สารคดี : ประเพณีแห่เทียนทางน้ำที่บ้านบางคู้
สุชาดา โมรา
เมื่อหล่อเสร็จแล้วก็มีการแห่แหนตามประเพณีรอบพระอุโบสถ เวียน ๓ รอบ แล้วนำไปจุดบูชาพระตลอดระยะเวลา ๓ เดือนของการเข้าพรรษา
เมื่อกล่าวถึงประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา หลายคนคงคิดถึงประเพณีแห่เทียนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทยที่จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นประเพณีที่ทั้งคนไทยและคนต่างชาติรู้จักกันดี แต่ประเพณีแห่เทียนของจังหวัดอุบลราชธานีเป็นการแห่เทียนทางบกต่างจากประเพณีแห่เทียนของบ้านบางคู้ที่แห่เทียนทางน้ำ โดยใช้เรือเป็นพาหนะ
ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ของบ้านบางคู้ที่เป็นพื้นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำลพบุรีเป็นสายน้ำหลักไหลผ่านกลางหมู่บ้าน การเดินทางสัญจรในอดีต เรียกว่า หน้าบ้าน ใช้เรือเป็นหลัก แม้ว่าปัจจุบันทางการจะสร้างถนนหนทางที่สะดวกกว่าการใช้เรือลดความนิยมลง แต่เพื่อเป็นการอนุรักษ์ให้ทุกคนยังเห็นความสำคัญของสายน้ำ ทุกคนให้หมู่เห็นพ้องกันว่าควรมีประเพณีที่ทำให้ทุกคนระลึงถึงน้ำอยู่เสมอ จึงจัดประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาทางเรือขึ้น
ประเพณีแห่เทียนของบ้านบางคู้มีครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๔๕ เมื่อใกล้ถึงวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ทางอำเภอท่าวุ้งจะจัดการประกวดเทียนเข้าพรรษาของชาวบ้านทั้งอำเภอ และจะนำเทียนเหล่านี้มา แจกจ่ายให้กับวัดทั่วอำเภอ ชาวบ้านบางคู้จะจัดขบวนเรือที่ตกแต่งอย่างสวยงามมารับเทียน โดยตกแต่งเรือโป๊ะเป็นเรือที่รับเทียน มีเรือพาย เรือแจวของชาวบ้านตามหลังขบวน แล้วใช้เรือเล็กแห่เทียนเข้าวัดปากคลอง โดนจะงานขึ้นในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ หรือ วันอาสาฬหบูชา
นอกจากการประกวดเทียนแล้ว ยังมีการประกวดเรือที่มารอรับเทียน และการประกวดแม่ย่านางเรือ ได้รับความสนใจจากชาวบ้านและนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก สองฟากฝั่งน้ำจะมีชาวบ้านตกแต่งท่าน้ำของตนอย่างสวยมากไว้คอยรับเทียน เมื่อขบวนเรือถึงวัดปากคลองจะมีขบวนกลองยาวประจำหมู่บ้าน แตรวง บรรเลงเพลงรับเทียนเข้าวัด เป็นที่สนุกสนานอย่างมาก
ในช่วงสองปีแรกของการจัดงาน จะใช้วิธีการแห่เทียนทางเรือ ตามแม่น้ำลพบุรี โดยทางจังหวัดสิงห์บุรีจะปล่อยน้ำจากเขื่อนส่งมาให้จนเต็ม แต่ปีนี้ ( ๒๕๔๗ ) ทางจังหวัดสิงห์บุรีปล่อยน้ำมาในปริมาณที่น้อย เพราะกลัวว่าชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดสิงห์บุรีจะมีน้ำไม่เพียงพอต่อการทำนา น้ำที่ไหลมาถึงบ้านบางคู้จึงมีน้อย ชาวบ้านจึงปรับเปลี่ยนวิธีจากการแห่เทียนทางน้ำมาเป็นทางบกแทน
แม้วิธีการจะเปลี่ยนไป แต่ด้วยแรงศรัทธา ความร่วมมือร่วมใจ ความสามัคคีของชาวบ้าน ประเพณีแห่เทียน ประเพณีสำคัญทางพระพุทธศาสนายังคงอยู่ให้ลูกหลานได้ตระหนักและเห็นคุณค่าและช่วยกันรักษาให้คงอยู่สืบไป