19 มีนาคม 2555 16:37 น.
อนงค์นาง
มะนาวแพงแก้ได้ใช่ย่ำแย่
นายทุนแท้กว้านซื้อคือปัญหา
เก็งกำไรทำร้ายขายแพงนา
คนไทยอย่าใจร้ายไหว้วอนกัน
นายพงศ์พันธ์ ยอดเมืองเจริญ โฆษกกระทรวงพาณิชย์ ฝ่ายการเมือง เปิดเผยถึงว่า ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ได้นำร่องนำมะนาวราคาถูก มาจำหน่ายแก่ประชาชนแล้ว โดยได้วางจำหน่ายที่หน้ากระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่15-16 มี.ค.ที่ผ่านมา ในราคา 3 ผล 10 บาท หรือผลละ 3.33 บาท และหลังจากนี้กรมการค้าภายใน จะหารือกับตลาดที่อยู่ภายใต้การส่งเสริมของกรมการค้าภายใน เพื่อเชื่อมโยงมะนาวล็อตใหญ่ปริมาณ1 แสนลูก มาจำหน่ายให้ประชาชน ทั้งนี้ ตลาดที่จะมีการหารือเพื่อขอความร่วมมืออาทิ ตลาดศูนย์การค้ามีนบุรี ยิ่งเจริญ นนทบุรี อ่อนนุชเฟรชมาร์ท บางขุนศรี ตลาดเสรี เพื่อดูว่าตลาดมีความพร้อมจะให้เปิดมุมจำหน่ายหรือไม่ ซึ่งจะมีการหารือให้ได้บทสรุปภายในสัปดาห์นี้
มะนาวแพง แก้ปัญหาโดยใช้มะขามเปียกแทนค่ะ เลี่ยงการทำอาหารที่ใช้มะนาว อาหารอะไรที่แพงเกินไปจะไม่ซื้อ เมื่อน้ำมันขึ้นราคา ค่าขนส่งแพง แต่มีนายทุนบางกลุ่มหวังผลกำไร กว้านซื้อมะนาวตามไร่ ตอนนี้มีหน่วยงานที่กำัลังทดลองให้มีการปลูกมะนาวนอกฤดู
15 มีนาคม 2555 15:53 น.
อนงค์นาง
ผลงานช่วยคนไทยที่ไกลบ้าน
รอมานานเต็มทีดีใจหนอ
บัตรประชาชนได้ไม่เกินรอ
ทำใหม่ต่ออายุได้ให้บริการ
คนไทยในต่างแดนแสนขอบคุณ
ช่วยการุณย์กันบ้างอย่างสงสาร
หาเงินเข้าช่วยไทยใจต้องการ
เจือจุนบ้านเกิดตนอดทนไป
สามัคคีชาวไทยไม่แบ่งแยก
ความดีแจกจ่ายกันนั้นสดใส
ยามเดือดร้อนไม่ทิ้งอย่างจริงใจ
แบ่งปันให้ร่วมด้วยเราช่วยกัน
14 มี.ค. 2555 กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงมหาดไทย ลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการประสานความร่วมมือในการจัดทำบัตรประชาชนให้กับ คนสัญชาติไทยที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ ซึ่งคาดว่าผู้มีสัญชาติไทยกว่า 3 แสนรายจะได้รับประโยชน์ ไม่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายเดินทางกลับมาทำบัตรประชาชนที่ประเทศไทย
นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง หรือ เอ็มโอยู ว่าด้วยการประสานความร่วมมือในการจัดทำบัตรประชาชนให้กับคนสัญชาติ ไทยที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ ซึ่งจะเปิดบริการนำร่องในแหล่งที่มีชุมชนชาวไทยขนาดใหญ่จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแองเจลิส /สถานกงสุลใหญ่ ณ นครนิวยอร์ก /และสถานกงสุลใหญ่ ณ นครชิคาโก สหรัฐอเมริกา /สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี /และสำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย ไทเป ไต้หวัน โดยจะเริ่มให้บริการได้ใน 1 ถึง 2 เดือนนี้ เพื่อรอความพร้อมของอุปกรณ์และเจ้าหน้าที่
การลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดทำบัตรประชาชนให้แก่คนไทยในต่างประเทศ เนื่องจากที่ผ่านมาเมื่อบัตรหมดอายุหรือต้องเปลี่ยนบัตรใหม่ ต้องเดินทางกลับมาทำบัตรที่ประเทศไทย ทำให้เสียเวลาและเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก โดยหลังจากเปิดให้บริการตามข้อตกลงจะมีคนไทยได้รับประโยชน์กว่า 3 แสนราย
อย่างไรก็ตาม บริการของทั้งสองกระทรวงในครั้งนี้ไม่รวมการออกบัตรประชาชนครั้งแรกที่ต้อง ทำในประเทศไทยเท่านั้น โดยโครงการระยะที่ 2 ในปี 2556 จะเปิดให้บริการเพิ่มอีก 16 แห่ง อาทิ สถานเอกอัครราชทูตประจำกรุงวอชิงตัน กรุงลอนดอน กรุงสตอกโฮล์ม และกรุงออสโล ส่วนในปี 2557 จะให้บริการครอบคลุมทุกประเทศที่มีสถานเอกอัครทูตและสถานกงสุลใหญ่ของประเทศไทย
14 มีนาคม 2555 08:48 น.
อนงค์นาง
แม่ดีใจลูกสาวถึงคราวกลับ
บ้านรอรับเจ้าอยู่มาคู่ขวัญ
พาลูกไปทำบุญอุ่นใจกัน
ศาสนานั้นสอนคนผลความดี
ถวายเครื่องสังฆทานพานดอกไม้
สวดมนต์ให้สงบพบสุขศรี
กรวดน้ำให้ปู่ย่าบุพการี
ฟังเทศน์มีความสุขปลุกชีวัน
พระท่านสอนหลีกให้ไกลคนชั่ว
บาปกรรมกลัวไม่ทำนำสุขสันต์
มีเพื่อนดีเพียงหนึ่งซึ้งใจกัน
ผูกสัมพันธ์คนดีอย่าหนีเลย
ทำใจรับความเปลี่ยนหมุนเวียนผ่าน
อย่าเกียจคร้านขยันไว้ไม่วางเฉย
ศีลห้ารักษาไว้ให้คุ้นเคย
ไม่ละเลยความดีนี้หมั่นทำ
13 มีนาคม 2555 19:40 น.
อนงค์นาง
สตรีไทยมีค่าอย่าดูหมิ่น
ต่างทำกินเลี้ยงตัวไม่มัวหมอง
แม่ของลูกภรรยาน่าประคอง
บทบาทต้องยอมรับกับสังคม
เป็นนายกหลายชาติปรารถนา
เป็นแม่ค้าชาวนาน่าสุขสม
พยาบาลแพทย์หญิงยิ่งนิยม
ตำรวจสมศักดิ์ศรีมีวินัย
ให้เกียรติกันมากมายทั้งชายหญิง
เลิกทำสิ่งซ้ำเติมเพิ่มสดใส
สังคมโลกทำดีมีน้ำใจ
หญิงชายไม่ทำร้ายพ่ายวาจา
ณ เมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา กรรมกรสตรีในโรงงานทอผ้าได้ลุกฮือขึ้นเดินขบวนประท้วงการเอาเปรียบ กดขี่ ขูดรีด ทารุณ จากนายจ้างที่เห็นผลผลิตสำคัญกว่าชีวิตคน ความเป็นอยู่ของแรงงานสตรีในเมืองชิคาโก ว่ากันว่าไม่ต่างอะไรจากทาสนิโกรในเงื้อมมือคนผิวขาว เพราะต้องทำงานวันละ 12-15 ชั่วโมง แต่ได้รับค่าแรงงานเพียงน้อยนิดส่วนสตรีตั้งครรภ์มักถูกไล่ออก
ในที่สุดภายใต้การนำของ คลาร่า แซทคิน ผู้นำกรรมกรสตรีโรงงานทอผ้าชาวเยอรมันลุกฮือขึ้นสู้ด้วยการเดินขบวนนัดหยุด งานในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1907 โดยเรียกร้องให้นายจ้างลดเวลาการทำงานจากวันละ 12-15 ชั่วโมง ให้เหลือวันละ 8 ชัวโมงพร้อมทั้งให้ปรับปรุงสวัสดิการภาย ในโรงงาน และให้สตรีมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งด้วย ในการเรียกร้องครั้งนี้ แม้จะมีหลายร้อยคนถูกจับกุม แต่ก็ได้รับการสนับสนุนจากสตรีทั้งโลก และส่งผลให้วิถีการผลิตแบบทุนนิยมเริ่มสั่นคลอน
แต่อย่างไรก็ตามอีก 3 ปีต่อมา คือ ในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1910 ข้อเรียกร้องของเหล่าบรรดากรรมกรสตรีก็ประสบความสำเร็จ เมื่อตัวแทนสตรีจาก 18 ประเทศ เข้าร่วมประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยม ครั้งที่ 2 ณ เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์กที่ประชุมได้ประกาศรับรองข้อเรียกร้องของบรรดากรรมกรสตรี โดยให้ลดเวลาทำงานให้เหลือเพียงวันละ 8 ชั่วโมง ศึกษาหาความรู้ 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมง และกำหนดให้ค่าแรงงานสตรีเท่าเทียมกับค่าแรงงานชาย อีกทั้งยังมีการคุ้มครองสวัสดิการสตรีและแรงงานเด็กอีกด้วย
นอกจากนั้นในการประชุมครั้งนั้น ยังได้มีการรับรองข้อเสนอของ คลาร่า แซทคิน ด้วยการประกาศให้วันที่ 8 มีนาคม เป็นวันสตรีสากล
ขอบคุณข้อมูลจากคลังปัญญาไทย