สารคดี : น้ำรำ ทางเลือกใหม่เพื่อสุขภาพ
สุชาดา โมรา
หมู่บ้านบางคู้ อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี เป็นอีกหมู่บ้านหนึ่งที่ชาวบ้านหันมาใส่ใจกับสุขภาพและนำทรัพยากรที่มีในหมู่บ้านของตน มาดัดแปลงให้เป็นสินค้าและเพิ่มมูลค่า คือ การทำน้ำรำจากรำข้าว
รำที่เราเห็นทั่วไปนั้นมีลักษณะเป็นฝุ่น หรือผงละเอียดสีขาว ซึ่งเป็นส่วนที่ขัดออกจากผิวนอกของเมล็ดข้าว หลายท่านไม่คาดคิดว่าจะนำมาทำเป็นเครื่องดื่มได้ เพราะตั้งแต่อดีตพบว่ามีการนำรำมาเป็นส่วนประกอบของอาหารสัตว์ เช่น หมูและไก่ คนเช่นเราเราจึงไม่นำมารับประทาน แต่ใครจะทราบว่านอกจากรำจะให้ประโยชน์แก่สัตว์แล้วยังให้คุณค่าทางโภชนาการแก่มนุษย์เราด้วย
นางอัจฉรา โพธิมูล สมาชิก หมู่บ้านบางคู้ อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี เจ้าของสูตรน้ำรำเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ กล่าวว่า ตนชอบอ่านหนังสือทุกประเภท และได้อ่านหนังสือเก่าเล่มหนึ่ง ซึ่งเป็นตำราอาหารของคนโบราณ ผู้เขียนเป็นถึงนายแพทย์ ได้เขียนถึงวิธีการทำน้ำรำไว้ว่า น้ำรำเป็นเครื่องดื่มของคนโบราณ ใช้ในโอกาสต้อนรับแขกที่มาเยี่ยมเยือน ตนจึงลองทำดูบ้าง เพราะในหมู่บ้านนั้นมีโรงสีข้าวซึ่งเป็นรำข้าวที่มีคุณภาพดี อีกด้วย
รำข้าวของโรงสีหมู่บ้านบางคู้ มีลักษณะที่แปลกไปจากโรงสีขาวอื่นๆ เนื่องจากรำละเอียดจะมีความละเอียดมาก เป็นฝุ่นผงสีขาวนวล ส่วนรำหยาบที่เรานำมาทำน้ำรำนี้ หยาบกว่ารำละเอียดเพียงนิดหน่อยเท่านั้น ซึ่งจะมีคุณภาพดีเพราะเป็นการขัดเอาคุณค่าจากเมล็ดข้าวออกมา ประโยชน์ต่างๆ จึงได้ตกมาอยู่ที่รำข้าว
ผู้เขียนได้มีโอกาสได้เข้าไปสัมผัสวิธีการทำน้ำรำ ซึ่งไม่ใช่เรื่องยาก แต่ต้องอาศัยความอดทน ใจเย็น เพื่อให้ได้น้ำรำที่มีกลิ่นหอม รสชาติหวานชุ่มคอ รำข้าวที่ใช้ต้องเป็นรำที่ใหม่ ถ้าเป็นรำจากข้าวหอมมะลิแล้วยิ่งดี เพราะจะทำให้กลิ่นของน้ำรำหอมชวนดื่มยิ่งขึ้น ส่วนรำที่นำมาทำนั้นควรเป็นรำหยาบ ซึ่งตามท้องตลาดที่เราพบเห็นบ่อยๆ นั้น มีลักษณะที่หยาบมาก คล้ายๆ ข้าวเปลือก ถ้าผู้อ่านสนใจที่จะทำน้ำรำ ผู้เขียนแนะนะว่าควรใช้รำละเอียดมาแทนรำหยาบ เพราะจะอุดมไปด้วยคุณค่ามากกว่ารำประเภทดังกล่าว
วิธีการทำนั้น เริ่มจากการนำรำหยาบมาคั่วบนไฟอ่อนๆ คั่วไปจนกระทั่งสีเริ่มเหลืองและมีกลิ่นหอม เมื่อคั่วเรียบร้อยแล้ว นำมาใส่ถ้วยปิดฝาให้ดีเพื่อไม่ให้ฝุ่นละอองตกลงไป จากนั้นตั้งน้ำเชื่อมปริมาณเท่าที่ต้องการ ชิมความหวานให้พอเหมาะกับความชอบ เมื่อน้ำเชื่อมเดือดจึงนำลงมาตั้งไว้ให้อุ่นพอดี แล้วนำรำที่คั่วไว้มาคนให้เข้ากัน ซึ่งเจ้าของสูตรบอกว่า ถ้านำรำคั่วใส่ตอนที่น้ำเดือดจะทำให้น้ำรำขุ่นไม่น่าดื่ม แต่ถ้าใส่รำคั่วตอนที่น้ำอุ่นๆ จะทำให้สีของน้ำรำใสน่าดื่มมาก หรือถ้าใส่รำคั่วในน้ำเชื่อมมากเกินไป จะทำให้รำนั้นดูดน้ำเชื่อมซึ่งจะทำให้ปริมาณที่ตั้งเกณฑ์ไว้ลดลงขึ้น เมื่อคนน้ำเชื่อมกับรำคั่วเข้ากันแล้ว ต้องตั้งทิ้งไว้สักพักเพื่อให้รำที่ใส่ลงไปตกตะกอน
ขณะที่รอการตกตะกอน เราควรเตรียมอุปกรณ์ที่จะกรองไว้ คือ หม้อ, กระชอนและผ้าขาวบาง การกรองนี้ต้องกรองอย่างดีพับผ้าขาวบางสัก ๔ ชั้น เพื่อให้น้ำรำนั้นใสน่าดื่ม ไม่เป็นฝุ่นขาว เมื่อรำตกตะกอนเรียบร้อยแล้ว เราจึงตักน้ำใสๆข้างบนมากรองที่ละนิด เป็นอันเสร็จวิธีการทำน้ำรำเพื่อสุขภาพน้ำรำนี้อุดมไปด้วยโปรตีนและวิตามินต่างๆ ได้แก่ วิตามิน บี๑บี ๖, กรดโฟลิก, ไบโอติน, วิตามิน อี และเกลือแร่ต่างๆ ได้แก่ โซเดียม, โปแตสเซียม, แคลเซียม, แมกนีเซียม, ฟอสฟอรัส, เหล็ก, ทองแดง, สังกะสี, กำมะถัน, คลอไรด์ ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายมาก ที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่นิยมนำมารับประทาน
รำข้าว มีประโยชน์อีกมากมาย ทั้งต่อการเจริญเติบโต ให้พลังงานแก่ประสาท รักษาโรคเหน็บชา ช่วยให้กล้ามเนื้อหัวใจทำงานดีขึ้น ระบบประสาทและระบบกล้ามเนื้อสัมพันธ์กัน กากใยในรำข้าวนั้นมีคุณสมบัติที่ดึงน้ำ ซึ่งช่วยในการทำงานของระบบขับถ่ายเป็นอย่างดี
น้ำรำจะทำในโอกาสพิเศษ เช่น การต้อนรับแขกที่มาเยี่ยมเยียนหมู่บ้านและเทศกาลประเพณีของหมู่บ้าน ซึ่งเป็นที่ต้องการของบรรดาผู้มาเยี่ยมชมดูงานในหมู่บ้านบางคู้เป็นอย่างมาก เรียกได้ว่าเป็นดาวเด่นของงานก็ว่าได้ ทั้งเป็นการประชาสัมพันธ์หมู่บ้าน ประชาสัมพันธ์โรงสีและสร้างรายได้ให้กับสมาชิกในหมู่บ้านบางคู้
ถ้าผู้อ่านสนใจที่จะชิมหรือสั่งทำน้ำรำ เครื่องดื่มที่หาดื่มได้ยาก สามารถติดต่อได้ที่ นางอัจฉรา โพธิมูล เจ้าของสูตร บ้านเลขที่ ๔๒ หมู่ ๑๓ ต.บางคู้ อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี หรือหมายเลขโทรศัพท์ ๐๓๖๖๒๒๖๘๑ จำหน่ายกันเพียงขวดละ ๕ บาท เท่านั้น ซึ่งคุ้มค่ามากเพราะเป็นเครื่องดื่มบำรุงร่างกายอย่างดี อีกทั้งเป็นการสนับสนุนภูมิปัญญาชาวบ้านของไทย เพื่อเป็นกำลังใจในการสรรค์สร้างสิ่งที่ดีออกสู่สังคมต่อไป
คุณค่ามากเพียงนี้ สนใจที่จะเลือกดื่ม น้ำรำ เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพท่านบ้างหรือยัง?