"เราสู้" เพลงพระราชนิพนธ์ ๓
ลุงแทน
ปี 2518-19 ฝ่ายขวาที่ได้รับการจัดตั้งสนับสนุนจากกลไกและชนชั้นนำของรัฐ ได้ทำการเคลื่อนไหวต่อต้านโจมตีขบวนการนักศึกษาและพันธมิตรฝ่ายซ้ายด้วยรูปแบบต่างๆอย่างหนัก นับแต่การจัดตั้งอบรมมวลชน (ลูกเสือชาวบ้าน, นวพล), ใช้สื่อ เช่น หนังสือพิมพ์บางฉบับ (ดาวสยาม, บ้านเมือง) และเครือข่ายสถานีวิทยุของทหาร (ที่เรียกตัวเองว่า "ชมรมวิทยุเสรี" นำโดยสถานีวิทยุยานเกราะ), จัดชุมนุมของตัวเองหรือก่อกวนการชุมนุมของนักศึกษา, ไปจนถึงใช้อาวุธทำร้ายโดยตรง (ฆ่าอินถา ศรีบุญเรืองและผู้ปฏิบัติงานชาวนาอื่นๆ, ฆ่าอมเรศ ไชยสะอาด ผู้นำนักศึกษามหิดล และบุญสนอง บุญโยทยาน อาจารย์ธรรมศาสตร์เลขาธิการพรรคสังคมนิยม, ปาระเบิดใส่การเดินขบวนต่อต้านฐานทัพอเมริกัน และการชุมนุมต่อต้านการกลับมาของประภาส จารุเสถียร ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก)
อย่างไรก็ตาม เฉพาะในส่วนการโฆษณานั้น อาจกล่าวได้ว่าขบวนการนักศึกษาและพันธมิตรฝ่ายซ้ายเองเป็นฝ่ายริเริ่มและเหนือกว่าในด้านสิ่งตีพิมพ์ประเภทหนังสือเล่ม (เรียกว่าเป็น "ยุคทองของพ็อกเก็ตบุ๊ค"), งานเขียน (กวีนิพนธ์, เรื่องสั้น), ภาพเขียนและการ์ตูนการเมือง (แนวร่วมศิลปิน, ชัย ราชวัตร) และการจัดนิทรรศการและการแสดงต่างๆ (บรรดากลุ่มละครและ "วงดนตรีเพื่อชีวิต") "สงครามวัฒนธรรม" ระหว่างทั้งสองฝ่ายจึงเป็นไปอย่างดุเดือด
ในด้านเพลง เราได้เห็นการต่อสู้ระหว่าง "เพลงเพื่อชีวิต" ของฝ่ายซ้ายกับ "เพลงปลุกใจ" ของฝ่ายขวา เป็นที่น่าสังเกตว่าเนื้อหาและท่วงทำนองของเพลงเพื่อชีวิต, ซึ่งโดยรวมแล้วมีความหลากหลายกว่าเพลงปลุกใจมาก, พัฒนาไปในทาง "สู้รบ" รับใช้การชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองมากขึ้น ถ้าผมจำไม่ผิดเพลงที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ในระหว่างการชุมนุมของนักศึกษาในช่วง ปี 2519 คือ โคมฉาย, บ้านเกิดเมืองนอน และวีรชนปฏิวัติ ซึ่งล้วนสะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ที่ว่านี้ "โคมฉาย" ซึ่งเป็นเพลงเดียวในสามเพลงนี้ที่แต่งโดยนักศึกษา เป็นการสดุดีการต่อสู้ด้วยอาวุธในชนบทโดยตรง ("ข้ามเขาลำธารฟันฝ่าศัตรู กระชับปืนชูสู้เพื่อโลกใหม่ กองทัพประชาแกร่งกล้าเกรียงไกร ชูธงนำชัยมาให้มวลชน...") ส่วนอีกสองเพลงจัดเป็น "เพลงปฏิวัติ" มากกว่า "เพลงเพื่อชีวิต" ในความหมายเดิม เพราะเป็นเพลงที่เอามาจาก "ในป่า" คือจากการออกอากาศของสถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย สถานีวิทยุคลื่นสั้นของ พคท. ("บ้านเกิดเมืองนอน" แต่งโดยผู้ปฏิบัติงานพรรคเขตภูพาน ส่วน "วีรชนปฏิวัติ" แต่งโดยจิตร ภูมิศักดิ์สมัยอยู่ในคุก)
ในหมู่ฝ่ายขวา เพลงปลุกใจที่ได้รับความนิยมมากที่สุดอาจกล่าวได้ว่ามี 3 เพลงเช่นกัน "ทหารพระนเรศวร" เป็นเพลงที่พรรคชาติไทยซึ่งเป็นหัวหอกของฝ่ายขวาในวงรัฐบาลนำท่อนหนึ่งมาใช้เป็นคำขวัญในการหาเสียง ("เปรี้ยงๆดังเสียงฟ้าฟาด โครมๆพินาศพังสลอน เปรี้ยงๆลูกปืนกระเด็นกระดอน
โครมๆดัสกรกระเด็นไกล ถ้าสิ้นชาติสิ้นแผ่นดินสิ้นกษัตริย์ เห็นสุดจะยืนหยัดอยู่ได้...") แต่ที่ได้รับความนิยมสูงสุดน่าจะเป็น "หนักแผ่นดิน" ซึ่งสมัยหนึ่งวงดนตรีกรรมาชนของนักศึกษาถึงกับเคยนำมาร้อง เพื่อโจมตีพวกฝ่ายขวาเอง เพราะเนื้อเพลงส่วนใหญ่สามารถ "ไปกันได้" กับการแอนตี้จักรวรรดินิยมต่างชาติของขบวนการนักศึกษา! ("คนใดใช้ชื่อไทยอยู่ กายก็ดูเหมือนไทยด้วยกัน... คนใดเห็นไทยเป็นทาส ดูถูกชาติเชื้อชนถิ่นไทย แต่ยังเฝ้าทำกินกอบโกยสินไทยไป เหยียดคนไทยเช่นทาสของมัน หนักแผ่นดิน หนักแผ่นดิน คนเช่นนี้เป็นคนหนักแผ่นดิน...")
อีกหนึ่งในสามเพลงปลุกใจยอดนิยมของฝ่ายขวาคือเพลงพระราชนิพนธ์ "เราสู้" ซึ่งเริ่มถูกนำออกเผยแพร่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2519 ในความทรงจำของผม การปรากฏตัวของเพลงนี้ในฐานะหนึ่งในเพลงที่ฝ่ายขวาใช้ต่อสู้กับขบวนการนักศึกษาเป็นเรื่องที่ชวนให้แปลกใจไม่น้อยในสมัยนั้น โดยเฉพาะการที่เนื้อเพลงดูเหมือนจะโจมตีต่อต้านขบวนการนักศึกษาโดยตรง จำได้ว่าไม่มีใครทราบหรืออธิบายได้ว่าเหตุใดเพลงพระราชนิพนธ์จึงกลายมามีบทบาทเช่นนั้น ผมเองเก็บเอาความไม่รู้นี้ไว้กับตัวมากว่าสองทศวรรษจนเมื่อไม่นานมานี้จึงได้ลงมือค้นคว้าและพบข้อมูลที่น่าสนใจหลายอย่างเกี่ยวกับเพลงนี้ หนึ่งในข้อมูลที่พบก็คือ แม้จนปัจจุบันทางราชการเองก็ไม่รู้หรือรู้ผิดๆเกี่ยวกับความเป็นมาที่แท้จริงของเพลง "เราสู้"
เพลงพระราชนิพนธ์: ภาพรวม "เพลงพระราชนิพนธ์" ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนรู้จักคุ้นเคยเป็นอย่างดี ในระหว่างงานเฉลิมฉลองการครองราชสมบัติครบ 50 ปี เมื่อ พ.ศ. 2539 และพระชนมายุ 72 พรรษา เมื่อ พ.ศ. 2542 กิจกรรมอย่างหนึ่ง ที่ทั้งภาครัฐและเอกชนจัดขึ้นอย่างแพร่หลายก็คือ การอัญเชิญเพลงพระราชนิพนธ์ออกแสดงในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะตามสถานีโทรทัศน์และวิทยุ, และการแสดงคอนเสิร์ต เพลงส่วนใหญ่ที่นำออกแสดงนั้นอาจกล่าวได้รวมๆ ว่าเป็นเพลงในแนว "โรแมนติก" ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับธรรมชาติและความรักที่เรารู้จักกันดี (เช่น แสงเทียน, ยามเย็น, สายฝน, ใกล้รุ่ง, ชะตาชีวิต, แก้วตาขวัญใจ และ ไกลกังวล เป็นต้น)
ที่เรียกว่า "เพลงพระราชนิพนธ์" นั้น ไม่ได้หมายความว่าทรงพระราชนิพนธ์คำร้องเอง อันที่จริงเพลงพระราชนิพนธ์ทั้งหมดคือเพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนอง มีเพียง 5 เพลงเท่านั้นที่ทรงพระราชนิพนธ์คำร้องด้วย ซึ่งเป็นภาษาอังกฤษทั้ง 5 เพลง ที่เหลือส่วนใหญ่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองก่อน แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ผู้อื่นประพันธ์คำร้องใส่ (ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ) มีบางเพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองใส่ให้กับคำร้องที่มีผู้อื่นประพันธ์ไว้แล้ว ("เราสู้" เป็นหนึ่งในเพลงประเภทนี้)
การนับจำนวนเพลงพระราชนิพนธ์โดยปกติจึงนับจากจำนวนทำนองเพลง (หลายทำนองเพลงมีมากกว่าหนึ่งคำร้อง) จนถึงปัจจุบัน เพลงพระราชนิพนธ์ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำออกแสดงเผยแพร่แก่สาธารณะมีทั้งสิ้น 47 เพลง ทั้งนี้นับตามหนังสือ ธ สถิตในดวงใจนิรันดร์: หนังสือประมวลบทเพลงพระราชนิพนธ์ ซึ่งโรงเรียนจิตรลดาจัดพิมพ์ในโอกาสกาญจนาภิเษก โดยมีสมเด็จ
พระเทพฯ ทรงเป็นองค์ประธาน (หนังสือ ดนตรีจากพระราชหฤทัย ศูนย์รวมใจแห่งปวงชน ที่คณะกรรมการอำนวยการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติ ครบ 50 ปีของรัฐบาลจัดพิมพ์ นับเพลง Blues for Uthit ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่นายอุทิศ ทินกร ณ อยุธยา นักดนตรีวงดนตรี "อ.ส. วันศุกร์" ที่ถึงแก่กรรมเมื่อปี 2522 เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเพลง) จากพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระเทพฯในหนังสือเล่มเดียวกันนี้ เรายังได้ทราบว่ามีเพลงอีกจำนวนหนึ่งที่ทรงพระราชนิพนธ์ "แต่ยังไม่เป็นที่พอพระราชหฤทัยจึงยังไม่ออกเผยแพร่" อย่างไรก็ตาม ถ้านับตามจำนวนคำร้อง เพลงพระราชนิพนธ์ที่เผยแพร่แล้วก็มีทั้งสิ้น 72 คำร้อง จาก 41 ทำนองเพลง (อีก 6 ทำนองเพลงไม่มีคำร้อง) การพิจารณาจากคำร้องนี้จะทำให้มองเห็นบางประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับเพลงพระราชนิพนธ์ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป
ในหนังสือรวมเพลงพระราชนิพนธ์ฉบับทางการ เช่น สองเล่มที่เพิ่งกล่าวถึง เราจะพบเพลงพระราชนิพนธ์ตีพิมพ์ตามลำดับก่อนหลังของการพระราชนิพนธ์ทำนอง ถ้าทำนองใดมีมากกว่าหนึ่งคำร้อง ทุกคำร้องก็จะถูกตีพิมพ์ไว้ด้วยกัน ยกตัวอย่างเช่น เพลง Alexandra ซึ่งคำร้องภาษาอังกฤษ (โดย ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช) แต่งในปี 2502 แต่คำร้องภาษาไทยชื่อ "แผ่นดินของเรา" (โดยท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค) เพิ่งแต่งในปี 2516 ก็จะถูกตีพิมพ์ไว้ก่อนเพลงยูงทองซึ่งทรงพระราชนิพนธ์ทำนอง (และนายจำนงราชกิจ แต่งคำร้อง) ในปี 2506 เป็นต้น โดยแต่ละเพลงจะมีคำบรรยาย "เกร็ดประวัติ" ของการพระราชนิพนธ์ไว้สั้นๆ (ควรกล่าวด้วยว่า ข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นมาและปีที่แต่งทั้งทำนองและคำร้องของหลายเพลง มีความแตกต่างกันระหว่างหนังสือสองเล่มข้างต้น ทำให้การจัดลำดับก่อนหลังต่างกันด้วย)
บทความที่กล่าวถึงเพลงพระราชนิพนธ์ทั้งหมดเท่าที่ผมเคยอ่านล้วนเป็นการสดุดีพระราชอัจฉริยภาพด้านดนตรีมากกว่าเป็นการวิเคราะห์วิจารณ์ จะมี "วิเคราะห์" บ้างก็ในประเด็นด้านเทคนิค เช่น การที่ทรง "บุกเบิก" การใช้ "ไมเนอร์ครึ่งเสียง" และ "บันไดเสียงโครมาติค" ในวงการเพลงไทยสากล ซึ่งก็ยังคงเป็นการวิเคราะห์ที่อยู่ในบริบทของการสดุดี อันที่จริง จากการพิจารณา เพลงพระราชนิพนธ์โดยรวม ผมขอเสนอว่าเราสามารถจะแบ่งออกได้เป็น 2 ช่วงใหญ่ๆ คือ ช่วงแรกที่ทรงรังสรรค์อย่างสม่ำเสมอ (Creative Period) จากปี 2489 ถึงปี 2509 กับช่วงหลังที่ทรงพระราชนิพนธ์แบบเฉพาะกิจ (Occasional Period) จากปี 2509 ถึงปัจจุบัน
ในช่วงแรกนั้นทรงพระราชนิพนธ์เพลงออกเผยแพร่แทบทุกปี จากปี 2489 ถึง 2502 ส่วนใหญ่ปีละมากกว่าหนึ่งทำนองเพลง รวมทั้งสิ้น 35 ทำนองเพลง หลังจากนั้นทรงเว้นช่วงออกไป คือ ปี 2506 ทรงพระราชนิพนธ์ 1 ทำนองเพลง, ปี 2508 ทรงพระราชนิพนธ์ 4 ทำนองเพลง และปี 2509 ทรงพระราชนิพนธ์ 2 ทำนองเพลง รวมทั้งสิ้น 42 ทำนองเพลงในระยะเวลา 20 ปี (หรือ 63 คำร้องจาก 36 ทำนอง อีก 6 ทำนองไม่มีคำร้อง)
จากปี 2509 ถึงปัจจุบัน คือ 35 ปี มีเพลงพระราชนิพนธ์ที่ได้รับการเผยแพร่เพียง 5 เพลง คือ ความฝันอันสูงสุด (2514), เราสู้ (2519), เรา-เหล่าราบ 21 (2519), รัก (2537) และ เมนูไข่ (2538) ทุกเพลงมี
ลักษณะต่างกับเพลงในช่วงแรก คือทรงพระราชนิพนธ์ทำนองใส่ให้กับคำร้องที่มีผู้อื่นประพันธ์ไว้แล้ว
ด้วยการแบ่งเช่นนี้ทำให้เราได้ข้อสังเกตอย่างน้อย 2 ประการ คือ ประการแรก ระยะสิ้นสุดของช่วงที่ทรงรังสรรค์อย่างสม่ำเสมอ คือเมื่อเริ่มเข้าสู่ทศวรรษ 2510 นั้น ตรงกับยุคปลายของรัฐบาลทหารเมื่อการเมืองไทยเริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ โดยที่สถาบันกษัตริย์จะมีบทบาทสำคัญในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงนั้นด้วย
ประการที่สอง ถ้าไม่นับ 2 เพลงหลังสุด คือ "รัก" และ "เมนูไข่" ซึ่งมีความเป็นมาในลักษณะกึ่งส่วนพระองค์ (หรือ "ภายในครอบครัว" ถ้าใช้ภาษาสามัญ) คือทรงพระราชนิพนธ์จากบทกลอนเมื่อทรงพระเยาว์ของสมเด็จพระเทพฯ (ทั้ง 2 เพลง) และเพื่อเป็นของขวัญวันพระราชสมภพ 72 พรรษาสมเด็จพระพี่นางฯ (เมนูไข่) ทั้งยังทิ้งระยะห่างจากเพลงก่อนหน้านั้น (เรา-เหล่าราบ 21) ถึงเกือบ 20 ปีแล้ว เพลงของช่วงหลังที่เหลือทั้ง 3 เพลงล้วนมีลักษณะที่เกี่ยวพันกับการเมืองร่วมสมัยอย่างใกล้ชิด ยิ่งถ้าเราพิจารณารวมไปถึงอีก 2 คำร้องที่มีการประพันธ์ขึ้นใหม่ในช่วงนี้จากทำนองที่ทรงพระราชนิพนธ์ไว้แล้วในช่วงแรก คือ "เกิดเป็นไทยตายเพื่อไทย" (2514 จากทำนองเพลง "ไกลกังวล" ที่ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในปี 2500) และ "แผ่นดินของเรา" (2516 จากทำนองเพลง Alexandra ที่ทรงพระราชนิพนธ์ในปี 2502) ก็จะเห็นลักษณะเกี่ยวพันกับการเมืองร่วมสมัยได้ชัดเจนขึ้น
มองในแง่นี้เราอาจจะแบ่งเพลงพระราชนิพนธ์ทั้งหมดออกตามลักษณะของเพลงเป็น 3 ช่วงก็ได้คือ คือ ช่วง 20 ปีแรก จาก 2489 ถึง 2509 เป็นเพลงพระราชนิพนธ์โรแมนติก, ช่วง 10 ปีหลังจากนั้น จาก 2509 ถึง 2519 เป็นเพลงพระราชนิพนธ์การเมือง, และช่วง 20 ปีเศษต่อมา จาก 2519 ถึงปัจจุบัน เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ในลักษณะ "ส่วนพระองค์" คือ "รัก" และ "เมนูไข่" ควรกล่าวด้วยว่าช่วงต้นปี 2529 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรที่เชียงใหม่ หลังจากทรงหายแล้ว ก็ยังมีคณะแพทย์เฝ้าดูพระอาการ พระองค์ได้ทรงรวบรวมคนเหล่านี้และผู้ตามเสด็จอื่นๆ ตั้งเป็นวงดนตรี พระราชทานชื่อวงว่า "สหายพัฒนา" โดยทรงฝึกสอนด้วยพระองค์เอง - บางคน ในวงไม่เคยเล่นดนตรีมาก่อน - และได้ทรงเขียนโน้ตเพลง "พระราชทานแจกให้เล่น และได้ทรงพระราชนิพนธ์เพลงด้วยคอมพิวเตอร์ แต่ยังไม่เป็นที่พอพระราชหฤทัยจึงยังไม่ออกเผยแพร่" ดังที่สมเด็จพระเทพฯผู้ทรงเป็น "สมาชิกพระองค์แรก" ของวงทรงเล่าไว้ ซึ่งเป็นการสนับสนุนข้อสรุปที่ว่าช่วงหลังจากปี 2519 ถึงปัจจุบัน เพลงพระราชนิพนธ์มีลักษณะ "ส่วนพระองค์"
เพลงพระราชนิพนธ์การเมือง ขอให้เรามาพิจารณาประเด็นเพลงพระราชนิพนธ์กับการเมืองให้ละเอียดยิ่งขึ้น เพลงพระราชนิพนธ์ในช่วงแรกเกือบทั้งหมดมีลักษณะเป็นเพลงในแนว "โรแมนติก" คือพรรณนาถึงธรรมชาติ ชีวิตและความรัก หรือเป็นเพลงรื่นเริงหยอกล้อในหมู่นักดนตรีที่ทรงดนตรีด้วย (H.M. Blues, Never Mind the H.M. Blues, ศุกร์สัญลักษณ์/Friday Night Rag) จริงอยู่มีบางเพลงที่ทรงพระราชทานให้กับหน่วยทหาร (มาร์ชราชวัลลภ, ธงไชยเฉลิมพล, มาร์ชราชนาวิกโยธิน) แต่เพลงเหล่านี้มีลักษณะเป็นเพลงเฉพาะประจำหน่วยงาน แบบเดียวกับที่ทรงพระราชทานให้บางมหาวิทยาลัย (มหาจุฬาลงกรณ์, ยูงทอง, เกษตรศาสตร์)
แต่ทั้งห้าเพลงพระราชนิพนธ์ที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 2510 (เกิดเป็นไทยตายเพื่อไทย, แผ่นดินของเรา, ความฝันอันสูงสุด, เราสู้, เรา-เหล่าราบ 21) มีลักษณะการเมืองในวงกว้างออกไป คือเป็นการต่อสู้ทางอุดมการณ์ (กับคอมมิวนิสต์) โดยตรง เพลง "เรา-เหล่าราบ 21" นั้นอาจกล่าวได้ว่ามีลักษณะเป็นเพลงประจำหน่วยงานมากกว่าเพลงต่อสู้ทางอุดมการณ์ แต่เป็นที่ทราบกันดีว่า ในช่วงต้นทศวรรษ 2520 นั้น สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถทรงมีความใกล้ชิดกับทหารหน่วยนี้เป็นการส่วนพระองค์เป็นพิเศษ จนทำให้ "ราบ 21" เป็นที่รู้จักกันดีในนาม "ทหารเสือราชินี" (ดังในเนื้อเพลงที่ว่า "เราเชื้อชาติชายชาญทหารกล้า ทหารเสือราชินีศรีสยาม") ในบริบทของความแตกแยกในกองทัพขณะนั้น (ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาตั้งแต่ 14 ตุลา) ข้อเท็จจริงนี้มีความสำคัญทางการเมืองอย่างมาก ดังจะเห็นว่าในระหว่างการปราบ "กบฏยังเตอร์ก" (รัฐประหาร 1-3 เมษายน 2524) ทหารหน่วยนี้ได้เป็นกำลังสำคัญที่เคลื่อนเข้าปลดอาวุธฝ่ายกบฏ
ประเด็นที่น่าสนใจอย่างหนึ่งของ "เพลงพระราชนิพนธ์การเมือง" ทั้งห้า คือ ยกเว้น "เราสู้" แล้ว ที่เหลืออีก 4 เพลงมีความเป็นมาเหมือนกัน คือเกิดจากพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถให้ประพันธ์คำร้องขึ้น และผู้ที่รับหน้าที่นี้ 3 ใน 4 เพลงคือท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค ยกเว้น "เรา-เหล่าราบ 21" ซึ่งประพันธ์คำร้องโดย ร.ต.ท.วัลลภ จันทร์แสงศรี
เพลง "เกิดเป็นไทยตายเพื่อไทย" นั้น หนังสือ ดนตรีจากพระราชหฤทัย กล่าวว่า "ใน พ.ศ. 2514 บ้านเมืองอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่น่าไว้วางใจ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานให้ท่านผู้หญิง มณีรัตน์ บุนนาค แต่งคำร้องภาษาไทย [จากทำนองเพลง ไกลกังวล/When] เพื่อปลุกจิตสำนึกให้คนไทยรักและหวงแหนแผ่นดินไทย" ส่วนเพลง "แผ่นดิน ของเรา" หนังสือ ธ สถิตในดวงใจนิรันดร์ กล่าวว่า "เกิดขึ้นในระยะหลังเมื่อสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ โปรดเพลงปลุกใจให้รักชาติบ้านเมือง ทรงมีพระราชดำริว่าเพลงนี้ [Alexandra] น่าจะใส่คำร้องภาษาไทยได้" และคำร้องไทยของท่านผู้หญิงมณีรัตน์ก็มีเนื้อหาใกล้เคียงกับ "เกิดเป็นไทยตาย เพื่อไทย"
ทั้งสองเพลงนี้ ถ้านับจากจุดเริ่มต้นจริงๆอาจจะมีขึ้นหลัง "ความฝันอันสูงสุด" เล็กน้อย ตามการบอกเล่าของท่านผู้หญิงมณีรัตน์เอง เมื่อตามเสด็จฯไปที่พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ในปี พ.ศ. 2512 ได้รับพระราชเสาวนีย์ ให้เขียนกลอนแสดงความนิยมส่งเสริมคนดีให้มีกำลังใจทำงานเพื่ออุดมคติและประเทศชาติ "ข้าพเจ้าค่อยๆคิดหาคำ กลั่นกรองให้ตรงกับความหมายเท่าที่จะสามารถ แล้วทูลเกล้าฯถวายทอดพระเนตร [สมเด็จพระนางเจ้าฯ] ทรงพระกรุณาติชม จนผลสุดท้ายออกมาเป็นกลอน 5 บท....ความบันดาลใจในเรื่องนี้มีที่มาจากการสังเกตของข้าพเจ้า ได้รู้เห็นพระราชอัธยาศัย พระราชจริยาวัตร ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประพฤติปฏิบัติอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันไม่เสื่อมคลาย" หลังจากนั้น สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถโปรดให้พิมพ์บทกลอนนี้ลงในกระดาษการ์ดแผ่น
เล็กๆ พระราชทานข้าราชการ ทหาร ตำรวจ พลเรือน และผู้ทำงานเพื่อประเทศชาติ เตือนสติมิให้ท้อถอยในการทำความดี "เพราะบ้านเมืองขณะนั้นยุ่งอลเวง น่าเป็นห่วงอนาคตของประเทศชาติ" (ดนตรีจากพระราชหฤทัย, หน้า 183) ต่อมาในปี 2514 สมเด็จพระนางเจ้าฯจึงได้กราบบังคมทูลขอให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใส่ทำนองให้กับคำกลอน กลายเป็นเพลง "ความฝันอันสูงสุด" ที่รู้จักกัน มีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับเพลงนี้ 3 ประเด็น คือ
หนึ่ง ผู้ที่รู้จักเพลง The Impossible Dream คงสังเกตว่าเนื้อเพลงภาษาอังกฤษใกล้เคียงอย่างมากกับคำกลอนภาษาไทยของท่านผู้หญิงมณีรัตน์: To dream the impossible dreamTo fight the unbeatable foe ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อขอสู้ศึกทุกเมื่อไม่หวั่นไหว To bear the unbearable sorrowTo run where the brave dare not go... ขอทนทุกข์รุกโรมโหมกายใจขอฝ่าฝันผองภัยด้วยใจทะนง... And the world will be better for thisThat one man scorned and covered with scars โลกมนุษย์ย่อมจะดีกว่านี้แน่เพราะมีผู้ไม่ยอมแพ้แม้ถูกหยัน Still strove with his last ounce of courage.... คงยืนหยัดสู้ไปใฝ่ประจัญ....
เพลง The Impossible Dream นั้นมาจาก Man of La Mancha ละครเพลงที่มีชื่อเสียงมากที่สุดเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์ของบรอดเวย์ ซึ่งแสดงระหว่างปี 2508-2514 ต่อมาได้รับการสร้างเป็นหนังในปี 2515 (บทละคร เพลงเขียนโดย Dale Wasserman ทำนองเพลงโดย Mitch Leigh และคำร้องโดย Joe Darion) ขอให้สังเกตว่าบทกลอนของท่านผู้หญิงมณีรัตน์นั้นมีส่วนที่ "ไม่ลงตัว" ในแง่เนื้อหาบ้าง เช่น "โลกมนุษย์ย่อมจะดีกว่านี้แน่ เพราะมีผู้...ยอมอาสัญก็เพราะปองเทิดผองไทย" ซึ่งน่าจะเป็นร่องรอยของการพยายามทำคำร้องดั้งเดิมให้เป็นแบบไทยๆ
สอง ในความทรงจำของผม เพลงนี้เมื่อมีการนำออกเผยแพร่ใหม่ๆ ในช่วงก่อน 14 ตุลาเล็กน้อย ได้ทำในนาม "เพลงพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ"
สาม กลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่ทำกิจกรรมการเมืองก่อน 14 ตุลาบางส่วน ได้นำเอาเพลงนี้ไปตีพิมพ์ในหน้าหนังสือของตนในฐานะคำขวัญของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเพื่อประชาชนในขณะนั้น นี่อาจถือได้ว่าเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการที่ขบวนการนักศึกษาในระยะนั้นมองว่าสิ่งที่ตัวเองและสถาบันกษัตริย์กำลังทำเป็นสิ่งเดียวกัน ("เพื่ออุดมคติ", "เพื่อส่วนรวมและประเทศชาติ") ทั้งที่ความจริงสองฝ่ายมีจุดเริ่มต้นที่ไม่เหมือนกัน - ระหว่างการต่อต้านเผด็จการ เรียกร้องเสรีภาพของนักศึกษากับการแอนตี้คอมมิวนิสม์พิทักษ์การดำรงอยู่ของสถาบันกษัตริย์ของราชสำนัก (ดูบทความ "ร.7 สละราชย์: ราชสำนัก, การแอนตี้คอมมิวนิสม์ และ 14 ตุลา" และ "พระราชหัตถเลขาสละราชย์ ร.7: ชีวประวัติของเอกสารฉบับหนึ่ง")
เราสู้: ความเป็นมา ตามประวัติที่เป็นทางการ "เราสู้" เกิดจากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว "ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองใส่คำร้องที่นายสมภพ จันทรประภา ประพันธ์เป็นกลอนสุภาพ 4 บท ใน พ.ศ. 2516" โดยที่ "คำร้องนี้นายสมภพได้ขอพระ ราชทานพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่สมาชิกสภานิติบัญญัติ ประกอบด้วยข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ และประชาชน ซึ่งได้จัดแข่งฟุตบอลเพื่อนำรายได้ทูลเกล้าฯถวายโดยเสด็จพระราชกุศล และเข้าเฝ้าฯ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน มาเขียนเป็นคำกลอนถวาย" (ดนตรีจากพระราชหฤทัย, หน้า 187) "และได้ทรงพระราชทานให้เป็นของขวัญปีใหม่แก่ทหาร อาสาสมัครและตำรวจชายแดน" (ธ สถิตในดวงใจนิรันดร์, หน้า 333)
จากข้อมูลนี้ เราอาจตั้งเป็นข้อสังเกตเบื้องต้นได้ว่า "เราสู้" ต่างกับอีก 4 เพลงพระราชนิพนธ์ของช่วงทศวรรษ 2510 ที่มีลักษณะ "การเมือง" ในแง่ที่ว่า ขณะที่ 4 เพลงดังกล่าวเกิดจากพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรม ราชินีนาถให้มีผู้ประพันธ์คำร้อง (ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาคเป็นสำคัญ) แล้ว กราบบังคมทูลขอพระราชทานทำนองจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, "เราสู้" มีต้นกำเนิดมาจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเอง เท่ากับว่าได้ทรง "พระราชนิพนธ์คำร้องโดยอ้อม" ซึ่งหมายความว่า "เราสู้" น่าจะสะท้อนพระราชดำริทางการเมืองของพระองค์เองได้มากกว่าเพลงอื่นๆ
แต่อันที่จริง "เราสู้" มีความพิเศษยิ่งไปกว่านี้ ขอให้เราได้พิจารณาความเป็นมาของเพลงอย่างใกล้ชิดมากขึ้น ประวัติที่เป็นทางการกล่าวว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว "ทรงเกิดแรงบันดาลพระราชหฤทัยที่จะทรงพระราชนิพนธ์เพลง 'เราสู้' ก็ทรงหยิบซองจดหมายใกล้พระหัตถ์มาตีบรรทัด 5 เส้น เพื่อทรงพระราชนิพนธ์ทำนอง เมื่อแล้วเสร็จก็พระราชทานให้วงดนตรี อ.ส. วันศุกร์ ซึ่งกำลังบรรเลงอยู่ในงานวันขึ้นปีใหม่ 1 มกราคม พ.ศ. 2517 นำออกบรรเลง ณ พระราชวังบางปะอิน จากนั้นได้ทรงนำกลับไปแก้ไข ก่อนจะพระราชทานออกมาให้วงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ บรรเลง และทรงแก้ไขอีกจนพอพระราชหฤทัย" (ดนตรีจากพระราชหฤทัย, หน้า 187)
เมื่อได้อ่านประวัติที่เป็นทางการของเพลง "เราสู้" นี้ครั้งแรก ผมรู้สึกงุนงงไม่น้อย เพราะถ้าประวัตินี้ถูกต้อง ก็หมายความว่าการที่เพลงพระราชนิพนธ์นี้ถูกเผยแพร่ในฐานะเพลงปลุกใจที่ฝ่ายขวาใช้ในการต่อสู้กับขบวนการนักศึกษาในปี 2519 นั้นเป็นเรื่อง "บังเอิญ" กล่าวคือ เพลงนี้ได้เกิดขึ้นมาก่อนหน้านั้นอย่างน้อย 2 ปี และถ้าพิจารณาจากปีที่ว่านายสมภพประพันธ์กลอนจากพระราชดำรัสคือปี 2516 ก็น่าจะสันนิษฐานได้ว่า พระราชดำรัสเองไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับการต่อสู้ทางอุดมการณ์ระหว่างฝ่ายขวากับฝ่ายซ้าย เพราะในปี 2516 นั้นยังไม่เกิดการต่อสู้เช่นนี้ขึ้น ซึ่งก็ยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเพลง "เราสู้" กับการเมืองปี 2519 เป็นเรื่องบังเอิญมากขึ้นอีก
แต่ในอีกด้านหนึ่ง เนื้อเพลงหลายตอนก็ดูราวกับว่าแต่งขึ้นเพื่อสถานการณ์ ปี 2518-19 เพื่อตอบโต้ฝ่ายซ้ายขณะนั้นโดยเฉพาะ ("ถึงขู่ฆ่าล้างโคตรก็ไม่หวั่น จะสู้กันไม่หลบหนีหาย สู้ตรงนี้สู้ที่นี่สู้จนตาย ถึงเป็นคนสุดท้ายก็ลองดู") และถ้าเป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่จะมีสมมุติฐานล่วงหน้าได้ว่าในการ
การแต่งคำกลอนจากพระราชดำรัสนั้น นายสมภพคงต้องพยายามให้เนื้อหาของกลอนใกล้เคียงกับพระราชดำรัสให้มากที่สุด ก็ชวนให้คิดว่าพระราชดำรัสดั้งเดิมน่าจะมีบางอย่างเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ต่อสู้ระหว่างฝ่ายขวากับฝ่ายซ้าย ซึ่งก็ไม่น่าจะเป็นพระราชดำรัสปี 2516 ไปได้ (จริงอยู่ ในปี 2516 มีการต่อสู้กับ "ผู้ก่อการ ร้ายคอมมิวนิสต์" แต่ถ้าพระราชดำรัสในปีนั้นจะพูดถึงการต่อสู้กับ "ผ.ก.ค." ก็ไม่น่าจะมีเนื้อหาอย่างที่เป็นอยู่)
ผมได้ตรวจดู ประมวลพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทที่พระราชทาน ในโอกาสต่างๆ ซึ่งสำนักราชเลขาธิการจัดพิมพ์เป็นประจำทุกปี พบว่าตลอดปี 2515 และ 2516 ไม่มี "พระราชดำรัสที่พระราชทานแก่สมาชิกสภานิติบัญญัติ ประกอบด้วยข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ และประชาชน ซึ่งได้จัดแข่งฟุตบอลเพื่อนำรายได้ทูลเกล้าฯถวายโดยเสด็จพระราชกุศล และเข้าเฝ้าฯ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน" แต่อย่างใด ที่จริงไม่มีบันทึกการเฝ้าเช่นนี้ของกลุ่มบุคคลลักษณะนี้เลยแม้แต่ครั้งเดียวในระยะ 2 ปีนั้น
จริงอยู่ บางครั้ง ประมวลพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาท มีการตกหล่นที่สำคัญโดยไม่มีคำอธิบาย เช่น ฉบับสำหรับปี 2516 ขาดพระบรมราโชวาทที่พระราชทานแก่กรรมการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยที่เข้าเฝ้าฯ เมื่อบ่ายวันที่ 13 ตุลาคม 2516 ซึ่งได้ทรงแนะให้นักศึกษาสลายการชุมนุมหลังจากรัฐบาลปล่อย 13 ผู้ต้องหาเรียกร้องรัฐธรรมนูญแล้ว "เมื่อนิสิตนักศึกษาได้ดำเนินการมาตรงเป้าหมายและได้รับผลตามสมควรแล้ว ก็ขอให้กลับคืนสู่สภาพปกติ" (ดูพระบรมราโชวาทฉบับนี้ได้ใน ขบวนการประชาชน ตุลาคม 2516, หน้า 203; อันที่จริงยังทรงมีพระราชดำรัสต่อกรรมการศูนย์ฯนอกเหนือจากพระบรมราโชวาทฉบับนี้ด้วย ดู เล่มเดียวกัน, หน้า 179-181) หรือ ฉบับสำหรับปี 2521 ขาดพระราชดำรัสแก่ผู้มาเข้าเฝ้าถวายพระพร วันที่ 4 ธันวาคม อย่างน่าประหลาด เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ในกรณีพระราชดำรัส "เราสู้" นี้ การไม่ปรากฏใน ประมวลพระราชดำรัส สำหรับปี 2515 และ 2516 น่าจะเพราะไม่ได้ทรงพระราชทานในปีนั้นจริงๆ ทั้งนี้ นอกจากพิจารณาจากความไม่น่าจะเป็นของเนื้อหาดังกล่าวข้างต้นแล้ว ที่สำคัญ ผมพบว่ามีพระราชดำรัสที่พระราชทานในปี 2518 ครั้งหนึ่ง ที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกับเพลงอย่างมาก อันที่จริง ผมอยากจะเสนอว่า นี่คือพระราชดำรัสที่เป็นต้นกำเนิดที่แท้จริงของเพลงนี้อย่างไม่ต้องสงสัย ผมกำลังพูดถึง "พระราชดำรัสที่พระราชทานแก่นักศึกษา พ่อค้า ประชาชน มูลนิธิ องค์การต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนม- พรรษา วันที่ 5 ธันวาคม 2518 ณ ศาลาดุสิตาลัย พระราชวังดุสิต วันพฤหัสบดีที่ 4 ธันวาคม 2518" (นี่คือชื่อเรียกที่เป็นทางการของพระราชดำรัสนี้ตามที่ปรากฏใน ประมวลพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทที่พระราชทานในโอกาสต่างๆ ปีพุทธศักราช 2518, หน้า 315; น่าสังเกตที่มีคำว่า "นักศึกษา" ขึ้นก่อนเมื่อพระราชดำรัสนี้ถูกตีพิมพ์ใหม่เมื่อเร็วๆนี้ ชื่อเรียกได้ถูกเปลี่ยนเป็น "พระราชดำรัสที่พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ...")
การพระราชทานพระราชดำรัสในวันที่ 4 ธันวาคม วันที่ 4 ธันวาคม 2518 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรม ราชวโรกาสให้คณะบุคคลต่างๆ เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรเนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา พระราชดำรัสที่ทรงพระราชทานในครั้งนั้นอาจกล่าวได้ว่ามีลักษณะการเมืองมากที่สุดครั้งหนึ่ง - ถ้าไม่ใช่ครั้งที่มากที่สุด - ในตลอดรัชสมัย ของพระองค์ (ผมหมายถึงการเมืองในความหมายแคบที่เข้าใจกันทั่วไป)
ปัจจุบันเราคุ้นเคยกับความสำคัญของการที่ทรงมีพระราชดำรัสต่อหน้าผู้มาเข้าเฝ้าฯถวายพระพรนับหมื่นคนในวันที่ 4 ธันวาคมของทุกปีเป็นอย่างดี ล่าสุด พระราชดำรัสเมื่อ 4 ธันวาคม 2540 ("การจะเป็นเสือนั้นมันไม่สำคัญ...") ถูกหยิบยกมาเป็นจุดเริ่มต้นของการรณรงค์ระดับชาติครั้งใหญ่เพื่อ "เศรษฐกิจพอเพียง" พระราชดำรัสของปี 2518 นั้น เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่มีลักษณะหัวเลี้ยวหัวต่ออย่างแหลมคมชนิดที่ยากจะหาช่วงอื่นในประวัติศาสตร์มาเทียบได้: เพียงวันเดียวหลังการปฏิวัติสังคมนิยมลาวซึ่งทำให้สถาบันกษัตริย์ ("เจ้ามหาชีวิต") สิ้นสุดลง และเพียงครึ่งปีเศษหลังชัยชนะของคอมมิวนิสต์ในเขมรและเวียดนาม. โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์ในลาวนั้น ด้วยเหตุผลทางสังคมและประวัติศาสตร์ ที่มีความใกล้ชิดอย่างมากกับประเทศไทย ได้ก่อให้เกิด "คลื่นความตกใจ" ในหมู่ชนชั้นสูงของไทยอย่างกว้างขวาง สะท้อนออกมาที่พาดหัวตัวโตของ Bangkok Post ฉบับวันที่ 5 ธันวาคม โดยอ้างคำพูดของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น: No threat to our Throne.
ก่อนที่จะพิจารณาพระราชดำรัส 4 ธันวาคม 2518 อย่างละเอียด ผมขอพูดถึงประเพณีที่ให้ความสำคัญกับการพระราชทานพระราชดำรัสในวันที่ 4 ธันวาคมของทุกปีในปัจจุบันสักเล็กน้อย ผมเข้าใจเอาเองว่า การพระราชทานพระราชดำรัสในวันที่ 4 ธันวาคมแก่พสกนิกรที่เข้าเฝ้าฯเป็นจำนวนมากนับหมื่นคนและผ่านสื่อโทรทัศน์ไปทั่วประเทศที่เราเห็นกันทุกวันนี้ มีจุดเริ่มต้นมาจากการพระราชทานพระราชดำรัสแก่คณะบุคคลกลุ่มเล็กๆที่เป็นตัวแทนขององค์การทางศาสนาต่างๆที่เข้าเฝ้าฯถวายพระพรวันเฉลิมพระชนมพรรษา ผมเข้าใจว่าในปีแรกๆในช่วงต้นทศวรรษ 2510 นั้น การเข้าเฝ้าของคณะบุคคลกลุ่มนี้ถือเป็นสิ่งที่เราอาจจะเรียกได้ว่า "ส่วนเสริม" ของการเข้าเฝ้าฯถวายพระพร ที่นอกเหนือไปจากคณะอื่นๆเช่นทูตานุทูต (พูดแบบสามัญง่ายๆคือ เมื่อมีตัวแทนของต่างประเทศแล้ว ก็มีตัวแทนของต่างศาสนาด้วย)
ในปี 2511 มีการเข้าเฝ้าฯของ "สถาบันและองค์การที่เกี่ยวกับศาสนา" โดยมี "ครูและนักเรียน" แยกเข้าเฝ้าฯอีกคณะหนึ่งในวันที่ 5
ปีต่อมา มีการเข้าเฝ้าฯของ "ผู้แทนองค์การศาสนาและผู้แทนสถาบันการศึกษาต่างๆ"
ปี 2513 มีการเข้าเฝ้าฯของ "คณะผู้แทนสมาคมและองค์การเกี่ยวกับศาสนา ครูและนักเรียนโรงเรียนต่างๆ กับนักศึกษามหาวิทยาลัย รวม 36 คณะ"
ปี 2514 ผู้เข้าเฝ้าฯถูกเรียกแบบเดียวกับปีก่อนเพียงแต่ไม่ได้ระบุจำนวนคณะ และมี "ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน คณะกรรมการของมูลนิธิ สมาคม และสโมสรต่างๆ" เข้าเฝ้าฯอีกคณะหนึ่งในวันที่ 5
ปี 2515 ไม่มีการพระราชทานพระราชดำรัสวันที่ 4 ธันวาคม ทั้งนี้ถือตามหนังสือ ประมวลพระราชดำรัส ผมไม่แน่ใจว่าปีนั้นไม่มีจริงๆหรือหนังสือตกหล่น ถ้าเป็นกรณีแรก ไม่แน่ใจว่าจะเกี่ยวกับการที่ในปี 2514 ทรงมีพระราชดำรัสที่อาจจะตีความได้ว่าเป็นการ "กระทบกระเทือน" ต่อ "คณะปฏิวัติ" ของ จอมพลถนอม กิตติขจร ที่เพิ่งยึดอำนาจเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน หรือไม่: "ที่จริงก็ไม่สมควรที่จะพูด เพราะว่าจะเป็นการกระทบกระเทือน แต่ก็ขอพูดสักเล็กน้อย เพราะว่าถือเป็นกันเอง... ที่มีวิกฤติการณ์ในทางการเมืองในปัจจุบันนี้ ส่วนหนึ่งที่ได้อ้างว่าเป็นเหตุผลที่จะต้องมีวิกฤติการณ์ทางการเมืองก็คือนักศึกษา นักศึกษาถูกอ้างว่าจะก่อความไม่เรียบร้อย... ในโอกาสที่ท่านทั้งหลายซึ่งเป็นผู้ที่สนใจและผู้ปฏิบัติในทางศาสนกิจต่างๆและในทางการศึกษามาอยู่ด้วยกัน ก็ขอให้ร่วมกันคิดในทางที่เหมาะสม... สร้างบ้านเมืองและสังคมของเราให้มั่นคง ไม่ต้องปฏิวัติกัน"
ทั้งปี 2516 และ 2517 คณะบุคคลที่เข้าเฝ้าฯวันที่ 4 ธันวาคมถูกเรียก ทำนองเดียวกับปี 2513-14 ("องค์การทางศาสนา, ครู, นักเรียน, นักศึกษา") ปี 2517 มี "105 คณะ" จำนวนประมาณพันคน เป็นที่น่าสังเกตว่าในปี 2516 ในหลวงยังทรงเริ่มพระราชดำรัสด้วยการเจาะจงขอบใจเฉพาะ "ผู้แทนขององค์การและกิจการเกี่ยวข้องกับศาสนา" ทำนองเดียวกับทุกปีก่อนหน้านั้นแม้ว่าในชื่อเรียกผู้เข้าเฝ้าฯ จะมีการระบุถึง "คณะนิสิตและนักศึกษา" และแม้จะเพิ่งเป็นเวลาเพียงสองเดือนหลัง 14 ตุลา ในทางกลับกัน เมื่อถึงปี 2517 แม้ผู้เข้าเฝ้าฯจะถูกเรียกขึ้นต้นว่า "คณะผู้แทนสมาคมองค์การเกี่ยวกับศาสนา..." แต่ทรงรับสั่งขอบใจ "ท่านทั้งหลายที่มาให้พรในวันนี้" อย่างไม่เจาะจง
ปี 2518 - ปีของพระราชดำรัส "เราสู้" - เป็นครั้งแรกที่ไม่มีการระบุถึงองค์การทางศาสนาเป็นการเฉพาะและเป็นอันดับแรกอีกต่อไป กลายเป็นการเข้าเฝ้าฯที่มีลักษณะทั่วไปแบบที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน ชื่อพระราชดำรัสในหนังสือ ประมวลพระราชดำรัส กล่าวถึง "นักศึกษา พ่อค้า ประชาชน มูลนิธิ องค์การต่างๆ" และในเชิงอรรถอธิบายความเป็นมาของพระราชดำรัสมีการกล่าวถึง "ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ" เพิ่มเข้าไปด้วย ซึ่งก็เป็นครั้งแรกที่มีระบุถึงคนกลุ่มนี้ในผู้เข้าเฝ้าฯ 4 ธันวาคม หลังจากนั้น คือจากปี 2519 เป็นต้นมา ชื่อเรียกพระราชดำรัสวันที่ 4 ธันวาคมใน ประมวลพระราชดำรัส จะระบุเพียงว่าเป็นพระราชดำรัสที่ "พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆที่เข้าเฝ้าฯถวายชัยมงคล..."
ไม่เพียงแต่ "สาขาอาชีพ" เท่านั้น ขนาดของผู้เข้าเฝ้าฯ 4 ธันวาคมก็เพิ่มขึ้นอย่างมากด้วย ดังที่ในหลวงเองทรงมีรับสั่งแบบติดตลกในปี 2521 ว่า "งานในบ่ายวันนี้เป็นงานที่มีเป็นประจำมาหลายปีและไม่ได้รับชื่อ นอกจากเรียกเป็นภายในว่า งานอนุสมาคม มีงานมหาสมาคมในพระที่นั่งอมรินทรฯแล้ว ก็มีงานอนุสมาคมที่นี่ แต่งานอนุสมาคมนี้ปรากฏว่าใหญ่โตกว่ามหาสมาคม (เสียงหัวเราะ)"
อย่างไรก็ตาม ในความเห็นของผม การให้ความสำคัญกับพระราชดำรัส 4 ธันวาคมแบบในปัจจุบันนั้นเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของทศวรรษ 2530 ขอให้นึกถึงพระราชดำรัส 4 ธันวาคม ปี 2532 เรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติ, ปี 2534 เรื่อง "รู้รักสามัคคี", ปี 2537 เรื่อง "ทฤษฎีใหม่", และปี 2540 เรื่อง "เศรษฐกิจพอเพียง" แม้แต่จำนวนผู้เข้าเฝ้าฯก็ดูเหมือนจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในทศวรรษที่แล้วนี้เอง: ในปี 2524 มีผู้เข้าเฝ้าฯจำนวน 5,700 คน เจ็ดปีต่อมา ในปี 2531 จำนวนผู้เข้าเฝ้าฯยังคงอยู่ที่ระดับ "เกือบหกพันคน" แต่ในปี 2535 เพิ่มขึ้นเป็นถึง 8,800 คน วันที่ 4 ธันวาคม 2543 มีผู้เข้าเฝ้าฯ 16,759 คน ในแง่นี้จึงไม่อาจกล่าวว่า พระราชดำรัส "เราสู้" ปี 2518 เป็นจุดเปลี่ยนจริงๆในประวัติศาสตร์ของการพระราชทานพระราชดำรัส 4 ธันวาคม แต่ความสำคัญของพระราชดำรัสนี้ก็หาได้ลดลงไปในฐานะพระราชดำรัสที่มีเนื้อหาการเมืองเข้มข้นแหลมคมที่สุด, พระราชทานในสภาพแวดล้อมที่ตึงเครียดทางการเมืองสูงสุด, และ - ในรูปแบบของเพลง "เราสู้" - ถูกนำมาใช้ในการรณรงค์ทางการเมืองอันดุเดือดรุนแรงซึ่งสิ้นสุดลงด้วยเหตุการณ์ 6 ตุลา
พระราชดำรัส 4 ธันวาคม 2518 น่าสังเกตว่า ในหลวงทรงเริ่มพระราชดำรัส 4 ธันวาคม 2518 ด้วยการติงประภาศน์ อวยชัย ผู้กล่าวนำถวายพระพรว่าลืมเอ่ยว่าผู้มาร่วมวันนั้นมีชาวนาและกรรมกรด้วย ไม่ใช่มีแต่ "สมาชิกสมาคม มูลนิธิหรือฝ่ายทหาร ตำรวจ พลเรือน เจ้าหน้าที่ต่างๆ": "ก็ไม่ทราบว่าลืมหรืออย่างไร ไม่ได้พูดถึงเกษตรกร... ไม่ได้บอกว่ามีกรรมกรเหมือนกัน", "ขอขอบใจเป็นพิเศษแก่กลุ่มกสิกร... กรรมกรที่ได้มาให้พรในวันนี้ทำให้ที่ประชุมนี้ยิ่งสมบูรณ์ขึ้น" ซึ่งไม่น่าจะเป็นการบังเอิญ ขณะนั้นขบวนการนักศึกษาและฝ่ายซ้ายในเมืองกำลังเคลื่อนไหวอย่างหนักโดยอ้างผลประโยชน์และการสนับสนุนของกรรมการชาวนา และโจมตี "ชนชั้นปกครอง" ว่าเป็นฝ่ายตรงข้าม กดขี่ขูดรีดชนชั้นทั้งสองนี้ ในหลวงทรงเริ่มพระราชดำรัสด้วยการ "โต้" ขบวนการนักศึกษาโดยนัย (ทรง "หยอก" ด้วยว่า "ที่ได้มาร่วมประชุมนี้ จะเรียกว่าชุมนุมก็ไม่ได้ เดี๋ยวหาว่า มาประท้วงอะไร" )
หลังจากรับสั่งว่าถ้าทุกคนทำหน้าที่ตามอาชีพของตนและทำงานที่นอกเหนือหน้าที่แต่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ก็เท่ากับเป็น "ของขวัญวันเกิด" สำหรับพระองค์แล้ว ทรงรับสั่งถึงสถานการณ์การเมืองในขณะนั้นทันที:
ปัจจุบันนี้บ้านเมืองเรายังอยู่เป็นบ้านเมืองดังที่ประจักษ์เห็นอยู่ ทำไมเกิดยังเป็นบ้านเมืองอยู่อย่างนี้ ไม่พังลงไป ดังที่มีใครต่อใครก็ได้คาดคะเนเอาไว้ ว่าเมืองไทยจะไม่อยู่ในแผนที่โลกแล้วภายในปลายปีนี้ ข้าพเจ้าก็ได้ยินมา และต่อมาเมื่อเมืองไทยยังอยู่ในโลก ก็ได้ยินมาอีกว่า ปีหน้าไทยแลนด์นี้จะกลายเป็นตายแลนด์ ในแผนที่ที่เห็นไว้ว่าเมืองไทยนี้จะเป็นตายแลนด์ เห็นมานานแล้ว แล้วก็เข้าใจว่าที่ทำไว้อย่างนั้น ก็เป็นแผนการที่แท้อย่างหนึ่งที่อยากให้เป็นตายแลนด์ พวกเราก็ไม่ยอม ไม่ยอมให้เป็นตายแลนด์ ไม่อยากให้เป็น ก็นึกว่าที่ให้เป็นตายแลนด์นั้น ก็เป็นการข่มขวัญ แต่ถ้าเราทุกคนทำหน้าที่ดีแล้วก็พยายามที่จะสามัคคีกันดี ช่วยกัน เราก็ไม่ตาย แล้วก็ข้อพิสูจน์ ก็ทุกคนที่ยืนอยู่ที่นี้ก็ยังไม่ตาย ก็ไม่ใช่ตายแลนด์ ทีนี้ปีหน้าเขาบอกเป็นปีวิกฤต เป็นปีวิกฤตก็คงเป็นวิกฤตทุกปี วันนี้ก็เป็นวันวิกฤต ถ้าดู ถ้าเชื่อฤกษ์ยามอะไรต่างๆก็ไปดูซิ ใครที่เป็นหมอดูนะไปดู วันนี้ฤกษ์ไม่ดี... ถ้าอยากดูไปดู ไปผูกดวง เวลานี้เลวทั้งนั้น แล้วก็จะส่งผลให้เรามีหายนะ จะล้มตายเป็นระนาว จะเกิดอาเพศต่างๆ ถ้าดูจริงๆก็เป็นจริง ถ้าเชื่อก็เชื่อได้ ทีนี้ได้ข่มขู่ท่านทั้งหลายอย่างรุนแรงแล้วว่าท่านต้องตายทุกคน แต่ทำไมท่านหัวเราะ ก็เพราะว่าทุกคน ถ้ามีความมั่นใจจริงๆว่าเรา...ทำเพื่อรักษาส่วนรวม คือส่วนรวมนี่เป็นที่อยู่ของเรา เป็นที่อาศัยของเรา ถ้าทุกคนมีความมุ่งมั่นไม่คิดถึงสิ่งที่มาข่มขู่...ถ้าใครมาขู่เข็ญว่าจะแย่หรือจะตาย เราก็ต้องมาดูด้วยเหตุผล เดี๋ยวนี้เราตายหรือเราเป็น ก็ต้องบอกว่าเราเป็น ถึงยังมาพูดกันได้อย่างนี้
ผมไม่แน่ใจว่าแผนที่ที่ทรงรับสั่งว่าทรงเคยเห็น ซึ่งเป็น "แผนการที่แท้อย่างหนึ่งที่อยากให้ (เมืองไทย) เป็นตายแลนด์" นั้นหมายถึงแผนที่ไหน แต่ในช่วงนั้น เท่าที่จำได้มีการเผยแพร่ "แผนที่" สองฉบับโดยพวกฝ่ายขวา ฉบับหนึ่งเป็นรูปวาดแผนที่ประเทศไทย และมีรูป "คอมมิวนิสต์" (คนหน้าจีนๆ - หรือเวียดนาม - ใส่ชุดแบบทหารกองทัพปลดแอกของคอมมิวนิสต์) ตัวโตพอๆ กับแผนที่กำลังอ้าปากกว้างพยายามจะอมแผนที่ประเทศไทยไว้จากทางด้านภาคอีสาน อีกฉบับหนึ่งคือแผนที่ที่หนังสือพิมพ์บางฉบับนำมาตีพิมพ์โดยได้มาจากหน่วยงานด้านความมั่งคงของไทย แสดงให้เห็นสิ่งที่เรียกกันว่า "ยุทธศาสตร์รูปตัวแอลของ พคท." คือ แผนการ "ตัด" ("ปลดปล่อย") ภาคอีสานออกจาก การควบคุมของกรุงเทพก่อน
ที่แน่ๆ คือในหลวงทรงกำลังหมายถึงฝ่ายซ้ายหรือคอมมิวนิสต์ ที่ว่ากำลัง "ข่มขวัญ" และ "ข่มขู่...หรือขู่เข็ญ" จะเปลี่ยน "ไทยแลนด์" ให้กลายเป็น "ตายแลนด์" น่าสนใจว่าทรงเชื่อแบบเดียวกับฝ่ายขวาในสมัยนั้นว่าการเปลี่ยน การปกครองเป็นสังคมนิยม-คอมมิวนิสต์นั้นหมายถึงการสูญสิ้นประเทศไทย การที่ทรงใช้อุปลักษณ์ (metaphor) ของความตายกับประเทศ มองจากมุมของฝ่ายซ้าย (ซึ่งรวมทั้งขบวนการนักศึกษา) ในขณะนั้น สิ่งที่พวกเขาต้องการ คือการปฏิวัติเปลี่ยนระบอบเศรษฐกิจการเมืองและสังคม ซึ่งถ้าปฏิวัติสำเร็จ ก็ยังมีประเทศไทยอยู่ (ประโยคที่ว่า "อนาคตจะต้องมีประเทศไทย" ในเพลง "เราสู้" นั้น พูดตามคำตรงๆ เป็นสิ่งที่ฝ่ายซ้ายในขณะนั้นไม่มีข้อโต้เถียงด้วย สำหรับพวกเขา "อนาคตจะต้องมีประเทศไทย" อยู่แล้ว เพียงแต่เป็นประเทศไทยแบบสังคมนิยม)
ในหลวงทรงรับสั่งต่อไปว่าทุกคนต้องการความสุขส่วนตัว แต่ต้อง "เห็นผลประโยชน์ของผู้อื่นด้วย" จึงต้อง "สามัคคีกันปรองดองกัน"
ประเทศชาติก็เหมือนกัน ถ้าร่วมกันจริงๆก็อยู่ได้ ทีนี้มาคิดอยู่อย่างหนึ่ง การอยู่นี้มีหลายพวก ถ้าอยากแบ่งเป็นพวก โดยมากชอบแบ่งเป็นพวก เป็นพวกทหาร พวกพลเรือน หรือตำรวจ พวกที่อยู่ในเครื่องแบบ และพวกที่อยู่นอกเครื่องแบบ แบ่งเป็นพวกเจ้าหน้าที่กับพวกประชาชน แบ่งเป็นผู้ใหญ่เป็นผู้น้อย เป็นผู้เฒ่าไดโนเสาร์กับนักศึกษาและนักเรียน แบ่งกันทั้งนั้น ชนชั้นต่างๆแบ่งกัน ถ้าแบ่งกันอย่างนี้อยู่กันไม่ได้ ต้องช่วยกันทั้งนั้น... มาเมื่อเร็วๆนี้เองได้ยินมา ฟังแล้วก็หมั่นไส้ บอกว่าลิ้นกับฟันมันก็ต้องกระทบกันจริง ลิ้นกับฟันต้องกระทบกัน บางทีฟันก็กัดลิ้น แต่ใครเป็นลิ้นใครเป็นฟัน... เปรียบเทียบอย่างนี้มันตลกมาก ที่เปรียบเหมือนลิ้นกับฟัน แต่ว่าก็เป็นคำเปรียบโบราณก็พูดกันมาก
เปรียบขณะนี้ถ้าเราอยากตลก เราก็ตลกให้เต็มที่ซิ ลิ้นกับฟันกระทบกันขอให้ไปคิด ฟันมันกระทบลิ้น มันกัดลิ้น แล้วลิ้นก็เจ็บ เอ้ายอม ลิ้นก็คือประชาชน ฟันคือนาย เขาว่าต้องปลดแอก ก็ต้องถอนฟัน แล้วอย่างไร ถ้าถอนฟันออกหมด เมื่อเดือนที่แล้วไปเยี่ยมนครพนม ไปแถวมุกดาหาร ไปเจอผู้หญิงคนหนึ่งมีฟันเหลือซี่เดียว เขาก็บ่นบอกว่ากินข้าวมันไม่อร่อย ไม่มีฟันนี่กินข้าวไม่อร่อย ก็เลยบอกเขาว่าถ้าให้ที่โรงพยาบาลใส่ฟันจะเอาไหม เขาถามว่าเจ็บไหม ก็บอกว่าย่อมต้องเจ็บบ้างแต่ว่าทำได้ เขาก็เอา เขาจะทำ... เพราะว่าจะได้กินข้าวอร่อย ทีนี้ก็ฟันที่ใส่นั้นมันก็ฟันปลอม ลิ้นกับฟันกระทบกัน ถ้าลิ้นของเราฟันของเรากระทบกันเองก็ยังไม่เป็นไร แต่ทำไมถ้าสมมุติว่าเอาฟันปลอมมาใส่ เขาจะเลือกฟันปลอมมาจากไหน ยี่ห้อใด จากประเทศใดมาใส่ ให้มากระทบลิ้นเรา อันนี้ต้องระวังดีๆ ฟันน่ะฟันปลอมมันใส่ได้ มีประโยชน์ทำให้กินข้าวอร่อย แต่ข้าวนั้นน่ะข้าวไทย ไปตอกตราฮานอย ก็มีเหมือนกัน จะเอาหรือ ฟันปลอมที่มาจากที่อื่นน่ะ... ระวังอย่าให้ฟันปลอมมาเคี้ยวลิ้นให้หมด อันนี้คิดไปคิดมามันกลุ้ม... อย่างที่ตะกี้ว่าลิ้นถูกกัด เพราะเรื่องของฟันปลอมจะเอามาจากไหน มันก็เลยทำให้คิดมาก และก็ถ้าคิดมากแล้วก็เกิดเสียวไส้ เกิดคิดไปมาก เลยทำให้อาจเกิดความไม่สบายใจ อาจเป็นความกลัวหรือความไม่สบายใจในจิตใจของเราหรือของแต่ละท่านที่มาอยู่ที่นี่...
ในปี 2541 เมื่อทรง "เรียบเรียงและปรับปรุง" พระราชดำรัสนี้ใหม่และโปรดเกล้าฯให้ตีพิมพ์ "พระราชทานเพื่อใช้ในราชการ" พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทำเชิงอรรถอธิบายข้อความตอนนี้ว่า "(หมายเหตุ) 'ฮานอย'. ระยะนั้นได้มีการขายข้าวไทยแก่เวียดนามใต้ ข้าวนั้นถูกลอบนำเข้าเวียดนามเหนือ ซึ่งกลับส่งนอกไปอีกที ทำให้เป็นการแย่งตลาดไทย." อย่างไรก็ตาม ถ้าเราอ่านข้อความตอนนี้ทั้งหมด ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะสรุปว่า ในปี 2518 นั้น ทรงตั้งพระทัยให้มีความหมายอีกอย่างหนึ่ง. แม้จะทรงใช้อุปลักษณ์โดยตลอด, แต่สาระ (message) ที่รับสั่งนั้นชัดเจนมาก: การที่ฝ่ายซ้ายในขณะนั้นเรียกร้องให้ประชาชน ("ลิ้น") "ปลดแอก" จาก "นาย" ("ฟัน") นั้น ต้องระวังว่าเมื่อ "ปลดแอก" แล้ว ผู้ที่จะมาเป็น "นาย" แทน ("ฟันปลอม") จะเป็นใคร ("จะเลือกฟันปลอมมาจากไหน ยี่ห้อใด จากประเทศใดมาใส่ ให้กระทบลิ้นเรา") และข้อสรุปของพระองค์ก็คือ "ต้องระวังให้ดีๆ" ผู้จะมาเป็น "นาย" แทน จะกลายเป็นคอมมิวนิสต์เวียดนาม ("ฮานอย") ไป
เป็นที่ทราบกันทั่วไปในสมัยนั้นว่า ชนชั้นนำไทยมีความเชื่อ (หรือความกลัว) อย่างหนึ่งว่า การเคลื่อนไหวเรียกร้อง "เอกราชประชาธิปไตย" ของขบวนการนักศึกษาและฝ่ายซ้ายเป็นการกระทำที่ได้รับการชักใยบงการจากคอมมิวนิสต์เวียดนาม ฉากที่อันธพาลฝ่ายขวารุมทำร้ายนักศึกษาที่ชุมนุมในธรรมศาสตร์ในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ถึงขั้นนำไปแขวนคอ เผาและทารุณกรรมศพ ขณะเดียวกับที่ตะโกนประณามว่าคนที่กำลังถูกทารุณกรรมนั้นเป็น "ญวน" เป็นฉากที่รู้จักกันดี นี่เป็นประเด็นที่ผมมักไม่เข้าใจและมีความลำบากในการหาคำอธิบายที่ชัดเจนเป็นที่น่าพอใจ จริงอยู่ บ่อยครั้งพวกฝ่ายขวาสมัยนั้นก็โจมตีนักศึกษาเป็น "สมุนจีนแดง" และแม้แต่ "สมุนรัสเซีย" ด้วยในบางครั้ง แต่เหตุใด พวกเขาจึงมีความหมกมุ่น (obsession) ในเรื่อง "ญวน" มากกว่าเรื่องอื่น ทั้งๆที่ในความเป็นจริง กล่าวได้ว่าไม่มี "ความเป็นญวน" อะไรเกี่ยวกับขบวนการนักศึกษาเลย (ถ้าจะเป็นเรื่อง "ความเป็นจีน" ทั้งในแง่เชื้อสายของนักกิจกรรม หรือในแง่ที่ขบวนการมีความสัมพันธ์กับ พคท. ซึ่งเชียร์จีน ก็ยังพอเข้าใจได้ แต่พวกฝ่ายขวากลับหมกมุ่นเรื่อง "ญวน" มากกว่า) ถึงจุดนี้แม้ผมจะยังไม่มีคำอธิบายที่น่าพอใจ แต่อย่างน้อย เราก็ได้ทราบว่า ความหมกมุ่นเรื่อง "ญวน" นี้แพร่หลายเข้มข้นในหมู่ชนชั้นนำไทยเพียงใด
ในหลวงทรงย้ำว่าสถานการณ์ในขณะนั้นเรียกร้องให้ทุกคนยิ่งต้อง "คิดดี ทำดี"
เพราะว่าถ้าเรานึกว่าเดี๋ยวนี้มาถือว่าประเทศชาติของเรามีความปั่นป่วน แน่นอน มีอันตรายคุกคามแน่นอนจากทุกทิศทั้งภายนอกภายใน กำลังรู้สึกกันนะ ทุกคนรู้สึกว่าเมืองนี้ชักจะอันตราย จนกระทั่งมีบางคนเล่าลือกันว่า เก็บกระเป๋าขายของ ไปต่างประเทศเสียแล้วก็มี แต่ว่าท่านพวกนั้นที่เก็บของ ขายของ หนีออกจากประเทศ ไปเสียทีเพราะว่าเมืองไทยมันเต็มทนแล้ว กลับไปเจอเขาริบของในประเทศโน้นที่ไปอาศัยเขา พังเคไปหมด หารู้ไม่ว่าเมืองไทย นี่น่าอยู่นะ มีชาวต่างประเทศที่อยู่ต่างประเทศในเมืองเสียอีก เป็นอารยประเทศ เป็นประเทศที่ศิวิไลซ์ ประเทศที่ก้าวหน้าแล้ว เขาอยู่ไม่ได้ เขาขอมาอยู่เมืองไทย ขอมาตั้งรกรากที่เมืองไทยนี่ ฉะนั้นประเทศไทยนี่ทำไมอยู่ได้ ก็เพราะพวกเราทุกคน ถ้าเราสร้างความดี คือทำปฏิบัติในสิ่งที่บริสุทธิ์ใจที่สุจริต... ก็เป็นการสร้างกำลังของบ้านเมือง ทำให้เป็นเหมือนฉีดยาป้องกันโรค...
หลังจากนี้ ทรงรับสั่งถึงสาเหตุที่ได้ทำและจะทำให้ "เมืองไทยอยู่ได้" เนื้อหาในพระราชดำรัสตอนนี้ ผู้ที่รู้จักคำร้องเพลง "เราสู้" ควรต้องรู้สึกคุ้นเคยเป็นอย่างดี:
แต่ทำไมเมืองไทยอยู่ได้ ก็เพราะว่าบรรพบุรุษของเราทำมาเป็นแรมปีเป็นร้อยๆปี ทำมาด้วยความสุจริตใจ ในสิ่งที่เรารู้ในประวัติศาสตร์ว่านักรบไทยได้ป้องกัน ประเทศให้อยู่ นักปกครองไทยได้ป้องกันความเป็นอยู่ของเมืองไทยให้อยู่ได้ตกทอดมาถึงเรานั้นน่ะ ท่านได้ทำมาด้วยความตั้งใจให้เป็นมรดก... คือเป็นบารมี ได้สร้างบารมีมาตั้งแต่โบราณกาลมา สะสมมาเรื่อย... ขอเปรียบเทียบเหมือนบารมี นั่นคือทำความดีนี้ เปรียบเทียบเหมือนการธนาคาร... เราอย่าไป เบิกบารมีที่บ้านเมืองที่ประเทศได้สร้างสมเอาไว้ตั้งแต่บรรพบุรุษของเราให้เกิน เราต้องทำบ้าง หรือเพิ่มพูนให้ประเทศชาติมีอนาคตที่แน่นอน อนาคตที่จะสามารถถือว่าชั่วลูกชั่วหลานชั่วเหลนชั่วโหลน ประเทศไทยก็ยังคงอยู่... การสร้างบารมีของบรรพบุรุษของเราแต่โบราณกาล ที่ได้รักษาสร้างบ้านเมืองขึ้นมาจนถึงเราแล้ว ก็ในสมัยนี้ที่เราอยู่ในที่ที่เรากำลังเสียขวัญกลัวก็ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องกลัวเพราะเรามีทุนอยู่... เรามีบ้านเมืองแล้ว เราต้องรักษาไม่ใช่ทำลาย ใครอยากทำลายบ้านเมืองก็ทำลายเข้า เชิญทำลาย เราสู้ แต่ว่าผู้ที่จะทำลายระวังดีๆ คือว่าผู้ที่อยากทำลายนั้นไม่ใช่ว่าเขาอยากทำลายเพื่ออะไร แต่เขาทำลายตัวเอง น่าสงสาร ส่วนมากเขาทำลายตัวเอง...
วันรุ่งขึ้นหนังสือพิมพ์หลายฉบับได้รายงานข่าวพระราชดำรัส 4 ธันวาคม 2518 นี้ แต่ที่น่าแปลกใจคือ ดาวสยาม ไม่ใช่หนึ่งในจำนวนนั้น ทั้งนี้อาจเพราะได้ตีพิมพ์ "ฉบับพิเศษ" วันเฉลิมพระชนมพรรษาแทน โดยอุทิศหน้าหนึ่งทั้งหน้าให้กับการถวายราชสดุดี ดาวสยาม วันต่อมา (6 ธันวาคม) พาดหัวตัวโต "ญวนหมิ่นในหลวง วิจารณ์พระราชดำรัสวันเฉลิมฯ" จากข่าวเล็กๆ ที่มีการจับชาวไทยเชื้อสายเวียดนามอาชีพช่างตัดเสื้อคนหนึ่งที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพวิจารณ์พระราชดำรัสวันที่ 4 ขณะฟังการถ่ายทอดเสียงทางวิทยุ (ฉบับอื่นมีเพียง เดลินิวส์ วันที่ 6 ธันวาคม ที่ให้ความสำคัญกับข่าวนี้ ด้วยการพาดหัว "รวบญวนโอหัง หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ"; The Nation วันเดียวกันรายงานข่าวนี้ในหน้าแรก แต่ให้พื้นที่ของข่าวเล็กนิดเดียวและเขียนด้วยภาษาเรียบๆ)
หนังสือพิมพ์อื่นของวันที่ 5 ธันวาคม 2518 ให้ความสำคัญกับพระราชดำรัสวันที่ 4 ในระดับที่ต่างกัน ทั้ง Bangkok Post กับ The Nation รายงานเป็นข่าวเล็กๆหน้าหนึ่ง (พาดหัว King says 'Don't be alarmed' และ King calls for unity ตามลำดับ) ขณะที่ ประชาชาติ ให้พื้นที่ข่าวมากกว่าแต่ไม่ถึงกับเป็นข่าวนำ (พาดหัว: ทรงเตือน 'อย่าแบ่งพวก') ไทยรัฐ, เดลินิวส์ และ บ้านเมือง เป็นเพียง 3 ฉบับที่พาดหัวตัวโตเป็นข่าวนำ. ไทยรัฐ: ในหลวงรับสั่งวันเฉลิม ชี้ภัยไทย แบ่งชนชั้น. เดลินิวส์: ในหลวงทรงประกาศสู้ผู้ทำลายชาติ ไม่ยอมให้ไทย เป็น 'ตายแลนด์'. บ้านเมือง: ในหลวงทรงรับสั่งให้ตระหนัก ไทยแลนด์จะเป็น 'ตายแลนด์' เตือนสามัคคี.
จากพระราชดำรัสถึงเพลง ผมขอเสนอว่า พระราชดำรัส 4 ธันวาคม 2518 นี้ คือต้นตอที่แท้จริงของเพลงพระราชนิพนธ์ "เราสู้" อย่างไม่ต้องสงสัย นี่คือพระราชดำรัสที่นายสมภพ จันทรประภานำมาประพันธ์เป็นกลอนแปด แล้วทูลเกล้าฯถวาย และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ทรงใส่ทำนอง ไม่ใช่ "พระราชดำรัสที่พระราชทานแก่สมาชิกสภานิติบัญญัติ ประกอบด้วยข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ และประชาชน ซึ่งได้จัดแข่งฟุตบอล..." ใน พ.ศ. 2516 (ซึ่งน่าจะไม่มีตัวตน) แต่อย่างใด
เห็นได้ชัดว่าสมภพได้ประพันธ์ตามพระราชดำรัสอย่างใกล้เคียงมาก ไม่เพียงในแง่ความ, แต่คำและวลีหลักๆก็ล้วนนำมาจากพระราชดำรัสทั้งสิ้น ตั้งแต่ชื่อกลอน "เราสู้" จนถึงวลีต่อไปนี้ (ในวงเล็บเป็นคำในพระราชดำรัส): "บรรพบุรุษของไทย (เรา) แต่โบราณ", "(ชั่ว)ลูก(ชั่ว)หลาน(ชั่ว)เหลน(ชั่ว)โหลน", "อนาคตจะต้องมีประเทศไทย" (อนาคต...ประเทศไทยก็ยังคงอยู่), "บ้านเมืองเราเราต้องรักษา" (เรามีบ้านเมืองแล้ว เราต้องรักษา), และ "อยากทำลายเชิญมาเราสู้" (ใครอยากทำลาย...เชิญทำลาย เราสู้)
ตามประวัติที่เป็นทางการ (ดังที่ได้เล่าแล้วในตอนต้น) หลังจากสมภพได้เขียนกลอนถวายแล้ว ได้ทรงพระราชทานกลอนนี้ "ให้เป็นของขวัญปีใหม่แก่ ทหาร อาสาสมัคร และตำรวจชายแดน" (ธ สถิต, หน้า 333) ส่วนทำนองเพลง นั้น ได้ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นในลักษณะที่ "ทรงเกิดแรงบันดาลพระราชหฤทัย... หยิบซองจดหมายใกล้พระหัตถ์มาตีบรรทัด 5 เส้น เพื่อทรงพระราชนิพนธ์ทำนอง เมื่อแล้วเสร็จก็พระราชทานให้วงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ ซึ่งกำลังบรรเลงอยู่ในงานวันขึ้นปีใหม่ 1 มกราคม 2517 นำออกบรรเลง ณ พระราชวังบางปะอิน จากนั้นได้ทรงนำกลับไปแก้ไข ก่อนจะพระราชทานออกมาให้วงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ บรรเลง และทรงแก้ไขอีกจนพอพระราชหฤทัย" (ดนตรี, หน้า 187)
ในขณะที่ประวัติทางการของเพลง "เราสู้" ผิดพลาดในเรื่องพระราชดำรัสซึ่งเป็นที่มาของเพลง ด้วยเหตุนี้จึงเป็นไปไม่ได้ที่การบรรเลงเพลงนี้ครั้งแรก ของวง อ.ส. วันศุกร์จะเกิดขึ้นในวันปีใหม่ 2517, ผมเชื่อว่ารายละเอียดอื่นๆ ในประวัติที่เป็นทางการน่าจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง เพียงแต่เราต้องเปลี่ยนปี พ.ศ. เท่านั้น ดังนี้:
(1)วันที่ 4 ธันวาคม 2518ทรงมีพระราชดำรัสวันเฉลิมพระชนมพรรษา (2)ระหว่างวันที่ 4 - ปลายเดือนสมภพ จันทรประภา เขียนกลอน "เราสู้" จาก ธันวาคม 2518พระราชดำรัส แล้วทูลเกล้าฯถวาย (3)ปลายธันวาคม 2518ทรงพระราชทานกลอน "เราสู้" ให้เป็นของขวัญปีใหม่แก่ ทหาร และ ตชด. (4)วันที่ 1 มกราคม 2519ทรงเกิดแรงบันดาลพระราชหฤทัย พระราชนิพนธ์ทำนองให้ กลอน "เราสู้" ขณะทรงประทับ ณ พระราชวังบางปะอิน แล้ว ทรงพระราชทานให้วง อ.ส.วันศุกร์ ซึ่งกำลังบรรเลงในงานวันปีใหม่ที่นั่นทดลองบรรเลง (5)ต้น - กลางปี 2519ทรงนำทำนองเพลง "เราสู้" กลับไปแก้ไขจนพอพระราช หฤทัย แล้วพระราชทานฉบับสมบูรณ์ออกมา (6) ต้น - กลางปี 2519มีการนำเพลง "เราสู้" ออกเผยแพร่ในหมู่กลุ่มพลังฝ่ายขวา
เราได้เห็นรายละเอียดของข้อ (1) แล้ว ซึ่งทำให้ได้เข้าใจข้อ (2) ด้วย, ในส่วนข้อ (3) นั้น ประวัติที่เป็นทางการกล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานกลอน "เราสู้" ที่สมภพแต่งถวาย "ให้เป็นของขวัญปีใหม่แก่ทหาร อาสาสมัคร และตำรวจชายแดน" แต่ไม่มีการให้รายละเอียดหรือหลักฐาน อันที่จริง ผมเชื่อว่าคนเขียนประวัติทางการไม่รู้รายละเอียดและไม่มีหลักฐานด้วย เพราะมิเช่นนั้นจะต้องไม่ผิดพลาดเรื่องปีเกิดของเพลงอย่างแน่นอน เพราะเมื่อเร็วๆนี้ผมพบหลักฐานว่าทรงพระราชทานกลอนให้เป็นของขวัญปีใหม่จริงๆ แต่เป็นปีใหม่ 2519 และในลักษณะที่น่าสนใจยิ่ง
ดังที่ผมได้กล่าวบ้างแล้วข้างต้น, เมื่อเร็วๆนี้ (ตุลาคม 2541) ในหลวงได้ทรงนำพระราชดำรัส 4 ธันวาคม 2518 มา "ทรงเรียบเรียงและปรับปรุง" ใหม่พร้อมๆกับพระราชดำรัส 4 ธันวาคมอีก 4 ปี คือปี 2517, 2519, 2520 และ 2521 ทั้งยังได้ทรงแปลเป็นภาษาอังกฤษด้วยพระองค์เองทั้ง 5 พระราชดำรัส แล้วโปรดเกล้าฯให้ตีพิมพ์รวมกันเป็นเล่มเดียว ภาษาไทยอยู่หน้าขวาอังกฤษอยู่หน้าซ้ายคู่กันไปตลอดเล่ม (โดยบริษัทอมรินทร์พริ้นติ้ง) ออกเผยแพร่ "พระราชทานเพื่อใช้ในราชการ" ในหนังสือรวมพระราชดำรัส 4 ธันวาคม เล่มนี้ นอกจากจะทรงโปรดเกล้าฯให้ตีพิมพ์ภาพถ่ายทั้งสีและขาวดำการเข้าเฝ้าฯของคณะบุคคลในวันที่ 4 ธันวาคมของปีต่างๆนั้นแล้ว ในหน้า 46 ยังได้ทรงให้ตีพิมพ์สิ่งที่ดูเหมือนกับ การ์ด ส.ค.ส. ปี 2519 ที่ทรงประดิษฐ์ขึ้นด้วยพระองค์เอง คล้ายกับการ์ด ส.ค.ส. ที่พระองค์ทรงประดิษฐ์ขึ้นและพระราชทานแก่พสกนิกรในวันสิ้นปีเก่าขึ้นปีใหม่ของทุกปีในปัจจุบัน เนื้อหาของสิ่งที่ดูเหมือนการ์ด ส.ค.ส. 2519 นี้ ก็คือบทกลอน "เราสู้" นั่นเอง โดยมีคำแปลภาษาอังกฤษพิมพ์สลับกับกลอนภาษาไทยบทต่อบท แม้จะไม่มีคำอธิบายใดๆ ก็แทบจะไม่ต้องสงสัยเลยว่าคำแปลดังกล่าวเป็นพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (ความแตกต่างที่เห็นได้ระหว่าง "การ์ด" ปี 2519 ที่ว่านี้กับการ์ดของในหลวงในปัจจุบัน คือการ์ดปี 2519 ไม่ได้พิมพ์ด้วยคอมพิวเตอร์; ดูคำอธิบายเรื่องนี้ข้างล่าง)
ผมเชื่อว่า การ์ด ส.ค.ส. 2519 "เราสู้" นี้มีความสำคัญมาก อย่างน้อย 3 ประการ คือ หนึ่ง เป็นการยืนยันว่าในหลวงได้ทรงพระราชทานกลอน "เราสู้" เป็นของขวัญปีใหม่จริงๆ แต่เป็นปี 2519; สอง แสดงว่ามี "เราสู้" ใน version ภาษาอังกฤษ ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์เอง. (เรื่องนี้ผมไม่เคยได้ยินใครพูดถึงมาก่อน รวมทั้งหนังสือเกี่ยวกับเพลงพระราชนิพนธ์และพระราชกรณียกิจต่างๆ) ในขณะที่กลอน "เราสู้" ของสมภพ จันทรประภานั้น อาจกล่าวได้ว่า สะท้อนพระราชดำริของในหลวงได้อย่างใกล้เคียงมากแล้ว, การที่ทรงพระราชนิพนธ์ "เราสู้" เป็นภาษาอังกฤษและพระราชทานการ์ดนี้ในพระนามพระองค์เองเท่ากับทรงยืนยันว่า "เราสู้" เป็นพระราชดำริของพระองค์โดยสมบูรณ์;
สาม มีความเป็นไปได้อย่างยิ่งที่การ์ดนี้จะเป็นการ์ด ส.ค.ส. ฉบับแรกที่ในหลวงทรงประดิษฐ์ขึ้น และดูเหมือนว่าจะไม่มีใครรู้เรื่องการ์ดนี้มาก่อน
ประวัติที่เป็นทางการเกี่ยวกับเรื่องนี้ ("พระราชอัจฉริยภาพด้านคอมพิว-เตอร์" ใน เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 72 พรรษามหาราชา, จัดพิมพ์โดยคณะกรรมการจัดงานวันสื่อสารแห่งชาติ, 2542, หน้า 72) กล่าวว่า
ผลงานที่พระองค์ทรงประดิษฐ์ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์อีกอย่างหนึ่งก็คือ ส.ค.ส. ที่พระองค์ทรงใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ "ปรุง" อวยพรในวันปีใหม่ ซึ่งพระองค์ทรงพระราชทานถึงข้าราชบริพารและหน่วยงานต่างๆอยู่เป็นประจำทุกปี แม้จะทรงมีพระราชกรณียกิจมากมาย ซึ่งแต่เดิมพระองค์ทรงใช้วิธี "ปรุ" แถบเทเล็กซ์พระราชทานพรปีใหม่ โดยในบัตร ส.ค.ส. ฉบับแรก ปี พ.ศ. 2528 มีความว่า "ในโอกาสขึ้นปีใหม่ 2529 นี้ ขอขอบใจที่ทุกคนได้ช่วยงานในด้านต่างๆมาด้วยดี..."
ท้ายบัตร ส.ค.ส. ฉบับแรกระบุว่า "ก.ส. 9 ปรุ" อันเป็นหลักฐานแสดง ถึงการใช้เครื่องเทเล็กซ์หรือโทรพิมพ์ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2530 พระองค์ทรงประดิษฐ์ ส.ค.ส. ให้มีลวดลายมากขึ้น ท้ายบัตร ส.ค.ส. ระบุว่า "ก.ส. 9 ปรุง" จนถึงปัจจุบัน แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีสื่อสารที่พระองค์ทรงใช้ในการประดิษฐ์บัตร ส.ค.ส. จากเดิมที่เคยทรง "ปรุ" พระราชทานผ่านเครื่องเทเล็กซ์ มาทรง "ปรุง" ใหม่โดยทรงใช้เครื่องคอมพิวเตอร์แทน...
นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา พระองค์ได้ทรงประดิษฐ์บัตร ส.ค.ส.ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์พระราชทานพรแก่พสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่าผ่านสื่อมวลชนทุกปี เหล่าพสกนิกรทั้งหลายต่างพากันตั้งใจรอคอยผลงานของพระองค์ที่จะทรงพระกรุณาพระราชทานให้...
ขณะที่ ส.ค.ส. ที่ทรงประดิษฐ์ด้วยคอมพิวเตอร์ฉบับแรกน่าจะเป็นฉบับที่ทรงประดิษฐ์ในเดือนธันวาคม 2530 - คือ ส.ค.ส. ปี 2531 - จริง เพราะเพิ่งทรงมี คอมพิวเตอร์ส่วนพระองค์เครื่องแรกในเดือนธันวาคมปีก่อนหน้านั้น (เล่มเดียวกัน, หน้า 67; ดูภาพถ่าย ส.ค.ส. ที่ทรงประดิษฐ์ด้วยคอมพิวเตอร์ทุกฉบับตั้งแต่ปี 2530/31 ถึงปี 2541/42 ในหน้า 70, 73, 74 และ 79), ประวัติทางการนี้ผิดแน่ๆ ที่กล่าวว่า ส.ค.ส. ที่ทรงประดิษฐ์ขึ้นฉบับแรก (ด้วยเทเล็กซ์) คือ ส.ค.ส. ปี 2529 (ธันวาคม 2528) เพราะต่อให้เราไม่นับ การ์ด ส.ค.ส. 2519 "เราสู้" ข้างต้น, ในหนังสือรวมพระราชดำรัส 4 ธันวาคม เล่มเดียวกับที่มีรูปการ์ด "เราสู้", ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตีพิมพ์, ในหน้า 80, "ส.ค.ส. 2521 (Telex)" ซึ่งขึ้นต้นว่า "รอ. 1 จิตรลดา จาก จิตรลดา... รอ. 3. ถึง เจ้าหน้าที่ ทุกเหล่า ทุกหน่วย" และลงท้ายว่า "ก.ส. 9 ปรุ/ส่ง 310130 ธ.ค. 2520" อย่างชัดเจน
ผมคิดว่า การมีอยู่ของ ส.ค.ส. ปี 2521 นี้ยิ่งยืนยันว่ารูปถ่ายที่เห็นเป็น ส.ค.ส. ปี 2519 "เราสู้" ข้างต้นนั้น น่าจะเป็น ส.ค.ส.ปี 2519 ที่ทรง "ปรุ/ส่ง" จริงๆ และด้วยเหตุนี้จึงต้องถือเป็น ส.ค.ส. ที่ทรงประดิษฐ์ด้วยพระองค์เอง ฉบับแรกเท่าที่เรามีหลักฐานอยู่ในขณะนี้ ที่น่าสังเกตคือ ตรงข้ามกับ
กับปัจจุบันที่หนังสือพิมพ์จะรายงานข่าว ส.ค.ส.ของพระองค์โดยพร้อมเพรียง ในปี 2519 ไม่มี ฉบับใดที่กล่าวถึง ส.ค.ส. นี้เลย ที่เป็นข้อยกเว้นบางส่วน คือกรณี บ้านเมือง ฉบับวันที่ 8 มกราคม 2519 ซึ่งอุทิศส่วนบนสุดหนึ่งในสี่ของหน้า 13 ให้กับกลอน "เราสู้" โดยตีกรอบสี่เหลี่ยมล้อมรอบ มีพระบรมฉายาลักษณ์รูปพระพักตร์อยู่ด้านซ้ายมือและรูปถ่ายอาสาสมัครในเครื่องแบบยืนเรียงแถวเป็นแบ็คกราวน์ ภายใต้หัวว่า:
พิเศษ - วันนี้ "บ้านเมือง" อัญเชิญกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่เหล่าข้าราชบริพาร ทหาร ตำรวจ และอาสาสมัคร ในวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่
หลังจากนั้นเป็นกลอน "เราสู้" ทั้งสี่บท จะเห็นว่าคำบรรยายหัวนี้ผิดความจริงแบบง่ายๆ เพราะเห็นได้ชัดว่า นี่ไม่ใช่ "กระแสพระราชดำรัส" แน่ๆ (ถ้าใช้คำว่า "พระราชนิพนธ์กลอน" ยังจะใกล้เคียง) และอันที่จริงในวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2518-19 นั้น ในหลวงทรงมีพระราชดำรัสอื่นซึ่งหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ รวมทั้ง บ้านเมือง เองได้รายงานไปแล้ว แต่เป็นไปได้ว่าบางคนใน บ้านเมือง (เช่น อาจจะเป็น "สีน้ำ" นักเขียนฝ่ายขวาผู้เป็นศัตรูอย่างรุนแรงกับขบวนการนักศึกษาสมัยนั้น) ได้รับการ์ด ส.ค.ส. "เราสู้" เองหรือไปได้มาจากผู้อื่น จึงนำมาตีพิมพ์ โดยเขียนคำบรรยายเอาเอง เนื่องจากเห็นเป็น ส.ค.ส.ของในหลวง จึงเขียนไปเช่นนั้น การตีพิมพ์ "เราสู้" ใน บ้านเมือง นี้น่าจะเป็นการเผยแพร่กลอนนี้ต่อสาธารณะเป็นครั้งแรก แม้ว่าคงมีน้อยคนที่สังเกตเห็นในขณะนั้น
ขณะเดียวกัน, ดังที่เราได้เห็นแล้ว, พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเกิดแรงบันดาลพระราชหฤทัยโดยฉับพลัน ระหว่างที่ทรงประทับในงานเลี้ยงวันปีใหม่ที่พระราชวังบางปะอิน โดยมีวงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ กำลังบรรเลงเพลง (ซึ่งต้องเป็นปี 2519 อย่างแน่นอน ไม่ใช่ 2517 ตามประวัติทางการ) "ทรงหยิบซองจดหมายใกล้พระหัตถ์มาตีบรรทัด 5 เส้น เพื่อทรงพระราชนิพนธ์ทำนอง" ให้กับกลอน "เราสู้" เมื่อเสร็จแล้วก็พระราชทานให้วง อ.ส.วันศุกร์ ทดลองบรรเลงเดี๋ยวนั้น นายแมนรัตน์ ศรีกรานนท์ ผู้เล่า "เกร็ด" เรื่องนี้กล่าวว่า "ทรงเป็นเสมือนนักประพันธ์เพลงหรือปราชญ์ของโลก คือทรงแต่งสดๆ" อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่า จากการที่เราได้เรียงลำดับความเป็นมาของเพลงข้างต้น ทำให้เราอาจจะเข้าใจภูมิหลังของ "แรงบันดาลพระราชหฤทัย" อย่างฉับพลันในวัน ปีใหม่นั้นได้ง่ายยิ่งขึ้น กล่าวคือ เห็นได้ชัดว่าขณะนั้นน่าจะเพิ่งทรงพระราชนิพนธ์แปล กลอน "เราสู้" เป็นภาษาอังกฤษได้ไม่นาน และเพิ่งทรง "ปรุ/ส่ง" ทั้งภาษาไทยและอังกฤษในพระนามของพระองค์เป็น ส.ค.ส.ไปยังหน่วยงานราชการโดยเฉพาะทหารและ ตชด. พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ "เราสู้" น่าจะกำลังอยู่ในพระราชหฤทัยตลอดเวลาในระยะนั้น ทำให้ในระหว่างงานปีใหม่ที่มีวงดนตรีบรรเลง ทรง "เกิดแรงบันดาลพระราชหฤทัย" โดยฉับพลันขึ้นได้
เราไม่มีข้อมูลว่าในหลวงทรงใช้เวลาทั้งหมดในการแก้ไขปรับปรุงทำนองเพลง "เราสู้" ที่ทรงพระราชนิพนธ์ในวันปีใหม่นานเพียงใดจนพอพระราชหฤทัย หรือรายละเอียดของการ "ปล่อย" (release) เพลงออกสู่สาธารณะเป็นอย่างไร เช่น ใครผลิต (กรมประชาสัมพันธ์? กองทัพ?), วงดนตรีและนักร้องคือใคร, สถานีวิทยุอะไรเริ่มเล่นก่อนหรือพร้อมๆกัน? เมื่อไร? แต่ดังที่กล่าวในตอนต้นบทความ, เพลงนี้ได้กลายเป็นที่นิยมของกลุ่มพลังฝ่ายขวาที่ต่อสู้กับขบวนการนักศึกษาในขณะนั้น ผมไม่ทราบแน่นอนว่าเมื่อใด หลักฐานแรกสุดที่ผมหาได้คือ การที่ ดาวสยาม ฉบับวันที่ 11 กรกฎาคม 2519 เอาบางตอนของเพลงมาพิมพ์ (โดยแปลงบางคำ) เพื่อตอบโต้ท้าทายการที่นักศึกษาธรรมศาสตร์กลุ่มหนึ่งเดินขบวนไปวางหรีดหน้าสำนักงาน แม้ว่าโดยส่วนตัวผมคิดว่า "เราสู้" น่าจะเป็นที่รู้จักกันแล้วก่อนหน้านั้นเล็กน้อย
จาก "เราสู้" ถึง 6 ตุลา เพลงปลุกใจโดยทั่วไปและ "เราสู้" โดยเฉพาะ มีบทบาทอย่างไรในการต่อสู้ทางการเมืองในช่วงก่อน 6 ตุลา? ผมขอเสนอว่าเพลงปลุกใจ (หรือเพลงปฏิวัติ/เพื่อชีวิต) มีบทบาทเช่นนั้นเอง - "ปลุกใจ" ผมหมายความว่า เพลงเหล่านี้ไม่ได้มีบทบาทในการ "ให้การศึกษา" หรือ "ทำให้คนเชื่อ" ในสาระทางการเมืองที่มีอยู่ในเพลง พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เพลงเหล่านี้เป็นเพลงเพื่อคนที่เชื่ออยู่แล้ว ไม่ใช่สำหรับทำให้คนที่ยังไม่เชื่อหันมาเชื่อ สำหรับคนพวกหลัง เนื้อหาของเพลงที่มีลักษณะการเมืองอย่างสูงเช่นนี้ เป็นสิ่งที่ยากจะ "ซาบซึ้ง" ได้ แต่สำหรับพวกที่เชื่อในอุดมการณ์ที่เพลงเหล่านี้สะท้อนอยู่แล้ว เพลงช่วยทำให้เกิดกำลังใจ, มีความสุข ("บันเทิง"), ให้ความรู้สึกที่เป็น "ชุมชน" ร่วมกับผู้อื่นที่คิดอย่างเดียวกัน และเพิ่มความเชื่อมั่นในสิ่งที่กำลังคิดและทำ, ทำให้อยากคิดแบบนั้นและทำแบบนั้นให้มากขึ้นไปอีกดีขึ้นไปอีก - พูดอย่างสั้นๆ ก็คือ "ปลุกใจ" นั่นเอง
กรณี ดาวสยาม ที่เพิ่งกล่าวถึงเป็นตัวอย่างที่ดี หนังสือพิมพ์รู้สึกว่ากำลังถูกโจมตีจากศัตรู (ขบวนการนักศึกษา) ถึงกับมีการ "ยกกำลัง" มาที่สำนักงาน (ความจริงผู้เดินขบวนไปวางหรีดวันนั้นน่าจะมีไม่กี่ร้อยคน) "เราสู้" ถูกอ้างขึ้นเพื่อยืนยันความถูกต้องของตัวเอง โดยเฉพาะในส่วนของเนื้อเพลงที่พูดถึงการปักหลักสู้ ในที่ที่ตัวเองอยู่ ("สู้ที่นี่ สู้ตรงนี้")
แน่นอนว่า การที่ "เราสู้" เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ย่อมมีความหมายมากกว่าเพลงปลุกใจทั่วไป สำหรับ ดาวสยาม และกลุ่มพลังฝ่ายขวาอื่นๆ (กระทิงแดง, ลูกเสือชาวบ้าน, นวพล) ทุกครั้งที่ได้ยิน, ร้อง หรือเพียงแต่นึกถึงเพลงนี้ในใจ ย่อมสามารถรู้สึกได้ว่าสิ่งที่พวกเขากำลังทำนั้นไม่เพียงแต่ถูกต้อง แต่เป็นพระราชประสงค์ - พระราชบัญชา - โดยตรง และแม้ในหลวงจะทรงมีพระราชดำรัสที่เป็นต้นกำเนิดของเพลงมาตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2518 หรือกระทั่งทรง "ปรุ" กลอนที่เขียนจากพระราชดำรัสเป็น ส.ค.ส. ออกพระราชทาน ในวงจำกัด แต่การคงอยู่ในใจ, การพร้อมใช้ (ready-to-use) ของเพลงย่อมสูงกว่า - และด้วยเหตุนี้จึง "มีพลัง" กว่า – พระราชดำรัสร้อยแก้วหรือกลอนธรรมดามาก
ดึงข้อมูลจาก .
หมวดหมู่: บทความประเทศไทย