่าทำความพอใจว่าเราได้มรรคผลเพราะเป็นอำนาจของอุปจารสมาธิอันเป็นผลของ สมถะที่เป็นกำลังสนับสนุนวิปัสสนาเท่านั้น ไม่ใช่ผลในวิปัสสนาญาณ ๒. ปีติ ปีติ แปลว่า ความอิ่มใจ ความปลาบปลื้มเบิกบาน อาจมีขนพองสยองเกล้า น้ำตาไหล กายโยกโคลง กายลอยขึ้นบนอากาศ กายโปร่งสบาย กายเบา บางคราวคล้ายมี กายสูงใหญ่กว่าธรรมดา มีอารมณ์ไม่อิ่มไม่เบื่อในการปฏิบัติอารมณ์ สมาธิแนบแน่นดีมาก อารมณ์สงบสงัดง่าย อาการอย่างนี้ไม่ใช่ผลของวิปัสสนา เป็นผลของสมถะ อย่าเข้าใจว่า บรรลุมรรคผล ๓. ปัสสัทธิ ปัสสัทธิ แปลว่า ความสงบระงับด้วยอำนาจฌาน มีอารมณ์สงัดเงียบ คล้ายจิตไม่มีอารมณ์อื่น มีความว่างสงัดสบาย ความรู้สึกทางอารมณ์ โลกียวิสัยดูคล้ายจะ สิ้นไป เพราะความรักความโลภ ความโกรธ ความข้องใจในทรัพย์สินไม่ปรากฏ อาการ อย่างนี้เป็นอารมณ์ของอุเบกขาใน จตุตถฌาน เป็นอาการของสมถะ ผู้เข้าถึงใหม่ๆ ส่วน มากหลงเข้าใจผิดว่าบรรลุมรรคผล เพราะความสงัดเงียบอย่างนี้ตนไม่เคยประสบมาก่อน ต้องยับยั้งชั่งใจไว้ก่อน อย่าด่วนตัดสินใจว่าได้มรรคผล เพราะมรรคผลมีฌานเป็นเครื่อง รู้มีอยู่ ถ้าญาณเป็นเครื่องรู้ยังไม่แจ้งผลเพียงใด ก็อย่าเพ่อตัดสินใจว่าได้บรรลุมรรคผล .
--------------------------------------------------------------------------------
อธิโมกข์ (1/0)
คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน ----> หน้า 22
๔. อธิโมกข์ อธิโมกข์ แปลว่า อารมณ์ที่น้อมใจเชื่อโดยปราศจากเหตุผล
ด้วยพอได้ฟังว่าเราได้มรรคได้ผล ยังมิได้พิจารณาให้ถ่องแท้ก็เชื่อแน่เสียแล้วว่า เราได้
มรรคได้ผล โดยไม่ใช้ดุลพินิจเป็นเครื่องพิจารณา อาการอย่างนี้ เป็นอาการของศรัทธา
ตามปกติไม่ใช่มรรคผลที่ตนบรรลุ
๕. ปัคคหะ ปัคคหะ แปลว่า มีความเพียรกล้า คนที่มีความเพียรบากบั่น
ไม่ท้อถอยต่ออุปสรรคเป็นเหตุที่จะให้บรรลุมรรคผล แต่ถ้ามาเข้าใจว่าตนได้บรรลุ
เสียตอนที่มีความเพียรก็เป็นการที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง ความพากเพียรด้วยความมุ
มานะนี้ เป็นการหลงผิดว่าได้บรรลุมรรคผลได้เหมือนกัน
๖. สุข สุข แปลว่า ความสบายกายสบายใจ เป็นอารมณ์ของสมถะที่เข้าถึง
อุปจารฌานระดับสูง มีความสุขทางกายและจิตอย่างประณีต ไม่เคยปรากฏมาก่อนใน
ชีวิต อารมณ์สงัดเงียบ เอิบอิ่มผ่องใส สมาธิก็ตั้งมั่น จะเข้าสมาธิเมื่อใดก็ได้ อารมณ์
อย่างนี้เป็นผลของสมถภาวนา จงอย่าหลงผิดว่าได้มรรคผลนิพพาน
๗. ญาณ ญาณ แปลว่า ความรู้อันเกิดขึ้นด้วยอำนาจที่จิตมีสมาธิ จาก
ผลของสมถภาวนา เช่น ทิพยจักษุฌาน เป็นต้น สามารถเห็นนรก สวรรค์ พรหมโลกได้
และรู้อดีต อนาคต ปัจจุบันได้ตามสมควร เป็นผลของสมถะแท้ไม่ใช่ผลของวิปัสสนา
เมื่อได้ เมื่อถึงแล้วอาจจะหลงผิดว่าได้บรรลุผลนิพพาน เลยเลิกไม่ทำต่อไป พอใจในผล
เพียงนั้น ก็เป็นที่น่าเสียดาย เพราะญาณที่กล่าวมาแล้วนั้นเป็นญาณในสมถะ ไม่ใช่
อารมณ์วิปัสสนาญาณ ถ้าพอใจเพียงนั้นก็ยังต้องเป็นโลกียชนต้องเวียนว่ายตายเกิด
ในวัฏฏะต่อไป
๘. อุเบกขา อุเบกขา แปลว่า ความวางเฉย เป็นอารมณ์ในสมถะคือ ฌาน ๔
ถ้ามาเข้าใจว่าความวางเฉยนี้เป็นมรรคผล ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง ความจริง
ก็อาจคิดไปได้ เพราะคนใหม่ยังเข้าใจอารมณ์ไม่พอ ท่านจึงบอกไว้ให้คอยระวัง
๙. อุปปัฏฐาน อุปปัฏฐาน แปลว่า เข้าไปตั้งมั่น หมายถึงอารมณ์ที่เป็นสมาธิ
มีอารมณ์สงัดเยือกเย็น ดังเช่นที่ท่านเข้าฌาน ๔ มีอารมณ์สงบสงัด แม้แต่เสียงก็กำจัด
ตัดขาดไม่มีปรากฏอารมณ์ใดๆ ไม่มี เป็นอารมณ์ที่แยกกันระหว่างกายกับจิตอย่าง
เด็ดขาด เป็นปัจจัยให้นักปฏิบัติเข้าใจพลาดว่าบรรลุมรรคผลก็เป็นได้ ความจริงแล้ว
เป็นฌาน ๔ ในสมถะแท้ๆ
๑๐. นิกกันติ นิกกันติ แปลว่า ความใคร่ เป็นความใคร่น้อยๆที่เป็นอารมณ์
ละเอียดไม่ฟูมาก ถ้าไม่กำหนดรู้อาจไม่มีความรู้สึก เพราะเป็นอารมณ์ของตัณหาสงบ
ไม่ใช่ขาดเด็ดเป็นเพียงสงบ พักรบชั่วคราวด้วยอำนาจฌาน มีปฐมฌานเป็นต้น เข้าระงับ
อารมณ์ตัณหาที่อ่อนระรวยอย่างนี้ ทำให้นักปฏิบัติเผลอเข้าใจว่าบรรลุมรรคผลนิพพาน
มีไม่น้อย แต่พอนานหน่อยฌานอ่อนกำลังลง พ่อกิเลสตัณหาก็กระโดดโลดเต้นตามเดิม
อาการอย่างนี้ นักปฏิบัติก็ต้องระมัดระวัง
วิปัสสนาญาณที่พิจารณาต้องมีสังโยชน์เป็นเครื่องวัด และพิจารณาไปตามแนว
ของสังโยชน์เพื่อการละ ละเป็นขั้น เป็นระดับไป ค่อยละค่อยตัดไปทีละขั้น อย่าทำเพื่อ
รวบรัดเกินไป แล้วคอยระมัดระวังใจ อย่าให้หลงใหลในอารมณ์อุปกิเลส ๑๐ ประการ
ท่านค่อยทำค่อยพิจารณาอย่างนี้ ก็มีหวังที่จะเข้าถึงความสุข ที่เป็นเอกันตบรมสุข สม
ความมุ่งหมาย
สังโยชน์ ๑๐
สังโยชน์ แปลว่า กิเลสเป็นเครื่องร้อยรัดจิตใจให้ตกอยู่ในวัฏฏะ มี ๑๐ อย่าง
ด้วยกันคือ
๑. สักกายทิฏฐิ เห็นว่าร่างกายเป็นเรา เป็นของเรา เรามีในร่างกาย และร่างกาย
คือเรา (คำว่าร่างกายในที่นี้หมายถึงขันธ์ ๕)
๒. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในคุณพระรัตนตรัย โดยคิดว่าอาจช่วยให้บรรลุผล
ไม่ได้จริง
๓. สีลัพพตปรามาส รักษาศีลแบบลูบๆ คลำๆ คือไม่รักษาศีลจริงจังเคร่งครัด
ตามสมควร
๔. กามฉันทะ มีจิตมั่วสุมหมกมุ่น ใคร่อยู่ในกามารมณ์เป็นปกติ
๕. พยาบาท มีอารมณ์ผูกโกรธ จองล้างจองผลาญเป็นปกติ
๖. รูปราคะ ยึดถือมั่นในรูปฌาน โดยคิดว่ารูปฌานเป็นคุณธรรมพิเศษ สูงสุดที่ทำ
ให้พ้นจากวัฏฏะ
๗. อรูปราคะ ยึดมั่นในอรูปฌาน โดยคิดว่าอรูปฌานเป็นคุณพิเศษที่ทำให้พ้นจากวัฏฏะ
๘. มานะ มีอารมณ์ถือตัวถือตน ถือชั้นวรรณะเกินพอดี
๙. อุทธัจจะ มีอารมณ์ฟุ้งซ่าน ครุ่นคิดอยู่ในอกุศล มีอกุศลวิตกเป็นอารมณ์
๑๐. อวิชชา มีความคิดเห็นว่า โลกามิสเป็นสมบัติที่ทรงสภาพไม่เปลี่ยนแปลงไม่สลายตัว
กิเลสทั้ง ๑๐ ประการนี้ ท่านเรียกว่า สังโยชน์ เพราะเป็นกิเลสเครื่องร้อยรัดจิตใจ
ของสัตว์ผู้ข้องให้จมอยู่ในวัฏฏะ นักเจริญวิปัสสนาญาณต้องรู้ไว้ และพยายามกำจัดกิเลสทั้ง ๑๐
ประการนี้ให้เด็ดขาดไปเป็นขั้นๆ ตามกำลังของสมาธิ และวิปัสสนาญาณ ผู้ใดกำจัดกิเลสนี้ได้
ตั้งแต่ข้อ ๑ ถึงข้อ ๓ ท่านว่าท่านผู้นั้นได้บรรลุพระโสดาและพระสกิทาคา ถ้าตัดกิเลสได้ ๕ ข้อ
คือ ข้อ ๑ ถึงข้อ ๕ ท่านว่าท่านผู้นั้นได้บรรลุพระอนาคามี ถ้าตัดกิเลสได้เด็ดขาดหมดทั้ง ๑๐ ข้อ
ท่านผู้นั้นได้บรรลุพระอรหัตตผล การกำหนดรู้จุดหมายปลายทางเป็นระยะอย่างนี้ เป็นเหตุให้การ
ปฏิบัติไม่หนักจนเกินไปและหวังผลสำเร็จได้แน่นอน ดีกว่าการกระทำแบบเดาสุ่ม ไม่รู้จุดหมาย
ปลายทาง ทำแบบคลุมตาเดิน ทำไปตามความคิดเห็นและความเข้าใจ โดยไม่ทราบจุดหมาย
คิดเอาแต่เพียงว่าจะไปพระนิพพานเท่านั้นเอง พระนิพพานเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ กิเลสที่จะละมีอะไร
บ้างก็ไม่ทราบทำไปตามเขาว่า แล้วจะเอาจุดจบได้อย่างไร ความบรรลุและการปฏิบัติ เพื่อ
พระนิพพานหรือฌานโลกีย์ในพระพุทธศาสนา ท่านมีกำหนดจุดหมายปลายทางตามที่กล่าวมา
แล้วนั้น
เมื่อท่านเตรียมพร้อมในการเจริญวิปัสสนาญาณ ศึกษาบารมี ๑๐ และมีจิตใจทรงบารมี
๑๐ ได้อย่างปกติไม่ขาดตกบกพร่องแล้ว ต่อไปก็ศึกษาอุปกิเลส ๑๐ ประการให้เข้าใจ ระมัด
ระวังใจไม่ให้หลงผิดคิดว่า อารมณ์ในอุปกิเลส ๑๐ เป็นมรรคผล ต่อแต่นั้นไปก็เริ่มเจริญ
วิปัสสนาญาณ โดยในระยะแรก ท่านให้ชำระศีลให้บริสุทธิ์แล้วเข้าสมาธิดำรงฌาน ถ้า
เข้าถึงฌาน ๔ ได้ก็เข้าฌาน ๔ ถ้ามีสมาธิไม่ถึงฌาน ๔ ก็เข้าสมาธิตามกำลังที่ได้
เข้าสมาธิจนอารมณ์สงบดีแล้ว ก็ถอยสมาธิมาหยุดอยู่ที่อุปจารสมาธิ แล้วพิจารณาขันธ์ ๕
ด้วยวิปัสสนาญาณ เริ่มพิจารณาตามลำดับที่ ๑ ก่อน จนมีอารมณ์เป็นเอกัคคตารมณ์ มี
อารมณ์เป็นตามองค์วิปัสสนาญาณนั้นโดยที่จิตจะไม่ฟั่นเฟือนแล้วจึงค่อยๆ เลื่อนอารมณ์
มาพิจารณาในญาณที่ ๒, ๓, ๔, ๕, ๖, ๗, ๘ และถอยหลังเป็นอนุโลมปฏิโลม ที่ท่าน
เรียกว่า สัจจานุโลมิกญาณ เมื่อขณะพิจารณาวิปัสสนาญาณนั้น ถ้าเห็นว่าอารมณ์จะ
ฟุ้งซ่าน ท่านให้หยุดพิจารณาในวิปัสสนาญาณเสีย เข้าฌานตามกำลังสมาธิใหม่ พอให้
จิตใจตั้งอยู่ในสมาธิ เป็นอุเบกขารมณ์แล้ว จึงค่อยๆ คลายสมาธิหยุดอยู่ที่อุปจารฌาน
แล้วพิจารณาวิปัสสนาญาณใหม่ ทำอย่างนี้เป็นปกติ การพิจารณาวิปัสสนาญาณก็อย่า
เร่งรัดรีบร้อน ถ้าพิจารณาข้อใดจิตใจยังปลงข้อนั้นไม่ตกจนเป็นเอกัคคตารมณ์ คือเกิด
ความคิดเห็นเป็นเช่นนั้นจริงจัง จนเกิดความเบื่อหน่ายในขันธ์ ๕ แล้ว ก็อย่าย้ายไป
พิจารณาข้อต่อไปเป็นเด็ดขาด ถ้าพิจารณาจนรู้แจ้งเห็นจริงข้อเดียว ข้อต่อไปก็ไม่มีอะไร
เสียเวลา พอเริ่มพิจารณาก็มีอารมณ์รู้แจ้งเห็นจริงทันที การพิจารณาอย่างนี้ เสียเวลา
ไม่นาน ก็จะเข้าถึงโคตรภูญาณแล้วได้มรรคผลตามที่ตนตั้งใจปรารถนาไว้
การละ (1/0)
คุ่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน ----> หน้า 23
ควรกำหนดการละเป็นข้อๆ
เพื่อไม่ให้ยุ่งยากฟั่นเฝือ การพิจารณาวิปัสสนาญาณควรมุ่งตัดกิเลสเป็นตอนๆไป
ถ้าตอนใดคิดว่าจะละให้เด็ดขาดก็ยังละไม่ได้ ก็ไม่ย้ายข้อที่ตั้งใจจะละต่อไปในข้ออื่นต้อง
ย้ำซ้ำๆ ซากๆ อยู่ในข้อนั้น จนเห็นว่าตัดได้เด็ดขาดไม่กำเริบแล้ว จึงเลื่อนไปพิจารณาละ
ข้อต่อไปอย่าทำแบบสุกเอาเผากิน คราวเดียวมุ่งละหมดทั้ง ๑๐ หรือคราวละหลายๆ ข้อ
ถ้าทำอย่างนั้นจะกลายเป็นพวกโมฆกรรม คือทำไม่ได้ผลไปจงอย่าใจร้อนเพื่อผลแน่นอน
ในการปฏิบัติ
หวังในพระโสดาบัน
ระดับแรกควรหวังในพระโสดาบันก่อน ด้วยคิดว่าอย่างน้อย แม้ไปพระนิพพาน
ยังไม่ได้ก็พ้นอบายภูมิก็พอใจมากแล้ว แล้วกำหนดการละสักกายทิฎฐิก่อน พิจารณาให้
เห็นชัด มีอารมณ์เป็นหนึ่งแน่วแน่ว่า ร่างกาย คือ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เรา
ไม่มีในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่มีในเรา มีอารมณ์รู้แจ้งเห็นจริง ไม่หวั่นไหวในเมื่ออันตราย
จะเกิดแก่ ขันธ์ ๕ มีอารมณ์เป็นปกติ ไม่ประหวั่นพรั่นพรึง แล้วจึงเลื่อนไปกำหนด
ละสังโยชน์ที่ ๒
คือพิจารณาให้เห็นคุณพระรัตนตรัย โดยเห็นด้วยใจอันเต็มไปด้วยศรัทธาแท้
และเห็นด้วยปัญญาว่า พระรัตนตรัยมีคุณประเสริฐจริงๆ เราจะรู้บาปบุญคุณโทษได้ก็
เพราะพระรัตนตรัยเป็นเหตุ จนจิตมีความเคารพมั่นคงดำรงความนอบน้อมในคุณพระ-
รัตนตรัยเป็นเหตุ จนจิตมีความเคารพมั่นคงดำรงความนอบน้อมในคุณพระรัตนตรัย
จริง ๆ ไม่ยอมกล่าววาจาล่วงเกิน แม้แต่จะพูดเล่นๆ ว่า พระพุทธ ไม่ใช่ พระพุทธ
พระธรรม ไม่ใช่ พระธรรม พระสงฆ์ไม่ใช่ พระสงฆ์ แม้พูดเล่นๆ โดยไม่คิด
ปรามาสก็ไม่ยอมพูดทั้งนี้เพราะเคารพด้วยความจริงใจ จนจิตมั่นคงเป็นอารมณ์
ต่อไปก็เริ่มวิจัยในสังโยชน์ที่ ๓ คือปรับปรุงศีล ตั้งใจกำหนดรักษาศีล
จนรักศีลยิ่งกว่าชีวิต โดยกำหนดจิตรักษาศีลโดยมั่นคง อย่านั่งคิดนอนตรองเฉยๆ ต้อง
รอการประสบการณ์ด้วยเมื่อประสบการณ์เกิดขึ้น จนคิดว่านี้ถ้าเป็นในกาลก่อนแต่นี้ถ้า
เหตุการณ์อย่างนี้ปรากฏ เราเห็นจะยั้งใจไม่ไหว แต่นี่ถูกรุกรานขนาดนี้ อารมณ์ใจ
ยังแจ่มใสเสมือนไม่มีอะไรมากระทบใจ ถ้าอารมณ์จิตใจเป็นอย่างนี้ จัดว่าพอใช้ได้
แล้ว
ละสังโยชน์สามอย่างนี้ได้แน่นอน ท่านว่าได้บรรลุพระโสดาบัน ถ้า
ละเอียดไปอีกนิดก็บรรลุ พระสกิทาคามี คงละสังโยชน์ได้สามเท่ากัน แต่ตอนที่ได้
พระสกิทาคามี มีอารมณ์ละเอียดมากว่าพระโสดา ที่เห็นได้ชัดก็คือ อารมณ์ที่ใคร่
ในกามคุณ เกือบหาความรู้สึกมิได้ เพราะมีอารมณ์ สงบสงัดจากกามคุณมากบาง
ท่านคิดว่าได้บรรลุพระอนาคามี
ต่อไปก็มุ่งกำจัดสังโยชน์ ๔ พิจารณาโทษของกามคุณ ตั้งจิตกำจัดให้เด็ดขาด
และละพยาบาทจิตที่คิดประทุษร้าย จนจิตระงับไปเป็นเอกัคคตารมณ์ คือกามคุณไม่มี
ในความรู้สึก อวัยวะสืบพันธุ์สงบระงับ มีอารมณ์ผ่องใส เห็นกามคุณเสมือนเห็นซากศพ
เห็นคนที่เคยเป็นศัตรูกันมีจิตเมตตาคล้ายเห็นบุตรสุดที่รัก อย่างนี้ท่านว่าได้บรรลุ
พระอนาคามีผล
ต่อไปก็ตั้งใจละรูปราคะ คือกำหนดรู้ชัดว่า รูปฌานเป็นกำลังสมาธิที่ช่วย
วิปัสสนาญาณ กำจัดกิเลส มิใช่ว่ารูปฌานเป็นตัวมรรคผล ไม่หลงว่าดีเลิศในขณะที่
ทรงอยู่ในรูปฌาน
กำหนดรู้ชัดในอรูปฌานว่า ไม่ใช่ตัวมรรคผล เป็นสมาธิที่เป็นกำลังสนับ
สนุนวิปัสสนาญาณ ให้มีกำลังกำจัดกิเลสโดยรวดเร็ว ไม่ยับยั้งการปฏิบัติแต่เพียงเท่านั้น
มุ่งเจริญวิปัสสนาญาณเพื่อมรรคผลนิพพานต่อไป
กำหนดตัดอุทธัจจะ คือจิตที่คิดพล่านไปในส่วนที่เป็นอกุศล บังคับ
อารมณ์ของตนให้ตั้งอยู่ในกุศลวิตก ด้วยอำนาจวิปัสสนาญาณ
ตัดมานะ ความถือชั้นวรรณะ อันเป็นการยึดถือที่ไม่ถูกไม่ควรเสีย ทำจิตรู้
ตามความเป็นจริงด้วยอำนาจวิปัสสนาญาณ
ละอวิชชา ด้วยอำนาจวิปัสสนาญาณเสียได้ คำว่า อวิชชานี้ แปลว่า ไม่รู้ เคย
ถกเถียงสอบถามมาหลายท่านว่า อวิชชามีความจำกัดเพียงใด ในสมัยยังศึกษานักธรรม
อยู่หาคนแก้ให้ฟังไม่ได้ ต่อมาได้ตรวจดูในพระไตรปิฎก พบว่า อวิชชา ท่านหมาย
เอาอุปาทาน คือความยึดมั่นถือมั่นไม่รู้ตามความเป็นจริงและ อุปาทานนี้มีคำจำกัด
อยู่ ๒ คำ คือ ฉันทะและราคะ ท่านหมายเอาว่า อุปาทานนี้ก็ได้แก่ ฉันทะ ความ
หลงใหลใฝ่ฝันในโลกามิสทั้งหมดมีความปรารถนา มีความพอใจในสมบัติของโลก โดย
มิได้คิดว่าสมบัติของโลกนี้มันมีอันที่จะต้องสลายฉิบหายไปในที่สุด ราคะ มีความกำหนัด
ยินดีในสมบัติของโลกด้วยอารมณ์ใคร่ในกิเลสฉะนั้นการกำจัดอวิชชา หรือ อุปาทาน ท่าน
ก็ให้พิจารณาเห็นว่า สมบัติของโลกไม่มีอะไรเป็นเรา เป็นของเรา เราไม่มีในสมบัติของ
โลก สมบัติของโลกไม่มีในเรา จนมีอารมณ์ไม่ยึดถืออะไรเป็นอารมณ์มีอยู่ก็เป็นเสมือน
ไม่มีจิตไม่ผูกพันเกินพอดี มีใช้ก็ใช้เมื่อมันอันตรธานไปก็ไม่เดือดร้อนเท่านี้พอแล้ว
มีอารมณ์เหือดแห้งในโลกามิส มีจิตชุ่มชื่นต่ออารมณ์ในพระนิพพานเห็นอะไรใจไม่ข้อง
ไม่เศร้าหมองเดือดร้อนในอารมณ์ที่เป็นโลกวิสัย มีความสุขใจเป็นที่สุด หมดพันธะผูกพัน
ในอารมณ์ต่างๆ ทั้งสิ้น เท่านี้ท่านจัดว่า หมดภาระหน้าที่ ที่จะต้องแสวงหาภพเป็นที่เกิด
ต่อไป
อารมณ์วิปัสสนาญาณมีว่าอย่างไร อะไรบ้างนั้นขอได้โปรดดูตอนท้ายหนังสือนี้
ตอนที่กล่าวด้วยวิปัสสนาญาณ ที่กล่าวพาดมาถึงเรื่องราวในการปฏิบัติวิปัสสนาญาณก็
กล่าวไว้พอเป็นแนวปฏิบัติเท่านั้น การที่จะปฏิบัติจริงและถูกต้องตามแบบตามแผนต้อง
อ่านในตอนที่ว่าด้วยสมถะและวิปัสสนา ซึ่งจะเขียนต่อไป
จริต ๖ (1/0)
คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน ----> หน้า 24
จริต ๖ จริต แปลว่า จิตท่องเที่ยว สถานที่จิตท่องเที่ยวหรืออารมณ์เป็นที่ชอบท่องเที่ยว ของจิตนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคทรงประมวลไว้เป็น ๖ ประการด้วยกัน คือ ๑. ราคจริต จิตท่องเที่ยวไปไปในอารมณ์ที่รักสวยรักงาม คือพอใจในรูปสวยเสียง เพราะกลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสนิ่มนวล รวมความว่าอารมณ์ที่ท่องเที่ยวไปในราคะ คือ ความกำหนัดยินดีนี้ บุคคลผู้เป็นเจ้าของจริต มีอารมณ์หนักไปในทางรักสวยรักงาม ชอบการ มีระเบียบ สะอาด ประณีต มีกิริยาท่าทางละมุนละไมนิ่มนวล เครื่องของใช้สะอาดเรียบร้อย บ้านเรือนจัดไว้อย่างมีระเบียบ พูดจาอ่อนหวาน เกลียดความเลอะเทอะสกปรก การแต่งกาย ก็ประณีต ไม่มีของใหม่ก็ไม่เป็นไร แม้จะเก่าก็ต้องสะอาดเรียบร้อย ราคจริต มีอารมณ์จิต รักสวยรักงามเป็นสำคัญ อย่าตีความหมายว่า ราคจริต มีจิตมักมากในกามารมณ์ ถ้าเข้าใจ อย่างนั้นพลาดถนัด ๒. โทสจริต มีอารมณ์มักโกรธเป็นเจ้าเรือน เป็นคนขี้โมโหโทโส อะไรนิดก็โกรธ อะไรหน่อยก็โมโห เป็นคนบูชาความโกรธว่าเป็นของวิเศษ วันหนึ่งๆ ถ้าไม่ได้โกรธเคือง โมโหโทโสใครเสียบ้างแล้ว วันนั้นจะหาความสบายใจได้ยาก คนที่มีจริตหนักไปในโทสจริต นี้ แก่เร็ว พูดเสียงดัง เดินแรง ทำงานหยาบ ไม่ใคร่ละเอียดถี่ถ้วน แต่งตัวไม่พิถีพิถันเป็น คนใจเร็ว ๓. โมหจริต มีอารมณ์จิตลุ่มหลงในทรัพย์สมบัติ ชอบสะสมมากกว่าการจ่ายออก ไม่ว่าอะไรเก็บดะ ผ้าขาดกระดาษเก่า ข้าวของตั้งแต่ใดก็ตาม มีค่าควรเก็บหรือไม่ก็ตาม เก็บดะไม่เลือก มีนิสัยเห็นแก่ตัว อยากได้ของของคนอื่น แต่ของตนไม่อยากให้ใคร ชอบ เอารัดเอาเปรียบชาวบ้าน ไม่ชอบบริจาคทานการกุศล รวมความว่าเป็นคนชอบได้ ไม่ชอบ ให้ ๔. วิตกจริต มีอารมณ์ชอบคิด ตัดสินใจไม่เด็ดขาด มีเรื่องที่จะต้องพิจารณา นิดหน่อยก็ต้องคิดตรองอยู่อย่างนั้น ไม่กล้าตัดสิน คนประเภทนี้เป็นโรคประสาทมาก มี หน้าตาไม่ใคร่สดชื่น ร่างกายแก่เกินวัย หาความสุขสบายใจได้ยาก ๕. สัทธาจริต มีจิตน้อมไปในความเชื่อเป็นอารมณ์ประจำใจ เชื่อโดยไร้เหตุ ไร้ผล พวกที่ ถูกหลอกลวงก็คนประเภทนี้ มีใครแนะนำอะไรตัดสินใจเชื่อโดยไม่ได้ พิจารณา ๖. พุทธิจริต เป็นคนเจ้าปัญญาเจ้าความคิด มีความฉลาดเฉลียว มีปฏิภาณ ไหวพริบดี การคิดอ่านหรือการทรงจำก็ดีทุกอย่าง อารมณ์ของชาวโลกทั่วไป สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประมวลอารมณ์ว่า อยู่ในกฎ ๖ ประการตามที่กล่าวมาแล้วนี้ บางคนมีอารมณ์ทั้ง ๖ อย่างนี้ครบถ้วน บางราย ก็มีไม่ครบ มีมากน้อยยิ่งหย่อนกว่ากันตามอำนาจวาสนาบารมีที่อบรมมาในการละในชาติ ที่เป็นอดีต อารมณ์ที่มีอยู่คล้ายคลึงกัน แต่ความเข้มข้นรุนแรงไม่เสมอกัน ทั้งนี้ก็เพราะ บารมีที่อบรมมาไม่เสมอกัน ใครมีบารมีที่มีอบรมมามาก บารมีในการละมีสูงอารมณ์ จริตก็มีกำลังต่ำไม่รุนแรง ถ้าเป็นคนที่อบรมในการละมีน้อย อารมณ์จริตก็รุนแรงจริต มีอารมณ์อย่างเดียวกัน แต่อาการไม่สม่ำเสมอกันดังกล่าวแล้ว ประโยชน์ของการรู้อารมณ์จริต นักปฏิบัติเพื่อฌานโลกีย์ หรือเพื่อมรรคผลนิพพานก็ตาม ควรรู้อาการของจริต ที่จิตของตนคบหาสมาคมอยู่ เพราะการรู้อารมณ์จิตเป็นผลกำไรในการปฏิบัติเพื่อการ ละด้วยการเจริญสมาธิก็ตาม พิจารณาวิปัสสนาญาณก็ตาม ความสำคัญอยู่ที่การควบคุม ความรู้สึกของอารมณ์ ถ้าขณะที่กำลังตั้งใจกำหนดจิตเพื่อเป็นสมาธิ หรือพิจารณาวิปัส- สนาญาณ อารมณ์จิตเกิดฟุ้งซ่าน ไปปรารถนาความรักบ้าง ความโกรธบ้าง ผูกพันใน ทรัพย์สมบัติบ้าง วิตกกังวลถึงเหตุการณ์ต่างๆ บ้าง เกิดอารมณ์สัทธาหวังในการสงเคราะห์ หรือมุ่งบำเพ็ญธรรมบ้าง เกิดอารมณ์แจ่มใส น้อมไปในความเฉลียวฉลาดบ้าง เมื่อรู้ ในอารมณ์อย่างนี้ ก็จะได้น้อมนำเอาพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้มาประคับ ประคองใจให้เหมาะสมเพื่อผลในสมาธิ หรือ หักล้างด้วยอารมณ์วิปัสสนาญาณเพื่อผล ให้ได้ญาณสมาบัติ หรือมรรคผลนิพพาน พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ เพื่อ ผลของสมาบัติ ท่านเรียกว่า "สมถกรรมฐาน" มีรวมทั้งหมด ๔๐ อย่างด้วยกันท่าน แยกไว้เป็นหมวดเป็นกองดังนี้ อสุภกรรมฐาน ๑๐ อนุสสติกรรมฐาน ๑๐ กสิณ ๑๐ อาหาเรฏิกูลสัญญา ๑ จตุธาตุววัฏฐาน ๑ พรหมวิหาร ๔ อรูป ๔ รวมเป็น ๔๐ กองพอดี .
แบ่งกรรมฐาน ๔๐ ให้เหมาะแก่จริต (1/0)
คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน ----> หน้า 25
แบ่งกรรมฐาน ๔๐ ให้เหมาะแก่จริต
เพราะอาศัยที่พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญพระบารมี มีมาเพื่อเป็นศาสดา ทรงสั่งสอน
บรรดาสรรพสัตว์เพื่อให้บรรลุมรรคผล ด้วยหวังจะให้พ้นจากทุกข์อันเกิดจากการเวียนว่ายอยู่
ในสังสารวัฏความเป็นสัพพัญญูของสมเด็จผู้ทรงสวัสดิ์ พระองค์ทรงทราบถึงความเหมาะสม
ในกรรมฐานต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับอารมณ์จิตที่มีความข้องอยู่ในขณะนั้น ด้วยตรัสเป็นพระ-
พุทธฎีกาไว้ว่าเมื่อใดอารมณ์จิตของท่านผู้ใดข้องอยู่ในอารมณ์ชนิดใดก็ให้เอากรรมฐาน
ที่พระองค์ทรงประทานไว้ว่าเหมาะสมกันเข้าพิจารณา หรือภาวนาแก้ไขเพื่อความผ่องใสของ
อารมณ์จิต เพื่อการพิจารณาวิปัสสนาญาณ เพื่อมรรคผลนิพพานต่อไป ฉะนั้น ขอนักปฏิบัติ
ทั้งหลายจงสนใจเรียนรู้กรรมฐาน ๔๐ กอง และจริต ๖ประการ ตลอดจนกรรมฐานที่ท่าน
ทรงจัดสรรไว้เพื่อความเหมาะสมแก่จริตนั้นๆ ท่องให้ขึ้นใจไว้และอ่านวิธีปฏิบัติให้เข้าใจเพื่อ
สะดวกเมื่อเห็นว่าอารมณ์เช่นใดปรากฏจะได้จัดสรรกรรมฐานที่พระพุทธองค์ทรงกำหนดว่า
เหมาะสมมาหักล้างอารมณ์นั้นๆ ให้สงบระงับ ถ้านักปฏิบัติทุกท่านปฏิบัติตามพระพุทธฎีกา
ตามนี้ได้ ท่านจะเห็นว่า การเจริญสมถะเพื่อทรงฌานก็ดี การพิจารณาวิปัสสนาญาณเพื่อ
มรรคผลนิพพานก็ดี ไม่มีอะไรหนักเกินไปเลย ตามที่ท่านคิดว่าหนักหรืออาจเป็นเหตุสุดวิสัย
นั้นถ้าท่านปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้วท่านจะเห็นว่าไม่หนักเกินวิสัยของคน
เอาจริงเลยกับจะคิดว่าเบาเกินไปสำหรับท่านผู้มีความเพียรกล้าเสียอีก กรรมฐานทั้ง ๔๐
กอง ท่านจำแนกแยกเป็นหมวดไว้ เพื่อเหมาะสมกับจริตนั้นๆ มีดังนี้คือ
๑. ราคจริต
ราคจริตนี้ ท่านจัดกรรมฐานที่เหมาะสมไว้ ๑๑ อย่างคือ อสุภกรรมฐาน ๑๐ กับ
กายคตานุสสติกรรมฐาน อีก ๑ รวมเป็น ๑๑ อย่างในเมื่ออารมณ์รักสวยรักงามปรากฏ
ขึ้นแก่อารมณ์จิต จงนำกรรมฐานนี้มาพิจารณา โดยนำมาพิจารณาอย่างใดอย่างหนึ่ง
จากกรรมฐาน ๑๑ อย่างนี้ ตามแต่ท่านจะชอบใจ จิตใจท่านก็จะคลายความกำหนัดยินดี
ในกามารมณ์ลงได้อย่างไม่ลำบากยากเย็นอะไรเลย ถ้าจิตข้องอยู่ในกามารมณ์เป็นปกติ
ก็เอากรรมฐานนี้พิจารณาเป็นปกติ จนกว่าอารมณ์จะสงัดจากกามารมณ์ เห็นคนและสัตว์
และสรรพวัตถุทั้งหลายที่เคยนิยมชมชอบว่าสวยสดงดงามกลายเป็นของน่าเกลียดโสโครก
โดยกฎของธรรมดา จนเห็นว่าจิตใจไม่มั่วสุมสังคมกับความงามแล้วก็พิจารณาวิปัสสนา-
ญาณโดยยกเอาขันธ์ ๕ เป็นอารมณ์ ว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในขันธ์ ๕ ขันธ์
๕ ไม่มีในเราโดยเอาอสุภกรรมฐานหรือกายคตานุสสติกรรมฐานเป็นหลักชัยทำอย่างนี้
ไม่นานเท่าใดก็จะเข้าถึงมรรคผลนิพพาน การทำถูกไม่เสียเวลานานอย่างนี้
๒. โทสจริต
คนมักโกรธ หรือขณะนั้นเกิดมีอารมณ์โกรธพยาบาทเกิดขึ้นขวางอารมณ์ไม่
สะดวกแก่การเจริญฌาน ท่านให้เอากรรมฐาน ๘ อย่าง คือ พรหมวิหาร ๔ และวัณณ-
กสิณ ๔ วัณณกสิณ ๔ ได้แก่ นีลกสิณ เพ่งสีเขียว โลหิตกสิณ เพ่งสีแดง ปีตกสิณ เพ่ง
สีเหลือง โอทาตกสิณ เพ่งสีขาว กรรมฐานทั้งแปดอย่างนี้ เป็นกรรมฐานระงับดับโทสะ
ท่านจะเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งที่เหมาะสมแก่ท่าน คือตามแต่ท่านจะพอใจเอามาเพ่ง
และใคร่ครวญพิจารณาอารมณ์โทสะก็จะค่อยๆ คลายตัวระงับไป
๓. โมหะ และ วิตกจริต
อารมณ์ที่ตกอยู่ในอำนาจของความหลงและครุ่นคิดตัดสินใจอะไรไม่เด็ดขาด
ท่านให้เจริญอานาปานุสสติกรรมฐานอย่างเดียว อารมณ์ความลุ่มหลงและความคิด
ฟุ้งซ่านจะสงบระงับไป
4. สัทธาจริต
ท่านที่เกิดสัทธาความเชื่อ เชื่อโดยปกติ หรืออารมณ์แห่งความเชื่อเริ่มเข้า
สิงใจก็ตาม ท่านให้เจริญกรรมฐาน ๖ อย่าง คือ อนุสสติ ๖ ประการ ดังต่อไปนี้
(๑) พุทธานุสสติกรรมฐาน
(๒) ธัมมานุสสติกรรมฐาน
(๓) สังฆานุสสติกรรมฐาน
(๔) สีลานุสสติกรรมฐาน
(๕) จาคานุสสติกรรมฐาน
(๖) เทวตานุสสติกรรมฐาน
อนุสสติทั้ง ๖ อย่างนี้จะทำให้จิตใจของท่านที่ดำรงสัทธาผ่องใส
๕. พุทธิจริต
คนเฉลียวฉลาดรู้เท่าทันเหตุการณ์ และมีปฎิภาณไหวพริบดี ท่านให้เจริญกรรมฐาน
๔ อย่าง ดังต่อไปนี้
(๑) มรณานุสสติกรรมฐาน
(๒) อุปสมานุสสติกรรมฐาน
(๓) อาหาเรปฏิกูลสัญญา
(๔) จตุธาตุววัฏฐาน รวม ๔ อย่างด้วยกัน
กรรมฐานที่เหมาะแก่จริตทั้ง ๖ ท่านจัดเป็นหมวดไว้ ๕ หมวด รวมกรรมฐานที่เหมาะ
แก่จริต โดยเฉพาะจริตนั้นๆ รวม ๓๐ อย่าง หรือในที่บางแห่งท่านเรียกว่า ๓๐ กอง กรรมฐาน
ทั้งหมดด้วยกันมี ๔๐ กอง ที่เหลืออีก ๑๐ กอง คือ อรูป ๔ ภูตกสิณ ได้แก่ ปฐวีกสิณ เตโชกสิณ
วาโยกสิณ อาโปกสิณ ๔ อย่างนี้เรียกภูตกสิณ อาโลกสิณ ๑ และอากาสกสิณอีก ๑ รวมเป็น ๑๐
พอดี กรรมฐานทั้ง ๑๐ อย่างนี้ ท่านตรัสไว้เป็นกรรมฐานกลางเหมาะแก่จริตทุกอย่างรวมความ
ว่าใครต้องการเจริญก็ได้เหมาะสมแก่คนทุกคน แต่สำหรับอรูปนั้นถ้าใครต้องการเจริญท่านให้
เจริญฌานในกสิณให้ได้ฌาน ๔ เสียก่อน แล้วจึงเจริญในอรูปได้ มิฉะนั้นถ้าเจริญอรูปเลยที
เดียวจะไม่มีอะไรเป็นผล เพราะอรูปละเอียดเกินไปสำหรับนักฝึกสมาธิใหม่
.
สมาทาน (1/0)
คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน ----> หน้า 26
สมาทาน
เมื่อท่านศึกษาระเบียบการปฏิบัติครบถ้วนแล้ว ต่อแต่นี้ไปก็เตรียมการปฏิบัติจริง
ก่อนการลงมือปฏิบัติ ท่านสอนให้ตัดกังวลต่างๆ เสียให้สิ้น คิดว่าเวลาเท่านี้เราจะปฏิบัติ
สมณธรรม ต้องเตรียมทำการงานที่จำเป็นไว้ให้ครบถ้วน สั่งคนภายในไว้ว่าเวลาเท่านั้น
เราจะปฏิบัติสมณธรรม แขกไปใครมาขอให้รอพบกำหนดเวลาที่กำหนดให้ เมื่อพร้อม
แล้วกังวลต่างๆ ไม่มีแล้ว ก็จัดแจงอาบน้ำชำระกายให้สะอาด หาดอกไม้ธูปเทียนสำหรับ
บูชาพระรัตนตรัยตามแต่จะหาได้ขณะที่ขอเรียนกรรมฐานใหม่ๆ ตามความนิยมในสมัย
ก่อนๆ มาจนถึงสมัยที่กำลังเขียนหนังสือนี้ท่านให้จัดเครื่องบูชาอย่างละ ๕ คือ ธูป ๕ ดอก
เทียนหนัก ๑ บาท ๕ เล่ม ดอกไม้ ๕ กระทงข้าวตอก ๕ กระทง สำหรับนักศึกษาภาค
ปฏิบัติใหม่และใช้คราวเดียวในคราวเข้ามาศึกษาใหม่เท่านั้น ต่อไปใช้ดอกไม้ธูปเทียน
ตามแต่จะหาได้ ถ้าไม่มีที่หาก็ไม่ต้องหาเมื่อเตรียมกายเตรียมใจ เตรียมเครื่องบูชาครบ
ถ้วนแล้วก็เริ่มบูชาพระรัตนตรัยตามแต่จะบูชาได้ ไม่กะเกณฑ์ว่าจะต้องบูชามากน้อย
เพียงใดท่านที่ว่าอะไรไม่ได้มาก ตั้งนโม ๓ จบ แล้วว่า
พุทธัง สรณัง คัจฉามิ
ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ
สังฆัง สรณัง คัจฉามิ
แล้วว่า ทุติยัมปิ พุทธัง ฯลฯ ตติยัมปิ พุทธัง ฯลฯ ครบสามจบแล้ว ถ้าสวดได้
ก็ สวดอิติปิโส ฯลฯ สักจบ ถ้าสวดไม่ได้ก็ไม่ต้อง ต่อไปก็ สมาทานศีล ๕ คือว่าศีล ๕
ว่าเองโดยไม่ต้องมีพระนำ แล้วตั้งใจว่าเราจะรักษาศีล ๕ นี้ให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์ตลอดชีวิต
เราจะไม่ยอมให้ศีลขาดด้วยเจตนา แล้วตั้งใจรักษาศีลด้วยความบริสุทธิ์ใจโดยสังวรระวัง
ใจควบคุมความประพฤติ ไม่เผลอทำลายศีลด้วยเจตนา และไม่ยุให้ผู้อื่นทำลายศีลไม่
ยินดีที่เห็นผู้อื่นทำลายศีลเมื่อสมาทานศีลเรียบร้อยแล้วก็เริ่มสมาทานกรรมฐาน การ
สมาทานกรรมฐานตามนัยวิสุทธิมรรคท่านเขียนไว้ดังนี้
สมาทานตรงต่อพระพุทธเจ้า
อิมาหัง ภะคะวา อัตตะภาวัง ตุมหากัง ปะริจัชชามิ แปลว่าข้าแต่สมเด็จ
พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์ขอเสียสละ คือมอบเวนซึ่งอัตภาพนี้ แด่สมเด็จพระสรร-
เพชญสัมมาสัมพุทธเจ้า (แปลตามท่านแปลไว้ในแบบ) อีกแบบหนึ่งท่านแปลเอาความ
มีใจความที่ท่านแปลไว้ดังนี้ "ข้าแต่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญ ข้าพระ-
พุทธเจ้าขอมอบกายถวายชีวิตแด่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" แบบหลังนี้
ท่านแปลศัพท์ว่า อัตตะภาวัง ตุมหากัง ปะริจัชชามิ ที่แปลว่าสละรอบซึ่งอัตภาพของ
ข้าพเจ้า ท่านแปลถือเอาความว่า มอบกายถวายชีวิต ความจริงก็ได้ความดี การสละรอบ
กายก็ได้แก่ สละชีวิตนั่นเอง ถ้าจะถือเอาความตามภาษาไทยให้ชัดกันแล้ว ของท่านที่
แปลไว้ตอนหลังได้ความชัดกว่าผู้เขียนเองก็สอนศิษย์ให้แปลตามนัยหลัง
สมาทานต่อครูอาจารย์
อิมาหัง ภันเต อัตตะภาวัง ตุมหากัง ปะริจัชชามิ แปลว่า ข้าแต่ท่านอาจารย์
ผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอมอบกายถวายชีวิตแด่ท่าน
.
คำสมาทานที่ต่อเสริมกันใหม่ (1/0)
คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน ----> หน้า 27
คำสมาทานที่ต่อเสริมกันใหม่ คำสมาทานนี้ นอกจากจะมีมาตามแบบแผนในวิสุทธิมรรคแล้ว แต่ละสำนัก แต่ละ อาจารย์ ต่างก็แต่งคำสมาทานขึ้นสอนศิษย์ให้สมาทานตามความที่เห็นว่าเหมาะสม การ ที่ใครจะมีคำสมาทานว่าอย่างไรนั้น และไม่เกินพอดี คือยังแสดงความเคารพนับถือพระ- รัตนตรัยอยู่ ก็เป็นอันว่าใช้ได้ทั้งนั้น ไม่เห็นว่าจะน่าตำหนิกันตรงไหน บางอาจารย์ท่านก็ ประพันธ์สำนวนยืดยาวมาก บางอาจารย์ก็มีสำนวนสั้น ๆ พอได้ความ ข้อนี้ไม่ควรติชม เพราะขึ้นแก่ความเหมาะสมและจำเป็น อย่างไรเหมาะสม อย่างไรจำเป็น ไม่ขอออก ความเห็น เพราะเป็นเรื่องไม่น่าจะเก็บเอามาคิดให้เสียเวลา เรียนกับใครก็ควรจะเชื่อฟัง ท่านผู้สอนนั่นแหละเป็นการดีแล้ว สำหรับผู้เขียนเคยผูกแบบให้ศิษย์สมาทานดังนี้ที่นำมา เขียนก็เพราะศิษย์ส่วนมาก เมื่ออ่านหนังสืออุทุมพริกสูตรในหนังสือนั้นไม่มีคำสมาทาน ได้ขอร้องให้พิมพ์คำสมาทานแจกโอกาสที่จะพิมพ์ไม่มี เมื่อเขียนหนังสือนี้ ก็ขอเอามาลง ไว้ในหนังสือนี้ แบบสมาทานที่ผู้เขียนต่อเสริมขึ้นนี้ ต่อไปท่านผู้ใดเห็นว่ายังแคบไปจะต่อ เสริมก็ได้ ที่ท่านเห็นว่ากว้างขวางไปจะย่อให้สั้นเข้าก็ได้ หรือเห็นว่ารุงรังจะเลิกไม่ใช้ ใช้เฉพาะแบบในวิสุทธิมรรคก็ตามใจ คำสมาทานที่ผู้เขียนผูกขึ้นนี้ ตอนต้นต้องใช้แบบ วิสุทธิมรรคก่อนแล้วต่อด้วยคำสมาทานที่ผูกขึ้นเองดังนี้ คำสมาทานที่ผูกขึ้นเอง "ข้าพเจ้า ขออาราธนาบารมีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ บารมีพระธรรม และพระอริยสงฆ์ทั้งหลาย ครูบาอาจารย์ทั้งหลายสืบๆ กันมามีหลวงพ่อปานวัดบางนมโคเป็นที่สุด ขอได้ โปรดยกจิตของข้าพเจ้าขึ้นสู่ภาวะพระกรรมฐาน ๔๐ ทัศน์ พระปีติทั้ง ๕ และ วิปัสสนาญาณทั้ง ๙ ขอพระกรรมฐานทั้ง ๔๐ ทัศน์ พระปีติทั้ง ๕ และวิปัสสนา- ญาณทั้ง ๙ จงมาบังเกิดปรากฏในกายทวาร ในวจีทวารในมโนทวารของข้าพ- เจ้า ณ กาลบัดเดี๋ยวนี้เถิด" เสร็จแล้วก็กราบพระสามหน ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติให้มั่นคง กำหนดลมหายใจเข้า ออกไว้ในฐานทั้งสาม แล้วกำหนดพิจารณาโทษของนิวรณ์ทั้ง ๕ ประการ จนจิตสงบสงัด สงัดจากนิวรณ์ มีกามฉันทะเป็นต้น ไม่มีนิวรณ์อย่างใดมารบกวนจิตแล้วก็เริ่มพิจารณา หรือภาวนากรรมฐานที่พึงปฏิบัติ ถ้าเป็นกรรมฐานภาวนา เมื่อนิวรณ์ระงับจากจิต จิตว่าง จากนิวรณ์แล้วสมาธิที่ได้ในขณะนั้น จะเข้าถึงปฐมฌานทันที ถ้าเป็นกรรมฐานพิจารณา จิตก็จะตั้งอยู่ในระดับอุปจารฌานละเอียดอารมณ์จะแจ่มใส เห็นเหตุเห็นผลชัดเจน หลาย ท่านที่ชำระจิตแจ่มใสจากนิวรณ์แล้ว เข้าภาวนาจิตเข้าไปหยุดอยู่ในสมาธิสูง คือฌาน ๔ อย่างนี้ก็มีมาก ฉะนั้นนักปฏิบัติก่อนที่จะภาวนาหรือพิจารณาอย่างอื่นให้ชำระจิตจากนิวรณ์ เสียก่อนคือใคร่ครวญพิจารณานิวรณ์ ๕ ประการ ให้เห็นเหตุเห็นผลชัดเจน เห็นโทษของ นิวรณ์จนจิตเอือมระอาจากนิวรณ์ มีความเบื่อหน่ายในนิวรณ์แล้วจึงค่อย ๆ ภาวนาหรือ พิจารณากรรมฐาน ที่ฝึกถ้าจิตยังไม่ว่างจากนิวรณ์ก็อย่าเพ่อภาวนา ขืนทำไปก็เหนื่อยเปล่า อย่ารีบร้อนเร่งรัดเกินไปค่อย ๆ ขับไล่นิวรณ์ให้สลายตัวไปเสียก่อน จะช้าเร็วอย่างไรไม่ต้อง คำนึง ถ้านิวรณ์ระงับท่านก็จะถึงฌานทันที อย่างน้อยก็ได้ปฐมฌานและอาจถึงฌาน ๔ ภายใน ระยะเวลาอันสั้นจงจำไว้ว่าช้า ๆ ได้พร้าเล่มงามตามภาษิตโบราณท่านว่าอย่างนี้ (แต่ช้านาน เกินกาลเกินควรก็เละไม่เป็นเรื่อง ภาษิตของผู้เขียน) .
มัชฌิมาปฏิปทา (1/0)
คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน ----> หน้า 28
มัชฌิมาปฏิปทา
คำว่า มัชฌิมาปฏิปทา คำนี้เป็นถ้อยคำที่พระพุทธสาวกจำกันจนขึ้นใจ เป็นพระพุทธพจน์
ที่ยืนยันถึงผลของการปฏิบัติ เพราะการปฏิบัตินั้นมีแนวอยู่สามแนวคือ
๑. อัตตกิลมถานุโยค การดำรงความเพียรอย่างเคร่งเครียด กินน้อยนอนน้อยว่ากันหามรุ่ง
หามค่ำ บางรายถึงกับอดมื้อกินมื้อ บางรายพยายามกินน้อยๆ ลดลงไปทุกวันจนร่างกายผอม และ
มีการกลั้นลมหายใจกลั้นกันนานๆ เพื่อให้มรรคผลนิพพานเกิดขึ้น แต่มันก็ไม่เกิดเพราะมันไม่ใช่
ทางของผลที่ฌานและมรรคผลจะเกิด พระพุทธเจ้าเองท่านยืนยันว่าวิธีนี้พระองค์ทำมาแล้วสิ้นเวลา
หกปีเต็ม อดข้าวจนมีร่างกายผอมเกือบเดินไม่ไหว ขนที่พระกายเวลาเอามือลูบถึงกับหลุดติดมือ
ออกมา กลั้นลมโดยเอาลิ้นกดเพดานจนลมออกหูอู้ ทำอย่างนี้พระองค์ตรัสว่า เป็นการทรมานตน
ให้ลำบากเปล่าไม่เกิดมรรคผลเลย นอกจากจะเพิ่มทุกขเวทนาให้มากขึ้น สมัยนี้เห็นจะได้แก่
การอัดขันธ์ของอาจารย์บางคณะ เคยไปพบเขาที่สนามแจง จังหวัดลพบุรี เห็นอุบาสิกาสองคน
นั่งครางเสียงกระหึ่ม ได้เข้าไปถามว่า โยมเป็นอะไร เพราะคิดว่าแกป่วย ได้รับคำตอบว่า
" อาจารย์ท่านสั่งให้อัดขันธ์ค่ะ "
ถามว่า " อัดขันธ์เป็นอย่างไร "
ได้รับคำตอบว่า " อาจารย์ให้กลั้นใจ "
ฟังแล้วก็สลดใจ คิดว่าพระพุทธเจ้าท่านสอนมาแล้ว ท่านทำมาแล้วยิ่งกว่านี้ ท่านทราบว่า
ไม่เป็นทางสำเร็จ ไม่คิดเลยว่าสมัยนี้ยังมีคนเอามาสอนกันอีก แบบนี้จงอย่าแตะต้องเลย ผู้เขียน
เองก็ลองฝืนและได้รับผล คือ ของเก่าที่ได้มาแล้วพลอยสูญไปด้วยที่เป็นโรคเส้นประสาทและถูก
ประสาทหลอน ก็เพราะทำนอกรีตนอกรอยอย่างนี้แหละ
๒. กามสุขัลลิกานุโยค มีอารมณ์จิตพัวพันกับกามารมณ์ ไม่ถอนจิตจากกามารมณ์
ยิ่งเอากายเข้าไปใกล้ชิดเพศตรงข้ามด้วย ยิ่งเป็นผลร้ายเต็มที่ เป็นทางกั้นมรรคผลโดยตรง
ทีเดียวจงระมัดระวังให้มาก อยากได้ดีต้องหลีกเลี่ยงได้ ถ้าอดใจหรือหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็เป็น
กรรมของสัตว์ไม่มีใครช่วยได้
๓. มัชฌิมาปฏิปทา ทำพอสบายๆ ไม่เกียจคร้านเกินไป ไม่ขยันเกินไป นั่งนาน เมื่อย
ก็นอน ยืน หรือเดิน ตามแต่จะเห็นว่าสบาย กำหนดอารมณ์ภาวนา หรือพิจารณาไปด้วย จงถือว่า
สมาธิจะตั้งมั่น หรืออารมณ์จะผ่องใสจากกิเลสนั้น มีความสำคัญที่จิตใจไม่ใช่ที่กาย กินอาหาร
ให้อิ่ม อิ่มพอดีนะ ระวังอย่ารับประทานอาหารที่เป็นโทษแก่ร่างกาย อะไรเคยกินแล้วเป็นพิษเป็น
ภัยแก่ร่างกาย ควรเว้นไม่กินต่อไปเด็ดขาด ตัดสังคมที่มีความเห็นไม่เสมอกันเสียให้เด็ดขาด
อยู่ในสถานที่เงียบสงัดอย่าให้วันเวลาล่วงเลยไปโดยที่มิได้พิจารณาเห็นโทษของสังขารทำอย่างนี้
น่าจะพูดรับรองผลแต่ท่านห้ามพูดก็เลยเฉยไว้เพียงนี้ อย่างน้อยฌานสมาบัติเป็นของท่านแน่นอน
อย่างดีก็ถึงจุดหมายปลายทาง พระพุทธเจ้าท่านว่าไว้อย่างนี้ ก็จงใคร่ครวญและปฏิบัติตามเถิด
ไม่เสียเวลาเปล่าแน่
.
ปฐวีกสิณ (1/0)
คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน ----> หน้า 29
กสิณ
ปฐวีกสิณ
กสิณนี้ท่านเรียกว่า ปฐวีกสิณ เพราะมีการเพ่งดินเป็นอารมณ์ ศัพท์ว่า "ปฐวี"
แปลว่า "ดิน" กสิณ แปลว่า "เพ่ง" รวมความแล้วได้ความว่า "เพ่งดิน"
อุปกรณ์กสิณ
ปฐวีกสิณนี้ มีดินเป็นอุปกรณ์ในการเพ่ง จะเพ่งดินที่เป็นพื้นลานดิน ที่ทำให้เตียน
สะอาดจากผงธุลี หรือจะทำเป็นสะดึงยกไปยกมาได้ ก็ใช้ได้ทั้งสองอย่าง ดินที่จะเอามา
ทำเป็นดวงกสิณนั้น ท่านให้ใช้ดินสีอรุณอย่างเดียว ห้ามเอาดินสีอื่นมาปน ถ้าจำเป็นหา
ดินสีอรุณไม่ได้มาก ท่านให้เอาดินสีอื่นรองไว้ข้างล่างแล้วเอาดินสีอรุณทาทับไว้ข้างบน
ดินสีอรุณนี้ ท่านโบราณาจารย์ท่านว่า หาได้จากดินขุยปู เพราะปูขุดเอาดินสีอรุณขึ้นไว้
ปากช่องรูที่อาศัยเมื่อหาดินได้ครบแล้ว ต้องทำสะดึงตามขนาดดังนี้ ถ้าทำเป็นลานติด
พื้นดินก็มีขนาดเท่ากัน
ขนาดดวงกสิณ
วงกสิณที่ทำเป็นวงกลมสำหรับเพ่ง อย่างใหญ่ท่านให้ทำไม่เกินเส้นผ่าศูนย์กลาง
๑ คืบ ๔ นิ้ว อย่างเล็กไม่เล็กกว่าขอบขัน ระยะนั่งเพ่งบริกรรม ท่านให้นั่งไม่ใกล้ไม่ไกล
กว่า ๒ คืบ ๔ นิ้ว ตั่งที่รองวงกสิณ ท่านให้สูงไม่เกิน ๒ คืบ ๔ นิ้ว ท่านว่าเป็นระยะที่พอ
เหมาะพอดี เพราะจะได้ไม่มองเห็นรอยที่ปรากฏบนดวงกสิณที่ท่านจัดว่าเป็นกสิณโทษ
เวลาเพ่งกำหนดจดจำท่านให้ มุ่งจำแต่สีดิน ท่านไม่ให้คำนึงถึงขอบและริ้วรอยต่าง ๆ
กิจก่อนการเพ่งกสิณ
เมื่อจัดเตรียมอุปกรณ์เรียบร้อยแล้วท่านให้ชำระร่างกายให้สะอาดแล้วนั่งขัดสมาธิ
ที่ตั่งสำหรับนั่ง หลับตาพิจารณาโทษของกามคุณ ๕ ประการ ตามนัยที่กล่าวในอสุภ-
กรรมฐาน ต้องการทราบละเอียดโปรดเปิดไปที่บทว่าด้วย อสุภกรรมฐาน จะทราบ
ละเอียด เมื่อพิจารณาโทษของกามคุณจนจิตสงบจากนิวรณ์แล้ว ให้ลืมตาขึ้นจ้องมอง
ภาพกสิณจดจำให้ดีจนคิดว่าจำได้ก็หลับตาใหม่กำหนดภาพกสิณไว้ในใจ ภาวนาเป็น
เครื่องผูกใจไว้ว่า "ปฐวีกสิณ" เมื่อเห็นว่าภาพเลือนไปก็ลืมตาดูใหม่ เมื่อจำได้แล้ว
ก็หลับตาภาวนากำหนดจดจำภาพนั้นต่อไปทำอย่างนี้บ่อยๆ หลายร้อยหลายพันครั้ง
เท่าใดไม่จำกัด จนกว่าอารมณ์ของใจจะจดจำภาพกสิณไว้ได้เป็นอย่างดี จะเพ่งมองดู
หรือไม่ก็ตามภาพกสิณนั้นก็จะติดตาติดใจ นึกเห็นภาพได้ชัดเจนทุกขณะที่ปรารถนา
จะเห็นติดตาติดใจตลอดเวลาอย่างนี้ท่านเรียกว่า"อุคคหนิมิต"แปลว่า นิมิตติดตา
อุคคหนิมิตนี้ ท่านว่ายังมีกสิณโทษอยู่มาก คือภาพที่เห็นเป็นภาพดินตามที่ทำไว้และ
ขอบวงกลมของสะดึง ย่อมปรากฏริ้วรอยต่าง ๆ เมื่อเข้าถึงอุคคหนิมิตแล้วท่านให้เร่ง
ระมัดระวังรักษาอารมณ์สมาธิและนิมิตนั้นไว้จนกว่าจะได้ ปฏิภาคนิมิต ปฏิภาคนิมิต
นั้น รูปและสีของกสิณเปลี่ยนจากเดิม คือกสิณทำเป็นวงกลมด้วยดินแดงนั้นจะกลาย
เป็นเสมือนแว่นแก้ว มีสีใสสะอาดผ่องใสคล้ายน้ำที่กลิ้ง อยู่ในใบบัว ฉะนั้นรูปนั้นบาง
ท่านกล่าวว่าคล้ายดวงจันทร์ที่ปราศจากเมฆหมอกปิดบังเอากันง่าย ๆ ก็คือเหมือน
แก้วที่สะอาดนั่นเอง รูปคล้ายแว่นแก้ว จะกำหนดจิตให้เล็กโตสูงต่ำได้ตาม ความ
ประสงค์อย่างนี้ท่านเรียก ปฏิภาคนิมิต เมื่อถึงปฏิภาคนิมิตแล้วท่านให้นักปฏิบัติ
เก็บตัว อย่ามั่วสุมกับนักคุยทั้งหลาย จงรักษาอารมณ์ รักษาใจให้อยู่ในขอบเขตของ
สมาธิเป็นอันดี อย่าสนใจในอารมณ์ของนิวรณ์แม้แต่น้อยหนึ่ง เพราะแม้นิดเดียวของ
นิวรณ์ อาจทำอารมณ์ สมาธิที่กำลังจะเข้าสู่ระดับฌานนี้ให้สลายตัวได้โดยฉับพลัน
ขอท่านนักปฏิบัติจงระมัดระวัง อารมณ์รักษาปฏิภาคนิมิตไว้ คล้ายกับระมัดระวังบุตร
สุดที่รักที่เกิดในวันนั้น
จิตเข้าสู่ระดับฌาน (1/0)
คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน ----> หน้า 30
จิตเข้าสู่ระดับฌาน
เมื่อปฏิภาคนิมิตเกิดขึ้นแล้ว จิตก็เข้าระดับฌาน อารมณ์ของฌานในกสิณทั้ง ๑๐
อย่างนั้นมีอารมณ์ดังนี้ ฌานในกสิณนี้ท่านเรียกว่าฌาน ๔ บ้าง ฌาน ๕ บ้าง เพื่อเป็นการ
ป้องกันการเข้าใจผิด ขออธิบายฌาน ๔ และ ฌาน ๕ ให้เข้าใจเสียก่อน
ฌาน ๔
ฌาน ๔ ท่านเรียกว่า จตุตถฌาน ท่านถืออารมณ์อย่างนี้
๑. ปฐมฌานมีองค์ ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
๒. ทุติยฌานมีองค์ ๓ คือ ละวิตกและวิจารเสียได้ คงดำรงอยู่ในองค์ ๓ คือ ปีติ
สุข เอกัคคตา
๓. ตติยฌานมีองค์ ๒ คือ ละวิตก วิจาร ปีติ เสียได้ ดำรงอยู่ในสุขกับเอกัคคตา
๔.จตุตถฌานมีองค์ ๒ คือ ละวิตก วิจาร ปีติ สุข เสียได้ คงทรงอยู่ในเอกัคคตา
กับเพิ่มอุเบกขาเข้ามาอีก ๑
ฌาน ๔ หรือที่เรียกว่ากสิณทั้งหมดทรงได้ถึง ๔ ท่านจัดไว้อย่างนี้ สำหรับในที่บางแห่ง
ท่านว่ากสิณทั้งหมดทรงได้ถึงฌาน ๕ ท่านจัดของท่านดังต่อไปนี้
ฌาน ๕
๑. ปฐมฌานมีองค์ ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
๒. ทุติยฌานมีองค์ ๔ คือ ละวิตกเสียได้ คงทรง วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
๓. ตติยฌานมีองค์ ๓ คือ ละวิตก วิจาร เสียได้ คงทรง ปีติ สุข เอกัคคตา
๔.จตุตถฌานมีองค์ ๒ คือ ละวิตก วิจาร ปีติ เสียได้ คงทรงสุขกับเอกัคคตา
๕. ฌาน ๕ หรือที่เรียกว่า ปัญจมฌาน มีองค์สองเหมือนกันคือ ละวิตก วิจาร ปีติ
สุขเสียได้ คงทรงอยู่ในเอกัคคตา และเพิ่มอุเบกขาเข้ามาอีก ๑
เมื่อพิจารณาดูแล้ว ฌาน ๔ กับฌาน ๕ ก็มีสภาพอารมณ์เหมือนกัน ผิดกันนิดหน่อยที่
ฌาน ๒ ละองค์เดียว ฌาน ๓ ละ ๒ องค์ ฌาน ๔ ละ ๓ องค์ มาถึงฌาน ๕ ก็มีสภาพเหมือน
ฌาน ๔ ตามนัยนั่นเอง อารมณ์มีอาการเหมือนกันในตอนสุดท้าย อารมณ์อย่างนี้ ท่านแยก
เรียกเป็นฌาน ๔ ฌาน ๕ เพื่ออะไรไม่เข้าใจเหมือนกัน กสิณนี้ถ้าท่านผู้ปฏิบัติทำให้ถึงฌาน
๔ หรือฌาน ๕ ซึ่งมีอารมณ์เป็นเอกัคคตารมณ์ และอุเบกขารมณ์ไม่ได้ ก็เท่ากับท่านผู้นั้น
ไม่ได้เจริญในกสิณนั้นเอง เมื่อได้แล้วก็ต้องฝึกการเข้าฌานออกฌานให้คล่องแคล่ว กำหนด
เวลาเข้า เวลาออกให้ได้ตามกำหนด จนเกิดความชำนาญ เมื่อเข้าเมื่อไร ออกเมื่อไรได้ตาม
ใจนึก การเข้า ฌานต้องคล่องไม่ใช่เนิ่นช้าเสียเวลาแม้ครึ่งนาที พอคิดว่าเราจะเข้าฌานละก็
เข้าได้ทันที ต้องยึดฌาน ๔ หรือฌาน ๕ คือเอาฌานที่สุดเป็นสำคัญ เมื่อเข้าฌานคล่องแล้ว
ต้องฝึกนิรมิตตามอำนาจกสิณให้ได้คล่องแคล่วว่องไว จึงจะชื่อว่าได้กสิณกองนั้น ๆ ถ้ายังทำ
ไม่ได้ถึง ไม่ควรย้ายไปปฏิบัติในกสิณกองอื่น การทำอย่างนั้นแทนที่จะได้ผลเร็ว กลับเสียผล
คือของเก่าไม่ทันได้ ทำใหม่เก่าก็จะหาย ใหม่ก็จะไม่ปรากฏผล ถ้าชำนาญช่ำชองคล่องแคล่ว
ในการนิรมิตอธิษฐานแล้วเพียงกองเดียว กองอื่นทำไม่ยากเลย เพราะอารมณ์ในการ
ฝึกเหมือนกันต่างแต่สีเท่านั้น จะเสียเวลาฝึกกองต่อๆ ไป ไม่เกินกองละ ๗ วัน หรือ ๑๕ วัน
เป็นอย่างสูง จะนิรมิตอธิษฐานได้สมตามที่ตั้งใจของนักปฏิบัติ จงอย่าใจร้อน พยายามฝึกฝน
จนกว่าจะได้ผลสูงสุดเสียก่อนจึงค่อยย้ายกองต่อไป
องค์ฌานในกสิณทั้ง ๑๐ กอง (1/0)
คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน ----> หน้า 31
องค์ฌานในกสิณทั้ง ๑๐ กอง
ปฐมฌานมีองค์ ๕ คือ วิตก มีอารมณ์จับอยู่ที่ปฏิภาคนิมิต กำหนดจิตจับภาพปฏิภาคนิมิต
นั้นเป็นอารมณ์ วิจาร พิจารณาปฏิภาคนิมิตนั้น คือพิจารณาว่า รูปปฏิภาคนิมิตสวยสดงดงามคล้าย
แว่นแก้วที่มีคนชำระสิ่งเปรอะเปื้อนหมดไป เหลือไว้แต่ดวงเก่าที่บริสุทธิ์สะอาด ปราศจากธุลีต่างๆ
ปีติ มีประเภท ๕ คือ
๑. ขุททกาปีติ มีอาการขนพองสยองเกล้าและน้ำตาไหล
๒. ขณิกาปีติ มีแสงสว่างเข้าตาคล้ายแสงฟ้าแลบ
๓. โอกกันติกาปีติ มีอาการร่างกายกระเพื่อมโยกโคลง คล้ายเรือที่ถูกคลื่นซัด บางท่าน
ก็นั่งโยกไปโยกมา อย่างนี้เรียก โอกกันติกาปีติ
๔. อุพเพงคาปีติ มีกายลอยขึ้นเหนือพื้น บางรายก็ลอยไปได้ไกลหลายๆ กิโลก็มี
๕. ผรณาปีติ อาการเย็นซ่าซาบซ่านทั้งร่างกาย และมีอาการคล้ายกับร่างกายใหญ่
สูงขึ้นกว่าปกติ
สุข มีอารมณ์เป็นสุขเยือกเย็น ในขณะที่พิจารณาปฏิภาคนิมิต
เอกัคคตา มีจิตเป็นอารมณ์เดียว คือมีอารมณ์จับอยู่ในปฏิภาคนิมิตเป็นปกติ ไม่สอดส่าย
อารมณ์ออกนอกจากปฏิภาคนิมิต
ทั้ง ๕ อย่างนี้เป็นปฐมฌาน มีอารมณ์เหมือนกับฌานในกรรมฐานอื่นๆ แปลกแต่กสิณ
นี้ มีอารมณ์ยึดนิมิตเป็นอารมณ์ ไม่ปล่อยอารมณ์ให้พลาดจากนิมิต จนจิตเข้าสู่ จตุตถฌาน หรือ
ปัญจมฌาน
ทุติยฌาน มีองค์ ๓ คือ ตอนนี้จะเว้นจากการภาวนาไปเอง การกำหนดพิจารณารูปกสิณ
จะยุติลง คงเหลือแต่ความสดชื่นด้วยอำนาจปีติ อารมณ์สงัดมาก ภาพปฏิภาคนิมิตจะสดสวยงดงาม
วิจิตรตระการตามากกว่าเดิม มีอารมณ์เป็นสุขประณีตกว่าเดิม อารมณ์จิตแนบสนิทเป็น สมาธิ
มากกว่า
ตติยฌาน มีองค์ ๒ คือ ตัดความสดชื่นทางกายออกเสียได้เหลือแต่ความสุขแบบเครียดๆ
คือมีอารมณ์ดิ่งแห่งจิต คล้ายใครเอาเชือกมามัดไว้มิให้เคลื่อนไหว ลมหายใจอ่อนระรวยน้อยเต็มที่
ภาพนิมิตดูงามสง่าราศีละเอียดละมุนละไม มีรัศมีผ่องใสเกินกว่าที่ประสบมาอารมณ์ของจิตไม่สนใจ
กับอาการทางกายเลย
จตุตถฌาน ทรงไว้เพียงเอกัคคตากับอุเบกขา คือมีอารมณ์ดิ่งไม่มีอารมณ์รับความสุข
และความทุกข์ใดๆ ไม่รู้สึกในเวทนาทั้งสิ้น มีอุเบกขาวางเฉยต่ออารมณ์ทั้งมวลมีจิตสว่างโพลง
คล้ายใครเอาประทีปที่สว่างมากหลายๆ ดวงมาตั้งไว้ในที่ใกล้ ไม่มีอารมณ์รับแม้แต่ เสียงลมหายใจ
สงัด รูปกสิณเห็นชัดคล้ายดาวประกายพรึก ฌานที่ ๔ เป็นฌานสำคัญชั้นยอด ควรกำหนดรู้แบบง่ายๆ
ไว้ว่า เมื่อมีอารมณ์จิตถึงฌาน ๔ จะไม่ปรากฏว่ามีลมหายใจ ควรกำหนดไว้ง่ายๆ แบบนี้สะดวกดี
ท่านทำได้ถึงระดับนี้ ก็ชื่อว่าจบกิจในกสิณ ไม่ว่ากองใดก็ตาม จุดจบของกสิณต้องถึงฌาน
๔ และนิมิตอะไรต่ออะไรตามอำนาจกสิณ ถ้าทำไม่ถึงกับนิมิตได้ตามอำนาจกสิณก็เป็นเสมือนท่าน
ยังไม่ได้กสิณเลย
.
อาโปกสิณ (1/0)
คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน ----> หน้า 32 อาโปกสิณ อาโปกสิณ อาโป แปลว่า น้ำ กสิณ แปลว่า เพ่ง อาโปกสิณ แปลว่า เพ่งน้ำ กสิณน้ำ มีวิธีปฏิบัติดังต่อไปนี้ ท่านให้เอาน้ำที่สะอาด ถ้าได้น้ำฝนยิ่งดี ถ้าหาน้ำฝนไม่ได้ท่านให้เอาน้ำ ที่ใสแกว่งสารส้มก็ได้ อย่าเอาน้ำขุ่น หรือมีสีต่างๆ มาท่านให้ใส่น้ำในภาชนะเท่าที่จะหาได้ใส่ ให้เต็มพอดี อย่าให้พร่อง การนั่งหรือเพ่ง มีอาการอย่างเดียวกับปฐวีกสิณจนกว่าจะเกิดอุคคห- นิมิต อุคคหนิมิตของอาโปกสิณนี้ปรากฏเหมือนน้ำไหวกระเพื่อม สำหรับปฏิภาคนิมิตปรากฏ เหมือนพัดใบตาลแก้วมณี คือใสมีประกายระยิบระยับ เมื่อถึง ปฏิภาคนิมิต แล้วจงเจริญต่อไป ให้ถึง จตุตถฌาน บทภาวนา ภาวนาว่า อาโปกสิณัง เตโชกสิณ เตโช แปลว่า ไฟ กสิณเพ่งไฟเป็นอารมณ์ กสิณนี้ท่านให้ทำดังต่อไปนี้ท่านให้จุดไฟ ให้ลุกโชน แล้วเอาเสื่อหรือหนังมาเจาะทำเป็นช่องกว้าง ๑ คืบ ๔ นิ้ว แล้ววางเสื่อหรือหนังนั้น ไว้ข้างหน้าให้เพ่งพิจารณาไปตามช่องนั้น การนั่งสูง หรือระยะไกล ใกล้ เหมือนกับปฐวีกสิณ การเพ่ง อย่าเพ่งเปลวไฟที่ไหวไปมา ให้เลือกเพ่งแต่ไฟที่มีแสงหนาทึบที่ปรากฏตามช่องนั้น เป็นอารมณ์ ภาวนาว่า เตโชกสิณัง ๆๆๆ หลาย ๆ ร้อยหลายพันครั้ง จนกว่านิมิตจะเป็น อุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิต อุคคหนิมิตปรากฏเป็นดวงเพลิงตามปกติ สำหรับปฏิภาคนิมิตนั้น มีรูปคล้ายผ้าแดงผืนหนา หรือคล้ายกับพัดใบตาลที่ทำด้วยทองหรือเสาทองคำที่ตั้งอยู่ในอากาศ เมื่อได้ปฏิภาคนิมิตแล้วท่านจงพยายามทำให้ถึงจตุตถฌานเถิด ผลที่ตั้งใจไว้จะได้รับสมความ ปรารถนา วาโยกสิณ วาโยกสิณ แปลว่า เพ่งลม การถือเอาลมเป็นนิมิตนั้น ท่านกล่าวว่าจะถือเอาด้วยการ เห็นหรือจะถือเอาด้วยการกระทบก็ได้ การกำหนดถือเอาด้วยการเห็น ท่านให้ถือเอาการที่ลมพัดถูกต้องปลายหญ้าหรือปลาย ไม้เป็นอารมณ์เพ่งพิจารณา การถือเอาด้วยการถูกต้อง ท่านให้ถือเอาการที่ลมพัดมากระทบตัวเป็นอารมณ์ สมัยนี้ การถือเอาลมกระทบจะใช้พัดลมเป่าแทนพัดลม หรือถือเอาการเห็นต้นหญ้าต้นไม้ที่ไหวเพราะ ลมพัด จะใช้พัดลมเป่าให้ไหวแทนลมธรรมชาติก็ได้ เมื่อเพ่งพิจารณาอยู่ ให้ภาวนาว่า วาโยกสิณัง ๆๆๆ อุคคหนิมิตของวาโยกสิณนี้ ปรากฏว่ามีการไหวๆ คล้ายกับกระไอแห่งการหุงต้มที่มี ไอปรากฏมากระทบจักษุ พูดให้ชัดเข้าก็คือ มีปรากฏการณ์คล้ายตามองเห็นไอน้ำที่ต้มเดือด แล้วนั่นเอง มีอาการปรากฏขึ้นอย่างนั้น สำหรับปฏิภาคนิมิต มีอาการปรากฏภาพเหมือนไอน้ำที่ลอยขึ้น แต่ไม่เคลื่อนไหวหรือ คล้ายกับก้อนเมฆบาง ที่ลอยอยู่คงที่นั่นเอง อาการอื่นนอกจากนี้เหมือนในปฐวีกสิณ .
นีลกสิณ (1/0)
คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน ----> หน้า 33
นีลกสิณ
นีลกสิณ แปลว่า เพ่งสีเขียว ท่านให้ทำสะดึงขึงด้วยผ้าหรือหนัง กระดาษก็ได้แล้วเอา
สีเขียวทา หรือจะเพ่งพิจารณาสีเขียวจากใบไม้ก็ได้ ทำเช่นเดียวกับปฐวีกสิณ
อุคคหนิมิต
เมื่อเพ่งภาวนาว่า นีลกสิณัง ๆๆๆๆ อุคคหนิมิตนั้นปรากฏเป็นรูปที่เพ่งนั่นเอง
ปีตกสิณ
ปีตกสิณ แปลว่า เพ่งสีเหลือง การปฏิบัติทุกอย่างเหมือนนีลกสิณ แต่อุคคหนิมิตเป็น
สีเหลือง ปฏิภาคนิมิตเหมือนนีลกสิณนอกนั้นเหมือนกันหมด บทภาวนาภาวนาว่า ปีตกสิณังๆๆ
โลหิตกสิณ
โลหิตกสิณ แปลว่า เพ่งสีแดง บทภาวนา ภาวนาว่า โลหิตกสิณัง ๆๆๆๆ นิมิตที่จัด
หามาเพ่ง จะเพ่งดอกไม้สีแดงหรือเอาสีแดงมาทาทับกับสะดึงก็ได้ อุคคหนิมิตเป็นสีแดง
ปฏิภาคนิมิตเหมือนนีลกสิณ
โอทาตกสิณ
โอทาตกสิณ แปลว่า เพ่งสีขาว บทภาวนา ภาวนาว่า โอทาตกสิณัง ๆๆๆๆ สีขาว
ที่จะเอามาเพ่งนั้น จะหาจากดอกไม้หรืออย่างอื่นก็ได้ตามแต่จะสะดวก หรือจะทำเป็นสะดึง
ก็ได้ นิมิตทั้งอุคคหะและปฏิภาคก็เหมือนนีลกสิณ เว้นไว้แต่อุคคหะเป็นสีขาวเท่านั้นเอง
อาโลกกสิณ
อาโลกกสิณ แปลว่า เพ่งแสงสว่าง ท่านให้หาแสงสว่างที่ลอดมาตามช่องฝาหรือช่อง
หลังคาหรือเจาะเสื่อลำแพน หรือแผ่นหนังให้เป็นช่องเท่า ๑ คืบ ๔ นิ้ว ตามที่กล่าวในปฐวีกสิณ
แล้วภาวนาว่า อาโลกกสิณัง ๆๆ อย่างนี้ จนอุคคหนิมิตปรากฏ อุคคหนิมิตของอาโลกกสิณ
มีรูปเป็นแสงสว่างที่เหมือนรูปเดิมที่เพ่งอยู่ ปฏิภาคนิมิตนั้นปรากฏเป็นแสงสว่างหนาทึบเหมือน
กับเอาแสงสว่างมากองรวมกันไว้ที่นั้น แล้วต่อไปขอให้นักปฏิบัติจงพยายาม ทำให้เข้าถึง
จตุตถฌาน เพราะข้อความที่จะกล่าวต่อไป ก็เหมือนกับที่กล่าวมาแล้วในปฐวีกสิณ
อากาสกสิณ
อากาสกสิน แปลว่า เพ่งอากาศ อากาสกสิณนี้ภาวนาว่า อากาสกสิณัง ๆๆ ท่าน
ให้ทำเหมือนในอาโลกกสิณ คือ เจาะช่องเสื่อหรือหนัง หรือมองอากาศ คือความว่างเปล่าที่
ลอดมาตามช่องฝา หรือหลังคาหรือตามช่องเสื่อและผืนหนังโดยกำหนดว่า อากาศ ๆๆ จน
เกิดอุคคหนิมิต ซึ่งปรากฏเป็นช่องตามรูปที่กำหนด ปฏิภาคนิมิตนั้นปรากฏคล้าย อุคคหนิมิต
แต่มีพิเศษที่บังคับให้ขยายตัวออกให้ใหญ่เล็ก สูงต่ำได้ตามความประสงค์ อธิบายอื่นก็เหมือน
กสิณอื่นๆ
อานุภาพกสิณ ๑๐ (1/0)
คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน ----> หน้า 34
อานุภาพกสิณ ๑๐
กสิณ ๑๐ ประการนี้ เป็นปัจจัยให้แสดงฤทธิ์ต่างๆ ตามนัยที่กล่าวมาแล้วในฉฬภิญโญ
เมื่อบำเพ็ญปฏิบัติในกสิณกองใดกองหนึ่งสำเร็จถึงจตุตถฌานแล้ว ก็ควรฝึกตามอำนาจที่กสิณ
กองนั้น ๆ มีอยู่ให้ชำนาญ ถ้าท่านปฏิบัติถึงฌาน ๔ แล้ว แต่มิได้ฝึกอธิษฐานต่าง ๆ ตามแบบ
ท่านว่าผู้นั้นยังไม่จัดว่าเป็นผู้เข้าถึงกสิณ อำนาจฤทธิ์ในกสิณต่างๆ มีดังนี้
ปฐวีกสิณ มีฤทธิ์ดังนี้ เช่น นิรมิตคน ๆ เดียวให้เป็นคนมากได้ ให้คนมากเป็นคน ๆ
เดียวได้ ทำน้ำและอากาศให้แข็งได้
อาโปกสิณ สามารถนิรมิตของแข็งให้อ่อนได้ เช่น อธิษฐานสถานที่เป็นดินหรือหินที่
กันดารน้ำให้เกิดบ่อน้ำ อธิษฐานหินดินเหล็กให้อ่อน อธิษฐานในสถานที่ฝนแล้งให้เกิดฝน
อย่างนี้เป็นต้น
เตโชกสิณ อธิษฐานให้เกิดเป็นเพลิงเผาผลาญหรือให้เกิดแสงสว่างได้ ทำแสงสว่าง
ให้เกิดแก่จักษุญาณสามารถเห็นภาพต่าง ๆ ในที่ไกลได้คล้ายตาทิพย์ ทำให้เกิดความร้อนใน
ทุกสถานที่ได้
วาโยกสิณ อธิษฐานจิตให้ตัวลอยตามลม หรืออธิษฐานให้ตัวเบา เหาะไปในอากาศก็
ได้ สถานที่ใดไม่มีลม อธิษฐานให้มีลมได้
นีลกสิณ สามารถทำให้เกิดสีเขียว หรือทำสถานที่สว่างให้มืดครึ้มได้
ปีตกสิณ สามารถนิรมิตสีเหลืองหรือสีทองให้เกิดได้
โลหิตกสิณ สามารถนิรมิตสีแดงให้เกิดได้ตามความประสงค์
โอทาตกสิณ สามารถนิรมิตสีขาวให้ปรากฏ และทำที่มืดให้เกิดแสงสว่างได้ เป็น
กรรมฐานที่อำนวยประโยชน์ในทิพยจักษุญาณ เช่นเดียวกับเตโชกสิณ
อาโลกกสิณ นิรมิตรูปให้มีรัศมีสว่างไสวได้ ทำที่มืดให้เกิดแสงสว่างได้เป็น
กรรมฐานสร้างทิพยจักษุญาณโดยตรง
อากาสกสิณ สามารถอธิษฐานจิตให้เห็นของที่ปกปิดไว้ได้ เหมือนของนั้นวางอยู่ในที่แจ้ง
สถานที่ใดเป็นที่อับด้วยอากาศ สามารถอธิษฐานให้เกิดความโปร่ง มีอากาศสมบูรณ์เพียงพอแก่
ความต้องการได้
วิธีอธิษฐานฤทธิ์
วิธีอธิษฐานจิตที่จะให้เกิดผลตามฤทธิ์ที่ต้องการ ท่านให้ทำดังต่อไปนี้ ท่านให้เข้าฌาน ๔
ก่อน แล้วออกจากฌาน ๔ แล้วอธิษฐานในสิ่งที่ตนต้องการจะให้เป็นอย่างนั้น แล้วกลับเข้าฌาน ๔
อีก ออกจากฌาน ๔ แล้วอธิษฐานจิตทับลงไปอีกครั้ง สิ่งที่ต้องการจะปรากฏสมความปรารถนา
(จบกสิณ ๑๐ แต่เพียงเท่านี้)
แนะกสิณร่วมวิปัสสนาญาณ
ท่านผู้ฝึกกสิณ ถ้าประสงค์จะให้ได้อภิญญาหก ก็เจริญไปจนกว่าจะชำนาญทั้ง ๑๐ กอง
ถ้าท่านประสงค์ให้ได้รับผลพิเศษเพียงวิชชาสาม ก็เจริญเฉพาะอาโลกกสิณ หรือเตโชกสิณ
หรือ โอทาตกสิณ อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วฝึกทิพยจักษุญาณ แต่ท่านที่มีความประสงค์จะเร่งรัด
ให้เข้าสู่พระนิพพานเร็วๆ ไม่มีความประสงค์จะได้ญาณพิเศษเพราะเกรงจะล่าช้าหรืออัชฌาสัย
ไม่ปรารถนารู้อะไรจุกจิก ชอบลัดตัดทางเพื่อถึงจุดหมายปลายทางขอให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้
เข้าฌานออกฌานพิจารณาขันธ์ ๕ (1/0)
คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน ----> หน้า 35
เข้าฌานออกฌานพิจารณาขันธ์ ๕
ท่านจะลัดตัดทางก็ตาม แต่ฌานที่ได้ควรให้ถึงจุดหมายปลายทาง คือฌาน ๔ หรือฌาน ๕
เมื่อได้แล้วก่อนจะพิจารณาวิปัสสนาญาณ ท่านต้องเข้าฌานให้ถึงที่สุด จนอารมณ์จิตเป็นอุเบกขา
เงียบสงัดจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองใจ มีอารมณ์ผ่องใสในกุศลธรรม แล้วออกจากฌาน ๔ หรือ
ฌาน ๕ พิจารณาขันธ์ตามแบบวิปัสสนารวมดังต่อไปนี้
พิจารณาว่า ขันธ์ ๕ คือ รูป ได้แก่สภาพที่เห็นได้ด้วยตา เวทนา ความรับอารมณ์ที่
เป็นสุขและทุกข์ อารมณ์ที่เป็นสุข เรียกว่าสุขเวทนา อารมณ์ที่เป็นทุกข์ เรียกว่าทุกขเวทนา
อารมณ์ว่างเฉย ๆ ไม่มีความสุขความทุกข์รบกวน เรียกว่า อุเบกขา สัญญา แปลว่า ความจำ
สังขาร หมายถึงอารมณ์ที่เป็นบุญ คือ อารมณ์ผ่องใส ที่เต็มไปด้วยความเมตตาปราณี อารมณ์
ที่เป็นบาป คืออารมณ์ขุ่นมัว คิดประทุษร้าย ที่เกิดขึ้นแก่ใจ เรียกว่าสังขาร วิญญาณ แปลว่า
ความรับรู้ เช่น รู้หนาว ร้อน หิว กระหาย เปรี้ยว เค็ม เป็นต้น เรียกว่าวิญาณ
อาการทั้ง ๕ อย่างนี้ เรียกว่า ขันธ์ ๕ ซึ่งมีปรากฏประจำร่างกายมนุษย์และสัตว์อยู่
เป็นปกติ ท่านให้พิจารณาว่า ขันธ์ ๕ นี้ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕
ไม่มีในเรา เพราะขันธ์ ๕ นี้ เต็มไปด้วยความกลับกลอกไม่ยั่งยืนถาวร มีความเกิดขึ้นมาแล้ว
ก็ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไปทีละน้อย ๆ ในที่สุดก็สลายตัว แม้จะหาทางกีดกันห้ามปรามอย่างไร
ก็ไม่สำเร็จผล ขันธ์ ๕ ก็เปลี่ยนแปรไปตามสภาพของมัน การที่ขันธ์ ๕ เปลี่ยนแปรไม่หยุดยั้ง
ห้ามปรามไม่ได้นี้ ท่านเรียกว่า เป็นไปตามกฎธรรมดาที่ไม่มีอะไรขัดขวางได้ การเปลี่ยนแปลง
ทรุดโทรมของสังขารคือขันธ์ ๕ นี้ เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ทั้งทางกายและใจ ใจมีทุกข์เพราะ
ไม่ประสงค์จะให้ขันธ์ ๕ ทรุดโทรม กายเป็นทุกข์เพราะการบีบคั้นจากโรคภัยไข้เจ็บ และการ
แสวงหาอาหารมาหล่อเลี้ยงอาการของขันธ์ ๕ มีสภาพไม่แน่นอนผันแปรไป และสลายตัวไปใน
ที่สุดฉันใด รูปนิมิตกสิณก็ฉันนั้น ขณะนี้รูปกสิณตั้งอยู่ ความผ่องใสมีอยู่ ในกาลบางครั้งรูปกสิณนี้
ก็เศร้าหมอง และรูปกสิณนี้จะดำรงอยู่ตลอดกาลก็หาไม่ ปรากฏขึ้นไม่นานเท่าใดก็ สลายตัวไป
รูปกสิณนี้มีสภาพรงตัวได้ไม่ตลอดกาลฉันใด สังขารของเราก็ฉันนั้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ต้องสลาย
ไปอย่างรูปกสิณนี้ เอาอะไรเที่ยงแท้แน่นอนไม่ได้เลย ปลงไปพิจารณาไปให้เห็นเหตุเห็นผลถ้า
ปลงไปจิตจะซ่าน ก็เข้าฌานในกสิณใหม่ พอใจเป็นอุเบกขาดีแล้วก็คลายฌานพิจารณาใหม่
ทำอย่างนี้ไม่ช้าเท่าใดก็จะเกิดนิพพิทาญาณ มีความเบื่อหน่ายในสังขารแล้วจะปลงความห่วงใย
ในสังขารเสียได้ มีอารมณ์วางเฉยเมื่อทุกข์เกิดขึ้นแก่สังขารท่านเรียกว่า สังขารุเปกขาญาณ
คือวางเฉยในสังขารด้วยอำนาจวิปัสสนาญาณ ต่อไปจิตจะเข้าโคตรภูญาณ เป็นจิตอยู่ในระหว่าง
ปุถุชนกับพระโสดาบันหลังจากนั้นถ้าท่านไม่ประมาท พิจารณาสังขารตามที่กล่าวมาแล้วโดยเข้า
ฌานให้มากออกจากฌาน พิจารณาสังขารเป็นปกติจิตก็จะตั้งมั่นและชำแรกกิเลสให้เด็ดขาด
ไปได้โดยกำจัดสังโยชน์สามเบื้องต้นสามประการอันเป็นคุณธรรมขั้นพระโสดาบันจะพึงกำจัด
ได้คือ
สักกายทิฏฐิ (1/0)
คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน ----> หน้า 36 ๑. สักกายทิฏฐิ เห็นตรงข้ามกับอารมณ์นี้ที่เห็นว่า ร่างกายคือขันธ์ ๕ เป็นเรา เป็นของเรา เรามีในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ มีในเราเสียได้ โดยเห็นว่า ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ ของเรา เราไม่มีในขันธ์ ๕ และขันธ์ ๕ ไม่มีในเรา เพราะถ้าขันธ์ ๕ มีในเรา เรามีใน ขันธ์ ๕ หรือขันธ์ ๕ เป็นเรา เราเป็นขันธ์ ๕ จริงแล้ว ในเมื่อเราไม่ต้องการความทุกข์ อันเกิดจากโรคภัยไข้เจ็บและการเปลี่ยนแปลง ขันธ์ ๕ ก็ต้องไม่มีการป่วยไข้และเปลี่ยน แปลง เราไม่ต้องการให้ขันธ์ ๕ สลายตัว ขันธ์ ๕ ถ้าเป็นของเราจริงก็ต้องดำรงอยู่ ไม่ สลายตัว แต่นี่หาเป็นเช่นนั้นไม่ กลับเต็มไปด้วยความทุกข์ เปลี่ยนแปลงไม่หยุดยั้ง ทั้ง ๆ ที่เราไม่ต้องการและพยายามเหนี่ยวรั้งด้วยวิธีการต่างๆ ขันธ์ ๕ ก็มิได้เป็นไปตามความ ปรารถนาในที่สุดก็สลายตัวจนได้เพราะขันธ์ ๕ เป็นสมบัติของกฎธรรมดา กฎธรรมดา ต้องการให้เป็นอย่างนั้น ไม่มีใครมีอำนาจเหนือกฎธรรมดา ฝ่าฝืนกฎธรรมดาไม่ได้ เมื่อจิตยอมรับนับถือกฎธรรมดาไม่หวั่นไหวในเมื่อร่างกายได้รับทุกข์เพราะป่วยไข้ หรือเพราะการงานหนักและอาการเกิดขึ้นเพราะเหตุเกินวิสัย อารมณ์ใจยอมรับนับถือ ว่าธรรมดาของผู้ที่เกิดมาในโลกที่หาความแน่นอนไม่ได้ โลกที่เต็มไปด้วยความทุกข์ หาความสุขจริงจังมิได้ที่เห็นว่าเป็นสุขจากภาวะของโลกก็เป็นความสุขที่มีผีสิง คือสุข ไม่จริง เป็นความสุขอันเกิดจากเหยื่อล่อของความทุกข์ พอพบความสุขความทุกข์ก็ ติดตามมาทันที เช่น มีความสุขจากการได้ทรัพย์ พร้อมกันนั้นความทุกข์เพราะการ มีทรัพย์ก็เกิด เพราะทรัพย์ที่หามาได้นั้นจะมีชีวิตหรือไม่ก็ตาม เมื่อได้มาแล้วก็ต้อง มีทุกข์ทันทีด้วยการคอยระวังรักษาไม่ให้สูญหายหรือทำลาย เมื่อทรัพย์นั้นเริ่มค่อย ๆ สลายตัวหรือสูญหายทำลายไป ทุกข์เกิดหนักขึ้นเพราะมีความ เสียดายในทรัพย์ แม้ แต่ตัวเองก็แบกทุกข์เสียบรรยายไม่ไหว จะเอาอะไรมาเป็นเครื่องบำรุงความสุขได้ จริงจังไม่ว่าอะไรก็ต้องตกอยู่ในอำนาจของกฎธรรมดาสิ้นจิตเมื่อเห็นอย่างนี้ความสงบ ระงับจากความหวั่นไหวของการเปลี่ยนแปลงก็จะเกิดขึ้น เป็นจิตที่ประกอบไปด้วย เหตุผล ไม่มีน้ำตาไหล ในเมื่อได้ข่าวญาติหรือคนที่รักตาย ไม่หนักใจเมื่อความตาย กำลังคืบคลานมาหาตน และพร้อมเสมอที่จะรอรับความตายที่จะเกิดแก่ตน ตามกฎ ของธรรมดารู้อยู่ คิดอยู่ถึงความตายเป็นปกติ ยิ้มต่อความทุกข์และความตายอย่างไม่มี อะไรหนักใจจิตมีอารมณ์อย่างนี้ ท่านเรียกว่าละสักกายทิฏฐิได้แล้ว ได้คุณสมบัติของ พระโสดาบันไว้ได้หนึ่งอย่าง ๒. วิจิกิจฉา ละความสงสัยในมรรคผลเสียได้ โดยมีสัทธาเกิดขึ้นเที่ยงแท้มั่นคง ว่าผลของการปฏิบัตินี้มีผลที่จะพ้นจากวัฏทุกข์ได้จริง ๓. สีลัพพตปรามาส ถือศีล ๕ อย่างเคร่งครัด ยอมตัวตายดีกว่าศีลขาด ไม่ยอม ให้ศีลบกพร่อง เมื่อมีคุณสมบัติครบสามประการดังนี้ ท่านก็เป็นพระโสดาบันแล้ว ไม่ต้อง รอให้ใครบอก และออกใบประกาศโฆษณา องค์ของพระโสดาบัน เพื่อสะดวกแก่การพิจารณาตัวเอง ขอบอกองค์ของพระโสดาบันไว้ เพราะรู้ไว้เป็น คู่มือพิจารณาตัวเอง ๑. รักษาศีล ๕ เป็นปกติ ไม่ทำให้ศีลขาดหรือด่างพร้อยตลอดชีวิต ๒. เคารพพระรัตนตรัยอย่างเคร่งครัด ไม่กล่าวจ้วงจาบพระธรรมวินัย แม้แต่จะพูด เล่นๆ ก็ไม่พูด ๓. มีอารมณ์รักใคร่ในพระนิพพานเป็นปกติ ไม่มีความปรารถนาอย่างอื่นนอกจาก พระนิพพาน พระโสดาบันตามปกติมีอารมณ์สามประการดังกล่าวมานี้ ถ้าท่านได้ ท่านเป็น พระโสดา ท่านก็จะเห็นว่าอาการที่กล่าวมานี้เป็นความรู้สึกธรรมดาไม่หนักแต่ถ้าอารมณ์ อะไรตอนใดในสามอย่างนี้ยังมีความหนักอยู่บ้าง ก็อย่าเพ่อคิดว่าท่านเป็นพระโสดาบัน เสียก่อนสำเร็จ จะเป็นผลร้ายแก่ตัวท่านเอง ต้องได้จริงถึงจริง แม้ได้แล้วถึงแล้ว ก็ควร ก้าวต่อไป อย่าหยุดยั้งเพียงนี้เพราะ มรรคผลเบื้องสูงยังมีต่อไปอีก (จบกสิณ ๑๐) .
อสุภกรรมฐาน (1/0)
คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน ----> หน้า 37
อสุภกรรมฐาน
อสุภ แปลว่า ไม่สวย ไม่งาม กรรมฐาน แปลว่า ตั้งอารมณ์ไว้ให้เป็นการเป็นงาน
รวมความแล้วได้ความว่า ตั้งอารมณ์เป็นการเป็นงานในอารมณ์ที่เห็นว่า ไม่มีอะไรสวยสดงดงาม
มีแต่ความสกปรกโสโครก น่าเกลียดน่าสะอิดสะเอียน
กำลังสมาธิของอสุภกรรมฐาน
อสุภกรรมฐานทั้ง ๑๐ อย่างนี้ มีกำลังสมาธิเพียงปฐมฌานเป็นอย่างสูงสุด ไม่สามารถ
จะทรงฌานให้มีกำลังให้สูงกว่านั้นได้ เพราะเป็นกรรมฐานที่มีอารมณ์ด้านพิจารณามากกว่า
การเพ่ง ใช้อารมณ์จิตใคร่ครวญพิจารณาอยู่เป็นปกติ จึงทรงสมาธิได้อย่างสูงก็เพียงปฐมฌาน
เป็นกรรมฐานที่มีอารมณ์คล้ายคลึงกับวิปัสสนาญาณมาก นักปฏิบัติที่พิจารณาอสุภกรรมฐาน
จนทรงปฐมฌานได้ดีแล้ว พิจารณาวิปัสสนาญาณควบคู่กันไป จะบังเกิดผลรู้แจ้งเห็นจริงใน
อารมณ์วิปัสสนาญาณได้อย่างไม่ยากนัก สำหรับอสุภกรรมฐานนี้เป็นสมถกรรมฐานที่ให้ผล
ในทางกำจัด ราคจริตเหมือนกันทั้ง ๑๐ กอง คือค้นคว้าหาความจริงจากวัตถุที่มีชีวิตและไม่มี
ชีวิต ที่นิยมชมชอบกันว่าสวยสดงดงามที่บรรดามวลชนทั้งหลายพากันมัวเมา หลงไหลใฝ่ฝัน
ว่าสวยสดงดงามจนเป็นเหตุให้เกิดภยันตรายแก่ตน ลืมชีวิตความเป็นอยู่ของตน มอบหมาย
ความรักความปรารถนาให้แก่วัตถุที่ตนหลงรัก เป็นการประพฤติที่ฝืนต่อกฎของความเป็นจริง
เป็นเหตุของความทุกข์ที่ไม่รู้จักจบสิ้น กรรมฐานนี้จะค้นคว้าหาความจริงจากสรรพวัสดุต่างๆ
ที่เห็นว่าสวยสดงดงามเอามาตีแผ่ให้เห็นเหตุเห็นผลว่า สิ่งที่สัตว์และคนหลงไหลใฝ่ฝันนั้น
ความจริงไม่มีอะไรสวย ไม่มีอะไรงาม เป็นของน่าเกลียดโสโครกทั้งสิ้น กรรมฐานในหมวด
อสุภกรรมฐานมีความหมายในรูปนี้ จึงเป็นกรรมฐานที่ระงับดับอารมณ์ที่ใคร่อยู่ในกามารมณ์
เสียได้ ท่านที่เจริญกรรมฐานหมวดอสุภนี้ชำนาญเป็นพื้นฐานแล้ว ต่อไปเจริญวิปัสสนาญาณ
จะเข้าถึงการบรรลุเป็นพระอนาคามีผลไม่ยากนัก เพราะพระอนาคามีผลเป็นพระอริยบุคคล
ที่มีความสงบระงับดับความรู้สึกในกามารมณ์ได้เด็ดขาด ท่านที่เจริญกรรมฐานหมวดอสุภนี้
ก็เป็นการเริ่มต้นในการเจริญฌานด้านที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกามารมณ์ ฉะนั้น นักปฏิบัติกรรมฐาน
ที่มีความชำนาญในอสุภกรรมฐานจึงเป็นของง่ายในการเจริญวิปัสสนาญาณ เพื่อให้บรรลุเป็น
อนาคามีผลและอรหัตตผล
อสุภกรรมฐาน ๑๐ อย่าง
อสุภกรรมฐาน ท่านจำแนกไว้เป็น ๑๐ อย่างด้วยกัน คือ
๑. อุทธุมาตกอสุภ คือ ร่างกายของคนและสัตว์ที่ตายไปแล้ว นับแต่วันตายเป็นต้นไป
มีร่างกายขึ้นบวม พองไปด้วยลม ที่เรียกกันว่า ผีตายขึ้นอืดนั่นเอง
๒. วินิลกอสุภ เป็นร่างกายที่มีสีเขียว สีแดง สีขาว คละปนระคนกัน คือ มีสีแดงในที่
มีเนื้อมาก มีสีขาวในที่มีน้ำเหลืองน้ำหนองมาก มีสีเขียวที่มีผ้าสีเขียวคลุมไว้ อาศัยที่ร่างกาย
ของผู้ตายส่วนใหญ่ก็ปกคลุมด้วยผ้า ฉะนั้น สีเขียวตามร่างกายของผู้ตายจึงมีสีเขียวมาก ท่าน
จึงเรียกว่า วินีลกะ แปลว่าสีเขียว
๓. วิปุพพกอสุภ เป็นซากศพที่มีน้ำเหลืองไหลอยู่เป็นปกติ
๔. วิฉิททกอสุภ คือซากศพที่มีร่างกายขาดเป็นสองท่อนในท่ามกลาง มีกายขาด
ออกจากกัน
๕. วิกขายิตกอสุภ เป็นร่างกายของซากศพที่ถูกสัตว์ยื้อแย่งกัดกิน
๖. วิกขิตตกอสุภ เป็นซากศพที่ถูกทอดทิ้งไว้จนส่วนต่าง ๆ กระจัดกระจายมีมือ
แขน ขา ศีรษะ กระจัดพลัดพรากออกไปคนละทาง
๗. หตวิกขิตตกอสุภ คือซากศพที่ถูกสับฟันเป็นท่อนน้อยและท่อนใหญ่
๘. โลหิตกอสุภ คือซากศพที่มีเลือดไหลออกเป็นปกติ
๙. ปุฬุวกอสุภ คือซากศพที่เต็มไปด้วยตัวหนอนคลานกินอยู่
๑๐. อัฏฐิกอสุภ คือซากศพที่มีแต่กระดูก
อสุภกรรมฐานนี้ท่านพระพุทธโฆษาจารย์เจ้า ได้พรรณนาไว้ในวิสุทธิมรรครวม
เป็นอสุภที่มีอาการ ๑๐ อย่างตามที่กล่าวมาแล้ว
การพิจารณาอสุภ (1/0)
คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน ----> หน้า 38
การพิจารณาอสุภ
การพิจารณาอสุภทั้ง ๑๐ อย่างนี้ ท่านสอนให้พิจารณาเพื่อถือเอานิมิตโดยอาการ ๖ อย่าง
ดังต่อไปนี้
๑. พิจารณาโดยสี คือให้กำหนดว่า ซากศพนี้เป็นร่างกายของคนดำหรือคนขาวหรือ
เป็นร่างกายของคนที่มีผิวด่างพร้อย คือผิวไม่เกลี้ยงเกลา
๒. พิจารณาโดยเพศ อย่ากำหนดว่า ร่างกายนี้เป็นหญิงหรือชาย พึงพิจารณาว่าซากศพ
นี้เป็นร่างกายของคนที่มีอายุน้อย มีอายุกลางคน หรือเป็นคนแก่
๓. กำหนดพิจารณาโดยสัณฐาน คือกำหนดพิจารณาว่า นี่เป็นคอ เป็นศีรษะ เป็นท้อง
เป็นเอว เป็นขา เป็นเท้า เป็นแขน เป็นมือ ดังนี้เป็นต้น
๔. กำหนดโดยทิศ ทิศนี้ท่านหมายเอาสองทิศ คือ ทิศเบื้องบน ได้แก่ทางด้านศีรษะ
ทิศเบื้องต่ำ ได้แก่ทางด้านปลายเท้าของซากศพ ท่านมิได้หมายถึงทิศเหนือทิศใต้ตามที่นิยม
กัน ท่านให้สังเกตว่า ที่เห็นอยู่นั้นเป็นทางด้านศีรษะ หรือด้านปลายเท้า
๕. กำหนดพิจารณาโดยที่ตั้ง ท่านให้พิจารณากำหนดจดจำว่า ซากศพนี้ศีรษะวางอยู่
ที่ตรงนี้ มือวางอยู่ตรงนี้ เท้าวางอยู่ตรงนี้ ตัวเราเอง เวลาที่พิจารณาอสุภนี้ เรายืนอยู่ตรงนี้
๖. กำหนดพิจารณาโดยกำหนดรู้ หมายถึงการกำหนดรู้ว่า ร่างกายสัตว์และมนุษย์นี้
มีอาการ ๓๒ เป็นที่สุด ไม่มีอะไรสวยสดงดงามจริงตามที่ชาวโลกผู้มัวเมาไปด้วยกิเลสหลงใหล
ใฝ่ฝันอยู่ ความจริงแล้วก็เป็นของน่าเกลียดโสโครก มีกลิ่นเหม็นคุ้ง มีสภาพขึ้นอืดพอง มีน้ำเลือด
น้ำหนองเต็มร่างกาย หาอะไรที่จะพอพิสูจน์ได้ว่า น่ารักน่าชมไม่มีเลย สภาพของร่างกายที่พอ
จะมองเห็นว่าสวยสดงดงาม พอที่จะอวดได้ก็มีนิดเดียว คือ หนังกำพร้าที่ปกปิดอวัยวะภายใน
ทำให้มองไม่เห็นสิ่งโสโครก คือ น้ำเลือด น้ำหนอง ดี เสลด ไขมัน อุจจาระ ปัสสาวะ ที่ปรากฏ
อยู่ภายใน แต่ทว่าหนังกำพร้านั้นใช่ว่าจะสวยสดงดงามจริงเสมอไปก็หาไม่ ถ้าไม่คอยขัดถูแล้ว
ไม่นานเท่าใด คือไม่เกินสองวันที่ไม่ได้อาบน้ำชำระร่างกาย หนังที่สดใสก็กลายเป็นสิ่งโสโครก
เหม็นสาบเหม็นสาง ตัวเองก็รังเกียจตัวเอง เมื่อมีชีวิตอยู่ก็เอาดีไม่ได้ พอตายแล้วยิ่งโสโครก
ใหญ่ ร่างกายที่เคยผ่องใส ก็กลายเป็นซากศพที่ขึ้นอืดพอง น้ำเหลืองไหลมีกลิ่นเหม็นตลบไปทั่ว
บริเวณ คนที่เคยรักกันปานจะกลืน พอสิ้นลมปราณลงไปในทันทีก็พลันเกลียดกัน แม้แต่จะเอา
มือเข้าไปแตะต้องก็ไม่ต้องการ บางรายแม้แต่จะมองก็ไม่อยากมอง มีความรังเกียจซากศพ
ซ้ำร้ายกว่านั้น เมื่ออยู่รักและหวงแหน จะไปสังคมสมาคมคบหา สมาคมกับใครอื่นไม่ได้ ทราบ
เข้าเมื่อไรเป็นมีเรื่อง แต่พอตายจากกันวันเดียวก็มองเห็นคนที่แสนรักกลายเป็นศัตรูกัน กลัว
วิญญาณคนตายจะมาหลอกมาหลอน เกรงคนที่แสนรักจะมาทำอันตราย ความเลวร้ายของ
สังขารร่างกายเป็นอย่างนี้ เมื่อพิจารณากำหนดทราบร่างกายของซากศพทั้งหลายที่พิจารณา
เห็นแล้ว ก็น้อมนึกถึงสิ่งที่ตนรัก คือคนที่รัก ที่ปรารถนา ที่เราเห็นว่าเขาสวยเขางาม เอา
ความจริงจากซากอสุภเข้าไปเปรียบเทียบดู พิจารณาว่า คนที่เรารักแสนรัก ที่เห็นว่าเขาสวย
สดงดงามนั้น เขากับซากศพนี้มีอะไรแตกต่างกันบ้าง เดิมซากศพนี้ก็มีชีวิตเหมือนเขา พูดได้
เดินได้ ทำงานได้ แสดงความรักได้ เอาอกเอาใจได้ แต่งตัวให้สวยสดงดงามได้ ทำอะไร ๆ
ได้ทุกอย่าง ตามที่คนรักของเราทำ แต่บัดนี้เขาเป็นอย่างนี้ คนรักของเราก็เป็นอย่างเขา เรา
จะมานั่งหลอกตนเองว่า เขาสวย เขางาม น่ารัก น่าปรารถนาอยู่เพื่อเหตุใด แม้แต่ตัวเราเอง
สิ่งที่เรามัวเมากาย เมาชีวิต หลงใหลว่า ร่างกายเราสวยสดงามวิไล ไม่ว่าอะไรน่ารักน่าชม
ไปหมด ผิวที่เต็มไปด้วยเหงื่อไคล เราก็เอาน้ำมาล้าง เอาสบู่มาฟอก นำแป้งมาทา เอาน้ำหอม
มาพรม แล้วก็เอาผ้าที่เต็มไปด้วยสีมาหุ้มห่อ เอาวัตถุมีสีต่างๆ มาห้อยมาคล้องมองดูคล้าย
บ้าหอบฟางแล้วก็ชมตัวเองว่าสวยสดงดงาม ลืมคิดถึงสภาพความเป็นจริง ที่เราเองก็หอบเอา
ความโสโครกเข้าไว้พอแรง เราเองเรารู้ว่าในกายเราสะอาดหรือสกปรก ปากเราที่ชมว่าปาก
สวย ในปากเต็มไปด้วยเสลดน้ำลาย น้ำลายของเราเองเมื่ออยู่ในปากอมได้ กลืนได้ แต่พอ
บ้วนออกมาแล้วกลับรังเกียจไม่กล้าแม้แต่จะเอามือแตะนี่เป็นสิ่งสกปรกที่เรามีหนึ่งอย่างละ
.
อนัตตา (1/0)
คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน ----> หน้า 39
ต่อไปก็อุจจาระ ปัสสาวะ เลือด น้ำเหลือง ที่หลั่งไหลอยู่ในร่างกาย พอไหลออกมานอกกาย
เราก็รังเกียจทั้ง ๆ ที่เป็นตัวของเราเอง นี้ก็เป็นสิ่งโสโครกที่เป็นสมบัติของเราเองอีก
น้ำเลือด น้ำเหลือง ของซากศพที่เรามองเห็นนั้น ซากศพนั้นมีสภาพอย่างไร เมื่อตายไปแล้ว
จากความเป็นคนหรือสัตว์ เราเรียกกันว่าผีตายเขามีสภาพอย่างไร คือตายแล้วมีน้ำเลือดน้ำเหลือง
หลั่งไหลออกจากร่างกายฉันใด เราแม้ยังไม่ตาย สิ่งเหล่านั้นก็มีครบแล้ว คนที่เราคิดว่าสวยสด
งดงามตามที่นิยมกัน ก็เต็มไปด้วยความโสโครกที่น่ารังเกียจเหมือนกัน เอาอะไร มาเป็นของ
น่ารักน่าปรารถนา เรารักคนก็มีสภาพเท่ารักศพ ศพนี้น่าเกลียดน่าชังเพียงใด คนรักที่เรารักก็มี
สภาพอย่างนั้น พยายามพิจารณาใคร่ครวญให้เห็นติดอกติดใจจนกระทั่งเห็นสภาพของผู้ใดก็
ตามที่เขานิยมกันว่า น่ารัก น่าชมนั้น เห็นแล้วมีความรู้สึกว่าเป็นซากศพทันที มีความรังเกียจ
สะอิดสะเอียนขึ้นมาทันทีทันใด เห็นคนหรือสัตว์มีสภาพเป็นซากศพไปหมด เต็มไปด้วยความ
รังเกียจที่จะสัมผัสถูกต้อง รังเกียจที่จะคิดว่าน่ารักน่าเอ็นดู เพราะความสวยสดงดงามเห็นผิว
ภายนอกก็มองเห็นภายใน คือเห็นเป็นสภาพถุงน้ำเลือด น้ำหนอง ถุงอุจจาระปัสสาวะที่เคลื่อนที่
ได้พูดด้วยสนทนาด้วย ก็เห็นสภาพผู้ที่พูดจาสนทนาด้วย เป็นถุงอุจจาระปัสสาวะและถุงน้ำเลือด
น้ำหนองมาพูดคุยด้วย คิดว่าขณะนี้มีสภาพเป็นถุงน้ำเลือดน้ำหนอง มาสนทนาปราศรัยกับเรา
ต่อไปเขาก็จะกลายเป็นซากศพที่มีร่างกายอืดพอง น้ำเหลืองไหล ต่อไปกายก็จะขาดจากกัน
เป็นท่อนน้อยและท่อนใหญ่ สัตว์จะกัดกิน และในที่สุด ก็จะเหลือแต่กระดูกกระจัดกระจายไป
เขานี่เป็นผีตายชัดๆ เราก็เช่นเดียวกัน เขามีสภาพเช่นไร เราก็มีสภาพเช่นนั้น กายนี้ล้วนแต่
เป็นอนิจจัง หาความเที่ยงแท้แน่นอนไม่ได้เลย แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่สะสมของโสโครกแล้ว แต่ถ้า
จะยังยืนคู่ฟ้าคู่ดินก็พอที่จะทนรักทนชอบได้บ้าง แต่นี่เปล่าเลยท่านหลงว่าสวยสดงดงามนั้น
ก็เป็นสิ่งหลอกลวง เต็มไปด้วยความโสโครกเท่านั้นยังไม่พอ กลับหาความเที่ยงแท้แน่นอน
ไม่ได้อีก ดิ้นรนกลับกลอกทรุดโทรมลงทุกวันทุกเวลาเคลื่อนเข้าไปหาความแก่ทุกวันทุกนาที
ยิ่งมากวันความเสื่อมโทรมของร่างกายก็ทวีมากขึ้น จากความเป็นเด็กตัวเล็ก ๆ มาเป็นคนหนุ่ม
คนสาว จากความเป็นคนหนุ่มคนสาวมาเป็นคนแก่ การเคลื่อนไปนั้นมิใช่เคลื่อนเปล่า ยังนำเอา
โรคภัยไข้เจ็บมาทับถมให้ไม่เว้นแต่ละวัน ปวดที่โน่น ปวดที่นี่ โรคแน่น โรคจุกเสียด ปวดร้าว
มีตลอดเวลา อวัยวะที่เคยใช้คล่องแคล่วสมบูรณ์บริบูรณ์ด้วยกำลัง ก็ง่อนแง่นคลอนแคลน กำลัง
วังชาหมดไป ทำอะไรไม่ได้สะดวก หูก็หนัก ตาก็ฟาง ได้ยินเห็นอะไรไม่ถนัดเต็มไปด้วยความ
ทุกข์ จะห้ามปรามรักษาด้วยหมอวิเศษ ท่านใดก็ไม่สามารถจะยับยั้งความเคลื่อนความทรุดโทรม
นี้ได้ ในที่สุดก็พังทลายกลายเป็นซากศพที่ชาวโลกรังเกียจอย่างนี้ อัตภาพนี้เป็นสภาพโสโครก
อย่างนี้ เป็นอนิจจัง ไม่เที่ยงอย่างนี้ เป็นทุกขัง ความทุกข์อันเกิดแต่ความเคลื่อนไหวไปหาความ
เสื่อมอย่างนี้ เป็นอนัตตา เพราะเราจะบังคับบัญชาควบคุมไม่ให้เคลื่อนไปไม่ได้ ต้องเป็นไปตาม
กฎธรรมดา
พิจารณาเห็นโทษเห็นทุกข์อันเกิดแต่ร่างกาย เกิดนิพพิทาความเบื่อหน่ายในร่างกาย
ของตนเองและร่างกายของผู้อื่น เห็นสภาพร่างกายของตนเองและของผู้อื่นเป็นซากศพ หมด
ความพิสมัยรักใคร่ โดยเห็นว่าไม่มีอะไรสวยงาม เห็นเมื่อไรเบื่อหน่ายหมดความพอใจเมื่อนั้น
เห็นคนมีสภาพเป็นศพทุกขณะที่เห็นอย่างนี้ท่านเรียกว่าได้อสุภกรรมฐานในส่วนของสมถภาวนา
เห็นร่างกายเป็นซากศพ เบื่อหน่ายในร่างกาย และเห็นว่าร่างกายนี้เต็มไปด้วยความ
ไม่เที่ยง สกปรกโสมมแล้วยังหาความแน่นอนไม่ได้อีก เคลื่อนไปหาความแก่ตายทุกวันเวลา
ขณะที่เคลื่อนไปก็เต็มไปด้วยความทุกข์ เพราะต้องได้รับทุกข์จากโรค รับทุกข์จากการบริหาร
ร่างกาย มีการประกอบการงานเป็นต้น ทุกข์เพราะมีลาภแล้วลาภหมดไป มียศแล้ว ยศสิ้นไป
มีสุขแล้วก็มีทุกข์มาทับถม เดี๋ยวมีคำสรรเสริญมาป้อยอ แต่ก็ไม่นานก็ถูกนินทา เป็นเหตุให้ใจ
เป็นทุกข์ ทุกข์เพราะความเสื่อมโทรมของร่างกายมีอวัยวะทุพพลภาพ หูหนัก ตาฟาง ฟันหัก
ร่างกายร่วงโรย ความจำเสื่อม ล้วนแล้วแต่เป็นส่วนของความทุกข์ทั้งสิ้น
เห็นร่างกายเป็นทุกข์แล้ว ก็เห็นความดื้อด้านของสังขารร่างกายที่บังคับบัญชาไม่ได้ คือ
เห็นว่าความเสื่อมโทรมอย่างนี้เราไม่ต้องการ ก็บังคับไม่ได้ ไม่ต้องการให้ปวดเจ็บเมื่อยล้า
แต่มันก็จะเป็น ไม่มีใครห้ามได้ ไม่ต้องการให้ระบบประสาทเสื่อมมันก็จะเสื่อม ใครก็ห้ามไม่ได้
ไม่ต้องการตาย มันก็ต้องตาย ไม่มีใครห้ามได้ สิ่งที่ห้ามไม่ได้นี้ ท่านเรียกว่า อนัตตา แปลว่า
เป็นสิ่งเหลือวิสัยที่จะบังคับ ที่ท่านแปล อนัตตาว่า ไม่ใช่ตัวตนนั่นเอง เพราะถ้าเป็นตัวตนของเรา
จริงแล้ว เราก็บังคับได้ ถ้าบังคับไม่ได้ก็ไม่ใช่ตัวตนของเราแน่
ปฏิภาคนิมิตกำจัดนิวรณ์ ๕ (1/0)
คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน ----> หน้า 40
อารมณ์ที่เห็นว่า ร่างกายนอกจากจะโสโครกน่าสะอิดสะเอียนเป็นซากศพแล้วยังไม่เที่ยง
เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เกิดความเบื่อหน่ายในการทรงสังขารร่างกาย เบื่อที่จะเกิดต่อไปเพราะถ้า
เกิดมีร่างกายในภพใด ร่างกายก็จะมีสภาพโสโครกสกปรกเป็นซากศพและไม่เที่ยงเป็นทุกข์
บังคับบัญชาไม่ได้อย่างนี้อีก ความเบื่อหน่ายในร่างกาย เบื่อในการเกิด เป็นนิพพิทาญาณใน
วิปัสสนาญาณ ถ้าท่านคิดใคร่ครวญในรูปสมถะให้เห็นซากศพอยู่เสมอ และใคร่ ครวญหากฎ
ธรรมดาควบคู่กันไป คือ เมื่อเกิดความทุกข์อันเกิดแต่การป่วยไข้ หรืออารมณ์ที่ ไม่พอใจ หรือ
ความแก่เฒ่าเข้ารบกวน ท่านก็วางใจเฉยเสียไม่ดิ้นรนกระเสือกกระสน โดยคิดว่านี่เป็นเรื่อง
ของธรรมดา เกิดมามันก็ต้องเจ็บไข้ไม่สบาย มีลาภแล้วลาภมันก็เสื่อมได้ มียศแล้วยศมันก็สิ้น
ได้ มีสุขแล้วทุกข์มันก็มีได้ มีคนสรรเสริญแล้วคนนินทาก็มีได้ เกิดแล้วก็ต้องตายได้ทุกอย่าง
มันธรรมดาแท้ๆ จนจิตชินต่ออารมณ์ มีอะไรที่เป็นทุกข์เกิดขึ้นก็รู้สึกว่าเป็นปกติ ไม่ดิ้นรน
หวั่นไหวอย่างนี้ ท่านเรียกว่าได้สังขารุเปกขาญาณในวิปัสสนาญาณ เป็นคุณธรรมที่ใกล้ความ
เป็นผู้บรรลุพระโสดาบันแล้ว หมั่นคิดนึกไปเสมอ ๆ ถึงร่างกายที่มีสภาพเป็นซากศพร่างกายที่
ไม่มีอะไรแน่นอนจนจิตคิดเป็นปกติว่า ร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย
ร่างกายไม่มีในเรา ไม่หวั่นไหวต่อมรณภัย มีจิตใจศรัทธาเชื่อมั่นในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
จิตว่างจากกรรมชั่วครู่ คือรักษาศีล ๕ ได้เป็นปกติ มีอารมณ์รักพระนิพพานเป็นปกติ คือ ใคร่
ครวญปรารถนาแต่พระนิพพาน ไม่ต้องการความเกิดต่อไปอีกอย่างนี้ท่านว่าทรงคุณได้ในระดับ
พระโสดาบัน
ฉะนั้น ขอให้นักปฏิบัติที่ปฏิบัติในอสุภกรรมฐาน จงอุตส่าห์พยายามกำหนดพิจารณา
ให้ขึ้นใจจนได้ปฏิภาคนิมิตในที่สุด แล้วรักษานิมิตนั้นไว้อย่าให้เสื่อม ต่อไปก็ยกเอานิมิตนั้น
ขึ้นสู่อารมณ์วิปัสสนาญาณ ท่านจะเข้าถึงมรรคผลนิพพานได้ภายในไม่ช้าเลย การพิจารณา
อย่างนี้ เรียกว่าพิจารณากำหนดรู้
นิมิตในอสุภกรรมฐาน
อสุภกรรมฐานก็มีนิมิตเป็นเครื่องกำหนดในการเข้าถึงเหมือนกสิณ แต่ต่างจากกสิณ
ตรงที่เอารูปซากศพเป็นนิมิต ไม่ยกเอาธาตุหรือสีภายนอกเป็นนิมิต นิมิตในอสุภนี้ก็มีเป็น
สองระดับเหมือนกัน คือ
๑. อุคคหนิมิต ได้แก่ นิมิตติดตา คือ รูปเดิมที่กำหนดจดจำไว้ และ
๒. ปฏิภาคนิมิต ได้แก่ นิมิตที่เป็นอัปปนาสมาธิ คือ รูปต่างจากภาพเดิมดังจะ
ได้ยกมาเขียนไว้ดังต่อไปนี้
๑. อุทธุมาตกอสุภ
อสุภที่มีร่างกายขึ้นอืดพอง อสุภนี้เมื่อเริ่มปฏิบัติ เมื่อเห็นภาพอสุภที่เป็นนิมิต ท่านให้
กำหนดรูปแล้วภาวนา " อุทธุมาตะกัง ปะฏิกุลัง " ภาวนาอย่างนี้ตลอดไป เมื่อเพ่งพิจารณา
จนจำรูปได้ชัดเจนแล้ว ให้หลับตาภาวนาพร้อมด้วยกำหนดจดจำรูปไปด้วย ตามที่กล่าวไว้แล้ว
ในกสิณ จนรูปอสุภนั้นติดตาติดใจ จะนึกเมื่อไรก็เห็นภาพนั้นได้ทันที ภาพนั้นเกิดขึ้นแก่จิต คือ
อยู่ในความทรงจำ ไม่ใช่ภาพลอยมาให้เห็นเหมือนภาพที่ลอยในอากาศ เกิดจากการกำหนดรู้
โดยเฉพาะ เมื่อภาพนั้นติดใจจนชินตามที่กำหนดจดจำไว้ได้แล้ว ท่านเรียกว่า " อุคคหนิมิต "
แปลว่า นิมิตติดตา
สำหรับปฏิภาคนิมิตนี้ รูปที่ปรากฏนั้นผิดไปจากเดิม คือรูปเปลี่ยนไปเสมือนคนอ้วนพี
ผ่องใส ผิวสดสวย อารมณ์จิตใจเป็นสมาธิตั้งมั่นไม่หวั่นไหว อย่างนี้ท่านเรียกว่าเข้าถึง อัปปนา-
สมาธิ ได้ปฐมฌาน
ปฏิภาคนิมิตกำจัดนิวรณ์ ๕
นิวรณ์ ๕ ก็คือ กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธิ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา ตามที่
กล่าวมาแล้วนั่นเอง เมื่อท่านนักปฏิบัติทรงสมาธิได้ถึง อัปปนาสมาธิ มี นิมิตเข้าถึงปฏิภาค
คือเข้าถึงปฐมฌานแล้ว นิวรณ์ทั้ง ๕ ประการก็ระงับไปเอง ตามที่กล่าวมาแล้วในตอนว่าด้วย
ฌาน
.
วินีลกอสุภ (1/0)
คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน ----> หน้า 41
๒. วินีลกอสุภ
อสุภนี้ ปกติพิจารณาสี มีสีแดง สีเขียว สีขาวปนกัน เมื่อขณะกำหนดภาวนาว่า
"วินีละกัง ปะฏิกุลัง" จนภาพนิมิตที่มีสี แดง ขาว เขียว เกิดติดตาติดใจคละกัน
อย่างนี้ท่านเรียกว่า อุคคหนิมิต
ต่อไปถ้าปรากฏว่าในจำนวนสีสามสีนั้น สีใดสีหนึ่งแผ่ปกคลุมสีอีกสองสีนั้นจนหนาทึบ
ปิดบังสีอื่นหมดแล้วทรงสภาพอยู่ได้นาน ท่านเรียกนิมิตอย่างนี้ว่า ปฏิภาคนิมิต ทางสมาธิ
เรียกว่า อัปปนาสมาธิ ทางฌานเรียกว่า ปฐมฌาน
๓. วิปุพพกอสุภ
อสุภนี้ ท่านให้พิจารณาน้ำเหลืองน้ำหนองเป็นอารมณ์ ภาวนาว่า" วิปุพพะกัง ปะฏิกุลัง"
จนเกิด อุคคหนิมิต อุคคหนิมิตของอสุภนี้มีลักษณะดังนี้ ปรากฏเห็นเป็นน้ำหนองไหลอยู่
เป็นปกติ สำหรับปฏิภาคนิมิต นั้นมีสภาพเป็นนิมิตตั้งอยู่เป็นปกติ ไม่มีอาการไหลออก
เหมือนอุคคหนิมิต
๔. วิฉิททกอสุภ
อสุภนี้ ท่านให้พิจารณาซากศพที่ถูกสับฟันเป็นท่อนน้อยและท่อนใหญ่ ขณะพิจารณา
ให้ท่านภาวนาว่า " วิฉิททะกัง ปะฏิกุลัง " สำหรับอุคคหนิมิตในอสุภนี้ท่านว่า มีรูป
ซากศพขาดเป็นท่อนน้อยและท่อนใหญ่ ส่วนปฏิภาคนิมิตนั้นมีรูปเป็นบริบูรณ์
เสมือนมีอวัยวะครบถ้วนบริบูรณ์
๕. วิกขายิตกอสุภ
อสุภนี้ ท่านให้พิจารณา อสุภที่ถูกสัตว์กัดกินเป็นซากศพที่แหว่งเว้าทั้งด้านหน้า
หลัง และในฐานต่างๆ ขณะพิจารณา ท่านให้ภาวนาว่า " วิกขายิตตะกัง ปะฏิกุลัง "
สำหรับอุคคหนิมิตในอสุภนี้ ปรากฏเป็นรูปซากศพที่ถูกสัตว์กัดกิน ส่วนปฏิภาคนิมิตนั้น ปรากฏ
เป็นรูปซากศพที่มีร่างกายบริบูรณ์
๖. วิกขิตตกอสุภ
วิกขิตตกอสุภนี้ ท่านให้รวบรวมเอาซากศพที่กระจัดกระจายพลัดพรากกันในป่าช้า
มาวางรวมเข้าแล้วพิจารณา ขณะพิจารณาท่านให้ภาวนาว่าดังนี้ " วิกขิตตะกัง ปะฏิกุลัง "
สำหรับอุคคหนิมิตในอสุภนี้ มีรูปเป็นอสุภนั้นตามที่นำมาวางไว้ วางไว้มีรูปอย่างไร อุคคหนิมิต
ก็มีรูปร่างอย่างนั้น ส่วนปฏิภาคนิมิตนั้น เห็นเป็นรูปมีร่างกายบริบูรณ์ไม่บกพร่องจะได้มีช่องว่าง
ก็หามิได้
๗. หตวิกขิตตกอสุภ
ท่านให้พิจารณาซากศพที่ถูกสับฟันเป็นท่อนๆ แล้วเอามาวางห่างกันท่อนละ
๑ นิ้ว แล้วเพ่งพิจารณา ขณะพิจารณาท่านให้ภาวนาว่า " หะตะวิกขิตตะกัง ปะฏิกุลัง "
สำหรับนิมิต คืออุคคหนิมิตในอสุภนี้ ปรากฏเป็นปากแผลที่ถูกสับฟัน ส่วนปฏิภาคนิมิตนั้น
ปรากฏเป็นร่างบริบูรณ์ จะปรากฏริ้วรอยที่ถูกสับฟันนั้นหามิได้
๘. โลหิตกอสุภ
อสุภนี้ ท่านให้พิจารณาซากศพที่ถูกประหาร มีมือเท้าขาดเลือดไหล ขณะพิจารณา
ท่านให้ภาวนาว่า "โลหิตะกัง ปะฏิกุลัง " สำหรับอุคคหนิมิตในอสุภนี้ ปรากฏเหมือนผ้าแดง
ที่ถูกลมปลิวไสวอยู่ ส่วนปฏิภาคนิมิตนั้น ปรากฏเป็นสีแดงนิ่งสงบไม่เคลื่อนไหว
๙. ปุฬุวกอสุภ
อสุภนี้ ท่านให้พิจารณา ซากศพที่ตายมาแล้วสองสามวัน มีหนอนคลานอยู่บนซากศพ
นั้น ขณะพิจารณาท่านให้ภาวนาว่า " ปุฬุวะกัง ปะฏิกุลัง " สำหรับอุคคหนิมิตใน อสุภนี้ ปรากฏ
เป็นรูปซากศพที่มีหนอนคลานอยู่บนซากศพ แต่สำหรับปฏิภาคนิมิตนั้นปรากฏเป็นภาพนิ่งคล้าย
กองสำลีที่กองอยู่เป็นปกติ
๑๐. อัฏฐิกอสุภ
อัฏฐิกอสุภนี้ ท่านให้เอากระดูกของซากศพเท่าที่พึงหาได้ จะเป็นกระดูกที่มี เนื้อ
เลือด เส้น เอ็น รัดรึงอยู่ก็ตาม หรือจะเป็นกระดูกล้วนก็ตาม หรือจะเป็นกระดูกบางส่วน
ของร่างกายมีเพียงส่วนน้อยหรือท่อนเดียวก็ตาม เอามาเป็นวัตถุพิจารณา เวลาพิจารณา
ท่านให้ภาวนาว่าดังนี้ " อัฏฐิกัง ปะฏิกุลัง " สำหรับอุคคหนิมิตในอัฏฐิกอสุภนี้ จะมีรูปเป็นกระดูก
เคลื่อนไหวไปมา สำหรับปฏิภาคนิมิตนั้นจะมีสภาพเป็นกระดูกวางเฉยเป็นปกติ
(จบนิมิตในอสุภ ๑๐ อย่างเพียงเท่านี้)
การพิจารณา การเพ่ง (1/0)
คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน ----> หน้า 42 การพิจารณา การเพ่ง เมื่อจะเข้าไปเพ่งดูซากศพ ท่านให้เข้าไปยืนไม่ให้ห่างเกินไป และไม่ชิดเกินไป การยืน อย่ายืนใต้ลม เพราะกลิ่นอสุภจะทำให้ไม่สบาย จะเกิดการอาเจียน และเดือดร้อน เพราะกลิ่น อาจทำ ให้เกิดโรค มีอาการทางท้อง หรือปวดศีรษะได้ อย่ายืนเหนือลมเกินไป เพราะพวก อมนุษย์ที่กำลังกัดกินเนื้ออสุภนั้นจะโกรธ จงยืนเฉียงอสุภด้านเหนือลม ลืมตาเพ่งจดจำรูปอสุภ นั้นด้วย สี สัณฐาน อาการที่วางอยู่ จำให้ได้ครบถ้วน แล้วหลับตานึกถึงภาพนั้น ถ้า ภาพนั้นเลอะเลือนไปก็ลืมตาดูใหม่ จำได้แล้วก็หลับตานึกคิดถึงภาพนั้นใหม่ เมื่อจำได้แล้ว ให้กลับมาที่อยู่ นั่งเพ่งรูปอสุภนั้นให้ติดตาติดใจ จนภาพนั้นเกิดเป็นอุคคหนิมิต คือภาพที่เห็น มานั้นติดอารมณ์อยู่เสมอจะหลับตาหรือลืมตา ก็คิดเห็นภาพนั้นเป็นปกติ อย่างนี้เรียกว่าได้ อุคคหนิมิต คือ นิมิตติดตาคือติดใจนั่นเอง ต่ออารมณ์ที่กำหนดนั้นมั่นคงแจ่มใสขึ้น ภาพที่จำได้นั้นมีสภาพแจ่มใสชัดเจนคล้ายกับ เห็นด้วยตา และภาพนั้นก็มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากรูปเดิม มีสภาพผุดผ่องเป็นร่างบริบูรณ์ หรือผ่องใสกว่าภาพที่เพ่งมา อย่างนี้ท่านเรียกว่า ปฏิภาคนิมิต พิจารณา การเจริญอสุภกรรมฐาน ต้องหนักไปในทางพิจารณา เพราะถ้าใช้แต่การเพ่งจำภาพ เฉยๆ จะกลายเป็นกสิณไป ในขณะที่เพ่งจำภาพนั้น ท่านให้พิจารณาพร้อมๆ กันไปด้วย โดย พิจารณาตามความรู้สึกที่แท้จริงว่า อสุภ คือซากศพนี้ เป็นของน่าเกลียด น่าสะอิดสะเอียน ไม่มีอะไรเป็นที่น่ารักน่าปรารถนาเลย ร่างกายคนและสัตว์ทั้งสิ้น มีสภาพน่าสะอิดสะเอียน อย่างนี้ แล้วน้อมภาพนั้นเข้าไปเทียบเคียงกับคนที่มีชีวิตอยู่ โดยคิดแสวงหาความเป็นจริงว่า ร่างที่เพริศพริ้งแพรวพราวไปด้วยทรวดทรง และตระการตาไปด้วยเครื่องประดับนั้นความจริง ไม่มีอะไรสวยงามเลยภายใต้หนังกำพร้ามีแต่ความโสโครก น่าเกลียด น่าสะอิดสะเอียน เลอะเทอะโสมมไปด้วยกลิ่นคาวที่เหม็นคลุ้งไปทั่วบริเวณร่างกาย ไม่มีส่วนใดที่จะหาว่าสะอาด น่ารักแม้แต่น้อยหนึ่งก็หาไม่ได้เมื่อเทียบกับร่างของผู้อื่นแล้วก็เอามาเทียบกับตนเองพิจารณา ให้เห็นชัดว่า เราเองก็เป็นซากศพเคลื่อนที่ เป็นผีเน่าเดินได้ดี ๆ นั่นเอง ซากศพนี้มีสภาพ เช่นใดเราเองก็มีสภาพเช่นนั้นที่ยังมองไม่ชัดเพราะหนังกำพร้าหุ้มห่อไว้ แต่ทว่าสภาพที่ เลอะเทอะน่าเกลียดโสโครกนี้ใช่ว่าจะพ้นการพิจารณาใคร่ครวญของท่านผู้มีปัญญาก็หาไม่ ความจริงสิ่งโสโครกที่ปรากฏภายในก็หลั่งไหลออกมาปรากฏทุกวันคืน เช่น อุจจาระ ปัสสาวะ เลือด เสลด น้ำหนอง เหงื่อไคล สิ่งเหล่านี้เมื่อหลั่งไหลออกมาจากร่างกาย เราเองผู้เป็นเจ้าของก็ไม่ปรารถนาจะแตะต้องเพราะรังเกียจว่าเป็นสิ่งสกปรกโสโครก ความจริงสิ่งเหล่านั้นมีอยู่ในกายของเราเอง ฉะนั้น อสุภ คือ สิ่งที่น่าเกลียดนี้มีอยู่ใน ร่างกายของเราครบถ้วนบริบูรณ์แล้ว เราก็คือส้วมเคลื่อนที่หรือป่าช้าที่บรรจุ ซากศพเคลื่อนที่นั่นเองที่ยังไม่ปรากฏแก่ตาชาวโลกก็เพราะหนังกำพร้ายังหุ้มไว้ ถ้าหนัง กำพร้าขาดเมื่อไร เมื่อนั้นแหละความศิวิไลซ์ก็จะสิ้นซากเมื่อนั้น สภาพที่แท้จริงจะปรากฏ เช่น ซากศพที่กำลังพิจารณาอยู่นี้ จงพยายามพิจารณาให้เห็นชัดเจนตามความเป็นจริง ก่อนพิจารณาต้องเพ่งรูปให้อารมณ์จิตมีสมาธิสมบูรณ์บริบูรณ์เสียก่อน เมื่อพิจารณาเห็นว่า ตนของตนเองไม่สวยไม่งามแล้วก็เห็นคนอื่นว่าไม่สวยไม่งามได้ง่ายการเห็นตนเองเป็น ความเห็นที่เกิดได้ยากแต่ถ้าพยายามฝึกฝนเสมอ ๆ แล้ว อารมณ์จะเคยชินจะเห็นว่าการ พิจารณาตนนี้ง่ายเมื่อเห็นตนแล้วก็เห็นคนอื่นชัดถ้าเห็นตนชัดว่าไม่มีอะไรสวยเพราะมีแต่ ของน่าเกลียดโสโครกเราก็มองเห็นคนอื่นเป็นอย่างนั้นพยายามทำให้ชินให้ขึ้นใจจนมอง เห็นไม่ว่าใครมีสภาพเป็นซากศพ ตัดความกำหนัดยินดีในส่วนกามารมณ์เสียได้แล้วชื่อว่า ท่านได้อสุภกรรมฐานในส่วนของสมถภาวนาแล้ว การได้อสุภกรรมฐานในส่วนสมถะนี้เป็น ผลได้ที่อยู่ในสภาพง่อนแง่นคลอนแคลน อารมณ์ความเบื่อหน่ายจะเสื่อมทรามลงเมื่อไร ก็ได้ เพราะปกติของอารมณ์จิตมีปกติฝักใฝ่ฝ่ายต่ำอยู่แล้วหากไปกระทบความยั่วยุเพียง เล็กน้อย อารมณ์ฌานเพียงแค่ ปฐมฌานก็จะพลันสลายตัวลงอย่างไม่ยากนัก เพื่อรักษา อารมณ์ฌานที่หามาได้ยากอย่างยิ่งนี้ไม่ให้เสื่อมเสียไปเมื่ออารมณ์จิตหมด ความหวั่นไหว นี้ท่านให้ใช้วิปัสสนาญาณเข้าสนับสนุน เพื่อทรงพลังสมาธิให้มั่นคงเพราะฌานใดที่ได้ไว้ แล้ว และมีอารมณ์วิปัสสนาญาณสนับสนุน ฌานนั้นท่านว่าไม่มีวันที่จะเสื่อมสลายการ เจริญวิปัสสนาญาณต่อจากอสุภฌานนี้ ท่านสอนให้พิจารณาดังต่อไปนี้ .
ยกนิมิตอสุภเป็นวิปัสสนา (1/0)
คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน ----> หน้า 43
ยกนิมิตอสุภเป็นวิปัสสนา
ธรรมดาของนิมิตที่เกิดจากอารมณ์ของสมาธิ จะเป็น นิมิตของอุปจารฌาน หรือ
ที่เรียกว่า อุคคหนิมิต หรือ ขั้นอัปปนาสมาธิ ที่เป็นอารมณ์ปฐมฌานก็ตาม จะเกิดยืนสภาพ
ตลอดกาลตลอดสมัยนั้นไม่ได้ เกิดขึ้นแล้วชั่วครู่ชั่วพักก็หายไป ทั้งนี้ก็เพราะจิตไม่สามารถจะ
ทรงสมาธิไว้ได้นานมากนัก จิตก็จะเคลื่อนจากฌาน ตอนที่จิตเคลื่อนจากฌานนี่แหละภาพนิมิต
ก็จะเลือนหายไป ถ้าต้องการเห็นภาพใหม่ ก็ต้องตั้งต้นสมาธิกันใหม่ ถ้าประสงค์จะเอานิมิตเป็น
วิปัสสนา เมื่อเพ่งพินิจอยู่ พอนิมิตหายไปก็ยกอารมณ์เข้าสู่ระดับวิปัสสนาโดยพิจารณาว่า นิมิตนี้
เราพยายามรักษาด้วยอารมณ์ใจ โดยควบคุมสมาธิจนเต็มกำลังอย่างนี้ แต่นิมิตนี้จะได้เห็นใจเรา
จะอยู่กับเราโดยที่เราหรืออุตสาห์ประคับประคองจนอย่างยิ่งอย่างนี้ นิมิตนี้จะเห็นอกเห็นใจเราก็
หาไม่ กลับมาอันตรธานหายไปเสียทั้ง ๆ ที่เรายังต้องการ ยังมีความปรารถนา นิมิตนี้มีสภาพที่
จะต้องเคลื่อนหายไปตามกฎของธรรมดาฉันใด ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายที่มีความเกิดขึ้นแล้ว ก็ต้อง
มีอันตรธานไปในที่สุดฉะนั้น ความไม่เที่ยงของชีวิตที่มีความเกิดขึ้นนี้ มีความตายเป็นที่สุด
เช่นเดียวกับนิมิตนี้ ขึ้นชื่อว่าความเกิด ไม่ว่าจะเกิดเป็นอะไร เป็นสัตว์ มนุษย์ เทวดา พรหม
ต่างก็มีความไม่เที่ยงเสมอเหมือนกันหมด เมื่อเกิดแล้วก็มีอันที่จะต้องตายเหมือนกันหมด
เอาความเที่ยงแท้แน่นอนไม่ได้เลย เมื่อความไม่เที่ยงมีอยู่ความทุกข์ก็ต้องมี เพราะการต้อง
การให้คงอยู่ยังมีตราบใด ความทุกข์ก็มีอยู่ตราบนั้น เพราะความปรารถนาให้คงอยู่โดย
ไม่ต้องการให้เสื่อมสิ้นนั้น เป็นอารมณ์ที่ฝืนต่อกฎของความเป็นจริง การทรงชีวิตนั้น ไม่ว่าจะ
ทรงอยู่ในสภาพใด ๆ ก็เต็มไปด้วยความทุกข์ทั้งสิ้นเพราะทุกข์จากการแสวงหาอาหารและเครื่อง
อุปโภคมาเลี้ยงชีวิตและครอบครัว ทุกข์เพราะโรคภัยไข้เจ็บรบกวน ทุกข์เพราะไม่อยากให้ของ
รักของชอบใจ แม้ในที่สุดชีวิตที่จะต้องแตกทำลายนั้นต้องอันตรธานไป ความปรารถนาที่ฝืนความ
จริงตามกฎธรรมดานี้เป็นเหตุของความทุกข์ แต่ในที่สุดก็ฝืนไม่ไหว ต้องแตกทำลายอย่างนิมิต
อสุภนี้เหมือนกันนิมิตอสุภนี้ เดิมทีก็มีปัญจขันธ์เช่นเราบัดนี้เขาต้องกระจัดพลัดพรากแตกกาย
ทำลายขันธ์ออกเป็นชิ้นน้อยชิ้นใหญ่อย่างนี้ ความที่ขันธ์เป็นอย่างนี้ เขาจะมีความปรารถนาให้
เป็นอย่างนี้ก็หาไม่ แม้เขาจะฝืนอย่างไร ก็ฝืนกฎธรรมดาไม่ได้ ในที่สุดก็ต้องสลายอย่างนี้ ที่
พระพุทธเจ้าตรัสว่า โลก เป็น อนัตตา คือไม่มีอะไรทรงสภาพ ไม่มีใครบังคับการสิ้นไปของ
ชาวโลกนั้นเป็นความจริง สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงไม่มีความทุกข์ มีแต่ความสุขทรงสภาพปกตินั้น
มีพระนิพพานแห่งเดียว ผู้ที่จะถึงพระนิพพานได้ ท่านปฏิบัติอย่างเรานี้ ท่านเห็นสังขารทั้งหลาย
เป็นของน่าเกลียด เห็นสังขารทั้งหลายเป็นแดนของความทุกข์ เพราะกิเลสและตัณหาปกปิด
ความรู้ความคิดสังขารทั้งหลายเป็นอนัตตา ท่านไม่ยึดมั่นในสังขารท่านเบื่อในสังขารโดยท่าน
ถือว่าธรรมดาของการเกิดมามีสังขารต้องเป็นทุกข์อย่างนี้ ท่านไม่ปรารถนาการเกิดอีกท่าน
ไม่ต้องการชาติภพใดๆ อีก ท่านหวังนิพพานเป็นอารมณ์ คือท่านคิดนึกถึงพระนิพพานเป็นปกติ
ไม่มีอารมณ์รัก ความเกิด รักสมบัติ รักยศ รักสรรเสริญ ไม่รักแม้แต่สุขที่เกิดแต่ลาภที่ได้มา
โดยชอบธรรม ท่านตัด ฉันทะ ความพอใจในโลกทั้งสิ้น ท่านตัด ราคะ ความกำหนัดยินดีในโลก
ทั้งสิ้น ท่านพอใจในพระนิพพาน เมื่อทรงชีวิตอยู่ท่านก็ทรงเมตตาเป็น ปุเรจาริกคือมีเมตตา
เป็นปกติ ท่านไม่ติดโลกามีสคือสมบัติของโลกท่านที่เข้าพระนิพพานท่านมีอารมณ์เป็นอย่างไร
บัดนี้เราผู้เป็นพุทธสาวกก็กำลังทรงอารมณ์อย่างนั้นเราเห็นความไม่เที่ยงของสังขารแล้วเพราะ
มีอสุภเป็นพยาน เราเห็นความทุกข์เพราะการเกิดแล้ว เพราะมีอสุภเป็นพยาน เราเห็นอนัตตา
แล้ว เพราะมีอสุภเป็นพยาน เราจะพยายามตัดความไม่พอใจในโลกามีสทั้งหมดเพื่อได้ถึง
พระนิพพานเป็นที่สุด
จงคิดอย่างนี้ พิจารณาอย่างนี้เนืองๆ ทุกวัน ทุกลมหายใจเข้าออก ท่านจะเข้าถึงนิพพาน
ในชาติปัจจุบัน พระนิพพานเป็นของมีจริง พระนิพพานเป็นสุขไม่มีทุกข์เจือปน ผู้ที่มีจิตผูกพัน
พระนิพพานเป็นปกติ จะมีความสุขในสมัยที่ทรงชีวิตอยู่ ความสุขนี้อธิบายให้สมเหตุสมผลไม่ได้
เพราะเป็นสุขประณีต สุขยิ่งกว่าความสุขใด ๆ ที่เจือด้วยอามิส ท่านที่เข้าถึงแล้วเท่านั้นที่ท่านจะ
ทราบความสุขใจของท่านที่เข้าถึงพระนิพพานได้จริง ขออธิบายวิปัสสนาญาณโดยอาศัยนิมิต
อสุภกรรมฐานเป็นบาทไว้โดยย่อเพียงเท่านี้ ขอนักปฏิบัติจงคิดคำนึงเป็นปกติ ท่าน จะเข้าถึง
พระนิพพานได้อย่างคาดไม่ถึง
ภาพประสาทหลอน (1/0)
มือปฏิบัติพระกรรมฐาน ----> หน้า 44
ภาพประสาทหลอน
นักปฏิบัติกรรมฐานในอสุภกรรมฐานนี้ มักจะถูกอารมณ์อย่างหนึ่งที่คอยหลอก
หลอนอยู่เสมอ อารมณ์ที่คอยหลอกหลอนนั้นคือ อารมณ์อุปทาน อารมณ์อุปทานนี้มีความ
รู้สึกอยู่เสมอว่าจะถูกอสุภคือซากศพนั้นคอยหลอกหลอน การที่ออกไปเยี่ยมป่าช้าเพื่อพิจารณา
อสุภก็ดี หรือกำลังที่พิจารณาอสุภอยู่ที่วิหารก็ดีในกาลบางครั้งอารมณ์จะหลอนตนเองว่าเหมือน
มีภาพซากศพที่พิจารณานั้นบ้าง มีภาพปีศาจจากที่อื่นบ้าง แสดงอาการต่างๆ จะเข้ามาทำร้าย
ตน บางรายถึงกับตกใจกลายเป็นคนเสียสติไปก็มี ที่เป็นดังนี้ ความจริงซากศพนั้นไม่ได้หลอก
หลอนผีปีศาจอื่นใดก็มิได้หลอกหลอน ที่เป็นดังนั้นก็อาศัยอุปทาน การยึดถือเดิมที่มีประจำจิตใจ
คนเรามาแต่อดีตว่า ผีทำร้ายหลอกหลอน
ถ้าอารมณ์อย่างนั้นเกิดขึ้นแล้ว ท่านให้ตัดใจว่า นี่เราจะฝึกเพื่อมรรคผลความดีเพื่อพ้น
จากทุกข์ ซากศพที่ตายแล้วไม่มีวันจะลุกขึ้นมาทำร้ายได้ และปีศาจใดที่จะทำอันตรายแก่
พระโยคาวจรอย่างเรานี้ก็ไม่มี พระอริยเจ้าทั้งหลายที่ท่านได้สำเร็จมรรคผลนับไม่ถ้วนไม่มี
พระอริยเจ้าแม้แต่องค์เดียวที่ท่านไม่ได้เจริญอสุภกรรมฐานแล้วสำเร็จมรรคผลทุกท่าน
ต่างก็สำเร็จมรรคผลมาด้วยผ่านการเจริญอสุภกรรมฐานมาแล้วทั้งสิ้น ทุกท่านผ่านมาได้
ไม่มีอันตรายต่อชีวิตเพราะซากศพหรือปีศาจเลย ภาพที่ปรากฏต่อหน้าเรานี้ เป็นภาพประสาท
หลอนเป็นอารมณ์ของอุปทาน ไม่มีอะไรจริงจังแล้วตัดใจปฏิบัติต่อไปด้วยการทรงสมาธิมั่น
เพียงเท่านี้ภาพหลอนที่เห็นนั้นก็จะอันตรธานหายไปบางรายตัดสินใจด้วยเอาชีวิตเป็นเดิมพัน
คือจะเห็นภาพหลอกหลอนหรือเกิดอารมณ์กลัวขึ้นมาก็ตาม ท่านตัดสินใจ เชิญเถิดถ้าเราจะ
ต้องตายเสียในระหว่างปฏิบัติความดีนี้จะตายเมื่อสิ้นลมปราณก็ดีจะตายเพราะถูกปีศาจทำ
อันตรายก็ดีเราพร้อมที่จะตายเพราะเราไม่ปรารถนาการเกิด และไม่ปรารถนาจะอยู่คู่กับโลก
ที่เต็มไปด้วยความเร่าร้อนเต็มไปด้วยความทุกข์มีแต่ความหลอกหลอนปลิ้นปล้อนหาความจริง
ที่เป็นเหตุของความสุขไม่ได้ใครต้องการชีวิตก็เชิญเถิดแล้วท่านก็ทำไม่รู้ไม่ชี้เสียจะมีเสียง
มีอาการอะไรปรากฏท่านไม่สนใจเท่านี้ภาพหลอนและอารมณ์กลัวก็จะหายไป ท่านก็กลับได้
สมาธิตั้งมั่นอย่างคาดไม่ถึง และมีผลทางวิปัสสนาญาณอย่างเลิศท่านที่ตัดสินใจเอาชีวิตเป็น
เดิมพันนี้ นอกจากจะหมดความกลัวแล้วถ้าทำถูกทางรู้สึกว่าฌานและวิปัสสนาญาณไม่มีอะไร
ยากสำหรับท่าน ทำได้ดี ได้รับผลรวดเร็วเกินกว่าที่คาดคิดไว้ ขอท่านนักปฏิบัติจงสนใจและ
นำไปปฏิบัติท่านจะได้รับผลสมความตั้งใจ
ภาพหลอน
นอกจากอารมณ์หลอนก็ยังมีภาพหลอนอีก ภาพหลอนนี้ไม่มีอะไรน่ากลัวแต่เป็นภาพ
ที่น่ารักเป็นภาพคนสวยๆ บ้าง เป็นเทวดาบ้างเป็นภาพปราสาท หรือวิมานบ้างเมื่อปรากฏขึ้น
ก็สร้างอารมณ์ปลาบปลื้มแก่ท่านที่ได้เห็น ขอเตือนนักปฏิบัติว่าภาพอื่นนอกจากภาพนิมิตที่
ท่านกำหนดไว้เดิมแล้วท่านอย่าสนใจเป็นอันขาดเพราะจะทำให้จิตซ่านออกจากอารมณ์สมาธิ
เป็นภาพลวงตาจงรักษาแต่ภาพนิมิตที่กำหนดแล้วเท่านั้น จงทิ้งภาพอื่นเสียเพราะจะทำให้
สมาธิเสีย
ความมุ่งหมายในอสุภ
อสุภกรรมฐานนี้ ท่านสอนไว้ถึง ๑๐ อย่าง ก็ด้วยมีความมุ่งหมายดังต่อไปนี้
๑. อุทธุมาตกอสุภ ท่านสอนไว้เพื่อเป็นที่สบายของบุคคลผู้มีความกำหนัดยินดีใน
ทรวดทรงสัณฐาน เพราะอสุภกรรมฐานข้อนี้แสดงให้เห็นเนื้อแท้ของทรวดทรงสัณฐานว่าไม่มี
สภาพคงที่ในที่สุดก็ต้องอืดพองเหม็นเน่าเป็นสิ่งโสโครกที่ไม่น่าใคร่ไม่น่าชอบใจอย่างนี้
๒. วินีลกอสุภ เป็นที่น่าสบายของบุคคลที่หนักไปในทางมีความใคร่พอใจในผิวพรรณ
ที่ผุดผ่อง เพราะอสุภกรรมฐานข้อนี้แสดงให้เห็นว่า ผิวพรรณนั้นไม่สวยจริงในที่สุดก็จะกลาย
เป็นผิวที่มีสีสันวรรณะ ที่เขียว ขาว แดง เละเทะ เลอะเลือน แปดเปื้อนไปด้วยสิ่งโสโครกที่มี
อยู่ภายในผิวพรรณที่หุ้มห่อไว้นั้นจะหลั่งไหลออกมาให้กลายเป็นของ น่าเกลียดโสโครก
๓. วิปุพพกอสุภ เป็นที่สบายของบุคคลที่มีความยินดีในผิวพรรณที่ปรุงด้วยเครื่องหอม
เอามาฉาบทาไว้ อสุภนี้แสดงให้เห็นว่าเครื่องหอมที่ฉาบทาประทินผิวไว้นั้นไม่มี ความหมาย
ในที่สุดก็ต้านทานสิ่งโสโครกที่อยู่ภายในไม่ได้ น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง ที่มีอยู่ภายในก็จะ
ทะลักออกมาทับถมเครื่องประทินผิวเหล่านั้นให้หายไป ร่างกายจะเต็มไปด้วยสิ่งโสโครกที่สิง
อยู่ภายใน
๔. วิฉิททกอสุภ เป็นที่สบายของผู้ที่มีความกำหนัดยินดีร่างกายที่มีแท่งทึบมีเนื้อ
ล่ำที่พอกนูนออกมาเป็นเครื่องบำรุงราคะของผู้ที่มักมากในเนื้อแท่งที่กำเริบกรรมฐานนี้แสดง
ให้เห็นว่าร่างกายนี้มิใช่เป็นแท่งทึบตามที่คิดไว้ ความจริงเป็นโพรงโปร่งอยู่ภายในและเต็ม
ไปด้วยของโสโครก
๕. วิกขายิตกอสุภ กรรมฐานนี้เป็นที่สบายของผู้ที่มีความกำหนัดยินดีในเนื้อกล้าม
บางส่วนของร่างกาย กรรมฐานนี้แสดงให้เห็นว่าส่วนของกล้ามเนื้อบางส่วนของร่างกายที่ตน
ใคร่และปรารถนาอย่างแรงกล้านั้น ในไม่ช้าก็ต้องวิปริตสลายตัวไปและเป็นกล้ามเนื้อที่เต็ม
ไปด้วยสิ่งโสโครกไม่น่าใคร่ไม่น่าพอใจ
๖. วิกขิตตกอสุภ อสุภนี้เป็นที่สบายของผู้ที่มีความกำหนัดยินดี ในลีลาอิริยาบถ มีการ
ยกย่างก้าวไป ถอยกลับและการคู้แขนเหยียดแขนของเพศตรงข้าม เรียกว่าเป็นผู้ใคร่ในอิริยาบถ
พอใจกำหนัดยินดีในในท่อนแห่งกล้ามเนื้อที่เคลื่อนไหวนั้นเป็นอารมณ์กรรมฐานข้อนี้แสดงให้
เห็นว่าอวัยวะต่างๆ ที่เคลื่อนไหวในอิริยาบถนั้นไม่มีอะไรแน่นอน ไม่สามารถจะรวมกลุ่มกันได้
ตลอดกาลตลอดสมัย ในที่สุดก็ต้องกระจัดพลัดพรากจากกันไปเป็นท่อนน้อยท่อนใหญ่ตามที่
ปรากฏนี้
๗. หตวิขิตตกอสุภ เป็นที่สบายของผู้ที่มีความกำหนัดยินดีในข้อต่อ คือร่างกายที่มี
อาการ ๓๒ ครบถ้วนคนประเภทนี้รักไม่เลือกถ้าเห็นว่าเป็นคนที่มีอวัยวะไม่บกพร่องแล้วเป็น
รักได้กรรมฐานนี้แสดงให้เห็นว่า การติดต่อส่วนต่างๆ ของร่างกายนี้ ไม่จีรังยั่งยืน ในไม่ช้าก็
จะต้องพลัดพรากจากกันตามกฎของธรรมดา
๘. โลหิตกอสุภ เป็นที่สบายของคนรักความงามของร่างกายที่ตกแต่งด้วยเครื่องประดับ
คือเป็นคนที่บูชาเครื่องอาภรณ์มากกว่าเนื้อแท้ กรรมฐานนี้แสดงให้เห็นว่าอาภรณ์นั้นไม่สามารถ
จะรักษาแท่งทึบของก้อนเนื้อที่รับรองเครื่องประดับไว้ได้ในไม่ช้าสิ่งโสโครกภายในก็จะหลั่งไหล
ออกมาเครื่องประดับที่เป็นเครื่องเจริญตามิได้มีอำนาจต้านทานกฎธรรมดาไว้ได้เลย
๙. ปุฬุวกอสุภ เป็นที่สบายของคนที่ยึดถือว่าร่างกายนี้เป็นของเรา แต่กรรมฐานนี้แสดง
ว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ของเรา ร่างกายนี้เป็นสาธารณะแก่หมู่หนอนที่กำลังกินอยู่ ถ้าร่างกายเป็นของ
เราจริง เจ้าของร่างคงไม่ปล่อยให้หนอนกัดกินเป็นอาหารได้
๑๐. อัฎฐิกอสุภ เป็นที่สบายของผู้มีความกำหนัดยินดีในฟันที่ราบเรียบขาวเป็นเงางาม
กรรมฐานนี้แสดงให้เห็นว่า กระดูกฟันนี้ก็ต้องหลุดถอนเป็นธรรมดาไม่คงสภาพสวยสดงดงาม
ให้ชมอยู่ตลอดกาล ตลอดสมัยได้ ตัวไม่ทันตาย ฟันก็หลุดออกก่อนแล้วและความศิวิไลซ์ของฟัน
ที่ว่าสวยนั้นก็ไม่จริง ถ้าปล่อยไว้ไม่ชำระขัดสีเพียงวันเดียวสีขาวไข่มุกนั้นก็จะเริ่มกลายเป็น
สีเหลืองเพราะสิ่งโสโครกที่ฟันเกาะไว้นอกจากจะโสโครกแล้ว ฟันก็ จะปรากฏกลิ่นเหม็นจน
เจ้าของเองทนไม่ไหว
อสุภกรรมฐานที่ท่านกล่าวสอนไว้ถึง ๑๐ อย่าง มีความหมายอย่างที่ว่ามานี้แล้ว
ของท่านนักปฏิบัติ ที่จะฝึกหัดกำจัดอำนาจราคะ คือความกำหนัดยินดีในเพศตรงข้ามหรือ
เป็นนักนิยมสีสันวรรณะแล้วท่านจงเลือกฝึกในอสุภทั้ง ๑๐ อย่างนี้ อย่างใดอย่างหนึ่งที่เหมาะสม
แก่ความรู้สึกเดิมที่มีความกำหนัดยินดีอยู่นั้นเพื่อผลในการปฏิบัติในส่วนวิปัสสนาญาณเพื่อ
มรรคผลต่อไปเถิด
(จบอสุภกรรมฐาน ๑๐ อย่างแต่เพียงเท่านี้)
อนุสสติ (1/0)
คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน ----> หน้า 45
อนุสสติ
อนุสสติ แปลว่า "ตามระลึกถึง" กรรมฐานกองนี้ เป็นกรรมฐานที่ตามระลึกนึกถึงมีกำลัง
สมาธิไม่เสมอกัน บางหมวดก็มีสมาธิเพียงอุปจารฌาน บางหมวดก็มีสมาธิถึงปฐมฌาน บางหมวด
ก็มีสมาธิถึงฌาน ๔ และฌาน ๕ กำลังของกรรมฐานกองนี้มีกำลังไม่เสมอกันดังนี้ เมื่อถึงกรรมฐาน
หมวดใดมีกำลังเท่าใด จะได้เขียนไว้เพื่อทราบ อนุสสติทั้ง ๑๐ อย่างนี้ ก็เหมาะแก่อารมณ์ของนัก
ปฏิบัติไม่ใช่อย่างเดียวกัน บางหมวดก็เหมาะแก่ท่านที่หนักไปในสัทธาจริต บางหมวดก็เหมาะแก่
ท่านที่หนักไปในวิตกและโมหะจริต บางหมวดก็เหมาะแก่ท่านที่หนักไปใน ราคจริตกองใดหมวดใด
เหมาะแก่ท่านที่หนักไปในจริตใด ก็จะได้เขียนบอกไว้เพื่อทราบเมื่อถึงกองนั้น ๆ อนุสสตินี้มีชื่อและ
อาการรวม ๑๐ อย่างด้วยกันจะได้นำชื่อแห่งอนุสสติทั้งหมดมาเขียนไว้เพื่อทราบ ดังต่อไปนี้
๑. พุทธานุสสติ ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์
๒. ธัมมานุสสติ ระลึกถึงคุณพระธรรมเป็นอารมณ์
๓. สังฆานุสสติ ระลึกถึงคุณพระสงฆ์เป็นอารมณ์
๔. สีลานุสสติ ระลึกถึงคุณศีลเป็นอารมณ์
๕. จาคานุสสติ ระลึกถึงผลของทานการบริจาคเป็นอารมณ์
๖. เทวานุสสติ ระลึกถึงความดีของเทวดาเป็นอารมณ์
(อนุสสติทั้ง ๖ กองนี้ เหมาะแก่ท่านที่หนักไปในสัทธาจริต)
๗. มรณานุสสติ ระลึกถึงความตายเป็นอารมณ์
๘. อุปสมานุสสติ ระลึกถึงความสุขในพระนิพพานเป็นอารมณ์
(อนุสสติ ๒ กองนี้ เหมาะแก่ท่านที่หนักไปในพุทธจริต)
๙. กายคตานุสสติ เหมาะแก่ท่านที่หนักไปในราคจริต
๑๐. อานาปานานุสสติ เหมาะแก่ท่านที่หนักไปในโมหะและวิตกจริต
อนุสสติทั้ง ๑๐ นี้ เหมาะแก่อัชฌาสัยของนักปฏิบัติแต่ละอย่างดังนี้ ขอท่านนักปฏิบัติ
พึงทราบ และเลือกปฏิบัติให้พอเหมาะพอดีแก่อัชฌาสัยของตน จะได้ผลเป็นสมาธิมีอารมณ์
ตั้งมั่นรวดเร็ว ไม่ล่าช้า
กำลังสมาธิในอนุสสติทั้ง ๑๐
กำลังสมาธิในอนุสสติทั้ง ๑๐ มีกำลังสมาธิแตกต่างกันอย่างนี้
พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ เทวตานุสสติ มรณานุสสติ อุปสมานุสสติ อนุสสติ
ทั้ง ๗ นี้ มีกำลังสูงสุดเพียงอุปจารสมาธิ
สีลานุสสติ มีกำลังสมาธิถึง อุปจารสมาธิ และอย่างสูงสุดเป็นพิเศษถึงปฐมฌานทั้งนี้
ถ้าท่านนักปฏิบัติฉลาดในการควบคุมสมาธิจึงจะถึงปฐมฌานได้ แต่ถ้าทำกันตามปกติธรรมดา
แล้ว ก็ทรงได้เพียงอุปจารสมาธิเท่านั้น
กายคตานุสสติกรรมฐาน กองนี้ ถ้าพิจารณาตามปกติในกายคตาแล้ว จะทรงสมาธิได้
เพียงปฐมฌานเท่านั้น แต่ถ้านักปฏิบัติฉลาดทำหรือครูฉลาดสอน ยกเอาสีเขียว ขาว แดง ที่
ปรากฏในอารมณ์แห่งกายคตานุสสตินั้นเอามาเป็นกสิณ ท่านกล่าวไว้ในวิสุทธิมรรคดังนี้ ท่าน
ว่ากรรมฐานกองนี้ก็สามารถทรงสมาธิได้ถึงฌาน ๔ ตามกำลังสมาธิในกสิณนั้น
.
อานาปานานุสสติ (1/0)
คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน ----> หน้า 46
อานาปานานุสสติ สำหรับอานาปานานุสสตินี้ มีกำลังสมาธิถึงฌาน ๔ สำหรับท่านที่มี
วาสนาบารมีสาวกภูมิ สำหรับท่านที่มีบารมีคือปรารถนาพุทธภูมิแล้วก็สามารถทรงสมาธิได้ถึง
ฌาน ๕ ฌาน ๔ หรือ ฌาน ๕ มีอาการแตกต่างกันอย่างไรต้องการทราบโปรดพลิกดูตอนต้น
ที่ว่าด้วยฌาน
เมื่อท่านทราบกำลังสมาธิและความเหมาะสมแก่จริตของบรรดาอนุสสติทั้งหมดนี้แล้วต่อ
แต่นี้ไปจะได้อธิบายอนุสสติเป็นกอง ๆ ไป เพื่อความเข้าใจพอสมควรเพราะการอธิบายนี้อาจ
ไม่ละเอียดเท่าแบบ คือ วิสุทธิมรรคในบางตอนที่ควรย่อก็จะย่อลงให้สั้น บางตอนควรขยายก็
จะขยายให้ยาวออกไปเพื่อความเข้าใจของนักปฏิบัติเป็นสำคัญ หากตอนใดย่อสั้นเกินไปท่าน
ไม่เข้าใจแล้ว ถ้าประสงค์จะให้เข้าใจชัดโปรดหาหนังสือวิสุทธิมรรคมาอ่าน จะได้รับความรู้
เพิ่มเติมครบถ้วนบริบูรณ์
๑. พุทธานุสสติกรรมฐาน
กรรมฐานกองนี้ท่านสอนให้ระลึกถึงคุณความดีของพระพุทธเจ้า การระลึกถึงความดีของ
พระพุทธเจ้า ระลึกได้ไม่จำกัดว่าจะต้องระลึกตามแบบของท่านผู้นั้นผู้นี้ที่สอนไว้โดยจำกัดเพราะ
พระพุทธคุณ คือคุณความดีของพระพุทธเจ้านั้นมีมากมายจะพรรณนาอย่างไรให้จบสิ้นนั้นย่อม
เป็นไปไม่ได้ และถ้าจะมีใครมาวางแบบวางแผนว่า การระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้านั้น ต้องจำกัด
ลงไปว่า ระลึกอย่างนั้นอย่างนี้จึงจะถูกต้องตามที่ปรากฏในปัจจุบันมีมาก
ระลึกตามแบบ
ระลึกตามแบบ หมายความท่านผู้ใดจะนั่งนอนระลึกนึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้าโดย
ยกเอาพระคุณของพระองค์มาระลึกถึง เช่น ระลึกถึงพระคุณสามประการ คือ
๑. ระลึกถึงความบริสุทธิ์ของพระองค์ ที่ทรงกำจัดกิเลสได้เด็ดขาดไม่มีความชั่ว
เหลืออยู่ในพระกมลสันดาน พระองค์ทรงบริสุทธิ์ผุดผ่องจริง ๆ เป็นความดีที่เราควรปฏิบัติตาม
๒. ระลึกถึงพระปัญญาอันเฉียบแหลมเฉลียวฉลาดของพระองค์ ด้วยพระองค์มี
ความรู้ ความฉลาดยอดเยี่ยมกว่าเทวดา พรหม และมนุษย์ทั้งหลายเพราะนอกจากจะทรงรู้ใน
หลักวิชาการต่างๆ ตามความนิยมของปกติชนแล้ว พระองค์ยังทรงรู้ที่มาของความทุกข์ และรู้
การปฏิบัติเพื่อทำลายต้นตอของความทุกข์นั้น ๆ ได้แก่ทรงรู้ในอริยสัจ ๔
๓. ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ คือพระองค์เมื่อทรงเป็นผู้รู้เลิศแล้ว พระองค์มิได้
ปกปิดความรู้นั้นเพื่อพระองค์เองโดยเฉพาะ พระองค์นำความรู้มาสั่งสอนแก่หมู่มวลชนอย่าง
เปิดเผยไม่ปกปิดความรู้แม้แต่น้อย พระองค์ทรงทรมานพระวรกาย เพราะสั่งสอนพุทธเวไนย
ให้เกิดความรู้ความฉลาด เพื่อกำจัดเหตุชั่วร้ายที่ฝังอยู่ในสันดานมานาน มีสภาพคล้ายผีสิง
เหตุชั่วร้ายนั้นก็คือ
ก. ความโลภ อยากได้สมบัติของผู้อื่นมาเป็นของตน
ข. ความพยาบาท คือความโหดร้ายที่ฝังอยู่ในจิตใจ คิดที่จะประหัตประหารทำอันตราย
ผู้อื่นให้ได้รับความ พินาศ
ค. ความโง่เขลา ที่คอยกระตุ้นเตือนใจให้ลุ่มหลงในสรรพวัตถุจนเกินพอดี คือคิดปลูก
ฝังใจในวัตถุ โดยไม่คิดว่าของนั้นจะต้องเก่า จะต้องพังไปในสภาพ
พระองค์ทรงพระกรุณาสอนให้รู้ทั่วกันว่า การมุ่งหวังจะเอาทรัพย์ของผู้อื่นมาเป็นของ
ตนนั้นเป็นความเลวร้ายที่ควรจะละ เพราะเป็นเหตุของการสร้างศัตรู การคิดประทุษร้ายด้วย
อำนาจโทสะเป็นเหตุบั่นทอนความสุขส่วนตน เพราะผู้คิดนั้นเกิดความทุกข์ตั้งแต่เริ่มคิด คือ
กินไม่อิ่มนอนไม่หลับ ทำให้สุขภาพของตนเสื่อมโทรมยังไม่ทันทำอันตรายเขา ผู้คิดก็ค่อย ๆ
ตายลงไปทีละน้อย ๆ แล้วเพราะเหตุที่กินน้อยนอนน้อย การหลงในทรัพย์เกินไป ที่ไม่คิดว่า
มันจะต้องเก่าต้องทำลายตามสภาพเป็นเหตุให้เกิดความคับแค้น คือเสียใจ เศร้าใจ ทำให้ชีวิต
ไม่สดใสสดชื่น มีความเศร้าหมองมีทุกข์ประจำใจเป็นปกติ
.
ทางแก้ไข (1/0)
คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน ----> หน้า 47
ทางแก้ไข
๑. ความโลภ อยากได้ทรัพย์สมบัติของผู้อื่นมาเป็นของตน พระองค์ทรงสอนให้รู้จัก
การให้ทานเป็นการแก้ความรู้สึกเดิม เพราะทานเป็นการสละออก มีอาการตรงข้ามกับการ
คิดอยากได้ผลทานนี้ก็มีผลเป็นเครื่องบันดาลความสุขในปัจจุบัน เพราะผู้รับทานย่อมมี
ความรักและเคารพในผู้ให้ทาน การให้ทานเป็นการสร้างมิตร ตรงกันข้ามกับการคิด
อยากได้ดังผู้อื่นเป็นเหตุของความทุกข์เป็นเหตุของการสร้างศัตรู
๒. พยาบาท ท่านสอนให้รักษาศีลเป็นเครื่องบั่นทอนกำลังพยาบาท เพราะมาจาก
โทสะความคิดประทุษร้ายเป็นสมุฏฐาน สำหรับการรักษาศีลนั้น มีเมตตา ความแสดงออก
ถึงความรักความสงสารเป็นเป็นสมุฏฐาน เมื่อรักษาศีลก็ต้องมีเมตตา กรุณา ถ้าเมตตา
กรุณาไม่มีแล้ว ศีลก็ทรงตัวไม่ได้ ฉะนั้นที่พระองค์ทรงสอนให้รักษาศีล ก็คือฝึกจิตให้มีเมตตา
ปรานีนั่นเอง ซึ่งมีคติตรงข้ามกับพยาบาท และเป็นอารมณ์หักล้าง พยาบาทเป็นเหตุของ
ความสุข เพราะคนที่มีความเมตตาปรานีนั้น ย่อมเป็นที่รักของมวลชน แม้สัตว์เดียรัจฉาน
ก็รัก เราจะเห็นได้ว่าบ้านที่มีสุนัขดุๆ ใคร ๆ ก็เข้าไม่ได้ ถ้าเราหมั่นเอาอาหารไปให้สุนัข
ตัวนั้นบ่อย ๆ ไม่ช้าก็เชื่อง เป็นมิตรที่ดีไม่ทำอันตรายคนมีเมตตามีความสุขเพราะเป็นที่รัก
ของชนทั่วไป อย่างนี้เป็นการแก้เหตุของความทุกข์ให้เป็นเหตุของความสุข จัดว่าเป็น พระ-
มหากรุณาธิคุณของพระองค์อย่างมหันต์
๓. ความหลง คือความโง่ ที่มีความคิดว่า อะไรที่เรามีแล้ว ต้องมีสภาพคงที่ ไม่เก่า
ไม่ทำลาย พอของสิ่งนั้นเก่าหรือทำลาย ความเสียใจก็เกิดขึ้น กฎข้อนี้เป็นปกติธรรมดาก็จริง
ที่พอจะรู้ได้อย่างไม่ยาก แต่คนในโลกนี้ก็ไม่ค่อยคิดตาม กลับคิดฝืนกฎธรรมดาจนเป็นเหตุ
ของความทุกข์อย่างมหันต์ เพราะคนเกิดแล้วต้องตาย ชาวบ้านชาวเมืองตายให้ดูเยอะแยะ
ไม่จดจำแต่พอตัวจะตาย ญาติตาย เกิดทุกข์ร้องไห้เสียใจ ความจริงความตายนี้เป็นของปกติ
ธรรมดา ไม่มีใครพ้น แต่คนไม่คิดมีแต่ความผูกพัน คิดว่าจะอยู่ตลอดกาล พระองค์เห็นว่าคน
ทั่วโลกโง่อย่างนี้ จึงทรงแก้ด้วยการสอนวิปัสสนาญาณ คือสอนให้รู้กฎของความเป็นจริง ยอม
รับนับถือตามความเป็นจริง เป็นการเปลื้องอุปาทาน คือความโง่ออกเสียจากความรู้สึก เป็น
การสร้างความสบายใจให้เกิดแก่มวลพุทธศาสนิกชนทั่วไป
ท่านจะคิดใคร่ครวญถึงพระคุณของพระพุทธเจ้าตามนี้ก็ได้ หรือจะคิดอย่างอื่นก็ได้แต่
ขอให้อยู่ในข่ายระลึกนึกถึงความดีของพระพุทธเจ้าเป็นใช้ได้
ระลึกตามบทพระพุทธคุณ ๙ อย่าง
การระลึกตามแบบพระพุทธคุณ ๙ อย่างนี้ เป็นการระลึกถึงผลที่พระองค์ทรงบรรลุ
จะไม่นำมาเขียนไว้เห็นท่าจะไม่เหมาะ ขอนำมาเขียนไว้เพื่อทราบดังต่อไปนี้
๑. อรหัง คำว่า อรหังนี้ แปลว่า ท่านผู้ไกลจากกิเลส หมายความว่า พระพุทธองค์
ไม่มีกิเลสเครื่องเศร้าหมองอยู่ในพระหฤทัยเลย เป็นผู้มีจิตบริสุทธิ์ผุดผ่องจริง ๆ อารมณ์กิเลส
ที่พระอรหังหรือที่เรียกว่าพระอรหันต์ละได้นั้น มี ๑๐ อย่าง คือ
ก. สักกายทิฎฐ ิเห็นว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในกาย กายไม่มีในเราท่านละ
ความเห็นว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นสัตว์บุคคล เราเขาเสียได้ " โดยเห็นว่า ร่างกายนี้เป็นเพียงแต่
ธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ประชุมกันชั่วคราว เป็นที่อาศัยของนามธรรม คือ เวทนา ความรู้สึก
สุข ทุกข์ และไม่สุข ไม่ทุกข์ คืออารมณ์วางเฉยจากอารมณ์สุขทุกข์ สัญญา มีความจดจำเรื่อง
ราวที่ล่วงมาแล้ว สังขาร อารมณ์ชั่วร้ายและอารมณ์เมตตาปรานีสดชื่น อันเกิดต่ออารมณ์ที่เป็น
กุศลคือ ความดีและอารมณ์ที่เป็นอกุศล คือความชั่วที่เรียกกันว่า อารมณ์เป็นบุญ และอารมณ์
เป็นบาปที่คอยเข้าควบคุมใจ วิญญาณ คือ ความรู้ หนาว ร้อน หิวกระหาย เผ็ดเปรี้ยวหวานมัน
เค็ม และการสัมผัสถูกต้องเป็นต้น วิญญาณนี้ไม่ใช่ตัวนึกคิด ตัวนึกคิดนั้นคือจิต วิญญาณกับ
จิตนี้คนละอัน แต่นักแต่งหนังสือมักจะเอาไปเขียนเป็นอันเดียวกัน ทำให้เข้าใจเขว ควรจะแยก
กันเสีย เพื่อความเข้าใจง่าย อีกสิ่งหนึ่งที่เข้ามาอาศัยกายและไม่ตายร่วมกับร่างกาย สิ่งนั้นก็คือ
จิตเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนี้ ตายร่วมกับร่างกาย คือกายตายก็ตายด้วย แต่จิตที่เข้ามา
อาศัยกายนี้ เข้ามาอาศัยชั่วคราวเมื่อกายตั้งอยู่ คือ ดำรงอยู่ร่วมพร้อมกับ เวทนา สัญญา สังขาร
วิญญาณ จิตก็อาศัยอยู่ แต่ถ้าขันธ์ ๕ มีร่างกายเป็นประธานตายแล้วจิตก็ท่องเที่ยวไปแสวงหาที่
อาศัยใหม่ คำว่าเราในที่นี้ ท่านหมายเอาจิตที่เข้ามาอาศัยกาย เมื่อท่านทราบอย่างนี้ท่านจึง
ไม่หนักใจ และผูกใจว่าขันธ์ ๕ คือร่างกายนี้เป็นเราเป็น ของเรา เราไม่มีในกายกายไม่มีในเรา
เราคือจิตที่เข้ามาอาศัยในกาย คือ ขันธ์ ๕ นี้ ขันธ์ ๕ ถ้าทรงอยู่ได้รักษาได้ก็อาศัยต่อไปถ้าผุพัง
แล้วท่านก็ไม่หนักใจไม่ตกใจ ไม่เสียดายห่วงใยในขันธ์ ๕ ท่านปล่อยไปตามกฎของธรรมดา
เสมือนกับคนอาศัยรถหรือเรือโดยสาร เมื่อยังไม่ถึงเวลาลงก็นั่งไป แต่ถึงจุดหมายปลายทางเมื่อไร
ก็ลงจากรถจากเรือ โดยไม่คิดห่วงใยเสียดายรถหรือเรือโดยสารนั้น เพราะทราบแล้วว่ามันไม่ใช่
ของเรา เขาก็ไม่ใช่เราเราก็ไปตามทางของเราส่วนรถเรือโดยสารก็ไปตามทางของเขาต่างคน
ต่างไม่มีห่วงใยพระอรหันต์ทั้งหลายท่านมีความรู้สึกอย่างนี้ พระพุทธเจ้าผู้เป็นจอมอรหันต์
พระองค์มีความรู้สึกอย่างนี้ ท่านนักปฏิบัติที่ระลึกถึงพระคุณข้อนี้ ก็ควรทำความพอใจตามที่
พระองค์ทรงบรรลุเป็นพระอรหันต์อย่างนี้ จะเป็นเครื่องบั่นทอนกิเลสลงได้มาก จนเข้าถึงความ
เป็นพระอรหันต์อย่างพระองค์ "
ข. วิจิกิจฉา พระอรหันต์ท่านเชื่อมั่นในธรรมปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนแล้วโดย
ไม่เคลือบแคลงสงสัยและปฏิบัติตามด้วยศรัทธายิ่ง
ค. สีลัพพตปรามาส ท่านรักษาศีลเป็นอธิศีล คือ ไม่ละเมิดศีลด้วยตนเองไม่แนะให้ใคร
ละเมิดศีล ไม่ยินดีเมื่อผู้อื่นละเมิดศีล
ฆ. ละกามฉันทะ คือความยินดีในกามารมณ์ ท่านหมดความรู้สึกทางเพศเด็ดขาดมีอสุจิ
เหือดแห้ง ความรู้สึกพอใจในกามารมณ์ไม่มีในความรู้สึกของท่านเลย
ง. พยาบาท ท่านตัดความโกรธความพยาบาทได้สิ้นเชิง มีแต่ความเมตตาปรานีเป็นปกติ
จ. รูปราคะ ท่านตัดความสำคัญในรูปฌานว่าเลิศเสียได้ โดยเห็นว่ารูปฌานนี้เป็นกำลัง
ส่งให้เข้าถึงวิปัสสนาญาณ ไม่ใช่ตัวมรรคผลนิพพาน
ฉ.ท่านตัดความเห็นว่าเลิศในอรูปฌานเสียได้ โดยเห็นว่าอรูปฌานนี้ก็เป็นเพียงกำลัง
ส่งให้เข้าถึงวิปัสสนาญาณเช่นเดียวกับรูปฌาน
ช. มานะ ท่านตัดความถือตัวถือตนว่า เราเลวกว่าเขา เราเสมอเขา เราดีกว่าเขาเสียได้
โดยวางอารมณ์เป็นอุเบกขา คือเฉย ๆ ต่อยศฐาบรรดาศักดิ์และฐานะความเป็นอยู่เพราะทราบ
แล้วว่าไม่มีอะไรยั่งยืนตลอดกาล
ซ. อุทธัจจะ ท่านตัดอารมณ์ฟุ้งซ่าน ที่คิดนอกลู่นอกทางเสียได้ มีอารมณ์ผ่องใสพอใจใน
พระนิพพานเป็นปกติ
ฌ. ท่านตัดอวิชชา คือความโง่ออกเสียได้สิ้นเชิง ท่านหมดความพอใจในสิ่งที่มีชีวิตและ
ไม่มีชีวิต โดยที่คิดว่าเป็นสมบัติยั่งยืนได้สิ้นเชิงท่านเห็นว่า ไม่ว่าอะไรทั้งสิ้นมีเกิดแล้วก็เสื่อม
ในที่สุดก็ต้องทำลาย ฉะนั้น อารมณ์ของท่านจึงไม่ยึดถืออะไรมั่นคง มีก็ใช้ เมื่อสลายตัวไปก็
ไม่มีทุกข์
ท่านตัดความกำหนัดยินดีในสมบัติของโลกเสียทั้งหมด ไม่มีเยื่อใยรักใคร่หวงแหนอะไร
ทั้งหมด แม้แต่สังขารของท่าน
พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทุกองค์มีความรู้สึกอย่างนี้ ท่านที่เจริญอนุสสติข้อนี้
เมื่อใคร่ครวญตามความดีทั้งสิบประการนี้เสมอ ๆ ทำให้อารมณ์ผ่องใสในพระพุทธคุณมากขึ้น
เป็นเหตุให้เข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้าได้อย่างไม่ยากนัก
(จบข้อว่าด้วยอรหัง)
สัมมาสัมพุทโธ (1/0)
คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน ----> หน้า 48
๒. สัมมาสัมพุทโธ แปลว่า ตรัสรู้เองโดยชอบ ความหมายนี้ หมายความว่า พระองค์
ทรงรู้อริยสัจทั้ง ๔ คือ รู้ทุกข์ คือความไม่สบายกายไม่สบายใจ รู้สมุทัย คือเหตุให้เกิดทุกข์
ได้แก่ตัณหา ๓ ประการ คือ
๑. กามตัณหา ทะยานอยากได้ในสิ่งที่ยังไม่เคยมี อยากให้มีขึ้น
๒. ภวตัณหา สิ่งใดที่มีอยู่แล้ว อยากให้คงสภาพอยู่อย่างนั้น ไม่อยากให้เก่า ไม่อยากให้
เปลี่ยนแปลง
๓.วิภวตัณหา อยากให้สิ่งที่จะต้องสลายตัวนั้น ที่เป็นไปตามกฎธรรมดา มีความปรารถนา
ไม่ให้กฎธรรมดาเกิดขึ้น คือ ไม่อยากให้สลายและไม่อยากเสื่อม ไม่อยากตายนั่นเอง ความรู้สึก
อย่างนี้เป็นความรู้สึกที่ฝืนกฎธรรมดา เป็นอารมณ์ที่ก่อให้เกิดความทุกข์
ทรงนิโรธะ คือความดับสูญไปแห่งความทุกข์ และทรงทราบมรรค คือปฏิปทาที่
ปฏิบัติให้เข้าถึงความทุกข์ คือทุกข์นั้นสูญสิ้นไป ได้แก่ทรงทราบมรรคคือข้อปฏิบัติ ๘
ประการดังต่อไปนี้
๑. สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ
๒. สัมมาสังกัปโป ความดำริชอบ
๓. สัมมาวาจา เจรจาชอบ
๔. สัมมากัมมันโต มีการงานชอบ
๕. สัมมาอาชีโว เลี้ยงชีพชอบ
๖. สัมมาวายาโม ความพยายามชอบ
๗. สัมมาสติ ระลึกชอบ
๘. สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ
ในมรรคคือข้อปฏิบัติที่จะให้เข้าถึงความดับสูญไปแห่งทุกข์นี้ ย่อลงเหลือสาม คือได้แก่
ศีล การรักษากายวาจาใจให้เรียบร้อย ตามขอบเขตของสิกขาบท สมาธิ การดำรงความตั้งมั่น
ของจิตที่ไม่เป็นเวรเป็นภัยต่อสังคม คือดำรงฌานไว้ด้วยดี เพื่อเป็นบาทของวิปัสสนาญาณ
ปัญญาได้แก่การเจริญวิปัสสนาญาณจนรู้แจ้งเห็นจริงตามกฎธรรมดา ไม่มีอารมณ์คิดที่จะฝืน
กฎธรรมดานั้น
๓. วิชชาจรณสัมปันโน แปลว่าพระองค์ทรงถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ คือ ทรงมี
ความรู้รอบและความประพฤติครบถ้วน
วิชชา แปลว่าความรู้ หมายถึงรู้ในวิชชาสาม ที่สามัญชนไม่สามารถจะรู้ได้ คือ
๑. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ทรงมีความรู้ในการระลึกชาติที่ล่วงแล้วมาได้อย่างไม่
จำกัดไม่มีผู้อื่นใดจะระลึกชาติได้มากเท่าพระองค์ และพระองค์ทรงมีความชำนาญในการระลึก
ชาติได้อย่างเยี่ยม
๒. จุตูปปาตญาณ พระองค์ทรงมีความรู้ ความเกิด และความตายของสัตว์ โดยทรงรู้ว่า
สัตว์ที่ตายไปแล้วนี้ไปเกิด ณ ที่ใด มีความสุขความทุกข์เป็นประการใด เพราะผลกรรมอะไร
เป็นเหตุ และทรงทราบว่าสัตว์ที่ตายไปแล้วนี้มาจากไหน ที่มีความสุขความทุกข์อยู่นี้เพราะอาศัย
กรรมอะไรเป็นเหตุ
๓. อาสวักขยญาณ ทรงรู้วิชชาที่ทำอาสวกิเลสให้หมดสิ้นไป
จรณะ หมายถึงความประพฤติ พระองค์มีความประพฤติครบถ้วนยอดเยี่ยม ท่านประมวล
ความประพฤติที่พอจะนำมากล่าวไว้ได้โดยประมวลมี ๑๕ ข้อด้วยกัน คือ
๑. สีลสัมปทา พระองค์ทรงถึงพร้อมด้วยศีล คือ ทรงปฏิบัติในศีลไม่บกพร่อง
๒. อินทรียสังวร ทรงระมัดระวังในการเคลื่อนไหวทุกอิริยาบถ
๓. โภชเนมัตตัญญุตา ทรงรู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร
๔. ชาคริยานุโยค ทรงประกอบความเพียรของผู้ตื่นอยู่ คือ มีสติสัมปชัญญะครบถ้วน
บริบูรณ์
๕. สัทธา ทรงมีความเชื่อมั่นในผลการปฏิบัติ ไม่มีความเคลือบแคลงสงสัย
๖. หิริ ทรงมีความละอายต่อผลของความชั่วทั้งมวล
๗. โอตตัปปะ ทรงเกรงกลัวต่อผลของความชั่วทั้งมวล
๘. พาหุสัจจะ ทรงสั่งสมวิชาการต่าง ๆ ด้วยการศึกษามาแล้วด้วยดี
๙. วิริยะ ทรงมีความเพียรไม่ท้อถอย โดยเอาชีวิตเป็นเดิมพัน
๑๐. สติ ทรงมีสติสมบูรณ์
๑๑. ปัญญา มีปัญญารอบรู้ในวิทยาการทุกแขนง และทรงรู้แจ้งในอริยสัจ โดยที่มิได้
ศึกษาจากผู้ใดมาในกาลก่อน ทรงค้นคว้าพบด้วยพระองค์เอง
๑๒. ปฐมฌาน ทรงฝึกฌาน จนได้ปฐมฌาน
๑๓. ทุติยฌาน ทรงฝึกจนได้ฌานที่สอง
๑๔. ตติยฌาน ทรงฝึกสมาธิ จนได้ฌานที่สาม
๑๕. จตุตถฌาน ทรงฝึกสมาธิ จนทรงฌานที่ ๔ ไว้ได้ด้วยดีเป็นพิเศษ
ทั้งหมดนี้ จัดเป็นจริยา คือความประพฤติของพระองค์ อันเป็นแบบอย่างที่บรรดาพุทธสาวก
จะพึงปฏิบัติตามให้ครบถ้วนบริบูรณ์ เพื่อผลไพบูลย์ในการปฏิบัติเพื่อมรรคผล เพราะพระองค์
ทรงมีความประพฤติอย่างนี้ จึงทรงบรรลุมรรคผล หากพุทธศาสนิกชนที่นับถือพระองค์ปฏิบัติ
ตามก็มีหวังได้บรรลุมรรคผลในชาติปัจจุบัน
.
พุทธานุสสติกรรมฐาน (1/0)
คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน ----> หน้า 49
๔. สุคโต แปลว่า เสด็จไปดีแล้ว หมายความว่า พระองค์เสด็จไป ณ ที่ใด พระองค์
นำแต่ความสุขไปให้เจ้าของถิ่น คือนำความรู้อันเป็นเหตุของความสุขไปให้ ไม่เคยสร้าง
ความเดือดร้อนให้แก่ผู้ใด ใครก็ตาม บูชาพระองค์แล้ว ไม่เคยผิดหวังที่จะได้รับความสุข
ในทางปฏิบัติ
๕. โลกวิทู แปลว่า รู้แจ้งโลก หมายความว่า โลกทุกโลกมียมโลก คือโลกแห่งการ
ทรมาน ได้แก่นรก เปรต อสุรกาย เป็นต้น มนุษย์โลก เทวโลก พรหมโลก และพระนิพพาน
อันเป็นดินแดนพ้นโลก พระองค์ทรงทราบตลอดหมดสิ้น แม้แต่ปฏิปทาที่จะให้ไปเกิดในโลก
นั้น ๆ
๖. อนุตตโร ปุริสทัมมสารถิแปลว่า เป็นนายสารถีผู้ฝึก ไม่มีนายสารถีใดมีความ
สามารถฝึกได้เสมอเหมือนพระองค์ ทั้งนี้หมายความถึงการฝึกธรรมปฏิบัติ พระองค์ทรงมี
ญาณพิเศษที่เรียกว่า เจโตปริยญาณ ทรงรู้ใจคนว่า ผู้นี้ควรสอนอย่างไรจึงได้ผล พระองค์
ทรงฝึกสอนตามที่รู้ด้วยพระญาณนั้น จึงมีความสามารถฝึกได้ดีเป็นพิเศษ
๗. สัตถา เทวมนุสสานัง แปลว่า พระองค์ทรงเป็นครูของเทวดาและมนุษย์ ทั้งนี้
หมายความว่า การสั่งสอนเพื่อมรรคผลนั้น พระองค์มิได้ทรงสั่งสอนแต่มนุษย์เท่านั้น แม้เทวดา
และพรหม พระองค์ทรงสั่งสอน การสอนมนุษย์ท่านอาจไม่สงสัย แต่การสอนเทวดานั้นท่านอาจ
จะแปลกใจข้อนี้ขอให้อ่านพุทธประวัติจะทราบว่าพระองค์ทรงสั่งสอนเทวดาและพรหมเป็นปกติ
เกือบทุกวันเช่นเดียวกับสอนมนุษย์เหมือนกัน
๘. พุทโธ แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่นแล้ว ผู้เบิกบานแล้ว ได้เหมือนกัน ความหมายถึงคำว่า
พุทโธก็มีอย่างนี้ คือ หมายถึงพระองค์ทรงรู้พระองค์ ด้วยความเป็นผู้บริบูรณ์ด้วยสติสัมปชัญญะ
อยู่ตลอดเวลานั่นเอง
๙. ภควา แปลว่า ผู้มีโชค หมายถึงพระองค์เป็นผู้มีโชคก่อนใคร ๆ ที่พระองค์เป็นผู้รู้
เท่าทันอวิชชา คือความโง่เขลาเบาปัญญา ความโง่ไม่สามารถครอบงำพระองค์ได้ โดยอาศัย
ที่พระองค์ทรงค้นพบอริยสัจ ๔ จึงสามารถทำลายอำนาจอวิชชาคือความโง่ให้สลายตัวไปเสียได้
เหลือไว้แต่ความฉลาดหลักแหลม ความโง่ไม่สามารถจะบังคับบัญชาพระองค์ให้หลงใหลไปใน
อำนาจกิเลสและตัณหาได้ ต่อไปพระองค์ทรงพบความสุขที่ยอดเยี่ยม ไม่มีความสุขอื่นยิ่งกว่า
ความสุขที่ว่านี้ คือ พระนิพพาน
พระพุทธคุณทั้ง ๙ ประการนี้ พระอาจารย์รุ่นเก่าท่านประพันธ์ไว้ให้บรรดาพุทธศาสนิกชน
ระลึกนึกถึง จัดเป็นพุทธานุสสติกรรมฐาน คือตั้งอารมณ์ข่มนิวรณ์ปรารภถึงความดีของพระพุทธเจ้า
เมื่อพระโยคาวจร คือท่านนักปฏิบัติพระกรรมฐานได้คำนึงถึงความดีของพระพุทธเจ้า ตามที่เขียน
มานี้ทั้งหมด หรือข้อใดข้อหนึ่ง หรือจะนึกถึงความดีของพระพุทธเจ้าในลักษณะอื่น แต่เป็นไปตาม
แบบพระพุทธจริยาแล้ว จนจิตมีความเคยชิน ระงับนิวรณธรรมห้าประการเสียได้ จิตตั้งอยู่ในอุปจาร-
สมาธิแล้วเจริญวิปัสสนาญาณ ท่านว่าท่านผู้นั้นสามารถจะชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใสได้เพราะอาศัย
ความเลื่อมใสในพระพุทธจริยา จัดว่าเป็นผู้มีโชคอย่างยิ่ง คือจะได้สำเร็จมรรคผลได้โดยฉับพลัน
พุทธานุสสติกรรมฐานนี้ ที่กล่าวมาแล้วนั้น กล่าวตามแบบแผนที่ท่านสอน และเป็นแบบ
ตรงตามพระพุทธประสงค์ เพราะอาศัยที่พุทธานุสสติกรรมฐาน เป็นกรรมฐานที่มีอารมณ์คิด จึงมี
กำลังเพียงอุปจารฌาน ไม่สามารถจะเข้าให้ถึงระดับฌานได้ แต่ที่ท่านสอนกันในปัจจุบัน ในแบบ
พุทธานุสสตินี้ ท่านสอนแบบควบหลาย ๆ อย่างรวมกัน เช่น
แบบหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค
เริ่มต้นให้พิจารณาขันธ์ ๕ ก่อน โดยพิจารณาว่า ขันธ์ ๕ นี้ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
ท่านสอนให้รู้เรื่องของขันธ์ ๕ จนละเอียด แล้วสั่งให้พิจารณาไป ท่านบอกว่าการพิจารณาอย่างนี้
ถ้าพิจารณาได้ตลอดไป โดยที่จิตไม่ส่ายไปสู่อารมณ์อื่น ท่านให้พิจารณาเรื่อยไป ท่านบอกว่า
พิจารณาได้ตลอดวันตลอดคืนยิ่งดี แต่ท่านไม่ได้บอกว่าเป็นวิปัสสนาญาณ เพียงแต่ท่านบอกว่า
ก่อนภาวนาควรพิจารณาขันธ์เสียก่อน และไม่ต้องรีบภาวนา ถ้าใครพิจารณาจนเห็นว่าร่างกาย
ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราเราไม่มีในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่มีในเรา อัตภาพตัวตนเป็นเพียงธาตุ ๔
ประชุมเป็นร่าง เป็นที่อาศัยชั่วคราวของจิต จนละความห่วงใยในขันธ์ ๕ เสียได้ โดยที่ไม่ได้ภาวนา
เลยก็ยิ่งดี
ต่อเมื่อจิตจะส่าย พิจารณาไม่ได้ดี ท่านให้ภาวนาโดยตั้งอารมณ์ดังต่อไปนี้
กำหนดลมหายใจไว้สามฐาน คือ ที่จมูก อก และศูนย์เหนือสะดือ ลมจะกระทบ
สามฐานนี้ให้กำหนดรู้ทั้งสามฐานเพื่อลมหายใจเข้าออกตลอดเวลา พร้อมกันนั้นท่านก็ให้ภาวนา
ว่า พุทธ ภาวนาเมื่อสูดลมหายใจเข้า โธ ภาวนาเมื่อหายใจออก แล้วท่านให้นึกถึงภาพพระพุทธ
ที่ผู้ปฏิบัติเคารพมากจะเป็นพระพุทธรูปวัดใด องค์ใดก็ได้ตามใจสมัคร
ท่านสอนดังนี้ ผู้เขียนเรียนกับท่าน ไม่เคยรู้เลยว่าตอนแรกท่านให้เจริญวิปัสสนาญาณ
คิดว่าเป็นสมถะ ตอนที่ภาวนา คิดว่าเป็นพุทธานุสสติล้วน ต่อมาถึงได้ทราบว่า ท่านให้กรรมฐาน ๔
อย่างร่วมกัน คือ ตอนพิจารณาขันธ์ ๕ เป็นวิปัสสนาญาณ ตอนกำหนดลมหายใจเข้าออกเป็น
อานาปานานุสสติกรรมฐาน ตอนภาวนา เป็นพุทธานุสสติกรรมฐาน ตอนเพ่งรูปพระเป็นกสิณ ท่าน
มีความฉลาดสอนรวมคราวเดียว ๔ อย่าง กำลังพุทธานุสสติมีเพียงอุปจารฌาน อานาปานและกสิณ
มีกำลังถึงฌาน ๔ รู้สึกว่าท่านฉลาดสอน ท่านสอนเผื่อเหนียวไว้พร้อมมูล หากพบท่านที่มีอุปนิสัย
สุกขวิปัสสโกเข้า ท่านเหล่านั้นก็พอใจในวิปัสสนาญาณ ท่านก็จะพากันได้มรรคผลไปตาม ๆ กัน
แบบท่านวัดปากน้ำภาษีเจริญ
ท่านสอนแบบพุทธานุสสติควบแบบอื่นเหมือนกัน โดยท่านให้กำหนดลม ๗ ฐาน แล้วภาวนา
ว่า สัมมาอรหัง แล้วกำหนดดวงแก้ว ตามแบบของท่านควรวิจัยอย่างนี้
กำหนดฐานลมเป็นอานาปานานุสสติ ภาวนาเป็นพุทธานุสสติกรรมฐาน กำหนดดวงแก้ว
เป็นอาโลกกสิณ เป็นกสิณกลาง เป็นเหตุให้ได้ทิพยจักษุญาณและได้มโนมยิทธิ
รวมความว่าท่านอาจารย์ในกาลก่อนท่านฉลาดสอนเพราะท่านได้ผ่านถึง ท่านไม่ทำแบบ
สุกเอาเผากินและไม่ใช่สอนแบบเดาสุ่ม ขอท่านนักปฏิบัติควรทราบไว้และอย่าเอาคำภาวนาเป็น
เหตุสร้างความสะเทือนใจในกันและกัน จะกลายเป็นสร้างบาปอกุศลไป
(จบบรรยายพุทธานุสสติแต่เพียงโดยย่อไว้เท่านี้)
.
ธัมมานุสสติกรรมฐานและสังฆานุสสติกรรมฐาน (1/0)
คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน ----> หน้า 50
๒. ธัมมานุสสติกรรมฐาน
ธัมมานุสสติกรรมฐาน แปลว่า ตั้งอารมณ์เป็นการงาน เป็นงานในการระลึกนึกถึงคุณ
พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ คำว่าเป็นอารมณ์ หมายถึง ให้เอาจิตใจจด
จ่ออยู่ในคุณของพระธรรมเป็นปกติไม่เอาจิตไปนึกคิดอารมณ์อื่นนอกเหนือไปจากพระธรรม
อาการที่คิดถึงคุณของพระธรรมนี้มีอารมณ์การคิดไว้มากมายเช่นเดียวกับการคิดถึงคุณพระพุทธเจ้า
เพราะพระธรรมมีความสำคัญมากกว่าสิ่งใด ๆ แม้แต่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง พระองค์
ก็มีความเคารพในพระธรรมเพราะพระธรรมเป็นหลักความประพฤติดีประพฤติชอบประจำโลก
การที่พระพุทธเจ้าพระองค์จะทรงบรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณได้ ก็เพราะอาศัยพระธรรมเป็น
หลักปฏิบัติ ฉะนั้น ในพระพุทธศาสนานี้ จึงนิยมยกย่องพระธรรมว่า เป็นสรณะที่พึ่งอัน
ประเสริฐสรณะหนึ่ง การระลึกถึงคุณพระธรรมนี้ท่านอาจจะเลือกเอาคำสั่งสอนตอนใดตอนหนึ่ง
ที่ท่านชอบในบรรดาคำสอน ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ มาเป็นอารมณ์ระลึกได้ตามชอบใจ แต่
ท่านโบราณาจารย์ท่านประพันธ์บทสรรเสริญพระธรรมไว้ ๖ ข้อ จะขอนำมากล่าวไว้พอเป็นแนว
ปฏิบัติ
คุณของพระธรรม ๖
๑. สวากขาโต ภควตา ธัมโม พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว ข้อนี้หมายถึง
อาการคำนึงถึงคุณพระธรรมแบบรวม ๆ ว่า พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหมด
รวม ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ย่อลงเหลือสาม คือ อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา ได้แก่ ศีล
ที่บริสุทธิ์อย่างเยี่ยมสมาธิที่ตั้งมั่นอย่างยิ่งคือ สมาบัติแปด อธิปัญญา ได้แก่ การ
เจริญวิปัสสนาญาณได้มรรคผลคือ พระโสดา สกิทาคา อนาคา อรหัตตผล คุณธรรม
ทั้งหมดนี้ประเสริฐยอดเยี่ยม ไม่มีสิ่งอื่นใดเสมอเหมือน เพราะสามารถกำจัดความทุกข์ความ
เดือดร้อนได้ทั้งที่มีชีวิตอยู่ และมรณะไปแล้ว
คุณธรรมที่เบากว่านั้น เช่น ทาน การให้ ศีล รักษาวาจาใจให้สงบจากเวร สมาธิรักษา
ใจให้สงบจาก อกุศล ๕ ประการ คือ โลภะ ความโลภ โทสะ ความคิดประทุษร้าย ถีนมิทธะ
ความเคลิบเคลิ้มที่ขาดสติสัมปชัญญะ และความง่วงเหงาหาวนอนในเวลาทำความดี อุทธัจจ-
กุกกุจจะ อารมณ์หงุดหงิดฟุ้งซ่านและความรำคาญใจ วิจิกิจฉา ความสงสัยในผลของการ
ปฏิบัติธรรม และ ปัญญา คือ การฝึกวิปัสสนาญาณเบื้องต้น
คุณธรรมขนาดเบา ๆ นี้ ก็มีผลมากแก่ผู้ปฏิบัติ เพราะ
ก. ทาน การให้ เป็นคุณธรรมที่ทำลายอารมณ์โลภอยากได้ทรัพย์สินของผู้อื่น และเป็น
เหตุแห่งความรักความเสน่หาของผู้รับทาน คนที่ให้ทานเป็นปกติ ย่อมเป็นที่รักของผู้รับทาน
ทั่วไปเป็นเหตุให้ปลอดภัยจากอันตราย
ข. ศีล เมื่อรักษาดีแล้ว ย่อมมีอานิสงส์ดังนี้ ศีลผู้รักษาไว้ดีแล้วย่อมเป็นที่รักของปวงชน
เพราะผู้รักษาศีลมีเมตตาเป็นปกติ และจะมีชื่อเสียงในด้านความดีฟุ้งขจรไปทุกทิศ เมื่อเวลา
ใกล้จะตายจะมีสติสมบูรณ์ เมื่อตายแล้วจะได้ไปสู่สุคติ
ค. สมาธิ ย่อมส่งผลให้เป็นคนมีสติสมบูรณ์และเป็นที่รักแก่ชนทั่วไป เพราะท่านที่ทรง
สมาธิย่อมกำจัดเวร คือ อกุศล ๕ ประการ มีโลภะเป็นต้นเสียได้
ฆ. วิปัสสนาญาณ มีอานิสงส์ทำจิตใจให้มีความสุข เพราะจิตเคารพต่อกฎของธรรมดา
เพราะรู้แจ้งเห็นจริงตามกฎธรรมดาทุกประการ หมดความหวั่นไหวในทุกข์ภัยที่ปรากฏ มีอารมณ์
สงัดเยือกเย็นเป็นปกติ คล้ายต้นไม้ที่ไม่มีลมร้ายมาถูกต้องฉะนั้น
ในข้อนี้ท่านสอนให้ระลึกนึกถึงคุณของพระธรรมตามที่กล่าวมาโดยย่ออย่างนี้ หรือท่านจดจำ
พระสูตร คือคำสอนที่ยกตัวบุคคล แล้วจะคิดตามนั้น หรือท่านจะคิดตามพระธรรมข้อใดก็ได้ตามใจ
ชอบเป็นระลึกถึงคุณพระธรรมตามข้อนี้เหมือนกัน เพราะบทสวากขาโตนี้ท่านกล่าวรวม ๆ เข้าไว้
๒. สันทิฏฐิโก แปลว่า ผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง หมายความว่า ผลของการปฏิบัติธรรมนี้
ไม่ใช่จะปฏิบัติกันไปตามเรื่อง ผลของการปฏิบัติธรรมนี้เป็นความสุขใจ ท่านปฏิบัติจริงจะได้รับผล
จริงในชาตินี้
๓. อกาลิโก แปลว่า ไม่เลือกกาลไม่เลือกสมัย หมายถึงผลของการปฏิบัติธรรมนี้ได้รับผล
ทุกขณะที่ปฏิบัติ ไม่จำกัดกาลเวลาว่าจะต้องเป็นเวลานั้นเวลานี้ ตัวอย่างเช่น ผู้ปฏิบัติธรรมในด้าน
พรหมวิหาร ท่านที่ทรงพรหมวิหาร ย่อมประทานความรักให้แก่คนและสัตว์ไม่เลือกหน้าท่านไม่ถือ
โกรธใคร พบคนควรไหว้ท่านก็ไหว้ พบคนควรให้ท่านก็ให้ ท่านมีหน้ายิ้มตลอดเวลา ท่านลองคิดดู
ว่าถ้าท่านพบคนอย่างนี้เข้าท่านควรจะรักเคารพหรือท่านควรจะคิดประทุษร้ายขอให้ท่านคิดเอาเอง
ผลของการปฏิบัติธรรมได้ผลไม่จำกัดกาลเวลาอย่างนี้ และในสมัยนี้มีคนพูดกันมานานว่าเวลาล่วง
มาขณะนี้ พระอริยะไม่มีแล้ว ท่านอย่าเชื่อเขาเลย เพราะคุณของพระธรรมยืนยันอยู่อย่างนี้
ว่า ผลแห่งการบรรลุ มีได้ไม่เลือกกาลเวลา ขอให้ปฏิบัติจริง ปฏิบัติตรง ตามคำสั่งสอนเถอะ และ
ปฏิบัติพอดี อย่าเกียจคร้านเกินไป และอย่าขยันเกินไป รับรองว่า ท่านต้องการคุณธรรมขนาดไหน
ก็มีหวังได้ทุกขนาดและไม่จำกัดกาลเวลา
๔. เอหิปัสสิโก แปลว่า ควรเรียกให้มาดู ข้อนี้ท่านกล้าท้าทายว่า การปฏิบัติธรรมนั้น
ของท่านกล้ายืนยันผล ขอให้ทำถูก ทำตรง ทำพอดีเถอะ ท่านรับรองผลว่า ต้องได้รับผลแน่นอน
ขออย่างเดียว ขอให้เอาจริงเท่านั้น อย่าทำแบบสุกเอาเผากิน คนไม่จริงพระธรรมท่านก็ไม่จริง
ด้วยถ้าผู้ปฏิบัติจริง ผลของพระธรรมท่านก็ให้จริง ขอให้จริงต่อจริงพบกันเถอะ แล้วจะได้รับผล
สมความมุ่งหมาย
๕. โอปนยิโก แปลว่า ควรน้อมเข้ามา ท่านหมายความว่า ผู้หวังผล คือความสุขทางใจ
สุขทั้งในชาตินี้และชาติต่อ ๆ ไปแล้ว เชิญเข้ามาฝึกได้ ไม่จำกัดกาลเวลา ไม่จำกัดเพศและวัย
ไม่จำกัดเชื้อชาติ สัญชาติและศาสนา ถ้าเข้ามาจริง ปฏิบัติจริง ท่านรับรองว่า ต้องได้ผลจริง
๖. ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ แปลว่า อันวิญญูพึงรู้เฉพาะตน คำว่า วิญญู หมายถึง
ท่านผู้รู้ คือผู้ปฏิบัติที่ได้รับผลแล้ว ท่านผู้นั้นจะรู้ผลเองว่า การปฏิบัติพระธรรมนี้มีผล คือความสุข
อันประณีต และมีความเยือกเย็นใจเป็นพิเศษ มีความสุขประณีตกว่าความสุขอันเกิดขึ้นจากโลก
วิสัยหลายพันล้านเท่า
(บทพระธรรมคุณ คือธัมมานุสสติ ขออธิบายแต่โดยย่อเพียงเท่านี้)
๓. สังฆานุสสติกรรมฐาน
สังฆานุสสติกรรมฐาน แปลว่า ตั้งอารมณ์ให้เป็นการเป็นงานในการระลึกถึงคุณ
พระสงฆ์เป็นอารมณ์ การระลึกถึงคุณพระสงฆ์เป็นอารมณ์นี้ ท่านให้คิดถึงความดีของพระสงฆ์
ในส่วนที่เป็นความดีอันเป็นเนื้อแท้ของพระศาสนา ไม่ใช่คิดถึงความดีอันเป็นส่วนประกอบที่ไม่เข้า
ถึงพระศาสนา เช่น เห็นว่าท่านมีเครื่องรางของขลัง คือของคงกระพันชาตรี ท่านเป็นหมอรดน้ำมนต์
ท่านให้หวยเก่ง ท่านเป็นหมอดูแม่น ท่านทำเสน่ห์เก่ง ท่านเล่นหมากรุกเก่ง ท่านมีวิทยาคมต่างๆ
เช่น เสกอะไรต่ออะไรเก่ง ความเก่งอย่างนั้นของท่านเป็นความเก่งนอกความหมายในที่นี้ เพราะ
เป็นความเก่งที่ยังไม่เข้าถึงจุดเก่งทางศาสนา เป็นความเก่งเปลือกที่ยังเอาตัวไม่รอด ยังไม่ควรจะ
เอามาคิดมานึกให้เป็นอารมณ์ในการเจริญกรรมฐาน ความเก่งในการที่นักกรรมฐานควรเอา
มาคิดก็คือ
๑. ท่านเก่งในทางปฏิบัติ จนได้บรรลุ พระโสดา พระสกิทาคา พระอนาคา พระอรหันต์
อย่างนี้เป็นเนื้อแท้ของความเก่งในเนื้อแท้ของพระสาวกในพระพุทธศาสนาและเป็นความเก่งที่
ควรบูชาและระลึกถึงเป็นอารมณ์
๒. ความเก่งอีกอย่างหนึ่ง ของพระสงฆ์ที่ควรเอามาคิดเอามาบูชาก็คือ ท่านเองได้บรรลุ
มรรคผลแล้ว ท่านมิได้แสวงหาความสุขเพราะผลการบรรลุนั้น เฉพาะตัวท่าน ท่านกลับพลีความสุข
ที่ท่านควรได้รับนั้น นำพระธรรมคำสั่งสอนที่ท่านได้รับผลแล้ว มาสั่งสอนบรรดาพุทธบริษัทอย่างที่
ไม่เห็นแก่ผลตอบแทนใด ๆ
การที่ระลึกถึงความดีของพระสงฆ์ให้ถูกต้องตามแบบก็คือ
ก. สุปฏิปันโน ท่านเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว
ข. อุชุปฏิปันโน ท่านเป็นผู้ปฏิบัติตรง
ค. ญายปฏิปันโน ท่านปฏิบัติเป็นธรรม
ง. สามีจิปฏิปันโน ท่านเป็นผู้ปฏิบัติสมควร
ทั้งนี้หมายความว่า ท่านปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนจริง ๆ ไม่แก้ไข
ดัดแปลงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ท่านปฏิบัติสมควรแก่การบูชาอย่างยิ่ง เพราะท่านปฏิบัติตน
จนได้บรรลุมรรคผลที่บุคคลธรรมดาไม่สามารถจะเห็นได้ การบูชาและระลึกถึงคุณของพระสงฆ์
ต้องระลึกตามตามนัยนี้ จึงจะตรงตามความประสงค์ของพระพุทธเจ้า
ตามที่ท่านสอนให้เจริญใน พุทธานุสสติ ธัมนานุสสติ สังฆานุสสติ ก็เพื่อให้คิดตาม
ความดีของพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์ เพราะการคิดตามความดีของท่านที่มีความดี
อยู่เสมอๆ จนขึ้นใจนั้น เป็นเหตุให้เกิดศรัทธา ความเชื่อมั่นในผลของความดี และปสาทะ ความ
เลื่อมใส ปีติ ความเอิบอิ่มใจ ความคิดคำนึงอย่างนี้เป็นปกติตลอดไป ย่อมเป็นเครื่องจูงใจให้ปฏิบัติ
ตาม เมื่อใดได้ลงมือปฏิบัติตามแล้ว ผลที่มีศรัทธาอยู่แล้ว ย่อมเป็นกำลังใจให้ได้สำเร็จมรรคผลได้
อย่างไม่มีอะไรเป็นเครื่องหนักใจนัก
(ขอยุติสังฆานุสสติโดยย่อแต่เพียงเท่านี้)
สังฆานุสสติกรรมฐาน(ต่อ)สีลาและจาคานุสสติ (1/0)
คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน ----> หน้า 51
๔. สีลานุสสติกรรมฐาน
สีลานุสสติ แปลว่า ระลึกถึงคุณศีลเป็นอารมณ์ คำว่า ศีล แปลว่า ปกติ สิกขาบทของศีล
เป็นสิกขาบทที่บังคับให้เป็นไปตามปกติของความรู้สึกและพอใจของมวลชนโลก ทั้งที่เป็นสัตว์
และมนุษย์ จะได้พูดให้ฟังแต่โดยย่อ
ปกติของสัตว์และมนุษย์ที่เกิดมาร่วมโลกนี้ แม้จะต่างชาติ ต่างภาษา ต่างศาสนา ต่างเพศ
ต่างตระกูลกันเพียงใดก็ตาม สิ่งที่มีความปรารถนาเสมอกันเป็นปกติ มีอยู่ ๕ ข้อ คือ
๑. ไม่ต้องการให้ใครมาฆ่าตน และไม่ปรารถนาให้ผู้ใดมาทำร้ายร่างกาย แม้ไม่ถึงตาย
ก็ตาม
๒. ไม่ต้องการให้ใครมาลักขโมย หรือยื้อแย่ง หลอกลวงเอาทรัพย์ของตนไปโดยที่ตน
ไม่เต็มใจอนุญาต
๓. ไม่มีความประสงค์ให้ใครมาทำลายหัวใจในด้านความรัก จะเป็นสามี ภรรยา บุตร
หลาน หรือแม้แต่คนในปกครองที่มิใช่บุตรหลาน โดยที่ตนเองยังไม่เห็นชอบด้วย
๔.ไม่ปรารถนาให้ใครมาใช้วาจาที่ไม่ตรงความจริง ในเมื่อในขณะนั้นต้องการรู้เรื่อง
ราวตามความเป็นจริง
๕.ไม่ต้องการให้ใครเห็นว่าตนเป็นคนบ้าๆ บอๆ ด้วยอาการที่เป็นคนคุ้มดีคุ้มร้าย
เพราะเหตุใดก็ตาม
เมื่อความต้องการของปวงชาวโลกทั้งที่เป็นมนุษย์และสัตว์ มีความปรารถนาเสมอกันเป็น
ปกติอย่างนี้ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงทรงบัญญัติสิกขาบท ตามความต้องการเป็นปกติ
ของชาวโลกไว้ ๕ ข้อ ที่เรียกว่า ศีล ๕ หรือปกติศีล
ส่วนศีล ๘ หรือเรียกว่า ศีลอุโบสถ มีสิกขาบท ๘ เหมือนกัน หรือศีล ๑๐ ของสามเณร ศีล
๒๒๗ ของพระ ศีล ๓๑๑ ของนางภิกษุณี ก็เป็นศีลที่บัญญัติตามปกติของท่านนั้นๆ
การที่ท่านสอนให้ระลึกถึงศีลเนืองๆ นั้น หมายถึงให้สำรวมใจ ระมัดระวังความประพฤติศีล
เพื่อมิให้ศีลบกพร่อง เพราะศีลเป็นบาทที่จะสนับสนุนใจให้เข้าถึงสมาธิ ศีลนี้ผู้ใดปฏิบัติไม่ขาด
ตกบกพร่องแล้วย่อมมีอานิสงส์คือ จะไม่ได้รับความเดือดร้อนเพราะอำนาจอกุศลกรรม
จะเป็นที่รักของปวงชน จะมีเกียรติคุณความดีฟุ้งไปในทิศานุทิศ จะเป็นผู้แกล้วกล้า
อาจหาญ ในเมื่อมีคนโจษจันถึงเรื่องศีล เมื่อใกล้จะตาย อารมณ์จิตจะผ่องใส อกุศลกรรมไม่สามารถ
เข้ามาข้องได้ เมื่อตายแล้วจะได้เกิดในสวรรค์ ก่อนตายศีลนี้จะเป็นสะพานใหญ่ให้อารมณ์สมาธิหลั่ง-
ไหลมาสู่จิต จะทำให้จิตตั้งมั่นในสมาธิ เป็นพื้นฐานให้ได้วิปัสสนาญาณ ได้ถึงพระนิพพานในที่สุด
ท่านที่คิดถึงศีลและระมัดระวังรักษาศีลเป็นปกติ แล้วใคร่ครวญพิจารณาศีลเป็นปกติอย่างนี้ ท่านว่า
จะมีอารมณ์สมาธิถึงอุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิเป็นที่สุด
เมื่อเข้าถึงสมาธิตามที่กล่าวแล้ว ถ้าท่านน้อมเอาวิปัสสนาญาณมาพิจารณา ท่านก็จะได้
บรรลุมรรคผลภายในไม่ช้า
(ขอยุติสีลานุสสติไว้แต่โดยย่อเพียงเท่านี้)
๕. จาคานุสสติกรรมฐาน
จาคานุสสติ แปลว่า ระลึกถึงการบริจาคทานเป็นนิตย์ กรรมฐานกองนี้ท่านแนะให้ระลึก
ถึงการให้เป็นปกติ ผลของการให้เป็นการตัด มัจฉริยะ ความตระหนี่ ตัดโลภะ ความโลภ ซึ่ง
จัดว่าเป็นกิเลสตัวสำคัญไปได้ตัวหนึ่ง กิเลสประเภทรากเหง้าของกิเลสมีสาม คือ
๑. ความโลภ
๒. ความโกรธ
๓. ความหลง
ความโลภท่านสอนไว้ว่า ตัดได้ด้วยการบริจาคทาน เพราะการบริจาคทานเป็นการเสียสละ
ที่มีอารมณ์จิตประกอบด้วยเมตตา การให้ทานที่ถูกต้องนั้น ท่านสอนให้ ๆ ทานด้วยความเคารพใน
ทาน คือ ให้ด้วยความเต็มใจและให้ด้วยอาการสุภาพ ก่อนจะให้ให้ทำความพอใจ มีความยินดีในเมื่อ
มีโอกาสได้ให้ โดยคิดว่า ขณะนี้เราได้มีโอกาสทำลายล้างโลภะ ความโลภ อันเป็นรากเหง้าของกิเลส
ได้แล้ว มหาปุญญลาโภ บัดนี้ลาภใหญ่มาถึงเราแล้ว คิดแล้วก็ให้ทานด้วยความเคารพในทาน
ผู้รับนั้นจะเป็นใครก็ตาม จะเป็นผู้มีร่างกายบริบูรณ์ หรือทุพพลภาพก็ตาม ขอให้มีโอกาสได้ให้ก็ปลื้ม
ใจแล้ว เมื่อให้ทานไปแล้วทำใจไว้ให้แช่มชื่นเป็นปกติเสมอ เมื่อมีโอกาสได้คิดถึงทานที่ตนให้ โดย
คิดตามความเป็นจริงว่า
การให้ทานนี้ ที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสรรเสริญว่า เป็นของดีนั้น เราเห็นความดีแล้ว
ดังนี้ ในชาติปัจจุบันผลทานนี้ย่อมให้ความสุขแก่ผู้รับทาน เพราะผู้รับมีโอกาสเปลื้องทุกข์ของตน
ได้ด้วยทานที่เราให้ สำหรับเราผู้ให้ ก็มีโอกาสได้รับผลในปัจจุบันคือ ได้มีโอกาสทำลายโลภะ ความ
โลภ ตัวกิเลสที่ถ่วงไม่ให้ถึงนิพพาน บัดนี้เราตัดความโลภคือรากเหง้าของกิเลสตัวที่ ๑ ได้แล้ว ความ
เบาได้เกิดมีแก่เราแล้ว ๑ เปลาะ คงเหลือแต่ความโกรธและความหลง ซึ่งเราจะพยายามตัดต่อไป
ทานยังให้ผลต่อไป คือผลทาน เป็นผลสร้างมิตร สร้างความสุขสงบ เพราะผู้รับทานย่อมรู้สึกรัก และ
ระลึกถึงคุณผู้ให้อยู่เป็นปกติ ผู้รับทานย่อมพยายามโฆษณาความดีของผู้ให้ในที่ทุกสถาน เมื่อผู้ให้
เป็นที่รักของผู้รับแล้ว ความปลอดภัยของผู้ให้ก็ย่อมมีขึ้นจากผู้รับทาน เพราะผู้รับจะคอยป้องกัน
อันตรายให้ตามสมควร ยิ่งให้มาก คนที่รักก็ยิ่งมีมาก ความปลอดภัยก็มีมากขึ้นเป็นธรรมดา ผู้ให้
ทานย่อมมีอานิสงส์ที่ได้รับในชาติปัจจุบันอีกคือ ย่อมมีโอกาสได้รับโชคลาภที่เป็นของกำนัล เป็น
เครื่องบำรุงเสมอ ผู้ให้ทานเป็นปกติ จะไม่ขาดแคลนฝืดเคืองในเรื่องการใช้สอยเมื่อใกล้จะขาดมือ
หรือมีความจำเป็นสูงจะมีผลได้เป็นการชดเชยให้พอเหมาะพอดีแก่ความจำเป็นเสมอ นี่พูดตามผล
ที่ประสบมาในชาติปัจจุบัน สำหรับอนาคต ท่านว่าผู้ที่บำเพ็ญทานเสมอ ๆ นั้น จิตใจจะชุ่มชื่นแจ่มใส
เมื่อใกล้จะตายเมื่อตายแล้วทานจะส่งผลให้ไปเกิดในสวรรค์มีทิพยสมบัติมากมายถ้าเกิดเป็นมนุษย์
ก็เป็นมนุษย์ที่บริบูรณ์พูนสุขด้วยสมบัติ นี่ว่ากันตามอานิสงส์
พูดกันตามความประสงค์แล้ว การระลึกถึงทาน ก็มุ่งทำลายล้างโลภกิเลสเป็นสำคัญท่านสอน
ให้คิดนึกถึงทานที่ให้แล้วไว้เสมอ ๆ และทำความปลื้มใจในการให้และคิดไว้อีกเช่นเดียวกันว่า เรา
พร้อมที่จะให้ทานตามกำลังศรัทธาทุกโอกาสที่มีคนมาขอ เพราะเราต้องการทำลายโลภะให้สิ้นไป
เพื่อผลใหญ่ที่จะพึงได้ คือพระนิพพานในกาลต่อไป
ท่านที่ยินดีในทานเป็นปกติอย่างนี้ จิตย่อมบริบูรณ์ด้วยเมตตาและกรุณาอันเป็นพรหมวิหาร
ท่านว่าเพราะผลทานและพรหมวิหารร่วมกันมีบริบูรณ์แล้ว จิตก็จะเข้าสู่อุปจารสมาธิ ต่อนั้นไปถ้า
ได้เจริญวิปัสสนาญาณ โดยใช้อุปจารฌานเป็นบาทแล้วจะได้บรรลุมรรคผลได้อย่างฉับพลัน
(จบจาคานุสสติโดยย่อไว้เพียงเท่านี้)
๖. เทวตานุสสติกรรมฐาน
เทวตานุสสติ แปลว่า ระลึกถึงความดีของเทวดาเป็นอารมณ์ การอธิบายตอนท้าย ๆ นี้
ตั้งใจจะพูดแต่โดยย่อ ๆ เพราะพูดพอได้ความก็ถือว่าใช้ได้ ด้วยการเจริญกรรมฐานต้องมีอาจารย์
คุมอยู่แล้ว แต่พอถึงกรรมฐานข้อนี้ต้องขอโอกาสรบกวนให้ท่านผู้อ่านอ่านยาวสักนิดความจริงทาง
ศาสนาเรานี้ พระพุทธเจ้ายอมรับนับถือเรื่องเทวดา พระองค์เองทรงปรารภแก่บรรดาพุทธสาวกเรื่อง
เทวดาเสมอ ขอให้ดูตามพุทธประวัติจะพบว่า พุทธศาสนาไม่เคยห่างเทวดาเลย จะเขียนให้ละเอียด
ในที่นี้ก็เกรงจะเฟ้อเกินไป ขอย้ำว่า พระพุทธศาสนายอมรับนับถือว่า เทวดามีจริง และยอม
รับนับถือความดีของเทวดาด้วย พระพุทธเจ้าถึงกับตรัสให้พุทธบริษัทที่มีบารมียังอ่อน ให้ระลึก
ถึงความดีของเทวดาเป็นปกติเช่น กรรมฐานข้อที่ว่าด้วย เทวตานุสสติ ก็เป็นพระพุทธพจน์ของ
พระพุทธเจ้าสอนให้คิดถึงความดีของเทวดา
ความดีของเทวดา
เทวดา แปลว่า ผู้ประเสริฐ ความประเสริฐของเทวดามีอย่างนี้ ถ้าพูดกันตามความนิยมแล้ว
ท่านที่จะเป็นเทวดาก็ต้องเกิดเป็นคนก่อน เมื่อเป็นคนก็ต้องศึกษาหลักสูตรของเทวดาว่า จะเป็น
เทวดานั้นต้องเรียนรู้และปฏิบัติอะไรบ้าง หลักสูตรที่ทำคนให้เป็นเทวดานั้น พระพุทธเจ้าตรัสว่า
มี ๒ แบบ คือ
เทวดาประเภทที่ ๑
เทวดาแบบที่ ๑ เป็นเทวดาชั้นกามาวจร คือ ชั้นจาตุมหาราช ชั้นดาวดึงส์ ชั้นยามา
ชั้นดุสิต ชั้นนิมมานรดี ชั้นปรนิมมิตวสวัสดี รวม ๖ ชั้นด้วยกัน ทั้ง ๖ ชั้นนี้ บวกภูมิเทวดาที่
เรียกว่า พระภูมิเจ้าที่ และรุกขเทวดา พวกเทวดาที่มีวิมานอยู่ตามสาขาของต้นไม้ที่เรียกว่า
นางไม้ เข้ากับเทวดาชั้นจาตุมหาราช เทวดา ๖ ชั้นนี้ ท่านว่าใครจะไปเกิดในที่นั้น ๆ เพื่อเป็น
เทวดาต้องศึกษาและปฏิบัติตามเทวดาหลักสูตรเสียก่อน คือท่านให้เรียนรู้ เทวธรรม ที่ทำตน
ให้เป็นเทวดาได้แก่
๑. หิริ ความละอายต่อความชั่วทั้งหมด ไม่ทำชั่วทั้งในที่ลับและที่แจ้ง
๒. โอตตัปปะ ความเกรงกลัวผลของความชั่วจะลงโทษ ไม่ยอมประพฤติชั่วทั้งกายวาจาใจ
ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง
ทั้งนี้ก็หมายความว่า ต้องเป็นคนมีศีลบริสุทธิ์เป็นปกติ และมีจิตเมตตาปรานี ตลอดกาลตลอด
สมัย ถึงแม้ยังไม่ได้ฌานสมาบัติก็ไม่เป็นไร เอากันแค่ศีลบริสุทธิ์ มีจิตเมตตาปรานีใช้ได้ ท่านว่าใคร
ศึกษาและปฏิบัติหลักสูตรนี้ได้ครบถ้วน เกิดเป็นเทวดาได้ ปฏิบัติได้อย่างเลิศ ก็เป็นเทวดาชั้นเลิศ ถ้า
ปฏิบัติได้อย่างกลางก็เป็นเทวดาปานกลาง ถ้าปฏิบัติได้ครบแต่หยาบ ก็เป็นเทวดาเล็ก ๆ เช่น ภูมิ-
เทวดาหรือรุกขเทวดาพระพุทธเจ้าท่านตรัสหลักสูตรของเทวดาประเภทที่ ๑ ไว้อย่างนี้ ท่านผู้อ่าน
จงจำไว้ให้ขึ้นใจจะได้ไม่สงสัยเรื่องเทวดา
เทวดาประเภทที่ ๒
เทวดาประเภทที่ ๒ นี้ ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า "พรหม" ท่านจัดพรหมรวมหมด
๒๐ ชั้น ด้วยกัน ท่านแยกประเภทไว้ดังนี้
รูปพรหมมี ๑๖ ชั้น
รูปพรหม คือ พรหมที่มีรูปนี้ ท่านแบ่งไว้เป็น ๑๖ ชั้น แยกออกเป็น ๒ ประเภท คือ พรหมที่ได้
ฌานโลกีย์ ท่านจัดไว้ ๑๑ ชั้น กับพรหมที่เป็นพระอนาคามี และได้ฌาน ๔ ด้วย ๕ ชั้น รวมพรหมที่มี
รูป ๑๖ ชั้น
อรูปพรหม ๔ ชั้น
พรหมที่ไม่มีรูปนี้ เป็นโลกียพรหม มีหมดด้วยกัน ๔ ชั้น รวมพรหมทั้งหมด ๒๐ ชั้นพอดี
หลักสูตรที่จะไปเป็นพรหม
การที่จะเกิดเป็นพรหม ต้องศึกษาและฝึกตามหลักวิชชาให้ได้ครบถ้วนเสียก่อน ถ้าสอบตกเป็น
ไม่มีทางได้เกิดเป็นพรหม จะยัดเงินอุดทอง วิ่งเข้าหาเทวดาหรือพรหมองค์ใดให้ช่วยนั้นไม่มีหวัง
ต้องใช้ความสามารถจริง ๆ จึงจะไปได้ การสอบเป็นเทวดาหรือพรหมไม่มีคอรัปชั่น ท่านสอนกัน
อย่างนี้ เดี๋ยวก่อนก่อนบอกวิธีสอบ ขอบอกไว้ด้วยว่ากรรมการตรวจสอบนั้นไม่มี ต้องตรวจเองสอบเอง
ถ้าสอบได้ก็เป็นพรหมทันที ถ้าสอบไม่ได้อาจต้องเป็นคนอยู่ต่อไป หรือเป็นเทวดา หรือไม่ก็ลงนรก
ไปเลยสุดแล้วแต่ใครจะมีกรรมอะไรเป็นเครื่องส่ง ก่อนจะพูดถึงหลักสูตรพรหม ขอพูดถึงหลักสูตรต่ำ
ไปหาพรหมก่อนเพราะจะได้รู้ไว้เป็นเครื่องประดับ
หลักสูตรอบายภูมิ
อบายภูมิหมายถึงดินแดน นรก เปรต อสุรกาย และสัตว์เดียรัจฉาน ใครจบหลักสูตรนี้ จะได้ไป
เกิดในที่ ๔ สถานนี้ หลักสูตรนี้มีดังนี้ คือ ไม่รักษาศีล ไม่ให้ทาน ไม่เคารพคนที่ควรเคารพ เท่านี้ไป
เกิดในอบายภูมิได้สบาย ไม่มีใครขัดคอ
หลักสูตรเกิดเป็นมนุษย์
หลักสูตรมนุษย์นี้ ท่านเรียกมนุษยธรรม คือ ธรรมที่ทำให้เกิดเป็นมนุษย์มี ๕ อย่าง คือ
๑. ไม่ฆ่าสัตว ์และไม่ทรมานสัตว์ให้ลำบากด้วยเจตนา
๒. ไม่ถือเอาของของผู้อื่นที่เขาไม่อนุญาตให้ ด้วยเจตนาขโมย
๓. ไม่ละเมิดสิทธิในกามารมณ์ที่เจ้าของไม่อนุญาต คือไม่ละเมิดภรรยา สามี ลูก หลาน
และคนในปกครอง ที่ผู้ปกครองไม่อนุญาต
๔. ไม่พูดปด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดส่อเสียดให้เขาแตกร้าวกัน ไม่พูดเพ้อเจ้อ โดยไร้สาระ
๕. ไม่ดื่มสุราและเมรัย ที่ทำจิตใจให้มึนเมาไร้สติสัมปชัญญะ
ตามหลักสูตรนี้ ถ้าใครสอบได้ คือปฏิบัติได้ครบถ้วน ท่านว่าตายแล้วเกิดเป็นมนุษย์ได้
หลักสูตรรูปพรหม
๑. ได้ฌานที่ ๑ เกิดเป็นพรหมชั้นที่ ๑, ๒, ๓
๒. ได้ฌานที่ ๒ เกิดเป็นพรหมชั้นที่ ๔, ๕, ๖
๓. ได้ฌานที่ ๓ เกิดเป็นพรหมชั้นที่ ๗, ๘, ๙
๔.ได้ฌานที่ ๔ เกิดเป็นพรหมชั้นที่ ๑๐, และ ๑๑
ทั้งหมดนี้เป็นพรหมชั้นโลกีย์
หลักสูตรรูปพรหมอนาคามี
พรหมอีก ๕ ชั้นคือ ชั้นที่ ๑๒, ๑๓, ๑๔, ๑๕, ๑๖ รวม ๕ ชั้นนี้ ต้องได้บรรลุมรรคผล
เป็นพระอนาคามีได้ฌาน ๔ มาก่อน
สำหรับอรูปพรหม ๔ ชั้น
ท่านทั้ง ๔ ชั้นนี้ ท่านต้องเจริญฌานในกสิณ แล้วเจริญอรูปฌาน ๔ ได้อีก จึงจะมาเกิดเป็น
อรูปพรหมได้ แต่ท่านก็ได้เพียงฌานโลกีย์ ไม่ใช่พระอริยเจ้า
หลักสูตรเทวดาและพรหมมีอย่างนี้ ท่านสอนให้ระลึกนึกถึงความดี คือคุณธรรมที่เทวดาและ
พรหมปฏิบัติมาแล้วจนเกิดเป็นเทวดาหรือพรหมได้ ก็ชื่อว่าท่านได้รับผลความดีที่ท่านปฏิบัติมาแล้ว
ถ้าเราปฏิบัติอย่างท่าน เราก็อาจจะมีผลความสุขเช่นท่าน เพราะเทวดาขนาดเลวนั้น ดีกว่ามนุษย์
ชั้นดีอย่างเปรียบเทียบกันไม่ได้เลย เพราะเทวดามีกายเป็นทิพย์ มีที่อยู่เป็นทิพย์ ไปไหนก็เหาะไปได้
ไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยเหมือนเรา ฉะนั้นความดีของเทวดานี้ ถึงจะยังไม่ถึงความดีในนิพพาน แต่ก็เป็น
สะพานสำหรับปฏิบัติเพื่อผลในพระนิพพานได้เป็นอย่างดี ดีกว่ามาคิดว่า เทวดาไม่เป็นเรื่อง เทวดา
ไม่มี เราเป็นพุทธสาวก เมื่อพระพุทธเจ้าท่านว่ามี เราก็ควรเชื่อไว้ก่อน แล้วสร้างสมาธิทำทิพยจักษุ-
ญาณให้เกิด ตรวจสอบคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอีกครั้งหนึ่ง จะพบว่าที่ท่านสอนว่า เทวดา พรหม
นรก สวรรค์ มีจริงนั้น ท่านสอนตรง ไม่ใช่สอนแบบยกเมฆ ท่านบูชาเทวดา ท่านอาจดีตามเทวดา
แต่ท่านด่าเทวดาท่านอาจไม่ได้พบเทวดาเลย
เทวตานุสสตินี้ ถ้าฝึกจนเกิดอุปจารฌานแล้ว ท่านเจริญวิปัสสนาญาณต่อ ท่านจะเข้าถึง
มรรคผลได้ไม่ยาก เพราะเป็นภูมิธรรมที่ละเอียด และมีแนวโน้มเข้าไปใกล้พระนิพพานมาก
(ขอยุติเทวตานุสสติไว้เพียงเท่านี้)
มรณานุสติกรรมฐาน (1/0)
คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน ----> หน้า 52
๗. มรณานุสติกรรมฐาน
มรณานุสสติ แปลว่า นึกถึงความตายเป็นอารมณ์ เรื่องของความตายเป็นของธรรมดา
ของสัตว์และมนุษย์ที่เกิดมา เมื่อมีความเกิดมาได้แล้ว ก็ต้องตายในที่สุดเหมือนกันหมด ความ
ตายนี้รู้สึกว่าเป็นปกติธรรมดาของคนและสัตว์ทั่วไป ท่านผู้อ่านจะสงสัยว่า เมื่อความตายเป็นของ
ธรรมดาที่ใคร ๆ ก็ทราบว่าตัวจะต้องตาย แล้วพระพุทธเจ้ามาสอนให้นึกถึงความตายเพื่อประโยชน์
อะไร ? ปัญหาข้อนี้ตอบไม่ยาก เพราะธรรมดาของคนที่มีกิเลสทั่วไป รู้ความตายว่าเป็นของธรรมดา
จริง แต่ทว่า เห็นว่าเป็นธรรมดาสำหรับผู้อื่นตายเท่านั้น ถ้าความตายจะเข้ามาถึงตนเองหรือญาติ
คนที่รักของตนเข้า ก็ดิ้นรนเอะอะโวยวายไม่ต้องการให้ความตายมาถึงตนหรือคนที่ตนรัก พยายาม
ทุกทางที่จะไม่ยอมตายปกติของคนเป็นอย่างนี้ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่แล้วว่า เกิดมาแล้วต้องตาย ไม่ว่าใคร
จะหนีความตายไม่ได้ การดิ้นรน เอะอะโวยวายต้องการให้ความตายไปให้พ้นนี้เป็นการดิ้นรนเหนือ
ธรรมดาไม่มีทางทำได้สำเร็จ จะทำอย่างไร ความตายก็ต้องจัดการกับชีวิตแน่นอน เมื่อกฎธรรมดา
เป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าจึงทรงสอน คือย้ำตามความเป็นจริงว่า ภิกขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
ความตายนั้นเป็นสิ่งปกติธรรมดาไม่มีใครจะหลีกหนีพ้น ความตายนี้แบ่งออกเป็นสาม
อย่างด้วยกัน คือ
๑. สมุจเฉทมรณะ ความตายขาดตอน หมายถึงความตายของพระอรหันต์ท่านเสร็จ
กิจแห่งพรหมจรรย์ คือสิ้นกิเลสแล้ว เหตุที่จะต้องทำให้เกิด คือกิเลสและตัณหาที่จะควบคุมบังคับ
ท่านให้เกิดอีกไม่มี ท่านมรณะแล้วท่านไม่ต้องกลับมาเกิดอีก เรียกว่า สมุจเฉทมรณะ แปลว่า
ตายขาดตอนไม่กลับมาเกิดอีก
๒. ขณิกมรณะ แปลว่า ตายเล็กๆ น้อย ๆ ท่านหมายเอาความตาย คือ ความดับ หรือการ
เคลื่อนไปของชีวิต ที่มีการเคลื่อนไปวันหนึ่ง ๆ วันเวลาล่วงไป ชีวิตก็เคลื่อนไปใกล้จุดจบสุดยอดคือ
ตายดับทุกขณะ การผ่านไปของชีวิตท่านถือเป็นความตาย คือ ตายทุกลมหายใจออกและเกิด
ต่อทุกๆ ลมหายใจเข้า อาหารเก่าที่บริโภคเข้าไปเป็นการหล่อเลี้ยงชีวิตชั่วคราวเมื่อสิ้นอำนาจ
ของอาหารเก่า ร่างกายต้องการอาหารใหม่เข้าไปหล่อเลี้ยงแทนแต่ถ้าไม่ได้อาหารใหม่เข้าไปทด
แทนชีวิตก็จะต้องดับ ชีวิตที่ทรงอยู่ได้ก็เพราะอาหารใหม่เข้าไปหล่อเลี้ยงไว้ เมื่อสิ้นสภาพของอาหาร
เก่า ท่านถือว่าร่างกายต้องตายแล้วไปยุคหนึ่ง พอได้อาหารใหม่มาทดแทน ชีวิตก็เกิดใหม่อีกวาระ
หนึ่ง การเกิดการตายต่อเนื่องกันทุกวันเวลาอย่างนี้ ถ้าอาหารเก่าหมดสภาพไม่บริโภคใหม่ หรือลม
หายใจออกแล้ว ไม่หายใจเข้า สภาพของร่างกายก็จะสิ้นลมปราณ คือตายทันที ที่ทรงอยู่ได้อย่างนี้ก็
เพราะได้ปัจจัยบางอย่างค้ำจุนทดแทนกันเข้าไป ท่านสอนให้มองเห็นสภาพของสังขารร่างกายว่ามี
ความตายเป็นปกติทุกวันเวลาอย่างนี้ท่านเรียกว่า ขณิกมรณะ แปลว่า ตายทีละเล็กละน้อย หรือ
ตายเล็ก ๆ น้อย ๆ
๓. กาลมรณะ และ อกาลมรณะ กาลมรณะ แปลว่า ตายตามกาลตามสมัยที่ชาวโลก
นิยม เรียกว่า ถึงที่ตาย คือสิ้นอายุ อย่างชนิดที่ไม่มีการแก้ไขได้ อกาลมรณะ แปลว่า ตายใน
โอกาสที่ยังไม่ถึงกาลควรตาย แต่ต้องตายเพราะกรรมบางอย่างที่เป็นอกุศลเข้ามาบีบคั้น
ให้ตาย การตายประเภทหลังนี้พอมีทางต่อให้อายุยืนยาวต่อไปได้ตามสมควรแก่กรรมใน
อดีต จะต่อให้เลยพอดีนั้นไม่ได้ พวกตายตามแบบกาลมรณะตายไปแล้วเสวยผลกรรมทันที แต่
พวกที่ตายตามแบบอกาลมรณะนี้ ตายแล้วยังไม่ไปเสวยผลกรรมทันที ต้องไปเป็นสัมภเวสี แสวงหา
ที่เกิดก่อน คือรอกาลที่จะถึงกาลมรณะก่อน เมื่อถึงเวลาแล้วจึงจะได้รับผลกรรมดีและกรรมชั่วที่ทำ
ไว้ขณะที่ยังไม่ได้รับผลกรรมที่ทำไว้นั้นต้องลำบากในเรื่องอาหารและที่อยู่ ท่องเที่ยวไปตามความ
ต้องการ พวกตายแบบอกาลมรณะนี้ ที่ชาวโลกนิยมเรียกว่า ตายโหงนั่นเอง เช่น ถูกฆ่าตายคลอด
ลูกตาย รถทับตาย ฟ้าผ่าตาย ฆ่าตัวตาย งูกัดตาย รวมความว่าตายแบบผิดปกติ ไม่ใช่ป่วยตายตาม
ธรรมดาเรียกว่า อกาลมรณะ คือตายก่อนกำหนด ตายทั้งนั้น การตายแบบนี้ ถ้ามีท่านผู้รู้ช่วย
เหลือสามารถช่วยให้พ้นตายได้ เช่น ที่นิยมเรียกกันว่า สะเดาะเคราะห์หรือต่ออายุ การสะเดาะ-
เคราะห์หรือต่ออายุนั้น ต้องทำโดยธรรมจริง ๆ และรู้จริงจึงใช้ได้แต่ถ้าต่อแบบหมอต่อยัง
มืดมนท์ด้วยกิเลสแล้วไม่มีทางสำเร็จผล ไม่ต่อดีกว่า ขืนต่อก็เท่ากับไปต่อชีวิตหมอให้มีความสุข
ส่วนผู้ต่อกลายเป็น ผู้ต่อทุกข์ไป เรื่องต่ออายุนี้มีเรื่องมาในพระสูตรคือเรื่องของท่าน อายุ-
วัฒนสามเณร
เรื่องย่อดังนี้
วันหนึ่ง บิดามารดาพาท่านเมื่อยังเกิดไม่กี่เดือนไปหาพระพุทธเจ้า (ขอเล่าลัด ๆ) เมื่อบิดา
ลาพระพุทธเจ้าท่านกล่าวว่า "ทีฆายุโก โหตุ" แปลว่า ขอเธอจงมีอายุยืนนาน พอแม่เข้าลา
ท่านก็ว่าอย่างนั้น ตอนท้าย สองผัวเมียให้ลูกชายกราบลาท่าน ท่านไม่พูด คือท่านเฉยเสีย สองผัว
เมียแปลกใจ ถามว่า เมื่อเกล้ากระหม่อมฉันสองผัวเมียกราบลา พระองค์ให้พรว่าขอเธอจงมีอายุ
ยืนนาน แต่พอเกล้ากระหม่อมฉันให้ลูกชายลา พระองค์ทรงนิ่ง เหตุอะไรจะมีแก่บุตรชายเกล้า
กระหม่อมฉันทั้งสองหรือพระพุทธเจ้าข้า
พระองค์ตรัสตอบว่า เพราะบุตรชายของเธอจะตายภายใน ๗ วันนี้ ตถาคตจึงไม่กล่าวอย่างนั้น
สองผัวเมียฟังแล้วตกใจ ขอให้พระองค์ช่วยเหลือ พระองค์สั่งให้ไปปลูกโรงพิธีกลางลานบ้าน แล้ว
ให้เอาพระไปนั่งล้อมเด็กสวดพระปริตครบ ๗ คืน ๗ วัน พอวันที่ ๗ เป็นวันตายของเด็ก เพราะยักษ์
จะมาเอาชีวิตวันนั้น พระพุทธเจ้าเสด็จเอง เมื่อพระองค์เสด็จ พรหมและเทวดาผู้ใหญ่มามาก ยักษ์
เข้าไม่ถึง พอครบเวลาที่ยักษ์จะเอาชีวิต หมายความว่า ถ้าเลยเวลาเขาทำไม่ได้ เขาทำตามกฎของ
กรรมว่าจะให้ตายเวลาเท่าใด เวลาเท่านั้นเขาจะต้องทำให้ได้ ถ้าเลยเวลาแล้วเขาก็ไม่ทำ พอเลย
เวลาที่เด็กจะต้องตาย พระพุทธเจ้าท่านก็พาพระกลับ เลิกพิธี ก่อนกลับพระองค์ให้พรแก่เด็กว่า
ทีฆายุโกโหตุต่อมาเด็กคนนั้นมาบวชเณรเมื่ออายุ ๗ ปี ได้สำเร็จพระอรหันต์ ท่านมีอายุครบ ๑๒๐
ปี จึงนิพพาน
พวกอกาลมรณะนี้ต่อได้อย่างนี้ แต่การต่อต้องเป็นผู้รู้จริง ทำถูกต้องจริง และการทำให้ต้อง
ไม่ปรารภสินจ้างรางวัล ทำเพื่อการสงเคราะห์จริงๆ จึงเกิดผลว่า จะพูดเรื่องตายเป็นกรรมฐาน
แอบมาเป็นหมอต่ออายุเสียแล้วขอวกกลับไปเรื่องมรณานุสสติใหม่
นึกถึงความตายมีประโยชน์
ประโยชน์ของการนึกถึงความตาย ทำให้เป็นคนไม่ประมาท เพราะรู้ตัวว่าจะตายจะได้
แสวงหาความดีใส่ตัวโดยรู้ตัวว่า ชาตินี้จนเพราะชาติก่อนให้ทานไว้น้อย ถ้าชาติหน้าไม่ยากจนอีก ก็
พยายามให้ทานเสมอ ๆ ตามกำลังทรัพย์ที่พอจะให้ได้ และอย่าให้จนหมดตัว จะเกินพอดี ต้องให้พอ
เหมาะพอดี ไม่เดือดร้อนภายหลังนั่นแหละจึงจะควร
รู้ตัวว่ามีโรคมาก ป่วยไข้ไม่สบายเสมอๆ ของหายบ่อย ๆ รูปร่างสวยน้อยไปคนในบังคับ
บัญชาดื้อด้าน วาจาไม่ศักดิ์สิทธิ์ อารมณ์ความจำเสื่อม ถ้าต้องการให้สิ่งบกพร่องเหล่านี้สมบูรณ์ใน
ชาติหน้าจะได้พยายามรักษาศีล ๕ให้บริสุทธิ์ครบถ้วนแล้ว ก็จะได้รับอานิสงส์ มีอายุยืน รูปสวย ไม่มี
โรคภัยรบกวน ไม่มีภัยจากโจรรบกวนทรัพย์สมบัติ คนในบังคับบัญชาอยู่ในโอวาทเป็นอันดี ไม่มีใคร
ดื้อด้าน มีวาจาศักดิ์สิทธิ์ พูดอะไรเป็นนั่น มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ก็ตั้งใจรักษาศีลให้บริสุทธิ์
ถ้าเห็นว่า มีปัญญาน้อย ไม่ใคร่ทันเพื่อน ก็พยายามเจริญสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน
พอมีฌานมีญาณเล็กน้อย ในชาติต่อไปก็จะเป็นคนมีปัญญาเลิศ
ถ้าเห็นว่า ความเกิดเป็นโทษเป็นทุกข์ เพราะการเกิด ไม่ว่าจะเกิดเป็นอะไร มีตระกูล
สูงส่งประการใดก็ตาม ต้องประสบกับความทุกข์อย่างมหันต์ และหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ต้องการความ
เกิดอีก ก็เร่งรัดเจริญสมถะให้ได้ฌานต้น แล้วเจริญวิปัสสนาญาณให้จบกิจพระศาสนา ซึ่งเป็นของ
ไม่หนักเลยสำหรับท่านที่นึกถึงความตายเป็นปกติ หรือที่เรียกว่า เจริญมรณานุสสติกรรมฐาน
เพราะกรรมฐานกองนี้ เป็นกรรมฐานหลักสำหรับเจริญวิปัสสนาญาณ ท่านจะได้ดี เป็นเทวดา เป็น
พรหม เป็นพระอรหันต์ ก็ต้องอาศัยการปรารภความตายเป็นปกติ แม้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เอง พระองค์แม้แต่จะเป็นพระพุทธเจ้า พระองค์ก็ไม่ทิ้งมรณานุสสติกรรมฐาน คือนึกถึงความตาย
เป็นอารมณ์ วันหนึ่งพระองค์ตรัสถามพระอานนท์ว่า อานันทะ ดูก่อนอานนท์ เธอนึกถึงความตายวัน
ละกี่ครั้ง พระอานนท์กราบทูลตอบว่า นึกถึงความตายวันละเจ็ดครั้งพระเจ้าข้า พระองค์ตรัสว่า ยัง
ห่างมากอานนท์ ตถาคตนึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออก การนึกถึงความตายเป็นปกติเป็น
ของดี แม้แต่พระพุทธเจ้ายังเฝ้าคิดถึงความตาย เพราะผู้ที่คิดถึงความตายรู้ตัวว่าจะตายแล้ว
ย่อมไม่สั่งสมความชั่ว คอยปลีกตัวออกจากความชั่วและมีอารมณ์ไม่หวั่นไหวในเมื่อความตาย
มาถึงแล้ว เพราะคิดอยู่รู้อยู่เสมอแล้วว่าเราต้องตายแน่ ความตายนี้หานิมิตเครื่องหมายไม่ได้
กำหนดการเกิดหมอบอกได้แต่กำหนด เวลาตายไม่มีใครกำหนดได้แน่นอนสำหรับปุถุชน
คนธรรมดา สำหรับพระอริยเจ้าหรือท่านที่ชำนาญในอานาปานุสสติกรรมฐานท่านสามารถบอก
เวลาตายที่แน่นอนของท่านได้ พระอริยาเจ้าที่จะบอกเวลาตายได้ ก็ต้องเป็นท่านที่ได้ วิชชาสาม
เป็นอย่างน้อย ถ้ามีความรู้พิเศษต่ำกว่านั้น ท่านก็กำหนดเวลาตายไม่ได้เหมือนกัน ท่านเปรียบชีวิต
ไว้คล้ายกับขีดเส้นบนผิวน้ำ ขีดพอปรากฏว่ามีเส้นแล้วในทันทีเส้นที่ขีดนั้นก็พลันสูญไปชีวิตของ
สัตว์ที่เกิดมาก็เช่นเดียวกันความตายรออยู่แค่ปลายจมูกถ้าสิ้นลมปราณเมื่อไร ก็สิ้นภาวะเมื่อนั้น
เอาความยั่งยืนไม่ได้เลย
ท่านเจริญมรณานุสสติกรรมฐาน เมื่อท่านคิดถึงความตายเป็นปกติ จนเห็นความตายเป็น
ปกติธรรมดา เตรียมพร้อมเพื่อรับสถานการณ์คือ ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนาพอสมควรแก่ความ
ต้องการแล้ว ถ้าคิดให้ไกลไปอีกสักนิดว่า ความตายเป็นของมีแน่ เราไม่หนักใจแล้ว ความเกิดต่อไป
ก็มีแน่ จะเกิดเป็นอะไรก็ตามเต็มไปด้วยความทุกข์ หนีทุกข์ไม่พ้น เราไม่ต้องการความเกิดอันเป็น
เหยื่อของวัฏฏะอีก แม้แต่ร่างกายอันเป็นที่หวงแหนยิ่ง จะต้องพังทลายเรายังไม่มีเยื่อใย ก็สมบัติอะไร
ในโลกีย์ที่เราต้องการ เราไม่ต้องการอะไรอีก เทวโลก พรหมโลก เราไม่ต้องการ สิ่งที่พอใจที่สุดก็
คือพระนิพพาน ทำใจให้ว่างจากความเกิด ความเกาะในชาติภพ ปรารภพระนิพพานเป็นปกติ อย่างนี้
ท่านมีหวังสิ้นชาติสิ้นภพ ประสบผลอย่างยอด คือถึงพระนิพพานในชาติปัจจุบันแน่นอน
(ขอยุติมรณานุสสติไว้แต่โดยย่อเพียงเท่านี้)
.
กายคตานุสสติกรรมฐานและอานาปานานุสสติกรรม (1/0)
คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน ----> หน้า 53
๘. กายคตานุสสติกรรมฐาน
กายคตานุสสติ แปลว่า พิจารณากายให้เห็นว่า ไม่สวยไม่งาม มีความโสโครก
ตามกฎแห่งความเป็นจริงเป็นอารมณ์ กายคตานุสสตินี้เป็นกรรมฐานสำคัญที่พระอริยเจ้า
ทุกองค์ไม่เคยเว้น เพราะพระอริยเจ้าก่อนแต่จะได้สำเร็จมรรคผล ทุกท่านนิยมพิจารณา
ให้เห็นว่าไม่สวย ไม่น่ารัก น่ารังเกียจ เพราะมีสภาพน่าสะอิดสะเอียนตามปกติเป็นอารมณ์
และกายคตานุสสตินี้ เป็นกรรมฐานพิเศษกว่ากรรมฐานกองอื่น ๆ เพราะถ้าพระโยคาวจร
พิจารณาตามกฎของกายคตานุสสติผลที่ได้รับจะเข้าถึงปฐมฌานแต่ถ้ายึดสีต่าง ๆ ร่างกาย
ที่ปรากฏมีสีแดงของเลือดเป็นต้น ยึดเป็นอารมณ์ในการเพ่งเป็นกสิณ กรรมฐานกองนี้ก็มี
ผลได้ฌาน ๔ ตามแบบของกสิณ
การพิจารณาท่านเขียนไว้ใน วิสุทธิมรรค วิจิตรพิศดารมาก จะไม่ขอกล่าวตามจน
ละเอียด ขอกล่าวแต่เพียงย่อ ๆ พอได้ความ หากท่านนักปฏิบัติมีความข้องใจ หรือสนใจ
ในความละเอียดครบถ้วน ก็ขอให้หา หนังสือวิสุทธิมรรคมาอ่าน จะเข้าใจละเอียดมาก
ขึ้นตามแนวสอนในวิสุทธิมรรค ท่านให้พิจารณาอาการ ๓๒ คราวละ ๕ อย่าง เช่น
พิจารณา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ รวม ๕ อย่างเป็นหมวดหนึ่ง ท่านให้พิจารณา
ตามลำดับและ ย้อนกลับ เช่น พิจารณาว่า เนื้อ หนัง ฟัน เล็บ ขน ผม ย้อน จากปลาย
มาต้น เรียกว่า ปฏิโลม คือถอยกลับ ให้พิจารณาทั้งสีและสัณฐาน สภาพตามความเป็น
จริงว่าไม่มีอะไรสวยงาม เพราะมีความสกปรกโสโครกอยู่เป็นปกติ ต้องคอยขัดสีฉวีวรรณ
อยู่เสมอ ๆ ทั้ง ๆ ที่คอยประคับประคองอยู่เพียงใด สิ่งเหล่านี้ก็ยังจะมีการแปดเปื้อนสกปรก
อยู่เสมอ เช่น ผมต้องคอยหวี คอยสระชำระอยู่ทุกวัน ถ้าปล่อยทิ้งไว้ไม่สนใจเพียง ๓ วัน
เหงื่อไคลก็จะจับทำให้เหม็นสาบ เหม็นสาง รวมกายทั้งกายนี้ ท่านแสวงหาความจริงจาก
กายทั้งมวลว่า มันสวยจริงสะอาดจริงหรือไม่ ค้นคว้าหาความจริงให้พบ กายทั้งกายที่ว่า
สวยน่ารักนั้นมีอะไรเป็นความจริง ความสวยของร่างกายมีความจริง เป็นอย่างนี้ ร่างกาย
ทั้งกายที่ว่าสวยนั้น ไม่มีอะไรสวยจริงตามที่คิด เพราะกายนี้เต็มไปด้วยสิ่งโสโครก คือ
อวัยวะภายใน มีตับ ไต ไส้น้อย ไส้ใหญ่ กระเพาะ น้ำเลือด น้ำเหลืองน้ำหนอง
น้ำดี อุจจาระ ปัสสาวะ เหงื่อไคล ที่หลั่งไหลออกมาภายนอกนั้น ความจริงขังอยู่ภายใน
ของร่างกายที่มีหนังกำพร้าหุ้มห่ออยู่ ถ้าลอกหนังออกจะเห็นร่างนี้มีเลือดไหลโทรมทั่วกาย
เนื้อที่ปราศจากผิวคือหนังหุ้มห่อ จะมองไม่เห็นความสวยสดงดงามเลย ยิ่งมีเลือดหลั่งไหล
ทั่วร่างแล้ว ยิ่งไม่น่าปรารถนาเลย แทนที่จะน่ารักน่าประคับประคอง กลับกลายเป็นของ
น่าเกลียด ไม่มีใครปรารถนาจะอยู่ใกล้ ถ้าลอกเนื้อออกจะแลเห็น ไส้ใหญ่ ไส้น้อย ปอด
กระเพาะอุจจาระ กระเพาะปัสสาวะ และม้าม ไต น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง
เสลด หลั่งไหลอยู่ทั่วร่างกาย มองแล้วอยากจะอาเจียนมากกว่าน่ารัก ถ้าจะฉีกกระเพาะ
ออกภายในกระเพาะจะพบอุจจาระ ปัสสาวะอยู่ภายใน เป็นภาพที่อยากหนีมากกว่าเป็นภาพ
ที่น่ารัก ถ้าเอาอวัยวะต่าง ๆ ออกหมด จะเห็นแต่ร่างโครงกระดูกที่มีสภาพเหมือนโครงบ้าน
เรือนตั้งตระหง่านอยู่ โครงกระดูกทั้งสองร้อยท่อนนี้ ปะติดปะต่อกันอยู่เป็นท่อนน้อยและ
ท่อนใหญ่ มีเนื้อและเลือดติดเกรอะกรัง ท่านคิดตามไป ท่านเห็นหรือยังว่า ส่วนที่มีเปอร์-
เซ็นต์ที่เห็นว่า พอจะเป็นของสวยของงามมีนิดเดียวคือ ตอนหนังกำพร้าเท่านั้น หนังนี้ใช่
ว่าจะเกลี้ยงเกลาเสมอไปก็หาไม่ ต้องคอยชำระล้างตลอดวันและเวลาเพราะสิ่งโสโครกภาย
ในพากันหลั่งไหลมาลบเลือนความผุดผ่องของผิวตลอดวัน ถ้าไม่คอยชำระล้างเจ้าตัวปฏิกูล
นั้นก็จะพอกพูนเสียจนเลอะเทอะแถมจะส่งกลิ่นเหม็นสาบเหม็นสางตลบไปทั่วบริเวณช่อง
ทวาร อุจจาระ ปัสสาวะ ก็จะพากันหลั่งไหลออกมาตามกำหนดเวลาที่มันต้องออกสิ่งที่
น่าคิดก็คือ ผู้นิยมตนเองว่าสวย หรือเทิดทูนใครก็ตามว่าสวย ต่อเมื่อสิ่งโสโครกหลั่งไหล
ออกมาเขากลับไม่สนใจ ไม่พยายามมองหาความจริงจากของจริง กลับรอให้ชำระล้างสิ่ง
โสโครกเสียก่อนจึงใคร่ครวญและสนใจ ต่างคนต่างพยายามหลบหลีก ไม่รับรู้ความเป็นจริง
ของสังขารร่างกายในส่วนที่สกปรกโสโครก ทั้งนี้ เพราะกิเลสและตัณหาปกปิดความจริงไว้
ทั้งๆ ที่อุจจาระหลั่งไหลออกมาทุกวัน เหงื่อไคลมีเสมอ เสมหะน้ำลายออกไม่เว้นแต่ละนาที
แต่เจ้ากิเลสและตัณหามันก็พยายามโกหกมดเท็จ ปัดเอาความจริงออกมาจากความรู้สึก
หากทุกคนพยายามสอบสวน ทบทวนความรู้สึกค้นคว้าหาความจริง ยอมรับรู้ตามกฎของ
ความจริงว่า สังขารร่างกายนี้ไม่มีอะไรน่ารัก มีสภาพเป็นส้วมเคลื่อนที่ เพราะภายในมีสิ่ง
โสโครกต่างๆ ตามที่กล่าวมาแล้ว ถ้าเรารัก เราก็รักส้วม ถ้าเราประคับประคอง เราก็ประคับ
ประคองส้วม ถ้าเราเทิดทูนเราก็เทิดทูนส้วม จะว่าส้วมปกติเลวแล้วความจริงส้วมปกติดีกว่า
ส้วมเคลื่อนที่มาก เพราะส้วมปกติมันตั้งอยู่ตามที่ของมัน มันไม่ไปรบกวนใคร เราไม่เดิน
เข้าใกล้ มันก็ไม่มาหาเรา ไม่รบกวน ไม่สร้างทุกข์ ไม่หลอกหลอน ไม่ยั่วเย้ายียวนชวนให้
เกิดราคะ แต่เจ้าส้วมเคลื่อนที่นี่มันร้ายกาจ เราไม่ไปมันก็มา เราไม่มองดูมันก็พูดให้ได้ยิน
เสแสร้งแกล้งตกแต่ง ปกปิดสิ่งที่น่าเกลียดด้วยสีผ้าที่หลาก กลบกลิ่นเหม็นด้วยกลิ่นหอม
หาอาภรณ์มาประดับ เพื่อปกปิดพรางตากันเห็นสิ่งที่ไม่น่าชม เพื่อตาจะได้หลงเหยื่อ ติดใน
อาภรณ์เครื่องประดับ ผู้เห็นที่ไร้การพิจารณา และมีสภาพเป็นส้วมเคลื่อนที่เช่นเดียวกัน
เป็นส้วมที่ไร้ปัญญาเหมือนกัน ต่างส้วม ต่างก็หลอกหลอนกัน ปกปิดสิ่งโสโครกมิให้กันและ
กันเห็นความจริงทั้ง ๆ ที่ตัวเองก็มีครบถ้วนแทนที่จะเห็นตัว รู้ตัวว่า ข้านี้ก็เป็นผู้เลิศในความ
เหม็น เลิศในส่วนของความสกปรกเหมือนเธอแทนที่จะเป็นอย่างนั้นกลับปกปิดพยายามชม
ตนเองว่า ฉันนี่แหละยอดผู้ศิวิไลซ์ละ อนิจจา น่าสงสารสัตว์ผู้เมาไปด้วยกามราคะ มีอารมณ์
หน้ามืดตามัวเพราะอำนาจกิเลสแท้ ๆ ถ้าเขาจะมองตัวเองสักนิดก็จะเห็นตัวเอง และจะมอง
เห็นผู้อื่นตามความเป็นจริงพระอริยเจ้าท่านนิยมความจริง รู้จริง เห็นจริง ค้นคว้าจริงไม่
หลอกหลอนตนเอง ท่านจึงได้บรรลุมรรคผลเพราะพิจารณาตนเองเป็นส่วนใหญ่ ขอท่าน
นักปฏิบัติเพื่อความสุขของตัวทั้งหลาย จงพิจารณาตนเองให้เห็นชัด จนได้ นิมิตเป็น
ปฏิภาคนิมิต สร้างสมาธิให้เป็น อัปปนาสมาธิ โดยพิจารณาสังขารให้เห็นว่า
ไม่สวยงามนี้ เมื่อถึง อัปปนาสมาธิแล้ว จงยึดสีที่ปรากฏในร่างกายมีสีแดงเป็นต้น
หรือจะเป็นสีอะไรก็ได้ ยึดเอาเป็นอารมณ์กสิณ ท่านจะได้ฌานที่ ๔ ภายในเวลา
เล็กน้อย ต่อไปก็ยึดสังขารที่ท่านเห็นว่าเป็นของน่าเกลียดนี้ ให้เห็นอนิจจังคือความไม่เที่ยง
เพราะมีความเปลี่ยนแปลงทรุดโทรมไปทุกวันเวลาเป็นปกติ ทุกขังเพราะอาศัยที่มันเคลื่อน
ไปสู่ความทำลายทุกวันเวลา มันนำความไม่สบายกาย ไม่สบายใจจากโรคภัยไข้เจ็บ และใน
การกระทบกระทั่งทางอารมณ์ให้เกิดความเดือดร้อนทุกวันเวลา จึงจัดว่าสังขารร่างกายนี้เป็น
รังของความทุกข์ ให้เห็นเป็นอนัตตา เพราะความเสื่อม ความเคลื่อน และในที่สุดคือความ
ทำลายขันธ์ เราไม่ต้องการอย่างนั้น แต่มันจะต้องเป็นไปตามนั้นเพราะเป็นกฎธรรมดาของ
ขันธ์ จะต้องเป็นอย่างห้ามไม่ได้ บังคับไม่อยู่ ยอมรับนับถือว่ามันเป็นอนัตตาจริง เพราะความ
เป็นอนัตตาคือ บังคับไม่ได้ของสังขารร่างกายนี้แหละ พระพุทธเจ้าจึงสอนให้ปล่อยอารมณ์
ในการยึดถือเสีย เพราะจะยึดจะถือเพียงใดก็ไม่เป็นไปตามความต้องการ สังขารร่างกาย
เป็นอย่างนี้เหมือนกันหมด ไม่ว่าที่มีใจครอง หรือไม่มีใจครอง ตราบใดที่เรายังต้องการ
สังขาร เราต้องประสบความทุกข์ ความทรมานเพราะสิ่งโสโครกที่เข้าประกอบเป็นขันธ์
เราเห็นสภาพความจริงของสังขารร่างกายนี้ว่าเป็นของโสโครก ไม่น่ารัก ไม่น่าปรารถนา
ควรปลีกตัวออกให้พ้นจริง เราเห็นสังขารร่างกายว่าเป็นอนิจจังไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืนจริง เรา
เห็นสังขารร่างกายว่า เป็นทุกข์จริง เราเห็นสังขารร่างกายว่า เป็นอนัตตาจริง ขึ้นชื่อว่า
ความเกิดเป็นทุกข์อย่างนี้ การยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ เป็นทุกข์อย่างนี้ เราไม่ต้องการ
ความเกิดอีก เราไม่ปรารถนาชาติภพอีก เพราะชาติ ความเกิดเป็นแดนอาศัยของความ
ทุกข์ โรคนิทธัง เรือนร่างของขันธ์ ๕ เป็นรังของโรค ถ้าร่างกายไม่มี โรคที่จะ
เบียดเบียนก็ไม่มี เพราะไม่มีร่างกายให้โรคอาศัย ปภังคุนัง เรือนร่างมีสภาพต้อง
ผุพัง ถ้าไม่มีเรือนร่าง เรื่องการผุพังอันเป็นเครื่องเสียดแทงใจให้เกิดทุกข์ก็ไม่มี เมื่อ
ร่างไม่มีจะเอาอะไรมาเป็นอนัตตา เราไม่ต้องการทุกข์ที่มีความเกิดเป็นสมุฏฐาน เรา
ไม่ต้องการความเกิดในวัฏฏะอีก เราต้องการพระนิพพานที่ไม่มีความเกิดและ
ความตาย เป็นแดนเกษมที่หาความทุกข์มิได้ พระนิพพานนั้นพระพุทธเจ้าสอน
ไว้ว่า ท่านที่จะไปสู่พระนิพพานได้ไม่มีอะไรยาก ท่านสอนให้พิจารณาให้เห็นความจริง
ของร่างกายว่าโสโครก ถอนความรักความอาลัยในสังขารเสีย บัดนี้เราปฏิบัติครบแล้ว
เราเห็นแล้ว เราตัดความเห็นว่าสวยงามในสังขารได้แล้ว เราเชื่อแล้วว่า สังขารร่างกาย
เป็นทุกข์ เพราะอารมณ์ยึดมั่นว่า ร่างกายเป็นเรา เป็นของเรา เราคือร่างกาย ร่างกาย
คือเรา ความคิดเห็นอย่างนี้เป็นความเห็นของผู้มีอุปาทาน เรารู้แล้วเราเห็นถูกแล้ว คือ
เราเห็นว่า สังขารร่างกายไม่น่ารัก มีความสกปรกน่าสะอิดสะเอียน ร่างกายไม่ใช่เรา
ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา เราคือจิตที่มีสภาพไม่แก่ไม่ตาย
ไม่สลายตัวที่เข้ามาอาศัยร่างกายที่ประกอบไปด้วย ธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ มี
เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็น นามธรรม ๔ อย่าง เป็นเครื่องประกอบ
เป็นเครื่องจักรกลที่บริหารตนเองโดยอัตโนมัติ ร่างกายนี้ค่อยเจริญขึ้นและเสื่อมลงมี
การสลายตัวไปในที่สุด พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนให้ตัด ฉันทะ ความพอใจในสรรพ-
สังขารทั้งหมดเสียให้ได้ และให้ตัด ราคะ คือความกำหนัดยินดีในสรรพสังขารทั้งหมด
คือ ไม่ยึดอะไรเลยในโลกนี้ว่าเป็นเรา เป็นของเรา ไม่มีอะไรในเรา เราไม่มีในอะไร
ทั้งสิ้น เราคือจิตที่มีคุณวิเศษดีกว่าอัตภาพทั้งปวง เราเกลียดสรรพวัตถุทั้งหมด เราไม่
ยอมรับสรรพวัตถุ แม้แต่เรือนร่างที่เราอาศัยนี้ว่าเป็นของเราและเป็นเรา เราปล่อยแล้ว
ในความยึดถือ แต่จะอาศัยอยู่ชั่วคราวเพื่อสร้างสรรค์ความดี สังขารจะเปลี่ยนแปลงก็
เป็นเรื่องของสังขาร สังขารร่างกายจะผุพังก็เป็นเรื่องของสังขารร่างกาย เราไม่รับรู้
รับทราบ เราว่างแล้วจากภาระในการยึดถือ เรามีความสุขแล้ว เรามีพระนิพพานเป็นที่
ไปในกาลข้างหน้า สร้างอารมณ์ ความโปร่งใจให้มีเป็นปกติ ยึดพระนิพพานเป็นอารมณ์
ทำจนเป็นปกติ จิตยึดความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาจนเป็นปกติ เห็นอะไร ได้อะไร
มา คิดเห็นว่า นี่มันไม่ใช่ของเราจริง เขาให้ก็รับ เพื่อเกื้อกูลแก่อัตภาพชั่วคราว ไม่ช้า
ก็ต่างคนต่างสลายทั้งของที่ได้มาและอัตภาพ ใครไปก่อนไปหลังกันเท่านั้น จนอารมณ์มี
ความรู้สึกอย่างนี้เป็นปกติ จิตก็จะว่างจากอุปาทาน ในที่สุดก็จะถึงพระนิพพานสมความ
มุ่งหมาย
(อธิบายในกายคตานุสสติโดยย่อพอได้ความ ก็ขอยุติไว้เพียงเท่านี้)
๙. อานาปานานุสสติกรรมฐาน
อานาปานานุสสติ แปลว่า ระลึกถึงลมหายใจเป็นอารมณ์ กรรมฐานกองนี้เป็น
กรรมฐานใหญ่คลุมกรรมฐานกองอื่น ๆ เสียสิ้น เพราะจะปฏิบัติกรรมฐาน ๔๐ กองนี้ กอง
ใดกองหนึ่งก็ตาม จะต้องกำหนดลมหายใจเสียก่อน หรือมิฉะนั้นก็ต้องกำหนดลมหายใจร่วม
ไปพร้อมๆ กับกำหนดพิจารณากรรมฐานกองนั้นๆ จึงจะได้ผล หากท่านผู้ใดเจริญกรรมฐาน
กองใดก็ตาม ถ้าละเว้นการกำหนดเสียแล้ว กรรมฐานที่ท่านเจริญ จะไม่ได้ผลรวดเร็วสม
ความมุ่งหมาย อานาปานุสสตินี้ มีผลถึงฌาน ๔ สำหรับท่านที่มีบารมีเป็นพุทธสาวก ถ้าท่าน
ที่มีบารมีใน วิสัยพุทธภูมิ คือท่านที่เป็นพระโพธิสัตว์คือ ท่านที่ปรารถนาพุทธภูมิ ท่านผู้นั้น
จะทรงฌานในอานาปาน์นี้ถึงฌานที่ ๕
.
อานาปานานุสสติกรรมฐาน(ต่อ)และอานาปานุสสต (1/0)
คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน ----> หน้า 54
อานาปานุสสติระงับกายสังขาร
เมื่อมีทุกขเวทนาเกิดขึ้นทางกาย ท่านที่ได้ฌานในอานาปานุสสติ เข้าฌานในอานาปาน์
จนถึงจตุตถฌานแล้ว ทุกขเวทนานั้นจะระงับไปทันที ทั้งนี้มิใช่หมายความว่า เวทนาหายไป แต่
เป็นเพราะเมื่อเข้าถึงฌาน ๔ ในอานาปาน์นี้แล้ว จิตจะแยกออกจากขันธ์ ๕ ไม่รับรู้ทุกขเวทนา
ของขันธ์ทันที ท่านที่ได้ฌานในอานาปานุสสตินี้ ท่านจะไม่ได้รับทุกขเวทนาอย่างสาหัส เมื่อทุกข์
ทางร่างกายเกิดขึ้น เพราะท่านหนีทุกข์ได้ด้วยการเข้าฌาน แยกจิตกับขันธ์ ๕ ออกจากกันเป็น
กรรมฐานที่ให้ผลสูงมาก
รู้เวลาตายได้แน่นอน
ท่านที่ได้ฌานอานาปานุสสตินี้ สามารถรู้กำหนดเวลาตายของท่านได้ตรงตามความจริง
เสมอ โดยกำหนดล่วงหน้าได้เป็นเวลาแรมปี เมื่อจะตาย ท่านก็สามารถบอกได้ว่า เวลาเท่านั้น
เท่านี้ท่านจะตาย และตายด้วยอาการอย่างไร เพราะโรคอะไร
ช่วยกรรมฐานกองอื่น
ท่านที่ได้ฌาน ๔ ในอานาปาน์นี้แล้ว จะปฏิบัติในกรรมฐานกองอื่น ๆ อีก ๓๙ กองนั้น
ท่านเข้าฌานในอานาปานน์ก่อน แล้วถอยหลังจิตมาดำรงอยู่แค่ อุปจารสมาธิ แล้วกำหนด
กรรมฐานกองนั้นๆ ท่านจะเข้าถึงจุดสูงสุดในกรรมฐานกองนั้น ๆ ได้ภายใน ๓ วัน เป็นอย่าง
ช้าส่วนมากได้ถึงจุดสูงสุดของกรรมฐานกองนั้น ๆ ภายในที่นั่งเดียวคือคราวเดียวเท่านั้นเอง
จุดจบของอานาปานุสสติ
จุดจบของอานาปานุสสตินี้ คือ ฌานที่ ๔ หรือที่ ๕ ก็ได้แก่การกำหนดลมหายใจจน
ไม่ปรากฏลมหายใจ ที่ท่านเรียกกันว่า ลมหายใจขาด แต่ความจริง ลมหายใจไม่ขาดหาย
ไปไหนเพียงแต่ว่ากายกับจิตแยกกันเด็ดขาด จิตไม่รับทราบอาการทางกายเท่านั้น เมื่อจิต
ไม่รับรู้เสียแล้ว การหายใจ หรือการเคลื่อนไหวใด ๆ ทางกาย จึงไม่ปรากฏแก่จิตตามความ
นิยม ท่านเรียกว่า ลมขาด
วิธีปฏิบัติในอานาปานุสสติ
การปฏิบัติในอานาปานุสสตินี้ ไม่มีอะไรยุ่งยากมากนัก เพราะเป็นกรรมฐานที่ไม่มีในองค์
ภาวนา และไม่มีพิธีรีตองอะไรมาก เพียงแต่คอยกำหนดลมหายใจเข้าออกตามฐานที่กำหนดไว้
ให้รู้อยู่หรือครบถ้วนเท่านั้น เวลาหายใจเข้าก็รู้ว่าหายใจเข้า หายใจออกก็รู้ว่าหายใจออกพร้อม
กับสังเกตลมกระทบฐาน ๓ ฐาน ดังจะกล่าวต่อไปให้ทราบ
ฐานที่กำหนดรู้ของลม
ฐานกำหนดรู้ที่ลมเดินผ่านมี ๓ ฐาน คือ
ก. ฐานที่ ๑ ท่านให้กำหนดที่ ริมฝีปาก และที่จมูก เมื่อหายใจเข้า ลมจะกระทบที่
จมูก เมื่อหายใจออกลมจะกระทบที่ริมฝีปาก
ข. ฐานที่ ๒ หน้าอก เมื่อลมผ่านเข้าหรือผ่านออกก็ตาม ลมจะต้องกระทบที่หน้าอก
หมายเอาภายใน ไม่ใช่หน้าอกภายนอก ลมกระทบทั้งลมเข้าและลมออกเสมอ
ค. ศูนย์ที่ท้องเหนือสะดือนิดหน่อย ลมหายใจเข้าหรือออกก็ตาม จะต้องกระทบที่
ท้องเสมอ ทุกครั้ง
๓ ฐานนี้มีความสำคัญมาก เป็นเครื่องวัดอารมณ์ของจิต เพราะถ้าจิตกำหนดจับ
ฐานใดฐานหนึ่งไม่ครบ ๓ ฐาน แสดงว่าอารมณ์ของจิตระงับอกุศลที่เรียกว่านิวรณ์ ๕ ได้ แต่
อารมณ์หยาบ อารมณ์อกุศลที่เป็นอารมณ์กลางและละเอียดยังระงับไม่ได้ สมาธิของท่านผู้นั้น
อย่างสูงก็ได้เพียง ขณิกสมาธิละเอียดเท่านั้น ยังไม่เข้าถึงอุปจารสมาธิ ยังไกลต่อฌานที่
๑ มาก
ถ้าท่านผู้ปฏิบัติ กำหนดรู้ลมผ่านได้ ๒ ฐาน แสดงว่าอารมณ์ของท่านผู้นั้นดับอกุศล คือ
นิวรณ์ได้ในอารมณ์ปานกลาง ส่วนอารมณ์นิวรณ์ที่ละเอียดอันเป็นอนุสัย คือกำลังต่ำยังระงับ
ไม่ได้ สมาธิของท่านผู้นั้นอย่างสูงก็แค่อุปจารสมาธิ จวนจะเข้าถึงปฐมฌานแล้ว
ถ้าผู้ใดกำหนดรู้ ลมผ่านกระทบได้ทั้ง ๓ ฐาน ท่านว่าท่านผู้นั้นระงับนิวรณ์ละเอียดได้แล้ว
สมาธิเข้าถึงปฐมฌาน
ส่วนฌานต่าง ๆ อีกสามคือ ฌานที่ ๑, ๒, ๓, ๔ อยากทราบโปรดพลิกไปดูในข้อที่ว่าด้วย
ฌาน จะเข้าใจชัด
นับลม
การฝึกในอานาปาน์ จะว่าง่ายนั้น ก็ดูจะเป็นการยกเมฆเกินไป เพราะอานาปาน์
เป็นกรรมฐานใหญ่ที่ครอบงำกรรมฐานทั้งหมด จะง่ายตามคิดนั้นคงเป็นไปไม่ได้แน่ ท่านที่
ไม่เคยผ่าน คงคิดว่าไม่น่ายากเลย เรื่องคิดแล้วไม่ทำ นำเอาไปพูดนั้น ที่ว่าไม่ยากก็ไม่เถียง
เพราะพวกนี้มีความดีอยู่แค่ริมฝีปาก ส่วนอื่นทั้งตัวไม่มีอะไรดีเลย เลวเสีย ๙๙.๙๙ มีดีนิด
เดียว ท่านจะคุยโม้อย่างไรก็ช่างท่านเถิด เรามาเอาดีทางปฏิบัติกันดีกว่า
การกำหนดลมเป็นของยาก เพราะจิตของเราเคยท่องเที่ยวมานาน ตามใจเสียจนเคย
จะมาบังคับกันปุบปับให้อยู่นั้นเมินเสียเถอะ ที่จิตจะยอมหมอบราบคาบแก้ว เมื่อระวังอยู่แก
ก็ทำท่าเหมือนจะยอมจำนน แต่พอเผลอเพียงเสี้ยววินาทีเท่านั้น แกก็ออกแน็บไปเหนือไปใต้
ตามความต้องการของแก กว่าเจ้าของจะรู้ก็ไปไกลแล้ว อารมณ์ของจิตเป็นอย่างนี้ เมื่อทำไป
ถ้าเอาไม่อยู่ท่านให้ทำดังต่อไปนี้
ฝึกทีละน้อย
ท่านสอนให้นับลมหายใจเข้า หายใจออก เข้าครั้ง ออกครั้ง นับเป็นหนึ่ง ท่านให้กำหนด
นับดังต่อไปนี้
นับ ๑, ๒, ๓, ๔, ๕ เอาแค่เข้าออก ๕ คู่ นับไปและกำหนดรู้ฐานทั้ง ๓ ไปด้วย กำหนด
ใจไว้ว่า เราจะกำหนดรู้ลมหายใจเข้าและออกเพียง ๔ คู่ พร้อมด้วยรู้ฐานลมทั้ง ๓ ฐาน แล้ว
ก็เริ่มกำหนดฐานและนับลม พอครบ ๕ คู่ ถ้าอารมณ์ยังสบาย ก็นับไป ๑ ถึง ๕ เอาแค่นั้น พอใจ
เริ่มพล่าน ถ้าเห็นท่าจะคลุมไม่ไหว ก็เลิกเสียหาความเพลิดเพลินตามความพอใจ เมื่ออารมณ์
ดีแล้วกลับมานับกันใหม่ ไม่ต้องภาวนา เอากันแค่รู้เป็นพอ เมื่อนับเพียง ๕ จนอารมณ์ชินไม่หนี
ไม่ส่ายแล้ว ก็ค่อยเลื่อนไปเป็น ๖ คู่ คือ ๑, ๒, ๓, ๔, ๕, ๖ ถ้า ๖ คู่ สบายดีไม่มีอะไรรบกวนแล้ว
ก็ค่อยเลื่อนไปเป็น ๗ คู่ ๘ คู่ ๙ คู่ ๑๐ คู่ จนกว่าอารมณ์จิตจะทรงเป็นฌานได้นานตามสมควร
ผ่อนสั้นผ่อนยาว
การเจริญอานาปานุสสตินี้ มีอาการสำคัญของนักปฏิบัติใหม่ ๆ อย่างหนึ่ง คืออารมณ์ซ่าน
เวลาที่จิตใจไม่สงบจริงมีอยู่ พอเริ่มต้น อารมณ์ฟุ้งซ่านก็เริ่มเล่นงานทันที บางรายวันนี้ทำได้
เรียบร้อย อารมณ์สงัดเป็นพิเศษ จิตสงัดผ่องใส อารมณ์ปลอดโปร่ง กายเบา อารมณ์อิ่มเอิบ
พอรุ่งขึ้นอีกวัน คิดว่าจะดีกว่าวันแรก หรือเอาเพียงสม่ำเสมอแต่กลับผิดหวัง เพราะแทนที่จะ
สงัดเงียบ กลับฟุ้งซ่านจนระงับไม่อยู่ ก็ให้พยายามระงับ และนับ ๑, ๒, ๓, ๔, ๕,๖, ๗, ๘, ๙,
๑๐ ถ้านับก็ไม่เอาเรื่องด้วย ยิ่งฟุ้งใหญ่ ท่านตรัสสอนไว้ในบทอานาปานุสสติว่า เมื่อเห็นว่าเอา
ไว้ไม่ได้จริง ๆ ท่านให้ปล่อยอารมณ์ แต่อย่าปล่อยเลย ให้คอยระวังไว้ด้วย คือปล่อยให้คิดใน
เมื่อมันอยากคิด มันจะคิดอะไรก็ปล่อยให้มันคิดไปตามสบาย ไม่นานนักอย่างมากไม่เกิน
๒๐ นาที อารมณ์ซ่านก็จะสงบระงับกลับเข้าสู่อารมณ์สมาธิ เมื่อเห็นว่าอารมณ์หายซ่านแล้ว
ให้เริ่มกำหนดลมตามแบบ ๓ ฐานทันที ตอนนี้ปรากฏว่า อารมณ์สงัดเป็นอันดี มีอารมณ์เป็น
ฌานแจ่มใส อาการอย่างนี้มีแก่นักปฏิบัติอานาปานุสสติเป็นปกติโปรดคอยระลึกไว้และปฏิบัติ
ตามนี้จะได้ผลดี
อานาปาน์พระพุทธเจ้าทรงเป็นปกติ
เพื่อความอยู่เป็นสุขในสมาบัติ ไม่มีสมาบัติใดที่จะอยู่เป็นสุขเท่า อานาปานานุสสติ
เพราะเป็นสมาบัติที่ระงับกายสังขาร คือ ดับเวทนาได้ดีกว่าสมาบัติอื่น แม้จะเป็นสมาบัติ
ต้นก็ตาม พระอรหันต์ทุกองค์ แม้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง พระองค์ก็ทรงอยู่เป็นสุข
ด้วยอานาปานานุสสติ ดังพระปรารภของพระองค์ที่ทรงปรารภแด่พระอานนท์ว่า อานันทะ
ดูก่อนอานนท์ ตถาคตก็มากไปด้วยอานาปานุสสติเป็นปกติประจำวัน เพราะ
อานาปานานุสสติระงับกายสังขารให้บรรเทาจากทุกขเวทนาได้ดีมาก ท่านที่ได้
อานาปานานุสสติแล้วจงฝึกฝนให้ชำนาญและคล่องแคล่วฉับไวในการเข้าฌานที่ ๔ เพื่อ
ผลในการระงับทุกขเวทนาอย่างยิ่งและเพื่อผลในการช่วยฝึกฌานในกองอื่นอีกอย่างหนึ่ง
อานาปานานุสสติเป็นบาทของวิปัสสนาญาณ
ผลกำไรใหญ่อีกอย่างหนึ่งของอานาปานานุสสติก็คือ เอาอานาปานานุสสติเป็นบาทของ
วิปัสสนาญาณ เพราะฌานที่ ๔ ของอานาปาน์ เป็นฌานระงับกายสังขาร ดับทุกขเวทนาได้ดี
เมื่อจะเจริญวิปัสสนาญาณต่อไป ท่านให้เข้าฌาน ๔ พอเป็นที่สบายแล้ว ถอยสมาธิมาอยู่ที่
อุปจารสมาธิ แล้วใคร่ครวญพิจารณาว่า ทุกขเวทนาที่เกิดแก่สังขาร เราจะรู้ว่าเป็นทุกข์ก็เพราะ
จิตที่ยึดถือเอาสังขารเข้าไว้ ขณะที่เราเข้าฌาน ๔ จิตแยกจากสังขาร ทุกขเวทนาไม่ปรากฏ
แก่เราเลย ฉะนั้น ทุกข์ทั้งปวงที่เรารับอยู่ก็เพราะอาศัยสังขารเป็นเหตุ การยึดถือ
สังขารเป็นทุกข์อย่างนี้ เราจะปล่อย ไม่รับรู้เรื่องสังขารต่อไป คือไม่ต้องการสังขารอีก การเกิด
เป็นเทวดาหรือพรหม ก็กลับมามีสังขารอีกเมื่อหมดบุญ เราไม่ประสงค์การกลับมาเกิดอีก
เทวดาหรือพรหม ยังมีปัจจัยให้มาเกิด เราไม่ต้องการ เราต้องการนิพพานเท่านั้นที่หมดปัจจัย
ในการเกิดเราทราบแล้ว เพราะการเข้าฌาน ๔ ที่ขาดจากปัจจัยในสังขาร เป็นสุขอย่างยิ่ง แต่
ฌานที่เข้าไปสามารถจะทรงได้ตลอดกาล สิ่งที่ทรงการละทุกขเวทนาได้ตลอดกาลก็คือ การ
ปล่อยอุปาทาน ได้แก่ไม่รับรู้รับทราบสมบัติของโลกีย์ คือตัดความใคร่ความยินดีในลาภ ยศ
สรรเสริญ สุข และไม่เดือดร้อนเมื่อสิ้นลาภ สิ้นยศ มีคนนินทา และประสบกับความทุกข์ จัด
ว่าเป็นอารมณ์ขัดข้อง และเราจะปล่อยอารมณ์จากความต้องการในความรัก ความอยากได้
ความโกรธ และพยาบาทความเป็นเจ้าของทรัพย์ทั้งปวง เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเหตุของความ
ทุกข์แล้วทำจิตให้ว่างจากอารมณ์นั้น ๆ พยายามเข้าฌานออกฌาน แล้วคิดอย่างนี้เป็นปกติ
จิตจะหลุดพ้นจากอาสวกิเลสได้อย่างไม่ยากเลย
(จบอานาปานานุสสติ)
.
อุปสมานุสสติกรรมฐาน (1/0)
คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน ----> หน้า 55
๑๐. อุปสมานุสสติกรรมฐาน
อุปสมานุสสติ แปลว่า ระลึกคุณพระนิพพานเป็นอารมณ์ ตามศัพท์ท่านน่าจะแปลว่า
ระลึกถึงคุณของความเข้าไปสงบระงับจิตจากกิเลสและตัณหา ก็คือการเข้าถึงพระนิพพาน
นั่นเอง ท่านแปลเอาความหมายว่า ระลึกถึงคุณพระนิพพานนั้น เป็นการแปลโดยอรรถ ท่าน
แปลของท่านถูกต้องและเหมาะสมแล้วที่เขียนถึงคำว่าสงบระงับไว้ด้วยก็เพื่อให้เต็มความประสงค์
ของนักคิดเท่านั้นเอง
ระลึกตามแบบ
ท่านพระพุทธโฆษาจารย์ ผู้รจนาคัมภีร์วิสุทธิมรรค ท่านเป็น พระอรหันต์ขั้นปฏิสัมภิทา-
ญาณ ท่านอธิบายถึงการระลึกถึงคุณพระนิพพาน โดยท่านยกบาลี ๘ ข้อ ไว้เป็นแนวเครื่องระลึก
ดังจะนำมาเขียนไว้เพื่อเป็นเครื่องอุปกรณ์ในการระลึกดังต่อไปนี้
บาลีปรารภพระนิพพาน ๘
๑. มทนิมฺมทโน แปลว่า พระนิพพานย่ำยีเสียซึ่งความเมา มีความเมาในความ
เป็นคนหนุ่ม และเมาในชีวิต โดยคิดว่าตนจะไม่ตายเป็นต้น ให้สิ้นไปจากอารมณ์ คือคิดเป็น
ปกติเสมอว่า ชีวิตนี้ไม่มีอะไรแน่นอน โลกนี้ทั้งสิ้น มีความฉิบหายเป็นที่สุด
๒. ปิปาสวินโย แปลว่า พระนิพพาน บรรเทาซึ่งความกระหาย คือความใคร่กำหนัด
ยินดีในกามคุณ ๕ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส และการถูกต้องสัมผัส
๓. อาลยสมุคฺฆาโต แปลว่า พระนิพพาน ถอนเสียซึ่งอาลัยในกามคุณ ๕ หมาย-
ความว่า ท่านที่เข้าถึงพระนิพพาน คือมีกิเลสสิ้นแล้ว ย่อมไม่ผูกพันในกามคุณ ๕ เห็นกามคุณ
๕ เสมือนเห็นซากศพ
๔. วัฏฏปัจเฉโท แปลว่า พระนิพพาน ตัดเสียซึ่ง วนสาม คือ กิเลสวัฏ ได้แก่
ตัดกิเลสได้สิ้นเชิง ไม่มีความมัวเมาในกิเลสเหลืออยู่แม้แต่น้อย กรรมวัฏ ตัดกรรม อันเป็น
บาปอกุศล วิปากวัฏ คือตัดผลกรรมที่เป็นอกุศลได้สิ้นเชิง
๕. ตัณหักขโย, วิราโค, นิโรโธ แปลว่า นิพพานธรรมนั้น ถึงความสิ้นไปแห่ง
ตัณหา ตัณหาไม่กำเริบอีก มีความหน่ายในตัณหา ไม่มีความพอใจในตัณหาอีก ดับตัณหา
เสียได้สนิทตัณหาไม่กำเริบขึ้นอีกได้แม้แต่น้อย
๖. นิพพานัง แปลว่า ดับสนิทแห่งกิเลส ตัณหา อุปาทาน กรรมอำนาจทั้ง ๔ นี้
ไม่มีโอกาสจะให้ผลแก่ท่านที่มีจิตเข้าถึงพระนิพพานแล้วได้อีก
ตามข้อปรากฏว่ามีเพียง ๖ ข้อ ความจริงข้อที่ ๕ ท่านรวมไว้ ๓ อย่าง คือ ตัณหักขโย ๑
วิราโค ๑ นิโรโธ ๑ ข้อนี้รวมกันไว้เสีย ๓ ข้อแล้ว ทั้งหมดจึงเป็น ๘ ข้อพอดี ท่านลงในแบบ
ว่า ๘ ก็เขียนว่า ๘ ตามท่าน ความจริงเมื่อท่านจะรวมกัน ท่านน่าจะเขียนว่า ๖ ข้อก็จะสิ้นเรื่อง
เมื่อท่านเขียนเป็นแบบมาอย่างนี้ ก็เขียนตามท่าน
ท่านสอนให้ตั้งจิตกำหนดความดีของพระนิพพานตามในบาลีทั้ง ๘ แม้ข้อใด ข้อหนึ่งก็ได้
ตามความพอใจ แต่ท่านก็แนะไว้ในที่เดียวกันว่า บริกรรมภาวนาว่า "นิพพานัง" นั่นแหละดี
อย่างยิ่ง ภาวนาไปจนกว่าจิตจะเข้าสู่อุปจารฌาน โดยที่จิตระงับนิวรณ์ ๕ ได้สงบแล้วเข้าถึง
อุปจารฌานเป็นที่สุด กรรมฐานนี้ที่ท่านกล่าวว่า ได้ถึงที่สุดเพียงอุปจารฌานก็เพราะเป็น
กรรมฐานละเอียดสุขุม และใช้อารมณ์ใคร่ครวญเป็นปกติ กรรมฐานนี้จึงมีกำลังไม่ถึงฌาน
อานิสงส์
อานิสงส์ที่ใช้อารมณ์ใคร่ครวญถึงพระนิพพานนี้มีผลมาก เป็นปัจจัยให้ละอารมณ์ที่
คลุกเคล้าด้วยอำนาจกิเลสและตัณหา เห็นโทษในวัฏฏะ เป็นปัจจัยให้แสวงหาทางปฏิบัติ
เพื่อความพ้นทุกข์อันเป็นปฏิปทาไปสู่พระนิพพาน เป็นกรรมฐานที่นักปฏิบัติได้ผลเป็นกำไร
เพราะเป็นปัจจัยให้เข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้าได้อย่างสบาย ขอท่านนักปฏิบัติจงสนใจ
กรรมฐานกองนี้ให้มาก ๆ และแสวงหาแนวปฏิบัติ ที่เข้าตรงต่อพระนิพพานมาปฏิบัติ ท่าน
มีโอกาสจะเข้าสู่พระนิพพานได้อย่างไม่ยากนักเพราะระลึกนึกถึงพระนิพพานเป็นอารมณ์นี้
เป็นองค์หนึ่งในองค์สามของพระโสดาบัน ชื่อว่าท่านก้าวเข้าไปเป็นพระโสดาบันหนึ่งในสาม
ขององค์พระโสดาบันแล้ว เหลืออีกสองต้องควรแสวงหาให้ครบถ้วน
พระนิพพานไม่สูญ
ท่านนักปฏิบัติได้กำหนดกรรมฐานในอุปสมานุสสตินี้แล้วท่านอาจจะต้องประสบกับปัญหา
ยุ่งสมองในเรื่องพระนิพพานอีกตอนหนึ่งเพราะบรรดานักคิดนักแต่งทั้งหลาย ได้พากันโฆษณา
มาหลายร้อยปีแล้วว่า พระนิพพานเป็นสภาพสูญ แต่พอมาอ่านหนังสือของพระอรหันต์ท่าน
เขียน คือหนังสือวิสุทธิมรรค ท่านกลับยืนยันว่า พระนิพพานไม่สูญ ดังท่านจะเห็นตาม
บาลีทั้ง ๘ ที่ท่านยกมาเป็นองค์ภาวนานั้น คือ มทนิมฺมทโน พระนิพพานตัดความเมาในชีวิต
ปิปาสวินโย นิพพานบรรเทาความกระหายในกามคุณ ๕ อาลยสมุคฺฆาโต พระนิพพานถอน
อาลัยในกามคุณ วัฏฏปัจเฉโท พระนิพพานตัด วนสามให้ขาด ตัณหักขโย พระนิพพานมี
ตัณหาสิ้นแล้ว หรือสิ้นตัณหาแล้วเข้าสู่นิพพาน วิราโค มีความเบื่อหน่ายในตัณหา นิโรโธ ดับ
ตัณหาได้สนิทแล้วโดยตัณหาไม่กำเริบอีก นิพพานัง มีความดับสนิทแล้วจาก กิเลส ตัณหา
อุปาทานกรรม อันเป็นเหตุให้เกิดอีกใน วัฏสงสาร
ความหมายตามบาลีที่ท่านว่าไว้นี้ ไม่ได้บอกว่า ท่านที่ถึงพระนิพพานแล้วสูญ เพราะ
ความเห็นว่า ตายแล้วสูญ พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า เป็นความเห็นผิด เมื่อบาลีท่าน
ยันว่า นิพพานไม่สูญอันนี้น่าจะเกิดจากความเข้าใจผิดอะไรกันสักอย่างเพราะมีพระบาลีบท
หนึ่งว่า ' นิพพานัง ปรมัง สูญยัง " แปลว่า นิพพานเป็นธรรมว่างอย่างยิ่ง ท่านอาจจะ
คว้าเอา ปรมัง สูญญัง โดยเข้าใจว่า สูญโญเข้าให้ เรื่องถึงได้ไปกันใหญ่ เรื่องนิพพาน
สูญหรือไม่สูญนี้ ผู้เขียนไม่ต่อล้อต่อเถียงด้วยเพราะเถียงกันไปก็หาเรื่องจมอยู่ในวัฏฏะเปล่า ๆ
เป็นเหตุของทุกข์ เจ้าทุกข์นี้เข็ดหลาบมันเหลือเกินแล้ว มันไม่เมตตาปรานีใครเลย อยากก็
ทุกข์ ไม่อยากก็ทุกข์ แต่ทุกข์เพราะไม่อยากเบากว่าทุกข์เพราะอยาก เลยสมัครใจเป็นพวก
ไม่ค่อยอยาก ถึงแม้จะตัดอยากไม่หมด ก็ค่อย ๆ ลดความอยากลง ได้เท่าไรเอาเท่านั้น
พบพระแปลกหน้าในป่า
ปี ๒๔๘๐ - ๘๑ - ๘๒ สามปีที่กล่าวถึง เป็นปีนิยมไพร ออกธุดงค์ไปปักกลดที่แดน
ชิดเขตพม่า สายเมืองกาญจน์ เมืองกาญจนบุรี และเขตแม่สายในคราวธุดงค์นั้น พบพระ-
ผู้เฒ่ารูปหนึ่ง ท่านมาจากเขตพม่า ท่านทำอะไรได้แปลก ๆ เช่น ตอนเช้าท่านถามว่า วันนี้
จะฉันปลาทูต้มยำไหม? ถามว่า ในป่าอย่างนี้จะเอาที่ไหนมาฉัน ท่านบอกว่าท่านจะ
ไปจังหวัดสมุทรสาคร จะเอามาให้เกิดลองดีท่านจึงบอกว่า ผมชอบครับ ท่านคว้าบาตรออก
เดินหายไปในป่าประมาณครึ่งชั่วโมงท่านกลับมา พร้อมกับหม้อเคลือบสีเขียวขนาดกลาง มี
ปลาทูต้มยำเยอะ กำลังร้อน ท่านให้ฉัน ขณะฉันท่านบอกว่า แม่พ่วงเขาสั่งมาว่า บอกท่าน
มหาด้วย พรุ่งนี้จะหาข้าวตอกน้ำกะทิมาให้ฉัน เขาบอกว่าท่านชอบ พอท่านพูดก็สงสัยว่าท่าน
ทราบได้อย่างไรว่า แม่พ่วงตลาดในเมืองจังหวัดสมุทรสาครนั้นชอบกับผู้เขียน และ
ท่านไปจังหวัดสมุทรสาครได้อย่างไร ถ้าจะเดินกันจริงๆ มันต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งเดือน
จึงถึง พอคิดเท่านั้นท่านก็พูดว่า ท่านคิดอย่างนั้นถูกสำหรับบุถุชนคนธรรมดาถ้าเป็นพระที่ได้
อภิญญาอย่างผมไม่มีอะไรสำคัญ ได้ฟังท่านพูดก็ตกใจ ท่านอธิบายต่อไปว่า เรื่องอภิญญา
เป็นของมีจริง และเป็นเรื่องเล็ก ๆ สำหรับท่านที่รักการปฏิบัติจริง เรื่องมรรคผลนิพพาน
สิเป็นเรื่องใหญ่ นิพพานที่เข้าใจกันว่าสูญนั้นเป็นการเข้าใจผิดชัด ๆ ความจริงนิพพานไม่สูญ
เป็นแดนพิเศษที่เหนือเทวดาและพรหม มีความสวยสดงดงามมากกว่าเทวดาและพรหมมีความ
สุขละเอียดกว่า สุขุมกว่า ไปไหนมาไหนได้ตามสบาย ไม่มีสภาพสิ้นซากหรือไร้ความรู้สึกถาม
ท่านว่า ท่านเคยพบนิพพานแล้วหรือ? ท่านบอกว่าพบแล้ว จึงออกจากวัดมาอยู่ป่า เมื่อวาน
นี้ฉันพบกับอาจารย์เธอที่วัดบางนมโค ท่านขอร้องให้ฉันสงเคราะห์เธอเรื่องนิพพาน ฉันจึงมา
เพื่อสงเคราะห์ ท่านกรุณาแนะนำดังต่อไปนี้
หาหนังสืออุทุมพริกสูตร
ท่านบอกว่า ถ้าจะปฏิบัติให้พบพระนิพพานเร็ว ก็ต้องอ่านอุทุมพริกสูตร และปฏิบัติตาม
นั้นให้ครบถ้วน จะเข้าถึงนิพพานได้อย่างไม่ผิดพลาดและรวดเร็ว ตอนนี้จะบอกเรื่องการเห็น
ไว้พอเป็นแนวทางของความคิดเห็น
พระนิพพาน (1/0)
คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน ----> หน้า 56
การเห็นมีหลายชั้น
ท่านว่าสิ่งที่จะเห็นมีหลายชั้นแต่ต้องปรับปรุงตัวให้เหมาะสม พอที่จะเห็นได้ มนุษย์ธรรมดา
มีตาไว้สำหรับดูธาตุที่เป็นรูป และเป็นของใหญ่ ธาตุที่เล็กกว่าเล็นไรมนุษย์ก็มองไม่เห็น ตามนุษย์
นี้เป็นตาที่ดูของหยาบมาก สู้ตาสัตว์เดียรัจฉาน เช่น ตาแมว ตาสุนัขไม่ได้ พอมืด มนุษย์แม้ของ
ใหญ่ก็มองไม่เห็น ส่วนสัตว์เดียรัจฉานในป่ากลางคืนเดินหากินสบาย ไม่ต้องใช้คบเพลิง หรือ
ตะเกียงส่องทาง เห็นหรือยังว่า ตามนุษย์เลวกว่าตาสัตว์เดียรัจฉาน? ท่านถาม ตอบท่าน
ว่า เห็นแล้วขอรับ ท่านเล่าต่อไป มนุษย์นี้ไม่สามารถเห็นพวกยักษ์ผี ที่เรียกว่าอสุรกาย เปรต
และ สัตว์นรกได้ ถ้าพวกนั้นเขาไม่ให้เห็น ความจริงพวกที่กล่าวถึงนี้มีกายหยาบมาก เห็นง่าย
เสียงดังฟังชัด พวกที่กล่าวแล้วนั้นก็ไม่สามารถเห็นเทวดาที่มีบุญญาธิการมากกว่าได้ ถ้าเขา
ไม่ต้องการให้เห็น เทวดาก็ไม่สามารถเห็นพรหมได้ถ้าเขาไม่ต้องการให้เห็น พรหมก็ไม่สามารถ
เห็นพระอริยะที่เข้านิพพานได้ ถ้าท่านไม่ต้องการให้เห็น ความเห็นนั้นมีคุณพิเศษละเอียดต่างกัน
ด้วยบุญญาธิการอย่างนี้
มนุษย์ต้องการเห็น
ถ้ามนุษย์ต้องการเห็นพวกผี เปรต เทวดา ท่านให้เจริญกสิณกองใดก็ได้ แล้วฝึกทิพย-
จักษุญาณมีระดับฌาน เพียงอุปจารฌาน หรือฌาน ๑ - ๒ เท่านี้ ก็พอเห็นผีเทวดาได้แต่ไม่
ชัดนัก แต่จะเห็นพรหมไม่ได้
ถ้าจะให้เห็นพรหม ต้องได้ฌาน ๔ ชำนาญ ทิพยจักษุญาณจะแจ่มใสขึ้นสามารถเห็น
พรหมได้ แต่จะเห็นพระนิพพานไม่ได้
ถ้าอยากจะเห็นพระนิพพาน ต้องเจริญวิปัสสนาญาณ ให้ได้บรรลุพระโสดาบัน
เป็นอย่างต่ำ อาศัยญาณที่ได้ไว้ในสมัยโลกียฌาน พอได้มรรคผลเป็นพระอริยะ ฌานนี้ก็กลาย
เป็นโลกุตตรฌาน และอาศัยผลที่เป็นพระอริยะ ท่านเรียกญาณที่ได้ว่า" วิมุตติญาณทัสสนะ"
แปลว่าหลุดพ้นจากกิเลสพร้อมด้วยญาณเป็นเครื่องรู้ เท่านี้พระนิพพานก็ปรากฏชัดแก่ญาณจักษุ
พระโสดานี้ได้แต่เห็นนิพพาน ยังอาศัยนิพพานเป็นที่พักผ่อนไม่ได้ ถ้าสำเร็จอรหัตผลแล้วท่าน
ก็ไปนอนค้างบนนิพพาน อันเป็นสถานที่อยู่สำหรับตนได้เลย ท่านว่าบนนิพพานก็คล้ายกับพรหม
มีวิมานแต่วิจิตรมาก ร่างของท่านที่เข้านิพพานเป็นทิพย์ละเอียด ใสสะอาด ใสคล้ายแก้วประกาย
พรึก มีรัศมีสว่างมากกว่าพรหมอย่างเทียบกันไม่ได้เลย มีความสุขที่สุดอย่างไม่มีอะไรเปรียบ
เพราะความรู้สึกอย่างอื่นไม่มี มีแต่จิตสงเคราะห์เรียนถามท่านว่า พระที่เข้านิพพานแล้วอย่าง
พระอรหันต์ หรือพระพุทธเจ้า ท่านจะมาโปรดพวกที่ยังไม่บรรลุได้ไหม?
ท่านตอบว่า มาได้ เราจะได้ยินท่านได้ เมื่อจิตเข้าสู่อุปจารฌาน ถ้าท่านต้องการให้ได้ยิน
เสียง จะเห็นท่านได้เมื่อมีอารมณ์จิตอยู่ในอุปจารฌาน แต่เห็นไม่ชัด ถ้ามีอารมณ์ถึงจตุตถฌาน
และทรงฌานจนชำนาญ แล้วจะเห็นชัดและได้ยินคำสอนเหมือนเห็นฉันนั่งอยู่ และพูดอยู่อย่างนี้
ท่านสรุปว่า เรื่องการเห็นมีเป็นระดับอย่างนี้ อย่าเถียงกันเรื่องนิพพานเลย ทำตัวให้ถึงเสียก่อน
จะเห็นเอง เวลานี้เธอทั้งสามยังเป็นโลกียฌานอยู่ อย่าเพ่อคิดว่าดีแล้ว วิเศษแล้ว ยัง
ไกลต่อความดี ต่อความวิเศษมากนัก คนที่รู้ว่าตัวดี คนนั้นยังไม่ถึงความวิเศษ คนใดเห็นว่า
ไม่ว่าอะไรทั้งหมดในโลกนี้ เทวโลก พรหมโลกไม่มีอะไรดี อะไรวิเศษ สิ้นความรักความพอใจ
ทุกสิ่งทุกอย่าง ยอมรับนับถือกฎธรรมดาผู้นั้นแหละถึงดีถึงความวิเศษแล้ว เธอทั้งสามถ้าต้องการ
ฉัน ฉันจะมาสอนเธอทุกคืนที่เธอต้องการ เมื่อต้องการฉัน ขอให้คิดถึงฉัน เรียกฉันว่า
อาจารย์ใหญ่ แล้วฉันจะมาพบเธอเสมอ แต่ต้องเป็นเวลาดึกสงัด พอฉันเสร็จท่านก็
ลากลับไป
เรื่องนิพพานท่านว่าอย่างนี้ ขอท่านผู้อ่าน อ่านแล้วฟังหูไว้หู อย่าเชื่อเกินไป และอย่าเพ่อ
ปฏิเสธ จนกว่าท่านจะเข้าถึง วิมุตติญาณทัสสนะ เมื่อไร เมื่อนั้นท่านเอาความบริสุทธิ์ของ
ท่านและญาณเป็นเครื่องรู้พิสูจน์ ท่านจะทราบจริงว่า ท่านอาจารย์ใหญ่พูดนี้ถูกต้องตามความ
เป็นจริงหรือคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง
สอนวิธีปฏิบัติเพื่อรู้พระนิพพาน
ต่อมาวันรุ่งขึ้น ผู้เขียนและเพื่อนติดใจเรื่องนิพพาน อยากจะเห็นนิพพาน พอตกเวลาราตรี
ก็ทำวัตรสวดมนต์ เสร็จแล้วเริ่มทำสมาธิตามแบบฉบับของโบราณ พออารมณ์เข้าอุปจาระก็นึก
ถึงท่าน พอนึกท่านก็ถึงทันที พอมาถึงท่านบอกว่า ผมมาคอยอยู่นานแล้ว รู้แล้วว่าต้องมาแน่
เพราะอย่างไรเสียเธอก็ต้องขอเรียนเรื่องนิพพาน ท่านเริ่มสอนว่า
นักนิยมนิพพาน ต้องมีแนวปฏิบัติตามนี้อย่างเคร่งครัด
.
สอนวิธีปฏิบัติเพื่อรู้พระนิพพาน (1/0)
คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน ----> หน้า 57
๑. ระงับอุปกิเลส
ให้พยายามระงับอุปกิเลสให้สิ้น อย่าให้ใช้อารมณ์แม้แต่น้อยหนึ่ง ให้เข้าไปยุ่งแก่ภาระ
ของคนอื่น จะเป็นเรื่องดีเรื่องชั่วก็ตามไม่ต้องคิดถึงใคร เขาจะชม เขาจะติ เขาจะรวย จะจน
จะเป็นอะไรก็ช่าง ห้ามยุ่งระวังตัวของตัวเองเป็นสำคัญ ไม่ต้องคอยสอนคนอื่น พยายามระมัด
ระวังตัวเองเป็นที่สุด อะไรจะเกิดแก่ตนต้องถือว่าช่างเป็นสำคัญ อย่าสร้างความดีใจ ขัดข้อง
ใจในอารมณ์นั้น ๆ อย่างนี้เป็นระดับแรก ถ้าทำได้อย่างนี้ เรียกว่า ถึงสะเก็ดของพระ-
นิพพานแล้ว
๒. ระวังศีล นิวรณ์ และสร้างพรหมวิหาร ๔
ต่อไปให้รักษาศีลให้บริสุทธิ์ ไม่ทำลายศีลเอง ไม่ยุให้คนอื่นทำลายศีล ไม่ยินดีต่อเมื่อ
เห็นคนอื่นทำลายศีล
ต่อไปก็ระงับนิวรณ์ ๕ ด้วยการเจริญฌาน นิวรณ์ ๕ จะระงับได้ด้วยจิตทรงในฌาน
ข้อนี้พวกท่านชำนาญแล้ว และทำถูกแล้ว ควรรักษาไว้อย่าให้เสื่อม
ต่อไปก็เจริญเมตตาพรหมวิหารทั้ง ๔ ให้ทรงใจเป็นปกติ รักด้วยเมตตาสงสาร มีใจอารี
ไม่ริษยา มีอารมณ์ปกติ คือวางเฉย พรหมวิหาร ๔ นี้ จะทำให้ฌานไม่เสื่อม และศีลจะบริสุทธิ์
เป็นปัจจัยให้ได้วิปัสสนาญาณรวดเร็ว อันนี้ท่านก็ได้แล้ว ไม่มีอะไรหนักใจ คนที่ทรงคุณตามนี้
เป็นผู้มีความดีถึงเปลือกนิพพานแล้ว พวกคุณทั้งสามมีความดีถึงเปลือกนิพพานแล้วท่านสอน
ไป ท่านก็พยากรณ์ไปด้วย
๓. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
เมื่อเธอปฏิบัติตามข้อ ๒ ได้ครบแล้ว ความจริงพวกเธอได้มาแล้ว อาจารย์เธอสั่งมา
ว่าอย่างนั้น ฉันจะสอนต่อไป ต่อไปเธอจงพยายามสร้าง ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ให้ได้
จงปฏิบัติตามนี้ เข้าฌานในกสิณอย่างใดอย่างหนึ่ง ถึงฌาน ๔ แล้ว ถอยจิตออกมาที่อุปจาร-
ฌานนั่นทำอย่างนั้นถูกแล้ว เพราะพอท่านสอน นักธุดงค์ก็ทำตามทันที แล้วค่อย ๆ คิดถึง
เหตุในอดีตจนถึงชาติก่อน ๆ ร้อยชาติพันชาติแล้วเข้าฌานใหม่นั่นถูกแล้ว ออกจากฌาน
คิดใหม่ ท่านบอกบทอยู่จนค่อนรุ่ง พวกนิยมไพรก็เต้นตาม พอใกล้สว่างท่านบอกว่าที่สอน
นี้ทำให้คล่องภายใน ๓ วัน ถ้าไม่คล่องฉันจะไม่มาสอนอีกจนเธอตาย ท่านว่าถ้าได้คล่อง
ตามนี้ พวกเธอก็เข้าถึง กระพี้นิพพาน แล้วท่านก็กลับ พวกนิยมไพรซ้อมกันอย่างเอา
ชีวิตเข้าแลก พอวันที่ ๒ ก็ชำนาญ รุ่งขึ้นวันที่ ๓ ท่านมาใหม่
๔. จุตูปปาตญาณ
พอท่านมาถึง ท่านก็ยิ้มแล้วบอกว่า ฤาษีโพธิวัตรกับฤาษีพนมไพรเก่งมาก ตาลิงดำนี่
แกนานหน่อยนะ ถึงแม้จะยังไม่ได้ก็ไม่เป็นไร รู้ไว้ใช่ว่าใส่บ่าแบกหาม นาน ๆ ไปถ้าไม่เลิก
เสียก็ได้เอง ต่อไปจงเข้าฌาน ๔ ในกสิณ ท่านบัญชา พวกเราก็เข้า สักพักหนึ่งท่านสั่งคลาย
ออกแค่อุปจาระ พวกเราก็คลายตามท่านสั่ง จับภาพกสิณให้แจ่มใส พวกเราก็ทำตาม เพิก
กสิณเสีย ขอภาพนรกจงปรากฏแทน พวกเราก็ทำตามเพราะจิตที่เรียนมายังสงสัยอเวจีมหา-
นรก ก็พบอเวจีพอดี เอ้าถอนได้ คลายมาอยู่อุปจารฌาน พวกเราก็ทำตาม
ต่อไปเข้าฌาน ๔ ใหม่ พวกเราก็เข้าฌาน ๔ ออกจากฌาน ๔ ท่านบัญชาพวกเราก็
ออกมาหยุดอยู่แค่อุปจาระ สร้างภาพกสิณให้แจ่มใส ท่านสั่ง พวกเราก็ทำตาม ขอภาพกสิณ
จงหายไป ภาพเทวโลกจงปรากฏ พวกเราทำตาม เห็นเทวโลกแจ่มใสเป็นเมืองทิพย์สวย
ที่สุด พวกเราเพลิดเพลินมาก แต่พอจะเพลินดี ก็ได้ยินเสียงก้องมาว่า เทวโลกเป็น
กามาวจรที่ยังไม่พ้นวัฏฏะ จงถอนความพอใจเสีย พิจารณาเทวโลกให้เป็นของปฏิกูล
ตามแบบอสุภกรรมฐาน พวกเราเสียดายก็เสียดายแต่ต้องทำตาม ท่านพูดว่า ลิงดำอย่า
พอใจในเทวโลก เทวโลกเป็นปัจจัยของความทุกข์ พอท่านพูดเท่านั้นอารมณ์ก็เปลื้อง
ออกได้ ท่านบอกว่ากลับใหม่ ถอนอารมณ์ออกมา อุปจาระ พวกเราทำตาม ท่านสั่งต่อไป
ว่า เข้าฌาน ๔ ใหม่ พวกเราก็เข้าฌาน ๔ ออกจากฌาน ๔ พวกเราออก สร้างกสิณให้
แจ่มใส พวกเราสร้างตาม จงอธิษฐานว่ารูปกสิณจงหายไป พรหมโลกจงปรากฏ
พวกเราทำตาม เห็นพรหมโลกแจ่มใสแล้วท่านให้ถอนและสอนว่าจงทำอย่างนี้ให้ชำนาญ
ภายใน ๗ วัน ดูแล้วเห็นแล้ว ถามผลกรรมเข้าด้วยแล้ว เขาทำแล้ว อะไรจึงตกนรกเป็น
เปรต เป็นอสุรกาย เป็นเทวดา เป็นพรหม เธอทำอย่างนี้ชำนาญแล้ว เธอจะเข้าถึง
แก่นของพระนิพพาน เจริญวิปัสสนาญาณต่อ ถ้ามีบารมีแก่กล้า จะได้วิมุตติญาณทัสสนะ
ภายใน ๗ วัน ถ้ามีบารมีอย่างกลาง จะได้วิมุตติญาณทัสสนะภายใน ๗ เดือน ถ้ามีบารมี
ทรามจะได้วิมุตติญาณทัสสนะภายใน ๗ ปี นี่เวลาจวนสว่างแล้วฉันจะไปก่อน ๗ วัน แล้ว
ฉันจะมาสอนวิปัสสนาให้ แล้วท่านก็หายไปเหมือนความฝัน
แนวปฏิบัติเพื่อวิมุตติญาณทัสสะ เพื่อเห็นพระนิพพาน ท่านสอนมาในสมัย
ไปธุดงค์ ท่านสอนอย่างนี้ ผู้เขียนก็ได้เพียงฟังท่านสอน เพราะรับผลเพียงพหูสูตร ส่วนผล
ทางปฏิบัตินั้น ไม่ทราบจะบอกอย่างไร เรื่องมรรคผลนั้นไม่ต้องพูดถึง ทำขณะที่ท่านบอก
แจ่มใสจริง ๆ พอห่างอาจารย์เข้า ความรู้กลับไปหาอาจารย์หมด เอามาเขียนไว้เพื่อเล่าสู่
กันฟัง เรื่องนิพพานมีหรือนิพพานสูญ ถ้าท่านประสงค์จะทราบจริง ก็ลองปฏิบัติ
ตามท่านสอนดูบ้าง เผื่อวาสนาบารมีท่านพอได้พอถึง ท่านอาจได้วิมุตติญาณทัสสนะ
และพบพระนิพพานด้วยตนเองจะได้คลายสงสัย สำหรับท่านที่เจริญกรรมฐานกองอุปสมา-
นุสสติอยู่แล้ว จงอย่าสนใจแต่คิดถึงพระนิพพาน จงปฏิบัติตามแนววิชชาสามนี้ด้วยท่านจะ
พบความชื่นใจตามที่ท่านตั้งใจไว้
ขอยุติอุปสมานุสสติไว้แต่เพียงนี้ ส่วนเรื่องที่เล่ามาในที่นี้ขอให้ถือว่าเป็นนิทาน
หรือความฝันก็แล้วกัน จนกว่าท่านจะได้เองแล้วจึงค่อยถือเอาเป็นเรื่องจริงจัง
พรหมวิหาร ๔
พรหมวิหาร แปลว่า ธรรมเป็นที่อยู่ของพรหม คำว่า พรหม แปลว่า ประเสริฐ
เป็นอันได้ความว่า คุณธรรม ๔ อย่างนี้ เป็นคุณธรรมที่ทำผู้ประพฤติปฏิบัติให้เป็นผู้ประเสริฐ
คือเป็นมนุษย์ประพฤติธรรม ๔ ประการนี้ ก็เป็นมนุษย์ผู้ประเสริฐโดยคุณธรรม ถ้าตายจาก
มนุษย์ก็เป็นเทวดาผู้ประเสริฐโดยบุญญาธิการ คือ ไปเกิดบนชั้นพรหม นอกจากความประเสริฐ
โดยธรรมในสมัยที่เป็นมนุษย์แล้ว ท่านว่าคุณธรรม ๔ ประการนี้ ยังให้อานิสงส์เป็นความสุขแก่
ผู้ปฏิบัติถึง ๑๑ ประการ ตามที่ท่านกล่าวไว้ในวิสุทธิมรรคดังต่อไปนี้
๑. สุขัง สุปฏิ นอนหลับเป็นสุข เหมือนนอนหลับในสมาบัติ
๒. ตื่นขึ้นก็มีความสุข มีอารมณ์แช่มชื่นหรรษา ไม่มีความขุ่นมัวในใจ
๓. นอนฝัน ก็ฝันเป็นมงคล มิฝันเห็นสิ่งลามก
๔. เป็นที่รักของ มนุษย์ เทวดา พรหม และภูติผีทั้งปวง
๕. เทวดาและพรหม จะรักษาให้ปลอดภัยจากอันตรายทั้งปวง
๖.จะไม่มีอันตรายจากเพลิง ไม่มีอันตรายจากสรรพาวุธและยาพิษ
๗. จิตจะตั้งมั่นในอารมณ์สมาธิเป็นปกติ สมาธิที่ได้ไว้แล้วจะไม่เสื่อม จะเจริญ
รุดหน้ายิ่งขึ้น
๘. มีดวงหน้าผุดผ่องเป็นปกติ
๙. เมื่อจะตาย จะมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ สติมิฟั่นเฟือน
๑๐. ถ้ามิได้บรรลุมรรคผลในชาตินี้ เพราะทรงพรหมวิหาร ๔ นี้ ผลแห่งการ
เจริญพรหมวิหาร ๔ นี้ ก็จะส่งผลให้ไปเกิดในพรหมโลก
๑๑. มีอารมณ์แจ่มใส จิตใจปลอดโปร่ง ทรงสมาบัติ วิปัสสนา และทรงศีลบริสุทธิ์
ผุดผ่องเป็นปกติ
รวมอานิสงส์การทรงพรหมวิหาร ๔ มี ๑๑ ประการด้วยกัน ต่อนี้ไปจะได้นำหัวข้อ
พรหมวิหาร ๔ มากล่าวไว้เพื่อศึกษา
หัวข้อพรหมวิหาร ๔
๑. เมตตา ความรัก อันเนื่องด้วยความปรารถนาดี ไม่มีอารมณ์เนื่องด้วยกิเลสที่
นับเนื่องในกามารมณ์ร่วมในความรู้สึก
๒. กรุณา ความสงสารปรานี มีความประสงค์จะสงเคราะห์ให้พ้นทุกข์
๓. มุทิตา ความมีจิตชื่นบาน พลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี คือไม่มีจิตริษยาเจือปน
๔. อุเบกขา มีอารมณ์เป็นกลางวางเฉย ไม่เอียงซ้ายเอียงขวา คือทรงความเป็นธรรม
คำอธิบายในพรหมวิหาร ๔ นี้ ไม่น่าจะต้องอธิบายมาก เพราะเป็นธรรมประจำใจชินหู
อยู่เป็นปกติแล้ว จะขอย้ำเพื่อความแน่ใจไว้สักเล็กน้อย ตามธรรมเนียมของนักเขียน จะไม่
เขียนเลยก็จะเสียธรรมเนียม
๑. เมตตา แปลว่า ความรัก หมายถึงความรักที่มุ่งเพื่อปรารถนาดี แต่ต้องไม่หวังผล
ตอบแทนใด ๆ จะเป็นผลตอบแทนทางกำลังใจ หรือวัตถุก็ตาม จึงจะตรงกับคำว่า เมตตาในที่
นี้ ถ้าทำไปแล้วหวังตอบแทนบุญคุณด้วย ด้วยการแสดงออกของผู้รับเมตตาหรือหวังตอบแทน
ด้วยวัตถุ ความต้องการอย่างนั้นถ้าปรากฏในความรู้สึกเป็นเมตตาที่เจือด้วยอารมณ์กิเลส
ไม่ตรงต่อเมตตาในพรหมวิหารนี้
ลักษณะของเมตตา ควรสร้างความรู้สึกคุมอารมณ์ไว้ตลอดวันว่า เราจะหวังสร้าง
ความเมตตาสงเคราะห์ เพื่อนที่เกิด แก่ เจ็บ ตาย ที่มีในโลกนี้ทั้งมวล เราจะไม่สร้างความ
สะเทือนใจความลำบากกายให้เกิดมีขึ้นแก่คนและสัตว์ เพราะความสุขความทุกข์ของคน
และสัตว์ทั้งมวล เราถือว่าเป็นภาระของเราที่จะต้องสงเคราะห์หรือสนับสนุน ความทุกข์มีขึ้น
เราจะมีทุกข์เสมอด้วยเขา ถ้าเขามีสุขเราจะสบายใจด้วยกับเขา มีความรู้สึกรักคนและสัตว์
ทั่วโลกเสมอด้วยรักตนเอง
๒. กรุณา แปลตามศัพท์ว่า ความสงสาร หมายถึงความปรานี ปรารถนาให้เขา
พ้นทุกข์ ความสงสารปรานีนี้ ก็มีอาการที่ไม่หวังผลตอบแทนเช่นเดียวกับเมตตา มุ่งหน้า
สงเคราะห์คนและสัตว์ที่มีความทุกข์อยู่ ให้หมดทุกข์ตามกำลังกาย กำลังปัญญา กำลัง
ทรัพย์เท่าที่จะทำได้
ลักษณะกรุณา ก็คือการสงเคราะห์ในการให้ปันด้วยวัตถุ ตามกำลังที่พอจะช่วยได้
ถ้าวัตถุของเรามีไม่พอ ก็พยายามแสวงหามาสงเคราะห์โดยธรรม คือหามาโดยชอบธรรม
ทั้งนี้หมายความว่า ถ้าผู้ที่จะสงเคราะห์ขัดข้องทางวัตถุ ถ้าตนเองแสวงหามาได้ไม่พอเหมาะ
พอดี ก็แนะนำให้ผู้หวังสงเคราะห์ไปหาใครคนใดคนหนึ่งที่คิดว่าเขาจะสงเคราะห์ เป็นการ
ชี้ช่องบอกทาง ถ้าเขาขัดข้องด้วยวิชา ก็สงเคราะห์บอกกล่าวให้รู้ตามความรู้ ถ้าตนเองรู้ไม่ถึง
ก็แนะนำให้ไปหาผู้ที่เราคิดว่ามีความรู้พอบอกได้
๓. มุทิตา แปลตามศัพท์ว่า มีจิตอ่อนโยน หมายถึงจิตที่ไม่มีความอิจฉาริษยาเจือปน
มีอารมณ์แจ่มใสแช่มชื่นตลอดกาลเวลา เห็นใครได้ดีก็ผ่องใส ชื่นอกชื่นใจ มีอาการคล้ายกับ
ตนพลอยได้ด้วย ทั้งนี้อารมณ์ของท่านที่มีมุทิตาประจำใจนั้น คิดอยู่เสมอว่า ถ้าคนทั้งโลกมี
โชคดีด้วยทรัพย์และมีความเฉลียวฉลาดเหมือนกันทุกคนแล้ว โลกนี้จะเต็มไปด้วยความสุข
และเยือกเย็น ปราศจากภยันตรายทั้งมวล คิดยินดี ให้ชาวโลกทั้งมวลเป็นผู้มีโชคดีตลอดวัน
และคืน อารมณ์พลอยยินดีนี้ต้องไม่เนื่องเพื่อผลตอบแทน ถ้าหวังการตอบแทนแม้แต่เพียง
คำว่า ขอบใจ อย่างนี้เป็น มุทิตาที่อิงกิเลส ไม่ตรงต่อมุทิตาในพรหมวิหารนี้ ความแสดง
ออกถึงความยินดีในพรหมวิหารไม่หวังผลตอบแทนด้วยกรณีใด ๆ ทั้งสิ้น
๔. อุเบกขา แปลว่าความวางเฉย ไม่ใช่เฉยตลอดกาล ใครจะเป็นอย่างไรก็เฉย
ความวางเฉยในพรหมวิหารนี้ หมายถึงเฉยโดยธรรม คือทรงความยุติธรรมไม่ลำเอียงต่อ
ผู้ใดผู้หนึ่ง ที่จะต้องได้รับทุกข์หรือรับสุข พร้อมกันนั้นก็มีอารมณ์ประกอบด้วยความเมตตา
ปรานี พร้อมที่จะสงเคราะห์ในเมื่อมีโอกาส
พรหมวิหาร ๔ นี้ ขออธิบายเพียงย่อ ๆ ไว้เพียงเท่านี้ เพราะเป็นธรรมที่ชินหู
ชินใจของทุก ๆ คนอยู่แล้ว
(จบพรหมวิหาร ๔ เพียงเท่านี้)
.
อรูปฌาน ๔ (1/0)
คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน ----> หน้า 58
, อรูปฌาน ๔
ต่อไปนี้จะได้อธิบายถึงวิธีปฏิบัติในอรูปฌาน คือฌานที่ไม่มีรูป ๔ อย่าง คือ อากา-
สานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานา สัญญายตนะ
รวม ๔ อย่างด้วยกัน อรูปฌานทั้ง ๔ นี้ เป็นฌานละเอียดและอยู่ในระดับฌานที่สูงสุด
ท่านที่ปฏิบัติได้อรูปทั้ง ๔ นี้แล้ว เจริญวิปัสสนาญาณ ย่อมได้บรรลุมรรคผลรวดเร็วเป็นพิเศษ
เพราะอารมณ์ในอรูปฌานและอารมณ์ในวิปัสสนาญาณ มีส่วนคล้ายคลึงกันมาก ต่างแต่
อรูปฌานเป็นสมถภาวนา มุ่งดำรงฌานเป็นสำคัญสำหรับวิปัสสนาภาวนามุ่งรู้แจ้งเห็นจริง
ตามอำนาจของกฎธรรมดาเป็นสำคัญ แต่ทว่าอรูปฌานนี้ก็มีลักษณะเป็นฌานปล่อยอารมณ์
คือ ไม่ยึดถืออะไรเป็นสำคัญ ปล่อยหมดทั้งรูปและนาม ถือความว่างเป็นสำคัญ
อานิสงส์อรูปฌาน
ท่านที่ได้อรูปฌานทั้ง ๔ นี้ นอกจากจะมีผลทำให้จิตว่าง มีอารมณ์เป็นสุข ประณีต
ในฌานที่ได้ แล้วยังมีผลให้สำเร็จมรรคผลง่ายดายอย่างคาดไม่ถึงอีกด้วย นอกจากนั้นท่าน
ที่ได้ อรูปฌานนี้แล้วเมื่อสำเร็จมรรคผลจะได้เป็น พระอรหันต์ขั้นปฏิสัมภิทาญาณ คือ
มีคุณสมบัติพิเศษเหนือจากที่ทรงอภิญญา ๖ อีก ๔ อย่าง สำหรับท่านที่ได้ปฏิสัมภิทาญาณนี้
ท่านทรงอภิญญา ๖ และคุณสมบัติพิเศษอีก ๔ คือ
ปฏิสัมภิทา ๔
๑. อัตถปฏิสัมภิทา มีปัญญาแตกฉานในอรรถ คือฉลาดในการอธิบายถ้อยคำที่
ท่านอธิบายมาแล้วอย่างพิสดาร ถอดเนื้อความที่พิสดารนั้นให้ย่อสั้นลงมาพอได้ความชัด
ไม่เสียความ
๒. ธัมมปฏิสัมภิทา ฉลาดในการอธิบายหัวข้อธรรม ที่ท่านกล่าวมาแต่หัวข้อให้
พิสดารเข้าใจชัด
๓. นิรุตติปฏิสัมภิทา มีความฉลาดในภาษา รู้และเข้าใจภาษาทุกภาษาได้อย่าง
อัศจรรย์
๔. ปฏิภาณปฏิสัมภิทา มีปฏิภาณเฉลียวฉลาด สามารถแก้อรรถปัญหาได้อย่าง
อัศจรรย์
ปฏิสัมภิทาญาณนี้ มีความแปลกจากอภิญญา ๖ อยู่อย่างหนึ่ง คือท่านที่จะทรง
ปฏิสัมภิทา หรือทรงอรูปฌานนี้ได้ ท่านต้องได้กสิณ ๑๐ และทรงอภิญญามาก่อนแล้วจึง
จะปฏิบัติต่อในอรูปนี้ได้ ถ้าท่านนักปฏิบัติที่ไม่เคยเรียนกสิณเลย หรือทรงกสิณได้บางส่วน
ยังไม่ถึงขั้นอภิญญาแล้วท่านมาเรียนปฏิบัติในอรูปนี้ย่อมปฏิบัติไม่สำเร็จ เพราะการที่
ทรงอรูปฌานได้ ต้องใช้กสิณ ๙ ประการ ปฐวี เตโช วาโย อาโป นีล ปีตะ โลหิตะ
โอทาตะ อาโลกะ เว้นอากาสกสิณอย่างเดียว เอามาเป็นบาทของอรูปฌานคือต้อง
เอากสิณ ๘ อย่างนั้นอย่างใดอย่างหนึ่งมาตั้งขึ้น แล้วเข้าฌานในกสิณนั้นจนถึงจตุตถฌาน
แล้วเพิกนิมิตในกสิณนั้นเสีย คำว่าเพิก หมายถึงปล่อยไม่สนใจในกสิณนั้นการที่จะปฏิบัติ
ในอรูปฌาน ต้องเข้ารูปกสิณก่อนอย่างนี้ ฉะนั้นท่านที่จะเจริญในอรูปฌานจึงต้องเป็นท่าน
ที่ได้กสิณจนคล่องอย่างน้อย ๙ กอง จนชำนาญและได้อภิญญาแล้วจึงจะมาปฏิบัติในอรูป-
ฌานนี้ได้ ฉะนั้นท่านที่ได้ปฏิสัมภิทาญาณจึงเป็นผู้ทรงอภิญญาด้วย สำหรับอภิญญากับ
ปฏิสัมภิทาญาณนี้ มีข้อแตกต่างกัน อยู่อย่างหนึ่งที่นักปฏิบัติควรทราบ อภิญญานั้น
ท่านที่ปฏิบัติกสิณครบ ๑๐ หรืออย่างน้อยครบ ๘ ยกอาโลกกสิณและอากาสกสิณเสีย
เมื่อชำนาญในกสิณทั้ง ๑๐ หรือทั้ง ๘ นี้แล้ว ก็ทรงอภิญญาได้ทันทีในสมัยที่เป็นฌานโลกีย์
ส่วนปฏิสัมภิทาญาณ ๔ นี้ เมื่อทรงอรูปฌานที่เป็นโลกียฌานแล้วยังทรงปฏิสัมภิทาไม่ได้
ต้องสำเร็จมรรคผลอย่างต่ำเป็นพระอนาคามี หรือพระอรหัตตผลปฏิสัมภิทาจึงจะปรากฏ
บังเกิดเป็นคุณพิเศษขึ้นแก่ท่านที่บรรลุ ข้อแตกต่างนี้นักปฏิบัติควรจดจำไว้
๑. อากาสานัญจายตนะ
การอธิบายในอรูป ๔ นี้ ขอกล่าวแต่พอเป็นแนวเล็กน้อยเท่านั้น เพราะเป็นกรรมฐาน
ละเอียดทั้งผู้ที่จะปฏิบัติก็ต้องทรงอภิญญามาก่อน เรื่องการสอนหรืออธิบายในกรรมฐานนี้
มีความสำคัญอยู่อย่างหนึ่ง คือ ถ้ากรรมฐานกองใดท่านผู้อธิบายไม่ได้มาก่อน ก็อธิบาย
ไม่ตรงตามความเป็นจริง ท่านที่จะอธิบายได้ถูกต้องและตรงจริง ๆ ก็ต้องได้กรรมฐานกอง
นั้นๆ มาก่อน ผู้เขียนนี้ก็เช่นกันอาศัยที่ศึกษาเรื่องของกรรมฐานมาเฉพาะประเภทวิชาชา-
สามสำหรับเรื่องของวิชชาสามเรียนมาพอเขียนได้อ่านออก ถึงแม้จะไม่ได้สำเร็จมรรคผล
ใด ๆ ก็ตาม แต่ก็ฟังคำสอนมาพอเอาตัวรอดได้บ้างพอควร ไม่ถึงเก่งและถ้าไปโดนท่านที่
ฉลาดจริงเข้าท่านอาจไล่เบี้ยเอาจนมุมเหมือนกัน ส่วนด้านอภิญญานั้น อาศัยที่เคยศึกษา
ในกสิณบางส่วนมาบ้าง พอเห็นทางไร ๆ แต่ก็ได้ไม่ครบ แต่ถึงจะได้ไม่ครบก็ทราบว่าแนว
ของกสิณมีแนวเป็นอันเดียวกัน ฉะนั้นเรื่องอภิญญาพอจะแอบ ๆ ฟุ้งได้บ้างพอสมควร
อากาสานัญจายตนะนี้ ท่านกล่าวไว้ในวิสุทธิมรรคว่า ก่อนที่จะเจริญอรูปอากา-
สานัญจายตนะนี้ ท่านจะเข้าจตุตถฌานในกสิณกองใดกองหนึ่งแล้วให้เพิก คือไม่สนใจใน
กสิณนิมิตนั้นเสีย ใคร่ครวญว่า กสิณนิมิตนี้เป็นอารมณ์ที่มีรูปเป็นสำคัญ ความสุข ความทุกข์
ที่เป็นปัจจัยของภยันตราย มีรูปเป็นต้นเหตุ เราไม่มีความต้องการในรูปแล้วละรูปนิมิตกสิณ
นั้นถืออากาศเป็นอารมณ์จนวงอากาศเกิดเป็นนิมิตที่มีขอบเขตกว้างใหญ่ แล้วย่อให้สั้นลงมา
อธิษฐานให้เล็กใหญ่ได้ตามประสงค์ ทรงจิตรักษาอากาศไว้โดยกำหนดใจว่า อากาศหาที่สุด
มิได้ดังนี้จนจิตเป็นอุเบกขารมณ์ เป็นฌาน ๔ ในอรูปฌาน
.
อรูป ๔ (1/0)
คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน ----> หน้า 59
๒. วิญญาณัญจายตนะ
อรูปนี้กำหนดวิญญาณเป็นอารมณ์ โดยจับอากาสานัญจายตนะ คือกำหนด
อากาศจากอรูปเดิมเป็นปัจจัย ถือนิมิตอากาศนั้นเป็นฐานที่ตั้งของอารมณ์ แล้วกำหนด
ว่า อากาศนี้ยังเป็นนิมิตที่อาศัยรูปอยู่ ถึงแม้จะเป็นอรูปก็ตามแต่ยังมีความหยาบอยู่มาก
เราจะทิ้งอากาศเสีย ถือเฉพาะวิญญาณเป็นอารมณ์ แล้วกำหนดจิตว่า วิญญาณหาที่สุด
มิได้ ทิ้งอากาศและรูปทั้งหมดเด็ดขาดกำหนดวิญญาณ คือถือวิญญาณ ตัวรู้เป็นเสมือน
จิต โดยคิดว่าเราต้องการจิตเท่านั้นรูปกายอย่างอื่นไม่ต้องการจนจิตตั้งอยู่เป็นอุเบกขา-
รมณ์
๓. อากิญจัญญายตนะ
อรูปนี้กำหนดความไม่มีอะไรเลยเป็นสำคัญ โดยเข้าฌาน ๔ ในวิญญาณ
แล้วเพิกวิญญาณคือ ไม่ต้องการวิญญาณนั้น คิดว่าไม่มีอะไรเลยเป็นสำคัญ อากาศ
ก็ไม่มีวิญญาณก็ไม่มี ถ้ายังมีอะไรสักอย่างหนึ่งแม้แต่น้อยหนึ่ง ก็เป็นเหตุของภยัน-
ตราย ฉะนั้นการไม่มีอะไรเลยเป็นการปลอดภัยที่สุดแล้วก็กำหนดจิตไม่ยึดถืออะไร
ทั้งหมดจนจิตตั้งเป็นอุเบกขารมณ์ เป็นจบอรูปนี้
๔. เนวสัญญานาสัญญายตนะ
เนวสัญญานาสัญญายตนะนี้ กำหนดว่ามีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ คือ
ทำความรู้สึกตัวเสมอว่า ทั้งมีสัญญาอยู่นี้ก็ทำความรู้สึกเหมือนไม่มีสัญญา คือไม่ยอม
รับรู้จดจำอะไรหมด ทำตัวเสมือนหุ่นที่ไร้วิญญาณ ไม่รับรู้ ไม่รับอารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น
หนาวก็รู้ว่าหนาวแต่ไม่เอาเรื่อง ร้อนก็รู้ว่าร้อนแต่ไม่ดิ้นรนกระวนกระวาย มีชีวิตทำ
เสมือนคนตาย คือไม่ปรารภสัญญาคำจดจำใดๆ ปล่อยตามเรื่องเปลื้องความสนใจ
ใด ๆ ออกจนสิ้น จนจิตเป็นเอกัคคตาและอุเบกขารมณ์
เป็นจบเรื่องอรูปกันเสียทีเป็นอันว่าเขียนไว้คร่าวๆ ไม่รับรองผิดถูกเพราะปฏิบัติ
ไม่ได้ก็ไม่ยอมรับรอง เรื่องกรรมฐานนี้เดาไม่ได้ ขืนเดาก็เละหมด สมัยเป็นนักเทศน์
เคยถูกท่านอาจารย์ไล่เบี้ยอารมณ์กรรมฐานเสียงอม เดาท่านก็ไม่ยอม ท่านให้ตอบ
ตามอารมณ์จริง ๆ ผิดนิดท่านให้ตอบใหม่ ท่านทรมานเอาแย่ แต่ก็ขอบคุณท่าน ถ้า
ท่านไม่ทำอย่างนั้น ก็คงไม่สนใจอะไรเลย เพราะกลัวขายหน้าคนฟังเทศน์ ที่ไหน
บกพร่องก็รีบซ่อม ถึงอย่างนั้น พอเจออภิญญากับสมาบัติเข้าคราวไร เป็นยกธงขาว
หราทุกที
(ขอยุติอรูป ๔ ไว้เพียงเท่านี้)
อาหาเรปฏิกูลสัญญา (1/0)
คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน ----> หน้า 60
อาหาเรปฏิกูลสัญญา
อาหาเรปฏิกูลสัญญา แปลว่า พิจารณาอาหารให้เป็นของน่าเกลียด อาหารถือ
เป็นสิ่งสำคัญในการดำรงชีวิตก็จริง แต่ทว่าอาหารนี้เป็นภัยแก่นักนิยมบำเพ็ญความเพียร
เพื่อเผาผลาญกิเลสให้เร่าร้อนไม่น้อยเหมือนกัน ถ้าจะพูดกันให้ตรงแล้ว อาหารนั้นไม่เป็น
ภัยเลย แต่ความรู้สึกของคนเองสร้างความเป็นภัยให้เกิดแก่ตัวทราบกันอยู่เป็นปกติแล้วว่า
สัตว์ทุกประเภทต้องการอาหาร แต่ความต้องการอาหารของร่างกายนี้ ร่างกายต้องการเพียง
ยังอัตภาพให้เป็นอยู่ชั่วคราว ร่างกายมิได้มีความต้องการสีสันของอาหาร มิได้ต้องการรส
เลิศของอาหาร ร่างกายไม่เคยบัญชาว่าต้องการอาหารที่มีราคาแพงไม่เคยบอกว่าอาหาร
ที่ทำด้วยสัตว์ตายเองมีรสไม่อร่อย และอะไรอีกนับไม่ไหวที่มวลหมู่นักกินทั้งหลายต้องการ
ล้วนแล้วแต่เสกสรรเพื่อความเร่าร้อนด้วยการกินทั้งสิ้น มีไม่น้อยรายที่ต้องยากจนเพราะ
เรื่องกินที่เกินพอเหมาะพอดี หลายรายที่ต้องตายเพราะการกินที่เกินพอเหมาะพอดี เรื่อง
อาหาร ความจริงแล้วไม่มีอะไรน่าหนักใจเลยที่หนักหนักในการแสวงหาอาหารมาบำรุง
บำเรอเพื่อความเหมาะสมด้วยสีของอาหาร รสของอาหาร ประเภทของอาหาร และสถานที่
ทำอาหารจนต้องล้มละลายตายจากกันและยากจนเข็ญใจเพราะอาหารความสลายตัวและ
ความเร่าร้อนทั้งหลายเหล่านี้ เกิดจากอำนาจของกิเลสและตัณหาที่สิงใจอยู่นั่นเอง กิเลส
คอยบัญชาการให้เกิดความต้องการ ล่อลวงให้ล้มละลายจากความดี สร้างความทุกข์ให้
เกิดด้วยการยั่วเย้ายุแหย่ให้เกิดความพอใจในอาหารที่เกินควรอาหารนั้นจะเป็นอาหาร
ประเภทใดก็ตามอาหารราคาถูกหรือราคาแพงก็เป็นอาหารที่กินแล้วหิวใหม่ทั้งสิ้น อาหาร
จานละหนึ่งบาท หรืออาหารจานละหนึ่งร้อย หรือหลายแสนบาท กินแล้วก็กลับหิวใหม่
เหมือนกัน ไม่มีอะไรวิเศษกว่ากันความที่ไม่รู้จักความพอดีในการอาหาร เป็นการถ่วง
ความดีทั้งในการทรงความเป็นอยู่ในด้านฐานะและทั้งความเป็นผู้รู้เท่าถึงการณ์ คนเลือก
ในอาหารเกินพอดี เป็นคนไร้ความดี คนที่รู้จักบริโภคอาหารตามความพอเหมาะพอดี
เป็นคนดีที่รู้เท่าถึงการณ์ เรื่องการกินของชาวโลกที่เสกสรรกินเพราะกิเลสตัณหาสนับ
สนุน และเจ้าตัวเองก็ยังมัวเมาอยู่ จะขอยกไว้ไม่นำมากล่าว
คนที่ควรจะพูดกันได้ก็คือคนประเภท พระโยคาวจร คำว่า โยคาวจรหมายถึงท่านที่
เริ่มเจริญสมถกรรมฐาน และเจริญวิปัสสนากรรมฐานท่านเรียกว่า พระ หมายถึง เริ่ม
เข้าถึงความเป็นผู้ประเสริฐ โยคาวจร แปลว่า ผู้มีความประพฤติที่ประกอบด้วย
ความเพียร รวมความแล้วได้ความว่า ท่านผู้มีความประพฤติประกอบความเพียรเพื่อให้
ถึงความเป็นผู้ประเสริฐ ท่านที่เริ่มกรรมฐานท่านเรียกว่า พระ ดูเหมือนจะได้เปรียบกว่า
พวกพระที่บวชท่านเรียกว่า สมมติสงฆ์ ท่านยังไม่ยอมเรียกว่า พระ เพราะเพียงแต่เอา
ตัวมาเข้าพวกยังไม่เอาใจมาเข้าเป็นพวก ต่อเมื่อเริ่มปฏิบัติกรรมฐานนั้นแหละ ท่านจึง
เรียกว่า พระโยคาวจร ต่อเมื่อได้สำเร็จมรรคผล จึงยอมรับถือว่าเป็น พระแท้ พระโย-
คาวจร หมายถึง การฝึกเพื่อความเป็นพระแท้ แต่ก็เริ่มเป็นพระจากเล็กน้อยไปหา
มาก จนเป็นพระเต็มตัว คำว่าพระโยคาวจรนี้ ท่านเรียกทั้งท่านที่บวชเป็นพระและ
อุบาสกอุบาสิกาที่เริ่มทำความเพียรเพื่อเผาผลาญกิเลสด้วยการเจริญพระกรรม-
ฐาน ท่านพวกนี้เท่านั้นควรที่จะพูดกันเรื่องอาหารในที่นี้
พิจารณาอาหาร
นักปฏิบัติต้องเว้นจากอาหารที่เป็นโทษทางร่างกายทุกชนิด อาหารทุกประเภทที่บริโภค
แล้วเป็นโทษเป็นพิษแก่ร่างกาย พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้จำและเว้นอย่างเด็ดขาด เพราะ
การเจริญสมาธิหรือวิปัสสนา ถ้าสุขภาพไม่ปกติ โดยเฉพาะถ้ามีอาการไม่ปกติทางท้องแล้ว
การเจริญสมาธิหรือพิจารณาวิปัสสนาญาณจะไร้ผล เพราะอาการวิปริตทางอุทรเป็น
สมุฏฐาน ฉะนั้น อาหารประเภทใดที่เคยบริโภคแล้วทำให้ไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ท่าน
ให้เว้นเด็ดขาดไม่ควรเกรงใจผู้ให้ การเกรงใจจนตนเองเป็นโทษ เป็นการเกรงใจที่ไม่พอ
เหมาะพอดี
อาหารที่ยั่วราคะ คือเมื่อกินเข้าไปแล้วเป็นเหตุให้เกิดอารมณ์ในกามารมณ์ ควร
เว้นเด็ดขาด
อาหารที่เป็นภัยแก่ชีวิตของผู้อื่น โดยการทำด้วยการเจาะจงให้ เมื่อรู้แล้วไม่ควร
บริโภค ไม่ควรเกรงใจผู้ให้ เพราะจะเป็นไปเพื่อสนับสนุนให้เขาทำบาปมากขึ้น
ก่อนบริโภคอาหารทุกครั้ง ควรพิจารณาอาหารก่อนว่า
๑. จะบริโภคเพื่อความเป็นอยู่
ท่านสอนว่า ควรคิดว่า เราจะบริโภคอาหารเพื่อความเป็นอยู่ของร่างกาย เพราะร่างกาย
ต้องการอาหาร เรายังต้องอาศัยร่างกายประกอบความดี เราจะกินเพื่อให้ร่างกายมีกำลังเท่านั้น
เราไม่กินเพื่อความผ่องใสของผิวพรรณ เพื่อเป็นการยั่วเย้ากิเลสให้เกิดเพราะความผ่องใสนั้น
เราจะไม่สรรหาอาหารที่ไม่จำเป็น เพราะรสในอาหาร เพราะสีสันในอาหาร หรือเพราะความ
โอ้อวดในการบริโภคอาหาร คือ กินอวดชาวบ้านว่า ฉันมีอาหารที่หาได้ยากมากินดังนี้เป็นต้น
๒. พิจารณาให้เห็นว่าปฏิกูล
ก่อนบริโภคท่านให้พิจารณาว่าอาหารนี้จะทำด้วยฝีมือของใครก็ตามที่นิยมว่ารสเลิศ
หรือเป็นอาหารมีราคาสูง อาหารนี้มีความสำคัญเสมอกันอย่างหนึ่งคือ มีพื้นเพเป็นของสกปรก
มาในกาลก่อน เพราะอาหารที่เป็นพืช ย่อมสกปรกมาตั้งแต่ก่อกำเนิดของพืช โสโครกเพราะ
อาหารของพืชที่เจือด้วยของโสโครก เช่น ปุ๋ยจากอุจจาระของสัตว์และมนุษย์และปุ๋ยอินทรีย์
ที่ทำด้วยมูลขยะที่เต็มไปด้วยของสกปรก และสกปรกด้วยการทอดทิ้งไว้ในที่สาธารณะมีที่
วางไม่เลือกที่ของผู้ขาย พืชมีความโสโครกดังนี้
อาหารที่เป็นเนื้อสัตว์ สัตว์ประเภทนั้นต้องมีเลือด คาว น้ำเหลือง น้ำหนอง อุจจาระ
ปัสสาวะ เป็นสิ่งที่มนุษย์เกลียดชังว่าเป็นของสกปรกโสโครกเมื่อบริโภคเข้าไปแล้วไม่ว่า
จะเป็นเนื้อที่นิยมกันว่าประเสริฐเพียงใด ในที่สุดผู้บริโภคที่เลือกแต่อาหารชั้นเลิศต่างก็
ต้องบริโภคใหม่ เพราะไม่อิ่มตลอดกาล และก็ถ่ายเทกากอาหารออกมาเป็นสิ่งโสโครก
แล้วกากเหล่านั้นก็ไปเป็นอาหารของสัตว์และพืช รวมความแล้ว อาหารที่เรากินทั้งมวล
เป็นอาหารสกปรก ไม่ใช่ของเลิศประเสริฐตามที่คิด
ท่านสอนให้พิจารณาว่า โสโครกตามความเป็นจริง จากการเกิดของพืชและสัตว์
ต่อมาให้พิจารณาให้เห็นว่า โสโครกในเมื่อเข้าไปรวมกันในปาก โดยท่านให้ข้อคิดว่า
อาหารที่จัดสรรว่าเลิศราคาแพงคนปรุงจะมาจากโลกไหนก็ตามเมื่อเอาอาหารมารวม
กันแล้วทำเป็นคำเพื่อบริโภคพอเอาอาหารที่สรรแล้วใส่ปากแล้วก็คายออกมาเราไม่กล้า
ที่จะเอาอาหารนั้นใส่เข้าไปในปากใหม่ เพราะรังเกียจว่าเป็นของโสโครก
อีกนัยหนึ่งท่านให้พิจารณาว่า อาหารที่บริโภคนี้ห้ามความตายไม่ได้ คนที่มีอาหาร
เลิศ เช่น พระราชา พระเจ้าจักรพรรดิ์ที่ครองโลกหรือมหาเศรษฐีท่านใดก็ตามท่านทั้งหมด
นี้ล้วนแต่มีอาหารเลิศที่มวลมนุษย์ที่มีฐานะปานกลางไม่สามารถจะหามาบริโภคได้ท่าน
เหล่านั้นมีอาหารดีเพียงใดท่านก็ตายนับไม่ถ้วนแล้วชื่อว่าอาหารที่เลิศห้ามความตายไม่ได้
อาหารเลิศห้ามความเสื่อมไม่ได้ อาหารชั้นเลิศที่ท่านดังกล่าวมาแล้ว บริโภค
ห้ามมิให้ท่านแก่ คือ เป็นคนหนุ่มสาวตลอดกาล หรือห้ามมิให้เจ็บไข้ได้ป่วยไม่ได้ ท่าน
เหล่านั้นท่านมีอาหารเลิศ แต่ท่านก็ต้องเป็นคนแก่ เป็นคนมีโรค มีทุกข์ทั้งทางร่างกาย
และจิตใจ
รวมความว่าอาหารนั้นห้ามอนิจจังความเที่ยงไม่ได้จะกินอย่างไรก็ต้องเป็นผู้ไม่เที่ยง
ตลอดเวลา
อาหารห้ามความทุกข์ไม่ได้ กินดีเท่าไร ก็ยังมีทุกข์เป็นธรรมดา ต้องป่วย ต้องแก่
หูหนัก ตามืด ร่างกายอ่อนแอ เหมือนกับคนที่บริโภคอาหารตามปกติ คือ อาหารที่ไม่ผิด
ศีลธรรมและเป็นอาหารที่มีราคาไม่แพง
อาหารห้ามอนัตตาไม่ได้ ความทุกข์เป็นอนัตตาของผู้แสวงหาความสุขเมื่อคนทุกคน
ต้องการแต่ความสุข เมื่อความต้องการทุกข์ไม่มี ไม่ว่าใครทำทุกอย่างเพื่อความไม่มีทุกข์
แต่ทุกคนก็ต้องมีทุกข์ ทั้ง ๆ ที่ตนไม่ปรารถนา ฉะนั้น ทุกข์จึงเป็นอนัตตาของผู้แสวงสุข
เพราะบังคับไม่ให้ทุกข์เกิดไม่ได้ในที่สุดก็ต้องสลายกันจนสิ้นซากแม้แต่กระดูกก็ไม่เหลือ
ไว้เป็นพยาน เขาเหล่านั้นมีอาหารเป็นที่พึ่งทั้งนั้นแต่อาหารก็ห้ามอนัตตาไม่ได้ รวมความ
ว่าอาหารไม่ใช่เครื่องจรรโลงชีวิตให้อยู่ตลอดกาลอาหารเป็นเพียงเครื่องค้ำจุนชั่วคราวท่าน
จึงสอนไม่ให้เลือกอาหาร เพราะติดในรส สี และฝีมือ สถานที่อันเป็นการมัวเมาในอาหาร
ที่เกินควรเพราะเป็นการส่งเสริมกิเลสเกินพอดี
อาหารพระอริยะ
พระอริยะตัวอย่างขอยกเอาพระพุทธเจ้าซึ่งพระองค์ทรงเป็นผู้ประกาศพระศาสนา
มาพูดให้ทราบ สมัยหนึ่งในหลายสิบสมัย พระองค์ทรงเดินทางร่วมกับพระอานนท์ไป
บิณฑบาตทรงพบนางบุญทาสีในระหว่างทางนางบุญเป็นคนจนเป็นทาสของเศรษฐี
นางเห็นพระพุทธเจ้านางก็ดีใจ คิดว่า วันก่อน ๆ เราเห็นพระอยากจะทำบุญ แต่เรา
ก็ไม่มีของ บางวันเรามีของ เราก็ไม่พบพระวันนี้โชคดี เรามีแป้งจี่ผสมรำห่อพกมา
เพื่อบริโภค เราพบพระพอดี เป็นอันว่าเรามีของและพบพระพร้อมกัน เราจะทำบุญ
ให้สมใจนึก นางจึงเอาแป้งจี่เข้าไปถวายพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงรับแป้งจี่จากนาง
แล้วนั่งฉันข้างทางนั่นเอง เป็นเหตุให้นางเลื่อมใส พอพระองค์อนุโมทนา นางก็ได้
สำเร็จพระโสดาบัน
.
อาหาเรปฏิกูลสัญญา(ต่อ) (1/0)
คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน ----> หน้า 61
พระรัฐบาลฉันอาหารทิ้ง
พระรัฐบาลเป็นพุทธสาวก เป็นพระอรหันต์ ท่านไปเยี่ยมบ้านไม่มีใครจำท่านได้ ไม่มี
ใครเขาใส่บาตร ท่านยืนอยู่ใกล้บ้าน บังเอิญหญิงสาวใช้เอาอาหารเหลือบริโภคออกมาเท
นอกบ้านท่านเห็นเข้าท่านจึงพูดว่าดูก่อนน้องหญิงถ้าของนั้นเป็นของที่ทิ้งแล้วขอน้องหญิง
จงเทลงในบาตรของเรา เมื่อนางเทของลงในบาตร ท่านก็นั่งฉันตรงนั้น
เรื่องอาหารนี้ ดูแล้วจะเห็นว่าพระอริยะแม้แต่พระพุทธเจ้าท่านไม่พิถีพิถันอะไรนัก
นอกจากอาหารที่เป็นโทษ เช่น อาหารที่เขาบอกว่าจะแกงปลา แกงไก่ แกงสัตว์อะไรก็
ตามที่เจ้าภาพบอกชื่อก่อนถวาย อาหารประเภทนี้ท่านไม่รับ เพราะเป็นโทษทางก่อให้
เกิดกิเลสและตัณหาและอาหารที่เกินพอดี เช่น เนื้อมนุษย์ เนื้อเสือ เป็นต้น ท่านเว้นเด็ด
ขาด เพราะมีรสดีเกินไปทำให้ก่อกิเลสและตัณหา นอกนั้นไม่เป็นโทษต่อร่างกายไม่ผิด
ธรรมวินัย ท่านฉันเพื่อยังอัตภาพให้เป็นไปไม่ฉันเพื่อยั่วกิเลสและตัณหา ไม่ฉันเพื่อรส
และเพื่อสีสันวรรณะของอาหารไม่ติดร้านหรือผู้ปรุงรวมความแล้วท่านสอนให้บริโภคอาหาร
เพื่ออยู่ไม่ให้เมาในรสในสีและให้พิจารณาให้เห็นว่าเป็นของโสโครกไม่ใช่ของวิเศษที่
สร้างผู้บริโภคเป็นผู้วิเศษถ้ากินดีโดยการพิจารณาก็มีผลเป็นญาณและได้มรรคผลเพราะ
อาหาร ถ้ากินด้วยความมัวเมาในรส ในสี ในคนปรุง ก็มีทุกข์เพราะอาหารขอนักปฏิบัติ
จงสังวรณ์ในเรื่องบริโภคให้มากถ้าท่านปลงอาหารตกไม่เมาในรสอาหารท่านมีหวังเห็น
ฝั่งพระนิพพานในอนาคตอันไม่ไกลนักเพราะผู้ที่ไม่เมาในรสอาหาร ก็เป็นผู้ไม่เมาในชีวิต
ผู้ไม่เมาชีวิตก็เป็นคนเห็นไตรลักษณะคือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คนเห็นพระไตรลักษณะ
ก็เป็นผู้เห็นอริยสัจคนเห็นอริยสัจก็เป็นผู้ถึงความเป็นพระอริยะ ท่านที่เป็นพระอริยะก็เป็น
ผู้เข้าถึงพระนิพพาน ขอท่านที่เจริญกรรมฐานข้อว่าอาหาเรปฏิกูลสัญญานี้ จงตั้งใจปฏิบัติ
ด้วยดีโดยเอาชีวิตเป็นเดิมพันคือยอมตายดีกว่าที่จะมีจิตใจติดในรสอาหารเท่านี้ความหวัง
ของท่านก็ได้รับผลตามที่ตั้งใจทุกประการ
(ขอยุติอาหาเรปฏิกูลสัญญาไว้เพียงเท่านี้)
จตุธาตววัตถาน ๔ (1/0)
คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน ----> หน้า 62
จตุธาตววัตถาน ๔
จตุธาตววัตถาน แปลว่า ธาตุ ๔ คือ ธาตุดิน ๑ ธาตุน้ำ ๑ ธาตุลม ๑ ธาตุไฟ ๑
ธาตุ ๔ นี้ เป็นโครงร่าง เป็นที่อาศัยของ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ และจิต
ที่มีอำนาจบัญชาการในความคิดต่างๆ ความคิดอ่านต่าง ๆ เป็นเรื่องของจิต ความรับรู้
ที่เรียกว่ารู้สึกว่า หนาว ร้อน หิว กระหาย เปรี้ยว เค็ม หวาน เผ็ด รู้การสัมผัสว่า
อ่อนแข็งนิ่ม อย่างนี้เป็นต้น เป็นความรู้สึกของวิญญาณที่ได้รับบัญชามาจากจิต
โดยจิตบัญชาว่าอย่างนั้นเป็นอะไร วิญญาณก็รับทราบตามนั้นความจดจำเรื่องราวต่างๆ
เป็นหน้าที่ของสัญญา รวมความแล้วธาตุ ๔ ที่เป็นเรือนร่างอาศัย ไม่มีความรับรู้อะไร
เลยมีสภาพเหมือนบ้านเรือนที่มีคนอาศัย บ้านจะสวย หรือจะผุพัง บ้านเรือนไม่มีทุกข์แต่
เจ้าของบ้านคือคนที่อาศัยอยู่ในบ้านนั่นเองเป็นผู้ทุกข์ ธาตุ ๔ ที่เป็นเรือนร่างของจิตและ
อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วก็เช่นเดียวกัน ความรู้สึกสุขทุกข์ร่างกายที่สร้างด้วยธาตุ ๔
ไม่รู้เรื่องเลย ดังเราจะเห็นว่า เมื่อจิตไม่รับรู้อาการของทางกายบางขณะ เช่นว่าหลับหรือ
มีความเพลิดเพลินอย่างใดอย่างหนึ่ง ร่างกายไม่ยอมรับรู้ทุกข์ เช่นนอนหลับ จิตสงบจาก
อารมณ์ภายนอก ตอนนั้นจิตไม่รับรู้เรื่องใด ๆ ใครจะมาด่า นินทาให้ได้ยิน แม้จะพูดจน
ใกล้ ร่างกายก็เฉยไม่รับรู้รับทราบหรือเมื่อจิตออกจากร่าง คือ ตาย ใครจะทำอะไร จะด่า
เอามีดมาฟัน จะเอาไฟมาเผา กายไม่รู้เรื่องปล่อยทำตามอารมณ์ ความสุขความทุกข์ที่
ปรากฏ เป็นอาการของจิต พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ทราบเรื่องของร่างกายก็เพราะจะได้
ทราบตามความ เป็นจริง จะได้ไม่หลงผิดอันเป็นการมัวเมาในร่างกายเกินควร และเป็น
เหตุให้ถอนความรู้สึกว่าเป็นเรา เป็นของเราได้ง่าย ร่างกายอันเกิดจากธาตุ ๔ นี้
มีอธิบายดังต่อไปนี้
๑. ปฐวีธาตุ ธาตุดิน ธาตุดินที่มีในร่างกายนั้น ก็คือของแข็งที่เป็นก้อนเป็นแท่ง
ในเรือนร่าง เช่น กระดูก เนื้อ ลำไส้ และอวัยวะทั้งหมดที่มีเนื้อ เส้นเอ็น รวมความว่า สิ่ง
ที่เป็นก้อนเป็นแท่ง ในร่างกายจัดว่าเป็น ธาตุดิน ทั้งหมด
๒. เตโชธาตุ ธาตุไฟ ได้แก่ความอบอุ่นที่ปรากฏภายในเรือนร่าง ท่านเรียกว่า
ธาตุไฟ
๓. วาโยธาตุ ธาตุลม ได้แก่สิ่งที่พัดไปมาในร่างกายมีลมหายใจเป็นต้น เรียกว่า
ธาตุลม
๔. อาโปธาตุ ธาตุน้ำ สิ่งที่เอิบอาบ ไหลไปมาในร่างกาย มีน้ำเลือด น้ำเหลือง
น้ำหนองเสลด น้ำลาย ปัสสาวะ เป็นต้น เรียกว่า ธาตุน้ำ
พระพุทธเจ้าทรงสอนให้รู้เท่าทันตามความเป็นจริงว่า เรือนร่างของเรานี้เป็นธาตุ
๔ ประชุมกันขึ้น เป็นเรือนร่างชั่วคราว เป็นของไม่จีรังยั่งยืน มีเสื่อมและสลายตัวในที่สุด
ไม่มีอะไรสะอาดน่ารัก น่าชม เป็นของน่าเกลียดโสโครก เป็นแดนรับทุกข์ เพราะจิตหลง
ผิดยึดเรือนร่างว่า เป็นเรา เป็นของเราคิดว่าร่างกายจะทรงความเจริญตลอดกาลตลอด
สมัย คิดว่าจะไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย หลงว่าสวยสดงดงามใน มหาสติปัฏฐาน ท่านสอน
ให้แยกร่างกายออกเป็น ๔ ส่วน โดยให้พิจารณาโคที่ถูกนายโคฆาตคือคนฆ่าโค ฆ่าตาย
แล้วให้เอาเนื้อกระดูกและไส้พุงตับไตไปกองไว้ส่วนหนึ่ง เลือด น้ำเหลืองน้ำหนองส่วนหนึ่ง
แล้วพิจารณาว่ามีอะไรบ้างที่พอจะเห็นว่าสวยสดงดงาม พิจารณาแล้วจะเห็นว่าไม่มีอะไร
สวยเลยแล้ว ท่านให้พิจารณาตัวเองเช่นเดียวกับโคที่ถูกฆ่านั้น ให้เห็นว่าร่างกายเราก็ดี
ใครก็ตามที่เราเห็นว่าเป็นเรือนร่างที่สวยสดงดงาม น่ารักน่าชม ให้พิจารณาหาความจริง
ว่า ในเมื่อร่างนี้เป็นเพียงธาตุ ๔ ผสมตัวกันชั่วคราว มีเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง ที่หลั่งไหล
อยู่ภายในตลอดร่างจะมีอะไรสวยงามจงพิจารณาหาความจริงตามนี้ จนอารมณ์จิตมีความ
รู้สึกเป็นปกติว่า ร่างแต่ละร่างเป็นธาตุที่รวมตัวกันเลอะเทอะด้วยของโสโครกน่าเกลียด
ไม่น่ารักเลย นอกจากน่าเกลียดแล้ว ยังไม่มีอะไรจีรังยั่งยืน มีการก่อตัวขึ้นแล้วยังเป็นรัง
ที่อาศัยของโรคภัยไข้เจ็บมีโรครบกวนเป็นปกติ หาความสุขสบายแม้แต่นิดหนึ่งไม่มีเลย
ร่างนี้ยังต้องบริหารด้วยการออกกำลังกาย การบำรุงรักษาอาหารมาบำรุงบำเรอ ต้องบริหาร
ด้วยอาการต่าง ๆ เป็นปกติ ถึงกระนั้นจะทำให้สิ้นทุกข์หาได้ไม่ เพียงแต่ระงับทุกข์ชั่วคราว
เท่านั้น แล้วในที่สุดความเสื่อมโทรมของธาตุ ๔ ก็จะค่อยทวีตัวมากขึ้นในที่สุดธาตุ ๔ ก็
ค่อย ๆ คลายตัวจากความเข้มแข็งเป็นอ่อนสลวยและสิ้นกำลังในที่สุด เป็นจุดดับที่พระ-
พุทธเจ้าตรัสว่า เป็นอนัตตา คือบังคับไม่ให้ดับสลาย ไม่ได้ท่านสอนให้พิจารณาให้รู้ ให้
เข้าใจจนจิตมีความรู้สึกเป็นอารมณ์ประจำตามที่ท่านเรียกตามแบบว่า เป็นเอกัคคตา-
รมณ์ คืออารมณ์เห็นอย่างนั้นเป็นปกติจนหมดความเมาในเรือนร่างหมดความเมาใน
ความเป็นอยู่รู้อยู่เสมอว่าเราต้องตาย ธาตุที่รวมตัวนี้ต้องสลาย และสลายตัวอยู่เป็นปกติ
ทุกวันเวลาที่เคลื่อนไป ตัดความห่วงอาลัยในธาตุที่ประชุมเป็นเรือนร่างเสีย เห็นเป็น
อนัตตาเป็นปกติ คิดรู้อยู่เสมอโดยมีความคิดเป็นปกติว่า ร่างสิ้นไป เราคือจิตจะอาศัย
ร่างชั่วคราวเมื่อสิ้นร่างเราก็ไม่ยึดแดนใดเป็นที่เกิดต่อไป เพราะการเกิดเป็นการแสวง
หาความทุกข์ ถ้าไม่เกิดก็ไม่มีทุกข์แดนที่เรียกว่าไม่เกิดคือแดนพระนิพพาน พระนิพ-
พานที่จะไปถึงได้ก็อาศัยความไม่ยึดถือร่างกายที่ประกอบด้วยธาตุ ๔ นี้ว่า เป็นเรา เป็น
ของเรามีความเห็นว่ากายสลายตัวในที่สุด จนตัดความรักความพอใจในโลกเสียได้ บัดนี้
เราเห็นแล้วว่า ร่างกายและโลกทั้งโลกเป็นแดนทุกข์ เราตัดความยึดมั่นได้แล้ว เราตัด
ตัณหา คือความปรารถนาในความเกิดต่อไปแล้ว เราตัดความยึดถือในสรรพวัตถุที่เป็น
เหตุของทุกข์ได้แล้วความสิ้นเชื้อในความเกิดได้มีแล้ว เราสิ้นรักด้วยอำนาจราคะที่เป็น
เชื้อให้เกิดแล้ว เราตัดพยาบาท อันเป็นปัจจัยให้วนเวียนในวัฏฏะได้แล้วเราตัดความหลง
ผิดที่เห็นว่าร่างกายเป็นเราได้แล้วเพราะทราบว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ของเราคิดอย่างนี้จนเป็น
อารมณ์ จนจิตมีความรู้สึกตัดความคิดว่าโลกเป็นสุขเห็นโลกเต็มไปด้วยความทุกข์ได้แล้ว
ก็ชื่อว่าท่านชนะตัณหาได้แล้วท่านจบกิจในพรหมจรรย์แล้ว ท่านไม่ต้องเกิดต่อไปท่านมี
พระนิพพานเป็นที่ไปในที่สุดชื่อว่าท่านหมดทุกข์สมความปรารถนาแล้ว การพิจารณา
อย่างนี้ เรียกว่าพิจารณาทั้งสมถะและวิปัสสนาร่วมกัน
(จบจตุธาตววัตถาน ๔ เพียงเท่านี้)
จบสมถกรรมฐาน ๔๐ ทัศเพียงเท่านี้
.
วิปัสสนาญาณ (1/0)
คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน ----> หน้า 63
วิปัสสนาญาณ
ได้อธิบายกรรมฐานที่เป็นส่วนของ สมถภาวนา อันเป็นบทบาทของจิตเพื่อพิจารณา
วิปัสสนา มาครบถ้วนทั้ง ๔๐ กองแล้ว และการอธิบายใน สมถกรรมฐานนั้นได้สอด
แทรกวิปัสสนาญาณไว้ทุกกอง ทั้งนี้ก็เพื่อให้อารมณ์นักปฏิบัติค่อย ๆ ชินต่ออารมณ์
วิปัสสนาญาณมาทีละน้อย ๆ ด้วย เมื่อปฏิบัติมาเอง ตามความรู้สึกของตนเองคิดว่า
คนอย่างเราจะมีหวังมรรคผลได้อย่างไร เพราะตามความรู้สึกตนเองนั้นรู้ตัวว่า โทสะ
โมหะ มีกำลังหนาแน่นเกินที่จะกำจัดในชาตินี้ให้สิ้นไปหรือแม้แต่ส่วนใดส่วนหนึ่งก็
ไม่อาจสามารถที่จะให้ลดน้อยลงได้ คิดว่าชาตินี้ ถ้าเราได้แม้เพียงปฐมฌาน เราพอใจ
แล้ว ด้วยสมัยที่เรียนนักธรรมพบหนังสือของท่านนักปราชญ์ใหญ่เล่มหนึ่ง ท่านอธิบาย
หลักธรรมไว้เยอะแยะ อ่านแล้วเห็นว่าท่านเป็นนักปราชญ์จริงๆ ท่านเขียนไว้ตอนหนึ่งว่า
สมัยนี้แม้ฌานโลกีย์ก็หาคนบรรลุได้ยาก ท่านอ้างเหตุผลว่า เพราะสมัยนี้ไม่มีพระอริยะ
เป็นครูสอน เมื่ออ่านแล้วเกิดความท้อใจ ได้เรียนกับหลวงพ่อปานว่า กระผมไม่ขอ
เรียนวิปัสสนาญาณ เพราะคิดว่าชาตินี้ไม่หวังที่จะได้มรรคผล ขอเรียนเฉพาะ
สมถะอย่างเดียว ด้วยต้องการแต่ฌาน ถ้าจะได้ฌานบ้างแม้เพียงปฐมฌานภายใน
ชีวิตนี้ก็พอใจ หลวงพ่อท่านฟังแล้วท่านก็ยิ้ม ท่านบอกว่าดีแล้ว ต้องการน้อยแต่ได้มาก
เป็นกำไร เธอต้องการอย่างนั้น ฉันจะสอนตามใจเธอต้องการแล้วท่านก็สอนว่า ก่อน
ภาวนาให้พิจารณาขันธ์ ๕ ให้เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ให้พิจารณาไปจน
เบื่อ เมื่อจิตจะซ่านท่านให้ภาวนา โดยกำหนดลมหายใจเข้าออกเป็นฐาน
ภาวนา เมื่อภาวนาจนสบายใจมีอารมณ์แจ่มใสเป็นสุข หรือเป็นอุเบกขาแล้ว
ท่านให้พิจารณาตาม ท่านสอนต่อไป ถ้าอารมณ์จะซ่านก็ให้ภาวนาใหม่ ทำ
อย่างนี้สลับกันเป็นลำดับไป เมื่อจะเดิน นั่ง ยืน นอน ท่านแนะว่าอย่าทำจิต
ให้คลาดจากการพิจารณาหรือภาวนาทุกอิริยาบท ทุกขณะลมหายใจเข้าออก
อย่าให้ว่างจากการพิจารณาหรือภาวนา จงคิดว่าชีวิตเราน้อยมีเวลาที่จะทำ
ความดีน้อยเหลือเกิน เมื่อโอกาสมี จงพยายามทำอย่าให้ขาดท่านอธิบายว่า
การพิจารณาก่อน จนจิตเห็นเหตุเห็นผลว่าการมีชีวิตอยู่ไม่มีอะไรเที่ยงเพราะ
ไม่เที่ยงจึงเป็นทุกข์ไม่ให้เกิด ไม่ให้มีไม่ได้ ท่านสอนอย่างนี้ ก็ทำตาม
เพราะท่านแนะนำว่า พิจารณาก่อนอย่างนี้ฌานเกิดง่าย และแจ่มใส ฌานที่เกิดจะไม่
เสื่อม ทำตามท่านไปเพราะความโง่ ไม่ทราบเลยว่าหลวงพ่อปานท่านสอนให้
พิจารณาวิปัสสนาญาณเสียเต็มที่ ดูเหมือนจะมากกว่าสมถะเสียอีก ผลที่ได้
ก็คือพอทราบได้สมถะวิปัสสนาก็ขึ้นมา ๘๐ เปอร์เซ็นต์ เวลาจับวิปัสสนาจริงๆ เกิดความ
รู้สึกว่าง่ายเหลือเกินกำหนดเวลาพิจารณาตามผลได้อย่างสบาย คำว่าพิจารณาตามผลนี้
ท่านอาจไม่เข้าใจขออธิบายสั้นๆ ว่าเป็นการพิจารณาให้ได้รับผลตามอารมณ์ของจิตเป็น
ขั้น ๆ คือ บังคับให้เป็นเอกัคคตารมณ์มีอารมณ์รู้สึกเป็นอย่างนั้นเป็นปกติ โดยไม่ต้อง
ระมัดระวังว่า จะแลบออกนอกทาง แม้หาเหตุมายั่ว หายามากิน เพื่อให้อารมณ์บางอย่าง
กำเริบ อารมณ์ก็เป็นปกติ ไม่ดิ้นรนหวั่นไหว อย่างนี้เรียกว่าพอใจได้ แต่ยังเอาตัวรอด
ไม่ได้ ต่อเมื่อไรเห็นว่า โลกไม่มีที่สุด หมดเอาดีต่อชาวโลก แต่มีอารมณ์สงเคราะห์และ
ปฏิบัติในปฏิปทาสงเคราะห์เป็นปกติ ชื่นใจเมื่อเห็นผู้ปฏิบัติดี เฉยเมื่อได้ลาภ เสียผลลาภ
เฉยเมื่อถูกนินทา มีอารมณ์คิดว่าเหมือนมีหอกมาเสียบใจ ในเมื่อได้ยินคำสรรเสริญ
สลดใจเมื่อมีคนมาบอกว่า จะแต่งตั้งยศให้ สบายใจเมื่อทราบว่าเขาจะเอายศคืน เมื่อมี
ทุกข์มาถึงสลดใจเมื่อความสุขเกิดจากอามิสบังเกิดขึ้นเพราะรู้สึกว่าเชื้อของทุกข์มาถึง
แล้วเห็นว่าโลกนี้ เทวโลก ไม่ใช่แดนของความสุข มีพระนิพพานเท่านั้นที่สิ้นทุกข์ เป็น
แดนเอกันตบรมสุข จิตมีความเหือดแห้งต่ออารมณ์ความรัก เนื่องด้วยกามคุณและความ
อยากได้สะสมทรัพย์สินเงินทอง ไม่มีความโกรธ ความพยาบาท หมดความอาลัยอาวรณ์
ในทุกสิ่งแม้แต่ร่างกายในเมื่อมันจะเป็นไป เท่านี้พอเอาตัวรอดได้แล้ว แม้จะไม่ถึงอรหันต์
ก็พอเอาตัวรอดได้ มีหวังพ้นอบายภูมิ
.
การเจริญวิปัสสนา (1/0)
คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน ----> หน้า 64
เริ่มเจริญวิปัสสนา
การเจริญวิปัสสนา ต้องเจริญเพื่อมรรคผล อย่างแบบคิดว่า พอเป็นอุปนิสัยเท่านั้น
การปฏิบัติแบบคิดว่าพอเป็นนิสัย ไม่ควรมีในหมู่พุทธศาสนิกชน เพราะเป็นการดูแคลน
พระพุทธศาสนาเกินไป พูดกันตรง ๆ ก็ว่า ไม่มีความเชื่อถือจริง และไม่ใช่นักปฏิบัติจริง
ปฏิบัติตามเขาพอได้ชื่อว่าฉันก็ปฏิบัติวิปัสสนาคนประเภทนี้แหละที่ทำให้พระพุทธศาสนา
เสื่อมโทรม เพราะทำไปไม่นานก็เลิกแล้วก็เอาความไม่จริงไม่จังของตนเองนี่แหละไป
โฆษณา บอกว่าฉันปฏิบัตินานแล้วไม่เห็นมีอะไรปรากฏเป็นการทำลายพระศาสนาโดยตรง
ฉะนั้น นักปฏิบัติแล้วควรตั้งใจจริงเพื่อมรรคผล ถ้ารู้ตัวว่าจะไม่เอาจริงก็อย่าเข้ามายุ่ง
ทำให้ศาสนาเสื่อมทรามเลย ต่อไปนี้จะพูดถึงนักปฏิบัติที่เอาจริง
ก่อนพิจารณาวิปัสสนา
ทุกครั้งที่จะเจริญวิปัสสนา ท่านให้เข้าฌานตามกำลังสมาธิที่ได้เสียก่อนเข้าฌาน
ให้ถึงที่สุดของสมาธิ ถ้าเป็นฌานที่ ๔ ได้ยิ่งดี ถ้าได้สมาธิ ๆ ไม่ถึงฌาน ๔ ก็ให้เข้าฌานจน
เต็มกำลังสมาธิที่ได้เมื่ออยู่ในฌานจนจิตสงัดดีแล้วค่อยๆ คลายสมาธิมาหยุดอยู่ที่อุปจารฌาน
แล้วพิจารณาวิปัสสนาญาณทีละขั้น อย่าละโมบโลภมาก ทำทีละขั้น ๆ นั้น จะเกิดเป็นอารมณ์
ประจำใจไม่หวั่นไหว เป็นเอกัคคตารมณ์ เป็นอารมณ์ที่ไม่กำเริบแล้ว จึงค่อยเลื่อนไปฌาน
ต่อไปเป็น ลำดับ ทุกฌานปฏิบัติอย่างเดียวกันทำอย่างนี้จะได้รับผลแน่นอน ผลที่ได้ต้องมีการ
ทดสอบจากอารมณ์จริงเสมอ อย่านึกคิดเอาเองว่าได้เมื่อยังไม่ผ่านการกระทบจริง ต้องผ่าน
การกระทบจริงก่อน ไม่กำเริบแล้วเป็นอันใช้ได้
ธรรมเครื่องบำรุงวิปัสสนาญาณ
นักเจริญวิปัสสนาญาณที่หวังผลจริง ไม่ใช่นักวิปัสสนาทำเพื่อโฆษณาตัวเองแล้ว
ท่านว่าต้องเป็นผู้ปรับปรุงบารมี ๑๐ ให้ครบถ้วนด้วย ถ้าบารมี ๑๐ ยังไม่ครบถ้วนเพียงใด
ผลในการเจริญวิปัสสนาญาณจะไม่มีผลสมบูรณ์ บารมี ๑๐ นั้นมีดังต่อไปนี้
๑. ทาน คือการให้ ต้องมีอารมณ์ใคร่ต่อการให้ทานเป็นปกติ ให้เพื่อ สงเคราะห์
ไม่ให้เพื่อผลตอบแทน ให้ไม่เลือกเพศ วัย ฐานะ และความสมบูรณ์ เต็มใจในการให้ทาน
เป็นปกติ ไม่มีอารมณ์ไหวหวั่นในการให้ทาน
๒. ศีล รักษาศีล ๕ เป็นปกติ ศีลไม่บกพร่อง และรักษาแบบอุกฤษฏ์ คือ ไม่ทำศีล
ให้ขาดหรือด่างพร้อยเอง ไม่ยุคนอื่นให้ละเมิดศีล ไม่ดีใจเมื่อคนอื่น ละเมิดศีลไม่ดีใจเมื่อ
คนอื่นละเมิดศีล
๓. เนกขัมมะ การถือบวช คือถือพรหมจรรย์ ถ้าเป็นนักบวช ก็ต้องถือ สิกขาบท
อย่างเคร่งครัดถ้าเป็นฆราวาส ต้องเคร่งครัดในการระงับอารมณ์ทีเป็นที่เป็นทางของนิวรณ์
๕ คือทรงฌานเป็นปกติ อย่างต่ำก็ก็ปฐมฌาน
๔. ปัญญา มีความคิดรู้เท่าทันสภาวะของกฎธรรมดา เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
เป็นปกติ
๕. วิริยะ มีความเพียรเป็นปกติ ไม่ท้อถอยในการปฏิบัติเพื่อมรรคผล
๖. ขันติ อดทนต่อความยากลำบาก ในการฝืนใจระงับอารมณ์ที่ไม่ถูกใจ อดกลั้น
ไม่หวั่นไหว จนมีอารมณ์อดกลั้นเป็นปกติ ไม่หนักใจเมื่อต้องอดทน
๗. สัจจะ มีความจริงใจ ไม่ละทิ้งกิจการงานในการปฏิบัติความดีเพื่อมรรคผล
๘. อธิษฐาน ความตั้งใจ ความตั้งใจใด ๆ ที่ตั้งใจไว้ เช่น สมัยที่สมเด็จพระผู้มี
พระภาคเจ้าพระองค์เข้าไปนั่งที่โคนต้นโพธิ์ พระองค์ทรง อธิษฐานว่า ถ้าเราไม่ได้สำเร็จ
พระโพธิญาณเพียงใดเราจะไม่ยอมลุกจากที่นี้ แม้เนื้อและเลือดจะเหือดแห้งไปหรือชีวิต
จะตักษัย คือสิ้นลมปราณก็ตามทีพระองค์ทรงอธิษฐานเอาชีวิตเข้าแลกแล้วพระองค์ก็ทรง
บรรลุในคืนนั้น การปฏิบัติต้องมีความมั่นใจอย่างนี้ ถ้าลงเอาชีวิตเป็นเดิมพันแล้ว สำเร็จ
ทุกราย และไม่ยากเสียด้วย ใช้เวลาก็ไม่นาน
๙. เมตตา มีความเมตตาปรานีไม่เลือก คน สัตว์ ฐานะ ชาติ ตระกูล มีอารมณ์เป็น
เมตตาตลอดวันคืนเป็นปกติ ไม่ใช่บางวันดี บางวันร้ายอย่างนี้ไม่มีหวัง
๑๐. อุเบกขา ความวางเฉยต่ออารมณ์ที่ถูกใจ และอารมณ์ที่ขัดใจ อารมณ์ที่ถูกใจ
รับแล้วก็ทราบว่าไม่ช้าอาการอย่างนี้ก็หมดไปไม่มีอะไรน่ายึดถือพบอารมณ์ที่ขัดใจก็ปลงตก
ว่า เรื่องอย่างนี้มันธรรมดาของโลกแท้ๆ เฉยได้ทั้งสองอย่าง
บารมี ๑๐ นี้ มีความสำคัญมากถ้า นักปฏิบัติบกพร่องในบารมี ๑๐ นี้ แม้อย่างเดียว
วิปัสสนาญาณก็มีผลสมบูรณ์ไม่ได้ ที่ว่าเจริญกันมา ๑๐ ปี ๒๐ ปี ไม่ได้อะไรนั้น ก็เพราะเป็น
ผู้บกพร่องในบารมี ๑๐ นี่เอง ถ้าบารมี ๑๐ ครบถ้วนแล้ว ผลการปฏิบัติเขานับวันสำเร็จกัน
ไม่ใช่นับเดือนนับปี ฉะนั้น ท่านนักปฏิบัติเพื่อมรรคผลต้องสนใจปฏิบัติในบารมี ๑๐ นี้ ไม่ให้
บกพร่องเป็นกรณีพิเศษ
.
วิปัสสนาญาณสามนัย (1/0)
คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน ----> หน้า 65
วิปัสสนาญาณสามนัย
วิปัสสนาญาณที่พิจารณากันมานั้น ท่านสอนไว้เป็นสามนัย คือ
๑. พิจารณาตารมแบบวิปัสสนาญาณ ๙ ตามนัยวิสุทธิมรรค ที่ท่านพระพุทธโฆษาจารย์
รจนาไว้
๒. พิจารณาตามนัยอริยสัจ ๔
๓. พิจารณาขันธ์ ๕ ตามในพระไตรปิฎก ที่มีมาในขันธวรรค
ทั้งสามนัยนี้ ความจริงก็มีอรรถ คือความหมายเป็นอันเดียวกัน โดยท่านให้เห็นว่าขันธ์ ๕
ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาเหมือนกัน ท่านแยกไว้เพื่อเหมาะแก่อารมณ์ของแต่ละท่าน
เพราะบางท่านชอบค่อยทำไปตามลำดับ ตามนัยวิปัสสนาญาณ ๙ เพราะเป็นการค่อยปลด
ค่อย เปลื้องตามลำดับทีละน้อย ไม่หนักอกหนักใจ บางท่านก็ชอบพิจารณาแบบรวม ๆ ใน
ขันธ์ ๕ เพราะเป็นการสะดวกเหมาะแก่อารมณ์ บางท่านที่ชอบพิจารณาตามแบบอริยสัจนี้
พระพุทธเจ้าทรงค้นพบเอง และนำมาสอนปัญจวัคคีย์เป็นครั้งแรก ท่านเหล่านั้นได้มรรคผล
เป็นปฐม ก็เพราะได้ฟังอริยสัจ แต่ทว่าทั้งสามนี้ก็มีความหมายอย่างเดียวกัน คือให้เห็น
อนัตตาในขันธ์ ๕ เหมือนกัน ท่านกล่าวไว้ในวิสุทธิมรรคและในขันธวรรค ในพระไตรปิฎก
ว่าผู้ใดเห็นขันธ์ ๕ ผู้นั้นก็เห็นอริยสัจ ผู้ใดเห็นอริยสัจก็ชื่อว่าเห็นขันธ์ ๕
เอาสังโยชน์ ๑๐ เป็นเครื่องวัดอารมณ์
นักปฏิบัติเพื่อมรรคผล ที่ท่านปฏิบัติกันมาและได้รับผลเป็นมรรคผลนั้น ท่านคอยเอา
สังโยชน์เข้าวัดอารมณ์เป็นปกติ เทียบเคียงจิตกับสังโยชน์ว่า เราตัดอะไรได้เพียงใด แล้วจะ
รู้ผลปฏิบัติตามอารมณ์ที่ละนั้นเอง ไม่ใช่คิดเอาเองว่า เราเป็นพระโสดา สกิทาคา อนาคา
อรหัตตามแบบคิดแบบเข้าใจเอาเอง จะเขียนสังโยชน์ ๑๐ ไว้ให้อ่าน ส่วนคำอธิบายใน
สัง-โยชน์นี้ เขียนมากแล้วในเล่มนี้ อยากทราบก็พลิกดูเอา หรือบางท่านอาจจำไว้จนขึ้นใจ
แล้ว
สังโยชน์ ๑๐
สังโยชน์ แปลว่า กิเลสเครื่องร้อยรัดจิตใจให้จมอยู่ในวัฏฏะมี ๑๐ อย่างคือ
๑. สักกายทิฏฐิ มีความเห็นว่า ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนี้
เป็นเรา เป็นของเรา เรามีในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ มีในเรา
๒. วิจิกิจฉา สงสัยในผลการปฏิบัติว่า จะไม่ได้ผลจริงตามที่ฟังมา
๓. สีลัพพตปรามาส ถือศีลไม่จริงไม่จัง สักแต่ถือตาม ๆ เขาไปอย่างนั้นเอง สามข้อ
นี้ ถ้าตัดได้เด็ดขาด ท่านว่าได้บรรลุเป็นพระโสดา กับพระสกิทาคามี
๔. กามราคะ ความกำหนัดยินดีในกามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส และอาการ
ถูกต้องสัมผัส
๕. ปฏิฆะ ความกระทบกระทั่งใจ ทำให้ไม่พอใจ อันนี้เป็นโทสะแบบเบาๆ ข้อ (๑)
ถึง (๕) นี้ ถ้าละได้เด็ดขาด ท่านว่าบรรลุเป็นอนาคามี
๖. รูปราคะ พอใจในรูปธรรม คือความพอใจในวัตถุ หรือ รูปฌาน
๗. อรูปราคะ พอใจในอรูป คือเรื่องราวที่กล่าวถึง หรือ ในอรูปฌาน
๘. อุทธัจจะ อารมณ์ฟุ้งซ่าน คิดนอกลู่นอกทาง
๙. มานะ ความถือตนโดยความรู้สึกว่า เราดีกว่าเขา เราเลวกว่าเขา เราเสมอเขา
๑๐. อวิชชา ความโง่ คือหลงพอใจในกามคุณ ๕ และกำหนัดยินดีในกามคุณ ๕ ที่
ท่านเรียกว่า อุปาทาน เป็นคุณธรรมฝ่ายทราม ที่ท่านเรียกว่า อวิชชา
สังโยชน์ทั้ง ๑๐ ข้อนี้ ถ้าท่านพิจารณาวิปัสสนาญาณแล้ว จิตค่อย ๆ ปลดอารมณ์
ที่ยึดถือได้ครบ ๑๐ อย่าง โดยไม่กำเริบอีกแล้ว ท่านว่าท่านผู้นั้นบรรลุอรหัตผลเครื่องวัด
อารมณ์ ที่พระพุทธเจ้าตรัสจำกัดไว้อย่างนี้ ขอนักปฏิบัติจงศึกษาไว้ แล้วพิจารณาไปตามแบบ
ท่านสอนเอาอารมณ์มาเปรียบกับสังโยชน์ ๑๐ ทางที่ดีควรคิดเอาชนะกิเลสคราวละข้อ เอาชนะ
ให้เด็ดขาด แล้วค่อยเลื่อนเข้าไปทีละข้อ ข้อต้น ๆ ถ้าเอาชนะไม่ได้ ก็อย่าเพิ่งเลื่อนเข้าไปหา
ข้ออื่น ทำอย่างนี้ได้ผลเร็ว เพราะข้อต้นหมอบแล้ว ข้อต่อไปไม่ยากเลย จะชนะหรือไม่ชนะ
ก็ข้อต้นนี้แหละ เพราะเป็นของใหม่และมีกำลังครบถ้วนที่จะต่อต้านเรา ถ้าด่านหน้าแตก
ด่านต่อไปง่ายเกินคิด ขอให้ข้อคิดไว้เพียงเท่านี้ ต่อไปจะนำเอาวิปัสสนาญาณสามนัยมากล่าว
ไว้พอเป็นแนวปฏิบัติพิจารณา
.
วิปัสสนาญาณ ๙ (1/0)
คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน ----> หน้า 66
วิปัสสนาญาณ ๙
๑. อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ พิจารณาเห็นความเกิดและความดับ
๒. ภังคานุปัสสนาญาณ พิจารณาเห็นความดับ
๓. ภยตูปัฎฐานญาณ พิจารณาเห็นสังขารเป็นของน่ากลัว
๔. อาทีนวานุปัสสนาญาณ พิจารณาเห็นโทษของสังขาร
๕. นิพพิทานุปัสสนาญาณ พิจารณาสังขารเห็นเป็นของน่าเบื่อหน่าย
๖. มุญจิตุกามยตาญาณ พิจารณาเพื่อใคร่จะให้พ้นจากสังขารไปเสีย
๗. ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ พิจารณาหาทางที่จะให้พ้นจากสังขาร
๘. สังขารุเปกขาญาณ พิจารณาเห็นว่า ควรวางเฉยในสังขาร
๙. สัจจานุโลมิกญาณ พิจารณาอนุโลมในญาณทั้ง ๘ นั้น เพื่อกำหนดรู้ในอริยสัจ
ญาณทั้ง ๙ นี้ ญาณที่มีกิจทำเฉพาะอยู่ตั้งแต่ญาณที่ ๑ ถึง ญาณที่ ๘ เท่านั้น ส่วน
ญาณ ที่ ๙ นั้น เป็นชื่อของญาณบอกให้รู้ว่า เมื่อฝึกพิจารณามาครบ ๘ ญาณแล้ว ต่อไปให้
พิจารณาญาณทั้ง ๘ นั้น โดยอนุโลมและปฏิโลม คือพิจารณาตามลำดับไปตั้งแต่ญาณที่ ๑
ถึงญาณที่ ๘ แล้วพิจารณาตั้งแต่ญาณที่ ๘ ย้อนมาหาญาณที่ ๑ จนกว่าจะเกิดอารมณ์เป็น
เอกัคคตารมณ์ทุกๆ ญาณและจนจิตเข้าสู่โคตรภูญาณ คือจิตมีอารมณ์ยอมรับนับถือกฎ
ธรรมดา เห็นเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเนื่องด้วยตนหรือคนอื่นเป็นของธรรมดาไปหมด สิ่ง
กระทบเคยทุกข์เดือดร้อนก็ ไม่มีความทุกข์ ความเร่าร้อนไม่ว่าอารมณ์ใดๆ ทั้งที่เป็นเหตุ
ของความรัก ความโลภ ความโกรธ ความผูกพัน ยอมรับนับถือกฎธรรมดาว่ามันต้องเป็น
อย่างนี้ อาการอย่างนี้ เป็นเรื่องธรรมดาแท้ ท่านว่าครอบงำความเกิด ความดับ ความตาย
ได้เป็นต้น คำว่าครอบงำหมายถึงความไม่สะทกสะท้านหวั่นไหว ใครจะตายหรือเราจะตาย
ไม่หนักใจ เพราะรู้อยู่แล้วว่าจะต้องตาย ใครทำให้โกรธในระยะแรกอาจหวั่นไหวนิดหนึ่ง
แล้วก็รู้สึกว่านี่มันเป็นของธรรมดาโกรธทำไม แล้วอารมณ์โกรธก็หายไปนอกจากระงับ
ความหวั่นไหวที่เคยเกิดเคยหวั่นไหวได้แล้ว จิตยังมีความรักในพระนิพพานยิ่งกว่าสิ่งใด
สามารถจะสละวัตถุภายนอกทุกอย่างเพื่อพระนิพพานได้ทุกขณะมีความนึกคิดถึงพระ-
นิพพานเป็นปกติ คล้ายกับชายหนุ่มหญิงสาวเพิ่งแรกรักกัน จะนั่ง นอน ยืน เดินทำกิจการ
งานอยู่ก็ตามจิตก็ยังอดที่จะคิดถึงคนรักอยู่ด้วยไม่ได้ บางรายเผลอถึงกับเรียกชื่อคนรัก
ขึ้นมาเฉย ๆ ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้คิดว่าจะเรียกทั้งนี้เพราะจิตมีความผูกพันมาก คนรักมีอารมณ์
ผูกพันฉันใด ท่านที่มีอารมณ์เข้าสู่โคตรภูญาณก็มีความใฝ่ฝันถึงพระนิพพานเช่นเดียวกัน
หลังจากเข้าสู่โคตรภูญาณเต็มขั้นแล้ว จิตก็ตัดสังโยชน์ ๓ เด็ดขาด เป็นสมุจเฉทปหาน
คือตัดได้เด็ดขาดไม่กำเริบอีก ท่านเรียกว่าได้อริยมรรคต้นคือเป็นพระโสดาบัน ต่อไปนี้
จะได้ อธิบายในวิปัสสนาญาณ ๙ เป็นลำดับไปเป็นข้อ ๆ
๑. อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ
ญาณนี้ท่านสอนให้พิจารณาความเกิดและความดับของสังขาร คำว่า สังขาร
หมายถึง สิ่งที่เป็นร่างทั้งหมด ทั้งที่มีวิญาณและวัตถุ ท่านให้พยายามพิจารณาใคร่-
ครวญเสมอ ๆ ว่า สังขารนี้มีความเกิดขึ้นในเบื้องต้นแล้ว ต่อไปก็แตกสลายทำลายไปหมด
ไม่มีสังขารประเภทใดเหลืออยู่เลย พยายามหาเหตุผลในคำสอนนี้ให้เห็นชัด ดูตัวอย่างคน
ที่เกิดแล้วตาย ของที่มีขึ้นแล้วแตกทำลาย ดูแล้วคิดทบทวนมาหาตน และคนที่รักและไม่รัก
ของที่มีชีวิตและไม่มีคิดว่านี่ไม่ช้าก็ต้องตายทำลายอย่างนี้ และพร้อมเสมอที่จะไม่หวั่นไหว
ในเมื่อสิ่งเหล่านั้นเป็นอย่างนั้น พิจารณาทบทวนอย่างนี้จนอารมณ์เห็นเป็นปกติ ได้อะไรมา
เห็นอะไรก็ตาม แม้แต่เห็นเด็กเกิดใหม่ อารมณ์ใจก็คิดว่านี่ไม่ช้ามันก็พัง ไม่ช้ามันก็ทำลาย
แม้แต่ร่างกายเรา ไม่ช้ามันก็สิ้นลมปราณ อะไรที่ไหนที่เราคิดว่ามันจะยั่งยืนถาวรตลอดกาล
ไม่มีรักษาอารมณ์ให้เป็นอย่างนี้ จนอารมณ์ไม่กำเริบแล้วจึงค่อยย้ายไปพิจารณาญาณ
ที่สอง จงอย่าลืมว่า ก่อนพิจารณาทุกครั้งต้องเข้าฌานก่อน แล้วถอยจากฌานมา
หยุดอยู่เพียงอุปจารฌาน แล้วพิจารณาวิปัสสนาญาณ จึงจะเห็นเหตุเห็นผลง่าย
ถ้าท่านไม่อาศัยฌานแล้ว วิปัสสนาญาณก็มีผลเป็นวิปัสสนึกเท่านั้นเอง ไม่มีอะไรดีไปกว่า
นั่งนึกนอนนึก แล้วในที่สุดก็เลิกนึก และหาทางโฆษณาว่าฉันทำมาแล้วหลายปีไม่เห็นได้
อะไรเลย จงจำระเบียบไว้ให้ดี และปฏิบัติตามระเบียบให้เคร่งครัด วิปัสสนาไม่ใช่ต้ม
ข้าวต้ม จะได้สุกง่าย ๆ ตามใจนึก
.
อธิบายในวิปัสสนาญาณ ๙ (1/0)
คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน ----> หน้า 67
๒. ภังคานุปัสสนาญาณ
ญาณนี้ท่านสอนให้พิจารณาถึงความดับ ญาณต้นท่านให้เห็นความเกิด
และความดับสิ้นเมื่อปลายมือ แต่ญาณนี้ท่านให้พิจารณาเห็นความดับที่ดับเป็นปกติ
ทุกวัน ทุกเวลา คือพิจารณาให้เห็นสรรพสิ่งทั้งหมดที่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า คน
สัตว์ ต้นไม้ ภูเขา บ้านเรือนโรง ของใช้ทุกอย่าง ให้ค้นหาความดับที่ค่อย ๆ ดับตาม
ความเป็นจริง ที่สิ่งเหล่านั้นค่อย ๆ เก่าลง คนค่อย ๆ ใหญ่ขึ้นจากความเป็นเด็ก และ
ค่อยๆ ละความเป็นหนุ่มสาวถึงความเป็นคนแก่ ของใช้ที่ไม่มีชีวิตเปลี่ยนสภาพจาก
เป็นของใหม่ค่อยๆ เก่าลง ต้นไม้เปลี่ยนจากเป็นต้นไม้ที่เต็มไปด้วยกิ่งใบที่ไสว กลาย
เป็นต้นไม้ที่ค่อยๆ ร่วงโรย ความสลายตัวที่ค่อยเก่าลง เป็น อาการของความสลายตัว
ทีละน้อยค่อยๆ คืบคลานเข้าไปหาความสลายใหญ่คือความดับสิ้นในที่สุด ค่อยพิจารณา
ให้เห็นชัดเจนแจ่มใส จนอารมณ์จิตเป็นเอกัคคตารมณ์ คือมีความชินจิตว่าไม่มีอะไร
มันทรงตัว ไม่มีอะไรยั่งยืน มันค่อยๆ ทำลายตัวเองอย่างนี้ทั้งสิ้น แม้แต่อารมณ์ใจก็
เช่นเดียวกัน อารมณ์ที่พอใจและอารมณ์ที่ไม่ชอบใจก็มีสภาพไม่คงที่มีสภาพค่อยๆ
สลายตัวลงไปทุกขณะเป็นธรรมดา
รวมความว่า ความเกิดขึ้นนี้เป็นสภาพที่จำต้องเดินไปหาความดับในที่สุด แต่กว่า
จะถึงที่สุดก็ค่อย ๆ เคลื่อนดับ ดับทีละเล็กละน้อยทุกเวลาทุกขณะ มิได้หยุดยั้งความดับ
เลยแม้แต่เสี้ยวของวินาที ปกติเป็นอย่างนี้จิตหายความหวั่นไหว เพราะเข้าใจและคิดอยู่
รู้อยู่อย่างนั้นเป็นปกติ
๓. ภยตูปัฏฐานญาณ
ญาณนี้ท่านให้พิจารณาเห็นสังขารเป็นของน่ากลัว ท่านหมายถึงให้กลัวเพราะ
สังขารมีสภาพพังทลายเป็นปกติอยู่เป็นธรรมดาอย่างนี้ จะเอาเป็นที่พักที่พึ่งมิได้เลย สังขาร
เมื่อมีสภาพต้องเสื่อมไปเพราะวันเวลาล่วงไปก็ดี เสื่อมเพราะเป็นรังของโรค มีโรคภัยนานา
ชนิดที่คอยเบียดเบียน เสียดแทงจนหาความปกติสุขมิได้ โรคอื่นยังไม่มี โรคหิวก็รบกวน
ตลอดวัน กินเท่าไรก็ไม่อิ่มไม่พอ กินแล้วกินอีก กินในบ้านก็แล้ว กินนอกบ้านก็แล้ว อาหาร
ราคาถูกก็แล้ว ราคาแพงก็แล้ว มันก็ไม่หายหิว ถึงเวลามันก็เสียดแทงหิวโหยเป็นปกติของ
มันฉะนั้น โรคที่สำคัญที่สุดพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า โรคนั้น คือโรคหิวดังพระบาลี
ว่า ชิฆจฺฉา ปรมา โรคา แปลว่า ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง โรคภัยต่างๆ มีขึ้นได้ก็
เพราะอาศัยสังขาร ความหิวจะมีได้ก็เพราะอาศัยสังขาร ความแก่ ความทุกข์อันเกิดจาก
ภยันตรายจะมีได้ ก็เพราะอาศัยสังขาร เพราะมีสังขารจึงมีทุกข์ ในที่สุดก็ถึงความแตกดับ
ก็เพราะสังขารเป็นมูลเหตุ สังขารจึงเป็นสิ่งน่ากลัวมาก ควร จะหาทางหลีกเร้นสังขารต่อไป
๔. อาทีนวานุปัสสนาญาณ
ญาณนี้ท่านให้พิจารณาให้เห็นโทษของสังขาร ความเจริญญาณนี้น่าจะจัดรวม
กับ ญาณที่ ๓ เพราะอาการที่ทำลายนั้น เป็นอาการของสิ่งที่เป็นโทษอยู่แล้ว ฉะนั้น ข้อนี้จึง
ไม่ต้องอธิบายโปรดถือคำอธิบายของญาณที่ ๓ เป็นเครื่องพิจารณา
๕. นิพพิทานุปัสสนาญาณ
ญาณนี้ท่านให้พิจารณาให้มีความเบื่อหน่ายจากสังขาร เพราะสังขารเกิดแล้ว
ดับในที่สุดนี้ประการหนึ่ง สังขารมีความดับเป็นปกติทุกวันเวลา หรือจะว่า ทุกลมหายใจเข้า
ออกก็ไม่ผิด นี้ประการหนึ่ง สังขารเป็นภัย เพราะมีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนเป็นปกติ และ
ทำลายในที่สุดประการหนึ่ง สังขารเต็มไปด้วยความทุกข์และโทษประการหนึ่ง ฉะนั้นสังขาร
นี้เป็นสภาพที่น่าเบื่อหน่าย ไม่เป็นของน่ารัก น่าปรารถนาเลย ญาณนี้ควรเอาอสุภสัญญา
ความเห็นว่าไม่สวยไม่งามมาร่วมพิจารณาด้วย เอามรณานุสสติธาตุ ๔ มาร่วมพิจารณาด้วย
จะเห็นเหตุเห็นผลชัดเจน เกิดความเบื่อหน่ายได้โดยฉับพลัน เพราะกรรมฐานที่กล่าวแล้ว
นั้นเราพิจารณาในรูปสมถะอยู่แล้ว และเห็นเหตุผลอยู่แล้ว เอามาร่วมด้วยจะได้ผลรวดเร็ว
และชัดเจนแจ่มใสมาก เกิดความเบื่อหน่ายในสังขารอย่างชนิดที่ไม่มีวันที่จะเห็นว่าน่ารัก
ได้เลย
.
อธิบายในวิปัสสนาญาณ ๙(ต่อ) (1/0)
คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน ----> หน้า 68
๖. มุญจิตุกัมมยตาญาณ
ญาณนี้ท่านให้พิจารณาเพื่อใคร่ให้พ้นจากสังขาร ทั้งนี้เพราะอาศัยที่เห็นแล้ว
จากญาณต้น ๆ ว่า เกิดแล้วก็ดับ มีความดับเป็นปกติ เป็นเรือนร่างที่เต็มไปด้วยความทุกข์
เพราะโรคภัยไข้เจ็บจนเกิดความเบื่อหน่าย เพราะหาความเที่ยง ความแน่นอนไม่ได้ ท่าน
ให้พยายามหาทางพ้นต่อไปด้วยการพยายามหาเหตุที่สังขารจะพึงเกิดขึ้น เพราะถ้าไม่มี
สังขารแล้ว ความทุกข์ความเบื่อหน่ายทั้งหลายเหล่านี้จะมีไม่ได้เลย การที่หาทางเบื่อหน่าย
ท่านให้แสวงหาเหตุของความเกิดดังต่อไปนี้
๑) ชรา ความแก่ มรณะ ความตาย เป็นต้น มีขึ้นได้เพราะชาติ คือ ความเกิด
๒) ชาติ ความเกิดมีได้เพราะ ภพ คือความเป็นอยู่
๓) ภพ คือภาวะความเป็นอยู่ มีขึ้นได้ เพราะอาศัย อุปาทาน ความยึดมั่น
๔) อุปาทาน ความยึดมั่นมีขึ้นได้ เพราะอาศัย ตัณหา คือความทะยานอยาก คือ
อยากมี อยากเป็น อยากปฏิเสธ
๕) ตัณหา มีได้ เพราะอาศัย เวทนา คือ อารมณ์ที่รู้สึกสุข ทุกข์ และเฉยๆ
๖) เวทนา มีขึ้นได้ เพราะอาศัย ผัสสะ คือ การกระทบกระทั่ง
๗) ผัสสะ มีขึ้นได้ เพราะอาศัย อายตนะ ๖ คือ ตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกสูดกลิ่น
ลิ้นลิ้มรส กายถูกต้องสัมผัส และอารมณ์ที่เป็นอารมณ์ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เรียกว่า
ธัมมารมณ์ คืออารมณ์ที่เกิดแก่ใจ
๘) อายตนะ ๖ มีขึ้นได้เพราะอาศัย นามและรูป คือ ขันธ์ ๕ สิ่งที่เห็นได้ด้วยตา
คือ ร่างกายเรียกว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นนาม ท่านรวมเรียกทั้งรูปทั้ง
นามว่า นามรูป
๙) นามรูป มีขึ้นได้เพราะอาศัย วิญญาณปฏิสนธิ คือ เข้ามาเกิด วิญญาณ
ในที่นี้ท่านหมายเอาจิต ไม่ได้หมายเอาวิญญาณในขันธ์ ๕
๑๐) วิญญาณ มีขึ้นได้เพราะ มีสังขาร
๑๑) สังขาร มีได้เพราะอาศัย อวิชชา คือ ความโง่เขลาหลงงมงาย มีความรัก
ความพอใจในโลกวิสัยเป็นเหตุ
รวมความแล้ว ความทุกข์ทรมานที่ปรากฏขึ้น จนต้องหาทางพ้นนี้ อาศัยอวิชชา
ความโง่เป็นสมุฏฐาน ฉะนั้น การที่จะหลีกเร้นจากสังขารได้ก็ต้องตัดอวิชชาความโง่ออก
ด้วยการพิจารณาสังขารให้เห็นเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ได้แน่นอนจึงจะพ้นสังขาร
นี้ได้
๗. ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ
พิจารณาหาทางที่จะให้สังขารพ้น ญาณนี้ไม่เห็นทางอธิบายชัด เพราะมีอาการ
ซ้อน ๆ กันอยู่ ควรเอา ปฏิจจสมุปบาท นั่นแหละเป็นเครื่องพิจารณา
๘. สังขารุเปกขาญาณ
ท่านสอนให้วางเฉย ในเมื่อสังขารภายในคือ ร่างกายของตนเองและสังขารภายนอก
คือร่างกายของคน และ สัตว์ ตลอดจนของใช้ที่ไม่มีและมีวิญญาณ ที่ต้องได้รับเคราะห์กรรม
มีทุกข์ มีอันตราย โดยตัดใจปลงได้ว่า ธรรมดาต้องเป็นอย่างนี้ ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ มีจิต
สบายเป็นปกติ ไม่มีความหวั่นไหว เสียใจ น้อยใจเกิดขึ้น
๙. สัจจานุโลมิกญาณ
พิจารณาญาณทั้งหมดย้อนไปย้อนมาให้เห็นอริยสัจ คือเห็นว่า สังขารที่เป็นแดน
ของความทุกข์ เพราะอาศัยตัณหา จึงมีทุกข์หนักอย่างนี้ พิจารณาเห็นว่า สังขารมีทุกข์ประจำ
เป็นปกติ ไม่เคยว่างเว้นจากความทุกข์เลย อย่างนี้เรียกว่า เห็นทุกขสัจจะเป็นอริยสัจที่ ๑
พิจารณาเห็นว่า ทุกข์ทั้งหมดที่ได้รับเป็นประจำไม่ว่างเว้นนี้ เกิดมีขึ้นได้เพราะอาศัย
ตัณหา ความทะยานอยาก ๓ ประการ คือ อยากมีในสิ่งที่ไม่เคยมี อยากเป็นในสิ่งที่
ไม่เคยเป็น อยากปฏิเสธ ในเมื่อความสลายตัวเกิดขึ้น ไม่อยากให้สลายตัว เจ้าความอยาก
ทั้ง ๓ นี้แหละเป็นผู้สร้างความทุกข์ขึ้นมา
ทุกข์นี้จะสิ้นไปได้ ก็เพราะเข้าถึงจุดของความดับ คือนิโรธเสียได้
จุดดับนั้นท่านวางมาตรฐานไว้ ๓ ประการ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ที่ท่านเรียก
ว่า มรรค ๘ ย่อมรรค ๘ ลงเหลือ ๓ คือ ศีล สมาธิ ปัญญานี้ เพราะอาศัยศีลบริบูรณ์ สมาธิ
เป็นฌาน ปัญญารู้เท่าทันสภาวะความเป็นจริง หมดความเมาในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส
และดับอารมณ์พอใจไม่พอใจ เสียได้ ตัดอารมณ์ใจในโลกวิสัยได้ ตัดความกำหนัดยินดีเสีย
ได้ด้วยปัญญาวิปัสสนาญาณ ชื่อว่าเห็นในอริยสัจ ๔ ทำอย่างนี้ คิดอย่างนี้ให้คล่อง จนจิต
ครอบงำความรัก ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความเมาในชีวิตเสียได้ ชื่อว่าท่านได้
วิปัสสนาญาณ ๙ และอริยสัจ ๔ แต่อย่าเพ่อพอ หรือคิดว่าดีแล้ว ต้องฝึกฝนพิจารณาเรื่อยไป
จนตัดสังโยชน์ทั้ง ๑๐ ประการได้แล้ว นั่นแหละชื่อว่าเอาตัวรอดได้แล้ว
(จบวิปัสสนาญาณ และอริยสัจ ๔)
พิจารณาขันธ์ ๕ เป็นวิปัสสนาญาณ (1/0)
คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน ----> หน้า 69
พิจารณาขันธ์ ๕ เป็นวิปัสสนาญาณ
อันนี้ไม่มีอะไรพิศดาร ท่านสอนให้พิจารณาว่า ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา
สังขาร วิญญาณ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่มีในเรา โดยให้
พิจารณาเป็นปกติ เมื่อเห็นว่าขันธ์ ๕ ป่วยก็รักษา เพื่อให้ทรงอยู่ แต่เมื่อมันจะพังก็ไม่ตกใจ
หรือมันเริ่มป่วยไข้ ก็คิดว่า ธรรมดามันต้องเป็นอย่างนี้ เราจะรักษาเพื่อให้ทรงอยู่ ถ้าทรงอยู่
ได้ ก็จะอาศัยเพื่องานกุศลต่อไปถ้าเอาไว้ไม่ได้ มันจะผุพังก็ไม่มีอะไรหนักใจ ความทุกข์จะ
เกิดแก่ตัวเองหรือใคร อะไรก็ตามไม่ผูกจิตติดใจอย่างนี้ จนกระทั่งบรรลุอรหัตตผล ตามนัย
ที่ท่านพระสารีบุตรกล่าวไว้ใน ขันธวรรคแห่งพระไตรปิฎก
(จบวิปัสสนาญาณโดยย่อเพียงเท่านี้)
คาถาพระปัจเจกพุทธเจ้า (1/0)
คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน ----> หน้า 70
คาถาพระปัจเจกพุทธเจ้า
คาถาพระปัจเจกพุทธเจ้านี้ หลวงพ่อปานได้เรียนมาจากครูผึ้ง อายุ ๙๙ ปี เป็นคาถา
ให้คุณทางลาภผล และเป็นฌานสมาบัติ มีคุณเป็นทิพยจักษุญาณด้วย และยกฐานะของผู้ปฏิบัติ
ไม่ให้ขัดสนยากจนด้วย ศิษย์ของหลวงพ่อปานได้ฝึกคาถานี้ มีฐานะมั่นคงหลายสิบอย่าง ที่รู้จัก
กันมากก็คือ นายประยงค์ ตั้งตรงจิต เจ้าของห้างขายยาตราใบโพธิ์ ท่าเตียน จังหวัด
พระนคร เคยสนทนากับนายประยงค์ ท่านนายห้างบอกถึงวิธีปฏิบัติเกิดผลมหาศาล ท่านเล่า
ให้ฟังดังต่อไปนี้
ปฏิปทาของนายประยงค์
๑. ทุกเช้าเย็น ท่านสวดมนต์และว่าคาถานี้ต่อหน้าพระพุทธรูปคราวละ ๙ จบทุก
เช้าเย็น
๒. เมื่อสวดคาถานี้แล้ว ท่านนั่งภาวนาคาถานี้จนสบายใจทุกวัน คือตั้งเวลาไว้
ประมาณครึ่งชั่วโมง ทำจนจิตเป็นสมาธิ พอสบายใจแล้วก็ไปทำงานตอนเช้า หรือพักผ่อน
ในตอนค่ำ
๓. ใส่บาตรทุกเช้า ก่อนใส่บาตรท่านว่าคาถานี้ ๙ จบ ก่อนใส่บาตร ถ้าวันใดไม่มี
พระมาบิณฑบาต ท่านใช้เก็บเงินไว้แทนการใส่บาตร ตามแบบที่หลวงพ่อปานสอน ท่านให้
เก็บข้าวสารหรือเงินก็ได้เอาไว้แทนการใส่บาตร ก่อนเก็บว่าคาถานี้ ๙ จบ เหมือนก่อนใส่
บาตรวันต่อไปให้เอาไปถวายพระเป็นค่าภัตตาหาร
๔. ก่อนเอาเงินเก็บตอนเย็น หรือก่อนเอาเงินออกใช้ตอนเช้า ท่านว่าคาถานี้ ๙ จบ
คือขณะที่เก็บเงินนั้น ให้จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัยแล้วว่าคาถา ๙ จบ จึงเอาเงินเก็บในที่
เก็บตอนเช้าก่อนเอาเงินออกใช้ เมื่อจับเงินแล้ว ยังไม่นำออก ว่าคาถานี้ ๙ จบ แล้วนำเงิน
ออก
ท่านบอกว่า ท่านทำอย่างนี้เป็นปกติ จนกลายเป็นคนมีเงินมีทองมากมาย ทำบุญด้วย
จำนวนเงินหลายสิบล้าน หายากนักที่จะมีผู้ศรัทธาเสมอท่าน คาถานี้ว่าดังนี้
พุทธะมะอะอุ นะโมพุทธายะ (บทนี้ว่าเที่ยวเดียว)
วิระธะโย วิระโคนายัง วิระหิงสา วิระทาสี วิระทาสา วิระอิตถิโย พุทธัสสะ
มานี มามะ พุทธัสสะ สวาโหม ฯ
(คาถานี้มีเพียงเท่านี้)
เมฆจิต ของท่านอาจารย์เกษม
เมฆจิต หรือ ทิพยจักษุญาณของท่านอาจารย์เกษมนี้ เป็นแบบปฏิบัติที่ให้ผลง่าย ๆ
มีมากรายที่ฝึกตามแบบนี้แล้วได้รับผลเบื้องต้นภายใน ๗ วัน บ้าง ๑๕ วันบ้าง แต่ที่ไม่ได้เรื่อง
ก็ไม่น้อยเหมือนกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่แก่ความฉลาดและความกล้าของแต่ละบุคคล ที่ท่านทำได้ง่าย ๆ
นั้น ท่านเหล่านั้นเล่าให้ฟังว่า ท่านทำดังนี้
ท่านเริ่มทำสมาธิด้วยการกำหนดนิมิตอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น รูปพระพุทธเป็นต้น แล้ว
ภาวนาคาถาบริกรรมไปด้วย กำหนดรูปด้วย วันหนึ่ง หรือคราวหนึ่ง ท่านไม่เอามาก ใช้เวลา
คราวละ ๕ นาที บังคับว่าคาถาให้ครบถ้วน พร้อมด้วยกำหนดให้เห็นรูปไปด้วย ถ้าจิตพลาด
นิดหนึ่งท่านตั้งต้นเวลาใหม่ ท่านทำอย่างนี้เพื่อบังคับอารมณ์ตนเอง เพื่อไม่ให้จิตส่ายไปใน
อารมณ์ภายนอกแล้วทดลองความรู้จากอารมณ์ คือ กำหนดรู้ทางใจ โดยกำหนดรู้เรื่องราว
ต่าง ๆ ตามที่จะหาได้ เช่น เห็นรถแล่นมาแต่ไกลก็กำหนดจิตเพื่อรู้ว่า คนในรถมีกี่คน เป็น
ชายเท่าไร หญิงเท่าไร แล้วเชื่ออารมณ์ที่รู้อารมณ์แรกโดยจิตคิดว่า มีคนกี่คน หญิงกี่คน
ชายกี่คน ก็เชื่อตามอารมณ์แรก ความรู้นั้นจะถูกต้องตามความเป็นจริงเสมอเป็นวิชชาฝึก
ทิพยจักษุญาณระยะต้นดีมาก คาถาภาวนาว่าดังต่อไปนี้
คาถาเมฆจิต
พุทธัง เมฆะนิมิตต์ จิตตัง มะอะอุ
ธัมมัง เมฆะนิมิตต์ จิตตัง อุอะมะ
สังฆัง เมฆะนิมิตต์ จิตตัง อะมะอุ
(คาถาของท่านมีเท่านี้)
ฝึกทิพยจักษุญาณแบบโบราณ
ท่านวางแบบของท่านไว้ว่า ให้จัดธูป ๗ ดอก เทียนหนัก ๑ บาท ๗ เล่ม ดอกไม้
๗ กระทง ข้าวตอก ๗ กระทง บาตรใส่น้ำเต็ม ๑ ใบ ท่านให้ภาวนาด้วยคาถานี้ตามแต่
จะสบาย
คาถาภาวนา
นะมะพะทะ พุทโธ โลกทีปัง อาโลกกสิณัง วิโสธายิ
ธัมโม โลกทีปัง อาโลกกสิณัง วิโสธายิ
สังโฆ โลกทีปัง อาโลกกสิณัง วิโสธายิ
เมื่อภาวนาจนจุใจแล้ว ท่านให้เอาน้ำมนต์ในบาตรนั้นอาบทุก ๆ วัน ตามตำราท่านว่า
ทำอย่างนี้ ๗ วัน ของท่านได้ทิพยจักษุญาณ จงรักษาสมาธิให้ดี ดูของท่านแล้วก็อาโลกกสิณ
ดี ๆ นั่นเอง ถ้าว่าคาถาเป็นนกแก้วนกขุนทองไม่มีหวังแน่ ต้องตั้งอารมณ์ตามแบบกสิณ มี
หวังแน่ตามที่ท่านบอกไว้
วิปัสสนาแบบธรรมชาติ (1/0)
คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน ----> หน้า 71
วิปัสสนาแบบธรรมชาติ
นักวิปัสสนาที่ยังต้องอาศัยเวลาที่สงัด ยังต้องยึดแบบนั้น ท่านว่ายังไกลต่อมรรคผลมาก
นักวิปัสสนาที่เข้าระดับวิปัสสนาจริง ท่านเอาธรรมชาติที่ปรากฏเฉพาะหน้าเป็นเครื่องพิจารณา
ขั้นแรกจงเข้าใจคำว่า " วิปัสสนา " เสียก่อน คำว่า " วิปัสสนา แปลว่า รู้แจ้งเห็นจริงตาม
ความเป็นจริง " วิปัสสนาท่านแปลว่าอย่างนั้น หรือจะพูดเป็นภาษาไทยแท้ก็ได้ความว่ายอมรับ
นับถือกฎธรรมดา เมื่อได้ความอย่างนี้แล้ว การเจริญวิปัสสนาก็ไม่มีอะไรยาก ความจริงวิปัสสนา
นี้มีวิธีเจริญง่ายมาก ง่ายกว่าระดับสมาธิมาก คือยกอารมณ์ให้เข้าถึงความเป็นจริงคล้อยตาม
ความเป็นจริงไม่ฝืนความจริงรับรู้รับทราบตามกฎของความเป็นจริงตลอดเวลาและไม่พยายาม
ฝ่าฝืนกฎธรรมดาเป็นอันขาด
กฎธรรมดา
กฎของธรรมดามีอย่างนี้ไม่ว่าอะไรที่เราได้มาหรือเห็นอยู่ตามกฎที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
ก็คือ เมื่อมันเกิดมาใหม่ มันเป็นของใหม่ แต่ต่อไปมันจะค่อย ๆ เก่าลงทุกทีตามวันเวลาที่
ล่วงไปแล้ว ในที่สุดมันก็จะต้องแตกทำลาย สิ่งที่มีชีวิตต้องตาย สิ่งที่ไม่มีชีวิตต้องผุพัง กฎ
ธรรมดามีเท่านี้จะเป็นใครก็ตามแม้แต่ตัวเรา ลูกเรา หลานเราไม่ว่าท่านผู้วิเศษที่ไหนเป็น
อย่างนี้เหมือนกันหมดจำเข้าไว้และคิดคำนึงไว้เป็นปกติ อย่าคิดเฉย พยายามทำอารมณ์จิต
ให้เข้าระดับจริง ๆ คือคิดแล้วปลงด้วย โดยปลงว่าก็อะไร ๆ มันไม่แน่นอนอย่างนี้เราควรหรือ
ที่จะยึดจะเกาะสิ่งทั้งหมดที่เห็นที่มีอยู่และกำลังจะมีว่ามันเป็นเราเป็นของเราถ้าคิดอย่างนั้น
มันก็ผิดถนัด เป็นการหลอกหลอนตัวเอง เพราะมันต้องเก่า ต้องทำลายเมื่อมันมีสภาพอย่างนี้
ทั้งหมด โลกก็การเกิดในโลกที่เต็มไปด้วยความกลับกลอกหลอกหลอนโกหกมดเท็จอย่างนี้
มีอะไรเป็นของน่ารัก น่าทะนุถนอม น่าปรารถนาบ้าง พยายามคิด ๆ ให้เห็นว่าความจริงมัน
น่าเบื่อจริง ๆ ไม่ว่าคนหรือสัตว์ แม้แต่วัตถุที่ไม่มีวิญญาณ หาอะไรคงสภาพไม่มี พยายาม
แสวงหา สะสมกันเสียพอแรง แต่แล้วก็ผิดหวัง เมื่อจะหามา เลือกแล้วเลือกอีกเอาสวย ๆ
งามที่สุดเท่าที่จะหาได้ ดูทนทานแข็งแรงที่สุดเท่าที่จะมีในโลกนี้ แล้วมีอะไรเกิดขึ้นเมื่อ
ได้มาแล้วมันจะค่อย ๆ คลายความสวยลง แล้วก็เริ่มคร่ำคร่าลงทุกวันทุกเวลา ในที่สุดก็พัง
โลกคือความเกิด เต็มไปด้วยความคร่ำคร่าผุพัง น่าเบื่อหน่ายน่าเอือมระอาเป็นที่สุดต่อเมื่อ
อาการพังทะลายปรากฎ ทำจิตอย่าให้หวั่นไหว เพราะเราทราบแล้วว่า มันต้องเป็นอย่างนั้น
ยิ้มรับความสลายตัวของทรัพย์สินด้วยอารมณ์ชื่นบาน และรับทราบมีอารมณ์ปกติเมื่อความ
ตายมาถึงตน มีความชื่นบานด้วยความคิดว่าดีแล้ว โลกที่ศิวิไลซ์ด้วยความปลิ้นปล้อนตลบ
ตะแลง เราสิ้นชาติสิ้นภพกันที การสิ้นลมปราณคราวนี้เป็นการสิ้นทุกอย่างเราจะไม่มีทุกข์
อีก เพราะเราไม่ปรารถนาความเกิดอีก ขึ้นชื่อว่าชาติภพความเกิดจะเกิดในแดนใดเราไม่
ต้องการ มีสถานเดียวคือพระนิพพานเท่านั้น เป็นสถานที่เราปรารถนาทำอารมณ์พอใจใน
พระนิพพานให้เป็นปกติ สร้างความรู้สึกตามกฎธรรมดารู้เกิด รู้เสื่อม รู้สลายของของทุก
ชนิด จนมีอารมณ์ปกติไม่หวั่นไหวในเมื่อมรณภัยมาถึงสมบัติ ญาติ บุตร สามี ภรรยาใน
ที่สุดแม้แต่ตัวเรา อารมณ์เป็นปกติอย่างนี้ตลอดวัน ไม่ดีใจในเมื่อมีลาภ ได้ยศ รับคำสรร-
เสริญ มีความสุข ไม่หวั่นไหว ในเมื่อสิ้นลาภสิ้นยศ ถูกนินทามีความทุกข์ เท่านี้น่าภูมิใจ
ได้แล้ว ท่านสิ้นภาระในทุกขภัยแล้ว ต่อไปท่านมีพระนิพพานเป็นที่ไปแน่นอน นักวิปัสสนา-
ญาณเจริญอย่างนี้โดยที่เห็นรูปกระทบตลอดวัน ท่านจึงจะนับว่าเป็นนักวิปัสสนาญาณแท้
และเข้าวิปัสสนาจริง ถ้ายังรอวัน รอเวลาหาที่สงัดอยู่แล้วยังหรอกท่าน ยังไกลคำ
ว่าวิปัสสนามากนัก ขอยุติวิปัสสนาตามธรรมชาติโดยย่อไว้เพียงเท่านี้
จบ " คู่มือนักปฏิบัติพระกรรมฐาน " เพียงเท่านี้
.