มหากาพย์ปล้นคนไทย อย่าให้ความไม่รู้ ความไม่เข้าใจ มาปล้นเกี่ยวกับความรู้ และ ความจริงไปจากเรา
ตามที่เพจบางเพจได้กล่าวไว้ คงไม่พ้นเรื่องเดิมๆ นะครับ คือปิโตรเคมีใช้ในราคาถูก และถูกอุดหนุนโดยกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง แถมยังหาว่าปิโตรเคมีแย่งจากภาคครัวเรือนไปใช้อีก
ก่อนอื่นต้องขอเกริ่นถึงหน้าที่ของโรงแยกก๊าซก่อนจะดีกว่า
วัตถุประสงค์ในการก่อสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติแต่ละหน่วย
โรงแยก ก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 1
เพื่อผลิตวัตถุตั้งต้นให้แก่อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และผลิตก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือก๊าซหุงต้มสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงในครัวเรือน
โรงแยก ก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 2, 3 และ 4
เพื่อขยายตัวตามความต้องการใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลวก๊าซหุงต้มที่เพิ่มสูงขึ้น
โรงแยก ก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 5
เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่มีความต้องการก๊าซอีเทน ก๊าซโพรเพน และก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือก๊าซหุงต้มเป็นวัตถุดิบตั้งต้น พร้อมทั้งเสริมสร้างความมั่นคงในด้านการผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์
http://vcharkarn.com/varticle/42530
ดังที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าโรงแยกก๊าซสร้างมาเพื่ออะไร และมันก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจขนาดไหน เรามาเข้าเรื่องของเพจนี้ที่ได้กล่าวอ้างมาละกัน เนื่องจากทุกอย่างมันเชื่อมกันหมดเลยต้องขอแยกเป็นเรื่องนะ
แต่ก่อนที่จะไปพูดถึงที่มาของราคาก๊าซ LPG นั้นเราก็ต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนว่าก๊าซ LPG ที่เราใช้กันอยู่ในประเทศนั้นมาจากไหนบ้าง เพราะราคาก๊าซ LPG จากแต่ละที่นั้นแตกต่างกัน สำหรับในประเทศไทยก๊าซ LPG มาจากสามแหล่งหลักๆ คือ
1) ได้มาจากโรงกลั่นน้ำมัน ซึ่งก๊าซ LPG นี้ก็ถือเป็นผลผลิตที่ได้ออกมาจากกระบวนการกลั่นน้ำมันนั่นเอง
2) ได้มาจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ โดยภายหลังมีการขุดค้นพบก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ซึ่งมีคุณสมบัติที่สามารถนำไปแยกองค์ประกอบที่มีความชื้นสูง หรือที่มีสภาพเป็นของเหลวออกมาสร้างมูลค่าเพิ่มได้ แทนที่เราจะนำก๊าซธรรมชาติที่ขุดได้ไปเผาเป็นเชื้อเพลิงทั้งหมดนั้น เราก็จับมันมาทำการแยกส่วนที่สามารถนำไปสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างอื่นได้อีก ซึ่งก๊าซ LPG ก็ถือเป็นหนึ่งที่ได้มาจากกระบวนการแยกก๊าซธรรมชาตินี้ ก๊าซ LPG ที่ได้ก็สามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเพื่อใช้ในการผลิตสิ่งต่างๆ เช่น เมล็ดพลาสติก เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ก๊าซ LPG ที่ได้นี้ก็สามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงได้เช่นกัน โดยจะเห็นว่าปัจจุบันนั้นมีการนำก๊าซ LPG ไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในภาคหุงต้ม ภาคการขนส่ง และภาคอุตสาหกรรม
3) ก๊าซ LPG ที่ได้มาจากการนำเข้า ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันนั้นการผลิตก๊าซ LPG ทั้งจากโรงกลั่นน้ำมันและโรงแยกก๊าซธรรมชาตินั้นไม่เพียงพอต่อปริมาณการใช้ในประเทศ ทำให้ปัจจุบันเราต้องนำเข้าก๊าซ LPG อยู่ประมาณ 181,000 ตันต่อเดือน (ข้อมูล ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2556 จากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน)
เมื่อทราบแหล่งที่มาแล้ว ก็ต้องมาดูกันว่าต้นทุนของก๊าซ LPG ที่มาจากแต่ละแหล่งนั้นเป็นอย่างไร โดยในส่วนของต้นทุนก๊าซ LPG ที่มาจากโรงกลั่นน้ำมันนั้น เราก็ต้องมาดูก่อนว่าเราได้ก๊าซ LPG ที่ได้มานั้นมาได้อย่างไร ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าโรงกลั่นน้ำมันนั้นใช้น้ำมันดิบเป็นวัตถุดิบในการผลิต ซึ่งที่เราต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่และก็เป็นการนำเข้าในราคาที่ซื้อขายกันในตลาด ขณะเดียวกันผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่ผลิตได้จากโรงกลั่นน้ำมันนั้น ก็จะต้องมีการขายในราคาตลาดด้วยเช่นกัน ดังนั้นราคาของก๊าซ LPG ที่ผลิตได้จากโรงกลั่นนี้จึงต้องสะท้อนถึงราคาตลาดที่มีการซื้อขายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมโดยทั่วไป ซึ่งก็จะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตามราคาตลาด แต่ปัจจุบันรัฐก็ไม่ได้ให้โรงกลั่นขายก๊าซ LPG ในราคาตามที่ควรจะได้ โดยรัฐได้มีการกำหนดราคาก๊าซ LPG ให้กับโรงกลั่นน้ำมันโดยวิธีการใช้ราคาเฉลี่ยที่คำนวณจากราคาตลาด (ราคา CP) ในอัตราส่วนร้อยละ 76 และราคาที่รัฐตั้งเพดานไว้ในประเทศที่ 333 ดอลลาร์ต่อตันในอัตราส่วนร้อยละ 24 ซึ่งก็จะทำให้ราคาก๊าซ LPG จากโรงกลั่นนั้นต่ำกว่าราคาตลาดลงมาในระดับหนึ่ง
สำหรับก๊าซ LPG ที่ผลิตมาจากโรงแยกก๊าซธรรมชาตินั้น จะต่างกับก๊าซ LPG ที่มาจากโรงกลั่นน้ำมันคือก๊าซ LPG จากโรงแยกก๊าซธรรมชาตินั้นจะใช้ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยเป็นวัตถุดิบในการผลิต ดังนั้น ต้นทุนการผลิตก๊าซ LPG จึงมาจากต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติที่ได้จากอ่าวไทยบวกกับต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ซึ่งจากการศึกษาโดยทางกระทรวงพลังงานนั้นทำให้ทราบว่าราคาก๊าซ LPG ที่ผลิตจากโรงแยกก๊าซธรรมชาตินั้นจะอยู่ที่ประมาณ 550 ดอลลาร์ต่อตัน ซึ่งก็ยังสูงกว่าราคาที่รัฐกำหนดไว้ที่ 333 ดอลลาร์ต่อตัน และส่วนต่างตรงนี้โรงแยกก๊าซธรรมชาตินั้นก็เป็นผู้รับภาระ โดยรัฐไม่ได้เข้ามาอุดหนุนแต่ประการใด
สำหรับการนำเข้าก๊าซ LPG มาใช้ในประเทศนั้นก็ตรงไปตรงมาคือเป็นราคาที่เราซื้อมาในราคาตลาดโลกบวกกับต้นทุนการนำเข้า ซึ่งปัจจุบัน (ราคา ณ เดือนกรกฎาคม 2556) ราคาที่ขายอยู่ในตลาดโลกที่ไม่รวมค่าใช้จ่ายในการนำเข้าอยู่ที่ 793 ดอลลาร์ต่อตัน ถ้ารวมกับค่าใช้จ่ายในการนำเข้าซึ่งจะเปลี่ยนแปลงไปทุกๆเดือนโดยขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัย เช่น อัตราแลกเปลี่ยน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ก็จะทำให้ต้นทุนการนำเข้าก๊าซ LPG ขยับไปอยู่ที่ประมาณ 850 ดอลลาร์ต่อตัน เมื่อเทียบกับเพดานราคาที่ 333 ดอลลาร์ต่อตัน มีส่วนต่างถึง 517 ดอลลาร์ต่อตัน ซึ่งรัฐก็ได้นำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปชดเชยเพื่อทำให้ราคาก๊าซ LPG ในประเทศนั้นอยู่ในระดับเดิม (ราคา CP นั้นจะขึ้นอยู่กับฤดูกาล ช่วงนี้เป็นช่วงฤดูร้อนมี demand น้อยราคาจะต่ำกว่า $800/MT หน้าหนาวจะราคาแพงมากกว่า $1000/MT โดยทั่วไปราคาเฉลี่ยจะอยู่ราวๆ $900/MT รวมค่าขนส่งในช่วงรอบปีที่ผ่านมา)
คราวนี้ก็มาถึงต้นทุนของก๊าซ LPG ที่มาจากแหล่งต่างๆ ที่ ราคา LPG ที่มาจากโรงกลั่นน้ำมันนั้นก็จะเป็นสูตรที่มีการเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างราคาตลาด (หรือที่เรียกว่า Contract Price : CP) ในสัดส่วนร้อยละ 76 และราคาเพดานตามที่รัฐกำหนดในสัดส่วนร้อยละ 24
ซึ่งหากลองพิจารณาจากสูตรนี้ก็จะเห็นว่าราคาเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของก๊าซ LPG ที่มาจากโรงกลั่นนี้ยังไงก็สูงกว่าเพดานราคาที่รัฐเป็นผู้กำหนด ก็เนื่องมาจากสัดส่วนของราคาตลาด (ที่แพงกว่าราคาที่รัฐกำหนด) ที่เข้ามาเฉลี่ยในสูตรนั้นมีมากกว่า ดังนั้น ผู้ผลิตหรือโรงกลั่นที่เห็นว่าต้นทุนราคาก๊าซ LPG ของตนเองสูงกว่าเพดานราคา ณ โรงกลั่นที่รัฐกำหนดก็ไม่อยากที่จะผลิตหรือนำออกมาขาย เพราะว่าขายไปก็ขาดทุน แถมราคาก็ดันไปต่ำกว่าราคาน้ำมันเตาซะอีก ก็เลยนำก๊าซ LPG ที่ผลิตได้มาใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงกลั่นแทนดีกว่า ซึ่งก็ทำให้ก๊าซ LPG จากโรงกลั่นที่ออกมาสู่ตลาดนั้นลดลง ส่งผลให้มีการนำเข้าก๊าซ LPG มากขึ้น
ขณะที่โรงแยกก๊าซธรรมชาติเองนั้น ต้นทุนก๊าซ LPG นั้นอยู่ที่ประมาณ 550 ดอลลาร์ต่อตัน โดยวัตถุดิบในการผลิตนั้นก็มาจากก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ซึ่งรัฐเองนั้นก็ไม่ได้เข้าไปชดเชยในส่วนนี้ และผลต่างของต้นทุนการผลิตที่ 550 ดอลลาร์ต่อตันกับและราคา ณ โรงกลั่นที่รัฐกำหนดไว้ที่ 333 ดอลลาร์ต่อตันนั้น ทางผู้ประกอบการโรงแยกก๊าซธรรมชาติเป็นผู้รับภาระไป (ซึ่ง [b]ปตท ทรราชน้ำมัน[/b] เป็นผู้รับภาระอุดหนุนราคาก๊าซแอลพีจีจากโรงแยกก๊าซให้ประชาชนทั้งหมด)
สรุปคร่าวๆคือราคา LPG ที่ออกมาจากโรงกลั่นภายในประเทศนั้นต้นทุนสูงกว่าเพดานราคาที่รัฐกำหนด ทำให้ผู้ผลิตหรือโรงกลั่นนั้นเห็นต้นทุนราคาก๊าซ LPG ของตนสูงกว่าเพดานราคา ทำให้ไม่อยากจะนำออกมาขาย เพราะถ้าขายไปก็ขาดทุนแถมราคายังต่ำกว่าราคาน้ำมันเตาอีก ผู้ผลิตเลยหันเอาก๊าซ LPG ไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงกลั่น ทำให้รัฐต้องนำก๊าซ LPG เพิ่มมากขึ้น นี่เป็นเหตุผลที่ทำไมก๊าซ LPG ต้องขึ้นราคา แล้วจริงๆแล้ว LPG เอื้อกลุ่มปิโตรเคมีจริงหรือไม่
นี่เป็นเพียงเนื้อหาเพียงบางส่วนในการแฉกลโกงพลังงานเท่านั้น คำตอบที่จะไขข้อข้องใจทุกคนว่า แล้วสรุปว่าปตทคือ ทรราชน้ำมัน จริงหรือไม่ ติดตามต่อได้ที่ http://www.xn--72caab2fl6azbbby8lpav6ezjxc.com/
หลายๆคนสงสัยว่า ไทยผลิตก๊าซได้อันดับที่ 23 ของโลกอ้างอิงจาก Energy Information Administration ของอเมริกา แต่อ้างว่านำเข้าก๊าซในราคาสูง
แม้ว่าประเทศไทยสามารถผลิตก๊าซฯ ได้เป็นอันดับที่ 24 ของโลกตามข้อมูลของ EIAhttp://www.eia.gov/countries แต่ทราบหรือไม่ว่าเราสามารถผลิตก๊าซฯ ได้เพียง 1.1% ของการผลิตก๊าซฯทั่วโลกเท่านั้น ในขณะที่อเมริกา รัสเซีย ผลิตได้ถึง 19.3% และ 18.4% เพียงแค่ 2 ประเทศ รวมกันเกือบครึ่งหนึ่งของโลก แล้วจะเรียกว่าเราผลิตก๊าซฯ ได้เยอะได้อย่างไร ไม่เชื่อลองเข้าไปดูใน www.bp.com/statisticalreview
นอกจากนั้นจาก website EIA เช่นกันที่บอกว่า ในขณะที่เราผลิตก๊าซฯ ได้เป็นอันดับที่ 24 ของโลกแต่เรามีปริมาณการใช้ก๊าซฯสูงเป็นอันดับ 20 ของโลก และเป็นผู้นำเข้าอันดับที่ 21 ของโลกเลยที่เดียว
ปตท จะปล้นเงียบ ได้อย่างไร ในเมื่อจากข้อมูลของ สนพ. ในปี 2554 ประเทศไทยสามารถผลิตก๊าซฯ ได้เพียง 3,581 MMSCFD แต่เรามีปริมาณการใช้ก๊าซฯ ถึง 4,143 MMSCFD พูดง่ายๆก็คือ เราใช้มากกว่าเราผลิตได้ เพราะอย่างนี้เราจึงต้องนำเข้าก๊าซฯจากต่างประเทศ จำนวน 928 MMSCFD ถึงจะเพียงพอกับความต้องการใช้ของเรา
ข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งก็คือเราต้องนำเข้าก๊าซฯจาก พม่าตั้งแต่ปี 2541 และเพราะความต้องการใช้พลังงานของเราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถึงตอนนี้ก๊าซฯ จากประเทศเพื่อนบ้านก็ยังไม่พอ ดังนั้นในปี 2554 เราจึงต้องนำเข้าก๊าซฯ ในรูปของของเหลว หรือ LNG (Liquefied Natural Gas) ที่ต้องผ่านการควบแน่นให้เป็นของเหลว และขนมาไกลจากตะวันออกกลางทำให้ก๊าซฯมีราคาแพงนั่นเอง
Source: http://www.eia.gov/countries/country-data.cfm?fips=TH&trk=p1
เว็บไซต์ของอเมริกาแจ้งว่าประเทศไทยมีก๊าซเป็นอันดับสองของโลก แต่ทำไมคนไทยยังจนเหมือนเดิมหรืออาจจะมากกว่าเดิม
เป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อนอย่างมากที่บอกว่าประเทศไทยมีก๊าซฯ เป็นอันดับสองของโลก เพราะจากข้อมูลของ EIA เช่นกันที่พบว่าประเทศไทยมีปริมาณสำรองก๊าซฯที่พิสูจน์แล้วเป็นอันดับที่ 36 ของโลก โดยมีปริมาณสำรองประมาณ 12 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ซึ่งคิดเป็นปริมาณสำรอง 0.17% ของโลกเท่านั้น อย่างนี้เราคงพูดไม่ได้ว่าเรามีใช้ก๊าซฯเหลือเฟือ
ไทยส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปปี 2551 มูลค่า 7,913 ล้านเหรียญ X 30 = ประมาณ 240,000 ล้านบาท นี่ใช่ไหมที่บอกว่าปตท ชาติชั่ว
หากเราดูแต่ข้อมูลการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป เราคงจะหลงนึกไปว่าประเทศไทยเป็นเศรษฐีน้ำมัน มีรายได้เป็นแสนล้านจากการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป แต่ความจริงก็คือ รายได้นั้นต้องต้องหักต้นทุนของการผลิตซึ่งส่วนใหญ่คือน้ำมันดิบ ที่เราต้องนำเข้ามาเกือบทั้งหมด เพราะประเทศไทยไม่สามารถผลิตน้ำมันดิบได้เพียงพอต่อความต้องการใช้ ดังนั้นเราต้องนำเข้าน้ำมันดิบทั้งจากแหล่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ตะวันออกกลาง ตะวันออกไกล และแหล่งอื่นๆ กว่า 85% ของการใช้ โดยอีก 15% เราใช้น้ำมันดิบที่ผลิตได้จากแหล่งในประเทศ เมื่อหักลบต้นทุนจากน้ำมันดิบที่เราต้องนำเข้าแล้ว รายได้ของประเทศไทยจะได้เพียงค่าการกลั่นซึ่งประมาณลิตรละบาทกว่าๆเท่านั้น ซึ่งในปี 2553 เราส่งออกประมาณ 15,710 ล้านลิตร หรือคิดเป็นเพียง 16,000 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งรายได้ดังกล่าวนี้ยังไม่ใช่กำไรสุทธิของการกลั่น เพราะยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายในการลงทุน และค่าใช้จ่ายอื่นที่เกิดขึ้นจากการกลั่นเช่น ค่าเชื้อเพลิง ค่าดำเนินงาน และค่าดอกเบี้ย เป็นต้น
น้ำมันในอ่าวไทยเป็นเกรดที่แพงที่สุดในโลก เบา กลั่นง่าย มลพิษต่ำ เป็นที่ต้องการของประเทศที่พัฒนา เราส่งออกไปที่อเมริกา เมื่อส่งออกแล้ว พลังงานขาดแคลนก็ไปนำเข้ามาจากตะวันออกกลาง ซึ่งกำมะถันสูง พอต้องกำจัดกำมะถัน ก็ไปขอค่าใช้จ่ายจากกองทุนเชื้อเพลิง เท่ากับว่าเอาของดีส่งออก แต่เอาของเสียเข้ามาใช้ในประเทศ แล้วยังต้องเสียเงินเพิ่มอีก อย่างนี้มันต้องชำแหละ ปตท
น้ำมันในอ่าวไทยไม่ใช่เกรดที่แพงที่สุดในโลก
น้ำมันดิบที่ผลิตได้ในประเทศไทยนั้นเป็นน้ำมันดิบชนิดเบาและกำมะถันต่ำจริง แต่ไม่ใช่น้ำมันดิบเกรดที่ดีที่สุด อีกทั้งมีข้อจำกัดด้านคุณภาพด้านอื่นอาทิ น้ำมันดิบที่มีปริมาณสารปรอทสูงมาก ซึ่งเป็นคุณสมบัติเฉพาะของน้ำมันดิบในอ่าวไทย นอกจากนั้นยัง มีคุณสมบัติ Pour Point สูง ซึ่งเป็นอุปสรรคในการบริหารจัดการด้านขนส่งและการจัดเก็บ จากคุณสมบัติดังกล่าวจึงไม่เป็นที่ต้องการของตลาด
เราส่งออกไปที่อเมริกาเพียงบางส่วน
น้ำมันดิบที่ส่งออก ณ ปัจจุบัน ผู้ผลิตเป็นผู้ส่งออกโดยตรงปริมาณ ประมาณ 30,000 บาร์เรลต่อวัน จากปริมาณการผลิตกว่า 150,000 บาร์เรลต่อวัน โดยการส่งออกดังกล่าวเป็นการส่งออกน้ำมันดิบที่มีคุณสมบัติไม่เหมาะกับความต้องการในประเทศ เนื่องจากน้ำมันดิบมีสาร Organic chloride สูงทำให้โรงกลั่นในประเทศไม่สามารถนำเข้ากลั่นทั้งหมดได้
เพราะเราขาดแคลน จึงต้องนำเข้ามาจากตะวันออกกลาง หรือเป็นขบวนการปตท ปล้นเงียบ
กำลังการผลิตของน้ำมันดิบในประเทศ (Domestic Crude) ของปี 2553 นั้นคิดเป็นเพียง 16% ของความต้องการใช้น้ำมันดิบของประเทศ ดังนั้นประเทศไทยต้องนำเข้าน้ำมันดิบอีกว่า 800,000 บาร์เรลต่อวัน โดยส่วนใหญ่จะเป็นการนำเข้าน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางเนื่องจากเป็นแหล่งผลิตขนาดใหญ่ ประกอบกับคุณสมบัติที่สามารถผลิตน้ำมันดีเซลได้มาก (ซึ่งเป็นความต้องการหลักของประเทศ) อีกทั้งยังคงมีราคาที่ถูกกว่าน้ำมันดิบจากภูมิภาคอื่น
จริงๆแล้ว จากข้อมูลข้างต้น เราก็ทราบถึงเหตุและผลที่ชี้แจงได้ว่าทำไมเราต้องนำเข้าก๊าซฯ ก็เพราะว่าปริมาณที่ผลิตได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชากรในประเทศทำให้ต้องนำเข้ามาจากประเทศอื่น หยุดทวงคืน ปตท แล้วมาร่วมมือกันใช้พลังงานอย่างประหยัดดีกว่า
จากหัวข้อที่ตั้ง คือมีข้อสงสัยในจุดยืนของคนที่อยากจะทวงคืน ปตท ว่า คุณจะทวงคืนมาจากใคร? ก็ในเมื่อตอนนี้กระทรวงการคลัง (รัฐบาล) เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด?
แล้วถ้าสมมติว่าทวงคืนได้สำเร็จเสร็จทุกกระบวนการ ปตทจะตกไปอยู่ที่ใคร? เป็นส่วนกลางให้ประชาชนบริหารกันเองเหรอ? ที่บอกว่าทวงคืน ปตท นี่คือทวงคืน ปตท จากรัฐหรือว่าทวงคืน ปตท จาก ปตท? ที่ถามว่า ทำไมถึงต้องทวงคืนจากรัฐล่ะ ก็ตารางรายชื่อผู้ถือหุ้นก็มีแสดงอยู่ให้เห็นอยู่โต้งๆ ว่ากระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้น 51% แล้วถ้าจะบอกว่า ปตทนั่นแหละเป็นสาเหตุที่ทำให้น้ำมันแพง เรามาดูตารางโครงสร้างราคาน้ำมัน จากhttp://www.iwebgas.com/oil/oil.html กัน ว่าที่แพง แพงเพราะอะไรบ้าง
จากรูปตารางโครงสร้างน้ำมัน เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 56 จะเห็นได้ว่ามีการบวกเพิ่มเยอะแยะมาก และในกรอบสีแดงนั้น คือที่รัฐบาลบวกเพิ่มทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นภาษีสรรพสามิต กองทุนน้ำมัน กองทุนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ภาษีเทศบาล VAT ราคาหน้าโรงกลั่นจริงๆ แค่ 17-25 บาท (เชื้อเพลิงที่ผลิตได้) หลายคนสงสัยอีกแหละ อ้าว! แล้วไอ้ราคาหน้าโรงกลั่นเนี่ยมาจากไหน ในเมื่อน้ำมันก็ขุดขึ้นมาจากในอ่าวไทย หรือในหลายๆแหล่งของประเทศไทย คือตรงนี้ก็ยังไม่แน่ชัดเหมือนกันว่า ราคาหน้าโรงกลั่นจริงๆแล้วเท่าไหร่ และทำไมต้องอ้างอิงราคาน้ำมันจากสิงคโปร์ พอดีได้เจอกับคลิปที่ได้อธิบายเหตุผลนี้ไว้
จากที่ได้ดูคลิปแล้ว พบว่าเหตุผลที่โรงกลั่นต้องอ้างอิงราคาน้ำมันจากสิงคโปร์เพราะที่สิงคโปร์มีตัวแทนบริษัทน้ำมันรายใหญ่ของโลกตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นี่ และอีกเหตุผลหลายๆอย่างที่ทำให้ต้องใช้ราคาสิงคโปร์ จากในตารางโครงสร้างน้ำมันนั้น ถ้าตัดค่าใช้จ่ายที่รัฐเก็บไปทั้งหมดออก จะเหลือราคาน้ำมันแพงสุดที่29 บาท หรือถ้าเป็นดีเซลจะอยู่ที่ 24 บาทต่อลิตร ถ้าดูจากตาราง Marketing Margin หรือกำไรของปตท นั้นได้แค่ 2 บาทกว่าๆต่อ 1 ลิตร มีอีกหลายอย่างที่ตัวเจ้าของกระทู้ยังไม่ทราบแน่ชัด ที่เขียนมาคือความเข้าใจทั้งหมด อาจจะดูเป็นความรู้อันน้อยนิดของผู้ที่ศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง อีกประการหนึ่งก็คือ จากที่ได้อ่านบทความใน drama-addict.com ในเรื่องแอดมินของแฟนเพจทวงคืนพลังงานไทยในข้อมูลหลายอย่างที่ถูกกระหน่ำแชร์กันนั้นเป็นข้อมูลที่บิดเบือนหรือเปล่า? ทำไมถึงถามอย่างนี้น่ะเหรอ เพราะว่า ก็มีข้อเท็จจริงออกมาแย้งข้อมูลที่แฟนเพจทวงคืนพลังงานไทยนั้นว่าเป็นข้อมูลที่ผิด ซึ่งหมายความว่า คนที่เอามาลงแฟนเพจก็จงใจจะปลุกปั่นกระแสของปตท ใช่มั้ย?
สรุปว่า ถ้าสมมติว่า ข้อมูลของแฟนเพจที่เอามาแชร์ให้ปวงชนชาวไทยอ่านกันอย่างเมามันส์นั้น เป็นเพียงแค่ “ข้อมูลบิดเบือน” จนทำให้ผู้คนปักใจเกลียด ปตท โดยที่ ปตท อาจจะเป็นแพะรับบาปในเรื่องนี้ จะทำยังไงล่ะ? บางคนอาจจะสนุกที่ได้ด่าคนนั้นคนนี้ ให้ร้ายใส่ความคนอื่น แต่สุดท้ายความจริงก็คือความจริง ถึงแม้ว่า ปตท จะมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ยังคลุมเครือ ให้ข้อมูลไม่ชัดเจน แต่เราก็สามารถตรวจสอบหุ้น หรือราคาน้ำมัน หรือทุกอย่างเกี่ยวกับ ปตท ได้ไม่ใช่เหรอ? ประเด็นหลักที่ดิ้นกันอยู่ตอนนี้ เพราะแค่เรื่อง น้ำมันแพง ใช่ไหม?
ปตท. กับคำว่าเหลี่ยมทุน ทุนสามานย์ เป็นประโยคที่คุ้นตา คุ้นหูมากในยุคหลังจากการปล้นชาติ แปรรูป ปตท. ถึงอย่างนั้นแล้ว ยังไงอยากรบกวนอ่านกระทู้นี้ให้จบ และ ให้มองโดยอย่าเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล อยากให้คุณผู้อ่าน “เปิดใจ” ไม่ใช่ “ปักใจ” เชื่อแต่ข้อมูลในทางลบจากอดีต...การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ได้จัดตั้งเมื่อเดือนธันวาคม 2521 เพื่อเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติ โดยเป็นการรวมกันขององค์การเชื้อเพลิงและองค์การก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดวิกฤตขาดแคลนน้ำมันทั่วโลก และเมื่อเกิดวิกฤตอีกครั้งในปี 2533 อิรักบุกยึดคูเวต เกิดการกักตุนน้ำมันทำให้ขาดแคลน รัฐบาลตอนนั้นตกอยู่ในสถานการณ์ลำบากมาก ประเทศไทยขาดแคลนพลังงานและแหล่งในการจัดการ ทำให้ต้องมีการส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในกิจการน้ำมันมากขึ้น จนทำให้เกิดผู้ค้าน้ำมันรายใหม่หลายราย การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยต้องทำหน้าที่เป็น "ผู้คานอำนาจ" พร้อมกับมีความจำเป็นต้องพลิกบทบาทของตนเองไปกับการแข่งขันในเชิงธุรกิจไปด้วย ซึ่งเป็นหลักการเบื้องต้นของการพัฒนารัฐวิสาหกิจที่ต้องสร้างบรรยากาศในการแข่งขัน และเป็นจุดเริ่มต้นที่เสริมสร้างศักยภาพให้กับ ปตท. มาตั้งแต่เวลานั้น ซึ่งแตกต่างจากรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ที่มักจะเป็นการผูกขาด ปตท.ต้องอยู่ท่ามกลางการโอบล้อมของบริษัทน้ำมันต่างชาติที่ยึดครองประเทศอยู่ ทั้งที่ตนเองมีขนาดเล็กจิ๋วมีทรัพย์สินเพียง 400 ล้านบาท ทำให้ต้องมีการปรับบทบาทเชิงพาณิชย์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน แล้วกระบวนการแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ก็ถูกจุดชนวนขึ้น ณ ตรงนั้น
การเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ได้เป็นสิ่งเร้ากระตุ้นให้ ปตท. และบริษัทในเครือต้องเร่งปรับโครงสร้างขนานใหญ่ ต้องขวนขวายหาเงินไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางพลังงาน ในภาวะเงินหน้าตักมีข้อจำกัด ซึ่งเป็นการเดิมพันที่สำคัญต่ออนาคตความมั่นคงทางพลังงานของชาติที่มีบรรษัทน้ำมันข้ามชาติที่อยู่ในสภาพได้เปรียบพร้อมยึดธุรกิจนี้ของประเทศเรา จากวิกฤตครั้งนั้น การลอยตัวค่าเงินบาททำให้หนี้สินต่อทุนของบริษัทพุ่งเป็น 5 ต่อ 1 ทำให้ยากที่จะกู้เงินเพิ่มและภาระดอกเบี้ยที่ต้องชำระเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ปตท.ต้องเลือกวิธีการที่ยืนบนลำแข้งของตนเองด้วยการแปรรูปเข้าตลาดหลักทรัพย์ ระดมทุนจากทั้งในและต่างประเทศ กู้สถานการณ์เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานระยะยาว หรือขอเงินงบประมาณสนับสนุน กู้เงินให้รัฐค้ำประกัน จะเป็นการเพิ่มภาระทางการเงินให้ภาครัฐซึ่งมีปัญหาอยู่อย่างมาก
จากการแปรรูปเข้าตลาดหลักทรัพย์ ปตท. กลายมาเป็นบริษัทมหาชนที่คล่องตัว เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2544 ด้วยทุนจดทะเบียน 20,000 ล้านบาท และเข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เมื่อเดือนธันวาคม โดยยังมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือรายใหญ่เช่นเดิม ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็นยุทธวิธียอมเสียส่วนน้อย (กระจายหุ้นบางส่วน) เพื่อรักษาส่วนใหญ่ไว้ ทำให้อัตราหนี้สินต่อทุนของ ปตท. เหลือเพียง 2 ต่อ 1 และมีเงินสดที่สามารถเพิ่มทุนให้บริษัทในเครือที่ประสบปัญหาทางการเงินอย่างสาหัส เช่น ไทยออยล์ มีทุนจดทะเบียนเพียง 20 ล้านบาท แต่มีหนี้สินเพิ่มเป็นเฉียดแสนล้านบาท หรืออีกหลายๆโรงกลั่นในไทย แต่ ปตท. ที่มีกำลังเงินจากการเข้าตลาดหลักทรัพย์เข้ามาช่วยเพิ่มทุนให้
หากไม่ต่อสู้พัฒนามาจนถึงปัจจุบัน เราคงจะพบเจอแต่สถานีน้ำมันต่างชาติเรียงรายไปทุกถนน ปตท. กลายเป็นแหล่งใหญ่นำเงินรายได้ส่งรัฐ ตกปีละกว่าแสนล้านบาท ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทางด้านอุตสาหกรรมพลังงานต่างให้ความเห็นว่า การแปรรูปเป็นตัวแปรที่สำคัญที่สุดที่ได้ยกระดับ ปตท. ขึ้นมาเป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติที่ผู้ถือหุ้นกว่าร้อยละ 68 เป็นสายเลือดไทย และมีการประเมินกันว่าถ้าไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ปตท. วันนี้คงมีกำไรปีละ 30,000 - 40,000 ล้านบาท และคงไม่มีเงินพอจะไปซื้อบริษัทลูกต่างๆ ซึ่งคงตกไปเป็นของต่างชาติกันหมด ถ้าพิจารณาถึงแนวทางการพัฒนาพลังงานของประเทศอื่นๆ เช่น อินเดีย จีน รัสเซีย เวียดนาม ที่ประสบความสำเร็จในการต่อสู้กับบรรษัทน้ำมันข้ามชาติ ต่างพยายามให้การสนับสนุนและผลักดันบริษัทน้ำมันแห่งชาติของตนเองให้เข้าไปมีบทบาทในตลาดโลกด้วยการระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์เพื่อให้บริษัทมีขนาดใหญ่เพียงพอที่จะลงทุนไปกับโครงสร้างขนาดใหญ่ของอุตสาหกรรมพลังงานให้สามารถขับเคี่ยวในตลาดพลังงานโลกได้
การบริโภคพลังงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจจะเดินไปควบคู่กัน หากอนาคตอีก 50 ปีข้างหน้า เกิดสถานการณ์ขาดแคลนพลังงานไปทั่วโลก ทำให้เศรษฐกิจระส่ำระสาย คงจะมีการถามกันว่าที่ผ่านมา ปตท.ทำอะไรกันอยู่ ทำให้ ปตท. ได้วางงบประมาณลงทุนในปี 2551-2555 ไว้ 900,000 ล้านบาท และในปี 2555-2563 ต้องลงทุนถึง 4 ล้านล้านบาท ทั้งการสำรวจขุดเจาะหาแหล่งพลังงานสำรอง พลังงานทดแทน ซึ่งอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ปตท. ต้องออกไปกู้เงินจากต่างประเทศด้วยเครดิตของตนเอง โดยไม่ต้องหวังขอเงินจากรัฐบาล รัฐจะได้เอาไปช่วยเหลือและเยียวยาเศรษฐกิจทางด้านอื่นๆ จะไม่ดีกว่าหรือ
นอกจากนั้นทุกครั้งที่นำเข้าก๊าซแอลพีจี ปตท. จำเป็นต้องสำรองเงินล่วงหน้าส่วนต่างแทนรัฐบาลไปก่อน ในขณะที่รัฐบาลได้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายอื่นๆ ดำเนินการได้เช่นกัน แต่ไม่มีใครอยากเจ็บตัว ในฐานะที่เป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติที่ต้องหาทางแก้ไขให้ประเทศมีพลังงานใช้อย่างเพียงพอ ปตท.ก็ต้องเข้ามารับหน้าเสื่อให้ และเมื่อทาง กพช. มีมติเห็นชอบปรับราคาแอลพีจีเป็น 2 ราคา เพื่อชดเชยภาระการนำเข้าให้ ปตท. กลับมีการปลุกสาธารณชนให้งอแง เพราะคุ้นเคยกับราคาแอลพีจีที่ถูกบิดเบือนมาอย่างยาวนาน จึงทำให้โดนกร่นด่าถึงความเลวของ ปตทไปโดยปริยาย
การดำรงธุรกิจอยู่ได้ในโลกเสรีนิยมยุคใหม่ โดยเฉพาะธุรกิจพลังงานนอกจากมีทุนเพียงพอในการขยายและพัฒนาธุรกิจแล้ว อีกบทบาทหนึ่งที่ทำให้เกิดการพัฒนาและสร้างความเติบโตคือ การบริหารด้วยหลักธรรมาภิบาล และการที่บริษัทในกลุ่ม ปตท. ล้วนเป็นบริษัทมหาชน จะถูกตรวจสอบมากกว่าการเป็นรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากมีผู้ถือหุ้นเข้ามาเกี่ยวข้องทำให้ ปตท. ทั้งกลุ่มเป็นบริษัทที่มีดีกรีที่นักลงทุนให้การยอมรับกันมากที่สุดในตลาดหลักทรัพย์ พร้อมกับการคว้ารางวัลแห่งความสำเร็จในระดับประเทศและนานาชาติอย่างมากมาย ด้วยการที่เป็นบริษัทที่มีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและรับผิดชอบต่อสังคม
ปตท. เป็นหนึ่งในตัวอย่างของการพัฒนารัฐวิสาหกิจของไทย ผ่านการแปรรูปเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ กระแสบางส่วนยังตั้งข้อสังเกตว่า การขายหุ้น ปตท. ถือเป็นการเปิดประตูให้ทุนการเมืองเข้ามาฮุบกิจการของภาครัฐ แต่หากมองย้อนมาอีกทาง การเข้ามาเป็นบริษัทมหาชนได้เป็นผลให้ ปตท. ถูกตรวจสอบมากขึ้นและเข้มข้นขึ้นอีกจากทางภาคประชาชน และต้องดำเนินการตามกรอบหลักเกณฑ์ กติกาของตลาดหลักทรัพย์ ขณะที่ ปตท. เองก็ยังต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบบัญชีจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเช่นเดิม จึงทำให้ภาคการเมืองจะต้องระมัดระวังตัวอย่างมากหากคิดจะเข้ามาแทรกแซงหรือแสวงหาผลประโยชน์จากธุรกิจพลังงาน ดังนั้นหากเราตั้งใจกันจริงที่จะร่วมมือกันพัฒนารัฐวิสาหกิจไทย นี่ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่การพัฒนาก่อให้เกิดคุณูปการกับประเทศชาติมากกว่าการสูญเสียจากความไร้ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล โดยไม่จำเป็น
จากข้อมูลข้างต้นทำให้ไขข้อข้องใจในเรื่องทุนสามานย์ของปตท ได้ไม่มากก็น้อย เหตุผลที่ปตท ต้องเข้าตลาดหลักทรัพย์ก็เป็นข้อเท็จจริงหาได้บิดเบือนข้อมูลก่อนมาเผยแพร่ไม่ อยากให้ทุกคนเปิดใจ และลองมองโลกในแง่ดีบ้าง ลองคิดกลับกัน ถ้าประเทศไทยมีสถานีน้ำมันต่างชาติเต็มไปหมด ค่าน้ำมันคงแพงกว่านี้ 2-3 เท่า เลยด้วยซ้ำขอบคุณข้อมูลดีๆจาก http://pantip.com/topic/30469718