เรื่องเก่าเล่าขาน...ตำนานข้าวต้มกุ๊ย

ทิวสน

เรื่องเก่าเล่าขาน...ตำนานข้าวต้มกุ๊ย
โดย เจ้าชายน์ติ๊ง
tewson7@hotmail.com
สิ่งที่เราเห็นและเป็นอยู่ กับสิ่งที่เรียกขานจนคุ้นชิน บางครั้งเมื่อลองนึกทบทวนก็ชวนให้สงสัยใคร่รู้ ถึงที่มาที่ไปในสิ่งนั้น ความสงสัยจะกระจ่างก็ต้องเล่าอ้างคนแก่คนเฒ่า ให้ช่วยเล่าขาน ว่าตำนานมีมาอย่างไร ในครั้งนี้เราจะรู้กันว่าแท้จริง ข้าวต้มกุ๊ย มีตำนานความเป็นมาอย่างไรช้าอยู่ไย ไปพบความ ค่อนข้างจริงโดยพลัน!!
* * *
ข้าวสวยเมล็ดนุ่ม-หอม กรุ่น ในน้ำร้อน
เมื่อใดที่มีภารกิจต้องทำจนดึกดื่น ค่อนคืน ล่วงสี่ทุ่ม ห้า ทุ่ม สองยาม ข้ามวันใหม่ ก่อนจะกลับไปหลับพักผ่อน ส่วนใหญ่ใครต่อใครมักหาอะไรเอาใจกระเพาะน้อยๆ มิเช่นนั้นคงหลับไม่เป็นสุขลุกไม่สะดวกแน่ หนึ่งในเมนูยอดนิยมของอาหารก่อนนอนตอนดึก เรามักนึกถึงโจ๊ก หรือไม่ก็ ข้าวต้มกุ๊ย
คนส่วนใหญ่ทราบดีว่า ข้าวต้มกุ๊ย ข้าวขาวเมล็ดสวย ในน้ำใส-น้ำข้น เป็นที่นิยมรับประทานมานานนักแล้ว และพบนิยมทั่วไปไม่ว่ามุมใดของโลก ทั้งยังหลงผิดคิดว่าเป็นสิ่งที่คู่กันมากับอาหารจีน แต่แท้จริงแล้ว ข้าวต้มกุ๊ย มีต้นกำเนิดเกิดขึ้นที่ สยามประเทศ นี้เอง!
นั่นไงนึกแล้วว่าหลายคนต้องสงสัย ไม่มั่นใจ ว่าจะเป็นไปได้อย่างไร แต่ผู้เขียนขอบอกว่า เป็นไปได้และเป็นไปแล้ว เป็นมามากกึ่งศตวรรษ หาใช่ร้อยวันพันปีดังที่หลายคนเคยคาดเดาและเข้าใจ ถ้าอยากรู้อยากเข้าใจ ก็ลองเปิดใจ ผ่อนคลายสบายๆ พบคำตอบของที่มาที่ไปได้ ในบรรทัดถัดจากนี้
จุดเริ่มต้นของเรื่องอาจดูเหมือนไม่เกี่ยวเนื่องกับจุดสรุป หากจะบอกว่า กำเนิดของ ข้าวต้มกุ๊ย กับวงการภาพยนตร์ เป็นจุดร่วมกำเนิดของตำนานนี้
จากการศึกษาค้นคว้าของ มหาวิทยาลัยเยล และ คิงส์คอลเลจ พบว่าพัฒนาการของวงการภาพยนตร์มีมาตั้งแต่ราวปลายศตวรรษที่ 18-19 ในยุโรปและแผ่ขยายทั่วไป รวมทั้งการนำเข้ามาในประเทศไทยราว 100 ปีเศษ ซึ่งขณะนั้นเป็นการนำเข้ามาของราชคันตุกะชาวตะวันตก นำมาฉายถวายในพระราชสำนัก และต่อมาประชาชนทั่วทั่วไปก็มีโอกาสได้ชม ถือเป็นมโหรสพที่แปลกใหม่ในสมัยนั้น
ต่อมาชาวอเมริกันสแตนด์ดาร์ด อ๊ะ!ไม่ใช่สิ อเมริกันเฉยๆ ได้ทดลองถ่ายทำภาพยนตร์ไทย เรื่องนางสาวสุวรรณ ขึ้น ซึ่งเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรก โดยเป็นภาพยนตร์ขาว-ดำ ไร้เสียง หรือเรียกว่า หนังเงียบ และได้มีการถ่ายทอดวิชาการถ่ายทำภาพยตร์จนคนไทยเริ่มสร้างภาพยนตร์ไทยได้เอง พร้อมๆ กับการเกิดอาชีพนักแสดงไทยขึ้น
ในยุคแรกของภาพยนตร์ไทย ได้รับการสนับสนุน ด้วยดีจากผู้สร้างผู้กำกับชาวตะวันตก และมีการถ่ายทอดศิลปะการแสดงจากนักแสดงฮอลลีวูดให้กับนักแสดงไทย ทำให้เกิดความสนิทสนมกันระหว่างนักแสดงทั้ง 2 ชาติ
นักแสดงไทยที่เป็นที่รู้จักในยุคแรกนั้น ไม่มีใครไม่รู้จัก หลวงอภิบาล และคุณฉิม นฤดลมนตรี 2 สามีภรรยาซึ่งเป็นข้าหลวงฯ และเป็นนักแสดงยอดนิยมในยุคแรก อีกทั้งยังสนิทสนมกลมเกลียว ถึง 3 เกลียวบวกลังกาหลังอีก 1 รอบ (สนิทมาก) กับครอบครัวนักแสดงฮอลลีวูดยอดนิยมในยุคนั้น คือ นายทอม ครุยส์ อี. เมเจอร์ กับนางซาร่า ครุยส์ อี. เมเจอร์ (จากหลักฐานกรมสรรพากรสหรัฐอเมริกา แจ้งว่า นายทอม ครุยส์ อี.เมเจอร์ เป็น บิดาของปู่ ของ ทอม ครุยส์ นักแสดงยอดนิยมที่รู้จักกันดีในปัจจุบัน) 
ทั้งสองครอบครัวไปมาหาสู่กันสม่ำเสมอ จากแรกนั้นไปมาหาสู่เพราะต้องติดตามผู้กำกับชาวอเมริกันอันเนื่องมาจากเรื่องงาน แต่ในภายหลัง ครอบครัวเพื่อนชาวอเมริกัน ดั้นด้นมาสยาม(ชื่อเรียกสมัยนั้น) ก็เพราะความสนิทสนมส่วนตัวและชื่นชอบสถานที่ท่องเที่ยวของไทย และที่ขาดเสียไม่ได้ก็คือ ถูกปากอาหารไทยรสมือคุณฉิม ด้วยเหตุนี้คราใดที่ได้ต้อนรับครอบครัวทอม ครุยส์ ฝ่ายไทยจะทำอาหารไทย ถึงรส ถึงลูกถึงคน คอยเลี้ยงรับรองเสมอ
ปลายฝน ต้นหนาวปีที่ 5 ในความสนิทสนมกลมเกลียว ของ 2 ครอบครัวครอบครัวของหลวงอภิบาล ก็ได้มีโอกาสต้อนรับครอบครัว ทอม ครุยส์ อีกครั้งหนึ่ง
การมาเยือนครั้งนั้น อาหารเย็นวันแรก คุณฉิมก็ได้ทำอาหารไทยที่นายและนางทอม ครุยส์ ชื่นชอบเช่นเคย ไม่ว่าจะเป็น แกงส้มปลาช่อนตัวผู้ใส่ผักกระเฉดสวนสามพราน ไข่ตุ๋นวุ้นกะทิ น้ำพริกกะปิศรีราชา ปลาร้าหลนทรงเครื่อง แกงจืดมะระตุ๋นกระดูกหมูมะนาวดองเมืองเพชร และที่ขาดเสียไม่ได้ เพราะหากลืมเป็นงอน คือ ต้มยำกุ้ง ทานกับข้าวสวยหอมมะลิ หุงโดยใช้หม้อดิน
หกโมงเย็น เป็นเวลาอาหาร ทุกอย่างขึ้นโต๊ะรอรับประทาน 2 สามีภรรยาเพื่อนผู้มาเยือน
ดีใจจนน้ำลายไหลสามหยด เมื่อทราบถึงเมนูมื้อนี้ ครั้นนั่งลงพร้อมจะรับประทานอาหารที่ตรงหน้า 2 ครอบครัวก็อธิษฐานขอบคุณพระเจ้าสำหรับอาหาร แล้วหลวงอภิบาลและคุณฉิมก็ตักอาหารทานคำแรกโดยไม่งอศอก.คือ ตักให้เพื่อนชาวอเมริกัน บรรยากาศการรับประทานมีทีท่าว่าจะเต็มไปด้วยรสชาติและไมตรีอันดี ทว่าเพียงคำแรกที่ ทอม ครุยส์ ตักกับบนข้าวเข้าปาก-เคี้ยว. ก็สะดุด หยุดนิ่ง มองซ้ายขวา เหมือนว่ามีปัญหาใช่ อาหารมื้อนั้นมีปัญหา เพราะข้าวสวยร้อนๆ ก่อนนั้นเคยทานแต่ข้าวหอมมะลิหอมๆนุ่มๆ กรุ้มกริ่ม แต่ครั้งนี้ทำไม กรุบๆ ไม่หนุบหนับรับรสกับ กับข้าวที่อร่อยเอร็ดปัญหาอยู่ที่ข้าวข้าวแข็งที่แข็งเพราะข้าวสุกแต่ยังไม่แตกเมล็ดดี ข้าวที่เคี้ยวจึงเป็นปัญหา
ทุกคนบนโต๊ะอาหาร ต่างเห็นอาการที่เดาไม่ถูกของ ทอม ครุยส์ และรอว่าจะพูดอะไร ครั้นหลวงอภิบาลถามถึงรสชาติ อีกฝ่ายก็บอกว่าอร่อย แต่ทุกคนก็รู้สึกเช่นเดียวกันว่า ข้าวแข็ง
ทอม ครุยส์ มองซ้าย แลขวา คล้ายว่าจะหาอะไร และเหลือบไปเห็นกาต้มน้ำมีควันพวยพุ่ง เดือดพล่าน ขณะที่คุณฉิมจะเอ่ยปากถามว่าต้องการอะไร ทอม ก็ถือจานข้าว ลุกขึ้นไปที่ครัว และยกกาน้ำร้อนรินน้ำเติมลงในจานนั้น ทุกคนมองหน้ากันอย่าง งวย-งง ฝ่ายทอม เดินกลับมาที่โต๊ะ วางจาน แล้วคนน้ำร้อนให้เข้ากันกับข้าวสวย และยิ้มให้กับทุกคน แต่ไม่ได้พูดอะไร เพียงครู่ก็ตักข้าวสวยในน้ำร้อนใส่ปาก-เคี้ยว แล้วสีหน้าทอมก็เปลี่ยนไป พร้อมอุทาน ยอดเยี่ยมนุ่ม อร่อย ละมุนลิ้น แล้วก็ชวนทุกคนลองทานข้าวสวยในน้ำร้อน ซึ่งก่อนนี้เมล็ดข้าวจะแข็ง แต่ตอนนี้ ข้าวนุ๊มมมมนุ่มนุ่มลงจริงๆ คุณฉิมจึงนำน้ำร้อนมาเติมในข้าวให้กับทุกคน และทานอาหารมื้อนั้นกันชนิดรื่นเริงบันเทิงลิ้น
และอาหารมื้อต่อมาไม่ว่ากับข้าวจะเป็นอะไร แต่ข้าวที่ทานจะเป็นข้าวสวยในน้ำร้อนทุกมื้อ กระทั่งเพื่อนชาวอเมริกันกลับไป
จากวันนั้น ครอบครัวหลวงอภิบาลก็จะทำข้าวประเภทนี้ที่เพิ่งค้นพบโดยทอม ครุยส์ ทานทุกวัน ทั้งยังแนะนำไปยังเพื่อนบ้านใกล้เคียง และมีการบอกสูตรข้าวนี้แบบปากต่อปาก ไปถึงไหนต่อไหน กระทั่งไปถึงหูอธิบดีกรมโคดสะนากาน (โฆษณาการ / กรมประชาสัมพันธ์) จึงเชิญครอบครัวของหลวงอภิบาล มาให้สัมภาษณ์ทางรายการวิทยุกระจายเสียงฯ ถึงสูตรและความเป็นมาของข้าวประเภทนี้ ที่ได้เกิดขึ้นครั้งแรกที่บ้านหลวงอภิบาล และเป็นที่นิยมแพร่หลายอย่างรวดเร็ว
ในการให้สัมภาษณ์ครั้งนั้น หลวงอภิบาลได้หารือกับศรีภรรยาและได้ข้อสรุปว่า ควรตั้งชื่อข้าวชนิดนี้ โดยให้เกียรติแก่ผู้คิดค้นคือ ทอม ครุยส์ อี. เมเจอร์ จึงให้ชื่อข้าวชนิดนี้ว่า ข้าว ทอมครุยส์ แต่นั้นมา
จากการออกอากาศรายการวิทยุ พร้อมเปิดเผยสูตรง่ายๆ ในวันนั้น ก็เกิดความนิยมข้าวชนิดนี้แพร่หลายไปทั่วประเทศ และยังมีคนไทยนำไปเผยแพร่ยังต่างประเทศ ระยะเวลาอันยาวนานได้เกิดพัฒนาการของข้าว ทอม ครุยส์ ไปหลายรูปแบบ เช่น นำข้าวสวยมาต้มกับน้ำร้อนโดยตรง บ้างก็นำใบเตย 1 มัด ใส่ในน้ำร้อนต้มไปด้วย เพื่อเพิ่มความหอม บ้างก็ใส่เกลือเล็กน้อย บ้างก็ใช้วิธีต้มข้าวสารจนกลายเป็นข้าวทอม ครุยส์ บ้างก็หั่นเผือกดิบเป็นลูกเต๋าเล็กๆ พร้อมลูกเดือยใส่ลงไปพร้อม บางรายเอาดีในทางนี้ ก็เปิดร้านขายอาหาร และประชาสัมพันธ์เชิญชวนลูกค้า ด้วยป้ายข้อความ ร้านนี้มีข้าว ทอม ครุยส์ จนขายดิบขายดีเป็นเทน้ำเททิ้ง เอ๊ย เท ท่า 
ในช่วงหลังมีการพัฒนาเรื่องกับ ที่ทานกับข้าว ทอม ครุยส์ โดย เน้นไปที่ของแห้ง ที่นำมาทอด หรือยำ เช่น กุ้งแห้ง ปลาหมึกกล้วย ไข่เค็ม ผักกาดดอง ผัดหัวผักกาดใส่ไข่ ผัดผักบุ้ง-ผัดผักกระเฉดไฟแดง เป็นต้น
กาลเวลาล่วงผ่านนานวัน การรับประทาน ข้าว ทอม ครุยส์ เป็นที่นิยมไม่หยุดยั้งทั้งในและต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ทางตอนเหนือ ซึ่งอากาศค่อนข้างเย็นเกือบตลอดปี เมื่อได้ทานข้าวชนิดนี้ ก็ช่วยให้ร่างกายอบอุ่นดีนักแล โดยเรียกข้าวชนิดนี้ว่า โจว ตามความเข้าใจว่ามาจากข้าวสวยต้มในน้ำร้อน
ในประเทศไทย เมื่อเวลาทอดยาวนานไป ชื่อเรียกแรกเริ่มแต่เดิมนั้นก็เปลี่ยนเพี้ยนไปหลายๆ ชื่อ เช่น ข้าวทอมครุยส์, ข้าวหอมฉุย, ข้าวต๋อมตุ๊ย, ข้าวทอมคุ๊ย, ข้าวหอมวุ๊ย, ข้าวต้อมครุยส์, ข้าวต้อมกึ๋ยส์, ข้าวต้มกึ๊ยส์, ข้าวต้อมกุ่ย, ข้าวต้มกุ่ย, ข้าวต้มกุ้ย, จนมาเป็น ข้าวต้มกุ๊ย ในที่สุด
ข้าวต้มกุ๊ย กลายเป็นชื่อเรียกติดปากในปัจจุบัน และเป็นที่นิยมทั่วโลก โดยมีเพียงคนกลุ่มเล็กๆ เท่านั้นที่ทราบความจริงว่า ข้าวต้มกุ๊ย มีถิ่นกำเนิดเกิดที่ กรุงเทพฯ ณ สยามประเทศ เมื่อราวศตวรรษที่ผ่านมา โดยการค้นพบโดยบังเอิญ ของ อดีตนักแสดงฮอลลีวูด ยุคบุกเบิก ชื่อ ทอม ครุยส์ อี.เมเจอร์ เมื่อคราวมาเยือนเพื่อนนักแสดงชาวสยาม
แม้แต่ ทอม ครุยส์ นักแสดงฮอลลีวูดยุคปัจจุบัน อาจจะไม่เคยทราบความจริงมาก่อนว่า แท้จริงแล้ว มิสเตอร์ ทอม ครุยส์ อี.เมเจอร์ ปู่ทวดของเขา เป็นผู้ให้กำเนิด ข้าวต้มกุ๊ย
* * * * * * * * * *
หมายเหตุ 
ขอรับรองว่าเรื่องราวทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นความจริงเฉพาะ... 
1.นางสาวสุวรรณเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรก (แต่ไม่ได้สร้างและถ่ายทำโดยคนไทย)
2.ภาพยนตร์ไทยมีกำเนิดครั้งแรกเมื่อราว 1 ศตวรรษที่ผ่านมา 
3.ภาพยนตร์ยุคแรกเป็นขาว-ดำ และไม่มีเสียง เรียกว่าหนังเงียบ 
4.กรมโคดสะนากาน คือ กรมประชาสัมพันธ์ในปัจจุบัน 
5.ประเทศไทยเปลี่ยนชื่อมาจากสยาม ยังไม่ถึงร้อยปี 
6.ข้าวต้มกุ๊ย ภาษาจีนกลางเรียกว่า โจว
7.ประเด็นอื่นๆ ขอรับรองว่าเป็นความไม่จริงแทบทุกประการ
ประเด็นอื่นๆ ที่เป็นจริงและควรทราบ
1.ข้าวต้นกุ๊ยแรกเริ่มเรียกกันว่า ข้าวต้มพลุ้ย โดยเรียกจากอากัปกริยา เวลาคนจีนกินจะนั่งยองๆ แล้วใช้ตะเกียบพลุ้ยข้าวเข้าปาก
2.จับกัง แต่เดิมเรียกว่า กุ๊ย ด้วยรายได้ไม่มากจึงทานอาหารง่ายๆ ราคาถูก เช่น ไข่เค็มหนึ่งซีก กับข้าวต้มเต็มถ้วยก็อิ่มท้อง และราคาเบา (ไม่กี่สตางค์ / ในสมัยเมื่อราวๆ 50 ปีก่อน) 
3.ในช่วงก่อสร้างถนนแถวราชดำเนิน และเลียบคลองหลอด มีการเกณฑ์แรงงานคนจีนที่เข้ามาเมืองไทย และทำงานโดยใช้แรงงานมารับจ้าง หัวหน้าที่คุมงานไม่ค่อยมีน้ำใจเท่าใดนัก นำค่าจ้างที่ได้จากการรับเหมามาจัดสรรเลี้ยงข้าวกุ๊ย ด้วยข้าวต้ม ส่วนกับมักจะผัดก้อนกรวดกับเกลือให้คนงานได้อมเพื่อแกล้มกับข้าว นานๆ ครั้งจึงจะมีผัดผักกาดดองบ้าง หรือเต้าหู้ยี๊ เป็นเช่นนี้จนกระทั่งงานก่อสร้างถนนเสร็จสิ้น 
นับแต่นั้นก็เรียกข้าวต้มขาวๆ ในน้ำใสบ้าง ข้นบ้างนี้ว่า ข้าวต้มกุ๊ย และต่อมามีการพัฒนาเรื่องกับข้าวที่ทานคู่กัน พร้อมความนิยมที่กว้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือคนจีนก็นิยมกินบ้างก็ยกชั้นถึงระดับอาหารเหลา ดังที่เราพบในปัจจุบัน
เจ้าชายน์ติ๊ง
* * * * * * * * * *				
comments powered by Disqus
  • กอไผ่

    23 มิถุนายน 2549 06:23 น. - comment id 91306

    ชอบนะ เพลินดี
    โดยเฉพาะเรื่องของกิน64.gif

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน