27 พฤษภาคม 2546 16:32 น.

เสียงโคลง

เวทย์

ครูไหวฯ ได้เรียบเรียงเรื่อง เสียงโคลง ไว้อย่างน่าสนใจ  เลยขอนำมาให้อ่านกัน

เสียงโคลง 
สำหรับโคลงสี่สุภาพ กติกาเริ่มต้นคือ เอก ๗ โท ๔ ซึ่งมีเท่านี้จริง ๆ นอกนั้นมากำหนดเพิ่มเติมกันภายหลังทั้งนั้น ซึ่งจะนับเป็นวิวัฒน์ หรือ วิวาท ก็ไม่รู้ อิอิอิ ขอคัดลอกกระทู้เดิมที่เคย post ไว้กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มาปูทางก่อนนะครับ 
เช่นเดียวกันกับกวีนิพนธ์ประเภทอื่นๆ กวีแต่ละสมัยได้สอดแทรกประดิษฐการต่างๆ ไว้ในการแต่งโคลง เพื่อให้งานของตนมีลักษณะเด่นเป็นพิเศษขึ้นกว่าธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นประดิษฐการทางฉันทลักษณ์ เช่น การเพิ่ม-ลด จำนวนเอก-โท การเปลี่ยนแปลงลักษณะของการส่ง-รับสัมผัส หรือการเพิ่มตำแหน่งคำสร้อย ทำให้ได้โคลงชนิดใหม่ๆ เพิ่มขึ้น จากการศึกษาวิเคราะห์วรรณกรรมคำโคลงแต่ละสมัยก็ยังพบว่ามีลักษณะร่วมสมัยบางประการที่ได้พัฒนามาเป็นขนบการแต่งโคลง ซึ่งยึดถือกันว่าเป็นลักษณะที่เพิ่มความไพเราะให้แก่โคลง นอกเหนือจากลักษณะทางฉันทลักษณ์ ได้แก่ลักษณะการใช้คำ และลักษณะการใช้สัมผัสใน ดังจะแยกได้ดังนี้ 
๑.พัฒนาการด้านการใช้คำ การนับคำในร้อยกรองทำได้ ๒ แบบคือ นับแยกหนึ่งพยางค์เป็นหนึ่งคำ หรือนับรวมหลายพยางค์เป็นหนึ่งคำ การเลือกนับคำด้วยวิธีที่ต่างกัน จะทำให้ได้รสของโคลงที่ต่างกัน 
๑.๑ การแต่งโคลงโดยนับคำแยกพยางค์ ทำให้เสียงของโคลงมีน้ำหนักชัดเจน พบในงานสมัยต้นอยุธยาเป็นส่วนใหญ่ โดยกวีจะเพิ่มความไพเราะด้วยการซ้ำคำ หรือซ้ำเสียงพยัญชนะ และการเลือกใช้คำเสียงหนักหรือเสียงเบา เพื่อสื่ออารมณ์ดังตัวอย่าง 
.....อาจหาญหาญกว่าผู้....................หาญเหลือ 
ว่านา ริยิ่งริดนริ.......................................ยิ่งผู้ 
ลวงกลใส่กลเหนือ...........................กลแกว่น.....กลแฮ 
รู้ยิ่งรู้กว่ารู้.....................................เรื่องกล 
.....รบินรเบียบท้าว.........................เบาราณ 
รบอบรบับยล.................................ยิ่งผู้ 
ระเบียนรบิการย............................เกลากาพย.....ก็ดี 
ระบอดรบัดรู้................................รอบสรรพ (ลิลิตยวนพ่าย)

 .....เสียงโหยเสียงไห้มี่..................เรือนหลวง 
ขุนหมื่นมนตรีปวง.......................ป่วยซ้ำ 
เรือนราษฎร์ร่ำตีปวง....................ทุกข์ทั่ว.....กันนา 
เมืองจะเย็นเป็นน้ำ.......................ย่อมน้ำตาครวญ
 .....พระไปแม้พระได้...................สมสอง 
ไหนจะคืนคงครอง.....................ครอบเกล้า 
อย่าคิดอย่าจงปอง......................สองปล่อย.....มาฤๅ 
สองจักลองโลมเล้า.....................อยู่ว้าว้าขัง (ลิลิตพระลอ)

๑.๒ การใช้คำมากพยางค์ จะทำให้เสียงของโคลงสะบัดไหว มีจังหวะหนัก-เบา เกิดความไพเราะแปลกหู กวีที่ชอบแต่งโคลงในลักษณะนี้ได้แก่ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ น.ม.ส. และสุนทรภู่ ดังตัวอย่าง
 ..... หรือวิเวกการะเวกร้อง...................ระงมสวรรค์ 
เสนาะมิเหมือนเสนาะฉันท์.................. เสนาะซึ้ง 
ประกายฟ้าสุริยาจันทร์........................ แจร่มโลก 
เมฆพยับอับแสงสอึ้ง............................อร่ามแพ้ประพนธ์เฉลย
 .....ประชุมสงฆ์จงเขื่อนขั้น...................หลายขนัด 
ดินถมรดมกระดานดัด..........................เกียดกั้น 
สนามฝั่งพนังทัด..................................ฝืดยาก 
กดานเดาะเฉพาะขาดขั้น......................หลุดลุ่ยขจุยขจาย (โคลงชลอพระพุทธไสยาสน์)

 .....สมบัติขัติยผู้...................................ผดุงขัณฑ์ 
เครื่องราชกกุธภัณฑ์.............................คู่แคว้น 
ฉัตรตั้งดั่งไอศวรรย์.............................เสวยราชย์ 
คนก็นับทรัพย์แร้น...............................สุดหล้าหาไหน (สามกรุง)

 .....สวามิภักดิ์รักร่วมเจ้า.......................ชุมพล 
แต่จัตุรภุชวุฒิผล.................................ค่ำเช้า 
ท่านเคียดอย่าเคียดกล..........................โกยโทษ 
ดึงต่อทรยศเข้า....................................เขตต์แคว้นประณมสนอง (โคลงพาลีสอนน้อง) 

๒.พัฒนาการด้านการใช้สัมผัสใน 
๒.๑ การใช้สัมผัสอักษร โคลงที่แต่งโดยใช้สัมผัสอักษร จะให้น้ำเสียงหนักแน่นชัดเจนกว่าโคลงที่ใสัมผัสสระ และไพเราะกว่าโคลงที่ไม่ใช้สัมผัสในเลย
 .....เสด็จทรงเครื่องต้น..............................แต่งกาย.....ท่านนา 
สวมสอดสนับเพลาพราย...........................อะเคื้อ 
ภูษิตพิจิตรลาย.........................................แลเลิศ.....แล้วแฮ 
ทรงสุภาภรณ์เสื้อ.....................................เกราะแก้วก่องศรี (ลิลิตตะเลงพ่าย) 

พระยาตรังคภูมิบาล และกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส เป็นผู้นำในการกำหนดแบบแผนการแต่งโคลง โดยให้มีสัมผัสอักษรเป็นระบบในคำที่ ๕-๖ ทุกบาท ตัวอย่าง
 ..... เบญจศีลทรงสฤษฎิส้อง...................... เสพย์นิพัทธ์.....กาลนา 
ปางเบื่อฤๅรางรคน....................................ขาดแท้ 
เบญจาวิธเวรสงัด......................................สงบระงับ..... เหือดเฮย 
ทั่วทุจริตเว้นแว้........................................ว่างงาม (ประชุมจารึกฯ) 

๒.๒ การใช้สัมผัสสระ การกำหนดสัมผัสสระ มักเป็นคำที่ ๒-๓ หรือ ๓-๔ ของทุกบาท ดังตัวอย่าง .....ราตรีศรีส่องฟ้า...................................แสดงโฉม 
แสงสว่างกลางโพยม................................แจ่มฟ้า 
มหรสพจบการโลม..................................ใจโลกย 
เบียงบ่ายรายเรียงหน้า.............................นั่งล้อมเล็งแล (กาพย์ห่อโคลงพระศรีมโหสถ) 
.....ตวันลงตรงทิศทถุ้ง............................แทงสาย 
เซราะฝั่งพังวหุสหาย..............................รอดน้ำ 
ขุดเขื่อนเลื่อนทลมทลาย..........................ริมราก 
ผนังแยกแตกแตนซ้ำ...............................รูปร้าวปฏิมา (โคลงชลอพระพุทธไสยาสน์) 

.....อาณาประชาราษฎร์ทั้ง.......................กรุงไกร 
จักสุขเกษมเปรมใจ..................................ชื่นช้อย 
ไมตรีพี่ประชุมใน...................................นรนาถ 
เป็นบุษบาปรากฎร้อย...............................กลิ่นกลุ้มขจรขจาย (โคลงทศรถสอนพระราม) 

.....กาลนี้ที่ไท้ใฝ่........................................รักษา 
ป้องกันขัณฑเสมา......................................เขตต์ขั้น 
ศัตรูหมู่แสวงหา.......................................ทุษโทษ 
ภูมิมณฑลสกลชั้น......................................ประเทศแคว้นแดนกรุง (โคลงราชสวัสดิ์) 

สุนทรภู่รับอิทธิพลการแต่งโคลงแบบมีสัมผัสสระเช่นนี้มาใช้ในโคลงนิราศสุพรรณ แล้วเพิ่มสัมผัสขึ้นอีกแห่งหนึ่ง ในคำที่ ๘-๙ ของวรรคสุดท้าย และเพิ่มสัมผัสอักษรในคำที่ ๕-๖ รวมทั้งสัมผัสในที่อื่นๆตามฉันทลักษณ์อีกด้วย ดังตัวอย่าง
 .....รอกแตแลโลดเลี้ยว...............................โลดโผน 
นกหกจกจิกโจน........................................จับไม้ 
ยางเจ่าเหล่ายางโทน.................................ท่องเที่ยว.....เหยี่ยวเฮย 
โฉบฉาบคาบปลาได้..................................ด่วนขึ้นกลืนกิน (โคลงนิราศสุพรรณ) 
หมายเหตุ คัดจากกวีนิพนธ์ไทย ของสุภาพร มากแจ้ง 

 ขอปิดท้ายสาระกระทู้นี้ด้วยพระดำรัสของเสด็จฯกรมพระนราฯ ที่เคยประทานไว้ในหนังสือดุสิตสมิตดังนี้ค่ะ ...อนึ่งมูลกวยาจารย์ทานกำหนดเสียงสูงต่ำในโคลงโดยผันสำเนียงอักษรไตรยางค์ด้วยไม้เอกไม้โทไว้ในมาตรา แต่ที่แท้ท่านก็หมายเอาเสียงขึ้นลงเปนประมาณในการประพันธ์เพื่อผยองความไพเราะ หากศิษยานุศิษย์สืบมารู้ไม่ถึง ยึดเอาไม้เอกโทตามผันไตรยางค์เปนแก่น พระองค์(หมายถึงรัชกาลที่ ๖)ทรงตระหนักหลักบัญญัติเดิม จึ่งยักทรงใช้เสียงในโสลกโคลงเปนที่ตั้งตามมาตรา หรือแม้แต่เยื้องคำให้สบความสุดแต่ให้ฟังสละสลวยเสนาะสมโสลก เหตุแม้เพียงเล็กน้อยนี้น่าที่จะเปนผลสำคัญแก่กวีการให้เผยผลิกิ่งประพันธนัยเพื่อเพิ่มความไพเราะหรือเก๋กะก้ำ และดื่มเนื้อความล้ำลึกต่อไปในอนาคตกาล เฉกชี้ช่องจูงกวีทั้งหลายให้เห็นทางแสร่มาตราแสร่คำเล่นได้ตามถนัดและสดวกโดยเสด็จพระราชดำริห์... หวังว่าคงเป็นประโยชน์บ้างตามสมควรนะคะ เจ้าของ : ก๊อง, 10/26/2002 4:01:07 PM ลองมาพิจารณาข้อกำหนดของโคลงที่ว่าเอก ๗ โท ๔ ในจินดามณีนะครับ และโคลงแบบบทแรกของประเทศไทย ก็คือ เสียงฦๅเสียงเล่าอ้าง.................อันใด..........พี่เอย ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ เป็นที่แปลกแต่จริงว่าในลิลิตพระลอซึ่งนำมาเป็นต้นแบบนั้น มีโคลงแบบเช่นนี้อยู่เพียงบทเดียว!!! คำถามคือ ทำไมเป็นเช่นนั้น 
คำถามว่ากวีโบราณไม่สามารถบรรจุคำเอก ๗ โท ๔ ได้จริง ๆ หรือ คำตอบคือไม่ใช่ เพียงแต่กวีโบราณเห็นว่า เสียง สำคัญกว่ารูปนั่นเอง อีกประการหนึ่ง ผมเคยได้ยิน คน ๑ ตำหนิถากถางเจ้าฟ้ากุ้งอย่างไม่เกรงอกเกรงใจ ว่าพระนิพนธ์นั้นสักแต่ว่ามีเสียงเป็นโคลงเท่านั้น ด้วยไม่ทรงเคร่งครัดต่อฉันทลักษณ์ และหลุดเอกเป็นประจำ!!! ฟังแล้วก็ให้กลุ้มนะครับ 
ขอพูดถึงเรื่องบังคับเอกหน่อยนึง เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า คำตายสามารถใช้แทนเอกได้ แต่อย่างไรก็ดี ลางตำราก็ยอมรับให้ใช้คำลหุแทนเอก รวมไปถึงคำนฤคหิตแทนเอก (ตำราหลังไม่ค่อยแพร่หลายมากนัก ลูกศิษย์ลูกหาไม่มาก) ปัญหาจึงเกิดขึ้นตรงใช้ลหุแทนเอกนี่เอง เพราะคำลหุนั้น โบราณใช้หูฟัง เนื่องจากการถ่ายทอดวรรณคดีเน้นมุขปาฐะเป็นส่วนใหญ่ ไม่เหมือนปัจจุบัน ที่ใช้รูปเป็นตัวตัดสิน คำบางคำนั้นโดยรูปแล้วเป็นลหุ แต่เมื่อไปเทียบคำลหุบางคำ ลหุนั้นอาจกลายเป็นครุไปได้ หรือครุบางคำเมื่อนำไปตามครุบางคำ ก็กลายเป็นลหุไปได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น คน ที่ตำหนิเจ้าฟ้ากุ้ง ลองพิจารณาดูใหม่ด้วยใจเป็นธรรมเทอญญญญ 

ตานี้มาเข้าเนื้อหาของกระทู้จริง ๆ เสียที อยากให้เพื่อน ๆ ลองอ่าน อาอาอาอ่าอ้า....อาอา ฯลฯ ไปจนจบก่อนนะครับ และขอชี้ว่านี่คือมาตรฐานขั้นต่ำของโคลง คือตรงบังคับเอกนั้นจะต้องมีเสียงเหลื่อมขึ้นจากคำหน้า ๑ ระดับ และบังคับโทก็จะเหลื่อมขึ้นไป ๑ ระดับเช่นกัน ถือเป็นเพลงมาตรฐาน แต่อย่างไรก็ดี อย่างที่เราทราบ ๆ เพลงไทยเดิมของเราจะมีอยู่ ๒ แนว คือ แนวหวาน และแนวดุ ดังนั้นโคลงแบบจากลิลิตพระลอจึงนับเป็นโคลงดุ ค่าที่รับส่งสัมผัสด้วยเสียงโลดโผน และโคลงแบบจากนิราศนรินทร์นับเป็นแนวหวาน ค่าที่รับส่งสัมผัสด้วยระดับเสียงที่เท่ากัน 
ถ้าจะแต่งโคลงให้ง่าย ๆ จืด ๆ และไม่มีผิด ขอแนะนำให้รับส่งสัมผัสด้วยระดับเสียงเท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นคู่โท หรือ ๓ คำนั่น แต่ถ้าจะโลดโผน ก็มีคำแนะนำดังนี้ ท้ายบาทแรกให้ลงด้วยเสียงสูงเข้าไว้ คำที่ ๕ ของบาท ๒ อาจเป็นสามัญ หรือ เสียงสูงก็ได้ แต่สามัญน่าจะดีกว่า เพราะเสียงส่งมาสูง เสมือนลูกตบ ฝ่ายข้างนี้ก็ต้องงัดขึ้นนั่นเอง ในบาท ๓ เนื่องจากบาทนี้ต้องอ่านโดยเอื้อนเสียงสูง เพราะฉะนั้นใน ๔ คำแรก ควรมีเสียงสูงสอดแทรก เพื่อให้เอื้อนได้สะดวก ส่วนคำที่ ๕ จะเป็นเสียงสูงหรือไม่ ให้ดู ๔ คำแรก ถ้า ๔ คำแรกมีแล้ว คำที่ ๕ อาจไม่จำเป็น แต่ถ้า ๔ คำแรกไม่มี คำที่ ๕ ควรมีเสียงสูง 
ตานี้มาพูดถึงคู่โท ตำราเค้าบอกว่ารูปโทนั้นมีอยู่ ๒ เสียงคือ เสียงโทตามรูป เสียงตรี กติกาเค้าว่า ถ้าขึ้นโท ค ว ร รับด้วยตรี และถ้าขึ้นตรี ต้ อ ง รับตรี แต่กฎทุกกฎมีข้อยกเว้นนาคร้าบ อย่างที่ลุงเวทย์พูดบ่อย ๆ ต้องดูความด้วยนา แหะ แหะ 
ขอพูดเรื่องบังคับเอกอีกที คำที่อยู่หน้าเอก ไม่ควรมีเสียงข่มเอก คืออย่างไรก็ตาม ตรงบังคับเอก เสียงต้องเหลื่อมให้ได้อย่างน้อย ๑ ระดับ จะเหลื่อมลง หรือ เหลื่อมขึ้นก็ได้ แต่ควรเหลื่อมขึ้นมากกว่า คำเอกที่มีปัญหามากที่สุด และควรระมัดระวังมากที่สุดเพื่อมิให้เสียงโคลงแกว่ง คือเอกคำที่ ๗ ในบาทที่ ๓ คำที่ ๖ นั้น ที่ดีที่สุดคือเสียงสามัญ รองลงมาคือเสียงสูง อื่น ๆ นอกนั้นอย่าใช้เลยครับ 
สรุปว่า..ว่าอะไรดีล่ะครับ ผมว่ามันเหมือนกับการแต่งเพลงนั่นแหละ แล้วแต่แนวทางถนัดของแต่ละคน ชอบลูกทุ่ง ก็ว่าลูกทุ่งเพราะ ชอบลูกกรุงก็ว่าไปอีกทางนึง เพราะฉะนั้นจะเอารสนิยมของใครไปตัดสินใครนี่ เห็นจะไม่ได้การ วิธีที่ดีที่สุดคือ เมื่อแต่งเสร็จแล้ว ลองเอื้อนทำนองเสนาะดู ถ้าไม่ติดขัด ไม่แปร่ง ถือว่าใช้ได้ เพราะการอ่านออกเสียง อารเอื้อน จะช่วยเราได้บ้างเล็ก ๆ หากรูปหรือเสียงเพี้ยนไปจากที่ควรจะเป็น ยกตัวอย่างคำว่า มาลา นักร้องไปออกเสียงว่า ม้าลา เซี้ยนี่ (ตามตัวโน้ต) คงหอมหึ่งอะนะ รู้จักเพลงนี้กันหรือเปล่าเอ่ย ทำนอง GYPSY MOON ชื่อเพลงจันทร์กระจ่างฟ้าน่ะครับ จันทร์กระจ่างฟ้านภาประดับด้วยดาว โลกสวยราวเนรมิตประมวลเมืองแมน ลมโชยกลิ่นมาลากระจายดินแดน ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ 
มีอะไรอีกเอ่ย อ้อ...ข้อกำหนดที่พูดมาทั้งหมด อาจใช้บังคับไม่หมดกับการส่งสัมผัสด้วยคำตายนะครับ โดยเฉพาะคำตายเสียงโท ยักเยื้องได้ยากมาก ต้องรักษาระดับเป็นพื้น แต่ถ้าเป็นคำตายเสียงตรี ยังพอเล่นได้มั่ง ฮี่ฮี่ฮี่ คำแนะนำสุดท้ายคือ หาวรรณคดีไทยอ่านเยอะ ๆ เทอญ อ่านให้เสียงชำแรกเข้าสู้โสตประสาท อย่าไปอ่านในใจเข้าล่ะ อุอุอุ ส่วนเรื่องอื่น ๆ ไว้นึกขึ้นได้ก่อนนะครับ ตอนนี้เมื่อยแล้วง่ะ แหะ แหะ 
มีอีกเรื่องที่อยากพูดถึงอะนะครับ (แฮ่..ดีใจ นึกว่าจะไม่มีคนอ่านซ้า อุอุอุ) แบบว่าสมัยก่อนนั้น วรรณยุกต์ไทยมีแค่ เอก กะ โท ง่ะ ไม่รู้ว่าเป็นเหตุผลด้วยหรือเปล่าที่มีบังคับเอก กะ โท เท่านั้น หรือว่าใช้เป็นสัญญลักษณ์เพื่อเลื่อนระดับเสียงอย่างรับสั่งเสด็จฯกรมพระนราฯ เพื่อน ๆ คิดเห็นเป็นไงครับผม 
ว่าแล้ว... นี่ก็เป็นอีกเหตุผลนึงมั้งครับที่เล่นตัว แบบว่ากลัวไม่มีคนอ่านง่ะ เพราะภาคทฤษฎีอย่างเงี้ย ค่อนข้างน่าเบื่อ ขอเพิ่มเติมนิดละกัน อันว่าข้อกำหนดต่าง ๆ ในการจารโคลง มีการเปลี่ยนแปลงเป็นระยะเรื่อยมา บางครั้งก็เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านในเมืองเป็นคนเปลี่ยน ทำให้ไม่มีคนกล้าหือ เพราะผ่านยุคผ่านสมัย เก๊าะเลิกตาม เช่นเขียนโคลงดั้นไม่ร้อยสัมผัส เขียนโคลงดั้นไม่ใช้โทคู่ เขียนโคลงสี่แต่จะใช้โทคู่ (ใครจะทำไม) ฯลฯ ลูกศิษย์ลูกหาที่ซื่อสัตย์ แล้วยึดถือต่อ ๆ มาก็มี เลยเป็นข้อพิพาทกันอยู่เสมอ ๆ ในสมัยปัจจุบัน แหะ แหะ 
เห็นเพื่อน ๆ หลายคนเขียนในแนวข้อห้าม เลยอยากยกมาพูดถึง แต่ถ้าจะเขียนต่อ ๆ ไป ก็ไม่มีใครว่าหรอกนะครับ (บ้านนี้นา..บ้านอื่นมะยู้) คือกติกาเค้าบอกว่า คำที่รับส่งสัมผัสในโคลงภาคบังคับเนี่ยมีอยู่ ๕ คำ ได้แก่คู่โท และท้ายวรรค ๓ คำนั่น ครือเค้าบอกว่าห้ามซ้ำเสียงง่ะ แบบว่าตำราว่ามาแค่นี้ แต่ส่วนตัวผมนิยมรับสัมผัสคู่โทตัวสุดท้าย กับคำที่ ๗ และ ๘ ของบาทที่ ๔ แบบว่าจะล้อ ๆ เพลงพื้นบ้านของไทย เพราะเห็นว่าลักษณะการรับ-ส่งสัมผัสของโคลง มีส่วนคล้ายกลอนหัวเดียว แต่เวลาจะลง จะเหมือนกลอนทั่วไป ผมเลยเอามาใช้มั่ง อิอิ สรุปว่า ทำไรทำเทิ้ดอย่าเปิ๊ดผ้า ทำไรไม่ว่าผ้าอย่าเปิ๊ด ฮี่ฮี่ฮี่				
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟเวทย์
Lovings  เวทย์ เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟเวทย์
Lovings  เวทย์ เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟเวทย์
Lovings  เวทย์ เลิฟ 0 คน
ไม่มีข้อความส่งถึงเวทย์