ส่วนตลาดหุ้นก็เติบโตถึง 67 เปอร์เซ็นต์ มูลค่าการซื้อขายต่อวัน 6 หมื่นล้านบาท มากกว่ายุคทองก่อนปี 2540 และภาวะหุ้นก็จะถูก "เฆี่ยน" ให้วิ่งเป็นกระทิงดุไปอย่างนี้จนกว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าจะเสร็จสิ้น และหากในปีหน้าเศรษฐกิจโตถึง 8 เปอร์เซ็นต์ ก็เชื่อว่าการเลือกตั้งในต้นปี 2548 จะทำให้พรรคไทยรักไทยได้รับคะแนนถล่มทลายอย่างไม่ต้องสงสัย ความสำเร็จของนโยบายเศรษฐกิจที่ถูกขนานนามว่า "ทักษิโณมิกส์" นั้นได้รับการกล่าวขวัญถึงมาก "ทักษิโณมิกส์" ก็คือนโยบายเศรษฐกิจแบบทักษิณ หรือนโยบายประชานิยม อันได้แก่ การกระตุ้นเศรษฐกิจระดับรากหญ้า การกระตุ้นการบริโภคภายในโดยรัฐอัดฉีดงบประมาณเข้าไป ผ่านโครงการต่างๆ ที่เป็นการ "ปล่อยสินเชื่อ" แก่ระดับรากหญ้า ไม่ว่าจะเป็นกองทุนหมู่บ้าน ธนาคารคนจน การสร้างโครงการเอื้ออาทรต่างๆ ขึ้นมาเพื่อให้เกิดการซื้อและใช้จ่ายสินค้า ส่วนคนชั้นกลางก็ได้รับการเอาใจใส่ดูแลจากรัฐด้วยการ ให้มีบัตรเครดิตกันได้ง่ายๆ เพื่อให้มีเงินไปจับจ่ายใช้สอยง่ายๆ สร้างแรงซื้อในระบบ เมื่อเร็วๆ นี้นิตยสารไทม์ ก็ได้ให้ความสนใจ เขียนรายงานเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทย ใช้ชื่อเรื่องว่า "The Thaksin Effect" ถ้าแปลง่ายๆ ตรงตัว ก็คือ "ผลกระทบจากทักษิณ" แล้วก็ตามด้วยหัวรองลงไปว่า "ทักษิณ" กำลังปฏิวัติเศรษฐกิจหรือกำลังสร้างฟองสบู่รอบใหม่ ในรายงานนี้ผู้เขียน ไม่ได้สรุปว่า "ทักษิโณมิกส์" ดีหรือไม่ดี หากแต่นำเสนอข้อมูลทั้งสองด้าน ทั้งด้านที่เห็นด้วยและด้านที่แสดงความห่วงใย ฉากแรกของรายงานนี้ ผู้เขียนเริ่มจากการสัมภาษณ์ "วัชรี" ที่ปรึกษาด้านไอที วัย 28 ปี เธอผู้นี้กำลังนั่งละเลียดกาแฟอยู่ในร้าน "สตาร์บัคส์" ย่านหลังสวน ย่านหรูหราของคนกรุงเทพฯ แอนดรูว์ เพอร์ริน ผู้เขียนรายงานชิ้นนี้บอกว่า วัชรีกำลังเล่าให้เขาฟังอย่างตื่นเต้นเกี่ยวกับชีวิตใหม่ของเธอ เธอบอกเขาว่า เดือนที่แล้วเพิ่งซื้อรถคันใหม่และกำลังจะซื้ออพาร์ตเมนต์หลังใหม่ในย่านหลังสวน นี่แหละ และอีกไม่นานเธอกำลังจะก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษาด้านไอทีเป็นของตนเอง ดอกเบี้ยต่ำๆ ถูกๆที่ธนาคารของรัฐถูกสั่งให้ปล่อยสินเชื่อให้กับประชาชนอย่างง่ายๆ ทำให้วัชรีสามารถซื้อรถใหม่ และกำลังจะซื้ออพาร์ตเมนต์ใหม่ได้ ในขณะที่เมื่อ 18 เดือนที่แล้ว เธอแทบไม่มีปัญญาแม้แต่จะซื้อกาแฟของสตาร์บัคส์สักแก้ว "ในช่วงวิกฤตปี 2540 ไม่คิดว่าชีวิตตัวเองจะฟื้นกลับมาได้อีก แต่ขณะนี้วันเวลาที่ดีๆ กลับมาแล้ว ต้องขอบคุณนายกฯ ทักษิณ" วัชรีว่า สิ่งที่ "วัชรี" บรรยายว่า ชีวิตของเธอดีขึ้น ก็คือ 1. เธอยื่นขอเงินกู้สินเชื่อส่วนบุคคลจากธนาคาร เพื่อมาชำระหนี้บัตรเครดิต 2. จากนั้นเธอก็ใช้บัตรเครดิตอีกใบไปซื้อรถยนต์ 3. เธอกำลังยื่นขอเงินกู้เพื่อซื้ออพาร์ตเมนต์... แน่นอน เราๆ ท่านๆ คนชั้นกลางหรือไม่กลาง ขณะนี้การมีบัตรเครดิตในยุคนี้ง่ายดายมาก หลายคนเปิดกระเป๋าสตางค์ดูก็จะพบว่าตัวเองมีบัตรเครดิตถึง 4 ใบ บางใบก็แทบไม่ได้ใช้เลย แถมเวลาจะคืน ทางธนาคารก็ไม่ยอมให้คืน บอกว่าถือไว้เถอะ จะยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีให้ ลูกค้าบางรายก็เหนื่อยที่จะตื้อคืนบัตรก็เลยยอมให้บัตรเครดิต 4 ใบ เป็นภาระอยู่ในกระเป๋า สิ่งที่วัชรีทำ คือกู้สินเชื่อส่วนบุคคลมาชำระหนี้บัตรเครดิตใบหนึ่ง และใช้บัตรเครดิตอีกใบไปซื้อรถยนต์ เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง และก็ลามไปถึงรากหญ้าด้วย นั่นก็คือชาวบ้านไม่น้อยนำเงินกู้ที่ได้จากกองทุนหมู่บ้านไปชำระหนี้นอกระบบที่ ดอกเบี้ยสูง ที่เหลือก็นำไปใช้จ่ายเพื่อบริโภค เช่น ซื้อมือถือ มิได้นำไปเพื่อเป็นทุนสร้างงานตั้งตัว สิ่งนี้ปรากฏอยู่ในรายงานของสภาพัฒน์อยู่แล้ว ไปหาอ่านกันได้ วัชรีก็เป็นอย่างเช่นคนไทยส่วนใหญ่ คือเห็นว่าขณะนี้ "เวลาดีๆ และเคลิบเคลิ้มหรรษา" ได้กลับมาแล้ว และก็ "กระโจน" ใส่มันอย่างไม่มียับยั้งชั่งใจ วัชรีไม่ได้คิดหรอกว่า เงินกู้ซื้อบ้านที่ดอกเบี้ยต่ำในขณะนี้ มันจะไม่ต่ำอยู่อย่างนั้น หากแต่จะขยับขึ้นได้ในอนาคต นั่นหมายความว่าภาระการผ่อนส่งต่องวดจะสูงขึ้นเกินความสามารถของเธอ เช่นเดียวกับราคาอพาร์ตเมนต์ที่เธอซ ื้อไว้ก็อาจจะตกต่ำลงได้ แต่ก็ช่างเถอะ "คนไทย" ประเภท "วัชรี" ไม่แคร์หรอก จะไปคิดอะไรมาก คิดอะไรยาวๆ ไม่ใช่วิสัยคนไทยส่วนใหญ่อยู่แล้ว และก็อีกนั่นล่ะ คนไทยประเภทวัชรีก็คงไม่รู้ว่านักลงทุนอสังหาฯที่เป็นชาวต่างชาติ ที่เคยเข้ามากว้านซื้ออสังหาฯ ราคาถูกๆ ช่วงปี 2540 ในขณะนี้กำลังปล่อยสินค้าในมือออกมาขายเพราะราคามันถึงจุดสูงสุดแล้ว "มันเป็นตลาดของการเก็งกำไร" นักลงทุนอสังหาฯ ต่างชาติรายนี้บอก "คนไทย" ประเภท "วัชรี" ไม่ได้คิดและไม่ยอมคิดหรอกว่า หนี้ที่เธอกู้ยืมจากแบงก์รัฐมานั้น หากวันใดที่เศรษฐกิจถดถอยลง เธอได้รับเงินเดือนลดลงหรือตกงานและไม่มีเงินจ่ายหนี้ มันก็หมายถึงว่าแบงก์จะเกิดหนี้เสียอันมหาศาล และในที่สุด "รัฐบาล" ก็จะนำเอาเงินภาษีของประชาชนทุกคนมา "อุ้ม" แบงก์แห่งนั้น อย่างที่เกิดขึ้นให้เห็นแล้วตั้งแต่ปี 2540 ซึ่งจนถึงขณะนี้รัฐบาลก็ยังไม่สามารถสะสางปัญหานี้ให้สะเด็ดน้ำได้ ที่มันน่าเสียใจคือ ประชาชนคนอื่นๆ ที่ มัธยัสถ์อดออม มีวินัย รู้จักรอคอยและอดทนไม่ใช้จ่ายเกินตัว เพื่อให้ประเทศชาติมีความยั่งยืน ไม่ตกเป็นภาระแก่ลูกหลาน กลับพลอยต้องมารับภาระและรับกรรมในสิ่งที่ "คนไทยประเภทวัชรี" ก่อขึ้น นั่นก็คือเงินภาษีของพวกเขาแทนที่จะได้ไปสร้างประโยชน์ให้กับสังคมส่วนอื่นๆ ที่ยังขาดแคลนอยู่มาก ก็กลับต้องถูกลงโทษด้วยการ "จ่ายหนี้" แทน "วัชรี" แต่จะมาว่า "วัชรี" ฝ่ายเดียวได้อย่างไร สุดท้ายผู้ต้องถูกตำหนิ ก็คือรัฐบาลที่ใช้นโยบาย "ตกเบ็ด" ประชาชนนั่นเอง แต่ก็นั่นล่ะ จะมาเอาอะไรกับสังคมไทย ซึ่งเป็นสังคมที่อ่านหนังสือ "วันละ 3 บรรทัด" ซึ่งคงไม่มีประเทศไหนมาทำแชมป์ไปกว่านี้ได้อีกแล้ว สังคมอ่านหนังสือน้อย ก็คือสังคมที่ "ขี้เกียจคิด" ไม่สามารถคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล สังคมไทยนั้นจริงๆ ไม่ใช่สังคมที่ไม่รู้หนังสือ ไม่ใช่สังคมที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ การเป็นสังคม "อ่านหนังสือวันละ 3 บรรทัด" จึงไม่เกี่ยวกับอัตราการไม่รู้หนังสือ แต่มันเกียวกับทัศนคติ วัฒนธรรมและมุมมองของคน และที่น่าตกใจก็คือ กลุ่มคน "ไม่อ่านหนังสือ" นั้น เป็นคนที่ค่อนข้างจะมีการศึกษา เสียด้วย สังคมที่ไม่อ่านหนังสือนั้น "เจริญยาก" ไม่ว่าประเทศนั้นจะมีอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจสูงปานใดก็ตาม คนไทยมองภาพเศรษฐกิจในขณะนี้ในลักษณะ "จิ๊กซอว์ที่ต่อไม่ครบ" และอาจเป็นความตั้งใจทีไม่อยากมอง "ให้ครบ" เพราะอยากดูเพียงด้านเดียวหรือซีกเดียวอันเป็นด้านดีของเศรษฐกิจ ดังนั้น เมื่อต่อจิ๊กซอว์ไประยะหนึ่ง แล้วเห็นลางๆ ว่าภาพนั้นมันสวยเป็นดอกกุหลาบสีบานเย็นครึ่งดอก สดสวยเบ่งบาน หยดน้ำค้างพรม ก็หยุดต่อจิ๊กซอว์ไว้แค่นั้น ไม่ยอมนำอีก 2-3 ชิ้นที่เหลือมาใส่ให้ครบ โดยหารู้ไม่ว่าอีก 2-3 ชิ้นนั้น มันมีภาพหนอนเจาะไชกัดกินกลีบกุหลาบแหว่งไปครึ่งดอก เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ธนาคารแห่งประเทศไทย ออกมาแสดงความเป็นห่วงหนี้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น 20 เปอร์เซ็นต์ กล่าวคือ จาก 6.9 หมื่นบาทต่อครัวเรือนในปี 2544 เพิ่มเป็น 8.2 หมื่นบาทในปี 2545 และในปี 2546 มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งเป็นเพราะมีการบริโภคมากขึ้นเนื่องจากดอกเบี้ยต่ำและสินเชื่อหาง่าย รวมทั้งเกิดจากโครงการประชานิยมของรัฐบาล ขณะนี้รัฐบาลเกาหลีใต้ ที่ครั้งหนึ่งเคยภาคภูมิใจว่า เศรษฐกิจฟื้นเร็วกว่าประเทศอื่นในเอเชียหลังจากพิษต้มยำกุ้ง และสามารถใช้หนี้ไอเอ็มเอฟได้ก่อนใคร ก็กำลังประสบปัญหาอย่างหนักจากการที่ประชาชนเป็นหนี้บัตรเครดิต ที่ประชาชนใช้จ่ายเกินตัว โดยมีหนี้ถึง 4.2 ล้านล้านบาท และก็ลักษณะเดียวกับไทยคือ แต่ละคนในวัยทำงานมีบัตรเครดิตมากถึง 4 ใบ อีกข่าวหนึ่งในวันเดียวกันนั้น บอกว่าพอเศรษฐกิจเริ่มฟื้น คนไทยก็ "เมาหนัก" และคอสูง ดวดเหล้านอกรวมกันเป็นมูลค่า 2 หมื่นล้านบาท เป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นว่า คนไทยกำลังอยู่ในช่วง "เคลิบเคลิ้มหรรษา" และมีความสุขจริงๆ โดยมิพักต้องหยุดคิดว่า "ความหรรษา" นี้จะมีปัญหาตามมาหรือไม่ กระแสความนิยม "ประชานิยม" แรงมากจริงๆ "สังคมคนไทยประเภทวัชรี" ไม่พร้อมจะยอมรับฟังเสียงทัดทานใดๆ พร้อมจะเทเสียงเชียร์รัฐบาลอย่างเต็มกำลัง เหมือนที่ครั้งหนึ่งคนอเมริกันเชียร์บุช ให้ถล่มอิรัก กว่าจะรู้ตัวนั้นก็พบว่า "ค่าใช้จ่าย" ที่คนอเมริกันต้องจ่ายเป็นค่า "ปลดปล่อยชาวอิรัก" นั้นสูงมากกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์แล้ว ต่อเมื่อผลปรากฏออกมาอย่างนี้แล้วเท่านั้น จึงทำให้คนอเมริกัน "ได้คิด" หากรัฐบาลจัดการไม่ดี ไม่ยอมตรวจสอบอาการและแก้ปัญหาแต่เนิ่นๆ จะทำให้หนี้ "ประชานิยม" เป็นมะเร็ง ที่จะถูกตรวจพบก็ต่อเมื่ออาการเข้าสู่ขั้นสุดท้ายแล้วเท่านั้น
26 กุมภาพันธ์ 2547 03:36 น. - comment id 71209
มีสาระมากค่ะ
26 กุมภาพันธ์ 2547 23:45 น. - comment id 71232
แวะมาว่าจะอ่านกลอนสักหน่อย มีปัญหา แต่ก็ยังดี ที่มีทางเลือก ให้ได้อ่านบทความได้เต็มที่ ก็เป็นอีกมุมมองหนึ่งซึ่งน่าสนใจมากครับ เพราะมองภาพรวมเหมือนเศรษฐกิจจะดีจริง ๆ แต่ก็มีปัญหาที่ว่าเงินที่ได้นำไปใช้ผิดประเภท อย่างที่เล่ามาให้ฟัง เรื่องนี้ต้องช่วยกันทุกฝ่าย ถึงสำเร็จครับ
27 กุมภาพันธ์ 2547 15:55 น. - comment id 71248
ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้....มีมุมมองสองด้านนะคะ.... ทั้งด้านบวกและด้านลบ.... เหลือแต่ว่า...บวกหรือลบจะมากกว่ากัน...นะคะ...
12 มีนาคม 2547 03:11 น. - comment id 71651
อืม..