วัดอรุณราชวราราม
สุชาดา โมรา
การเดินทางที่แสนจะยาวนานต้องนั่งรถของมหาวิทยาลัยเป็นระยะทางไม่ใช่น้อย จากลพบุรีไปถึงกรุงเทพฯ ก็ประมาณ 3 ชั่วโมงเศษ รถของพวกเราจอดตรงถนนท้ายวัง เมื่อเราเดินลงมาจากรถอาจารย์ก็พาชมตัววัดโพธิ์ จากนั้นจึงไปยังวัดอรุณราชวราราม หรือที่เรียกกันว่าวัดแจ้ง การเดินทางไปวัดนี้นั้นต้องอาศัยเรือข้ามฟากจากฝั่ง ซึ่งเป็นเรือโดยสารขนาดใหญ่ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปจอดยังฝั่งธนบุรี
เมื่อย่างก้าวเข้าสู่ประตูวัดแห่งนี้เราก็จะพบข้าวของที่เรียงรายอยู่สองข้างทาง มีร้านที่รับถ่ายรูปชุดไทยโดยการให้เช่าชุดไทยทำให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ชอบความเป็นเอกลักษณ์ของไทยอยู่แล้วต่างเข้าไปใช้บริการในร้านเหล่านี้เป็นส่วนมาก นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่ไปมักจะเป็นชาวต่างชาติมีเพียงกลุ่มเราเพียงกลุ่มเดียวที่เป็นคณะนักศึกษาที่เข้าไปเที่ยวชมในวันนั้น
พวกเราเดินมาถึงพระบรมราชานุเสาวรีย์รัชการที่ 2 แล้วร่วมกันถ่ายภาพเก็บไปเป็นที่ระลึกจากนั้นก็เดินไปตามทางปูด้วยคอนกรีตเข้าไปกราบพระที่อยู่ในโบสถ์เพื่อเป็นศิริมงคล ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศใต้ และก็เดินผ่านประตูจำหน่ายตั๋วเข้าไปยังพระปรางค์ซึ่งมีความสวยงามมาก องค์พระปรางค์ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบหลากสีมีทั้งลายดอกๆไม้และใบไม้ ถ้วยชามเบญจรงบ์และเปลือกหอย ซึ่งตกแต่งไว้อย่างสวยงาม มีความละเอียดในลวดลายของกระเบื้อง ทำให้นักท่องเที่ยวที่มาจากนานาประเทศต่างชื่นชมและถ่ายภาพเพื่อเป็นที่ระลึกกันใหญ่เชียว
วัดอรุณราชวราราม หรือวัดแจ้ง เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก แต่เดิมเคยเป็นวัดหลวงในสมัยกรุงธนบุรี ซึ่งประดิษฐานพระแก้วมรกตเอาๆไว้ เมื่อรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเถลิงราชสมบัติก็ทรงย้ายพระแก้วมรกตไปประดิษฐาน ณ วัดพระศรีรัตนศาสดารามวรมหาวิหารจนกระทั่งถึงทุกวันนี้
การสร้างพระปรางค์ของคนไทยจะยึดถือแนวความเชื่อจักรวาลซึ่งเป็นความเชื่อของศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธ ต่างเชื่อว่าพระปรางค์องค์ใหญ่คือเขาพระสุเมรุ เป็นศูนย์กลางของทวีปทั้ง 4 และมีภูเขาใหญ่น้อยล้อมรอบ ซึ่งได้ทำเจดีย์เล็ก ๆ หลายองค์เอาไว้เป็นบริวารของเขาพระสุเมรุ
ลักษณะเด่นของวัดนี้ที่เห็นได้ชัดคือยักษ์สองตนซึ่งเป็นศิลปะแบบไทยตั้งอยู่หน้าประตูทางเข้าของวัดยืนทำท่าสง่างามคอยอารักษ์ขาวัดนี้อย่างเข้มแข็ง ทำให้มีนักท่องเที่ยวมากมายเข้าไปถ่ายรูป เข้าไปเชยชมความงามของยักษ์อย่างใกล้ชิดหลายคน นอกจากนั้นยังมีมณฑปพระพุทธบาทจำลอง พระเจดีย์ 4 องค์ พระวิหารซึ่งสร้างในสมัยรัชกาลที่ 2 หอระฆัง พระเจดีย์และศาลาราย พระประธานในพระวิหาร พระพุทธชัมภูนุทมหาบุรุษลักขณาอสีตยานุบพิตร เป็นพระประธานปางมารวิชัย หล่อด้วยทองแดงปิดทองในสมัยรัชกาลที่ 3 นอกจากนั้นยังมีหอไตร 2 หอ อยู่ทางด้านหมู่กุฏิ โบสถ์น้อย วิหารน้อย ศาลาท่าน้ำรูปเก๋งจีน ภูเขาจำลอง อนุสาวรีย์พระธรรมเจดีย์ และพระจุฬามณีซึ่งหล่อด้วยโลหะคล้ายเนื้อชิน มีความสวยงามมากสามารถถอดออกได้ถึง 4 ชิ้น อยู่ที่ยอดคอระฆังชิ้นหนึ่ง และที่ฐานอีก 2 ชิ้น ประดิษฐานอยู่บนแท่นปูนที่ลงลักปิดทอง ทำลวดลายเหมือเจดีย์ มีความงดงามมาก
วัดแห่งนี้เป็นวัดโบราณสร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ปรากฏหลักฐานในสมัยปัจจุบันคือ โบสถ์และวิหารเดิมของวัด ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบอยุธยา มีชื่อตามตำบลว่า วัดบางมะกอก หรือ วัดมะกอก ซึ่งนักประวัติศาสตร์และนักวิชาการสันนิษฐานว่าตำบลแห่งนี้ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลางเมืองธนบุรี และเป็นที่มาของนามว่า บางกอก ในเวลาต่อมา นอกจากนั้นในปัจจุบันคำว่าบางกอกยังเป็นชื่ออำเภอในเขตกรุงเทพมหานครถึง 2 เขตอีกด้วยคือ บางกอกน้อยและบางกอกใหญ่ ต่อมาในต้นสมัยกรุงธนบุรีจึงเปลี่ยนนามว่า วัดแจ้ง
หลังจากที่พระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงสร้างกรุงธนบุรีในปี พ.ศ.2311 วัดแจ้งก็กลายเป็นวัดในวังตามแบบอย่างโบราณมา วัดในวังไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาใช้สำหรับพระมหากษัตริย์ทรงประกอบพิธี เช่นเดียวกับที่กรุงศรีอยุธยาเคยมีวัดพระศรีมหาธาตุ วัดพระศรีสรรเพชญ์ วัดพระรัตนศาสดาราม เป็นวัดหลวง ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 ทรงพระราชธานนามใหม่ว่า วัดอรุณราชวราราม ดังที่เรียกกันอยู่ในปัจจุบันนี้
หลังจากที่มาเที่ยวชมความงดงามของวัดแล้วเรายังได้ความรู้รอบตัวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์อีกด้วย ขากลับเราจึงเก็บภาพเป็นที่ระลึกอีกครั้งก่อนที่จะนั่งเรือข้ามกลับไปฝั่งพระนครเพื่อเดินทางไปทัศนศึกษาต่อไป