แปลโดย พุทธทาสภิกขุลังกาวตารสูตร เป็นคัมภีร์หลัก (Text) ของพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน เป็นคัมภีร์หนึ่งในเก้าคัมภีร์ซึ่งเป็นคัมภีร์สำคัญที่เรียกว่าสูตร สูตรหนึ่งนั้นมิใช่สั้นๆ เช่นที่เราเข้าใจกัน แต่เป็นหนังสือขนาดใหญ่ หรือคัมภีร์นั่นเองลังกาวตารสูตรพิมพ์ขึ้นเป็นภาษาสันสกฤต เมื่อปี ค.ศ. 1922 โดยท่าน Bunyin Nangio, M.A (Oxon) D. Litt. Kyoto. สูตรนี้แปลเป็นภาษาจีนครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 443 โดยท่านคุณภัทระ แห่งอินเดีย เป็นครั้งที่สองเมื่อปี ค.ศ. 513 โดยท่านโพธิรุจิ แห่งอินเดีย และครั้งที่สามเมื่อปี ค.ศ. 700 โดยท่านศึกษานันทะ แห่งอินเดียเหมือนกัน เป็นสูตรว่าด้วยศีลธรรมล้วนภาคที่แปดแห่งลังกาวตารสูตรนี้ กล่าวถึงเรื่องการกินเนื้อสัตว์โดยเฉพาะ เรียกว่า "ภาคมางสภักษนปริวรรต"จากข้อความในภาคนี้ ย่อมเป็นการพิสูจน์ไว้อย่างเต็มที่ว่า สาวกในพระพุทธศาสนาจะเป็นบรรพชิตหรือฆราวาสก็ตาม จะไม่รับประทานเนื้อปลาหรือเนื้อสัตว์ชนิดใดชนิดหนึ่งเลยต่อไปนี้เป็นข้อความบางตอน ซึ่งตัดตอนมาจากข้อความในภาคนั้น โดยเห็นว่าพวกเราแม้เป็นฝ่ายเถรวาท (หินยาน) ก็ควรได้อ่านฟังกันไว้บ้าง เป็นการประกอบการศึกษาธรรมเรื่องนี้ ด้วยใจอันเป็นอิสระข้อความในพระสูตรนั้น มีดังนี้ :"พระตถาคตเจ้าผู้ทรงอรหันต์ได้ตรัสรู้อย่างถูกถ้วนแล้ว และได้ตรัสความเป็นกุศลหรืออกุศลแห่งการบริโภคเนื้อสัตว์แก่เรา เพื่อว่าเราและสาวกอื่นๆ ในพระพุทธศาสนา ทั้งในปัจจุบันและอนาคตจะได้ประกาศสัจธรรมอันนี้แก่เขาเหล่าโน้นผู้บริโภคเนื้อสัตว์ เพื่อเป็นการทำลายความอยากเสพในเนื้อสัตว์ของเขานั้นๆ เสีย"เนื้อทุกชนิดเป็นสิ่งที่ควรปฏิิเสธพระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า... "โอ, มหาบัณฑิต ! ด้วยน้ำหนักแห่งเหตุผลอันมากมายเหลือจะประมาณ บ่งแสดงว่า เนื้อทุกชนิดเป็นสิ่งที่ควรปฏิเสธ โดยสาวกแห่งพระพุทธศาสนาผู้มีใจเปี่ยมอยู่ด้วยความกรุณา สำหรับเขาเหล่านั้น เราจักกล่าวแต่โดยย่อๆ"
"โอ, มหาบัณฑิต ! ในวัฏฏสงสารอันไม่มีใครทราบที่สุดในเบื้องต้นนี้ สัตว์ผู้มีชีพได้พากันท่องเที่ยวไปในการว่ายเวียนในการเกิดอีกตายอีก ไม่มีสัตว์แม้แต่ตัวเดียวที่ในบางสมัยไม่เคยเป็น แม่ พ่อ พี่น้องชาย พี่น้องหญิง ลูกชาย ลูกหญิง หรือเครือญาติอย่างอื่นๆ แก่กัน
สัตว์ตัวเดียวกัน ย่อมถือปฏิสนธิในภพต่างๆ เป็นกวางหรือสัตว์สองเท้าสัตว์สี่เท้าอื่นๆ เป็นนก ฯลฯ ซึ่งยังนับได้ว่าเป็นเครือญาติของเราโดยตรง สาวกแห่งพระพุทธศาสนาจะทำลงไปได้อย่างไรหนอ จะเป็นผู้สำเร็จแล้วหรือยังเป็นสาวกธรรมดาก็ตาม ผู้เห็นอยู่ว่าสัตว์เหล่านี้ทั้งหมดเป็นภราดรของตน แล้วจะเชือดเถือเนื้อหนังของมันอีกหรือ?"
"โอ, มหาบัณฑิต ! เนื้อสุนัข เนื้อลา อูฐ ม้า โค และเนื้อมนุษย์เหล่านี้เป็นเนื้อที่ประชาชนไม่รับประทาน แม้กระนั้นเนื้อของสัตว์เหล่านี้ ก็ถูกนำมาปลอมขายในนามของเนื้ออื่นๆ ในตลาดเพราะเห็นแก่เงินเพราะเหตุนี้ เนื้อสัตว์จึงเป็นสิ่งไม่ควรกิน โดยสาวกแห่งพระพุทธศาสนา""โอ, มหาบัณฑิต ! เพราะว่าเนื้อย่อมเกิดจากเลือดและน้ำอสุจิ เพราะฉะนั้น มันจึงเป็นสิ่งไม่ควรบริโภคสำหรับสาวกแห่งพระพุทธศาสนา ผู้ประสงค์ต่อความสะอาดบริสุทธิ์ (หลุดพ้นทุกข์ทางจิตใจ) และเพราะมันเป็นการสร้างความหวาดกลัวให้เกิดขึ้นในระหว่างกันและกัน""โอ, มหาบัณฑิต ! เพราะฉะนั้น เนื้อนี้จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรบริโภคโดยบรรพชิตแห่งพระพุทธศาสนา ผู้ประสงค์มิตรภาพในเพื่อนสัตว์ด้วยกันทุกถ้วนหน้าตัวอย่างอันประจักษ์เช่น เมื่อสัตว์ได้เห็นนายพรานป่า ชาวประมง หรือนักกินเนื้ออื่นๆ เดินมาแม้ในระยะอันไกล สัตว์ทั้งหลายก็สะดุ้งกลัวเสียแล้ว บางครั้งหรือสัตว์บางชนิดขาดใจตายทำนองเดียวกัน สัตว์ตัวน้อยๆ อื่นๆ ในท้องฟ้าบนบกหรือในน้ำก็ตาม เมื่อได้เห็นนักกินเนื้อแต่ที่ไกล หรือได้กลิ่นด้วยจมูกอันไวของมัน ก็จะพากันวิ่งหนีไปไกลพร้อมกับความรู้สึกอยู่ในใจว่า เขาเหล่านั้นเป็นผียักษ์อสุรกายผู้ล้างผลาญ นั่นเพราะความกลัวต่อความตายของมันเนื้อเป็นสิ่งที่ควรกินสำหรับผู้ใจดำอำมหิต เป็นสิ่งที่มีกลิ่นน่ารังเกียจ เป็นต้นเหตุแห่งความเสื่อมเสียและเป็นสิ่งที่จะถูกห้ามกันโดยสัตบุรุษ""โอ, มหาบัณฑิต ! เนื้อนี้เป็นของไม่ควรบริโภคโดยพุทธสาวก""โอ, มหาบัณฑิต ! สัตบุรุษย่อมบริโภคเฉพาะแต่อาหารที่สมควรแด่ท่านผู้บริสุทธิ์ ไม่ยอมบริโภคเนื้อสัตว์และเลือด เพราะฉะนั้น ควรที่สาวกแห่งพระพุทธศาสนาจะต้องไม่บริโภคเนื้อสัตว์เลย""พระพุทธเจ้าผู้ซึงสุขุมและเยือกเย็น มีพระทัยเต็มเปี่ยมไปด้วยความกรุณา เป็นที่พึ่งที่ป้องกันภัยแก่ดวงใจของสรรพสัตว์ทั้งปวง และมีพระสัมปชัญญะสมบูรณ์พอที่จะไม่ปล่อยให้เป็นโอกาสสำหรับความเสื่อมเสียระบาดขึ้นได้เลยนั้น ย่อมจะทรงบัญญัติเนื้อสัตว์ว่าเป็นสิ่งไม่ควรบริโภค""โอ, มหาบัณฑิต ! ในโลกนี้มีคนเป็นอันมาก ซึ่งกล่าวคำเท็จเทียมต่อพระพุทธดำรัสให้ผิดไปจากความจริง เขากล่าวกันว่า บรรดาผู้ซึ่งคัดค้านอาหารอันสมควรแด่ท่านผู้บริสุทธิ์แห่งสมัยเพรงกาล ย่อมกินอาหารเหมือนนักกินเนื้อ ย่อมเที่ยวใส่ความทุกข์เจ็บปวดให้แก่สัตว์เล็กสัตว์น้อยที่มีชีวิตอยู่ในอากาศ บนบกและในน้ำ เที่ยวรบกวนรังควานมันทั้งที่นี่และที่นั่นอยู่เสมอสมณภาพของเขา (ความเลื่อมใสศรัทธา) ถูกทำลายเสียย่อยยับแล้ว พราหมณ์ภาพของเขา (ความบริสุทธิ์) ถูกทำให้เศร้าหมองเสียแล้ว เขามิได้ประกอบด้วยศรัทธาและสมาจาร คนชนิดนี้แหละที่กล่าวคำเท็จเทียมมากมายหลายชนิดแด่พระพุทธวจนะ""โอ, มหาบัณฑิต ! มีกลิ่นที่น่ารังเกียจ ไม่น่าบริโภคอยู่ในเนื้อสัตว์ เช่นเดียวกับกลิ่นแห่งศพ แม้เหตุผลเพียงเท่านี้ เนื้อสัตว์ก็เป็นของไม่ควรบริโภคสำหรับพุทธศาสนิกชนอยู่แล้ว ถ้าหากว่าศพถูกเผาและเนื้อสัตว์อย่างใดอย่างหนึ่งก็ถูกเผา มันก็จะมีกลิ่นอันน่ารังเกียจ ไม่แตกต่างอะไรกันเลย ดังนั้น บรรพชิตในพระพุทธศาสนาผู้หวังความบริสุทธิ์ จะไม่บริโภคเนื้อใดๆ เลย""เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกเกียจกันแล้ว สำหรับท่านผู้บริสุทธิ์และสาวกของท่าน ในกรณีที่จะพยายามเพื่อโมกษะ (ความหลุดพ้น) และความตรัสรู้ เพราะฉะนั้นสาวกผู้ดำเนินตามทางอันสูงยิ่งนี้ ทั้งครอบครัวลูกหญิงชายย่อมรู้อยู่อย่างเต็มใจว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกเกียจกัน ในทุกๆ กรณีที่พยายามเพื่อสมาธิ""โอ, มหาบัณฑิต ! เพราะฉะนั้น เนื้อทุกๆ ชนิดเป็นสิ่งที่ไม่ควรบริโภคสำหรับพุทธศาสนิกชนซึ่งเป็นผู้ที่ปรารถนาจะมีสาธุคุณในทางจิต ทั้งเพื่อตนเองและผู้อื่น""นักกินเนื้อย่อมเป็นเหยื่อแห่งโรคหลายชนิด เช่นโรคไส้เดือน โรคพยาธิ โรคเรื้อน โรคเจ็บในท้อง ฯลฯ""โอ, มหาบัณฑิต ! เรากำลังประกาศว่า การกินเนื้อสัตว์เป็นการกินเนื้อบุตรของตนเองอยู่ดั่งนี้ แล้วจะกล่าวไปอย่างไรได้ที่เราจะบัญญัติให้สาวกของเรากินเนื้อสัตว์ ซึ่งเป็นของจัดไว้ต้อนรับคนพวกใจอำมหิต เป็นของถูกห้ามโดยสัตบุรุษทั้งหลาย เต็มไปด้วยมลทิน ปราศจากคุณธรรมใดๆ ไม่เหมาะที่จะบริโภคสำหรับผู้บริสุทธิ์ และเป็นของควรห้ามเด็ดขาด โดยประการทั้งปวง""โอ, มหาบัณฑิต ! เราได้บัญญัติไว้แล้วว่า สำหรับอาหารอันสมควรซึ่งได้กำหนดนิยมกันมาแล้วโดยบรรดาท่านผู้บริสุทธิ์แห่งสมัยเพรงกาล ได้แก่อาหารที่ปรุงขึ้นจากข้าว ลูกเดือย ข้าวสาลี สารแห่งหญ้ามุญชะ อูรทะ และมสุร ฯลฯ นมส้ม น้ำนม นม น้ำตาลสด กุท น้ำตาลและน้ำตาลกรวด ฯลฯ"โอ, มหาบัณฑิต ! ในกาลก่อน มีพระราชาครองราชสมบัติอย่างผาสุกพระองค์หนึ่งนามว่า ราชาสิงหะเสาทโส ต่อมาได้กลายเป็นผู้ละโมบอย่างบ้าคลั่งในการบริโภคเนื้อ ในที่สุดถึงกับใช้เนื้อคนเป็นอาหาร เนื่องจากความอยากเป็นไปแก่กล้าหนักเข้าเพราะเหตุนั้น พระองค์จึงถูกโค่นราชบัลลังก์โดยพระสหาย เสนาบดีและประยูรญาติของพระองค์เองต่อจากนั้น ต้องสละราชสมบัติ ถูกเนรเทศออกไปจากแว่นแคว้นของพระองค์โดยประชาชนต้องรับทุกข์ทรมานอันใหญ่หลวงเนื่องจากเนื้อสัตว์เป็นต้นเหตุ""โอ, มหาบัณฑิต ! ก็ในปัจจุบันชาตินี้เอง เขาเหล่านั้นซึ่งเคยชินเกินไปในการกินเนื้อสัตว์ เมื่อความอยากเป็นไปรุนแรงเข้าก็กินเนื้อคนได้ ย่อมเป็นผู้ละโมบในการกินและเป็นเหมือนยักษ์ปีศาจร้าย ครั้นถึงอนาคตชาติหน้า เพราะอำนาจจิตติดฝังแน่นในการอยากกินเนื้อ เขาย่อมตกไปสู่กำเนิดแห่งสัตว์ที่กินเนื้อเป็นอาหาร เช่น เสือ สิงโต จระเข้ แมว สุนัขจิ้งจอก นกเค้า ฯลฯ""โอ, มหาบัณฑิต ! มิใช่เพราะเนื้อจะเป็นของต้องกิน หรือการฆ่าเป็นของต้องทำก็หามิได้ ในกรณีนั้นๆ ส่วนมากทั้งหมดเป็นเพราะการเห็นแก่เงิน จึงฆ่าสัตว์ที่มีชีวิต ถึงแม้จะเป็นสัตว์เชื่องและปราศจากอันตรายแต่อย่างใดก็ถูกฆ่า การฆ่าเพราะเหตุอื่นนั้นมีน้อยที่สุด มันเป็นการทรมานใจเขามาก ในเมื่อใจเต็มไปด้วยความอยากกินเนื้ออย่างแรงกล้า คนก็กินเนื้อคนได้ จะต้องกล่าวไปทำไมกะเนื้อสัตว์ เนื้อนก ฯลฯ เหตุเนื่องจากความเขลาเข้าใจผิดมนุษย์จึงได้รับกรรมความกระวนกระวายใจโดยความอยากในเนื้อสัตว์ คนฆ่านก ฆ่าแกะและปลา โดยใช้ข่ายหรือเครื่องมือดัก การฆ่ามันเหล่านั้นซึ่งเป็นสัตว์ที่เชื่องและหาอันตรายมิได้ นั่นก็เพื่อหวังจะให้ได้เงิน !""โอ, มหาบัณฑิต ! ในกรณีแห่งอาหารที่เราได้บัญญัติแก่สาวกนั้น มิใช่เป็นเนื้อสัตว์ชนิดใดชนิดหนึ่งเลย ซึ่งเป็นของควรกิน สัตว์ซึ่งเป็นของไม่ควรกิน ไม่มีเหตุผลอันสมควรกิน ไม่ใช่สิ่งที่นำมาส่งเสริมให้ควรกินในอนาคตกาล ในหมู่สงฆ์ของเราจะเกิดมีคนบางคนซึ่งกำลังสมาทานข้อปฏิบัติแห่งบรรชิต และกำลังปฏิญาณตนเป็นศากยบุตร กำลังครองผ้ากาสาวพัสตร์ จะเป็นผู้มัวเมาและประกอบตนคลุกเคล้าอยู่ในความเพลิดเพลิน เขาจะมีจิตที่เต็มไปด้วยความปรารถนาลามก บัญญัติข้อปฏิบัติที่ผิดแบบแผนขึ้นใหม่ เขาเหล่านั้นเป็นผู้อยากเสพเพราะติดรส และจะเรียบเรียงพระวจนะให้มีข้อความเท็จ อันจะเป็นเครื่องยืนยันและโต้แย้งอย่างพอเพียงสำหรับการกินเนื้อสัตว์กัน เขาจะบัญญัติสิ่งที่ตถาคตมิได้บัญญัติไว้ เขาจะกล่าวข้อความที่ส่งเสริมการกินเนื้อสัตว์ เขาจะกล่าวว่าเราตถาคตได้บัญญัติไว้ในเรื่องนี้ เช่นนี้ และว่าเราตถาคตนับมันเข้าไว้ในสิ่งทั้งหลายที่ควรกิน และว่าพระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงเสวยเนื้อสัตว์โดยพระองค์เอง"แต่ โอ, มหาบัณฑิต ! เรามิได้เคยบัญญัติเนื้อสัตว์ไว้ในสูตรใดๆ หรือกล่าวว่ามันเป็นของควรกิน หรือนับมันเข้าในประเภทของดีที่ควรกิน""โอ, มหาบัณฑิต ! อริยสาวกทั้งหลาย ไม่บริโภคแม้แต่สิ่งที่คนธรรมดาชอบกินนิยมกันว่าดี เขาเหล่านั้นจะมาบริโภคเนื้อและเลือดซึ่งเป็นของควรปฏิเสธได้อย่างไรเล่าเหล่าสาวกของตถาคต เป็นผู้เดินตามแนวแห่งสัจธรรม คนผู้มีปัญญาเป็นเครื่องคิดค้นของตนเอง และบรรดาพุทธศาสนิกชนทั้งหลายอื่นๆ (แห่งพระพุทธเจ้าองค์อื่นๆ ) ก็เป็นเช่นเดียวกัน เขาเหล่านั้นมิใช่ผู้กินเนื้อสัตว์ พระตถาคตเจ้าทั้งหลายในกาลก่อนๆ ก็เป็นดังนั้นพระตถาคตเจ้าทั้งหลาย มีสัจธรรมเป็นพระกายของพระองค์ ทรงดำรงพระชนม์ชีพอยู่ด้วยสัจธรรม ไม่ทรงดำรงกายด้วยเนื้อสัตว์ ท่านเหล่านั้นไม่เคยเสวยเนื้อสัตว์อย่างใดๆ เลย พระองค์ทรงเพิกถอนความอยากในโลกวัตถุได้หมดสิ้นแล้ว ท่านเหล่านั้นปราศจากมลจิต (ความมัวหมอง) อันเป็นมูลแห่งความทุกข์ ท่านเต็มเปี่ยมไปด้วยปรีชาญาณอันไม่ข้องขัดในอันจะหยั่งทราบสิ่งซึ่งเป็นกุศลและอกุศล ทรงทราบสิ่งทั้งปวง เห็นแจ้งสิ่งทั้งปวง""พระองค์ทรงมองไปที่สรรพสัตว์คล้ายกับเป็นบุตรของพระองค์เอง ทรงประกอบด้วยมหาเมตตากรุณาคุณโดยทำนองเดียวกันนี้ เราตถาคตเห็นสรรพสัตว์เช่นเดียวกับบุตรของเราเอง เราจะบัญญัติให้สาวกของเราบริโภคเนื้อลูกของเราได้อย่างไรเล่า? และเราเองก็จะบริโภคมันได้อย่างไรเล่า? มันไม่มีข้อควรสงสัยเลยในเรื่องว่า เราได้บัญญัติให้สาวกบริโภค หรือเราได้บริโภคมันโดยตนเองหรือไม่"ในที่สุด ได้ตรัสคำที่ผูกเข้าเป็นคาถาซึ่งจะยกมาในที่นี้แต่บางคาถา มีใจความว่า :"โอ, มหาบัณฑิต ! พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้แล้วว่า สุรา เนื้อสัตว์และหอมกระเทียม เป็นสิ่งที่พุทธศาสนิกหรือมหาพุทธศานิกใดๆ ไม่ควรบริโภค""บรรพชิตควรเว้นเสมอจากเนื้อสัตว์ หัวหอมและนานาประเภทแห่งเครื่องดื่มอันมึนเมา กระเทียมและหัวผักกาด""เขาผู้ฆ่าสัตว์ชนิดใดๆ ก็ตามเพื่อเงิน และเขาผู้ซึ่งจ่ายเงินซื้อเนื้อนั้น ทั้งสองชื่อว่าเป็นผู้ประกอบอกุศลกรรม และจักจมลงในนรกโรรุวะและนรก ฯลฯ""เราบัญญัติห้ามเนื้อสัตว์ไว้ในข้อความแห่งคัมภีร์เหล่านี้คือ 1. หัสติกักสยะ, 2. มหาเมฆะ, 3. นิรวาณางคลีมาลิกา, 4. ลังกาวตารสูตร"อร่อยลิ้นยินดีเหลือเพื่อรสปากถึงกับพรากชีวิตเขาเศร้าใจไหมกว่าจะรู้ว่าบาปกรรมทำเท่าไรต้องลงไปชดใช้กรรมให้จำทนจึงต้องเร่งบำเพ็ญเช่นพุทธะอีกต้องละชีวิตเขาเอากุศลเปิดเมตตาให้สว่างกลางกมลเพื่อหลุดพ้นการเวียนว่ายได้นิพพาน...