ทานกัณฑ์
๏ เม็ดทราย ๏
ทานกัณฑ์
แม้พระนางผุสดีราชเทวีมีพระดำริว่า ข่าวเดือดร้อนมาถึงลูกของเรา ลูกของเราจะทำอย่างไรหนอ. เราจักไปให้รู้ความ จึงเสด็จไปด้วยสิวิกากาญจน์ ม่านปกปิดประทับที่ทวารห้องบรรทมอันมีสิริ. ได้ทรงสดับเสียงสนทนาแห่งกษัตริย์ทั้งสอง คือพระเวสสันดรและพระนางมัทรี ก็พลอยทรงกันแสงคร่ำครวญ อย่างน่าสงสาร.
พระศาสดา เมื่อทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
พระผุสดีราชบุตรพระเจ้ามัททราช ผู้ทรงยศได้ทรงสดับ พระราชโอรสและพระสุณิสาทั้งสองปริเทวนาการ. ก็ทรงพลอยคร่ำครวญละห้อยไห้ว่า เรากินยาพิษเสียดีกว่า เราโดดเหวเสียดีกว่า เอาเชือกผูกคอตายเสียดีกว่า. เหตุไฉน ชาวสีพีจึงให้ขับไล่ลูกเวสสันดรผู้ไม่มีความผิด.
เหตุไฉน ชาวนครสีพีจึงจะให้ขับไล่เจ้าเวสสันดรลูกรัก ผู้ไม่มีโทษไม่ผิด ผู้รู้ไตรเพทเป็นทานบดี ควรแก่การขอ ไม่ตระหนี่.
เหตุไฉน ชาวนครสีพีจึงจะให้ขับไล่เจ้าเวสสันดรลูกรัก ผู้ไม่มีโทษผิด อันพระราชาต่างด้าวทั้งหลายบูชา มีเกียรติยศ.
เหตุไฉน ชาวสีวีจึงให้ขับไล่ลูกเวสสันดร ผู้ไม่มีความผิด ผู้เลี้ยงดูบิดามารดา ประพฤติถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ในราชสกุล.
เหตุไฉน ชาวสีวีจึงให้ขับไล่ลูกเวสสันดร ผู้ไม่มีความผิด ผู้เกื้อกูลแก่พระเจ้าแผ่นดิน แก่เทพเจ้า แก่พระประยูรญาติ แก่พระสหาย เกื้อกูลทั่วแว่นแคว้น.
เหตุไฉน จึงให้ขับไล่ลูกเวสสันดร ผู้ไม่มีความผิดเสีย.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ราชปุตตี ได้แก่ พระนางผุสดีราชธิดาของพระเจ้ามัททราช. บทว่า ปปเตยยหํ ความว่า เราพึงโดด. บทว่า รชชุยา พชฌมิยาหํ ความว่า เราพึงเอาเชือกผูกคอตายเสีย. บทว่า กสมา ความว่า เมื่อเรายังมีชีวิตอยู่อย่างนี้. เหตุไฉน ชาวสีวีจึงให้ขับไล่ลูกของเรา ผู้ไม่มีความผิดเสีย. บทว่า อชฌายิกํ ความว่า ผู้ถึงฝั่งแห่งไตรเพท คือถึงความสำเร็จในศิลปะต่างๆ.
พระนางผุสดีทรงคร่ำครวญอย่างน่าสงสาร ฉะนี้แล้ว. ทรงปลอบพระโอรสและพระศรีสะใภ้ ให้อุ่นพระหฤทัย. แล้วเสด็จไปเฝ้าพระเจ้าสญชัย กราบทูลว่า
ชาวสีวีให้ขับไล่พระราชโอรสผู้ไม่มีความผิด รัฐมณฑลของพระองค์ ก็จักเป็นเหมือนรังผึ้งร้าง. เหมือนผลมะม่วงหล่นลงบนดิน ฉะนั้น. พระองค์อันหมู่เสวกามาตย์ละทิ้งแล้ว จักต้องลำบากอยู่พระองค์เดียว. เหมือนหงส์มีขนปีกหลุดร่วงแล้ว ก็ลำบากอยู่ในเปียกตมอันไม่มีน้ำ ฉะนั้น.
ข้าแต่พระมหาราชเจ้า เพราะเหตุนั้น หม่อมฉันจึงขอกราบทูลพระองค์ว่า ประโยชน์อย่าได้ล่วงเลยพระองค์ไปเสียเลย. ขอพระองค์อย่าทรงขับไล่พระราชโอรสผู้ไม่มีความผิดนั้นตามคำของชาวสีพีเลย.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปลิตานิ ได้แก่ เหมือนรวงผึ้งที่ตัวผึ้งหนีไปแล้ว. บทว่า ปติตา ฉมา ได้แก่ ผมมะม่วงสุกที่หล่นลงพื้นดิน. พระนางผุสดีทรงแสดงว่า ข้าแต่สมมติเทพ เมื่อขับไล่ลูกของเราไปอย่างนี้แล้ว แว่นแคว้นของพระองค์ก็จักสาธารณ์แก่คนทั่วไป. บทว่า นิกขีณปตโต ได้แก่ มีขนปีกหลุดร่วงแล้ว. บทว่า อปวิฏโ อมจเจหิ ความว่า เหล่าอำมาตย์ประมาณหกหมื่น ผู้เป็นสหชาติกับลูกของเราละทิ้งแล้ว. บทว่า วิหสิ แปลว่า จักลำบาก. บทว่า สีวีนํ วจนา ความว่า ขอพระองค์อย่าทรงขับไล่ลูกของเราผู้ไม่มีความผิดนั้น ตามคำของชาวสีวีเลย.
พระเจ้าสญชัยได้ทรงสดับดังนั้น จึงตรัสว่า
เมื่อเราขับไล่ลูกที่รักผู้เป็น ดุจธงชัยของชาวสีพี. ก็ทำโดยเคารพต่อขัตติยราชประเพณีธรรมของโบราณ. เพราะฉะนั้น ถึงลูกจะเป็นที่รักกว่าชีวิตของเรา เราก็ต้องขับไล่.
เนื้อความของคาถานั้นว่า แน่ะพระน้องผุสดีผู้เจริญ เมื่อฉันขับไล่ คือเนรเทศลูกเวสสันดร ซึ่งเป็นธงชัยของชาวสีพี ก็ทำโดยเคารพยำเกรงต่อขัตติยราชประเพณีธรรมของโบราณ ในสีพีรัฐ. เพราะเหตุนั้น ถึงแม้ลูกเวสสันดรนั้นเป็นที่รักกว่าชีวิตของฉัน. ถึงอย่างนั้น ฉันก็ต้องขับไล่.
พระนางผุสดีราชเทวีได้ทรงสดับดังนั้นก็ทรงครวญคร่ำรำพันว่า
แต่กาลก่อนๆ เหล่าทหารถือธง และเหล่าทหารม้าเป็นอาทิ ราวกะดอกกรรณิการ์อันบานแล้ว และราวกะราวป่าดอกกรรณิการ์ ไปตามเสด็จพ่อเวสสันดร ผู้เสด็จไปไหนๆ. วันนี้ พ่อจะเสด็จไปแต่องค์เดียว. เหล่าราชบุรุษผู้ห่มผ้ากัมพลเหลืองมาแต่คันธารรัฐ มีแสงสีดุจแมลงค่อมทองตามเสด็จไปไหนๆ. วันนี้ พ่อจะเสด็จไปแต่องค์เดียว. แต่ก่อนพ่อเคยเสด็จด้วยช้างที่นั่ง พระวอหรือรถที่นั่ง. วันนี้ พ่อจะต้องเสด็จไปด้วยพระบาทอย่างไรได้.
พ่อมีพระกายลูบไล้ด้วยแก่นจันทร์ อันเจ้าพนักงานปลุกให้ตื่นบรรทมด้วยฟ้อนรำขับร้อง จะต้องทรงหนังเสืออันหยาบขรุขระ และถือเสียมหาบคาน อันคอนเครื่องบริขารแห่งดาบสทุกอย่าง ไปเองอย่างไรได้ ไม่มีใครนำผ้ากาสาวะและหนังเสือไป. เมื่อพ่อเสด็จเข้าสู่ป่าใหญ่ ใครจะช่วยแต่งองค์ด้วยผ้าเปลือกไม้ ก็ไม่มี. เพราะเหตุไร ขัตติยบรรพชิตทั้งหลาย จะทรงผ้าเปลือกไม้ได้ อย่างไรหนอ.
แม่มัทรีจักนุ่งห่มผ้าคากรองกะไรได้ แม่มัทรีเคยทรงภูษามาแต่แคว้นกาสี และโขมพัสตร์และโกทุมพรพัสตร์. บัดนี้ จะทรงผ้าคากรองจักทำอย่างไร. แม่มัทรีเคยเสด็จไปไหนๆ ด้วยสิวิกากาญจน์ คานหามและรถที่นั่ง. วันนี้ แม่ผู้มีวรกายหาที่ติมิได้ จะต้องดำเนินไปตามวิถีด้วยพระบาท แม่มัทรีผู้มีฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทอ่อน มักมีพระหฤทัยหวั่นขวัญอ่อน สถิตอยู่ในความสุข. เสด็จไปข้างไหนก็ต้องสวมฉลองพระบาททอง. วันนี้ แม่ผู้มีอวัยวะงาม จะต้องดำเนินสู่วิถีด้วยพระบาทเปล่า แม่จะเสด็จไปไหนเคยมี สตรีนับด้วยพันนางนำเป็นแถวไปข้างหน้า. วันนี้ แม่ผู้โฉมงามจะต้องเสด็จไปสู่ราวไพรแต่องค์เดียว. แม่มัทรีได้ยินเสียงสุนัขป่า ก็จะสะดุ้งตกพระหฤทัยก่อนทันที หรือได้ยินเสียงนกเค้าอินทสโคตรผู้ร้องอยู่ ก็จะสะดุ้งกลัวองค์สั่น ดุจแม่มดสั่นอยู่ ฉะนั้น.
วันนี้ แม่ผู้มีรูปงามเป็นผู้ขลาดไปสู่แนวป่า ตัวแม่เองจักหมกไหม้ ด้วยความทุกข์นาน เพราะอาศัยวังนี้เปล่าจากลูกรัก ตัวแม่แลไม่เห็นลูกรัก จักผอมผิวเหลือง จักแล่นไปในที่นั้นๆ เหมือนนางนกมีลูกถูกเบียดเบียนเห็นแต่รังเปล่า ฉะนั้น. ตัวแม่จักหมกไหม้ด้วยความทุกข์นาน เพราะอาศัยวังนี้ว่างจากพระลูกรัก ตัวแม่แลไม่เห็นลูกรัก ก็จักผอมผิวเหลือง จักแล่นไปในที่นั้นๆ เปรียบดังนางนกเขามีลูกถูกเบียดเบียนแล้วเห็นแต่รังเปล่า หรือเปรียบเหมือนนางนกจากพรากตกในเปือกตมไม่มีน้ำ ฉะนั้น.
เมื่อหม่อมฉันพิลาปอยู่อย่างนี้ ถ้าพระองค์ยังจะขับไล่พระราชโอรสผู้ไม่มีความผิดนั้นเสียจากแว่นแคว้น. หม่อมฉัน เห็นจะต้องสละชีวิตเสียเป็นแน่.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กณิการาว ความว่า เป็นราวกะดอกกรรณิการ์ที่บานดีแล้ว เพราะประดับด้วยเครื่องอลังการ อันเป็นสุวรรณวัตถาภรณ์. บทว่า ยายนตมนุยายนติ ความว่า ตามเสด็จพระเวสสันดร ผู้เสด็จเพื่อต้องการประพาสสวนอุทยาน เป็นต้น. บทว่า สวาชเชโกว ความว่า วันนี้พระเวสสันดรจักเสด็จไปพระองค์เดียวเท่านั้น. บทว่า อนีกานิ ได้แก่ มีกองช้างเป็นต้น. บทว่า คนธารา ปณฑุกมพลา ความว่า ผ้ากัมพลแดงที่เสนานุ่งห่มมีค่าแสนหนึ่ง เกิดที่คันธารรัฐ. บทว่า หาริติ ความว่า แบกไป. บทว่า ปสิสนตํ ได้แก่ เมื่อพระเวสสันดรเสด็จเข้าไปอยู่. บทว่า กสมา จีรํ น พชฌเร ความว่า ใครๆที่แต่งตัวได้ จะช่วยแต่งองค์ด้วยผ้าเปลือกไม้ ก็ไม่มี เพราะอะไร. บทว่า ราชปพพชิตา ได้แก่ พวกกษัตริย์บวช. บทว่า โขมโกทุมพรานิ ได้แก่ ผ้าสาฎกที่เกิดในโขมรัฐและในโกทุมพรรัฐ.
บทว่า สา กถชช ตัดบทเป็น สา กถํ อชช. บทว่า อนุจจงคี ได้แก่ ผู้มีพระวรกายไม่มีที่ตำหนิคือหาที่ติมิได้. บทว่า ปีฬมานาว ความว่า หวั่นไหวเสด็จไปเหมือนเหน็ดเหนื่อย. บทว่า อสสุ ในบทเป็นต้นว่า ยสสุ อิตถีสหสส เป็นนิบาต ความว่า ใด. ปาฐะว่า ยาสา ก็มี. บทว่า สิวาย ได้แก่ สุนัขจิ้งจอก. บทว่า ปุเร ความว่า อยู่ในพระนครในกาลก่อน. บทว่า อินทสโคตสส ได้แก่ โกสิยโคตร. บทว่า วาริณีว ได้แก่ เหมือนยักษทาสีที่เทวดาสิง. บทว่า ทุกเขน ได้แก่ ทุกข์ คือความโศกเพราะความพลัดพรากจากบุตร. บทว่า อาคมมิมํ ปุรํ ความว่า เมื่อลูกไปแล้ว แม่มาวังนี้ คือวังของลูก. บทว่า ปิเย ปุตเต ท่านกล่าวหมายพระเวสสันดรและพระนางมัทรี. บทว่า หตจฉาปา ได้แก่ มีลูก คือลูกน้อยถูกเบียดเบียนแล้ว. บทว่า ปพพาเชสิ จ นํ รฏา ความว่าถ้าพระองค์ยังจะขับไล่ลูกเวสสันดรนั้นจากแว่นแคว้น.
เหล่าสีพีกัญญาของพระเจ้ากรุงสญชัยทั้งปวง ได้ยินเสียงคร่ำครวญของพระนางผุสดีเทวี ก็ประชุมกันร้องไห้. ส่วนราชบริจาริกานารีทั้งหลาย ในพระราชนิเวศน์ของพระเวสสันดร ได้ยินเสียงเหล่าราชบริจาริกาของพระเจ้ากรุงสญชัยร้องไห้ ต่างก็ร้องไห้ไปตามกัน. คนหนึ่งในราชสกุลทั้งสองที่สามารถระทรงตนไว้ได้ ไม่มีเลย. ต่างทอดกายาร่ำพิไรรำพัน ดุจหมู่ไม้รังต้องลมย่ำยีก็ล้มลงตามกัน ฉะนั้น.
พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
เหล่าสีพีกัญญาทั้งปวงในพระราชวัง ได้ฟังสุรเสียงของพระนางผุสดีทรงกันแสง ก็ประชุมกันประคองแขนทั้งสองร้องไห้. เหล่าราชบุตรราชบุตรี ชายา พระสนม พระกุมาร พ่อค้า พราหมณ์ กองช้าง กองม้า กองรถ กองราบ ฝ่ายข้างวังพระเวสสันดร ก็พากันลงนอนยกแขนทั้งสองร้องไห้. ประหนึ่งหมู่ไม้รังต้องลมประหารย่ำยี ก็ล้มลงตามกัน ฉะนั้น.
แต่นั้นเมื่อราตรีสว่าง ดวงอาทิตย์ขึ้นแล้ว พระเวสสันดรก็เสด็จมาสู่โรงทาน ทรงบำเพ็ญทาน โดยพระโองการว่า เจ้าทั้งหลายจงให้ผ้าห่มแก่เหล่าผู้ต้องการผ้านุ่งห่ม น้ำเมาแก่พวกนักเลงสุรา โภชนาหารแก่เหล่าผู้ต้องการโภชนาหาร โดยชอบทีเดียว. อย่าเบียดเบียนเหล่าวณิพก ผู้มาในที่นี้แม้แต่คนหนึ่ง จงให้อิ่มหนำด้วยข้าวและน้ำ พวกนี้เราบูชาแล้ว จงให้ยินดีกลับไป.
ในเมื่อพระเวสสันดรมหาราชผู้ยังแคว้นแห่งชาวสีพีให้เจริญเสด็จออกแล้ว วณิพกเหล่านั้นเป็นดังคนเมา คนเหน็ดเหนื่อย ลงนั่งปรับทุกข์กันว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ชาวสีพีเหมือนตัดเสีย ซึ่งต้นไม้ที่ให้ผลต่างๆ ที่ทรงผลต่างๆ ที่ให้ความใคร่ทั้งปวง ที่นำมาซึ่งรส คือความใคร่ทั้งปวง. เพราะพวกเขาขับไล่พระเวสสันดร ผู้หาความผิดมิได้จากรัฐมณฑล. ในเมื่อพระเวสสันดรมหาราชผู้ยังแคว้นแห่งชาวสีพีให้เจริญเสด็จออกแล้ว เหล่าคนแก่ คนหนุ่ม และคนกลางคนทั้งหมด ภูต แม่มด ขันที สตรีของพระราชา สตรีในพระนคร พราหมณ์ สมณะ และเหล่าวณิพกอื่นๆ ประคองแขนทั้งสองร้องไห้ว่า
ดูเถอะ พระราชาเป็นอธรรม. พระเวสสันดรเป็นผู้อันมหาชนในเมืองของตนบูชาแล้ว ต้องเสด็จออกจากเมืองของพระองค์ โดยต้องการตามคำของชาวสีวี.
พระเวสสันดรมหาสัตว์นั้นพระราชทานช้าง ๗๐๐ เชือก ล้วนประดับด้วยคชาลังการ มีเครื่องรัดกลางตัวแล้วไปด้วยทอง คลุมด้วยเครื่องประดับทอง มีนายหัตถาจารย์ขี่ประจำ ถือโตมรและขอ.
ม้า ๗๐๐ ตัว สรรพไปด้วยอัศวาภรณ์เป็นชาติม้าอาชาไนยสินธพ เป็นพาหนะว่องไว มีนายอัศวาจารย์ขี่ประจำ ห่มเกราะถือธนู.
รถ ๗๐๐ คัน อันมั่นคงมีธงปักแล้ว หุ้มหนังเสือเหลืองเสือโคร่งประดับสรรพาลังการ มีคนขับประจำถือธนูห่มเกราะ.
สตรี ๗๐๐ คน คนหนึ่งๆ อยู่ในรถ สวมสร้อยทองคำประดับกายแล้วไปด้วยทองคำ มีอลังการสีเหลือง นุ่งห่มผ้าสีเหลือง ประดับอาภรณ์สีเหลือง มีดวงตาใหญ่ ยิ้มแย้มก่อนจึงพูด มีตะโพกงามบั้นเอวบาง.
โคนม ๗๐๐ ตัว ล้วนแต่งเครื่องเงินทาสี ๗๐๐ คน ทาส ๗๐๐ คน (พระองค์ทรงบำเพ็ญทานเห็นปานนี้) ต้องเสด็จออกจากแคว้นของพระองค์.
พระราชาเวสสันดรพระราชทานช้างม้ารถ และสตรีอันตกแต่งแล้ว ต้องนิราศจากแคว้นของพระองค์.
ในเมื่อมหาทาน อันพระเวสสันดรพระราชทานแล้ว พสุธาดลก็กัมปนาทหวาดหวั่นไหว และพระราชาเวสสันดรทรงกระทำอัญชลี นิราศจากแคว้นของพระองค์ นั่นเป็นมหัศจรรย์อันน่าสยดสยอง ให้ขนพองสยองเกล้า ได้เกิดมีแล้วในกาลนั้น.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สิวิกญฺา ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สตรีทั้งหลายของพระเจ้าสญชัยราชาแห่งชาวสีวีแม้ทั้งปวง ได้ฟังเสียงคร่ำครวญของพระนางผุสดีแล้ว ประชุมกันคร่ำครวญร้องไห้. บทว่า เวสสนตรนิเวสเน ความว่า เหล่าชนฝ่ายข้างวังแม้ของพระเวสสันดร ได้ฟังเสียงคร่ำครวญของสตรีทั้งหลายในวังของพระเจ้าสญชัยนั้น ก็คร่ำครวญไปตามกัน. ในราชสกุลทั้งสอง ไม่มีใครๆที่สามารถจะดำรงอยู่ได้ตามภาวะของตน ต่างล้มลงเกลือกกลิ้งไปมา คร่ำครวญ ดุจหมู่ไม้รังโค่นลงด้วยกำลังลม ฉะนั้น.
บทว่า ตโต รตยา วิวสเน ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อราตรีนั้นล่วงไป ดวงอาทิตย์ขึ้นแล้ว พวกขวนขวายในทานได้กราบทูลแด่พระเวสสันดรว่า ทานได้จัดเสร็จแล้ว. ลำดับนั้น พระราชาเวสสันดรทรงสรงสนานแต่เช้าทีเดียว ประดับด้วยสรรพาลังการ เสวยโภชนาหารรสอร่อย แวดล้อมไปด้วยมหาชน เสด็จเข้าสู่โรงทาน เพื่อพระราชทานสัตตสดกมหาทาน. บทว่า เทถ ความว่า พระเวสสันดรเสด็จไปในที่นั้นแล้ว เมื่อตรัสสั่งเหล่าอำมาตย์หกหมื่น ได้ตรัสอย่างนี้. บทว่า วารุณึ ความว่า พระเวสสันดรทรงทราบว่า การให้น้ำเมาเป็นทานไร้ผล. แม้เมื่อเป็นอย่างนั้น ก็ทรงดำริว่า พวกนักเลงสุรามาถึงโรงทานแล้ว อย่าได้กล่าวว่า ไม่ได้ดื่มสุราในโรงทานของพระเวสสันดร. ดังนี้จึงให้พระราชทาน. บทว่า วนิพพเก ความว่า บรรดาเหล่าชนวณิพกผู้ขอ พวกท่านอย่าได้เบียดเบียนใครๆ แม้คนหนึ่ง. บทว่า ปฏิปูชิตา ความว่า พระเวสสันดรตรัสว่า ท่านทั้งหลายเป็นผู้ที่เราบูชาแล้ว จงกระทำอย่างที่เขาไปสรรเสริญเรา. พระเวสสันดรได้พระราชทานสัตตสดกมหาทาน คือ ช้าง ๗๐๐ เชือกมีเครื่องประดับทอง มีธงทอง คลุมด้วยข่ายทอง. ม้า ๗๐๐ ตัว ก็เหมือนอย่างนั้นแล รถ ๗๐๐ คันหุ้มด้วยหนังราชสีห์เป็นต้น วิจิตรด้วยรัตนะต่างๆ มีธงทอง. สตรีมีขัตติยกัญญาเป็นต้น ๗๐๐ คนประดับด้วยสรรพาลังการทรงรูปอันอุดม. แม่โคนม ๗๐๐ ตัวซึ่งเป็นหัวหน้าโคผู้ประเสริฐ รีดน้ำนมได้วันละหม้อ. ทาสี ๗๐๐ คนผู้ได้รับการฝึกหัดศึกษาดีแล้ว. ทาส ๗๐๐ คนก็เหมือนอย่างนั้น. พร้อมเครื่องดื่มและโภชนาหารหาประมาณมิได้