มาท่องบทอาขยานกันเถิดครับ

ตราชู

ท่านที่เป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ อย่าเพิ่งพร่ำบ่นก่นด่าผมก่อนนะครับ ในทันทีที่เห็นชื่อกระทู้ ผมเขียนข้อความทั้งหลายขึ้น ก็เพื่อจะ เชื่อมต่อรากเง่าวัฒนธรรม ของเรานั่นเอง
	มีเพื่อนๆบางท่าน ตั้งปุจฉาว่า ทำอย่างไรจึงจะเขียนกลอนดี ซึ่งก็มีสมาชิกของเราให้คำแนะนำไปแล้ว แหละผมก็เห็นด้วยกับข้อแนะนำเหล่านั้น แต่ที่ใคร่จะเขียนเพิ่มเติมลงก็คือ การท่องจำบทกวี เพื่อให้สามารถรู้เคล็ด รู้กลเม็ดในอันจะลงจังหวะกลอน, ใช้เสียงให้ถูกต้อง ฯลฯ อันจะขอกล่าวสืบไป
	ผมไม่ขอกล่าวถึงประโยชน์ข้ออื่นๆในการท่องอาขยานนะครับ นำเข้าประเด็นเพื่อผู้รักเขียนกลอนโดยตรงเลยดีกว่า สำหรับผู้ใฝ่ใจในวิทยากลอนแล้ว บทอาขยานจะช่วยเราได้มาก เพราะเมื่อเราปิดหนังสือไป เราก็ยังจำได้ จำนี่ไม่ใช่จำแค่เนื้อความนะครับ แต่จำท่วงทำนอง, ลีลา, จังหวะ, ระดับสูงต่ำของเสียง ฯลฯ ได้ด้วย ถึงคราวเราจะแต่งกลอนกันจริงๆ คำเกินหรือไม่, เสียงพลาดประการใด เราจะรู้ได้เลยโดยการฮำทำนองในหัว อาศัยบทอาขยานเป็นเกณฑ์นั่นแหละครับ จะขอยกตัวอย่างดังนี้
บทที่ ๑ จาก พระอภัยมณี ของ ท่านสุนทรภู่
	วิเวกหวีดกรีดเสียงสำเนียงสนั่น
คนขยั้นยืนขึงตะลึงหลง
ให้หวิววาบซาบทรวงต่างง่วงงง
ลืมณรงค์รบสู้เงี่ยหูฟัง
	พระโหยหวนครวญเพลงวังเวงจิต
ให้คนคิดถึงถิ่นถวิลหวัง
ว่าจากเรือนเหมือนนกมาจากรัง
อยู่ข้างหลังก็จะแลชะแง้คอย
	ถึงยามค่ำย่ำฆ้องจะร้องไห้
ร่ำพิไรรัญจวนหวนละห้อย
โอ้ยามดึกดาวเคลื่อนเดือนก็คล้อย
น้ำค้างย้อยเย็นฉ่ำที่อัมพร
	หนาวอารมณ์ลมเรื่อยเฉื่อยเฉื่อยชื่น
ระรวยรื่นรินรินกลิ่นเกสร
แสนสงสารบ้านเรือนเพื่อนที่นอน
จะอาวรณ์อ้างว้างอยู่วังเวง
	จับจังหวะ ๓ ๒ ๓ ดูเถิดครับ หากค้นลึกลงไป ท่านก็จะพบว่า เสน่ห์กลอนของท่านสุนทรภู่ มิได้อยู่ตรงสัมผัสในเป็นคู่ๆอย่างเดียว หาก ท่านเล่นสัมผัสพยัญชนะด้วยอีกชั้นหนึ่ง ฉะนั้น ถ้าจะแต่งเลียนลีลาของท่านจริงๆ จึงถือว่า ยากแสนเข็ญ เอาจริงๆ กวีที่จับลีลาได้ เพราะท่านท่องอาขยาน คลุกคลีกับวรรณคดีเก่า ท่านก็จะสามารถเขียนกลอนได้ใกล้เคียงกับท่านบรมครูสุนทรภู่เลยทีเดียว เช่น
	ก่อนหยาดฝนหยดฝากจะพรากฟ้า
ก่อนน้ำท่าท่วมเหม็นเป็นหมึกหม่น
ก่อนทุ่งข้าวถูกเข่นเป็นทุ่งคน
ก่อนวิกลวิการจะผ่านเยือน
	จะโอ่ช่ออ่อนช้อยคอยโบกบอก
จะร่วงดอกดาษรายกระจายเกลื่อน
จะหยาดย้อยค่อยยกสะทกสะเทือน
จะเป็นเพื่อนผีเสื้อเผื่อใยยอง
	จะเหยียดทัดหยัดท้ากับหญ้าท่วม
จะบานร่วมเบิกรับกับลมล่อง
จะอวดช่ออิ่มฉ่ำกับน้ำนอง
จะเชิญทองชูธงกับผงคลีฯลฯ
(จากบทกวี ลำนำดอกโสน โดย ท่านเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ หนังสือ ข้างคลองคันนายาว เล่มที่ ๑๐)
	เห็นลีลาไหมครับ ท่านเนาวรัตน์ท่านใช้สัมผัสอันละเอียดอ่อน ประณีตยิ่งในการแต่งกลอน ทั้งนี้เพราะท่านอ่านมาก ท่องมาก ท่านจึงรู้ว่า จะวางเสียงหนัก เบา หรือจังหวะตกกระทบอย่างไร ทีนี้ขอยกกลอนอีกสักชุดมาให้อ่านนะครับ
	เจ้าปักเป็นพระลอดิลกโลก
ถึงกาหลงทรงโศกกำสรดสุด
แสนคะนึงถึงองค์อนงค์นุช
พระทรงเสี่ยงสายสมุทรมาเป็นลาง
	แสนคำนึงถึงองค์พระเจ้าแม่
พระลอแลน้ำแดงดั่งแสงฝาง
ละลักษณวดีไว้โดยปรางค์
คะนึงนางพระพี่น้องทั้งสององค์
	ปู่เจ้าท้าวใช้ให้ไก่แก้ว
มาล่อแล้วพระลอไล่เตลิดหลง
ถึงสวนพระยิ่งแสนกำสรดทรง
ปักเป็นองค์พระเพื่อนพระแพงทอง
	สู่สวนพิศวาสประพาสโฉม
พระลอโลมเสพสุขประสมสอง
พี่เลี้ยงเคียงข้างคอยประคอง
นางรื่นนางโรยรองบาทบงสุ์ฯลฯ
(คัดจาก เสภาขุนช้างขุนแผน  ตอนที่ ๑๗ (ขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้างได้นางแก้วกิริยา)  พระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระพุทธ์เลิศหล้านภาลัย
	สังเกตในเบื้องต้นก็จะพบว่า กลอนบางวรรคไม่ได้ใช้สัมผัสสระเป็นสัมผัสในเยี่ยงแนวของท่านสุนทรภู่ แต่ก็อ่านรื่นเพราะสัมผัสอักษรที่นำมาวางอย่างได้จังหวะ เช่น
	เจ้าปักเป็นพระลอดิลกโลก หรือ
	มาล่อแล้วพระลอไล่เตลิดหลง
ถึงสวนพระยิ่งแสนกำสรดทรง เป็นต้น
	ต่อไป ขอให้ลองอ่านออกเสียงบทกลอนต่อไปนี้เทียบแนวดูนะครับ
	ได้เด็ดดาวลืมดินที่ดำด่าง
ชาติอึ่งอ่างขอดโอ่งก็ครางอ๋อย
ได้เซลโล่ลืมซอคันน้อยน้อย
ที่เคยคอยคร่ำครางเมื่อค่อนคืน
	เจ้าปักเป้าป่ายเป้าจนเข้าปัก
จุฬายักย้ายโต้ขึ้นตีตื้น
เตลิดลอยลมเล่นอยู่เข่นครื้น
สนั่นพื้นพสุธาพระเมรุทอง
	ว่าโอ้โอ๋ดินฟ้ามาอาเพศ
เจ้าพุ่มพวงมาเลศมาลอยล่อง
แต่เหินหาวก็หักล่มลงลำคลอง
ไม่ทันกรายก็ร่ายร้องเป็นเพลงลาฯลฯ
(บทกวีชื่อแล้งลมว่าว โดย ท่านเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ในหนังสือ เพียงความเคลื่อนไหว)
	เห็นไหมครับ กวีร่วมสมัยอย่างท่านเนาวรัตน์ฯ สามารถเลียนลีลาได้ทั้งสองแบบ แบบท่านสุนทรภู่ และแบบกลอนเสภา เพราะท่านรู้เคล็ด เคล็ดนั้นมาจากไหน ไม่ขอกล่าวซ้ำนะครับ
	อีกตัวอย่างแล้วกันครับ นี่คืออีกครรลองของกลอน เพียงแต่ไม่ใช่กลอน ๘ หากเป็นกลอนบทละคร ลีลาจะกระชับกว่ากลอน ๘
	
	บุษเอยบุษบกแก้ว
สีแววแสงวับฉายฉาน
ห้ายอดเห็นเยี่ยมเทียมวิมาน
แก้วประพาฬกาบเพชรสลับกัน
	ชั้นเหมช่อห้อยล้วนพลอยบุษร์
บัลลังก์ครุฑลายเครือกระหนกคั่น
ภาพรายพื้นรูปเทวัน
คนธรรพ์คั่นเทพกินนร
	เลื่อนเมฆลอยมาในอากาศ
อำไพโอภาสประภัสสร
ไขแสงแข่งสีศศิธร
อัมพรเอี่ยมพื้นโพยมพราย
	ดั่งพระจันทร์เดินจรส่องดวง
แลเฉิดลอยช่วงจำรัสฉาย
ดาวกลาดดาษเกลื่อนเรียงราย
เร็วคล้ายรีบเคลื่อนเลื่อนลอยมาฯลฯ
(คัดจาก บทละครในเรื่อง รามเกียรติ์ บทพระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช)
ตัวอย่างเทียบเคียง		
	บัดนั้น....
ฟ้าแจ้งแฝงจันทร์กระจ่างไข
เรื่องคาวร้าวระคายพลันหายไป
คนทนคนไทยพลิกไหวตัว
	สรรค์ทางสร้างทิศชีวิตถือ
จิตใสใจซื่อระบือทั่ว
แข็งแกร่งแข็งกล้ามิขลาดกลัว
รู้เห็นรวมหัวขับชั่วร้าย
	เลือดไทยไหลท้นข้นแท้
เนื่องแนวแน่วแน่กระแสสาย
หลอมเชื้อเหลือชาติผงาดพราย
ไทยใหม่ไทยหมายเลิกงายงม
	ธรรมพึ่งถึงพุทธ์ศีลผุดผ่อง
ไสกากซากกองกิเลสถม
คนฉลคนฉาวคาวชม
ตกโลกตกหล่มถอยจมลับฯลฯ
(จากบทกวี เพลงยาวร้าวสมัย โดย ท่านคมทวน คันธนู ในหนังสือ เรียงถ้อยขึ้นร้อยถัก)
	จบก่อนดีกว่าครับ เกรงเพื่อนๆจะรำคาญ ตราชูเอง ว่าอันที่จริงก็ยังเป็นกบในกะลาครอบ ทว่าที่เขียนนี่ก็เป็นทำนอง เล่าสู่กันฟัง เท่านั้น ขอยืนยันอีกครั้งว่า ถ้ารักจะก่อตึก รากฐานต้องแกร่งพอ และกวีร่วมสมัยหลายท่านก็ได้พิสูจน์แล้วว่า ท่านใกล้ชิดกับวรรณคดี ผลก็คือ ความเป็น กวีชั้นครู สอนพวกเรารุ่นหลังอยู่ทุกวันนี้ ข้อสำคัญสำหรับคนรุ่นใหม่ก็คือ โปรดอย่าถือวรรณคดีเป็นเรื่องพ้นยุคเลยครับ พบคำศัพท์ใดยากๆ ก็เปิดพจนานุกรม แล้วหาสมุดเล็กๆสักเล่มจดตุนเอาไว้ วันละคำสองคำ พอมากเข้า ก็อุปมาเหมือนเรามีเงินเก็บ จะหยิบมาใช้คราวใดก็ได้ดังประสงค์ มาท่องอาขยานกันเถิดครับ
หมายเหตุ บทกลอนซึ่งใช้ประกอบการเขียน คัดจากความจำของผม จึงอาจมีผิดพลาดได้ ต้องกราบขออภัยทุกท่านด้วยครับ				
comments powered by Disqus
  • น้ำตาเทียน

    14 ธันวาคม 2549 12:22 น. - comment id 16151

    กระทู้นี้มีค่ามากกว่ากระทู้บางกระทู้เสียอีก 
    ไม่ได้พร่ำเพ้อ  แต่พร่ำเพื่อสาระ จะนำไปปฏิบัติครับ
  • อัลมิตรา

    14 ธันวาคม 2549 17:41 น. - comment id 16153

    อัลมิตราแม่นมาก(ล้อเล่น)กับบทอาขยาน ประมาณว่าท่องแล้วหยิบวรรคนั้นใส่แทนวรรคนี หยิบวรรคนี้ผสมลงท้ายด้วยวรรคโน้น .. ฮา
    
    กว่าจะเอาการเรียบร้อย ก็อันดับท้าย ๆ ของห้อง 
    
    วันก่อนไปงานศิษย์เก่าที่โรงเรียน เจอคุณครูที่สอนภาษาไทย ต้องรีบหลบฉาก แต่ก็ไม่ทันแฮะ .. กลัวคุณครูจำหน้าได้ .. และก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ ด้วย คุณครูจำได้ ..คิดดูละกัน ท่องซะแบบนี้
    
    ชิ้นหนึ่งทรงครรภ์กัลยา
    คลอดลูกออกมาเป็นยักษี ... ๕๕๕
  • ห้วงคำนึง

    15 ธันวาคม 2549 10:20 น. - comment id 16155

    มาดูรอบสอง ตาหลกพี่อัลมิตราจัง  55+ ไม่รู้ไปแปลงบทกลอนได้ไง
  • ter

    15 ธันวาคม 2549 12:13 น. - comment id 16159

    www.siam2play.com
  • แมวคราว

    15 ธันวาคม 2549 14:14 น. - comment id 16161

    แวะมาเก็บเกี่ยวความรู้
    และสวัสดีเจ้าของกระทุ้ด้วยครับ46.gif
  • ตราชู

    17 ธันวาคม 2549 11:54 น. - comment id 16172

    สวัสดีครับ เพื่อนๆทุกท่าน ตอนแรกๆที่ตั้งกระทู้ สารภาพกันตรงๆครับว่ากลัวถูกหาว่าเชย แต่ผลออกมามิได้เป็นเช่นนั้น ก็ต้องขอขอบพระคุณเพื่อนๆทุกท่านครับ เรื่องบทอาขยานนี่ หากกระทรวงศึกษาธิการเอาจริงเอาจัง บรรดาเยาวชนไม่ละเลยเพิกเฉย ก็เชื่อได้แน่ว่า รากฐานวัฒนธรรมทางภาษาไทยเราจะแข็งแรงแน่ๆครับผม
  • 822

    25 มิถุนายน 2551 21:42 น. - comment id 21090

    เชื่อมต่อรากเง่าวัฒนธรรม
    
    ราก" เหง้า" ค่ะ
    
    
    :)  จะเชื่อมต่อวัฒนธรรม  
    
    โปรดระวังการสะกดคำด้วยนะคะ
  • นางวนิดา หงส์บุตร

    20 พฤษภาคม 2555 16:41 น. - comment id 37802

    43.gifบุษเอยบุษบกแก้ว
    สีแววแสงวับฉายฉาน
    ห้ายอดเห็นเยี่ยมเทียมวิมาน
    แก้วประพาฬกาบเพชรสลับกัน
    ชั้นเหมช่อห้อยล้วนพลอยบุษร์
    บัลลังก์ครุฑลายเครือกระหนกคั่น
    ภาพรายพื้นรูปเทวัน
    คนธรรพ์คั่นเทพกินนร
    เลื่อนเมฆลอยมาในอากาศ
    อำไพโอภาสประภัสสร
    ไขแสงแข่งสีศศิธร
    อัมพรเอี่ยมพื้นโพยมพราย
    ดั่งพระจันทร์เดินจรส่องดวง
    แลเฉิดลอยช่วงจำรัสฉาย
    ดาวกลาดดาษเกลื่อนเรียงราย
    เร็วคล้ายรีบเคลื่อนเลื่อนลอยมาฯลฯ
    
    
    ช่วยแปลให้หน่อยค่ะ

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน