เมื่อน้ำ (ไม่ได้) กลิ้งบนใบบัว..
ลุงแทน
เมื่อน้ำ (ไม่ได้) กลิ้งบนใบบัว..
ในสมัยยังเด็ก ๆ คุณผู้อ่านท่านใดที่มีบ้านอยู่ในต่างจังหวัดหรือนอกเมือง ที่ยังมีห้วย หนอง คลอง บึง คงเคยได้สังเกตปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่น่าฉงนของ “ใบบัว” หรือ “ใบบอน” นั่นคือเราจะสังเกตเห็นได้ว่าทั้งใบบัวและใบบอนจะไม่เปียกน้ำ ถ้าเราหยดน้ำลงไปเราจะเห็นว่ามันจะกลิ้งไปบนใบของพืชทั้งสองชนิดโดยที่ไม่ เปียกเลยแม้แต่น้อย
คนโบราณเค้าก็เลยมีคำพังเพยที่ใช้เปรียบเทียบ กับปรากฏการณ์ที่ว่านี้ว่า “น้ำกลิ้งบนใบบอน (บัว)” ซึ่งหมายถึงคนที่มีจิตใจโลเล กลับกลอก คบไม่ได้ เหมือนกับหยดน้ำที่กลิ้งไปมานั่นเอง
ในทางวิทยาศาสตร์นั้นเราเรียก ปรากฏการณ์นี้ว่า Lotus Effect หรือ น้ำกลิ้งบนใบบัว ด้วยเหตุที่ว่าโครงสร้างพื้นผิวของใบบัวนั้นมีลักษณะคล้ายหนาม เล็ก ๆ จำนวนมากมายมหาศาลเรียงตัวอยู่บนใบบัวและยังมีปุ่มเล็ก ๆ ที่มีขนาดในระดับนาโนเมตรที่มีคุณสมบัติคล้าย “ขี้ผึ้ง”เคลือบอยู่ภายนอก ซึ่งด้วยพื้นผิวสัมผัส (กับน้ำ) ที่น้อยมาก และแรงตึงผิวของน้ำทำให้น้ำไม่สามารถกระจายตัวบนใบบัวได้ จึงต้องกลิ้งไปกลิ้งมาอย่างที่เราเห็นกัน
ปัจจุบันนี้มีการใช้นาโน เทคโน โลยีสังเคราะห์สารที่มีคุณสมบัติ “เกลียดน้ำ” เช่นเดียวกับใบบัวหรือใบบอน เพื่อใช้ในการเคลือบพื้นผิวของวัสดุต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น “สีทาบ้าน” ที่มีการผสมสารที่มีคุณสมบัติดังกล่าวลงไป เพื่อช่วยป้อง กันคราบสกปรก เพราะว่าน้ำที่กลิ้งไปกลิ้งมาโดยไม่เปียกพื้นผิวจะเป็นตัวช่วยในการนำพาสิ่ง สกปรกนั้นออกไปเองโดยไม่ต้องเปลืองแรงขัดในการทำความสะอาด
แต่ล่า สุดนักวิจัยจาก University of Twente ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้พัฒนาเทคนิควิธีการใหม่ในการสร้างโครงสร้างพื้นผิวของวัสดุอย่างเช่น “โพลีเมอร์” ให้มีโครงสร้างคล้ายกับพื้นผิวของใบบัว ซึ่งก็แน่นอนว่าโครงสร้างพื้นผิวลักษณะนี้จะทำให้โพลีเมอร์หรือพลาสติกเกิด ปรากฏ การณ์น้ำกลิ้งบนใบบัวได้เช่นเดียวกัน
นักวิจัยใช้เลเซอร์ที่ เรียกว่า femtosecond laser ซึ่งเป็นเลเซอร์ที่มีความถี่ในการปล่อยลำแสงสูงในระดับพันล้านล้านส่วนของ วินาที ยิงกราดลงไปบนพื้นผิวของโพลีเมอร์ในแนวเส้นตั้งฉากซึ่งกันและกัน ซึ่งจะทำให้พื้นผิวที่ได้มีลักษณะคล้ายพื้นผิวของใบบัว (ลองนึกภาพแผงไข่ไก่ นั่นแหละคล้ายกันเลย)
เมื่อมีโครงสร้างที่ เหมือนกัน ดังนั้นโพลีเมอร์ที่ได้จากการยิงพื้นผิวด้วยเลเซอร์ดังกล่าวก็จะมีคุณสมบัติ เหมือนกับใบบัวทุกประการ โดยไม่ต้องอาศัยวัสดุที่มีคุณสมบัติคล้ายขี้ผึ้งเคลือบลงไปอีกแต่อย่างใด พื้นผิวลักษณะนี้จึงเปื้อนคราบสิ่งสกปรกยาก ในขณะเดียวกัน สิ่งสกปรกต่าง ๆ ก็จะถูกชะล้างออกไปได้ง่ายมาก ๆ เช่นเดียวกัน ลองนึกภาพดูว่าถ้าเราเอาวัสดุที่มีคุณสมบัติเช่นนี้มาทำแก้วน้ำหรือแก้วกาแฟ เราก็จะสามารถใช้แก้วเหล่านั้นซ้ำได้เลยโดยที่ไม่ต้องล้างเลยด้วยซ้ำ (ถ้าทำใจได้) ประเภทที่ว่ากินแล้วไม่ล้างก็ไม่มีใครรู้!!!
อย่างไร ก็ดี การใช้เลเซอร์สร้างโครงสร้างลักษณะนี้บนผิวของโพลีเมอร์โดยตรงนั้น ยังมีต้นทุนที่สูงอยู่ แต่ถ้าสามารถพัฒนาเทคนิควิธีการ “หล่อขึ้น รูป” ได้สำเร็จก็จะช่วยลดต้นทุนลงได้มากจนสามารถผลิตได้ในระดับอุตสาหกรรม อันจะทำให้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของวัสดุประเภท “เกลียดน้ำ” ในปัจจุบัน ที่ใช้นาโนเทคโนโลยีในการผลิต
ข้อดีอีกอย่างหนึ่งสำหรับเทคนิควิธี การนี้ก็คือว่า พื้นผิวที่ได้จะมีผิวสัมผัสที่คล้ายกับกำมะหยี่ หรือผ้าไหม ซึ่งในทางการตลาดแล้ววัสดุที่ให้ความรู้สึกสัมผัสเช่นนี้จะสร้างความพึงพอใจ ให้กับ ผู้บริโภคได้มากกว่า นอกเหนือไปจากคุณสมบัติ “ไม่เปื้อน ไม่เปียกน้ำ” จะเรียกว่าเป็นผลพลอยได้ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ก็คงไม่ผิดนัก
อยาก รู้เหมือนกันว่า “น้ำกลิ้งบนใบบัว” กับ “น้ำกลิ้งบนหน้านักการเมือง” นี่มันจะเหมือนกันหรือเปล่า? กลัวว่ามันจะเหมือนกันจริง ๆ!!!.