ผมมากราบขอความเมตตาจากทุกท่านอีกครั้งหนึ่งครับผม

ตราชู

กราบสวัสดีขอรับ ท่านผู้อ่านที่เคารพทุกท่าน
	ผมถือเป็นคนตาบอดตกยุคครับ คือดำรงชีพอยู่ในสมัยปัจจุบัน ทว่า พิสมัยในกวีนิพนธ์เก่า ความทุกข์เข็ญจึงติดตามมาเป็นทวีคูณตรีคูณ เมื่อไม่สามารถสรรหาความรู้มาเติมเต็มให้ตัวโดยตนเองได้ จึงมากราบขอความอนุเคราะห์จากทุกท่านครับ
วันหนึ่ง ในสัปดาห์ก่อน ผมลองใช้เว็ปไซต์ google ค้นหาข้อมูลอันเกี่ยวกับวรรณคดี ความเปลี่ยนแปลง บทนิพนธ์ของ ท่านอัสนี พลจันทร์ ก็ไปพบเว็ปนี้เข้าครับ
http://www.sameskybooks.org/webboard/show.php?Category=sameskybooks&No=25508
ในหน้าดังกล่าว อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นำบางเสี้ยวบางส่วนของ ความเปลี่ยนแปลง มาลงไว้ ผมติดใจตัวอย่างต่อไปนี้เป็นอันมากครับ นั่นคือ...
โอ้เมืองไทยนี้มีตำ-
นานคือเมืองคำ
แลใคร บ่ เคย เข็ญขร
มีศิลาจารึกลือขจร
โคลงฉันท์กาพย์กลอน
ก็ว่าบมีเวรภัย
แสนสระนุกทุกทั่วกรุงไทย
ไพร่ฟ้าหน้าใส
ประดุจด้าวแดนสวรรค์
ชาวประชาหากินด้วยกัน
ซื้อขายให้ปัน
บมีจะเป็นปากเสียง
เทวราชบมิรู้ลำเอียง
รู้เปรียบเทียบเคียง
จะครองแผ่นดินโดยธรรม
เพราะเมืองไทยนี้มีตำ-
นานคือเมืองคำ
เพราะใครบเคยเข็ญขร
จึงกระเดื่องเลื่องล้ำกำจร
ทั่วทุกนคร
มาขุดเอาทองแดนไทย
เพราะสนุกสุขนักนี่กระไร
ไพร่ฟ้าหน้าใส
เพราะซีดเพราะเซียวเขียวขม
เพราะบมีปากเสียงเวียงรมย์
จึงเลยรันทม
บอาจจะถ้อพาที
เพราะทวยราษฎร์ล้วนเสรี
ขายค้าฆ่าตี
ก็ตามอำเภอใจพาล
เพราะทรงธรรมรัชย์ชัชวาลย์
แผ่นดินจึงดาล
ประดุจประดงกำเดา
	ผมอ่านจบถึงกับอุทาน โอ๊ะ....โอ้โฮ! เพราะช่างเสียดสีได้ลึกซึ้งแหละแสบสันดีแท้ๆ โดยเฉพาะสามบรรทัดสุดท้ายของข้อความที่ยกมา คงทำให้พวกยึดติดจารีตกระโดดโลดเต้นทีเดียว
	อันเนื่องมาจากความอยากรู้ ผมจึงขอเรียนถามท่านที่มีหนังสือดังกล่าวไว้ในครอบครองว่า ความเปลี่ยนแปลง นั้น ท่านนายผี รจนาถ้อยเสียดสี ประชดประชัน กระแหนะกระแหน เปรียบเปรยเชิงยั่วล้อ ฯลฯ เอาไว้มากไหมครับ อีกประการนั้นเล่า ลีลากาพย์ฉบังของท่าน ต้องถือว่าหนักแน่นจริงๆ เล่นเอาคำประพันธ์ที่ดูพื้นๆ สูงส่งด้วยอลังการศัพท์ ยกระดับเทียบเท่าฉันท์นั่นเทียว ผมไม่มีโอกาสอ่านได้ด้วยตนเอง ทั้งจะหาเว็ปใดนำเรื่องนี้มาลงตั้งแต่ต้นจนจบก็ไม่พบ หากท่านใดกรุณาให้ความรู้เพิ่มเติมบทกวีอันทรงคุณค่านี้เป็นวิทยาทานอีกสักบทสองบท ก็จะถือเป็นพระคุณแก่ผมอย่างยิ่งยวดครับผม
โดยความเคารพอย่างสูงยิ่ง
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ				
comments powered by Disqus
  • โคลอน

    16 มีนาคม 2551 17:45 น. - comment id 19910

    ผลงานของ นายผี(อัศนี พลจันทร)
    
    ตลิ่งของสองข้างทางน้ำของ
    แม้ยืนมองดูยังคอตั้งบ่า
    เขาหาบน้ำตามขั้นบันไดมา
    แต่ตีนท่าลื่นลู่ดังถูเทียน
    
    เหงื่อที่กายไหลโลมลงโทรมร่าง
    แต่ละย่างตีนยันสั่นถึงเศียร
    อันความทุกข์มากมายหลายเล่มเกวียน
    ก็วนเวียนอยู่กับของสองฝั่งเอย
    
                                       "ของสองฝั่ง"
    
    ไปหาบทกวีท่านเจอพอดีอ่ะค่ะ
    
    
    
    ในเดือนธันวาคม 2489  ได้ตีพิมพ์บทกวี 'นายผีคือใคร?' อธิบายความหมายของนามปากกานี้ที่มักมีผู้เข้าใจไปว่าหมายถึง"ผี ปีศาจ"ว่า..........
    
    นายผีใช่ภูตเพื่อ ผลีผลาม
    เพราะใช้ชื่อนายผี ผิดแท้
    คือองค์อิศวรสาม เนตรนั่น นะพ่อ
    นายพวกผีเพื่อแก้ เก่งผี
    
    นายปวงปีศาจต้อง ภูเต ศวรแฮ
    ปีศาจบดีทวี ภูตไหว้
    กบาลเหล่ากเล วรห้อย คอฮา
    รุทรากษเล็งร้ายให้ ฉิบหาย
    
    ผิเป็นผีเพื่อผู้ บาปผละ
    เป็นภาพผีฟ้าผาย แผ่นฟ้า
    ผินโกรธแก่บุณยสะ สมบาป
    คือพวกผีข้าอ้า อดสู
    
    ทั้งยังมีคำอธิบายศัพท์ต่างๆ ไว้ในตอนท้ายของโคลงว่า
    
    ภูเตศวร คือ ภูต(ผี) -อิศวร(จ้าวฤานาย) ก็คือนายของผี
    ปีศาจบดี คือ ปีศาจ(ผี)-บดี(จ้าวฤานายป ก็คือนายแห่งผี
    รุทรากษ คือ รุท(พระอิศวรผู้เป็นนายผี) อักษ (ตา)ก็คือตาพระอิศวรที่มีอยู่สาม ; หน่วยที่นลาตนั้น เบิกเป็นไฟไหม้พิภพได้ จึงได้ชื่อว่าเป็นฤาษีตาไฟ และเพราะเหตุที่ได้เผาพระกามมอดไหม้ไปเป็นพระอนงค์ จึงเสียงล้อกันว่า นายผีย่อมทำลายกาม แต่รูปกาม, อาตมันยังอยู่
    
    
    
    ใครใดในโลกนี้.เป็นไฉน
    คอลัมน์ " วรรณมาลา " ต้องประสบปัญหาอย่างหนัก หนักจากเจ้าพนักงานตรวจข่าว ยิ่งเฉพาะในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2489 ซึ่งรัฐบาลปรีดี พนมยงค์กำลังประสบภาวะวิกฤติทางการเมืองเนื่องจากกรณีสวรรคต มีการประกาศภาวะฉุกเฉิน ทำให้การตรวจข่าวหนังสือพิมพ์เป็นไปอย่างเข้มงวด จนกระทั่งพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ จัดตั้งรัฐบาลใหม่ จึงได้เริ่มเข้าสู่เหตุการณ์ปกติ นายผีกลับมาเขียนบทกวีวิจารณ์สังคมและนโยบายรัฐอย่างค่อนข้างรุนแรง และก้าวร้าว ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเป็นนักอนา ธิปไตย ที่ไม่พอใจสังคมเก่า แต่ยังขาดเป้าหมายทางการเมืองที่แจ่มชัด ในช่วงปี 2490-2491 นายผีย้ายมาเขียนประจำในคอลัมน์ อักษราวลี ของหนังสือ สยามสมัย รายสัปดาห์ บทกวีก็ยิ่งเข้มข้นหนักกว่าเดิม โดยนายผีได้โจมตี บุคคลสำคัญทางการเมืองเป็นรายตัว เป็นต้นว่า จอมพล ป.พิบูลสงคราม, พลโทผิน ชุณหะวัณ, พลโทกาจ เก่งสงคราม, มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช จึงทำให้มีคำสั่งให้กำราบกวีปากกล้าคนนี้เสีย แต่นายผีกลับไม่กลัวเกรง และได้เขียนกวีท้าทายไปบทหนึ่งว่า
    
    ใครใดในโลกนี้ เป็นไฉน
    ใช่พ่อนายผีไย ขยาดเว้น
    ทำชั่วบ่ชอบใจ จักด่า
    ทำชอบชมเชยเต้น แต่งแกล้งกลอนสวย
    
    
    
    29.gif29.gif29.gif29.gif29.gif29.gif
  • โคลอน

    13 มีนาคม 2551 18:43 น. - comment id 20448

    ไม่มีหนังสือเล่มที่ ตราชู ถามมานะคะ
     พออ่านข้อมูลที่ ตราชูให้มาแล้วก็เลยลองเซิร์ชข้อมูลดูถึงได้รู้ว่าท่านคือผู้ที่แต่งเพลง*** คิดถึงบ้านหรือเดือนเพ็ญ*** ที่ สุรชัย จันทิมาธร ร้อง
    
    เดือนเพ็ญ แสงเย็นเห็นอร่าม นภาแจ่มนวลดูงาม 
    เย็นยิ่งหนอยามเมื่อลมพัดมา
    แสงจันทร์นวลชวนใจข้า คิดถึงถิ่นที่จากมา
    คิดถึงท้องนาบ้านเรือนที่เคยเนา
    
    กองไฟสุมควายตามคอก คงยังไม่มอดดับดอก
    จันทร์เอยช่วยบอกให้ลมช่วยเป่า
    โหมไฟให้แรงเข้า พัดไล่ความเยือกเย็นหนาว
    ให้พี่น้องเฮานอนหลับอุ่นสบาย
    
    เรไรร้องฟังดังว่า เสียงเจ้าที่เฝ้าคอยหา
    ลมช่วยมากระซิบข้างกาย
    ข้ายังคอยอยู่ไม่หน่าย ไม่เลือนเคลื่อนคลาย 
    คิดถึงมิวายที่เราจากมา
    
    ลมเอยช่วยเป็นสื่อให้ น้ำรักจากห้วงดวงใจ 
    ของข้านี้ไปบอกเขานำนา
    ให้เมืองไทยรู้ว่า ไม่นานลูกที่จากมา
    จะไปซบหน้าในอกแม่เอย.
    
    29.gif29.gif29.gif29.gif29.gif29.gif
    
    ประวัติของท่านจากเว็บนี้อ่ะค่ะhttp://nives.ipbfree.com/index.php?s=03cec477f900992445d2d08a967b86d7&showtopic=186&st=0entry1040
    
    ส่วนแนวกลอนต้องขออภัยค่ะ เพราะไม่มีความรู้ที่จะตอบได้ รอให้ผู้รู้จริงมาไขความกระจ่างเนาะ
    36.gif11.gif
    
    ขอบคุณที่แนะนำงานดีๆมาให้อ่านค่ะ
  • .

    13 มีนาคม 2551 20:20 น. - comment id 20449

    คือฟืนซนไฟในเตา
    
    เพื่อเพลิงผลาญเผา
    
    กี่ร้อยกี่พันบมิพอ
    
    
    
    แกงหม้อเดียวแซบเเสบคอ
    
    หยิบมือเดียวยอ
    
    แลเรานิยมเยียใด
    
    
    ในนาท่าทุ่งทั่วไป
    ในดงพงไพร
    แลในพนมเนืองนอง
    
    บึงบางห้วยธารทั้งผอง
    แม่น้ำลำคลอง
    แลในทะเลลึกเขียว
    
    เหมืองแร่ไร่ลิ่วทิวเทียว
    ทังเรือกสวนเหลียว
    โรงจักรแลโรงงานงาม
    
    ย่อมล้วนเลือดไหลรินลาม
    เพียงภพทั้งสาม
    จะท่วมทะลายบมิเหลือ
    
    ย่อมล้วนครวญคร่ำครางเครือ
    รีดรูดขูดเถือ
    กันถึงกระดูกดูสยอง
    
    ย่อมล้วนโซร่ซ้ำจำจอง
    ล่ามรึงกรึมกรอง
    แลแส้ก็โบยโรยรัน
    
    เจ็บช้ำคร่ำแค้นแสนศัลย์
    สารพัตรสารพัน
    บอาจจะพอพรรณนา  ฯ
    
    
    ......
    
    งานร้อยกรอง...ความเปลี่ยนแปลง...ของนายผีนี้ สันนิษฐานว่าเขียนขึ้นก่อนเกิดกบฏสันติภาพ  ขณะมีการก่อตั้งคณะ กก.สันติภาพขึ้นราวปี 2495  ...งานชิ้นนี้ ผู้เขียนได้เขียนประวัติตนเองและวงศ์ตระกูลไว้ด้วย    หลังจาดเขียนงานนี้เสร็จสิ้น    นายผีได้ตัดสินใจในวิถีดำเนินชีวิตของท่าน   ....ปัจจุบัน ท่านมีที่ไปแน่นอนอย่างสงบแล้ว   กวีเมืองไทยมีไม่กี่คนที่เรียกได้ต็มปากว่าคือ กวี......นายผีคือผู้เป็นยิ่งกว่ากวี  ครูของกวีโดยแท้.....
  • ตราชู

    14 มีนาคม 2551 09:51 น. - comment id 20452

    สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่เคารพทุกท่าน
    
    	สวัสดีครับ คุณโคลอน 
    
    	ทุกวันนี้ ผมได้ยินใครร้องเพลง คิดถึงบ้าน (เดือนเพ็ญ) แล้วอยากจะร้องไห้โฮ เพราะคิดถึง ท่านอัสนี พลจันทร์ สุดหัวใจ และรู้สึกเศร้าสลดหดหู่ เมื่อยุคสมัยทำให้เพลงนี้กลายเป็นเพลงร้องเล่นเท่านั้น โดยที่คนร้องบางคนซึ่งเปล่งเสียงออกไป จะรู้ไหมหนอ ว่าผู้รจนาเพลงนี้ ท่านทุกข์ระทมขมขื่นเพียงใด แหละท่านไม่ได้กลับมา ซบหน้ากับอกแม่เอย ดังปณิธานของท่าน นอกจาก คิดถึงบ้าน กลายเป็นเพลงร้องเล่นแล้ว งานกวีของท่าน ก็เสมือนถูกทอดทิ้งจากคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อย ผมไม่รู้จะทำอย่างไรเหมือนกันครับ
    
    	กราบขอบพระคุณอย่างสูงยิ่งครับ ท่าน . 
    
    	ท่านอัสนี พลจันทร์ คือ มหากวีแห่งประชาชน โดยแท้ แต่เนื่องมาจากสาเหตุอันใดไม่ทราบ ผลงานอันอำนรรฆของท่าน จึงยังไม่ได้รับการบรรจุในตำราเรียนเสียที ฤาเพราะหลักสูตรการศึกษาบ้านเรา ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้หลักผู้ใหญ่หัวเอียงขวา (จนถึงขวาจัด) ก็ไม่รู้สิครับ คนเหล่านี้ พอใจกับการให้เด็กท่องจำ...
    	เมื่อนั้น
    ระเด่นมนตรีเรืองศรี.....ฯลฯ  โดยไม่ส่งเสริม ให้ความสำคัญกับวรรณคดีเพื่อประชาชนผู้ทุกข์ยากอย่างเท่าเทียม ฤาภาพหลอนเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์จะยังไม่จางหายก็ไม่รู้สิขอรับ ผมไม่ได้เลื่อมไสเหมาเจ๋อตุง หรือผู้นำคอมมิวนิสต์คนอื่นๆนะครับ แต่รักและเทิดทูนความยุติธรรม รวมถึงบูชาศิลปินผู้สร้างศิลปะเพื่อประชาชนอย่างยิ่งครับผม
  • Schumann

    14 มีนาคม 2551 22:41 น. - comment id 20457

    ผมว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่คนเลือกตำราเรียนเอียงซ้ายเอียงขวาอย่างเดียวหรอกครับ น่าจะเป็นการเลือกให้เหมาะกับวัยมากกว่า อย่างกวีนิพนธ์สั้นๆที่คัดมาให้เรียนกันส่วนมากก็เป็นงานที่สะท้อนปีรัชญาชีวิตหรือการมองโลกในด้านบวก ส่วนงานของนักคิดฝ่ายซ้าย หรือกวีนิพนธือื่นๆก็อยู่ความสนใจของนักเรียนแต่ละคนด้วย ผมเองบังอาจไปงานงานของ "นายผี" ตอน ม. ต้น ก็พบว่ามีความซับซ้อนสูงมาก เพราะท่านใช้รูปแบบฉันทลักษณ์โบราณ กอปรกับความรู้ทางอักษรศาสตร์อันเลิศ และนัยยะทางการเมืองอันซับซ้อน จึงใช่ว่าจะเข้าใจได้ง่ายๆ แต่ก็มีบางบทที่ผมยังท่องจำได้มาจนถึงปัจจุบัน เช่น "ตลิ่งของ" ที่ท่านพรรณนาวิถีชีวิตสองฝั่งโขงได้ยอดเยี่ยมมาก 
    ผมคิดว่าเพลง "คิดถึงบ้าน" นั้นถึงคนที่ไม่เข้าใจภูมิหลังนำมาร้อง อย่างที่คุณตราชูว่าร้องกันเล่นๆนั้น ก็เท่ากับเป็นการประกาศคุณค่าของตัวงานด้วย เพราะงานที่มีคุณค่าย่อมสื่อความกับคนในวงกว้างได้ แม้จะไม่ได้อยู่ในบริบททางสังคมที่ตัวงานเกิดขึ้นมาก็ตาม ถึงอย่างไร เพลงะ "คิดถึงบ้าน" ก็ยังกล่อมใจคนไกลบ้านได้ทุกคนแหละครับ ผมเคยดูละครทีวีเรื่องหนึ่งเมื่อนานมาแล้ว ตัวละครตัวหนึ่งคิดถึง้บานเลยร้องเพลงนี้ขึ้นมาขณะยิงกระต่ายข้างกำแพง ผมว่าเป็นฉากที่น่าประทับใจมาเหมือนกัน ถึงจะไม่โรแมนติกนักก็ตาม
    ผมเห็นด้วยที่ว่าเราซาบซึ้งกับกวีนิพนธ์สะท้อนสังคมได้โดยที่ไม่ต้องเป็นพวกฝ่ายซ้าย เราอ่านคำประกาศลัทธิคอมมิวนิสต์ ได้โดยไม่จำเป็นต้องเชื่อตามปรมาจารย์คาร์ล มาร์กซ์ ไม่ต้องเป็นมาร์ซิสต์เราก็ได้บทเรียนจากคำประกาศลัทธินั้นได้ ว่ามีคนเคยต่อสู้เพื่อความยุติธรรมมานักต่อนักแล้ว และ "นายผี" ก็เป็นอีกท่านหนึ่งที่ทำตามเจตนารมย์ของท่านเอง ไม่ใช่พวก "ซ้ายหัน" อย่างรัฐมนตรีหลายคนในบางยุคบางสมัย
  • ตราชู

    15 มีนาคม 2551 12:15 น. - comment id 20458

    ซ้ายหัน (เอ้า เปล่งเสียงให้ดังๆเลยครับ ซ้ายยยยยย หัน) คำนี้โดนใจผมอย่างแรงครับ คุณ Schumann เพราะในปัจจุบัน เราก็พบก็เจอกันหลายคนจริงๆ เพื่อนร่วมอุดมการณ์ออกแถลงการเตือนสติก็แล้ว ผู้คนออกมาต่อว่าต่อขานก็แล้ว ยังไม่เปลี่ยนเสียที เฮ่อ! แต่ .... ผมพอจะเข้าใจพวกเขาบ้างรางๆในบางส่วน (จากการสันนิษฐานครับ) ว่าเหตุที่ทำให้คนเดือนตุลาบางคนเปลี่ยนไป น่าจะเกิดจากความเปราะบางของจิตใจนั่นกระมังครับ 
    	เมื่อแรกเข้าป่า ความหวังซึ่งมีต่อ พคท. เต็มเปี่ยม ทุ่มเทให้หมด แต่พอถูก พคท. หลอก และค้นพบว่าดาวแดงมิใช่ความจริง ก็ เรียกได้ว่า อกหักอย่างแรง แรงยิ่งกว่าอกหักจากรักคุดชนิดประมาณมิได้เลย บางคนจึงสิ้นหวัง จะกอดอุดมการณ์ต่อไป (ทำเหี้ยอะไรวะ) อีกทำไมเล่า เข็ดแล้ว จับ ฉวย คว้า สิ่งที่เห็นอยู่เป็นรูปธรรมดีกว่า บาดแผลนี้ ใครไม่ได้รับด้วยตัวเองคงยากจะหยั่งถึง ผมฟังเพลง คืนรัง ของ น้าหงา คาราวาน ยังน้ำตาซึมเลยครับ เพราะพอจะรู้ว่า คนหนุ่มสาวยุคนั้นเจ็บปวดทรมานแค่ไหน
    
    	มายกมือสูงๆเห็นด้วยเกี่ยวกับเพลง คิดถึงบ้าน ครับ คือเพลงนี้มีอิทธิพลจริงๆ แม้ผู้ร้องจะมิได้อยู่ หรือเกี่ยวข้อง หรือรับรู้เกี่ยวกับกองทัพปลดแอกก็ตาม เพื่อนผมคนหนึ่งไปใช้ชีวิตอยู่อังกฤษ วันหนึ่ง โทรศัพท์มาคุยกับผม เขาบอกว่า ฟังเพลงเดือนเพ็ญแล้วบีบอารมณ์สุดๆครับ ผมมั่นใจว่า เพลง คิดถึงบ้าน จะยังกระหึ่มไปอีกนาน เพียงแต่ไม่เข้าใจว่าเหตุใด คุณแอ๊ด คาราบาว ซึ่งนำเพลงนี้มาร้องต่อจากน้าหงา ต้อง สลับท่อน ของเพลงด้วย??? มิหนำ ยังไม่แก้ไขอีก ผมถือว่าเป็นการลบหลู่ ท่านอัสนี พลจันทร์ โดยไม่เจตนา แหละอยากขอร้องให้คุณแอ๊ดโปรดแก้ไขให้ถูกตามเนื้อร้องต้นฉบับด้วยครับ นั่นคือ
    
    	กองไฟสุมควายตามคอก ต้องมาก่อน เรไรร้องดังฟังว่า หรือที่ศิลปินบางท่านเคยให้สูตรสำหรับจำง่ายๆ ว่า กองไฟ มาก่อน เรไร นั่นเองครับผม
  • โคลอน

    16 มีนาคม 2551 17:47 น. - comment id 20464

    แหล่งที่มาจาก
    
    http://nives.ipbfree.com/index.php?s=03cec477f900992445d2d08a967b86d7&showtopic=186&st=0&
  • ..

    17 มีนาคม 2551 22:08 น. - comment id 20468

    54.gif36.gif
  • ตราชู

    18 มีนาคม 2551 10:00 น. - comment id 20469

    สวัสดีอีกคราครับ คุณโคลอน คุณ ..
    
    	ขอบพระคุณอย่างสูงยิ่งครับ คุณโคลอน ที่กรุณานำประวัติของ ท่านอัสนี พลจันทร์ มาเผยแพร่อีกครั้ง คนดีๆอย่างนี้ เราต้องช่วยกันเชิดชูให้บ่อยๆครับ เพื่อที่จะให้เยาวชนรุ่นหลัง มีโอกาสศึกษาประวัติของท่าน สำหรับเป็นแรงดลใจต่อไป
    
    	ใครใดในโลกนี้...............เป็นไฉน
    ใช่พ่อนายผีไย...............ขยาดเว้น
    ทำชั่วบ่ชอบใจ...............จักด่า
    ทำชอบชมเชยเต้น...............แต่งแกล้งกลอนสวย
    
    	โคลงบทนี้คืออหังการ์แห่งมหาบุรุษ ผู้อุทิศตนเพื่อมวลชนโดยแท้ ท่านถือเป็น วีรบุรุษ ทางวรรณกรรมอย่างปราศจากข้อสงสัย ในสมัยนั้น สมัยที่รัฐ ปกครองประชาชนโดยวิธีสร้างความหวาดกลัวขึ้นทั่วไป หวังกดหัวราษฎรมิให้หือ ท่านอัสนี พลจันทร์ ตลอดจนกวี นักเขียน ผู้องอาจรุ่นเดียวกัน แหละรุ่นหลังจากท่านมา ก็ล้วนทำหน้าที่ปะทะข้าศึกอย่างทรหดด้วยกันทั้งสิ้น นามกรของท่านเหล่านี้ จักจารึกไว้ในผืนแผ่นดินชั่วนิรันดร์ ครับผม
  • .

    19 มีนาคม 2551 15:22 น. - comment id 20482

    อหังการแห่งนายผีหรือ  เคยอ่านเจอ  ในการวิพากษ์วิจารณ์งานเขียนเรื่องสั้น ตึกกรอส   ซึ่งเนื้อหาอาจล้ำยุคไปหรืออย่างไร โดยเฉพาะมีการก้าวล่วงผู้แต่งในทางส่วนตัวกัน   สุภาพบุรุษเยี่ยงนายผีขอออภัยที่ประชุมเดินจากมา ด้วยเหตุผลที่ไม่อาจร่วมวงพูดจาก้าวล่วงลับหลังผู้เขียนเรื่องสั้นนั้นได้ ....ก่อนไม่นานจะไม่มีข่าวคราวของท่านอีกเลยในแวดวงนักเขียนเมืองไทยยามนั้น   ...ลองหาอ่านกันดูครับ  หนังสือเก่ามาก เคยอ่านที่ห้องสมุดสวนลุม...นานแล้ว   สำหรับคนที่สนใจมหากวีประชาชนท่านนี้.....  46.gif
  • ตราชู

    21 มีนาคม 2551 10:35 น. - comment id 20506

    สวัสดีอีกครั้งขอรับ ท่านผู้อ่านที่เคารพทุกท่าน
    
    	สวัสดีขอรับ คุณ .
    
    	เรื่อง ท่านอัสนี พลจันทร์ เดินออกจากที่ประชุมนั้น ผมเคยแว่วๆมาเหมือนกันครับ ที่รู้เลาๆก็คือ เมื่อ อาจารย์ อ. อุดากร เขียนเรื่องสั้น สัญชาตญาณมืด อันมีตอนจบหักมุมพลิกความคาดหมายอย่างรุนแรง สะเทือนความรู้สึกคนอ่านในยุคนั้นถึงขนาดช็อก (อย่าว่าแต่คนยุคนั้นเลยครับ ผมอ่านยุคนี้ยังอึ้ง ถามตัวเองว่าเป็นไปได้ถึงขนาดนั้นเลยหรือ) มีการอภิปรายเชิงโจมตีผู้เขียน โดยผู้ถูกกล่าวถึงมิได้อยู่ในที่ประชุมเลย ไม่มีโอกาสแก้ต่าง ชี้แจง ทำความเข้าใจ ต่อที่ประชุมแต่อย่างใด ท่านอัสนี พลจันทร์ เห็นว่าไม่ถูกต้อง จึงเดินออกมาเสีย ท่านคงจะทำเพื่อประท้วงตักเตือนกระมังครับผม

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน