13 กันยายน 2548 10:10 น.

WHY DO THEY KILL ? ทำไมต้องฆ่า (เพื่อความรักที่ไม่สมหวัง)……….ช่อชงโค

ChorChongKoh

When love is not right, why do they kill ?

สังคมโศกสลดกับข่าวอาชญากรรมคดีสังหารโหดหลายรายในช่วงนี้  อยากจะข้ามผ่านไปในความรู้สึกของคนในวงการสื่อมวลชนที่แท้จริง คงไม่มีใครอยากยินยลเรื่องราวที่น่าหดหู่อยู่อย่างนั้นทุกวี่วัน  แต่พฤติกรรมซ้ำซากเหล่านั้นก็ยังคงดำเนินอยู่ต่อเนื่อง ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบหลายฝ่ายต่างระดมความคิดหาแนวทางที่จะแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงในการก่อคดีต่างๆ 

โดยเฉพาะคดีที่เกิดจากความรักความหึงหวง ความหุนหันพลันแล่นของผู้ที่ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ เป็นสาเหตุสำคัญของคดีพิศวาสฆาตกรรมที่สะเทือนขวัญหลายราย เพราะอะไรคนเราต้องสังหารกันด้วยเรื่องของความรักที่ไม่ลงตัว ความปรารถนาอันแรงกล้าทางกามารมณ์ที่ปะทุควบคู่กับความขาดสติ สองสิ่งนี้ผลักดันให้บุคคลที่ไม่ยับยั้งชั่งใจกลับกลายเป็นอาชญากรได้ในพริบตา 

ในประเด็นนี้มีการวิเคราะห์เจาะลึกลงไปที่พื้นฐานของจิตใจแต่ละบุคคล ว่าได้รับการอบรมเลี้ยงดูมาอย่างไร หรือเติบโตมาในสภาวะแวดล้อมแบบไหน ส่วนใหญ่พบว่าคดีอาชญากรรมรุนแรง เป็นผลพวงของการขาดพัฒนาการในการส่งเสริมมโนธรรมตั้งแต่ช่วงวัยเยาว์ หมายถึงผู้ใหญ่ที่เคยเป็น เด็กมีปัญหาทางครอบครัว กลุ่มหนึ่งจะมีวุฒิภาวะทางอารมณ์บกพร่อง และมีการก่อพฤติกรรมที่ส่อให้เห็น Inner Child ที่ซ่อนอยู่ในตัวตนของเขา ซึ่งอาจเป็นในระดับลึก จิตใต้สำนึกผลักดันให้ก่อพฤติกรรมก้าวร้าวเป็นระยะๆแล้วแต่สิ่งที่มากระทบต่อจิตใจ กลุ่มนักวิชาการลงความเห็นว่า การรักษาสุขภาพจิตและการอบรมเยาวชนให้เป็น คนมีพื้นฐานจิตใจที่ดีแต่เนิ่นๆจะช่วยคลี่คลายปัญหาลงได้ ก่อนที่เขาจะฝังใจในความเชื่อที่ผิดและเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ต้องการจะแก้แค้นสังคมเพื่อชดเชยสิ่งที่เขาขาดไปในชีวิต คือความรักและความอบอุ่น ซึ่งเปรียบเสมือนอาหารหล่อเลี้ยงจิตใจอันโอชะ

หากในชีวิตของคนๆหนึ่งไม่เคยได้ลิ้มรสของสิ่งที่พิเศษนี้ เขาก็จะแสวงหาไม่สิ้นสุด เมื่อไม่ได้พบหรือไม่อาจสมหวังได้ ก็จะเกิดความทับถมทางอารมณ์ เป็นเหตุให้มีความพยาบาทชิงชังสูง ซ่อนเร้นและเสแสร้งเพื่อ
วางทางไปสู่การสังหาร หรือในช่วงที่ยังสังหารไม่ได้ก็จะก่อพฤติกรรมรบกวนความสงบสุขของผู้อื่น เพราะตนเองเป็นทุกข์จึงระบายกับสังคม
 
@ นักวิชาการด้านวิจัยการศึกษาเยาวชน ดร . อมรวิชช์ นาครทรรพ  อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (หัวหน้าโครงการ Child Watch ในสำนักงานกองทุนส่งเสริมการวิจัย) กล่าวว่า สื่อมีอิทธิพลต่อการพัฒนาเด็กมากที่สุด โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ที่สร้างบริโภคนิยมทางความคิดที่ผิดทาง เช่นการสร้างเกมความรุนแรงวิวัฒนาการของสื่อที่รวดเร็ว เข้าถึงได้ง่าย ก็นำมาซึ่งสื่อไม่ดีทั้งซีดี วีซีดี หนังสือโป๊ หนังสือการ์ตูนลามก และรายการทางโทรทัศน์ซึ่งเป็นปัญหาใกล้ตัวที่สุด  จากผลวิจัยในต่างประเทศระบุว่า 30% ของคนที่มีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกได้รับแรงกระตุ้นจากสื่อ ซึ่งเด็กจะเริ่มสัมผัสสื่อลามกเหล่านี้ได้ตั้งแต่ช่วง ป .2- ป .3 และในช่วง ป .6 จะเป็นเวลาที่หมกมุ่นกับสื่อลามกมากที่สุด เพราะฉะนั้นพ่อแม่ควรเปิดใจคุยเรื่องเพศศึกษากับเด็กตั้งแต่ชั้นประถม อย่าคิดแต่จะปล่อยให้ครูสอน เพราะครูก็พูดได้ไม่เต็มปากเหมือนกัน ในที่สุดลูกก็จะเรียนรู้ตามยถากรรม เราต้องสอนให้รู้ว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่ความเถื่อนดิบแต่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอารมณ์ และไม่ใช่คุยกันแต่เรื่องเครื่องเพศ เรื่องเพศทางจริยธรรมเป็นสิ่งสำคัญ 

 ดร . อมรวิชช์ ได้ให้ขั้นตอนการเลี้ยงลูกไว้ว่า 
1. พ่อแม่ต้องสร้างขีด ความสามารถในการเป็นเพื่อน ในฐานะของพ่อแม่ไม่ใช่ว่าจะมีคำตอบให้ลูกได้ทุกเรื่อง บางครั้งเราต้องไปด้วยกันกับลูก และทำให้ลูกรู้สึกว่าคุยกับเราได้ทุกเรื่อง 

 2. ให้ลูกมีเวลาเล่นอย่างเด็กบ้าง อย่างกวดขันให้เรียนอย่างเดียว  

3. ให้ลูกเลือกอนาคตเอง แต่สิ่งหลักคือต้องให้ลูกมีความสุขกับการให้ ให้ด้วยน้ำใจไม่หวังสิ่งตอบแทน และสิ่งสำคัญคือ  

4. อยากให้ลูกเป็นอย่างไรคุณต้องเป็นต้นแบบนำ  ทำความเข้าใจ
สักนิดแล้วจะรู้ว่าการเลี้ยงลูกโดยเฉพาะวัยรุ่นนั้นไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวลเลย ถ้าคุณพ่อคุณแม่ใจสู้ซะอย่าง ความหวังของชาติและตระกูลอยู่ที่มือคุณ 

(วารสารเผยแพร่ อิทธิพลสื่อกับเยาวชน)

@ จากการเน้นย้ำของนักวิชาการว่าด้วยอิทธิพลของสื่อต่อเยาวชน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องระวังกลุ่มสื่อลามก ในขณะเดียวกันส่งเสริมกลุ่มสื่อสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาการศึกษาของเยาวชน ที่จะเติบโตเป็นพลเมืองดี และเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าของสังคมต่อไป 

อนึ่ง การให้ความรู้เรื่องเพศศึกษาควบคู่กับจริยธรรม เป็นเรื่องสำคัญมาก เนื่องจากในโลกยุคใหม่ที่คนรุ่นใหม่เติบโตท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรมผสม ยากที่จะควบคุมระบบความนึกคิดได้ และกระบวนการรณรงค์ต่อสู้เพื่อส่งเสริมจริยศาสตร์ยังไม่อาจทัดทานกระแสกิเลสและอบายมุขต่างๆ จึงไม่สามารถครอบคลุมช่องว่างระหว่างความเชื่อถือของผู้มีโอกาสได้รับการศึกษาที่ดีกับกลุ่มผู้ขาดแนวทางในการดำเนินชีวิตตามครรลองของศีลธรรมจรรยา 

ความขัดแย้งและความแตกต่างระหว่างกลุ่มบุคคลที่มีพื้นฐานทางจิตใจคนละระดับนั้นเป็นบ่อเกิดของปัญหาที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ ในเรื่องนี้กลุ่มผู้ศึกษาและปฏิบัติธรรมอย่างแท้จริงต่างลงความเห็นว่า ความเป็นไปได้ของการพัฒนาสังคมและคุณภาพบุคคลากร ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุกฝ่ายที่ต้องมีความเชื่อในสัจจธรรมและผลของกรรมดีและกรรมชั่วเป็นพื้นฐานระดับหนึ่งก่อน ต่อมาอาศัยการเรียนรู้และแก้ไขไม่กระทำในสิ่งที่ส่งผลร้ายต่อตนเองและผู้อื่น ไม่ว่าจะมีใครรู้เห็นหรือไม่ก็ตาม พยายามสร้างวิสัยทัศน์ที่เป็นคุณประโยชน์ กระทำตนเป็นคนว่านอนสอนง่ายตามพระพุทธพจน์ให้ลดมิจฉาทิฏฐิ มอบความรักความเมตตาให้คนทั่วไปและช่วยกันอบรมสั่งสอนเยาวชนให้เข้าใจบาปบุญคุณโทษ ดำเนินตามแบบอย่างของสมาชิกที่ดีของสังคม เพียงเท่านี้เราก็สามารถอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เมื่อทุกคนทำหน้าที่อย่างรับผิดชอบ และข้อสำคัญให้ความสำคัญกับการทำงานที่มิใช่เพียงเพื่อยังชีพ แต่ส่งเสริมคุณธรรม 

ช่วยกันให้อาหารทางใจแก่บุตรหลานให้เพียงพอ เพื่อป้องกันการสะสมอารมณ์ก้าวร้าวหรือชิงชังสังคม และช่วยกันเน้นย้ำการสร้างสำนึกในเรื่องควบคุมกามารมณ์มิให้เกินขอบเขต ไม่มัวเมาสื่อลามกออนไลน์ที่นำเสนอการกระตุ้นความต้องการที่เกินขีดความเหมาะสม ในประการหลังนี้ จะช่วยลดพฤติกรรมนอกรีตนอกรอย และหลีกเลี่ยงจากคดีพิศวาฆาตกรรมหรือการสังหารโหดที่น่าสลดใจลงไปได้ด้วย ทุกวันนี้มีภัยร้ายรอบตัวเรา และภัยในจิตที่เราอาจสร้างขึ้นเองด้วยความไม่รู้เท่าทัน ทุกคนต้องรักษาขัดเกลาใจตนเอง ทำลาย Inner Child ที่ยังฝังอยู่ในจิตใต้สำนึก เลี้ยงดูเด็กคนนั้นในใจของตนให้เป็นเด็กดี เพื่อสร้างความดีต่อไปอย่างผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะบริบูรณ์

 Be calm and take time to teach your inner child to continue living in peace.

ช่อชงโค				
24 สิงหาคม 2548 03:21 น.

๏๏ จ๊ะเอ๋….”โจรวรรณกรรม”.. ใครเอ่ย ชื่อ “ตะวันสีชมพู” ?? ๏๏

ChorChongKoh

เรื่องจริง ไม่อิงนิยาย..ขอประณาม ตะวันสีชมพู เป็นโจรวรรณกรรม
ตามข่าวล่าสุดที่ทุกท่านจะได้อ่านต่อไปนี้ค่ะ

	@ ภัยอินเตอร์เน็ท..การนำผลงานเขียนที่ดีต่างๆออกเผยแพร่ทางเว็บไซต์ กลายเป็นดาบสองคม เนื่องจากโจรวรรณกรรมออกอาละวาด ทำการคัดลอกผลงานดีเด่นของผู้อื่นไปเปลี่ยนชื่อเสียงเป็นของตนเอง หรือมิเช่นนั้นก็ลบชื่อเจ้าของผลงานออก จงใจให้คนอ่านเข้าใจผิดว่าผลงานนั้นเป็นของผู้นำมาลง เรื่องนี้มีผู้ร้องทุกข์อยู่เนืองๆ แก้กันไม่ได้

ครั้งนี้ นักเขียนบทกวีของหนังสือพิมพ์ข่าวสดยูเอสเอประสบมากับตนเอง วันหนึ่งเปิดจอเน็ทพบผลงานประพันธ์เรื่อง
อรุณะ พชิระ ธรรมะ คำฉันท์ ซึ่งผู้ประพันธ์ที่แท้จริงคือ ช่อชงโค นำลงเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ข่าวสดยูเอสเอ ในฉบับที่ ๙๒๑ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๗ มีนาคม ๔๘ แต่ขณะนี้ มีนักเลงเน็ทนามว่า ตะวันสีชมพู ได้ลอกเลียนผลงานคำฉันท์ดังกล่าวไปลงที่เว็บของ BlogGang.com เมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม ๔๘ (โดยไม่ลงนามว่าผู้ประพันธ์จริงคือ ช่อชงโค) และไม่ได้ขออนุญาตมาทางหนังสือพิมพ์ตามมารยาทอันควร 

ในชั้นต้น เจ้าของผลงานตัวจริง ได้ขอร้องให้เติมชื่อของ ช่อชงโค กำกับในผลงานนั้น เพราะยินดีที่จะเผยแพร่งานเป็นวิทยาทาน แต่ ตะวันสีชมพู ไม่ยอมดำเนินการ ยังยืนยันใช้ชื่อของตนต่อท้ายผลงานของผู้อื่น และเจ้าของเว็บไซต์เมื่อทราบเรื่องก็ไม่รีบลบผลงานนั้น การกระทำของ ตะวันสีชมพู เช่นนี้ แสดงถึงการละเมิดลิขสิทธิ์คำประพันธ์อย่างชัดแจ้งโดยเจตนา เป็นการล่วงละเมิดภูมิปัญญาของผู้อื่น 

ดังนั้น ช่อชงโค ในฐานะผู้ประพันธ์ของหนังสือพิมพ์ไทยระดับมาตรฐานในสหรัฐอเมริกา   เจ้าของผลงาน อรุณะ พชิระ ธรรมะ วสันตดิลกคำฉันท์ ที่แท้จริง ขอประกาศประณามการกระทำของ ตะวันสีชมพู เป็นโจรวรรณกรรม ผู้สร้างภัยทางอินเตอร์เน็ท กระทำการขโมยทรัพย์สินทางภูมิปัญญา หวังสร้างความนิยมแก่ตนเองซึ่งมิสมควรมีผู้ใดเอาเยี่ยงอย่าง 

นอกจากนี้ ยังมีหลักฐานว่า ตะวันสีชมพู ได้นำผลงานของนักประพันธ์เก่งๆอีกหลายท่านไปลงในชื่อตน บางเรื่องก็เปลี่ยนชื่อเรื่อง ขอให้นักประพันธ์ผู้มีผลงานและชื่อเสียงอันดีงาม คนอื่นๆซึ่งก็ประสบเรื่องเช่นนี้กันมามิใช่น้อย โปรดแจ้งให้ผู้ดูแลเว็บไซต์ได้จัดการดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องเพื่อความเป็นธรรมโดยเร็ว อย่าปล่อยโจรลายสือชนิดนี้ให้ลอยนวลต่อไป และขอให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ กติกา และมารยาท เพื่อความรุ่งเรืองของวงการบรรณพิภพค่ะ ประเทศชาติและสังคมไทยจะเจริญก้าวหน้าไปได้อย่างไร หากยังมีคนมักง่ายอย่างตะวันสีชมพู!

Refer to:- http://www.thaipoem.com/forever/ipage/poem72437.html

 อรุณะ พชิระ ธรรมะ คำฉันท์ โดย ช่อชงโค

วสันตดิลกฉันท์ กลบทธงนำริ้ว

๏เรืองเรือง อุรุชอรุณะฤทธิ์
นภจิตรจรัสราม
โรจโรจ ประโพธรตนภาม
รศมีรพีพร

๏พราวพราว ผกายพชิระภาพ
ดุจะทาบทิวากร
แพรวแพรว พิลาสชุษณะธร
สถิราประภาพรรณ

๏พริบพริบ ระยิบระดะระยับ
ผิว์ผดับ ณ ดวงขวัญ
วาววาว วิเชฐวชรวรรณ
ฤ สวรรค์วิแมนตรา

๏ตรูตรู ณ ดวงหฤทเยศ
รุจิเมตติยาภา
ส่องส่อง สฤษฏ์สิริสรา
ศุภธรรมเสถียรจินต์

๏ธรรมธรรม สว่างมนะมนุช
ภคพุทธพิเชียรอินทร์
บุญบุญ พิสุทธิกุศลิน
จิร์จรัสประภัสสร

๏เรืองเรือง อร่ามอรุณะภาพ
ฤจะทาบภิธรรมธร
โชตโชต วิโรจพระชินะพร
ชนะสรรพ ณ กัปกัลป์ ฯ

ช่อชงโค
..
http://www.thaipoem.com/forever/ipage/poem72437.html  

ผู้เข้ามาชม ย่อมเห็นอยู่แล้วว่า ผลงานชิ้นนี้ ประพันธ์เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม ๔๘ เวลา ๑๗ นาฬิกา นำเผยแพร่ในเว็บไทยโพเอ็ม โดยกำกับชื่อผู้แต่งไว้ชัดเจน คือ ChorChongKoh และมีผู้เข้ามาลงความคิดเห็นกลุ่มหนึ่งเป็นพยาน

แต่ ตะวันสีชมพู ผู้ copy ผลงานนี้ไปลงใหม่ในหน้างานของตนเอง
ไม่ได้นำชื่อเจ้าของผลงานไปด้วย  และไม่ได้ติดต่อมาตามรหัสเมล์
เพื่อขออนุญาตแต่ประการใด

ช่อชงโค ได้คลิกไปพบงานชิ้นนี้โดยบังเอิญ
ในเว็บของบล๊อกแก็งก์ด็อทคอม ตรวจสอบแล้ว
และพบว่า มีงานคำฉันท์ กับนิราศไพเราะ
ของสมาชิกไทยโพเอ็ม อีกหลายท่านไปปรากฏ
รวมทั้งผลงานบางชิ้นที่เปลี่ยนชื่อเรื่องไปจากที่นี่

จึงขอเรียนถาม มายังสมาชิกท่านอื่นๆ ทราบหรือไม่
ว่าผลงานของท่านไปปรากฎในชื่อของตะวันสีชมพู

ผลงานหลายชิ้น ที่เกี่ยวกับ ดวงตะวัน และแสงตะวัน
ไปปรากฏในชื่อ ตะวันสีชมพู เมื่อเดือนกรกฎาคม ๔๘

ในกรณีเช่นนี้ หากยอมให้มีการละเมิดทางภูมิปัญญา
โดยไม่ต่อสู้ ไม่แก้ไข ย่อมปรากฏความไม่เป็นธรรม

ช่อชงโค ได้ต่อสู้ในระดับต้นคือประณามบุคคลดังกล่าว
ในหน้าหนังสือพิมพ์ และนำมาประกาศให้ทราบทั่วกันค่ะ

ใครคือ ตะวันสีชมพู..หวังใจว่าไม่ใช่เพื่อนสมาชิกที่นี่นะคะ
เพราะคุณได้ละเมิดลิขสิทธิ์ของนักเขียนบ้านกลอนหลายคน
และการกระทำเช่นนี้ เป็นผลเสียหายต่อตะวันสีชมพูเอง

หากเพื่อนๆสมาชิกพบผลงานของตนเอง และต้องการเรียกร้อง
ความเป็นธรรม หรือต้องการประกาศทางสื่อมวลชนให้ชัดแจ้ง
กรุณาลงนามในกระทู้นี้ หรือแจ้งรายละเอียดมายังช่อชงโคค่ะ				
10 กรกฎาคม 2548 23:36 น.

S.O.S to Khun Pheerakarn (Sky-Wing)- จดหมายไม่ลับถึงคุณปีกฟ้าค่ะ

ChorChongKoh

เรื่อง ขอความกรุณา ช่วยเหลือสืบค้นต้นตอความคิดพิสดารเกินสมควร

To Khun Pheerakarn & The WebMaster-Group
เรียน คุณปีกฟ้า และ ผู้ดูแลระบบ ค่ะ

             ตามที่ผู้ดูแลระบบได้แจ้งให้สมาชิกทราบถึงกฎกติกาบางประการ พร้อมทั้งระบุว่า หากมีความสงสัยต่อความคิดเห็นแปลกๆใดๆที่มาลงไว้ในงานเขียนต่างๆให้สมาชิกติดต่อขอความช่วยเหลือได้ ในการสืบค้นต้นตอความคิดพิสดารเกินสมควร
โดยจะใช้เวลาในการติดตามระยะหนึ่ง

          ช่อชงโค ได้ส่งจดหมายพร้อมรายละเอียด แจ้งขอความช่วยเหลือไปแล้วตั้งแต่วันที่ ๓๐ มิ.ย. ๔๘ 
โดยส่งไปที่อโนนีมัสแอทไทยโพเอ็ม ต่อมาผู้ดูแลระบบได้มาแจ้งให้
ส่งเมล์ไปที่รหัสของคุณพีรกานต์ในระบบฮ็อทเมล์ ก็ได้ส่งไปอีกครั้ง
โดยแนบแฟ้มรายละเอียดไปเมื่อวันที่ ๗ ก.ค. ๔๘  (คาดว่าถึง 
เพราะไม่มีตีกลับ)

    หากว่าคุณปีกฟ้าและผู้ดูแลระบบได้รับ
จดหมายพร้อมแฟ้มแนบนั้นแล้วกรุณาแจ้งให้ทราบโดยตรง 
ตามรหัสเมล์ในจดหมายดังกล่าวด้วยนะคะ 
เพราะรอผล Primary Investigation อยู่ค่ะ 
มิฉะนั้นคงต้องใช้วิธีขั้นต่อไป

ขอแสดงความนับถือ และขอขอบคุณในความกรุณามา ณ ที่นี้ อีกครั้ง

         ช่อชงโค
                                 ChorChongKoh

                             Sun 10 July 05				
29 มิถุนายน 2548 10:24 น.

โรคติดเว็บ กับทฤษฎี Tri-E (Entertainment, Escapism and E-Mail Addiction)… โดย……..ช่อชงโค

ChorChongKoh

โรคติดเว็บ กับทฤษฎี Tri-E (Entertainment, Escapism and E-Mail Addiction)        โดย..ช่อชงโค


                @โลกไซเบอร์เปรียบไปแล้วไม่ต่างกับมหาจักรวาลพิภพที่มนุษย์พากันหลงใหลแหวกว่ายออกไปอย่างไร้พรมแดน  มีนักวิเคราะห์ทางสาขาข้อมูลอีเลคทรอนิค ได้สร้างทฤษฎี Triple E (EEE) อันหมายถึงสาเหตุสำคัญ 3 ข้อ ที่นำให้คนเราต้องนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ 
1.) Entertainment   2.) Escapism 
3.) E-Mail Addiction.

กล่าวโดยสรุปคือ ๑.)ความบันเทิง ทั้งในการค้นคว้าข้อมูลในประเด็นที่สนใจทุกศาสตร์ รวมทั้งการศึกษาหาความรู้ต่างๆ 
การหาความเพลิดเพลินจากการสนทนาผ่านจอ หรือการสร้าง Blog 
(Online Journals) ทุกอย่างที่เป็นสิ่งสันทนาการ ที่ปัจเจกบุคคลสามารถแสวงหาและสร้างได้ในการสื่อสารผ่านอินเตอร์เน็ท  โดยไม่ต้อง
พบกันในชีวิตประจำวัน

๒.) การหลบเลี่ยงจากโลกของความเป็นจริง ในช่วงเวลาหนึ่ง 
อาจจะสั้น-ยาว แล้วแต่ความพอใจและโอกาสที่หาได้
ซึ่งการหลบเลี่ยงนี้ เพื่อลืมช่วงเวลาที่มีปัญหา หรือ หยุดเวลาที่ต้อง
พบปะผู้คนรอบตนเพื่ออยู่กับความเป็นส่วนบุคคล

๓.) สภาวะติดสารอีเลคทรอนิค..ประเด็นนี้นักวิชาการด้านสถิติเกี่ยวกับการสำรวจปริมาณผู้เข้ามาเล่นเน็ทพบว่า อัตราเฉลี่ยในการเปิดอ่านอีเมล์คือห้าครั้งต่อวัน..เรียกว่าต้องเปิดอ่านกันเช้า สาย บ่าย เย็น ค่ำ หรือมากกว่านั้นก็มี
การติดอีเมล์นี้ เป็นเรื่องปกติที่ผู้ทำงานกับเครื่องคอมพิวเตอร์
ต้องยอมรับ ว่ามีใจจดจ่อกับการตอบและรับสารทางจอ

อย่างไรก็ตาม การสร้างมุมส่วนตัวอยู่ในโลกไซเบอร์ลำพัง 
ทำให้หลายคนลืมภาระหน้าที่ในชีวิตประจำวันไปเสียแล้ว
จึงมีผู้จัดโปรแกรมเพื่อแก้ไข โรคติดเว็บ เรียกว่า 12 Way-Program of Recovery from Website Addicts. ขอนำมาแปล
เป็นข้อๆเพื่อท่องจำและพยายามปฏิบัติดังนี้ค่ะ 

๑.)  ฉันจะดื่มกาแฟ และอ่านหนังสือพิมพ์ ตอนเช้า ก่อนที่จะเปิดคอม.
๒.) ฉันจะรับประทานอาหารเช้าบนโต๊ะใช้ส้อมช้อนและจานให้เรียบร้อย 
ไม่ใช่มือหนึ่งถือแซนวิชแต่อีกมือหนึ่งพิมพ์
๓.) ฉันจะแต่งตัวก่อนเที่ยง ไม่ลืมเวลาอาหารกลางวัน 
๔.) ฉันจะทำความสะอาดบ้าน ซักผ้า และจัดเตรียมอาหารค่ำ
ไม่ใช่อาหารกล่องหรือจานด่วน ด้วยความเร่งรีบที่จะมาอยู่หน้าจอ
 ๕.) ฉันจะเขียนจดหมายด้วยลายมือไปถึงเพื่อนๆ
๖.) ฉันจะโทรศัพท์รับฟังเสียงคนที่ไม่ได้พูดคุยกันนานมากแล้ว 
ให้เขาได้ยินเสียงหัวเราะของฉันเหมือนอย่างแต่ก่อน
๗.) ฉันจะอ่านหนังสือเล่ม และออกไปศูนย์หนังสือเพื่อเลือกเรื่องน่าสนใจ
เล่มใหม่ๆมาเข้าห้องสมุด ไม่ใช่แผ่นพิมพ์จากเครื่องคอม.
๘.) ฉันจะหันไปฟังความคิดเห็นและความต้องการของคนรอบข้าง ดูสิว่าใครยังประสงค์ให้ทำกิจกรรมอะไรกับเขาอยู่
๙.) ฉันจะไม่ใช้ช่วงเวลาที่โทรทัศน์ฉายรายการโฆษณาต่างๆเข้ามาเปิดอ่านจดหมายอีเมล์ หรือตอบกระดานสนทนาใด
๑๐.) ฉันจะออกจากบ้านไปยังสถานที่สวยงามในธรรมชาติ อาทิตย์ละอย่างน้อยหนึ่งหรือสองครั้ง เพื่อเห็นเดือนตะวัน
ในความเป็นจริง ไม่ใช่แค่นึกจินตนาการผ่านรูปภาพจากจออินเตอร์เน็ท   
๑๑.) ฉันจะไม่ลืมไปธนาคารเพื่อสำรวจบัญชี ไม่ใช่ฝากถอนจากเว็บ 
จนเห็นแต่ตัวเลขไม่ได้แตะต้องธนบัตรมาเป็นเวลานาน  
๑๒.) ฉันจะพักผ่อนนอนหลับเป็นสุข ในยามค่ำคืน และให้จอภาพปิดลง
 เป็นฝ่ายรอฉันในวันพรุ่งนี้..ไม่ใช่ดึงดูดช่วงเวลาในชีวิตของฉันไปตลอดรัตติกาล.
         
       @ ค่ะ อ่านทบทวน ทฤษฎีทริปเปิ้ล 3Eหลายๆรอบก็ได้นะคะ เพื่อรักษาสมดุลย์ระหว่างการสร้างความบันเทิงใจ
กับการใช้ชีวิตในโลกของความเป็นจริง ..รักษาสุขภาพกายและใจ มิให้เป็นโรคติดเว็บเรื้อรัง  จนอาจลืมว่ามนุษย์ได้คิดสร้างเครื่องคอมพิวเตอร์ขึ้นมาใช้งานในการติดต่อสื่อสาร  แต่ไม่ใช่สร้างไว้ดูดกลืนจิตใจไปทั้งหมดจนเป็นหุ่นหน้าจอ
 
       @  นอกจากนี้ วิวาทกรรมออนไลน์ หรือสงครามอักษรอีเลคทรอนิค ยังส่งผลกระทบให้ผู้รับสารเกิดความเครียด
แทนที่จะเข้ามาหาความรื่นรมย์ในโลกไซเบอร์ กลับมาสร้างศัตรูคู่เขม่น ทั้งๆที่ประมาณร้อยละแปดสิบไม่เคยรู้จักกัน
ความขัดแย้งอันเกิดจากความคิดเห็นมุมมองไม่สามารถประสานกันได้ ทำให้หุ่นหน้าจอสวมบททหารกลางสมรภูมิ
ลานโลกที่เปิดให้แสวงหามิตรภาพ กลับแปรเป็นลานประหัตประหารเชือดเฉือนอารมณ์กันไม่เว้นแต่ละวันเลยทีเดียว
ตามความคิดเห็นของ Blogger-Group หรือกลุ่มผู้เข้ามาเขียนบันทึกเรื่องราวประจำวันในบอร์ดสาธารณะ  
ส่วนใหญ่คุ้นเคยกับการปะทะคารมกับผู้คนหลากหลายประเภท 
และมิใช่น้อยจงใจที่จะยั่วโทสะกัน
ดังนั้นผู้ทำงานผ่านสารอีเลคทรอนิคต้องกำหนดให้สภาวะอารมณ์
มั่นคงและรู้เท่าทันเจตนารมณ์ของผู้ที่มาติดต่อ จึงขออนุญาตให้คำแนะนำ
ว่าไม่ควรจริงจังกับการโต้ตอบในกระดานสนทนา..(แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่จริงใจ) เพียงแต่ไม่เก็บนำเรื่องราวเล็กๆน้อยๆไปคิดมาก หรือหมกมุ่นกับการหักล้างทางความคิดในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง บางจุดแค่คำๆเดียวก็อาจจะ
ทำให้คนจำนวนมาก กลายเป็นเหยื่อของสงครามเว็บไซต์ และเมื่อ
ผนวกกับการที่มีใจจดจ่อกับการตอบรับสารทางจอ วันหนึ่งไม่ต่ำกว่า๓รอบ

เราจึงพบว่า มีกลุ่มคนที่หาความสุขไม่พบ หรือหมดความสุขไปเลยก็มี 
เพราะการต่อสู้กับลายลักษณ์ที่ไม่ทราบว่ามาจากที่ใดแน่
ยิ่งการขุดค้นเจาะหาแหล่งที่มาของฝ่ายตรงข้าม ยิ่งเท่ากับเพิ่มความสำคัญให้กับวิวาทกรรมไร้แก่นสารบนลานต่อสู้ยิ่งขึ้น แต่ก็ยังไม่มีหลักเกณฑ์ตายตัวที่จะหาข้อยุติในประเด็นเหล่านี้ การเลือกรับสารที่เป็นประโยชน์ต่อจิตใจจึงเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล สำหรับผู้ใช้งานเครื่องสมองกลเป็นกิจวัตร จึงต้องเรียนรู้กฎระเบียบ และสร้างวินัยให้แก่ตนเองด้วย
มิฉะนั้น Entertainment may turn out to be Extermination ความเพลิดเพลินอาจกลายเป็นการทำลายล้างถอนรากโคน.
                             ช่อชงโค. (๒๙ มิ.ย. ๔๘)


     นำบทความนี้มาลง หวังว่าคงพบวิธีผ่อนคลายและเครียดน้อยลง นะคะ				
24 มิถุนายน 2548 11:36 น.

บทความลงหนังสือพิมพ์ไทยในสหรัฐอเมริกา

ChorChongKoh

การอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมและศักดิ์ศรีของคนไทยในต่างแดน     
                                            ๒๓ มิถุนายน ๒๕๔๘            
@ในความเชื่อถือของชาวพุทธ การได้เข้าวัดทำบุญ เป็นสิริมงคลแก่ตน และครอบครัว ยิ่งหากได้ไปกราบนมัสการพระพุทธรูป ปิดทององค์พระประธานตามวัดต่างๆ ยิ่งสร้างเสริมความอบอุ่นทางใจมากขึ้นเป็นหลายเท่าทวี โดยเฉพาะวัดที่ประดิษฐานองค์พระธาตุ นับเป็นบุญของคนไทยที่ผืนแผ่นดินของเรา มีแหล่งปูชนียสถานทางประวัติศาสตร์ที่งดงามมีค่าควรเมืองอยู่ทั่วทั้งราชอาณาจักร เพราะประเทศไทยได้สืบสานมรดกอารยธรรมมาหลายชั่วอายุปู่ย่าตายายทวด มหาบรรพชนท่านได้มอบไว้แด่ชาติและพวกเราซึ่งเป็นลูกหลาน เลือดเนื้อเชื้อสายเดียวกัน ไม่ว่าอยู่แห่งใด

สำหรับคนไทยที่ต่างต้องพลัดพรากจากบ้านเกิดเมืองนอนไปไกลและนาน การได้รำลึกนึกถึงดินแดนวัดแห่งสุนทรียะ
ย่อมเป็นการสร้างกำลังใจที่ดีส่วนหนึ่งค่ะ  และเป็นการเน้นย้ำว่า เราคนไทยล้วนมีหัวใจที่มั่นคงต่อชาติและพระศาสนา
มิได้มาอยู่ต่างแดนแล้วลืมแผ่นดินเกิด มิได้มีหัวใจที่ตกเป็นทาสทางวัตถุ หรือทิ้งอารยธรรมทางใจอย่างที่ใครประณาม

@  ถูกต้องแล้วค่ะ เรื่องการอนุรักษ์มรดกไทย ไม่ว่าเราจะเดินทางไปสร้างตนอยู่อาศัย ณ ที่ใดในโลกก็ตามสิ่งที่เราไม่เคยยอมเปลี่ยนแปลง คือ ความเป็นไทย หรือ ความเป็นคนไท ซึ่งหมายถึงคนอิสระ นับหลายทศวรรษที่คนไทยรุ่นแรกๆเริ่มมีดำริที่สร้างศาสนสถาน  และรวมพลังสามัคคีสร้างขึ้นเป็นผลสำเร็จดังที่ทุกคนได้ประจักษ์ทุกวันนี้ วัดวาอาราม ในมลรัฐต่างๆ ปัจจุบันปรากฏภาพศิลปะประจำชาติอย่างเด่นชัด เป็นการจำหลักสถาปัตยกรรมที่รุ่งเรือง และเชื่อว่าเราจะยังไม่หยุดอยู่เพียงแค่นี้  

งานศิลปะแกะสลักบานประตูหน้าต่าง พร้อมภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดกำลัง
เพิ่มพูนทวีขึ้น ซึ่งต้องใช้เวลาและการทุ่มเทในงานสร้างสรรค์ศิลปะที่เป็นรูปธรรมเหล่านั้น ขึ้นมาแต่ละชิ้น มิใช่ง่ายๆ

ในขณะเดียวกัน การถ่ายทอดจิตวิญญาณของความเป็นคนไท ก็ดำเนินคู่ไปทางด้านภาษาไทยและวัฒนธรรมดนตรีพร้อมศิลปะนาฏกรรมงดงาม
และทำอย่างไรให้เยาวชนซึมซับความเป็นไทยไว้อย่างฝังลึก ท่ามกลางการเติบโตในวัฒนธรรมผสมนานาชาติเช่นนี้ มิใช่เรื่องง่ายๆเลยเช่นกัน  ทุกฝ่ายต่างต้องร่วมกันฝ่าฟันปัญหาหลากหลายรูปแบบ ต้องระดมความคิดที่สุขุมแยบยล เพื่อจารลิขิตอักขระไทยลงในสายวิญญาณของผู้สืบทอด สิ่งนี้เป็นงานสร้างสรรค์ทางนามธรรมที่ต้องกระทำต่อเนื่อง

และวัดคือสรณะ พูดให้สั้นที่สุด คือ พุทธศาสนสถานไทยทุกแห่ง เป็นลานแห่งความหวังงามอลังการ เป็นจุดรวมที่เราร่วมใจกันสร้างไว้เป็นศรัทธานุสรณ์แก่แผ่นดินไทย ซึ่งอยู่ไกล ..แม้ว่าเราสามารถขึ้นเครื่องบินไปถึงได้ในหนึ่งวัน แต่เราก็ยังเป็นคนไทยไกลแผ่นดิน เป็นคนส่วนน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งประเทศ ทั้งสองฝั่งฟากทวีปโลก

เรื่องนี้ มีประเด็นชวนขบคิดที่ละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง  คุณรู้สึกอย่างไรบ้างหรือไม่ เมื่อมีคนในบ้านเรายังเรียกคนไทยที่นี่ ที่ใช้ชีวิตในต่างแดนว่า พวกลืมชาติ..พวกไม่รู้คุณศาสนา ทิ้งถิ่นแผ่นดินเกิดหรือหยามหน้าว่าเป็นคนร่อนเร่ไร้รวงรัง...มันเจ็บช้ำน้ำใจมิใช่น้อย จริงหรือไม่เล่าคะ

@ แน่นอน เราต้องตีโต้กลับไปทันที ..เรามาอยู่บนแผ่นดินไกล แต่เรามีวัดไทย มีสังคมของคนที่เสียสละตนเพื่ออนุรักษ์ความเป็นไทยอย่างมั่นคง มีการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีไทย มีการกูลเกื้อสถาบันพระพุทธศาสนา อย่างเหนียวแน่น ไม่มีใครลืมชาติ หรือทิ้งร้างความเป็นไทย  และความรู้สึกภาคภูมิในสายเลือดไทยก็มิได้ยิ่งหย่อนกว่ากัน

ถึงแม้จะมีความขัดแย้งทางความคิดในการสร้างโครงการอะไรต่างๆเป็นระยะ ก็ตามที ในที่สุดก็มีจุดปรับความเข้าใจเพราะเจตนารมณ์ของคนทำงานก็มีแนวร่วม แต่ละคนมีอุดมการณ์เพื่อเชิดชูความเป็นไทย ไม่ได้แตกต่างจากกันเลย ทุกฝ่ายต้องพบเรื่องราวความสับสน ทั้งที่คนกลุ่มหนึ่ง ทำ งานโดยไม่มีสินจ้างรางวัล หรือไม่มีใครรู้จักว่าเป็นใครก็มี
และความช่วยเหลือทั้งในเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ กำลังใจที่มอบให้กันล้วนมีค่าเป็นแรงผลักดันให้กัน ร่วมกันแก้ไขปัญหาหลายๆคนยิ้มอย่างอย่างมีความสุข เมื่อได้ผ่านเรื่องร้ายเรื่องดี ได้เรียนรู้ทางหนีทีไล่ ทางสู้ ทางออก หรือทางหลบก็ดีแต่ในความหมายอันยิ่งใหญ่ ของการรักษาความเป็นคนไท ที่หัวใจไม่ตกเป็นทาสใคร และไม่ยอมให้ถูกกลืนวิญญาณ
คงไม่มีใครปฏิเสธว่า เรารู้สึกชื่นชม ในความก้าวหน้าของภาพสังคมไทยในต่างแดนโดยรวม เท่าที่ทำกันมาได้ถึงเท่านี้

แต่กระนั้น สิ่งนี้ก็ยังไม่มากพอ ที่จะลบคำหยันหยาม ว่าเป็นความเห็นแก่ตนที่ทอดทิ้งประเทศชาติ ไม่ได้นำความรู้หรือการศึกษาอันสูงส่งกลับไปเกื้อกูลพูนผล ให้แก่สังคมของไทยที่ห่างไกลและรอคอยคนดีที่มีความรู้ อยู่ด้วยความหวังอันลางเลือนเต็มทนยังมีคนที่ทุกข์ทนและรอคอย ให้มีคนเก่งคนดีเพิ่มกลับคืนไปสู่มาตุภูมิ บ้างเรียกร้องร่ำหาอาลัย
และหลายหลากก็เกรี้ยวกราดบริภาษอย่างเคืองแค้น ด้วยถ้อยคำต้องนำมาคิด ไม่ใช่เพื่อการโต้เแย้งทางความคิดเห็น

แต่ประเด็นที่สำคัญ เราต้องลงมือกระทำสิ่งใด และอย่างไร เพื่อพิสูจน์ให้ชัดเจนกว่านี้ว่า คนไทยทุกคนในต่างแดน ต่างก็รักชาติศาสนา และเทิดทูนพระมหาประมุขบดีและพระบรมราชวงศ์จักรีอย่างสูงสุดในศรัทธาแห่งความเป็นไทยการเพียรสร้างความรักความสามัคคี เป็นเรื่องหลักที่ทุกฝ่ายต่างพยายามอยู่  ดับเรื่องร้อนแรงลงด้วยเมตตาที่ชุ่มเย็น
มองให้เห็นจุดหมายบนเส้นทางไกล..ทางที่เรายังต้องก้าวเดินร่วมกันไปอีกแสนนาน..ไม่ใช่แค่ความคิดชั่ววูบยามว่าง

หากแต่เป็นการสร้างงานที่มุ่งมั่นด้วยขันติ ข้ามฝ่ากระแสกาลเวลาและคมเคียวที่เกี่ยวบาดใจหลายร้อยรอยที่มีแผลบาดเจ็บเย็บแผล และลบรอยร้าวแยกเหล่านั้น สมานรวมเป็นเนื้อใหม่ เราคนไทยในต่างแดน ยังมีหน้าที่ต้องทำเพื่อสังคมไทยเพื่อรักษาความเป็นคนไท เชิดชูธงไทยไตรรงค์ ธงมหาราช ธงธรรมจักร และธงแห่งสันติภาพของมวลชนให้สถาพร
          
   @ ทราบข่าวมาว่า เพื่อนไทยบางคน อาจมีนาทีที่เหลืออยู่ไม่มากนัก เขากำลังป่วยหนัก แต่ก็ไม่สามารถขยับไปทางใดได้ เขามีห่วงครอบครัว ลูกสาวเล็กกับภรรยาที่ต้องทำงานหนักทั้งที่ไม่มีความรู้ทางภาษาสากล แพทย์ไม่อนุญาตให้ออกจากสถานพยาบาล บำบัดดูแลอย่างคนไข้อนาถาในหัวใจพ่อผู้นั้นเขาปรารถนาเห็นทายาทเติบโตเป็นคนดีมีค่าต่อสังคม แต่เขาอาจไม่เหลือโอกาสที่จะอยู่ดูวันนั้นอีกแล้ว..และในหัวใจร่ำหาการคืนกลับมาตุภูมิ แต่ สิ้นหวังไม่มีทางเป็นไปได้ คุณรู้สึกเศร้าสะเทือนใจลึกๆไหมคะ ..และสภาพเช่นเดียวกันนี้ เกิดขึ้นกับใครอีกกี่คน ..และที่ทุกข์ทนหนักหนาสาหัสกว่านี้ ร่ำรวยรุ่งเรืองก็มี ล้มเหลวก็มากหลาย ทั้งที่พลัดพรากกระจัดกระจายหายสูญ เหตุผลของการดิ้นรนต่อสู้ ของคนไทยบนแผ่นดินไกล ทำงานส่งเงินให้ครอบครัวที่เมืองไทย หาปัจจัยให้ลูกมีการศึกษา อบรมลูกให้รักพ่อแม่ มันผิดมากไหม ที่ต้องเดินทางมาไกลเพื่อทำหน้าที่แก่ครอบครัว ซ้ำต้องตายบนแผ่นดินที่ไม่ใช่บ้านเกิดเมืองนอน เพราะว่าเลือกไม่ได้ต่างหาก ปัญญาชนคนไทยไปต่างประเทศเพื่อโอกาสแสวงหาความก้าวหน้าทางวิทยาการมิใช่น้อยมีความสามนารถได้
เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยมีชื่อเสียงก้องโลกระดับท็อปเท็น นักเรียนทุนนักเรียนหลวงนำวิชาความรู้กลับมาฟื้นฟูสังคม นักศึกษาทุนส่วนบุคคล อาจโชคดีที่มีทรัพย์นำไปทำทุนต่อทุน เข้าหุ้นทำธุรกิจ เรียนรู้ระบบงานในประเทศพัฒนาแล้ว นับเป็นกำไรชีวิต เป็นโอกาสสร้างความดีงามในการรวมกลุ่มสามัคคีสร้างภาพลักษณ์ที่ดีแก่สังคมไทยในต่างประเทศ

แต่ก็ยังไม่แคล้วกลายเป็นคนเร่ร่อน ในสายตาของคนที่มีโลกทัศน์คับแคบและไม่เคยก้าวย่างไปสู่เส้นทางที่กว้างไกล จำเป็นหรือเปล่า ที่คำว่าคนดีศรีแผ่นดิน ต้องอยู่โยงเฝ้าเรือนจนวันตาย มีสิทธิ์ไหม แก่คนดีศรีสังคมที่อุทิศจิตวิญญาณ เพื่อสรรค์สร้างเอกลักษณ์ไทยให้ปรากฏแก่สายตาของชาวต่างชาติ ให้เขารู้ว่า เรามาจากแดนดินที่น่าภาคภูมิผืนใด
ลองเข้าไปมองให้ชัดๆในวัดของคนไทย ในดวงตาของเยาวชนสดใสเพียงไหนกับการได้ซึมซับมรดกประจำชาติไทย และในแววตาของคนชราผู้อาวุโส ปลาบปลื้มหรือไม่ ที่บุตรหลานกตัญญูนำมาดูแลรักษาให้มีอายุยืนนานเป็นมิ่งขวัญชีวิต การทำงานสุจริตเพื่อยังชีพ เพื่อธำรงความกตัญญูกตเวทิตา นับเป็นส่วนสำคัญของการอนุรักษ์ประเพณีชาวพุทธไทย  ผู้เขียนขอฝากบทความนี้ให้พี่น้องทุกคน ถ้าคุณก็เป็นคนหนึ่งซึ่งมีความภาคภูมิในความเป็นไทย จำไว้ให้มั่นเถิด

 เราพึงทำหน้าที่ดีที่สุด แม้ฝ่าฟันชะตากรรมบนเส้นทางห่างไกล ก็ดีกว่าคนทรยศคดโกง กัดกลืนกินแผ่นดินตนเอง
.   
  (บทความนี้ตีพิมพ์ หนังสือพิมพ์ไทยในสหรัฐอเมริกา ยอดผลิตแปดพันฉบับ คุณภาพมาตรฐานตลอดระยะเวลาสองทศวรรษจำแนกทั่วมลรัฐต่างๆทั้งทวีปเผยแพร่ที่วัดพุทธไทยและวางจำหน่ายที่ตลาดไทยร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ ส่งตรงถึงสถานทูตไทยกรุงวอชิงตันดีซีและสถานกงสุลใหญ่ทุกแห่ง พร้อมขึ้นเครื่องบินไทยนำเข้ายังห้องสมุดรัฐสภา)				
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟChorChongKoh
Lovings  ChorChongKoh เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟChorChongKoh
Lovings  ChorChongKoh เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟChorChongKoh
Lovings  ChorChongKoh เลิฟ 0 คน
ไม่มีข้อความส่งถึงChorChongKoh