เขียนกลอนให้ดีได้อย่างไรหนอ ดีเพียงพอเขาเขียนกันอย่างไหน หรือว่าการเขียนดีอยู่ที่"ใคร" จงตอบให้ฉันหายข้องใจเสียที่
14 กันยายน 2548 13:37 น. - comment id 11982
บทร้อยกรองประกอบด้วยเนื้อหาที่อยู่ภายใต้รูปแบบที่กำหนดไว้ ซึ่งในส่วนของรูปแบบดังกล่าวได้แก่ลักษณะที่มีแผนผังและบังคับแตกต่างกันไปตามชนิดของคำประพันธ์ ลักษณะเฉพาะของร้อยกรองของไทยคือมีรูปแบบเป็นระเบียบ มีบังคับสัมผัสให้คล้องจองกัน เพื่อให้เกิดความไพเราะและง่ายแก่การจดจำ มีการจัดแบ่งวรรค และกำหนดจำนวนคำ ตลอดจนเสียงของคำ ในส่วนของเสียงก็มีทั้งบังคับเสียงหนัก-เบา (ครุ-ลหุ) เสียงสูง-ต่ำ (มีทั้งบังคับตามเสียงและตามรูปวรรณยุกต์) ผมเห็นด้วยกับที่ วาณิช จรุงกิจอนันต์ ได้ให้คำสรุปลักษณะของกลอน (น่าจะรวมถึงร้อยกรองชนิดอื่นๆด้วย) ว่าเป็นเรื่องของจังหวะและการใช้คำให้ได้ความที่กินใจ เพราะผมเองก็เรียนรู้มาเช่นนั้น และทำให้ทุกครั้งเมื่อผมเขียนร้อยกรองก็จะให้ความสำคัญกับการใช้คำให้ได้ความที่กินใจควบคู่ไปกับจังหวะลีลาของมัน ในส่วนของจังหวะนั้น เป็นเรื่องของความไพเราะซึ่งเป็นคุณสมบัติพื้นฐานที่ขาดไม่ได้ของบทร้อยกรอง โดยเฉพาะบทร้อยกรองของไทยนั้นแต่เดิมใช้ในการขับ แปลว่ามีท่วงทำนองคล้ายกับเพลงโดยมีทั้งจังหวะและทำนองที่เป็นกรอบให้เราต้องร้อยเรียงถ้อยคำให้สอดรับกลมกลืนกับทำนองเพลงหรือการขับที่จะเลือกใช้ประกอบด้วย แม้ปัจจุบันเราจะหันมาเสพสุนทรีย์แห่งบทร้อยกรองด้วยสายตาเพียงอ่านโดยไม่ออกเสียง ก็ไม่น่าจะถึงขนาดให้เขียนบทร้อยกรองกันโดยไม่มีจังหวะกำกับ เพราะลักษณะเช่นนั้นจะกลายเป็น ร้อยแก้ว ซึ่งผิดประเภทกัน จังหวะ(รวมทั้งท่วงทำนอง)ของร้อยกรองไทยมีวิวัฒนาการหลายชั้นหลายยุคสมัย จนมีชนิดของคำประพันธ์มากมาย และไม่แปลกถ้าจะมีใครทำให้ วิวัฒน์ ไปกว่านี้ ผมจึงไม่เห็นด้วยถ้าใครจะยึดติดกับกรอบของ ของเก่า เพียงอย่างเดียว แต่ก็ไม่เคยชื่นชมกับ ของใหม่ ที่เกิดขึ้นอย่างไร้หลักเกณฑ์อันเหมาะสม การได้ศึกษาจนเข้าใจจะทำให้เราพบว่าการสร้างจังหวะนั้นก็เพื่อโน้มน้าวอารมณ์ผู้ฟัง(ผู้อ่าน) ทั้งนี้สามารถเทียบเคียงกับดนตรีที่มีจังหวะและทำนองแตกต่างหลากหลาย คงต้องเป็นอัจฉริยบุคคลจึงจะสามารถเขียนบทร้อยกรองโดยไม่มีจังหวะของร้อยกรองอยู่ก่อนในใจ และการที่จะให้มีจังหวะของร้อยกรองในใจได้ก็ทำได้เพียงอ่านและฟังมาจนขึ้นใจ ใครที่คิดจะเขียนร้อยกรองจึงจำเป็นต้องอาศัยการอ่านมากฟังมากเป็นพื้นฐาน และน่าจะเป็นการเลือกอ่านงานที่มีคุณภาพเพียงพอด้วย สำหรับ การใช้คำให้เกิดความกินใจ จะเป็นมาตรวัดคุณภาพของบทร้อยกรอง เพราะถ้าบทไหนมีคนประทับใจจดจำแล้ว บทนั้นก็จะกลายเป็นชิ้นงานอมตะ ซึ่งถือเป็นความสำเร็จอย่างสูง จึงอยากให้คนเขียนร้อยกรองหันมาเน้นคุณภาพกัน ลองคิดดูเถอะว่าถ้าเราเคยเขียนบทร้อยกรองเป็นร้อยเป็นพันชิ้น แต่ไม่มีสักชิ้นที่ประทับใจคน ปริมาณงานทั้งหมดก็ไม่มีค่าอะไรเลยเมื่อเทียบกับคนที่สร้างงานอย่างประณีตจนเกิดเป็น วรรคทอง ขึ้นมาได้ ทุกวันนี้เมื่อกล่าวถึงบทร้อยกรองไทย เราจะนึกถึงรูปแบบเป็นอย่างแรก จนหลายคนลืมไปว่าสิ่งที่ขาดเสียมิได้ก็คือเนื้อหา ตรงจุดนี้เองที่ทำให้หลงทิศหลงทางกันไปมากมาย ยิ่งเมื่อการเรียนการสอนในโรงเรียนหันมาใช้ข้อสอบปรนัยแทนข้อสอบอัตนัย เด็กไทยก็ขาดทักษะในการเรียบเรียงและลำดับความคิด จนไม่สามารถเขียนอะไรให้คนอ่านเข้าใจได้ ถ้าคนอ่านอ่านแล้วไม่เข้าใจก็เป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดความประทับใจ และถ้าคนเขียนต้องการสื่อความคิดด้วยแล้ว การที่คนอ่านไม่สามารถเข้าถึงเนื้อสารได้ก็เป็นความล้มเหลวของคนเขียน ไม่ว่าจะเป็นเพราะความผิดของคนเขียนหรือไม่ก็ตาม คุณสมบัติอย่างแรกของเนื้อหาก็คือความถูกต้อง ก่อนที่นักประพันธ์เอกของโลกจะเขียนอะไรนั้นเขาต้องศึกษาเรื่องที่เขาเขียนมาอย่างดี เราจะไม่คิดเอาอย่างเขาบ้างเชียวหรือ และนอกจากความถูกต้องแล้วก็ยังต้องมีการจัดลำดับไม่ให้วกวนสับสน ส่วนจะมีเทคนิคในการสร้างความน่าสนใจ หรือมีการใช้สัญลักษณ์หรืออุปมาอุปมัยไปขนาดไหน ก็ยังต้องให้ความสำคัญกับการสื่ออยู่ดี ยกเว้นว่าตั้งใจแค่เขียนไว้อ่านเองคนเดียว ภาษา เป็นเครื่องมือสำคัญที่สุด และเราคงต้องเข้าใจความหมายของคำทุกคำที่เราเลือกใช้ด้วย ความรู้เรื่องภาษานี่เองที่จะช่วยให้เราเรียบเรียงเรื่องที่ยุ่งยากซับซ้อนให้กลายเป็นเรื่องง่ายที่จะเข้าใจ ซึ่งบางครั้งให้ผลถึงขนาด กินใจ ได้ แต่ถ้าเราใช้คำผิดความหมายหรือผิดกาละเทศะก็กลายเป็นการประจานตัวเอง ไม่มีใครสามารถสร้างประติมากรรมขึ้นมาจากความว่างเปล่าได้หรอก
14 กันยายน 2548 15:35 น. - comment id 11984
ต้องใช้ใจเขียนเหมืนเราไง เขียนไม่เพราะหรอกแต่ใจรักอ่ะ
15 กันยายน 2548 09:18 น. - comment id 11997
เขียนกลอนให้ดี ต้องคีย์จากใจ สมองอย่าไหว อารมณ์ต้องชัด ภาษาต้องคล่อง สอดคล้องอยู่หมัด หมั่นฝึกจึงสันทัด ต้องหัดเสมอ : ) แหะแหะ ... เข้ามาให้กำลังใจค่ะ อ่านเยอะๆ นะคะ
15 กันยายน 2548 09:33 น. - comment id 11998
..๏ ร้อยกรองรายกรอบรอบกั้น แท้นั้นเน้นเพื่อเนื้อหา จังหวะจัดวางสร้างมา ลีลาผสานผสมกลมกลืน เรียบเรียงอารมณ์บ่มร่ำ ความนำคำทยอยรอยคลื่น แพรวพราวผ่องผุดจุดยืน ไหลลื่นลึกล้ำคำคม พากเพียรเขียนคิดประดิษฐ์ถ้อย ใช่พล่อยพลั้งเผลอเพ้อผสม คุณค่าราคาแล้งลม ควรฤๅชื่นชมเชิดชู ร้อยกรองก่ายกองตรองตั้ง ร้อยครั้งอรรถรสอดสู ร้อยเรื่องหลากหน้าพาดู ร้อยรู้ฤๅครึ่งหนึ่งทำ ๚ะ๛
16 กันยายน 2548 20:51 น. - comment id 12031
คห. copy มาจากไหนนะ ^^\'
27 กันยายน 2548 22:09 น. - comment id 12153
คงต้องฝึกฝนนะครับ หัดใช้ภาษา ถ้อยคำ ที่ สละสลวย อ่านหนังสือเยอะๆ และต้องใช้ อารมณ์ร่วมบ้าง ที่สำคัญคือ ใจ ครับ ต้องรักด้วยนะ
4 ตุลาคม 2548 22:51 น. - comment id 12226
เคยจำบทกลอนได้บทหนึ่ง แต่จำไม่ได้จริง ๆ ว่าเป็นผลงานของใคร ดังนี้ กลอนจะดีอยู่ที่เรื่องเป็นเบื้องแรก ความคิดแปลก โวหารคม สมสมัย ถ้อยคำหรู ตรูอรรถ สัมผัสใน เก็บความได้แน่นหนักในวรรคเดียว. คิดว่ามีหลายอย่างให้ค้นหาในบทกลอนนี้ ที่เป็นประโยชน์ต่อการเขียนกลอนให้ดีได้