15 พฤศจิกายน 2549 11:29 น.
แก้วประเสริฐ
บทที่ ๑๔
กำแพงแห่งสวรรค์
ระหว่างนั้นความปั่นป่วนวุ่นวายที่บังเกิดขึ้นเบื้องหน้าของกองทัพ
พร้อมเสียงร้องต่างๆนาๆของเหล่าทหารอสูรดังกึกก้องสนั่นไปทั่ว
ความทราบไปถึงท่านท้าวนิลกาฬ ด้วยความสงสัยในพระราชหฤทัย
ภายหลังจากได้ส่ง จันทะเสนอสูรเข้าไปตรวจตราสถานที่เพื่อพระองค์
จะได้ทรงจัดวางกำลังพลเพื่อรอเข้าบุกยังนครนาครินทนาคร
พระองค์จึงทรงหันไปตรัสใช้ อสุระฤทธาอสูรซึ่งคอยเฝ้าพระองค์อยู่
ให้รีบไปสืบความเป็นไปของเหตุการณ์นั้นแล้วมารายงานต่อพระองค์
อสุระฤทธาก็ถวายบังคมลา ออกไปยังแนวหน้าตรวจสอบความนัย
จนได้รับทราบรายละเอียด แล้วรีบกลับมารายงานโดยด่วน
“ ขอเดชะ เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นระหว่างท่านจันทะเสน
นำกำลังไพร่พลเข้าไปยังพื้นบนเขาตะนาวศรีคีรีนั้น
ก็ปรากฏเป็นเปลวไฟพวยพุ่งขึ้นจากใต้ดินเข้าทำลายล้างไพร่พลทหาร
ประกอบกับมีปักษีขนาดใหญ่พุ่งออกมาจิกตีทหารจนล้มตายมากมาย
พระเจ้าข้า” อสุระฤทธาอสูรทูลรายงาน
“แล้วเหตุการณ์เป็นอย่างไรรึ ท่านอสูรเห็นเสียงเงียบหายไปแล้ว”
จอมอสูรดำรัสถามความต่อไป
“ ขอเดชะเป็นด้วยท่านนิลพาหุกับท่านสหัสสะขันธ์และท่านจันทะเสน
เข้าต่อกรกับปักษีนั้นและปราบจนราบคาบทั้งเปลวไฟนั้นแล้วพระเจ้าค่ะ”
องครักษ์ด้านซ้ายกราบทูลรายงาน
“อะไรร้ายกาจถึงเพียงนี้เชียวหรือ จนถึงขั้นท่านแม่ทัพทั้งสอง
จำต้องลงมือด้วยตนเองเชียวล่ะ ไหนๆรายงานให้ละเอียดหน่อยซิ
ว่าท่านแม่ทัพกับองครักษ์เราจัดการอย่างไรรึ”ท่านจอมอสูรตรัสถาม
ด้วยความสงสัยยิ่งนัก
“หลังจากที่ท่านนิลพาหุเข้าต่อสู้กับหัวหน้าปักษีนั้น
จนได้รับบาดเจ็บไปทั่วกายแต่มิได้ย่อท้อกลับโรมรันพันตูอย่างชุลมุน
กระทั่งระหว่างติดพันได้ใช้มีดเล็กเข้าปักไปยังทรวงอกปักษีร้ายนั้น
ด้วยฤทธิ์เดชของมีดเล็กนั้นพลันได้ขยายใหญ่ทำลายล้างร่างกายปักษี
ขาดแตกแยกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยไปจนวายปราณ ส่วนเหล่าพวกปักษี
ทั้งหลายก็พากันแตกตื่นตกใจจะหนีกลับเข้าไปยังเปลวไฟนั้น
แต่มิทันการณ์ ท่านจันทะเสนที่เฝ้าคอยหาจังหวะโอกาสอยู่ก็พ่น
ไฟประลัยกัลป์ออกจากปากเข้าทำลายล้างเหล่าปักษีจนมอดไหม้
ไปทั่วไม่สามารถหลบหนีไปได้สักตัวเดียว ส่วนท่านสหัสสะขันธ์
ก็ใช้น้ำเต้าวิเศษที่พกไว้ของท่านเข้าทำลายล้างไฟที่ลุกไหม้
จนมอดดับสิ้นไปแล้วพระเจ้าข้า”
“ตอนนี้เกล้ากระหม่อม ได้สั่งให้ทหารช่วยกันเร่งรัด
จัดทำความสะอาดพื้นที่ และได้เนรมิตพลับพลาไว้ เพื่อรอรับพระองค์
เสด็จเข้าสู่ยังพลับพลาแล้วพระเจ้าข้า” อสูรอสุระฤทธา
กล่าวถวายรายงานทั้งหมดให้จอมอสูรรับทราบความทั้งหมด
“โอ้โฮ...เจ้าปักษียักษ์นี้มันมีฤทธิ์เพียงนี้เชียวหรือ
ถึงสามารถทำลายทหารของข้าจนล้มตายได้ “
ท่านท้าวนิลกาฬทรงอุทานเบาๆ
“พะย่ะค่ะ ยากที่จะทำลายล้างได้ อีกประการหนึ่งปากที่แหลมคม
และเล็บมันมีพิษอย่างร้ายกาจ หากทำลายเนื้อเพียงแค่รอยข่วน
ก็สามารถตกตายไปได้เว้นแต่จะมีฤทธาเหนือกว่าเข้าคุ้มครองเท่านั้น
และอีกประการหนึ่งเปลวไฟที่ลุกจากบนยอดผานั้น
ก็ร้อนแรงประหนึ่งไฟกรด พระเจ้าข้า” อสุระฤทธากล่าวรายงานเสริม
“นั่นซิ.....มิฉะนั้นยากนักที่จะทำลายทหารของข้าจนล้มตายได้
นี่ขนาดเพียงแค่ย่างเหยียบยังมิทันถึงแผ่นดินในอาณาเขตนาครินทนาคร
ยังมีเหตุเช่นนี้เกิดขึ้นได้ และแล้วพวกเหล่านครทั้งหลายที่ต้องไปยึดทำเล
จัดวางทัพล่ะจะเป็นฉันท์ใด”
พระองค์ทรงรำพึงเบาๆพอได้ยิน
“ข้าพระพุทธเจ้าได้รับรายงานมาแล้วว่า เหล่านครต่างๆทั้งหลายนั้น
ได้จัดวางกำลังรี้พลไว้ตามยอดบรรพตต่างๆไว้เรียบร้อยแล้วพระเจ้าข้า
ทุกๆนครล้วนแล้วแต่ประสพภัยพิบัติต่างๆกันด้วยทั้งสิ้น”
อสูรอสุระฤทธา กล่าวรายงานเสริม
“เราเองก็อยากจะรู้เหมือนกันว่า เหล่านครทั้งสี่ตลอดนครหัวเมือง
ทั้งหลายพบสิ่งใด ท่านอสุระฤทธาช่วยให้ทหารที่ไว้ใจได้ จัดแบ่งกำลัง
เข้าตรวจสอบความเป็นไปของนครเหล่านี้ แล้วรีบกลับมารายงานให้เราทราบ”
“รับด้วยเกล้าพระเจ้าข้า” อสุระฤทธารับสนองโองการแล้วรีบถอยมาเพื่อ
ออกมาจัดกำลังทหารองครักษ์ส่งออกไปตามพระบัญชาทันที
จะขอกล่าวถึงเหล่านครต่างๆตลอดจนนครหัวเมืองของท่านท้าวนิลกาฬ
เมื่อได้รับพระราชสาสน์จากท้าวเธอแล้ว ครั้นได้ครบกำหนดวันเวลา
ก็รีบนำทัพมายังชัยภูมิตามที่ตกลงกันไว้ แยกแยะตามภูมิประเทศเหมาะสม
เพื่อเข้าล้อมยังอาณาเขตเมืองนาครินทนาครทันที ซึ่งต่างก็พบภัยพิบัติต่างๆกัน
ท่านท้าวสุพพัตสุระแห่งนครอหิงสากะ ครั้นได้ฤกษ์งามยามดีก็เคลื่อน
พหลพลพยุหะยาตราทัพมาในทางอากาศ เข้าสู่อาณาเขตแห่งนาครินทนาคร
ทางด้านทิศตะวันตก หาทางพักยังยอดเขาต่างๆเป็นสถานที่เพื่อใช้ในการนี้
ก็เหลือบมองหาทำเลชัยภูมิที่จะวางกำลังรี้พลประสานงานกับนครกาฬคีรี
ครั้นเห็นชัยภูมิที่เหมาะสมบนยอดเขาคิฌชคีรีเหมาะแก่การวางกำลังรี้พลของตน
ก็ให้เหล่าทหารเข้าตรวจสอบทำเลเหล่านี้ ก็พบสิ่งต่อต้านจากเจ้าของสถานที่
ทันที เหล่าทหารทั้งหลายล้วนถูกเหล่าพยัคฆ์สมิงร้ายต่างๆเข้าพากันรุมล้อม
ดู วุ่นวายชุลมุนพากันเข้าขย้ำกัดกินเป็นอาหารจนต้องแตกพ่ายหนีกลับกองทัพ
และรีบเข้าไปรายงานท่านท้าวสุพพัตสุระ ถึงเหตุการณ์ต่างๆ ตลอดจนทหาร
บางนายกำลังเข้าต่อสู้กับพยัคฆาเป็นพัลวัน จนส่งเสียงโวยวายไปทั่วบริเวณ
อันพยัคฆาจนกลายเป็นพยัคฆ์สมิงเหล่านี้มีอิทธิฤทธิ์ต่างอยู่ยงคงกะพัน
ยากที่อาวุธของเหล่าทหารจะเข้าทำลายได้ สามารถแปลงกายได้ ทุกๆตัว
ล้วนแล้วอุดมไปด้วยพิษนานา แม้แต่เขี้ยวเล็บก็มีพิษนานาประการ และต่าง
เห็นเหล่าทหารเป็นอหิงสาจึงพากันเข้ารุมล้อมกัดกินมิได้เกรงกลัวแต่
ประการใดก็หาไม่ ถึงแม้ว่าจะมีสภาพกึ่งร่างมนุษย์กึ่งอหิงสา แต่ด้วยกลิ่นที่มี
อยู่ประจำกายล้วนแล้วแต่เป็นกลิ่นของอหิงสาป่า ซึ่งล้วนเป็นอาหารอันโอชะ
ของเหล่าพยัคฆาทั้งสิ้น มาดแม้นว่าทหารเหล่านี้จะมีพละกำลังมหาศาลและ
ประกอบด้วยฤทธาต่างๆแต่ก็ยังตกเป็นอาหารของเหล่าเสือสมิงเหล่านี้อยู่ดี
เมื่อการต่อสู้ผ่านไปนานเข้าๆผลลัพธ์เหล่าทหารของอหิงสากะนครนี้
ก็ร่อยหรอเหลือน้อยทุกที จนกระทั่งแม่ทัพของอหิงสากะนครซึ่งควบคุม
ทัพหน้า มีนามว่าสุรินทร์อสูร ก็รีบเดินทางมาถึงร่วมกับทหารคู่ใจของตน
มองลงมายังเบื้องด้านล่าง เห็นความวุ่นวาย เอะอะไปทั่ว พบเหล่าทหารถูก
พยัคฆ์ร้ายกัดกินมิได้เกรงกลัวต่ออาวุธใดๆทั้งสิ้น หากเป็นเช่นนี้ต่อไปเหล่า
ทหารหาญเหล่านี้ก็คงจะถึงซึ่งกาลอวสานแน่นอน
สุรินทร์อสูรแม่ทัพ จึงหยิบเอาบ่วงบาศกับกระบองห้าเหลี่ยมออกมา
พลางร่ายเวทย์มนต์ แล้วขว้างลงมายังกลุ่มเหล่าพยัคฆาร้ายทั้งหลาย
บัดดลก็เกิดพายุพัดกระหน่ำอย่างรุนแรง เชือกบ่วงบาศก็แยกตัวออกกระจาย
เป็นหลายๆบ่วง เข้ามัดยังร่างพยัคฆาทั้งหลาย ส่วนกระบองห้าเหลี่ยมก็แยกตัว
เป็นกระบองจำนวนมากมายเข้ารุมตีพยัคฆ์ร้ายเหล่านี้จนถึงกับสิ้นชีวิตทันที
เหล่าพยัคฆ์ร้ายซึ่งมีตัวหัวหน้าร่างกายสีขาวโพลนพาดเป็นลายพาดกลอน
เห็นท่ามิดีก็ส่งเสียงคำรามลั่นแล้วเผ่นทะยานหนีหายลงไปยังตีนเขา บรรดา
เหล่าพยัคฆ์ร้ายเมื่อเห็นตัวหัวหน้าส่งเสียงคำรามลั่นเสมือนบ่งบอกให้รีบหนี
จึงพากันละทิ้งเหล่าทหารต่างตัวก็รีบเผ่นหนีลงเขาไปจนหมดสิ้น
สุรินทร์อสูรพร้อมทหารคู่ใจก็สั่งให้บรรดาทหารเข้าช่วยเหลือทหารที่
บาดเจ็บยังไม่ได้ล้มตายไปทำการรักษาพยาบาล ส่วนที่เสียชีวิตแล้วก็ให้
จัดการนำออกไปฝังยังที่อื่น แล้วสั่งให้ทหารทำความสะอาดพื้นเพื่อใช้เป็น
ที่ประทับของท่านท้ายสุพพัตสุระจัดสร้างพลับพลาไว้คอยเสด็จเพื่อใช้เป็น
ประทับพักผ่อนเมื่อทุกอย่างเป็นที่เรียบร้อยแล้วจึงเข้าไป
กราบทูลต่อท่านท้าวเธอ เพื่อเสด็จมาพักยังที่จัดสร้างต่อไป
ส่วนทางด้านปักษินนคร ท่านท้าววิหะคะยุราชกับยุพราชวานนรินทร์ครั้น
ได้รับพระราชสาสน์แล้ว ก็ทรงนำทัพเสด็จมาโดยพระองค์เป็นจอมทัพมอบให้
พระยุพราชวานนรินทร์เป็นแม่ทัพใหญ่นำรี้พลพหลพลไกรล่องลอยมาทางอากาศ
ผ่านมหาสมุทรสีทันดรเข้าสู่นครนาครินทนาครทางด้านทิศเหนือตามที่ตกลงไว้
กับท่านท้าวนิลกาฬ เที่ยวเสาะหาสถานที่เพื่อจัดตั้งกำลังรี้พลทั้งหลาย
เห็นสถานที่ดังกล่าวเต็มไปด้วยเทือกเขาอุดมไปด้วยไม้ใหญ่นานาพันธุ์
ครั้นตรวจสอบแล้ว ก็ให้เห็นสมควรที่จะไปยังเทือกเขาใหญ่
ของภูเขาติรังคะคีรีด้านบนเป็นทำเลกว้างพอที่จะจัดวางกำลังกระจายรอบๆได้
จึงได้กล่าวกับยุพราชของพระองค์ว่า
“นี่แน่ะ...พ่อวานนรินทร์ พ่อเองมองหาทำเลแล้วเห็นว่าภูเขาติรังคะคีรี
นี้เหมาะควรแก่การจัดตั้งค่ายต่างๆ ลูกเห็นเป็นประการใดหรือไม่”
“เสด็จพ่อ ลูกก็เห็นด้วย เพียงแต่สังหรณ์สิ่งบางประการคือว่าสถานที่
นี้ทำไมถึงมีบริเวณกว้างใหญ่รายล้อมด้วยพฤกษ์ไม้ใหญ่แต่กลับไร้ซึ่งสัตว์ต่างๆ
เข้าใช้อาศัยอยู่เลย พระเจ้าค่ะ” องค์ยุพราชทูลพระบิดา
“ถึงอย่างไรพ่อมองผ่านภูเขามาก็หลายๆลูกแล้ว
หาได้มีที่ทำเลชัยภูมิดีไปกว่าภูเขาใหญ่นี้อีกก็หาไม่
ซึ่งความกริ่งเกรงของลูกก็ถูก แต่ไม่มีที่ใดที่จะเหมาะสมกว่านี้ได้
อนึ่งหากเราสามารถตั้งยังที่ทำเลนี้ได้ หากมองลงไปเบื้องล่าง
12 พฤศจิกายน 2549 21:36 น.
แก้วประเสริฐ
บทที่ ๑๓
เคลื่อนขบวนทัพ
ครั้นวันเพ็ญ ๑๕ ค่ำจะมาถึงอึกสองสามวัน การเฉลิมฉลอง
องค์จอมมหาเทพแห่งขุนเขาไกรลาสสรวงสวรรค์
ที่จะเริ่มเฉลิมฉลองงานอย่างมโหฬารยิ่งนั้น
ท่านท้าวนิลกาฬ ก็เรียกประชุมเหล่าขุนนางทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนเพื่อ
ตระเตรียมกำลังความเรียบร้อยพร้อมสำหรับศึกในครั้งนี้
ซึ่งโหราจารย์ท่านอสูรสะหะเนตรโหรประจำพระองค์ ก็ทูลทวายรายงานว่า
“อันก่อนวันเพ็ญดิถี ๑๕ ค่ำ ในสองสามเพลานี้ก็จะเป็นวันมหาฤกษ์มงคลยิ่ง
เหมาะแก่การทำพิธีมงคลทั้งปวง ด้วยเป็นฤกษ์ยามที่ปลอดโปร่งยิ่งนัก
เหมาะสำหรับการประกอบพิธีทั้งหลายตลอด ๑๕ วันต่อจากนี้ไป
เพราะอุดมเต็มไปด้วยฤกษ์ยามต่างๆ สมควรเริ่มเสด็จยาตราพยุหะพหลพลไกร
ใช้ในการศึกสงครามหรือแม้นพระองค์นั้น
จะกระทำการสิ่งใดก็ปราศจากอุปสรรคใดๆทั้งปวง พระเจ้าค่ะ”
เมื่อท้าวเธอได้รับฟังท่านอสูรสะหะเนตรโหราจารย์กล่าว
ก็ให้สุดแสนจะปิติยินดี จึงรีบมีพระบัญชาให้เหล่าขุนทัพนายกองทั้งหลาย
จัดเตรียมเพื่อการศึกครั้งนี้ว่า อีกสองเพลานับจากวันนี้ไปก็จะทำการเคลื่อนพล
ไปยังเมืองนาครินทนาครต่อไป
และพระองค์ก็ให้จัดทำพระราชสาสน์ไปยังเมืองน้อยใหญ่ทั้งปวง
เพื่อทราบถึงหมายกำหนดการเพื่อเตรียมพร้อมเพื่อเข้าร่วมเพื่อการศึกครั้งนี้
ในวันดังกล่าวถึงมหานครนาครินทนาครก่อนหนึ่งวันด้วย
เพื่อจะได้ร่วมปรึกษาการศึกสงครามอีกครั้งหนึ่ง ก่อนจะเข้าโจมตีพระนคร
แล้วพระองค์ก็หันไปถามขุนทหารถึงความพร้อมตลอดจนปัญหาต่างๆ
เพื่อแน่ในพระราชหฤทัยแล้วพระองค์ตรัสว่า
“ นี่แน่ะ..ท่านสหัสสะขันธ์ รี้พลที่เราให้เตรียมไว้หนึ่งแสนนั้น
ได้รับการฝึกฝนจนเชี่ยวชาญครบถ้วนไปเป็นประการใดหรือไม่”
“ข้าพระพุทธเจ้า...ได้ตระเตรียมไพร่พลไว้พร้อมเพรียงกันแล้ว พระเจ้าค่ะ”
ขุนทหารตอบ
“อ้อๆๆ...แล้วท่านนิลพาหุเล่าเป็นประการฉันท์ได้รึ
” ทรงหันมาทางขุนทหารรองแม่ทัพ
“ข้าพระพุทธเจ้า ได้ตระเตรียมกำลังพลห้าหมื่นนาย
พร้อมฝึกปรือจนเชี่ยวชาญแล้ว พระเจ้าค่ะ”
นิลพาหุกล่าวถวายรายงาน
“ส่วนท่านวิรุเดชะ คงเตรียมการไว้พร้อมแล้วรึ”
“เรียบร้อยตามพระประสงค์ทุกประการ พะย่ะค่ะ ”
อสูรวิรุเดชะถวายตอบ
“เอาล่ะ เราจะมอบให้ท่านสหัสสะขันธ์เป็นแม่ทัพใหญ่
ส่วนขุนทหารเอกนายทัพนายกองของท่านนั้นให้จัดกำลังพล
เป็นปีกทั้งด้านซ้ายขวาเพื่อเข้าโอบล้อมไว้
ส่วนท่านนิลพาหุให้เป็นแม่ทัพหน้า
ในการศึกครั้งนี้จัดส่งหน่วยลาดตระเวนเพื่อหลอกล่อข้าศึก
ตลอดจนตรวจสอบแนวทางภูมิประเทศแล้วค้นหารายงานข่าวนี้ด้วย
อีกทั้งยังเป็นทัพหน้าเข้าต่อกรกับข้าศึกเปิดแนวทางเพื่อแม่ทัพใหญ่จะได้
เข้าโอบล้อมกระหนาบข้าศึกทั้งด้านซ้ายและด้านขวา
ทางท่านอสูรวิรุเดชะให้เป็นแม่ทัพหลังควบคุมดูแลทหารและเสบียงอาวุธ
ยุทโธปกรณ์ แล้วคอยจัดหน่วยส่งเสริมคุมแนวด้านหลังทัพไว้
ตลอดจนหาทางหนีทีไล่หากเกิดพลาดพลั้งขึ้นมาได้ เพื่อความไม่ประมาท
ส่วนเราจะคุมทัพหลวงคอยบดขยี้เสริมหน่วยเหล่าแม่ทัพทั้งปวง
ท่านมีความคิดเห็นอ่านประการใดหรือไม่”
จอมอสูรสั่งแก่แม่ทัพนายกองทั้งปวง
“การที่พระองค์จะมอบหมายให้เจ้านครต่างๆนั้น
เข้าแยกตีเมืองตามทิศต่างโดยมิได้รวบรวมกำลังพลกับเรา
ก็จะไกลพระเนตรพระกรรณพระองค์ยากต่อการติดตาม
ควบคุมดูและนะพระพุทธเจ้าข้า” อสูรสหัสสะขันธ์ทูลกล่าว
ฮาๆๆๆ...การนี้เราก็คิดดั่งท่านอยู่เหมือนกันท่านสหัสสะขันธ์
เพียงแต่ว่าเรามีความคิดเห็นว่า หากนครใดสามารถตีเมืองแตกด้านใด
เราก็จะนำทัพหลวงเข้าทางนั้นแล้วเข้าเปิดประตูเมืองรับพวกท่าน
ส่วนปัญหาเกี่ยวกับคนของเราเข้าร่วมกับจ้าวนครต่างๆนั้น
เพราะเราได้จัดส่งทหารของเราเข้าร่วมรบกับพันธมิตรไว้ด้วยแล้ว
คอยควบคุมดูแลจ้าวนครนั้นอยู่ หากทราบผลดีร้ายประการใด
ม้าเร็วก็จะรีบส่งข่าวแจ้งให้เราทราบ เพื่อแก้ไขปัญหานั้นๆนะท่าน
อีกประการหนึ่งกำลังของนครเหล่านี้ก็จะลดทอนอ่อนกำลังลงหากเข้า
เมืองได้แล้วง่ายต่อการควบคุมบัญชา ยิ่งได้น้ำอมฤตศักดิ์สิทธิ์มาแล้ว
ก็ยากนักที่จะมีข้อต่อรองกับเรา เปรียบเสมือนลูกไก่อยู่ในกำมือของเรา
ตามแต่แล้วจะแบ่งปันให้หรือคิดที่จะขัดขืนต่อเรา”
ท้าวอสูรทรงแหงนพระพักตร์ทรงพระสรวลลั่น เสียงดังสนั่นไปทั่ว
ด้วยพระองค์ทรงเกิดความมั่นใจในความคิดอ่านพระองค์เอง
“ในเมื่อเป็นพระประสงค์ของพระองค์เช่นนี้
ข้าพระพุทธเจ้าก็ไม่เห็นไปกว่านี้อีกเพียงแต่กริ่งเกรงว่า
เมื่อทางฝ่ายใดที่เข้ายังพระนครแล้วได้น้ำอมฤตมาแล้วก็จะยึดถือ
ไว้ในพระราชอำนาจเท่านั้น ยากต่อการควบคุม พระเจ้าข้า”
“ท่านมิต้องหวั่นเกรงหรอก เราก็คิดเช่นนี้แล้วเหมือนกัน
เพียงแต่เราใฝ่แต่ในองค์หญิงดาริกาและน้ำอมฤตเท่านั้น
มิได้สนใจสิ่งใด นอกนั้นข้าก็จะทำลายให้พินาศสิ้น
ตลอดบ่อน้ำอมฤตจะได้ไม่มีน้ำอมฤตนี้เพื่อผู้อื่นใดได้อีก
ดูซิว่าเหล่าเทวาบนสรวงสวรรค์จะมีร่างกายอมตะอีกต่อไปหรือไม่
และจะไม่มีผู้ใดในนครนี้อีกต่อไป” ท้าวเธอตรัสด้วยความกระหยิ่มยิ้มย่อง
ครั้นเจ้าเมืองแห่งเหล่านครต่างๆเมื่อได้รับพระราชสาสน์จากกาฬคีรีนคร
ที่ส่งมาถึงกำหนดวันนัดหมาย ต่างก็ตระเตรียมรี้พลความเพียบพร้อมต่างๆ
คอยกำหนดวันที่จะมาถึงโดยพร้อมเพรียงกัน
เมื่อวันที่นัดหมายมาถึง ท่านท้าวนิลกาฬก็ทำพิธีกรรมบวงสรวงต่างๆ
เพื่อใช้ในการเดินทัพโดยนำเหล่านักโทษออกมาตัดศีรษะเส้นธงชัยประจำทัพ
แล้วนำพหลพลพยุหะเหล่าอสูรทั้งหลาย โดยเสด็จพระราชรถที่เทียมด้วย
ม้าเทพยาดาเก้าตัวเคลื่อนไพร่พล กังวานไปด้วยปี่กลองชำนะมโหระทึกสนั่น
ลั่นไปทั่ว ทรงนำเสด็จเหาะผ่านล่องลอยไปในอากาศ จนเป็นที่แตกตื่นของ
ทวยเทพยาดาทั่วไป ผ่านขุนเขาคีรีน้อยใหญ่ ฝูงสัตว์เล็กน้อยใหญ่แตกตื่น
ชุลมุนไปทั่ว ด้วยอำนาจฤทธาของเหล่าพหลพลไกรในพระองค์ท่านท้าว
มหาสมุทรสีทันดีซึ่งแม้แต่นกธรรมดาก็ไม่สามารถบินผ่านข้ามได้
แม้แต่ขนนกก็มิอาจจะจมลงสู่ใต้มหาสมุทรนี้ เต็มไปด้วยสัตว์ร้ายนานาประการ
แต่ในการนี้พระองค์ท้าวนิลกาฬกลับนำทัพเป็นจำนวนมากมายมหาศาล
ลอยละลิ่วข้ามพ้นสีทันดรมหาสมุทร ล่วงไปทางทิศเหนือเข้าสู่ดินแดนมนุษย์
รอยต่อของสุวรรณภูมิพิภพอันเป็นการต่อเชื่อมระหว่างมนุษย์กับสรวงสวรรค์
ซึ่งมีเทือกเขาเรียงรายล้อมรอบดุจประหนึ่งพญานาคทอดวางขวางกั้นไว้
ทอดลำตัวยาวไปจรดยังมหาสมุทรที่ต่อเชื่อมระหว่างมหาสมุทรต่อมหาสมุทรกัน
จนถึงยอดเทือกเขาตะนาวะศรีบรรพตมหาคีรี พระองค์จึงตรัสสั่งให้หยุดทัพ
เหาะลงมาเพื่อพำนักยังยอดขุนเขานั้น เพราะพระองค์ทรงเห็นว่าเป็นทำเลชัยภูมิ
ที่เหมาะแก่การหยุดพักจัดวางกำลังพล จึงตรัสใช้ให้เหล่าขุนทหารเข้าไป
ตรวจสอบเพื่อใช้ในการวางค่ายคูประตูกล เพราะทำเลบนยอดมหาคีรีนี้
สามารถมองลงข้างล่างก็จะเห็นอาณาเขตของนครนาครินทนาคร พร้อม
ด้วยพระราชอาณาเขตที่ตั้ง ของมหาปราสาทราชมนเทียรต่างๆกระจ่าง อีกทั้งภาพ
ภายในเหล่าอาณาประชาราษฎร์ที่อาศัยทั้งในและนอกบริเวณนั้นๆ
ครั้นพระองค์ตรัสสั่งขุนทหารที่เฝ้าดูแลรักษาพระองค์ว่า
“นี่แน่ะ..ท่าน จันทะเสน จัดทหารลงไปตรวจสอบบริเวณนี้
ด้วยว่าดีร้ายประการใด แล้วรายงานต่อเราด้วย”
“พะย่ะค่ะ” จันทะเสนอสูร น้อมรับพระบัญชา
แล้วจึงนำเหล่าทหารจำนวนร้อยนายเหาะลงไปยังยอดมหาคีรี
ครั้นยังไม่ทันถึงพื้นดิน พลันก็เกิดเป็นเปลวไฟพวยพุ่งเข้าลุกลาม
ใส่ยังทหารเหล่านั้นทันที ทหารเหล่านั้นก็ส่งเสียงเอะอะโวยวาย
ต่างหลบหลีกเป็นพัลวัน ฉับพลันก็มีเหล่าปักษีตัวใหญ่เป็นจำนวนมาก
ต่างกรีดเสียงร้องโหยหวนพุ่งออกมาจากถ้ำที่อยู่ใต้ภูเขาตะนาวะศรี
เข้าโจมตีเหล่าทหารจนส่งเสียงร้องแตกกระจายไปทั่ว
ส่วนทหารอสูรพวกหลบหลีกเพลิงไฟขึ้นมาได้ยังมิทันตั้งตัว
ก็ยังถูกปักษีใหญ่จิกตีอีก ต่างก็ใช้อาวุธเข้าต่อสู้ทันทีเป็นพัลวัน
บ้างก็ถูกตีปีกหักล่วงหล่นไป บ้างก็เข้าจิกตีทหารจนถึงล้มตายไปก็มี
เหล่าปักษีนี้จะหาได้เกรงกลัวในอำนาจอสูรก็หาไม่ ที่ตายก็ตายไปส่วนที่
ยังเหลืออยู่ต่างก็เข้าจิกโจมตีต่อมิสิ้นสุดซ้ำยังพุ่งเข้าไปหากองทัพอสูร
ที่กำลังเหาะคอยอยู่จนอลหม่านไปทั่วทั้งกองทัพ จนทหารอสูรล้มตายไป
เป็นจำนวนมากเนื่องจากปากของปักษีนี้มีพิษอย่างร้ายแรง หากจิกตีถึงเลือด
พิษก็จะซึมผ่านเข้าสู่ร่างกายและตายในทันที เมื่อตกลงมายังพื้นดินก็จะถูก
เพลิงกรดเผาผลาญมอดไหม้เป็นจุล แต่ประกายไฟนี้หาได้เป็นอันตรายแก่
เหล่าปักษีเหล่านี้ก็หาไม่ บ้างหลบหนีอาวุธหลบเข้าสู่กองไฟหลีกหนีแล้ว
กลับออกมาเข้าโจมตีอีก
ฝ่ายนิลพาหุอสูรเห็นรี้พลเสียชีวิตล้มตายเช่นนี้ ก็บังเกิดความโกรธยิ่งนัก
จนตาแดงทั้งสองข้าง ตวาดด้วยเสียงอันดัง รีบเหาะลงมาพร้อมล้วงเอาตาข่าย
ออกมาร่ายมนต์ขว้างไปยังหมู่เหล่าปักษี ฉับพลัน ตาข่ายก็กลับขยายใหญ่เป็น
หลายๆต่อหลายวงลุกโชติช่วงเป็นเปลวไฟเข้าล้อมรอบคลุมเหล่าปักษีจน
มอดไหม้ตกตายไปเป็นจำนวนมากภายในตาข่ายเกือบหมดสิ้น บินหลบหนี
กลับเข้าสู่โพรงถ้ำใต้ภูเขาทันที
สักครู่ใหญ่เหล่าปักษีก็ออกมาอีกต่างพุ่งเข้าจู่โจมทหารอสูรทั้งหลายแต่
มีตัวหนึ่งใหญ่โตมโหฬารบินนำเหล่าปักษีทั้งหลายเข้ามาโดยมิเกรงกลัวตาข่าย
ฝ่ายนิลพาหุอสูรเห็นเช่นนั้นก็ทะยานเข้าต่อสู้กับหัวหน้าปักษีใหญ่นี้ทันที
ต่างเข้ารบต่อสู้กันเป็นพัลวัน ฝ่ายทางอสูรนิลพาหุใช้กระบองเพชรเข้าหวด
กระหน่ำฝ่ายปักษีก็มิเกรงกลัวใช้ปีกกระพือใส่ตบเข้ายังร่างของอสูรพร้อม
ปากก็จิก พร้อมเล็บอันแหลมคมประกายสีดำเข้าขย้ำเป็นพัลวัน พิษร้ายมิ
สามารถทำอันตรายแก่นิลพาหุอสูรหาได้ไม่ เพียงรอยบาดแผลเต็มไปทั่ว
ครั้นการต่อสู้ประชิดกัน นิลพาหุอสูรได้ทีชักมีดเล็กสีดำเข้าแทงอก
พญานกด้วยอำนาจของมีดเล็กดำพอเข้าสู่กายพญานกก็พลันขยายใหญ่
บั่นทอนร่างของพญานกฉีกขาดกระจายเลือดสาดไหลนองไปทั่ว
เมื่อพญานกถึงกาลอวสานแล้ว เหล่าปักษีทั้งหลายก็รีบหนีจะกลับทันที
ท่านจันทะเสนที่ยืนช่วยเหลืออยู่ก็อ้าปากพ่นเป็นเปลวเพลิงเขียวมรกต
เข้าทำลายปักษีทันที จนตกตายมอดไหม้เป็นจุลไปเสียสิ้น แล้วเข้าพยุงอสูร
นิลพาหุนำกลับมารักษารอยแผลต่างๆทันที
ทางด้านสหัสสะขันธ์ เห็นเปลวไฟยังพวยพุ่งมิได้ขาดหายไป ก็หยิบเอา
น้ำเต้าขึ้นพนมมือร่ายเวทย์มนต์ขว้างออกไป พลันน้ำเต้าก็ขยายตัวใหญ่
แล้วพวยพุ่งน้ำเข้าดับเพลิงเหล่านั้นจดมอดสนิทเสียสิ้น
เหล่าทหารทั้งหลายก็ช่วยกันพยุงพวกที่ได้รับบาดเจ็บเข้าไปทำการรักษาตัว
ส่วนที่เหลือก็ต่างเข้าตรวจสอบสถานที่ ซึ่งเป็นบริเวณราบกว้างใหญ่แล้วรายงานต่อไป....
12 พฤศจิกายน 2549 10:35 น.
แก้วประเสริฐ
บทที่ ๑๒
ศึกนาครินทนาคร
ภายในท้องพระโรงเมืองกาฬคีรี
ท้าวนิลกาฬกำลังออกว่าราชการอยู่และได้รับรายงานว่าท้าวเธอต่างเมือง
ต่าง ก็พาเสด็จมายังพระนครแล้ว พระองค์จึงมีรับสั่งว่า
“อัครเสนาบดีฝ่ายพลเรือน และท่านสะหัสขันธ์
ให้ร่วมกันต้อนรับแขกบ้านเมืองให้ไปพักยังที่ควรก่อน
โดยแจ้งว่าวันมะรืนนี้เราจะขอร่วมปรึกษาข้อราชการด้วย”
เหล่าเสนาอำมาตย์ที่ทรงรับสั่งก็ทูลสนองรับพระราชบัญชา
พร้อมทั้งถวายบังคมลารีบออกจากท้องพระโรง มุ่งตรงไปยังประตูเมือง
เพื่อไปทำการต้อนรับท้าวต่างนครให้ทรงพักผ่อนและหาความเกษมสำราญต่อไป
ครั้นได้เวลาที่นัดหมายจะทรงปรึกษาข้อราชการท้าวต่างเมืองแล้ว
ท่านท้าวนิลกาฬก็เสด็จไปยังโรงพระพิธีที่ทำขึ้นเป็นพิเศษเพื่อใช้ในการนี้
ซึ่งจัดทำไว้อย่างวิจิตรงดงามพิสดารยิ่งนัก พร้อมทั้งสิ่งบันเทิงนับประการ
ภายในที่ใช้รับเสด็จเจ้าต่างนครนั้น จัดวางรูปแบบด้วยโต๊ะทำด้วยแก้ว
ทรงกลมยาวรีเตี้ยๆวางด้วยเก้าอี้แก้วหลากสีตามเจ้าเมืองแคว้นต่างๆ
ตลอดจนเมืองบริวารที่เข้าร่วมศึกครั้งนี้ ซึ่งได้แยกไว้อีกต่างหาก
ภายในนั่งเต็มไปด้วยท้าวต่างเมืองต่างๆ เว้นแต่โต๊ะหินหลากสีสีทองแวววับ
มุมปลายสุดของหน้าโต๊ะนั้นยังว่างเปล่า ใช้เป็นที่ประทับของนิลกาฬราชันย์
โต๊ะเก้าอี้ทั้งหมดนี้จัดวางไว้ตรงเบื้องหน้าของประรำพิธีซึ่งมีท่านท้าวนิลกาฬ
ทรงเป็นประธานในการร่วมปรึกษากับเหล่านครต่างๆทั้งหลาย
เพื่อประชุมปรึกษาข้อราชการศึกที่จะมีขึ้นอีกไม่กี่วันเพลาข้างหน้า
ถัดมาเรียงรายด้วยเก้าอี้วางเรียงรายเป็นชั้นๆเพื่อให้เหล่าเสนาอำมาตย์
ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนเข้าร่วมรับฟังการศึกครั้งนี้ด้วย
เพื่อรับฟังแก้ไขปัญหาปฏิบัติถึงความพร้อมเพรียงกันของเหล่าทหารพลเรือน
โต๊ะเตี้ยที่เป็นรูปทรงกลมยาวรีนั้น เบื้องกลางจัดเรียงราย
ประกอบด้วยผลไม้นานาชนิดและน้ำจันทร์ในเหยือกแก้วทึบพร้อมเสร็จสรรพ
เรียงรายล้อมไปด้วยสาวสนมนางกำนัลที่จะคอยปรนนิบัติ
และถวายงานพัดโบกด้วยขนนกงามอร่ามตา แต่งกายสีสันต์งดงามยิ่งนัก
เบื้องด้านซ้ายมีเหล่ามโหรีที่จะช่วยบรรเลงทำความคึกครื้นแก่งานโดยเฉพาะ
ถัดจากโต๊ะที่ใช้ในการประชุมเป็นบริเวณกว้างพอสมควร วงกว้างยาวรีรายล้อม
ด้วยโต๊ะเก้าอี้ของเหล่ามุขอำมาตย์ข้าราชบริพาร และขุนทหารต่างเมือง
ใช้สำหรับในการฟ้อนรำของเหล่านางรำทั้งหลาย ในงานนี้โดยเฉพาะ
โต๊ะถัดจากบริเวณนางรำนั้น กระจายไปเบื้องหน้าตามเก้าอี้ที่วางไว้
สำหรับเหล่าอำมาตย์ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนสำคัญๆ
มีเครื่องอุปโภคบริโภควางไว้บนโต๊ะหน้าเก้าอี้เหล่านั้น ซึ่งนั่งเต็มไปด้วย
เหล่าขุนทหารทั้งฝ่ายพลเรือนเข้านั่งไว้ตามโต๊ะเก้าอี้ที่จัดไว้เต็มไปหมด
ทุกๆคนต่างแสดงอาการดูเป็นน่าเกรงขามถ้วนทั่ว เพื่ออวดแขกบ้านแขกเมือง
หลังจากนั้นองค์ท้าวเธอนิลกาฬก็เสด็จมาถึงทรงนั่งลงยังพระเก้าอี้แล้ว
ทรงตรัสทักทายเหล่านครต่างๆกันทั่วๆหน้า พลางเชื้อเชิญให้ทรงเสวยน้ำจันทร์
ตลอดจนพระกระยาหารต่างๆ ที่ถูกจัดเสริมโดยเหล่าสนมกำนัลใบหน้าที่
ยิ้มแย้มแจ่มใส ด้วยท่วงท่าหยดย้อยตระการตาต่อเหล่าแขกเมืองทั้งหลาย
พอองค์ท้าวเธอประธานในที่ประชุมเสด็จนั่งยังที่ประทับเรียบร้อยแล้ว
เหล่า มโหรีก็เริ่มบรรเลงเพลง นางสนมกำนัลก็ค่อยๆรินน้ำจันทร์ถวายแก่เจ้าต่างนคร
ส่วนพวกถวายงานพัดที่ทำด้วยหางนกก็เริ่มพัดวีคลายความร้อนให้แก่เจ้าเหนือหัว
และถวายงานให้แก่เหล่ากษัตริย์ทั้งหลายด้วยใบหน้าอันยิ้มแย้มแจ่มใสไปทั่ว
พวก นางรำก็ออกมาฟ้อนรำถวายแด่องค์เจ้าเหนือหัวและเจ้าต่างเมืองด้วย
อาภรณ์บางเบาด้วยเสื้อผ้านุ่งน้อยห่มน้อยพากันร่ายรำไปตามจังหวะเสียงดนตรี
ในลักษณะเสียงสูงๆต่ำๆ อ้อยอิ่งเร็วๆและช้าๆทอดสลับกันไปมา นางรำทั้งหลาย
ก็ต่างพากัน โยกย้ายส่ายสะโพก เย้ายั่วยวนในอาการต่างๆที่งดงามไปในอีกแบบหนึ่ง
จนเป็นที่ครึกครื้น ในท่วงท่าลีลาต่างๆสลับกันไปในดุจคล้ายผีเสื้อโบกบินไปมาให้
แก่ องค์ท่านท้าวนิลกาฬและจ้าวต่างเมืองทอดพระเนตร
ทุกๆพระองค์ก็ ต่างพากันทรงพระสรวลเกษมสำราญ
บางพระองค์ก็จ้องทอดพระเนตรเหล่านางรำมิได้กระพริบ
พลางกล่าวสนทนาวิจารณ์กันอย่างเพลิดเพลินพระราชหฤทัยยิ่งนัก
บ้างก็เที่ยวตรัสถามคนนี้คนนั้นถึงความสวยงามของหญิงนางรำเหล่านี้
บ้างก็ตรัสถามท่านท้าวเธอตลอดจนชมสรีระท่าทางของเหล่านางรำ
จนเป็นที่พระเกษมสำราญราชหฤทัยของท้าวเธอจนถึงกลับทรงพระสรวลสนั่นลั่น
บ้างก็ตรัสทรงไต่ถามความทุกข์สุขซึ่งกันและกัน รวมทั้งความเข้มแข็งทางด้านทหาร
ด้วยอย่างสำราญพระหฤทัย ตลอดจนอวดกันไปมาถึงอำนาจของพระองค์นั้นๆ
ครั้นท้าวเธอนิลการหันมาตรัสถามเจ้าเมืองต่างๆ ถึงความพร้อมเพรียง
ต่างๆบ้างก็แสดงอำนาจโอ้อวดความเจริญรุ่งเรืองความเข็มแข็งทางทหารของตน
รายงานถวายแด่ท่านท้าวนิลกาฬ จนทำให้ท้าวนิลกาฬเกิดความฮึกเหิม
ทรงพระสุระเสียงสนั่นลั่นเป็นยิ่งนัก ในความสามารถของเหล่าทหารทั้งหลาย
แล้วก็ทรงตรัสเรียกเหล่านางฟ้อนรำที่เสร็จงานถวายรำให้เข้ามานั่งปรนนิบัติ
รับใช้เคียงคู่กับเหล่ากษัตริย์ทุกๆพระองค์ ซึ่งก็มีกษัตริย์บางองค์ก็ทรงสำแดง
อาการหยาบช้าลามกกับเหล่านางรำ แต่ท่านท้าวนิลกาฬก็มิทรงตรัสประการใด
กลับทรงพระสรวลสนั่นยิ่งๆขึ้น ส่วนพระองค์ก็ทรงหยอกล้อกับนางสนมคนโปรด
มิได้ทรงวางพระองค์แต่ประการใด สร้างความกระหยิ่มยิ้มย่องแก่กษัตริย์บางพระองค์
จนทรงหันมาตรัสต่อเหล่ากษัตริย์เหล่านั้น หากมีความต้องการหญิงคนใด
ภายในพระนครนี้ ก็จะทรงถวายให้ปรนนิบัติรับใช้ก่อนที่จะไปทำศึกครั้งนี้
ท้าวเธอบางพระองค์ครั้นได้รับคำตรัสจากท้าวเธอก็ทรงสำแดงอาการหนักยิ่งขึ้น
จะมีก็เพียงยกเว้นท่านท้าวเธอสิงหะราชและองค์พระยุพราชโกเมศกุมาร
แห่งทันทะกะนครเท่านั้น ที่ยังทรงพระอาการปกติมิได้แสดงสิ่งผิดปกติหรือแสดง
พระอาการนอกลู่นอกทางแต่ประการใด เพียงคอยรับแก้วที่ใส่น้ำจันทร์
ที่นางรำนำมาถวายและหยอกล้อเล่นเป็นบางครั้งบางคราวเป็นพิธี สองพระองค์
หาได้สนใจใยดีกับหญิงนางรำที่หุ้มห่อด้วยเสื้อผ้าบางเบาแทบจะเปลือยเปล่าเหล่านั้น
เพื่อมิให้เป็นที่สงสัยต่อองค์ท่านท้าวนิลกาฬและสหายต่างเมืองที่มักมีอาการสงสัย
มักจะชำเลืองมองถึงอาการของท่านท้าวสิงหะราชและยุพราชแห่งทันทะกะนคร
ส่วนเจ้าเมืองบริวารของนครกาฬคีรีที่จะร่วมศึกนี้ก็แสดงอาการหนักหนาสาหัส
มากกว่าเจ้าเมืองนครใดๆทั้งสิ้น แต่ก็ได้รับพึงพอพระราชหฤทัยแก่จอมอสูร
จนบางครั้งก็ทรงเหลือบแลดูบ้างถึงอาการสำแดงต่อนางรำในพระองค์ที่ถูกเล้าโลมจน
ร่างกายเกือบอยู่ในสภาพที่เปล่าเปลือย และความกักขฬะมึนเมาของเหล่าเมืองต่างๆ
ตลอดจนชำเลืองท่านท้าวสิงหะราชกับยุพราชแห่งทันทะกะนคร ที่ทรงนิ่งเงียบสงบ
แต่พระองค์ก็มิทรงตรัสแต่ประการใด ยังทรงหันไปหยอกล้อต่อนางสนมคนโปรด
และเหล่านางรำทั้งหลายเพิ่มมากยิ่งขึ้น จนชุลมุนวุ่นวายไปทั่วท้องพระโรงพิธี
ครั้นได้เวลาเห็นสมควรแล้ว ท่านท้าวนิลกาฬก็ทรงตรัสไล่ให้พวกนางรำ
และสนมที่คอยปรนนิบัติออกไปเสีย ตลอดจนเหล่ามุขเสนาอำมาตย์ฝ่ายพลเรือน
ให้กลับไป คงเหลือไว้แต่ขุนทหารบางนายเท่านั้น และได้เชื้อเชิญเหล่ากษัตริย์
ให้ดำเนินไปยังด้านชั้นในอีก เพื่อที่พระองค์จะทรงปรึกษาข้อราชการเกี่ยวกับ
ศึกสงครามในครั้งนี้ ภายในชั้นในที่ใช้เป็นที่ปรึกษาข้อราชการ
ถูกประดับประดาด้วยโต๊ะเก้าอีกนั่งสำหรับใช้ปรึกษากัน ตลอดจนแบบผังเมือง
ของนาครินทนาครรวมถึงสิ่งก่อสร้างภายในเมืองถูกจำลองรูปแบบต่างๆไว้ด้วย
เมื่อเหล่ากษัตริย์ทรงนั่งบนพระเก้าอีกเรียบร้อยแล้ว ก็ทรงชี้แนะไปยังรูปแบบ
จำลอง ถึงกำแพงธรรมชาติ ประตูเมือง เพื่อจะให้นครต่างๆเข้าบุกทำลายตลอดจน
แนวทางป้องกันของเมืองนาครินทนาคร ไว้พอสังเขป พร้อมวางกำลังทัพของแต่
ละเมืองให้เจ้าบุกรุก จุดอ่อนแข็งของเมือง วันเวลาดังกล่าวไว้ด้วย
ก็ทรงถามไถ่ถึงกำลังพลของแต่ละนคร จะพร้อมเพรียงประการใดหรือไม่
ซึ่งต่างก็ถวายรายงานให้ทราบทั้งสิ้น ถึงความพร้อมเพรียงเพื่อศึกครั้งนี้
เมื่อทรงได้รับฟังแล้ว ก็ทรงเอ่ยปากแจ้งต่อนครทั้งหลายว่า
“ อันเมืองนาครินทนาครนี้ รายล้อมไปด้วยกำแพงแก้วเวทย์มนต์
ตลอดจนถึงกำแพงธรรมชาติที่มิพิษสงนานานัปการ ที่ได้รับพระประทานจาก
เทพแห่งสรวงสวรรค์ เพื่อปกปักรักษานครแห่งนี้ไว้ ฉะนั้นจึงอุดมไปด้วยพิษ
นานาประการ ที่อาจจะเกิดขึ้นจากธรรมชาติเหล่านี้ได้
จึงเป็นที่ยากยิ่งนักที่จะเข้าไปได้ง่ายนักภายในประกอบด้วยแก้วมุกอันศักดิ์สิทธิ์
และฤทธาของมหาศาสตราอาวุธทั้ง ๕ ประการที่แผ่ครอบปกคลุมพระนครไว้
ยากยิ่งจะสามารถที่เข้าไปในทางเหาะเหิรเดินอากาศและใต้พื้นดินเว้นไว้แต่
เสียจากทางบนพื้นดินเท่านั้นและภูเขากำแพงแก้วก็จะปิดสนิทเสมอมา
จะเปิดเข้าออกได้ต้องเป็นคนในนครนี้เท่านั้น เพราะอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์รักษา
ตลอดจนผู้ที่ได้รับผลแห่ง ฤทธาของผลไม้วิเศษและน้ำอมฤตอุทก ที่ทุกๆคน
ดื่มกิน อำนาจของสิ่งดังกล่าวจึงทำให้สามารถผ่านเข้าออกไปมาได้” อีกประการหนึ่ง
ท่านท้าวเธอทรงหยุด และตรัสต่อว่า
“ยกเว้นอำนาจที่ปกปักรักษาคุ้มครองนครนี้จะผ่อนคลายลงไป
ในวันแห่งทิวาราตรีของรัตติกาลเพ็ญศิวะราตรีเท่านั้น ซึ่งกาลนี้จะเป็นที่เฉลิมฉลอง
ของเทพยาดาต่อพระจอมเทพแห่งเขาไกรลาส ฤทธาของมหาศาสตราอาวุธ เทพที่รักษา
ศาสตราอาวุธก็จะกลับไปยังเขาไกรลาสด้วย ประตูเมืองก็จะคลายอำนาจลง ซึ่งทางเรา
ก็มีวิธีการที่จะเปิดประตูได้” ท่านท้าวนิลกาฬทรงดำรัส
“แล้วจะมิมีทางอื่นใดหรือที่นอกจากเพ็ญศิวะราตรีที่จะเข้าไปในนครนี้ได้”
ท่านท้าวแห่งนครปักษินกล่าวสงสัย
“มีนะมีหรอกท่านวิหะคะราช ” จอมอสูรกล่าว
“นอกจากน้ำอมฤตที่เก็บซ่อนไว้ที่ทรงขมวดบนพระเกศาของท่านท้าวผกาพรหมนี้
นำมาใช้เปิดประตูกำแพงแก้วนี้เท่านั้น นอกนั้นยังมิเห็นมีสิ่งอื่นใดท่าน ”
“แต่ทว่ายากนักที่จะได้ของสิ่งนี้ มิฉะนั้นเราก็ต้องไปทำศึกกับท่านท้าวนี้
ซึ่งยากกว่าจะทำศึกกับนาครินทนาครเสียอีก” ท้าวนิลกาฬทรงตรัสรำพึง
“หรือท่านทั้งหลายจะมีความคิดเห็นประการใดกว่านี้หรือไม่”
ทรงหันมาตรัสถามกลับเหล่าเจ้านครทั้งหลาย
“หากว่าเราจะนำแว่นแก้วขององค์จอมมหาเทพแห่งเขาไกรลาสซึ่งเรา
ได้รับตกทอดมาจากบรรพบุรุษของเราใช้ในการนี้ เราคิดว่าไม่น่ามีปัญหาหรอก”
ท่านท้าวสุพพัตสุระแห่งอหิงสากะนครกล่าวขึ้น
“อาจจะเป็นไปได้ในประการนี้ เพียงแต่เรารู้มาเท่านี้ อนึ่งอาจจะเป็นได้
ด้วยเป็นอาวุธวิเศษที่ได้รับพระราชทานมาเหมือนกันซึ่งอาจจะมีข้อแก้ไข
แตกต่างเข้าบรรเทาชะลอได้เป็นแน่” ท่านท้าวจอมอสูรตรัสขึ้น
“นั่นซิหากวันเวลายังมิถึงเราไปถึงนครนาครินทนาครก่อน น่าจะลองทำดู”
ท่านท้าวปักษินนครกล่าวเสริมขึ้น
“ท่านท้าวกล่าวก็ถูกต้องแต่หากว่าการครั้งนี้ผิดพลาดไปจะเสียหายกว่านี้อีก
สู่มิคอยวันศิวะราตรี ซึ่งจะมีมาในไม่ช้านี้ มิดีกว่าหรือท่านท้าววิหะคะราช”
ท่านท้าวเธอนิลกาฬ ทรงปรารมภ์
“แล้วทางท่านสิงหะราชกับทางเมืองทันทะกะเล่ามีความคิดเห็นประการใด”
ท้าวเธอหันมากล่าว
“ทางเราคิดว่าน่าจะรอกำหนดกาลเพ็ญศิวะราตรีนี้ เพราะหากเราได้เข้าตีนคร
มาดแม้นมิเป็นดังที่คาดคิดไว้ก็จะเสียการทั้งปวง มิใช่ไม่เชื่อในฤทธาของท่านท้าว
สุพพัตสุระก็หาไม่ ขอพระองค์ทรงไตร่ตรองดูเถิด” ท้าวสิงหะราชกล่าว
“กระหม่อมก็เห็นด้วยตามท่านปิตุลาสิงหะราชตรัส พระเจ้าค่ะ” องค์ยุพราช
โกเมศกุมารแห่งนครทันทะกะกล่าวเสริมขึ้น
กษัตริย์ทุกๆพระนครต่างก็ร่วมปรึกษาหารือกันและกัน เพราะทุกๆพระองค์
ต่างก็ทราบถึงฤทธาที่ใช้ในการปกปักรักษานครนาครินทนาครโดยถ้วนหน้า
เพราะนอกจากได้รับพรจากจอมมหาเทพแห่งขุนเขาไกรลาสแล้วยังได้รับพระพร
จากมหาเทพต่างๆเกี่ยวกับเรื่องนี้ตกทอดกันมาเรื่อยๆ จึงมิกล้าที่จะแสดงอำนาจตน
หรือของวิเศษตนเข้าเปิดทางสู่นครแห่งนี้ได้ อีกทั้งยังมีทหารแห่งสรวงสวรรค์
ทั้งหลายที่คอยเฝ้ารายงานเหตุการณ์เสนอต่อจอมเทพทั้งหลายอีกด้วย
หากเป็นวันที่กล่าวมานี้ ทหารเหล่านี้ก็จะได้รับพระราชอนุญาตให้เข้าร่วม
ฉลองในวันศิวะราตรีนี้ด้วย เมื่อต่างพากันคิดได้เช่นนี้ จึงพากันกราบทูลว่า
“หากมีสิ่งยุ่งยากอันมิอาจคาดคำนวณได้ เห็นทีจะต้องคอยวันเพ็ญศิวะราตรีนี้”
“พระเจ้าค่ะ” เหล่านครทั้งหลายกล่าว
“นั่นซิ..เราก็คิดเหมือนกับท่านทั้งหลายอยู่ เพียงแต่ความสำเร็จนี้
ยากยิ่งนักคิดว่าท่านทั้งหลายคงจะมีวิธีอื่นที่ดีกว่านี้ได้ จะได้ลดปัญหาทางด้านนี้ไป”
ท่านท้าวเธอนิลกาฬกล่าวขึ้น
แล้วพระองค์ก็ทรงชี้พระหัตถ์นำเหล่าเจ้านครทั้งหลายให้มองมายังแบบแปลน
ที่ใช้จำลองเมืองของนคร นาครินทนาคร แล้วทรงทรงปรารมภ์ขึ้นว่า
“คืนฉลองวันเพ็ญศิวะราตรีมาถึง ซึ่งมีกำหนดภายใน ๗ ราตรีนี้เท่านั้น
ถึงจะเป็นโอกาสของพวกเราที่จะเข้ายึดเมืองได้ตามภูมิประเทศต่างๆ
ฉะนั้นควรที่จะจัดแบ่งกำลังตามลักษณะภูมิประเทศมอบหมายกำลังพลออกเป็น
4 ทัพใหญ่ของแต่ละเมืองรับผิดชอบกันไป เพราะปราสาทราชวังของนาครินทนาคร
ที่แบ่งออกเป็นทางเข้า ๔ ประตูของเมืองดังนี้
ทิศเหนือ เป็นหน้าที่ของท่านท้าว แห่งปักษินนคร
ทิศใต้ เป็นหน้าที่ขององค์ยุพราชแห่งทันทะกะนคร
ทิศตะวันออก เป็นหน้าที่ของท่านท้าวแห่งสิงหะนคร
ส่วนทิศตะวันตก เป็นหน้าที่ของท่านท้าวแห่งอหิงสากะนคร
ทางด้านเจ้าเมืองต่างๆเข้าเสริมทัพทางนครทั้ง ๔ นี้ ส่วนทางเรา
จะเป็นทัพหลวงสนับสนุนไปยังทัพของทั้ง ๔ ในยามเข้าตีเมืองทั้งสี่ด้าน
โดยจัดกำลังคอยช่วยเหลือสมทบร่วมกันกับท่านทั้งหลายในครั้งนี้
ท่านจะเห็นเป็นประการใดหรือไม่”
พระองค์ทรงตรัสถามไปยังเหล่าผู้ครองนครทั้งหลาย
เจ้านครทั้งหลายครั้นเห็นต้องคล้องจองกันว่าเหมาะสมแล้วทุกประการ
จึงพากันกล่าวขึ้นว่า
“หากเป็นพระประสงค์เช่นนั้นก็ไม่ขัดข้อง พระเจ้าค่ะ”
“ครั้งนี้เราต้องอาศัยความช่วยเหลือจากท่านเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน
เมื่อเสร็จการประชุมแล้วก็เชิญเสด็จกลับนครได้และให้เก็บเป็นความลับด้วยกัน
หากวันเพ็ญศิวะราตรีที่จะมีขึ้นในเร็วๆวันนี้ ทางเราก็จะแจ้งไปยังนครของท่าน
เพื่อจัดการนำทัพต่อไป โดยวันเวลาดังกล่าวให้ท่านรวบรวมทัพเข้าปฏิบัติได้เลย
หากแม้นผู้ใดต้องการจะเข้าร่วมกับทัพเราก็ไม่เป็นปัญหาประการใด
เมื่อไปถึงยังเมืองนครนาครินทนาครแล้วเราก็จะจัดกำลังเข้าร่วมประสานกับ
ท่านทั้งหลายและปรึกษากันอีกครั้งทางด้านศึกครั้งนี้ ตอนนี้ขอเชิญท่านเสด็จ
เดินทางกลับนคร หากมาดแม้นผู้ใดประสงค์จะมิเสด็จกลับและพักผ่อนต่อ
ยังนครของเรา เราก็ยินดีต้อนรับเสมอๆ” ท่านท้าวนิลกาฬตรัส แล้วหันไป
สั่งยังข้าราชบริพารของพระองค์เกี่ยวกับเรื่องนี้โดยเฉพาะด้วย
เมื่อเป็นเช่นนี้ทางเหล่าเจ้านครต่างๆก็ทูลลากลับจะมีบ้างที่เข้าพักผ่อน
อยู่ต่อไม่กี่เพียงนครเท่านั้น
ส่วนทางด้านท้าวเธอสิงหะราชกับพระยุพราชโกเมศกุมาร ก็เสด็จ
เดินทางกลับไปยังนครสิงหะนคร พระยุพราชก็เข้าพักผ่อนภายในนคร
ทรงร่วมปรึกษาหารือเกี่ยวแก่การศึกทั้งนี้ เมื่อได้รับการหว่านล้อมจาก
พระยุพราชโกเมศกุมารซึ่งจะมาเป็นพระชามาดาในพระองค์ ก็ให้ทรง
แปรปรวนเปลี่ยนอุปนิสัยมาทางว่าที่พระชามาดาไป ด้วยพระองค์ทรงรักใน
พระราชธิดาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว หากจะละเว้นแต่พระองค์เป็นผู้มีสัจจะ
นักแน่นยิ่งนัก การครั้งนี้จะร่วมศึกโดยมิยินยอมพร้อมใจเหมือนครั้งแรก
เมื่อกาลเป็นดังนี้ต้องตามความพระประสงค์ของพระชนกนาถ
พระยุพราชโกเมศกุมารก็ทูลลา เพื่อเสด็จขอเข้าพบพระราชธิดาในพระองค์
เพื่อหาทางพบเจ้าหญิงอรุณรัศมี เพิ่มสัมพันธ์ไมตรีตามประสาหนุ่มสาว
ซึ่งท่านท้าวเธอก็ทรงผ่อนปรนเพราะทราบความนัยจากท่านท้าวแห่ง
ทันทะกะนครแล้ว ที่ทรงเกริ่นไว้ ถึงการจะสู่ขอเจ้าหญิงอรุณรัศมีไว้
ซึ่งท้าวเธอกับพระมเหสีก็ทรงเห็นพร้องต้องกันทุกประการเมื่อการศึกเสร็จสิ้นลง
10 พฤศจิกายน 2549 10:40 น.
แก้วประเสริฐ
บทที่ ๑๑
พันธมิตรอสูร
กล่าวถึงนครที่ให้สนธิสัญญาต่อท่านท้าวนิลกาฬ เพื่อเข้าร่วมศึกชิงน้ำอมฤต
แห่งนครนาครินทนาคร เพื่อนำมาแบ่งสันปันส่วนซึ่งกันและกันนั้น เมื่อได้รับ
พระราชสาสน์จากท่านท้าวเธอแล้วก่อนทำการศึกครั้งนี้ ก็เตรียมตัวที่จะมายัง
นครกาฬคีรีนคร บางนครก็เสด็จมาเอง บางนครก็ให้ราชบุตรมาตามวันเวลาดังกล่าว
อาณาเขตนครเหล่านี้ได้แก่
สิงหะนคร ทิศเหนือ จรดนครอินท์ราสูรย์พระราชบุตรของท่านท้าวกุเวรมหาราช
ทิศใต้ จรดนครอิทธิราชปกครองพญานาคแห่งสีทันดร
ทิศตะวันออก จรด นคร กมพุชะเทวินทร์ปกครองเหล่าวิทยาธร
ทิศตะวันตก จรดอหิงสากะนครปกครองเหล่าสัตว์มีเขาทั้งหลาย
นครนี้ชาวประชามีร่างกายท่อนล่างเป็นมนุษย์ส่วนท่อนบนเป็นราชสีห์
ท่านท้าวเธอมีพระอุปนิสัยกึ่งดีกึ่งร้าย แปรเปลี่ยนเสมอๆ แต่มั่นคงในสัจจะยิ่งนัก
ยามอยู่ในปราสาทราชวังจะกลับร่างเป็นเช่นมนุษย์ธรรมดา
ชาวประชานครกึ่งเทพกึ่งสัตว์ปกครองหมู่สัตว์ดุร้ายที่กินเนื้อเป็นอาหาร
ท้าวเธอสิงหะราชนั้นเป็นผู้ปกครองนครสิงหะนคร
มีพระมเหสีทรงพระนามว่า มนทิพย์เทวี พระราชธิดาแห่งแคว้นปุยะชัยนคร
มีพระราชบุตรทรงพระนามว่า สิงหะฤทธา เป็นพระยุพราช
พระธิดานามว่า อรุณรัศมี ซึ่งมีร่างกายเหมือนดุจดั่งมนุษย์
ทรงพระสิริโฉมงดงามยิ่ง จนเป็นที่กล่าวขานทั่วไป ท้าวเธอทรงโปรดปรานนัก
เนื่องจากพระราชมารดาเป็นมนุษย์ที่ท่านท้าวเธอแย่งชิงมาจากนครปุยะชัยนคร
ต่อมาภายหลังสำนึกผิดจึงไปขอขมาต่อท่านท้าวแห่งนครปุยะชัยจึงได้รับอภัยโทษ
และจัดการสยุมพร ณ นครปุยะชัย ทรงรับเป็นพระราชบุตรเขยนับแต่นั้นมา
ท้าวเธอสืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษ ซึ่งเคยเป็นพระราชพาหนะ
ของมหาเทพแห่งสรวงสวรรค์ ที่ทรงพละพลานุภาพมากสูงสุดพระองค์หนึ่ง
ตราบเมื่อมหาเทพนั้นหมดบุญญานุภาพได้เสด็จจุติจากสรวงสวรรค์ไป
บรรพบุรุษของชาวสิงหะนคร จึงได้ลงมายังบริเวณเชิงเขาไกรลาส
ตั้งเมืองถิ่นฐานสืบต่อเนื่องมาจนถึงท่านท้าวสิงหะราชครอบครองนคร
จนกระทั่งท่านท้าวนิลกาฬมาชักชวนไป
เพื่อแย่งชิงน้ำอมฤตจากนครนาครินทนาคร
ดังนั้นจึงตกลง เพราะจะทำให้เพิ่มอำนาจมากยิ่งขึ้นร่างกายก็จะเป็นอมตะด้วย
ซ้ำท้าวเธอยังไปชักชวนเจ้านครทันทะกะ
ซึ่งเป็นพระราชบุตรเขยร่วมแห่งนครปุยะชัย
เข้าร่วมศึกครั้งนี้ด้วย ท่านท้าวแห่งทันทะกะนคร
ทรงไม่เห็นชอบด้วยแต่ก็ต้องจำใจไปในศึกครั้งนี้
นครปักษินนคร ตั้งเมืองอยู่แถวริมฝั่งมหาสมุทรสีทันดร
มีท่านท้าววิหะคะยุราชเป็น ผู้ครอบครองนคร
มีพระมเหสีทรงพระนามว่า กะสิยะเทวี
มีพระยุพราชทรงพระนามว่า วานนรินทร์
ทรงปกครองสัตว์เหล่ามีปีกทั้งหลายที่กินเนื้อสัตว์เป็นอาหาร
อาศัยหากินอยู่แถวริมฝั่งมหาสมุทรสีทันดร ไปทางทิศเหนือ
สืบเชื้อสายมาจากท่านท้าวพญาครุฑกับท่านท้าวสะดายุปักษา
บรรพบุรุษแยกตัวมาตั้งนครขึ้นใหม่สืบทอดการปกครองกันมา
จนตกทอดมาถึงท่านท้าววิหะคะยุราช ปัจจุบันนี้
ท่านท้าวเธอนี้เป็นผู้มีนิสัยที่เย่อหยิ่งจองหองไม่เกรงกลัวผู้ใด
กำเริบสืบสานหมกมุ่นแต่ในการสงครามชอบเที่ยวรุกราน
เหล่านครใกล้เคียงต่างๆเป็นประจำ อุปนิสัยเยือกเย็นแต่โลภมากเป็นสันดาน
ครั้นเมื่อได้รับการชักชวนเข้าแย่งชิงน้ำอมฤตก็ให้เกิดยินดีเนื่องด้วย
คราวที่มีการกวนน้ำอมฤตนั้นทางบรรพบุรุษมิได้เข้าร่วมแต่ประการใด
ทราบว่าหากผู้ใดได้ดื่มน้ำอุทกอมฤตแล้วร่างกายจะเป็นอมตะ
ปักษินนครนี้ที่ตั้งนครอยู่บนที่สูงของภูเขาสุวรรณคีรีที่ยื่นออกไป
ในมหาสมุทรสีทันดรและบริเวณริมฝั่งของมหาสมุทรอาณาเขตกว้างขวาง
อาณาเขตทิศเหนือ จรดมหาสมุทรสีทันดร
อาณาเขตทิศใต้ จรดนครป่างิ้วลายของพญาครุฑเชิงเขาไกรลาส
อาณาเขตทิศตะวันออก จรดป่าดงดิบที่ชุกชุมไปด้วยสัตว์ป่าดุร้ายนับปการ
ทั้งมีละอองของอากาศเป็นพิษห่อหุ้มทั่วบริเวณนั้น
อาณาเขตทิศตะวันตก จรดเทือกเขาน้อยใหญ่จำนวนมากมาย
มหาศาลเรียงรายเต็มไปด้วยไม้น้อยใหญ่ ประกอบไปด้วยต้นไม้มีพิษ
หากไม่ไปทางอากาศยากนักที่จะหลุดพ้นผ่านจากบริเวณนี้ไปได้
อหิงสากะนคร มีท่านท้าวสุพพัตสุระเป็นเจ้าครองนคร
มีพระมเหสีทรงพระนามพระนางอชิรเทวี
มีพระยุพราชทรงพระนามว่า อหิงสากุมาร
ปกครองหมู่ยักษ์ อสูรและ หมู่สัตว์จำพวกควายป่า โคป่า จามจุรี เป็นต้น
เป็นที่อยู่ของเหล่าสัตว์ ที่ชุกชุมอาศัยในป่าดงดิบเป็นบริวาร
ปราสาทราชวังอยู่ภายในถ้ำแห่งภูเขาใหญ่ที่ชื่อว่าไตรคีรี
ติดกับภูเขาที่เรียงรายน้อยใหญ่ บริเวณหน้าเป็นท้องทุ่งที่ราบทั้งหลาย
กับป่าไม้เบญจพันธุ์คละหลากหลายทั่วๆไป
สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษซึ่งเป็นพาหนะของจอมเทพบนสรวงสวรรค์
แต่ได้ถูกทำโทษสาปให้มายังป่าแถวหิมพานต์
ด้วยรับพระราชทานฤทธิ์จากจอมเทพที่มีอยู่ซึ่งเคยเป็นพาหนะของจอมเทพ
จึงเที่ยวกวาดต้อนบรรดายักษ์ อสูร และสัตว์ป่าทั้งหลายที่อาศัยอยู่
จัดสร้างเมืองขึ้นมาใหม่ภายในอาณาเขตที่เป็นหนองน้ำ ราบลุ่มล้อมรอบภูเขา
จนตกทอดมาถึงท่านท้ายสุพพัตสุระ สภาพบ้านเมืองจึงไม่สวยสดงดงามตานัก
ด้วยอุปนิสัยเป็นอหิงสาเชื้อสายอสูรจึงไม่ค่อยสนใจใยดีกับถิ่นที่อยู่อาศัยนัก
มีนิสัยเป็นสันดานสืบทอดกันมา ชอบเร่ร่อนท่องเที่ยวไปในที่ต่างๆ
ท่านท้าวเธอมีนิสัยดุร้าย โมโหเกรี้ยวกราดดุจไฟประลัยกัลป์ อารมณ์ไม่คงที
แน่นอน เกรกเหรกเกเรเป็นประจำ ชอบเที่ยวรุกรานต่างนครเป็นเนืองนิตย์
มักมากในกามคุณยิ่งนักเที่ยวส่องเสพย์กับ ยักษ์ อสูร สัตว์น้อยใหญ่ทั่วๆไป
จนมีบุตรธิดามากมายนัก แต่พระองค์หาได้สนใจใยดีไม่ หากมีครรภ์เมื่อใด
พระองค์ก็จะเสด็จหนีไป เที่ยวหาความสำราญที่อื่นอีก
นานๆทีจะเสด็จคืนกลับสู่พระราชวังการดูแลปกครองสักที
ฉะนั้นการปกครองนครจึงตกอยู่กับพระยุพราชและพระมเหสีเกือบทั้งสิ้น
อาณาเขตทิศเหนือ จรดเทือกเขาน้อยใหญ่ระหว่างติดชายแดนปักษินนคร
อาณาเขตทิศใต้ จรดลุ่มน้ำที่ไหลทอดลงสู่มหาสมุทรสีทันดรชายแดน
ติดกับอาณาเขตของทันทะกะนคร
อาณาเขตทิศตะวันออก จรดชายแดนนครกำพุชะเทวินทร์
อาณาเขตทิศตะวันตก ติดป่าหิมพานต์ด้านล่างจรดชายแดนของสิงหะนคร
ครั้นได้รับการชักชวนจากท่านท้าวนิลกาฬแล้วก็ให้เกิดความดีใจเป็นอย่างยิ่ง
หากได้รับน้ำอมฤตมาแล้วก็จะทำให้ร่างกายเป็นอมตะยากยิ่งที่จะมีใครมาต่อกร
ต่อสู้จึงยอมรับคำชักชวนพร้อมจะส่งกองทัพเข้าร่วมศึกในครั้งนี้ด้วย
ทันทะกะนคร มีท่านท้าวนาคุระนาคราชเป็นเจ้าครองนคร
มีพระมเหสีทรงพระนามว่า ทิพย์ระดาเทวี เป็นพระราชธิดาของปุยะชัยนคร
มีพระราชบุตรทรงพระนามว่า โกเมศกุมาร เป็นประยุพราช
มีพระธิดาทรงพระนามว่า อุทัยเทวี ทรงพระสิริโฉมงดงามนัก ร่ำลือไปทั่ว
ทรงเป็นที่โปรดปรานของพระราชบิดาเป็นอย่างยิ่ง
ท่านท้าวเธอมีนิสัยเยือกเย็นเมตตาธรรม
พระองค์ทรงทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา
เชื่อมั่นเคร่งครัดในคำสอน แต่ที่ตกลงเข้าร่วมกับท่านท้าวนิลกาฬ
เหตุเพราะเหตุว่าท่านท้าวสิงหะราชซึ่งเป็นพระราชบุตรเขย
ร่วมกันกับพระองค์
เสด็จมาอ้อนวอนแรกๆก็ปฏิเสธ แต่ท่านท้าวสิงหะราช
แถลงเหตุผลสาเหตุได้เสีย แกมขู่ว่าหากมิเข้าร่วมศึกครั้งนี้เห็นที
พระนครจะถูกรุกรานจากท่านท้าวนิลกาฬเป็นแน่แท้
ท่านท้าวเธอมิอาจจะช่วยเหลือได้แต่ประการใด ซึ่งครั้งนี้เป็นศึกสาหัสยิ่งนัก
อันอาจจะกระทบถึงพระราชวงศ์ต่อไปในภายภาคหน้า
ตลอดจนพระมเหสีพระราชบุตรและพระราชธิดาอาจรับความลำบากก็เป็นไปได้
ด้วยเพราะท้าวเธอนิลกาฬก็มักมากในกามคุณอยู่แล้ว
เพียงเห็นติดแต่ว่า พระองค์เป็นพระราชราชบุตรเขยร่วมวงศาเดียวกันกับเรา
จึงได้เกรงใจมิได้ให้คนมารุกรานสู่ขอพระราชธิดาเสีย
ท่านท้าวนาคุระนาคราชทรงเห็นจริงตามท่านท้าวสีหะราช
จึงทรงยินยอมอย่างเสียไม่ได้ อีกประการหนึ่งก็ทรงโปรดในพระราชธิดา
อรุณรัศมีของท่านท้าวเธออยู่แล้วที่มาเยี่ยมเยียนปรนนิบัติพระองค์มิได้ขาด
ซ้ำยังเป็นสหายรักกับพระราชธิดาของพระองค์ ซึ่งเป็นที่โปรดปรานยิ่งนัก
แต่การครั้งนี้พระองค์ได้ทรงเรียกพระมเหสีและพระราชบุตรธิดา
เข้าร่วมปรึกษาหาทางแก้ไขเฉพาะหน้าไปก่อน
และมอบหมายให้พระยุพราชเป็นผู้ประสานงานกับท่านท้าวเธอสิงหะราช
เพียงพระองค์เดียวตลอดจนการศึกครั้งนี้ โดยมิได้จัดนำพหลพลไกร
ที่เข้มแข็งเชี่ยวชาญออกศึกเพียงจะมีก็เพียงองครักษ์ที่เข้มแข็งกับกองทหาร
ที่เข้าทำการเพื่อปกป้องพระยุพราชไว้เท่านั้น หาได้กระตือรือร้นแต่
ประการใดไม่ เพียงทำขึ้นเพื่อให้พ้นผ่านพ้นวิกฤตการณ์ไป
และไม่ขัดเคืองพระราชหฤทัยแก่องค์ท้าวสิงหะราช
ที่ทรงเป็นพระราชบุตรเขยด้วยกัน อีกทั้งองค์ยุพราชก็ทูลพระราชบิดา
ให้จัดการเรียกเพิ่มฝึกปรือเหล่าทหารหาญขึ้นตลอดจนถึง
การเสริมสร้างอุปกรณ์ยุทธ์ปราการใหม่ในระหว่างนี้ให้เข้มแข็งขึ้นอีก
เพื่อใช้ปกป้องพระนครและยังเป็นกุศโลบายให้ท่านท้าวเหล่าต่างๆ
ที่จะเข้าร่วมศึกได้ทราบถึงการเตรียมพร้อมในการครั้งนี้
มิได้เกิดความสงสัยแต่ประการใดไม่
องค์ท้าวเธอก็ทรงเห็นด้วยจึงมอบหมายให้องค์พระยุพราช
และพระราชธิดา ช่วยกัน
ดูแลให้เป็นที่เรียบร้อยในระหว่างนี้ หากองค์พระยุพราชเสด็จไป
ก็ให้พระราชธิดาเป็นผู้ควบคุมดูและเหล่าทหารและรักษาปกป้องพระนครด้วย
เมื่อทรงรับสั่งแล้วก็ทรงรู้สึกปลอดโปร่งโล่งพระราชหฤทัยยิ่งนัก
ที่การครั้งนี้ได้บรรลุล่วงไปด้วยดีอีกประการหนึ่ง
ครั้นแล้วก็ให้ทรงพระเกษมสำราญพระราชหฤทัย ทรงหยอกล้อ
พระมเหสีและพระราชบุตรและธิดาจนเป็นที่สราญไปทั่วหน้ากัน
ครั้งถึงกาลซึ่งได้เวลาที่ทางเมืองกาฬคีรีส่งพระราชสาสน์มาเชื้อเชิญเพื่อร่วม
ปรึกษาข้อราชการกันและกัน พระองค์ก็ให้พระยุพราชเสด็จล่วงหน้าไปก่อน
โดยพระองค์ให้เสด็จไปหาท่านท้าวสิงหะราชราชันย์
เพื่อขอเข้าร่วมเดินทางไปและขอข้อแนะนำบางประการด้วย
เพื่อการศึกครั้งนี้ อีกประการหนึ่งก็เพื่อให้พระราชบุตร
ทำความสนิทสนมกับพระราชธิดาแห่งแคว้นสิงหะนคร
ซึ่งเป็นไปตามความพระประสงค์ของพระองค์ทรงวางไว้ในราชหฤทัย
ที่จะทำการเชื่อมสัมพันธ์ไมตรีแก่แคว้นสิงหะนคร
ให้แน่นแฟ้นยิ่งๆขึ้น ด้วยพระองค์คาดหวังจะให้พระยุพราชในพระองค์
ได้อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงอรุณรัศมี พระราชธิดา
ขององค์ท่านท้าวสิงหะราชต่อไปในกาลภายภาคหน้าต่อไป
8 พฤศจิกายน 2549 13:20 น.
แก้วประเสริฐ
บทที่ ๑๐
ปทุมวดีมณีกานต์
ทางด้านของเมืองรัตนานคร ที่เป็นแคว้นกึ่งมนุษย์กึ่งคนธรรพ์
ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับเชิงเขาไกรลาส
ไปในทางด้านทิศตะวันออก
ติดกับอาณาเขตของท่านท้าวธตรฐมหาราชอยู่ในความปกครองดูแลของ
ท่านท้าวธตรฐมหาราช
ทางด้านเหนืออาณาเขตติดต่อกับสุวรรณนครของท่านท้าวพิณทุบดีจ้าวแห่งคนธรรพ์
ทางด้านทิศใต้อาณาเขตติดต่อกับท่านท้าวเวนไตยจอมพระยาครุฑแห่งป่าไม้งิ้วลาย
ทางทิศตะวันตกติดอาณาเขตของท่านท้าวนาคะเสนผู้ควบคุมดูแลนาคทั้งปวง
แห่งมหาสมุทรสีทันดร ซึ่งทั้งหมดนี้มีสันถวไมตรีดียิ่ง
ไปมาหาสู่ซึ่งกันและกันตลอด และส่งเครื่องราชบรรณาการแลกเปลี่ยนกันประจำทุกๆปี
อันเมืองรัตนานครนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ราชบุตรท่านท้าวคนธรรพ์
เกิดรักใคร่ชอบพอกันกับอิสตรีมนุษย์เจ้าหญิงแห่งตักกะนคร
ตลอดจนพระองค์ทรงอภิเษกสมรส ณ เมืองตักกะนครมิได้ทูลให้ท้าวเธอทรงทราบ
เสร็จแล้วจึงทรงนำกลับนครคนธรรพ์ จนเป็นที่กล่าวขานของเหล่าชาวคนธรรพ์นคร
จึงทรงพระระคายเคืองยิ่งนักจนทรงพระพิโรธของพระราชบิดาอย่างยิ่ง
ดังนั้นจึงได้ทูลลาพระราชบิดาไปสร้างนครใหม่โดยนำเหล่าขุนทหารสนมกำนัล
ตลอดจนชาวคนธรรพ์ทั้งปวงที่จงรักภักดีต่อท่านท้าวเธอ เสด็จดำเนินออกจากเมือง
เหาะเหิรไปในทางอากาศและเมื่อเห็นที่เป็นชัยภูมิมงคลดี
ทำเลเหมาะสมงดงามเป็นที่สมควรจะจัดตั้งนครใหม่ได้
พระองค์จึงทรงนำเหล่าผู้ภักดีเหาะลงมา ซึ่งชัยภูมิแห่งนี้เป็นที่สวยงามมีบริเวณที่ประกอบ
ไปด้วยสิ่งมงคลหลายๆประการมีบริเวณน้ำใสสะอาดกว้างใหญ่เรียงรายรอบล้อม
ไปด้วยพฤกษานานาพันธุ์ตลอด ฝูงปลานานาชนิดหลากสีสันพากันว่ายไปมา
ด้านข้างเต็มไปด้วยขุนเขาน้อยใหญ่เป็นเกราะแก้วกำบัง
อีกทั้งภายในหุบเป็นบริเวณที่เต็มไปด้วยพฤกษานานาพันธุ์ส่งกลิ่นหอมขจรขจายไปทั่ว
ตลอดจนสัตว์น้อยใหญ่มากมายหลายๆชนิด ทั้งราชสีห์คชสีห์ กินนร กินนรี
ตลอดจนต้นไม้มักกะลีผล
จึงกะเกณฑ์เจ้าหน้าที่ที่ชำนาญในด้านก่อสร้างระดมกำลังเข้าจัดการสร้างเมืองใหม่
เมื่อทรงสร้างเมืองเสร็จแล้วก็จัดระเบียบการปกครองขึ้นมาใหม่
พระองค์ทรงวางระเบียบทั้งภายนอกและภายในขึ้น
โดยจัดตั้งเหล่าขุนทหารรวมทั้งพลเรือนให้ดูแลควบคุมเหล่าอาณาประชาราช
ตลอดจนการเชื่อมสัมพันธไมตรีกับเหล่านครต่างเมืองรอบข้าง
พัฒนาสร้างอาณาเขตจนรุ่งเรืองไพศาล
แต่ก็ยังส่งเครื่องราชบรรณการให้กับเสด็จพ่อทุกๆปี
จวบจนเสด็จสวรรคต เมื่อสืบทอดมานานๆก็หยุดงดส่งเครื่องราชบรรณาการ
แต่ก็ยังเสด็จไปเยี่ยมเยียนไปมาหาสู่เป็นนิจสินมิได้ขาด
ฉะนั้นนครรัตนาแห่งนี้จึงเป็นกึ่งมนุษย์กึ่งเทพคนธรรพ์
ที่สืบเชื้อสายระหว่างมนุษย์และคนธรรพ์
ซึ่งชาวประชาพารามีรูปร่างทรวดทรงงดงาม
ประกอบมีเลือดเนื้อเยี่ยงมนุษย์ทั้งหลาย
และยังเป็นกึ่งเทพคนธรรพ์อยู่ ต่างมีทรงฤทธิ์เดชาเสมือนเทพทั้งหลาย
ลักษณะ คล้ายๆกับนครนาครินทนาครที่มีลักษณะเดียวกัน
กาลครั้งนี้จึงเป็นที่เลืองลือขจรขจายไปทั่วทั้งเหล่าเทพยาดา
ยักษ์ อสูร ครุฑ วิทยาธร และคนธรรพ์ทั่วๆไป
จวบจนสืบทอดราชสมบัติตกทอดมาถึงท่านท้าวทศราช
และตกทอดมายังเจ้าหญิงมณีกานต์เจ้าหญิงปทุมวดี
เนื่องจากกริ่งเกรงภัยอันอาจจะเกิดกับพระธิดาทั้งสองของพระองค์
จึงยกพระธิดาทั้งสองพระองค์ให้แก่ทัศยุราชันย์กษัตริย์แห่งแคว้นนาครินทนาคร
ซึ่งมีเชื้อสายลักษณะคล้ายกับเมืองของพระองค์ กึ่งเทพกึ่งมนุษย์
ทรงป้องกันการสู่ขอและรุกรานจากนครต่างๆทั้งหลาย
เพื่อจะได้ไม่วุ่นวายต่อไปในกาลหน้า
ตลอดจนภัยพิบัติเกิดจากการแก่งแย่งชิงดีกันจากเทพยาดา ยักษ์ อสูร
ตลอดจนเหล่าวิทยาธรคนธรรพ์ และนครอื่นทั้งใกล้และไกล
ในเมื่อทราบว่าเจ้าหญิงทั้งสองตกเป็นชายาของทัศยุราชันย์เสียแล้ว
ข่าวร่ำลือก็ค่อยๆจางหายไปในที่สุด เป็นที่ทรงสบายพระราชหฤทัยของพระองค์
ภายหลังที่เจ้าหญิงมณีกานต์เถลิงถวัลย์ราชสมบัติราชธานีแล้ว
ก็ทรงโปรดจัดการวางระเบียบเสริมการปกครองขึ้นใหม่
ตลอดจนทั้งฝ่ายพลเรือนและทางทหาร แบ่งขยายแยกกองทัพขึ้นมาใหม่
โดยให้เจ้าหญิงปทุมวดีพระขนิษฐาควบคุมดูแลบัญชาการทางด้านทหาร
ฝึกหัดอาวุธยุทโธปกรณ์ตลอดจนวิทยาอาคมต่างๆทั้งทางไสยเวทย์มนต์คาถา
ส่วนพระองค์เองก็ควบคุมดูแลทางด้านฝ่ายพลเรือนจัดวางระเบียบต่างๆ เพิ่มเติมขึ้น
ให้เหล่าข้าราชบริพารฝ่ายพลเรือนเข้าตรวจสอบเยี่ยมเยียนชาวประชามิได้ทอดทิ้ง
หากมีปัญหาใดๆมิอาจแก้ไขได้ให้รีบรายงานต่อพระองค์ทันที
เพื่อจะได้จัดหาทางช่วยเหลือต่อไปมิให้เดือนร้อนแก่เหล่าประชาราษฎร์ต่อไป
ทรงปรึกษากับพระขนิษฐาร่วมกันจัดตั้งกองทหารหญิงขึ้นมาใหม่
อันทรงความคิดอ่านนี้พระองค์นำแนวนี้มาจากเจ้าหญิงดาริกาพระสหายรัก
ซึ่งร่วมพระสวามีเดียวกันก่อนที่องค์พระสวามีจะทรงสิ้นพระชนม์ไป
แล้วจึงทรงจัดการฝึกปรือตำหรับพิชัยสงคราม อาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ
ตลอดจนวิทยาอาคมลี้ลับต่างๆทั้งทางไสยเวทย์จนเชี่ยวชาญทำได้ดั่งใจนึกปรารถนา
ให้แก่กองทหารหญิงของพระองค์โดยเฉพาะเป็นพิเศษ
ทั้งนี้การนี้โดยเฉพาะทั้งสองพระองค์ใช้เป็นเกราะกำบังพระองค์เอง
ที่เป็นอิสตรี เพื่อจะให้เป็นน้ำหนักดุลยถ่วงซึ่งกันและกันต่อไปในกาลข้างหน้า
และทั้งเป็นการป้องกันทหารฝ่ายชายตลอดจนมุขอำมาตย์มนตรี
มิให้กำเริบสืบสานเป็นภัยต่อราชบัลลังก์ เนื่องจากทรงเห็นว่าพระองค์ทรงเป็นอิสตรี
การครอบครองนครนี้จะขาดความเชื่อถือของเหล่ามุขอำมาตย์ทั่วๆไป
และเป็นบ่อเกิดของความแตกแยกระส่ำระสายจะเป็นที่เดือนร้อน
วงศาคณาญาติของพระองค์และเของเหล่าอาณาประชาราษฎร์ขึ้นได้
ดังนั้นราชตำหนักฝ่ายในจึงประกอบไปด้วยทหารหญิงของพระองค์โดยทั้งสิ้น
ทำหน้าที่ตรวจสอบดูแลเพื่ออารักษ์ขาตลอดทั้งทิวาราตรี
อันทหารทหารหญิงนี้พระองค์ทั้งสองได้ทรงคัดเลือกเฉพาะการนี้โดยพิเศษ
จากเหล่าหญิงที่รับการฝึกปรือมาจากสำนักศิลปวิทยาอาคมต่างๆทั้งในเมืองและนอกเมือง
และก็ประกอบไปด้วยเหล่ากุลธิดาของแม่ทัพนายกองและมุขอำมาตย์ข้าราชบริพาร
ที่มีแนวโน้มซื่อสัตย์สุจริตทั้งหลายและหญิงชาวเมืองที่พระองค์ทรงพบเห็นมา
ล้วนเป็นสาวโสดทั้งสิ้นทุกๆคนต่างต้องพักอยู่แต่ในตำหนักจะออกไปที่อื่นหาได้
ไม่ เว้นแต่พระองค์จะทรงพระบัญชาใช้ในกรณีจำเป็นต้องออกไป
จากนอกพระตำหนักเท่านั้น หรือทำหน้าที่สอดส่องความเป็นไปของเหล่าอำมาตย์
แต่ก็เป็นหลักในการปกครองแผ่นดินซึ่งเป็นกุศโลบายประการหนึ่งของพระองค์
ฉะนั้นจึงเป็นที่ครั่นคร้ามเกรงขามของเหล่าทหารมุขอำมาตย์โดยทั่วไป
โดยเฉพาะทหารหญิงในพระองค์เอง ซึ่งต่างก็ทราบดีว่าทหารหญิงเหล่านี้
ต่างก็เป็นพระเนตรพระกรรณขององค์เจ้าเหนือหัวของตนทั้งสิ้น
ส่วนการแต่งกายนั้นก็เสมือนๆกับทหารชายโดยทั่วไปทั้งเครื่องแบบและยศศักดิ์
จะผิดแผกก็ตรงที่เสื้อผ้ารัดรูปกว่าและดูจะอรชรอ้อนแอ้น แต่ก็เป็นที่พึงพอใจ
ของเหล่าทหารชายจึงพากันให้เกียรติและทะนุถนอมนาง
เปรียบประดุจนางในดวงใจของเหล่าทหารชายทั้งสิ้น
โดยมิกล้าบังอาจละลาบละล้วงด้วยวาจาที่ไม่เหมาะสม
เพราะต่างถือว่าเป็นทหารหญิงเหล่านี้เป็นไม้งามที่ใช้ประดับ
เป็นหน้าเป็นตาบ้านเมืองและเหล่าอาณาเขตแคว้นต่างเมืองทั่วๆไป
ฉะนั้นจึงได้รับการยกย่องโดยดุษฎีภาพจากเหล่าทหารหาญและเจ้านายชั้นสูง
ทำให้การปกครองดูง่ายและไม่เป็นปัญหาเกิดตามมาตามที่พระองค์คาดคำนวณไว้
ฉะนั้นจึงมีเหล่าหญิงที่มีความต้องการจะเป็นทหารหญิงในพระองค์เพิ่มมากขึ้น
เพราะนอกจากจะมีเกียรติยศแล้วยังเป็นที่โปรดปรานขององค์เจ้าเหนือหัว
แต่พระองค์ก็มิได้ตรัสเรียกเพิ่มเติมอีกนอกจากทหารหญิง
ที่พระองค์ทรงฝึกปรือไว้แล้วเท่านั้น เพราะมิฉะนั้นความลับอีกต่อไป
ที่พระองค์ทั้งสองทรงวางไว้โดยจัดตั้งกองกำลังลับสุ่มซ้อมฝึกปรือขึ้นกองหนึ่ง
โดยเฉพาะทั้งชายและหญิง ซึ่งจะเข้าร่วมรบกับนาครินทนาครพระสวามีของพระองค์
เมื่อหากมีภัยในภายหน้าจะได้จัดกำลังส่งเข้าช่วยเหลือต่อไป กองกำลังนี้มีความสามารถ
เหนือล้ำกว่าทหารหญิงชายในนครเสียอีก
เพราะพระองค์คัดเลือกอีกเป็นพิเศษจากทหารหญิงและชายอีกครั้งหนึ่ง
นอกจากจะฝึกปรือวิชาการต่างๆทุกประการแล้วยังได้รับผลไม้ทิพย์และน้ำอมฤตศักดิ์สิทธิ์
ที่เจ้าหญิงทั้งสองทรงขอต่อท่านมหาราชครูนำมายังนครนี้ให้ได้รับดื่มกินทุกๆคน
ฉะนั้นร่างกายของทหารหน่วยนี้จึงเปรียบเสมือนอมตะ
ยากยิ่งที่อาวุธทั้งปวงจะกร่ำกรายได้ พระองค์มิได้แพ่งพรายให้ผู้ใดรู้นอกเสียจาก
มหาราชครูสิริปัญญาแห่งนครนาครินทนาครและพระสหายรักเจ้าหญิงดาริกาเท่านั้น
การครั้งนี้เป็นแนวความคิดร่วมกันระหว่างเจ้าหญิงทั้งสามพระองค์เพื่อป้องกันเหตุร้าย
อันรัตนานครนี้อุดมสมบูรณ์เต็มไปด้วยพืชพันธุ์ธัญหารมากมาย
ตลอดจนหญิงงามมากมายเกือบจะทุกๆคนไปทั้งชายและหญิง
ตลอดจนสถานที่ท่องเที่ยวลือไปจนกระทั่งยังเมืองกาฬคีรี
แต่ท่านท้าวนิลกาฬมิกล้าเข้ามารุกรานเพราะเกรงท่านท้าวธตรฐมหาราช
ซึ่งปกครองควบคุมดูแลนครรัตนานี้อยู่ หากพลาดพลั้งผิดไปก็จะเหมือนเก่า
อีกทั้งนครรัตนานี้ประกอบไปด้วยสถานที่ท่องเที่ยวสวยงามนัก
มีสิ่งท่องเที่ยวเหมือนป่าหิมพานต์ทุกประการ
ซึ่งประกอบไปด้วยหญิงงามตลอดจนอัธยาศัยของชาวเมืองดียิ่งนัก
ทั้งๆที่ท่านท้าวนิลกาฬมีความพระประสงค์อย่างมากร่ำร้องต่อเสนาอำมาตย์เนืองๆ
เพียงรอจังหวะที่จะเข้ายึดครองเท่านั้น
นครรัตนามีท่านปุโรหิตหิตตายะเป็นผู้ให้คำปรึกษาข้อราชการ
เอกอัครมหาเสนาบดีฝ่ายทหารโดยมีท่านสุระบดินทร์เป็นผู้ควบคุมทหารชาย
เอกอัครมหาเสนาบดีฝ่ายพลเรือน ท่านสิทธิยะธรรมเป็นผู้ควบคุมดูแลข้าราชการทั้งปวง
ทหารเอกมี สินธุกาฬ วารินสีห์ สุทธิราช และ คิมหันต์ เป็นแม่ทัพคอยดูแล
รักษาประตูเมืองทั้งสี่ด้านของนครรัตนา มีฤทธิ์เดชมากหลายประการ
อีกทั้งเชี่ยวชาญทั้งพิชัยสงครามต่างๆตลอดจนเวทย์มนต์คาถาอาคม
ทางด้านทหารหญิงมีผู้ควบคุมดูแลได้แก่ เกศแก้ว ปิ่นมณี ศรีสวรรค์ และ นิรชา
แบ่งแยกเป็นสี่กอง ควบคุมดูแลพระมหาราชปราสาทปราสาทน้อยใหญ่ และตำหนักต่างๆ
ทั้งสี่ด้านเช่นกัน
การดูแลทหารหญิงและชายนี้เจ้าหญิงปทุมวดีเป็นผู้ควบคุมบัญชาโดยตรงของพระองค์
ส่วนทางทหารชายหญิงพิเศษนี้ มี วิชชุเมฆานเป็นผู้ผู้ควบคุมดูแล
ภายในหุบเขาโลหะเจือศรีคีรี อยู่ภายในใต้ของขุนเขาหลบซ่อนเร้นไว้
มีพระยาราชสีห์และพระยา คชสีห์เป็นผู้เฝ้ารักษามิให้ใครเข้าออกเด็ดขาด
นอกจากจะมีคำสั่งพระแม่เจ้ามาแสดงเท่านั้น
ส่วนเจ้าหญิงทั้งสองต่างมีอาวุธวิเศษประจำกายทุกองค์
เจ้าหญิงมณีกานต์ มีลูกแก้ววิเศษเจ็ดสีเจ็ดแสงและคทาแก้วเป็นอาวุธประจำตัว
ส่วนเจ้าหญิงปทุมวดี มีขลุ่ยแก้ว ดวงแก้ว และกำไลแก้ว ต่างเป็นของวิเศษ
อาวุธเหล่านี้มีฤทธิ์เดชเดชานับประการ ปรับเปลี่ยนไปตามสิ่งแวดล้อม
เข้าทำลายล้างปัจจามิตรทั้งหลายให้พินาศเป็นจุลไปได้ยากจะหาอาวุธใดเทียบ
เป็นอาวุธประจำพระองค์ ต่างได้รับพระราชทานจากจอมมหาเทพแห่งเขาไกรลาส
และพระแม่เจ้าอุมาเทวีพระมเหสีของจอมเขาไกรลาส
พระราชทานจากพระนารายณ์เจ้าแห่งบาดาล และท่านท้าวธตรฐมหาราช
ตั้งแต่พระองค์ทั้งสองเมื่อครั้งประสูติกาลแก่ท่านท้าวทศราชไว้
ซึ่งพระองค์ทั้งสองพกติดพระวรกายเสมอมิให้ห่างพระองค์แม้แต่น้อย
มีพระยาราชสีห์และพระยา คชสีเป็นพระราชพาหนะส่วนพระองค์ทั้งสอง
ตั้งแต่เจ้าหญิงมณีกานต์ปกครองเมืองรัตนานครก็ประสพความรุ่งเรืองขจรขจาย
ไปทั่วต่างนคร จนเป็นที่เลืองลือและต่างก็พากันมาท่องเที่ยวชมความงามยามผ่านทาง
ของเหล่าเทพยาดา ยักษ์ อสูร วิทยาธรคนธรรพ์ทั้งหลาย
เพียงผู้ผ่านมาท่องเที่ยวจะเห็นก็เพียงแต่ทหารชายหาได้เห็นทหารหญิง
ตามคำร่ำลือว่ามีความสวยงามกว่าทหารชายมากนักก็หาไม่
ฉะนั้นทหารหญิงของนครรัตนาจึงเป็นที่กล่าวขานกันไปทั่วในรูปแบบต่างๆ
ทุกๆคนพยายามอย่างยิ่งที่จะหาทางพบทหารหญิงเพื่อทัศนาถึงความสง่างดงาม
เพื่อที่จะได้ไปเล่าขานอวดอ้างตนว่าได้มาพบเห็นหญิงงามเหล่านี้แล้วเล่าสืบ
ต่อๆไป แต่ก็ไม่สามารถจะผ่านความตรวจเข้มรักษาไปได้
ยิ่งนานวันๆเข้าก็ยิ่งเต็มไปด้วยเหล่านักท่องเที่ยวชมความงามนครรัตนามากขึ้น
ดังนั้นเพื่อขจัดการสร้างปัญหาขึ้น จนถึงกับต้องวางกฎระเบียบใหม่
โดยให้พวกนักท่องเที่ยวไปท่องเที่ยวได้นอกเมืองยังสถานที่
ที่มีลักษณะคล้ายป่าหิมพานต์เท่านั้น
ส่วนต้นมักกะลีผล อันมีผลไม้เป็นรูปสาวงามเปลือยเปล่าก็ถูกจัดเฝ้าดูแลรักษาไว้
ให้พ้นจาก เทวา ครุฑ ยักษ์ อสูร วิทยาธรคนธรรพ์อย่างใกล้ชิด
ห้ามผู้หนึ่งผู้ใดที่มาเที่ยวชมป่าน้อยหิมพานต์นี้ได้เข้าเก็บเชยชมผลได้เป็นอันขาด
ส่วนภายในเมืองก็จัดไว้ในสำหรับแขกบ้านแขกเมือง ที่มาติดต่อข้อราชการเท่านั้น
หรือมาแลกเปลี่ยนสิ่งของกัน ปัญหาเมืองค่อยๆหมดไปด้วยการอยู่อย่างสันติสุขสืบมา