แรงบันดาลใจในการตั้งกระทู้ เกิดขึ้นเมื่อผมลองนั่งตรึกนึกตรองดูถึงหลักสูตรวิชาภาษาไทย เฉพาะส่วนอันเกี่ยวข้องกับวรรณคดี แล้วก็สงสัยว่า เหตุใด ทางกระทรวงศึกษาธิการ (จะกี่ยุคกี่สมัยก็ตาม) พยายามปกปิด เรื่องราวของผู้เสียเปรียบ ผู้ถูกกดขี่ หรือการกระทำของภาครัฐ ที่ย่ำยีราษฎร ด้วยวิธีการบอกแต่น้อย คือ คัดเลือกวรรณกรรมเพื่อชีวิตมาให้เรียนน้อยเรื่อง สำหรับเด็กปฐมต้น ปฐมปลาย มัธยมต้นนั้น ผมเห็นด้วยกับการให้เรียนวรรณคดีต้นแบบ (ที่มีเนื้อหาสนุกสนานและคติธรรมสอนใจ) เพราะเด็กวัยดังกล่าวไม่ควรรับรู้ความเป็นจริงด้านมืดมากนัก แต่เด็กมัธยมปลาย ซึ่งอีกไม่นานจะเข้าสู่สถานภาพ นักศึกษา แล้วนี่สิ น่าเป็นห่วง เพราะพวกเขากำลังจะเป็นผู้พัฒนาชาติในอนาคต หากจะเกี่ยงเอาว่า เรื่องปัญหาสังคม เรื่องชนชั้น ก็เอาบรรจุในวิชาสังคมศึกษา วิชาศีลธรรม แต่อย่างเดียว จะถูกต้องหรือ? ในเมื่อวิชาภาษาไทยก็สามารถยึดหลัก บูรณาการ ได้ มีทุกข์ในเรือนกาย มีความตายในดวงตา น้ำนมแห่งมารดา ในสายเลือดยังเหือดหาย ทุกคำคือชีวิต ทุกชีวิตที่เรียงราย คือคนที่เกิดกาย มาร่วมถิ่นแผ่นดินเดียว ริ้วนี้ใช่แพรพรรณ เป็นริ้วอันซี่โครงเรียว ขานี้ใช่ขาเปรียว ที่เดินอวดประกวดกัน ดินเอ๋ยโอ้ดินนี้ ยังพอมีให้แบ่งปัน เพียงเพื่อได้อิ่มพลัน มิรู้อันตรายมา แด่น้องผู้หิวโหย เพียงท่านโปรยความเมตตา น้อยหนึ่งนะกรุณา ต่อชีวาตาดำดำ (จากบทกวี แด่น้องผู้หิวโหย ของ ท่านวิสา คัญทัพ) กวีท่านสรรคำง่ายๆ แต่สะเทือนใจรุนแรงมาก เพียงแค่สองวรรคแรกของบทแรกก็บ่งบอกความได้มากกว่าคำพรรณนาเป็นบรรทัดเสียอีก น่าจะให้เด็ก ม.๔ ได้อ่านบ้างนะครับ อ่านจบก็สอนแทรกลงไปเลยว่า ที่พวกเขามีข้าวกินอิ่ม ถือว่าโชคดีนักหนา ดูเด็กๆผู้อดอยากยากแค้นเปรียบเทียบซิ่ หากเราโน้มน้าวใจพวกเขาจนเกิดมโนภาพได้ บทกวีต่อๆมาในระดับชั้นเรียนที่สูงขึ้น ก็จะช่วยหล่อหลอมพวกเขาให้เห็นใจผู้ทุกข์ยากได้ ขอสาทกมาอีกสักบทนะครับ แขนของคำ โดย ท่านเรืองเดช จันทรคีรี ควันสีเทาถูกปล่อยออกจากปล่อง หวูดโรงงานกังวานก้องเร่งร้องสั่ง คนงานพาร่างผอมใกล้ผุพัง เดินไปยังประตูใหญ่เหมือนปากยักษ์ กากอาหารจานหนึ่งในตอนเช้า รีดเป็นแรงระดมเข้าสู่เครื่องจักร ลูกสูบดันคันชักเดินดังชึกชัก เกร็งกล้ามเนื้อเหงื่อทะลัก _ หนักและนาน คนเหล่านี้มีคำอยู่คนหนึ่ง หญิงสาวซึ่งซมซานจากอีสาน ทิ้งนาเช่าเข้ากรุงเทพฯเที่ยวหางาน ทำด้วยการทุ่มแรงกายขายแรงกิน คำจึงคือเครื่องจักรกลสองแรงแขน ถูกลากแล่นต่อลมไปไม่ให้สิ้น ทุกข์ร้อนหนาวผ่าวพิษไข้คำเคยชิน เข็นชีวิตแหว่งวิ่นข้ามคืนวัน วันหนึ่งคำขณะที่นั่งทอผ้า เกิดมืดหน้าตามัวมือไม้สั่น สะดุ้งวูบตะครุบด้ายสายพานพัน พอเสียงลั่นขาดลงก็แหลกลาญ เลือดกระเซ็นเปื้อนเส้นด้ายจนแดงคล้ำ จากมือที่เคยทำเคยไถหว่าน จากมือที่ทอผ้าพรรณตระการ มือแห่งงานวันนี้ต้องถูกตัดไป แขนของคำเหลือแต่ข้อศอกสั้น แขนของคำข้างนั้นอยู่ที่ไหน แขนที่ขาดของเธออยู่ที่ใคร เสื้อสีสวยที่คุณใส่สิแขนคำ ๒๕๒๓ (จากเล่ม ๑๒ เรื่องสั้น ๙ บทกวี ๒๕๓๔) คัดข้อมูลจาก http://www.budpage.com/budboard/show_content.pl?b=1&t=1447 ครับ นี่คือชีวิตผู้ใช้แรงงาน คนทอผ้า นี่คือที่มาของเสื้อผ้าบางชุดที่คุณใส่อย่างภูมิใจยิ่งยวด!!! มีบทกวีเพื่อชีวิตอยู่บางบทที่กระทรวงศึกษาธิการนำมาให้เรียน เช่น เปิบข้าว ของ ท่านจิตร ภูมิศักดิ์ เหตุผลเพราะบทนี้ไปสอดคล้องกับคุณธรรมในข้อ กตัญญูต่อชาวนา ที่ผู้ใหญ่อบรมบ่มเพาะเด็กพอดี ผมเองเห็นด้วยครับ สำหรับการนำบทกวี เปิบข้าว มาให้นักเรียนศึกษา แต่จะประเสริฐยิ่งขึ้นไปอีก ถ้าหากกล้านำบทกวีของท่านจิตรฯ ขณะเมื่อท่านอยู่ในคุกลาดยาว แล้วส่งมาตีพิมพ์เผยแพร่ในช่วงจอมพลสฤษฎิ์ ธนรัตน์ เรืองแหละเริงอำนาจมาให้นักเรียนอ่าน เพราะนั่นคือภาภ วงจรอุบาทว์ (วัฏจักรการโกง) อันยึดโยงยืนยาวมาจนบัดนี้ ลองอ่านบางช่วงบางตอน ของ โคลงสรรเสริญเกียรติกรุงเทพมหานคร ของ ท่านจิตร ภูมิศักดิ์ ดูครับ ฉ้อราษฎร์บังหลวง ตักตวงมือเติบ ฉวยใช้เฉิบเฉิบ ฉาวฉ่า กองสลากกินแบ่ง เพื่อนก็แกว่งตีนกวาด คุมเสร็จเด็ดขาด "ของข้า" โอ้เงินรัฐไหงริบ ไปงุบงิบง่ายง่าย ไปกินแบ่งกันสบาย จริงบา ยังสลากสองชุด เพื่อนกินรุดสองชั้น ปากมอมจนเป็นมัน เหมือนปากม้า อ้างราชการลับ เสวยฉับเซ็นเช็ค ให้คุณหนูเล็กเล็ก ของป๋า ให้เธอนั่งเทานุส มีบ้านชุดคนใช้ แหวนเพชรเม็ดใหญ่ วาวตา เงินนับร้อยร้อยล้าน ราชการของลับ จ่ายเพลินจริงเจียวพับ เอ๋ยผ่า โควต้าทัพบก เอาไปกกเสียสบัด ไอ้เสือฟิตอมยัด เอาวา เงินสวัสดิการ ของทหารชัดชัด ไหงถึงยักเอาไปยัด เอ๋ยห่ สวัสดิการของรัฐ มาเป็นสวัสดิกู เป็นสร้อยเพชรสีชมพู ของเมียข้า โอ้ว่าแสนสงสาร เพื่อนทหารของชาติ ไม่ได้เห็นเลยสักบาท อนิจจา รักษาการณ์หาญฮึก รักษาศึกทรหด ต้องเหนื่อยอ่อนนอนอด อกอา ยังถูกเสือกถูกไส เป็นคนใช้อีหนู โอ้นี่กูหนอกู ทหารกล้า เกียรติทหารของชาติ ถูกประมาทชอกช้ำ ศักดิ์ศรีก็จะต้องต่ำ เอ๋ยช้า โอ้รักษาเอกราช ยอมเป็นทาสนางบำเรอ มารักษาอีเป๋อ ของป๋า โอ้แว่นแคว้นแดนไทย ว่ากว้างใหญ่นั้นจริงหรือ ไหงมีที่เท่าฝ่ามือ ให้รักษา โอ้เจ้าดอกขจร ตอนรุ่ง หอมหวลแต่ในมุ้ง หุยฮา โอ้ว่าเงินสวัสดิการ ผลาญสิ้น ทหารเอ๋ยจะต้องกิน น้ำตา ข้อมูลจาก http://www.music.mahidol.ac.th/insanetheater/chit4.html ครับ วรรณคดีเรื่องสำคัญอีกเล่มหนึ่ง ซึ่งผมคิดว่า บรรจุในหลักสูตร ตำรับตำราเรียนของเด็กมัธยมปลาย (อาจเป็น ม.๕ หรือม.๖) ได้แล้วก็คือ เราชนะแล้ว แม่จ๋า ของ ท่านนายผีในด้านความงามทางวรรณศิลป์นั้นพรรณนาไม่หมดในเวลาอันสั้นจริงๆ หนังสือเล่มดังกล่าว ได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในหนังสือดีหนึ่งร้อยเล่มที่คนไทยควรอ่าน นั่นย่อมเป็นข้อยืนยันได้อย่างดี (ถึงจะประกาศเช่นนั้นแล้ว หนังสือเล่มนี้ก็ยังหายากตามท้องตลาด) มีกวีสักกี่ท่านกันเชียว นิพนธ์ฉันท์เทิดเกียรติกรรมกร? แหละก็ประเทศนี้ รุ่งเรืองได้ส่วนหนึ่งก็มาจากแรงกรรมกรมิใช่หรือ? ใครสร้างบ้านสร้างเมือง ใครทำถนนหนทาง แล้วพวกเขาที่สร้างทุกอย่างให้เราสบายเล่า เขาอยู่กันเช่นไร ไยมิให้เด็กรู้ถึงสภาพยากแค้นถึงขนาด แม้ข้าวจะกรอกหม้อมื้อต่อไปก็แทบไม่มี หรือยารักษาโรคก็หาไม่ได้ เพราะไม่มีเงินซื้อ ภาพของหญิงสาวผู้เด็ดเดี่ยว หาเลี้ยงแม่และน้องโดยยึดอาชีพ กรรมกรในโรงเลื่อย รายได้อัตคัดเต็มที นี่คืออีกมุมของสังคมซึ่งคนมีเงินมีทองไม่เคยมองเห็น หรือหากเห็นก็เมินไปเสีย วีรกรรมของวีรชน ณ วันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ เป็นอีกเรื่องซึ่งภาครัฐรณรงค์ว่า ต้องส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้ ครับ ส่งเสริมจริงๆแหละ แต่แค่นิดเดียวเท่านั้น คือนำไปใส่ในวิชาสังคมศึกษาไม่เท่าไหร่เลย ความกล้าหารของคนหนุ่มสาวยุคนั้น คือตัวอย่างอันล้ำเลิศ รัฐบาลเองก็ยอมรับ ถึงกับประกาศให้วันที่ ๑๔ ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันประชาธิปไตย แล้วเหตุใด อาทิตย์ถึงจันทร์ ของ ท่านเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ จึงไม่ถูกบรรจุในตำราเรียนวิชาภาษาไทยเล่า??? มิต้องให้เรียนทั้งหมดหรอกครับ นำเฉพาะบทที่ชื่อว่า อาทิตย์ ๑๔ ตุลาคม วันมหาวิปโยค บทเดียว มาให้เรียนก็พอ ในแง่ฉันทลักษณ์ นี่คือ โคลงดั้นบาทกุญชร อันสมบูรณ์ยิ่งอีกเหรื่องหนึ่ง การให้เด็กมัธยมปลายรู้จักโคลงดั้น ก็ควรแล้วมิใช่หรือ??? ขนาดบางส่วนของ ญวนพ่ายโคลงดั้น ยังนำมาให้เด็กศึกษาได้เลย (ผมจำได้ดีเมื่อสมัยเป็นนักเรียนว่า บทดังกล่าว อยู่ในหนังสือวรรณสารวิจักษ์ ชั้น ม.๕ ทางกระทรวงศึกษาฯ ตั้งชื่อโคลงดั้นวิวิธมาลี ๒ บทนั้นว่า กวินทรปณิธาน นี่เป็นเพียงการยกตัวอย่างวรรณคดีเพื่อชีวิตบางส่วนเท่านั้น ในจำนวนวรรณคดีแนวดังกล่าวมากมายมหาศาลครับ ท่านผู้อ่านเห็นว่า มีเรื่องใดควรแก่การนำมาสั่งสอนเยาวชน เพื่อกระตุ้นจิตสำนึก ก็โปรดช่วยกันเสนอเข้ามาได้เลยครับ สรุปความที่เขียนมาทั้งหมดก็เพื่อจะวิงวอนว่า เลิกปิดหูปิดตานักเรียนเสียที เลิกกลัวเก้าอี้ใครหลายๆคนจะกระเทือนได้ไหม ประเทศไทยเราจะได้เจริญก้าวหน้า เพราะมีคนรู้ความจริงมากกว่าที่เป็นอยู่นี้ หมายเหตุ ถ้าผมเสนออีกนิดว่า น่าจะนำบทกวี ชุด รุ้งกินเมือง ของ ท่านคมทวน คันธนู (ไล่เรียงตั้งแต่ต้นจนจบ ทั้งหมด ๘ บท) ในหนังสือ นาฏกรรมบนลานกว้าง มาบรรจุในหนังสือภาษาไทย ชั้น ม.๖ ทุกท่านว่าหนักไปไหมครับ?
10 มีนาคม 2550 19:13 น. - comment id 16885
อาทิตย์ก่อนอ่านหนังสือพิมพ์ "เด็กไทยจำวนมากตกวิชาสำคัญอย่างไม่น่าเชื่อ เช่น ไทย สังคม "
10 มีนาคม 2550 11:43 น. - comment id 17139
สวัสดีครับคุณตราชู เป็นเรื่องที่น่าดีใจที่คุณออกมาพูดถึงเรื่องนี้ และผมก็เห็นด้วย แต่ก็เห็นว่าอาจต้องทำได้อย่างจำกัด คือสอนพอเป็นการเปิดโลกวรรณกรรมก็พอได้ เพราะที่มีอยู่ในแบบเรียนปัจจุบันก็สำคัญ และก็สอนแทบไม่ทันอยู่แล้ว แม้จะขอคาบว่างเด็กมาสอน จนเด็ก เกลียดขีหน้าแล้วก็ตาม ( อันนี้ผมโดนเอง) เนื่องจากภาษาเป็นเครื่องมือ ดังนั้นอะไรที่ เกี่ยวกับภาษาครูภาษาไทยก็ต้องสอนหมด แม้แต่...การใช้สื่อสารสนเทศ เพราะเครื่องมือเหล่านี้สำคัญต่อเด็ก ๆ หลายด้าน ดังนั้นครูเลยละเลยไม่ได้สักอย่าง จริง ๆ แล้วผมก็เคยเอาวรรณกรรมเพื่อชีวิตไปสอนเหมือนกัน เพื่อให้ความรู้ ศึกษาแนวคิดและเปิดโลกวรรณกรรม เพราะครูไม่มีสิทธิ์บังคับให้เด็กชอบอ่านอะไร เราได้แต่ให้หลัก แนวคิด และตัวอย่าง กระตุ้นให้เขาค้นหาสิ่งที่ชอบเอง เรื่องของวรรณกรรมเพื่อชีวิตในแบบเรียนนั้นก็มีอยู่ แต่หากต้องเรียนทั้งหมดคงเป็นไปได้ยาก หรือบรรจุให้อ่านทั้งหมดก็คงไม่ง่ายนัก แต่ครูควรวิเคราะห์แบบเรียนหาจุดอ่อนจุดแข็งของเนื้อหา และเพิ่มเติมในส่วนจุดอ่อน จัดกิจกรรมที่ทำให้เด็กได้เรียนรู้ วิเคราะห์ วรรณกรรมเหล่านี้ทั้งหมด ด้วยความคิดของเขาเอง ภายในคาบหนึ่ง ๆ ซึ่งทำกันอย่างจริงจัง มีการอภิปรายกัน จะเป็นเรื่องที่สนุกมาก แต่อุปสรรคก็มีมาก เพราะ 1. นักเรียนเฉื่อย อันนี้ครูต้องกระตุ้น นำความสนใจให้ได้ 2. ครู จัดระเบียบการสอน ระเบียบชีวิตให้ดี จริงจัง ๆ 3. เวลาสอนจริง ๆ ค่อนข้างน้อย แต่ผมว่าทำได้ สรุป เห็นด้วยครับผม กับการสอนวรรณกรรมเพื่อชีวิต ( อ้อ ... เค้ามีสอนเรื่องพัฒนาการวรรณกรรมด้วยครับ แต่เป็นของสายศิลป์ อยากสอนเหมือนกัน แต่ไม่มีโอกาส ) นำนมราชสีห์
10 มีนาคม 2550 11:53 น. - comment id 17140
คุณตราชู ผมว่านะ.. ถึงเอามาสอนได้เกรดสี่เกรดห้าก็เท่านั้นล่ะ รู้เฉยๆ แต่ไม่มีการปฏิบัติ หรือยิ่งรู้ยิ่งหาช่องโหว่.. สังคมก็ยิ่งแย่กว่าเดิมอีก จริงๆ แล้ววรรณกรรมเพื่อชีวิตก็ไม่จำเป็นจะต้อง เป็นเนื่องเรื่องของการเรียกร้อง การต่อสู้หรอก ผมเรียนมานี มานะ ปิติ ชูใจ อย่างนั้นผมก็ว่าเพื่อชีวิตแล้ว เราก็เห็นอยู่ เราก็ว่าคนตุลา เราก็นับถือ แต่ก็เป็นตุลาชินไปได้.. ขนาดเขาซึมซับตรงจุดนั้นมานะ ก็ยังไม่เป็นผล.. โลกมันก็เป็นโลกวันยังค่ำละผมว่า สีเขียวมันก็เกิดเอง สีฟ้ามันก็เกิดเอง สีน้ำเงิน สีแดงมันก็เกิดเอง เราจะไปแต่งแต้มให้ได้ดั่งใจเรามันคงไม่ใช่โลกหรอก.. ผมว่านะ ผมปลงแล้ว