The Reader เมื่อคนเราไม่ได้แค่อ่านแต่หนังสือ
เชษฐภัทร วิสัยจร
หากจะย้อนเวลากลับไปเมื่อครั้งผมใกล้ ๆ จะเรียนจบปริญญาตรี ขณะที่มีโอกาสได้ใกล้ชิดกับครูบาอาจารย์ที่น่าเคารพนับถือหลายท่าน ผมโดนตำหนิอยู่เสมอว่า "ถ้าอยากจะเป็นนักเขียน ทำไมไม่รู้จักอ่านหนังสือให้เยอะ ๆ"
ปกติผมเป็นคนขี้เกียจอยู่เป็นทุนเดิมอยุ่แล้ว แต่ว่า ด้วยความที่ตอนนั้นจิตใจใฝ่อยากจะเป็นนักเขียน/นักแปลและนักคิด มาก ๆ ใครแนะนำอะไรก็เชื่อฟังไปหมด นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา หลังจากกล้ำกลืนฝืนตัวเองอยู่สักพัก ผมก็กลายเป็นคนที่พยายามหาอะไรที่เป็นหนังสือมาอ่านอยู่เสมอ ชนิดที่ว่าไปงานหนังสือ และไปร้านหนังสือ พอซื้อหนังสือมามากมายแล้วได้แต่เก็บดอง ถึงขนาดว่าอ่านไม่เคยทัน ทั้งที่อ่านหนังสืออยู่ตลอด
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ หนังสือที่ซื้อมาตั้งแต่งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติเมื่อปี 2548 ยังไม่ได้อ่านอีกหลายเล่ม แม้เวลาจะล่วงเลยไปหลายปีแล้วก้ตาม
---------------
หลังจากที่ผมปรับทัศนคติจนกลายเป็น "ลูกอีกช่าง(หาหนังสือ)อ่าน" ได้ไม่นาน เมื่อผมเผอิญได้มีเพื่อนเป็นคนอีกกลุ่ม คือคนที่ไม่ใช่กลุ่มนักอ่านนักเขียน แต่เป็นนักเศรษฐศาสตร์ การเงินและลงทุน ผมกลับโดนตำหนิกึ่งเหยียด ๆ ว่า
"จะอ่านหนังสืออะไรนักหนา หนังสือนั่นมันไม่ได้ช่วยอะไรหรอก"
ผมฟังแค่นั้นก็ได้แต่ตกใจแล้วแอบคิดว่า
"อ้าว ที่ครูบาอาจารย์กูสอนมา นี่มันผิดหมดรึไง จะว่าพวกนั้นโง่ก็ไม่ได้ เพราะเขาก็ประสบความสำเร็จในชีวิตในแบบของเขา คือเรื่องการเงิน การเทรด ไม่ได้น้อยหน้าตกต่ำอะไรเลยแม้แต่น้อย"
ผมคิดซ้ำไปซ้ำมาทบทวนถึงปัญหาข้อนี้อยู่หลายปี จนในที่สุด ก็เหมือนว่าจะพอได้คำตอบอยู่เลา ๆ
คือ คนกลุ่มหลังที่ตำหนิกึ่งเหยียดพฤติกรรมการอ่านหนังสือ หรือเชื่อแต่หนังสือ นี่ เขาก็ไม่ได้ไม่ "อ่าน" อะไรเลย เพียงแต่ "รหัส" ที่เขาเข้าไปอ่านและ "เรียนรู้" นั่น คือการลงมือปฏิบัติจริง คือเขา "อ่าน"สถานการณ์ และชีวิตจริง เขาไม่ได้อ่าน "ตัวหนังสือ" ที่คนอื่นเขียนและถ่ายทอดมาในรูปแบบหนังสือ
ทั้งนี้ทั้งนั้น วิธีอ่าน แบบแรก คืออ่านหนังสือ กับ อ่านแบบที่สอง คือ อ่านชีวิตจริง ก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป ไม่มีอะไรผิดไปเสียหมด เพียงแต่ผู้อ่านต้องเลือก แยกแยะ และดึงจุดดี ของยุทธวิธีการอ่านแต่ละอย่างมาผสมผสานในชีวิตให้เหมาะ
การอ่านหนังสือ ยิ่งอ่านหลายภาษาได้ยิ่งดี เพราะเป็นการอ่าน "ชีวิต" ที่ผู้อื่นนำมาถ่ายทอดประสบการณ์ที่หลากหลายมากขึ้น ความคิดที่กลั่นกรองแล้วให้เราได้รับรู้ ข้อดีที่สำคัญก็คือ เราไม่ต้องไปเสียเวลาทั้งชีวิตเก็บข้อมูลเอง หรือต้องเผชิญความเจ็บปวดกับชีวิตเอง แต่สามารถเก็บข้อมุลที่มีการกลั่นกรองมาแล้วได้โดยเวลาไม่นานนัก
แต่ข้อเสียก็มีของมันอยู่เหมือนกันคือ บางครั้ง ถ้าอ่านแต่ตัวหนังสือ อาจจะทำให้เราไม่ได้ทดลองลงมือ เผชิญกับสถานการณ์ และแก้ไขปัญหาจริง
ซึ่งตรงนี้ กลุ่มที่สองที่เขาอ่านชีวิต เขาจะได้รับประสบการณ์ตรงที่ไม่ต้องฟังใคร แต่ได้ฝึกคิด ได้เจ็บปวดเอง และเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาเองมาแล้ว เพียงแต่ข้อเสียก็มีอีกเช่นกัน คือ ชีวิตหนึ่งของคนมันก็มีข้อจำกัดว่า "ตายได้หนเดียว" และถ้าจะตอ้งให้ "เจ็บปวด" เพือ่ "เรียนรู้" อะไรบางอย่างบางที มันก็ไม่คุ้ม นี่คงเป็นสาเหตุที่ทำให้การอ่านหนังสือดูดีขึ้นมาบ้าง ด้วยเพราะเราสามารถสังเกตความผิดพลาดของผู้อื่น จากการเล่าเรื่องเป็นตัวหนังสือ โดยที่ไม่ต้องลงทุนไปเจ็บปวดเอง
ด้วยเหตุนี้ผมจึงได้ข้อสรุปที่ยังอาจจะต้องหาคำตอบต่อไปอีกเรื่อย ๆ จนกว่าจะตายกับตัวเอง ว่า การอ่านหนังสือที่ถ่ายทอดจากประสบการณ์คนอื่นอย่างเดียวอาจจะไม่พอ แต่ต้องหัดอ่านชีวิต คือประสบพบเจอกับตัวเองด้วย และเมื่อนำความคิดที่ได้กลั่นกรองจากทั้งการอ่านหนังสือและอ่านชีวิตตัวเองมาเขียนกระบวนการเขียนนั้นนั่นแหละ ที่ผู้เขียนเองจะได้หวนย้อนอ่านความคิดของตัวเองอีกครั้ง
ณ เวลานี้ การอ่านจึงไม่ใช่ "สักแต่อ่านผ่าน" แต่ต้องอ่านอย่างมีความระวังไหว คือใส่ใจรายละเอียด เก็บอารมณ์ความรู้สึกให้ได้มาก ยิ่งมากแค่ไหน มันก็จะยิ่งช่วยลับคมความคิดให้กับผุ้อ่าน เพื่อที่จะใช้ชีวิตให้ประสบความสำเร็จอยู่รอดปลอดภัยได้มากขึ้นเท่านั้น
-----------
ภาพยนตร์เรื่อง The Reader เป็นเรื่องราวของอดีตผู้คุมคุกชาวเยอรมันที่เคยรับใช้กองทัพนาซี เธอมีชื่อว่า Hannah หญิงสาววัยกลางคนที่อ่านหนังสือไม่ออก แต่ชอบฟังผู้อ่านอื่นนิยายงานเขียนคลาสสิกยิ่งนัก
หลังสงครามโลกครั้งที่สองจบลง Hannah แอบมีสัมพันธ์เชิงชู้สาว กับเด็กหนุ่มวัยสิบห้าปีคนหนึ่ง ด้วยความที่เด็กหนุ่มคนนั้นจัดได้ว่าเป็นเด็กเรียนและก็รักการอ่านอยู่ไม่น้อย ทุกครั้งที่ทั้งคุ่เจอกัน Hannah จะต้องได้ฟังนวนิยายงานเขียนคลาสสิกของยุโรปทั้งในยุคนั้น และยุคก่อนหน้า จนกระทั่งอาจกล่าวได้ว่า สาวใหญ่ผู้อ่านหนังสือไม่ออกผู้นี้ รู้เรื่องราวจากงานเขียนดังๆ อย่างขึ้นใจ มากกว่าคน(ไทย) ที่อ่านหนังสือออก แต่ไม่อ่านหนังสือหลายคนเสียอีก
แต่เหตุการณ์ในอดีตก็เหมือนจะหวนย้อนมาทำให้ชีวิตของ Hannah ในปัจจุบันต้องเจอวิกฤต เมื่อมีการลงโทษย้อนหลัง ผู้เกี่ยวข้องกับกองทัพนาซีในอดีต Hannah ผู้ซึ่งแทบจะเรียกได้ว่าไร้ญาติขาดมิตร ต้องอยู่ในคุก เกือบจะตลอดชีวิต
แม้กระนั้นก็ดีเหมือนกับว่าในวิกฤตมักจะมีโอกาส ซ่อนซ้อนมาเสม เมื่อเด็กหนุ่มที่เคยมีความสัมพันธ์กับเธอ รู้สึกสงสารเธอ จึงได้จัดการอ่านงานเขียนหลายหลาก แล้วอัดเทป ส่งไปให้เธอฟังในคุก
เธอฟังอยู่หลายปีจนกระทั่งเกิดความรู้สึก "อยากหัดเขียนหนังสือ" ให้เป้น จนได้เรียนรู้ด้วยตนเองด้วยความอุตสาหะ และก็สามารถเขียนจดหมายมาขอบคุณผู้ที่ส่งหนังสือไปให้เธอได้
นั่นหมายความว่าหลังจากฟังการอ่านให้ฟังอยู่หลายปี จากคนที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ตอนนี้เธอกลายเป็นคนที่สามารเขียนหนังสือได้แล้ว
แต่อนิจจา เมื่อเธอพ้นโทษ ออกจากคุก เธอกลับรู้สึกหวาดกลัว เพราะเธอ ได้ห่างหาย "การอ่านชีวิต" จากโลกภายนอกเรือนจำ ไปเป็นเวลายี่สิบกว่าปี
บางทีโลกนี้มันก็ตลก ที่คน ๆ หนึ่งจากอ่านหนังสือไม่ออก แล้วต้องเข้าไปหัดเขียนอ่านเองอยู่ในคุก จนอ่านออกเขียนได้ พอมาวันหนึ่ง หลังจากที่ ละทิ้ง "ทักษะการอ่านชีวิต" ไปนาน จนขาดทักษะนั้นแล้ว กลับจะต้องออกมาเผชิญโลกใหม่ และ "หัดอ่านชีวิต" ใหม่อีกรอบ ถ้าคนที่มีกำลังใจไม่ดี มันก็ท้อแท้กับชีวิตได้เหมือนกัน
---------
พอดูหนังเรื่องนี้แล้วยิ่งทำให้รู้สึกว่า แม้ชีวิตนี้จะคาดเดาได้ยาก อันเนื่องมาจากความไม่แนอนนอันเป็นธรรมดาของโลก แต่ทักษะสำคัญที่มนุษย์สามารถรับมือกับความไม่แน่นอนอันนี้ได้ ก็คือการอ่าน ที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะแต่ออ่านหนังสือ เท่านั้น แต่ยังหมายถึงการอ่าน "ผู้อื่น" คือมนุษย์ด้วยกัน การอ่านสถานการณ์ การอ่านภาพยนตร์ และที่สำคัญที่สุด ก็คือ การอ่านตัวเอง ที่จะช่วยทำให้เรามีสติ
พอเรามีสติ แล้วเราก็จะสามารถควบคุม "การเขียนชีวิต" ของเราได้ แม้ว่าจะสุขจะทุกข์อย่างไร แต่อย่างน้อยก็ทำให้เราระลึกตัวอยู่ และพยุงตัวไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง ประคับประคองให้ชีวิตของเราสร้างประโยชน์กับตัวเองและผู้อื่นได้บ้างไม่มากก็น้อย