“ย่างเข้าเดือนหกฝนก็ตกพรำๆ.....”
ยังไม่ถึงเจ็ดโมงเช้า เสียงเพลงจากคลื่นวิทยุชุมชนส่งผ่านมาทางทรานซิสเตอร์ข้างๆ โต๊ะทำงานของผม มันช่างเข้ากับบรรยากาศยามเช้าของวันนี้เสียจริงๆ เดือนมิถุนายนอย่างนี้ ฝนตกแทบจะทุกวัน วันนี้อากาศยามเช้าแสนจะสดชื่น เพราะมีไอฝนจางๆ ปรอยมา ผมนั่งมองกลุ่มเมฆที่ลอยลงต่ำเกือบจรดหลังคาบ้าน ด้วยอารมณ์อันเบิกบาน ทัศนียภาพที่นี่ช่างเป็นกรอบรูปที่มีชีวิตจริงๆ กลิ่นหอมอ่อนๆ จากกาน้ำชาโชยมาประชดผม หลังจากที่ผมหันหลังให้เพื่อไปสูดกลิ่นหอมของไอฝนที่ริมหน้าต่าง
แต่ใครจะรู้ได้ว่าอีกไม่กี่นาทีข้างหน้า จะทำให้ผมหัวเสียได้เกือบทั้งวัน
“พนักงานลางานพร้อมกัน 7 คน” ผมบอกผู้เป็นน้องชายของบิดาผมด้วยเหตุผลเดียวกันคือ “ลาไปเอามื้อ”
อะไรวะ...เอามื้อ ผมยังงงกับคำๆ นี้
เอาเป็นว่าสรุปคือ พนักงานลางานพร้อมกันทีเดียว 7 คน อย่างไรดีล่ะครับ ผมได้ขอร้องให้แบ่งกันลา คำตอบก็คือไม่ได้ ไอ้ครั้นผมจะบอกเด็ดขาดไปว่า “ไม่ได้ หากใครจะลาก็ให้ออกไปเลย” มันก็ดูรุนแรงเกินไป สุดท้ายผมต้องหาพนักงานมาเพิ่มเอง จะโดยวิธีการใดก็แล้วแต่ เพื่อไม่ให้งานของผมสะดุด
ผมถามพนักงานอีกทีว่า ไปเอามื้อ มันคืออะไร คำตอบก็คือ ไปลงแขกปลูกข้าวนั่นเองคราวนี้อาการหัวเสียของผมมันเริ่มบรรเทาลงแล้วสิครับ เพราะว่ามันน่าจะมีอะไรสนุกๆ อยู่ในท้องนา และการไปเอามื้อแน่นอน
เจ้าพงษ์ก็คือหนึ่งในเจ็ดพนักงานที่พร้อมใจกันลางานไปเอามื้อ มันบอกผมว่าที่นามันมีสิบไร่ ต้องเกณฑ์ญาติพี่น้องทั้งหมดมาช่วยกันปลูก (หากไม่อยากเสียเงินจ้าง) ผมก็เลยถามมันไปว่า แล้วทำไมที่บ้านมันไม่จ้างล่ะ คำตอบก็คือ ต้องการประหยัด ก็ต้องเกณฑ์ญาติพี่น้องมาช่วยกันนั่นแหละ ใครที่มีที่นาเจ้าพงษ์ก็ต้องไปช่วยเขาถอนกล้าและดำนา เมื่อถึงคราวที่บ้านของมันจะถอนกล้าดำนาบ้าง ญาติก็จะมาช่วยเอง ส่วนใครที่ไม่มีนา ก็ตัดแบ่งข้าวเปลือกให้ กี่ไต้ (กระสอบ) ก็ว่ากันไป
ง่ายดีนะ ไม่ต้องเสียเงินจ้าง แต่ว่าอย่างนี้ก็ไม่ไหวกับผมนะครับ ก็เล่นลางานพร้อมๆ กันอย่างนี้ ถ้าญาติเจ้าพงษ์มีสักโหลหนึ่งมันมิต้องลางานผมถึง 12 วันเหรอครับ แต่ก็อย่างว่านั่นแหละครับ นี่คือวิถีชาวบ้าน ทำนาคืออาชีพหลัก ส่วนงานของผมคืออาชีพรอง (น้อยใจเล็กๆ) เพราะเจ้าพงษ์บอกว่าตั้งแต่เกิดมาไม่เคยซื้อข้าวกิน ตั้งแต่รุ่นทวด ปู่ ย่า ตา ยาย ก็ไม่เคยซื้อข้าวกิน หากอยากมีข้าวเอาไว้กินก็ต้องปลูกเอง ที่เหลือค่อยเอาไปขาย เอาเป็นว่าปีหน้าผมต้องเตรียมรับมือกับฤดูกาลเอามื้อนี้ให้รัดกุม เพราะนี่เป็นฤดูกาลแรกที่ผมมาอยู่ที่เมืองนี้
ตกเย็นฝนหยุดแล้ว ท้องฟ้าแจ่มใส วันนี้ไม่มีสมาชิกตั้งวงร่ำสุราแต่อย่างใด ผมเลยถือโอกาสนี้เป็นวาระที่น่าจะออกกำลังกายเสียบ้าง ดังนั้นแล้วผมจึงไม่รอช้า รื้อหารองเท้าผ้าใบในตู้เก็บรองเท้ามาสวมใส่ แล้ววิ่งเหยาะๆ ไปมาแถวๆ บ้านเช่า
ไม่น่าจะถึงสามร้อยเมตร วิ่งไปสามรอบ เล่นเอาผมหอบเล็กๆ เหมือนกันครับ จากนั้นการวิ่งก็เปลี่ยนเป็นการเดินไปโดยปริยาย นี่ละครับนานๆ ได้ออกกำลังกายอย่างเป็นทางการเสียที (ปกติบริหารแต่ข้อมือครับ) เดินๆ ไป ผมก็คิดว่าน่าจะลองไปดูที่เขาปลูกข้าวดู สองเท้าพาผมเดินอ้อมไปตามถนนลูกรังหลังบ้านเช่า กลิ่นโคลนสาบควายลอยอยู่ใกล้ๆ จมูกผม แม้มันจะส่งกลิ่นที่ไม่น่าพิสมัยเท่าใดนัก แต่ผมกลับเดินเข้าไปหามัน
ที่นาแถวนี้เพิ่งถูกไถไปหมาดๆ ฝนที่ตกลงมาเมื่อเช้าทำให้ดินอ่อนนุ่ม (ผมสังเกตจากรอยเท้าคุณสุนัขที่ปรากฏเป็นหลักฐาน) บางแปลงที่ยังไม่ถูกไถ ชาวบ้านก็จะเอาควายมาเลี้ยง (ผมก็สังเกตจากปลักที่เกลื่อนอยู่ 4-5 ปลัก) นั่นเองมันจึงเป็นที่มาของ กลิ่นโคลน-สาบควาย มองไปสักสองร้อยเมตรเห็นจะได้ มีกลุ่มคนไม่น่าจะต่ำกว่าสิบคนอยู่ที่นั่น นั่นต้องเป็นการทำนาเอามื้อแน่เลย
ความอยากรู้ของผม ทำให้ผมวิ่งเหยาะๆ ไปตามคันนาแปลงที่ข้าวยังเป็นกล้าอยู่เป็นแผ่นกำมะหยี่ที่เคลื่อนไหวได้ กลิ่นหอมอ่อนของกล้าข้าวกลบกลิ่นโคลนสาบควายไปได้ชะงัดนัก ผมเดินเข้าใกล้กลุ่มคนนั้นเข้าทุกทีๆ พวกเขาหันมามองผมเป็นตาเดียวกัน ก็จะไม่ให้มองได้อย่างไร ในเมื่อผมอยู่ในชุดมันช่างไม่เข้ากับสถานที่เอาเสียจริงๆ
ใครคนหนึ่งส่งเสียงทักทายผม ราวกับว่าคุ้นเคยกันดี (นี่แหละครับอัธยาศัยของชาวบ้าน) ผมบอกเล่าเก้าสิบว่าผมมาวิ่งออกกำลังกาย แล้วก็เลยมาถึงที่นี่ ดูเหมือนทุกคนจะดูยินดีกับการมาเยือนของผม เพราะหลายเสียงได้ชักชวนให้ผมนั่งร่วมวงด้วย จะวงอะไรเล่าครับ เย็นๆ อย่างนี้ ก็น้ำขาวนั่นแหละครับ หาง่ายขายคล่อง (จริงๆ แล้วผิดกฎหมายนะครับ) ดีสำหรับแถวนี้
แต่ละคนอยู่ในชุดยูนิฟอร์มกันทั้งนั้น รองเท้าบู้ทยาวถึงหัวเข่า เสื้อผ้าที่เปรอะไปด้วยดินและโคลน แต่ใบหน้าของพวกเขานั้นต่างยิ้มระรื่น
มาเอามื้อกันหรือครับ ผมยิงคำถาม พร้อมกับรับแก้วที่มีน้ำใสๆ อยู่ด้านใน
“ไม่ได้มาเอามื้อหรอก มา มอ....นอ....ต่างหาก” ตาลุงคนหนึ่งกล่าวมาปนเสียงหัวเราะ
ศัพท์อะไรอีกละครับ มอ...นอ...ผมยังไม่มี คำพูดใดๆ หลุดออกมา
“ก็เหมานายังไงล่ะ....” ตาลุงอีกคนตะโกนมาบ้าง
ผมถึงบางอ้อ...รับจ้างทำนา
ลุงทั้งสิบคนมาจากอีกตำบลหนึ่ง พวกแกเล่าว่าพอถึงฤดูทำนา หลังจากทำนาของตัวเองเสร็จแล้ว ก็จะรวมตัวกันเดินสายรับจ้างทำนาในละแวกนี้ ที่แกใช้ศัพท์ย่อว่า ม.น. นั่นแหละครับ ชาวบ้านจะเรียกว่า “เหมานา” ปีหนึ่งมีสองครั้ง แต่ที่รายได้ดีที่สุดคือช่วงนาปี เพราะทำนากันทุกแปลง ส่วนนาปรังนั้นจะทำแค่พื้นที่ที่มีน้ำเพียงพอเท่านั้น สนนราคาสำหรับ ม.น. เริ่มต้นที่ไร่ละ 900-1500 บาท ส่วนแปลงที่พวกลุงๆ เพิ่งปลูกเสร็จสิ้นไปนั้น มีสิบไร่เหมากัน 13000 บาท ช่วยกันสิบคน สองวันก็เสร็จ เฉลี่ยแล้วจะได้ค่าแรงวันละ 650 บาท ข้าวปลาอาหารก็ห่อมาจากบ้าน หากเจ้าของที่นาบางคนใจดีก็จะมีอาหารหรือขนมเลี้ยง หรืออย่างเจ้าของที่นาแปลงนี้ที่มีน้ำขาวติดไม้ติดมือมาฝากเมื่อทำนาเสร็จ คิดๆ แล้วมากกว่าค่าแรงของผมเสียอีกครับ ถ้าหนึ่งเดือนไปรับจ้างทำนาสักยี่สิบวันก็ได้เงินตั้งหมื่นสาม มันมากเอาการอยู่นะครับ
พระอาทิตย์เริ่มล้าแรงแล้ว แต่ยังไม่ถึงกับมืด ผมช่วยบรรดาคุณลุงทั้งสิบ เก็บจานกับแกล้ม และสัมภาระใส่ตะกร้าเดินเรียงแถวตามกันบนคันนา มุ่งตรงไปยังรถกระบะกลางเก่ากลางใหม่ที่จอดอยู่ริมถนน และถือโอกาสแยกทางกันตรงนั้นเสียเลย ผมวิ่งสลับเดินกลับบ้านเช่า อย่างเชื่องช้า เพราะตอนนี้ดีกรีน้ำขาวมันเริ่มออกอาการเสียแล้ว แต่อย่างหนึ่งที่ผมคิดระหว่างที่กลับบ้าน คือผมชักไม่แน่ใจแล้วสิว่า การที่พนักงานลาพร้อมกันเจ็ดคนนั้น จริงๆ แล้วเขาไปเอามื้อหรือไปมอ...นอ กันแน่ ก็ไอ้ค่าแรงที่ผมจ่าย กับการไป ม.น.นั้นมันต่างกันมากอยู่ละครับ