ชายชราผู้จากไป ...
แทนคุณแทนไท
สัปดาห์สุดท้ายของปี 2548 ผมไปงานสวดและงานเผาศพผู้ชายวัย 81 ปีที่ผมรู้จักเขามายาวนาน 30 ปี ไม่ใช่ญาติ แต่สนิทนักรักใคร่เสมือนญาติ
ก่อนเสียชีวิตไม่กี่วันเขาสั่งลูกและภรรยาแบบคนไม่ครั่นคร้ามความตายว่าสวดสามวันแล้วเผา ไม่ต้องบอกใครให้วุ่นวาย อย่าเศร้า อย่าร้องไห้ ทุกคนต้องมีวันนี้เพียงแต่เขาอยู่หัวแถวเลยต้องไปก่อน แล้วลูกเมียก็ทำตามคำสั่ง สวดสามวันเผา งานสวด 3 คืนมีคนฟังพระสวดคืนละ 14 คนคือเมีย ลูก หลาน เขย สะใภ้ และผมซึ่งเป็นคนนอกเป็นงานศพที่มีคนไปร่วมงานน้อยที่สุดเท่าที่ผมเคยไปฟังสวด
วันเผามีเพิ่มเป็น 17 คน สามคนที่เพิ่มเป็นเพื่อนบ้านที่เคยคุยด้วยเกือบทุกเย็นคนหนึ่งเป็นแม่ค้าล็อตเตอรี่ที่เคยยืมเงินแล้วไม่มีสตังค์จ่าย
เลยเอาล็อตเตอรี่ทยอยผ่อนใช้หนี้แทนเงินงวดละสองใบคนหนึ่งและคนสุดท้ายเป็นหญิงที่ผู้ตายเคยผูกปิ่นโตทุกมื้อเย็นทั้งสามคนบอกว่าเกือบมาไม่ทันเผา เคราะห์ดีที่แวะไปเยี่ยมที่โรงพยาบาลเจ้าหน้าที่บอกว่าเสียชีวิตไปแล้ว 3 วัน
หลังฌาปนกิจพระกระซิบถามเจ้าหน้าที่วัดว่าเจ้าของงานจ่ายเงินค่าศาลาสวดพระอภิธรรมแล้วหรือยัง
พระท่านคงไม่เคยเห็นงานศพที่มีคนน้อยแบบที่ผมก็รู้สึกตั้งแต่สวดคืนแรก
จริงๆ แล้วผู้ตายเป็นคนค่อนข้างมีสตังค์ ทำงานธนาคารแห่งประเทศไทยจนเกษียณอายุที่ ตำแหน่งหัวหน้าหน่วย แต่ด้วยความที่รักและศรัทธา อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์อดีตผู้ว่าการแบงค์ชาติ จึงดำเนินชีวิตแบบไม่ปรารถนาให้ใครเดือนร้อน - แม้กระทั่งวันตาย
ผมสนิทกับเขาเพราะเขามีความฝันในวัยเด็กอยากเป็นนักประพันธ์แบบไม้เมืองเดิมที่เขาเคยนั่งเหลาดินสอและวิ่งซื้อโอเลี้ยงให้ เมื่อตัวเองเป็นนักเขียนไม่ได้ พอมาเจอะผมที่เป็นนักข่าวก็เลยถูกชะตาและให้ความเมตตา การมีโอกาสได้พูดได้คุยกับเขาตามวาระโอกาสตลอด 30 ปีทำให้ได้แง่คิดดีๆมาใช้ในการ ดำรงชีวิต
วันหนึ่งเขารู้ว่าขโมยยกชุดกอล์ฟของผมไปสองชุดราคา 4 แสนกว่าบาท เขาปลอบใจผมว่า'ของที่หายเป็นของฟุ่มเฟือยของเรา แต่มันอาจเป็นของจำเป็นสำหรับลูกเมียครอบครัวเขา คิดซะว่าได้ทำบุญ จะได้ไม่ทุกข์'
เขามีวิธีคิด 'เท่ๆ' แบบผมคิดไม่ได้มากมาย เป็นต้นว่าสุขและทุกข์อยู่รอบตัวเรา อยู่ที่ว่าเราจะเลือกหยิบเลือกคว้าอะไร คงเป็นเพราะเขาเลือกคว้าแต่ความสุข ช่วงปีสุดท้ายของชีวิตเขาต่อสู้กับโรคชรา เบาหวาน หัวใจ ความดัน เกาต์ และไตทำงานเพียง 5 เปอร์เซ็นต์โดยไม่ปริปากบ่น แถมยังสามารถให้ลูกชายขับรถพาเที่ยวในวันหยุดสุดสัปดาห์โดยที่ตัวเองต้องหิ้วถุง ปัสสาวะไปด้วยตลอดเวลา เนื่องจากไตไม่ทำงาน ปัสสาวะเองไม่ได้ 6 เดือนสุดท้ายของชีวิตต้องนอนโรงพยาบาลสามวันนอนบ้านสี่วันสลับกันไป เวลาลูกหลาน หรือเพื่อนของลูกรวมทั้งผมด้วยไปเยี่ยมที่โรงพยาบาล เขามีแรงพูดติดต่อกันไม่เกิน 10 นาที แต่ 10 นาที ที่พูดมีแต่เรื่องสนุกสนาน เรียกรอยยิ้มและเสียงหัวเราะจากคนไปเยี่ยมไข้ ทุกคนพูดตรงกันว่า 'คุณตาไม่เห็นเหมือนคนป่วยเลย ตลกเหมือนเดิม'พอแขกกลับ ลูกหลานถามว่าทำไมคุยแต่เรื่องตลก เขาตอบว่า 'ถ้าคุยแต่เรื่องเจ็บป่วย วันหลังใครเขาจะอยากมาเยี่ยมอีก'
เขาเป็นคนชอบคุยกับผู้คนไม่ว่าจะอยู่บนเตียงคนไข้หรืออยู่บนรถแท็กซี่
บ่อยครั้งที่นั่งรถถึงหน้าบ้านแล้วแต่สั่งให้โชเฟอร์ขับวนรอบหมู่บ้านเพราะยังคุย ไม่จบเรื่อง แล้วจ่ายเงินตามมิเตอร์ !
4เดือนสุดท้ายของชีวิตแพทย์ที่รักษาโรคไตมาตั้งแต่สมัยเป็นแพทย์อินเทิร์นจนกระทั่งเป็นหัวหน้าแผนกแนะนำให้พักรักษาตัวในโรงพยาบาลให้แข็งแรงแล้วค่อย กลับบ้าน
แต่อยู่ได้ 4 วันเขาวิงวอนหมอว่าขอกลับบ้าน หมอซึ่งรักษากันมา 16 ปีไม่ยอม เขาพูดกับหมอด้วยความสุภาพว่า 'ขอให้ผมกลับบ้าน เถอะ ผมอยากฟังเสียงนกร้องคุณหมอไม่รู้หรอกว่าคนคิดถึงบ้านมันเป็น
อย่างไร เพราะ พอเสร็จงานหมอก็กลับบ้าน'หมอได้ฟังแล้วหมดทางสู้ ยอมให้คนไข้กลับบ้าน แต่กำชับให้มาตรวจตรงตามเวลานัดทุกครั้ง
1 เดือนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต เขาสูญเสียการควบคุมอวัยวะของร่างกายเกือบทั้งหมดเคลื่อนไหวได้อย่างเดียวคือกะพริบตา แต่แพทย์บอกว่าสมองของเขายังดีมาก เวลาลูกเมียพูดคุยด้วยต้องบอกว่า '
ถ้าได้ยินพ่อกะพริบตาสองที' เขากะพริบตาสองทีทุกครั้ง ! เห็นแล้วทั้งดีใจและใจหาย
เขายังรับรู้ แต่พูดไม่ได้ นี่กระมังที่เรียกว่าถูกขังในร่างของตนเอง
สิบวันก่อนพลัดพราก ภรรยากระซิบข้างหูว่า 'พ่อสู้นะ' เขาไม่กะพริบตาซะแล้วทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้สองเดือนเคยตอบว่า 'สู้'
เขาสู้กับสารพัดโรคด้วยความเข้าใจโรค สู้ชนิดที่หมอออกปากว่า 'คุณลุงแกสู้จริงๆ'
ตอนที่วางดอกไม้จันทน์ ผมนึกถึงประโยคที่แกพูดกับลูกเมื่อสี่เดือนก่อนว่า'โรคภัยมันเอาร่างกายของพ่อไปแล้ว อย่าให้มันเอาใจของเราไปด้วย' 'แง่คิดดีๆ จากชายชราที่จากไป' สอนให้เรารู้ว่า...
เราเกิดมาพร้อมกับจิตใจบริสุทธิ์ และมันสมองมหัศจรรย์ ที่จะสามารถเรียนรู้ แยกแยะเรื่องดีๆและสิ่งร้ายๆในชีวิต จงใช้โอกาสดีๆที่ร่างกายและจิตใจของเรา ยังทำอะไรๆได้อย่างที่สมองสั่งจงเรียนรู้ และสร้างประโยชน์สุข ให้กับตนเองและผู้อื่นอย่างพอเพียงและดำรงชีวิตอย่างพอเพียงทางเศรษฐกิจหากทุกๆครั้งที่เรียนรู้ เราล้ม เราพลาด... อาจจะรู้สึกท้อบ้างในบางทีแม้ไม่มีกำลังกายที่จะลุกในทันที ....แต่ข้อให้มีกำลังใจที่จะสู้ต่อไป ถ้าเราเรียนรู้...ก็จะทำให้เราพบว่า การล้มหรือพลาดครั้งต่อไป เราจะไม่เจ็บเท่าเดิม
บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ (แง่คิดดีๆ จากชายชราผู้จากไป ... โดยคุณพิศณุ)