เรื่อง สวนสุขภาพครบวงจรดีแน่ แต่ต้อง......?
pigstation
บทความเชิงวิชาการ
เรื่อง สวนสุขภาพครบวงจรดีแน่ แต่ต้อง......?
เขียนโดย นายกิตติคุณ ธรรมศิริ นักวิจัยชุมชน
สืบเนื่องอนุสนธิมาจากแผนพัฒนา ฯ ฉบับที่ 7 กล่าวว่า จะต้องสร้างคนซึ่งถือเป็นทรัพยากรบุคคลให้เป็นจุดศูนย์กลางในการพัฒนาประเทศ ดังนั้นจึงต้องเร่งพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ แต่ด้วยการมองแต่เพียงมิติเดียวอย่างเช่นแผนพัฒนา ฯ ฉบับที่ผ่านๆ มานั้น ทำให้โครงสร้างของสังคมไทย ทั้งชนบท และเมืองต่างประสบปัญหาเชิงโครงสร้างทางสังคมที่ยากจะแก้ไขได้โดยง่าย เพราะเป็นการคิดอย่างแยกส่วนไม่มองภาพรวมที่ประกอบด้วยมิติต่าง ๆ เช่น กาย ใจ ชุมชน สังคม เป็นต้น
หากนำเรื่องของจิตวิญญาณ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาไทยมาประกอบกันกับความทันสมัย คือเรื่องของเทคโนโลยี เพื่อช่วยสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นมาระหว่างมนุษย์กับสังคม ด้วยว่าความละเอียดอ่อนของจิตมนุษย์นั้น หากมีเจตนารมณ์เห็นแก่ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ย่อมจะเป็นการพัฒนาให้สังคมไปสู่ความสุข ความเจริญ ที่ไม่มีปัญหาอาชญากรรม คอรัปชั่น ล้นทวีขึ้นมากมาย เหมือนอย่างทุกวันนี้
ดังนั้น การสร้างเสริมคุณภาพชีวิตให้เกิดดุลยภาพนั้น แต่ละสถาบันทางสังคมต่างก็แบ่งรับหน้าที่ / ความรับผิดชอบต่างกัน ซึ่งสำนักงานเทศบาลตำบลบ้านไร่ก็ถือเป็นสถาบันหนึ่งที่มีบทบาท/หน้าที่ ตามกระบวนการทางสังคมที่เอื้อให้ประชาชน ซึ่งเป็นสมาชิกในสังคมได้เข้ามามีส่วนร่วม โดยใช้เสียงประชามติเป็นหลักการปกครองท้องถิ่นตามที่นานาอารยประเทศปฏิบัติไว้ดีแล้วนั้น
บัดนี้ สวนสุขภาพ ที่เทศบาล ฯ ได้จัดสร้างถึงเวลาปรับปรุงเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนที่รักสุขภาพ และรักท้องถิ่น นั้น จำต้องพิจารณาถึงคุณสมบัติ/แนวคิด ของ สวนสุขภาพ ว่าสมควรที่จะเป็นไปในทิศทางอย่างไร มีปัจจัยเอื้ออำนวยต่อผู้ใช้บริการเพียงพอ หรือครบถ้วนหรือไม่ เพราะว่า หากพิจารณาเพียงการก่อสร้าง จัดซื้ออุปกรณ์ที่คุณภาพไม่ถึงเกณฑ์ ก็จะเป็นการใช้งบประมาณส่วนท้องถิ่นสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์
แนวทางของ สวนสุขภาพครบวงจร ที่ข้าพเจ้าขอนำเสนอไว้เป็นกรอบแนวคิดเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลประกอบการพิจารณา มีดังนี้ คือ
แนวคิดหลัก
ปรับปรุงสถานที่
เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
สร้างเสริมกิจกรรม
นำสู่สุขภาพที่ดี
ซึ่งมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้
i. ปรับปรุงสถานที่
ต้องทำการสำรวจเบื้องต้นถึงความพร้อมของชุมชนที่มีความต้องการ สวนสุขภาพอย่างแท้จริง ก่อนทำการออกแบบ / วางผัง /ดำเนินการจัดสร้าง เพื่อเป็นการกระจายอำนาจจากรัฐสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง
ii. เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
สวนสุขภาพครบวงจรจะต้องมีแรงจูงใจให้ประชาชนทั่วไปที่อาจจะยัง
ไม่มีความสนใจด้านการออกกำลังกาย / ดูแลสุขภาพ หันมาสนใจร่วมออก กำลังกาย ด้วยการจัดหาอุปกรณ์ต่าง ๆ ส่งเสริม การออกกำลังกายที่เหมาะสม กับทุกเพศ ทุกวัย
iii. สร้างเสริมกิจกรรม
นอกเหนือจากการจัดหาอุปกรณ์ ฯ แล้ว เพื่อความต่อเนื่อง ทาง เทศบาล ฯ ยังต้องจัดกิจกรรมเพื่อรองรับผู้มาใช้บริการให้ได้ประโยชน์ เช่น การ ขอความร่วมมือจาก สสอ.บ้านไร่ มานำเต้นแอโรบิค หรือ การจัดหน่วยตรวจวัด ความดัน / ตรวจเช็คสมรรถภาพ เป็นต้น เพื่อเป็นการตอบสนองต่อผู้มาใช้ บริการให้เกิดความรู้สึกที่ดี และพร้อมให้ความร่วมมือในขั้นต่อไป
iv. นำสู่สุขภาพที่ดี
ทางเทศบาล ฯ จะต้องเป็นแกนนำ/ผู้นำด้านการออกกำลังกาย โดย การจัดกีฬาระหว่างหน่วยงานภาครัฐ/ภาคเอกชน ในเขตเทศบาล ฯ เพื่อสร้าง เครือข่ายรักษ์สุขภาพ และเป็นการกระชับมั่น สร้างเสริมความสามัคคี มีน้ำใจ นักกีฬา ให้เกิดขึ้นในชุมชนอีกประการหนึ่งด้วย
จากแนวคิด และรายละเอียดดังกล่าว จะเป็นไปได้นั้น ไม่ได้เกิดจากความสำคัญตามทฤษฎี/หลักวิชาการ แต่อย่างใด จึงจะทำให้เกิดสวนสุขภาพครบวงจรขึ้นมาได้
ทั้งนี้ก็มิใช่อำนาจการเซ็นอนุมัติจัดสร้างได้จากผู้มีอำนาจตามสิทธิฯ แต่ต้องพิจารณาจากความต้องการอย่างแท้จริงของประชาชนในเขตเทศบาลตำบลบ้านไร่ ตามประเด็นที่ยกมาอนุมานได้ว่า
คุ้มค่าหรือไม่ ถ้าจะมีสวนสุขภาพครบวงจร ที่มีสนามเด็กเล่น ที่พร้อมด้วยอุปกรณ์ชั้นดี มีมาตรฐาน เสริมสร้างพัฒนาการให้เด็กเล็ก-เยาวชน
จำเป็นหรือไม่กับการลงทุนสร้างสวนสุขภาพ ในขณะที่ยังไม่มีแกนนำด้านสุขภาพในชุมชน ที่พร้อมร่วมมือ ร่วมใจนำประชาคมให้รักษ์สุขภาพ
สำคัญหรือไม่กับสวนสุขภาพครบวงจร เมื่อเปรียบเทียบกับระบบสาธารณูปโภค เช่น คุณภาพของน้ำประปาที่ไหลแรง ไหลดี ใสสะอาด ไม่แพง ที่รอการปรับปรุง ,สภาพพื้นผิวการจราจรในเขตเทศบาล ฯ ไม่มีหลุมบ่อ มีแสงไฟสว่าง ปลอดภัยยามสัญจรไปมา เป็นต้น
เป็นเสียงสะท้อนเล็ก ๆ ของนักวิจัยชุมชนที่นำวิชาการที่ได้เรียนรู้จากสถาบันการศึกษา มารับใช้ท้องถิ่น เพื่อยังประโยชน์สุขส่วนรวมของปวงชนตามปณิธานที่มีไว้ ดังคำว่า
.....คนดีของในหลวง ...คือคนดีของแผ่นดิน ...คือคนดีของทุกคน.
ด้วยความปรารถนาดีอย่างยิ่งต่อชุมชนบ้านไร่ (บ้านเรา)