“ศรีจนาศะ” อาณาจักรโบราณลุ่มแม่น้ำมูล

นิติ

แม้ว่านักประวัติศาสตร์ยังสรุปไม่ได้แน่ชัดว่า ศูนย์กลางของอาณาจักรศรีจนาศะ อยู่ที่เมืองโบราณชื่อ เมืองเสมา ในเขตอำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา หรือ เมืองศรีเทพ โบราณสถานในเขตลุ่มแม่น้ำป่าสักในอำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ แต่ก็เชื่อว่าเคยมีอาณาจักรนี้อยู่ในบริเวณประเทศไทย ไม่ใช่ ลาว หรือพม่าแน่นอน
      นักวิชาการหลายท่านต่างอ้างหลักฐานที่ตนหาได้ มาหักล้างกันให้ความจริงปรากฏ บอกความเป็นมาของอาณาจักรศรีจนาศะในช่วงสมัยรุ่งเรือง       ลองมาฟังนานาทรรศนะนักวิชาการผู้ที่สังคมนี้ให้การเชื่อถือว่าเป็นเช่นไร
       รองศาสตราจารย์  ดร. ธิดา  สาระยา  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เชื่อว่า ศรีเทพคือศรีจนาศะ  เพราะเมืองโบราณศรีเทพคือดินแดนที่ปรากฏอยู่ในชื่อศรีจนาศะมาแต่โบราณ  เมืองนี้รุ่งเรืองเป็นศูนย์กลางสำคัญช่วงพุทธศตวรรษที่ 12- 15 ขอบเขตแห่งอำนาจของเมืองนี้มิใช่อยู่ที่ราบสูงโคราชหรือลุ่มน้ำมูลอย่างเดียว หากควรครอบคลุมอาณาจักรบริเวณลุ่มน้ำป่าสักซึ่งมีเครือข่ายการติดต่อถึงกัน  ได้ปรากฏทั้งจากสภาพภูมิศาสตร์หลักฐานทางโบราณสถาน หลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร โดยนัยเชื่อว่าความหมายของคำว่า นอกกัมพุเทศ อันเข้าใจกันโดยทั่วไปว่าหมายถึงบริเวณลุ่มน้ำมูลเท่านั้น  จึงน่าจะไม่ใช่การขยายตัวทางการตั้งหลักแหล่งของขอม เข้าสู่ภาคอีสานสมัยพุทธวรรษที่ 15 ชัดเจนพอ  เพราะอิทธิพลทางศิลปวัฒนธรรมจากลุ่มน้ำโขงทั้งทางตรงและทางอ้อมประสมประสานที่ศรีเทพในลุ่มน้ำป่าสักด้วย    ทั้งก่อนและหลังพุทธวรราที่ 15 ดินแดนที่เรียกว่า นอกกัมพุเทศ ควรครอบบริเวณสองลุ่มน้ำอันอ้างชื่อมาแล้ว         
   แต่นักวิชาการท้องถิ่นภาคอีสานอย่าง ผู้ช่วยศาตราจารย์ชลิต  ชัยครรชิต มหาวิทยาลัยขอนแก่น แสดงความเห็นว่า เมืองเสมาคือศูนย์กลางศรีจนาศะ ด้วยเหตุผลที่ว่า     หลักฐานทางโบราณคดีอันประกอบไปด้วย จารึก และโบราณวัตถุที่พบอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำตอนบนสัมพันธ์โดยตรงกับอาณาจักรศรีจนาศะหรือจนาศปุรนะ จารึกบ่ออีกา จารึกเมืองเสมา จารึกหินขอน มีความสัมพันธ์กับศรีจานาศะ อันแสดงให้เห็นว่าศูนย์กลางของอาณาจักรอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำมูล โดยมีความสัมพันธ์กับสองเขตวัฒนธรรม คือวัฒนธรรมทราวดีจากลุ่มแม่น้ำลพบุรี เข้าสู่แม่น้ำป่าสักและผ่านตรงมายัง เมืองเสมาหรือศรีจนาศะ  โดยวัฒนธรรมทราวดีได้แพร่ขึ้นไปยังเมืองศรีเทพ  อันเป็นเมืองร่วมสมัยกับอาณาจักรศรีจนาศะ เมีองศรีเทพเพชรบูรณ์จึงไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับความเป็นอาณาจักรศรีจนาศะ  ยิ่งเมื่อพิจารณาชื่อเมืองศรีเทพยิ่งพบว่า เมืองศรีเทพ ถูกเรียกชื่อใหม่ ในช่วงสมัยรัตนโกสินทร์จากเดิมที่ชาวบ้านเรียกเมืองท่าโรงและวิเชียรบุรี  อันไม่สอดคล้องกับศรีจนาศะหรือจานาศะปุระแต่ประการใด หลักฐานจารึกและโบราณวัตถุที่พบในลุ่มแม่น้ำมูล สัมพันธ์กันโดยตรงกับความเป็นอาณาจักรศรีจนาศะ
    ดังนั้น  ศูนย์กลางของอาณาจักรศรีจนาศะจึงเป็นบริเวณลุ่มแม่มูล  อันได้แก่เมืองเสมา มากกว่าที่จะเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำอื่น
      หลักฐานที่พบเห็น สามารถให้ความกระจ่างในความสงสัยได้  รองรับสมมติฐานที่ตนคิดและคนอื่นคิดได้เช่นกัน  ความเชื่อแต่ละบุคคลในศาสตร์การค้นหาความจริงในอดีต เชิงวิชาการ ทำให้นักวิชาการมีความเห็นที่ไม่ตรงกัน ทั้งฝ่ายนักวิชาการในเมืองหลวง ซึ่งเชื่อหลักฐานลายอักษรและหลักศิลาจารึก ส่วนฝ่ายนักวิชาการท้องถิ่น มุ่งเน้น โบราณสถาน โบราณวัตถุ สถานที่จริงและความเป็นไปได้
     นักวิชาการอีกท่านที่สังคมเชื่อถือ  อาจารย์สุจิตต์   วงษ์เทศ  แสดงทรรศนะไว้ในหนังสือ ศรีจนาศะ รัฐอิสระที่ราบสูง ตอนหนึ่งในบทนำว่า บริเวณต้นแม่น้ำมูล ที่ปัจจุบันเป็นจังหวัดนครราชศรีมากับดินแดนต่อเนื่อง  มีหลักฐานชัดเจนว่ามีอิสระ ชื่อศรีจนาศะ ตั้งอยู่เมื่อปี พ. ศ. 1300 แต่สังคมไทยไม่รู้จัก
               ความชัดเจนยังไม่ปรากฏ แต่ถ้าความจริงปรากฏมาจากเหตุผลกลใดก็ตาม หากช่วยหนุนให้เชื่อว่าแถวลุ่มแม่น้ำมูลมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์  มีคุณค่าทางวัฒนธรรม บางทีรัฐบาลคงต้องทบทวนบริบทที่ราบลุ่มแม่น้ำมูลใหม่ว่า การยัดเยียดสิ่งต่างๆที่คนบริเวณนั้นไม่ต้องการ เป็นการทำลายประวัติศาสตร์ชนชาติและความรู้สึกประชาชนอย่างที่สุด.				
comments powered by Disqus
  • หว่ออ้ายหนี่

    11 กุมภาพันธ์ 2546 23:43 น. - comment id 67369

    ลุ่มแม่น้ำมูลเป็นแหล่งทรัพยากรที่มีค่าครับ ควรอนุรักษ์ไว้ครับ เห็นด้วยครับ
    
    
  • ตุ่ย

    1 มีนาคม 2553 11:05 น. - comment id 115360

    เขียนมาน่าอ่านดี
    
    จบลงด้วยเรื่องการเมืองแฮะ
  • ลูกแม่น้ามูน

    27 ตุลาคม 2553 20:42 น. - comment id 119653

    เห็นด้วยกับ อ.ชลิต

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน