ฉันทลักษณ์ คือ ตำราที่ว่าด้วยวิธีการร้อยกรองถ้อยคำให้เป็นระเบียบตามลักษณะบังคับ ของคำประพันธ์ ร้อยกรองแต่ละประเภท ที่นักปราชญ์และกวี ได้บัญญัติวางไว้เป็นแบบ ฉันทลักษณ์ จึงเป็นลักษณะบังคับของคำประพันธ์แต่ละประเภท สำหรับการแต่งร้อยกรอง มีลักษณะบังคับ ๙ ประการด้วยกัน ดังนี้ ๑. คณะ คือข้อบังคับเกี่ยวกับจำนวนบท จำนวนบาทจำนวนวรรค และ จำนวนคำ ของคำประพันธ์ แต่ละชนิดนั้น ๆ ว่าต้องมีเท่านั้นวรรค เท่านั้นคำ ต้องมีเอก - โท ,ครุ-ลหุ ตรงนั้นๆ บท คือคำประพันธ์ตอนหนึ่งๆ อาจจะสั้นหรือจะยาวก็แล้วแต่ชนิดของคำประพันธ์ บาท คือส่วนย่อยของบท คำประพันธ์บทหนึ่งมีตั้งแต่ ๑ บาท ถึง ๔ บาท วรรค คือส่วนย่อยของบาท หนึ่งบาทมี ๑-๒ วรรค คำ หมายถึงพยางค์คือเสียงที่เปล่งออกมาครั้งหนึ่ง ตัวอย่าง กลอน ๑ บท มี ๒ บาท (บาทเอกและบาทโท) ๑ บาท มี ๒ วรรค ๑ วรรค มี ๖-๙ คำ เช่น กลอนสุภาพหนึ่งบทจะมีคณะ ดังนี้ ...มนุษย์นี้ที่รักอยู่สองสถาน บิดามารดารักมักเป็นผล ที่พึ่งหนึ่งพึ่งได้แต่กายตน เกิดเป็นคนคิดเห็นจึงเจรจา พระอภัยมณี...สุนทรภู่ กลอน ๑ บท จึงมี ๔ วรรคเรียกว่า วรรคสดับ วรรครับ วรรครองและวรรคส่ง คำสุดท้ายในแต่ละวรรคซึ่งจะมีกฎเกณฑ์เกี่ยวกับเรื่องเสียงและสัมผัส จึง มีคำเรียกเฉพาะตามวรรคนั้นๆจึงมีคำ ๔ คำที่ควรจำคือ คำสดับ,คำรับ คำรอง และ คำส่ง สำหรับคณะของคำประพันธ์ประเภทอื่น เช่นโคลงสี่สุภาพ กาพย์ ฯลฯ ก็จะมี คณะที่ต่างออกไปจากกลอน เป็นลักษณะบังคับเฉพาะคำประพันธ์นั้นๆ ๒ พยางค์ คือจำนวนคำของคำประพันธ์แต่ละชนิด ที่มีข้อกำหนดไว้แล้วว่า ในคำประพันธ์แต่ละ ชนิดนั้น กำหนดให้แต่ละวรรคมีกี่คำ ในด้านฉันทลักษณ์แท้จริงแล้วหมายถึงคำ แต่ในบางกรณีอาจเป็นเพียงเสียงของคำ เพียงหนึ่งเสียงก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการออกเสียงและจังหวะของเสียงในคำประพันธ์นั้น ๆ เช่น ...............วัดหงส์เหมราชร้าง......รังถวาย คำว่า เหมราช ในโคลงจากข้อความข้างต้น ให้นับว่า สองพยางค์ ก็จะทำให้ วรรคหน้าในโคลงสี่สุภาพ มีจำนวน พยางค์เป็น ๕ เท่ากับข้อบังคับ การนับพยางค์ในการแต่ง คำประพันธ์จึงต้องดู คณะ และเสียงจังหวะของคำว่าควรจะลงตัวอย่างไรจึงจะได้ความไพเราะ แต่หากเป็นการแต่ง ฉันท์ แล้ว พยางค์ในฉันท์จะหมายถึงหนึ่งเสียงที่เปล่งออกมาเนื่องจาก ฉันท์ มีข้อกำหนดที่เคร่งครัดในเรื่อง ครุ-ลหุ ของเสียงแต่ละเสียง ๓ สัมผัส คือความคล้องจองในเรื่องเสียงของคำแต่ละคำ หากคำสองคำมีความคล้องจองใน เสียงของสระ ก็เรียกว่ามีการ สัมผัสสระ ระหว่างคำสองคำดังกล่าว แต่หากคล้องจองในเรื่อง ของเสียงพยัญชนะ ก็จะเรียกว่า สัมผัสอักษร ซึ่งเรียกว่าเป็นประเภทของสัมผัส ในเชิงการประพันธ์มีสัมผัสอยู่สองอย่าง คือ สัมผัสบังคับ และ สัมผัสไม่บังคับ ส่วนที่ บังคับหมายถึงว่าต้องมีหากไม่มีก็จะผิดแบบฉันทลักษณ์ไปทันที ส่วน สัมผัสไม่บังคับ นั้น จะมีหรือไม่มีก็ได้ หากมีไว้บ้างก็จะทำให้คำประพันธ์สละสลวยขึ้น รายละเอียดของหัวข้อสัมผัส ดูจากหัวข้อสัมผัสบังคับ สัมผัสไม่บังคับ ๔ คำครุ คำลหุ ครุ แปลว่า หนัก ลหุ แปลว่า เบา คำครุ ได้แก่ ๑.พยางค์หรือคำที่ประสมด้วยสระเสียงยาว เช่น โต แข ลา มี ๒. คำที่มีตัวสะกด เช่น รัก ลูก เกือบ พบ สั่ง ๓. คำที่ประสมด้วยสระ อำ ไอ ใอ เอา (เพราะคำเหล่านี้มีเสียงสะกด) คำลหุ ได้แก่ ๑.พยางค์ที่ประสมด้วยสระเสียงสั้นไม่มีตัวสะกด เช่น ติ เถอะ ธุระ ๒.คำที่ประสมด้วยสระ อำ เช่น จำ ขำ ทำ คำครุ คำลหุ บังคับใช้ในการเขียน ฉันท์ เพราะฉันท์ มีข้อบังคับเรื่อง ครุ ลหุ ๕ คำเป็น คำตาย ดูเพิ่มเติม คำเป็น ได้แก่ ๑. คำที่ประสมด้วยทีฆสระ ในแม่ ก กา (สระเสียงยาวไม่มีตัวสะกด) เช่น ว่า เรือ โต้ ชี้ รื้อ คู่ แล รวมถึงคำที่ประสมด้วยสระ อำ ไอ ใอ เอา เช่น ดำ ไป ใคร ใช้ เรา ๒. คำที่มีตัวสะกดในมาตรา แม่ กง กน กม เกย เกอว เช่น ดง มุง ชาญ กัน เชื่อม ลุย ร้าว คำตาย ได้แก่ ๑. คำที่ประสมด้วยรัสสระ ในแม่ ก กา (สระเสียงสั้น ไม่มีตัวสะกด) ยกเว้น อำ ไอ ใอ เอา เช่น จะ ริ ครึ ลุ เกะกะ ทะลุ โต๊ะ เผียะ ๒. คำที่มีตัวสะกดในมาตรา แม่ กก กด กบ เช่น มุข ลาภ เชือด รบ ในการแต่งโคลงทุกชนิด ใช้คำตาย แทน เอก ได้ ๖ คำเอก ตำโท คำเอกคำโท หมายถึงพยางค์ที่บังคับด้วยรูปวรรณยุกต์เอก และรูปวรรณยุต์โท กำกับ อยู่ในคำนั้น โดยมีลักษณะบังคับไว้ดังนี้ คำเอก ได้แก่ พยางค์ที่มีรูปวรรณยุกต์เอกบังคับ เช่น ล่า เก่า ก่อน น่า ว่าย ไม่ ฯลฯ และให้รวมถึงคำตายทั้งหมดไม่ว่าจะมีเสียงวรรณยุกต์ใดก็ตาม เช่น ปะ พบ รึ ขัด ชิด (ในโคลงและร่ายใช้ คำตาย แทนคำเอกได้) คำโท ได้แก่ พยางค์ที่มีรูปวรรณยุกต์โทบังคับ ไม่ว่าจะเป็นเสียงวรรณยุกต์ใดก็ตาม เช่น ข้า ล้ม เศร้า ค้าน คำเอก คำโท ใช้ในการแต่งคำประพันธ์ประเภท โคลง และ ร่ายและถือว่าเป็นข้อ บังคับของฉันทลักษณ์ที่สำคัญมาก ถึงกับยอมให้เอาคำที่ไม่เคยใช้รูปเอก รูปโท แปลงมาใช้ เอก และ โท ได้ เช่น ช่วย ลุ่ย นำมาเขียนใช้เป็น ฉ้วย หลุ้ย ได้ เรียกว่า โทโทษ ห้าม ข้อน นำมาเขียนเป็น ฮ่าม ค่อน เรียกว่า เอกโทษ เอกโทษและโทโทษ นำมาใช้แก้ปัญหาได้ แต่ในปัจจุบันไม่นิยมใช้เอกโทษและโทโทษ ๗ คำนำ หมายถึงคำที่ใช้กล่าวขึ้นต้นเป็นบทนำในคำประพันธ์ อาจเป็นคำเดียว หรือเป็นวลีก็ได้ เช่น เมื่อนั้น บัดนั้น มาจะกล่าวบทไป วังเอ๋ยวังเวง ครานั้น สักวา ๘ คำสร้อย หมายถึงคำที่ใช้ลงท้ายบทหรือท้ายบาทของคำประพันธ์ ปกติจะมีคำซึ่งมีความหมาย อยู่ข้างหน้าแล้ว แต่เนื่องจากยังไม่ครบจำนวนคำตามข้อบังคับ จึงต้องเติมสร้อยเพื่อให้มีคำ ครบตามจำนวน ทั้งเป็นการเพิ่มสำเนียงให้ไพเราะในการอ่าน ตัวอย่างคำสร้อย เช่น พ่อ แม่ พี่ เทอญ นา ฤา แล เฮย รา นอ บารนี เสียงลือเสียงเล่าอ้าง อันใด พี่เอย เสียงย่อมยอยศใคร ทั่วหล้า ของเขือพี่หลับไหล ลืมตื่น ฤาพี่ สองพี่คิดเองอ้า อย่าได้ถามเผือ คำสร้อยนั้น จะต้องเป็น คำเป็น เท่านั้น ห้ามใช้ คำตาย คำสร้อยใช้ในโคลงและร่ายเท่านั้น้้ ๙ เสียงวรรณยุกต์ เสียงวรรณยุกต์ คือระดับเสียงสูงต่ำของคำที่ใช้ในการประพันธ์ โดยเฉพาะคำกลอน ที่นิยมใช้เสียงบางเสียงและห้ามเสียงบางเสียง ในคำท้ายวรรค แม้ว่าจะไม่มีข้อบัญญัติที่ระบุ ไว้อย่างเคร่งครัดนักก็ตาม หากแต่ว่าเป็นเสมือนข้อบังคับโดยเฉพาะลักษณะเสียงวรรณยุกต์
18 พฤศจิกายน 2547 20:32 น. - comment id 8562
เสียงวรรณยุกต์ บรมครูกลอนสุนทรภู่ แต่งแต้มเสียงวรรณยุกต์ของคำสุดท้ายในแต่ละวรรคไว้ได้อย่างไพเราะ ระดับเสียงสูงต่ำในภาษาไทย (เสียงวรรณยุกต์)เป็นเสมือนเสียงดนตรีในบางตำแหน่งของคำหากใช้เสียงวรรณยุกต์บางเสียงกลอนอาจขาดความไพเราะได้ นักเขียนกลอนสมัครเล่นอย่างเราๆ จึงมักจะจดจำการลงเสียงท้ายวรรคทั้งสี่ ว่า เต้น ๆ จัตวา สามัญ สามัญ ดังนั้นนักแต่งกลอนต้องระวังให้จบกลอนในแต่ละวรรคด้วยเสียงที่ถูกต้อง การจบกลอนแต่ละวรรคต้องระวังเสียงที่เป็นข้อห้าม สังเกตกลอนที่ควรแก้ไขเรื่องเสียงวรรณยุกต์ดังนี้ (ตัวอย่างต่อไปนี้ตัดตอนมาจากแบบฝึกหัดของนักเรียน) โลกสวยสดงดงามเพราะความรัก ไม่รู้จักความรักโลกเศร้าหมอง เหมือนที่พี่ไร้เธอเป็นคู่ครอง เจ้าจงตรองพี่นี้คิดถึงเจ้า พี่นี้คิดถึงเธอไม่วางวาย ไม่ห่างหายในรักคิดถึงเธอ ไม่ได้พบได้เจอเธอนะเออ คงจะเพ้อละเมอทุกคืนวัน จะเห็นว่าคำสุดท้ายในวรรคที่ ๔ ๕ และ ๖ มีเสียงวรรณยุกต์ที่ทำให้เสียงของกลอนกระด้าง ไม่นุ่มนวลชวนฟัง ผู้เขียนกลอนทุกคนจึงต้องระวังเรื่องนี้ด้วยเพราะกลอนของไทยก็คล้ายๆกับทำนองเพลงนั่นเองเสียงวรรณยุกต์ที่พริ้วไป ตามข้อกำหนดจะทำให้ท่วงทำนองกลอนมีความไพเราะขึ้นยิ่งหากได้เนื้อความที่กินใจด้วยแล้วความสมบูรณ์ของกลอน ก็จะเพิ่มขึ้นอีกมาก
18 พฤศจิกายน 2547 20:34 น. - comment id 8563
ตัวอย่าง แสนวิตกอกเอ๋ยมาอ้างว้าง ในทุ่งกว้างเห็นแต่แขมแซมสลอน จนดึกดาวพราวพร่างกลางอัมพร กาเรียนร่อนร้องก้องเมื่อสองยาม ทั้งกบเขียดเกรียดกรีดจังหรีดเรื่อย พระพายเฉื่อยฉิวฉิววะหวิวหวาม วังเวงจิตคิดคะนึงรำพึงความ ถึงเมื่อยามยังอุดมโสมนัส ......นิราศภูเขาทอง ให้กำหนดจดจำแต่คำชอบ ผิดระบอบแบบกระบวนอย่าควรถือ อย่านุ่งผ้าพกใหญ่ใต้สะดือ เขาจะลือว่าเล่นไม่เห็นควร อย่าลืมตัวมัวเดินให้เพลินจิต ระวังปิดปกป้องของสงวน เป็นนารีที่อายหลายกระบวน จงสงวนศักดิ์สง่าอย่าให้อาย ......สุภาษิตสอนหญิง
18 พฤศจิกายน 2547 20:40 น. - comment id 8565
ตัวอย่าง พระโหยหวนครวญเพลงวังเวงจิต ให้คนคิดถึงถิ่นถวิลหวัง ว่าจากเรือนเหมือนนกมาจากรัง อยู่ข้างหลังก็จะแลชะแง้คอย ถึงยามค่ำย่ำฆ้องจะร้องไห้ ร่ำพิไรรัญจวนหวนละห้อย โอ้ยามดึกดาวเคลื่อนเดือนก็คล้อย น้ำค้างย้อยเย็นฉ่ำที่อัมพร .......พระอภัยมณี เสียงลิงค่างบ่างชะนีวะหวีดโหวย กระหึมโหยห้อยไม้น่าใจหาย เสียงผัวผัวตัวเมียเที่ยวโยนกาย เห็นคนอายแอบอิงกับกิ่งยาง โอ้ชะนีเวทนาเที่ยวหาผัว เหมือนตัวพี่จากน้องให้หมองหมาง ชะนีเพรียกเรียกชายอยู่ปลายทาง พี่เรียกนางนุชน้องอยู่ในใจ
18 พฤศจิกายน 2547 20:47 น. - comment id 8566
สัมผัสไม่บังคับ หมายถึงการส่งและรับสัมผัสภายในวรรคเดียวกัน ด้วยเสียงสระ และหรือ เสียงอักษร ซึ่งมิได้มี การบังคับในฉันทลักษณ์ สัมผัสสระ หมายถึง การส่งและรับสัมผัสด้วยเสียงสระร่วมกัน(ยึดเอาเสียงเป็นสำคัญ) เช่น ใจ สัมผัสสระกับคำว่า ฤทัย ไหม อาลัย ไหว้ สงสัย ไทย สัมผัสอักษร หมายถึง การส่งและรับสัมผัสด้วยเสียงอักษรร่วมกัน เช่น คน สัมผัสอักษรกับคำว่า ของ ฆ่า ระฆัง ขม คาว อุโฆษ สาว สัมผัสอักษรกับคำว่า โศก ซึม เศร้า สูง ซาบ สิ่ง เนื่องจากกลอนมีการแบ่งจังหวะในแต่ละวรรคได้วรรคละ 3 จังหวะ จึงนิยมการส่งและรับสัมผัสในวรรคละ 2 ตำแหน่ง ตัวอย่าง หอมคัดค้าว สาวหยุด พุทธชาติ พระพายพาด พัดเฉื่อย ระเรื่อยรื่น น้ำค้างเผาะ เหยาะกระเซ็น ก็เย็นชื้น ยิ่งดึกดื่น ดงรัง เสียงวังเวง กวางระเริง เบิ่งร้อง ในท้องถิ่น ว่าถึงดิน แล้วก็ว่า ป่าระเหง จักจั่นแจ้ว แว่วหวาน ประสานเพลง เหมือนลเวง วัณลา แม่จาบัลย์ .......พระอภัยมณี เสนาะดัง จังหรีด วะหวีดแว่ว เสียงแจ้วแจ้ว จักจั่น สนั่นเสียง เสียงหริ่งหริ่ง กิ่งไทร เรไรเรียง เสียวสำเนียง นอนแล เห็นแต่ดาว จนดึกดื่น รื่นเรื่อย เฉื่อยเฉื่อยฉิว หนาวดอกงิ้ว งิ้วต้น ให้คนหนาว แม้นงิ้วงาม นามงิ้ว เล็บนิ้วยาว จะอุ่นราว นวมแนบ นั่งแอบอิง ...........นิราศวัดเจ้าฟ้า
18 พฤศจิกายน 2547 20:51 น. - comment id 8567
เทคนิคการใช้สัมผัส ในกลอนของสุนทรภู่ บรมครูกลอน สุนทรภู่ รจนากลอนได้อย่างไพเราะ มีการใช้เสียงที่เสนาะเพราะพริ้ง ทำให้ตัวอักษรและถ้อยคำดูมี ชีวิตจิตใจ ดังที่กล่าวไว้แล้วในข้างต้น กลอนแต่ละวรรคของครูกลอนท่านนี้ มีการรับส่งและรับสัมผัสในได้อย่างมีศิลปะ จนกระทั่งศิลปะการใช้สัมผัสในวรรคกลอนแบบนี้เป็นที่นิยมใช้ตามกันมาอย่างแพร่หลาย กลอนส่วนใหญ่ของสุนทรภู่ จะมี สัมผัสในที่แพรวพราว เกือบทุกวรรค จนเป็นแบบอย่างที่เห็นได้ชัดเจน ดังนี้ สัมผัสสระระหว่างคำที่ 3 ไปยังคำที่ 4 ในวรรคสดับและวรรครอง นอนเถิดหนายาหยีพี่จะกล่อม งามละม่อมมิ่งขวัญอย่าหวั่นไหว คีรีรอบขอบเคียงเหมือนเวียงไชย อยู่ร่มไม้เหมือนปราสาทราชวัง เคยสำเนียงเสียงนางสุรางค์เห่ มาฟังเรไรแซ่เหมือนแตรสังข์ เคยมีวิสูตรรูดกั้นบนบัลลังก์ มากำบังใบไม้ในไพรวัลย์ ......นิราศอิเหนา หากหมั่นสังเกตจะเห็นว่ากลอนส่วนใหญ่ของสุนทรภู่มักเป็นเช่นนี้ แม้จะไม่ได้เป็นไปทุกวรรค แต่จะเห็นว่ากวีท่านนี้ใช้ กลเม็ดพิเศษในจุดนี้ได้อย่างเชี่ยวชาญ ซึ่งเราจะเห็นว่าไม่มีกวีท่านใดใช้สัมผัสได้แพรวพราวอย่างนี้มาก่อน การใช้สัมผัสอักษร และสัมผัสสระภายในวรรคอย่างแพรวพราวเช่นนี้ จึงทำให้สำนวนกลอนอ่อนหวานและชวนให้เคลิบเคลิ้มตามความไพเราะของ เสียงได้ง่าย เทคนิคกลอนแบบนี้จึงเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะผู้เริ่มหัดเขียนกลอนส่วนใหญ่มักเรียนรู้การเขียนกลอน โดยยึดเอากลอนของสุนทรภู่เป็นต้นแบบ และเมื่อเขียนจนชำนาญแล้วจึงสร้างลักษณะเฉพาะของตนเองออกมา ตะลึงเหลี่ยวเปลี่ยวเปล่าให้เหงาหงิม สุชลปริ่มเปี่ยมเหยาะเผาะเผาะผ็อย โอ้เย็นย่ำน้ำค้างลงพร่างพร้อย น้องจะลอยลมบนไปหนใด หรือเทวัญชั้นฟ้ามาพาน้อง ไปไว้ห้องช่องสวรรค์ที่ชั้นไหน แม้นน้องน้อยลอยถึงชั้นตรึงส์ตรัย สหัสนัยน์จะช่วยรับประคับประคอง หรือไปปะอาทิตย์พิศวาส ไปร่วมอาสน์เวชยันต์ผันผยอง หรือเมฆขลาพาชวนนวลละออง เที่ยวลอยล่องเลียบฟ้าชมสาคร ...........นิราศอิเหนา
18 พฤศจิกายน 2547 20:57 น. - comment id 8568
การใช้คำซ้ำ หรือสัมผัสซ้ำในคำประพันธ์ การสร้างสรรค์งานกลอนให้มีคุณภาพต้องอาศัยความประณีตละเอียดอ่อน ในการเลือกคำให้เกิดเสียงเสนาะ เกิดอารมณ์แห่งจินตนาการ เกิดความลื่นไหลในการแต่งแต้ม ดังนั้นในตำแหน่งที่คำกลอนส่งสัมผัสและรับสัมผัสกันนั้น สิ่งที่นักแต่งกลอนทุกคนควรระมัดระวังก็คือ ห้ามใช้คำซ้ำกัน(หมายถึงคำเดียวกันหรือคำที่ออกเสียงเหมือนกัน) ดังตัวอย่างกลอนที่มีข้อบกพร่อง ดังนี้ นั่งชมวิวทิวทัศน์อยู่ริมหาด แสงแดดสาดส่องมาน่าหลงไหล เห็นเรือน้อยล่องลอยอยู่ไกลไกล ชวนหลงไหลเรือแล่นไปตามลม คลื่นซัดสาดเข้ามาหาชายฝั่ง หวนนึกถึงความหลังครั้งสุขสม มาบัดนี้ดวงใจทุกข์ระทม เช่นสายลมผ่านมาแล้วผ่านไป จะเห็นว่ากลอนข้างต้นมีสัมผัสซ้ำถึงสองแห่ง คือ ๑. คำว่า หลงไหล และ ๒. คำว่า ลม กระแสคลื่นครืนคลั่งกระทบฝั่ง อีกทั้งยังหาดทรายขาวราวแก้วใส สุดแผ่นฟ้าแผ่นน้ำไกลสุดไกล แสนสดใสใจกายสบายตา แลละลิ่วทิวสนเกินจักนับ แสงแดส่องระยิบระยับทั้งเวหา สกุณาโผผินบินลับตา สุหรรษาพาใจให้เพลิดเพลิน ในกลอนต่อมานั้น สัมผัสซ้ำสองตำแหน่งเช่นกัน คือ ๑.คำว่า ใส และ ๒. คำว่า ตา ผู้เขียนกลอนทุกคนจึงต้องระมัดระวังเรื่องสัมผัสให้มากที่สุด เพราะมีโอกาสเผลอได้ง่าย จึงควรตรวจสอบ หลังจากที่แต่งบทกลอนนั้นแล้วอีกครั้ง ผู้เขียนกลอนส่วนใหญ่มักจะเคยพลาดพลั้งในจุดนี้กันมาแล้วแทบทั้งสิ้น
18 พฤศจิกายน 2547 21:01 น. - comment id 8570
สัมผัสเลือน วาสนา บุญสม ผู้คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงของกลอน ได้เขียนเสนอเรื่องเทคนิคการเขียนกลอนบางประการ ไว้ในหนังสือ กลอนสัมผัสใจได้อย่างไร โดยบุคคลท่านนี้ได้เสนอแนะแนวทางเรื่องการเขียนกลอนที่ถูกต้อง และการเลือกสรรคำที่ใช้ในการเขียนกลอนหลายแง่มุมด้วยกัน ในส่วนเรื่องสัมผัสเลือน นั้น ท่านเสนอความรู้และความคิดเรื่องวิธีการชิงสัมผัสและสัมผัสเลือน ไว้ดังนี้ ในการแต่งกลอนแต่ละวรรคไม่ใช้สระเสียงเดียวกันในตำแหน่งคำที่ ๓ กับคำที่ ๘ เพราะจะทำให้เกิดการใช้สระเดียวกันในวรรคเดียวกันมากมายเกินไป หรือเป็นการรับสัมผัสที่พร่ำเพรื่อจนด้อยความไพเราะและความสมดุล ดังกลอนตัวอย่างที่แสดงถึงความบกพร่องในการใช้คำของกลอนแต่ละวรรค ดังต่อไปนี้ ห้วงลึกลมหายใจ นายทุนจากญี่ปุ่นลงทุนมาก เที่ยวออกปากสร้างโรงงานกว้านซื้อที่ ราวดอกเห็ดล้อมเมืองรุ่งเรืองดี แต่ยายนี้ทอดถอนใจพึ่งใครเอย ศิลปินอย่างฉัน ทุกข์วิบากยากจนทางชนชั้น ศิลปินไทยอย่างฉันย่อมหวั่นไหว ยามฉันใดฉันจนใครสนใจ จะหันหน้าพึ่งใครไม่มีเลย อิจฉาริษยา คนอิจฉาตาร้อนชอบค่อนว่า มีจิตใจไร้เมตตามากสาไถย ส่อนิสัยอันธพาลคิดจัญไร ริษยาเรื่อยไปในทุกครา ในกลอนบทหลังสุดนี้จะเห็นว่ามีสัมผัสเลือนทั้ง ๔วรรค ได้แก่วรรคที่ ๑,๒ ,๓ และ ๔(ในส่วนที่เน้นตัวอักษรสีแดง) นอกจากประเด็นเรื่อง สัมผัสเลือน แล้ว วาสนา บุญสม ยังได้เขียนถึงเรื่องการใช้คำในประเด็นอื่นๆ อีกหลายประเด็น เช่น ไม่ควรแต่งด้วยคำที่สลับตำแหน่งกัน ในการใช้คำบางครั้งจะมีการใช้กลุ่มคำซ้อนบางคำ หากสลับตำแหน่งของคำกันแล้ว ความหมายนั้นอาจจะเปลี่ยนไปทันที เช่น ย่อยยับ เขียนเป็น ยับย่อย แน่นหนา เขียนเป็น หนาแน่น แหลกเหลว เขียนเป็น เหลวแหลก ว้าวุ่น เขียนเป็น วุ่นว้า แม้ในกลุ่มคำซ้อนบางคำ อาจใช้สลับตำแหน่งกันได้ และความหมายไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนักก็ตาม เช่น เกี่ยวข้อง เขียนเป็น ข้องเกี่ยว ขมขื่น เขียนเป็น ขื่นขม วาสนา บุญสม แสดงความคิดเห็นไว้ว่า ไม่สนับสนุนให้เขียนโดยใช้คำเช่นนั้นเลย ดังจะยกตัวอย่างกลอนที่มีข้อบกพร่องของการใช้คำสลับตำแหน่งกัน ดังต่อไปนี้ ไม่ทะเลาเบาะแว้งแย่งชนะ ไม่เกะกะกวนยั่วให้หัวหมุน เพราะเรามีมารยาทชาติสกุล ไม่หันหุนหรือหยาบคายร้ายเกเร ปลูกความงามความดีทีละนิด ปลูกความคิดศรัทธามากกว่าเก่า ไม่แบ่งแยกดึงดื้อถือเขาเรา จิตหมองเศร้าจักจางจนห่างไกล ความรักอาจทำให้คนใจกล้า ความเหว่ว้าทำให้ใจคนเหงา ความอ่อนโลกทำให้คนใจเบา คนอย่างเรามีรักได้คงไม่เลว ไม่รู้จักหาความหวานในการอยู่ ที่ไม่รู้รักชื่นหรือขื่นขม มีแต่มาดปรารถนาเต็มอารมณ์ ที่งายงมในหมู่ของผู้ดี คำส่งในบทหลังไม่ควรเป็นคำสัมผัสระกับคำส่งในบทก่อนหน้า ไม่ควรใช้คำส่งด้วยสระเสียงเดียวกัน(สัมผัสสระ) ในสองบทติดต่อกัน เพราะจะทำให้กลอนขาดความไพเราะ เนื่องจากมีเสียงสระเดียวกันเฟ้อจนเกินไป เพราะการทิ้งคำส่งด้วยสระใดนั้นอย่าลืมว่าต้องมีการส่งสัมผัสต่อไปยังกลอนบทต่อไปอีกถึง 3 ตำแหน่ง สังเกตตัวอย่างต่อไปนี้ บทแรกส่งด้วยเสียงสระ ไอ บทที่สองต่อมาก็จบลงที่เสียงสระ ไอ เช่นกัน ทำให้มีการส่งด้วยเสียงสระ ไอ สองบทติดต่อกัน มรดกของพ่อ ฤดูดกลูกหมากหลากลูกไม้ ร่องเรือกสวนเรากว้างใหญ่ไร่ยังเหลือ ต้นยังยืนรากยังซึมซับเลือดเนื้อ ครอบป่าไร่คลุมใต้เหนือคู่ครัวไฟ จะค่นแค้นไม่อับจนคนรักสวน ปู่เจ้าพรวนทรัพย์ในดินสินในไร่ ไม่คิดพรากแผ่นดินตนทอดกลไก ปู่สิ้นใจยังผักซากเลี้ยงรากไม้ มรดกตกถึงพ่อต่อคือสวน มือพ่อพรวนมาแต่หนุ่มจนคุ้มใหญ่ ให้ใจพ่อมิเต้นก่อนเป็นไร ค่อยพรากไปขายสร้างสนามกอล์ฟ คำที่สามของกลอนบทต่อมาไม่ควรสัมผัสสระกับคำส่งในบทก่อน ผู้ที่รักจะแต่งกลอนให้ไพเราะ ไม่ควรมองข้ามสิ่งเล็กๆน้อยๆนี้ เพราะการทำเช่นนี้จะทำให้กลอนมีจุดรับส่งสัมผัสที่ดาษดื่น จนดูรุงรัง แม้จะไม่ผิดทางฉันทลักษณ์ก็ตาม ดังตัวอย่างกลอนต่อไปนี้ เหลือไว้แด่ความทรงจำ หนุ่มเล้งหางานทำไม่ลำบาก ขยันมากหนักเอาเบาสู้ไหว เป็นจับกังอยู่ที่โรงสีไฟ เถ้าแก่เนี้ยรักใคร่ในผลงาน รัฐบาลกำหนดออกกฎหมาย นโยบายรักชาติอย่างอาจหาญ แยกจีนไทยให้เห็นเป็นทางการ ทุกทุกย่านถือคตินิยมไทย
18 พฤศจิกายน 2547 21:09 น. - comment id 8571
อืมมม
18 พฤศจิกายน 2547 21:13 น. - comment id 8572
เจ้าค่ะ คุณครูเมก ซอนย่าเป็นนักเรียนเกเร ฟัง ม่ะรู้เรื่องอ่ะค่ะ
18 พฤศจิกายน 2547 21:33 น. - comment id 8573
พี่เมกเจ้าค่ะ ทรายขออนุญาติเอากลอนที่พี่เมกเม้นให้ทราย ลงในหน้ากลอนขอลทรายนะเจ้าค่ะ แบบว่าชอบอ่ะ เลยแต่งต่อจากของพี่เมกอ่ะเจ้าค่ะ ๑^_____^๑ =>> พี่เมก คืนเดือนเพ็ญเห็นจันทร์สุกสกา หากแต่ฟ้าไร้ซึ่งแสงดาวฉาย จันทร์ดวงเดียวเปล่าเปลี่ยวแสนเดียวดาย เพราะข้างกายไร้สิ้นดาวสักดวง คืนเดือนมืดจืดจางพรางนภา หากแต่ฟ้าเสียสิ้นเงาจันทรา ดาวดวงน้อยรอคอยละห้อยหา ปรารถนาเพียงคู่อยู่เคียงจันทร์ ราตรีกาลยาวนานปานชีวิต คืนมืดมิดอาจต้องระทมอยู่ หากสักวันจันทร์จักต้องการคู่ ขอให้รู้ดาวดวงนี้จะเคียงเธอ =>> เม็ดทราย จันทร์มีเพียงหนึ่งเดียวบนฟากฟ้า ดวงดารามีนับร้อยนับพันหมื่น ต่างหมายปองดวงจันทร์มาชูชื่น ดาวนับหมื่นแย่งเพียงหนึ่งเดียวจันทร์ ฉันก็เป็นเพียงดาวดวงเล็กๆ ที่แอบเก็บความรู้สึกเก็บความฝัน อยากจะเข้าไปใกล้ชิดสนิทจันทร์ เป็นเพียงฝันเท่านั้นฉันรู้ดี . . วันใดที่ฟ้ามีจันทร์ ดาวอย่างฉันก็สว่างจ้า . . . . เพราะได้แสงจากจันทรา สาดส่องมาประดับใจ . . . . วันใดที่เมฆมาก จันทร์ก็ยากจะส่องแสง . . . . ดาวอย่างฉันก็อ่อนแรง เพราะขาดแสงจากดวงจันทร์ . . ๑^_____^๑
18 พฤศจิกายน 2547 21:52 น. - comment id 8574
ดีเหมือนกัน พ่อขุนแผน..ขยันอ่านและศึกษานี่เอง การเขียนกลอนแปดของเมกกะ จึงไปได้เร็ว..แต่เราขอให้เน้นทางด้านกลอนแปดก่อน.. เนื่องจากเขียนน่าจะง่ายกว่าอย่างอื่น เยาวชนจะได้ให้ความสนใจมากๆ..นอกจากท่านสุนทรภู่ อีกท่านหนึ่ง ที่น่าหาตัวอย่างมาศึกษา คืองานเขียนของคุณเนาวรัตน์..เอาให้เป็นแนวเดียวกันก่อน เดี๋ยวเด็กๆงง ทั้งนี้ยกงานเขียนเช่นของคุณอังคาร ไว้ก่อน ..กระทั่งหลายๆคน มีความเข้าใจงานแนวท่านสุนทรภู่แล้ว จึงเอาแนวที่ฉีกออกไปมาร่วมศึกษา... ขอบใจพ่อขุนแผน..เราอายุมากแล้ว ก็เหนื่อยจริงๆแหละ...สวัสดีนะ..
18 พฤศจิกายน 2547 23:54 น. - comment id 8589
น่าสนใจ ขอลอกไปอ่านนะครับท่านเมก
19 พฤศจิกายน 2547 05:40 น. - comment id 8592
ขอบคุณค่ะ ^_^ ยาวมาก ขอหนูหิ่ง ฯ เซฟออกไปอ่านนะคะ ขอฝากตัวร่วมหัดเขียนกลอนด้วยคนค่ะ เมี้ยว ๆ ๆ ๆ
19 พฤศจิกายน 2547 06:57 น. - comment id 8593
..เรน .. ขอบคุณ ..พี่เมกมากเล้ยคะ .. ..เรน เป็น ..ลูกศิษย์ ที่ คุณลุง . หนักใจด้วยดิคะ .. ..เรน ..ขอปริ้น..ไปอ่าน .. นะคะ..
19 พฤศจิกายน 2547 09:57 น. - comment id 8595
เข้ามาอ่านคราวนี้ได้ความรู้เพียบเลย... เนื้อหาเพียบ แน่น มาก... ขอบคุณที่ช่วยหามาให้อ่านครับ
19 พฤศจิกายน 2547 10:09 น. - comment id 8596
อิอิ ผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่อยู่นี่เอง ดีจริงๆได้ความรู้เพิ่มเติมเยอะเลยค่ะ ขอบคุณมากนะคะ....บายค่ะ
19 พฤศจิกายน 2547 10:37 น. - comment id 8598
เมกกะ เมื่อเช้าตอนตื่นมาอ่านพี่เข้ามาตอบวา เมกกะ แม้พี่จะมีตำราพวกนี้เยอะแยะไปหมด แต่งานนี้ ของเมกกะ ถือว่ามีคุณค่า ขอบใจมากค่ะที่ทำให้พวกเราทุกคน แล้วมันไปไหนก็ไม่ทราบ ค่ะ คลิกมาอ่านอีกรอบ เลยงงที่ไม่เห็นคำตอบตัวเอง ตอบอีกทีแล้วกันนคะ
19 พฤศจิกายน 2547 10:41 น. - comment id 8599
ถ้าทำเองไม่เป็น ก็ไม่มีภูมิที่จะไปสอนคนอื่น เรื่องนิยาม แม่ปู-ลูกปู ยังคงเป็นอมตะเสมอ
19 พฤศจิกายน 2547 12:27 น. - comment id 8603
ดีครับ..มีผู้อาวุโส หลายๆคน..จะได้ช่วยกันเป็นกำลังใจให้เด็กๆและเพื่อน..ในการเขียน.. ชราเช่นกัน ว่างๆคงต้องชวนมาดื่มชาเขียวสักจอก สวัสดีนะครับ คุณผู้เฒ่า..
23 พฤศจิกายน 2547 16:30 น. - comment id 8669
มะกรูด........มาช้าจริงๆ เนี๊ย......... ขอบคุณค่ะ............ที่คุณครูบอกตอนนั้นก็หา ที่พี่เมกมาลงไว้...................เพิ่งมาเจอตอนนี้ ^__^
26 พฤศจิกายน 2547 14:12 น. - comment id 8682
เข้ามาหาความรู้ค่ะ อิ อิ.. แต่คงไม่มีเวลาศึกษามากนัก แต่จะพยายามค่ะ อิ อิ..
16 มิถุนายน 2549 21:05 น. - comment id 14609
ได้ความรู้มากกับเว็บนี้ ช่วยทำการบ้านด้วย
4 กุมภาพันธ์ 2550 03:45 น. - comment id 16652
หลักการของปรัชญา การเขียน การบริหารจัดการ การมีชีวิต การทำงาน จะเป็นลักษณะของสหวิทยาการ สหวิทยาการเทคนิค สหวิชาการ อภิมรรควิธี อภิทิศทาง อภิเป้าหมาย อภิตัวตน อภิบริหารจัดการ ในการประกอบร่าง การประสาน จึงต้องเน้นจุดสนใจไปที่กาเชื่อม จึงจะเป็นลักษณะของระบบที่ซ้อน(complex system) หรือกึ่งระบบ(semi system) แต่รวมๆมันก็คือวิธีการให้คุณค่าแก่ความสังเคราะห์และมองโลกเชิงสังเคราะห์