งานโกนจุก
สุชาดา โมรา
ในที่ไกล ๆ บ้านไกล ๆ เมือง เวลาพระธุดงค์ผ่านไปทางนั้น ชาวบ้านที่มีลูกหลานไว้จุก ไว้แกละ มักจะขอให้ท่านช่วยโกนผมให้เด็กเพื่อเป็นสิริมงคลเพราะจะพาไปวัด วัดก็อยู่ไกล ครั้นโกนเองก็ทำไม่ได้ เป็นธรรมเนียมและความเชื่อมาแต่โบราณว่า ถ้าโกนผมให้เด็กเองแล้ว เด็กจะบ้า หรือสติไม่ค่อยดี จึงไม่มีใครกล้าเสี่ยง
ทางต่างจังหวัดจะจัดพิธีโกนจุกประจำปีกันที่วัดไหนบ้างไม่ทราบ แต่ที่กรุงเทพฯ และเมืองนนทบุรี มีพิธีโกนจุกเด็กประจำปี ทุกปีต่อเนื่องกันมานานแล้วไม่ได้ขาด
แห่งหนึ่งคือโบสถ์พราหมณ์ ที่เสาชิงช้า ข้างวัดสุทัศน์ เป็นแหล่งที่สำคัญ เพราะมีความเกี่ยวเนื่องกับพระราชพิธีต่าง ๆ ของพระมหากษัตริย์ตลอดมา พราหมณ์ทั้งหลายก็ถือเป็นข้าราชการมีเงินเบี้ยหวัดกันเหมือนข้าราชการทั่วไป
ที่จริง การโกนจุกที่โบสถ์พราหมณ์นั้นพอเอาเข้าจริง ๆ แล้วการทำพิธีนี้ก็หาใช่จัดขึ้นเพื่อโกนจุกลูกชาวบ้านโดยตรงไม่ ( สำหรับเจ้าฟ้า เจ้านาย ย่อมมีพระราชพิธีโสกันต์ และเกศากันต์ในวัง และลูกผู้ดีมีเงินก็มักจะจัดกันตามบ้านตัวเองอยู่แล้ว ) งานโกนจุกโบสถ์พราหมณ์เป็นผลพลอยได้จากพิธีตรียัมปวาย หรือพิธีเนื่องในวันปีใหม่ของพราหมณ์
ในวันขึ้นปีใหม่พระเป็นเจ้าทั้งสามที่พราหมณ์นับถือจะลงมาเยี่ยมโลก เมื่อขณะที่พระเจ้าลงมานี้ ถือเป็นวันมงคลจะทำการใด ๆ ก็ได้ทั้งสิ้น แม้ตามทางบวกลบคูณหารจะว่าเป็นวันไม่ดีอย่างไร แต่ในเมื่อมีพระผู้เป็นใหญ่ประทับเป็นมิ่งขวัญอยู่ สิ่งเลวร้ายใด ๆ ก็ย่อมไม่อาจเข้ามากล้ำกรายได้
ในที่สุดจะเริ่มเมื่อรัชกาลใดไม่ทราบ ระหว่างพิธียัมปวายนี้ก็เกิดผนวกเอาการโกนจุกโกนแกละ ลูกหลานชาวบ้านเข้ามาร่วมด้วย พ่อแม่ปู่ย่าตายายคนไหน เห็นว่าลูกหลานถึงอายุหรือได้เวลาควรโกนจุกก็หอบลูกกันมาให้พราหมณ์ทำพิธีตัดจุกให้
วันที่จะโกนจุกได้แก่ วันแรม 6 ค่ำ เดือนยี่ ถ้าเทียบกับสมัยนี้คือต้น ๆ เดือนมกราคม อย่างเช่น ปีนี้ก็เพิ่งโกนไปเมื่อวันอังคารที่ 7 มกราคม ( ปกติ วันอังคารนั้นเขาถือเรื่องไม่ให้ตัดจุก เพราะเป็นวันพระขันกุมารคอขาด คราวจะตัดจุกคือพระนารายณ์ท่านได้เชิญให้ไปร่วมงานโกนจุกด้วย แต่นอนหลับเพลิน ๆ ก็มีคนมาปลุก ท่านนึกหงุดหงิด จึงตรัสออกไปว่า ไอ้ลูกหัวหาย คือพูดส่งเดชด้วยอารมณ์ ทันใดนั้นหัวพระขันธกุมารก็หายไปจริง ๆ ภายหลังต้องหาหัวมาต่อให้วุ่นวาย จนไปได้หัวช้างมา พลอยให้เรียกกันว่าพระคเณศจนทุกวันนี้ อย่างไรก็ตาม ดังที่กล่าวแล้วว่าช่วงตรียัมปวายเป็นวันมงคลถึงจะโกนวันอังคารก็ไม่เป็นไร )
งานโกนจุกที่จริงมี 2 วันคือ ข้ามไปเย็นวาน วันแรม 5 ค่ำเดือนยี่ ต้องพาเด็กเข้าฟังพระสวดมนต์เย็นก่อน เลิกแล้วใครจะไปไหนก็ได้ บางคนก็กลับบ้าน บางคนก็ต้องนอนที่นั่นเพราะมาไกล จากหาดใหญ่ บางคนก็มาจากฉะเชิงเทรา ยิ่งสมัยก่อนก็ต้องมาจากหลาย ๆ จังหวัดเพราะทางโบสถ์พราหมณ์มีบัตรและลงทะเบียนเอาไว้ ตั้งแต่ตอนบ่าย พอจะค้นดูไว้สถิติที่เด็กมากันมากนั้นว่า 500-600 ก็ยังเคย ลองเทียบดูกับ 79 คนของปีนี้แล้วก็คงเห็นแล้วว่าเด็กไว้จุกจะน้อยลงไปทุกที