23 ธันวาคม 2552 09:55 น.
เสมอจุก
โอละเห่
เจ้านาฬิเกจะเฉไฉ
ทะเลล่มลมพล่านสู่ลานใจ
เดือดดาลปานใดใคร่รู้ดี
โอละเห่
จะโยเยร่ำไห้หาใช่ที่
จงหยุดดูให้รู้ชัดที่พัดวี
กล่อมฤดีกลางทรวงหรือลวงใจ
โอละเห่
จะหันเหหัวนอนกันตอนไหน
แบ่งหมอนนอนคนละครึ่งใบ
โอบไหล่ยิ้มย่องและจ้องตา
โอละเห่
จะลอยเลเห่ลมไปชมผา
ฝังเศร้าเหงาลงกับคงคา
ค่อยกลับมาฟังเจ้านกเขาคู
โอละเห่
จะไกวเปลเห่เจ้าจนเช้าตรู่
วังวน อนธการที่พล่านพรู
จะคงอยู่กับเจ้าแค่เช้าเอย
.........................................
18 ธันวาคม 2552 15:15 น.
เสมอจุก
ฉันเดินผ่านบ้านนี้ทุกวี่วัน
มีสองชั้นสีสันดูสดใส
ทาสีเหลืองแดงสลับประดับไฟ
ปลูกโมกไม้ปีบปาล์มมะขามปน
สนามหญ้าเล็กเล็กเด็กสนุก
ด้วยหมาน้อยไล่รุกไปทุกหน
บ้างล้มกลิ้งทิ้งร่างบ้างวิ่งวน
ทั้งหมาคนเสียงขรมระงมซอย
รั้วระแนงโปร่งตาทาสีขาว
มีแปลงยาวดาวเรืองสีเหลืองอ๋อย
ที่หลังบ้านลานร่มลมสำออย
เห็นสาวน้อยห้อยขาชิงช้าไกว
ดูแบบบางร่างเล็กกะทัดรัด
ผมรวบมัดรัดยางไว้ข้างไหล่
ช่างจิ้มลิ้มนิ่มนวลและยวนใจ
เธอมีใฝใต้ตาอีกแล้วครับ
เหมือนละเมอเผลอมองจนต้องจิต
ดั่งเสพติดต้องกมลจนหนุบหนับ
วันใดมาไม่เจอเธอหายลับ
วันนั้นนอนไม่หลับเชียวครับคุณ
เธอส่งมอบรอยยิ้มอันนิ่มนวล
แสนเย้ายวนป่วนกมลจนโลกหมุน
ด้วยรอยยิ้มนิ่มใสละไมละมุน
และหอมกรุ่นราวหลงดงดอกไม้
รวมพลังกายใจเข้าไปทัก
ด้วยใจเต้นตึ๊กตั๊กและหวั่นไหว
เธอรับมอบไมตรีที่ให้ไป
ร่วมปราศรัยถ้อยคำที่นำพา
ดอกเอ๋ยเจ้าดอกมะลิซ้อน
แม่งามงอนเป็นนางไม้หรือไรหนา
นั่นเด็กหญิงวิ่งแล่แต่ไกลมา
แม่จ๋าพ่อให้พาไปกินข้าว
......................................
15 ธันวาคม 2552 13:02 น.
เสมอจุก
เมื่อวานซื้อหนังสือจากเซเว่นฯ
มาอ่านเล่นเห็นว่ามันน่าอ่าน
เป็นข้อคิดกำลังใจในการงาน
เขียนโดยพระไพศาล วิสาโล
ในบางตอนท่านเล่าเอาไว้ว่า
ณ วัดวาแห่งหนึ่งซึ่งไกลโข
ผู้ป่วยเอดส์นอนเตียงเหมือนเรียงโชว์
เป็นหลายโหลเรียงรายอยู่ในเรือน
ทุกทุกวันใครตายเขาย้ายออก
ผู้ป่วยนอกก็แล่นมาแทนเพื่อน
ก็ได้เห็นแบบนี้เป็นปีเดือน
ดูเสมือนธรรมดาเรื่องสามัญ
โอ้ละหนอรอคอยแต่ความตาย
ด้วยร่างกายไร้แรงจะแข็งขัน
ผอมซูบลูบกระดูกก็ถูกอัน
ตุ่มพองหนองคันดูมันเฟะ
แต่จิตใจใช่แย่เหมือนอย่างร่าง
พระนำทางสว่างใจไม่ปะเปะ
ให้มองเห็นความตายที่ฟายเฟะ
ก็เละเทะแค่กายมิใช่ตน
จึงแววตาสดใสอยู่ในธรรม
ไม่ครวญคร่ำร่ำไห้ไร้เหตุผล
มัจจุราชมาดหมายไม่เว้นคน
แต่ก็พ้นความทุกข์เข้ารุกใจ
พลันสำเนียงเสียงเพลงจากวิทยุ
ดังปะทุลั่นเรือนของคนไข้
เพลงฉลองวันเกิดเปิดฉลองใคร
ฟังบาดใจ happy birthday to you
ยังมิทันเสียงเพลงบรรเลงจบ
นั่นเสียงใครร้องกลบก็ไม่รู้
happy deadday to you
ร้องอยู่ลั่นลั่นสนั่นเตียง
ฉับพลันลูกคู่ก็กู่รับ
พรึบพรับรับร้องกันก้องเสียง
กระหึ่มดังฟังดูโดยพร้อมเพรียง
สำเนียงเบิกบานสำราญกาย
พอร้องจบครบถ้วนกระบวนเพลง
ก็ครื้นเครงหัวร่อกันงอหาย
บ้างนั่งขำน้ำตาเล็ดเป็นเม็ดพราย
บ้างก็ส่ายหัวดิกคิกคักกัน
ท่านสรุปความไว้ให้แง่คิด
ไม่ยึดติดตัวคนของตนนั่น
หากมีทุกข์รุกโหมมาโรมรัน
ก็หัวเราะเยาะมันให้ลั่นไป
ลงกลอนเสร็จจะระเห็จไปเซเว่น ฯ
เมื่อวานเห็นพนักงานหน้าร้านใหม่
ดูจิ้มลิ้มนิ่มนวลและยวนใจ
เธอมีใฝใต้ตา...แหม...มันน่านัก
................................................
14 ธันวาคม 2552 09:50 น.
เสมอจุก
แล้วละครชีวิตก็ปิดฉาก
ใยซ้ำซากเช่นนี้หรือชีวิต
ชะตาหนอก่อไว้ใครลิขิต
จึงต้องปิดฉากสวยด้วยการลา
จำต้องหยุดการแสดงทั้งแสงสี
รื้อเวทีรื้อบันไดและฉากหน้า
เก็บผ้าม่านร้านรวงดวงมาลา
เก็บก้อนหินดินฟ้าธารางาม
เป็นดอกไม้บริสุทธิ์และเดียงสา
จงมุ่งหน้าฝ่าหนาวและราวหนาม
ฝ่าพายุในวันอันเลวทราม
เพื่อก้าวข้ามสู่นทีสีทันดร
จงค่อยสร้างหางเสือขึ้นมาใหม่
ค่อยชักใบใสบางลงกลางขอน
จงยิ้มสู้เมื่ออยู่บนชลธร
อย่าอาวรณ์อ่อนใจเมื่อไกลตา
จะเกี่ยวก้อยร้อยนิ้วกันในฝัน
จะส่งยิ้มให้กันด้วยจันทร์จ้า
จะหวานฉ่ำคำคมด้วยลมพา
จะใช้ฟ้าห่มครองกันสองคน
.........................................
10 ธันวาคม 2552 15:49 น.
เสมอจุก
เธอมีเพียงรอยยิ้มที่ริมปาก
ดูแห้งผากตาเศร้าและเหงาหงอย
กับดอกไม้ในมือที่ถือคอย
แล้วยื่นดอกน้อยน้อยในวันลา
ฉันเอื้อมรับทับไว้ในสมุด
คงเป็นวันสิ้นสุดเสน่หา
เก็บงำหยาดหยดแห่งน้ำตา
กับมาลาดอกน้อยไว้ในใจ
ยิ้มตอบปลอบใจด้วยไมตรี
ต่างไม่มีวาจามาขานไข
เพียงรับรู้อยู่แค่แต่ภายใน
แต่นี้ต่อไปไม่มี เรา
วันเวลาผันเปลี่ยนเวียนไป
ดอกไม้ทับไว้ก็ซีดเฉา
กลีบแข็งแห้งกรังทั้งแบบเบา
กลิ่นเจ้าเจือจางและร้างโรย
มาลย์ร่วงดวงมานก็พาลร้าว
ให้ผะผ่าวสิ้นแรงระแหงโหย
หลั่งน้ำตารดรวงอันร่วงโรย
หวังให้โชยกลิ่นคืนมาชื่นใจ
ดอกเอ๋ยเจ้าดอกปาริชาต
เจ้าผุดผาดอยู่สวรรค์ชั้นไหน
จะกี่ปีกี่เดือนที่เคลื่อนไป
มิเคยร้างลาไกลจากใจเลย
"""""""""""""""""""""""""
เพลงเต่ากินผักบุ้ง เป็นเพลงอัตราสองชั้น ประเภทหน้าทับปรบไก่ ทำนองเก่าสมัยอยุธยา ใช้เป็นเพลงลา โบราณาจารย์ทางดนตรีไทยนำเพลงนี้เรียบเรียงไว้ในเพลงช้า เรื่องเต่ากินผักบุ้ง ประกอบด้วยเพลงเต่ากินผักบุ้ง เต่าเห่ เต่าทอง เพลงเร็วเต่ากินผักบุ้งและเพลงลา เฉพาะทำนองเพลงเต่ากินผักบุ้ง มี 3 ท่อน ท่อนที่ 1 มี 4 จังหวะ ท่อนที่ 2 และ 3 มี 2 จังหวะ ในการนำเพลงเต่ากินผักบุ้งสองชั้นมาร้องเป็นเพลงลานั้น นักดนตรีได้สร้างทำนองการร้องว่า ดอก ไว้ในทำนองท่อนที่ 2 เพื่อเปิดโอกาสให้เครื่องดนตรี เช่น ปี่ ซอ ฯลฯ ได้เป่าหรือสี แสดงความสามารถในการเลียนเสียงร้อง เเละอวดความสามารถทางดนตรีของตน
เพลงเต่ากินผักบุ้งสองชั้นนี้ มีนักดนตรีนำทำนองไปแต่งขยายเป็นอัตรา สามชั้น โดยคงการว่า ดอก ไว้ตามลักษณะทำนองของอัตราสองชั้น มีประวัติอธิบายสองนัย คือ ครูเพ็ง นักดนตรีไทยมีชื่อท่านหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ 3 แต่งขยายเป็นอัตราสามชั้นทางหนึ่งเรียกชื่อเพลงใหม่ว่า เพลงปลาทอง อีกท่านหนึ่งคือสมเด็จพระเจ้า บรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงนิพนธ์ขยายเป็นอัตราสามชั้นไว้ทางหนึ่ง เพื่อให้แตรวงมหาดเล็กบรรเลงถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำนองที่ทรงนิพนธ์ขยายนี้ ได้เรียกชื่อใหม่ว่า เพลงปลาทอง ต่อมาใน พ.ศ. 2475 นายมนตรี ตราโมท นำทำนองสองชั้นมาแต่งตัดเป็นอัตราชั้นเดียว และนำทำนองทั้งสามอัตราชั้นมาบรรเลงติดต่อกันเป็นเพลงเถา ส่วนชื่อของเพลงยังคงเรียกเหมือนเดิมว่า เพลงปลาทอง
http://ilwc.aru.ac.th/Contents/SongThai/SongThai4.html
""""""""""""""""""""""""
เนื้อเพลงเต่ากินผักบุ้ง
ยามกินพ่อจะกินน้ำตาร่ำ
ยามค่ำพ่อจะนอนถอนใจใหญ่
จะซูบผอมตรอมตรมระทมใจ
ใครเลยจะช่วยบำรุงรัก
(สร้อย) ดอกเอ๋ยเจ้าดอกสร้อย ขอประสบพบสักหน่อย จะรักไม่น้อยเลยเอย
ยี่สุ่นน้อยน้อยเก็บมาร้อยเป็นสังวาลย์
พวงพะยอมหอมหวาน นางน้องเจ้าร้อยเป็นพวงกรอง
ยามร้อนพ่อจักร้อนสักร้อยส่วน
ดังเพลิงกาฬผลาญกวนประหารหัก
ยามหนาวพ่อจะหนาวสะท้านนัก
อกจะหักเสียแล้วแก้วเมียอา
(สร้อย) ดอกเอ๋ยเจ้าดอกสวาท หัวใจจะขาดเสียแล้วเอย
กระต่ายน้อยมุ่งชม้อยเมียงมัน
สวาทแสวงแสงพระจันทร์ไม่เว้นสักวันเลยเอย ฯ
.................................................