วาระแห่งโลก.....
คีตากะ
พื้นฐานของประเทศคือ เกษตรกรรม ตอนเป็นเด็กที่เราเคยยืนมองท้องทุ่งนาเขียวขจีทอดยาวไปไกลสุดลูกหูลูกตา ยังจดจำเสียงลมปะทะยอดตาลที่ยืนตระหง่านท้าทายแดดลมมายาวนานราวกับว่ามันเป็นอมตะ แม้ต้นตาลที่คอขาดเหลือเพียงลำต้นสูงๆ ผุๆ จะมีแซมให้เห็นอยู่ทั่วไปก็ตามที ยอดข้าวที่พลิ้วไหวไปมาตามแรงลม เกิดภาพริ้วรวงเหมือนคลื่นที่งดงาม กลิ่นของดินโคลนที่ไหนซักแห่งลอยมาตามสายลมเป็นระยะๆ และคลองน้ำใสที่ได้รับการหล่อเลี้ยงทั้งจากฝนตามฤดูกาลและจากคลองชลประทานส่งน้ำ นอกจากนั้นฝูงวัวกินหญ้าตามทางที่ชุ่มน้ำใกล้ลำคลองยังเป็นภาพที่ติดตาติดใจมาจนตราบเท่าทุกวัน
แม้ปัจจุบันภาพเหล่านั้นจะยังหาดูได้อยู่บ้าง แต่ก็ลดน้อยลงมาก ที่เปลี่ยนแปลงไปก็คือ ทุ่งนาเริ่มร้างมากขึ้น ชาวนาลดน้อยลงทุกทีเพราะส่วนใหญ่ผันตัวเองจากอาชีพทำนาอันแสนลำเค็ญมายาวนานพร้อมกับหนี้ก้อนโตเปลี่ยนไปทำงานในโรงงานกันหมด บ้างก็ย้ายถิ่นฐานไปทำงานในจังหวัดที่ไกลออกไป บ้างก็ไปเสี่ยงโชคในพื้นที่ที่ห่างไกลออกไปตามเขตนิคมอุตสาหกรรม ชาวนาปัจจุบันที่เหลืออยู่ก็อาจแบ่งได้ 2 ประเภทคือพวกแรกหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่ยังรักษาอาชีพเก่าแก่ของบรรพบุรุษเอาไว้และอดทนก้มหน้าก้มตาต่อสู้กับความยากลำบากต่อไป กับพวกที่เป็นพวกนายทุนหรือไม่ก็เป็นลูกจ้างเขา ที่เรียกว่าลูกจ้างก็อาจหมายถึงชาวนาพวกที่ต้องเช่าที่นาเขาทำนาด้วย บางรายรับเหมาทำคนเดียวกว่าร้อยไร่ ถ้าเป็นการทำนาในอดีตก็คงจะเป็นเรื่องค่อนข้างยากกว่า เพราะเดี๋ยวนี้มีเครื่องจักรทุ่นแรงมากมายจนแทบลืมแรงงานคนหรือสัตว์ไปเลย หากแต่ต้นทุนก็สูงเป็นเงาตามตัวไปด้วยเช่นกัน ฝูงวัวที่เคยหาหญ้ากินตามถนนหนทางต่างๆหรือตามคันนาก็เริ่มเดินทางไกลมากขึ้นและลดจำนวนลงมากจนแทบจะหายไป พวกมันถูกจำกัดให้อยู่ในพื้นที่แคบๆและแออัดยัดเยียดมากขึ้น สุขภาพจึงอ่อนแอลงและเป็นโรคต่างๆมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะวัวนมที่ร่างกายอ่อนแออยู่แล้วก็มักอ่อนไหวต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปได้ง่าย ช่วงฤดูที่มีการระบาดของโรค เช่น ปากเปื่อยเท้าเปื่อย พวกมันจะเป็นพวกแรกๆที่จะเป็นโรคตายไปก่อน โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนของทุกปี นอกจากนั้นภาพของแม่น้ำลำคลองต่างๆที่เคยมีน้ำตลอดทั้งปีก็เริ่มแห้งขอดลงและที่เหลืออยู่ก็เน่าส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้ง มันช่างต่างกับแม่น้ำสีใสที่เคยว่ายเล่นตอนเป็นเด็กเมื่อครั้งในอดีตอย่างสิ้นเชิง ภูมิทัศน์ของท้องนาเดี๋ยวนี้เปลี่ยนไป บางพื้นที่ใช้ทำนาไม่ได้จากปัญหาน้ำท่วมขังหรือไม่ก็แล้งจนดินแตกระแหง แต่ปัญหาที่ถูกมองข้ามและน้อยคนจะเข้าใจก็คือปัญหาดินเค็ม แหล่งน้ำและท้องนาเหล่านี้ถูกสารเคมีที่เรียกว่าแอมโมเนียซึ่งมันคือของเสียที่ถูกปล่อยมาจากแหล่งเลี้ยงสัตว์ต่างๆที่อยู่ตอนต้นน้ำของระบบคลองชลประทาน ไม่ว่าจะเป็นฟาร์มสุกร ฟาร์มเลี้ยงวัว ฟาร์มเลี้ยงไก่ และฟาร์มเลี้ยงเป็ด เป็นต้น ยังรวมแม้กระทั่งฟาร์มเลี้ยงกุ้งที่อยู่ใกล้เคียงกัน ดินและน้ำที่เค็มขึ้นยังมาจากสารเคมีที่ตกค้างและสะสมจากปุ๋ยและยาฆ่าแมลงที่ใช้ในเรือกสวนไร่นาอีกด้วย
ในอดีตจนถึงปัจจุบันการเพิ่มสูงขึ้นของประชากรของประเทศและประชากรโลก เป็นสาเหตุหลักของการรุกล้ำป่า ป่าถูกทำลายไปจนแทบไม่เหลือหรอ แรงจูงใจสำคัญคือการผลิตอาหารในเชิงเศรษฐกิจหรืออุตสาหกรรม และรากฐานของอาหารในประเทศก็ล้วนแล้วแต่มาจากคำโบราณที่กล่าวว่า ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว เกษตรกรรมที่มุ่งเน้นปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างพวก ข้าว ข้าวโพด อ้อย ยางพารา อ้อย มันสัมปะหลัง ยูคาริปตัส เป็นต้น และการปศุสัตว์ที่เน้นสัตว์เศรษฐกิจอย่าง วัว สุกร ไก่ เป็ด ปลา กุ้ง เป็นต้น ได้ส่งผลให้ป่าลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วในไม่กี่ปีที่ผ่านมา ที่น่าสังเกตก็คือว่าพืชเศรษฐกิจจำนวนมหาศาลถูกปลูกเพื่อนำไปใช้เลี้ยงสัตว์เหล่านี้ พื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดในปัจจุบันไม่เคยเพียงพอสำหรับนำไปเลี้ยงวัว หรือฟางข้าวซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการทำนาก็มีผลเช่นเดียวกัน ส่งผลให้ราคาของพืชผลเหล่านี้ในแง่ของการเลี้ยงสัตว์มีราคาสูงขึ้นมาก ข้าวเปลือกจากโรงสีถูกเอาไปทำรำข้าวสำหรับเลี้ยงสัตว์รวมทั้งสุกร ในขณะที่ราคาข้าวเปลือกตกต่ำและข้าวสารกลับแพง ราคาพืชผลทางการเกษตรอื่นๆตกต่ำในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยว เกษตรกรจึงถูกผลักให้ทำการเกษตรนอกฤดูกาลมากขึ้นเพื่อเอาชนะกลไกทางการตลาดเรื่องอุปสงค์-อุปทาน แล้วปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำก็ตามมา ภัยแล้ง/น้ำท่วม การระบาดของโรคพืชและศัตรูพืช รวมทั้งดินเสื่อมสภาพ ฯลฯ
อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นวัว สุกร ไก่/สัตว์ปีก กุ้ง หอย ปู ปลา และสัตว์ทะเลจากการประมง ฯลฯ กลับสามารถทำกำไรให้นักลงทุนได้อย่างงดงามมากขึ้นเรื่อยๆ ก่อกำเนิดแฟรนด์ไชน์จำนวนสาขานับไม่ถ้วนไปทั่วทุกมุมโลก ในขณะที่สัตว์ตามธรรมชาติก็แทบจะสูญพันธุ์ไปแล้ว เบื้องหลังฉากอันโหดร้ายจากการฆ่าคือรูปลักษณ์อันสวยงามและรสชาติที่เลิศล้ำชวนลิ้มลอง อาหารบนโต๊ะอันโอชะแทบไม่เหลือเค้าโครงของสิ่งมีชีวิตให้เหลือเพื่อสะกิดใจใครอีกเลย อาจหลงเหลือเพียงคราบเลือดและน้ำตาจางๆของชีวิตเหล่านั้นซึ่งแต่งแต้มสีสันอาหารให้สวยงามยิ่งขึ้นไปอีก การส่งออกสินค้าเหล่านี้ไปสู่ตลาดโลกนำรายได้เข้าสู่ประเทศมหาศาลในแต่ละปี ในขณะที่ผู้บริโภคยังคงถวิลหาและเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ การลงทุนจึงก่อเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้โดยอ้างเหตุผลอันสวยหรูว่าสร้างงาน และการผลิตอย่างบ้าคลั่งก็เริ่มตามมา ก่อเกิดโรงงานอุตสาหกรรมขึ้นราวกับดอกเห็ดในทุกมุมเมืองและฟาร์มเลี้ยงสัตว์มากมายตามมาทั้งรายใหญ่และรายย่อย โดยเฉพาะย่านนิคมอุตสาหกรรมและแหล่งใกล้วัตถุดิบเพื่อลดต้นทุนเรื่องการขนส่ง (Logistic) หลายครั้งที่มีข่าวการจับนายทุนที่ไปตั้งโรงงานอยู่ในเขตป่าสงวนอย่างผิดกฎหมาย ป่าที่เหลือน้อยอยู่แล้วก็เลยเกิดไฟป่าบ่อยครั้งขึ้น ไม่ว่าสาเหตุจะมาจากสภาพภูมิอากาศแล้งจัด หรือการวางเพลิง แต่ผลสุดท้ายมันคือที่ดินผืนงามสำหรับการอยู่อาศัย การเกษตร ละการปศุสัตว์ ของคนที่เห็นแก่ตัวบางกลุ่มเท่านั้น
ผลิตภัณฑ์มวลรวมหรือจีดีพี ของประเทศเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจระดับมหาภาค ทั้งทางด้านการค้า การลงทุน และการผลิต รัฐได้รับเงินภาษีมากขึ้นจากอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่จากการส่งออก แต่คนที่รวยแท้จริงคือคนกลุ่มเล็กๆที่เป็นเจ้าของกิจการหรือผู้ถือหุ้นรายใหญ่เท่านั้น รายได้ของรัฐเพิ่มมากขึ้น บัญชีเดินสะพัดได้ดุลหรือเกินดุล ในขณะที่ประชากรส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่าพรุ่งนี้จะกินอะไร ช่องว่างระหว่างคนยากจนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศกับคนร่ำรวยระดับเศรษฐีเพียงไม่กี่นามสกุลเริ่มห่างไกลกันมากขึ้นไปอีก แม้คนส่วนใหญ่จะปฏิเสธว่าตัวเองยากจนเพราะรสนิยมในการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยก็ตาม แต่ก็คงหลีกหนีความจริงไปไม่พ้นเมื่อหนี้สินที่ใช้เพื่อความร่ำรวยวันนี้กลับกลายมาเป็นภูเขาลูกยักษ์ล้มทับในภายหน้า การใช้เงินในอนาคต ชีวิตจึงอยู่แต่เพียงในอนาคตซึ่งมันค่อนข้างจะเลื่อนลอยหนีไกลห่างความจริงออกไปทุกที นั่นแหละอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของพวกคลั่งปรัชญาทางการเมืองที่วุ่นวายมากขึ้นเหมือนทุกวันนี้จนอาจจะกลายเป็นสงครามกลางเมืองในที่สุด
แม้อเมริกา ยุโรปและจีน จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกชั้นแนวหน้าของโลกก็ตาม แต่เหตุที่เรามีชั้นบรรยากาศซึ่งเป็นเสมือนผ้าห่มผืนเดียวกันนั้น ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจึงไม่อาจบ่ายเบี่ยงได้และไม่มีเหตุผลอะไรที่จะเพิกเฉยเพื่อนั่งดูหายนะของโลกในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เพราะนี่คือบ้านของทุกคนไม่เว้นแม้แต่แมลงตัวเล็กที่สุดบนโลกใบนี้ เราจะกอดคอกันเพื่อท่องเที่ยวขุมนรกหรือสร้างสวรรค์บนดินอยู่ที่การตรวจสอบและเปลี่ยนแปลงแก้ไขในวันนี้เท่านั้น ทั้งที่มีนักวิทยาศาสตร์บางคนกล่าวว่าเรากำลังอยู่ตรง จุดเปลี่ยนผัน หากเลยจุดนี้ไปแล้วก็เสมือนเราผลักแก้วน้ำจนล้มลงไม่อาจหวนคืนกลับมาได้อีก นั่นหมายความว่าเรากำลังยืนอยู่บนปากเหวลึกที่เราจะเลือกก้าวต่อไปหรือถอยหลังเท่านั้น จริงๆเราไม่มีทางเลือกด้วยซ้ำ ภาวะโลกร้อนหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังเป็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่มนุษย์ในยุคใดๆเคยเผชิญมา มันไม่ใช่ปัญหาทางการเมืองเพื่อหวังช่วงชิงอำนาจกันของคนไม่กี่คนและจบลงด้วยการทำรัฐประหารหรือการนองเลือดของชนในชาติ และด้วยการฉีกประชาธิปไตยเพื่อหาข้ออ้างอย่างเป็นธรรมที่จะแก้ไขมันครั้งแล้วครั้งเล่าโดยเมินเฉยต่อการแก้ไขตัวเองก่อน ท่านอยากให้โลกนี้เป็นเช่นใด ท่านก็จงทำตนเป็นเช่นนั้น คำกล่าวนี้ยังไม่เคยล้าสมัย พวกนักวิชาเกินส่วนใหญ่มองเห็นข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญที่เป็นเพียงลายลักษณ์อักษร ทั้งที่ความบกพร่องที่แท้จริงอาจจะมาจากตัวของพวกเขาเองนั่นแหละ การมองเห็นขนจมูกของชาวบ้านง่ายกว่าการมองเห็นท่อนซุงในดวงตาตัวเอง ปัญหาโลกร้อนไม่ใช่ปัญหาว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมหรือจีดีพีของประเทศจะเติบโตไปแค่ไหน หรือการสวาปามจนเกินไปในลัทธิบริโภคนิยมหรือทุนนิยมและมาพร้อมกับหนี้สินก้อนโตและความเครียดพร้อมโรคมะเร็งและอีกหลายโรค มันไม่ใช่ปัญหาของนักอนุรักษ์ธรรมชาติที่จะพยายามปกป้องต้นไม้เพียงไม่กี่ต้น แม่น้ำไม่กี่สาย สัตว์ไม่กี่ตัว และไม่ยอมอยู่ในความมืดเพราะขาดไฟฟ้าใช้หรือไม่ยอมลำบากปั่นจักรยานแทนการขับรถเพื่อลดน้ำมันเชื้อเพลิง มันไม่ใช่ปัญหาด้านการศึกษาที่มีคนเรียนจบปริญญาเกลื่อนเมืองที่เดินเตะฝุ่นตกงานและโจรผู้ร้ายเต็มบ้านอาชญากรรมเต็มเมือง คนเห็นแก่ตัวเพิ่มขึ้นทุกวัน มันไม่ใช่ปัญหาการจราจรติดขัดที่แก้ไขด้วยการเพิ่มเส้นทางในขณะที่รถที่วิ่งยังเพิ่มขึ้นทุกปีจนบริษัทขายรถร่ำรวยกันถ้วนหน้า มันไม่ใช่ปัญหายาเสพติดที่ทวีความรุนแรงในขณะที่เจ้าหน้าที่ฉ้อโกงและคนขาดจิตสำนึก มันไม่ใช่ปัญหาความขัดแย้งทางเชื้อชาติศาสนาที่จบลงด้วยการเข่นฆ่าพวกนอกรีตที่มีความเห็นแตกต่างจากตน มันไม่ใช่ปัญหาความยากจนไร้ที่ทำกินทั้งที่คนอีกกลุ่มหนึ่งครองที่ดินมโหฬารเพียงเพื่อทำสถานที่พักตากอากาศในวันหยุด ปัญหาโลกร้อนมันไม่ใช่การแค่เพียงติดตั้งแอร์หรือเครื่องปรับอากาศมากขึ้นในขณะที่การไฟฟ้ายังทะเลอะกับชาวบ้านไม่เลิกเรื่องการสร้างเขื่อนหรือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่มันใหญ่เกินกว่านั้นมากนัก มันเป็นปัญหาระดับโลกและมันก็มีโลกเป็นเดิมพัน นั่นหมายถึงทุกสรรพชีวิตเป็นตัวประกัน ไม่เว้นแม้สิ่งมีชีวิตที่ชาญฉลาดในการเอาตัวรอดอย่างมนุษย์เราด้วย
นี่จึงเป็นวาระของโลก ไมใช่วาระของประเทศใด ชนชาติใด นั่นหมายถึงทุกคนต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นและร่วมกันแก้ไขเสียก่อนแทนที่จะเพิกเฉย บางคนกล่าวว่าถึงวันนั้นพวกเราคงจะถูกลูกหลานของเราสาปแช่งที่มอบโลกใบที่แทบจะใช้อาศัยอยู่ไม่ได้ให้แก่พวกเขา แต่วันนี้ควรจะเปลี่ยนเสียใหม่ว่าพวกเราจะไม่เหลือลูกหลานคนใดให้สาปแช่งอีก ถ้าหากเรายังเดินหน้าต่อไปและใช้ชีวิตที่เป็นอยู่นี้โดยไม่เปลี่ยนแปลงอะไรเลย เพราะเพียงแค่ทศวรรษนี้เราก็ยากจะผ่านพ้นบททดสอบอันมหาหินนี้ไปได้แล้ว มันจะมีประโยชน์อะไรที่จีดีพีของประเทศเจริญเติบโตถึง 10 % เหมือนประเทศจีน เศรษฐีใหม่เกิดขึ้นราวดอกเห็ด คนรวยเดินชนกันขวักไขว่บนท้องถนน ในขณะที่ธรรมชาติเลวร้ายลง สภาพแวดล้อมน่ากลัว มลพิษแพร่กระจายในอากาศจนหายใจไม่ออก น้ำจากการปศุสัตว์และโรงงานเน่าเสียเป็นอันตราย ทะเลเป็นกรด สัตว์และพืชสูญพันธุ์ ปะการังที่สวยงามกลายเป็นหินปูนสีขาวผุๆ เหลือแต่ซาก ดินเสื่อมสภาพเพาะปลูกไม่ได้ พืชเหี่ยวเฉายืนตายเหลือแต่ตอเพราะความร้อน พายุรุนแรงขึ้นหลายเท่าละถี่ขึ้น น้ำท่วม/ดินถล่ม ร้อนและแล้งยาวนาน แผ่นดินไหวบ่อยขึ้น/สึนามิ ภูเขาไฟปะทุจนเป็นเรื่องธรรมดา หิมะตกหนักราวฟ้ารั่วในบางที อากาศร้อนจัด/หนาวจัด ทะเลทรายมีชัยชนะเหนือทุกสมรภูมิรบ ทะเลกลับคืนถิ่นของมันเหมือนครั้งบรรพกาล ธรรมชาติวิปริต ฤดูกาลปรวนแปรเอาแน่ไม่ได้ แม่น้ำแห้งขอด ชีวิตส่วนใหญ่อพยพไปอาศัยอยู่แถวขั้วโลกทางเหนือขึ้นไปเรื่อยๆถ้าหากรอดพ้นจาการสูญพันธุ์จากภัยพิบัติก่อนหน้านั้น ภัยพิบัติในรอบร้อยปีกลายเป็นเรื่องธรรมดาทุกวัน สงครามความขัดแย้งเพื่อยื้อแย่งทรัพยากรที่เหลืออยู่อันน้อยนิดสำหรับประเทศมหาอำนาจที่สะสมเพียงอาวุธนิวเคลียร์เท่านั้นจะเป็นผู้รบชนะบนกองซากศพของทั้งเพื่อนร่วมชาติและศัตรู รวมทั้งพวกที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ ในที่สุดสงครามก็จะนำเพียงความสูญเสียมาให้เท่านั้น เหมือนในประวัติศาสตร์อันไม่เคยถูกจดจำ ในที่สุดทุกคนก็พบกับความพ่ายแพ้...
ตามรายงานขององค์การสหประชาชาติในปี 2549 เงามืดของการปศุสัตว์ กิจกรรมที่สัมพันธ์กับการผลิตเนื้อสัตว์ เช่น การตัดไม้ และการทำเหมืองน้ำมัน นั่นคือสาเหตุของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากมนุษย์มากกว่า 18% ก๊าซที่เกี่ยวข้องกับการปศุสัตว์เหล่านี้ คิดเป็น 9% ของการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของโลก 35-40% ของมีเทนทั้งหมด (โดยส่วนใหญ่เกิดจากการหมักในลำไส้และอุจจาระของสัตว์) และ 64% ของไนตรัสออกไซด์ทั้งหมด (โดยส่วนใหญ่เกิดจากปุ๋ย) โดยสรุปแล้ว อุตสาหกรรมปศุสัตว์ ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าการขนส่งทั้งหมดในโลกรวมกัน รายงานของสหประชาชาติยังพบว่า การผลิตเนื้อสัตว์ทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย และกล่าวว่า มันควรที่จะเป็นประเด็นสำคัญในทุกๆการอภิปรายในเรื่องการทำลายดิน มลภาวะทางอากาศ การขาดแคลนน้ำ และการสูญเสียความหลากหลายทางชีววิทยา
การปศุสัตว์ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก แต่ยังใช้พื้นดินเป็นบริเวณกว้างทั่วโลก การทำฟาร์มสัตว์ใช้พื้นที่กสิกรรม 70% หรือ 30% ของผิวดินของโลก ยิ่งไปกว่านั้น ผลิตผลโดยส่วนใหญ่ถูกปลูกเพื่อเป็นอาหารสัตว์ โดยที่ 40% ของธัญพืชของโลก ถูกนำไปเลี้ยงสัตว์ในฟาร์ม ไม่ใช่คน แค่เพียงธัญพืชเหล่านี้ครึ่งหนึ่ง ก็สามารถกำจัดความหิวโหยในโลกได้ ดังนั้นการเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นอาหาร พรากสิ่งจำเป็นจากมนุษย์ไปมากมาย และยังเป็นสาเหตุหลักของความหิวโหยของโลก
การเลิกทานเนื้อสัตว์ มีผลแม้แต่ในระดับบุคคล สำหรับแต่ละคนที่ทานอาหารมังสวิรัติปลอดเนื้อสัตว์ ใช้พื้นที่กสิกรรมเพียง 1 ใน 6 ในทางตรงกันข้าม ผู้ที่ทานเนื้อสัตว์หนึ่งคน ต้องใช้พื้นที่มากกว่าสามเอเคอร์ ในประเด็นเรื่องของก๊าซเรือนกระจก การลดการบริโภคเนื้อสัตว์แค่เพียง 20% จะเท่ากับการเปลี่ยนจากการขับรถแคมรี่ (ใช้น้ำมัน)ไปขับรถปริอุส (ใช้ไฟฟ้า) ขณะที่การเป็นมังสวิรัติ 100% เป็นเวลาหนึ่งปี จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 1.5 ตัน คนจำนวนมากทราบว่า ภาวะโลกร้อนนั้นมีผลกระทบที่รุนแรงต่อทุกชีวิตบนโลก การปศุสัตว์ การเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล(น้ำมัน ถ่านหิน ละก๊าซธรรมชาติ) สถานีพลังงาน รถยนต์ และรูปแบบการขนส่งอื่นๆได้ปล่อยก๊าซต่างๆ เช่น คาร์บอนไดออกไซด์และมีเทน ออกมาจำนวนมาก ก๊าซเหล่านี้ทำให้เกิดปรากฏการณ์ เรือนกระจก ด้วยการเก็บกักความร้อนจากดวงอาทิตย์ ทำให้โลกและชั้นบรรยากาศของเราร้อนขึ้น อย่างไรก็ดี น้อยคนนักที่จะทราบถึงผลกระทบฉับพลันที่ภาวะโลกร้อนกำลังมีต่อโลกของเรา คุณทราบหรือไม่ว่า ตั้งแต่วันที่ 3 ถึง 9 กันยายน 2550 (ในเวลาเพียง 6 วัน) น้ำแข็งอาร์กติกได้ละลายหายไปเป็นบริเวณ 69,000 ตารางไมล์ ซึ่งคิดเป็นปริมาณน้ำแข็งขนาดเท่ารัฐฟลอริดา องค์การอากาศอเมริกาหรือนาซ่า ได้เปิดเผยภาพถ่ายดาวเทียมเมื่อไม่นานมานี้ว่า แค่เพียงฤดูร้อนนี้เท่านั้นน้ำแข็งจำนวน 552 พันล้านตันได้ละลายหายไปจากแผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์ ดร.เจย์ ซวอลลี่ นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศของนาซ่า กล่าวว่า ด้วยอัตราความเร็วเช่นนี้ มหาสมุทรอาร์กติกอาจจะไม่มีน้ำแข็งภายในสิ้นปี 2555 ซึ่งรวดเร็วกว่าการคาดการณ์ก่อนหน้านี้อย่างมาก
คณะทำงานระหว่างประเทศในด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (IPCC) ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 2550 ร่วมกับอดีตรองประธานาธิบดี อัลกอร์ ของสหรัฐ กำลังนำความสนใจของผู้คนมาสู่สถานการณ์วิกฤตนี้ ในวันอังคารที่ 15 มกราคม ประธานไอพีซีซี ดร.ราเจนดรา ปาจาอุรี ได้กล่าวในงานแถลงข่าวแห่งหนึ่ง ถึงความเร่งด่วนในเรื่องนี้ โดยกล่าวว่า การเปลี่ยนวิถีชีวิต เป็นสิ่งหนึ่งซึ่งสามารถหยุดยั้งภาวะโลกร้อนได้ สาส์นของ ดร.ราเจนดรา นั้นชัดเจน ไม่ทานเนื้อสัตว์ ขี่จักรยาน และใช้จ่ายอย่างประหยัด-นั่นคือวิธีที่คุณจะช่วยหยุดยั้งภาวะโลกร้อน
มนุษย์ทุกคนนั้นสัมพันธ์กัน ดังนั้นวิถีชีวิตของเรามีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของผู้คนในประเทศห่างไกล การทานมังสวิรัติ เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุด ที่เราทุกคนมาช่วยแก้ไขวิกฤตอาหาร และลดภาวะโลกร้อน มันถึงเวลาแล้วที่เราจะเลือกตัวเลือกที่ชัดเจน เพื่อตัวเราเอง เพื่อลูกๆของเรา และเพื่อทุกชีวิตบนดาวเคราะห์ซึ่งเป็นบ้านหลังนี้ของเรา......