13 เมษายน 2549 08:56 น.
เวทย์
ภาษาไทยอนาคตมัวมน เพราะคนไทยลืมรากเหง้า
โดย อรรถพล วชิรสิโรดม
.................................................................................................
"ปัจจุบันนี้ปรากฏว่ามีการใช้คำออกจะฟุ่มเฟือย และไม่ตรงกับความหมายอันแท้จริงอยู่เนืองๆ ทั้งออกเสียงก็ไม่ถูกต้องตามอักขรวิธี ถ้าปล่อยให้เป็นไปดังนี้ ภาษาของเราก็มีแต่จะทรุดโทรม ชาติไทยเรามีภาษาของเราใช้เอง เป็นสิ่งอันประเสริฐอยู่แล้ว เป็นมรดกอันมีค่าตกทอดมาถึงเราทุกคน จึงมีหน้าที่จะ
ต้องรักษาไว้ ฉะนั้น จึงขอให้บรรดานิสิตและบัณฑิต ตลอดจนครูบาอาจารย์ได้ช่วยกันรักษาและส่งเสริมภาษา ซึ่งเป็นอุปกรณ์และหลักประกันเพื่อความเจริญวัฒนาของประเทศชาติ"
พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2512 ได้ยกมาเป็นตัวอย่างในรายการสัมมนา "รายการส่องทางวรรณศิลป์ ครั้งที่ 4" ซึ่งจัดขึ้นในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ศูนย์ประชุมสิริกิติ์ โดยกองทุน กฤษณา อโศกสิน
การสัมมนามีขึ้น อาจเป็นเพราะงานสัปดาห์หนังสือที่เกี่ยวข้องกับหนังสือหนังหาประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งนั้นเป็นเพราะ บรรดากูรูทางด้านภาษา ต่างวิตกกังวลกับ "ภาษาไทย" ที่นับวันจะผิดเพี้ยนไปจากหลักภาษาไทยมากขึ้นทุกวัน
งานนี้จึงมีผู้คนเข้าร่วมคึกคักกว่าทุกปี นอกจากประชาชนทั่วไปแล้ว ครูภาษาไทยยังมากันเนืองแน่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการอภิปรายเรื่อง "อนาคตของภาษาไทย คำพยากรณ์จากครูภาษาไทย" ดำเนินรายการโดย ไพลิน รุ้งรัตน์ ส่วนผู้เข้าร่วมอภิปราย ประกอบด้วย คุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ศาสตราจารย์กาญจนา นาคสกุล อดีตอาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ นายประยอม ซองทอง ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์
"คุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ" เล่าถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้มาเป็นครูภาษาไทย ว่าเธอเริ่มต้นด้วยการอ่านคำประพันธ์ร้อยกรองให้คุณย่าฟังตั้งแต่เด็ก จึงเห็นความรุ่งเรือง และระเบียบของภาษาไทย มีความประทับใจภาษาไทยตั้งแต่นั้นมา
คุณหญิงบอกว่า โดยหน้าที่การงานแล้ว ไม่ได้เป็นครูโดยอาชีพ เพราะรับราชการครูเป็นอาชีพที่สอง มาโดยตลอด แม้ช่วงหลังงานโดยตำแหน่งหน้าที่มีมากขึ้น แต่ก็ไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อยเพราะใจรัก ไม่เช่นนั้นคงทิ้งอาชีพครูไปแล้ว
"การเป็นครูสอนภาษาไทยทำให้ได้ทดแทนคุณแผ่นดิน และถือว่ายิงนกได้ทีละหลายตัว เพราะว่าได้สอนลูกศิษย์อีกหลายคน"
คุณหญิงกุลทรัพย์ พูดถึงอนาคตของภาษาไทย ว่าภาษาไทยปัจจุบันเปลี่ยนไปมาก แต่เป็นธรรมชาติของภาษา เพราะขึ้นอยู่กับการดำเนินชีวิต ถ้ามีการเปลี่ยนก็ไม่ควรให้เสียหาย
"แต่ทุกวันนี้เปลี่ยนแล้วเสียหาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นห่วงเรื่องของภาษาไทยมานานกว่า 50 ปีแล้ว เพราะการอ่าน เสียงพูด วรรณยุกต์ของไทย ไม่เหมือนต่างประเทศ เป็นภาษาที่เลิศล้ำมาก การเปล่งเสียงจำเป็นต้องเปล่งให้ถูกต้อง แต่ในสมัยนี้การเปล่งเสียงเพี้ยนไปมาก โดยเฉพาะทางสื่อ คำก็เปลี่ยนแปลงไปมากเช่นกัน อาจเนื่องจากความเป็นโลกาภิวัตน์ เพราะมีศัพท์ใหม่เกิดขึ้น และยังมีศัพท์ที่ไม่ได้บัญญัติ อย่างไรก็ตามสิ่งที่ไม่เปลี่ยนคือความร่ำรวยของภาษาไทย เช่น คำว่า สุดา นารี สมร กานดา ล้วนแปลว่าผู้หญิงทั้งสิ้น"
คุณหญิงยังบอกอีกว่า การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าการเปลี่ยนแปลงนั้นทำให้เกิดความเสียหายแก่ภาษาก็ม่ควรยอมรับ
"พระครูอนุมานราชธน กล่าวไว้ว่าในวัฒนธรรมนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่ต้องดึงสายป่านไว้ให้พอดี ไม่ให้เหลิงลม" คุณหญิงทิ้งท้ายไว้โดยไม่ระบุ แต่ให้ไปคิดเอาเอง
ส่วนอาจารย์กาญจนา เล่าถึงความชอบภาษาไทยว่า ชอบมาตั้งแต่สมัยเด็กๆ โดยจะไปแอบอ่านหนังสือในร้านเช่าหนังสือ แอบอยู่ข้างตู้หนังสือ ในห้องเรียนก็แอบอ่านใต้โต๊ะ เพราะกลัวถูกจับได้ ตอนนั้นอยากเข้าโรงเรียนนาฏศิลป์มาก เพราะชอบรำละคร แต่ทางบ้านไม่สนับสนุน ใจจริงแล้วไม่ค่อยชอบอาชีพครูเพราะต้องพูดซ้ำซาก ทำให้เหนื่อย
แต่การมาเป็นครูภาษาไทย ก็มีเรื่องที่น่าสนใจน่าศึกษามากมายสำหรับอาจารย์ พร้อมกับยกตัวอย่างของคำประสมในภาษาไทย เช่น คำว่า "คนขับรถ" เป็นการนำคำสองคำมาประสมกันแล้วเกิดเป็นคำใหม่ ซึ่งเป็นได้ทั้งประโยค คำประสม วลี
"ถามว่าแล้วเส้นแบ่งอยู่ตรงไหน? จึงเป็นเรื่องที่น่าศึกษามาก สิ่งเหล่านี้คือความฉลาดของคนไทยโดยแท้ เพราะภาษาไทยมีทั้ง สระ พยัญชนะ และวรรณยุกต์ ที่ผสมแล้วเขียนได้ตามที่ต้องการ จึงทำให้รู้สึกว่าภาษาเป็นสิ่งที่น่าศึกษาน่าค้นคว้า"
อาจารย์กาญจนา ยกตัวอย่างความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับภาษาไทยที่ประสบกับตัวเอง คือนิสิตอักษรศาสตร์สมัยก่อนเวลาสอบ สามารถเขียนคำตอบเต็ม 3 เล่มสมุดได้สบายๆ แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 1 เล่ม หรือครึ่งเล่มเท่านั้น
"บางครั้งหวังว่าจะได้เห็นคำตอบสักสามหน้ากระดาษ ก็เหลือเพียง 5 บรรทัด ทั้งนี้ เพราะความสามารถในการใช้ภาษาไทยของเด็กรุ่นหลังลดลง รวมทั้งการสะกดการันต์ ใส่วรรณยุกต์ผิดที่ บางครั้งตัว "ถ" และ "ภ" ยังนึกไม่ออกว่าหัวอยู่ตรงไหน"
"ต้องยอมรับว่าภาษามีการเปลี่ยนแปลง เพราะมีคำใหม่เกิดขึ้นในสังคมทุกวัน การเปลี่ยนคือพัฒนาการของภาษา แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงแล้วเห็นว่าไม่ถูกต้อง คือการออกเสียงผิด ใช้คำผิดความหมาย ไม่ถูกต้องตามไวยกรณ์ เพราะการออกเสียงพี้ยนแล้วทำความหมายผิดไป เช่น "ข่าวคราว" ออกเสียงเป็น "ข่าวคาว" คำที่เปล่งเสียงควบกล้ำจะหายไป ต่อไปอีก 700 ปี หรือใกล้กว่านั้น เสียงควบกล้ำคงจะหายไปหมด ด้านนายประยอม ยังจำได้ว่าวันที่ออกจากราชการครู มีคนทักว่าน่าเสียได้ที่กำลังจะเสียครูภาษาไทยที่ดีไปอีกคน แต่ผมเองก็ได้รับปากว่าแม้จะไม่ได้เป็นครูแต่ก็ยังคงทำหน้าที่รักษาภาษาไทยอยู่ และยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงของภาษาเป็นเรื่องธรรมดาแต่ขึ้นอยู่ที่ว่าจะรับมือและปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนนั้นอย่างไร
ในช่วงท้ายการอภิปราย ทั้งอาจารย์กาญจนา และคุณหญิงกุลทรัพย์ ร่วมกันฟันธงอนาคตของภาษาไทยว่า ปัญหาที่เป็นอยู่ทุกวันนี้มาจากการ "ขาดความรู้"
"อนาคตของภาษาไทยน่าเป็นห่วง เพราะไม่สามารถต้านทานวัฒนธรรมต่างประเทศได้ แต่อย่าท้อ เพราะภาษาไทยเป็นมรดกของชาติ หากไม่มีแผ่นดิน ก็ยังเป็นชาติอยู่ได้ถ้ามีภาษา มีศิลปะวัฒนธรรมประเพณี" คุณหญิงกุลทรัพย์บอกพร้อมกับยกตัวอย่าง ชาวมอญ ที่ยังคงเป็นมอญอยู่ได้แม้ไม่มีแผ่นดินของตัวเอง แต่ก็ยังมีภาษาที่ทำให้รู้ว่าเป็นมอญ
"เพราะการรักษาภาษา คือการรักษาชาติ เด็กสมัยใหม่ ไม่อ่าน ไม่เรียน ไม่ฟังเพราะขณะนี้คนไทยเดินตามและชื่นชมชาติอื่นจนลืมรากเหง้าความเป็นไทยไป การศึกษาต้องเน้นว่าการเรียนภาษาไทยนั้นเป็นการสร้างคน สร้างชาติ ขณะนี้เราก้าวสู่ความเป็นสากลแต่ไม่คำนึงถึงความเป็นไทย ถ้าสังคมไทยยังเป็นเช่นนี้ อนาคตของภาษาไทยก็ไม่รู้จะเป็นเช่นไร"
คุณหญิงยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า "ครู" มีส่วนสำคัญในการร่วมอนุรักษ์ภาษาไทย ถ้าล้มเหลวก็ล้มเหลวเพราะครู ไม่ใช่ว่าสอนอะไรไม่ได้ก็มาสอนภาษาไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่เลวร้ายมาก เพราะครูนั้นต้องรู้และสำนึกรักษ์ภาษาไทย
"เคยมีการสำรวจ ว่าเยาวชนไทยไม่ชอบเรียนวรรณคดี ด้วยเหตุผลว่าเชย ล้าสมัย ไม่สนุก สิ่งเหล่านี้ต้องโทษครู ถ้าครูมีลีลาในการสอน สามารถสร้างความสนใจให้กับเด็กได้ ภาษาไทยก็จะไม่เป็นเรื่องที่น่าเบื่อ และ ภาษาจะเสื่อมสลายหรือไม่ก็อยู่ที่ครู"
การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าการเปลี่ยนแปลงนั้นทำให้เกิดความเสียหาย ก็เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะในเรื่องของ "ภาษา" ซึ่งถือเป็นมรดกอันหนึ่งของชาติ
ถ้าภาษาทรุดโทรม ชาติก็ต้องทรุดโทรมไปด้วย ดังพระบรมราโชวาทที่ว่า
"ชาติไทยเรามีภาษาของเราใช้เอง เป็นสิ่งอันประเสริฐอยู่แล้ว เป็นมรดกอันมีค่าตกทอดมาถึงเราทุกคน จึงมีหน้าที่จะต้องรักษาไว้ ฉะนั้น จึงขอให้บรรดานิสิตและบัณฑิต ตลอดจนครูบาอาจารย์ได้ช่วยกันรักษาและส่งเสริมภาษา ซึ่งเป็นอุปกรณ์และหลักประกันเพื่อความเจริญวัฒนาของประเทศชาติ"
.......................................................................................
4 เมษายน 2549 08:03 น.
เวทย์
คำถาม ความแตกต่างระหว่าง กวี กับ นักกลอน
ตอบ โดย โชคชัย บัณฑิต'
คำถามนี้เป็นประเด็นที่ได้รับการหยิบยกมาพูดถึงในแวดวงคนเขียน ร้อยกรอง อยู่บ่อย ๆ คงต้องยกคำของ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ จากเอกสารประกอบการเข้าค่าย จุดประกายความใฝ่ฝัน เพาะเมล็ดพันธุ์วรรณกรรม ของกองทุนศิลปินครูบ้านป่า สลา คุณวุฒิ มาประกอบ ดังนี้
มีการสำคัญผิดอยู่บ้างว่า กวีนิพนธ์ได้แก่การเรียงร้อยถ้อยคำให้ถูกฉันทลักษณ์ แต่การเรียงร้อยถ้อยคำให้ถูกฉันทลักษณ์เป็นแต่เพียงการร้อยกรอง ยังไม่ใช่กวีนิพนธ์ ถ้าจะให้ถึงขีดกวีนิพนธ์ ผู้ประพันธ์ต้องแสดงความรู้สึกอย่างลึกซึ้ง และยิ่งกว่านั้นทำให้ผู้อ่านรู้สึกตามไปด้วย
คนเขียนกลอนได้ถูกต้องและไพเราะ ถ้าผลงานชิ้นนั้นยังไม่สามารถสื่อความลึกซึ้งให้ผู้อื่นรู้สึกตามได้ ก็เป็นเพียงนักกลอน แม้จะเขียนถูกฉันทลักษณ์เป๊ะ ๆ ตามรูปแบบและเสียงที่นิยมกันว่าไพเราะสุด ๆ แล้วก็ตาม ในทางกลับกันผลงานบางชิ้นอาจจะดูขัด ๆ ตาในทางรูปแบบในบางจุด แต่สื่ออารมณ์ความรู้สึกได้ลึกซึ้งจับใจก็ถือว่าเป็นบทกวี (กลอนเปล่าหลายชิ้นจึงเป็นบทกวี แม้จะไม่มีรูปแบบฉันทลักษณ์มาตรฐาน) อย่างที่ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เคยกล่าวไว้ว่า ถ้าสัมผัสใจได้แล้วละก็ สัมผัสคำถือเป็นเรื่องรอง
อย่างไรก็ตามถ้าเขียนแล้วสัมผัสใจก็ได้ และยังสัมผัสคำได้ดีอีกด้วยก็น่าจะถือว่าเป็นบทกวีที่สมบูรณ์ยิ่งอีกระดับหนึ่ง เหมือนภาพขียนอันวิจิตรบรรจงถึงระดับงาน ศิลปะแม้จะอยู่ในกรอบที่แสนจะธรรมดา แต่ก็ยังเปล่งประกายศิลป์ออกมาจนสัมผัสได้ด้วยใจและจิตวิญญาณ ยิ่งถ้าได้กรอบทองอย่างดีก็ยิ่งขับเน้นความเด่นของภาพขึ้นไปอีก ผิดกับภาพเขียนดาด ๆ ในกรอบทองหรูหรา ทำอย่างไรภาพนั้นก็ไม่สามารถเป็นงาน ศิลปะได้อย่างที่ควรจะเป็น (ทำนองเดียวกับคำว่า ศิลปิน ไม่ใช่เพียงออกผลงานเพลงที่ยังไม่สามารถถ่ายทอดอารมณ์เพลงได้อย่างมีศิลปะ แล้วเรียกตัวเองว่าศิลปิน)
......................................................................................................
เก็บมาฝากไว้เป็นข้อคิดครับ