13 เมษายน 2549 08:56 น.
เวทย์
ภาษาไทยอนาคตมัวมน เพราะคนไทยลืมรากเหง้า
โดย อรรถพล วชิรสิโรดม
.................................................................................................
"ปัจจุบันนี้ปรากฏว่ามีการใช้คำออกจะฟุ่มเฟือย และไม่ตรงกับความหมายอันแท้จริงอยู่เนืองๆ ทั้งออกเสียงก็ไม่ถูกต้องตามอักขรวิธี ถ้าปล่อยให้เป็นไปดังนี้ ภาษาของเราก็มีแต่จะทรุดโทรม ชาติไทยเรามีภาษาของเราใช้เอง เป็นสิ่งอันประเสริฐอยู่แล้ว เป็นมรดกอันมีค่าตกทอดมาถึงเราทุกคน จึงมีหน้าที่จะ
ต้องรักษาไว้ ฉะนั้น จึงขอให้บรรดานิสิตและบัณฑิต ตลอดจนครูบาอาจารย์ได้ช่วยกันรักษาและส่งเสริมภาษา ซึ่งเป็นอุปกรณ์และหลักประกันเพื่อความเจริญวัฒนาของประเทศชาติ"
พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2512 ได้ยกมาเป็นตัวอย่างในรายการสัมมนา "รายการส่องทางวรรณศิลป์ ครั้งที่ 4" ซึ่งจัดขึ้นในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ศูนย์ประชุมสิริกิติ์ โดยกองทุน กฤษณา อโศกสิน
การสัมมนามีขึ้น อาจเป็นเพราะงานสัปดาห์หนังสือที่เกี่ยวข้องกับหนังสือหนังหาประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งนั้นเป็นเพราะ บรรดากูรูทางด้านภาษา ต่างวิตกกังวลกับ "ภาษาไทย" ที่นับวันจะผิดเพี้ยนไปจากหลักภาษาไทยมากขึ้นทุกวัน
งานนี้จึงมีผู้คนเข้าร่วมคึกคักกว่าทุกปี นอกจากประชาชนทั่วไปแล้ว ครูภาษาไทยยังมากันเนืองแน่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการอภิปรายเรื่อง "อนาคตของภาษาไทย คำพยากรณ์จากครูภาษาไทย" ดำเนินรายการโดย ไพลิน รุ้งรัตน์ ส่วนผู้เข้าร่วมอภิปราย ประกอบด้วย คุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ศาสตราจารย์กาญจนา นาคสกุล อดีตอาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ นายประยอม ซองทอง ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์
"คุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ" เล่าถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้มาเป็นครูภาษาไทย ว่าเธอเริ่มต้นด้วยการอ่านคำประพันธ์ร้อยกรองให้คุณย่าฟังตั้งแต่เด็ก จึงเห็นความรุ่งเรือง และระเบียบของภาษาไทย มีความประทับใจภาษาไทยตั้งแต่นั้นมา
คุณหญิงบอกว่า โดยหน้าที่การงานแล้ว ไม่ได้เป็นครูโดยอาชีพ เพราะรับราชการครูเป็นอาชีพที่สอง มาโดยตลอด แม้ช่วงหลังงานโดยตำแหน่งหน้าที่มีมากขึ้น แต่ก็ไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อยเพราะใจรัก ไม่เช่นนั้นคงทิ้งอาชีพครูไปแล้ว
"การเป็นครูสอนภาษาไทยทำให้ได้ทดแทนคุณแผ่นดิน และถือว่ายิงนกได้ทีละหลายตัว เพราะว่าได้สอนลูกศิษย์อีกหลายคน"
คุณหญิงกุลทรัพย์ พูดถึงอนาคตของภาษาไทย ว่าภาษาไทยปัจจุบันเปลี่ยนไปมาก แต่เป็นธรรมชาติของภาษา เพราะขึ้นอยู่กับการดำเนินชีวิต ถ้ามีการเปลี่ยนก็ไม่ควรให้เสียหาย
"แต่ทุกวันนี้เปลี่ยนแล้วเสียหาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นห่วงเรื่องของภาษาไทยมานานกว่า 50 ปีแล้ว เพราะการอ่าน เสียงพูด วรรณยุกต์ของไทย ไม่เหมือนต่างประเทศ เป็นภาษาที่เลิศล้ำมาก การเปล่งเสียงจำเป็นต้องเปล่งให้ถูกต้อง แต่ในสมัยนี้การเปล่งเสียงเพี้ยนไปมาก โดยเฉพาะทางสื่อ คำก็เปลี่ยนแปลงไปมากเช่นกัน อาจเนื่องจากความเป็นโลกาภิวัตน์ เพราะมีศัพท์ใหม่เกิดขึ้น และยังมีศัพท์ที่ไม่ได้บัญญัติ อย่างไรก็ตามสิ่งที่ไม่เปลี่ยนคือความร่ำรวยของภาษาไทย เช่น คำว่า สุดา นารี สมร กานดา ล้วนแปลว่าผู้หญิงทั้งสิ้น"
คุณหญิงยังบอกอีกว่า การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าการเปลี่ยนแปลงนั้นทำให้เกิดความเสียหายแก่ภาษาก็ม่ควรยอมรับ
"พระครูอนุมานราชธน กล่าวไว้ว่าในวัฒนธรรมนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่ต้องดึงสายป่านไว้ให้พอดี ไม่ให้เหลิงลม" คุณหญิงทิ้งท้ายไว้โดยไม่ระบุ แต่ให้ไปคิดเอาเอง
ส่วนอาจารย์กาญจนา เล่าถึงความชอบภาษาไทยว่า ชอบมาตั้งแต่สมัยเด็กๆ โดยจะไปแอบอ่านหนังสือในร้านเช่าหนังสือ แอบอยู่ข้างตู้หนังสือ ในห้องเรียนก็แอบอ่านใต้โต๊ะ เพราะกลัวถูกจับได้ ตอนนั้นอยากเข้าโรงเรียนนาฏศิลป์มาก เพราะชอบรำละคร แต่ทางบ้านไม่สนับสนุน ใจจริงแล้วไม่ค่อยชอบอาชีพครูเพราะต้องพูดซ้ำซาก ทำให้เหนื่อย
แต่การมาเป็นครูภาษาไทย ก็มีเรื่องที่น่าสนใจน่าศึกษามากมายสำหรับอาจารย์ พร้อมกับยกตัวอย่างของคำประสมในภาษาไทย เช่น คำว่า "คนขับรถ" เป็นการนำคำสองคำมาประสมกันแล้วเกิดเป็นคำใหม่ ซึ่งเป็นได้ทั้งประโยค คำประสม วลี
"ถามว่าแล้วเส้นแบ่งอยู่ตรงไหน? จึงเป็นเรื่องที่น่าศึกษามาก สิ่งเหล่านี้คือความฉลาดของคนไทยโดยแท้ เพราะภาษาไทยมีทั้ง สระ พยัญชนะ และวรรณยุกต์ ที่ผสมแล้วเขียนได้ตามที่ต้องการ จึงทำให้รู้สึกว่าภาษาเป็นสิ่งที่น่าศึกษาน่าค้นคว้า"
อาจารย์กาญจนา ยกตัวอย่างความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับภาษาไทยที่ประสบกับตัวเอง คือนิสิตอักษรศาสตร์สมัยก่อนเวลาสอบ สามารถเขียนคำตอบเต็ม 3 เล่มสมุดได้สบายๆ แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 1 เล่ม หรือครึ่งเล่มเท่านั้น
"บางครั้งหวังว่าจะได้เห็นคำตอบสักสามหน้ากระดาษ ก็เหลือเพียง 5 บรรทัด ทั้งนี้ เพราะความสามารถในการใช้ภาษาไทยของเด็กรุ่นหลังลดลง รวมทั้งการสะกดการันต์ ใส่วรรณยุกต์ผิดที่ บางครั้งตัว "ถ" และ "ภ" ยังนึกไม่ออกว่าหัวอยู่ตรงไหน"
"ต้องยอมรับว่าภาษามีการเปลี่ยนแปลง เพราะมีคำใหม่เกิดขึ้นในสังคมทุกวัน การเปลี่ยนคือพัฒนาการของภาษา แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงแล้วเห็นว่าไม่ถูกต้อง คือการออกเสียงผิด ใช้คำผิดความหมาย ไม่ถูกต้องตามไวยกรณ์ เพราะการออกเสียงพี้ยนแล้วทำความหมายผิดไป เช่น "ข่าวคราว" ออกเสียงเป็น "ข่าวคาว" คำที่เปล่งเสียงควบกล้ำจะหายไป ต่อไปอีก 700 ปี หรือใกล้กว่านั้น เสียงควบกล้ำคงจะหายไปหมด ด้านนายประยอม ยังจำได้ว่าวันที่ออกจากราชการครู มีคนทักว่าน่าเสียได้ที่กำลังจะเสียครูภาษาไทยที่ดีไปอีกคน แต่ผมเองก็ได้รับปากว่าแม้จะไม่ได้เป็นครูแต่ก็ยังคงทำหน้าที่รักษาภาษาไทยอยู่ และยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงของภาษาเป็นเรื่องธรรมดาแต่ขึ้นอยู่ที่ว่าจะรับมือและปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนนั้นอย่างไร
ในช่วงท้ายการอภิปราย ทั้งอาจารย์กาญจนา และคุณหญิงกุลทรัพย์ ร่วมกันฟันธงอนาคตของภาษาไทยว่า ปัญหาที่เป็นอยู่ทุกวันนี้มาจากการ "ขาดความรู้"
"อนาคตของภาษาไทยน่าเป็นห่วง เพราะไม่สามารถต้านทานวัฒนธรรมต่างประเทศได้ แต่อย่าท้อ เพราะภาษาไทยเป็นมรดกของชาติ หากไม่มีแผ่นดิน ก็ยังเป็นชาติอยู่ได้ถ้ามีภาษา มีศิลปะวัฒนธรรมประเพณี" คุณหญิงกุลทรัพย์บอกพร้อมกับยกตัวอย่าง ชาวมอญ ที่ยังคงเป็นมอญอยู่ได้แม้ไม่มีแผ่นดินของตัวเอง แต่ก็ยังมีภาษาที่ทำให้รู้ว่าเป็นมอญ
"เพราะการรักษาภาษา คือการรักษาชาติ เด็กสมัยใหม่ ไม่อ่าน ไม่เรียน ไม่ฟังเพราะขณะนี้คนไทยเดินตามและชื่นชมชาติอื่นจนลืมรากเหง้าความเป็นไทยไป การศึกษาต้องเน้นว่าการเรียนภาษาไทยนั้นเป็นการสร้างคน สร้างชาติ ขณะนี้เราก้าวสู่ความเป็นสากลแต่ไม่คำนึงถึงความเป็นไทย ถ้าสังคมไทยยังเป็นเช่นนี้ อนาคตของภาษาไทยก็ไม่รู้จะเป็นเช่นไร"
คุณหญิงยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า "ครู" มีส่วนสำคัญในการร่วมอนุรักษ์ภาษาไทย ถ้าล้มเหลวก็ล้มเหลวเพราะครู ไม่ใช่ว่าสอนอะไรไม่ได้ก็มาสอนภาษาไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่เลวร้ายมาก เพราะครูนั้นต้องรู้และสำนึกรักษ์ภาษาไทย
"เคยมีการสำรวจ ว่าเยาวชนไทยไม่ชอบเรียนวรรณคดี ด้วยเหตุผลว่าเชย ล้าสมัย ไม่สนุก สิ่งเหล่านี้ต้องโทษครู ถ้าครูมีลีลาในการสอน สามารถสร้างความสนใจให้กับเด็กได้ ภาษาไทยก็จะไม่เป็นเรื่องที่น่าเบื่อ และ ภาษาจะเสื่อมสลายหรือไม่ก็อยู่ที่ครู"
การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าการเปลี่ยนแปลงนั้นทำให้เกิดความเสียหาย ก็เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะในเรื่องของ "ภาษา" ซึ่งถือเป็นมรดกอันหนึ่งของชาติ
ถ้าภาษาทรุดโทรม ชาติก็ต้องทรุดโทรมไปด้วย ดังพระบรมราโชวาทที่ว่า
"ชาติไทยเรามีภาษาของเราใช้เอง เป็นสิ่งอันประเสริฐอยู่แล้ว เป็นมรดกอันมีค่าตกทอดมาถึงเราทุกคน จึงมีหน้าที่จะต้องรักษาไว้ ฉะนั้น จึงขอให้บรรดานิสิตและบัณฑิต ตลอดจนครูบาอาจารย์ได้ช่วยกันรักษาและส่งเสริมภาษา ซึ่งเป็นอุปกรณ์และหลักประกันเพื่อความเจริญวัฒนาของประเทศชาติ"
.......................................................................................
4 เมษายน 2549 08:03 น.
เวทย์
คำถาม ความแตกต่างระหว่าง กวี กับ นักกลอน
ตอบ โดย โชคชัย บัณฑิต'
คำถามนี้เป็นประเด็นที่ได้รับการหยิบยกมาพูดถึงในแวดวงคนเขียน ร้อยกรอง อยู่บ่อย ๆ คงต้องยกคำของ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ จากเอกสารประกอบการเข้าค่าย จุดประกายความใฝ่ฝัน เพาะเมล็ดพันธุ์วรรณกรรม ของกองทุนศิลปินครูบ้านป่า สลา คุณวุฒิ มาประกอบ ดังนี้
มีการสำคัญผิดอยู่บ้างว่า กวีนิพนธ์ได้แก่การเรียงร้อยถ้อยคำให้ถูกฉันทลักษณ์ แต่การเรียงร้อยถ้อยคำให้ถูกฉันทลักษณ์เป็นแต่เพียงการร้อยกรอง ยังไม่ใช่กวีนิพนธ์ ถ้าจะให้ถึงขีดกวีนิพนธ์ ผู้ประพันธ์ต้องแสดงความรู้สึกอย่างลึกซึ้ง และยิ่งกว่านั้นทำให้ผู้อ่านรู้สึกตามไปด้วย
คนเขียนกลอนได้ถูกต้องและไพเราะ ถ้าผลงานชิ้นนั้นยังไม่สามารถสื่อความลึกซึ้งให้ผู้อื่นรู้สึกตามได้ ก็เป็นเพียงนักกลอน แม้จะเขียนถูกฉันทลักษณ์เป๊ะ ๆ ตามรูปแบบและเสียงที่นิยมกันว่าไพเราะสุด ๆ แล้วก็ตาม ในทางกลับกันผลงานบางชิ้นอาจจะดูขัด ๆ ตาในทางรูปแบบในบางจุด แต่สื่ออารมณ์ความรู้สึกได้ลึกซึ้งจับใจก็ถือว่าเป็นบทกวี (กลอนเปล่าหลายชิ้นจึงเป็นบทกวี แม้จะไม่มีรูปแบบฉันทลักษณ์มาตรฐาน) อย่างที่ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เคยกล่าวไว้ว่า ถ้าสัมผัสใจได้แล้วละก็ สัมผัสคำถือเป็นเรื่องรอง
อย่างไรก็ตามถ้าเขียนแล้วสัมผัสใจก็ได้ และยังสัมผัสคำได้ดีอีกด้วยก็น่าจะถือว่าเป็นบทกวีที่สมบูรณ์ยิ่งอีกระดับหนึ่ง เหมือนภาพขียนอันวิจิตรบรรจงถึงระดับงาน ศิลปะแม้จะอยู่ในกรอบที่แสนจะธรรมดา แต่ก็ยังเปล่งประกายศิลป์ออกมาจนสัมผัสได้ด้วยใจและจิตวิญญาณ ยิ่งถ้าได้กรอบทองอย่างดีก็ยิ่งขับเน้นความเด่นของภาพขึ้นไปอีก ผิดกับภาพเขียนดาด ๆ ในกรอบทองหรูหรา ทำอย่างไรภาพนั้นก็ไม่สามารถเป็นงาน ศิลปะได้อย่างที่ควรจะเป็น (ทำนองเดียวกับคำว่า ศิลปิน ไม่ใช่เพียงออกผลงานเพลงที่ยังไม่สามารถถ่ายทอดอารมณ์เพลงได้อย่างมีศิลปะ แล้วเรียกตัวเองว่าศิลปิน)
......................................................................................................
เก็บมาฝากไว้เป็นข้อคิดครับ
11 มีนาคม 2549 08:27 น.
เวทย์
ไม่เรียนหนังสือ แล้วจะเสียใจ วัยรุ่นมะกัน "รู้ซึ้ง" กันแล้ว!!!
คอลัมน์ สรรหามาเล่า
raikorn@hotmail.com
หยิบมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อเด็กๆ ในบ้านเราที่มีโอกาสได้เรียนหนังสืออยู่ตอนนี้ จะได้รู้ว่านี่คือ "โอกาสทอง" ของชีวิตที่ไม่ควรปล่อยให้หลุดมือไป จะได้ไม่ต้องมานั่ง "เสียใจ" ภายหลังเหมือนหลายคนที่เคยปล่อยโอกาสนั้นไป แล้วกำลังนั่ง "เสียดาย" เสียใจอยู่ทุกวันนี้ ทั้งยังว่า หากย้อนเวลาได้ พวกเขาจะไม่ยอม "เลิกเรียน" เด็ดขาด!!
และ ถึงแม้ว่านี่จะเป็นผลการสำรวจการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ทว่ามีข้อมูล "น่าสนใจ" ไม่น้อยเลยทีเดียวที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนในแวดวงการศึกษาจะได้รู้ไว้ โดยเฉพาะ "เหตุผล" ที่ทำให้เด็กตัดสินใจเลิกเรียน!!!
สำหรับผลการสำรวจชิ้นนี้ จัดทำโดยบริษัทวิจัยปีเตอร์ ฮาร์ต (Peter Hart Research Association) ภายใต้การสนับสนุนเงินทุนในการทำสำรวจจากมูลนิธิบิล แอนด์ เมลินดา เกตส์ ฟาวน์เดชั่น (Bill and Melinda Gates Foundation) ที่ทำการสุ่มสอบถามเยาวชนอายุระหว่าง 16-25 ปี จำนวน 467 ราย จากหลายเมือง หลายรัฐในสหรัฐอเมริกา ที่ตัดสินใจออกจากโรงเรียนกลางคันเรียนไม่จบระดับไฮสคูล หรือมัธยมศึกษา ซึ่งพบว่า วัยรุ่นส่วนใหญ่ต่างบอกว่าเสียใจที่ทำลงไป ขณะที่บางคนบอกว่า หากในโรงเรียนมีการเรียน การสอนที่น่าสนใจ พวกเขาก็คงไม่ออก!!
และที่ทีมนักสำรวจบอกว่า "ผิดคาด" มากก็คือ เด็กที่ทิ้งการเรียนส่วนใหญ่ ไม่ใช่เด็ก "สมองทึบ" เรียนหนังสือไม่เก่ง หรือเป็นเด็กที่ชอบสร้างปัญหา เหมือนที่คนส่วนใหญ่คิด แต่เป็นเด็กมีผลการเรียนดีเลยทีเดียว โดยจากผลสำรวจพบว่า มีเด็กถึง 6 ใน 10 คนที่ทำคะแนนได้เกรดซี (C) หรือทำเกรดได้ดีเยี่ยมกว่านั้นอีกขณะตัดสินใจเลิกเรียน แต่ส่วนใหญ่เล่าว่าที่ตัดสินใจลาออกเพราะรู้สึก "เบื่อ" ระบบการเรียน การสอนที่ไม่มีความสัมพันธ์ และไม่สามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตประจำวัน
"ครูได้แต่ยืนอยู่หน้าห้อง แล้วก็พูดเรื่องอะไรไม่รู้ ที่ไม่เห็นเกี่ยวข้องกับเราเลย" เด็กสาวจากบัลติมอร์บอก ขณะที่เด็กหนุ่มจากเมืองฟิลาเดลเฟีย ผู้มีความฝันอยากเรียนต่อวิทยาลัย แต่เรียนไฮสคูลได้เพียงปีเดียวก็ลาออก และตอนนี้ก็กลายเป็น "คนตกงาน" เล่าถึงเหตุผลที่ทำให้เขาเลิกเรียนว่า "ไม่มีใครในโรงเรียน ที่ทำให้ผมรู้สึกอยากอยู่ต่อ"
ในบรรดาเหตุผลต่างๆ นานา ก็มีเหตุผลนี้อยู่ด้วยจากวัยรุ่นคนหนึ่งที่บอกว่า "ไม่เห็นเราจะได้เรียนรู้อะไรเลย เราก็แค่เข้าไปนั่งในชั้นเรียน แต่ไม่เคยได้เรียนรู้อะไรที่สามารถนำมาใช้ในชีวิตได้เลย"
ในผลสำรวจ ยังพบด้วยว่า มีวัยรุ่นถึง 3 ใน 4 ที่บอกว่า หากย้อนเวลาได้พวกเขาจะเลือกเรียนต่อไปให้จบ และมีถึง 8 ใน 10 ที่ยอมรับว่า ใบประกาศนียบัตรสำเร็จการศึกษาระดับไฮสคูลมีความสำคัญต่อความสำเร็จในชีวิต โดยจากสถิติ มีตัวเลขรายได้แจกแจงให้เห็นว่า คนที่เรียนไม่จบไฮสคูล มีรายได้เฉลี่ยต่อปีราว 9,200 ดอลลาร์ (ราว 358,800 บาท) เท่านั้น!!
ทั้งนี้ จอห์น บริดจ์แลนด์ อดีตที่ปรึกษาด้านนโยบายภายในประเทศของ ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมผู้สำรวจครั้งนี้เล่าว่า แต่ละปีมีเด็กอเมริกันทิ้งการเรียนปีละราว 1 ล้านคน และที่น่าเสียดายก็คือ มีเด็กหลายคนที่เรียนดี และมีเป้าหมายในชีวิต แต่ไม่อยากเรียน เพราะรู้สึกว่าบรรยากาศการเรียน การสอนในโรงเรียนน่าเบื่อ!!!
"สิ่งที่สะดุดใจเราก็คือ มีเด็กหลายคนที่ฝันอยากเป็นหมอ เป็นพยาบาล เป็นวิศวกร เป็นนักสำรวจอวกาศ แต่ต้องทิ้งความฝัน เมื่อมาอยู่ในสภาพสิ่งแวดล้อมของโรงเรียนที่ขาดแรงบันดาลใจ รู้สึกไม่มีส่วนร่วม และรู้สึกไม่ปลอดภัย"
ในโอกาสเดียวกันนี้ บริดจ์แลนด์มีข้อเสนอแนะให้หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการศึกษา ควรจะมี "ทางเลือก" ต่างๆ ในโรงเรียนให้เด็กมากขึ้น ขณะที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง ก็ต้องให้ความใส่ใจลูกหลานให้มากขึ้นด้วย
............................................................................................
อ่านแล้วนึกถึงประเทศไทยแฮะ
6 มีนาคม 2549 15:53 น.
เวทย์
ห้วงยามเศร้าสร้อย รันทดท้ออาลัย หลายคนย่อมหวนถวิลหากวีซึ้งใจสักบทปลอบประโลมจิตใจคลายพลัดพราก รานร้าว เฉกเช่นเดียวกับบทกวีการเมืองที่ถักถ้อยร้อยรัดศรัทธา อารมณ์ ความรู้สึก การเคลื่อนไหวต้านคานอำนาจอยุติธรรมทางการเมืองของผู้คนหลากหลายเข้าด้วยกันอย่างแน่นแนบ ยิ่งวิกฤตจริยธรรมการเมืองฉ้อฉลคอร์รัปชันรานรุกคุกรุ่นดังปัจจุบันด้วยแล้ว ยิ่งทบทวีพวยพุ่งพลังตราตรึงงดงามของกวีการเมืองจนมิอาจปฏิเสธ
ด้วยวัฒนธรรมการเมืองไทยในสายตารัฐยามปะทะพลังการเมืองภาคประชาชน มักจบด้วยการหยามหมิ่นถิ่นแคลนและโศกนาฏกรรมหาญหักประหัตประหาร แม้บางคราประชาชนพานพบชัยชนะช่วงท้าย แต่ล้วนแล้วรองรับด้วยซากปรักหักพังทางกายและจิตวิญญาณเพื่อนพ้องร่วมอุดมการณ์ กระนั้นประชาชนไม่น้อยก็ก้าวกล้าแตกหักกับอธรรม ด้วยศรัทธา เชื่อมั่นของตัวเองถูกสะท้อนตอกย้ำทิศทางเดียวกับความจริงแท้ที่ถ่ายทอดผ่านอักขระในบทกวีการเมือง
* ผลึกคิดต้านต่อทรราช
การสมานสามัคคี ประนีประนอมกับความเลวร้ายต่ำทราม หรือไม่นำพาปัญหาบ้านเมืองด้วยกลัวเกรงความขัดแย้งแตกแยกขจรขจายในสังคมและนำภยันอันตรายมาสู่ตัว ย่อมไม่ใช่วิสัย กวีการเมือง ผู้ตกผลึกคิดต้านต่อทรราชด้วยความพลิ้วไหวงดงามทรงพลังของตัวอักษร ด้วยพวกเขาต่างตระหนักดีว่าพันธกิจสำคัญของกวีที่แท้ มิอาจตัดขาดความเคลื่อนไหวในมุมโดดเดี่ยวเงียบเหงาและลุกโชนร้อนแรงของสังคม ดังอังคาร กัลยาณพงศ์ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์) และกวีซีไรต์ปี 2529 ก้องประกาศว่า กวีผู้ร้อยเรียงอักขระสรรค์สร้างคุณธรรมในสังคมการเมืองจะต้องมีวิสุทธิ์ทัศนะ
กวีบางคนมองไปถึงขอบฟ้า ขณะอีกคนอาจมองได้แค่หน้าบ้าน กวีควรมองปัญหาแบบพญาเหยี่ยว แบบ Birds Eye View เห็นปัญหาทั้งหมด เมื่อใดกวีมีวิสุทธิ์ทัศนะจะมองปัญหารอบด้าน มุมมองกว้างไกล ไม่อย่างนั้นจะเข้าทำนองเห็นพฤกษ์ไม่เห็นไพร ในสถานการณ์ปัจจุบันขณะรัฐบาลถูกขับไล่หนัก กวีควรสะท้อนสาเหตุแห่งปัญหาความไม่รู้จักพอของผู้นำ มนุษย์ควรรู้จักพอ เสมือนผลไม้ที่สุกก็หลุดร่วง ไม่มากไปกว่านั้น ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาล้วนแจ่มชัดแล้วว่าไม่มีผู้นำคนไหนอยู่ยั้งยืนยง ไม่ว่าจะมีอำนาจมหาศาลเพียงใดหากยังกดขี่ เอารัดเอาเปรียบประชาชน
"การบ่มเพาะเกี่ยวกับทรรศนะของมนุษย์ กวี ศิลปินต้องอยู่กับโลกมนุษย์ อยู่กับจักรวาล ต้องติดตามความเป็นไปของวิถีโลก บทกวีการเมืองที่ดีต้องสอดคล้องสถานการณ์บ้านเมือง ต้องกู้ชาติ ต้องมีเจ้าตากในหัวใจ อย่ามัวรอเสวยสุข" ท่านอังคารเน้น ก่อนแนะว่า ความยากง่ายในการเขียนบทกวีการเมืองไม่ควรคำนึงถึง แม้จะลำบากยากแค้นแค่ไหนก็ต้องบากบั่น มุ่งมั่นรังสรรค์บทกวีงดงามมากมายด้วยคุณค่าต่อสังคมออกมา
ยิ่งการเมืองปัจจุบันพันพัวภาคส่วนต่างๆ ในสังคมกว่าเก่ามาก กวีจะยิ่งต้องขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติม ดังท่านอังคารที่แม้วัยจะก้าวสู่ทศวรรษที่ 8 แล้ว แต่ยังคงยึดหลัก 'สุ จิ ปุ ลิ' ตามติดสถานการณ์บ้านเมืองจากหนังสือพิมพ์หลายหัวทุกวัน วิเคราะห์ เปรียบเทียบกลวิธีคอร์รัปชันรูปแบบต่างๆ ที่นักการเมืองแต่ละยุคใช้ ก่อนกลั่นกรองร้อยเรียงเป็นบทกวีที่พุ่งเป้าโจมตีทรพีแผ่นดินไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้ง 14 ตุลา พฤษภาทมิฬ 35 และทรราชขายชาติ 49
"กวีควรพึ่งพิงทั้งพรสวรรค์และพรแสวง เพราะถ้ากวีไม่ศึกษาเล่าเรียนอย่างต่อเนื่อง ก็ย่อมจะเขียนอะไรโง่ๆ บ้องตื้นออกไป เปรียบดังคางคกในกะลา เห็นท้องกะลาก็บอกว่าท้องฟ้า เห็นขอบกะลาก็นึกว่าขอบฟ้า"
ทำนองเดียวกับ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กวีผู้คว้ารางวัลศิลปินแห่งชาติและซีไรต์เหมือนท่านอังคารเพียงต่างปีกัน และเรียงร้อยถ้อยกวี 'อาทิตย์ ถึง จันทร์' จากช่วงวันมหาวิปโยค สะท้อนความเป็นตัวตนของกวีการเมืองชัดเจนจับใจว่า กวีการเมืองนอกจากสื่อสารอารมณ์ความรู้สึกที่พ้นจากตัวเองและร้อยรัดอารมณ์ของสังคมในห้วงยามนั้นๆ แล้ว ควรกอปรด้วยมุมมองการสะท้อนปัญหา ชี้นำสังคม และทางออกของวิกฤตการณ์ ด้วยท่วงทำนองงดงามสละสลวยทางวรรณศิลป์
"ก่อนจะเขียนบทกวีการเมือง ควรเข้าใจความรู้สึก อารมณ์ของสังคม เข้าใจการเมือง ซึมซับรับรู้เรื่องราวการเมือง เพื่อจะสัมผัสได้ถึงพลัง ความรู้สึกทางการเมืองและสังคมในขณะนั้น" เนาวรัตน์เผย พลางย้ำว่าบทกวีการเมืองที่ถึงพร้อมควรผสานการสะท้อนปัญหา สาเหตุอย่างเป็นจริง ควบคู่กับการชี้ทางออกด้วยกระบวนการศิลปะ
คำเดียว วรรคเดียวอาจสะท้อนได้ทั้งหมด เช่น บทกวีอีสานของนายผี (อัศนี พลจันทร) ที่ว่า 'ในฟ้าบ่มีน้ำ ในดินซ้ำมีแต่ทราย น้ำตาที่ตกราย ก็รีบซาบ บ่ รอซึม' หรือ เปิบข้าวของจิตร ภูมิศักดิ์ 'เปิบข้าวทุกคราวคำ จงสูจำเป็นอาจิณ เหงื่อกูที่สูกิน จึงก่อเกิดมาเป็นคน' บทกวีทั้ง 2 มิเพียงสะท้อนปรากฏการณ์ความเป็นจริงของสังคมในห้วงยามนั้น ทว่ายังเป็นแรงดลใจแห่งกวี และจุดประกายมุมมองผู้อ่านต่อความอยุติธรรมต่างๆ ที่รายรอบ กดทับ ที่สำคัญยังผลักดันประชาชนรวมตัวร่วมลุกขึ้นสู้เปลี่ยนแปลงสังคมด้วย
กวีซีไรต์ปี 2523 ยังย้ำด้วยว่า จิตสำนึกทางการเมืองของกวีควรคุกรุ่นลุกโชนตลอดเวลา ต้องมองพ้นจากตัวเอง มองอนาคตของมนุษยชาติเป็นสำคัญ คงมั่นอุดมการณ์ ปรารถนาสังคมยุติธรรม ประชาชนอยู่ดีกินดี จิตสำนึกทางการเมืองที่อิงแอบแนบแน่นกับหลักธรรมจึงเป็นภาวะที่กวีการเมืองทุกคนควรใฝ่หา ครอบครองจิตสำนึกทางการเมืองในตัวกวีจะเป็นดัชนีชี้ขาดว่าพร้อมมากน้อยแค่ไหนกับภารกิจร่ายรำปากกาถ่ายทอด สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกร่วมของสังคม กระนั้นการเข้าร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยตรงย่อมได้บทกวีหนักแน่น มีสีสัน ชีวิตชีวามากกว่า ด้วยลำพังจิตสำนึกอาจไม่สามารถพัฒนาเป็นองค์รวมของจิตสำนึกที่เป็นปัญญาได้
"การเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองจะประทับแน่นในความรู้สึก ก่อนถูกกลั่นกรองเป็นบทกวีที่มีทั้งจิตนาการ ประสบการณ์ บรรยากาศ มุมมอง เป็นองค์รวมของปัญญาที่หนักแน่นกว่าความคิด จิตสำนึกที่ไม่ผ่านประสบการณ์จริงย่อมมีวันสั่นคลอน"
จะว่าไปแล้ว กวีการเมืองหลายครั้งวิวัฒน์จากภาคปฏิบัติ คลุกคลีเคลื่อนไหวทางการเมืองของกวีโดยตรง ดังหนึ่งผลึกน้ำค้างพร่างพราวจากยุคสมัยเผด็จการต้านต่อทรราชจากห้วงพลังนักศึกษาเบ่งบาน 14 ตุลา 2516 จิระนันท์ พิตรปรีชา กวีซีไรต์จากกวีนิพนธ์ 'ใบไม้ที่หายไป' ในปี 2532 เล่าว่า วัตถุดิบ ความจัดเจน แหลมคมยามร้อยเรียงบทกวีการเมือง ส่วนหนึ่งคลี่คลายจากประสบการณ์ตรงขับไล่ทรราชในช่วงวัยนิสิต
วัตถุดิบจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองจะถูกกลั่นกรอง สอดร้อยกับเหตุการณ์ ก่อนถักถ้อยออกมาเป็นบทกวีอันประจักษ์ชัดถึงจุดยืนของกวีต่อสถานการณ์บ้านเมืองในห้วงยามนั้น บางคราวบทกวีจะสำแดงเพียงเรื่องราวขัดแย้ง ขณะหลายคราก็ชี้นำสังคม พร้อมเสนอแนะทางออกจากกับดักความขัดแย้ง
* อัปลักษณ์อัปรีย์อันตรึงตา
คุณค่าทางวรรณศิลป์มิเพียงสะท้อนแค่ความงดงามของธรรมชาติและอลังการงานศิลปะของมนุษย์เท่านั้น ทว่ายังถ่ายทอดความอัปลักษณ์อัปรีย์ของรัฐบาล สังคม ผู้นำ ความไม่รู้จักพอ หลงลำพองของมนุษย์ได้อย่างสละสลวยรวยรุ่มพลัง บทกวีการเมืองจึงเผยความอัปรีย์ตรึงตาตรึงใจในจิตวิญญาณประชาชนรากหญ้าผู้หิวกระหายชิ้นเนื้อความยุติธรรม หลังถูกขโมย ทึ้งกัดโดยผู้มีอำนาจรัฐบางคน
"ต้องผสานเนื้อหาและฉันทลักษณ์เป็นเอกภาพ เพราะหากเน้นแค่รูปแบบแต่ไม่สนใจเนื้อหา อาจเข้าถึงอารมณ์ผู้คนได้เพราะสละสลวย แต่ขาดน้ำหนักในการรับรู้ ขณะเดียวกันถ้ามุ่งเน้นแต่เนื้อหา ไม่มีความสวยงามทางฉันทลักษณ์ จะกลายเป็นแค่บทความ บทกวีการเมืองจึงควรผสานทั้งเนื้อหาและฉันทลักษณ์" เนาวรัตน์ถ่ายทอดคุณลักษณะกวีการเมืองอันพึงประสงค์ ก่อนชี้ว่าถ้าฝึกฝน ท่องจำฉันทลักษณ์จนเชี่ยวชาญ บทกวีจะตราตรึงงดงามด้วยเนื้อหาและท่วงทำนอง แม้เนื้อหาจะไม่ได้พรรณนาความสวยงามของธรรมชาติหรือมนุษย์เลยก็ตาม
"กวีที่เชี่ยวชาญ เป็นนายของภาษาจะกำหนดลีลาของบทกวีที่เขียนให้มีจังหวะจะโคนสอดรับได้อย่างอัตโนมัติ มีเสียง มีน้ำหนัก มีการขับเคลื่อนพลิ้วไหว โดนใจ อย่างไรก็ตาม อย่ายึดติดรูปแบบเกินไป เพราะจะขาดคุณค่าของเนื้อหาได้ เพราะถ้าเน้นแค่รูปแบบ ผลในการซึมซับจะได้น้อยกว่า"
เนาวรัตน์เน้นด้วยว่า ศิลปะการนำเสนอสำคัญมาก ก่อนกวีจะหลุดพ้นกรอบยึดทางฉันทลักษณ์ได้นั้น จะต้องผ่านกระบวนการฝึกพื้นฐานรูปแบบฉันทลักษณ์ เขียนกาพย์ โคลง กลอนให้ได้ก่อน ไม่ต่างอันใดกับจิตรกรที่คร่ำเคร่งฝึกเทคนิคร่างเส้นตรง วงกลม ก่อนจะก้าวสู่ประตูจิตรกรใหญ่
หากบทกวีขาดหายความงามทางฉันทลักษณ์และเนื้อหาสารัตถะที่ปรารถนาจะถ่ายทอดแล้ว ความพร่าพรางทางศิลปะและหลงใหลในความรู้สึกส่วนตัวจะเด่นชัด ขับเน้นจนบทกวีนั้นขาดหายคุณค่า ความชัดเจน เรื่อยเอื่อย ไม่สื่อสารอะไรกับสังคม ผู้อ่านในท้ายสุด
สอดคล้องกับมุมมองจิระนันท์ ที่ว่าการฝึกฝนฉันทลักษณ์จนเชี่ยวชาญ จะเรียงร้อยอักขระเพื่อเสกสรรค์บทกวีการเมืองอันทรงพลังและสวยงามได้โดยอัตโนมัติ ไม่ต้องกังวลจะแต่งไม่ไพเราะ ไม่ถูกฉันทลักษณ์ สุดท้ายบทกวีที่กลั่นกรองออกมาจึงลื่นไหลทั้งท่วงทำนองวรรณศิลป์ หนักแน่นซาบซ่านความหมาย
"กวีการเมืองถ่ายทอด สะท้อนอารมณ์การเมืองโดยไม่ต้องแฉข้อมูลมากมาย โดยเฉพาะหลังการไฮปาร์กจบลง กวีการเมืองจับต้องอารมณ์ของสังคมการเมืองในห้วงเวลานั้นๆ ได้มากกว่าสื่ออื่น เช่น ตื่นเถิดเสรีชน แม้จะกระชับ แต่เร้าใจ มีความหมายยิ่งใหญ่มากสำหรับสังคมที่ขาดหายประชาธิปไตยมานาน"
ด้านท่านอังคารเน้นไปในทางเดียวกันว่า กวีการเมืองต้องมุ่งเนื้อหา เขียนให้ได้ความ สื่อสารกับผู้อ่านได้ แม้จะตีความได้หลายทางก็ยังดีกว่าเขียนไม่รู้เรื่อง ขณะเดียวกันก็ควรเรียนรู้ฉันทลักษณ์ อ่านกวีโบราณ พระอภัยมณี ขุนช้างขุนแผนบ้าง เช่นเดียวกับศิลปินที่จะต้องฝึกฝนเขียนกนก หากเขียนไม่เป็น ก็ไม่อาจเขียนลายไทยให้ลือเลื่องได้
"บทกวีดี มีพลังจะต้องเขียนให้ถึงสัจจะ อุดมการณ์ ความงามที่เป็นสากล เขียนเพื่อมวลมนุษยชาติ เขียนเพื่ออารยธรรม" ท่านอังคารเผย ก่อนย้ำหนักแน่นว่าพัฒนาการด้านการเขียนบทกวีการเมืองจะก้าวหน้า ย่ำอยู่กับที่ หรือถอยหลังลงคลอง ล้วนเรียกร้องการลดอัตตาตัวตนในกวีอย่างมาก ด้วยต้องพิจารณาส่วนวิเศษของผู้อื่น และตรวจสอบข้อบกพร่องของตัวกวีเอง เพื่อจะยกระดับงานของตัวเองให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ขณะ วสันต์ สิทธิเขต กวีผู้แน่นแนบศิลปะและการเคลื่อนไหวภาคประชาชน มองว่าการประมวลความรู้ สถานการณ์บ้านเมือง ก่อนจะถักทออักขระออกมาเป็นบทกวีการเมืองนั้นสำคัญมาก แม้บางครั้งจะขาดหายซึ่งความงามทางวรรณศิลป์ แต่ถ้าถ่ายทอดเนื้อหาได้ชัดเจน ลุ่มลึก จริงแท้แล้ว กวีบทนั้นก็มีคุณค่าต่อสังคม
"บทกวีคือเสียงของความคิดที่ออกมาเป็นถ้อยคำ มีชีวิต มองเห็นภาพ จินตนาการ ใช้อารมณ์ ความสะเทือนใจสะท้อนความรู้สึกของสังคม ผู้จะเขียนกวีการเมืองได้ อย่างน้อยต้องรักชีวิต รู้จักธรรมชาติ เข้าใจหลักชีวิตพอสมควร รู้การเมือง อ่านเกมการเมืองออก" วสันต์เน้น ก่อนเผยแก่นแกนความคิดในการต้านเผด็จการมายาวนานหลายทศวรรษว่า 'ศิลปะคืออาวุธ ใช้ขุดโค่นอำนาจร้าย ต้องพลีชีพทั้งใจกาย คือความหมายแห่งศิลปิน'
บทกวีการเมืองที่จะคงความเป็นอมตะ จุดประกายความคิด ศรัทธาในเจนเนอเรชันต่อไปไม่เสื่อมถอย นอกจากต้องถึงพร้อมความงดงามทางฉันทลักษณ์แล้ว ความหมายที่สะท้อน ถ่ายทอดยังต้องสากล ไม่ขึ้นกาลเวลา ดังวสันต์มองว่าบทกวีที่สะท้อนโลกทัศน์อย่างลุ่มลึก ย่อมส่งผลสะเทือนเปลี่ยนแปลงชุมชนไม่ว่าจะอ่านเมื่อใด ยิ่งอ่านยามต้านต่อทรราชด้วยแล้ว ยิ่งฮึกเหิม กร้าวแกร่ง
* ผลิชีพจรรากหญ้าประชาธิปไตย
บนเวทีเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรก่อนคลี่คลายเป็นเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย บทกวีการเมืองยามขับขานย่อมขับเคลื่อนผนึกผสานเอกภาพของประชาชนเรือนแสนแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ด้วยทุกอักขระที่ถักถ้อยร้อยรัดเข้าด้วยกันนั้นล้วนเคียงข้างประชาชนผู้ทุกข์ยาก มุ่งคร่าอธรรม ขับไล่ทรราช ขจัดปัญหาแผ่นดินไทย ในห้วงวันเวลาที่การตรวจสอบถ่วงดุล (Check and Balance) ของสังคมง่อยเปลี้ยเสียศรัทธา
แม้ความสลับซับซ้อนของปัญหาจะเปลี่ยนผ่านจากประชาธิปไตย-เผด็จการทหาร สู่การเมืองภาคประชาชน-เผด็จการทุนนิยมในปัจจุบัน แต่ท้ายสุดแล้ววังวนปัญหาเดิมๆ ไม่เคยเคลื่อนถอยจากความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับอำนาจรัฐผู้ยึดติดอวิชชาบนคราบน้ำตาและสายเลือดประชาชน บทกวีการเมืองจึงไม่เคยว่างเว้นบอกเล่าเรื่องราวรากหญ้าประชาชนเหยื่ออยุติธรรมทางการเมือง เพียงแต่ปรับเปลี่ยนเนื้อหาสอดคล้องกับห้วงสมัยที่เปลี่ยนแปร
"บทกวีการเมืองเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย จากเคยบอกเล่าเรื่องราวขัดแย้งระหว่างประชาชนกับอำนาจรัฐที่มาจากทหาร ก็ปรับเปลี่ยนเป็นประชาชนกับเผด็จการทุนนิยม บทกวีในวันนี้จะต้องถ่ายทอดอันตรายจากการผูกขาด ซับซ้อนซ่อนเงื่อนของเศรษฐกิจการเมือง" เนาวรัตน์เผยเส้นทางพัฒนาการกวีการเมืองไทย ก่อนเน้นภารกิจกวีว่านอกจากเข้าใจความลักลั่นซับซ้อนของทุนนิยมแล้ว ยังต้องเพียรพยายามมากขึ้นในการถ่ายทอดข้อเท็จจริงวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่นับวันจะเชื่อมโยงทุกภาคส่วนในสังคมมากขึ้น โดยเฉพาะมิติเศรษฐกิจ
"กวีการเมืองย่อมสะท้อนพัฒนาการ ล้มลุกคลุกคลานประชาธิปไตยไทย กวีคือผลผลิตของสังคม เป็นอารมณ์ความรู้สึกร่วมของสังคม ผู้เขียนกวีการเมืองได้ดีจะต้องไม่ดัดจริต ต้องมีจิตสำนึกทางการเมืองเป็นอย่างน้อย" เนาวรัตน์เผย พลางย้ำว่าแม้กวีการเมืองจะทรงพลังในการขับเคลื่อนภาคประชาชน แต่ก็ไม่มีศักยภาพมากพอจะเปลี่ยนแปลงสังคมโดยลำพัง ต้องสอดประสานพลังภาคส่วนอื่นๆ อย่างเป็นกระบวนการ
กวีการเมืองคือชีพจรสังคม จึงยุติธรรมที่ผู้คนจะเรียกร้องให้กวีออกมารับผิดชอบสังคม แม้ห้วงยามปกติไม่ใคร่เห็นความสำคัญของกวีเลยก็ตาม ด้วยบทกวีคือความรู้สึกของสังคม ประคับประคองความรู้สึกของผู้คน ประชาชนปรารถนาเสพบทกวีเพราะพวกเขาต้องการผู้ที่จะมาพูดแทนความรู้สึกตัวเอง ยิ่งโมงยามคอร์รัปชันรานรุกหนัก
"บทกวีการเมืองจุดประกายจิตสำนึก ปลุกประชาชนตื่นจากหลับใหลยาวนานของเผด็จการทุนนิยม เผด็จการรัฐสภาได้ บทกวีการเมืองจะเป็นทัพหน้าและธงนำความรู้สึก เชิดชูความรู้สึกของสังคมราวกับแสงเทียนส่องทาง เป็นทั้งกำลังใจของประชาชนและอาวุธทิ่มแทงศัตรู" เนาวรัตน์มองสอดคล้องกับกวีซีไรต์ปี 2532 ที่ว่าบทกวีการเมืองในปัจจุบันควรสะท้อนความซับซ้อนของเผด็จการ คอร์รัปชัน แม้จะยากลำบากกว่าเดิมมากในการถ่ายทอดความฉ้อฉลเชิงวรรณศิลป์
"กวีการเมืองเป็นพลังสมทบในการขับเคลื่อนการเมืองภาคประชาชน ต้องควบคู่กับการเคลื่อนไหวภาคส่วนอื่นๆ จึงจะมีพลังมากพอเปลี่ยนแปลงสังคม อย่างกรณีขายหุ้นของผู้นำ คงยากจะอธิบายให้ประชาชนเข้าใจได้ด้วยบทกวี เพราะลำพังตัวกวีเองก็ยากจะเข้าใจความซับซ้อนนี้ จึงต้องเป็นหน้าที่นักวิชาการที่จะอธิบายความไม่ชอบธรรมให้สาธารณชนเข้าใจโดยง่าย"
...ยามกวีการเมืองผลิดอกออกผลพราวพรั่งมักจะเป็นห้วงวันประชาธิปไตยล้มลุกคลุกคลาน เฟื่องฟูอยุติธรรม คอร์รัปชันเชิงนโยบาย ผลประโยชน์ทับซ้อน ราว 2 ด้านของเหรียญประชาธิปไตย หากวันใดการเมืองเข้มแข็ง โปร่งใสย่อมไม่มีใครกระหวัดถึงกวีการเมือง ทว่าเมื่อใดการเมืองไร้ธรรมาภิบาล จริยธรรมผู้นำ เมื่อนั้นกวีการเมืองจะผงาดเด่น
3 กวีซีไรต์ 1 กวีศิลปินต่างมองปรากฏการณ์เคลื่อนไหวนี้คล้ายคลึงกัน ด้วยล้วนเชื่อมั่น ศรัทธาในพลังกวีการเมืองว่ามีศักยภาพมากพอจะคลี่คลายสถานการณ์เลวร้ายทางการเมือง พลิกผันสังคมสู่ความยุติธรรม เสริมสร้างพลังการเมืองภาคประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ยิ่งนำเสนอผ่านบทเพลง บทละคร อย่างสอดคล้อง พร้อมนำเสนอถูกจังหวะ เวลา ย่อมส่องประกายกวีบทนั้นจนตราตรึงจิตใจประชาชนยิ่งขึ้น
ความสุขุมลุ่มลึก เยือกเย็นย่อมร้อยรัดกับห้วงการเดินทางของวันเวลา ภารกิจกวีการเมืองทั้งเก่า-ใหม่ล้วนแล้วหนีไม่พ้น ขจัดคราบเปื้อนเปรอะจากการกระทำเลื่อนเลอะเทอะของนักการเมืองผู้พิศสมัยกติกู-กติกา-เงินตรามากกว่าคุณธรรม จริยธรรม เหนืออื่นใดจะต้องรัดร้อยถ้อยถักอักขระให้ประชาชนเข้าใจว่าความขัดแย้งย่อมนำการเปลี่ยนแปลงที่ดีมาถึงได้ หากผู้ที่หาญหักด้วยนั้นคือทรราชผลาญชาติ ขายแผ่นดิน
******************************
เรื่อง/ ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ
29 มกราคม 2549 09:10 น.
เวทย์
ผมได้อ่านบทความของ โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์ ในมติชน
เห็นว่าน่าสนใจ จึงคัดลอกมาให้อ่านกัน
..........................................................................
ความเข้าใจเรื่องของอารมณ์เป็นความเข้าใจพื้นฐานที่สำคัญมากและมีผลต่อการนำมาปฏิบัติในชีวิตจริงๆ และมีผลต่อวิถีชีวิตของพวกเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะมนุษย์ทุกคนในแต่ละขณะเวลาหนึ่งจะต้องมีอารมณ์กันทั้งนั้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
บทความในวันนี้เขียนชื่อไม่ผิดครับ "มาใช้อารมณ์กันเถอะ" ไอเดียเรื่องนี้มาจากคุณณัฐฬส วังวิญญู ที่พูดขึ้นมาครั้งหนึ่งในวงสุนทรียสนทนาที่พวกเราทำกันอย่างสม่ำเสมอที่เชียงราย คุณณัฐฬสบอกว่า "พวกเราควรจะต้องพูดคุยกันด้วยอารมณ์ให้มากๆ" คำว่า "อารมณ์" ในความหมายของณัฐฬสนั้นเป็นกลางๆ คือเขาไม่ได้มองคำว่า "อารมณ์" เป็นเรื่องที่ไม่ดีไปเสียหมด ในความหมายนี้ณัฐฬสต้องการให้ผู้เข้าร่วมวงสุนทรียสนทนาใช้อารมณ์ด้านบวกของตัวเองใส่เข้ามาในการพูดคุยด้วย ไม่ใช่พยายามใส่แต่ความคิดความเห็นซึ่งจะทำให้วงสนทนาขาดความสมดุลในมิติของอารมณ์ไป เป็นมิติของคนที่ใช้สมองมากกว่าใช้หัวใจ
อย่างไรก็ตามคำว่า "ใช้อารมณ์" ได้ถูก "ตีความหมาย" ไปใน "ทางลบ" ตั้งแต่ต้น ถ้าใครพูดว่า "ใช้อารมณ์" ก็จะถูกมองว่าเป็นคนไม่ได้เรื่อง เป็นพวกที่ไม่รู้จักอดกลั้นอดทน เป็นพวกมุทะลุดุดัน แต่นั่นก็เป็นเพียง "ความหมายหนึ่ง" หากว่าเราจะมอง "ความหมายของอารมณ์" ในอีกความหมายหนึ่งแบบเดียวกันกับที่คุณณัฐฬสได้ลองโยนประเด็นเข้ามาในวงสนทนาก็จะพบว่า "อารมณ์" นั้นเป็นไปได้ทั้งบวกทั้งลบ เป็นไปได้ทั้งด้านดีและด้านไม่ดี เราอาจจะยังไม่ควรด่วนตัดสินให้เป็นเฉพาะด้านใดด้านหนึ่ง
คุณเดวิด สปิลเลน ที่ร่วมโครงการจิตวิวัฒน์ด้วยกันได้ส่งหนังสือเล่มใหม่มาให้ผมเล่มหนึ่ง เป็นหนังสือที่ชื่อว่า "Consciousness & Healing" ตีพิมพ์ในปี 2005 นี้เอง โดยสถาบัน IONS (Institute Of Noetic Sciences) ในสหรัฐอเมริกา เป็นหนังสือเล่มหนาเกือบหกร้อยหน้าแถมตัวอักษรยังเล็กนิดเดียวอีก เป็นหนังสือที่รวบรวมงานเขียนของแพทย์และบุคลากรทางสาธารณสุขชั้นนำจำนวนมากกว่า 50 ท่านที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของ "สุขภาพแบบใหม่" ซึ่งให้ความสำคัญกับ "เรื่องของอารมณ์"
ใน DVD ที่แถมมากับหนังสือเล่มนี้มีคุณหมอผู้หญิงท่านหนึ่งเป็นกุมารแพทย์ เธอสารภาพว่าเธอจะต้องแอบร้องไห้ทุกครั้งที่คนไข้ของเธอเสียชีวิต ในตอนแรกเธอคิดว่าเรื่องนี้เป็น "ความด้อย" ของเธอที่เธอมักจะ "ใช้อารมณ์" ซึ่งดูเผินๆ เหมือนกับว่าเธอจะ "ไม่สามารถควบคุมอารมณ์" ของตัวเธอเองได้และดูจะไม่เป็น "มืออาชีพ" เลย แต่หลังจากที่เธอได้ลองศึกษาเรื่องอารมณ์อย่างจริงจัง เธอพบว่าถ้าเธอสามารถ "เปลี่ยนพลังงาน" ด้านลบคือความเศร้าเหล่านั้นให้เป็นพลังงานด้านบวกได้ เธออาจจะกำลังทำสิ่งที่ถูกต้อง เพราะ "การใช้อารมณ์" แบบนั้นอาจจะไม่ได้เป็นเรื่องเสียหายทางวิชาชีพใดๆ เลย ในทางตรงกันข้าม "การเข้าถึงอารมณ์" ที่อ่อนไหวแบบนี้กลับจะช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับคนไข้ที่นับวันจะเสื่อมสลายลงไปนั้น ได้รับการแก้ไขเยียวยาและ "เกิดความรู้สึกที่ดีๆ" เป็นความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมากยิ่งขึ้น
เมื่อหลายปีก่อนในเว็บไซต์ทางการแพทย์แห่งหนึ่ง ผมเคยเข้าไปร่วมแจมในกระทู้หนึ่งซึ่งเรื่องราวที่พูดคุยกันในกระทู้นั้นมีประเด็นว่า "ในกรณีที่มีทางเลือกในการรักษาคนไข้หลายๆ ทางแพทย์จะมีวิธีการ "ตัดสินใจ" เลือกวิธีการรักษาอย่างไร?" เช่นสมมุติว่าจะต้องผ่าตัดหรือไม่ต้องผ่าตัดดี ควรจะให้ยารักษาหรือควรจะใช้รังสีรักษาดี อะไรทำนองนี้เป็นต้น
ในตอนนั้นผมเข้าไปร่วมแจมในกระทู้นี้และผมเขียนลงไปในเว็บบอร์ดว่า สำหรับผมแล้วผมชอบวิธีการที่อาจารย์แพทย์ท่านหนึ่งเคยสอนผมว่าน่าจะลองคิดว่าคนไข้ที่เรากำลังรักษาอยู่นั้นเป็นญาติเรา เป็นพ่อเป็นแม่เราหรือเป็นพี่เป็นน้องของเราแล้วเราจะรู้เองว่าเราควรจะเลือกวิธีการรักษาแบบใดให้กับคนไข้รายนี้ ซึ่งวิธีการนี้เป็นการ "ใช้อารมณ์" และ "ความรู้สึก" เพื่อ "สร้างสายใยแห่งความผูกพัน" ระหว่างแพทย์กับคนไข้ได้เป็นอย่างดี
ปรากฏว่าได้มีแพทย์หลายท่านไม่เห็นด้วย เขียนติดในเว็บบอร์ดบอกว่าวิธีการของผมประมาณว่า "ไม่เป็นมืออาชีพ" แพทย์ก็ส่วนแพทย์ คนไข้ก็ส่วนคนไข้ เราจะต้องรักษาสถานภาพไม่เกี่ยวกัน ถ้าเรานำความคิดว่าคนไข้มาเป็นญาติเรา อาจจะส่งผลทำให้เรา Bias ต่อวิธีการรักษาได้ เช่นแทนที่จะใช้วิธีการผ่าตัดก็กลับมาใช้วิธีการให้ยาหรือในทางกลับกันเป็นต้น
ผมคงจะไม่ได้บอกว่าแนวคิดแบบใดจะถูกต้อง หรือจะมาเขียนเพื่อจะเอาดีหรือเอาชั่วใส่ตัวหรือใส่คนอื่นๆ นะครับ เพียงแต่อยากจะเล่าเรื่องแบบนี้ไว้เพื่อยกเป็นตัวอย่างให้เห็นตามสมมติฐานที่ว่า การปฏิบัติของคนเรานั้นเกิดจากมุมมองหลักระหว่างวิทยาศาสตร์เก่าที่แยกส่วนกับวิทยาศาสตร์ใหม่ที่มองเห็นความเชื่อมโยงนั้นจะส่งผลต่อการกระทำที่แตกต่างกันไปได้จริงๆ
ในสังคมสมัยใหม่ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน (ซึ่งยังใช้วิทยาศาสตร์แบบเก่าเป็นกรอบคิด) นอกจากจะสอนให้เรา "ไม่ใช้อารมณ์" ซึ่งจะทำให้มนุษย์กลายเป็นหุ่นยนต์ไปทุกทีแล้ว เรายังจะถูกสอนให้แยกอารมณ์และความรู้สึกออกไปจากงานอีกด้วย ในเรื่องหนึ่งวิธีคิดหรือกรอบคิดแบบนี้ก็ได้กลายไปเป็นเรื่องที่ผมเคยเขียนถึงไปหลายตอนแล้วประมาณว่าเวลาทำงานก็ทำงานอย่าเอาเรื่องส่วนตัวเข้ามาในที่ทำงาน เวลาพักผ่อนก็พักผ่อนห้ามทำงานห้ามคุยเรื่องงานเด็ดขาด จึงเป็นเรื่องช่วยไม่ได้ที่ "ในระบบวิชาชีพเฉพาะต่างๆ" ที่ไม่เพียงเฉพาะแพทย์เท่านั้นที่เกิดเรื่องทำนองนี้ แต่เกิดขึ้นกับทุกวิชาชีพ ในบริษัทส่วนใหญ่จะไม่ยอมให้พนักงานพูดเรื่องส่วนตัว ไม่ให้พนักงานแสดงอารมณ์ส่วนตัวในเวลางาน เพราะถือว่าเวลางานก็ทำงานเรื่องส่วนตัวเก็บเอาไปที่บ้าน อะไรทำนองนั้น
ในความเป็นจริงเราก็จะพบว่า เอาเข้าจริงๆ แล้วในเวลาทำงานเราไม่สามารถแยกเรื่องส่วนตัวออกไปจากเรื่องงานได้เลย
ความเข้าใจผิดด้วยมุมมองหลักที่แยกส่วนแบบวิทยาศาสตร์เก่านี้ ย่อมส่งผลให้เกิดปัญหาต่างๆ มากมายตามที่ปรากฏอยู่ในสังคมปัจจุบันนี้
เป็นไปได้หรือไม่ว่า บางทีแค่ "การฝึกนำอารมณ์มาใช้" กันให้มากๆ ขึ้นเหมือนกับที่คุณณัฐฬส วังวิญญู ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ อาจจะสามารถช่วยให้เกิดความสมดุลของสมองกับหัวใจขึ้นมาได้บ้างหรืออาจจะสามารถช่วยคลี่คลายความไม่ลงรอยความไม่เข้าอกเข้าใจกันอันนำไปสู่ความสุขและศานติในสังคมได้บ้างหรือไม่
.........................................................................
น่าจะลองใช้มุมมองของสหวิทยาการประยุกต์มาใช้กับการเขียนด้วยได้