หลังจากที่สอนเรื่อง สมเด็จพระสุริโยทัยจบ ครูกระดาษทรายให้นักเรียนถอดคำประพันธ์จากเรื่องที่เรียนลงในสมุดแบบฝึกหัด แล้วกลับมายังห้องพัก เดินไปหยิบเหยือกน้ำดอกอัญชันสีครามซึ่งต้มมาจากบ้าน รินใส่แก้ว ใครๆก็ชอบว่า สีเหมือนน้ำมันก๊าด บางคนก็ว่าสีเหมือนหมึกน้ำเงินหรือครามที่ใส่ผ้าขาว ต่างๆ นานา ครูกระดาษทรายเองก็คิดอย่างนั้นเหมือนกันนะ แต่ดอกอัญชันที่ริมรั้วหน้าบ้านบานเต็มต้น จะทิ้งให้โรยไปก็ไร้คุณค่า จึงเก็บมาใส่กระติกน้ำร้อนต้มดื่มสลับกับใบเตยข้างครัว วิธีเปลี่ยนสีน้ำดอกอัญชันง่ายนิดเดียว คือนำน้ำมะนาวบีบลงไปผสมเล็กน้อย น้ำดอกอัญชันสีครามก็จะเป็นสีชมพูหวาน น่าดื่มแทนที่จะเป็นสีน้ำมันก๊าดแล้ว คือว่า ตอนเป็นเด็กเคยเก็บดอกอัญชันมาแล้สบีบก้นมดแดงใส่กลีบดอก ก็เปลี่ยนสีเป็นสีชมพู นี่ทำบาปโดยไม่ได้ตั้งใจ ถ้าต้องการหุงข้าวให้สีสันสวยก็นำดอกอัญชัญ ๒ ๓ ดอกใส่ในหม้อหุงข้าว หรือจะคั้นน้ำใส่ก็ได้ ก็จะได้ข้าวสีครามน่ารับประทานทีเดียว อ้าวนอกเรื่องเสียแล้ว อยู่ในห้องพักครูเลยเถิดไปถึงครัวได้อย่างไรกันนี่ วกกลับมาที่เดิมก่อนดีกว่า เมื่อดื่มน้ำเสร็จครูกระดาษทรายก็มานั่งที่โต๊ะ สมุดแบบฝึกหัดของนักเรียนกองรอการตรวจอยู่บนโต๊ะตรงหน้าแล้ว จึงหยิบกระเป๋าดินสอ หยิบปากกาสีแดงขึ้นมาพร้อมทั้งเปิดสมุดแบบฝึกหัด อ่านทีละเล่ม ๆ ตรวจไป เรื่อยๆ จนมาถึงสมุดของห้องท้าย ๆ ตาชักลายเสียแล้ว คือว่าลายมือเด็กๆ บ่งบอกให้เห็นว่าแกคงเป็นคนขอมโบราณมาเกิดกระมัง ลายมือพันกันยุ่งเหยิง ตอนนี้ก็พยายามช่วยแก้ไข โดยเปิดชุมนุมคัดลายมือขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาลายมือให้เด็ก ซึ่งก็ได้ผลดี ครูกระดาษทรายเองก็เคยเป็นลูกครึ่งขอมเหมือนกัน แต่ก็ได้รับการฝึกหัดคัดตั้งแต่เรียนชั้น ม. ๓ ปัจจุบันก็ดีขึ้นและได้รับความไว้วางใจให้เขียนใบประกาศนียบัตร เกียรติบัตร ประจำ อ้าว ขี้คุยจัง แหะๆ ครูกระดาษทรายจึงหันไปหยิบมะขามจี๊ดจ๊าดวางอยู่บนโต๊ะ มาอมพร้อมกับเกลือเม็ดโต หายตาลายแล้ว ก็ตรวจต่อไป คราวนี้ได้สมุดแบบฝึกหัดของเด็กชายเอกชัย หรือไอ้เอกของเพื่อนๆ หรือนายเอก ของครู ซึ่งกำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒/๙ คุ้นตาเหลือเกินจะไม่คุ้นได้อย่างไร ปีที่แล้วนายเอก ก็เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒/๙ นี่แหละ แต่เพื่อน ๆ เขาเลื่อนชั้นไปอยู่ ม.๓ นายเอกก็เลยได้เรียนกับรุ่นน้อง โชคดีหรือเปล่าไม่รู้ เผอิญนายเอกเป็นเด็กชายตัวเล็ก ๆ หน้าอ่อนกว่าวัย จึงกลมกลืนกับนักเรียนรุ่นน้องจนดูราวกับว่า นายเอกจะเป็นน้องทั้งรูปร่าง หน้าตา และสติปัญญาทีเดียวเชียว ถึงแม้จะเรียนซ้ำชั้นนายเอกก็ยังไม่ชำนาญ เชี่ยวชาญในเนื้อหาที่เรียน สิ่งที่นายเอกชำนาญก็คือ การเล่นปั่นแปะ อย่าว่าแต่นายเอกเลย ตอนเป็นเด็กครูกระดาษทรายก็เคยเล่น แต่ไม่ได้เล่นเอาสตางค์แค่ดีดมะกอกเท่านั้นล่ะ หันกลับมาเล่าถึงสมุดนายเอกดีกว่า ถอดคำประพันธ์โคลงบทสุดท้ายของเรื่องออกมาบทสุดท้ายที่ว่า ขุนมอญร่อนง้าวฟาด ฉาดฉะ ขาดแล่งตราบอุระ หรุบดิ้น โอรสรีบกันพระ ศพสู่ นครแฮ สูญชีพไป่สูญสิ้น พจน์ผู้สรรเสริญ นายเอกก็ถอดคำประพันธ์ว่า..........พระเจ้าแปรใช้ของ้าว ฟัดคอ สมเด็จพระสุริโยทัย ขาดแล่งถึงอก ตกลงจากหลังช้าง พระโอรสรีบกันพระศพเข้ากรุงศรีอยุธยา ท่านสิ้นแล้วแต่ผู้คนยังกล่าวสรรเสริญจนถึงปัจจุบันและตลอดไป ครูกระดาษทราย แอบหัวเราะแล้วใช้ปากกาหมึกแดง วงรอบคำว่า ฟัดคอ ไว้ พร้อมทั้งปิดสมุด นายเอกคงจะหมายถึงคำว่า ฟันคอ นั่นเอง จากสมุดแบบฝึกหัดของนายเอก ทำให้ครูกระดาษทรายย้อนรำลึกไปถึงอดีต ตอนที่ยังเรียนไม่จบเคยสอนพิเศษให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาของโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งเขียนสรุปเรื่องพระยาพิชัยดาบหัก ครูกระดาษทรายก็ใช้หมึกแดงวงกลมไว้ที่คำว่า พระยาพิชัยดหัก เฮ่ย แย่แล้วทำภาษาวิบัติหมดเลย แต่อย่าเป็นห่วงกังวลไปเลย ครูกระดาษทรายก็แก้ปัญหาโดยการเรียกเด็กเหล่านั้นมาแก้ไข โดยการเขียนใหม่แล้ว และก็หวังว่า คำคำนั้นเขาเหล่านั้นคงจะจำได้ไปตลอดโดยไม่สะกดผิดอีกต่อไป
17 สิงหาคม 2551 15:01 น. - comment id 100851
ยอดเยี่ยมไปเลยค่ะ ภาษาวิบัติไม่เท่าไหร่ค่ะ แต่ถ้าพระยาพิชัย เป็นอย่างที่เด็กคนนั้นเขียนล่ะก้อ อิอิ หายง่วงเลยค่ะ
20 สิงหาคม 2551 15:50 น. - comment id 100979
พระยาพิชัยน่าสงสารจังเลยค่ะ 555 ที่นัทเคยเจอนะคะ(สอนภาษาไทยเหมือนกัน) ขนมไข่หงส์=ไข่โหง พระยาคันคาก(ท้าวแสนปม)= พระยาคัน_าก(ด) อ่านแล้วก็เรียกมาแก้เหมือนกันค่ะ
21 สิงหาคม 2551 06:51 น. - comment id 100998
สวัสดีค่ะ คุณแมวคราว อย่าห่วงเลย ปกติถ้ามีอะไรที่เด็กผิดพลาด วงตัวแดงไว้เสมอ แล้วก็ให้แก้ไขทันทีนะคะ ขอบคุณค่ะที่ห่วงเด็ก ๆ ด้วยกัน ลาออกมาเป็นครูด้วยกันจะดีมากเลยนะคะ ชวนอย่างจริงใจ ลูกศิษย์นอกห้องอย่างคุณไม่ใช่เนอร์สเซอรี่แล้วละค่ะ อย่างนี้น่ะ ครูกระดาษทรายต้องบอกว่า นักเรียนรอครูด้วย บินช้า ๆ ค่ะ คุณแมวคราว
21 สิงหาคม 2551 07:11 น. - comment id 100999
สวัสดีค่ะ คุณนัท ถ้ายิ่งสอนไปนานๆ คนที่น่าสงสารที่สุดคือ เด็กที่ฟัง พูด อ่าน เขียน ไม่คล่องน่ะสิคะ โห ! ถ้าสอนกันไปนานาน ๆ คุณจะได้อะไร ใหม่ ๆ แปลก ๆ ขำ ๆ จากพวกเค้าล่ะค่ะ ขอบคุณค่ะที่แวะมาอ่าน
22 กุมภาพันธ์ 2554 16:47 น. - comment id 101049
ในสมุดแบบฝึกหัดนักเรียนชั้น ม.๒ เช่นกันเรื่องจดหมายกิจธุระ ครุกระดาษทรายให้นักเรียนเขียนจดหมายลาป่วย นักเรียนคนหนึ่งเขียนมาลาว่า "เนื่องด้วยผมไม่สบายไข่ขึ้น" ครูอ่านแล้วก็วงกลมตรงคำว่า "ไข่ขึ้น" แล้วแก้เป็น "ไข้ขึ้น" ให้เรียบร้อย