ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร
ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร คือพระสูตรที่สำคัญและเป็นที่นิยมยิ่งในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน
ชื่อ “ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร” มีความหมายตามตัวอักษรว่า “พระสูตรอันเป็นหัวใจแห่งปฏิปทาอันยวดยิ่ง
แห่งความรู้แจ้ง”ในภาษาอังกฤษมักแปลโดยสังเขปว่า “หฤทัยสูตร” (The Heart Sutra) หรือ “สูตรแห่งใจ”
พระสูตรนี้มักได้รับการยอมรับว่าเป็นพระสูตรที่มีผู้รู้จักและนิยมที่สุดมากกว่าพระสูตรใดของพุทธศาสนา
แบ่งออกเป็นโศลกภาษาสันสกฤต จำนวน 14 โศลก แต่ละโศลกมี 32 อักขระ ส่วนพระสูตรที่ได้รับการแปล
เป็นภาษาจีนโดยพระถังซัมจั๋งมีทั้งหมด 260 ตัวอักษรจีน ในภาษาอังกฤษแปลออกมาได้จำนวน 16 บรรทัด
จึงนับเป็นพระสูตรในหมวดปรัชญาปารมิตาที่มีขนาดกระชับที่สุด คณาจารย์ด้านพุทธศาสนาฝ่ายทิเบต
ได้ให้กถาธิบายเกี่ยวกับพระสูตรนี้ไว้ว่า "สารัตถะแห่งปรัชญาปารมิตาสูตร (ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร)
มีขนาดสั้นมากเมื่อเทียบกับปรัชญาปารมิตาสูตรอื่น ๆแต่พระสูตรนี้ได้บรรจุเอาไว้ซึ่งความหมายโดยนัยตรง
และนัยประหวัดของพระสูตรขนาดยาวไว้ทั้งหมด"พระสูตรฉบับภาษาจีนมักนำมาสาธยายระหว่างประกอบ
พิธีทางศาสนาโดยพระภิกษุนิกายเซน ในจีน ญี่ปุ่น เกาหลี และเวียดนาม พระสูตรนี้จัดอยู่ในกลุ่มพระสูตร
จำนวนหยิบมือที่มิได้เป็นพุทธวจนะโดยตรง ในบางฉบับมีการเอ่ยถึงสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงชื่นชม
และรับรองวจนะของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์เอาไว้ด้วย ผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนาพุทธหลายท่าน
แบ่งพระสูตรออกเป็นส่วนต่าง ๆ แตกต่างกันออกไปตามทัศนะของท่านเหล่านั้น แต่โดยสังเขปแล้วพระสูตรนี้
พรรณนาถึงการบรรลุธรรมของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร อันเกิดจากการเพ่งวิปัสนาอย่างล้ำลึก จนบังเกิด
ปัญญา (ปรัชญา) ในการพิจารณาเล็งเห็นว่าสรรพสิ่งต่าง ๆ ล้วนว่างเปล่า และประกอบด้วยขันธ์ 5 อันได้แก่
รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ทั้งนี้ หัวใจหลักของพระสูตร ดังที่ระบุว่า "รูปคือความว่าง
ความว่างคือรูป รูปไม่ต่างจากความว่าง ความว่างไม่ต่างจากรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณก็ว่างเปล่า"
นับเป็นแก่นแท้ของพุทธศาสนา เห็นแจ้งในรูปเป็นความว่าง เกิดมหาปัญญา เห็นแจ้งในความว่างเป็นรูป
เกิดมหากรุณา เมื่อเห็นแจ้งในรูปเป็นความว่าง ความยึดมั่นในอัตตาย่อมไม่มี ความหลงในสรรพสิ่ง
ย่อมถูกทำลายไป ธรรมชาติแท้ของสรรพสิ่ง ก็บังเกิดขึ้นในจิต นั่นคือ มหาปัญญา ได้บังเกิดขึ้น
และเมื่อได้เห็นแจ้งถึงความว่างได้ กำเนิดรูป ความรัก ความเมตตากรุณาในสรรพสิ่งที่เป็นธรรมชาติแท้
ย่อมบังเกิดขึ้น ความเมตตากรุณาที่เกิดจากปัญญาจะไม่มืดบอด หลงใหล ในภาษาทิเบตมีการบรรยาย
ที่มาของพระสูตร และ บทสรุปของพระสูตรนี้ ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในสังยุตตนิกายว่า
“ดูกรกัจจนะโลกนี้ติดอยู่กับสิ่งสองประการ คือ “ความมี”และ “ความไม่มี” ผู้ใดเห็นความเกิดขึ้นของสิ่งทั้งหลาย
ในโลกตามความเป็นจริงและดัวยปัญญา “ความไม่มี”อะไรในโลกจะไม่มีแก่ผู้นั้น
ดูก่อนกัจจนะ ผู้ใดเห็นความดับของสิ่งทั้งหลายในโลกตามความเป็นจริงและด้วยปัญญา “ความมี”
อะไรในโลกจะไม่มีแก่ผู้นั้น” (จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี)
ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร (ข้าพเจ้าขอเรียกว่า ธรรมวิถีแห่งปัญญา) ไม่ใช่เป็นเพียงคาถาหรือมนตรา
อันศักดิ์สิทธิ์ตามที่เข้าใจกันเท่านั้น หากแต่เบื้องหลังยังแฝงเร้น “ธรรมวิถี” อันล้ำเลิศ ลึกซึ้ง และรวดเร็วที่สุด
ในการนำผู้ปฏิบัติไปสู่การบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณอีกด้วย โดยท่านอนุตราจารย์ชิงไห่ เรียกว่า
“ธรรมวิถีกวนอิม” (เพ่งเสียงภายใน)และท่านได้เคยกรุณาอธิบายให้ฟังเกี่ยวกับพระสูตรนี้ว่า “พระพุทธเจ้า
กล่าวย้ำว่าธรรมวิธีกวนอิมเป็นธรรมวิถีในการสำเร็จเป็นพุทธะเพียงธรรมวิธีเดียว พุทธะใน 10 ทิศ 3 กาล
(อดีต ปัจจุบัน และอนาคต) ควรต้องบำเพ็ญธรรมวิธีนี้ จึงจะสามารถไปถึงอันดับสูงสุดได้” ซึ่งเราควรเรียก
พระโพธิสัตว์ที่ได้บำเพ็ญด้วยธรรมวิธีนี้จนสำเร็จว่า “พุทธโพธิสัตว์” สำหรับพระสูตรนี้มีเนื้อความ ดังต่อไปนี้
ข้าพเจ้าได้สดับมาดังนี้…
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ ณ เขาคิชกูฏ ใกล้กรุงราชคฤห์
พร้อมด้วยภิกษุและพระโพธิสัตว์หมู่ใหญ่
สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหยั่งจิตเข้าสู่สมาธิพิจารณาสรรพสัตว์อยู่โดยมิได้ขาด
ก็โดยสมัยนั้นเอง พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์มหาสัตว์
ท่านได้บำเพ็ญธรรมวิถีแห่งปัญญา (ธรรมวิถีกวนอิม)
ประกอบด้วยโลกุตรปัญญาอันลึกซึ้งคัมภีรภาพเป็นเครื่องอยู่แล้วนั้น
ท่านรู้แจ้งชัดโดยธรรมขาติอย่างแท้จริงว่าเบญจขันธ์ทั้งปวงล้วนว่างเปล่าเป็นสุญตา
จึงหลุดพ้นจากสรรพทุกข์ทั้งปวงเสียได้
ลำดับนั้น พระสารีบุตรเถรเจ้าโดยพุทธานุภาพ ได้กล่าวแก่พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์มหาสัตว์ว่า
หากกุลบุตร หรือกุลธิดาใดๆ ใคร่จะบำเพ็ญตามธรรมวิธีแห่งปัญญาอันลึกซึ้งนั้น จะพึงศึกษาอย่างไร?
พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์มหาสัตว์อันพระสารีบุตรเถรเจ้ากล่าวอย่างนี้แล้วได้กล่าวตอบว่า
พระคุณเจ้าสารีบุตร! กุลบุตรหรือกุลธิดาใดๆ ใคร่จะบำเพ็ญตามธรรมวิถีแห่งปัญญาอันลึกซึ้งนี้
เขาพึงพิจารณาอย่างนี้ คือพิจารณาขันธ์ 5 เป็นสุญตาโดยสภาพ
รูปไม่ต่างจากสุญตา สุญตาไม่ต่างจากรูป
รูปคือสุญตา สุญตานั่นแหละก็คือรูป
อนึ่ง เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ก็เฉกเช่นเดียวกัน ต่างก็เป็นสุญตา
พระคุณเจ้าสารีบุตร! ธรรมทั้งปวงล้วนมีสภาวะแห่งสุญตา
ไม่เกิด ไม่ดับ
ไม่สกปรก ไม่สะอาด
ไม่เพิ่ม ไม่ลด
ในสุญตาไม่มีรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ
ไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
ไม่มีรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส(โผฏฐัพพะ) และธรรมารมณ์
ไม่มีจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ และมโนวิญญาณ
ไม่มีอวิชชา
เมื่อไม่มีอวิชชา ย่อมไม่มีชรา และมรณะ (ปฏิจจสมุปบาท)
เมื่อไม่มีชรา และมรณะ จึงไม่มีทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค
ย่อมไม่มีซึ่งการรู้แจ้งและไม่รู้แจ้ง
ด้วยเหตุดังนี้
พระโพธิสัตว์ ผู้ดำเนินตามธรรมวิถีแห่งปัญญานี้
จิตใจย่อมเป็นอิสระ ปราศจากอุปสรรคสิ่งขวางกั้นทั้งหลาย
ด้วยเหตุที่จิตใจปราศจากอุปสรรคสิ่งขวางกั้นทั้งหลาย
ท่านจึงปราศจากความหวาดหวั่น (ความกลัว)
และย่อมหลุดพ้นจากอุปาทานทั้งหลาย
ลุถึงพระนิพพานได้ในที่สุด
พระพุทธเจ้าในอดีตกาล ปัจจุบันกาล และอนาคตกาล
ล้วนแล้วแต่ทรงบำเพ็ญธรรมวิถีแห่งปัญญานี้ทั้งสิ้น
จนพระองค์ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
ด้วยเหตุนี้พึงตระหนักว่าธรรมวิถีแห่งปัญญานี้
คือเสียงดนตรีภายในอันทรงศักดาอานุภาพ คือเสียงแห่งการรู้แจ้งอันสมบูรณ์
คือเสียงอันสูงสุด ไม่มีเสียงใดยิ่งกว่า ไม่มีเสียงใดจะเทียบเทียมได้
สามารถขจัดทุกข์ภัยทั้งปวง เป็นสัจธรรมแน่แท้ไม่แปรผัน
เป็นอิสระจากมายาทั้งมวล ดังนั้น จึงพึงปฏิบัติตามธรรมวิถีนี้
จงไป จงไป ข้ามไปให้พ้น ไปให้ถึงที่สุดแห่งความรู้แจ้ง ไปสู่ความสงบสันติเกษมศานต์เถิด!
พระคุณเจ้าสารีบุตร! สรรพสัตว์ผู้หมายที่จะรู้แจ้ง พึงศึกษาธรรมวิถีแห่งปัญญาอย่างนี้
ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงออกจากสมาธินั้นแล้ว
ได้ประทานสาธุการ แก่พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์มหาสัตว์ว่า
ถูกแล้ว ถูกแล้ว กุลบุตร ข้อนั้นเป็นอย่างนั้น กุลบุตร จริยาในธรรมวิถีแห่งปัญญา อันลึกซึ้งนั้น
อันบุคคลพึงประพฤติอย่างนี้ พระตถาคตอรหันต์เจ้าทั้งหลาย
ย่อมทรงอนุโมทนาอย่างที่ท่านยกขึ้นแสดงแล้ว
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคำนี้จบลงแล้ว ท่านพระสารีบุตร พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์มหาสัตว์
พุทธบริษัทอันมีประชุมชนทุกเหล่าและสัตว์โลกพร้อมทั้งเทวา มนุษย์ อสูร คนธรรพ์ ก็มีใจเบิกบาน
ชื่นชมภาษิต ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยประการฉะนี้
www.suprememastertv.com