ภาคการปศุสัตว์....
คีตากะ
โรงเรือนมุงหลังคาด้วยกระเบื้องทรงสูงเปิดรับลมทั้ง 4 ด้าน เสาทำจากไม้ทั้งต้นที่เริ่มผุจากการกัดแทะของปลวกตามกาลเวลา ภายในเป็นที่อาศัยของแม่โคแบบผูกยืนโรงกว่า30 ตัว ตรงกลางเป็นทางเดินเพื่อใช้ให้อาหาร ซึ่งจะวางลงในรางยาวก่อด้วยอิฐโบกปูนเรียบทั้งภายในและภายนอก รางยาว 2 ฝั่งข้างทางเดินทำให้แม่โคทั้ง 2 ฝั่งของโรงเรือนหันหน้าเข้าหากัน ทางเดินนี้ไม่เพียงมีประโยชน์ในการให้อาหารทั้งอาหารหยาบจำพวกหญ้าหรือต้นข้าวโพด อาหารข้นจำพวกรำข้าวหรืออาหารเสริม และน้ำดื่มแล้ว มันยังเป็นที่ให้ลูกโคอยู่อาศัยอีกด้วย พื้นที่ที่มีอย่างจำกัด ก่อให้เกิดความแออัดยัดเยียดและไม่ค่อยเจริญหูเจริญตาสักเท่าใด ทุกเช้าเจ้าของจะต้องตื่นขึ้นแต่เช้าตรู่เพื่อทำความสะอาดคอกสัตว์นี้ ด้วยการฉีดน้ำที่ปั๊มจากบ่อบาดาลและใช้ไม้กวาดทางมะพร้าวหรือพลั่วตักสิ่งปฏิกูลต่างๆออกไปจนหมดเกลี้ยง เมื่อคอกสะอาดแล้วจะใส่สายน้ำเอาไว้ในรางจนปริมาณน้ำสูงถึงครึ่งหนึ่งของความสูงของรางพร้อมทั้งใส่อาหารทั้งหยาบ และละเอียด เช่น ฟางข้าว หญ้า ข้าวโพด และรำข้าว ปริมาณที่เพียงพอให้แม่โคเหล่านี้ดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้เพื่อผลิตน้ำนมส่งเข้าโรงงานที่อยู่ใกล้บ้านทุกวันทั้งเช้าและเย็น...
แม่โคที่ถึงวัยเจริญพันธุ์จะได้รับการผสมเทียมและให้กำเนิดลูก เพื่อมีน้ำนมนำไปขาย มันจะทำหน้าที่เป็นเครื่องจักรกลผลิตน้ำนมจนกว่าจะกลายเป็นโคแก่ที่หมดน้ำนมไปเอง ซึ่งแต่ละตัวก็จะมีอายุไม่เท่ากันตามความสมบูรณ์ของร่างกายและพันธุ์ของมันด้วย นอกจากนั้นอาหารยังเป็นองค์ประกอบหลักที่สำคัญในการผลิตน้ำนมทั้งปริมาณและคุณภาพ ลูกโครุ่นแล้วรุ่นเล่าก็จะถูกเลี้ยงหรือขุนขึ้นมาแทนที่แม่โคเป็นวัฏจักรแบบนี้เรื่อยไป ดูเหมือนว่าลูกโคจะได้รับเอกสิทธิ์มากเป็นพิเศษในเรื่องการมีอิสรภาพมากกว่าแม่โค พวกมันจะถูกเลี้ยงแบบปล่อยอิสระมากกว่า ให้วิ่งเล่น กินหญ้า เดินดูโน่นดูนี่ทุกวันอย่างเสรี แต่เมื่อถึงวัยเจริญพันธุ์ พวกมันก็จะมีชะตากรรมเหมือนกับแม่โคตัวอื่นๆที่ต้องถูกผูกด้วยเชือกในโรงเรือนคับแคบและสกปรกขาดอิสรภาพตลอดไป และทำหน้าที่เสมือนเครื่องจักรกลเครื่องหนึ่งเท่านั้น โคที่เลี้ยงแบบผูกยืนโรงจะมีสุขภาพจิตย่ำแย่กว่า การเลี้ยงแบบปล่อยเหมือนกับฟาร์มใหญ่ๆ ที่มีที่ดินเพียงพอ การที่พวกมันเครียดจะทำให้พวกมันกินและนอนเท่านั้น ขาดความกระตือรือล้น เซื่องซึม สุขภาพจึงอ่อนแอและเป็นโรคติดต่อได้ง่าย
กลิ่นยังเป็นปัญหาหลักของการทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะฟาร์มเลี้ยงสุกร ฟาร์มเลี้ยงวัวก็ไม่แตกต่างกันมากนัก สัตว์เคี้ยวเอื้องมีหลายกระเพาะอย่างวัว กระเพาะของมันจึงทำหน้าที่เป็นถังหมักแก็สอย่างดี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแก็สมีเทนและคาร์บอนไดออกไซด์ กลิ่นจากมูลวัวมีส่วนผสมของแก็สจากการหมักในกระเพาะและลำไส้สร้างความวิงเวียนศรีษะต่อมนุษย์ไม่น้อย การสูดดมเข้าไปปริมาณมากนอกจากจะทำให้เหม็นแล้ว ภาวะขาดออกซิเจนของสมองยังทำให้เกิดความง่วงซึมได้ง่ายอีกด้วย ฟาร์มเลี้ยงวัวที่ไม่สะอาดจะเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคอย่างดี การสร้างที่พักอาศัยของมนุษย์ตามมาตรฐานควรอยู่ห่างจากโรงเรือนเลี้ยงอย่างน้อย 100 เมตร แต่เกษตรกรผู้เลี้ยงวัวส่วนใหญ่ยากจนและมีที่ดินจำกัด ส่วนมากที่อยู่อาศัยกับโรงเลี้ยงจะอยู่ใกล้กันมาก บางบ้านใช้ใต้ถุนบ้านเป็นคอกเลี้ยงก็มีให้เห็นอยู่มาก ซึ่งเสี่ยงต่อการติดต่อเชื้อโรคจากสัตว์ไปสู่คน เกษตรกรส่วนใหญ่แถวนี้มีอาชีพเลี้ยงวัวแบบครัวเรือน พื้นที่มีจำกัด จำนวนโคที่จะเลี้ยงจึงจำกัดไปด้วย ส่งผลให้รายได้มีจำกัด การเลี้ยงในจำนวนที่น้อยเกินไปผลผลิตต่ำจะทำให้ต้นทุนสูงไปด้วย ต่างกับฟาร์มขนาดใหญ่ที่มีจำนวนแม่โคที่ให้น้ำนมได้จำนวนมากต้นทุนรวมจึงยิ่งต่ำลงมากด้วย โรงงานแปรรูปนมส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ที่มีการเลี้ยงวัวหรือไม่ไกลมากนัก เพื่อประหยัดค่าขนส่ง สำหรับเกษตรกรที่อยู่ไกลออกไปอาจไม่คุ้มกับต้นทุนค่าน้ำมันในการขนส่ง แต่ก็มีบริการรับจ้าง รับ-ส่งให้เลือกในราคาที่ประหยัดเพราะใช้วิธีแบบเหมารวม ผู้รับส่งน้ำนมดิบจึงประหยัดต้นทุนได้มากกว่าและสามารถมีรายได้หักต้นทุนแล้วคุ้มค่าน้ำมัน นั่นต้องขึ้นกับระยะทางการเดินทางอีกด้วย
น้ำนมสดที่ถูกนำส่งเข้าโรงงานจะถูกนำไปแปรรูปเป็นนมสำเร็จรูปพร้อมดื่ม บ้างก็ส่งขายให้โรงงานที่ผลิตอาหารหรือเครื่องใช้อุปโภคบริโภคที่ต้องใช้ส่วนผสมของนมอีกต่อหนึ่ง เช่น โรงงานผลิตนมผง โรงงานผลิตขนมหวาน โรงงานผลิตไอศกรีม ในปัจจุบันต้นทุนแฝงจากการเลี้ยงโคนมมีค่อนข้างสูง ฟาร์มไม่ได้มาตรฐาน ต้นทุนอาหารข้นสูง ขาดแคลนอาหารหยาบ คุณภาพน้ำนมต่ำ ยังเป็นปัญหาของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมรายย่อยทั่วไปอยู่ แต่อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่ถูกมองข้ามมานานจากการทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์ก็คือ “สิ่งแวดล้อม” แหล่งน้ำอยู่ใกล้กับฟาร์มไม่ได้รับการจัดการอย่างเป็นระบบ ส่วนใหญ่ขาดระบบบำบัดน้ำเสียที่ดี ทำให้เกิดการเน่าเสีย ดินบริเวณโดยรอบเสื่อมสภาพลงกลายเป็นดินเค็มมีภาวะเป็นกรดเพาะปลูกไม่ได้ หลายๆฟาร์มที่ไม่สะอาดกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคที่สามารถส่งถ่ายมาถึงมนุษย์ได้อย่างรวดเร็ว หลายโรคเกิดซ้ำซาก บางโรคเป็นโรคอุบัติใหม่ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์เป็นแหล่งผลิตก๊าซมีเทน คาร์บอนไดออกไซด์และไนตรัสออกไซด์ซึ่งถือเป็นแหล่งผลิตใหญ่ที่สุดในภาคการเกษตรที่ผลิตก๊าซเรือนกระจกเติมเข้าสู่ชั้นบรรยากาศอันส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน นอกจากนั้นตามมาตรฐานที่กำหนดจำเป็นต้องใช้ที่ดินจำนวนมากในการทำฟาร์ม ทำให้ป่าไม้ถูกถางทำลายและเกิดการรุกล้ำเขตป่าสงวนอยู่บ่อยๆ นอกจากนั้นโคนมมีกระเพาะที่ใหญ่จึงกินอาหารจุมาก จำเป็นต้องใช้พื้นที่จำนวนมากในการเพาะปลูกพืชเพื่อเลี้ยงมัน เช่น ข้าวโพด ฟางข้าว ข้างฟ่าง หญ้า เกษตรกรรายใดที่มีที่ดินไม่เพียงพอ จึงต้องมีต้นทุนสูงขึ้นจากการเช่าที่หรือไม่ก็ซื้อจากแหล่งอื่น ยิ่งการเลี้ยงโคนมหรือการเลี้ยงสัตว์อื่นมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ที่ดินที่ต้องใช้สำหรับปลูกพืชอาหารก็ต้องเพิ่มมากขึ้นไปด้วย เป็นการใช้ที่ดินอย่างสิ้นเปลืองและไม่เกิดประโยชน์สูงสุด หากเพียงแต่นำที่ดินเหล่านั้นมาเพาะปลูกพืชเพื่อใช้เป็นอาหารเลี้ยงมนุษย์ก็จะเพียงพอเลี้ยงประชากรทั้งโลกในปัจจุบันได้อย่างแน่นอน การปศุสัตว์ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก แต่ยังใช้พื้นดินเป็นบริเวณกว้างทั่วโลก การทำฟาร์มเลี้ยงใช้พื้นที่กสิกรรม 70% หรือ 30%ของผิวดินของโลก ยิ่งไปกว่านั้น ผลิตผลโดยส่วนใหญ่ถูกปลูกเพื่อเป็นอาหารสัตว์ โดยที่ 40% ของธัญพืชของโลก ถูกนำไปเลี้ยงสัตว์ในฟาร์ม ไม่ใช่คน แค่เพียงธัญพืชเหล่านี้ครึ่งหนึ่ง ก็เพียงพอสำหรับการกำจัดความหิวโหยให้แก่ประชากรทั่วทั้งโลกได้แล้ว การปศุสัตว์เป็นตัวขับเคลื่อนหลักของการทำลายป่า 70% ของป่าอะเมซอนเดิม ได้ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ นอกจากนี้ การปศุสัตว์ยังเป็นสาเหตุของดินเสื่อม ทุ่งเลี้ยงสัตว์ประมาณ 20% ถูกทำให้เสื่อมสภาพด้วยการกินหญ้า การอยู่อย่างแออัด และการกัดเซาะที่มากเกินไป มันยังเป็นสาเหตุของการบริโภคน้ำจำนวนมากและมลภาวะ แค่ที่สหรัฐอเมริกาเท่านั้น น้ำชลประทาน 30,000 ล้านแกลลอน ถูกนำไปใช้ในการปลูกพืชเพื่อเลี้ยงสัตว์ต่อปี นี่คือน้ำประมาณ 85% ของแหล่งน้ำสะอาดในสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้สัตว์ยังผลิตของเสียชีวภาพในปริมาณที่มากเกินกว่าที่ระบบนิเวศจะรองรับได้ มีตัวอย่างของข้อมูลในประเทศสหรัฐอเมริกา การใช้น้ำในการผลิตอาหาร 1 กิโลกรัมในการกสิกรรมของสหรัฐ เนื้อวัวใช้น้ำ 1,000,000 ลิตร เนื้อไก่ 3,500 ลิตร ถั่วเหลือง 2,000 ลิตร ข้าว 1,912 ลิตร ข้าวสาลี 900 ลิตร และมะเขือเทศ 500 ลิตร ด้านการใช้พลังงานในการผลิตอาหารให้ได้โปรตีน 1 แคลลอรี่ ถั่วเหลืองใช้พลังงานเชื้อเพลิงถ่านหิน 2 แคลอรี่ ข้าวโพด 3 แคลอรี่ ข้าวสาลี 3 แคลอรี่ แต่เนื้อวัวใช้พลังงานปิโตรเลียมถึง 54 แคลอรี่ นั่นหมายความว่าในการผลิตแฮมเบอร์เกอร์จากเนื้อวัวต้องใช้พลังงานเชื้อเพลิงถ่านหินถึง 27 เท่าของพลังงานที่ใช้ในการผลิตเบอร์เกอร์ถั่วเหลือง ในเรื่องของการใช้พลังงาน การใช้น้ำ ที่ดิน มลภาวะ การทำลายระบบนิเวศ มันไม่น่าประหลาดใจเลยที่ได้เรียนรู้ว่าพลังงานที่ใช้ในการผลิตเนื้อสัตว์หนึ่งมื้อ สามารถจะนำไปผลิตอาหารจากพืชผักได้ถึง 15 มื้อหรือมากกว่า เมื่อไม่นานมานี้ กิดอน เอเชลและพาเมล่า มาร์ติน สองนักวิจัยจากคณะธรณีวิทยา มหาวิทยาลัยชิคาโก ได้เปิดเผยความสัมพันธ์ระหว่างการผลิตอาหารและปัญหาสิ่งแวดล้อม พวกเขาได้แสดงปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เป็นผลมาจากเนื้อแดง ปลา ไก่ นม และไข่ โดยเปรียบเทียบตัวเลขกับอาหารมังสวิรัติ พวกเขาพบว่าการเปลี่ยนจากการทานอาหารอเมริกันทั่วไปมาเป็นการทานอาหารจากพืช สามารถป้องกันการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 1.5 ตัน ต่อคนต่อปี ในทางตรงกันข้าม การเปลี่ยนจากรถซีดานปกติ(ใช้น้ำมัน) เช่น โตโยต้า แคมรี่ ไปเป็นรถยนต์ไฮบริด(ใช้ไฟฟ้า) โตโยต้า พริอุส จะสามารถลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 1 ตัน ต่อคนต่อปี
ทางเลือกนั้นอยู่ในครัวของคุณแล้ว แม้ว่าบางคนจะเลือกที่จะไม่มองความโหดร้ายที่อยู่ในการปศุสัตว์ แต่ความเร่งด่วนในการหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และวิธีที่จะดำเนินการนั้นชัดเจน ไม่ใช่แค่นักมังสวิรัติหรือนักสิ่งแวดล้อมที่กล่าวไว้เท่านั้น เวลานี้ ประธานคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ( Intergovernmental Panel on Climate Change หรือ IPCC) ดร.ปาจาอุร ได้ประกาศต่อโลกว่า ผลกระทบของการทานเนื้อสัตว์นั้นสร้างความเสียหายให้กับโลกของเรา เราควรที่จะหยุดทานเนื้อสัตว์ เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ แต่กระนั้นที่สุดแล้วมันขึ้นอยู่กับการเลือกของผู้คน เราทุกคนมีส่วนร่วมที่จะทำให้โลกเย็นลงและสะอาดมากขึ้น ฉะนั้น แค่เริ่มต้นที่ครัวของท่าน เลือกที่จะทานมังสวิรัติ และช่วยกันเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ