18 สิงหาคม 2555 01:07 น.
เมต้าไซรัป
ขึ้นชื่อว่า ความดี แล้วคงไม่มีใครไม่รู้จัก แต่ข้าพเจ้าก็สงสัยเหลือเกินว่า ที่ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเราบอกว่า ประเทศนี้ต้องการคนดีมาปกครอง แล้วคนดีนะมีอยู่จริงไหม ทีนี้เมื่อมองประเทศเราตามสภาพความเป็นจริงมีความหลากหลายทางด้านเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ความเชื่อ ศาสนา คล้ายกับว่ามีเสรีภาพแทรกซึมทั่วทั้งท้องฟ้าสายน้ำและผืนดิน ซึ่งเป็นจุดเด่นอย่างหนึ่ง แต่ขณะเดียวกันเราก็รู้ว่าความเสมอภาคนั้นแทบจะหายไปเพราะความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจน มันเกี่ยวเนื่องกับหัวข้อตรงที่ หากความดีเป็นปรนัย นั่นหมายความว่าทุกคนรู้จักความดีเหมือนกันหมดทุกคน สังคมคงไม่จำเป็นต้องมีกฏหมาย ไม่ต้องมีอาชีพตำรวจ ทหาร (ข้าพเจ้าไม่ชอบเห็นอาวุธปืน) ทุกคนรู้ว่าความดีคืออะไร ความดีอยู่ที่ไหน ความดีได้มายังไง หรืออะไรที่เรียกว่าความดี ถ้าเป็นความดีแล้วละก็คิดตรงกันหมด นิยามความดีออกมาในรูปแบบเนื้อหาเดียวกัน คนดีก็คือความดีที่อยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน ค่อนข้างจะเป็นสากล อะไรก็ตามที่ไม่เป็นไปในแนวทางความดีแห่งปรนัย เป็นผิดหมด ตัวอย่าง การไม่ฆ่าคนเป็นความดี เพราะฉะนั้นการฆ่าคนจึงเป็นสิ่งไม่ดี เป็นต้น ส่วนความดีเป็นอัตนัย คงไม่มีคำพูดใดจะตรงไปกว่า โปรทากอรัสที่บอกว่า มนุษย์เป็นเครื่องวัดสรรพสิ่ง ( The man is measure of all thing) ซึ่งกลายเป็นว่ามนุษย์แต่ละคนจะมีความจริงหรือความดีเป็นของตัวเอง ไม่มีใครผิดใครถูก ตัวอย่างเช่น คนนั้นบอกว่า ดวงอาทิตย์ดวงเล็กนิดเดียว มันก็จริงในแง่ที่ว่าเขามองจากจุดที่ไกลจากดวงอาทิตย์ หรือตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ มนุษย์ที่มีอาชีพถกเถียงในสภา แต่ละคนก็คิดว่าตัวเองก็พูดความจริงทั้งนั้น ไม่มีใครผิดใครถูก ความคิดนี้ถ้ามีอยู่ในฐานะปัจเจคชนคงไม่เกิดปัญหาสักเท่าไหร่ แต่หากเป็นตัวแทนของประชาชนอันนี้ ข้าพเจ้าตอบไม่ได้แต่อย่างที่เห็นอยู่ ดังนั้นความดีแบบอัตนัยเป็นเสมือนดินน้ำมันที่แต่ละคนจะปั้นเป็นรูปร่างอย่างไรก็ได้ เพราะความดีไม่มีรูปแบบตายตัว เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ส่วนความคิดที่เชื่อว่าความดีไม่มีอยู่จริง อันนี้นักคิดบางส่วนที่สุดโต่งเขาคิดแล้วก็เชื่อเช่นนั้น ว่าคุณค่าทั้งหลายในโลกนี้นั้นเกิดมาจากมนุษย์ทั้งสิ้น ซึ่งข้าพเจ้าก็เป็นคนหนึ่งที่ยอมรับว่าความคิดนี้มีอิทธิพลต่อความคิดของข้าพเจ้าอยู่ไม่น้อย แต่ข้าพเจ้าก็ยังใจอ่อนในเรื่องของศาสนา อนึ่งความคิดนี้สังคมจะเป็นแบบไม่ต้องมีกฏมีระเบียบ หรือประเพณี อยู่ได้ก็อยู่อยู่ไม่ได้ก็ไป ไม่มีใครเตือนใครได้ ค่อนข้างกลับไปสู่สังคมที่ป่าเถื่อน ซึ่งในแง่ดีของมันก็คือ เป็นสังคมที่ไม่ยึดติดต่อกรอบหรือแบบแผน คล้ายกับสังคมตามชนบทของชนเผ่าต่างๆ ที่หาเช้ากินค่ำไปวัน ไม่เร่งรีบหาเงิน หรือหาความสุข
มากมายนัก อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ ข้าพเจ้าเคยแอบคิดว่า สงครามโลกครั้งที่สามจากคำพูดของไอสไตน์ที่ว่า มนุษย์จะสู้กันด้วยไม้กระบอง เป็นคำพูดที่น่าจะเป็นไปได้และหวังว่าคงเป็นเช่นนั้น แต่ตอนนี้เราก็ดูสงครามที่สู้กันด้วยเงินทองไปพลางๆก่อน อนึ่งทุกท่านใน thaipoem มีทัศนะในเรื่องความดีในมุมมองแบบใด เผื่อว่าจะได้เปิดมิติทางความคิดข้าพเจ้าให้กว้างขึ้น เพื่อจะได้หาที่ยืนพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดมีขึ้นของอาเซียน