ในยุคที่สังคมนิยมความเร่ง รีบ รวดเร็ว แน่นอนว่าทุกอย่างรอบตัวต้องได้รับผลกระทบจากความนิยมที่ว่า และเรื่องของภาษาก็คงเป็นหนึ่งในสิ่งที่จะสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงจากผลกระทบ โดยเฉพาะในสังคมแวดวงการอ่านเริ่มลุกขึ้นมาบอกว่า กวีไทยใกล้ตาย,หรือ คำถามที่ว่า ฤ จะถึงทางตันของวรรณกรรมไทย และอีกหลายๆ ปรากฏการณ์อันนำมาซึ่งคำถาม แต่อย่างไรคนในแวดวงก็ยังคงมีความเชื่อในพลังแห่งวรรณศิลป์ที่สื่อสารผ่านตัวอักษรอยู่ และเมื่อเร็วๆ นี้หนึ่งในพลังแห่งความเชื่อที่ว่า ชมรมวรรณศิลป์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพิ่งจัดงาน "วรรณกรรมสู่แผ่นดิน วรรณศิลป์สู่สังคม"ไป โดยในงานมีการมอบรางวัลเกียรตินิยมวรรณศิลป์ ครั้งที่สองและมีผู้ชนะเลิศประเภทหนังสือทำมือ ในหัวข้อ "เสียงเล่าจากคนชายขอบ" คือ นายสัญญา พานิชยเวช กับผลงาน "เพลงดอกไม้" และในประเภทเรื่องสั้น หัวข้อ "เราจะผ่านเรื่องร้ายไปด้วยกัน" ผู้ชนะคือ นายณรรธราวุธ เมืองสุข กับผลงาน "ถนนสายนี้ กลับบ้าน" นอกจากการมอบรางวัลแล้วยังมีการจัดเสวนาในหัวข้อ "คุยกับนักเขียน วรรณศิลป์สู่สังคม" โดยมีสองวิทยากรผู้หลงรักวรรณศิลป์อย่าง ไพวรินทร์ ขาวงาม กวีซีไรต์ และ จักรภพ เพ็ญแข ร่วมแสดงความคิดเห็น โดยก่อนอื่น จักรภพ ขอนิยามสิ่งที่เรียกว่าวรรณศิลป์ให้เข้าใจตรงกันก่อนว่าเป็นสิ่งที่แสดงออกมาในรูปของตัวอักษร แล้วสามารถทำให้หัวใจอ่อนไหวละมุนละไมรู้สึกไปกับสิ่งนั้นได้ และสมควรอย่างยิ่งจะให้วรรณศิลป์นี้คงอยู่เพื่อกล่อมเกลาสังคมต่อไป และแน่นอนว่า หากจะให้คงอยู่ต้องมีการถ่ายทอดสู่สังคมวงกว้าง แม้ปัจจุบันความเป็นไปในสังคมจะต่างจากอดีต "เรื่องของวรรณกรรมก็มีทั้งยุคเข้มข้น สังคมการเมือง ยุคความรัก สายลมแสงแดด และต่างๆ อีกมากมาย ซึ่งทั้งหมดของศิลปะการประพันธ์อันเป็นสุนทรียะนั้นมิใช้มีไว้เพื่อเสพคนเดียว หรือในกลุ่ม แต่ระดับหนึ่งมันเป็นเครื่องมือรับใช้จิตสำนึกทางสังคมการเมือง หรือจิตสำนึกสาธารณะได้" "เมื่อเราได้อ่านหนังสือดีๆ เราอาจเข้าใจชีวิตมากขึ้น ยุคหนึ่งเราอาจจะอยากเปลี่ยนสิ่งที่เกิดขึ้นข้างนอก แต่เมื่อเราอ่านหนังสือเราจะรู้สึกว่าสิ่งแรกที่ต้องปฏิวัติ คือข้างในตัวเอง ถ้าเราได้สร้างสันติภาพในใจ มีสวนดอกไม้ในใจตัวเองแล้วค่อยขยายไปสู่เพื่อนบ้าน ไปสู่คนอื่นในมิติที่กว้างออกไป" ไพวรินทร์กล่าวอย่างเชื่อมั่น ซึ่งจักรภพ เองก็เชื่อเช่นนั้น โดยเฉพาะวรรณศิลป์จากบทประพันธ์ที่ร้อยเรียงด้วยฉันทลักษณ์แล้วเขายิ่งมั่นใจว่ามันมีพลัง "เราลองสังเกตภาษาให้ดีว่ามันมีพลังแค่ไหน อย่างผมประเภทชอบร้อยกรองฉันทลักษณ์ ชอบความลงตัว ความคล้องจอง ในแบบของมัน รู้สึกชอบภาษา ก่อนที่จะชอบความหมายด้วยซ้ำ เพราะบางทีรู้สึกว่าจังหวะของภาษานั้นยิ่งส่งให้พลังในความหมายในคำแจ่มชัด" มาถึงตรงนี้ ไพวรินทร์เองเห็นด้วยอย่างยิ่งถึงพลังภาษา และท่องทำนอง ที่เขาเชื่อว่าต้องสื่อด้วยใจ "ผมเคยไปงานกวีนานาชาติ แล้วมาเลเซียก็อ่านบทกวีในภาษาถิ่นของเขาซึ่งเราฟังไม่รู้เรื่อง แต่ขนลุกในพลังของมัน แสดงว่าคนที่เขาเปล่งคำออกมาไม่ใช่อยู่ๆ จะเปล่งออกมาได้ต้นกำเนิดมันคือหัวใจ กวีหรือศิลปะอะไรก็แล้วแต่ที่สุดแล้วมันก็เริ่มจากหัวใจ ผ่านรูปแบบ แล้วไปสู่สาธารณชน ผมเชื่อว่าพลังศิลปะมีจริง แต่บางครั้งในสังคมวุ่นวาย สิ่งเหล่านี้ถูกลืมไป" ไพวรินทร์กล่าว และบอกด้วยความเชื่ออีกว่าชีวิตทุกชีวิตยังคงต้องการ การกล่อมเกลาจิตใจ เยียวยาอารมณ์ จากวรรณศิลป์ "คนไม่จำเป็นต้องกระด้างตลอดเวลา อย่างทหารบางทีเครียดกับระเบียบวินัยมา อาจต้องน้ำตาไหลเมื่อนั่งฟังเพลงเงียบๆ คนเดียวนั่นคือการกล่อมเกลา ผมคิดว่าศิลปะไม่จำเป็นต้องอยู่เฉพาะกับหมู่ศิลปิน หรือกวีเองก็ไม่จำเป็นจะต้องอยู่กับกวี แต่ควรอยู่กับมนุษย์ทุกคน" แต่หากในยุคนี้ที่วรรณศิลป์ต้นกำเนิดอย่างกลอนจะถูกมองว่าเชยนั้น จักรภพ บอกว่าไม่ทั้งหมด แต่อยู่ที่ที่ทางที่เหมาะสม "ที่ที่ไปอ่านกลอน หรือเห็นกลอนติดไว้ แล้วรู้สึกว่าเชยนั้น มักเป็นที่ๆ กระด้าง อย่างถ้าเราเห็นกลอนติดแถวสีลมแน่นอนคงเชย แต่ถ้าติดในโรงเรียน โรงพยาบาล ต่างๆ กลับไม่ให้ความรู้สึกนั้น เพราะฉะนั้นเราคงพูดได้ว่าจริงๆ แล้ววรรณศิลป์เป็นสิ่งที่ลดทอนความกระด้างของสภาพแวดล้อม" จักรภพ สรุป และที่สุดแล้วหากถามถึงอนาคตวรรณศิลป์ไทย ทั้งจักรภพ และไพวรินท์ เองยังแอบยิ้มแบบมีความหวังว่าจริงๆ แล้วมันซึบซับอยู่ในจิตใจของทุกคน เพียงแต่จะเสพเข้าไปด้วยวิธีใดมากกว่า จะรับมา หรือเป็นผู้สร้าง ซึ่ง ณ วันนี้ต้นกล้าความคิดก็ยังพร้อมจะเติบโตให้เห็นอยู่ ................................................................... คัดลอกจากมติชน ๒๘ กพ ๒๕๔๙
28 มกราคม 2549 09:17 น. - comment id 13173
บทกวี คือ ไม้ประดับในวงวรรณกรรม ใครสักคนกล่าวเช่นนี้ ในหน้านิตยสาร มุมบทกวี จึงเป็นมุมประดับเพื่อสร้างภาพหนังสือนั้นให้สมบูรณ์ขึ้น มิใช่คอลัมน์ที่ให้ใครความสำคัญ ประโยชน์ของบทกวีในปัจจุบัน ไม่เหมือนในสมัยก่อน เนื่องจาก วัฒนธรรมการเขียนบทร้อยกรองของสังคมไทย มาจากการ ร้อง และ การรำ เต้น เป็นบทเสภา แต่ปัจจุบัน ผันกลายมาเป็น เพลง ซึ่งเพลงในสมัยนี้ เน้นอารมณ์ ไม่ได้เน้นสุนทรียภาพทางภาษาเหมือนบทเสภาในสมัยก่อน ไม่เหมือนบทเห่เรือ ไม่เหมือนบทร้องเรือ หรือเพลงกล่อมเด็ก บทกวีจึงปรับตัวกลายมาเป็นการสร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อการอ่าน มิใช่การขับร้อง รำ เต้น หรือ วรรณกรรมการละคร อีกต่อไปแล้ว สังคมไทยในสมัยนี้ จึงใช้ \"สายตา\" ในการอ่านบทกวี และมีกระบวนการคิดในการอ่านบทกวี แตกต่างจากสังคมไทยในสมัยก่อน ซึ่งบทกวีมีบทบาทสำคัญในการประสานศิลปะหลายๆ แขนงเข้าด้วยกัน ทักทายลุงเวทย์ค่ะ ... เข้ามาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทบาทของบทกวีที่เปลี่ยนไป ถ้าอยากจะให้สิ่งเหล่านี้กลับเข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้น คิดว่า น่าจะประสานกับกลยุทธ์ทางการตลาด เคยคิดกิจกรรมการประชาสัมพันธ์หนังสือบทกวีว่า น่าจะสร้างกลุ่มตลาดขึ้นมาก่อนจะจำหน่ายหนังสือ คือ น่าจะจับกลุ่มผู้รักภาษา แล้วสร้างสรรค์บทร้อยกรองประสานกับการใส่จังหวะทำนอง หาบรรยากาศสถานที่ดีๆ สำหรับการพบปะสังสรรค์กัน แล้วพูดคุยกัน นำบทกวีมาขับร้องเป็นเพลง ใส่ทำนองด้วยกีตาร์ จุดเทียนสลัวๆ ในยามหัวค่ำในช่วงปลายสัปดาห์ ผ่อนคลายด้วยความรู้สึกมีส่วนร่วม เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสรรค์งานร่วมกัน แล้วเมื่อใครสักคนเขียนบทกวีพอตีพิมพ์ออกเป็นสื่อได้ เราก็ถือโอกาสประชาสัมพันธ์กิจกรรมดีๆ อย่างนี้ไปด้วย อาศัยสื่อสิ่งพิมพ์อื่นๆ ด้วย เริ่มจากกลุ่มเล็กๆ ขึ้นมาก่อนเลย เราจึงต้องสร้าง ตลาด ค่ะ เพื่อที่จะประสานโลกยุคใหม่ กับ ศิลปะที่เราต้องการรักษาไว้ให้คงอยู่ต่อไป แหม ... ความคิดเหล่านี้อาจจะฟังดูเล็กน้อย แต่จะสร้างมันขึ้นมา คงยิ่งใหญ่พอสมควรนะคะ : )
20 มีนาคม 2549 13:59 น. - comment id 13720
เห็นด้วยค่ะ