จากหัวข้อที่ตั้ง คือมีข้อสงสัยในจุดยืนของคนที่อยากจะทวงคืน ปตท ว่า คุณจะทวงคืนมาจากใคร? ก็ในเมื่อตอนนี้กระทรวงการคลัง (รัฐบาล) เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด?
แล้วถ้าสมมติว่าทวงคืนได้สำเร็จเสร็จทุกกระบวนการ ปตทจะตกไปอยู่ที่ใคร? เป็นส่วนกลางให้ประชาชนบริหารกันเองเหรอ? ที่บอกว่าทวงคืน ปตท นี่คือทวงคืน ปตท จากรัฐหรือว่าทวงคืน ปตท จาก ปตท? ที่ถามว่า ทำไมถึงต้องทวงคืนจากรัฐล่ะ ก็ตารางรายชื่อผู้ถือหุ้นก็มีแสดงอยู่ให้เห็นอยู่โต้งๆ ว่ากระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้น 51% แล้วถ้าจะบอกว่า ปตทนั่นแหละเป็นสาเหตุที่ทำให้น้ำมันแพง เรามาดูตารางโครงสร้างราคาน้ำมัน จากhttp://www.iwebgas.com/oil/oil.html กัน ว่าที่แพง แพงเพราะอะไรบ้าง
จากรูปตารางโครงสร้างน้ำมัน เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 56 จะเห็นได้ว่ามีการบวกเพิ่มเยอะแยะมาก และในกรอบสีแดงนั้น คือที่รัฐบาลบวกเพิ่มทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นภาษีสรรพสามิต กองทุนน้ำมัน กองทุนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ภาษีเทศบาล VAT ราคาหน้าโรงกลั่นจริงๆ แค่ 17-25 บาท (เชื้อเพลิงที่ผลิตได้) หลายคนสงสัยอีกแหละ อ้าว! แล้วไอ้ราคาหน้าโรงกลั่นเนี่ยมาจากไหน ในเมื่อน้ำมันก็ขุดขึ้นมาจากในอ่าวไทย หรือในหลายๆแหล่งของประเทศไทย คือตรงนี้ก็ยังไม่แน่ชัดเหมือนกันว่า ราคาหน้าโรงกลั่นจริงๆแล้วเท่าไหร่ และทำไมต้องอ้างอิงราคาน้ำมันจากสิงคโปร์ พอดีได้เจอกับคลิปที่ได้อธิบายเหตุผลนี้ไว้
จากที่ได้ดูคลิปแล้ว พบว่าเหตุผลที่โรงกลั่นต้องอ้างอิงราคาน้ำมันจากสิงคโปร์เพราะที่สิงคโปร์มีตัวแทนบริษัทน้ำมันรายใหญ่ของโลกตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นี่ และอีกเหตุผลหลายๆอย่างที่ทำให้ต้องใช้ราคาสิงคโปร์ จากในตารางโครงสร้างน้ำมันนั้น ถ้าตัดค่าใช้จ่ายที่รัฐเก็บไปทั้งหมดออก จะเหลือราคาน้ำมันแพงสุดที่29 บาท หรือถ้าเป็นดีเซลจะอยู่ที่ 24 บาทต่อลิตร ถ้าดูจากตาราง Marketing Margin หรือกำไรของปตท นั้นได้แค่ 2 บาทกว่าๆต่อ 1 ลิตร มีอีกหลายอย่างที่ตัวเจ้าของกระทู้ยังไม่ทราบแน่ชัด ที่เขียนมาคือความเข้าใจทั้งหมด อาจจะดูเป็นความรู้อันน้อยนิดของผู้ที่ศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง อีกประการหนึ่งก็คือ จากที่ได้อ่านบทความใน drama-addict.com ในเรื่องแอดมินของแฟนเพจทวงคืนพลังงานไทยในข้อมูลหลายอย่างที่ถูกกระหน่ำแชร์กันนั้นเป็นข้อมูลที่บิดเบือนหรือเปล่า? ทำไมถึงถามอย่างนี้น่ะเหรอ เพราะว่า ก็มีข้อเท็จจริงออกมาแย้งข้อมูลที่แฟนเพจทวงคืนพลังงานไทยนั้นว่าเป็นข้อมูลที่ผิด ซึ่งหมายความว่า คนที่เอามาลงแฟนเพจก็จงใจจะปลุกปั่นกระแสของปตท ใช่มั้ย?
สรุปว่า ถ้าสมมติว่า ข้อมูลของแฟนเพจที่เอามาแชร์ให้ปวงชนชาวไทยอ่านกันอย่างเมามันส์นั้น เป็นเพียงแค่ “ข้อมูลบิดเบือน” จนทำให้ผู้คนปักใจเกลียด ปตท โดยที่ ปตท อาจจะเป็นแพะรับบาปในเรื่องนี้ จะทำยังไงล่ะ? บางคนอาจจะสนุกที่ได้ด่าคนนั้นคนนี้ ให้ร้ายใส่ความคนอื่น แต่สุดท้ายความจริงก็คือความจริง ถึงแม้ว่า ปตท จะมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ยังคลุมเครือ ให้ข้อมูลไม่ชัดเจน แต่เราก็สามารถตรวจสอบหุ้น หรือราคาน้ำมัน หรือทุกอย่างเกี่ยวกับ ปตท ได้ไม่ใช่เหรอ? ประเด็นหลักที่ดิ้นกันอยู่ตอนนี้ เพราะแค่เรื่อง น้ำมันแพง ใช่ไหม?
ปตท. กับคำว่าเหลี่ยมทุน ทุนสามานย์ เป็นประโยคที่คุ้นตา คุ้นหูมากในยุคหลังจากการปล้นชาติ แปรรูป ปตท. ถึงอย่างนั้นแล้ว ยังไงอยากรบกวนอ่านกระทู้นี้ให้จบ และ ให้มองโดยอย่าเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล อยากให้คุณผู้อ่าน “เปิดใจ” ไม่ใช่ “ปักใจ” เชื่อแต่ข้อมูลในทางลบจากอดีต...การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ได้จัดตั้งเมื่อเดือนธันวาคม 2521 เพื่อเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติ โดยเป็นการรวมกันขององค์การเชื้อเพลิงและองค์การก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดวิกฤตขาดแคลนน้ำมันทั่วโลก และเมื่อเกิดวิกฤตอีกครั้งในปี 2533 อิรักบุกยึดคูเวต เกิดการกักตุนน้ำมันทำให้ขาดแคลน รัฐบาลตอนนั้นตกอยู่ในสถานการณ์ลำบากมาก ประเทศไทยขาดแคลนพลังงานและแหล่งในการจัดการ ทำให้ต้องมีการส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในกิจการน้ำมันมากขึ้น จนทำให้เกิดผู้ค้าน้ำมันรายใหม่หลายราย การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยต้องทำหน้าที่เป็น "ผู้คานอำนาจ" พร้อมกับมีความจำเป็นต้องพลิกบทบาทของตนเองไปกับการแข่งขันในเชิงธุรกิจไปด้วย ซึ่งเป็นหลักการเบื้องต้นของการพัฒนารัฐวิสาหกิจที่ต้องสร้างบรรยากาศในการแข่งขัน และเป็นจุดเริ่มต้นที่เสริมสร้างศักยภาพให้กับ ปตท. มาตั้งแต่เวลานั้น ซึ่งแตกต่างจากรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ที่มักจะเป็นการผูกขาด ปตท.ต้องอยู่ท่ามกลางการโอบล้อมของบริษัทน้ำมันต่างชาติที่ยึดครองประเทศอยู่ ทั้งที่ตนเองมีขนาดเล็กจิ๋วมีทรัพย์สินเพียง 400 ล้านบาท ทำให้ต้องมีการปรับบทบาทเชิงพาณิชย์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน แล้วกระบวนการแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ก็ถูกจุดชนวนขึ้น ณ ตรงนั้น
การเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ได้เป็นสิ่งเร้ากระตุ้นให้ ปตท. และบริษัทในเครือต้องเร่งปรับโครงสร้างขนานใหญ่ ต้องขวนขวายหาเงินไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางพลังงาน ในภาวะเงินหน้าตักมีข้อจำกัด ซึ่งเป็นการเดิมพันที่สำคัญต่ออนาคตความมั่นคงทางพลังงานของชาติที่มีบรรษัทน้ำมันข้ามชาติที่อยู่ในสภาพได้เปรียบพร้อมยึดธุรกิจนี้ของประเทศเรา จากวิกฤตครั้งนั้น การลอยตัวค่าเงินบาททำให้หนี้สินต่อทุนของบริษัทพุ่งเป็น 5 ต่อ 1 ทำให้ยากที่จะกู้เงินเพิ่มและภาระดอกเบี้ยที่ต้องชำระเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ปตท.ต้องเลือกวิธีการที่ยืนบนลำแข้งของตนเองด้วยการแปรรูปเข้าตลาดหลักทรัพย์ ระดมทุนจากทั้งในและต่างประเทศ กู้สถานการณ์เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานระยะยาว หรือขอเงินงบประมาณสนับสนุน กู้เงินให้รัฐค้ำประกัน จะเป็นการเพิ่มภาระทางการเงินให้ภาครัฐซึ่งมีปัญหาอยู่อย่างมาก
จากการแปรรูปเข้าตลาดหลักทรัพย์ ปตท. กลายมาเป็นบริษัทมหาชนที่คล่องตัว เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2544 ด้วยทุนจดทะเบียน 20,000 ล้านบาท และเข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เมื่อเดือนธันวาคม โดยยังมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือรายใหญ่เช่นเดิม ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็นยุทธวิธียอมเสียส่วนน้อย (กระจายหุ้นบางส่วน) เพื่อรักษาส่วนใหญ่ไว้ ทำให้อัตราหนี้สินต่อทุนของ ปตท. เหลือเพียง 2 ต่อ 1 และมีเงินสดที่สามารถเพิ่มทุนให้บริษัทในเครือที่ประสบปัญหาทางการเงินอย่างสาหัส เช่น ไทยออยล์ มีทุนจดทะเบียนเพียง 20 ล้านบาท แต่มีหนี้สินเพิ่มเป็นเฉียดแสนล้านบาท หรืออีกหลายๆโรงกลั่นในไทย แต่ ปตท. ที่มีกำลังเงินจากการเข้าตลาดหลักทรัพย์เข้ามาช่วยเพิ่มทุนให้
หากไม่ต่อสู้พัฒนามาจนถึงปัจจุบัน เราคงจะพบเจอแต่สถานีน้ำมันต่างชาติเรียงรายไปทุกถนน ปตท. กลายเป็นแหล่งใหญ่นำเงินรายได้ส่งรัฐ ตกปีละกว่าแสนล้านบาท ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทางด้านอุตสาหกรรมพลังงานต่างให้ความเห็นว่า การแปรรูปเป็นตัวแปรที่สำคัญที่สุดที่ได้ยกระดับ ปตท. ขึ้นมาเป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติที่ผู้ถือหุ้นกว่าร้อยละ 68 เป็นสายเลือดไทย และมีการประเมินกันว่าถ้าไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ปตท. วันนี้คงมีกำไรปีละ 30,000 - 40,000 ล้านบาท และคงไม่มีเงินพอจะไปซื้อบริษัทลูกต่างๆ ซึ่งคงตกไปเป็นของต่างชาติกันหมด ถ้าพิจารณาถึงแนวทางการพัฒนาพลังงานของประเทศอื่นๆ เช่น อินเดีย จีน รัสเซีย เวียดนาม ที่ประสบความสำเร็จในการต่อสู้กับบรรษัทน้ำมันข้ามชาติ ต่างพยายามให้การสนับสนุนและผลักดันบริษัทน้ำมันแห่งชาติของตนเองให้เข้าไปมีบทบาทในตลาดโลกด้วยการระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์เพื่อให้บริษัทมีขนาดใหญ่เพียงพอที่จะลงทุนไปกับโครงสร้างขนาดใหญ่ของอุตสาหกรรมพลังงานให้สามารถขับเคี่ยวในตลาดพลังงานโลกได้
การบริโภคพลังงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจจะเดินไปควบคู่กัน หากอนาคตอีก 50 ปีข้างหน้า เกิดสถานการณ์ขาดแคลนพลังงานไปทั่วโลก ทำให้เศรษฐกิจระส่ำระสาย คงจะมีการถามกันว่าที่ผ่านมา ปตท.ทำอะไรกันอยู่ ทำให้ ปตท. ได้วางงบประมาณลงทุนในปี 2551-2555 ไว้ 900,000 ล้านบาท และในปี 2555-2563 ต้องลงทุนถึง 4 ล้านล้านบาท ทั้งการสำรวจขุดเจาะหาแหล่งพลังงานสำรอง พลังงานทดแทน ซึ่งอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ปตท. ต้องออกไปกู้เงินจากต่างประเทศด้วยเครดิตของตนเอง โดยไม่ต้องหวังขอเงินจากรัฐบาล รัฐจะได้เอาไปช่วยเหลือและเยียวยาเศรษฐกิจทางด้านอื่นๆ จะไม่ดีกว่าหรือ
นอกจากนั้นทุกครั้งที่นำเข้าก๊าซแอลพีจี ปตท. จำเป็นต้องสำรองเงินล่วงหน้าส่วนต่างแทนรัฐบาลไปก่อน ในขณะที่รัฐบาลได้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายอื่นๆ ดำเนินการได้เช่นกัน แต่ไม่มีใครอยากเจ็บตัว ในฐานะที่เป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติที่ต้องหาทางแก้ไขให้ประเทศมีพลังงานใช้อย่างเพียงพอ ปตท.ก็ต้องเข้ามารับหน้าเสื่อให้ และเมื่อทาง กพช. มีมติเห็นชอบปรับราคาแอลพีจีเป็น 2 ราคา เพื่อชดเชยภาระการนำเข้าให้ ปตท. กลับมีการปลุกสาธารณชนให้งอแง เพราะคุ้นเคยกับราคาแอลพีจีที่ถูกบิดเบือนมาอย่างยาวนาน จึงทำให้โดนกร่นด่าถึงความเลวของ ปตทไปโดยปริยาย
การดำรงธุรกิจอยู่ได้ในโลกเสรีนิยมยุคใหม่ โดยเฉพาะธุรกิจพลังงานนอกจากมีทุนเพียงพอในการขยายและพัฒนาธุรกิจแล้ว อีกบทบาทหนึ่งที่ทำให้เกิดการพัฒนาและสร้างความเติบโตคือ การบริหารด้วยหลักธรรมาภิบาล และการที่บริษัทในกลุ่ม ปตท. ล้วนเป็นบริษัทมหาชน จะถูกตรวจสอบมากกว่าการเป็นรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากมีผู้ถือหุ้นเข้ามาเกี่ยวข้องทำให้ ปตท. ทั้งกลุ่มเป็นบริษัทที่มีดีกรีที่นักลงทุนให้การยอมรับกันมากที่สุดในตลาดหลักทรัพย์ พร้อมกับการคว้ารางวัลแห่งความสำเร็จในระดับประเทศและนานาชาติอย่างมากมาย ด้วยการที่เป็นบริษัทที่มีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและรับผิดชอบต่อสังคม
ปตท. เป็นหนึ่งในตัวอย่างของการพัฒนารัฐวิสาหกิจของไทย ผ่านการแปรรูปเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ กระแสบางส่วนยังตั้งข้อสังเกตว่า การขายหุ้น ปตท. ถือเป็นการเปิดประตูให้ทุนการเมืองเข้ามาฮุบกิจการของภาครัฐ แต่หากมองย้อนมาอีกทาง การเข้ามาเป็นบริษัทมหาชนได้เป็นผลให้ ปตท. ถูกตรวจสอบมากขึ้นและเข้มข้นขึ้นอีกจากทางภาคประชาชน และต้องดำเนินการตามกรอบหลักเกณฑ์ กติกาของตลาดหลักทรัพย์ ขณะที่ ปตท. เองก็ยังต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบบัญชีจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเช่นเดิม จึงทำให้ภาคการเมืองจะต้องระมัดระวังตัวอย่างมากหากคิดจะเข้ามาแทรกแซงหรือแสวงหาผลประโยชน์จากธุรกิจพลังงาน ดังนั้นหากเราตั้งใจกันจริงที่จะร่วมมือกันพัฒนารัฐวิสาหกิจไทย นี่ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่การพัฒนาก่อให้เกิดคุณูปการกับประเทศชาติมากกว่าการสูญเสียจากความไร้ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล โดยไม่จำเป็น
จากข้อมูลข้างต้นทำให้ไขข้อข้องใจในเรื่องทุนสามานย์ของปตท ได้ไม่มากก็น้อย เหตุผลที่ปตท ต้องเข้าตลาดหลักทรัพย์ก็เป็นข้อเท็จจริงหาได้บิดเบือนข้อมูลก่อนมาเผยแพร่ไม่ อยากให้ทุกคนเปิดใจ และลองมองโลกในแง่ดีบ้าง ลองคิดกลับกัน ถ้าประเทศไทยมีสถานีน้ำมันต่างชาติเต็มไปหมด ค่าน้ำมันคงแพงกว่านี้ 2-3 เท่า เลยด้วยซ้ำขอบคุณข้อมูลดีๆจาก http://pantip.com/topic/30469718