e-person สูงวัย (อักษรตัวเล็ก) อยู่อย่างไรให้สูงค่า ผลึกความคิดชีวิตผู้อาวุโส

เปเป้ซังแม่มู๋ผู้เดียวดาย

"ข้าพเจ้าเริ่มสนใจเรื่อง ผู้สูงอายุตั้งแต่ปี 2525 ยิ่งสนใจมากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งพบว่า ผู้สูงอายุไทยจำนวนมากและหลากหลายอาชีพ มีชีวิตที่น่าสนใจศึกษา เพื่อนำมาเป็นแบบอย่างแก่การดำเนินชีวิต ดังนั้นจึงตั้งใจเอาเองว่า จะสรรหาผู้สูงอายุแต่ละอาชีพที่เห็นว่าประสบผลสำเร็จในชีวิตการงานอาชีพละคน ตามไปสัมภาษณ์ท่านเหล่านี้นนำมาเล่าสู่กันฟังในวงกว้าง คงจะเกิดประโยชน์ไม่มากก็น้อย ..." เป็นคำบอกของ นพ.บรรลุ ศิริพานิช อดีตข้าราชการอาวุโส แห่งกระทรวงสาธารณสุข ผู้ได้ชื่อว่า คนตงฉิน ที่เห็นมาสนใจและใส่ใจกับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ
"ผู้สูงวัย อยู่อย่างไรให้สูงค่า" หนังสือที่เป็นแรงบันดาลใจจากคำกล่าวข้างต้นจึงปรากฎร่างขึ้นมา บอกเล่าถึงแนวคิด วัตรปฎิบัติของคนดังในวัยล่วง 60 ขึ้นไป ผู้ซึ่งมีสาระแห่งแนวทางชีวิตที่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัวและสังคม โดยนพ.บรรลุ ได้ไปพูดคุย หาจุดยอดของเป้าหมายชีวิตแต่ละท่านมาฉายให้เห็นภาพ
นับตั้งแต่ นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว ผู้ได้ชื่อว่าราษฎรอาวุโส ที่มีความคิดว่า "แก่แล้วอย่าปล่อยว่าง เพราะการให้ เป็นความสุข" เรื่องราวของคุณหมอวัยเกือบ 100 ปีท่านนี้ น่าสนใจตรงที่คนในสังคมยกย่องว่าเป็น ราษฎรอาวุโส ซึ่งไม่ใช่ตำแหน่งทางการเมือง ไม่ใช่ยศทางราชการ แต่เป็นชื่อที่เรียกขานให้แก่บุคคล อันทำประโยชน์แก่ประเทศชาติบ้านเมือง แม้จะชราภาพทางกาย แต่ใจยังแก่ยิ่งฟิตปั๋ง ซึ่งนพ.เสม บอกว่า 
"คนไทยเชื่อว่า คนอายุ 60 ปีแล้วอย่าได้ทำอะไรเลย แก่แล้วให้แก่เลย อยู่นิ่งๆ ปรากฎว่าคนไม่ลงมือทำอะไรเลย ดูเหมือนลูกหลานแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย กลับตายมาก ส่วนคนที่ทำนั่นทำนี่ตลอด กลับตายช้า" เป็นเหตุผลที่ท่านฝากถึงคนอายุ 60 ปีว่า อย่าหยุดที่จะทำอะไร อายุไม่ใช่เส้นแบ่งให้มากีดกั้น ห้ามทำนั่นทำนี่ ทุกวันนี้ นพ.เสม ยังขยับเขยือนเคลื่อนกาย ด้วยการทำการบ้านในยามเช้า ไม่เกี่ยงว่าเป็นงานผู้หญิง ทั้งกวาดบ้าน เช็ดถู เป็นการออกกำลังกายยามเช้า
ก่อนจบท้ายที่ นพ.เสม ฝากถึงคนรุ่นใหม่ว่า ขอจงเสียสละเพื่อส่วนรวมให้ยึดติดน้อยที่สุด ชีวิตคือความไม่แน่นอน ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา ถ้ามีตัวตนก็มีทุกข์ ฉะนั้น อย่าเห็นแก่ตัวให้มาก 
ด้านความคิด ของศ.ดร.มารุต บุนนาค คว่ำหวอดในวงการเมือง เก๋าลายครามในสภาผู้แทนราษฎร ขณะนี้ลาเวทีชไปแล้ว ฝากข้อคิดไว้น่าสนใจที่ว่า ...
"ผมแก่แล้ว มองเห็นสิทธิประโยชน์ของผู้สูงอายุจำนวนมากที่ถูกทอดทิ้ง ไร้การเหลียวแล ทั้งที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ว่า รัฐต้องดูแลผู้สูงอายุ คนพิการ แต่ทุกคืนที่ดูรายการทีวี เห็นคนแก่ถูกทอดทิ้ง จำนวนนับล้านๆคน กว่ารัฐจะเข้าไปช่วยเหลือ ผู้มีจิตศรัทธายื่นมือเข้าไปหนุน ก็ช่วยคนได้แค่ 3-4 แสนคน ให้เขามีเงินใช้เดือนหนึ่งๆ 300 บาท" 
"ผมคิดว่าการเอาเงินไปแจก ไม่ใช่การช่วยอย่างยั่งยืน ควรหันกลับมามองว่า ต้องทำอย่างไรให้เขาช่วยเหลือตัวเองได้ สามารถอยู่อย่างพอเพียง อย่างมีความสุข ...ทั้งผู้สูงอายุต้องทำใจให้ได้ ยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสสังคม จะเอาความรู้สึกนึกคิดของเราเป็นมาตรวัดอย่างเดียวไม่ได้ อยู่บนโลกใบนี้ต้องตามโลกให้ทัน จะให้ลูกหลานคิดแบบเรา แบบผู้เฒ่าดั้งเดิมทั้งหมดคงไม่ได้ ที่สำคัญต้องไม่เครียด ไม่ไปจู้จี้ ขี้บ่นจุกจิกกับลูกหลาน ไม่เช่นนั้นครอบครัวก็จะทิ้งขว้าง ไม่สนใจใยดีดูแลกันและกัน" 
จบคำสนทนาด้วยว่า ..ชีวิตที่เหลือ ไม่อยากได้อะไรแล้ว แค่อยากทำประโยชน์ให้สังคม ที่ผ่านมาเล่นการเมืองก็ช่วยได้ วันนี้จึงทำบุญทำทาน กับมูลนิธิ ชมรมคนตาบอด อีกอย่างที่ทำมาตลอดคือ เขียนตำรากฎหมายให้ชาวบ้านอ่านรู้และนำไปใช้ได้ง่ายๆ นั่นคือความสุขบั้นปลายของชีวิต 
สำหรับ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร นายพลนักเขียน นักวิปัสสนา ผู้มองว่า "คนเรามีไขมันทางใจ ต้องบำบัดด้วยการบริหารใจอย่างสม่ำเสมอ" ด้วยเหตุผลที่ท่านคิดว่า คนไทยป่วยด้วยโรคจิตเลื่อนลอยเยอะมาก เพราะไม่รู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ หรือทำอะไรไปแล้วบ้าง สภาพจิตใจของคนเราทางพุทธศาสนาบอกว่า ดั้งเดิมใจเราสะอาด บริสุทธิ์ ไม่ด่างพร้อย แต่นานวันเข้า เมื่อสะสมของที่มีมลทินเข้าไป ใจและจิตเริ่มเปลี่ยนคือ ล่องลอย วอกแว่ก ฟุ้งซ่าน เก็บเข้าไว้มากๆ ที่สุดจิตจะเหนื่อย อ่อนล้าไม่มีแรง คนที่ทำอะไรแบบไม่มีสติ เพราะจิตกำกับการกระทำมันกำกับแบบเหนื่อยใจ 
ดังนั้น หนทางแก้ไขคือ เมื่อเราเกิดและต้องเผชิญกับความทุกข์ เรามักหาหนทางแห่งความสุขให้ตัวเอง ท่านเป็นหนึ่งในนั้น และเชื่อว่าหลายๆ คนก็เป็นเช่นกัน "การนั่งสมาธิ" ถือเป็นหนทางหนึ่งเพื่อให้พบความสุขอย่างแท้จริง เมื่อทำอย่างต่อเนื่อง ความสุขก็อยู่ไม่ไกลจากตัวเรา เพียงใจเป็นสุข สิ่งใดก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป 
"ผมเรียนรู้ได้จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงมีพระสมาธิ ผมเชื่อว่า เป็นเหตุให้การประกอบพระราชกรณียกิจทุกครั้ง สำเร็จลุล่วงด้วยความเรียบร้อยสมประสงค์ และสมความต้องการของทุกฝ่าย แม้มีอุปสรรคขัดข้องในพระราชกรณียกิจไม่ว่าครั้งใด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ทรงหวั่นไหวหรือสะดุ้งสะเทือน ทรงดำรงสติมั่น และพระราชทานคำแนะนำ ให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องมีกำลังใจ จนสามารถปัดเป่าอุปสรรคข้อขัดข้องเหล่านี้ได้ในที่สุด....เพราะสมาธิคือ การตรวจสติตัวเองตลอดเวลา" 
ผสานกับ ท่านผู้หญิงสุมาลี จาติกวนิช ผู้หญิงแถวหน้าที่เหมือนคนปิดทองหลังพระ อยู่เบื้องหลังงานของมูลนิธิ องค์กรช่วยเหลือสังคมมากมายนับไม่ถ้วน ทำงานคลุกคลีช่วยเหลือเด็กและสตรีมากว่า 50 ปี บอกว่า "แต่ละวันเราต้องเผชิญอะไรไม่เหมือนกัน อะไรจะเข้ามาในชีวิต เราไม่ทราบทั้งหมด เมื่อเผชิญมันแล้วต้องไม่ยอมแพ้ ต้องมั่นใจในการจัดการ เราต้องพัฒนากายและใจอยู่เสมอ ให้เกิดความมั่นใจ ความพร้อมรับปัญหา อุปสรรคทุกคนที่ต้องเจอะเจอ แต่ไม่มีอะไรยากเกินแก้ไข" 
"คนไทยเป็นคนมีน้ำใจ เมืองไทยยังมีคนใจกว้างจะช่วยเหลือ สนับสนุน อุปถัมภ์ค้ำชูกันอยู่ ดังนั้น อย่าไปอยู่อย่างเดียวดาย และคิดว่าตัวเองแก้แล้วต้องไร้ค่า"
แม้สูงอายุ พวกเราเหล่าคนเกษียณอายุราชการแล้วมักห่อเหี่ยว เพราะไม่ได้คิดว่า ต้องยืนอยู่บนขาตัวเอง ไม่ใช่ยืนอยู่บนตำแหน่ง ลาภยศสรรเสริญที่เคยผ่านเข้ามาในชีวิต อยากบุกถึงทุกคน เกษียณอายุราชการเขามีกำหนดไว้ แต่การทำงานเพื่อชุมชน สังคมนั้น ไม่มีกำหนดขีดเส้นว่า ต้องเลิกเมื่ออายุเท่าไร เราสามารถทำได้จวบจนหมดลมหายใจ 
4 ผู้สูงอายุ กับความคิดอันมีคุณภาพที่สะท้อน บอกนัยถึงทุกคนว่า เป็นผู้สูงวัย ที่อยู่ได้อย่างมีคุณค่าในสังคมนี้ ...
ผู้สนใจหนังสือนี้ ขอรับได้ที่ ฝ่ายประสัมพันธ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อาคารเอส.เอ็ม ทาวเวอร์ ถ.พหลโยธิน โทร.0-2298-05				
comments powered by Disqus

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน