บทสรุปจากเรื่อง กวีนิพนธ์กับบทร้อยกรอง เขียนขึ้นโดย ชลธิรา สัตยวัฒนา มีต้นฉบับพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร ชมรมวรรณศิลป์ สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีที่ 11 ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับกวีนิพนธ์ซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากบทร้อยกรอง เป็นทัศนะหนึ่งของคนรักวรรณศิลป์ ชอบอ่านวรรณศิลป์ และของคนที่รู้สึกหายใจไม่ทั่วท้อง เมื่อเห็นผลงานทางวรรณศิลป์ซบเซาลง - ชลธิรา สัตยวัฒนา เป็นบทความชี้นำความเข้าใจทางด้านกวีนิพนธ์และบทร้อยกรอง โดยผู้เขียนได้หยิบยกข้อแตกต่างระหว่างการเขียนกวีนิพนธ์และบทร้อยกรองถ่ายทอดมาในบทความบทนี้ มีใจความสำคัญดังต่อไปนี้ บทประพันธ์ที่เรียกกันว่า บทร้อยกรองนั้น เป็นการเรียบเรียงถ้อยคำออกมาเป็นเรื่องราวต่างๆ เขียนขึ้นตามข้อบังคับของฉันทลักษณ์ ซึ่งบทร้อยกรองอาจจะมีใจความเป็นการเล่าเรื่อง เรื่องราวที่แต่งขึ้น การบรรยายธรรมชาติ การแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประสบการณ์ของตน หรือ การแสดงอารมณ์ความรู้สึกส่วนตัว ซึ่งคุณสมบัติของบทร้อยกรองดั่งได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า บทประพันธ์แต่งขึ้นตามกฎข้อบังคับของฉันทลักษณ์นั้น เป็นบทคุณสมบัติของบทร้อยกรองเท่านั้น มิใช่คุณสมบัติของกวีนิพนธ์ กวีนิพนธ์ มีคุณสมบัติหลักคือ การประพันธ์ขึ้นอย่างมีศิลปะ และสื่อความหมายระหว่างผู้เขียนและผู้อ่านโดยใช้กวีนิพนธ์เป็นสื่อกลาง การสร้างกวีนิพนธ์ให้มีศิลปะนั้น ประกอบไปด้วยความงามของบทประพันธ์ด้วย ตัวอักษร ถ้อยคำ จังหวะหรือลำนำ และเสียง เป็นสัญลักษณ์แทนบางสิ่งบางอย่างถ่ายทอดให้เกิดจินตนาการ และความเข้าใจในผู้อ่าน ทำให้ผู้อ่านสามารถจินตนาการจากกวีนิพนธ์ได้อย่างกว้างไกล และลึกซึ้ง กวีนิพนธ์อาศัยความนึกคิด อารมณ์ที่อ่อนไหวตามไปกับบทกวีของนักเขียน รวมไปถึงความสามารถ พรสวรรค์และความสร้างสรรค์เพื่อให้เกิดการเรียงถ้อยคำที่สวยงาม เสริมสร้างให้ผู้อ่านนึกคล้อยคิดตามไปกับบทกวี เมื่อกวีนิพนธ์เป็นสื่อกลางความเข้าใจของสองฝ่ายที่เกี่ยวข้อง คือ ฝ่ายผู้เขียนและฝ่ายผู้อ่าน กวีนิพนธ์จึงจัดว่าเป็นการสื่อสารอย่างหนึ่ง กวีนิพนธ์มิได้หมายความว่า เป็นบทประพันธ์ที่ถ่ายทอดเฉพาะประสบการณ์ ความนึกคิดของผู้เขียนเท่านั้น หากแต่ผู้เขียนจะเป็นตัวแทนนำประสบการณ์ของผู้อ่านเข้าร่วมด้วยในกวีนิพนธ์ และใช้กลวิธีต่างๆโน้มน้าวให้ผู้อ่านมีความเข้าใจไปกับตนด้วย ตามคำนิยามว่า คุณสมบัติสำคัญอย่างหนึ่งของกวีนิพนธ์คือ จะต้องมีเนื้อหาซึ่งเป็นประสบการณ์ร่วมกัน ระหว่างผู้แต่งกับผู้อ่าน ทั้งนี้ คุณสมบัติของกวีนิพนธ์จึงมีความแตกต่างไปจากบทร้อยกรอง กล่าวคือ การแต่งบทร้อยกรองปัจจุบัน ได้รับอิทธิพลไม่ใช่แค่มาจากตัวนักเขียนเอง แต่รวมไปถึง ความเชื่อครู ด้วยเหตุที่ว่านักเขียนไม่กล้าแต่ง นอกครู และผู้อ่านก็ไม่ยอมรับการแต่งที่ นอกครู บทร้อยกรองจึงมีลักษณะตายด้าน หมายความว่า บทร้อยกรองมักจะถูกต้องตามแบบฉันทลักษณ์ไปทุกส่วน จนทำให้ขาดอารมณ์ และชีวิตชีวาให้บทประพันธ์ กล่าวคือ นักเขียนมักวางกรอบของตนเกี่ยวกับการเลือกใช้คำที่เหมาะ เพราะจะต้องกำหนดเลือกใช้คำ เพื่อให้ได้สัมผัสตาม ครูกลอน โดยมักกำหนดว่าจะต้องเล่นสัมผัสตรงไหน วรรคใดบ้าง ดังที่กล่าวคือ นักเขียนมักมีอิทธิพลมาจาก ครูกลอน การสร้างกรอบเช่นจะทำให้ การเลือกใช้คำให้ตรงตามความหมายของตน และอารมณ์ถูกจำกัดมากขึ้น การถ่ายทอดเนื้อหาอารมณ์จะถูกจำกัดลง โดยการสร้างกรอบของผู้เขียน ทำให้ยากต่อการยกระดับการเขียนให้สูงขึ้น การที่จะสร้างบทร้อยกรองให้มีชีวิตชีวามากขึ้น ขึ้นอยู่กับการประพันธ์ตามลำนำที่ถูกต้องเช่นกัน เช่นลำนำของกลอนแปดมีลักษณ์ยืดเอื่อย เหมาะที่จะถ่ายทอดอารมณ์เศร้า การประพันธ์โดยไม่คำนึงถึงลำนำจึงทำให้เกิดการถ่ายทอดเนื้อหาไปอย่างตายด้าน เช่นเดียวกันกับฉันทลักษณ์ที่ถูกต้อง หากเลือกใช้ฉันทลักษณ์ที่ถูกต้องจะสร้างให้ความงามของบทประพันธ์มีมากยิ่งขึ้น เพราะหากเลือกใช้ฉันทลักษณ์ที่ขัดกับเนื้อหา อารมณ์ และความหมายแล้ว จะทำให้รสความงามและความมีชีวิตชีวาของบทประพันธ์ขาดหายไป ศิลปะคือภาษาสากลของมวลมนุษยชาติ กวีนิพนธ์ประกอบไปด้วย ทั้งเนื้อหา และศิลปะ กวีนิพนธ์จึงมีความสำคัญยิ่งที่จะต้องสร้างขึ้นอย่างมีศิลปะ ดังนั้นกวีนิพนธ์ควรจะเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถเข้าถึง และเข้าใจ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย หมายถึงทั้ง เนื้อหา อารมณ์ ทัศนคติ และจุดมุ่งหมาย หรือความตั้งใจของกวี เพื่อให้กวีนิพนธ์สัมฤทธิ์ผล กวีจะต้องมีความเข้าใจลึกซึ้งเกี่ยวกับสิ่งที่ตนหยิบยกขึ้นมานำเสนอ เนื้อหาจะต้องมาจากประสบการณ์ การสะเทือนใจของผู้แต่งจริง เป็นเนื้อหาที่หลั่งไหลออกมาจากอารมณ์ ความเข้าใจ ความนึกคิด ทัศนคติ และชีวิตจิตใจของผู้แต่งจริงๆ มิฉะนั้นกวีนิพนธ์จะไม่มีน้ำหนัก และอิทธิพลมากพอ หรือผู้แต่งนั้นจะต้องมีความจริงใจต่อสิ่งที่ตนเขียน ต่อผู้อ่าน และมีความจริงใจต่อความรู้สึกนึกคิดที่ตนหยิกยกมาเรียบเรียง มิฉะนั้นจะทำให้บทประพันธ์ตายด้าน หากมัวแต่แต่งขึ้นเพียงแค่ตามสังคมนิยม หรือสร้างกรอบแบบแผนให้ตัวเอง สิ่งเหล่านี้จะจำกัดสกัดกั้นอารมณ์ของบทกวี จนทำให้บทกวีขาดความมีชีวิต ในบางครั้ง กวีนิพนธ์ถูกนำมาใช้ในทางกลับกันคือ พยายามสะท้อนภาพสังคม หรือภาวะทางการเมือง กวีนิพนธ์มิได้มีลักษณะเหมือนรูปถ่ายไม่ว่าจะเป็นฟิล์มสีหรือขาวดำ กวีนิพนธ์มิได้เป็นการถ่ายแบบ หรือลอกแบบจากธรรมชาติหรือของจริง หากเป็นศิลปะ ซึ่งย่อมจะมีกรรมวิธีซับซ้อนเหนือธรรมดา - ชลธิรา สัตยวัฒนา ศิลปะของกวีนิพนธ์จึงต้องเป็นการนำธรรมชาติมาแทรกด้วยอารมณ์ ความนึกคิด ทัศนคติของนักเขียนเองด้วย และสร้างจินตนาการขึ้นมาใหม่ Poetry is quite understood, but not perfectly understood. Coleridge กวี และนักวิจารณ์ กวีนิพนธ์จึงต้องมีสัญลักษณ์ของบางสิ่งบางอย่าง เพื่อให้ผู้อ่านเกิดการจินตนาการ และนึกคิดให้เข้าใจถึงความหมายที่แฝงอยู่ภายใน กวีนิพนธ์ที่แต่งขึ้นโดยไม่แสดงเนื้อความให้เข้าใจจนหมดเปลือกจะเป็นการยั่วยุให้ผู้อ่านคิดอย่างลึกซึ้งเพื่อเข้าใจในบทกวี และจึงเป็นที่ยอมรับกันว่า กวีนิพนธ์เป็นสิ่งที่มีความหมายลึกซึ้งและกว้างขวาง หรือ Poetry is rich.
21 สิงหาคม 2546 21:02 น. - comment id 69433
พีพุดมาอ่านอย่างตั้งอกตั้งใจ เผื่อจะบันดาลใจบันดาลดวงให้รจนางานงามขึ้นมามั่งนะคะ รักและซึ้งใจฟองอากาศที่ตามติดให้กำลังใจงานย้วยๆของพี่พุดเสมอมานะคนดี ด้วยรักและขอบคุณอย่างที่สุด
22 สิงหาคม 2546 21:16 น. - comment id 69446
ขอบคุณครับ... มาแวะอ่าน (แต่ตั้งใจอ่านนะ) บทความดีมากครับ มีเนื้อหาที่เรียบง่าย สั้น ได้ใจความ
24 สิงหาคม 2546 00:05 น. - comment id 69455
สอบเขียนเรียงความที่ไหนหรอ อิอิ
4 กันยายน 2546 17:44 น. - comment id 69539
ขออภัยค่ะ เพราะปกติ อยู่หน้า กลอนเพิ่งเข้ามาที่นี่หน้านี้อย่างตั้งใจอ่านจริงๆนะคะ ก็ดีค่ะสำหรับบทความที่น้องโค้ดมา
30 สิงหาคม 2547 11:55 น. - comment id 76463
ความหมายดีนะ ออกนอกกรอบเพื่อให้อารมณ์ของผู้แต่ง หรือผู้ประพันธ์แสดงออกมาได้เต็มที่