การเดินทางของคุณธนบัตร บทที่ ๕
nidhi
ใกล้จะค่ำแล้ว จากจุดที่ฉันอยู่ฉันมองเห็นผู้คนเดินกันพลุกพล่านตั้งแต่เช้าทั้งหญิงชายและเด็กหนุ่มสาว
นักเรียนนักศึกษารวมถึงคนที่ประกอบอาชีพการงานต่างๆ ธรรมดาที่ฉันจะได้เจอะเจอก็คงเพียงการปฏิบัติภารกิจประจำวันทั่วไป คือพวกที่ผ่านมาหรือแวะมาใช้บริการที่ห้างพันธุ์ทิพย์งามวงศ์วานก็คงจะได้แก่บรรดาพวกผู้คน
ที่แวะมาซื้อสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภค แวะรับประทานอาหารหรือนัดพบ เพราะศูนย์การค้าทั้งหลายมักจะเป็นที่รวมของร้านค้า ธนาคาร ศูนย์อาหาร ร้านขายของเบ็ดเตล็ด เพื่อเป็นการประหยัดเวลาตามหลักของ one stop service นั่นเอง แต่วันนี้ที่ดูว่าคนพลุกพล่านมากผิดปกติก็เพราะเป็นวันที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยกรณียุบพรรค
ตั้งแต่ตอนสายประมาณ ๐๙.๑๕ นาฬิกา ฉันได้ยินการอ่านคำวินิจฉัยกรณีของพรรคประชาธืปัตย์ซึ่งใช้เวลา ๔ ชั่วโมงเศษในการอ่านคำวินิจฉัย ผลคือยกคำร้องขอให้ยุบพรรคดังกล่าวเพราะยังรับฟังข้อเท็จจริงได้ไม่เพียงพอที่จะเชื่อว่าพรรคได้กระทำความผิดตามที่ถูกร้อง
ต่อมาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็ได้อ่านคำวินิจฉัยกรณีของพรรคไทยรักไทย ซึ่งกว่าจะอ่านคำวินิจฉัยจบลงก็เป็นเวลาประมาณ ๒๓ นาฬิกาเศษ ซึ่งเป็นเวลาที่ห้างปิดทำการไปแล้ว
ถึงกระนั้นฉันก็ไม่ได้รับการกระทบกระเทือนจากการปิดทำการของห้างแต่อย่างใด เพราะฉันถูกนำไปบรรจุไว้อยู่ในตู้เอทีเอ็มที่ด้านหน้าห้างซึ่งอยู่ติดด้านหลังป้ายหยุดรถโดยสารประจำทาง
ฉะนั้นผู้คนจึงเดินผ่านไปมาพลุกพล่านตลอดทั้งกลางวันและกลางคืนรวมถึงผู้ที่เจาะจงมาใช้บริการเบิกถอนเงินตามตู้เอทีเอ็มที่มีอยู่เรียงรายนับสิบตู้
และแล้วเวลาที่อ่านคำวินิจฉัยเสร็จก็มาถึง ตุลาการวินิจฉัยให้ยุบพรรคไทยรักไทย และตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการผู้บริหารพรรคจำนวน ๑๑๑ คนเป็นเวลา ๕ ปี รวมทั้งพรรคเล็กอีก ๒ พรรคที่เกี่ยวข้อง ฉะนั้นการวินิจฉัยวันนี้จึงเป็นผลให้มีการยุบพรรคจำนวน ๔ พรรคด้วยกัน ซึ่งถือเป็นคดีประวัติศาสตร์
ผลการยุบพรรคก่อให้เกิดปัญหาโต้แย้งว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ถูกยุบด้วย กับวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่น่าจะมีผลย้อนหลังไปใช้บังคับ
บรรดาข้อโต้แย้งคัดค้านเหล่านี้ฉันได้แต่รับฟัง เพราะเป็นความเห็นในทางกฎหมาย ซึ่งมีได้หลายความเห็น แต่หลักการที่ฉันเคยได้ยินมาก็คือ ความยุติธรรมได้แก่ความเป็นธรรมอันยุติแล้วในแต่ละเรื่องแต่ละคดี ซึ่งขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานต่างๆตลอดจนข้อเท็จจริงที่ได้รับและวินิจฉัยในแต่ละเรื่องว่าควรจะเป็นอย่างไร
ผลของคดีที่เกิดขึ้นจึงมีทั้งสองด้านเสมอ คือที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่หลักการเฃ่นนี้เป็นหลักการที่อารยชนยอมรับกันทั่วโลกแล้วว่าน่าจะเป็นวิธีที่เหมาะสมแก่ยุคสมัยและเหตุการณ์ของสังคมแต่ละแห่งแล้ว
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกก็ได้มีพระราชดำรัสในเรื่องดังกล่าวไว้ตอนที่ตุลาการศาลปกครองเข้าเฝ้า
จึงนับว่าน่าจะเป็นวิธีการที่สังคมต้องยอมรับ เพราะเรามีสิทธิไม่เห็นด้วย แต่ขอให้ไม่เห็นด้วยในใจ การแสดงออกที่ปรากฎย่อมเป็นสิทธิของคนเราที่จะวิพากษ์วิจารณ์ แต่ด้องตั้งอยู่บนฐานแห่งเหตุผลเพียงพอด้วย บ้านเมืองจึงจะไม่วุ่นวายไร้ระเบียบ