วิเคราะห์นวนิยายเรื่องเลือดขัตติยาของลักษณาวดี
สุชาดา โมรา
ประวัติและผลงาน
ลักษณาวดี เป็นนามปากกาของ วิมล ศิริไพบูลย์ ซึ่งคนส่วนใหญ่รู้จักกันในนาม ทมยันตี เธอเกิดเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2480 การศึกษานั้นเธอจบระดับอนุปริญญาที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทีแรกเธอเรียนอักษรศาสตร์ แต่ภายหลังก็เปลี่ยนไปเรียนคณะพานิชยศาสตร์และบัญชี ต่อมาเธอก็สมัครไปเป็นครูสอนวิชาภาษาไทยที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ ขณะนั้นเธอเรียนอยู่ปี 3 แล้ว แต่เธอก็ต้องลาออกจากการเรียนเพื่อไปเป็นครู
เมื่อตอนอายุได้ 14 ปี ขณะนั้นเป็นนักเรียนอยู่ชั้น ม.4 เธอได้เขียนเรื่องสั้นเป็นเรื่องแรก เพื่อน ๆ ต่างเห็นว่าดีจึงช่วยกันส่งไปลงพิมพ์ในนิตยสาร ศรีสัปดาห์ จนกระทั่งอายุได้ 19 ปี เธอได้เขียนนวนิยายเป็นเรื่องแรกคือ ในฝัน ใช้นามปากกา โรสลาเลน ได้ลงตีพิมพ์ในนิตยสารศรีสัปดาห์ ปรากฏว่าเป็นที่น่าพอใจผู้คนรู้จักอย่างกว้างขวาง นับตั้งแต่นั้นมาเธอจึงเขียนนวนิยายอย่างจริง ๆ จัง ๆ
วิมล ศิริไพบูลย์ แต่งงานกับ ร.ต.ท.ศรีวิทย์ เจียมเจริญ มีบุตรชาย 2 คน แต่ในภายหลังหย่าร้างกัน แต่ชีวิตเธอกันไม่ได้ผันแปลไปอย่างไร เธอยังคงดำรงชีวิตด้วยการเป็นนักเขียนเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้
นามปากกาที่ใช้
1. กนกเรขา
2. ทมยันตี
3. โรสลาเลน
4. ลักษณาวดี
ผลงานการประพันธ์
รวมเรื่องสั้น : รอยอาลัย
นวนิยาย : ในฝัน ค่าของคน เงา รอยมลทิน ร่มฉัตร สุดหัวใจ เพลงชีวิต คู่กรรม คุณหญิงนอกธรรมเนียบ แผลหัวใจ แนวสุดท้าย สายใจ หนี้รัก รัศมีจันทร์ เลือดขัตติยา แก้วกลางดง ทิพย์ แต่งกับงาน เมียน้อย มงกุฏหนาม อุบัติเหตุ พ่อปลาไหล ทางรัก สายสัมพันธ์ ทวิภพ ดาวเรือง รักที่ต้องมนตรา รอยลิขิต มงกุฏที่ไร้บัลลังก์ บิ๊กเสี่ย ดั่งดวงหฤทัย นายกหญิง สิ้นสวาท บาปพิศวาส สตรีหมายเลขหนึ่ง คู่กรรม 2 สุริยวรรมัน ประกาศิตเงินตรา ตราบาป กฤตยา สะพานดาว ตะวันลา บาป ล่า โซ่สังคมดาวนภา พี่เลี้ยง สองชีวิต เมียน้อย มายา เพลงชีวิต ยอดอนงค์ รักลวง อย่าลืมฉัน ฌาน มณีร้าว สตรีหมายเลขหนึ่ง สุดหัวใจ ไวษณวี แต่งกับงาน ใบไม้ที่ปลิดปลิว เจ้าแม่ อันธการ วันที่รอคอย ถนนสายหัวใจ คลื่นชีวิต แม่ดอกสวะ รัก สำรองรัก อตีตา สมาคมแม่ม่าย จิตา แนวสุดท้าย เถ้ากุหลาบ นางเอก เทพบุตรสุดแสบ ราชาวดี ฯลฯ.
สารคดี : ตามรอยโกโบริ
การนำความรู้จากเรื่องต่าง ๆ มาเขียนเป็นนวนิยาย
ลักษณาวดีมีประสบการณ์มากเนื่องจากเป็นนักเขียนและแต่งนวนิยายมามากมาย จัดว่าเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญทางการเขียนก็ว่าได้ เธอเป็นนักศึกษาค้นคว้าและนำเรื่องราวต่าง ๆ นำมาเรียบเรียงแล้วเขียนเป็นเรื่องราวอย่างสมบูรณ์ จากนั้นจึงพิมพ์จำหน่าย และด้วยความที่เป็นคนมีชื่อเสียงผู้ที่อ่านส่วนใหญ่มักจะเป็นพวกสามัญชนธรรมดาทั่วไปเรื่องจึงถูกในชาวบ้านมากเพราะภาษาที่ใช้เป็นภาษาที่เรียบง่าย อ่านแล้วไม่ต้องตีความอะไรมากนักก็รู้เรื่อง ผู้คนส่วนมากจึงอ่านนวนิยายของเธอมากที่สุด
วิเคราะห์กลวิธีการเขียนเรื่องเลือดขัตติยาของลักษณาวดี
นวนิยายเป็นวรรณกรรมประเภทหนึ่งที่ให้ความบันเทิงแก่ประชาชน การศึกษากลวิธีการแต่งนวนิยายแต่ละเรื่องของนักเขียนแต่ละคนจึงจำเป็นสำหรับการวิเคราะห์เพื่อให้ทราบกระจ่างว่านวนิยายเรื่องนั้นให้คุณค่าอะไรแก่เรา
วิทย์ ศิวะศริยานนท์ ( 2518, หน้า 217 ) กล่าวว่า การวิจารณ์คือการพิจารณาลักษณะของบทประพันธ์ ควรแยกแยะส่วนประกอบที่สำคัญ และหยิบยกออกมาแสดงให้เห็นว่าไพเราะ งดงามเพียงใด วิเคราะห์ความหมายของบทประพันธ์นั้น ๆ ให้ละเอียดงานวิเคราะห์จึงจะได้ชื่อว่าเข้าถึงแก่นและเจตนคติของเรื่องโดยแท้จริง
วิเคราะห์องค์ประกอบที่สำคัญของนวนิยายเรื่องเลือดขัตติยา
โครงเรื่อง
ก่อนถึงชมพูทวีป จะมีเมืองใหญ่น้อยถึง 5 แคว้นคือ ยโสธร เขมรัฐ รัตนบุรี ศรีนคร และยะวาสี ซึ่งเขมรัฐและยโสธรถือว่าเป็นเมืองใหญ่ ที่มีอำนาจทางการเมืองและทางทหารทัดเทียมกัน แต่ยโสธรมีความมั่งคั่งมากกว่าและมีความอุดมสมบูรณ์มากกว่าทำให้เขมรัฐหมายที่จะรวมเมืองยโสธรไว้เป็นเมืองเขมรัฐ จนทำให้เกิดสงครามระหว่างทั้งสองแคว้นอยู่หลายครั้ง
ยโสธรมีเจ้าหลวงนรอินทร์ มีอินทรเสนาบดีกลาโหมที่ช่วยกันบัญชาการรบอย่างเคียงบ่าเคียงไหล่ จนทำให้กองทัพของเขมรัฐที่เข้ามารุกรานยโสธรต้องพ่ายกลับไปทุกครั้ง
ในวันที่เจ้าหลวงนรอินทร์ชนะศึกสงครามเป็นวันเดียวกับที่พระมเหสีภาณุประภัสให้กำเนิดพระธิดาซึ่งมีพระสิริโฉมงดงาม ให้ชื่อว่าเจ้าหญิงทิพยรัตน์ดารากุมารี ภาณุประภัสผู้เป็นแม่รู้สึกผิดหวังเล็กน้อยที่ให้กำเนิดธิดา เพราะใจนางต้องการจะมีลูกชายเพื่อสืบทอดราชบัลลังก์
ในวันที่พระธิดามีพระชนมพรรษาครบ 1 เดือนนั้นก็มีงานพิธีสถาปนาเจ้าชายอิทธิบดีพระอนุชาของเจ้าหลวงนรอินทร์กับศรีมาตา ผู้เป็นภรรยา ได้พาสิทธิประวัติวัย 3 ปี ถวายพระพรเช่นเดียวกับนันทวดีพี่สะไภ้ พระมเหสีของพี่ชายต่างมารดาที่เสียชีวิตไปแล้วเมื่อสิบปีก่อน ของเจ้าหลวงนรอินทร์ได้พาพระธิดาแขไขจรัส พระธิดาวัย 4 ปีมาร่วมงานด้วยเช่นกัน
เมื่อถึงเวลาสถาปนาพระนามและรับขวัญเจ้าหญิงน้อย เจ้าหลวงนรอินทร์ได้ไปนั่งเคียงข้างภาณุประภัส พระธิดานอนในเปลขนาดใหญ่ มีพระนมคอยดูแลอยู่ใกล้ ๆ อิทธิบดี ศรีมาตา และสิทธิประวัตินั่งอยู่อีกด้าน โดยมีนันทวดี และแขไขจรัสนั่งอยู่ด้านหลัง นันทวดีมองภาณุประภัสอย่างอิจฉาริษยา
หลังจากเสร็จสิ้นพิธีการนันทวดีกลับไปยังตำหนักด้วยความหงุดหงิดโดยมีวิกรมครูคนสนิทของเธอเดินตามไปด้วย ทั้งคู่ต่างก็มีจิตริษยาด้วยกันจึงทำให้พูดจากันอย่างถูกคอ
เมื่อเจ้าหญิงมีพระชนมพรรษาครบ 1 ปี เจ้าหลวงนรอินทร์ก็ถูกวางยาพิษจนสิ้นพระชนม์ อย่างกระทันหัน เหล่าเสนาบดีจึงมีมติเห็นชอบให้มีการสถาปนาเจ้าชายอิทธิบดี องค์รัชทายาทอันดับต่อมาขึ้นครองบัลลังก์ เป็นเจ้าหลวงองค์ที่ 7 แห่งอาณาจักรยโสธร ภาณุประภัสรู้สึกเศร้าใจเป็นอย่างมากที่เห็นอิทธิบดีกับศรีมาตาขึ้นครองบัลลังก์เคียงคู่กัน และยังจะต้องย้ายมาอยู่ที่วังหลวงแทนที่ตัวเองอีกด้วย ในขณะที่นันทวดีแอบยิ้มอย่างสมน้ำหน้า
อินทรจับตัวคนร้ายที่วางยาพิษเจ้าหลวงได้แต่ก็ไม่สามารถสาวถึงตัวผู้บงการได้ เนื่องจากนักฆ่าได้กินยาพิษฆ่าตัวตายในขณะที่ถูกคุมขังอยู่ อินทรรู้สึกเสียใจมากที่ไม่สามารถเอาผิดผู้บงการได้จึงได้ลาออกจากราชการ และได้ไปหาภาณุประภัสที่วังหลวงซึ่งมีลักษณะเหมือนบ้านขนาดใหญ่ ตัวตำหนักค่อนข้างเก่า ดูเรียบง่ายไม่หรูหรา อินทร มองแล้วถอนใจในชะตากรรมของแม่ลูกตกยาก และบอกว่าเมื่อใดที่พระองค์มีเรื่องให้ช่วยเมื่อนั้นตนเองจะกลับมา
14 ปีต่อมาเมื่อเจ้าหญิงแขไขจรัส สิทธิประวัติ และดารากุมารี เติบโตขึ้นเป็นหนุ่มเป็นสาว ทั้งสามได้เข้าเรียนหนังสือในพระราชวังหลวง ซึ่งมีเพียงดารากุมารีเพียงคนเดียวที่ใส่ใจในด้านการเรียน เพราะสิทธิประวัติค่อนข้างจะเป็นคนขี้เกียจรักสบาย ส่วนแขไขจรัสนั้นก็เอาแต่รักสวยรักงาม เพราะมั่นใจว่าตนเองต้องได้เป็นเจ้านางหลวงอย่างแน่นอน
วันหนึ่งเจ้าหญิงดารากุมารีได้ชวนนางกำนัลออกมาเล่นน้ำด้วยกัน คือจันดีและมาลา ทั้งสามออกไปเล่นน้ำที่หลังวังและหาลู่ทางนำเรือออกไปเที่ยวที่เกาะร้าง แต่ที่นั่นมีมหาดเล็กเฝ้าอยู่จึงไม่สามารถออกไปได้ จึงชวนนางกำนัลทั้งสองไปเล่นในสวน ขณะนั้นดารากุมารีก็ได้เอามือล้วงเข้าไปในปากของรูปปั้นอย่างไม่ตั้งใจแล้วก็เจอแหวนทองวงหนึ่งซึ่งขนาดของแหวนหลวมมากน่าจะเป็นแหวนของผู้ชาย แล้วก็เดินหาตามรูปปั้นอีกเรื่อย ๆ ว่ามีอีกหรือเปล่า จนไม่รู้ว่าเดินมาถึงไหนแล้ว บริเวณนั้นเป็นริมทะเลสาบซึ่งไม่มีทหารรักษายามอยู่ มีแต่เรือที่ผูกอยู่ลำเดียวเธอจึงพายเรือออกไป แต่ทำยังไงเรือก็ไม่ได้พายง่ายอย่างที่คิดกลับหมุนไปหมุนมาทำท่าว่าจะจม จนในที่สุดก็สามารถประคองเรือออกไปได้ นางกำนัลทั้งสองก็วิ่งตามให้เจ้าหญิงหันหัวเรือกลับแต่เธอก็ไม่ยอมกลับ
ขณะเดียวกันกับที่อโณทัยบุตรชายคนเดียวของนายอินทร ซึ่งเติบโตเป็นหนุ่มวัย 19 ปีได้นอนเล่นอยู่ที่บนเกาะแห่งนั้น เขาไหวตัวเมื่อได้ยินเสียงของดารากุมารี เขามองอย่างตกใจและร้องห้ามแต่ก็ไม่ทันเพราะเรือของกุมารีได้เข้าไปในแอ่งน้ำวนเสียแล้ว จึงทำให้เรือล่มและดารากุมารีก็กำลังจะจมน้ำ อโณทัยจึงเข้าไปช่วย ทำให้ทั้งคู่ปิ้งรักกันในตอนนั้น
ดารากุมารีเดินตามอโณทัยไปจนถึงเสื่อที่เขาปูนอนอยู่ตรงนั้น เธอเห็นว่าที่นี่สวยดี อโณทัยโยนเสื้อคลุมให้ดารากุมารี เธอจึงหลบไปนั่งที่พงหญ้า แล้วค่อย ๆ ถอดเสื้อออกแล้วเอาเสื้อคลุมของอโณทัยมาใส่เพื่อกันโป๊ อโณทัยถามว่าดารากุมารีเป็นใครแต่เธอก็ไม่ตอบ อโณทัยผึ่งเสื้อให้ดารากุมารีกับกองไฟจนแห้ง ดารากุมารีจึงเปลี่ยนชุดเป็นชุดเดิม
อโณทัยคาดคั้นเอาความจริงว่าดารากุมารีเป็นใคร แต่เธอก็ไม่ยอมตอบจนในที่สุกอโณทัยก็คิดได้แล้วบอกว่าดารากุมารีเป็นนางกำนัล ดารากุมารีจึงโล่งอกเพราะกลัวว่าความจริงจะถูกเปิดเผย จากนั้นก็พายเรือกลับไปที่วังตามลำพัง
เมื่อสิทธิประวัติเข้าโรงเรียนทหารก็ได้พบกับอโณทัย และเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกัน ทั้งคู่สนิทกันมาก อโณทัยมักจะพูดถึงดารากุมารีในนามนางกำนัลคนหนึ่งของตำหนักอดีตเจ้านางอยู่เสมอโดยที่ไม่รู้ว่านั่นคือเจ้าหญิง
ที่ตำหนักอดีตเจ้านางได้เรียกตัวอินทรมาสอนการปกครองแก่ดารากุมารี ทั้ง ๆ ที่เธอไม่ใคร่ที่จะเรียนในตอนนั้นเลย แต่เธอก็ตั้งใจเรียนอย่างเต็มที่ และอินทรก็ชื่นชมในความฉลาดของเจ้าหญิงด้วย
แคว้นเขมรัฐประสบปัญหาภัยแล้งจึงอยากที่จะครอบครองดินแดนอุดมสมบูรณ์อย่างยโสธร และได้มอบหมายให้เจ้าชายชัยยันตร์พระโอรสไปสืบดูลาดเลาด้านการทหารที่ยโสธร โดยได้แจ้งข่าวให้เจ้าหลวงอินทรบดีว่าเจ้าชายรัชทายาทแห่งเขมรัฐจะเสด็จไปดูงานเกษตร การปกครอง และโยเฉพาะด้านการทหาร เจ้าหลวงอิทธิบดีจึงประชุมกับข้าราชบริพาล และสรุปได้ว่าครั้งนี้เป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปีที่มีตัวแทนจากเขมรัฐมาเยือน และในฐานะเจ้าบ้านจึงจัดการต้อนรับ
ดารากุมารีไปพบอโณทัยบนเกาะในช่วงวันหยุดเรียน ทั้งสองมีความสุขมากที่ได้พบกัน แต่อโณทัยบอกว่าเขาคงหาโอกาสมาพบเธอได้ยากขึ้นเพราะเขาต้องไปเป็นทหาร
อโณทัยคุยกับสิทธิประวัติอยู่หลายครั้งเกี่ยวกับเรื่องของดารากุมารี และเจ้าชายสิทธิประวัติก็คิดว่าชื่อของนางกำนัลคนนั้นเหมือนน้องสาวของตนเองเหลือเกิน เมื่ออโณทัยสำเร็จการศึกษาได้รับตำแหน่งนักเรียนการทหารยอดเยี่ยม สีหศักดิ์และมันทราต่างพากันอิจฉาอโณทัย และทั้งคู่ก็คิดจะทำตัวให้เหนือกว่าอโณทัยด้วยการไปสมัครคัดเลือกราชองครักษ์ประจำวังหลวง
แต่ทั้งสองคนต้องริษยาอโณทัยมากว่าเก่าเนื่องจากเสนาบดีกลาโหมได้มาพบอโณทัยเพื่อให้เข้าไปรับราชการในตำแหน่งราชองครักษ์ ทำให้อินทรผู้เป็นพ่อปรื้มใจอย่างมาก
ทางด้านดารากุมารี เจ้าหลวงอิทธิบดีได้สถาปนาให้เจ้าหญิงเป็นรัชทายาทอันดับที่ 3 และจะจัดงานสถาปนาเฉลิมฉลองพระอิสริยยศ
อโณทัยเตรียมตัวไปพบดารากุมารีบนเกาะพร้อมกับชุดราชองครักษ์อย่างเต็มยศเพื่อที่จะอวดให้เธอเห็นว่าเขาได้เป็นทหารที่มีเกียรติคนหนึ่ง เมื่อดารากุมารีไปพบอโณทัย แต่เธอกลับรู้สึกไม่สบายใจเมื่อได้รู้ว่าอโณทัยต้องไปร่วมงานวันสถาปนาอย่างแน่นอน
ดารากุมารีมาพบอโณทัยอีกครั้งเพราะหวังว่าอโณทัยจะมาตามสัญญา ขอสัญญาว่าไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นเขาจะต้องมาพบเธออีก แต่ว่าอโณทัยไม่มา เมื่อดารากุมารีกลับมาที่วังก็พบอโณทัยที่คอกม้าเขาคำนับเธอด้วยความนอบน้อมอย่างเป็นทางการ ดารากุมารีเหลือบมองอโณทัยด้วยความน้อยใจ แต่ก็ไม่มีใครสังเกตเห็นแววตาคู่นั้น
ไชยันตร์มาอยู่ยโสธรระยะหนึ่งและได้ขี่มาชมรอบ ๆ เมือง แขไขจรัสคอยติดตามไชยันตร์อย่างใกล้ชิดตลอดเวลา เพราะชื่นชอบในตัวเขาผิดกับสิทธิประวัติพี่ชาย ชัยยันตร์สืบเรื่องราวเกี่ยวกับยโสธรได้ระยะหนึ่งก็ปรึกษากับเสนาบดีเขมรัฐว่าอยากได้ผืนแผ่นดินที่ยโสธรยึดไปคืน แต่พอประชุมกับเสนาบดีและสิทธิประวัติแห่งยโสธรแล้วก็ไม่เป็นผล ชัยยันตร์รู้สึกเสียหน้าจึงแก้เกมด้วยการบอกกับสิทธิประวัติว่าจะเยี่ยมหน่วยรบพิเศษของอโณทัย และได้ทดสอบฝีมือกับอโณทัย จากนั้นก็ใช้กลโกงทุกวิถีทางจนอโณทัยบาดเจ็บ
เมื่อดารากุมารีรู้ข่าวว่าอโณทัยบาดเจ็บจึงได้ไปเยี่ยมที่ตำหนักสิทธิประวัติอย่างเป็นห่วง แต่สิทธิประวัติบอกว่าอโณทัยรักษาตัวอยู่ที่บ้านดารากุมารีจึงไปเยี่ยมอโณทัยที่บ้านของอินทรซึ่งเป็นอาจารย์ของเธอ ทำให้อโณทัยทำตัวไม่ถูกเมื่อพบกับดารากุมารี เมื่อดารากุมารีเข้าไปดูแผลของอโณทัยทำให้ทั้งคู่รู้ถึงความใกล้ชิดกลับมาอีกครั้ง
วันหนึ่งไชยันตร์ไปเยี่ยมดารากุมารีที่ตำหนักทำให้แขไขจรัสเชิญไชยันตร์ไปที่ตำหนักบ้างทำให้เจ้าหลวงไม่สบายใจจึงเรียกสิทธิประวัติมาพบ และสั่งให้สิทธิประวัติมาดูแลแขไขจรัสมากกว่านี้ในฐานะคู่หมั้น ส่วนดารากุมารีถ้าอภิเษกกับไชยันตร์ไปก็จะเป็นการดีของทั้งสองแคว้น
ต่อมามติเสนาบดีตกลงเป็นเอกฉันท์ว่าดารากุมารีต้องแต่งงานกับไชยันตร์จนทำให้ดารากุมารีร้อนใจ อโณทัยจึงส่งม้าเร็วไปปล่อยข่าวว่าแขไขจรัสเป็นผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินผืนนั้น ทำให้ไชยันตร์ต้องแต่งงานกับแขไขจรัส และดูเหมือนว่าแขไขจรัสก็พอใจในสิ่งนั้นด้วย และก็ย้ายไปอยู่ที่เขมรัฐ
อโณทัยนัดดารากุมารีไปที่เกาะร้างอีกครั้ง ดารากุมารีก็ดีใจอย่างมากจึงรีบไปหาอโณทัยทันที แต่เมื่อไปถึงกลับพบว่าอโณทัยพาสิทธิประวัติมาด้วยและเปิดโอกาสให้ทั้งคู่คุยกันทำให้ดารากุมารีไม่ค่อยพอใจนัก แต่ที่อโณทัยต้องทำเช่นนั้นก็เพราะเขาต้องการเห็นคนที่เขารักมีความสุข อยู่กับคนที่ดีสมฐานะ ทำให้ดารากุมารีต้องหมั้นหมายกับเจ้าชายสิทธิประวัติ อโณทัยรู้สึกทั้งดีใจและก็เสียใจในคราวเดียวแต่นั่นก็เป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับดารากุมารีแล้ว
สิทธิประวัติป่วยเป็นโรคประจำตัวอยู่แล้ว คราวนี้อาการเกิดทรุดหนักขึ้นจนแพทย์หลวงบอกว่าจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน สิทธิประวัติรู้ตัวว่าอยู่ได้ไม่นานจึงเรียกอโณทัยมาพร้อมกับดารากุมารี และพูดด้วยเสียงที่หอบหนักและพูดในทีว่ารู้ว่าทั้งคู่รักกัน และฝากให้อโณทัยดูแลดารากุมารีด้วยจนกระทั่งสิ้นพระชนม์
เมื่อสิทธิประวัติสิ้นพระชนม์ไปแล้วเสนาบดีก็ตั้งสภาประชุมเกี่ยวกับรัชทายาท ทุกคนเห็นด้วยกับอโณทัยว่าดารากุมารีควรได้เป็นรัชทายาทอันดับ 1
ต่อมาแขไขจรัสและไชยันตร์เดินทางกลับมายโสธรอย่างเร่งรีบเพื่อหวังว่าตนเองจะได้เป็นเจ้านางหลวงและเจ้าหลวงคนต่อไปของยโสธร ค่ำคืนนั้นเสนาบดีทุกคนจึงถูกปลุกขึ้นมาเพื่อประชุมเกี่ยวกับรัชทายาท และในคืนนั้นภาณุประภัสสั่งให้พระนมและนางกำนัลแต่งองค์ทรงเครื่องดารากุมารีอย่างเต็มยศและเข้าไปในวังหลวงอย่างเร่งรีบ พบรุ่งสางเสียงมโหรีก็ดังขึ้นอย่างสมเกียรติ ดารากุมารีเดินเข้ามาในห้องท้องพระโรง เหล่าเสนาธิการต่างพากันคำนับ เจ้าหลวงจึงได้สถาปนาเจ้าหญิงทิพยดารากุมารีเป็นรัชทายาทอันดับ 1 แห่งยโสธรนับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา
แขไขและไชยันตร์มาถึงวังหลวงในขณะที่พิธีสถาปนาเสร็จสิ้นแล้ว ทำให้ทั้งคู่ไม่พบใจมากแต่ก็ทำอะไรไม่ได้
ต่อมาดารากุมารีก็ได้เข้าร่วมพัฒนาประเทศและเสวนาเรื่องเกี่ยวกับการเมืองตลอดทุกครั้งที่มีประชุม พบปะกับคณะฑูตอยู่ตลอดทำให้เสนาบดีพึงพอใจในตัวรัชทายาทอย่างมาก ในขณะเดียวกันที่ไชยันตร์คิดก่อการกบฏอยู่ตลอดเวลา
อโณทัยส่งจดหมายถึงดารากุมารีอยู่ตลอดเวลา ส่วนดารากุมารีก็ส่งเช่นกัน ทั้งคู่รักกันแต่ก็ไม่อาจที่จะคิดอะไรได้มากกว่านี้เพราะฐานะของทั้งคู่ไม่เหมาะสมกัน
ไชยันตร์ลักพาตัวเสนาบดีคลังเข้าป่าไป อโณทัยติดตามไปช่วยไว้ทันแต่กลับถูกใส่ร้ายหาว่าเป็นคนคิดจะฆ่าเสนาบดีคลัง และขัดพระราชเสาวนีย์ของเจ้าหญิงรัชทายาททำให้ถูกควบคุมตัวไปกุมขัง ต่อมาก็ถูกกล่าวหาว่าคิดการณ์ไม่ดีต่อราชบัลลังเพราะได้ไปพบจดหมายของอโณทัยที่เขียนถึงดารากุมารีจึงทำให้ต้องโทษถึงประหารชีวิต แต่อโณทัยได้ขอร้องดารากุมารีว่าขอให้ประหารตนเสีย เพื่อให้ไม่เป็นเยี่ยงอย่างและให้ผู้อื่นเกรงขาม และขอร้องอีกเรื่องก่อนที่จะมีการประหารคือขอจับกบฏไชยันตร์ให้ได้เสียก่อน
ต่อมาได้มีเสนาบดีและฑูตจากแคว้นต่าง ๆ มาประชุมที่ยโสธร ยกเว้นเขมรัฐเพราะไชยันตร์ถูกจับข้อหากบฏจึงถูกตัดสิทธิ์ในครั้งนี้ ผลการประชุมลงมติเป็นเอกฉันท์แล้วว่าจะให้ดารากุมารีเป็นผู้นำแห่งสมาพันธ์และดำรงตำแหน่งเจ้านางหลวงแห่งยโสธร
อโณทัยขอร้องดารากุมารีอีกเรื่องหนึ่งคือก่อนที่จะประหารตน ตนขอดูธงของยโสธรขึ้นสู่ยอดเสาในวันสถาปนาเป็นครั้งสุดท้าย ขอให้ตนเองได้ดูความสำเร็จของคนที่รักด้วย
วันสถาปนาดารากุมารีสวมชุดสีดำ สีหน้าไม่ยินดียินร้ายใด ๆ ทั้งสิ้นทำให้ดูน่าเกรงขามยิ่งนัก เดินขึ้นนั่งบัลลังก์ช้า ๆ เสียงมโหรีดังขึ้นพร้อม ๆ กับธงที่กำลังจะสู่ยอดเสา ฝ่ายอโณทัยที่เดินเข้าสู่ลานประหารนั้นหยิบแหวนวงหนึ่งขึ้นมาแนบที่อก สีหน้าของเสนาบดีหลายคนรู้สึกเสียใจแต่ก็ต้องข่มใจแล้วก็ประหารอโณทัยด้วยการยิงเป้าหลังจากที่ธงยโสธรขึ้นสู่ยอดเสาพร้อมกับเสียงพลุที่ดังขึ้น
แก่นของเรื่อง
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สมมุติขึ้นตามจินตนาการของผู้เขียน ซึ่งกล่าวถึงเรื่องราวหลายสิ่งหลายอย่างดังนี้
1. ความรักที่ไม่อาจจะสมหวังได้
2. อำนาจที่ใคร ๆ ก็แสวงหา
3. การเมืองการปกครอง
4. ความรักที่มีต่อประเทศชาติอย่างจงรักภักดี
5. การแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นในราชวงศ์
6. ความกตัญญู
7. การรบ
การดำเนินเรื่อง
การดำเนินเรื่องในเลือดขัตติยานั้นลักษณาวดีใช้กลวิธีการนำเสนออย่างการเล่าเรื่องราวไปเรื่อย ๆ และสลับฉากระหว่างความสำคัญของแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นตอนนางเอกกับพระเอก ตอนพระเอกกับตัวร้าย ตอนนางเอกกับตัวร้าย เป็นต้น ซึ่งนวนิยายเรื่องนี้มีลักษณะสำคัญ ๆ อย่างนวนิยายโดยทั่ว ๆ ไปดังนี้
1. การดำเนินเรื่องเป็นไปตามขั้นตอนและลำดับเวลาก่อนหลัง
2. การดำเนินเรื่องเป็นไปตามจินตนาการและการผสมผสานการปกครองบ้านเมือง
ฉาก
ฉากคือ สถานที่ที่สร้างสีสรรให้แก่นวนิยายทำให้ตัวละครสามารถเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ที่กำหนดขึ้นได้ ซึ่งผู้ประพันธ์ได้พยายามวาดชีวิตของคนในเมืองนั้น ๆ ไว้อย่างน่าตื่นเต้น เพราะเมืองยโสธรในเรื่องนั้นเกิดจากจินตนาการล้วน ๆ ที่ผู้ประพันธ์จงใจสร้างขึ้นอย่างน่าสนใจ และมีฉากสำคัญ ๆ ดังนี้
1. การใช้ฉากธรรมชาติ
1.1 การบรรยายสถานที่ส่วนใหญ่มักจะกล่าวถึงสิ่งที่จินตนาการออกมาเป็นส่วนใหญ่ อย่างเช่น พระราชวัง เกาะร้าง หรือแม้แต่แม่น้ำที่เป็นวัง น้ำวน เป็นต้น
1.2 การใช้ฉากไปตามจินตนาการ
1.3 การใช้ฉากที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว การผจญภัย เช่นตอนที่แขไขจรัสเดินทางไปอยู่เมืองเขมรัฐหลังจากที่อภิเษกไปแล้ว
1.4 การใช้ฉากที่เกี่ยวกับการรบ อย่างตอนต้นเรื่องที่เจ้าหลวงคนที่ 6 ได้ออกรบกับเสนาบดีที่เก่งกาจจนชนะศึก
2. การใช้ฉากในการดำเนินเรื่อง
2.1 การบรรยายถึงฉากก่อนที่จะเสนอตัวละคร
2.1.1 การใช้สถานที่ก่อนที่จะดำเนินไปถึงตัวละคร เช่น ฉากท้องพระโรง พระราชวัง เป็นต้น
2.1.2 ใช้ธรรมชาติเป็นฉาก เช่น แม่น้ำ ภูเขา ดอกไม้ เป็นต้น
2.1.3 ใช้วิธีการบรรยายบรรยากาศของเหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น
2.2 แสดงฐานะ
2.2.1 การแสดงถึงฐานะของเจ้าหญิงกับทหาร
2.2.2 ความร่ำรวยกับความจน
2.2.3 แสดงรสนิยมของแต่ละคน
2.3 กลวิธีในการเปลี่ยนฉาก โดยเปลี่ยนจากเหตุการณ์หนึ่งไปยังอีกเหตุการณ์หนึ่งด้วยวิธีการที่แยบยล อาศัยบทเปิดปิดฉากด้วยบทสนทนา
ตัวละคร
ตัวละคร หมายถึง ผู้ประกอบพฤติกรรมตามเหตุการณ์ในเนื้อเรื่องเพื่อให้เรื่องนั้นดำเนินไปตามเค้าโครงเรื่องอย่างสมบูรณ์และดีที่สุด
กุหลาบ มัลลิกะมาส ( 2519, หน้า 86 ) ได้กล่าวไว้เกี่ยวกับเรื่องตัวละครว่า ตัวละคร คือผู้มีบทบาทในเรื่อง ตัวละครจะเป็นคนหรือสัตว์หรือเทียบเท่าคนก็ได้ ( มีผู้แต่งให้สัตว์ ต้นไม้ ดอกไม้ ภาชนะ ฯลฯ เป็นตัวละครคิดและทำอย่างคน เช่น การผจญภัยของเหรียญบาท เป็นต้น ) ในศิลปแห่งวรรณคดี ตัวละครในเรื่องมีความสัมพันธ์กับผู้สร้างยิ่ง คือผู้แต่งเป็นผู้สร้างตัวละครในเรื่องอย่างแท้จริงโดยที่ได้
- ให้ชื่อ กำหนดรูปร่างลักษณะตัวละครไว้
- นิสัยใจคอ บุคลิกภาพ
- กำหนดบทบาท
ตัวละครในเรื่องต้องเหมือนหรือใกล้เคียงกับมนุษย์ แต่ไม่ใช่ลอกเลียนเรื่องราวและบอกเรื่องของผู้อื่นมาจนหมดสิ้น มิเช่นนั้นจะกลายเป็นบุคคลจริงในจดหมายเหตุ ในชีวประวัติ หรือในพงศาวดารทางประวัติศาสตร์ไป
เมื่อพิจารณาการสร้างตัวละครในเรื่องเลือดขัตติยาของลักษณาวดีแล้วพบว่า ผู้ประพันธ์ต้องใช้จินตนาการสูงในการสร้างเมืองขึ้นมา สร้างสภาพภูมิประเทศ เรื่องราวของสิ่งที่เป็นธรรมชาติที่หลากหลาย ซึ่งการสร้างตัวละครของลักษณาวดีเกี่ยวกับนวนิยายเรื่องนี้นั้นน่าจะสังเกตได้ดังนี้
1. ลักษณะของตัวละคร
- อโณทัย เป็นทหารที่จงรักภักดีต่อดารากุมารีมากกว่าใครเพราะเป็นคนที่รักดารากุมารีอย่างแท้จริง
- ดารากุมารี เป็นเจ้าหญิงที่วางตัวง่าย ๆเป็นกันเองต่อทุกคน รักเรียน ใฝ่ดี
- แขไขจรัส เป็นเจ้าหญิงที่มีใจริษยาผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา คิดว่าตัวเองฉลาดแต่ก็ผิดถนัด
- ไชยันตร์ เป็นคนที่ค่อนข้างเจ้าบงการ ชอบวางแผน หวังที่จะยึดอำนาจของดารากุมารีเพราะเห็นว่าเป็นผู้หญิง แต่ก็ถูกอโนทัยใช้ความฉลาดหลักแหลมกำจัดออกไปให้พ้นทางของเจ้าหญิง
- สิทธิประวัติ เป็นคนดีมีน้ำใจ แต่ขี้โรค รักในตัวแขไขจรัสและดารากุมารีอย่างน้องสาว
- นันทวดี เป็นแม่ที่รักลูกมากแต่ก็รักในทางที่ผิดชอบให้ลูกเป็นเหมือนตนคือชอบริษยาผู้อื่น
- ภาณุประภัส เป็นแม่ที่รักลูกมาก อยากให้ลูกได้ดี สอนลูกอย่างคนที่มีคุณธรรม
2. กลวิธีการเสนอตัวละคร
2.1 ผู้เขียนบรรยายเอง
2.2 ผู้เขียนบรรยายความรู้สึกของตัวละครเอง
2.3 บรรยายความรู้สึกที่มีต่อชาติ
2.4 บรรยายความรู้สึกที่มีต่อความรัก
3. ใช้ตัวละครวิจารณ์ตัวละครด้วยกัน
บทสนทนา
นวนิยายทุกเรื่องผู้เขียนจะกำหนดให้มีตัวละครเพื่อที่จะช่วยย่นย่อเนื้อความ แต่จะไปช่วยเสริมในบทพูดเพื่อให้ตัวละครนั้น ๆ ได้แสดงพฤติกรรมออกมาแตกต่างกัน แสดงความรู้สึกนึกคิดของตัวละครนั้น ๆ ได้อย่างเห็นได้ชัดว่าบทพูดแบบนี้เป็นบทโกรธหรือดีใจ เสียใจ บทรัก บทชื่นชม หรือแม้แต่บทที่แสดงถึงความกล้าหาญซึ่งแสดงออกมาจากบทพูดด้วย
นอกจากนั้นผู้เขียนยังใช้บทสนทนาของตัวละครช่วยเปลี่ยนฉากต่าง ๆ ให้เปลี่ยนไปตามใจผู้เขียนและช่วยในการเปลี่ยนแนวการเขียนให้มากมายอีกด้วย เช่น
1. เพื่อช่วยในการดำเนินเรื่องแทนการบรรยาย
2. ช่วยแนะนำตัวละคร
3. แสดงบุคลิกของตัวละคร
4. ช่วยเปลี่ยนแปลงบรรยากาศเป็นการบรรยาย
5. ดึงดูดความสนใจของผู้อ่าน
6. สร้างความสมจริง ทำให้ตัวละครมีลักษณะเหมือนคนจริง ๆ
กุหลาบ มัลลิกะมาส ( 2519,หน้า 90 ) กล่าวว่า ประโยชน์ของบทสนทนาในนวนิยายไว้ว่า
1. ช่วยในการดำเนินเรื่องแทนการบรรยายของผู้แต่ง โดยเฉพาะบทสนทนาคือการดำเนินเรื่องโดยตรง
2. เพื่อช่วยให้รู้จักตัวละครมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบุคลิก หน้าตา ลักษณะท่าทาง
3. ช่วยให้วิธีการประพันธ์ไม่ซ้ำซาก
4. สร้างความสมจริงให้กับตัวละครและนวนิยาย
5. ทำให้บทประพันธ์น่าอ่าน น่าสนใจ และมีชีวิตชีวา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บทสนทนาที่คมคาย มีอารมณ์ขัน หรือพูดได้ถูกต้องตามฐานะของตัวละคร
ในการวิจารณ์วรรณคดีหรือนวนิยายนั้น ผู้วิจารณ์ต้องพิจารณาบทสนทนา หรือบทพรรณาอธิบายตัวละครควบคู่ไปด้วยกัน ว่าผู้แต่งนิยมวิธีการอย่างไรมากน้อยเพียงใด บทสนทนามีความสำคัญอย่างไรกับเรื่อง คำถามเหล่านี้จะเป็นแนวทางให้ประเมินค่าได้อย่างมีเหตุผล มีหลักเกณฑ์
บทสนทนาในนวนิยายเรื่องเลือดขัตติยา ของลักษณาวดีมีลักษณะคล้ายกับนวนิยายเรื่องอื่น ๆ เพราะนวนิยายเรื่องนี้นั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับแนวพาฝัน บ้านเมืองในเรื่องไม่มีตัวตนจริง ๆ แต่ก็ยังบ่งบอกถึงการสร้างเมืองซึ่งมีลักษณะเป็นแม่น้ำล้อมเมือง เหมือนกับกรุงเทพฯ หรืออยุธยา บทสนทนาส่วนใหญ่จะกึ่ง ๆ ระหว่างคำราชาศัพท์กับคำปกติ ( คำสามัญ ) แต่ก็ไม่มีผลต่อการอ่านเพราะเรื่องนี้ไม่ต้องอาศัยการตีความมากนัก และลีลาของเรื่องก็ขึ้นอยู่กับการพูดของตัวละครเป็นส่วนใหญ่ ทำให้เรื่องนี้มีความสนุกมากยิ่งขึ้น
ท่วงทำนองการเขียนของลักษณาวดี
การใช้คำ
คำส่วนใหญ่ที่ใช้มักจะเป็นคำราชาศัพท์เพราะเรื่องนี้กล่าวถึงเรื่องราวของเจ้าหญิงกับสามัญชน เช่น
ข้าบาทมีหลักฐานเพิ่มเติมอีก
ขอประธานพระราชานุญาติ ข้าบาทมีพยานสำคัญอีกคน
ข้าบาทของทูลอนุญาตเบิกตังเจ้าคุณคลัง
ขอประทานอภัย แต่หม่อมฉันเผลอตัวเพราะความบังอาจโอหังของไอ้นักโทษนี่
ข้าบาทลืมตัวมักใหญ่ใฝ่สูง อยากได้ใคร่ดีในสิ่งที่ไม่คู่ควร ข้าบาทสมควรตาย
ทรงพระกรุณา
หม่อมฉันขอถวายงานเพื่อพระองค์เจ้าหญิงรัชทายาท
กระหม่อมมิอาจเอื้อม
เพื่อพระองค์แล้วกระหม่อมขอถวายชีวิต
ข้าบาทมิควรจะถือวิสาสะยืนลอยหน้าลอยตาพูดกับพระองค์ในที่นี้ มันเป็นการล่วงเกินที่สูงมิใช่ที่เลย
เสด็จแม่
คำที่เห็นข้างต้นจากบทสนทนานี้ จะเห็นได้ว่าเมื่อผู้แต่งแสดงภาพลักษณ์ออกมาถึงเรื่องราวของคนในวังโดยสมมุติขึ้นก็จะพิถีพิถันถ้อยคำให้ใกล้เคียงกับคำราชาศัพท์ บางคำก็นำมาจากคำราชาศัพท์โดยตรง และบางคำก็มีการดัดแปลงไปบ้างเพื่อที่คนอ่านจะได้เข้าใจง่าย
สำนวนภาษา
ภาษาที่ใช้ส่วนใหญ่จะเป็นคำที่ค่อนข้างสูงเนื่องฉากเป็นเรื่องราวของเจ้านายในเมืองที่สมมุติขึ้น การใช้ภาษาในการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกนั้นดีมาก นอกจากนี้ภาษาที่ผู้เขียนนั้นมักจะเป็นภาษาในวงการทหาร หรือแม้แต่เรื่องการขึ้นศาลก็ตาม ผู้เขียนสามารถนำมาเล่าเป็นเรื่องราวได้ดีทีเดียว แสดงว่าผู้เขียนน่าจะมีภูมิในด้านการเมืองการปกครองอยู่ไม่น้อย
สำนวนโวหาร
นวนิยายเรื่องเลือดขัตติยานั้น ตามลักษณะของผู้ประพันธ์จะใช้การพรรณนาบรรยายโวหาร เพราะเป็นการเล่าเรื่องตามลำดับเหตุการณ์ แต่ถึงอย่างไรผู้ประพันธ์ก็ยังได้ใช้สำนวนโวหารอื่น ๆ ที่ชวนอ่านเข้ามาใช้ในการแต่ดังนี้
1. พรรณนาโวหาร ในเรื่องนี้เป็นการพรรณนาถึงความงามของธรรมชาติซึ่งอยุธยามีแม่น้ำล้อมรอบตัววังและเขตพระราชฐาน ความงามของตึกหรือพระตำหนัก ความงามของพระเอก นางเอก ความงามของพระราชวัง เป็นต้น ซึ่งได้ใช้ภาษาอันไพเราะงดงาม
2. อุปมาโวหาร เป็นโวหารที่กล่าวเปรียบเทียบโดยสิ่งที่กล่าวถึงนั้นเป็นคนละเรื่องกัน
สภาพสังคมและวัฒนธรรมที่ปรากฏในเรื่อง
สภาพสังคม
สภาพสังคมที่พบในเรื่องเป็นแบบการเลียนแบบสภาพสังคมภายในรั้ววัง มีการจำลองเรื่องราวได้ดูสมจริง โดยการสร้างเมืองนั้นคล้ายกับกรุงศรีอยุธยา แต่เปลี่ยนเป็นยโสธรแทน ซึ่งมีลักษณะเป็นแม่น้ำล้อมรอบ แต่มีอากาศค่อนข้างเย็น การสัญจรไปมาของคนในเรื่องคล้าย ๆ กับฝรั่ง ตรงที่อาศัยรถม้าวิ่งผ่านไปผ่านมา การพูดจาก็ดูทันสมัยแต่ก็มีการพูดแบบเจ้านายปะปนตลอดทั้งเรื่องเพราะเรื่องนี้กล่าวถึงเรื่องราวของคนในวังสมมุติ ดู ๆ จะเป็นแนวแฟนตาซีมากกว่า คล้าย ๆ นิทานที่นำเสนอในรูปแบบของนวนิยาย ซึ่งเรื่องราวจะมีการพูดถึงผู้คนที่อยู่ในวังดังนี้
1. คนในรั้ววังมีลักษณะแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกัน
2. การช่วงชิงอำนาจ
3. การรุกรานผืนแผ่นดิน
4. ความรักระหว่างเจ้ากับชนสามัญซึ่งมันเป็นไปไม่ได้
5. เรื่องราวของทหารที่ต้องมีความอดทนอย่างสูงในการทำหน้าที่รับใช้ชาติ และรักษาชีวิตของเจ้าหญิง
วัฒนธรรม
วัฒนธรรม คือ สิ่งที่มนุษย์เปลี่ยนแปลง ปรับปรุง หรือผลิตขึ้นเพื่อสร้างความเจริญงอกงามในวิถีชีวิตของมนุษย์ แล้วถ่ายทอดสืบทอดกันมาเป็นรุ่น ๆ จนเกิดเป็น วัฒนธรรมที่ยึดถือกันมายาวนาน ซึ่งในเรื่องนี้ได้แสดงให้เห็นถึงความเจริญงอกงามและความมีเอกลักษณ์ของความเป็นไทยดังนี้
1. วัฒนธรรมทางวัตถุ ได้แก่ เครื่องใช้ไม้สอย การเย็บปักถักร้อย อาหาร การแต่งกาย เป็นต้น
2. วัฒนธรรมที่ไม่ใช่วัตถุ ได้แก่ ศาสนา ประเพณี ที่ในเรื่องนี้กล่าวถึงศาสนาที่พวกเขาเคารพนับถือคล้าย ๆ กับศาสนาคริสต์
3. การใช้ถ้อยคำ มักจะใช้ภาษาที่ค่อนข้างเป็นทางการ เพราะเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องราวของเจ้าหญิง
4. สถาปัตยกรรม บ้านเรือน พระราชวัง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศิลปะทางโรมันอย่างชัดเจน มีท้องพระโรงที่กล่าวไว้ว่าใหญ่โต พื้นเป็นหินอ่อนซึ่งในเรื่องกล่าวไว้ว่ามีความงดงามยิ่งนัก
5. การแต่งกายอย่างเจ้าหญิง และทหารในรั้ววัง ซึ่งเป็นแบบอลังการ มีความเป็นแฟนตาซีสูง
คุณค่าที่ได้รับ
เรื่องนี้เป็นเรื่องราวที่แสดงออกถึงเรื่องราวความรักที่ไม่อาจที่จะสมหวังได้ซึ่งได้สอดแทรกแง่คิดและแง่มุมที่ดี ๆ เอาไว้ในเรื่องซึ่งให้คุณค่าในด้าน
1. ความคิดของเรื่องการครองเรือนซึ่งชี้ให้เห็นถึงชีวิตครอบครัวของเจ้าหญิงแขไขจรัส ว่าไม่มีความสุขเอาเสียเลย นั่นเป็นเพราะการไม่รู้จักวางตัว และการแสดงออกว่าตนเองเหนือกว่าใคร ๆ เธอจึงเป็นคนที่ไม่สมหวังในความรัก
2. ความรักระหว่างพระเอกกับนางเอกซึ่งเป็นรักที่ไม่อาจจะสมหวังได้เพราะต่างคนต่างระดับชั้นกัน และตอนสุดท้ายพระเอกก็ตาย แต่การตายของพระเอกนั้นเป็นการตายอย่างคนที่ทำเพื่อประเทศ ทำเพื่อให้นางเอกได้ขึ้นครองราชย์ ความรักของอโณทัยจึงเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าการที่รักชาติ และมีความมุ่งมันในความรักเป็นรักที่บริสุทธิ์โดยแท้ ถึงแม้ว่าเรื่องนี้พระเอกกับนางเอกจะไม่สมหวังกัน แต่คุณค่าของมันคือการเสียสละตัวเองเพื่อแลกกับสิ่งที่ทรงอำนาจที่สุด
3. กลยุทธในการปกครองบ้านเมืองอย่างชาญฉลาด
4. ยุทธชัยสงครามที่สอดแทรกมากับเรื่อง ทำให้ทราบแนวทางการรบ และการซุ่มโจมตีของกองกำลัง
5. การทำสงครามภายใน การช่วงชิงอำนาจเพื่อที่จะขึ้นเป็นใหญ่ หวังว่าลูกของตนจะได้เป็นใหญ่ แต่ในที่สุดเจ้าของบัลลังล์ตัวจริงก็ได้อำนาจคือ คุณค่าในด้านนี้เป็นเรื่องของธรรมะย่อมชนะอธรรม
สรุปและอภิปลายผล
การวิเคราะห์นวนิยายเรื่องเลือดขัตติยา ของ โสภาค สุวรรณ นั้น มีจุดมุ่งหมายในการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับกลวิธีการเขียนของผู้ประพันธ์ในด้าน การสร้างโครงเรื่อง แก่นของเรื่อง การดำเนินเรื่อง ฉาก การสร้างตัวละครและบทสนทนา กับการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับท่วงทำนองการเขียนของผู้ประพันธ์ ในด้านสำนวนภาษาและโวหารที่ใช้ในนวนิยายเรื่องนี้ นอกจากนั้นยังศึกษาสภาพสังคมและวัฒนธรรมที่ผู้ประพันธ์ได้สอดแทรกเอาไว้ให้เห็นอย่างชัดเจน
ผลการวิเคราะห์วิจารณ์พบว่า นวนิยายเรื่องเลือดขัตติยานั้น เป็นนวนิยายที่กล่าวถึงเรื่องราวความเป็นไป การช่วงชิงอำนาจกันของเจ้านายชั้นสูง ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องสมมุตินั้นก็มักจะเห็นเรื่องราวแบบนี้อยู่เสมอ ๆ ซึ่งเป็นการสะท้อนสภาพสังคมและวัฒนธรรมออกมาได้อย่างชัดเจนสมเหตุสมผล มีการดำเนินเรื่องไปตามลำดับเวลา เน้นเรื่องการเมืองการปกครองเสียเป็นส่วนใหญ่ ความรัก ความกตัญญู เรื่องราวของครอบครัว ความมีเลือดรักชาติ รักในศักดิ์ศรี การยอมตายแทนกันได้เพื่อให้อีกคนหนึ่งได้เป็นใหญ่ ส่วนเรื่องของบทบาทตัวละครนั้น ผู้ประพันธ์ได้กำหนดลักษณะตามฐานะโดยชี้ให้เห็นความแตกต่างทั้งเรื่องการแต่งกาย ภาษาที่ใช้ การกินอยู่ที่แตกต่างกัน และแนวคิดที่แตกต่างกันอีกด้วย
สำหรับท่วงทำนองการเขียนนั้น ผู้ประพันธ์เลือกใช้คำและสำนวนภาษาที่เหมาะสม ใช้โวหารทั้งการบรรยาย และการพรรณนา เพื่อให้เห็นถึงสภาพแวดล้อม และสภาพสังคมที่ปรากฏได้อย่างชัดเจนมากขึ้น